To Catch a Thief (1955) : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥♡
แมวเดินเข้ามา มือลึกลับกำลังหยิบจับสร้อยเพชรของมีค่า แล้วแมวก็เดินจากไป, จะมีใครที่ไหนสามารถนำเสนอฉากเปิดหนังสุดคลาสสิกได้เท่า Alfred Hitchcock แถมไปลาก Cary Grant กลับจากรีไทร์ และ Grace Kelly เจิดจรัสเฉิดฉาย สง่างามราวกับเจ้าหญิง (ตอนนั้นยังไม่ได้แต่งงาน)
ในบรรดาภาพยนตร์ของ Alfred Hitchcock เรื่องที่มีทัศนียภาพงามตา เสื้อผ้าหน้าผมระดับวิจิตร โปรดักชั่นจัดเต็มที่สุดแล้ว ก็คือ To Catch a Thief แม้ในส่วนของเรื่องราวจะไม่ค่อยมีสาระสอดแทรกอยู่เท่าไหร่ เป็นการค้นหาหัวขโมยผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โจรกรรม แต่ต้องถือว่าความบันเทิงจัดเต็ม สนุกสนานเพลิดเพลิน พบเห็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับแทรกอยู่เต็มไปหมด ใครชื่นชอบความตื่นต้น ลุ้นระทึก ลึกลับไม่ควรพลาดเป็นอันขาด
ใครทายถูกยกมือขึ้น! ต้องถือว่าหนังทิ้งคำใบ้ไว้เยอะมาก ใครกันที่เป็นหัวขโมย? (บทความนี้ไม่มีสปอยแน่นอนนะครับ) เพราะมีไม่กี่ตัวละครเท่านั้นที่โดดเด่นเกินหน้าเกินตา แต่ผมกลับทายผิดแบบไม่น่าให้อภัย (จริงๆผมเคยรับชมหนังเรื่องนี้เมื่อครั้นนานมากแล้ว แต่กลับลืมสนิทเลยว่าใครคือหัวขโมย) สงสัยเพราะรับชมหนังแนวสืบสวนมาเยอะ เลยครุ่นคิดคาดหวังอะไรที่มันเหนือความคาดหมาย พอผลลัพท์ออกมา อ่าว! กลับสร้างความเซอร์ไพรส์ให้เสียอย่างนั้น
หลังเสร็จจากสร้าง I Confess (1952) ผู้กำกับ Alfred Hitchcock มีสองโปรเจคที่ค้างคาอยู่ในมือ ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 1951 มูลค่า $15,000 เหรียญ คือนิยายเรื่อง The Bramble Bush (1948) กับ To Catch a Thief (1952) ของ David F. Dodge (1910 – 1974) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ตั้งใจจะให้เป็นผลงานถัดไปแต่สตูดิโอผู้ให้ทุนกลับถอนตัว นำไปเร่ขายให้ Warner Bros. ก็มิได้ใคร่สนใจ ทำให้ต้องสร้าง Dial M for Murder (1954) แก้ขัดไปก่อน, กระทั่งปี 1954 เมื่อ Hitchcock เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures เพื่อสร้างภาพยนตร์ 4 เรื่อง ประกอบด้วย Rear Window (1954), To Catch a Thief (1955), The Trouble with Harry (1955) และ The Man Who Knew Too Much (1956) ขายเฉพาะลิขสิทธิ์ดัดแปลง $105,000 เหรียญ ได้กำไรเกือบๆสิบเท่าตัว
การได้ร่วมงานกับนักเขียน John Michael Hayes ตอนสร้าง Rear Window ทำให้เกิดความชื่นชอบประทับใจ จึงชักชวนให้มาดัดแปลงบทภาพยนตร์ของ To Catch a Thief (รวมถึง The Trouble with Harry และ The Man Who Knew Too Much) ใช้เวลาเพียง 4 สัปดาห์บทร่างแรกความยาว 212 หน้ากระดาษ ต้องแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสเพื่อให้สามารถขออนุญาตถ่ายทำยังสถานที่จริงได้
เรื่องราวพื้นหลังที่ French Riviera ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส, เกิดเหตุการโจรกรรมเพชรกลายเป็นข่าวใหญ่ ทำให้อดีตหัวขโมยเจ้าของฉายา ‘The Cat’ ที่ร้างราวงการไปหลายสิบปีได้ถูกตั้งข้อสงสัย เพราะมีวิธีการคล้ายคลึงแบบเดียวกัน แต่แทนที่จะยอมให้ถูกจับ เจ้าตัวเลยออกตามหาหัวขโมยผู้นั้นเสียเอง เพราะมันต้องเป็นคนใกล้ตัวที่เคยร่วมงานกันแน่ ไม่เช่นนั้นจะสามารถ Copycat ลอกเลียนแบบให้เหมือนกันได้อย่างไร
นำแสดงโดย Cary Grant ชื่อจริง Archibald Alec Leach (1904 – 1986) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Bristol, Horfield ในครอบครัวที่พ่อติดเหล้า แม่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ก็พยายามสอนเขาให้ยิ้มไว้ ร้องเพลง เล่นเปียโน โตขึ้นได้ทุนเข้าเรียน Fairfield Grammar School แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ แต่ตัวเองกลับโดดเรียนจนถูกไล่ออก ใช้เวลาอยู่หลังเวทีที่ Hippodrome ต่อมากลายเป็นนักแสดงออกทัวร์ ตอนอายุ 16 ขึ้นเรือ RMS Olympic เดินทางไปที่อเมริกา ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนพอมีชื่อเสียงใน Broadway แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก This is the Night (1932), เซ็นสัญญากับ Paramount Picture ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ต่อมากับ Columbia Picture โด่งดังกับ The Awful Truth (1937), Bringing Up Baby (1938), His Girl Friday (1940) ฯ
Grant ร่วมงานกับ Hitchcock ครั้งแรกคือ Suspicion (1941) ด้วยความประทับใจในความมืออาชีพของกันและกัน ทำให้มีผลงานอีก 3 ครั้งคือ Notorious (1946), To Catch a Thief (1955) และ North by Northwest (1959) ซึ่งตอนที่ Grant ตัดสินใจ Retire จากวงการเมื่อปี 1953 ด้วยเหตุผลเพราะการมาถึงของ Marlon Brando และ Method Action ทำให้นักแสดงรุ่นคลาสสิกลายครามอย่างเขาหมดความน่าสนใจไป จะให้ปรับตัวคงไม่ใช่เรื่องง่าย กระนั้นเมื่อ Hitchcock ต้องการตัว ยั่วยวนด้วย Kelly จึงยินยอมหวนคืนกลับมาด้วยค่าตัวสูงถึง $700,000 เหรียญ +10% สำหรับกำไร (ถือว่าสูงมากๆสำหรับนักแสดงที่ไม่สังกัดสตูดิโอใดๆ Hitchcock ยังได้ค่าตัวจากการกำกับหนังเรื่องนี้เพียง $50,000 เหรียญเท่านั้น)
รับบท John Robie เจ้าของฉายา The Cat อดีตหัวขโมยที่ร้างวงการมานาน ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรยิ่งใหญ่แค่อยากได้และมีความสามารถ แต่เมื่อถูกจับเลยต้องการไถ่โทษด้วยการเป็นคนดี เข้าร่วม French Resistance สู้รบเข่นฆ่าทหาร Nazi ไปไม่น้อย แต่ใช่ว่าการกระทำของเขาจะจางหายไป อดีตกำลังตามมาหลอกหลอนหวนคืน จึงตัดสินใจตามล่าหาหัวขโมยตัวจริง และยังได้พบกับหญิงสาวอีกคนที่ได้ขโมยหัวใจของเขาไปด้วย
‘การได้ร่วมงานกับ Hitchcock และ Kelly ในหนังเรื่องนี้ มีบรรยากาศสนุกสนานผ่อนคลาย ทุกคนเป็นมืออาชีพ ถือเป็นประสบการณ์ทำงานอันยอดเยี่ยม’ Grant ให้สัมภาษณ์ถึงการหวนกลับมาครั้งนี้ ดูแล้วน่าจะคือภาพยนตร์เรื่องที่เขามีความพึงพอใจ ชื่นชอบสุดในอาชีพการงาน, แม้ในด้านการแสดงจะไม่ค่อยต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆสักเท่าไหร่ แต่พอที่จะมองเห็นความทุ่มเทตั้งใจ คำพูดจา การเคลื่อนไหวปืนป่าย มีความลื่นไหล เป็นธรรมชาติ ดูไม่ค่อยแก่สักเท่าไหร่
เกร็ด: จริงๆตัวละครนี้ในนิยายอายุ 34 ปี แต่ Grant ตอนนั้นอายุย่างเข้า 50 แล้ว
Grace Patricia Kelly (1929 – 1982) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา ที่ต่อมาได้กลายเป็น Princess of Monaco หลังจากได้แต่งงานกับ Prince Rainier III เมื่อปี 1956, เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania มีความสนใจด้านการแสดงและการเต้น ได้เข้าเรียน American Academy of Dramatic Arts ที่ New York ระหว่างนั้นทำงานเป็นโมเดลลิ่ง และมีผลงานละครเวทีควบคู่ไปด้วย, เป็นโปรดิวเซอร์ Stanley Kramer ค้นพบ Kelly จากการแสดง off-Broadway ที่ Elitch Gardens ติดต่อขอให้เธอมาแสดงนำในภาพยนตร์ High Noon (1951), Mogambo (1953), ร่วมงานกับ Hitchcock สามครั้งจาก Dial M for Murder (1954), Rear Window (1954) และ To Catch a Thief (1955)
ทั้งชีวิตของ Kelly มีผลงานภาพยนตร์ 10+1 เรื่องเท่านั้น แต่คว้าทั้ง Oscar/Golden Globe สาขา Best Actress จำเป็นต้องรีไทร์เพราะกลายเป็นเจ้าหญิง, การจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Stars นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษ 20 ซึ่ง Grace Kelly ติดอันดับ 13 ฝั่ง Female Legends
รับบท Frances Stevens เพราะความร่ำรวยทำให้ถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจจากแม่ แต่ก็ทำให้เธอกลายเป็นดั่งนกในกรงขาดอิสรเสรี จึงพยายามแสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจในชีวิต ซึ่งพอได้พบเจอรู้จักกับ John Robie ก็เกิดความพิศวาสหลงใหล ยั่วยวนเขาให้เปิดเผยธาตุแท้ ใคร่ต้องการจะมีส่วนร่วมเข้าขบวนการ เนื้อเต้นทุกครั้งที่ได้ทำอะไรผิดๆ รู้สึกเหมือนกำลังมีกำลังวังชา ชีวิตชีวาขึ้นมาโดยพลัน
ในบรรดานางเอกของ ‘Hitchcock Blondes’ นักแสดงที่ได้รับการยกย่องพูดถึง เจิดจรัสมากที่สุดก็คือเจ้าหญิง Grace Kelly โดยเฉพาะเรื่องนี้ที่มีความโดดเด่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ กับสายตาคำพูดมีความเย็นเยือก ท่าทางลีลาเล่นหูเล่นตาอันลึกลับเย้ายวน โดยเฉพาะตอนเนื้อเต้นพร่านขณะขับรถเหยียบมิดคันเร่ง แต่กลับไม่แสดงความหวาดวิตกกลัวออกมาแม้แต่น้อย เบื้องลึกในจิตใจราวกับ’ฆาตกรโรคจิต’
“Sex on the screen should be suspenseful, If sex is too blatant or obvious, there’s no suspense. You know why I prefer sophisticated blondes in my films? We’re after the drawing-room type, the real ladies, who become whores once they’re in the bedroom. Poor Marilyn Monroe had sex written all over her face …”
– Alfred Hitchcock อธิบายขณะให้สัมภาษณ์ François Truffaut
แต่ในชีวิตจริง โชคชะตาของ Kelly ถือว่าเล่นตลกอย่างยิ่ง อะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้น เพราะถนนเส้นนี้กลับกลายป็นทางสายมรณะ ขณะกำลังขับรถกลับวังที่ Monaco เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1982 เกิดอาการวูบ (Stroke) ขับรถพุ่งตกข้างทางเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ไม่ไกลจากจุดที่ตัวละครจอดรถปิกนิกกินไก่นัก สิริอายุ 52 ปี
ประมาณนาทีที่ 9 กว่าๆ Hitchcock ปรากฎตัวนั่งอยู่ข้างๆตัวละครของ Cary Grant บนรถประจำทาง น่าจะไม่มีใครพลาดนะ เพราะหนังจงใจเลื่อนกล้องไปให้เห็นแบบชัดๆเลย
ถ่ายภาพโดย Robert Burks (1909 – 1968) หนึ่งในขาประจำของ Hitchcock เริ่มจาก Strangers on a Train (1951) จนถึง Marnie (1964) [เว้น Psycho เรื่องเดียว] คว้า Oscar: Best Cinematography, Color จากเรื่อง To Catch a Thief (1955)
ถือเป็นครั้งแรกในหนังของ Hitchcock ถ่ายทำด้วยภาพสี Widescreen ใช้ระบบ VistaVision มีความสวยสด งดงาม สมจริง หลายครั้งแทบแยกไม่ออกว่าถ่ายทำยังฝรั่งเศสจริงๆหรือในสตูดิโอ
(ฉากภายในทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ ส่วนฉากภายนอกก็ต้องไปสังเกตกันเอาเอง)
ฉากขับรถไล่ล่าบนท้องถนน (ถ่ายทำใกล้ๆเมือง Tourrettes-sur-Loup) ไม่แน่ใจคือครั้งแรกเลยหรือเปล่าที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ถ่ายภาพ Bird Eye View จากมุมสูง ขณะกำลังไล่ล่าติดตาม, นี่เป็นสิ่งที่ในฝรั่งเศสไม่ค่อยพบเจอได้เท่าไหร่ ถึงขนาดมีนักวิจารณ์จาก Cahiers du cinéma ที่บังเอิญมาพักร้อนอยู่ใกล้ๆทราบข่าวนี้เข้า เขียนแซวว่า ‘That sequence must have been expensive!’
หนึ่งในความโดดเด่นของงานภาพคือแสงสีเขียว สาดส่องยามค่ำคืน ให้สัมผัสของความชั่วร้าย นี่ถือเป็นความ Stylish ของหนัง อันเกิดจากความไม่พึงพอใจของ Hitchcock และตากล้อง Burks ที่รู้สึกว่า การถ่ายฉากกลางคืนแบบปกติไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ พอสาดแสงสีเขียวเข้าไปกลับดูดีขึ้นมาทันตา
เกร็ด: ภาพพลุด้านหลังนั้น น่าจะใช้การฉายขึ้น Rear Projection เทคนิคยอดนิยมของ Hitchcock
ช็อตนี้ก็เช่นกัน แสงสีเขียวโดดเด่นอย่างยิ่งเมื่อสาดส่องลงบนหลังคา (ที่เต็มไปด้วยแมว) แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าบริเวณด้านล่างของทีี่มีฝูงชนยืนมองดูอยู่ต้องเกิดจากการซ้อนภาพ หรือ Blue Screen ไม่มีทางที่ Hitchcock จะยอมให้นักแสดงเสี่ยงตายขึ้นเดินบนหลังคา พลาดตกลงมาคอหักแน่ๆ
แซว: ช็อตนี้ Grant ดูเหมือนแมวมากๆ
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Edith Head กับฉากงานเลี้ยงปาร์ตี้ชุดย้อนยุค งดงาม อลังการ วิจิตร ไร้ที่ติ โดยเฉพาะชุดสีทองของ Kelly ที่ Hitchcock ขอว่า ‘ทำให้เหมือนองค์หญิง’ ใครจะไปคิดกันว่าเธอจะได้กลายเป็นเจ้าหญิงจริงๆ (แต่ผมว่าชุดของ Grant โดดเด่นกว่ามากนะ คิดได้ยังไง!)
“Of all the pictures I’ve ever worked on, To Catch a Thief is my favourite. And it was also the most difficult. From Grace Kelly’s pièce de résistance gold ball gown to shopping for bathing trunks that would please Cary Grant, who was even more difficult to please than Hitch was.
Hitch told me to dress Grace “like a princess,” and I did. Of course, I had no idea I was dressing a real princess-to-be!
— Edith Head
เกร็ด: ระหว่างถ่ายทำฉากงานเลี้ยงนี้ บังเอิญตรงกับวันเกิดครบรอบ 55 ปี ของ Hitchcock พอดี มีเค้กมาเซอร์ไพรส์กลางกองถ่าย (ทำให้ถ่ายไม่เสร็จ)
ตัดต่อโดย George Tomasini ขาประจำของ Hitchcock ตั้งแต่ Rear Window (1954) จนถึง Marnie (1964) ผลงานเด่น อาทิ Stalag 17 (1953), Cape Fear (1962) ฯ เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Edited เพียงครั้งเดียวจากเรื่อง North by Northwest (1959) แต่กลายเป็นตำนานจาก Psycho (1960)
เดิมนั้น Opening Credit ตั้งใจให้เริ่มต้นที่ฉากแมวเดินเข้ามา -> มือลึกลับหยิบขโมยเพชร -> แล้วแมวเดินจากไป แต่เพราะมันดึงดูดความสนใจของผู้ชมจากเครดิตผู้สร้างเกินไป เลยเปลี่ยนมาใช้หน้าร้านรับจัดทัวร์ไปฝรั่งเศสแทน
หนังไม่ได้เริ่มต้นที่ตัวละครแต่เป็นเหตุการณ์/สร้างสถานการณ์ ให้ได้รู้จักกับชื่อเสียงเรียงนามของจอมโจร The Cat ชี้ชักนำพาไปจนรู้จักพบเจอตัวจริง, สังเกตว่า 14 นาทีแรกของหนัง ตัวละครของ Grant มีคำพูดเพียงประโยคเดียว ทั้งหมดใช้ภาพแทนภาษาการเล่าเรื่อง
ลายเซ็นต์หนึ่งของผู้กำกับ Hitchcock คือการจับพลัดจับพลู ความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อน พบเจอได้ตั้งแต่ 14 นาทีแรกของหนัง ก็มีถึง 2 ประเด็นที่สอดคล้องกันด้วยนะ
– ตำรวจเข้าใจผิดคิดว่า John Robie หวนกลับมาเป็น The Cat อีกครั้ง
– ฉากไล่ล่า ที่ตำรวจเข้าใจผิดคิดว่ากำลังติดตาม The Cat (หลายคนคงได้เอ๋อเหรอ เหมือนตำรวจในหนังแน่ๆ)
เพลงประกอบโดย Lyn Murray (1909 – 1989) นักแต่งเพลง วาทยากรสัญชาติอังกฤษ ทั้งๆที่เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ถือว่าใช้ได้อยู่ แต่เป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ได้ร่วมงานกับ Hitchcock ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Prowler (1951), ซีรีย์ The Twilight Zone (1959-1964), Trading Place (1983) ฯ
บทเพลงให้สัมผัสของความ Romanticist มีความลึกลับ พิศวง น่าค้นหา ขณะเดียวกันก็เลิศหรูหรา ชดช้อย วิจิตร เสริมสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมรู้สึกเคลิบเคลิ้ม อิ่มเอม หัวใจพองโต กับฉากโรแมนติกนั้นมีความหวานแหวว ยั่วเย้ายวน ชวนให้หลงใหลรัก
ต้องถือว่า Murray สร้างบทเพลงที่ให้สัมผัสแตกต่างจากสไตล์หนังของ Hitchcock พอสมควร เพราะโดยปกติแล้วจะสะท้อนบางสิ่งอย่างที่อยู่ภายในจิตใจตัวละครออกมา (นึกถึงบทเพลงของ Bernard Herrmann ไว้ในใจ ทั้งสองเริ่มร่วมงานกันครั้งแรกตอน The Trouble with Harry หลังจากหนังเรื่องนี้) ถึงจะมีความไพเราะ เสนาะพริ้ง แต่ด้วยเหตุนี้กระมังจึงไม่เคยได้ร่วมงานกันอีก
คำว่า ‘ตีนแมว’ เป็นสำนวนสากล ที่หมายถึงหัวขโมย ผู้เคลื่อนไหวอย่างเงียบเชียบ ย่องเบา เพื่อทำการยกเค้าบ้านของคนอื่น, คำนี้มีที่มาจากอุ้งเท้าของแมวที่มีขนปกคลุม เวลาเดินหรือกระโดดจึงมีเสียงเบามากจนแทบจะไม่ได้ยินนั่นเอง
เกร็ด: ความลับของตีนแมว เจ้าเหมียมมักเดินบนนิ้วเท้าเพียงอย่างเดียว ท่าทางของมันเหมือนจะเขย่งเท้าตลอดเวลา ไม่ได้เดินเต็มฝ่าเท้าเหมือนกับมนุษย์ จึงสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเงียบเชียบและว่องไว
To Catch a Thief มีเรื่องราววนเวียนอยู่กับน้องแมว ซึ่งในคำภาษาอังกฤษ Cat นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของหัวขโมยที่ชอบทำการโจรกรรม ย่องเบา ยกเค้า ยังสื่อถึงการลอกเลียนแบบ (Copycat), แมวเก้าชีวิต, นิสัยที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน รักการเลียขน (แต่งตัวฟุ้มเฟ้อ อลังการ) และชอบเรียกร้องความสนใจด้วยการเคล้าคลอเคลีย ยั่วยวนเจ้านาย
คงไม่ผิดอะไรที่จะบอกว่า ตัวละครผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ เปรียบได้กับ ‘แมว’ ซึ่งก็จะมีทั้งน้องแมว นางแมว และแม่แมว แต่ละตัวพยายามอย่างยิ่งที่จะเอาอกเอาใจเจ้านาย (ไล่จับหนู) คลอเคล้า หยอกเย้า ยั่วยวน เพื่อให้ได้ครอบครองมาเป็นเจ้าของ หวนกลับมาเป็นขโมย กลายเป็นคนรัก และลูกสะใภ้สุดหล่อ
แซว: จริงๆชื่อหนัง To Catch a Thief, ไล่จับโจร/ไล่จับแมว ก็ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ในบริบทนี้นะ มันควรจะตรงกันข้าม เพราะพระเอกนั้นถูกฝูงแมว/หญิงสาว/โจรไล่จับเสียมากกว่า
เหตุผลการเป็นโจรของพระเอก เพียงเพื่อสนองตัณหาความต้องการของตนเองเท่านั้น ซึ่งเมื่อเขาถูกจับได้ สำนึกผิด พยายามชดใช้ด้วยการต่อสู้เพื่อประเทศชาติ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังคงถูกอดีตตามมาหลอกหลอน นี่เป็นการสื่อถึง ‘ไม่มีอะไรลบล้างการกระทำของมนุษย์ได้’ กาลเวลาแค่ทำให้ร่องรอยบาดแผลเจือจาง แต่มิอาจลบเลือนสูญหายไปได้
ด้วยทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $4.5 ล้านเหรียญ ไม่ถือว่าทำเงินสักเท่าไหร่, เข้าชิง Oscar 3 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Cinematography, Color ** คว้ารางวัล
– Best Art Direction-Set Decoration, Color
– Best Costume Design, Color
นักวิจารณ์สมัยนั้นไม่ได้มีความชื่นชอบหนังสักเท่าไหร่ ‘does nothing but give out a good, exciting time.’ มองหาสาระประโยชน์อะไรไม่ได้นอกจากความบันเทิง แม้กาลเวลาจะมิอาจลบล้างคำกล่าวอ้างนี้ แต่หนังได้แปรสภาพเป็นความคลาสสิก หยุดเวลาไว้ตรงนั้น ให้ผู้ชมคนรุ่นใหม่ได้ตกหลุมรักหลงใหล
สิ่งที่ทำให้ผมมีความคลั่งไคล้กับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างยิ่งยวด คือความสวยงาม อลังการ วิจิตร ทั้งภาพ เสียง และการแสดง โดยเฉพาะเจ้าหญิง Grace Kelly มีความสง่างาม ตราตรึงใจ คงมีแค่วันแต่งงานกระมังที่เธอจะสวยกว่านี้
แนะนำกับคอหนังแนวโจรกรรม ลึกลับพิศวง ตื่นเต้นลุ้นระทึก, ชื่นชอบทิวทัศน์ ความงดงามของประเทศฝรั่งเศส, ภาพถ่ายสวยๆ เพลงประกอบหวานๆ, แฟนๆผู้กำกับ Alfred Hitchcock และนักแสดง Cary Grant, Grace Kelly ไม่ควรพลาด
จัดเรต pg ผู้ใหญ่ควรสอนเด็กๆว่า การขโมยเป็นสิ่งไม่ดี
Leave a Reply