To Be or Not to Be

To Be or Not to Be (1942) hollywood : Ernst Lubitsch ♥♥♥♥♡

The Great Dictator (1940) ของผู้กำกับ Charlie Chaplin ชิดซ้ายตกกระป๋องไปเลยเมื่อเทียบกับ To Be or Not to Be (1942) ด้วย ‘สัมผัสของ Lubitsch’ ทำให้ภาพยนตร์เสียดสีล้อเลียน Adolf Hitler และนาซีเรื่องนี้มีความลุ่มลึกล้ำ เฉียบคมคาย คลาสสิกเหนือกาลเวลา แต่ผู้ชม/นักวิจารณ์สมัยนั้น ต่างขำกันไม่ออกเลยสักนิด

นั่นเพราะปีที่หนังออกฉาย อยู่ท่ามกลางมรสุมใหญ่ของสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเพิ่งได้ฤกษ์ส่งทหารเข้าร่วมสู้รบในยุโรปหลังเหตุการณ์ Pearl Harbour เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ผู้กำกับโดนตำหนิอย่างรุนแรงถึงความไร้รสนิยม ไม่รู้จักกาละเทศะ นี่หาใช่ช่วงเวลาเหมาะสมควรจะมาล้อเล่นขบขันความเป็นความตาย ซึ่ง Ernst Lubitsch ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงหนังสือพิมพ์ The Philadelphia Inquirer เมื่อปี 1943 อธิบายเหตุผลความตั้งใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้

“What I have satirized in this picture are the Nazis and their ridiculous ideology. I have also satirized the attitude of actors who always remain actors regardless of how dangerous the situation might be, which I believe is a true observation. It can be argued if the tragedy of Poland realistically portrayed as in To Be or Not to Be can be merged with satire. I believe it can be and so do the audience which I observed during a screening of To Be or Not to Be; but this is a matter of debate and everyone is entitled to his point of view, but it is certainly a far cry from the Berlin-born director who finds fun in the bombing of Warsaw”.

ในบรรดาภาพยนตร์ของตนเองทั้งหมด Ernst Lubitsch เคยบอกว่ามีความชื่นชอบพึงพอใจ To Be or Not to Be เรื่องนี้เป็นที่สุด แม้มิได้ให้เหตุผลไว้ แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้อง ยกย่องว่าคือ Masterpiece ยอดเยี่ยมสุดของผู้กำกับ ซึ่งกาลเวลาเท่านั้นได้พิสูจน์คุณค่า หลังผ่านสงครามโลกมากว่าหลายสิบปี มุมมองของผู้ชมได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อถึงจุดสามารถยินยอมรับการเสียดสีล้อเลียน Adolf Hitler และ Nazi Germany ติดอันดับชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลปริมาณนับไม่ถ้วนทีเดียว

ถึงผมจะรับชมผลงานของ Lubitsch ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ต้องยอมความเลยว่า To Be or Not to Be น่าจะคือภาพยนตร์ชิ้นโบว์แดงของผู้กำกับ เรื่องราวมีความลุ่มลึกล้ำซับซ้อนซ่อนเงื่อน ‘Play within Film’ แล้วยังต้มตุ๋นตบตาทหารเยอรมัน Gestapo ได้อย่างแนบเนียน, บทพูดสนทนามีความเฉียบคมคาย

“What he did to Shakespeare we are doing now to Poland”.

ประโยคนี้ผมตีความได้ทั้งคำชมและด่า, สิ่งที่ Nazi กระทำต่อ Poland คือทำลายทุกสิ่งอย่างราบเรียบเป็นหน้ากลอง ย้อนกลับไปถึง Joseph Tura ในการรับบท Hamlet ของ Shakespeare มองได้ทั้ง
– แสดงบทละครนี้ได้อย่างเละเทะย่อยยับเยิน ห่วยแตกเสียจนไม่หลงเหลืออะไร
– ตีบทบาทได้แตกกระจุยกระจาย สมจริงแบบที่ Shakespeare คงคาดคิดไม่ถึงมาก่อน

แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์สุดของหนัง ขอยกให้การแสดงของ Jack Benny พี่แกคือจุดศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่าง ได้ยินว่า Lubitsch พัฒนาบทนี้โดยมีเขาอยู่ในใจ ก่อนหน้าเป็นตลกอัจฉริยะชื่อดังสุดๆในอเมริกาช่วงครึ่งศตวรรษแรก ไม่ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์เพราะผู้กำกับส่วนใหญ่ไม่เข้าใจไดเรคชั่นลูกเล่นการแสดงของเขา เลยมิสามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวออกมาได้ ผิดกับ Lubitsch เก็บตกทุกรายละเอียด รับรู้ถึงจุดซื้อขาย และปรับประยุกต์ให้เข้ากับภาษาภาพยนตร์อย่างลงตัว

หนึ่งในมุกตลกที่กลายเป็นอมตะของ Jack Benny ระหว่างการให้เสียง Radio Drama สถานการณ์คือตัวละครของเขากำลังถูกปล้น โจรพูดว่า

“Don’t make a move, this is a stickup. Now, come on. Your money or your life.

ตัวละครของ Benny อ้ำอึ้งไม่ยอมพูดอยู่เกือบๆนาที จนหัวขโมยเริ่มหัวเสีย เอ่ยปากถามอีกครั้ง

“Look, bud! I said your money or your life!”

คราวนี้ตัวละครสวนตอนกลับไปอย่างทันควัน ‘ฉันกำลังคิดอยู่!’

“I’m thinking it over!”

