Through a Glass Darkly

Through a Glass Darkly (1961) Swedish : Ingmar Bergman ♥♥♥♡

หนัง Oscar สาขา Best Foreign Language Film ของผู้กำกับ Ingmar Bergman และการร่วมงานครั้งที่สองกับตากล้องคู่ใจ Sven Nykvist, ถ้าสมมติว่ามีคนหนึ่งในครอบครัว มองเห็น สัมผัสได้ถึงการมีตัวตนของพระเจ้า เราผู้มองไม่เห็นจะคิด รู้สึกต่อเธออย่างไร? มองเธอเป็นผู้มาไถ่ หรือผู้ป่วยจิตเภท

เป็นอีกครั้งที่ผมดูหนังของ Ingmar Bergman แล้วหัวเสียมากๆ แม้ผมจะยกย่องเขาในฐานะศิลปินที่ถ่ายทอดผลงานออกมาได้เป็นเลิศ แต่แนวคิดของเขาเกี่ยวกับศาสนา พระเจ้า ยิ่งผมหงุดหงิดมากขณะดู โดยเฉพาะหนังเรื่องนี้ รู้สึกเหมือนเป็นหนังชวนเชื่อประเภทล้างสมอง แม้ใจความของหนังจะตั้งคำถามเกี่ยวกับศรัทธาว่า ‘พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า?’ แต่ผู้กำกับกลับแสดงออกด้วยความเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ รู้คำตอบอยู่แล้วว่า ‘พระเจ้ามีจริง’

ก่อนหน้าที่จะดูหนังเรื่องนี้ ผมเข้าใจมาโดยตลอดว่า Bergman เป็นคนที่ยังหาคำตอบให้กับความเชื่อของตนเองไม่ได้ว่า ‘พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า?’ แต่พอได้ดูหนังเรื่องนี้ ผมเกิดความเข้าใจบางอย่างที่ทำให้รู้ว่า Bergman เชื่อโดยสนิทใจมาตลอด ตั้งแต่แรกแล้วว่า ‘พระเจ้ามีจริง’ กับหนังทุกเรื่องที่พี่แกนำเสนอมา ก็เพื่อ ‘ท้าทายความเชื่อ’ ไม่ใช่ ‘ต้องการหาคำตอบ’, นี่อาจเป็นความเข้าใจผิดของผมเองตั้งแต่ต้นที่คิดมาแบบนี้ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งกับหนังเรื่องนี้ ผมได้เกิดข้อสงสัย ถ้าคนที่ไม่ได้มีศรัทธาแรงกล้าแน่วแน่มั่นคง จะสามารถกล้าตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ แล้วไม่หลุดออกจากศรัทธาเดิมของตนได้ยังไง? นี่ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า เพราะ Bergman มีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแรงกล้า เขาจึงต้องการตั้งคำถาม ให้กับคนที่ยังลังเลไม่แน่ใจ ให้ได้เข้าถึงศรัทธา ความเชื่อแบบไม่งมงาย ด้วยการตั้งคำถาม ที่ไม่มีคำตอบ แต่ชี้แนะแนวทางในการคิดที่สมควร ‘พระเจ้าคือความรัก’ (God is love.), นี่ถือเป็นสาระของหนัง ‘ชวนเชื่อ’ นะครับ

กับนักวิจารณ์ทั่วโลก ผมเชื่อว่าแทบทั้งนั้นนับถือศาสนาคริสต์ อเมริกา, ยุโรป ฯ แน่นอนพวกเขาซูฮกหนังเรื่องนี้ ในการท้าทายความเชื่อ ศรัทธา และแนวคิดของศาสนาของตน และกับคุณภาพหนังที่ต้องบอกว่า คะแนนเต็มเท่าไหร่ก็ต้องรีบเขวี้ยงขว้างใส่ให้เต็มหมด เพราะมันไร้ตำหนิ สมบูรณ์แบบที่สุด, แต่กับผู้ชมศาสนาอื่น ที่มีความเชื่อในพระเจ้ารูปแบบที่แตกต่าง หรือศาสนาที่พิสูจน์ได้ว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่มีจริง กับหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นขยะศรัทธา ของอัครสาวกผู้เชื่อมั่นอย่างที่สุดในศาสนาของตนเอง, เรื่องความเชื่อ ศาสนา เป็นสิ่งที่ไม่มีใครยอมใครนะครับ หนังที่ใส่ความเชื่อทางศาสนามากไป ไม่มีทางเข้าถึงได้กับผู้ชมทั้งโลกเป็นอันขาด

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นขณะ Bergman เขียนบทหนังเรื่อง The Virgin Spring (1960) แล้วเกิดไอเดียเกี่ยวกับ The Wallpaper (นี่เป็น Working Title ของหนังด้วย) หญิงสาวที่อาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ ที่มี Wallpaper ลึกลับ ที่เหมือนว่ามีเสียงพูดดังออกมาจากในนั้น

Bergman ให้คำจำกัดความ Through a Glass Darkly ว่าเป็น ‘Chamber film’ นี่ถือเป็นอีกประเภท genre ของหนังนะครับ, คำว่า Chamber แปลว่าห้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเกิดขึ้นในห้องๆเดียว เหมารวมถึง บ้านหรือสถานที่ที่มีการจำกัดพื้นที่ อาทิ บนเกาะ ในเมือง ฯ ตัวละครมีจำนวนจำกัด 2-4 คน ไม่มากกว่านี้ และเรื่องราวดำเนินขึ้นภายใน 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง, ผู้ให้กำเนิดนิยาม Chamber film ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล Ingmar Bergman นี่แหละ เริ่มต้นได้แนวคิดมาจาก Chamber Music และ Chamber Play (การแสดงเพลงหรือละครเวทีที่มีการจำกัดสถานที่ ผู้เล่น ฉาก ฯ) ซึ่งหนังประเภทนี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมกำลังดู ‘ละครเวที’ ขนาดเล็กอยู่นั่นเอง, กับหนังเรื่องที่โด่งดังของประเภทนี้ แทบทั้งนั้นก็คือหนังของ Bergman อาทิ Through a Glass Darkly (1961), Persona (1966) ฯ

เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นบนเกาะ Fårö ส่วนหนึ่งของ Gotland เกาะที่ใหญ่ที่สุดของ Sweden สมาชิก 4 คนของครอบครัวหนึ่ง มาอาศัยพักผ่อนอาศัยอยู่ที่นี่ เรื่องราวเกิดขึ้นใน 1 วัน (24 ชั่วโมง)

Karin (รับบทโดย Harriet Andersson) หญิงสาวที่เพิ่งได้รับการรักษาตัวออกจากโรงพยาบาล (หนังไม่ได้บอกว่าเธอเป็นโรคอะไร แต่ใครๆคงคาดเดาได้ว่าเธอเป็นจิตเภท-Schizophrenia), โรคที่เธอป่วย อ้างว่าเกิดจากประสาทสัมผัสการได้ยินอ่อนไหวผิดปกติ ได้ยินเสียงจากไกลๆที่ไม่มีใครได้ยิน

Martin (Max von Sydow) สามีของ Karin ที่ต้องการช่วยเหลือเธอให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติสุข แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนอกจากเป็นแรงใจให้เธอ

David (Gunnar Björnstrand) พ่อของ Karin มีอาชีพเป็นนักเขียนนิยาย ทุ่มเทเวลาให้กับงานมากกว่าครอบครัว แม้แต่ตอนภรรยา (แม่ของ Karin) เสียชีวิต เขาก็ไม่ได้กลับมา, ครั้งนี้เพราะเขาประสบปัญหา Writer’s Block สมองตัน คิดเขียนอะไรไม่ออก จึงตัดสินใจมาพักผ่อนคลายกับครอบครัว

Minus (Lars Passgård) น้องชายของ Karin ที่เธอมักมองเขาเป็นเหมือนเด็กชาย แค่ตัวโตสูงกว่า แต่ความคิด นิสัยยังไม่โตเป็นผู้ใหญ่สักเท่าไหร่

นักแสดงทั้ง 4 เป็นขาประจำทั้งหมดของ Bergman นะครับ ยกเว้นแค่ Lars Passgård ที่กับหนังเรื่องนี้ เพิ่งจะเป็นหนังเรื่องแรกของเขา, โดดเด่นที่สุด คือการแสดงของ Andersson ถือว่า breakthrough อาชีพนักแสดงของเธอเลย ที่ว่ากันว่าผู้ชมบางคนถึงขั้นช็อคขณะเห็นท่าทางการแสดง ขณะที่เธอได้สัมผัสพบกับพระเจ้า (ในจินตนาการของเธอ) เพราะคิดว่า Karin ได้พบกับพระเจ้าจริงๆ

ในบทหนังของ Bergman เรื่องราวของ Karin เธอได้พบกับพระเจ้าจริงๆ นะครับ

‘พระเจ้าพูดกับเธอ ทำให้เธอเชื่อ ยอมรับ จำนนโดยไม่ขัดขืน (เพราะเธอเทิดทูนพระเจ้า) เริ่มแรกมาจากเสียงภายใน จากคำแนะนำกลายเป็นกระตุ้นทำตามคำสั่ง ทดสอบเธอในเรื่องความรัก เสียสละ และการอุทิศตน แต่พระเจ้ามีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง บางครั้งให้คำแนะนำง่ายๆ อาทิ ดื่มน้ำทะเล ฆ่าสัตว์ ทำโน่นทำนี่ ฯ แต่บางครั้งก็บอกให้เธอทำ ในสิ่งที่ร่างกายขัดขืนไม่ได้ รวมถึง incest กับน้องชาย เมื่อเธอได้ทำทุกอย่างครบตามที่พระเจ้าขอ ท่านก็จากไป ทิ้งไว้ด้วยความว่างเปล่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Karin ในตอนจบ’

การที่ Bergman สร้างพระเจ้าให้เป็นทั้งด้านมืดด้านสว่าง มุมหนึ่งอาจมองว่าเขาตั้งคำถามกับการมีตัวตนของพระเจ้า แต่อีกมุมหนึ่งที่ผมพบคือ เขาต้องการทำให้ผู้คนสัมผัส เข้าใจพระเจ้าได้ในระดับหนึ่ง, นับตั้งแต่ Michelangelo วาดภาพ The Creation of Adam บนโบสถ์น้อยซิสทีน ภาพของพระเจ้าได้รับการเปรียบให้คล้ายกับมนุษย์ มีหน้าตา ตัวตน จับต้องได้ จากที่เคยเปรียบเสมือนทวยเทพผู้สู่งส่งยิ่งใหญ่ แต่พอได้ถูกนำเสนอในรูปแบบนี้ ทำให้พระเจ้ากลายเป็นสิ่งที่มนุษย์เริ่มสัมผัส เข้าใจ จับต้องได้, กับหนังเรื่องนี้ Bergman ทำให้เราสัมผัสถึงพระเจ้าได้ในอีกรูปแบบ คือทั้งดีและชั่ว เหมือนว่าในพจนานุกรมของท่าน ไม่มีหรอกดีชั่ว มีแต่ความรัก ความเสียสละ อุทิศตน มองในมุมหนึ่งการกระทำอย่าง Incest กับน้องชายเป็นสิ่งที่ผิด แต่ถ้าพระเจ้าประสงค์ มันก็คงไม่ผิดอะไร!

น่าจะพอเข้าใจกันแล้วนะครับ ว่าทำไมผมถึงดูหนังเรื่องนี้แล้วหงุดหงิด หัวเสียอย่างมาก ไม่ใช่มุมมองความเชื่อที่ผิด แต่เป็นผู้กำกับ Bergman ที่หลอกให้ผมเชื่อมาหลายปี ว่าเขาต้องการหาคำตอบเรื่องพระเจ้า แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย

ถ่ายภาพโดย Sven Nykvist, กับหนังเรื่องนี้ แนะนำให้ลองสังเกตกันนะครับ แทบทุกช็อต จะเห็นนักแสดงแค่ 2 คนเท่านั้น (เวลาอยู่ด้วยกัน 4 คน ก็จะแยก 2 ฝั่ง) ทั้งสองไม่เคยสบตาหรือหันหน้าเข้าหากันเลย นี่เหมือนเป็นการบอกว่า มนุษย์แต่ละคนมีมุมมองความเชื่อ และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ถึงอยู่ฉากเดียวกันแต่มีเส้นบางๆแยกกันอยู่, เวลาคนหนึ่งมองไปทางซ้าย อีกคนจะหันไปทางขวา(หรือทิศอื่น) และถ้าสังเกตดีๆ การจัดแสงสะท้อนผิวหน้าของคนสองคน ก็จะไม่เหมือนกันด้วย

ตอนแรกผมก็ไม่สังเกตหรอกนะครับ เป็นนักวิจารณ์ Roger Ebert ชี้ให้เห็นในบทวิจารณ์ของเขา ที่ 3 ย่อหน้าแรก เล่นพูดแต่การจัดองค์ประกอบภาพ สายตาของนักแสดง และการถ่ายภาพ จนผมต้องเปิดหนังย้อนกลับไปดูและเห็นว่าจริง ไม่ใช่แค่กับหนังเรื่องนี้เท่านั้น แต่หนังของ Bergman แทบทุกเรื่องเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Persona (1966) กับฉากที่ถือเป็นตำนานของหนัง ตัวละคร 2 ตัว หันมองในทิศทำมุมกัน 90 องศา

สายตาของตัวละคร Karin มักจะเงยหน้า มองสูงขึ้นไป ทั้งๆที่ก็ไม่มีใครหรืออะไรอยู่ตรงนั้น แต่เหมือนว่าเธอกำลังเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น, ผมคิดว่า Bergman คงสร้างจุดกำกับบอกให้กับนักแสดงมองไปทางนั้น และให้จินตนาการ แสดงออก ราวกับว่ามีบางสิ่งบางอย่าง หรือมีใครยืนอยู่ตรงนั้นจริงๆ

ผมไม่แน่ใจว่าหนังถ่ายช่วงฤดูหนาวหรือเปล่า เพราะตี 3-4 พระอาทิตย์ก็ขึ้นแล้ว, ที่ Sweden ก็จะเป็นอย่างนี้นะครับ ผมเห็นมาหลายเรื่องแล้ว เราต้องคอยสังเกตเวลาด้วยตนเอง ถ้าดูจากแสงสว่างจะบอกไม่ได้ว่าฉากนั้นกลางวันหรือกลางคืน, ผลลัพท์ของแสงในตอนกลางวัน จึงดูไม่ต่างจากตอนกลางคืนมากนัก นี่ทำให้หนังได้สัมผัสเหมือน ‘waking dream’ ถึงจะตื่นแต่ก็ยังเหมือนฝันอยู่ เรื่องราวของหนังก็ให้สัมผัสเช่นนี้

ตัดต่อโดย Ulla Ryghe หนังมีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 2+2 แทบทั้งเรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็น David+Martin และ Karin+Minus การตัดต่อก็จะสลับไปมา ให้เวลากับพวกเขาเกลี่ยเท่าๆกัน (แต่ว่าไปผมไม่เห็น Martin+Minus เลยนะครับ เหมือนทั้งสองแทบจะไม่ได้คุยกันด้วยซ้ำ)

เพลงประกอบ ไม่มี แต่มีการใช้ Suite No. 2 in D minor for Cello, BWV 1008 ท่อน 4 (Sarabande) ของ Johann Sebastian Bach บรรเลงโดย Erik Nordgren สร้างสัมผัสบางอย่างให้กับหนัง, เพลงนี้ Bach แต่งขึ้นเพื่อ Cello โดยเฉพาะ ไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีอื่นเล่น มีทั้งหมด 6 Suites ละ 6 ท่อน นี่ก็มีนัยยะเล็กๆถึงการมีตัวตนเป็นเอกเทศน์ ไม่ขึ้นกับใคร, ผมไม่รู้ทำไม Bergman ถึงเลือกเพลงนี้ท่อนนี้นะครับ เหมือนว่าเขาต้องการให้ผู้ชมสัมผัสกับจิตวิญญาณ ธรรมชาติของพระเจ้า, กับคนที่อยากฟังท่อนที่ใช้ในหนัง กระโดดข้ามไปนาทีที่ 10:47 ได้เลย

ชื่อหนังมาจากเนื้อเรื่องหนึ่งในพระคัมภีร์ไบเบิล (1 Corinthians 13:12) ชื่อภาษา Swedish แปลว่า In a Mirror แต่ประโยคนี้ในภาษาอังกฤษจะเขียนว่า “For now we see through a glass, darkly.” การตีความ glass ในประโยคนี้มักจะพูดถึง ‘กระจก’ ที่หมายถึงการสะท้อน อาทิ ตัวตน, แสงเงา, ความคิด, ศรัทธา ฯลฯ มีประโยคหนึ่งที่พูดว่า “All the prophets had a vision of God as He appeared through nine specula while Moses saw God through one speculum.” ที่สามารถตีความได้ว่า กระจกนี้คือเปรียบเหมือนการมองเห็น ‘พระเจ้า’

กับคนที่ขาดศรัทธา เขาจะมองว่าสิ่งที่ Karin เห็นนั้นคือภาพลวง ของคนที่มีปัญหาทางจิต หรือเรียกว่า โรคจิตเภท (Schizophrenia) คือ กลุ่มอาการของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้มีการคิดและรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งจะมีผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน, เชื่อกันว่ามีสาเหตุมาจากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ 1) ด้านร่างกาย ทางพันธุกรรม ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วยมากยิ่งมีโอกาสสูง จากความผิดปกติของสมอง โดยสารเคมีในสมองมีความผิดปกติและจากโครงสร้าง ของสมองบางส่วนที่มีความผิดปกติเล็กน้อย 2) ด้านจิตใจ จากความเครียดในชีวิตประจำวัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วย การใช้อารมณ์กับผู้ป่วย การตำหนิ มีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรหรือจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากไปก็มีผลต่อการกำเริบของโรคได้

สิ่งที่หนังเรื่องนี้นำเสนอออกมา สามารถมองได้ทั้ง 2 อย่างเลย ว่าพระเจ้าลงมาหา Karin จริงๆ และเธอเป็นจิตเภทมีปัญหาทางความคิด, แม้คนส่วนใหญ่จะเชื่อจาก ผลลัพท์สุดท้ายที่ Karin ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า เธอไม่ได้เห็นพระเจ้า, นี่คือความตั้งใจ จงใจของ Bergman เลยนะครับ ที่จะให้คุณตั้งข้อสงสัยและไม่ให้คำตอบ กับสิ่งที่ Karin ประสบเข้ากับตัวเอง ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย แต่สิ่งที่ Bergman ทิ้งท้ายไว้ คือการสร้างการมีตัวตนของพระเจ้าขึ้นมา ‘God is Love.’ นี่ฟังดูอาจเป็นคำแก้ต่างของหนังและ Bergman แต่คือสิ่งที่เป็นคำตอบในศรัทธาของเขา ที่แม้ตนจะไม่สามารถสัมผัส มองเห็นพระเจ้าได้ แต่รู้และเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ‘พระเจ้ามีจริง’

ถ้าคุณนับถือศาสนาคริสต์ และต้องการท้าทายศรัทธาความเชื่อของตนเอง ลองหาหนังเรื่องนี้มาดูนะครับ

แนะนำอย่างยิ่งกับนักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ นี่เป็นหนังที่เลิศมากๆในการสร้าง ทั้งการแสดง ทิศทางการกำกับ การถ่ายภาพ ฯ ถือว่าเป็นหนังที่สมบูรณ์แบบที่สุดเรื่องหนึ่ง, แฟนหนัง Ingmar Bergman และตากล้องระดับเทพ Sven Nykvist ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับการแสดงออกที่เหมือนจิตเภท และความท้าทายศรัทธาความเชื่อ

TAGLINE | “Through a Glass Darkly ถึงหนังจะตั้งคำถามกับศรัทธา แต่ผู้กำกับ Ingmar Bergman กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาที่แน่วแน่มั่นคง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: