Through the Olive Trees (1994) Iranian : Abbas Kiarostami ♥♥♥♥

มนุษย์โหยหาสิ่งที่คือสัจนิรันดร์ เฉกเช่นเดียวกับชายหนุ่มเดินติดตามหญิงสาวผ่านต้นมะกอก (Olive Trees) รอรับฟังคำตอบขอแต่งงาน แต่ไม่ว่าเธอจะบอกกล่าวเขาเช่นไร ชีวิตยังคงต้องก้าวเดินต่อไป

ต้นมะกอก (Olive Tree) คือสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ ความสงบสันติสุข, ตามตำนานเล่าว่า ชาวกรีกต้องการชื่อเรืยกเมืองหลวงของตนเอง เลยขอให้ Zeus ที่ได้ท้าทาย Poseidon ใช้ตรีศูลสร้างม้าศึกขึ้นมา ขณะเดียวกัน Athena เนรมิตต้นมะกอก ซึ่งสามารถใช้ผลเป็นประโยชน์ได้ ชาวเมืองทั้งหลายต่างเห็นพ้องตกลงเลือกชื่อ Athens และมะกอกกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของกรีซมาจนถึงปัจจุบัน

Through the Olive Trees (1994) อีกหนึ่ง Masterpiece ของผู้กำกับ Abbas Kiarostami ที่ได้ทำการซ้อนเหตุการณ์จากภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า Life, and Nothing More… (1992) หรือเรียกว่า ‘film within film’ นำเสนอช่วงเวลาฟ้าหลังฝน/ความสงบสันติสุขที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ค.ศ. 1990 แต่ภาพเบื้องหน้าดังกล่าว อาจมีข้อเท็จจริงบางอย่างเคลือบแอบแฝงอยู่ก็เป็นได้

ก่อนการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แนะนำว่าควรหา Where Is the Friend’s Home? (1987), Close-Up (1990) และ Life, and Nothing More… (1992) ไล่เรียงลำดับต่อเนื่องมาดูเสียก่อน จะทำให้คุณสามารถเข้าใจความครุ่นคิด วิวัฒนาการ ไดเรคชั่นผู้กำกับ Abbas Kiarostami ทราบถึงตัวตนและเป้าหมายที่ใคร่สนใจค้นหาคำตอบ ก่อนตบท้ายถัดจากนี้ด้วย Taste of Cherry (1997) และ The Wind Will Carry Us (1999) เชื่อว่ามุมมองต่อ ‘ชีวิต’ ของคุณจะปรับเปลี่ยนแปลงไปชั่วนิรันดร์


Abbas Kiarostami (1940 – 2016) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอิหร่าน เกิดที่ Tehran วัยเด็กมีความลุ่มหลงใหลการวาดภาพ โตขึ้นเข้าเรียน School of Fine Arts ณ University of Tehran ระหว่างนั้นทำงานพาร์ทไทม์เป็นตำรวจจราจร, จบออกมาได้กลายเป็นนักออกแบบโปสเตอร์ กำกับโฆษณากว่า 150 ชิ้น กระทั่งการมาถึงของ The Cow (1969) สร้างโดยผู้กำกับ Dariush Mehrjui อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Iranian New Wave ทำให้ Kiarostami ติดตามรอยเท้า เริ่มต้นสร้างหนังสั้น The Bread and Alley (1970), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Experience (1973) และหลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาหลายปี ในที่สุดก็ค้นพบแนวทางของตนเองกับ Where Is the Friend’s Home? (1987)

สไตล์ของ Kiarostami รับอิทธิพลจาก Neorealist เน้นความเป็น Naturalist และ Minimalist มักนำเสนอแบบ Docu-Drama จนมีลักษณะของ Poetic Film, หัวข้อสนใจมักสะท้อนปัญหาสังคม เกี่ยวกับครอบครัว ชีวิต-ความตาย และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์

หลังเสร็จจาก Life, and Nothing More… (1992) ลูกชายแท้ๆของผู้กำกับ Kiarostami วิพากย์วิจารณ์ความไม่น่าเป็นไปได้ หนุ่ม-สาวจะแต่งงานกันทันทีหลังจากเหตุการณ์แผ่นไหวครั้งใหญ่ ซึ่งนั่นก่อเกิดแรงบันดาลใจภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้าพวกเขาไม่ใช่คู่รักแต่คือนักแสดงสองคน และชายหนุ่มมีความลุ่มหลงใหลหญิงสาวมาก่อนหน้า

“My own son was critical of me because in Life, and Nothing More… I hint that these two people are married, and that’s what I lead the audience to believe at the end of that film. In Through the Olive Trees, I come up with the idea that they are not really married, and it’s just the boy who is really fascinated by the girl”.

– Abbas Kiarostami

ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรคงมีแต่ผู้กำกับ Kiarostami เท่านั้นที่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่งเขาต้องการนำเสนอให้ผู้ชมตระหนัก ครุ่นคิดถึงความเป็นไปได้ ถามคำถาม อะไรคือจริง? อะไรคือเท็จ? ค้นหาคำที่เรียกว่า ‘layer of truth’

เกร็ด: เห็นว่า Kiarostami วางแผนสร้างภาพยนตร์อีกเรื่องต่อจากนี้ ตั้งชื่อว่า Tahereh’s Dreams นำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งของฝ่ายหญิง ซึ่งจริงๆตกหลุมรักชายหนุ่มแต่ไม่สามารถพูดบอกแสดงออกความต้องการ เพราะขัดต่อประสงค์ครอบครัว, น่าเสียดายตระเตรียมการถึง 18 เดือน แต่ไม่มีโอกาสสร้างเป็นรูปเป็นร่าง

ผู้กำกับ Mohamad Ali Keshavarz กำลังคัดเลือกนักแสดงเพื่อรับบทสมทบภาพยนตร์ Life, and Nothing More… แม้มีหลายคนเข้าตา แต่ที่น่าสนใจสุดคือสาวน้อยผู้กล้า Tahereh (รับบทโดย Tahereh Ladanian) วันถัดมาพาไปเข้าฉากกับนักแสดงคนแรก ปรากฎว่าฝ่ายชายติดอ่างไม่สามารถพูดคุยต่อหน้าผู้หญิง เป็นเหตุให้ต้องหานักแสดงคนใหม่ได้เป็น Hossein (รับบทโดย Hossein Rezai) ครานี้กลับตารปัตร Tahereh ไม่ยินยอมปริปากพูดคุย

สืบทราบถามความได้ว่า Hossein เป็นอดีตเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง รู้จักสนิทสนม และยังเคยขอ Tahereh แต่งงานครองคู่ แต่ครอบครัวฝ่ายหญิงเหมือนจะไม่ยินยอมรับ เพราะเขาไม่ใช่คนเฉลียวฉลาด การศึกษาต่ำต้อย ทำงานกรรมกรแรงงาน เฉกเช่นนั้นแล้วจะสามารถมอบความสุข เลี้ยงดูแลบุตรสาวหัวแก้วหัวแหวนได้เฉกเช่นไร

ก็ไม่รู้ผู้กำกับไปปรับความเข้าใจอย่างไรกับ Tahereh ทำให้เธอยินยอมสนทนาเข้าฉาก แต่เวลาว่างหรือหลังถ่ายทำเสร็จสิ้นก็ยังคงปิดปากเงียบไม่พูดคุยด้วย ซึ่ง Hossein พยายามตื้อไม่เลิกรา เมื่อเลิกกองเสร็จสิ้นเธอเดินผ่านสวนต้นมะกอก และเขาติดตามอยู่เบื้องหลังอย่างไม่คลาดสายตา