ไดเรคชั่นการเล่นตลกของ Benny มักมีความใจเย็น กล่าวคือไม่เร่งรีบร้อนเล่นมุกแบบปัจจุบันทันด่วน ให้เวลากับช่องว่างมีจังหวะหายใจ ทวีความรุนแรงขำหนักขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายก็มักจะตบมุกซ้ำ/ล้อกับที่เคยเล่นไว้ตั้งแต่ตอนแรกๆ

ผู้กำกับ Lubitsch มีความเข้าใจในไดเรคชั่นนี้การแสดงตลกของ Benny อย่างถ่องแท้ เพราะภาพยนตร์ของเขาก็ใช้ลักษณะทิศทางคล้ายๆกันนี้อยู่ตลอด สังเกตประโยคพูดอย่าง

“So they call me Concentration Camp Ehrhardt?”

ตอนที่ตัวละครของ Benny ปลอมตัวเป็น Col. Ehrhardt เล่นซ้ำหลายรอบจนเริ่มขำไม่ออกแล้ว แต่พอมาถึงวินาทีที่ Ehrhardt ตัวจริงพูดประโยคนี้ขึ้นมาบ้าง แม้งขำหนักกว่าอีก

“I thought you would react just that way.”

Ernst Lubitsch (1892 – 1947) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin, German Empire เชื้อสาย Ashkenazi Jewish พ่อเป็นช่างตัดเสื้อ (Tailor) ได้รับการคาดหวังให้สานต่องาน แต่ทอดทิ้งครอบครัวแล้วเข้าสู่วงการละครเวที เป็นสมาชิกของ Deutsches Theater เริ่มจากเป็นนักแสดง ไม่นานผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง กำกับภาพยนตร์ยุคหนังเงียบอยู่หลายเรื่องจนได้เดินทางสู่ Hollywood โดยคำชักชวนของ Mary Pickford และสามารถเอาตัวรอดในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดได้ไม่ยากนัก, ผลงานเด่นๆ อาทิ Rosita (1923) [แจ้งเกิดที่ Hollywood], The Patriot (1928), The Love Parade (1929), Trouble in Paradise (1932), Ninotchka (1939), The Shop Around the Corner (1940), To Be or Not to Be (1942), Heaven Can Wait (1943) ฯ เข้าชิง Oscar สามครั้งไม่เคยได้รางวัล ภายหลังรับมอบ Honorary Award เมื่อปี 1947 ก่อนเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือน

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ได้รับการกล่าวขวัญถึงคือ ‘Lubitsch’s Touch’ ความเฉียบคมคายที่แอบซ่อนเร้นอยู่ในทุกๆอณูของภาพยนตร์ คำพูดอุปมาอุปไมยอะไรก็ไม่รู้แต่แฝงนัยยะความหมายลึกซึ้ง ไดเรคชั่น มุมกล้อง ตัดต่อ และการเลือกใช้เพลงประกอบ อุดมไปด้วยความล่อแหลม เรื่องต้องห้าม จิกกัดขนบวิถีสังคม ถ้าสามารถทำความเข้าใจได้จะหัวร่อกับความขัดแย้ง เจ๋งเป้งเพราะมันท้าทายสันชาติญาณ/สติปัญญาในการครุ่นคิด

จุดเริ่มต้นของ To Be or Not to Be เกิดจากแนวคิดของเพื่อนนักเขียน Melchior Lengyel สัญชาติ Hungarian ที่เคยร่วมงาน Angel (1937), Ninotchka (1939) ฯ เรื่องราวของคณะการแสดงในกรุง Warsaw, Poland ระหว่างที่ถูก Nazi Germany เข้ายึดครองช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ทำการปลอมแปลงตัวเอง เล่นละครตบตา ลวงหลอกทหาร Gestapo เพื่อขึ้นเครื่องบินอพยพหลบหนีสู่ประเทศอังกฤษ

ร่วมงานกับ Edwin Justus Mayer (1896 – 1960) นักเขียนบทละคร Broadways เพราะความประทับใจจากเรื่อง Children of Darkness (1930) โดยระหว่างพัฒนาบทจินตนาการถึง John Barrymore พล็อตเรื่องมีความคล้ายคลึงกับ Twentieth Century (1934) แต่เมื่อเสร็จสิ้นส่งต่อให้ Lubitsch ขัดเกลาโดยมีภาพของ Jack Benny อยู่ในใจ

ก่อนหน้าการรุกราน Poland ของ Nazi Germany ต้นปี 1939, คณะละครเวทีกลุ่มหนึ่งในกรุง Warsaw นำโดย Josef Tura (นำแสดงโดย Jack Benny) กับภรรยา Maria (รับบทโดย Carole Lombard) ขณะนั้นเปิดการแสดง Hamlet และกำลังเตรียมซักซ้อมชุดการแสดงใหม่ชื่อ Gestapo เป็นเรื่องตลกล้อเลียน Adolf Hitler และ Nazi Germany แต่ยังไม่ทันเริ่มก็ถูกทางการสั่งห้าม ทำให้ต้องหวนกลับไปแสดง Hamlet อีกหลายราตรี

สามคืนติดของการแสดง Maria ได้รับดอกไม้ช่อใหญ่ สร้างความอิจฉาตาร้อนให้สามี Josef แม้จะไม่ข้อความใดๆทิ้งไว้ แต่หญิงสาวสามารถคาดเดาได้ว่าน่าจะทหารอากาศนายหนึ่งที่นั่งอยู่ติดเวทีแถวสอง วันนั้นมีจดหมายส่งมาถึงจ่าหัว Lt. Stanislav Sobinski (รับบทโดย Robert Stack) เธอเขียนตอบให้รีบมาหา ระหว่างที่สามีกำลังเข้าฉากในองก์สาม และพูดคำว่า ‘To be or, not to be’

เกร็ด: To be, or not to be เป็นวลีที่ Prince Hamlet พูดพึมพัมกับตนเอง ในบทละคร Hamlet องก์ที่สาม ซีนที่หนึ่ง, เรื่องราวขณะนี้ Hamlet เต็มไปด้วยความลังเลใจ ‘ทำดีไม่ทำดี?’ ในการฆ่าล้างแค้นลุงหรือกษัตริย์ Claudius ผู้ลอบปลงพระชนม์บิดา ช่วงชิงบัลลังก์ และมีชู้แต่งงานกับมารดาของตน

นำแสดงโดย Jack Benny ชื่อจริง Benjamin Kubelsky (1894 – 1974) นักแสดง/ตลก จัดรายการวิทยุ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก Poland ตอนอายุ 6 ขวบ เริ่มหัดเล่นไวโอลินตั้งใจจะให้เป็นมืออาชีพแต่ขี้เกียจซักซ้อม การเรียนก็ไม่ค่อยขยันจนถูกไล่ออก ตัดสินใจกลายเป็นนักแสดงเร่ เดี่ยวไวโอลินที่ก็ไม่ได้มีความไพเราะสักเท่าไหร่ ตามด้วยคณะละครสัตว์ สนิทสนมกับ Marx Brothers สมัครเป็นทหารเรือช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนได้แสดงคั่นเวลาในโรงละคร เซ็นสัญญากับสตูดิโอ MGM ภาพยนตร์เรื่องแรก The Hollywood Revue of 1929 (1929) ตามด้วย Chasing Rainbows (1929) เพราะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่เลยยังต้องไขว่คว้าหาสายรุ้งต่อไป จากนั้นได้รับการชักชวนจาก Ed Sullivan ให้โอกาสจัดรายการวิทยุ Radio Drama แค่เพียงสัปดาห์แรกก็แจ้งเกิดโด่งดังประสบความสำเร็จ(เสียที)กับ The Jack Benny Program (1932 – 1955) ด้วยคำพูดเปิดรายการที่ถือเป็นอีกประโยคคลาสสิก

“This is Jack Benny talking. There will be a short pause while you say ‘Who cares?’”

สิ่งที่ Benny ได้สร้างสรรค์ให้กับวงการวิทยุ ประกอบด้วย
– นำบทเพลงมาเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน นี่รวมถึง Theme Song ของที่เปิดซ้ำๆตอนเริ่มต้นและสิ้นสุด
– ว่าจ้างทีมงานเขียนบท เตรียมสคริปให้พร้อมก่อนเริ่มจัดรายการ ไม่ใช่ดั้นสดๆไปตายเอาดาบหน้า นี่การันตีความสนุกทุกสัปดาห์
– มีการจำลองสร้างสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปในแต่ละรายการ เช่นว่าทุกๆสิ้นปีจะมีตอนพิเศษ ‘Chrismast Shopping’
– สถานการณ์โด่งดังสุดคือ ความขัดแย้งกับคู่แข่งนักจัดรายการ Fred Allen (คล้ายๆกรณีของ Andy Kaufman กับ Jerry Lawler)
– ทำการโปรโมทสปอนเซอร์ เข้าไปในรายงาน มีการพูดแซวล้อเลียน ไม่ให้ฟังดูน่าเบื่อจนเกินไป
– ดึงตัวนักแสดงที่รู้จักมารับเชิญมาร่วมจัดรายการ อาทิ Frank Sinatra, James Stweart, Judy Garland ฯ
ฯลฯ

รับบท Joseph Tura นักแสดงที่ฝีมือก็งั้นๆ แต่ชอบโอ้อวดอ้างว่ายิ่งใหญ่เกรียงไกร ซึ่งเมื่อพบเห็นผู้ชมเดินออกต่อหน้าต่อตา เกิดความวิตกจริตขั้นรุนแรง ล่วงรับรู้ข้อเท็จจริงบางอย่าง จึงพยายามหาวิถีหนทางเพื่อทวงคืนภรรยาคนรัก ขณะเดียวกันต้องปลอมตัวเป็น Col. Ehrhardt ตามด้วย Prof. Alexander Siletsky และสุดท้ายบอดี้การ์ดข้างกาย Adolf Hitler แต่ทั้งหมดก็เทียบไม่ได้กับบทบาทเพ้อฝันอยากเล่นที่สุด Prince Hamlet

Benny พยายามควาญหาความสำเร็จในวงการภาพยนตร์มาแสนนาน จนกระทั่งได้รับการติดต่อจาก Lubitsch ที่บอกว่าพัฒนาบทนี้โดยมีเขาเป็นต้นแบบ แม้จะมีความยินดีอย่างยิ่งแต่ก็วิตกจริงพอสมควร ครั้งหนึ่งขาดความมั่นใจในตนเอง ผู้กำกับพูดให้กำลังใจว่า

“You think you are a comedian. You are not even a clown. You are fooling the public for 30 years. You are fooling even yourself. Jack, you are an actor, you are an actor playing the part of a comedian and this you are doing very well. But do not worry, I keep your secret to myself”.

คงไม่มีวินาทีไหนในการแสดงของ Benny ตราตรึงเทียบเท่าตอนที่เขาเกิดอาการอึ้งทึ่งช็อค เมื่อใครคนหนึ่งเดินออกขณะพูดบท ‘To be or, not to be’ ดวงตาลุกโพลงจับจ้องมองติดตาม นั่นไม่เพียงเสียมารยาทคนอื่นๆ ยังทำให้เขาสุญเสียสมาธิอย่างรุนแรง หมดสิ้นความเชื่อมั่นใจในตนเอง นี่ฉันมัน ‘ham’ จริงๆนะหรือ

เกร็ด: คำว่า Ham ที่เป็นคำแสลง(ไม่ได้แปลว่าเนื้อหมู) มักสื่อถึงนักแสดงที่ชอบเล่นบทละคร Hamlet แต่แสดงได้บัดซบห่วยประไร!

ตอนที่พ่อของ Benny มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดความหัวเสียเกรี้ยวกราดรุนแรงเพราะเห็นลูกแต่งชุดเครื่องแบบนาซี เดินออกจากโรงภาพยนตร์โดยพลัน ทำให้เขาต้องรีบเข้าไปพูดคุยอธิบายว่าเป็นหนังแนวเสียดสีล้อเลียน จนในที่สุดยินยอมกลับมานั่ง ปรากฎว่าดูจบแล้วชื่นชอบพึงพอใจอย่างมาก

ในชีวิตของ Benny ไม่เคยแสดงภาพยนตร์เรื่องไหนประสบความสำเร็จเลย แต่กับ To Be or Not to Be ถือเป็นกรณียกเว้นที่ทำให้เขามีความภาคภูมิพึงพอใจมากๆ เคยบอกว่าตนเองติดหนี้บุญคุณ Lubitsch ล้นพ้น ถ้าไม่ได้เขากับภาพยนตร์เรื่องนี้ คงไม่มีใครจดจำใบหน้าของตนเอง(นอกจากเสียง)ได้อย่างแน่นอน

Carole Lombard ชื่อเดิม Jane Alice Peters (1908 – 1942) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน ภรรยาคนที่สามของ Clark Gable เกิดที่ Fort Wayne, Indiana, ครอบครัวฐานะร่ำรวยแต่แยกกันอยู่ อาศัยอยู่กับแม่เติบโตขึ้นที่ Los Angeles วัยเด็กมีความร่าเริงแก่นแก้วเหมือน Tomboy ชอบเล่นกีฬา ดูหนัง ตอนอายุ 12 ได้รับบทเล็กๆในหนังเงียบ A Perfect Crime (1921) จนเกิดความสนใจด้านนี้ ไปคัดเลือกนักแสดง The Gold Rush (1925) แม้ไม่ได้แต่ถูกจับเซ็นสัญญากับ Vitagraph Company ตามด้วย Fox Film Coporation มีผลงานหลายสิบเรื่อง จนกระทั่งเริ่มมีชื่อเสียงตอนอยู่กับ Paramount Pictures อาทิ The Arizona Kid (1930), Twentieth Century (1934), Hands Across the Table (1935), My Man Godfrey (1936), Nothing Sacred (1937), Mr. & Mrs. Smith (1941) และผลงานสุดท้าย To Be or Not to Be (1942) เสียชีวิตจากเครื่องบินตก ระหว่างกลับจากออกทัวร์ขายพันธบัตรสงคราม (War Bond)

เกร็ด: Lombard ติดอันดับ 23 ในชาร์ทของ AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legend

รับบท Maria Tuna นักแสดงสาวสวยที่ถึงจะแต่งงานแล้ว ยังชอบหว่านโปรยเสน่ห์ให้หนุ่มๆตกหลุมรักหลงใหล ปากบอกไม่คิดอะไรแต่ใจใครจะไปรู้ การได้รู้จักกับนักขับเครื่องบินหนุ่ม Lt. Stanislav Sobinski ทำให้ชีวิตเธอพบกับความโลดโผน กลายเป็นสปายสอดแนมให้กับกลุ่มใต้ดินโปแลนด์ เล่นละครตบตา Gestapo ที่ไม่เพียงทหารเยอรมัน แต่ยังสามีตนเองอีกด้วย

เห็นว่าในตอนแรก Lubitsch เล็งบทบาทนี้ให้กับ Miriam Hopkins ที่เคยร่วมงานกันเรื่อง Trouble in Paradise (1932) แต่ภายหลังเธอเปลี่ยนใจเพราะตระหนักว่าตัวละครของ Jack Benny เรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าบทของเธอ Lombard เป็นคนถัดมาได้รับข้อเสนอ ใคร่อยากร่วมงานผู้กำกับมานาน แม้ถูกทัดทานจากสามี Gable ไม่อยากให้แสดง แต่มันเรื่องของฉันใครจะทำไม!

Lombard เป็นผู้หญิงที่สวยรวยเสน่ห์ สง่างามผุดผ่อง ความแก่นแก้วของตัวจริงสะท้อนผ่านตัวละครที่ลุ่มหลงใหลในอันตราย กล้าท้าเล่นกับของแหลมคมไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรงสั่นเทา ปลิ้นปล้อนกะล่อนพูดจาโกหกหลอกลวงได้อย่างแนบเนียน ผมชอบวินาทีที่เธอตาลอยๆแล้วพูดว่า ‘Heil Hitler!’ ที่สุดเลยละ

ก่อนที่จะเสียชีวิต Lombard พูดบอกกับเพื่อนๆหลายคนว่า การถ่ายทำงานภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นช่วงเวลามีความสุขที่สุดในชีวิต ขนาดว่าวันหยุดไม่มีคิวถ่ายทำยังเดินทางมาป้วนเปี้ยนไม่ยอมไปไหน พูดคุยเล่นสนุกสนานกับทีมงาน บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะครึกครื้นเครง ซึ่งคงไม่ผิดอะไรจะถือว่านี่คือผลงานการแสดงดีที่สุดของเธออีกด้วยละ

ถ่ายภาพโดย Rudolph Maté สัญชาติ Austria-Hungary ในทศวรรษหนังเงียบรับงานถ่ายทำภาพยนตร์ทั่วยุโรป มีผลงาน Masterpiece คือ The Passion of Joan of Arc (1928) และ Vampyr (1932), จากนั้นกลางทศวรรษ 30s เดินทางสู่ Hollywood ผลงานเข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 5 ครั้ง Foreign Correspondent (1940), That Hamilton Woman (1941), The Pride of the Yankees (1942), Sahara (1943), Cover Girl (1944)

ถึงพื้นหลังจะเป็นกรุง Warsaw, Poland แต่แท้จริงแล้วถ่ายทำในสตูดิโอ United Artists, Los Angeles ออกแบบ Art Direction โดย Vincent Korda น้องชายของโปรดิวเซอร์สัญชาติอังกฤษชื่อดัง Alexander Korda และ Zoltan Korda

Bronski (รับบทโดย Tom Dugan) กับ Greenberg (รับบทโดย Felix Bressart) ในบทละคร Hamlet พวกเขาเป็นเพียงการ์ดถือหอกเฝ้าประตูและแบก Rawich องก์สามเท่านั้นเอง
– Bronski มีโอกาสรับบทนำในผลงานต่อไป ติดหนวดกลายเป็น Adolf Hitler แต่ฝันกำลังใกล้สลายเพราะถูกสั่งห้ามไม่ให้แสดง
– Greenberg มีอีกความฝันหนึ่ง อยากแสดงบท Shylock เรื่อง Merchant of Venice [บทละครเวทีของ William Shakespeare] ในฉาก The Rialto Scene เพื่อพูดประโยคที่ว่า

“Have I not eyes? Have I not hands? Organs? Senses? Dimensions? Affections? Passions? Fed with the same food? Hurt with the same weapons? Subject to the same diseases? If you prick us, do we not bleed? If you tickle us, do we not laugh? If you poison us, do we not die? And if you wrong us, shall we not revenge?”

กลายเป็นว่าเมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป ทั้งสองก็ได้แสดงบทบาทดังกล่าวสมใจ Bronski ปลอมตัวเป็น Hitler และ Greenberg ได้กล่าวสุนทรพจน์ประโยคนี้ตบท้าย

Anna Karenina (1878) วรรณกรรมชิ้นเอกของนักเขียนสัญชาติรัสเซีย Leo Tolstoy (1828 – 1910) แนวโศกนาฎกรรมโรแมนติก แบ่งเรื่องราวออกเป็นสองส่วนคู่ขนาน
– ส่วนหนึ่งคือ Countess Anna Karenina คุณหญิงในแวดวงสังคมชนชั้นสูง แต่งงานแล้วกับ Count Karenin แต่กลับมีสัมพันธ์ชู้สาวกับ Count Vronsky
– อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องราวของ Konstantin Lëvin หรือ Ljovin นายหน้าค้าที่ดินฐานะร่ำรวย ต้องการแต่งงานกับ Princess Kitty น้องสะใภ้ของ Anna แต่ความรักของพวกเขาไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายสิ่งอย่างจำต้องปรับตัว สุดท้ายไปกันไม่รอดกลายเป็นโศกนาฎกรรม

การใช้นิยายเล่มนี้เป็น Reference ถือว่าตรงกับประเด็นรักสามเส้าของหนัง เรื่องราวของ Maria หญิงสาวที่แต่งงานแล้วกับ Joseph แต่กำลังลักลอบเป็นชู้กับ Lt. Stanislav Sobinski

“To be or, not to be” เมื่อใดที่ Joseph พูดประโยคนี้ ปฏิกิริยาแสดงออกของ Lt. Stanislav Sobinski ราวกับทฤษฎีการเรียนรู้ของ Pavlov เมื่อสั่นกระดิ่งตามธรรมชาติแล้วสุนัขจะไม่น้ำลายไหล แต่เมื่อใดได้รับการฝึกหัดเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข สั่นกระดิ่งแล้วได้อาหาร ครั่งที่หนึ่ง-สอง-สาม ปรากฏว่าสุนัขน้ำลายไหล ครั้งถัดๆไปต่อให้สั่นกระดิ่งแต่ไม่มีอาหาร สุนัขก็ยังคงน้ำลายไหล
– สุนัข + เสียงกระดิ่ง (สิ่งเร้าไม่แท้จริง) -> สุนัขน้ำลายไม่ไหล
– สุนัข + อาหาร (สิ่งเร้าแท้จริง) -> สุนัขน้ำลายไหล
– สุนัข + เสียงกระดิ่ง + อาหาร -> สุนัขน้ำลายไหล
– สุนัข + เสียงกระดิ่ง (สิ่งเร้าไม่แท้จริง) -> สุนัขน้ำลายไหล

ใครเรียนสายวิทย์น่าจะจดจำทฤษฎีนี้อย่างขึ้นใจ เปรียบกับปฏิกิริยาแสดงออกของ Lt. Stanislav Sobinski ทั้งๆไม่ได้อยู่ในโรงละครเวที แต่พอได้ยินเสียงพูดกลับลุกขึ้นมาโดยอัตโนมัติ นี่มันสุนัขชัดๆ

ไฮไลท์ของฉากนี้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ คำพูดสนทนาของทั้งสาม

Joseph Tura: It’s unbelievable! Unbelievable! I come home to find a man in the same boat with me and my wife says to me, “What does it matter?”
Sobinski: But, Mr. Tura, it’s the ‘zero hour’.
Maria Tura: You certainly don’t want me to waste a lot of time giving you a long explanation.
Joseph Tura: No, but I think a husband is entitled to an inkling.

นี่เป็นสถานการณ์อ้ำอึ้งตึงเครียด (แต่ขำกระจาย) กลับบ้านมาพบเจอชายแปลกหน้านอนอยู่บนเตียง ไม่ให้จินตนาการไปไกลว่าคือชู้ก็เกินไปแล้ว แต่ภรรยาคนรักยังสรรหาข้ออ้างอื่นเกี่ยวกับสงคราม ความรักชาติ ไม่คิดจะพูดคุยบรรยายใดๆ นี่ฉันก็หมดคำอธิบาย อะไรจะเกิดต่อจากนี้ก็ช่างแม้งแล้วกัน (คงด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ Tura ยอมปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตาย ปลอมตัวเป็นคนโน้นนี่รับบทบาท ถูกจับได้ก็ดีชีวิตหมดห่วง แต่ถ้ายังรอด…)

“If I shouldn’t come back, I forgive you what happened between you and Sobinski. But if I come back, it’s a different matter.”

เพราะความที่ Joseph ไม่ได้รับคำอธิบายใดๆจากชู้หนุ่มและภรรยา ข้อเท็จจริงมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตัวเขาเลยต้องค้นหาคำตอบเอง หนึ่งในนั้นระหว่างปลอมตัวเป็น Col. Ehrhardt พูดคุยสนทนากับ Prof. Alexander Siletsky หลังจากอ้ำๆอึ้งๆพูดซ้ำไปซ้ำมาอยู่นาน พอได้ยินเรื่องโค้ดลับ ‘To be of, not to be’ ถึงขนาดหูพึ่งหน้าแดง มีท่าทางลุกลี้ร้อนลนจนถูกเปิดโปงจับได้ โอ้โห! นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด … ตรงไหน!

“Did you ever play a corpse, Mr. Tura?”

แม้จะนั่งมุมเดิม แต่ทิศทางของกล้องปรับเปลี่ยนให้แตกต่างจากเดิมเล็กน้อย ซึ่ง Joseph ได้นำเอาประสบการณ์ที่เกือบกลายเป็นศพ มาปรับใช้เอาตัวรอด ด้วยการพยายามเล่นลีลา พูดจาบ่ายเบี่ยง หาหัวข้อสนทนาอื่น และนำเอาบทสนทนาเก่ามาหากิน (นี่ไม่ใช่แค่ตอน Joseph พบเจอกับ Prof. Siletsky เท่านั้นนะครับ ยังมีหัวข้อสนทนาขณะซักซ้อมการแสดงชุด Gestapo ตอนต้นเรื่องแทรกอยู่ด้วย)

“Well, Colonel, all I can say is… you can’t have your cake and shoot it, too.”

คำว่า Cake ในบริบทนี้คงสื่อถึงข้อมูลที่ Joseph พยายามแบ่งปันให้กับ Col. Ehrhardt (ตัวจริง) ด้วยการนำชื่อของคนที่ถูกประหารเสียชีวิตไปแล้ว มาแอบอ้างเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มต่อต้านใต้ดิน Poland แต่ก็แอบน่าสงสัยว่าพี่แกไปล่วงรู้ชื่อคนพวกนี้มาจากไหนกัน?

ความสามารถในการเอาตัวรอดของ Joseph ถือว่าเป็นเลิศเลย, หนวด ในบริบทนี้คือสัญลักษณ์ของการปลอมแปลง แต่ก็ชวนให้นึกถึงสำนวน กระตุกหนวดเสือ ที่แปลว่า การทำให้ผู้มีอิทธิพลไม่พึงพอใจ ซึ่งยังสะท้อนกับใจความของหนังที่เป็นการล้อเลียนเสียดสี Adolf Hitler

“You can murder a man, you can kill in cold blood … but you cannot pull a man’s beard.”

เพราะผู้ชมจะรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Prof. Siletsky ตัวจริง ลีลาของ Joseph ในฉากนี้ คือพยายามทำให้ Col. Ehrhardt ดึงหนวดออกด้วยมือของตนเอง แรกๆก็ทำท่าทีเป็นนักสืบ พอจะเอาเข้าจริงแสร้งเป็นปอดแหก หลังจากนั้นก็ขำกระจาย ฆ่าคนตายอย่างเลือดเย็น แต่ไม่สามารถดึงหนวดออก

ตัดต่อโดย Dorothy Spencer (1909 – 2002) นักตัดต่อหญิงในตำนาน สัญชาติอเมริกา มีผลงานเด่น อาทิ Stagecoach (1939), Foreign Correspondent (1940), To Be or Not to Be (1942), My Darling Clementine (1946), Decision Before Dawn (1951), Cleopatra (1963), Earthquake (1974) ฯ

หนังไม่ได้ใช้มุมมองของใครเป็นพิเศษ แต่คือสามตัวละครหลัก Maria Tura, Joseph Tura และชู้รัก Lt. Stanislav Sobinski สลับเล่าเรื่องไปมา ดำเนินไปข้างเกือบทั้งหมดยกเว้น Prologue เริ่มต้นด้วยการสร้างความสร้างพิศวงสงสัยให้เกิดขึ้น ด้วยเสียงบรรยายอันเร่งรีบร้อน ภาพผู้คนจับจ้องมองด้วยสายตาตื่นตระหนก Adolf Hitler ไฉนมาปรากฎตัวยัง Poland จากนั้นค่อยเป็นการเฉลยปริศนาด้วยการเล่าย้อนอดีต (Flashback)

สังเกตว่า Epilogue ก็มีลักษณะล้อกับตอน Prologue อีกครั้งที่ชายใบหน้าเหมือน Adolf Hitler ปรากฎตัวอย่างไม่มีปี่ขลุ่ย ต่างที่ครานี้ตกลงมาจากฟ้าฟ้า โผล่ยังชนบทประเทศอังกฤษ

เรื่องราวของหนังแบ่งออกได้เป็น 6 องก์ใหญ่ๆ
– Prologue แนะนำคณะการแสดง
– องก์ 1: ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง การแสดงชุด Hamlet ลักลอบชู้สาว To be or, not to be!
– องก์ 2: London มุมมองของ Lt. Stanislav Sobinski พบเห็นความผิดสังเกตของ Professor Alexander Siletsky คิดว่าอาจเป็นสายสืบปลอมตัวมา
– องก์ 3: Warsaw มุมมองของ Maria Tura แสร้งตีสนิทกับ Prof. Siletsky เพื่อล้วงทวงคืนข้อมูลลับ
– องก์ 4: Joseph Tura ปลอมตัวเป็น Col. Ehrhardt
– องก์ 5: Joseph Tura ปลอมตัวเป็น Prof. Siletsky
– องก์ 6: การแสดงชุดสุดท้ายตบตา Adolf Hitler
– Epilogue บินหนีสู่ประเทศอังกฤษ

สำหรับเพลงประกอบ ตอนแรกติดต่อไว้คือ Miklós Rózsa แต่เมื่อเจ้าตัวรับรู้ว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับนาซีเลยขอถอนตัว ทำให้ต้องหวนกลับหาขาประจำ Werner R. Heymann มีผลงานร่วมกับ Lubitsch อาทิ Angel (1937), Ninotchka (1939), The Shop Around the Corner (1940)

บทเพลงส่วนใหญ่เป็น Incidental Song ดังขึ้นเป็นท่อนเล็กๆ มีลักษณะเหมือน Sound Effect คอยตบมุก เสริมสร้างอารมณ์สนุกสนาน ครึกครื้นเครงให้กับหนัง ซึ่งต้องถือว่ามีความกลมกล่อมอย่างยิ่งทีเดียว

สำหรับ Opening Credit/Ending Credit ดัดแปลงเรียบเรียงใหม่จาก Frédéric Chopin: Polonaise in A major, Op. 40, No. 1, ‘Military’ (1838) นำฉบับเดี่ยวเปียโนของ Arthur Rubinstein มาให้รับฟัง (เป็นฉบับน่าจะไพเราะสุดแล้วละ)

เกร็ด: Polonaise เป็นบทเพลงเต้นรำของชาวโปแลนด์ เดิมมีลักษณะโอ่อ่าสง่างาม ใช้แสดงในงานพระราชพิธีและเฉลิมฉลอง ภายหลัง Chopin ประพันธ์บทเพลงเต้นรำนี้เพื่อเป็นตัวแทนแห่งความเป็นชาตินิยมของชาว Polish

To Be or Not to Be เป็นภาพยนตร์ที่ทำการเสียดสีล้อเลียนทัศนคติ อุดมการณ์อันไร้สาระของ Adolf Hitler ไม่ต่างอะไรกับความโอ้อวดดี ทะนงตนเองของ Joseph Tura หลงครุ่นคิดว่าตัวเองคือนักแสดงยอดฝีมือ แต่แท้จริงแล้วก็แค่ ‘ham’ กินเปล่าๆยังไม่รู้สึกว่ามีความอร่อย ใส่สลัดหรือขนมปังเข้าไปก็แค่พอประทังชีพได้

“You’re the greatest actor in the world. Everybody knows that, including you”.

– Maria Tura

คำพูดประโยคนี้ของ Maria ต่อ Joseph เป็นการประชดประชันให้เห็นถึงความหลงตนเอง ความหมายจริงๆก็คือ ‘ทุกคนรับรู้ว่าเขาคือนักแสดงสุดห่วย ยกเว้นเจ้าตัวที่ไม่เคยสนใจ’ หลงในคำยนยอปอปั้น เหมือนกับท่านผู้นำ Adolf Hitler คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่มาจากไหนก็ไม่รู้ อ้างอวดดี ทำตัวกร่างอันธพาล เปิดสงครามไปทั่วสารทิศ ผู้นำทุกประเทศในโลกรับรู้ว่าหมอนี่มันชั่วช้าสามาย์ ยกเว้นเจ้าตัวเองที่จนวินาทีสุดท้ายก็ยังไม่รู้สำนึก พ่ายแพ้เพราะอะไร?

สำหรับประเด็กรักสามเส้า สะท้อนถึงการลักลอบ แอบอ้าง ปากบอกว่ารักมาก แต่จิตใจกลับโหยหาไขว่คว้าบางสิ่งอย่างที่ผิดต่อหลักศีลธรรมจรรยาความถูกต้อง นี่คงเป็นการล้อเลียนถึงพันธมิตรคนรอบตัว Adolf Hitler ทั้งนั้นแสดงออกเบื้องหน้าด้วยความจงรักภักดี แต่ก็ไม่รู้ภายในจิตใจพวกเขาครุ่นคิดอะไรอยู่ ต้องการกอบโกยครอบครองเป็นเจ้าของบางสิ่งอย่าง ไร้ซึ่งสามัญสำนึกถูกผิดดีชั่ว ไม่สนอย่างอื่นนอกจากผลประโยชน์ของตนเอง

ว่าไปภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกับ Trouble in Paradise (1932) อยู่มากโขทีเดียว สลับรักสามเส้าจาก หญิง-ชาย-หญิง มาเป็น ชาย-หญิง-ชาย, อาชีพของตัวละครที่เคยเป็นนักต้มตุ๋นไม่ต่างอะไรจากนักแสดงสวมบทบาทปลอมตัว, ปัญหาความขัดแย้งบนเตียง ขยายใหญ่สู่ประเทศโปแลนด์ ดินแดงที่ถูกแก่งแย่งชิงครอบครองโดยนาซี ฯ คงต้องถือว่า To Be or Not to Be คือหนังที่ใหญ่กว่าทั้งในแง่ขนาด แนวคิด และเป้าหมายสุดท้าย สู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์ชาติ (แต่เหมือนว่าทั้ง Joseph และ Lt. Sobinski กำลังจะโดนมือที่สี่ รึเปล่านะ!)

“In the final analysis, all we’re trying to do is create a happy world . . . Why don’t you stay here for dinner? I can imagine nothing more charming, and before the evening is over, I’m sure you will say, ‘Heil Hitler.’”

คนที่รับชมผลงานของผู้กำกับ Lubitsch มาหลายเรื่อง น่าจะล่วงรู้ถึงแนวคิด ทัศนคติ ชื่นชอบการสร้างภาพยนตร์แนวล้อเลียนเสียดสี ‘Satire’ ทุกสิ่งอย่างในโลกสามารถมองได้ด้วยมุมนั้น คือศิลปะ/ความบันเทิงลักษณะหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่สงคราม นาซี และ Adolf Hitler

เป็นเรื่องของมุมมองล้วนๆที่ผู้ชม/นักวิจารณ์ จะแสดงความเห็นต่อภาพยนตร์เรื่องนั้นๆว่ามีความเหมาะไม่เหมาะสม คุณภาพห่วย-ดี ดูสนุก-น่าเบื่อ แต่มันจะไม่มีคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ เพราะภาพยนตร์คือสิ่งถ่ายทอดจากวิถีชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะในการแสดงละครเวที-ปลอมตัวเป็นสายลับ-หรือแม้แต่ชีวิตจริงของ Jack Benny ก็มิสามารถแยกแยะออกจากกันได้ทั้งหมด

ผู้ชม/นักวิจารณ์สมัยนั้นที่มองไม่เห็นความบันเทิงของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมัวจมปลักอยู่กับอคติ Adolf Hitler คือผู้นำโหดโฉดชั่วร้าย ปีศาจจอมมารตัวอันตราย การมีตัวตนปรากฎขึ้นในสถานที่/แผ่นฟีล์ม ย่อมสร้างความสับสนมึนงง อะไรคือความจริง? อะไรคือการเสียดสีล้อเลียน? ผู้คนสมัยนั้นยังไม่มีวิจารณญาณมากพอในการแยกแยะสิ่งเหล่านี้ กาลเวลาเท่านั้นจะทำให้ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อมองย้อนกลับอย่างเป็นกลาง ก็จักไม่พบเห็นความขัดแย้งน่าหวาดสะพรึงกลัวใดๆ หลงเหลือเพียงคุณค่าเริงรมย์และงานศิลปะอันลึกล้ำ

สมัยนั้นไม่มีใครล่วงรับรู้อนาคตว่าสงครามจะสิ้นสุดอย่างไร Nazi เยอรมันอาจเป็นผู้ชนะก็ได้ ซึ่งถ้าผลลัพท์เช่นนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้คงถูกทำลายสูญหายไปตามกาลเวลา เพราะแม้แต่ Adolf Hitler เห็นว่าจงเกลียดจงชัง Ernst Lubitsch อย่างสุดๆ เพราะเป็นชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่ประสบความสำเร็จในประเทศ มุ่งสู่ Hollywood ยังได้รับการยกย่องสรรเสริญ และสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เสียดสีตัวเองแบบเต็มๆ มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ทหาร Gestapo มิอาจแยกแยะคนในคนนอก ทหารจริงทหารปลอม … แต่นี่มันหนังตลกล้อเลียน จะเอาความสมจริงมาเปรียบเทียบก็ไร้สาระเกินไปแล้ว!

ด้วยทุนสร้าง $1.2 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $1.5 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy Picture พ่ายให้กับ Now, Voyager (1942) [ปีนั้นมีเรื่องเข้าชิงสาขานี้ 18 เรื่อง *-*]

วินาทีที่ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ คือขณะตัวละครของ Jack Benny เดินออกไปหน้าเวที เงยหน้าขึ้นมองผู้ชมอย่างไม่รีบเร่ง พูดวลีชื่อหนัง ‘To Be or Not to Be’ แล้วจู่ๆชายคนหนึ่งลุกขึ้นเดินออกจากโรงละคร สีหน้าช็อกตกตะลึงงัน จับจ้องมองตามตาไม่กระพริบ สูญเสียสิ้นความมั่นใจในตนเองลงโดยสิ้นเชิง!

ในบรรดา 4 ครั้งของ ‘To Be or Not to Be’ ที่ผมกลิ้งขำหัวเราะหนักสุดคือรอบสอง น้ำเสียงอันเกรียวกราดโกรธของ Benny สะท้อนออกมาชัดเจนในคำพูดประโยคถัดมา เก็บเอาความคับข้องขุ่นเคืองมาระบายกับภรรยา แต่ดันไม่มีใครสนใจรับฟังเขาเสียนี่ …

“It’s a conspiracy! A foul conspiracy!”

แนะนำคอหนัง Comedy เสียดสีล้อเลียน Adolf Hitler และ Nazi Germany, หลงใหลในละครเวที Hamlet ของ William Shakespeare, แฟนๆผู้กำกับ Ernst Lubitsch และนักแสดงนำ Jack Benny, Carole Lombard ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg ในประเด็นชู้สาว และการต้มตุ๋นหลอกลวงผู้อื่น

TAGLINE | “สิ่งที่ผู้กำกับ Ernst Lubitsch ปลุกปั้นให้ Jack Benny กลายเป็นใน To Be or Not to Be คือตำนานสุดคลาสสิกอมตะ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: