Shadows of Forgotten Ancestors (1965) : Sergei Parajanov ♥♥♥♥
หลังมีโอกาสรับชม Ivan’s Childhood (1962) ผู้กำกับ Sergei Parajanov ประกาศทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเคยสรรค์สร้าง ขอเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับ Shadows of Forgotten Ancestors (1965) เลือกทำในสิ่งตอบสนองความสนใจส่วนตน ค่อยๆพัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์สู่ความเป็น ‘ศิลปิน’
Shadows of Forgotten Ancestors (1965) ได้รับการโหวตอันดับ #1 “The 100 Best Films in the History of Ukrainian Cinema” จัดโดย National Oleksandr Dovzhenko Film Centre หอภาพยนตร์ของประเทศ Ukrane เมื่อปี ค.ศ. 2021 (อันดับสองคือ Earth (1930) และอันดับสาม Man with a Movie Camera (1929))
ผมมีความกระตือรือล้น อยากรับชม Shadows of Forgotten Ancestors (1965) มาตั้งแต่เขียนถึง The Color of Pomegranates (1969) เพราะอยากพบเห็นจุดเริ่มต้น วิวัฒนาการของผกก. Parajanov (เผื่อว่าเมื่อหวนกลับมารับชม The Color of Pomegranates จะได้มีความเข้าใจอะไรๆมากขึ้น) และเห็นว่าคะแนนใน IMDB สูงกว่าเสียด้วยนะ (#SoFA ได้คะแนน 7.8, #TCoP ได้คะแนน 7.6)
แม้ว่า Shadows of Forgotten Ancestors (1965) จะไม่ได้สรรค์สร้างขึ้นในสไตล์ The Color of Pomegranates (1969) แต่ก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่ทำให้ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ และยังพอพบเห็นแนวคิด วิวัฒนาการของผกก. Parajanov กำลังมองหา ‘ลายเซ็นต์’ ซึ่งก็พอสังเกตเห็นในหลายๆช็อตฉาก
ไฮไลท์ของ Shadows of Forgotten Ancestors (1965) นอกจากความงดงามของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ดนตรีของชนกลุ่มน้อย Hutsuls ในประเทศ Ukraine (มีคำเรียก ethnic film หรือ race film) ยังคือลีลาการขยับเคลื่อนเลื่อนกล้องมีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เต็มไปด้วย ‘long take’ ราวกับอยู่บนรถไฟเหาะ (Roller Coaster) และใช้เพียงแสงจากธรรมชาติเท่านั้น! … ฝีไม้ลายมือของตากล้อง Yuri Ilyenko สามารถเทียบชั้นกับ Sergey Urusevsky (The Cranes Are Flying), Bruno Nuytten (Possession) และ Emmanuel Lubezki (The Revenant) ได้สบายๆ
‘Shadows of Forgotten Ancestors’ could stand as an example of the sort of film he was calling for. It’s one of the most unusual films I’ve seen, a barrage of images, music and noises, shot with such an active camera we almost need seatbelts.
And for anyone who’s interested in the Ukrainian culture and customs of perhaps a century ago, ‘Shadows of Forgotten Ancestors’ is a treasure, a repository of costumes, masks, superstitions and beliefs, courtship customs and the sufferings of short lives with too much work in them.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 3.5/4
เกร็ด: ภาพโปสเตอร์ของหนัง ออกแบบโดย Georgy Vyacheslavovych (1930-2000) ศิลปินแห่งชาติ นักออกแบบ ‘Graphic Artist’ ชาว Ukrainian โด่งดังจากภาพแกะสลักไม้ ด้วยเทคนิค Linocut
Sergei Parajanov ชื่อจริง Sarkis Hovsepi Parajaniants, Սարգիս Հովսեփի Փարաջանյանց (1924-90) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Armenian เกิดที่ Tbilisi, Georgian (ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง Soviet Union), วัยเด็กไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ แต่มีความหลงใหลในวรรณกรรม ดนตรี โดยเฉพาะการร้องเพลง หลังเลิกเรียนทำงานพิเศษในโรงงานของเล่น ตุ๊กตาไม้, โตขึ้นเข้าเรียนการก่อสร้าง Tbilisi Institute of Railway Transport แต่แค่เพียงปีกว่าๆย้ายมาเรียนร้องเพลง Tbilisi State Conservatoire, หลังสงครามโลกเดินทางสู่ Moscow สมัครเข้าศึกษาต่อ Moscow State Conservatory ก่อนเปลี่ยนความสนใจสู่การกำกับภาพยนตร์ All-Russian University of Cinematography (VGIK) เป็นลูกศิษย์ของ Igor Savchenko และ Alexander Dovzhenko
เมื่อปี ค.ศ. 1948, Parajanov ถูกจับกุมข้อหารักร่วมเพศ ได้รับโทษตัดสินจำคุกห้าปี ก่อนถูกปล่อยตัวสามเดือนให้หลัง เพราะไม่พบเจอหลักฐานใดๆ (คาดกันว่าเหตุผลแท้จริงที่ถูกจับ เพราะแสดงทัศนคติต่อต้านการเมือง)
เมื่อปี ค.ศ. 1950, แต่งงานกับภรรยาคนแรก Nigyar Kerimova ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเปลี่ยนมานับถือ Eastern Orthodox Christianity เพื่อให้ได้ครองรักกับเขา แต่ไม่นานกลับถูกลอบสังหารโดยญาติของเธอ เพราะมิอาจยอมรับการเปลี่ยนศาสนา! ด้วยเหตุนี้ Parajanov จึงอพยพย้ายมาปักหลัก Kyiv, Ukraine สรรค์สร้างสารคดี & ภาพยนตร์ อาทิ Andriesh (1954), The First Lad (1958), Ukrainian Rhapsody (1961), Flower on the Stone (1962) ฯ
เมื่อปี ค.ศ. 1956, แต่งงานกับภรรยาคนที่สอง Svitlana Ivanivna Shcherbatiuk เป็นชาว Ukrainian มีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน แต่คงมิอาจหลงลืมรักครั้งแรก ไม่นานพวกเขาก็ตัดสินใจเลิกราหย่าร้าง ค.ศ. 1962
ในปีเดียวกันนั้น Parajanov มีโอกาสรับชม Ivan’s Childhood (1962) ผลงานแจ้งเกิดผกก. Andrei Tarkovsky ราวกับได้ค้นพบตัวตน (Self-Discovery) เปิดมุมมองโลกกว้าง เข้าใจความหมายแท้จริงของศิลปะภาพยนตร์ ทำไมต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบข้อบังคับ สิ่งที่สหภาพโซเวียตควบคุมครอบงำให้สรรค์สร้างแต่ ‘socialist realism’
Tarkovsky, who was younger than I by ten years, was my teacher and mentor. He was the first in Ivan’s Childhood to use images of dreams and memories to present allegory and metaphor. Tarkovsky helped people decipher the poetic metaphor. By studying Tarkovsky and playing different variations on him, I became stronger myself … I did not know how to do anything and I would not have done anything if there had not been Ivan’s Childhood.
Sergei Parajanov
ต้นฉบับของ Shadows of Forgotten Ancestors (1912) คือนวนิยายแต่งโดย Mykhailo Kotsiubynsky (1864-1913) นักเขียนสัญชาติ Ukrainian ผู้บุกเบิกแนวชาติพันธุ์ (Ethnographic Realism) ก่อนพัฒนาสไตล์มาเป็น Impressionist และ Modernist
เกร็ด: ชื่อนวนิยายภาษายูเครน Тіні забутих предків อ่านว่า Tini zabutykh predkiv สามารถแปลตรงตัว Shadows of Forgotten Ancestors หรือ Shadows of Our Forgotten Ancestors หรือ Shadows of Our Ancestors
เมื่อปี ค.ศ. 1910, Kotsiubynsky มีโอกาสเดินทางไปยังหมู่บ้าน Carpathian ณ Kryvorivnia, Ivano-Frankivsk Oblast ทางตะวันตกของ Ukraine (ติดกับพรมแดนตอนเหนือ Romania) แม้พักอาศัยอยู่ไม่นาน แต่มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิต ศึกษาวัฒนธรรมชาว Hutsuls ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันมานาน อยากเขียนเรื่องราวชนกลุ่มน้อย/ชาติพันธุ์กลุ่มนี้
Hutsuls, Гуцули (ภาษา Romanian แปลว่า Outlaw) คือชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ชาว East Slavic ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกของ Ukraine และตอนเหนือของ Romania คาดว่าสืบเชื้อสายบรรพบุรุษจาก White Croats จึงมีวิถีชีวิต ประเพณี ดนตรี ภาษาสื่อสาร เครื่องแต่งกาย สถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เรื่องราวของนวนิยาย Shadows of Forgotten Ancestors ได้รับการเปรียบเทียบ Romeo & Juliet ชายหนุ่มชาว Hutsul ตกหลุมรักหญิงสาวตระกูลพ่อค้า แต่เนื่องจากทั้งสองครอบครัวเคยมีเรื่องบาดหมางกันอย่างรุนแรง จึงแทบไม่มีโอกาสที่พวกเขาจะได้ครองรักกัน!
ด้วยความที่ผกก. Parajanov เพิ่งหย่าร้างภรรยาได้ไม่นาน ระหว่างพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้จึงปักหลักอาศัยอยู่บ้านเพื่อนนักเขียน Ivan Chendej หลับนอนบนโซฟา ตื่นเช้ามาก็พูดคุยเรื่องงาน ยาวนานนับเดือนจนบังเกิดความสนิทสนมกับภรรยาและลูกๆของอีกฝ่าย
สตูดิโอ Dovzhenko Film Studios [ตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติผกก. Alexander Dovzhenko ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ Ukrainian] ขณะนั้นกำลังมองหาโปรเจคภาพยนตร์ สำหรับเฉลิมฉลองร้อยปีชาตกาล Mykhailo Kotsiubynsky พอดิบดีผกก. Parajanov ยื่นบทหนังเรื่องนี้ เลยได้รับการตอบอนุมัติแทบจะโดยทันที
เกร็ด: Dovzhenko Film Studios เคยเป็นสตูดิโอสร้างหนังเงียบของผกก. Dovzhenko ก่อนค่อยๆเลือนหายไปในยุคหนังพูด จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 60s ทำการรื้อฟื้นเพื่อตัดตอนภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นใน Ukrainian SSR ไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจอนุมัติโดย Goskino (กองเซนเซอร์สหภาพโซเวียต)
ณ หมู่บ้านบนเทือกเขา Carpathian, ชายหนุ่ม Ivan (รับบทโดย Ivan Mykolaichuk) สืบเชื้อสาย Hutsuls ตกหลุมรักหญิงสาวจากตระกูลพ่อค้า Marichka (รับบทโดย Larisa Kadochnikova) แต่ครอบครัวของพวกเขามีความบาดหมางกันอย่างรุนแรง เนื่องจากบิดาของ Marichka เคยเข่นฆ่าบิดาของ Ivan ถึงอย่างนั้นคู่รักหนุ่ม-สาว ก็หาได้สนคำทัดทานผู้ใหญ่ เพื่อที่จะเก็บเงินแต่งงาน Ivan จึงตัดสินใจเดินทางออกจากหมู่บ้านไปรับจ้างทำงาน แต่พอหวนกลับมาพบว่า Marichka ประสบอุบัติเหตุพลัดตกแม่น้ำเสียชีวิต
ในสภาพหมดอาลัยตายอยาก Ivan ยังคงก้มหน้าก้มตาทำงาน จนกระทั่งได้พบเจอหญิงคนใหม่ Palahna (รับบทโดย Tatyana Bestayeva) ยินยอมแต่งงานตามประเพณี Hutsul แต่หลังอาศัยอยู่ร่วมกัน สามีกลับไม่ค่อยทำการบ้าน ภรรยาเลยไม่ตั้งครรภ์สักที นั่นเพราะเขายังคงหวนระลึกถึงอดีตหญิงคนรัก ทำให้ Palahna มิอาจอดรนทน คบชู้ชายคนใหม่ ทุบตีกระทำร้าย Ivan จนกระทั่งสิ้นใจตาย
Ivan Vasylyovych Mykolaichuk, Іван Васильович Миколайчук (1941-87) นักแสดงสัญชาติ Ukrainian เกิดที่ Chortoryia, Western Ukraine ในครอบครัวชาวนา โตขึ้นเข้าเรียนยัง Chernivtsi Music College ตามด้วยฝึกฝนการแสดงจาก Chernivtsi Music-Drama Theater, Olha Kobylianska และ Memorial Kyiv Institute of Theatrical Arts, Karpenko-Karyi (ปัจจุบันคือ Ukrainian National University of Theater, Film and TV) เริ่มมีผลงานละคอนเวที จนกระทั่งได้รับเลือกจากผู้กำกับ Sergei Parajanov แสดงนำภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Shadows of Forgotten Ancestors (1965)
รับบท Ivan ชายหนุ่มเชื้อสาย Hutsuls ตกหลุมรักหญิงสาวจากตระกูลพ่อค้า Marichka พร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนความขัดแย้งครอบครัว เพื่อให้ได้ครองคู่อยู่ร่วม แต่แล้วเธอกลับประสบอุบัติเหตุตายจากไป ทำให้ชีวิตจมปลักอยู่กับความสิ้นหวัง ถึงภายหลังจะได้แต่งงานกับ Palahna ก็ไม่เคยทุ่มเทความรักภักดี จนถูกอีกฝ่ายทรยศหักหลัง ถึงอย่างนั้นความตายทำให้เขาได้ปลดปล่อยสู่อิสรภาพ
แรกเริ่มนั้นผกก. Parajanov อยากได้นักแสดงรัสเซียชื่อดังอย่าง Genadi Yukhtin เพื่อให้เกิดกระแสความสนใจในภาพยนตร์ แต่กลับถูกทัดทานจากเพื่อนร่วมงาน รวมถึงตากล้อง Yuri Ilyenko
Yukhtin just did not fit the part and when [during the try-outs] he dressed in the Ukrainian hutsul garments, it wasn’t a fit for him.
Yuri Ilyenko
ด้วยความที่ Mykolaichuk ยังไม่เคยปรากฎตัวบนจอเงินมาก่อน อีกทั้งมาจาก Western Ukraine จึงมีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายชนกลุ่มน้อย Hutsuls ในขณะที่ฝีไม้ลายมือถือว่าไม่ธรรมดา บทพูดอาจไม่มาก แต่โดดเด่นในการแสดงสีหน้า ปฏิกิริยาท่าทาง สามารถถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้หลากหลาย (สไตล์หนังเงียบ) ร่าเริงสดใส-มุ่งมั่นจริงจัง-เศร้าโศกสิ้นหวัง-ยังคงโหยหาเธอคนรัก ผู้ชมจับต้องความรู้สึกต่างๆเหล่านั้นได้โดยทันที!
การแสดงของ Mykolaichuk อาจไม่ได้ลุ่มลึกล้ำ สลับซับซ้อน เพียงถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครอย่างตรงไปตรงมา แต่ด้วยภาพลักษณ์บุคคลธรรมดาๆ บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ทำให้ผู้ชมเกิดความเอ็นดู ห่วงใย สงสารเห็นใจ บรรดานักวิจารณ์ชาว Ukrainian ถึงขนาดยกย่อง “Greatest Actor in the History of Ukrainian Cinema”
ความสำเร็จของ Shadows of Forgotten Ancestors (1965) ทำให้ Mykolaichuk คว้าเหรียญเกียรติยศ Lenin Komsomol Prize of Ukraine (1967) ถือว่าแจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว มีผลงานติดตามมามากมาย น่าเสียดายพลันด่วนเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1987 สิริอายุเพียง 46 ปี!
ถ่ายภาพโดย Yuri Ilyenko (1936-2010) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติ Ukrainian เกิดที่ Cherkasy ก่อนอพยพสู่ Siberia ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) แล้วฝึกงาน/เป็นตากล้องอยู่ยัง Yalta Film Studio ก่อนย้ายไป Dovzhenko Film Studios ถ่ายภาพ Shadows of Forgotten Ancestors (1965), กำกับภาพยนตร์ A Spring for the Thirsty (1965), The White Bird Marked with Black (1970) ฯ
งานภาพของหนังต้องถือว่ามีความสุดเหวี่ยงมากๆเรื่องหนึ่ง ราวกับขึ้นรถไฟเหาะ (Roller Coaster) และต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วยนะ (Fasten Seat Belt) ด้วยลีลาการเคลื่อนเลื่อนกล้องที่มีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียด ส่ายไปส่ายมา ผู้ชมแทบไม่สามารถคาดเดาทิศทางดำเนินไป ใช้เพียงแสงธรรมชาติ จัดจ้านด้วยเฉดสีสัน (มีช่วงขณะหนึ่งถ่ายภาพขาว-ดำ สร้างบรรยากาศหดหู่ เศร้าโศก สิ้นหวัง) สารพัดลูกเล่นภาพยนตร์ เพื่อสะท้อนห้วงอารมณ์ตัวละครขณะนั้นๆออกมา
หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง! ณ หมู่บ้าน Kryvorivnia บนเทือกเขา Carpathian Mountains ใช้เวลาโปรดักชั่นนานเกือบปี เพราะผกก. Parajanov มักหาโอกาสไปร่วมงานแต่ง-งานศพของชาว Hutsuls เพื่อศึกษาประเพณีวัฒนธรรมเหล่านั้น นำมาแทรกใส่ลงในภาพยนตร์, ส่วนฉากภายในอื่นๆหวนกลับมาถ่ายทำยัง Dovzhenko Film Studio
I had to make the film under the most difficult conditions. I had no technical pre-requisites, no Kodak material, no processing of the film stock in Moscow. I had absolutely nothing. I had neither enough lighting, nor a wind-machine, nor any possibility for special effects. Nevertheless, the quality of the film is indisputable.
Sergei Parajanov
เกร็ด: บ้านหลังที่ผกก. Parajanov ปักหลักพักอาศัยและใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ ปัจจุบันถูกทำเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยวขึ้นมาเยี่ยมชม-เช็คอินไม่ขาดสาย
ผมไม่ค่อยอยากสปอยความน่าอัศจรรย์ของลีลาการถ่ายภาพมากนัก แต่มันก็มีหลายช็อตฉากที่อดกล่าวถึงไม่ได้ อย่างวินาทีที่บิดาของ Ivan ถูกเข่นฆาตกรรม ขวานจามลงบนศีรษะ พบเห็นเลือดไหลอาบฉาบจอภาพเอียงๆ (Dutch Angle) ก่อนตัดไปภาพม้าย้อมสีแดง (สัญลักษณ์ของชีวิต) กำลังกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ราวกับวิญญาณล่องลอยออกจากร่าง ออกเดินทางสู่โลกหลังความตาย
แม้ว่า Ivan จะแรกพบเจอ Marichka ตั้งแต่อยู่ในโบสถ์ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขารับรู้จัก จดจำกันไม่รู้ลืม (และร่ำลาจากกันชั่วนิรันดร์) เกิดขึ้นบริเวณริมแม่น้ำ เด็กหญิงโดนกลั่นแกล้ง ตบหน้า ถูกขโมยผ้าพันคอ และเด็กชายเป่าขลุ่ยน่าจะ Pipe-Dentsivka มันช่างเป็น ‘ธาราแห่งชีวิต’
เกร็ด: ผมคุ้นๆว่าเคยเห็นช็อตลักษณะคล้ายๆกันนี้ในโคตรหนังเงียบ By the Law (1926) ของ Lev Kuleshov มันอาจไม่ใช่การเคารพคารวะ แต่เป็นภาพที่ติดตราฝังใจบรรดาผู้กำกับชาวรัสเซียอย่างแน่นอน!
ภาพแรกชวนให้นึกถึงโคตรหนังเงียบ Earth (1930) ของผู้กำกับ Alexander Dovzhenko สะท้อนช่วงเวลาเด็กชาย-หญิง วัยไร้ประสีประสา กำลังวิ่งเล่นสนุกสนาน โดยไม่รับรู้ความครอบครัวของพวกมีความบาดหมางไม่ลงรอย
ส่วนภาพสองพยายามทำออกมาละม้ายคล้าย Ivan’s Childhood (1962) ของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ระหว่างเด็กชาย-หญิง พานผ่านสถานที่รกร้าง ถูกทอดทิ้งขวาง หลงเหลือเพียงสภาพปรักหักพัง
เด็กชาย-หญิง พอเติบโตเป็นคนหนุ่ม-สาว Marichka รำพันถึงอุปสรรคความรักกับ Ivan ไม่มีทางที่พวกเขาจะได้รับอนุญาตจากครอบครัว สังเกตกล้องถ่ายมุมเงย ท้องฟ้าอึมครื้ม เต็มไปด้วยท่อนไม้ สิ่งกีดขวาง บดบังความมืดมิด แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีสิ่งไหนสามารถกีดกั้นความรู้สึกพวกเขาทั้งสอง
เมื่อตอนยังเป็นเด็ก Ivan และ Marichka มักจับมือวิ่งหมุนวงกลม (กล้องตั้งไว้เฉยๆ) แต่พอเติบใหญ่กลายเป็นคนหนุ่ม-สาว เมื่อพวกเขาโอบกอด พรอดรัก กล้องเปลี่ยนมาหมุนรอบ 360 องศา เพื่อสื่อถึงความรักคือศูนย์กลางจักรวาล!
ตลอดทั้งซีเควนซ์โศกนาฎกรรมของ Marichka น่าจะถ่ายทำช่วงฤดูหนาว เต็มไปด้วยหมอกขาวโพลน (ไม่น่าจะใช่จากเครื่องทำควัน) สร้างบรรยากาศอึมครึม บดบังทัศนียภาพโดยรอบ มอบสัมผัสหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก ลุ้นระทึกโชคชะตาหญิงสาวจะรอดหรือไม่รอด
ให้ข้อสังเกตอีกสักนิด แทบตลอดทั้งซีเควนซ์มักถ่ายมุมเงยเห็นท้องฟ้า ราวกับเบื้องบน/สวรรค์บันดาลให้บังเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมครั้งนี้
หลังพบเจอศพของ Marichka จะมีการ Fade-to-Red พบเห็นภาพสีแดงฉานระหว่าง Ivan ปักไม้กางเขนบนหลุมศพ จากนั้นตลอดทั้งซีเควนซ์ Loneliness จะถ่ายด้วยฟีล์มขาว-ดำ มอบสัมผัสท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ใช้ชีวิตทำงานเรื่อยเปื่อยไปวันๆอย่างไร้จุดมุ่งหมาย
ยามค่ำคืนเวลานอนหลับฝัน ยังมีการซ้อนภาพ Ivan กับภาพวาดพระเยซูคริสต์ นี่เป็นความพยายามเปรียบเทียบอาการทุกข์ทรมาน(ทางจิตวิญญาณ)ของตัวละคร ไม่ต่างจากความเจ็บปวด(ทางกาย)ของพระเยซูระหว่างถูกตรึงกางเขน … เป็นการเชื่อมโยงความเจ็บปวดเข้ากับศาสนา
การมาถึงของ Palahna ทำให้ชีวิตของ Ivan กลับมามีสีสันขึ้นอีกครั้ง (หวนกลับมาถ่ายภาพสีอีกครั้ง) โดยแรกพบเจอของพวกเขานั้น ฝ่ายหญิงเดินทางมาให้ซ่อมเกือกม้า โดยปกติแล้วคือสัญลักษณ์ของการเดินทาง แต่ด้วยความที่มันเป็นของต่ำ สะท้อนความสัมพันธ์ทั้งสองไม่ใช่ด้วยรัก เพียงตอบสนองอารมณ์ และข้อเรียกร้องสังคม
พิธีแต่งงานของชาว Hutsuls สังเกตว่าคู่บ่าว-สาวจะถูกปิดตา และคล้องคอด้วยคานไม้ (คล้ายๆวัวเทียมเกวียน) ผมไม่แน่ใจในความหมายของชนพื้นเมือง แต่มุมมองคนนอกดูเหมือนพันธนาการนักโทษ ไม่ให้พวกเขาดิ้นหลุดพ้น ต้องครองคู่รักตราบจนกว่าจะมีใครตกตาย
แม้ว่า Palahna จะทำการยั่วเย้า เรียกร้องให้ Ivan ทำหน้าที่สามี แต่อีกฝ่ายกลับเมินเฉย เฉื่อยชา ไม่ได้ยี่หร่า ไร้ความกระตือร้น ครั้งหนึ่งภาพถ่ายจากใต้พื้นผิวน้ำ สถานที่ที่เขายังคงหวนระลึก พบเจอ-พรากจากหญิงสาวคนรัก ท่าดื่มน้ำไม่ต่างจากการจุมพิต ราวกับพบเห็นภาพเธออยู่ในนั้น (ภาพสะท้อนโลกหลังความตาย)
ด้วยความเอือมระอาของ Palahna จึงตัดสินใจเปลื้องผ้า ออกเดินไปตามท้องทุ่งยามค่ำคืน ต้องการอธิษฐานขอพระเป็นเจ้า คาดหวังให้พระองค์ประทานบุตรในครรภ์ กลับพบเจอตัวแทนซาตาน ใครคนหนึ่งตรงเข้ามาจะข่มขืนกระทำชำเรา … เป็นซีเควนซ์ที่มีบรรยากาศขมุกขมัว ฟ้าสลัวๆ(ยามค่ำคืน) ราวกับหนทางสู่ขุมนรก
ผมละขำกลิ้งวินาทีที่กล้องทำการ Whip-Pan ในทิศทาง Tilt-Up จากใบหน้าของ Palahna หลังยินยอมให้กับชู้รัก Yurko พบเห็นต้นไม้จู่ๆไฟลุกพรึบ ราวกับอาเพศ ลางบอกเหตุร้าย เพราะเธอได้กระทำสิ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของพระเป็นเจ้า กลายเป็นคนนอกรีต ฝักใฝ่ลัทธิซาตาน
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังใช้เทคนิคอะไร น่าจะเป็นการย้อมสีด้วยเคมีบางอย่าง ให้ภาพออกมีดูแจ๊สๆ เฉดสีส้ม-แดง แสดงอาการปวดศีรษะ เลือดคลั่งในสมอง หลังจาก Ivan ถูกทุบตีโดย Yurko (ชู้ของภรรยา) ก้าวออกจากโรงเตี๊ยม ดำเนินสู่ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
หลังจากแอบถ้ำมองภรรยาพรอดรักกับชู้ Ivan เลยตัดสินใจก้าวออกเดิน แสวงหาสถานที่นอนตายอย่างสงบ พานผ่านท้องทุ่งที่ต้นไม้ถูกตัดเหี้ยน เหลือเพียงตอและควันไฟ (ชีวิตที่ไม่หลงเหลืออะไร ถูกทำลายหมดสิ้น) จากนั้นมาถึงแม่น้ำจินตนาการภาพสะท้อนภรรยา บทเพลงแห่งความโหยหา ก่อนวิ่งหน้าตั้งเข้าไปในป่าพงหนาม สภาพอากาศหนาวเหน็บ ราวกับกำลังมุ่งสู่โลกหลังความตาย หวังจะได้พบเจอเธออีกครั้ง
ตอนจบของหนังตั้งชื่อว่า Pieta (ภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า สงสาร) หลายคนอาจนึกถึงประติมากรรมแกะสลักหินอ่อน หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Michelangelo พระเยซูหลังถูกตรึงกางเขนในอ้อมอกพระแม่มารีย์
ในบริบทนี้ก็คือความตายที่น่าสงสารของ Ivan พิธีศพรายล้อมรอบด้วยบุคคลไม่รู้จัก แถมคนเหล่านี้ไม่ต่างจากอีแร้งกา สนเพียงแสวงหาผลประโยชน์จากผู้เสียชีวิต กล้องแพนนิ่งหมุนรอบห้อง 360 องศา ซึ่งจะค่อยๆเร่งความเร็วขึ้นตามลำดับ พร้อมเสียงหัวเราะ ซุบซิบนินทา สังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้ … แต่เด็กๆกลับไม่อนุญาตให้ออกจากบ้าน เพียงจับจ้องมองกิจกรรมของผู้ใหญ่ผ่านบานหน้าต่าง
แซว: ภาพสุดท้ายของหนังนี้แอบเคลือบแฝงนัยยะทางการเมือง เด็กๆเหล่านี้ไม่ต่างจากชาว Ukrainian ถูกคุมขัง ต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบข้อบังคับ คำสั่งของผู้หลักผู้ใหญ่จากสหภาพโซเวียต
ตัดต่อโดย Marfa Ponomarenko (1926-2015) สัญชาติ Ukrainian, ทำงานให้กับสตูดิโอ Dovzhenko Film Studios เลยได้มีโอกาสเป็นขาประจำผกก. Sergei Parajanov ตั้งแต่ Ukrainian Rhapsody (1961), Shadows of Forgotten Ancestors (1965), The Color of Pomegranates (1969) และ The Legend of Suram Fortress (1985)
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา Ivan สมาชิกชนชาติพันธุ์ Hutsuls ตั้งแต่เมื่อครั้นยังเด็กพบเห็นบิดาถูกฆาตกรรม พอเติบโตขึ้นกลับตกหลุมรักบุตรสาวของศัตรู Marichka พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครองคู่อยู่ร่วม แต่โชคชะตาทำให้พวกเขาพลัดพรากจากกันชั่วนิรันดร์ ตกอยู่ความท้อแท้สิ้นหวัง แม้ได้แต่งงานกับหญิงสาวอีกคน Palahna ก็มิอาจลบเลือนความทรงจำรักครั้งแรก
เรื่องราวของหนังจะมีการแบ่งออกเป็นตอนๆ ปรากฎข้อความ (Title Card) แยกตามเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้นในชีวิตของ Ivan
- The Carpathians, a Gutsul land, forgotten by God and people…
- Ivan พบเห็นความตายของพี่ชาย ถูกต้นไม้ทับเสียชีวิต
- Ivan และครอบครัวเข้าร่วมพิธีมิสซา
- บิดาของ Ivan ถูกฆาตกรรมโดยตระกูลพ่อค้า
- พิธีศพของพี่ชายและบิดา
- Ivan and Marichka
- เด็กชาย-หญิง เติบใหญ่เป็นชายหนุ่ม-สาว
- แม้ถูกครอบครัวทัดทาน Ivan ยังต้องการแต่งงานกับ Marichka จึงตัดสินใจออกไปรับจ้างทำงาน
- Meadow
- Ivan รับจ้างทำงานดูแลแกะในทุ่งกว้า
- Marichka ประสบอุบัติเหตุพลัดตกน้ำเสียชีวิต
- Ivan พอรับทราบข่าวคราว พยายามออกติดตามหา พบเจอเพียงร่างไร้วิญญาณ
- Loneliness
- Ivan ตกอยู่สภาพท้อแท้ หมดอาลัยตายอยาก วันๆเอาแต่ทำงานหนัก ไม่รับรู้เดือนตะวัน
- จนกระทั่งได้พบเจอกับ Palahna
- Ivan and Palahna
- พิธีแต่งงานระหว่าง Ivan กับ Palahna
- Workdays
- แต่หลังการแต่งงาน เหมือนว่า Ivan กลับไม่ค่อยสนใจทำการบ้านสักเท่าไหร่
- Chrismas
- Ivan เลยถูกกดดันจากญาติพี่น้อง ทำไมภรรยาไม่ตั้งครรภ์สักที
- เฉลิมฉลองวันคริสต์มาส Palahna พยายามเกี้ยวพาราสี แต่เขากลับไม่สนใจใยดี
- Tomorrow is Spring
- Palahna เปลื้องผ้ายามค่ำคืน ต้องการอธิษฐานขอบุตรจากพระเจ้า กลับพบเจอชายแปลกหน้าพยายามจะข่มขืนกระทำชำเรา
- Socoery
- เมื่อไม่สามารถขอจากพระเจ้า เลยพึ่งพาเวทย์มนต์คาถา ซาตานจึงนำพา Yurko มาให้ร่วมรักหลับนอน
- Tavern
- ภายในโรงเตี๊ยม Palahna พยายามเกี้ยวพาให้ Yurko กระทำร้าย เข่นฆาตกรรมสามี Ivan
- Ivan ในสภาพถูกทุบตีศีรษะ ก้าวเดินอย่างเรื่อยเปื่อย มองหาสถานที่ทิ้งตัวลงนอนสิ้นใจตาย
- Pieta
- พิธีศพของ Ivan
แซว: โดยปกติแล้วการเปลี่ยนฉาก (Film Transition) มักใช้ลูกเล่น Fade-to-Black แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็น Fade-to-Red เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความทรงจำเปื้อนเลือด
เพลงประกอบโดย Myroslav Skoryk (1938-2020) คีตกวีสัญชาติ Ukrainian เกิดที่ Lwów, Second Polish Republic (ปัจจุบันคือ Lviv, Ukraine) บิดาเป็นนักประวัติศาสตร์ ชื่นชอบศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ (Ethonographer) แม้ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรี แต่พบเห็นเล่นไวโอลินร่วมกับมารดาบรรเลงเปียโนบ่อยครั้ง สร้างอิทธิพลให้กับบุตรชาย โตขึ้นเข้าศึกษายัง Lviv Conservatory ตามด้วยปริญญาโท Moscow Conservatory ร่ำเรียนกับอาจารย์ Dmitry Kabalevsky เริ่มแต่งเพลง Symphony, Sonata, Chamber Music และ Vocal Music, หลังเรียนจบได้เป็นอาจารย์สอนอยู่ Lviv Conservatory ก่อนย้ายมา Kyiv Conservatory สร้างชื่อจากแนวเพลง Ukrainian Folk Music จนได้รับชักชวนจากผกก. Sergei Parajanov ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Shadows of Forgotten Ancestors (1965)
no Ukrainian film knew such a wealth of sound components before “Shadows of Forgotten Ancestors”, which is one of the innovative features of the film.
นักวิจัยภาพยนตร์ Oksana Vasylivna ชาว Ukrainian
ด้วยความที่ยังไม่เคยมีการบันทึกบทเพลงของชาว Hutsuls มาก่อน! มันจึงไม่เรื่องง่ายที่จะแต่งเพลงขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้เพลงพื้นบ้านที่มีอยู่ ขนาดว่า Skoryk ต้องเดินทางไปคัดเลือกนักดนตรี(ชาว Hutsuls)เพื่อพามาอัดเสียงยังสตูดิโอ ณ กรุง Kyiv ถือเป็นครั้งแรกๆของโลกที่ได้รับรู้จัก/ได้ยินเสียงเครื่องดนตรี อาทิ Pipe-Dentsivka (сопілка-денцівка), Floyara (флояра), Koza (коза), Drim-Ba (дримба), Trembita (трембіта) ฯ
The Hutsuls were even taken to Kyiv, where they were recorded in a studio. There were no such recordings before. And even now they cannot be found… And I also remember how we had to record trembitas. It was difficult to do it outdoors, and Parajanov barely squeezed ten trembitas players with trembitas into a plane and brought them to Kyiv. Moreover, the instruments were transported in the passenger cabin. I went on expeditions to the Carpathians to select musicians.
Myroslav Skoryk
นอกจากบรรดาสารพัดเพลงพื้นบ้านที่ได้ยินในหนัง Skoryk ยังมีโอกาสประพันธ์บทเพลงคำร้อง (ด้วยภาษา Hutsuls) รำพันความตายของ Ivan ที่จักได้หวนกลับมาครองรัก Marichka ซึ่งสะท้อนความเชื่อของชาว Hutsuls ด้วยเช่นกัน!
เรื่องราวของ Shadows of Forgotten Ancestors (1965) เริ่มต้นด้วย ‘Romeo & Juliet’ ความรักที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว แต่กลับถูกปฏิเสธจากครอบครัวของพวกเขา เพราะความบาดหมางกันตั้งแต่ปางก่อน นำพาให้บังเกิดเหตุโศกนาฎกรรม ทำให้บุคคลยังมีชีวิตตกอยู่ในความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง แม้ได้แต่งงานกับหญิงสาวคนใหม่ ก็ไม่อาจลบเลือนความทรงจำรักครั้งแรก
ถ้าเราปรับเปลี่ยนความรักหนุ่ม-สาว มาเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ กาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไปนั้น แม้ทำให้อดีตค่อยๆเลือนลาง แต่วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม สายเลือดบรรพบุรุษยังคงได้การสืบทอด ส่งต่อ ธำรงรักษาไว้ให้ลูก-หลาน-เหลน-โหลน ไม่มีวันเจือจางหายไป
ผกก. Parajanov สูญเสียภรรยาคนแรก Nigyar Kerimova ถูกฆาตกรรมเพราะเปลี่ยนศาสนา ตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง ออกเดินทางสู่ Kyiv, Ukraine สรรค์สร้างสารคดี & ภาพยนตร์ ดำเนินชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ จนกระทั่งได้แต่งงานกับภรรยาคนที่สอง Svetlana Tscherbatiuk มีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน ถึงอย่างนั้นเขายังคงคร่ำครวญโหยหารักครั้งแรก สุดท้ายเลยต้องเลิกราหย่าร้าง(กับภรรยาคนที่สอง)
ระหว่างรับชมผมไม่ได้เอะใจว่าเรื่องราวของหนังมีความสัมพันธ์อันใดต่อผกก. Parajanov แต่พอได้อ่านประวัติก็เกิดอาการจุกแน่นหน้าอก เข้าถึงความเป็นส่วนตัว อารมณ์ ‘ศิลปิน’ ย้อนกลับไปดูฉากโศกนาฎกรรมซ้ำอีกรอบ ก็มิอาจกลั้นธารน้ำตา แถมลีลาขยับเคลื่อนเลื่อนกล้อง ช่วยสร้างสัมผัสหายนะ (Devastating) แล้วโลกทั้งใบพลันมืดหม่น หดหู่ แทบไม่อยากมีชีวิตอยู่ … ช่างมีพลังทำลายล้างสูงยิ่งนัก!
วินาทีแห่งความตายของ Ivan ตามความเชื่อของชาว Hutsuls จักมีโอกาสพบเจออดีตคนรัก สามารถเปรียบเทียบถึงผกก. Parajanov หลังจากรับชม Ivan’s Childhood (1962) ก็ราวกับได้ถือกำเนิด เกิดใหม่ ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง(ที่เคยสรรค์สร้าง) เพื่อดำเนินตามเป้าหมายชีวิต ค้นพบความหมายแท้จริงของสื่อภาพยนตร์
แม้ว่าหลายสิ่งอย่างของหนังมีการอ้างอิงถึงศาสนาคริสต์ (Eastern Orthodox) และผกก. Parajanov ได้รับการยกย่องในฐานะ ‘Religion Icon’ แต่เขาไม่เคยพูดกล่าวถึงความเชื่อ/ศรัทธาของตนเอง ซึ่งมีแนวโน้มว่าศาสนา(ไม่ต่างจากประเพณี วัฒนธรรม)เพียงอิทธิพลสำหรับสรรค์สร้างผลงานศิลปะเท่านั้น! … ไม่ใช่ผู้กำกับสายศาสนาอย่าง Carl Theodor Dreyer, Ingmar Bergman, Martin Scorsese ฯ เห็นเคยกล่าวยกย่อง Pier Paolo Pasolini ราวกับ “like a God”
The film became not only another peak of the Ukrainian national spirit’s elevation but also a convenient pretext for party officials and the KGB to crack down on the freethinking in the republic.
นักวิจารณ์ Olexiy Rosoverskiy
อิทธิพลของ Shadows of Forgotten Ancestors (1965) ที่มีต่อ Ukrainian Cinema สามารถเทียบเท่า Citizen Kane (1942) ต่อวงการภาพยนตร์ (อันนี้กล่าวโดยนักวิจารณ์ Olexiy Rosoverskiy) เพราะนอกจากบันทึกชาติพันธุ์ เชื่อมโยงความเป็นส่วนตัวของศิลปิน การสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสร้างแรงกระตุ้นให้ชาว Ukrainian ยุคสมัยนั้นเกิดความกระเหี้ยนกระหือรือ ปลุกจิตวิญญาณ โหยหาอิสรภาพในการครุ่นคิด แสดงออก ต่อต้านสหภาพโซเวียต (ช่วงเวลาใกล้ๆเคียงกัน Prague Spring) แม้ผลลัพท์จะไม่สบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ถือเป็นรอยแตกร้าวแรกๆ นำไปสู่การล่มสลาย(ของสหภาพโซเวียต)ในอีกสองทศวรรษถัดมา
หนังสร้างเสร็จตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1964 แต่กว่าจะเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Kyiv, Ukrainian SSR ก็อีกปีถัดมา นั่นเพราะผกก. Parajanov พยายามปฏิเสธไม่ยินยอมทำฉบับพากย์รัสเซีย (ดั้งเดิมเป็นภาษา Ukrainian และท้องถิ่นชาว Hutsuls) ตามคำร้องขอของทางการสหภาพโซเวียต
the ministry asked me to make a Russian [dubbed] version [of the film]. The film was not only shot in the Ukrainian language, but it was also in the Hutsul dialect [of Ukrainian language]. They asked me to dub the film in Russian but I turned them down categorically.
Sergei Parajanov
สุดท้ายยินยอมอนุญาตให้ออกฉายเพราะสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่าง Ukrainian SSR กับ Soviet Union, และถึงเวลาครบรอบร้อยปีชาตกาล Mykhailo Kotsiubynsky จึงไม่สามารถยื้อยักได้อีกต่อไป
ผลลัพท์ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามใน Ukrainian SSR (แต่ประเทศอื่นในเครือสหภาพโซเวียต จะเพียงเข้าฉายจำกัดโรง) มียอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 6.5-8.5 ล้านใบ! และออกเดินทางไปกวาดรางวัลจากเทศกาลหนังมากมาย … แต่การเข้าฉายต่างประเทศ ทีมงาน/นักแสดงถูกบังคับให้กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนจาก USSR ไม่ใช่ UkrSSR
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K ในโอกาสครบรอบ 50th Anniversary โดย Ukrainian State Film Agency ร่วมกับ Ukraine’s Ministry of Culture เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 สามารถหารับชมได้ตามช่องทางออนไลน์ทั่วไป youtube, archive.org แต่ถ้าต้องการคุณภาพเยี่ยมๆแนะนำเว็บ easterneuropeanmovies.com
Shadows of Forgotten Ancestors (1965) เป็นภาพยนตร์ที่ดูเพลิน มอบความรู้ ความบันเทิง บันทึกภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี บทเรียนประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ Ukrainian (นั่นคือเหตุผลที่ได้รับการโหวตติดอันดับ #1 “The 100 Best Films in the History of Ukrainian Cinema”) มีความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ!
แถมยังซ่อนเร้นความเป็นศิลปินของผกก. Parajanov น่าเสียดายที่อิทธิพลของหนังอาจไม่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า The Color of Pomegranates (1969) แต่การันตีคุณภาพไม่ด้อยกว่าอย่างแน่นอน และเข้าถึงผู้ชมทั่วไปได้ง่ายกว่าด้วยนะ
จัดเรต pg กับความฉวัดเฉวียนของงานภาพ เรื่องราวรักๆใคร่ๆ ความรุนแรง ขัดแย้ง ฆาตกรรม
Leave a Reply