โดยปกติแล้ว Kiarostami จะร่วมงานกับนักแสดงสมัครเล่น แต่เรื่องนี้ถือเป็นครั้งแรกร่วมงานมืออาชีพ Mohammad-Ali Keshavarz ที่โด่งดังจากซีรีย์ Hezardastan (1988) และภาพยนตร์ Mother (1991), อาจเพราะต้องการภาพลักษณ์ที่ผู้ชมรู้สึกคุ้นเคยหน้าตา และมีความน่าเชื่อถือด้วยประสบการณ์แสดง

สำหรับ Farhad Kheradmand ที่เล่นเป็นผู้กำกับใน Life, and Nothing More… เรื่องนี้มารับเชิญเป็นนักแสดง(ที่รับบทผู้กำกับ) เพื่อให้มีลักษณะของหนังซ้อนหนัง ‘Film within Film’ เข้าฉากเดิมซ้ำๆจนเบื่อเลยละ

สำหรับตัวละครหนุ่ม-สาว, Hossein Rezai คือนักแสดงจาก Life, and Nothing More… แต่สำหรับ Tahereh Ladanian ได้รับคัดเลือกใหม่ให้เหมาะสมกับบท
– Hossein ดูทึ่มๆทื่อๆ แต่มีความซื่อตรงไปตรงมา แถมความครุ่นคิดอ่านเท่ห์เป็นบ้า, เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับความรัก ก็พยายามไล่บี้ติดตาม พิสูจน์ความตั้งมั่นจริงใจ คาดหวังว่าสักวันคงได้ครองคู่สมปรารถนา
– Tahereh เริ่มต้นด้วยความกล้าหาญ นิสัยหัวขบถเอาแต่ใจ แต่พอพบเจอ Tahereh กลับทำเป็นเหนียงอายอย่างมีลับลมคมใน ปกปิดบางสิ่งอย่างบังซ่อนเร้นไว้ไม่ยอมปริปากพูดออกมา

ถ่ายภาพโดย Hossein Jafarian ยอดฝีมือชาวอิหร่าน ได้รับการยกย่องเปรียบเทียบกับ Gordon Willis โดดเด่นในการใช้ความมืด Low-Key แต่สำหรับ Through the Olive Trees (1994) เหมือนจะไม่ได้เน้นจุดขายนี้สักเท่าไหร่ ผลงานเด่นๆ อาทิ Nargess (1992), Crimson Gold (2003), About Elly (2009), The Salesman (2016) ฯ

หนังเริ่มต้นถ่ายทำประมาณ 3 ปี หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว (หรือ 2 ปีกว่าๆ หลังจาก Life, and Nothing More…) แม้มี Aftershock ตามมาอีกหลายครั้ง แต่เมือง Koker ก็ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมแทบจะหมดสิ้นแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยพบเห็นเศษซากปรักหักพักหลงเหลืออยู่สักเท่าไหร่

ผู้กำกับ Kiarostami ดูจะมีความชื่นชอบถ่ายทำระหว่างการขับรถอย่างมาก ซึ่งการเลือกมุมมองทิศทาง ด้านหน้า, ด้านข้าง, ฝั่งคนขับ, ถ่ายด้านหลัง ฯ ล้วนมีความจำเพาะเจาะจงในแต่ละฉาก อาทิ
– เมื่อครูสอนหนังสือจาก Where Is the Friend’s Home? โบกรถเพื่อจะไปขึ้นมินิบัส ผู้ชมจะไม่ได้พบเห็นใบหน้าเขาอย่างชัดๆนอกจากเสียงพูดคุยสนทนา แถมกล้องยังถ่ายเฉพาะด้านหน้าเห็นถนนลูกรังโฉบเฉี่ยวไปมาด้วยความอันตราย
– มุมกล้องที่ผมชื่นชอบสุดก็คือ ขณะพบเจอสองเด็กชาย Babek และ Ahmed Ahmedpour จาก Where Is the Friend’s Home? กำลังรีบวิ่งมาส่งต้นไม้ กล้องถ่ายเฉพาะภาพด้านข้างรถเห็นพวกเขายื่นหน้าเข้ามาตรงหน้าต่าง และเมื่อขับรถออกไปทิ้งท้ายสะท้อนภาพจากกระจกข้างรถ

สำหรับฉากที่หลายคนคุ้นเคยจาก Life, and Nothing More… เพื่อให้เกิดลักษณะ ‘film within film’ จะพบเห็นการคัดลอกมุมกล้องคล้ายเดิม แต่เมื่อเทียบกันย่อมพบเห็นความแตกต่างอย่างแน่นอน (ไปเทียบเอาเองก็แล้วกันนะครับ!)

และช็อต Masterpiece ของหนังช่วงท้าย หญิงสาว-ชายหนุ่มเดินผ่านสวนมะกอก เชื่อว่า Hossein ยังคงพูดพร่ำเกี้ยวพาราสี Tahereh แต่เสียงสนทนาค่อยๆเฟดเงียบลง กลายเป็นสายลมพัดแล้วมุมกล้อง Extreme-Long Shot พบเห็นพวกเขาตัวเล็กลงเรื่อยๆ ผ่านท้องทุ่งเหมือนเพียงจุดเล็ก แล้วอยู่ดีๆ Hossein ก็รีบวิ่งกลับมา … มันเกิดอะไรขึ้นกันนะ

ตัดต่อโดย Abbas Kiarostami, หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่ในสายตาผู้กำกับ Mohamad Ali Keshavarz และผู้ช่วย Mrs. Shiva ต่อความสัมพันธ์ระหว่าง Hossein และ Tahereh

เรื่องราวสามารถแบ่งออกได้เป็น
– องก์แรก, เริ่มต้นแนะนำ Tahereh จบที่เข้าฉากกับนักแสดงคนแรก
– องก์สอง, Hossein เริ่มต้นจากการเข้าฉากกับ Tahereh จบที่คำอธิบายของเขาต่อความสัมพันธ์ต่อเธอ
– องก์สาม, ที่แคมป์ของทีมงาน ยามเย็นรำพันถึงสถานที่ ตอนเช้าปลุกตื่น และออกเดินทางไปสถานที่ถ่ายทำ
– องก์สี่, วันแห่งการถ่ายทำ และคำพร่ำของ Hossein ต่อ Tahereh
– ปัจฉิมบท, ความพยายามติดตามตื้อของ Hossein ต่อ Tahereh

สำหรับบทเพลงประกอบ Ending Credit เลือกใช้ Oboe Concerto in C minor ท่อน Allegro (07:48) ผลงานประพันธ์ของ Domenico Cimarosa (1749 – 1801) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่อาจไม่ได้ชื่อเสียงโด่งดังนัก แต่ท่วงทำนอง Baroque ราวกับเสียงจากสวรรค์ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานครึกครื้นเครง หนุ่มสาวราวกับกำลังเต้นระบำบนสรวงสวรรค์ (อาจสื่อถึงบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นระหว่าง Hossein และ Tahereh)

ผู้กำกับ Abbas Kiarostami พยายามบิดเบือนความเข้าใจของผู้ชมจาก Life, and Nothing More… กลายมาเป็น Through the Olive Trees ชักชวนให้ใคร่ฉงนสงสัย สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น/ข้อเท็จจริงมันคืออะไร … แต่จะมีใครไหนสามารถให้คำตอบออกมาได้เล่า!

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมหวนระลึกถึง Rashômon (1950) เพราะทั้งสองเรื่องต่างนำเสนอ ‘มุมมอง’ แต่ละคนต่างครุ่นคิดเห็นต่อสิ่งๆเดียวแตกต่างกันออกไป แล้วอะไรคือข้อเท็จจริง?

ขณะที่ Rashômon นำเสนอมุมมองจากสามสี่ตัวละครในหนัง, Through the Olive Trees คือลีลาการนำเสนอของผู้กำกับ Kiarostami บิดเบือนเรื่องราวจากภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า ปรับเปลี่ยนมุมมองนำเสนอ ก็ไม่เชิงว่า ‘โกหก’ แต่ผู้ชมจักเริ่มไม่สามารถรับรู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร

Ingmar Bergman และ Andrei Tarkovsky ให้นิยามภาพยนตร์เปรียบดั่งความเพ้อฝัน, Abbas Kiarostami เรียกว่าการสร้างภาพ สิ่งโกหกหลอกลวง! ไม่ว่าจะคือเรื่องจริงทั้งหมด ครึ่งๆกลางๆ หรือครุ่นคิดปรุงแต่งรังสรรค์สร้าง เพราะทุกสิ่งอย่างเมื่อถูกบันทึกกลายเป็นภาพ/งานศิลปะ ย่อมสูญเสียองค์ประกอบความจริง ‘reality’ ไปหมดสิ้น

“In cinema anything that can happen would be true. It doesn’t have to correspond to a reality, it doesn’t have to ‘really’ be happening. In cinema, by fabricating lies we may never reach the fundamental truth, but we will always be on our way to it. We can never get close to the truth except through lying”.

– Abbas Kiarostami

ความสมบูรณ์แบบของภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อผู้ชมเริ่มตระหนักได้ถึงสิ่งบิดเบือน เข้าใจคลาดเคลื่อนจากที่เคยเป็นมา จากนั้นจะเต็มไปด้วยความฉงนสงสัย ครุ่นคิดต่อยอดไปเรื่อยๆจนถึง แล้วอะไรบ้างในโลกใบนี้ที่คือสัจธรรมความจริง นั่นคือโคตรคำถามปรัชญาแห่งชีวิต จุดสูงสุดแห่งปริศนาที่ไม่มีใครสามารถค้นหาคำตอบได้

ก้าวย่างเดินเพื่อติดตามหญิงสาวสู่สวนมะกอก ถึงไม่ได้ทำให้ชายหนุ่มได้รับคำตอบใดๆในชีวิต แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขาก็ต้องหยุดและเร่งรีบวิ่งหวนกลับมา
– ครุ่นคิดในเชิงรูปธรรมมันอาจด้วยสองเหตุผลคือ ได้รับคำตอบจากเธอแล้ว ไม่ก็เขายินยอมพ่ายแพ้เอง
– แต่ในเชิงนามธรรมถือว่าไม่มีเหตุผลใดๆทั้งนั้น เพราะคำตอบของชีวิตนั้นไม่มีถูก-ผิด ขึ้นอยู่กับมุมมองเราเองจะทำความเข้าใจเฉกเช่นไร


ในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Kiarostami เรื่องที่ผมโปรดปรานสุดยังคงเป็น The Wind Will Carry Us (1999) ขณะที่ Through the Olive Trees (1994) ติดตามมาห่างๆอันดับสอง ชื่นชอบประทับใจในแนวคิดปรัชญา ‘โกหกเพื่อค้นพบความจริง’ นั่นเป็นทัศนคติเฉพาะตัวที่คงไม่มีใครคัทลอกเลียนแบบได้แน่ๆ

แนะนำคอหนังปรัชญา ชื่นชอบเรื่องราวสุดดราม่า ลักษณะหนังซ้อนหนัง (Film within Film) ถ่ายภาพธรรมชาติสวยๆ งดงามดั่งบททกวี และแฟนๆผู้กำกับ Abbas Kiarostami ไม่ควรพลาดโดยเด็ดขาด

จัดเรต PG กับความดื้อดึงหั วรั้น ทัศนคติความแตกต่างทางฐานะ ชนชั้น กีดกันไม่ให้หนุ่ม-สาวครองคู่แต่งงาน

คำโปรย | Through the Olive Trees ของผู้กำกับ Abbas Kiarostami นำเสนอการโกหกเพื่อก้าวย่างสู่สัจนิรันดร์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: