To Live (1994) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♥♡

(13/5/2022) ตราบมีลมหายใจ ไม่ว่าจะพบเจอโศกนาฎกรรม พานผ่านช่วงเวลาทุกข์ยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยอับจนข้นแค้นสักเพียงไหน มนุษย์เราก็ยังสามารถอดทน ต่อสู้ดิ้นรน ดำเนินชีวิตต่อไป, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ในบรรดาผลงานของผู้กำกับจางอี้โหมว Raise the Red Lantern (1991) ถือว่ามีความประณีต งดงามระดับวิจิตรศิลป์ มาสเตอร์พีซในแง่มุมศาสตร์ศิลปะ, ขณะที่ To Live (1994) นำเสนอปรัชญาการใช้ชีวิต สร้างความสั่นสะท้านจิตวิญญาณผู้ชม มาสเตอร์พีซในแง่มุมความเป็นคน ภาพยนตร์แห่งมวลมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ … ถ้าเปรียบเทียบคงประมาณ Raise the Red Lantern (1991) = Rashomon (1950), 8½ (1963) ขณะที่ To Live (1994) = Seven Samurai (1954), La Dolce Vita (1960)

นอกจากแง่มุมของการใช้ชีวิต หนังยังบันทึกประวัติศาสตร์ชาติจีน นำเสนอพานผ่านสี่ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากสงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49), นโยบายการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (1958-62), การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) และช่วงเวลาหลังจากนั้น … อาจไม่ยิ่งใหญ่อลังการระดับเดียวกับ Farewell My Concubine (1993) หรือบีบเค้นคั้นทางอารมณ์เทียบเท่า The Blue Kite (1993) แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสวิถีชีวิต เข้าถึงสภาพจิตใจผู้คนยุคสมัยนั้นได้อย่างสมจริงที่สุด

ผู้กำกับจางอี้โหมว แม้พยายามจะไม่วิพากย์วิจารณ์นโยบายท่านประธานเหมาเจ๋อตุงอย่างโจ่งแจ้ง แต่การนำเสนอผลกระทบที่บังเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ มีความโดดเด่นชัดเจนเกินไป (ต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆก่อนหน้า ที่ไม่ได้พาดพิงกล่าวถึงตรงๆ น้อยคนจักสามารถเปรียบเทียบถึง) เตะต่อมลูกหมากกองเซนเซอร์เลยถูกแบนถาวร ห้ามฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ (แต่ปัจจุบันเหมือนจะหารับชมออนไลน์ได้นะครับ) และเจ้าตัวก็โดนใบสั่งไม่ให้ยุ่งเกี่ยววงการภาพยนตร์นานถึง 5 ปี (แต่แค่ไม่ถึงปีก็ผ่อนปรนให้แล้ว)

แซว: ผลงานเรื่องอื่นๆของจางอี้โหมว ผมต้องค้นหาข้อมูลจากเว็บจีน baido, douban มีมากกว่าเว็บภาษาอังกฤษ แต่พอมาเป็นหนังติดแบนเรื่องนี้แทบไม่มีอะไรในเว็บจีน (คงถูกเก็บหมด) ต้องพึ่งพา en.wikipedia ดันมีรายละเอียดยิบๆ


จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลส่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง

ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ

For me, that was an era (Cultural Revolution) without hope – I lived in a world of desperation.

จางอี้โหมว กล่าวถึงช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

หลังเสร็จจาก The Story of Qiu Ju (1992) จางอี้โหม่วแสดงความสนใจดัดแปลงนวนิยาย Mistake at River’s Edge (1992) แต่งโดยหยูฮัว นักเขียนดาวรุ่งชาวจีน ที่เพิ่งมีชื่อเสียงได้ไม่นาน ด้วยความเชื่อมั่นในตัวผู้กำกับดัง เลยส่งผลงานเรื่องอื่นๆ รวมถึงหนังสือที่กำลังรอการตีพิมพ์ To Live (1993) ให้อ่านล่วงหน้า

ขอกล่าวถึงผู้แต่งสักเล็กน้อย หยูฮัว, Yu Hua (เกิดปี 1960) นักเขียนชาวจีน เกิดที่หางโจว มณฑลเจ้อเจียง บิดาเป็นหมอ มารดาเป็นพยาบาล ทำงานอยู่ Zhejiang Provincial Center for Disease Control and Prevention (Zhejiang CDC) อาศัยอยู่บ้านพักติดกับสถานเก็บศพ, ช่วงเริ่มต้นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม หยูฮัวเพิ่งอายุเพียง 6-7 ขวบ พบเห็นบิดา-มารดาถูกจับกุมตัว (แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวภายหลัง) รวมถึงพฤติกรรมเลวร้ายต่างๆนานาของบรรดายุวชนแดง ทำให้บังเกิดอคติอย่างรุนแรงต่อช่วงเวลาดังกล่าว เมื่ออายุ 17 ปี ร่ำเรียนต่อทันตกรรม เป็นหมอฝันอยู่หลายปีก็เกิดความเบื่อหน่าย (เพราะไม่อยากจับจ้องมองช่องปากผู้อื่นทุกวี่วัน) เลยตัดสินใจผันตัวมาเขียนเรื่องสั้น แต่งนวนิยาย

ผลงานช่วงแรกๆของหยูฮัว มักเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียดแค้น แสดงอคติต่อช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่เมื่อเขาอายุมากขึ้น คงเริ่มรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย เมื่อได้รับฟังบทเพลง American Folk Song ชื่อว่า Old Black Joe (1860) แต่งโดย Stephen C. Foster (1826-64) เนื้อคำร้องเป็นการรำพันถึงทาสคนดำ Old Joe ที่ไม่ว่าจะพานผ่านช่วงเวลาทุกข์ยากลำบากสักแค่ไหน ก็ไม่เคยพูดบ่น แสดงความไม่พึงพอใจต่อเจ้านาย กลายเป็นแรงบันดาลใจพัฒนาเรื่องราวที่ตัวละคร สามารถอดรนทนต่อทุกสถานการณ์ เลือกจะมีชีวิต ไม่ว่าจะประสบพบเจออุปสรรคอะไร ตั้งชื่อผลงานดังกล่าวว่า 活着 (อ่านว่า Huózhe แปลตรงตัว Alive, To be Alive), ชื่อภาษาอังกฤษ To Live (1993)

เมื่อจางอี้โหมวได้อ่านนวนิยายเล่มดังกล่าวก็ถึงขั้นวางไม่ลง คงเพราะมีความใกล้เคียงประสบการณ์ตรงของตนเอง เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับหยูฮัว แทนที่จะสนทนาโปรเจค Mistake at River’s Edge ก็วกกลับมา To Live ซ้ำแล้วซ้ำอีก พวกเขาเลยตัดสินใจเปลี่ยนมาดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้แทน

ในส่วนการดัดแปลงบทภาพยนตร์ ผู้กำกับจางอี้โหมวดึงตัวนักเขียน ลูเวย, Lu Wei ผู้กำกับ/นักเขียนบทภาพยนตร์ ที่เพิ่งเสร็จจากผลงานล่าสุด Farewell My Concubine (1993) เพื่อช่วยปรับปรุงเรื่องราว แก้ไขรายละเอียดหลายๆส่วน ใช้เวลานานกว่าครึ่งปีกว่าจะได้บทตรงตามความต้องการ

  • ปรับเปลี่ยนสถานที่พื้นหลัง จากทางตอนใต้ของประเทศจีน สู่มณฑลส่านซี ที่อยู่ทางตอนเหนือ (เหตุผลเดิมๆของจางอี้โหมว เพราะมีความคุ้นเคยกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองมากกว่า)
  • เพิ่มเติมการแสดงละครเงา (เพื่อเก็บบันทึกศิลปะวัฒนธรรมของชนชาวจีน คาดว่าคงนำแนวคิดจาก Farewell My Concubine (1993) ที่เป็นการแสดงอุปรากรจีน/ละครงิ้ว) โดยเรื่องราวที่ทำการแสดง มักสะท้อนสถานการณ์บังเกิดขึ้นขณะนั้นๆ
  • ในนวนิยายจะนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง พร้อมเสียงบรรยายของฝูกุ้ย (ยังคงมุมมองของสวีฝูกุ้ยไว้ แต่จะไร้เสียงบรรยายประกอบเรื่องราว) ตัดทิ้งพล็อตรองเกี่ยวกับวัวแก่ ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์เทียบแทนตนเองของฝูกุ้ย
  • ดั้งเดิมนั้นทุกตัวละครจะมีเหตุให้ตกตาย จนสุดท้ายหลงเหลือเพียงฝูกุ้ย ปรับเปลี่ยนให้เหลือเพียง 2-3 ตัวละครหลักๆประสบเหตุโศกนาฎกรรม และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาทศวรรษนั้นๆ

ในส่วนของการหาทุนสร้าง เหมือนจะไม่มีสตูดิโอไหนในประเทศจีนให้ความสนใจดัดแปลงนวนิยายของหยูฮัว (ก็แน่ละ เป็นนักเขียนโจมตีช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างโจ่งแจ้งสุดๆ) ผู้กำกับจางอี้โหมวเลยติดต่อชูฟูเช็ง, Chiu Fu-sheng โปรดิวเซอร์ชาวไต้หวัน เคยร่วมงานเมื่อครั้น Raise the Red Lantern (1991) ขณะนั้นลี้ภัยอยู่ฮ่องกง (ถูกขับไล่จากรัฐบาลก๊กมินตั๋น) แบ่งปันงบประมาณจาก ERA International และอีกเสี้ยวส่วนหนึ่ง Shanghai Film Studios

ปล. เมื่อหนังถูกแบน ผู้กำกับจางอี้โหมวโดนใบสั่ง หนึ่งในข้อห้ามนั้นคือไม่ยื่นของบประมาณจากสตูดิโอต่างชาติ (เฉพาะเจาะจงกับฮ่องกง และไต้หวัน) นี่จึงคือครั้งสุดท้ายที่ได้ร่วมงานกับชูฟูเช็ง


เรื่องราวแบ่งออกเป็นสี่ทศวรรษ, เริ่มต้น 40s เมื่อฝูกุ้ยติดการพนันอย่างคลุ้มคลั่ง จนหนี้สินท่วมตัว บ้านถูกยึด ภรรยาทอดทิ้ง บิดาหัวใจวายตาย ตัวเขาก็กลายเป็นคนเร่ร่อน ขายของเก่าปะทังชีพไปวันๆ ค่อยๆเก็บสะสมเงินทอง กระทั่งสามารถเช่าบ้านพัก จินซานหลังคลอดบุตรหวนกลับมาอาศัยอยู่ด้วยกัน แล้วเริ่มต้นกลับไปทำอาชีพนักเชิดหุ่นเงา ออกเดินทางทำการแสดงยังสถานที่ต่างๆ พอดิบพอดีเกิดสงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง จับพลัดจับพลูถูกจับเป็นทหาร หลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะค่อยสามารถเดินทางกลับบ้าน

ทศวรรษ 50s เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า ทุกครัวเรือนต้องบริจาคเศษเหล็กเพื่อมาทำกระสุนปืน อาวุธสำหรับต่อกรกบฎพรรคก๊กมินตั๋น ครอบครัวของฝูกุ้ยแม้เป็นเพียงแค่คนส่งน้ำแต่ก็ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขัน ทั้งยังเปิดการแสดงละครเงาเพื่อสร้างความบันเทิง ผ่อนคลายให้ผู้เข้าร่วมการถลุงเหล็ก แต่แล้วโศกนาฎกรรมก็บังเกิดขึ้นกับบุตรชายคนเล็กยูจิน (Youqing) ถูกรถของปลัดอำเภอชนเสียชีวิต

ทศวรรษ 60s เริ่มต้นด้วยการจับคู่แต่งงานให้กับเฟิงเซีย (Fengxia) ชีวิตกำลังไปได้ดีจนกระทั่งการมาถึงของช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม เมื่อบุตรสาวใกล้คลอดไม่มีแพทย์ประสบการณ์ในโรงพยาบาล แล้วจู่ๆเธอเสียเลือดมาก หมอ-พยาบาลซึ่งล้วนเป็นคนหนุ่มสาว ไม่มีใครรับรู้จะหาหนทางแก้ปัญหาอย่างไร

ทศวรรษ 70s แม้ครอบครัวฝูกุ้ยจะพานผ่านโศกนาฎกรรมมากมาย จนหลงเหลือเพียงหลานชายหมั่นโถว (Mantou) แต่ตราบยังมีชีวิต เลยต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อไป มอบคำสอนสุดท้ายเกี่ยวกับลูกไก่ ในตอนนี้ตัวมันยังเล็ก สักวันย่อมต้องเติบใหญ่ กลายเป็นเป็ด กลายเป็นห่าน และอาจกลายเป็นวัวที่มีพละกำลังแข็งแกร่ง (สื่อนัยยะว่า เมื่อโตขึ้นมนุษย์เรามีสิทธิ์ในการครุ่นคิด สามารถกระทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น!)


เกอโหย่ว, Ge You (เกิดปี 1957) นักแสดงชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง เป็นบุตรของ Ge Cunzhuang นักแสดงมีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 50s สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กชาย ต้องการดำเนินตามรอยเท้า, ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ครอบครัวถูกส่งไปทำงานฟาร์มหมู หลังจากนั้นเข้าร่วม Art Troupe of the National Federation of Trade Unions ตั้งใจจะเป็นนักแสดงสายดราม่า แต่เริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีย์ตลก Stories From The Editorial Board (1992), ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ The Spring Festival (1991), After Separation (1993), Farewell My Concubine (1993), To Live (1994), The Dream Factory (1997), Let the Bullets Fly (2010), Sacrifice (2010) ฯ

รับบทสวีฝูกุ้ย, Xu Fugui (徐福貴 แปลว่า Lucky & Rich) ทายาทตระกูลร่ำรวย นิสัยเย่อหยิ่งอ้างอวดดี มีคฤหาสถ์หลังใหญ่ แต่ด้วยความลุ่มหลงใหลการพนัน เล่นจนหนี้สินท่วมหัว ทำให้สูญเสียบ้านพักอาศัย บิดาหัวใจวายตาย แถมถูกภรรยาทอดทิ้ง หมดสิ้นเนื้อประดาตัวจนต้องใช้ชีวิตข้างถนน เริ่งบังเกิดรู้สำนึกผิดเลยค่อยๆก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ จนมีที่พักหลังคาคลุมศีรษะ จินซานหลังคลอดบุตรก็ยินยอมกลับมาอยู่ด้วยกัน และเขาก็รวมกลุ่มคณะการแสดงเงา ทุกสิ่งอย่างกำลังดีขึ้นอีกครั้ง แต่…

แม้ว่าเกอโหย่วจะไม่ได้หล่อเหลา มาดซุปเปอร์สตาร์ แต่ความบ้านๆ (ขึ้นอยู่กับการแต่งตัวด้วยนะ คือถ้าสวมใสชุดหรูก็ดูมีการศึกษา เมื่อไหร่เสื้อผ้าขาดหวิ่นก็กระยาจกข้างถนน) ต้องชมเลยคือ Charisma ด้านการแสดง มีความเป็นธรรมชาติสุดๆ สร้างความประทับตราตรึง ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ ให้อภัยสิ่งชั่วร้ายใดๆเคยกระทำ และเป็นกำลังใจให้สามารถอดรนทน พานผ่านโศกนาฎกรรมทั้งหลายไปได้ด้วยดี

ผมเองก็เคยมีประสบการณ์เล่นพนันจนหมดตัว แม้ไม่ได้เลวร้ายระดับเดียวกับตัวละคร แต่การเจ๊งครั้งนั้นก็เป็นบทเรียนสาแก่ใจ เล่นไพ่กับเพื่อนได้แต่จะไม่วางเงินอีกเป็นอันขาด! ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมันส่งผลกระทบด้านอื่นๆด้วยนะครับ (ชีวิตจริงอาจไม่ถึงขนาดนี้กระมัง) สูญเสียความกระตือรือล้น ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ตระหนักว่าเรื่องของเงินๆทองๆ ได้มาก็ต้องใช้จ่ายไป เริ่มบังเกิดความเพียงพอดีขึ้นในจิตใจ ไม่ต้องการอะไรมากกว่าความสุข พึงพอใจในปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบเกอโหย่วเอามากๆ คือใบหน้าที่ดูนิ่งๆ เคร่งขรึม บางครั้งก็สิ้นหวัง แต่กลับแฝงความขบขัน ยียวนกวนประสาทอยู่เล็กๆ เห็นว่านั่นคือความจงใจเพราะประสบการณ์จากเป็นนักแสดงตลก ถนัดการปั้นหน้า ‘poker face’ และได้รับคำแนะนำจากผู้กำกับให้สร้างตัวละครในลักษณะทีเล่นทีจริง เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดของหนัง

แม้เจ้าตัวจะเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น ไม่ค่อยมั่นใจในตนเองกับบทบาทนี้นัก ทีแรกปฏิเสธไม่อยากร่วมเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ผลลัพท์กลับคว้ารางวัล Best Actor กลายเป็นชาวจีนคนแรกที่รางวัลนักแสดงจากเทศกาลนี้!

เกร็ด: แม้ว่าเกอโหย่วจะไม่ได้มีความสามารถด้านการเชิดหุ่นละครเงา (ซึ่งก็ไม่ได้เห็นเชิดสักฉาก) แต่ก็ขับร้องบทเพลงประกอบการแสดงด้วยตนเองทั้งหมด


กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ

รับบทจินซาน, Jiazhen (家珍 แปลว่า Precious Family) แม้เต็มไปด้วยความไม่พึงพอใจที่ฝูกุ้ยเอาแต่เล่นการพนัน เลยขนข้าวของหนีออกจากบ้าน แต่ภายหลังรับรู้ว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตนเอง จึงยินยอมหวนกลับมาอาศัยอยู่ร่วมกันอีกครั้ง ไม่ได้ต้องการความร่ำรวย ขอแค่ชีวิตสงบสุข พร้อมทุ่มเททำงานหนักเพื่อลูกๆ เชื่อมั่นในความถูกต้อง และปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย

แม้บทบาทนี้ของกงลี่จะเป็นเพียงภรรยา/ช้างเท้าหลัง แต่เธอก็สร้างความเจิดจรัสให้ตนเอง ผ่านปฏิกิริยาอารมณ์ที่โดดเด่นชัดกว่าสามี โดยเฉพาะโศกนาฎกรรมทั้งสองครั้ง บีบเค้นคั้นหัวจิตหัวใจผู้ชมได้อย่างเจ็บปวดรวดร้าวรุนแรง (เกอโหย่ว จะนิ่งๆเน้นแสดงออกทางสีหน้า, กงลี่ จะออกลวดลีลา คราบน้ำตา ควบคุมตนเองไม่ค่อยอยู่)

เพราะรักมากก็เลยยึดติดมาก ทำให้ตัวละครไม่อาจปล่อยวางจากความสูญเสีย กาลเวลาค่อยๆทำให้เธอสงบจิตสงบใจ แม้ภายในยังยินยอมรับไม่ได้ แต่อคติจักค่อยๆคลายลง และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งสามารถเปิดประตูออกมา ไม่เชิงว่ายกโทษให้อภัย แค่รู้สึกไม่ติดค้างคาใจอีกต่อไป … ฉากสุดซาบซึ้งที่จินซานตะโกนบอกกับเพื่อนของฝูงกุ้ย ‘นายติดหนี้ชีวิตครอบครัวฉันอยู่นะ’ คือกำลังใจเหลือล้นให้ใครหลายคนสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้เลยนะ!

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกแอบทึ่ง คือการสัมผัสได้ว่าตัวละครทำงานหนักจริงๆ (กล่าวคือ กงลี่สามารถทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกว่า ตัวละครนี้เป็นคนทำงานหนักจริงๆ) ทั้งๆแทบไม่พบเห็นฉากที่จินซานทำอะไร ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆที่วิ่งเปลี่ยนกระบอกน้ำ ส่วนเธอแค่ลากเกวียน เตรียมต้มน้ำ แค่นั้นอ่ะนะ?? เท่าที่ผมสังเกตคือ หนังทำการล่อหลอกด้วยคำพูดย้ำๆผ่านบุคคลอื่น จนผู้ชมบังเกิดความเข้าใจว่าหญิงสาวคนนี้ทำงานหนักเพื่อครอบครัวจริงๆ … คุณหลอกดาว!


ถ่ายภาพโดย Lü Yue (เกิดปี 1957) ตากล้อง/ผู้กำกับชาวจีน เกิดที่เทียนจิน สำเร็จการศึกษาจาก Beijing Film Academy รุ่นเดียวผู้กำกับรุ่นห้า จบออกมาร่วมงานผู้กำกับเทียนจวงจวงเรื่อง On the Hunting Ground (1985), ผลงานเด่นๆ อาทิ To Live (1994), Shanghai Triad (1995), Breaking the Silence (2000), Red Cliff (2008) ฯ

งานภาพของหนังจะไม่จัดจ้านด้วยแสง-สีสัน (เหมือนผลงานเก่าก่อนๆของผู้กำกับจางอี้โหมว) แต่เน้นความกลมกลืน ผสมผสานให้กลายเป็นส่วนหนึ่ง สร้างสัมผัสบรรยากาศที่สะท้อนช่วงเวลาขณะนั้นๆอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา, ในส่วนนี้ถือว่าตารปัตรตรงกันข้ามกับ Farewell My Concubine (1993) ที่มุ้งเน้นนำเสนอความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง เต็มไปด้วยลูกเล่น ลีลา ภาษาภาพยนตร์

ผมไม่สามารถหารายละเอียดว่าหนังถ่ายทำยังแห่งหนใด เพียงบอกแค่ว่าทางตอนเหนือของประเทศจีน คาดว่าคงแถวๆมณฑลส่านซี (ถิ่นฐานบ้านเกิดของผู้กำกับจางอี้โหมว ตั้งแต่สมัยเริ่มเป็นตากล้องก็ไม่เคยไปไกลกว่านั้น) ดูแล้วไม่ใช่แบบ Farewell My Concubine (1993) ที่ทำการก่อร่างสร้างฉากขึ้นมาในสตูดิโอใหม่หมด (ทุนสร้างไม่น่าเยอะขนาดนั้น)

งบประมาณส่วนใหญ่น่าจะหมดไปกับค่าจ้างตัวประกอบ โดยเฉพาะกองทัพคอมมิวนิสต์ vs. พรรคก๊กมินตั๋น ซึ่งต้องชมวิสัยทัศน์ผู้กำกับจางอี้โหมว แม้ไม่มีฉากรบพุ่ง เผชิญหน้าต่อสู้ เข่นฆ่าฟัน กลับยังทำให้หลายคนตื่นตาตะลึง อ้าปากค้างได้เลยละ … ฉากนี้ฉากเดียว ทำให้ผมรู้สึกว่าหนังมีความยิ่งใหญ่กว่า Farewell My Concubine (1993) เสียอีกนะ!


โดยปกติแล้วหนังของจางอี้โหมว ตั้งแต่ช็อตแรกต้องแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง แต่สำหรับ To Live (1994) เหมือนจะไม่มีอะไรให้วิเคราะห์ถึง ถ่ายบริเวณด้านหน้าบ่อนการพนัน ขึ้นข้อความ The 1940s และตัวประกอบกำลังก้าวเดิน … แต่ทุกครั้งเมื่อกาลเวลาผันแปรเปลี่ยน จักเริ่มต้นที่มุมกล้องนี้ทั้งสี่ทศวรรษ

ผมมองว่าการที่ผู้กำกับจางอี้โหมว ไม่ได้แทรกใส่นัยยะความหมาย ภาพแรกเป็นเพียง Establishing Shot (ภาพมุมกว้างสำหรับนำเข้าเรื่องราวหลัก) ก็เพื่อไม่ต้องการสร้างความเหนือล้ำ สูงส่ง (ทางภาษาภาพยนตร์) ต้องการให้ผู้ชมสัมผัสถึงความธรรมดาสามัญ ดูเรียบง่าย สามารถเข้าถึงคนทั่วๆไป

ละครหุ่นเงาจีน (Shadow Puppetry) คือการแสดงที่เป็นตัวแทนศิลปะวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชาติจีน ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่น (206 ก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) ในอดีตมีการใช้หนังสัตว์มาทำเป็นหุ่นชัก (ปัจจุบันเปลี่ยนมากระดาษแข็ง ตัดแต่งเป็นรูปตัวละคร) นักเชิดนั่งอยู่หลังฉาก เมื่อแสงสว่างสาดส่องจจะทำให้เกิดเงาเบื้องหน้า และดนตรีบรรเลงประกอบเรื่องราว

เกร็ด: ละคนหุ่นเงาของจีน ได้รับเลือกให้มรดกทางวัฒนธรรม (UNESCO Intangible Cultural Heritage Lists) เมื่อปี 2011

หนังนำเสนอละครหุ่นเงาในลักษณะสะท้อนเรื่องราว/เหตุการณ์บังเกิดขึ้นช่วงขณะนั้นๆ อย่างฉากแรกนี้แม้ฝูกุ้ยเล่นพนันจนติดหนี้ แต่เขาก็ยังคงมีความเบิกบานด้วยรอยยิ้ม เข้าไปหลังเวทีขับร้องฉากสองตัวละครเกี้ยวพาราสี ส่งเสียงจูบจ๊วบ สะท้อนถึงช่วงเวลาแห่งความสุขกระสันต์ (ที่ได้เล่นพนัน) … แต่ชีวิตจริงกลับตารปัตรตรงกันข้ามเลยนะ!

จินซานพยายามเรียกร้องขอให้ฝูกุ้ยละเลิกเล่นการพนัน ถึงขนาดติดตามมาถึงยังบ่อน แต่เขากลับพยายามผลักไส ขับไล่เธอออกไป สะท้อนเรื่องราวละครเงา (น่าเสียดายที่ผมจะหาข้อมูลไม่ได้ว่าทำการแสดงเรื่องอะไร) สังเกตจากอากัปกิริยาหุ่นชัก ตัวละครหนึ่งใช้เท้าทีบส่งอีกตัวละครที่อยู่ด้านหลัง ขณะเดียวกันก็พยายามปรนเปรออีกตัวละครที่นั่งอยู่บนบัลลังก์

และวินาทีฝูกุ้ยกู้หนี้ยืมสินจนหมดเครดิต การแสดงละครเงาดูเหมือนพิธีปราดา/ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ หรือคือ Long’er (คู่เล่นพนันของฝูกุ้ย) กำลังจะได้ยึดครองคฤหาสถ์สุดหรูตระกูลสวี ราวกับแต่งตั้งตนเป็นกษัตริย์ จักรพรรดิ์

ไม่ใช่แค่เล่นพนันจนสูญเสียคฤหาสถ์พักอาศัย แต่ภรรยาจินซานก็เกิดความเอือมระอา มิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป ช็อตนี้สร้างบรรยากาศแห่งการร่ำลาได้อย่างเจ็บปวดรวดร้าว หมดสิ้นหวังอาลัย โดยเฉพาะสป็อตไลท์สาดส่องจากทิศทางของรถม้า สามารถสื่อถึงแสงสว่างแห่งความหวังของฝูกุ้ยกำลังเคลื่อนจากเขาไป

หลังจากภาพช็อตนี้ ใบหน้าของฝูกุ้ยจะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด เดินไปหนทางไหนล้วนไร้แสงสว่าง แสดงถึงอาการหมดสิ้นหวัง ไร้เรี่ยวแรงพละกำลัง สายตาเหม่อล่องลอย จิตวิญญาณไม่อยู่กับเนื้อกับตัวอีกสักพักใหญ่ๆ

หลังพานผ่านช่วงเวลาอันหนาวเหน็บ ฝูกุ้ยก็ได้รับบทเรียนครั้งสำคัญ ค่อยๆสะสมเงินทองจากการขายของเก่า จนสามารถหาบ้านเช่าอาศัยหลับนอน พอภรรยาจินซานหวนกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง ต้องการเริ่มต้นใหม่โดยไปขอหยิบยืมเงินจาก Long’er กลับได้รับหีบสมบัติหุ่นชัก ให้คำแนะนำการแสดงละครหุ่นเชิดเงา เจ้าสิ่งนี้อย่างน้อยไม่ทำให้ใครอดอยากปากแห้งอย่างแน่นอน

ในฉากที่ Long’er นำพาฝูกุ้ยเข้าไปในห้องเก็บของเพื่อหยิบหีบสมบัติหุ่นชัก สังเกตว่าการจัดแสงฉากนี้ใช้สีเหลืองทองอร่าม (สัญลักษณ์ของความงดงาม สิ่งเลิศหรู ทรงคุณค่า) เมื่อเปิดออกหยิบตัวละครที่กำลังควบขี่ม้า (แทนด้วยการออกเดินทาง หรือคือฝูกุ้ยเริ่มต้นกำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่) และคำร้องของบทเพลงฉากต่อจากนี้ จับจิตจับใจจริงๆ

My heart is full of sorrow
It’s that hateful bandit, Jiang Feixiong
I’m lucky to be alive

ดูเหมือนว่ากองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (พรรคก๊กมินตั๋น) จะไม่ประทับใจละครหุ่นเงานี้สักเท่าไหร่ ระหว่างกำลังทำการแสดง นายทหารคนหนึ่งใช้มีดปลายดาบทิ่มแทงเข้ามาระหว่างตัวละครทั้งสอง แล้วกรีดผืนผ้าใบให้ขาดออกจากกัน สัญลักษณ์ของการแบ่งแยกประเทศจีนออกเป็นส่วนๆ ด้วยเหตุนี้ฝูกุ้ยและคณะละครหุ่นเงา จึงถูกบีบบังคับเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติระหว่างกำลังล่าถอยออกจากจีนแผ่นดินใหญ่

ทีแรกผมก็งงๆ เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย (แบบเดียวกับตัวละครเป๊ะๆ) เพราะว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ ดูกลมกลืนไปกับพื้นหิมะ แต่พอกล้องแช่ภาพค้างๆไว้สักระยะ เริ่มเอะใจว่านั่นคือตัวประกอบ/ทหารจริงๆ ไม่ใช่ CGI กำลังวิ่งตรงเข้ามา ก็เกิดความอ้ำอึ้งทึ่ง ตกตะลึง อ้าปากค้างขึ้นมาทันที!

แค่เพียงช็อตนี้ช็อตเดียวก็ดูอลังการกว่า Farewell My Concubine (1993) เสียอีกนะ! เพราะเรื่องนั้นแม้มีงานสร้างยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่มีฉากที่พบเห็นแล้วรู้สึกเอ่อล้น ท่วมท้น เหมือนฝูงชนวิ่งลงจากเนินเขาช็อตนี้

ไม่มีทางที่ฝูกุ้ย(และเพื่อนสนิท Chunsheng) จะสามารถวิ่งหลบหนีกองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ นี่เป็นอีกช็อตที่มีความทรงพลังในเชิงสัญลักษณ์มากๆ สามารถตีความถึงสามัญชนคนธรรมดาหนึ่ง ย่อมมิอาจต่อต้านทานกระแสมวลชน ระบอบสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ มีเพียงยกมือขึ้นสูงเหนือศีรษะ ใครสั่งอะไรก็ทำ ไม่โต้ตอบขัดขืน ถึงมีโอกาสรอดชีวิตกลับบ้าน พบเจอหน้าภรรยาและลูกๆอีกครั้ง

ฝูกุ้ย (และเพื่อนสนิท Chunsheng) แม้สวมเครื่องแบบกองทัพปฏิวัติ แต่เมื่อทหารกองทัพปลดปล่อยประชาชนพบเห็นหุ่นชัก ยกขึ้นมาสาดส่องแสงอาทิตย์ ราวกับชีวิตทั้งสองได้พบเจอแสงสว่าง (ของพรรคคอมมิวนิสต์) สั่งให้ทำการแสดงเรียกขวัญกำลังใจ สร้างความบันเทิง พักผ่อนคลายให้ทหารหาญ จนได้รับใบยืนยันการเข้าร่วมสงคราม นำมาใส่กรอบห้อยผนังกำแพงบ้าน คือหลักฐานความจงรักภักดี ได้ทำคุณาประโยชน์ต่อประเทศชาติ

Guang Chengzi…
Guang Chengzi makes the world-shattering seal
The precious seal starts to wound people
I replace the guardians in a hurry
And quickly escape to Huanghua Mountain

เกร็ด: กวงเฉิงจื่อ (广成子 แปลว่า Person Who Know All) คือชื่อตัวละครในวรรณกรรมอมตะห้องสิน หรือสถาปนาเทวดา (封神演義 อ่านว่า Fēngshén Yǎnyì แปลว่า The Investiture of the Gods) ที่ฝึกฝนวิชาเต๋าจนสำเร็จ กลายเป็นอมตะ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบเพียงพลิกฝ่ามือ

ผู้กำกับจางอี้โหมว นิยมชมชอบแนวคิด ‘หยิง-หยาง’ มักหาหนทางให้เรื่องราวเวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น หรือเติมเต็มกันได้อย่างพอดิบดี อย่างภาพช็อตนี้ฝูกุ้ยหวนกลับมาพบภรรยา (หลังเสร็จสิ้นสงครามกลางเมือง) ล้อกับตอนต้นเรื่องที่จินซานตัดสินใจทอดทิ้งสามี (เล่นพนันจนติดหนี้ หมดตัว) สังเกตว่ามุมกล้องก็สลับฝั่งกันด้วยนะ!

อาชีพส่งน้ำ แม้มีความต่ำต้อยด้อยค่า แต่น้ำคือปัจจัยที่มนุษย์ไม่สามารถขาดการบริโภค (อาหารอดได้หลายวัน แต่ไม่ดื่มน้ำวันเดียวอาจถึงตายได้) น่าจะสื่อถึงการความกระชุ่มกระชวย มีชีวิตชีวา (เป็นอาชีพที่นัยยะสอดคล้องกับชื่อหนัง To Live)

ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ฉากการพิจารณาคดีมักต้องถ่ายติดหน้าเวที ให้เห็นว่าใครกระทำผิดอะไร โดยเฉพาะรูปภาพประธานเหมาเจ๋อตุงต้องขนาดใหญ่คับจอ แต่เฉพาะกับ To Live (1994) เลือกนำเสนอเฉพาะมุมมองฝูกุ้ย ซึ่งไม่สามารถแทรกตัวไปถึงด้านหน้า แค่มองเห็นจากตำแหน่งไกลลิบๆ แต่แค่นั้นก็เพียงพอให้เกิดความขลาดหวาดกลัว และเสียงปืนยังทำให้เขาเยี่ยวรดกางเกง … เรียกว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่จดจำใส่กะลาหัว ไม่มีวันลืมเลือน

แซว: หนังพยายามผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดของฉากนี้ ด้วยการให้เกอโหย่วเมื่อได้ยินเสียงปืนลั่น กอดต้นไม้แน่น (แม้เห็นแค่ด้านหลัง ก็สร้างความขบขันอยู่ไม่น้อย) มารับรู้อีกทีก็เยี่ยวราดรดกางเกง หมดสิ้นสภาพลูกผู้ชาย กลายเป็นคนขี้ขลาดเขลา ก้มหัวให้คอมมิวนิสต์โดยพลัน

แซว2: สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Long’er บางคนมองว่าเป็นกรรมสนองกรรม (เพราะใช้กลโกงต่อฝูกุ้ย เลยได้รับผลตอบแทนอย่างสาสม) ขณะเดียวกันคือความ ‘ตลกร้าย’ เพื่อสะท้อนการเป็นสามัญชน คนจนๆ มีโอกาสรอดชีวิตในระบอบคอมมิวนิสต์มากกว่าบรรดานายทุน ขุนนาง เจ้าของคฤหาสถ์หลังใหญ่โต

พี่สาวเฟิงเซียเพราะไม่สามารถส่งเสียงพูดสนทนา เลยมักถูกเด็กๆแถวบ้านกลั่นแกล้งเป็นประจำ น้องชายยูจินพบเห็นจึงพยายามให้ความช่วยเหลือ ในตอนแรกใช้กำลังเผชิญหน้าแต่ก็มิอาจเอาชนะหมาหมู่ ครานี้เลยครุ่นคิดแผนเอาก๋วยเตี๋ยวใส่พริกเผ็ดๆ เทใส่สีศีรษะไอ้เด็กเวรตะไล เลยถูกผู้ใหญ่ตำหนิต่อว่า ลามปามมาถึงบิดาฝูกุ้ย จำต้องใช้กำลังเสี้ยมสอนสั่งบุตรชาย … หลายคนน่าจะพอดูออกว่าเขาก็ไม่ได้อยากทำ แต่จำต้องแสดงให้ใครต่อใครรับรู้เห็น เพราะความขลาดหวาดกลัวต่อสภาพสังคมเผด็จการ อาจเกิดเรื่องย้อนกลับหาตนเองและครอบครัว

มีการตีความกันอย่างกว้างขวางว่า ฉากที่ฝูกุ้ยลงโทษทุบตียูจินต่อหน้าสาธารณะ สามารถเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 (รัฐบาล = บิดา, ประชาชน = บุตรชาย) เพราะมีการใช้ความรุนแรงมากเกินกว่าเหตุ … แต่ผมไม่เห็นความสัมพันธ์เลยนะ ถ้าฉากนี้มีนัยยะแฝงเช่นนั้น ก็เหมือนผู้กำกับจางอี้โหมวพยายามแก้ต่างให้รัฐบาล ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้เลยสักนิด!

ก๋วยเตี๋ยวคืออาหารรับประทานอิ่มท้อง เพื่อให้มนุษย์สามารถ ‘มีชีวิต’ แต่สำหรับเด็กชายยูจิน ท้องอิ่มอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เขาใช้มันเพื่อแก้แค้นแทนพี่สาว เพื่อว่าครอบครัวจักได้ ‘มีชีวิต’ อยู่อย่างไม่เดือดเนื้อร้อนใจ

จินซานจุดประเด็นความคิด ฝูกุ้ยต่อยอดคำแนะนำภรรยา ทำให้หัวหน้าหมู่บ้านยินยอมให้เขาเปิดการแสดงละครหุ่นเงา เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ บรรยากาศผ่อนคลายคนงานระหว่างเทศกาลการถลุงเหล็กยามค่ำคืน น่าเสียดายที่ผมหาชื่อชุดการแสดงนี้ไม่ได้ แต่การต่อสู้ระหว่างสองฝั่งฝ่าย มีความตื่นเต้น รุกเร้าใจ จนกระทั่งแม่ทัพฝั่งหนึ่งสามารถเด็ดหัวศัตรู กองทับถมตายเป็นเบือ และขณะกำลังเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์ ถูกบุตรชายกลั่นแกล้งด้วยการนำเอาน้ำส้มสายชูผสมพริก นึกว่าน้ำชา ดื่มแล้วพ่นออกมาราวกับเลือดอาบนองเต็มฉากการแสดง!

นี่คือการแสดงละครเงาครั้งสุดท้ายในหนัง ซึ่งเรื่องราวที่นักรบกำลังต่อสู้/ตัดหัวศัตรูทีละคน มันราวกับเป็นการบอกใบ้ พยากรณ์โศกนาฎกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของฝูกุ้ย

การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (Great Leap Forward) หรือแผนห้าปีฉบับที่สอง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการรณรงค์ทางเศรษฐกิจและสังคมช่วงระหว่างปี 1958 ถึง 1962 โดยมีคำสั่งให้ทุกหมู่บ้านนำเครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งข้าวของเล็กๆน้อยๆมาถลุงเป็นเหล็กเพื่อนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้าง และอาวุธยุทโธปกรณ์ ในช่วงเวลานั้นตั้งแต่ 20.00 – 22.00 น. จะมีแสงไฟสว่างไสวทุกหมู่บ้านทั่วแผ่นดินจีน เกษตรกรจำนวนมากแทนที่จะใช้เวลาทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ต้องเสียเวลามาถลุงเหล็กตามคำสั่งของรัฐ ผลกระทบคือความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เหล็กที่ถลุงนั้นขาดคุณภาพกลายเป็นเศษเหล็กไร้ค่าจำนวนล้านๆตัน ขณะเดียวกันเกิดปัญหาการขาดแคลนผลผลิตทางเกษตรจนนำไปสู่การอดอยาก ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 18-45 ล้านคน ผู้เสียชีวิตหลักล้านๆคน … ถือเป็นทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ!

ความเหน็ดเหนื่อยจากการถลุงเหล็กทั้งวันทั้งคืน ทำให้เด็กๆมีเวลาพักผ่อน นอนไม่เพียงพอ แต่ยังถูกเบื้องบนบีบบังคับให้ต้องมาต้อนรับปลัดอำเภอ ฝูกุ้ยไม่สามารถขัดขืนคำสั่งดังกล่าว (เพราะยังเต็มไปด้วยความขลาดหวาดกลัวต่อคอมมิวนิสต์) เลยอุ้มพาบุตรชายเดินทางไปโรงเรียน … นี่มัน Death Flag ชัดๆเลยนะ

ทีแรกผมไม่ได้เอะใจนัยยะของช็อตนี้ แต่พอเห็นวัวเทียมเกวียนด้านหลัง เลยระลึกถึงคำพูดของฝูกุ้ย ‘ลูกไก่กลายเป็นเป็ด กลายเป็นห่าน กลายเป็นวัว’ ครั้งแรกลงท้ายว่า ‘ชีวิตจะดีขึ้นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์’ แต่ก้าวเดินครั้งนี้ของเด็กชาย กลับกลายเป็นมุ่งสู่หายนะ

การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า เป็นนโยบายที่ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของพรรคคอมมิวนิสต์ ผลลัพท์จากการใช้แรงงานหนัก หามรุ่งหามค่ำ ก่อให้เกิดความประมาท อุบัติเหตุ โศกนาฎกรรมคาดไม่ถึง ยูจินถูกรถของปลัดอำเภอชนทะลุกำแพงเสียชีวิต! (นั่นทำให้พี่สาวเฟิงเซีย เอาก้อนหินเขวี้ยงขว้างกระจกหน้ารถปลัดอำเภอ)

เกี๋ยวที่อุตส่าห์เตรียมไว้ยูจิน แต่เขากลับไม่มีโอกาสได้รับประทาน สามารถเปรียบเทียบได้กับการถลุงเหล็กนับล้านๆตัน แต่กลับไม่สามารถเอาไปทำห่าเหวอะไรได้ทั้งนั้น! เรียกว่าเป็นความเสียเปล่า เสียเวลา สูญเสียทุกสิ่งอย่าง … ส่วนเกี๋ยวชามใหม่ คือของเซ่นไหว้ แม้คงไม่มีใครรับประทานเช่นเดียวกัน แต่ความเชื่อของชาวจีน ยูจินในยมโลกต้องได้กินอย่างแน่นอน! (ถือว่าไม่สูญเสียเปล่าทางความรู้สึกนะครับ)

แซว: Dumplings คือเกี๋ยว/เกี๋ยวทอด แต่คำแปลของ Google Translate คือแป้งต้ม … เอิ่ม

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ (Great Proletarian Cultural Revolution) หรือเรียกสั้นๆว่า การปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) เป็นขบวนการทางสังคม-การเมือง เกิดขึ้นช่วงระหว่าง ค.ศ. 1966 ถึง 1976 ดำเนินการโดยประธานเหมาเจ๋อตง จุดประสงค์เพื่อปกป้องอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยการก่อตั้งกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ยุวชนแดง (Red Guard) ทำการรณรงค์ต่อต้านขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ทำลายสิ่งข้าวของเก่าแก่ โบราณสถาน ศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงจับกุมครูบาอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการไปปรับทัศนคติ ใช้แรงงานเกษตรกรรม ทำให้สังคมจีนตกอยู่ในสภาวะกลียุค นำสู่อนาธิปไตยทั่วทุกแห่งหน

แท้จริงแล้วการปฏิวัติทางวัฒนธรรม มีผู้อยู่เบื้องหลังคือนางเจียงชิง (ภริยาเหมาเจ๋อตุง) พร้อมกับพวกอีกสามรวมเรียกว่าแก๊งทั้งสี่ (Gang of Four) สร้างนโยบายโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งประธานเหมา จุดประสงค์เพื่อต้องการกำจัดศัตรูทางการเมืองให้สิ้นซาก แต่ทั้งหมดก็ถูกกวาดล้างภายหลังการเสียชีวิตของเหมาเจ๋อตุง

สำหรับฝูกุ้ย สิ่งที่ถูกบีบบังคับก็คือเผาทำลายหุ่นชัก ก็ได้แต่ทำหน้าตาปริบๆ จิตใจคงเต็มไปด้วยความรู้สึกสูญเสียดาย (เพราะเจ้าสิ่งนี้ทำให้เขาพานผ่านช่วงเวลาอันเหี้ยมโหดร้ายในชีวิต)

ค่านิยมใหม่ของชาวจีนยุคสมัยนั้น เวลาจะมอบของขวัญให้ใคร ส่วนใหญ่คือสมุดรวมปกแดง รวบรวมคำสอน ไม่ก็เข็มกลัด รูปปั้น ภาพวาดท่านประธานเหมาเจ๋อตุง! ซึ่งการที่ผู้กำกับจางอี้โหมวแทรกใส่ภาพเหล่านี้เข้ามา ในมุมมองคนจีนคงไม่รู้สึกผิดแผกอะไร (ชวนให้ระลึกถึงอดีตด้วยซ้ำนะ) แต่สายตาชาวต่างชาติ/ผู้ชมสมัยใหม่ ย่อมรู้สึกสิ่งเหล่านี้มันช่างไร้ประโยชน์ ไร้สาระ กองขยะชัดๆ

เกร็ด: คติพจน์จากประธานเหมาเจ๋อตุง เป็นหนังสือรวบรวมคำแถลงการณ์จากสุนทรพจน์ และงานเขียนอื่นๆของเหมาเจ๋อตุง เริ่มตีพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 ถึงประมาณปี ค.ศ. 1976 ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม โดยฉบับที่ได้รับความนิยมมากสุดคือการตีพิมพ์เล่มขนาดเล็ก พกพาสะดวก และปกสีแดงสด จึงมักเป็นที่รู้จักในระดับสากลว่า หนังสือเล็กแดง (Little Red Book)

Heaven and Earth cannot compare to the Party’s benevolence
Chairman Mao is dearer than father and mother
There’s nothing as good as socialism
No river or ocean as deep as the friendship of class
Maoist Thought is revolution’s treasure trove
Whoever opposes it, we take as our enemy

จากบทเพลงสรรเสริญประธานเหมาเจ๋อตุง กลายมาเป็นภาพถ่ายที่ใช้เรือเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ ออกเดินทางฟันฝ่ามรสุมคลื่นลอมแรง มุ่งสู่โลกใบใหม่ ประเทศชาติยิ่งใหญ่เกรียงไกร และมีสมุดเล็กแดงถืออยู่ตรงตำแหน่งกลางหัวใจ

ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ยุวชนแดงทุบทำลายสิ่งข้าวของ วัตถุโบราณ ศิลปะประจำชาติเท่านั้นนะครับ จุดประสงค์แท้จริงของแก๊งทั้งสี่คือกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งหนังนำเสนอแบบแค่พอสังเกตได้ผ่านตัวละคร Chunsheng และหัวหน้าหมู่บ้าน

สำหรับ Chunsheng แวะเวียนมาหาฝูกุ้ยยามวิกาล ต้องการส่งมอบเงินทองที่สะสมเพื่อชดใช้หนี้กรรม (จากเคยขับรถชนบุตรชายของพวกเขา) เพราะถูกรัฐบาลเพ่งเล็ง ภรรยาคิดสั้น ตนเองไร้หนทางออกใดๆ จึงเตรียมใจจะร่ำลาจากโลกนี้ แม้ได้รับคำปลอบประโลม(จากฝูกุ้ย)ก็เหมือนไม่สัมฤทธิ์ผล จนกระทั่งจินซานเปิดประตูออกมา

ความตายของยูจิน เป็นสิ่งที่จินซานยินยอมรับไม่ได้ (เพราะเป็นบุตรชายคนเดียวของตระกูล) เลยเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น ปฏิเสธรับคำขอโทษ แม้ตอนงานแต่งงานของเฟิงเซียก็ไม่ยินยอมพบเจอหน้า แต่ครานี้เธอกลับเปิดประตูออกมา หันหลังให้แสงไฟ (ย้อนแสง) ใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด สื่อถึงการที่ก็ยังไม่สามารถยกโทษให้อภัย แต่การแสดงออกของ Chusheng ราวกับกำลังจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย นั่นเป็นสิ่งยินยอมรับไม่ได้ยิ่งกว่า!

คำพูดของจินซาน กลับกลายเป็นว่าน่าจะสามารถไถ่ชีวิตของ Chusheng ให้ล้มเลิกความตั้งใจฆ่าตัวตาย ยินยอมมีชีวิตอยู่เพื่อชดใช้ความผิดเคยกระทำ ระหว่างเดินร่ำลาจากไป (แบบเดียวกับตอนต้นเรื่องที่จินซานทอดทิ้งสามี) แวบหนึ่งหันหลังกลับมา คงต้องถือว่าเขาได้ค้นพบหนทางออก/แสงสว่างแห่งใหม่ในชีวิต

สำหรับหัวหน้าหมู่บ้าน ก็ไม่รู้เคยทำอะไรขัดขากับใคร แต่ระหว่างที่ฝูกุ้ยและจินซานเดินทางไปเยี่ยมเยียน ส่งมอบของขวัญไข่ต้ม (คงเป็นสิ่งสัญลักษณ์แทนการขอบคุณพ่อสื่อ ที่สามารถจับคู่สำเร็จ และกำลังจะมีทายาทสืบสกุล) แอบพบเห็นภรรยา (ของหัวหน้าหมู่บ้าน) กำลังเก็บข้าวของ ร่ำร้องไห้ออกมา และขณะออกเดินมาส่ง ระหว่างพูดคุยบอกไม่ต้องวิตกกังวล แต่พวกเขาทั้งหมดยืนอยู่ภายในอาคาร ปกคลุมด้วยความมืดมิด ชีวิต(ของหัวหน้าหมู่บ้าน)จะมีหนทางออกที่ดีได้อย่างไร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล คือผลกระทบจากช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม บรรดาคนรุ่นใหม่ ยุวชนแดง ต่างครุ่นคิดว่าตนเองเก่ง ตนเองแน่ สามารถกระทำอะไรๆได้ด้วยตนเอง เลยควบคุมจับกุมตัวอาจารย์ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิทุกศาสตร์แขนง นำมาปรับทัศนคติ ประณามต่อหน้าสาธารณะ ก่อนส่งไปใช้แรงงานเกษตรกรรมอย่างหนัก

แต่แม้จินซานจะเผื่อแผน ฝูกุ้ยเรียกร้องต่อลูกเขย จนสามารถอัญเชิญอาจารย์หมอผู้มีความรู้ความสามารถ แต่เขากลับมีสภาพร่อแร่ไร้เรี่ยวแรง แถมยังรับประมาณหมั่นโถวจนขึ้นอืด ดื่มน้ำจนอวบพอง (อ้างว่าเพราะหิวโหย ไม่ได้รับประทานอาหารมานาน แต่ก็สะท้อนความละโมบโลภมาก เห็นแก่ตัว หลงตนเอง) พึ่งพาอะไรไม่ได้สักอย่าง โชคชะตาเลยนำพาให้พวกเขาประสบโศกนาฎกรรมขึ้นอีกครั้ง

แซว: หมั่นโถว ควรเป็นอาหารสำหรับประทังชีพ ‘มีชีวิต’ แต่ในบริบทนี้กลับคือสิ่งที่เข่นฆ่าเฟิงเซียโดยอ้อม

ฝูกุ้ยเคยพูดประโยคนี้กับบุตรชายยูจิน

The little chickens will grow to be ducks, the ducks will become geese, and the geese will become oxen, and tomorrow will be better because of communism.

แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ลงเหลือเพียงหลานชายหมั่นโถว ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยด้วยการตัดประโยคช่วงท้ายออกไป

The little chickens will grow to be ducks, the ducks will become geese, and the geese will become oxen, and tomorrow will be better.

การสูญหายไปของคำว่า ‘เพราะพรรคคอมมิวนิสต์’ โคตรจะโจ่งแจ้งถึงทัศนคติผู้กำกับจางอี้โหมว นี่มันระเบิดพลีชีพ เหมือนต้องการฆ่าตัวตายชัดๆ แต่ภรรยาจินซานก็ช่วยแก้ต่างให้ว่า หลานหมั่นโถวต่อไปคงไม่ต้องขี่ห่าน ขี่วัว แต่นั่งรถไฟ เครื่องบิน เพราะวิถีของโลกได้ปรับเปลี่ยนแปลงจากเดิม และประเทศจีนก็ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งหายนะเรียบร้อยแล้ว (มั้งนะ)

ผู้กำกับจางอี้โหมว ไม่ต้องการให้โศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนบิดเบือนความต้องการ ‘มีชีวิต’ ของตัวละคร (ในนวนิยาย เมื่อทุกคนรอบข้างตายกันหมด แล้วฝูกุ้ยตัวคนเดียวจะอยู่ต่อไปทำไม?) นี้หนังจึงตัดจบลงแค่นี้ เพื่อมอบความหวังเล็กๆให้กับผู้ชม บังเกิดกำลังใจในการใช้ชีวิต ตราบมีลมหายใจ ก็ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อไป

เกร็ด: หนังไม่ได้ให้คำอธิบายว่าจินซานล้มหมอนนอนเสื่อ ป่วยเป็นโรคอะไร ในนวนิยายเขียนไว้ชัดว่าคือโรคกระดูกนิ่ม (Soft Bone) เกิดจากร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น โหมทำงานหนักไป เริ่มเป็นมาตั้งช่วงการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า

ปล. ฉากรับประทานอาหารตอนจบนี้ เหมือนได้แรงบันดาลใจจากผลงานผู้กำกับโหวเสี้ยวเสียน น่าจะเรื่อง A City of Sadness (1989) มั้งนะ!

ตัดต่อโดย ดูหยวน, Du Yuan ในสังกัด Xi’an Film Studio ขาประจำผู้กำกับจางอี้โหม่วในยุคแรกๆ ตั้งแต่ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Shanghai Triad (1995) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของสวีฝูกุ้ย (แตกต่างจากต้นฉบับนวนิยาย ที่จะไม่มีเสียงบรรยายประกอบเรื่องราว) มีชีวิตพานผ่านช่วงเวลาสี่ทศวรรษ 40s-50s-60s-70s อ้างอิงกับประวัติศาสตร์ชาติจีน เริ่มจากสงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49), นโยบายการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (1958-62), การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) และช่วงเวลาหลังจากนั้น

  • ทศวรรษ 40s, สงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง
    • ฝูกุ้ยเล่นการพนันจนหมดตัว สูญเสียบ้าน ครอบครัว ชีวิตแทบไม่หลงเหลืออะไร
    • เมื่อเริ่มเกิดความสำนึก สะสมเงินทองจนสามารถเช่าบ้านพัก ภรรยาหวนกลับมาอยู่อาศัย ตัดสินใจรวมกลุ่มทำการแสดงละครเงา ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
    • จับพลัดจับพลูถูกจับให้เป็นทหารของก๊กมินตั๋น แล้วเปลี่ยนข้างมาเป็นคอมมิวนิสต์ พบเห็นการสูญเสียชีวิตผู้คนมากมาย
    • เมื่อกลับมาบ้านพบเห็นการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ ค่อยๆปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่
  • ทศวรรษ 50s, การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า
    • ทางการสั่งให้ประชาชนบริจาคเหล็กสำหรับหลอมทำกระสุน อาวุธปืน
    • ฝูกุ้ยอาสาทำการแสดงละครเงา เพื่อสร้างความบันเทิงผ่อนคลายระหว่างการถลุงเหล็ก
    • เกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงกับบุตรชายคนเล็กยูจิน
  • ทศวรรษ 60s, การปฏิวัติทางวัฒนธรรม
    • การมาถึงของช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม ทำให้ฝูกุ้ยต้องเผาทำลายหุ่นเชิดละครเงา และสิ่งของเก่าให้หมดสูญสิ้น
    • ฝูกุ้ยหาคู่ให้บุตรสาวเฟิงเซีย แต่งงาน ออกจากบ้าน ไม่นานก็ตั้งครรภ์
    • เมื่อกำหนดคลอดมาถึง ที่โรงพยาบาลกลับมีเพียงคนหนุ่มสาว ไร้ซึ่งแพทย์ประสบการณ์ เลยเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงกับเฟิงเซีย
  • ทศวรรษ 70s, และช่วงเวลาหลังจากนั้น
    • หลานชายคนเล็กหมั่นโถว เริ่มรับรู้ประสีประสา เดินทางมาเยี่ยมปู่-ย่า พาไปหลุมฝังศพมารดา และรับประทานอาหารร่วมกัน

บ่อยครั้งที่หนังจะใช้การ Fade-To-Black ไม่ใช่แค่ระหว่างเปลี่ยนองก์/ทศวรรษเท่านั้นนะครับ ทุกครั้งที่ตัวละครได้สูญเสียอะไรบางสิ่งอย่าง เทคนิคนี้จักสร้างสัมผัสถึงการสูญเสียทางจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน (ภาพเฟดสีดำ มอบความรู้สึกเหมือนใจหายวาป)


เพลงประกอบโดย เจ้าจี้ผิง, Zhao Jiping (เกิดปี 1945) นักแต่งเพลงจากมณฑลฉ่านซี ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทั้งดนตรีคลาสสิกและพื้นบ้านจีน สำเร็จการศึกษาจาก Xi’an Music Conservatory เมื่อปี 1970 แล้วทำงานในสถาบันโอเปร่าท้องถิ่นจนถึงปี 1978 ก่อนตัดใจออกมาร่ำเรียนต่อด้านการประพันธ์เพลงที่ Central Conservatory of Music ณ กรุงปักกิ่ง เริ่มทำงานวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ Yellow Earth (1984) และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่นห้า ผลงานเด่นๆ อาทิ Red Sorghum (1988), Raise the Red Lantern (1991), Farewell, My Concubine (1993, To Live (1994), A Chinese Odyssey (1995) ฯ

ผมครุ่นคิดว่า To Live (1994) น่าจะคือผลงานชิ้นเอกของเจ้าจี้ผิง! ทำการผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านจีน เข้ากับเครื่องดนตรีสากลได้อย่างกลืมกลืนลื่นไหล ไพเราะเพราะพริ้ง สั่นสะท้านถึงจิตวิญญาณ ที่แม้ร่างกายต้องเหน็ดเหนื่อย ทนทุกข์ยากลำบาก พานผ่านโศกนาฎกรรมนับครั้งไม่ถ้วน แต่ตราบมีลมหายใจหลงเหลือ ชีวิตยังต้องต่อสู้ดิ้นต่อไป

Main Theme มีความโดดเด่นจากการใช้ขลุ่ยจีน & ซอเอ้อหู (Erhu) สลับกับเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesizer) ซึ่งสามารถมองเป็นผสมผสานดนตรีพื้นบ้าน-ยุคสมัยใหม่ (Folk Song & Modern Instrumental) จากสองฟากฝั่งทวีปตะวันออก-ตะวันตก (Eastern & Western) ดังขึ้นหลังจากตัวละครประสบเหตุการณ์บางอย่าง ต้องพบเจอกับความสูญเสีย/โศกนาฎกรรม เริ่มต้นด้วยขลุ่ยจีนที่มีท่วงทำนองเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ จากนั้นจักค่อยๆปล่อยละวางด้วยการสลับเปลี่ยนเครื่องดนตรีหลัก จากเสียงแหลมเฟี้ยวของขลุ่ยจีน -> เครื่องสังเคราะห์ -> ซอเอ้อหู (มอบสัมผัสผ่อนคลาย) -> เครื่องสังเคราะห์เสียง ฯลฯ จนสุดท้ายก่อบังเกิดความสงบสุขขึ้นภายใน

สำหรับละครเงา The Puppet Performance ในอัลบัมจะรวบรวมอยู่ในบทเพลงเดียว ขับร้องโดยนักแสดงนำเกอโหย่ว (ซึ่งก็จะสีซอ และขับร้องในหนัง) ผมไม่สามารถหาข้อมูลชื่อชุดการแสดง แต่ถ้าใครช่างสังเกตคงพบเห็นความสัมพันธ์กับเรื่องราวช่วงขณะนั้นๆ แต่จะไม่ยิ่งใหญ่อลังการระดับ Farewell My Concubine (1993) ที่ทำการเปรียบเทียบเคียงคู่ขนานตลอดทั้งเรื่องราว (และประวัติศาสตร์ชาติจีน) ใน To Live (1994) เป็นเพียงองค์ประกอบเชิงสัญลักษณ์ และถูกเผาทำลายไปตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

To Live (1994) นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวที่มีชีวิตพานผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก เพราะไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง ไม่สามารถกำหนดโชคชะตาตนเอง เลยจำต้องคล้อยตามวิถีทางสังคม ทำได้เพียงอดรนทน กัดฟันต่อสู้ดิ้นรน ค้นหาความสงบสุขจากสิ่งหลงเหลืออยู่ข้างกาย

สิ่งที่ตัวละครประสบพบเจอ พานผ่านเข้ามาในชีวิต ล้วนเป็นหายนะบังเกิดจากภัยสังคม ปัญหาการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์ หรือคือมนุษย์ด้วยกันเอง (ไม่ได้เกิดขึ้นจากพิบัติทางธรรมชาติใดๆ) โดยเฉพาะปัญญาชนผู้(อ้างว่า)มีความรู้ เฉลียวฉลาด ยึดถือมั่นในอุดมการณ์ลัทธิ Marxist ต้องการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม แต่ไม่เคยสนหัวอกประชาชน หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาแต่ออกกฎหมาย บีบบังคับให้ทุกคนกระทำตามคำสั่ง ใครคิดเห็นต่างก็หาทางกำจัดให้พ้นทาง ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ผู้นำเลวย่อมทำให้ประชาชนตกนรกถ้วนหน้า!

ผู้ชมรุ่นใหม่ฝั่งประชาธิปไตยอาจเต็มไปด้วยอคติต่อหนัง ทำไมฝูกุ้ยถึงไม่ขัดขืนต่อต้าน? หาญกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง? ฉันคงไม่ยินยอมก้มหัว ศิโรราบ ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ลักษณะนั้น … คนไม่เคยพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว ย่อมไม่ตระหนักถึงความน่าสะพรึงกลัวของเผด็จการหรอกนะ (เลวร้ายกว่าประเทศสารขัณฑ์สมัยนี้ หลายร้อยพันเท่า!) เพียงกระทำอะไรผิดเล็กผิดน้อย ต่อต้านขัดขืนคำสั่ง ก็ถูกจับกุมคุมขัง ลงประชาทัณฑ์ (แบบตัวละคร Long’er ก่อนถูกประหาร จะโดนประจานต่อสาธารณะ) ชีวิตแทบดับดิ้น วงศ์ตระกูลสิ้นสูญ แถมไร้หนทางหลบหนี เก่งมาจากไหนแน่นิ่งทุกราย!

ถ้าสังเกตกันดีๆแทบทุกตัวละคร ภายนอกแม้ยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ภายในจิตใจพวกเขาซุกซ่อนเร้นอาการขลาดหวาดกลัว โกรธเกรี้ยวกราด ฝูกุ้ยนี่ชัดเจนมากๆจนเยี่ยวเร็ดราด ถึงอย่างนั้นความต้องการ ‘มีชีวิต’ (ครุ่นคิดถึงหัวอกภรรยาและลูกๆด้วยละ) จำยินยอมปรับตัว ใครแนะนำอะไรก็คล้อยตาม ขัดแย้งครุ่นคิดเห็นต่างก็ช่าง เอาตัวชีพรอดไว้ก่อนสำคัญที่สุด … ไม่ใช่ทุกคนจะยอมตายเพื่ออุดมการณ์/อิสรภาพนะครับ

ทั้งผู้แต่งต้นฉบับนวนิยายหยูฮัว และผู้กำกับจางอี้โหมว ต่างมีชีวิตพานผ่านช่วงเวลาปฏิวัติทางวัฒนธรรม ตระหนักได้ตั้งแต่แรกเริ่มว่ามันเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง สะสมความโกรธเกลียด เกรี้ยวกราด ผลงานก่อนหน้านี้ของทั้งคู่ ล้วนเป็นการระบายกองเพลิงที่สุมแน่นอก (สำหรับผู้กำกับจางอี้โหมว รุนแรงมากๆเรื่อง Ju Dou (1990)) กระทั่งพอมาถึง To Live ไม่ใช่ว่าเปลวไฟกำลังมอดดับ แต่พวกเขาได้บังเกิดความเข้าใจบางสิ่งอย่าง

การนำเสนอเรื่องราวที่สามารถเข้าถึงสาธารณชน ต้องสร้างตัวละครที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดผู้อ่าน/ผู้ชม บุคคลธรรมดาๆทั่วๆไป นำพาให้ประสบเหตุการณ์อันเหี้ยมโหดร้าย ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สภาพสังคม แล้วแทรกใส่เหตุการณ์ที่สะท้อนช่วงเวลาดังกล่าว จักสร้างความรู้สึกบางอย่างให้เกิดขึ้นภายใน

I believe that for a long time now Chinese films have been too abstract, conceptual, gimmicky. They don’t relate at all to the lives of ordinary Chinese people. I’m certain that most audiences will like this film. We haven’t gone overboard on the tragic elements, but rather have focused on the minute, amusing details in the life of a nobody. There are tears and laughter, one following the other in a gentle rhythm like the breath of a bellows.

จางอี้โหมว ต่อเหตุผลการสร้าง To Live (1994)

ผมเริ่มสังเกตเห็นความประณีประณอมของผู้กำกับจางอี้โหมวมาตั้งแต่ The Story of Qiu Ju (1992) เพราะฉันเป็นคนจีน รักผืนแผ่นดินแห่งนี้ แม้มีระบอบการปกครองที่เลวร้าย แต่จำเป็นต้องอาศัยใช้ชีวิต เขาจึงเรียนรู้ที่จะอดรนทนอยู่กับมัน, To Live (1994) ก็มอบความรู้สึกเช่นเดียวกัน ตัวละครพานผ่านโศกนาฎกรรมมากมาย แต่ยังเลือกจะมีชีวิต ต่อสู้ดิ้นรนต่อไป

แม้ว่าผู้กำกับจางอี้โหมวจะพยายามนำเสนอเหตุการณ์ที่สะท้อนประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา แต่กองเซนเซอร์กลับมองว่าโศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้น (โดยเฉพาะฉากโรงพยาบาล มีแต่คนหนุ่มสาวไม่สามารถแก้ปัญหาบางอย่าง) เป็นการสร้างอคติต่อสาธารณะชน ด้อยค่าพรรคคอมมิวนิสต์ และท่านประธานเหมาเจ๋อตุง

เหตุผลที่หนังโดนแบนถาวรในจีน มีการวิเคราะห์ถึง 3 เหตุผล

  • หนังวิพากย์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ด้วยการให้ตัวละครประสบโศกนาฎกรรมอันเป็นผลกระทบจากนโยบายในช่วงเวลาต่างๆ
  • ผู้กำกับจางอี้โหมว นำหนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานรัฐ
  • และหนังเรื่องนี้ออกฉายหลังจาก Farewell My Concubine (1993) และ The Blue Kite (1993) ซึ่งต่างนำเสนอประเด็นละเอียดอ่อนในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เลยถูกเพ่งเล็ง แบนหมู่ ไม่อนุญาติให้มีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าวอยู่หลายปี

ความแตกต่างระหว่าง Farewell My Concubine (1993) กับ To Live (1994) คือเฉินข่ายเกอพยายามนำเสนอทุกองค์ประกอบให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน (เรื่องราวระหว่างตัวละคร = อุปรากร Farewell My Concubine = ประวัติศาสตร์ชาติจีน) ยิ่งใหญ่ในศาสตร์ศิลปะ แต่สำหรับจางอี้โหมวจะมีเส้นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิต นำเสนอวิถีประจำวันของครอบครัวธรรมดาๆหนึ่ง พานผ่านเหตุการณ์ที่สามารถเทียบแทนช่วงเวลานั้น สั่นสะเทือนอารมณ์ ภาพยนตร์แห่งมวลมนุษยชาติ

คงอยู่ที่รสนิยม ความชื่นชอบส่วนบุคคลแล้วละ ใครคลั่งไคล้หนังแนว Epic ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง หรือเรื่องราวที่สามารถสัมผัสจับต้องทางอารมณ์ จริงๆยังมีอีกเรื่อง The Blue Kite (1993) ของผู้กำกับเทียนจวงจวง ไว้มีโอกาสค่อยเขียนถึงนะครับ


หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้เป็นที่โปรดปรานของประธานกรรมการปีนั้น Clint Eastwood แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะคะแนนโหวตของ Pulp Ficition (1994) คว้ามาเพียงที่สองร่วม

  • Grand Prize of the Jury ร่วมกับ Burnt by the Sun (1994)
  • Best Actor (เกอโหย่ว)
  • Prize of the Ecumenical Jury ร่วมกับ Burnt by the Sun (1994)

ความที่หนังถูกแบนจากจีนแผ่นดินใหญ่ เลยไม่ได้รับโอกาสร่วมลุ้น Oscar: Best Foreign Language Film (ผู้ชนะปีนั้นคือ Burnt by the Sun) แต่ยังได้เข้าชิง Golden Globe: Best Foreign Language Film และคว้ารางวัล BAFTA Award: Best Film not in the English Language

ผมครุ่นคิดว่าโอกาสที่หนังจะได้รับการบูรณะค่อนข้างจะน้อย เพราะถูกรัฐบาลจีนแบนถาวร คงต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก (แบบ Ju Dou ที่ได้ทุนบูรณะจากสตูดิโอในฝรั่งเศส) ฉบับที่ผมรับชมเป็น Blu-Ray ของค่าย Imprint แม้คุณภาพดีกว่า MGM หรือ ERA แต่รู้สึกว่าสีสันบางฉากมีความผิดเพี้ยนไปพอสมควร (ภาพซ้าย DVD ของ MGM, ภาพขวา Blu-Ray ของ Imprint) นี่ทำให้สัมผัสของหนังผิดเพี้ยนไปจากความตั้งใจผู้สร้างมากๆเลยนะ!

ก่อนหน้านี้ผมเคยมีความหลงใหลคลั่งไคล้ Farewell My Concubine (1993) มากกว่า To Live (1994) เพราะความอลังการงานสร้าง เต็มไปด้วยเทคนิค ลีลา ภาษาภาพยนตร์ (ดูหนังไม่ค่อยรู้เรื่อง เลยครุ่นคิดว่ามันต้องลึกล้ำสุดๆ) ประทับใจการแสดงละครงิ้วมากกว่า (ละครเงา) และอีกเหตุผลก็คือเลสลี่ จาง (หล่อกว่าเกอโหย่ว)

แต่หวนกลับมารับชมครานี้ To Live (1994) ได้แทรกซึมเข้ามาถึงทรวงใน เพราะความหมายของ ‘การมีชีวิต’ ต้องใช้เวลาเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ จนกว่าจะพานผ่านอะไรๆมามาก ตัวเลขอายุเพิ่มสูงขึ้น (แต่ก็ไม่ต้องถึงขั้นเนื้อหนังแห้งเหี่ยวโรยรา) ถึงจักเริ่มมองหาสิ่งสามารถสร้างความสงบสุขทางจิตวิญญาณ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่เป็นภาพยนตร์ที่สามารถสร้างกำลังใจผู้ชม ให้มีเรี่ยวแรงในการต่อสู้ชีวิต เผชิญหน้าความทุกข์ยากลำบาก ไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคขวากหนาม พร้อมอดรนทนฟันฝ่า เผื่อว่าฟ้าหลังฝนจะพบเจอแสงสว่างไสว

คนรุ่นใหม่สมัยนี้อาจครุ่นคิดว่า ทำไมฉันต้องอดรนทนต่อความอยุติธรรมของสังคม? ผมแนะนำให้มองหนังในมุมแคบลงมาสักนิด เหลือแค่การเผชิญหน้าโศกนาฎกรรม ความตายของคนใกล้ตัว หรือเหตุการณ์ที่ทำให้สภาพจิตใจตกต่ำลง ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถสร้างพลังบวกให้คุณมีพละกำลัง เข้าใจสัจธรรมแห่งชีวิต เรียนรู้จักการปล่อยวาง ทางสายกลาง และสามารถให้อภัยผู้อื่น … ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ให้อภัยกันไม่ได้นะครับ

จัดเรต 15+ ความทุกข์ยากลำบากของชีวิต โศกนาฎกรรมถาโถมนับครั้งไม่ถ้วน

คำโปรย | ตราบมีลมหายใจ ชีวิตของผู้กำกับจางอี้โหมวก็ยังต้อง ‘To Live’ ต่อสู้ดิ้นรนกันไป
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | รักมากๆ


To Live 1994

To Live (1994) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♡

(30/8/2016) หนังรางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes โดยปรมาจารย์ผู้กำกับชาวจีน Zhang Yimou และนักแสดงขาประจำ Gong Li, เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ได้พบกับวิกฤตต่างๆมากมาย ในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติ สงครามภายใน และการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีน พวกเขาจะหาทางเอาตัวรอด ‘มีชีวิต’ อยู่ได้อย่างไร

ผมเขียนรีวิวหนังจากประเทศจีนมาก็หลายเรื่อง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหนัง Hong Kong ไม่ก็หนัง Taiwan เสียมาก ไม่ค่อยมีโอกาสเขียนถึงหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่สักเท่าไหร่ และเพิ่งมารู้ตัวด้วยว่ายังไม่เขียนหนังที่ Zhang Yimou กำกับสักเรื่อง (Yellow Earth เป็น Chen Kaige กำกับ ส่วน Yimou เป็นผู้กำกับภาพ) นี่ก็คงถึงเวลาสักที วันนี้จึงเลือก To Live หนึ่งในผลงานที่ว่ากันว่า ยอดเยี่ยมที่สุดของ Yimou แม้ผมดูแล้วจะไม่รู้สึกว่ายิ่งใหญ่เท่าไหร่ แต่ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจจะมาเล่าให้ฟัง

Zhang Yimou ผู้กำกับรุ่นที่ 5 ของจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักเขียนบท เริ่มต้นงานสายภาพยนตร์จากการเป็นตากล้อง กำกับหนังเรื่องแรกคือ Red Sorghum (1987) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับ Gong Li ที่ต่อมากลายเป็นนักแสดงขาประจำของเขา, To Live คือผลงานลำดับที่ 5 ของ Yimou ในแนวคิดที่ต้องการนำเสนอ เรื่องราวการใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวรอดของประชาชนธรรมดาครอบครัวหนึ่ง ผ่านช่วงเวลาที่แสนยากลำบาก

ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเรื่องเดียวกัน แต่งโดย Yu Hua, เดิมทีนั้น Zhang Yimou ตั้งใจจะดัดแปลง Mistake at River’s Edge ที่เป็นนิยาย Thriller ของผู้แต่งคนเดียวกัน แต่หลังจาก Yu Hua ได้มอบหนังสือทั้งหมดที่เขาเขียนให้ Yimou เพื่อได้ศึกษา เข้าใจแนวคิดของตน ปรากฏว่า Yimou เกิดติดใจนิยายเรื่อง To Live อย่างมาก จนสุดท้ายเขาจึงเปลี่ยนการตัดสินใจ เลือกดัดแปลง To Live ให้กลายเป็นภาพยนตร์แทน

นำแสดงโดย
– Ge You รับบทสามี Xu Fugui (แปลว่า Lucky & Rich)
– Gong Li ในบทภรรยา Jiazhen (แปลว่า Precious Family)
ทั้งสองมีลูก 2 คน
– ลูกชายคนเล็กชื่อ Xu Fengxia (แปลว่า Phoenix & Rosy Clouds)
– พี่สาวคนโตชื่อ Xu Youqing (แปลว่า Full of Celebration)
และภรรยาของลูกสาวชื่อ Wan Erxi (แปลว่า Double Happiness)

สำหรับเรื่องราวของ To Live สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ส่วน ตามช่วงเวลา ที่คาบเกี่ยวกับช่วงชีวิตขณะต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจีน, เราอาจไม่เห็นว่าเป้าหมายของหนังคืออะไร เหมือนแค่ตัวละครใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ แต่เหตุการณ์ทั้ง 5 ที่เกิดขึ้น มันจะทำให้เราตระหนักเป็นช่วงๆได้ว่า การมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาทั้งหลายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพบกับความสุขทุกข์ ยากลำบากแสนเข็นมากมาย

ช่วงที่ 1 การพนัน (The Gambler) ปลายยุค 40s
– Fugui เป็นคนที่ไม่สนใจอะไร (carefree) มีความหยิ่งยโสโอหัง ไม่ฟังใคร เป็นคนหลอกตัวเอง และติดการพนันอย่างหนัก ทำให้ต้องสูญเสียบ้านจากการติดหนี้สิน, พ่อเสียชีวิตเพราะหัวใจวายจากความโกรธ, ส่วนภรรยาที่ท้องลูกชายหอบลูกสาวหนีไปอยู่ที่อื่น
– Jiazhen ในช่วงนี้ สูญเสียบ้าน การเงิน และสามีไปกับการพนัน
(ความยากลำบากในการต่อสู้กับความต้องการของตนเอง)

ช่วงที่ 2 สงครามกลางเมืองและชัยชนะของจีนแดง (The War of Liberation) ปี 1949
– หลังจาก Jiazhen กลับมาหา Fugui เขาได้เริ่มอาชีพเป็นคนเชิดหุ่นเงา (shadow-puppet) ซึ่งได้ไปเปิดการแสดงหลายๆที่ จับพลัดจับผลูต้องเข้าร่วมฝั่ง Nationalist (ของ Kuomintang) เพื่อสู้กับ Communists แต่ไปๆมาๆ โชคชะตาพลิกผัน กลายเป็นนักโทษของกลุ่มปฏิวัติ หลังจากได้แสดงละครหุ่นเงา จึงได้โอกาสให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มคณะปฏิวัติ
– ช่วงนี้ Fugui พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเอาตัวรอด ซึ่งเมื่อได้กลับบ้าน หลังสงครามกลางเมืองจบลง และ Communist เป็นฝ่ายชนะ แต่ลูกสาวกลับพูดไม่ได้ เพราะเคยป่วยหนัก แต่รอดปาฏิหารย์ แลกมาด้วยสูญเสียการได้ยิน
(พูดไม่ได้ คือการไม่มีสิทธิ์เสียงในสังคม ใครชนะก็น้อมรับ เออออตาม)

ช่วงที่ 3 กับการก้าวกระโดดไกล The Great Leap Forward (1958)
– ขณะที่จีน Communist สามารถขับไล่พวก Nationalist ไปอยู่ไต้หวันได้ เหมาเจ๋อตุง ได้ออกนโยบายที่ชื่อว่า Great Leap Forward ด้วยความต้องการให้จีนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทุกบ้านเรือนต้องบริจาคเหล็กเพื่อทำอาวุธหรือกระสุนปืน เพื่อใช้ทำสงคราม
– Fugui ที่ต้องการรักษาหน้าตา ฐานะของตนในสังคม จึงให้ลูกชายที่ร่างกายอ่อนล้าไปทำงาน แต่เขากลับไปแอบหลับแล้วได้รับอุบัติเหตุจากอิฐถล่มเสียชีวิต
(ความลำบากในการเอาตัวรอด เพราะต้องแสดงให้เห็นว่าตนยอมรับระบบการปกครองใหม่ เพื่อไม่ให้ตนเองถูกมองว่าเป็นกบฎ, ที่ลูกชายตายเพราะเขากลายเป็นกบฎ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อพี่สาว จึงถูกรัฐตอบโต้ด้วยการฆ่าปิดปาก)

