To Have and Have Not (1944) : Howard Hawks ♥♥♥♥♡
ดัดแปลงจากนวนิยายเล่มห่วยสุดของ Ernest Hemingway กลายเป็นภาพยนตร์สุดคลาสสิกโดยผู้กำกับ Howard Hawks แจ้งเกิด Lauren Bacall ตกหลุมรักคู่ขวัญ-ชีวิตจริง Humphrey Bogart กาลเวลาทำให้ใครๆมักจดจำว่าคือภาคต่อของ Casablanca (1942)
จริงๆคือไม่ใช่ภาคต่อนะครับ แต่ความละม้ายคล้ายคลึงของเรื่องราวและหลายๆองค์ประกอบ (ดำเนินเรื่อง ณ เมืองท่าแห่งหนึ่ง, เวียนวนอยู่ในผับบาร์, มีนักดนตรีร้องเล่นเปียโน ฯ) มักทำให้ใครๆหลงครุ่นคิดเข้าใจผิดไปแบบนั้น ซึ่งเอาจริงๆ Casablanca (1942) ก็ไม่ใช่เรื่องแรกของภาพยนตร์ลักษณะนี้ด้วยซ้ำ
– Morocco (1930) ของผู้กำกับ Josef von Sternberg ต่างหากที่คือแม่พิมพ์ต้นแบบ
– Casablanca (1942)
– Across the Pacific (1942)
– To Have and Have Not (1944)
ฯลฯ
เมื่อเปรียบเทียบความคลาสสิก ไม่มีทางที่ To Have and Have Not (1944) จะเข้าใกล้เฉียดประชิด Casablanca (1942) แม้แต่น้อย เรื่องนั้นกลายเป็นตำนานลือเล่าขานเหนือกาลเวลา ถึงกระนั้นหนังเรื่องนี้ก็มีความดีโดดเด่นในตนเอง ไฮไลท์คือรักสามเส้าในชีวิตจริงระหว่าง Humphrey Bogart – Lauren Bacall – Howard Hawks ใครกันที่จะ ‘To Have’ และ ‘Have Not’ สาวสวยตาคมสุดเซ็กซี่คนนี้ไปครอบครอง
Howard Winchester Hawks (1896 – 1977) ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์และนักเขียนบทสัญชาติอเมริกัน ในยุค Classic Hollywood นักวิจารณ์/ผู้กำกับชื่อดัง Jean-Luc Godard ยกย่องว่า ศิลปินแห่งอเมริกายิ่งใหญ่ที่สุด ‘the greatest American artist.’
Hawks เป็นผู้กำกับที่สามารถสร้างหนังได้หลากหลายแนว ทั้งตลก, ดราม่า, คาวบอย Western, Gangster, ไซไฟ และหนังนัวร์ ผลงานดังๆ อาทิ Scarface (1932), Bringing Up Baby (1938), His Girl Friday (1940), The Big Sleep (1946), Red River (1948), Rio Bravo (1959) ฯ สไตล์ของเขา ตัวละครมักพูดพร่ามไม่หยุด ท่าทางลีลาท่าเยอะ น้ำไหลไฟดับ ชักแม่น้ำทั้งห้า โดยเฉพาะผู้หญิงมักมีความแก่นแก้ว ห้าวหาญ ถึงขนาดมีคำเรียก ‘Hawksian Woman’
Orson Welles เคยให้สัมภาษณ์ยกย่องว่า ‘Hawks คือผู้กำกับร้อยแก้ว ส่วน Ford คือผู้กำกับร้อยกรอง’
“Hawks is great prose; Ford is poetry.”
– Orson Welles
ผู้กำกับ Hawks มีความสนิทสนม เพื่อนร่วมทริปออกเรือตกปลากับ Ernest Hemingway (1899 – 1961) นักข่าว/เขียนนวนิยายชื่อดัง สัญชาติอเมริกัน ว่าที่เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรมปี 1954, ครั้งหนึ่งได้รับคำท้าทาย นายจะสามารถสร้างภาพยนตร์จากนวนิยายเรื่องห่วยแตกสุด To Have and Have Not (1937) ให้กลายเป็นหนังดีได้หรือเปล่า!
To Have and Have Not เริ่มต้นจากเป็นเรื่องสั้น One Trip Across ตีพิมพ์ในนิตยสาร Cosmopolitan เมื่อปี 1934 เป็นการแนะนำตัวละคร Harry Morgan กัปตันเรือประมงหาปลาอยู่แถวๆชายฝั่ง Key West, Florida ได้รับเสียตอบรับค่อนข้างดี เมื่อมีโอกาสเลยเขียนอีกตอนหนึ่งชื่อ The Tradesman’s Return ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Esquire เมื่อปี 1936 นั่นเองทำให้ Hemingway ตัดสินใจพัฒนานวนิยายขนาดยาวขึ้น เสร็จสำเร็จรวมเล่มตีพิมพ์ปี 1937 ถือเป็นผลงานเรื่องที่สองในชีวิต ขายหมดเกลี้ยง 10,000 เล่มภายในไม่กี่เดือน
ในช่วงทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาตกอยู่ในสภาวะเสื่อมถดถอย หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Great Depression เป็นเหตุให้ Harry Morgan ต้องออกเดินทางล่องเรือไป-กลับ ระหว่าง Florida กับ Cuba ทำงานลักลอบขนส่งผู้อพยพ/สิ่งของผิดกฎหมายเข้าเมือง นำเงินมาเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว
เรื่องราวของนวนิยายมีการสอดแทรกแนวคิดอุดมการณ์ Marxist อย่างแรงกล้า เพราะ Hemingway ขณะนั้นได้มีโอกาสไปทำข่าว Spanish Civil War (1936-39) ซึ่งตัวเขาเป็นผู้สนับสนุนฝั่ง Republican เข้าข้างพวก Anarchists และ Communists กลับมาปรับปรุงผลงานเรื่องนี้ ส่งเสริมให้ Harry Morgan เลือกข้าง/กระทำในสิ่งขัดแย้งต่อประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา, ก็ด้วยเหตุนี้กระมัง นวนิยายเลยได้เสียงตอบรับอันเลวร้าย (แต่กลับขายหมดเกลี้ยงเนี่ยนะ!) และกาลเวลาทำให้ Hemingway รู้สำนึกตัวเองว่าเลือกข้างผิด เลยออกอาการเหยียดเดียดหนังสือเล่มนี้ ยกให้เป็นผลงานห่วยแตกสุดของตนเอง!
เดิมนั้นลิขสิทธิ์ดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้ Hemingway ขายให้กับ Howard Hughes เมื่อปี 1939 แต่หาเวลาพัฒนาไม่ได้เลยขายต่อให้ Howard Hawks ปี 1943 ซึ่งก็ได้ขายต่อสตูดิโอ Warner Bros. เพื่อที่จะออกทุนสร้างให้กับหนัง
สำหรับคนที่มักคุ้นกับ Howard Hawks จะรับรู้ว่าเขาคือผู้กำกับที่แสดงออกชัดเจนถึงความรังเกียจเดียดฉันท์คอมมิวนิสต์ ส่งเสริมสนับสนุนการมาถึงของ McCarthyism อย่างออกนอกหน้า! ซึ่งการดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้ที่เป็นโคตร Marxist คือตัดทิ้งเนื้อหาภายในออกแทบทั้งหมด คงไว้เพียงตัวละครและอาชีพชาวประมงล่องเรือ แล้วมอบหมายให้ Jules Furthman และ William Faulkner ค้นหาวิธีแทรกใส่แนวคิด Anti-Fascist สวมรอยลงไปแทน
เกร็ด: William Faulkner คือว่าที่นักเขียนเจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม ปี 1949, นี่เท่ากับว่าหนังเรื่องนี้ ต้นฉบับนวนิยายและดัดแปลงบท พัฒนาขึ้นจากสองนักเขียนเจ้าของรางวัล Nobel Prize เรื่องแรกเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์
ในตอนแรกเริ่มจาก Jules Furthman ดัดแปลงบทโดยอ้างอิงจากนวนิยายต้นฉบับ ปรับเนื้อหาตามคำแนะนำของ Hawks แล้วส่งไปให้ Joseph Breen เพื่อขออนุมัติผ่าน Hays Code แต่ก็ถูกตีกลับหลายรอบจน Furthman หมดปัญญาแก้ไข
เมื่อ William Faulkner เข้ามาสวมรอยแทน ได้แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพื้นหลังจากประเทศคิวบา มาเป็นความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศส ช่วงถูกยึดครองโดย Nazi, Germany ระหว่างฝ่ายรัฐบาล Vichy France (สนับสนุนนาซี) และกลุ่มต่อต้าน Free France (องค์กรใต้ดินของฝรั่งเศส สนับสนุนโดย Charles de Gaulle)
เกร็ด: สำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์ดัดแปลงจากเนื้อหานวนิยายเรื่องนี้จริงๆ ขอแนะนำ The Breaking Point (1950) กำกับโดย Michael Curtiz ไว้ถ้ามีโอกาสก็อาจได้เขียนถึง
ช่วงฤดูร้อนปี 1940, Harry Morgan (รับบทโดย Humphrey Bogart) กัปตันเรือหาปลาลำเล็กๆ Queen Conch และต้นหน Eddie (รับบทโดย Walter Brennan) ปักหลักพักอาศัยอยู่ Fort-de-France, Martinique ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของโรงแรม Gérard (รับบทโดย Marcel Dalio) ต้องการให้ลักลอบขนส่งสมาชิกของกลุ่ม Free France ทีแรกเจ้าตัวปฏิเสธเสียงขันแข็งไม่อยากเข้าข้างฝ่ายใดหนึ่งในสงคราม กระทั่งว่าเมื่อมีโอกาสรู้จักสาวสวยอเมริกัน Marie Browning (รับบทโดย Lauren Bacall) เปลี่ยนความตั้งใจจะเอาเงินที่ได้ส่งเธอกลับยังประเทศ แต่หญิงสาวกลับ…
Humphrey DeForest Bogart (1899 – 1957) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City เป็นเด็กหัวขบถตั้งแต่เด็ก พี่แม่วางแผนอะไรไว้ให้ไม่เคยใคร่สน เหมือนจะจงใจสอบตกให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน สมัครเข้าเป็นทหารเรือ เดินทางไปฝรั่งเศสขณะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพื่อหลีสาว ปลดประจำการออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่หลายปี จนกระทั่ง Wall Street Crash เมื่อปี 1929 มุ่งหน้าสู่ Hollywood มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกหนังสั้น 2 reel เรื่อง The Dancing Town (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] ผลงานหนังพูดเรื่องแรก Up the River (1930), เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่สนิทสนม John Huston ขี้เมาหัวราน้ำพอๆกัน High Sierra (1941) [Huston ดัดแปลงบท], ตามมาด้วย The Maltese Falcon (1941) [Huston กำกับเรื่องแรก], ความสำเร็จของ Casablanca (1942) ทำให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า, และคว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The African Queen (1951)
รับบท Harry ‘Steve’ Morgan กัปตันเรือหาปลาลำเล็กๆ ขณะนั้นเทียบท่าอยู่ Fort-de-France, Martinique เพราะลูกค้ารายหนึ่ง Johnson (รับบทโดย Walter Sande) ติดเงินอยู่จำนวนมาก ด้วยข้ออ้างออกล่องเรือตกปลาเพื่อชดใช้หนี้สิ้น แต่ความโชคร้ายทำให้หมอนั่นโดนกระสุนลูกหลงเสียชีวิตไม่ได้อะไรคืนสักอย่าง แถมถูกต้องสงสัยจากตำรวจแตงโม Capitaine Renard (รับบทโดย Dan Seymour) สังกัดรัฐบาล Vichy France นี่ถ้าไม่เพราะการพบเจอหญิงสาว Marie Browning ต้องการอนุเคราะห์ส่งเสีย คงไม่รับงานลักลอบขนส่งคนเข้าประเทศ เป็นเหตุให้ต้องตัดสินใจเลือกข้าง ทั้งๆวางตัวเป็นกลางมาอย่างนมนาน
ผู้กำกับ Hawks ตั้งใจไว้สองตัวเลือกคือ Cary Grant กับ Humphrey Bogart ก่อนปลงใจรายหลัง เพราะอยากให้หนังดำเนินรอยตาม Casablanca (1942) ซึ่งพออะไรๆมันคล้ายคลึงกันมาก Bogart เลยแทบไม่ต้องปั้นแต่งการแสดงอะไร ถ่ายทอดความเป็นตัวของตนเองออกมา ก็เท่านั้น
ประเด็นคือว่า Hawks ก็ตกหลุมรัก Bacall อยู่เช่นกัน พอพบเห็น Bogart ตอนนั้นมีภรรยาคนที่สามอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยพึงพอใจสักเท่าไหร่ แต่ก็ฉกฉวยโอกาสเพิ่มเติมขยายเรื่องราวความสัมพันธ์ให้สองตัวละคร แล้วพยายามเกลี้ยกล่อมหลอกล่อบอกให้ ‘นายก็แค่ตกหลุมรักเธอในบทบาทการแสดง ไม่ใช่ชีวิตจริง’ ขณะเดียวกันพูดขู่ Bacall ‘ถ้ายังคบหา Bogart จะขายสัญญาเธอให้กับสตูดิโอเกรดบี Monogram Pictures’ เธอเอาความไปบอกคนรัก ประท้วงด้วยการหยุดงานสองสัปดาห์ พร้อมเรียกร้องค่าจ้างจ่ายเพิ่มเติมอีก สุดท้ายก็ต้องยินยอมปล่อยพวกเขาไป
เกร็ด: Bogart เลิกกับภรรยา Mayo Methot เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1945 และแต่งงานกับ Bacall เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน อาศัยอยู่ร่วมจนกระทั่งเสียชีวิตปี 1957
เกร็ด2: หลังจากเลิกรากับ Bogart ทำให้ Methot หมดสิ้นหวังอาลัยในชีวิต ตกอยู่ในสภาวะหดหู่ซึมเศร้า ปิดประตูล็อกห้องไม่พบเจอใคร ดำดิ่งในโลกของแอลกอฮอล์ เสียชีวิตจากโรคพิษสุราเรื้อรังเฉียบพลัน เมื่อปี 1951
Lauren Bacall ชื่อเกิด Betty Joan Perske (1924 – 2014) นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Bronx, New York City ครอบครัวเชื้อสาย Jewish อพยพจาก Romania โตขึ้นเข้าเรียน American Academy of Dramatic Arts รุ่นเดียวกับ Kirk Douglas กลายเป็นนักแสดงละครเวที Broadways และถ่ายแบบแฟชั่น ได้รับการค้นพบโดย Howard Hawks จับเซ็นสัญญาเจ็ดปี ค่าจ้างสัปดาห์ละ $100 เหรียญ พร้อมตั้งชื่อใหม่ในวงการให้ว่า Lauren ผลงานเรื่องแรก To Have and Have Not (1944) ตกหลุมรักแต่งงานกับ Humphrey Bogart ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง The Big Sleep (1946), Dark Passage (1947), Key Largo (1948), ผลงานเด่นอื่นๆ How to Marry a Millionaire (1953), Designing Woman (1957), The Shootist (1976), The Mirror Has Two Faces (1996) ฯ
เกร็ด: Bacall ติดชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legends อันดับ 20
รับบท Marie ‘Slim’ Browning สาวอเมริกันที่เหมือนจะหลบหนีจากบ้าน ค่ำไหนนอนนั้น ใช้มายาโปรยเสน่ห์ล้วงกระเป๋าชายหนุ่มผู้หลงใหลในตัวเธอ แต่แล้วกลับมาตกหลุมรัก Steve คงจะคนแรกจับไต๋เธอได้ เขาพยายามอาสาหาเงินจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินกลับบ้านให้ แต่เรื่องอะไรฉันต้องทำตามคำขอคนอื่น เสียงเพรียกเรียกร้องจากหัวใจต่างหากคือสิ่งสำคัญสุด
ผู้กำกับ Hawks พร้อมผลักดัน Bacall ตั้งแต่ค้นพบเจอตัว แต่ผู้บริหาร Warner Bros. เกิดความลังเลใจพอสมควร เรียกตัว Dolores Moran, Georgette McKee ให้มาทดสอบหน้ากล้อง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมให้ เพราะเธอใช่ต่อบทบาทนี้จริงๆ
มารยาเสน่ห์ของ Bacall ถือว่ามีความเพรียบพร้อมไม่ว่าจะมองจากมุมไหน สายตาจิกกัด เขียนคิ้วหยักศก รอยยิ้มเลศนัย ท่าทางยั่วเย้า คำพูดเร่าร้อน และที่สำคัญคือน้ำเสียงเวลาขับร้องเพลงทุ้มต่ำจนเหมือนผู้ชาย สร้างความพิศมัยให้ใครๆเมื่อได้พบเห็น เอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวน่าจะบนโลกนี้เลยละ
สำหรับเสื้อผ้าหน้าผม ภาพลักษณ์ของตัวละครนี้ (อาจจะรวมถึงบุคลิกนิสัยด้วยนะ) เห็นว่าได้แรงบันดาลใจาก Slim Keith ภรรยาของผู้กำกับ Hawks ขณะนั้นที่โคตรจะนำเทรนด์แฟชั่น ใครเคยรับชม Bringing Up Baby (1938) หรือ His Girl Friday (1940) จะรู้สึกถึงความละม้ายคล้ายคลึง นี่ลามต่อไปยัง The Big Sleep (1946) ด้วยนะ ถือว่าสะท้อนความเป็น ‘Hawksian Woman’ ได้อย่างเด่นชัดเจน
ประโยคคำพูด/ฉากที่กลายเป็นตำนานของ Bacall ด้วยการเล่นหูเล่นตา เล่นลีลาและน้ำเสียงสุดเซ็กซี่เย้ายวน
– ติดอันดับ 34 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes
– ติดอันดับ 77 ชาร์ท The 100 Greatest Movie Lines ของนิตยสาร Premiere ปี 2007
“You know how to whistle, don’t you, Steve? You just put your lips together and … blow …”
– Marie ‘Slim’ Browning
เดิมนั้นประโยคนี้ไม่มีในบทภาพยนตร์ แต่คือประโยคทดสอบหน้ากล้องที่ Hawks เขียนไว้ให้กับ Bacall ซึ่งสร้างความประทับใจผู้บริหารสตูดิโอ WB ตกลงปลงใจยินยอมให้เธอแสดงนำ ด้วยเหตุนี้เลยจำต้องหาที่ทางแทรกใส่เพิ่มเติมลงไปในหนัง
ณ งานศพของสามี Bacall วางนกหวีดไว้บนโลงก่อนกลบฝังดิน ไม่ได้มีคำพูดใดๆ แต่ข่าวออกไปใครๆย่อมล่วงรู้ได้ว่าหมายถึงอะไร
Walter Andrew Brennan (1894 – 1974) นักแสดงสัญชาติอเมริกันยอดฝีมือ เกิดที่ Lynn, Massachusetts มีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก ออกทัวร์ทั่วประเทศ (Vaudeville) ตั้งแต่อายุ 15 เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็นตัวประกอบในสตูดิโอ Universal พร้อมด้วยผลงานกว่าร้อยเรื่อง เป็นเจ้าของสถิติคว้า Oscar: Best Supporting Actor มากสุดถึง 3 ครั้ง จากเรื่อง Come and Get It (1936)** กำกับโดย Howard Hawks, Kentucky (1938) และ The Westerner (1940)
รับบท Eddie ต้นหนเพื่อนสนิทของ Harry Morgan คาดว่าคงล่องเรือตามกันมาจากสหรัฐอเมริกา เป็นคนขี้เหล้าเมายา วันๆไม่ทำอะไรนอกจากแบมือขอเงิน (ไปซื้อเหล้า) ชอบพูดพร่ำเรื่อยเปื่อยไร้สาระ ฟังไม่ได้สดับสักเท่าไหร่
Brennan สนิทสนมกับ Hawks มาเนิ่นยาวนาน ร่วมงานกันบ่อยครั้ง ขณะนั้นเซ็นสัญญาอยู่กับสตูดิโอ MGM หยิบยืมตัวมาด้วยค่าจ้างสูงถึง $2,500 เหรียญต่อสัปดาห์ ขนาดว่าต้องขึ้นชื่อในเครดิต ขนาดตัวอักษรเล็กว่า Bogart ประมาณ 60% (นำหน้า Bacall ที่ยังไม่มีชื่อเสียงใดๆ)
ฉายา ‘ตัวประกอบยอดฝีมืออันดับหนึ่ง’ แน่นอนว่าต้องการันตีความโดดเด่น แต่ผมไม่ยักรู้เรื่องกับพี่แกสักเท่าไหร่ เดี๋ยวจำได้-ไม่ได้ เมา-ไม่เมา พูดพร่ามจนหลายครั้งดูน่ารำคาญ แต่คนแบบนี้ไร้ซึ่งพิษสงทำร้ายใคร ไม่แตกต่างอะไรจากผึ้งตายบินตอม
“Was you ever bit by a dead bee?”
– Eddie
ในหนังสือชีวประวัติของ Lauren Bacall เล่าถึงไดเรคชั่นการทำงานของผู้กำกับ Hawks ยกย่องว่ามีความน่าอัศจรรย์ สร้างสรรค์ และมืออาชีพอย่างมาก, เริ่มต้นทุกเช้าในสตูดิโอ ทีมนักแสดงประจำวันจะนั่งล้อมวงอ่านบท อนุญาตให้ปรับเปลี่ยนคำพูดตามเหมาะสม หลังจากเกิดความพึงพอใจก็จะย้ายไปยังสถานที่ถ่ายทำ ให้อิสระเช่นกันในการขยับเคลื่อนไหว เดินไปเดินมาจนรู้สึกคล่องตัว จากนั้นตากล้องถึงเริ่มเข้าไปทำงาน พูดคุยหาข้อสรุปว่าจะถ่ายทำตรงไหนอย่างไร โดยอ้างอิงจากนักแสดงเป็นหลัก
ถ่ายภาพโดย Sidney Hickox สัญชาติอเมริกัน สังกัดสตูดิโอ Warner Bros. ผลงานเด่นๆ อาทิ To Have and Have Not (1944), The Big Sleep (1946), Dark Passage (1947), White Heat (1949) ฯ
หนังทั้งเรื่องสร้างฉากถ่ายทำขึ้นในสตูดิโอ Warner Bros. ซึ่งก็รวมถึงฉากล่องเรือตกปลา มีทั้งภาพวาดท้องฟ้าบนกระจก Matte Painting และใช้ Rear Projection ฉากภาพขึ้นฉากช็อตนี้ สร้างความตกตะลึงงันให้ผมไม่น้อย เพราะเจ้าปลากระโดดมันช่างได้จังหวะพอดิบพอดีเสียจริง
โดดเด่นกับการจัดแสง-ความมืด จนนักวิจารณ์หลายๆสำนักเห็นว่าหนังมีสัมผัสนัวร์อยู่ไม่น้อย แต่อีกครึ่งค่อนจะบอกว่าไม่เหมือน (ประมาณว่า หนังนัวร์มันต้องแนวอาชญากรรม ตีแผ่ด้านมืดภายในจิตใจคน ไม่ใช่แนวรักโรแมนติก) … แต่ผมว่ามันก็คือๆกันละนะ
การจุดบุหรี่ ขวดเหล้า ล้วนมีนัยยะแฝงเชิงสัญลักษณ์ สามารถตีความสื่อถึงการร่วมรัก/มี Sex เพราะสมัยก่อนในยุคคลาสิก ติดข้อจำกัดของ Hays Code อะไรๆเลยไม่สามารถนำเสนอออกมาอย่างตรงๆ โจ๋งครึ่ม (จูบกันยังต้องไม่เกิน 3 วินาที!)
สำหรับการผิวปาก/นกหวีด ประโยคสุดเซ็กซี่ของ Bacall ประกบริมฝีปากแล้วเป่า สามารถสื่อถึงการ ‘Blowjob’ แปลว่าอะไรคงไม่ต้องอธิบายกันนะครับ
จิ๊ดมากคือตอนนางเอกนั่งทับบุหรี่, หญิงสาว นั่งทับสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของลึงค์ ก็ไปจินตนาการต่อเอาเองนะครับว่าหมายถึงอะไร!
ตัดต่อโดย Christian Nyby ขาประจำของผู้กำกับ Hawks, ใช้มุมมองเล่าเรื่องของ Harry Morgan ปรากฎพบเจออยู่ทุกฉากของหนัง ในระยะเวลา 3 วัน 3 คืน
เพลงประกอบโดย Franz Waxman สัญชาติเยอรมัน ผลงานเด่นอาทิ Rebecca (1940), Sunset Boulevard (1950), A Place in the Sun (1951), Taras Bulba (1962) ฯ เติมเสริมแต่งเพื่อสร้างอรรถรสในการรับชม มักดังขึ้นช่วงขณะเกิดเหตุการณ์บางสิ่งอย่าง อาทิ กราดยิงปืน, ต่อสู้กับตำรวจ ฯ
สำหรับนักเปียโน Hoagy Carmichael (1899 – 1981) นี่คือผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก ตามด้วย The Best Years of Our Lives (1946), Canyon Passage (1946), Here Comes the Groom (1951) ** คว้า Oscar: Best Original Song
Carmichael ร่วมกับ Johnny Mercer แต่งบทเพลง How Little We Know เพื่อใช้ในหนังโดยเฉพาะ ขับร้องโดย Lauren Bacall แต่เห็นว่ามีการบันทึกเสียง Andy Williams วัย 14 ปี ไว้ด้วยเป็นตัวเลือกแต่ไม่ได้นำมาใช้จริง (คงกลัวว่าเสียงของ Bacall จะไม่ทุ่มต่ำพอ)
ผมคิดว่าบทเพลงนี้ Hawks คงหมายมั่นปั้นให้โด่งดังยิ่งกว่า As Time Goes By แต่สุดท้ายก็ได้แค่เพ้อฝัน เพราะน้ำเสียงของ Bacall เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเกินไป ใครไหนจะสามารถร้องตามได้เหมือนละเนี่ย
ชื่อหนัง To Have and Have Not ถือเป็นการตั้งคำถาม มี-ไม่มี ซึ่งพบเห็นได้บ่อยครั้ง อาทิ
– ลูกหนี้คนแรกของ Johnson ติดเงิน Harry ทั้งหมด $825 เหรียญ มี-ไม่มี จ่ายคืนกันแน่?
– Capitaine Renard ซักทอดถามบรรดาผู้ต้องสงสัย เคย-ไม่เคย พบเห็นพวกใต้ดิน Free France?
– Harry ขณะกำลังครุ่นคิดตัดสินใจ ช่วย-ไม่ช่วย ลักลอบขนสมาชิกกลุ่ม Free France เข้าฝรั่งเศส
– Slim ต้องตัดสินใจ กลับ-ไม่กลับ หลังจากได้รับตั๋วเครื่องบินจาก Harry
– ที่สุดของหนังก็คือ รัก-ไม่รัก ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง!
การเลือกข้างของ Harry Morgan ก็เช่นกัน ขณะนั้นก่อนหน้าเหตุการณ์ Pearl Harbor (7 ธันวาคม 1941) สหรัฐอเมริกายังวางตัวเป็นกลางไม่เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่ออาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสที่ถูกยึดครองแบ่งแยกเป็น Vichy France กับ Free France จำเป็นต้องหันข้างหาฝ่ายหนึ่งใด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของกระสุนลูกหลง
(ใจความของ Casablanca ก็เฉกเช่นเดียวกัน ไม่มีทางที่ใครจะสามารถเป็นกลางในรักสามเส้า!)
ผลลัพท์การเลือกข้างของตัวละคร แสดงออกอย่างชัดเจนว่าหนังมีลักษณะ Anti-Fascist ต่อต้านนาซีเยอรมัน และรัฐบาลหุ่นเชิด Vichy France ซึ่งก็เป็นการสะท้อนหนทางเลือกของสหรัฐอเมริกา หลังจากเข้าร่วมสู้รบสงครามโลกครั้งที่สองอย่างตรงไปตรงมา
นอกจากนี้หนังยังมีลักษณะ จริง-ไม่จริง สังเกตจากการเรียกชื่อของตัวละคร
– ชื่อของนางเอกคือ Marie Browning แต่ถูกเรียกจนใครๆจดจำว่าคือ Slim (แทนรูปร่างอันผมเพรียวเอวบาง)
– ขณะที่พระเอก Harry Morgan มีชื่อเล่น Steve ไม่รู้มาจากไหนเช่นกัน
– นอกจากนี้ก็ Frenchy, Eddie (ไม่น่าใช่ชื่อจริงของตัวละครแน่ๆ)
ตอนจบต้นฉบับนิยาย ผลลัพท์การกระทำดีของ Harry Morgan ทำให้ถูกรุมโทรมทำร้ายแสนสาหัส ตรงข้ามกับภาพยนตร์ที่พลิกแต้มต่อ ช่วงชิงชัย กลับกลายมาเป็นผู้ชนะ! นี่มันช่าง Hollywood โดยแท้ แต่ก็ไม่ถึงขั้นยินยอมรับไม่ได้เสียทีเดียว
แซว: ท่าเดินโยกดิ้นของ Bacall ช็อตรองสุดท้ายนี้ ทำให้หนังมีความเซ็กซี่ยั่วเย้ายวนเหนือกาลเวลา
น่าเสียดายที่ตอนออกฉาย เสียงตอบรับค่อนข้างผสมทั้งชอบ-ไม่ชอบ และแน่นอนพอมี Casablanca ให้เปรียบเทียบ เลยกลายเป็นแค่มวยรอง แต่ด้วยทุนสร้างประมาณ $1.68 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $3.65 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $5.25 ล้านเหรียญ รายรับถือว่าระดับใกล้เคียงกันเลยละ (Casablanca ทำเงินในอเมริกา $3.7 ล้านเหรียญ, รวมทั่วโลก $6.85 ล้านเหรียญ)
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก ค่อยๆพัฒนามาเป็นความลุ่มหลงใหลในเสน่ห์ความคมเข้ม ยั่วเย้ายวน ร่านลีลา สวยเซ็กซี่ของ Lauren Bacall ให้ตายเถอะ! ใครอยู่ใกล้ๆต้องตกหลุมรักคลั่งไคล้เธออย่างแน่นอน
แนะนำคอหนังคลาสสิก ชื่นชอบเรื่องราวรักโรแมนติก พื้นหลังระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผู้กำกับ Howard Hawks มอบสัมผัสนัวร์ๆ ลุ้นระทึก และแฟนคลับของคู่ขวัญ Humphrey Bogart, Lauren Bacall ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 13+ กับการใช้ความรุนแรงกราดยิงมีผู้เสียชีวิตของ Vichy France และใจความเลือกข้าง Anti-Fascist
Leave a Reply