ช่วงที่ 4 การปฏิวัติวัฒนธรรม The Cultural Revolution (1966)
– นี่เป็นช่วงเวลาที่ อะไรที่เคยเป็นอดีตจะถูกทำลาย ทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แนวคิดและอุดมการณ์ เพื่อนำประเทศจีนก้าวสู่ยุคใหม่ นี่ทำให้ Fugui ต้องเผาอุปกรณ์เชิดหุ่นเงา ที่เคยเป็นอาชีพเลี้ยงดูตนเอง
– ในโรงพยาบาล อาจารย์แก่ๆที่ทรงภูมิความรู้ ถูกจับเพราะเป็นคนหัวโบราณ เหลือแต่เด็กรุ่นใหม่ที่มีความรู้แต่ขาดประสบการณ์, หลัง Youqing คลอดลูก มีอาการเลือดตกใน แต่ไม่มีใครที่จะสามารถช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ได้ ทำให้เธอต้องเสียชีวิต
(คนรุ่นเก่าต้องจากไป คนรุ่นใหม่เท่านั้นถึงมีสิทธิ์มีเสียง)

ช่วงที่ 5 อะไรจะเกิดมันก็เกิด (6 ปีถัดมา)
– Fugui กลายเป็นคนที่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา, ลูกชาย ลูกสาวเสียชีวิตหมดแล้ว เหลือแค่ภรรยา Jiazhen ที่เจ็บป่วย และหลานชายกับลูกเขย พวกเขาออกเดินทางไปเยี่ยมหลุมศพของลูกๆเพื่อหวนระลึกถึงอดีต, อนาคตอะไรจะเกิดมันก็เกิด ขอแค่ให้มันดีขึ้นกว่าวันนี้ก็พอ

ณ ตอนจบของหนัง Fugui กลายเป็นคนที่มีทัศนคติเปลี่ยนไปจากต้นเรื่องโดยสิ้นเชิง เขาไม่ใช่ฮีโร่ แต่โชคชะตาที่เล่นตลกกับเขา เหมือนทำให้เขาปลงและเข้าใจชีวิต, เขาอวยพรหลานชาย ไม่ได้ต้องการอะไรมาก ขอให้โตขึ้นมีชีวิตที่มีความสุข และดียิ่งๆขึ้นไป (life will get better and better.)

ถ่ายภาพโดย Lü Yue นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่เขาร่วมงานกับผู้กำกับ Zhang Yimou (และได้ร่วมงานกันอีก 2 เรื่องถัดจากนี้), จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการเล่นกับสี เสื้อผ้าหน้าผมฉาก มักจะใช้สีเทา/น้ำตาลอ่อนๆ แต่ถ้ามีสีแดง (ซึ่งแทนด้วย Red Guards) จะโดดเด่นเป็นพิเศษ (คงเพราะหนังใช้ฟีล์ม Technicolor ที่เมื่อล้างฟีล์มออกมาแล้ว สีสดๆเช่นสีแดงกับเหลืองจะสวยเด่นเป็นพิเศษ), การแสดงละครหุ่นเงา ใช้แสงไฟส่องจากด้านหลัง เราสามารถเห็นรายละเอียด สีของหุ่นได้ชัดเจน

ตัดต่อโดย Du Yuan, หนังใช้การเล่าเรื่องแบ่งเป็น 5 ช่วงเวลาตามที่ผมเล่ามา ซึ่งจะมีข้อความขึ้นบอกให้รู้ว่าอยู่ช่วงไหนๆ กระนั้นถ้าคุณไม่สามารถวิเคราะห์ออกได้ว่า แต่ละช่วงมีเรื่องราวอะไร ย่อมถือเป็นการยากที่จะเข้าใจแก่นแท้ของหนัง

เพลงประกอบโดย Zhao Jiping (Farewell, My Concubine) ใครชอบฟังเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีน (คล้ายๆงิ้ว) คุณจะได้ยินจนอิ่มหนำใจเลยละ โดยเฉพาะขณะแสดงละครหุ่นเชิดเงา น่าเสียดายที่ผมฟังไม่รู้เรื่องว่าร้องอะไร (ซับไม่แปล แต่พอดูจากเรื่องราวที่เชิดได้) เลยบอกไม่ได้ว่าไพเราะแค่ไหน (แต่ก็น่าจะสังเกตความแตกต่างของ คนร้องดีกับคนร้องห่วยได้), เพลงประกอบในหนังเรื่องนี้ใช้ประกอบเรื่องราว ไม่ได้สร้างบรรยากาศหรือประกอบอารมณ์

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้เป็นการ ‘มีชีวิต’ ไม่ได้ ‘ใช้ชีวิต’ นะครับ คำว่า ‘มี’ คือการทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองดำเนินชีวิตต่อไปได้ ไม่ถูกฆ่า หรือสูญเสียชีวิต ผมเชื่อว่าคนที่สามารถผ่านยุคเปลี่ยนผ่านการปกครองของจีนช่วงนี้มาได้ แทบทั้งนั้น ‘มีชีวิต’ อย่างยากลำบาก, การ ‘ใช้’ ชีวิต ในความหมายของผมคือ ได้ทำอะไรอย่างที่ตนอย่างทำ เป็นในสิ่งที่ตนอย่างเป็น อิสระในการคิด การตัดสินใจ นี่เป็นสิ่งที่เราจะไม่ได้เห็นในหนังเรื่องนี้เลยนะครับ แค่มีชีวิตก็ยากพออยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปใช้ชีวิต, สำหรับประเทศจีน ผมว่ากว่าพวกเขากว่าจะเริ่มต้น ใช้ชีวิตกันได้ อย่างน้อยก็ 30-40 ปีหลังยุคของการปฏิวัติ ประมาณยุค 80s-90s เลยละ อะไรๆจึงเริ่มสงบลงแล้ว ผู้คนยอมรับในระบบการปกครองใหม่ แม้การต่อต้านยังมีอยู่บ้าง แต่คุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนดีขึ้นมาก (หรือเปล่าไม่รู้เหมือนกัน)

นี่เป็นหนังที่ผมชอบครึ่งไม่ชอบครึ่ง คือถ้าวิเคราะห์ลงไปในแนวคิด จะค่อนข้างชอบ แต่เมื่อมองโดยผิวเผิน มี 2-3 เรื่องราวที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลย ตอนพระเอกเล่นพนันติดหนี้จนเสียบ้าน พอเวลาผ่านไป เขากลับโชคดีที่ตอนนั้นเสียบ้าน (เพราะคนที่ได้บ้าน ถูกประหาร) ความบังเอิญดูรู้ว่าคือความจงใจ ฟังดูตลก แต่ผมมองว่ามันไม่สมควรเลยที่จะมองแบบนี้ เหมือนว่า การติดการพนันตอนนั้นมันให้โชคลาภมากกว่าลาภหาย ปลูกฝังทัศนคติที่ผิดมากๆ, อีกช่วงหนึ่งคือตอนพ่อสั่งให้ลูกขอโทษ ที่เอาก๋วยเตี๋ยวราดลงหัวเด็กอีกคน ผมไม่รู้สามัญสำนึกของคนจีนเป็นยังไงนะ คือถึงรู้ว่าหมอนั่นมันเลว ทำแบบนี้เพื่อตอบโต้แก้แค้น แต่ก็หาใช่เรื่องสมควรไม่ พ่อพยายามลงโทษ ให้พูดขอโทษ นี่เป็นสิ่งที่สามัญสำนึกของมนุษย์บอกว่าเป็นสิ่งถูก แต่แม่กลับหนุนหลัง พออธิบายให้พ่อเข้าใจแล้ว ก็เปลี่ยนท่าทีเป็นเห็นด้วย ถ้านี่เป็นพฤติกรรมแนวคิดของคนจีนที่มองว่า ทำผิดแล้วไม่ขอโทษเพราะเป็นสิ่งเหมาะสมสาสม ผมจะขอเรียกพวกเขาว่า คนไร้อารยธรรม นะครับ

กับคนที่เคยดู Farewell, My Concubine มาแล้ว จะรู้สึกว่า To Live มีเรื่องราวพื้นหลังคล้ายๆกัน ก็แน่ละครับ ดำเนินเรื่องในช่วงเวลาประวัติศาสตร์จีนเหมือนกัน จะไม่ให้มีเรื่องราวเหมือนได้ยังไง (Farewell, My Concubine สร้างก่อนฉายก่อนแค่ปีเดียวเท่านั้น) คือถ้าเทียบกับช็อตต่อช็อต ผมถือว่า Farewell, My Concubine ทำได้เหนือกว่า น่าสนใจกว่า ทั้งการแสดง งานภาพ เรื่องราว เพลงประกอบ และหนังมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนกว่าด้วย กระนั้นสำหรับ To Live มีดีกว่าตรงแนวแนวคิด และวิธีการเล่าเรื่องที่แยกช่วงเหตุการณ์ออกชัดๆ ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของประชาชน ผ่านเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์จีนได้มากกว่า

ด้วยเหตุนี้กระมัง หนังจึงถูกแบนห้ามฉายในประเทศจีน (และแบน Zhang Yimou และ Gong Li ไม่ให้สัมภาษณ์พูดถึงหนังอีกด้วย) เพราะการตีความของหนังในออกไปในเชิงวิพากย์ต่อต้านแนวคิด วิธีการและรูปแบบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, กระนั้นเมื่อหนังฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes กลับสามารถคว้ารางวัล
– Grand Prix (ที่ 2) ร่วมกับ Burnt by the Sun หนัง Russia ของผู้กำกับ Nikita Mikhalkov
– Best Actor (Ge You) เป็นนักแสดงจีนแผ่นดินใหญ่คนแรกที่คว้ารางวัลสาขาการแสดง จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

นอกจากนี้ยังได้เข้าชิง Best Foreign Language Film จาก Golden Globe Award และได้ Best Film Not in the English Language จาก BAFTA Award

นี่เป็นหนังดราม่าที่แฝงใจความลึกซึ้ง เหมาะกับคนที่ชอบการคิดวิเคราะห์, แนะนำกับคนที่กำลังศึกษาประวัติศาสตร์จีนในยุคปฏิวัติเปลี่ยนผ่าน และชื่นชอบการดูหนังที่ขายวัฒนธรรม, แฟนหนัง Zhang Yimou และนักแสดง Gong Li กับ Ge You ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 15+ กับสงคราม แนวคิด และความสูญเสีย

TAGLINE | “To Live เป็นหนังของการเอามีชีวิตตัวรอด ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก สุดยอดการแสดงของ Gong Li และ Ge You โดยปรมาจารย์ผู้กำกับ Zhang Yimou”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลOazsarun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsarun
Guest
Oazsarun

เรื่องนี้ถ้าทำโดยคนไต้หวัน หรือ ฮ่องกง อาจจะถูกนักวิจารณ์ยกย่องกว่านี้ ผมยกให้ 1 ใน 20 หนังตลอดกาลเลย

%d bloggers like this: