Tokyo Story (1953)
: Yasujirō Ozu ♠♠♠♠♠
(9/8/2019) ญี่ปุ่นยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบการมาถึงของระบบทุนนิยม ทำให้ขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี ความครุ่นคิดอ่าน ค่านิยมสังคม เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงหน้ามือเป็นหลัง คือชนวนสาเหตุให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อ-แม่ ลูก หลาน นำเสนอผ่านความเรียบง่าย ‘สไตล์ Ozu’ ช่างมีความงดงามตราตรึง แฝงข้อคิดลุ่มลึกซึ้ง หนึ่งในภาพยนตร์ทรงคุณค่าที่สุดในโลก, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
สิ่งที่โดยส่วนตัวครุ่นคิดว่างดงามสุดในผลงานภาพยนตร์ของ Yasujirō Ozu คือความสงบ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ค่อยนำเสนอภาพการกระทำ ประหยัดถ้อยคำพูด และปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดทำความเข้าใจอะไรๆด้วยตนเอง ซึ่งถือว่ามีลักษณะคล้ายปรัชญาเซ็น แค่ว่าไม่ได้สอนให้บรรลุหลุดพ้น เพียงเข้าใจวิถีแห่งชีวิต เกิดจิตสำนึกมโนธรรม กระทำสิ่งดีงาม เมื่อนั้นความสงบสุขจะบังเกิดขึ้นในสังคม
การหวนกลับมา Revisit บทความนี้ เป็นความอยากที่จะวิเคราะห์ลงรายละเอียดลึกๆ เพราะไม่ใช่แค่เนื้อเรื่องราวของ Tokyo Story ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก ในด้านเทคนิค ลีลา ภาษา(ภาพยนตร์) และ ‘สไตล์ Ozu’ ลองดูสิว่าจะพบเห็นความลุ่มลึกซึ้งสักเพียงไหน
Yasujirō Ozu (1903 – 1963) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukagawa, Tokyo เป็นลูกคนรองจากพี่น้อง 5 คน ตอนเด็กๆชอบโดดเรียนไปดูหนังอย่าง Quo Vadis (1913), The Last Days of Pompeii (1913) กระทั่งได้รับชม Civilization (1918) ตัดสินใจโตขึ้นจักต้องเป็นผู้สร้างภาพยนตร์, เรียนจบ ม.ปลาย อย่างยากลำบาก เพราะเป็นคนหัวช้า สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหนก็ไม่ติด โชคดีมีลุงเป็นนักแสดง ได้ทำงานกับสตูดิโอ Shochiku (ขัดขืนคำสั่งของพ่อ) เป็นผู้ช่วยตากล้อง กลับจากรับราชการทหารเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ไม่นานได้กำกับหนังเงียบเรื่องแรก Sword of Penitence (1927) น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว
ตัวตนของ Ozu ก็เหมือนผลงานภาพยนตร์ของเขา เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจดีงาม สามารถจดจำชื่อทุกคนในกองถ่ายได้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะหน้าเดิมๆซ้ำๆ นั่นรวมไปถึงเทคนิควิธีการถ่ายทำ เมื่อค้นพบไดเรคชั่นความสนใจ ก็มุ่งมั่นดำเนินไปแทบไม่ค่อยปรับเปลี่ยนแปลงอะไร
สำหรับ Tokyo Story จุดเริ่มต้นจากนักเขียนบทขาประจำ Kōgo Noda (1893 – 1968) หวนระลึกถึงภาพยนตร์ Make Way for Tomorrow (1937) กำกับโดย Leo McCarey เลยแนะนำบอกต่อผู้กำกับ Ozu ที่ยังไม่เคยรับชม เมื่อสรรหามาดูได้ เกิดความลุ่มหลงใหลในแนวคิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ‘Generation Gap’
ขณะที่ Make Way for Tomorrow ทำการสะท้อนผลกระทบหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในยุคสมัย Great Depression (ต้นทศวรรษ 30s), Tokyo Story เริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การมาถึงของระบบทุนนิยม โดยสหรัฐอเมริกานำมาเผยแพร่ให้ประเทศผู้พ่ายสงคราม
เกร็ด: แม้ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีแนวคิดที่คล้ายคลึง แต่ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของ Make Way for Tomorrow (1937) แตกต่างจาก Tokyo Story (1953) โดยสิ้นเชิงนะครับ ถ้ามีโอกาสก็อยากแนะนำให้หามารับชมดู มีใน Criterion Channel
แรงบันดาลใจอีกส่วนหนี่งอาจมาจาก King Lear บทละครโศกนาฎกรรมของ William Shakespeare เรื่องราวของกษัตริย์วัยชรา ตัดสินใจสละราชบัลลังก์ ส่งมอบดินแดนให้ลูกๆขี้นมาปกครองเป็นผู้นำ แต่เมื่อออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนหลังเกษียณ กลับได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหลียวแลแยแสใดๆ
ครอบครัว Hirayama อาศัยอยู่ Onomichi เมืองริมทะเลเล็กๆทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น สมาชิกประกอบด้วย
- พ่อ Shūkichi (รับบทโดย Chishū Ryū) เป็นคนง่ายๆ ใครว่าอะไรก็เออออห่อหมก เห็นด้วยกับเขาไปหมด ต้องการออกเดินทางไปเยี่ยมลูกๆหลานๆยังกรุงโตเกียว เพื่อดูว่าชีวิตความเป็นอยู่พวกเขาดี-แย่ ประการใด แต่ก็เต็มไปด้วยความผิดหวังจนมีโอกาสสังสรรค์กับเพื่อนเก่า ดื่มสุราเมามายจนสิ้นสติสมประดี
- แม่ Tomi (รับบทโดย Chieko Higashiyama) เป็นคนง่ายๆไม่ต่างจากพ่อ แต่เริ่มขี้หลงขี้ลืม ร่างกายอ่อนเปลี้ยเพลียแรง พยายามทำตัวเข้มแข็ง แสดงออกให้ใครๆเห็นว่าร่าเริงสดใส ตระหนักรับรู้ตนเองว่านี่อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย พบเห็นการเปลี่ยนแปลงไปของลูกๆ คงทุกข์ทรมานภายในไม่น้อย แต่โชคดีพบเห็นมิตรไมตรีลูกสะใภ้ ค่ำคืนนั้นช่างอบอุ่นสุขใจที่สุดในทริปครั้งนี้
- ลูกชายคนโต Kōichi (รับบทโดย So Yamamura) หมอกุมารเวชศาสตร์ผู้ไร้ซึ่งความทะเยอทะยาน ใครว่าอะไรก็เห็นด้วยคล้อยตาม ให้ความสำคัญหน้าที่การงานมากกว่าครอบครัว จนไม่หลงเหลือเวลาพาพ่อ-แม่ และลูกๆไปท่องเที่ยวพักผ่อนวันหยุดเสาร์อาทิตย์
- ลูกสาวคนโต Shige (รับบทโดย Haruko Sugimura) เปิดร้านทำผมที่เหมือนจะยุ่งๆแต่เห็นว่างตลอด นิสัยขี้งก เห็นแก่ตัว ชอบพูดจาร้ายๆ ไม่เกรงใจใคร ปัดสวะให้พ้นตัว ครุ่นคิดทำอะไรสนเพียงผลประโยชน์ ความสุขสบายส่วนตนเท่านั้น
- ลูกสะใภ้ Noriko (รับบทโดย Setsuko Hara) แต่งงานกับลูกชายคนกลาง Shōji แต่เสียชีวิตจากไประหว่างสงครามเมื่อแปดปีก่อน ถึงกระนั้นเมื่อพ่อ-แม่ของอดีตสามีเดินทางมาท่องเทียวโตเกียว เร่งรีบแวะเวียนไปหา ทั้งยังลางานพาทั้งสองออกท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตา และค่ำคืนหนึ่งเลี้ยงดูปูเสื่อแม่เป็นอย่างดี ช่างเป็นคนมีน้ำใจดีงาม เลยถูกคะยั้นคะยอให้แต่งงานใหม่ แต่เธอกลับรู้สึกไม่เป็นการสมควรเท่าไหร่ อยากใช้ชีวิตอยู่คนเดียวเสียมากกว่า
- ลูกชายคนเล็ก Keizō (รับบทโดย Shirō Ōsaka) ทำงานอยู่การรถไฟที่ Osaka ไม่ได้อยู่ในแผนที่จะพบเจอ แต่เพราะแม่ป่วยกลางทางเลยตัดสินใจแวะลงมาหา พักอาศัยอยู่สองสามวันก่อนเดินทางกลับ Onomichi
- ลูกสาวคนเล็ก Kyōko (รับบทโดย Kyōko Kagawa) ทำงานเป็นครูสอนหนังสือ อาศัยอยู่ Onomichi ยังมีความใสซื่อไร้เดียงสา เมื่อพบเห็นการแสดงออกของพี่สาว Shige แสดงความไม่พึงพอใจอย่างมาก แต่ชื่นชอบพี่สะใภ้ Noriko สัญญาว่าถ้าได้ไปโตเกียวจะแวะเวียนถามหา
นำแสดงโดย Chishū Ryū (1904 – 1993) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tamamizu, Kyush หมู่เกาะทางใต้ของญี่ปุ่น พ่อเป็นพระที่ Raishōji โตขึ้นสอบเข้าสาขาพุทธศาสนาที่ Tōyō University ครอบครัวตั้งใจให้เป็นนักบวช แต่เจ้าตัวลาออกกลางคัน เลือกเข้าเรียนการแสดงที่สตูดิโอ Shōchiku, เริ่มต้นจากเป็นตัวประกอบเล็กๆ จนกระทั่งรู้จักกลายเป็นขาประจำกับ Yasujirō Ozu มีชื่อเสียงจาก The Only Son (1936), รับบทนำครั้งแรก There Was a Father (1942), โด่งดังสุดในชีวิตคงเป็น Late Spring (1949) และ Tokyo Story (1953)
การแสดงของ Ryū มีความเรียบง่าย เชื่องช้า พูดจาอืดอาด ท่าเดินเก้งก้าง แลดูเหมือนไม่มีปฏิกิริยาอารมณ์ความรู้สึกใดๆ แต่เมื่อสิ่งต่างๆไม่เป็นดั่งคาดคิดหวังไว้ มีสองไฮไลท์ที่โดดเด่นมากๆ
– ช่วงขณะมึนเมาพูดคุยกับเพื่อนเก่า เมื่อถึงจุดๆหนึ่งปะทุระเบิดความอึดอัดอั้นคับข้องใจออกมา
– และสีหน้าขณะรับรู้ว่า อีกไม่นานภรรยาสุดที่รักกำลังจะจากไป แม้ถ้อยคำพูดจะสุดแสนเรียบง่าย แต่สีหน้า สายตา ทอดถอนหายใจ ค่อยๆดันตัวลุกขึ้น ช่างเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส
Chieko Higashiyama (1890 – 1980) นักแสดงหญิง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Chiba, หลังเรียนจบมัธยม อายุ 19 แต่งงานย้ายไปใช้ชีวิตกับสามีที่มอสโก แต่คงเพราะความเบื่อหน่ายไม่ได้ทำอะไร พออายุ 35 ปี ตัดสินใจเป็นนักแสดง เข้าเรียนที่ Tsukiji Shōgekijō จากนั้นมีผลงานละครเวทีมากมาย ภาพยนตร์เรื่องแรก Sakura no sono (1936), เพราะอายุค่อนข้างมากแล้ว เลยมักได้รับบทสมทบเล่นเป็นแม่ The Idiot (1951), Early Summer (1951), The Life of Oharu (1951), Tokyo Story (1953)
ตัวละครของ Higashiyama พยายามแสดงออกให้ดูเหมือนว่าตนเองยังคงเข้มแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ปกปิดบังลูกๆ(และสามี)ถึงอาการเจ็บป่วยอิดๆออดๆ รับรู้ได้ตั้งแต่พูดขึ้นมาลอยๆระหว่างพาหลานไปเดิน ซึ่งหนังก็ไม่นำเสนอภาพความอ่อนแอนั้นให้ผู้ชมเห็น (มากสุดแค่ลุกไม่ขึ้นที่ออนเซ็น) ขณะที่ไฮไลท์การแสดงอยู่ตอนพักอาศัยหลับนอนยังห้องของ Noriko ดวงตาของเธอเต็มไปด้วยความเป็นห่วงเป็นใย และธารน้ำตาแทบหลั่งไหลเมื่อพบเห็นความมีน้ำใจ ไม่เคยได้รับจากลูกแท้ๆในไส้ของตนเอง
So Yamamura หรือ Satoshi Yamamura ชื่อจริง Koga Hirosada (1910 – 2000) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tenri ได้รับการค้นพบโดย Kenji Mizoguchi มีผลงาน The Love of the Actress Sumako (1947), Portrait of Madame Yuki (1950), The Lady of Musashino (1951), ร่วมงานกับ Ozu ตั้งแต่ The Munekata Sisters (1950), Tokyo Story (1953), Early Spring (1956), Tokyo Twilight (1957), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Tora! Tora! Tora! (1970)
จะว่าไปบุคลิกตัวละครของ Yamamura ไม่ต่างจากพ่อสักเท่าไหร่ เป็นคนง่ายๆ ดูเฉื่อยชา ใครแนะนำอะไรมาก็เห็นพ้องคล้อยตาม ขาดความมักใหญ่ใฝ่สูงทะเยอทะยาน อาจเพราะชีวิตพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง จิตใจยังเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า และอิทธิพลจาก Great Depression สร้างความเบื่อหน่าย ทุกข์ยากลำบาก ปัจจุบันได้เท่านี้ก็เหลือเฟือเพียงพอดีที่ต้องการแล้ว
Haruko Sugimura (1909 – 1997) นักแสดงหญิง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hiroshima ขาประจำผู้กำกับ Ozu และ Mikio Naruse ผลงานเด่นๆ อาทิ Late Spring (1949), Early Summer (1951), Tokyo Story (1953), Late Chrysanthemums (1954), Floating Weeds (1959), An Autumn Afternoon (1962), A Last Note (1995) ฯ
ถือเป็นบทบาท Typecast ของ Sugimura เพราะภาพลักษณ์ที่เข้ากับจริตอันรุนแรง ฝีปากจัดจ้าน พูดแบบไม่ผ่านความครุ่นคิดใดๆ จิตใจเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์/ความสุขสบายส่วนตน แม้เธอจะมิได้มุ่งมาดร้าย แต่ก็พาลให้ใครๆมองอย่างอคติ โกรธเกลียดเดียดฉันท์ ชิงชัง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วยสักเท่าไหร่ … ทั้งๆวัยเด็กจากคำบอกเล่าของพ่อ-แม่ ก็ไม่ได้มีนิสัยเลวทรามแบบนี้ แต่คงเพราะผลกระทบจากสงครามเหมือนกับพี่ และสามีดูพึ่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ เลยต้องปรับเปลี่ยนตนเอง พยายามกอบโกยทุกสิ่งอย่าง แสดงความเห็นแก่ตัวเข้าไว้ ยังดีกว่าต้องไปทนทุกข์ยากลำบากเอาภายหลัง
Setsuko Hara ชื่อจริง Masae Aida (1920 – 2015) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของฉายา ‘the Eternal Virgin’ เกิดที่ Hodogaya-ku, Yokohama มีพี่น้อง 8 คน เมื่อพี่สาวคนโตแต่งงานผู้กำกับ Hisatora Kumagai กลายเป็นใบเบิกทางให้ตนเองวัย 15 ปี ลาออกจากโรงเรียนมุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์ เซ็นสัญญา Nikkatsu Studios แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Do Not Hesitate Young Folks! (1935), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Daughter of the Samurai (1937), ผลงานเด่นๆ อาทิ No Regrets for Our Youth (1946), A Ball at the Anjo House (1947), The Idiot (1951), Sound of the Mountain (1954), ร่วมงานผู้กำกับ Ozu ทั้งหมดหกครั้ง Late Spring (1949), Early Summer (1951), Tokyo Story (1953), Tokyo Twilight (1957), Late Autumn (1960) และ The End of Summer (1961)
เป็นบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดของ Hara (แต่ไม่ใช่การแสดงยอดเยี่ยมสุดในชีวิตนะครับ) ทั้งๆแค่ลูกสะใภ้ สามีเสียชีวิตจากไปหลายปี แต่ยังรู้สำนึกบุญคุณพ่อ-แม่ แสดงออกด้วยความกตัญญูกตเวที ทั้งๆไม่มีความจำเป็นเลยสักนิด! ซึ่งช่วงท้ายถึงค่อยมาเฉลยว่า Noriko ยังไม่สามารถทำใจจากการจากไปของชายคนรัก รู้สึกผิดถ้าครุ่นคิดจะมีใคร แต่ทั้งพ่อและแม่ต่างพยายามโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเกลา สมควรแก่เวลาแล้วที่เธอควรจะเริ่มต้นครอบครัวใหม่ ปลดปล่อยวางความทุกข์จากอดีต และชีวิตสามารถก้าวเดินต่อ
ทิ้งท้ายกับ Kyōko Kagawa (เกิดปี 1931) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo วัยเด็กวาดฝันเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ แต่หลังจากชนะเลิศการประกวดนางงาม ถูกจับเซ็นสัญญาแสดงภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก Man in the Storm (1950), Mother (1952), โด่งดังกับ Tokyo Story (1953), Sansho the Bailiff (1954), The Crucified Lovers (1954), An Osaka Story (1957), The Lower Depths (1957), The Bad Sleep Well (1960), High and Low (1963), Red Beard (1965) ฯ
ลูกสาวคนเล็ก Kyōko ช่างเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ร่าเริงแจ่มใส ครุ่นคิดอะไรก็พูดบอกออกมาตรงๆ ราวกับว่าสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆต่อเธอ เป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ เลยเข้าขากับ Noriko คงกลายเป็นเพื่อนสนิทที่ดีต่อกันตลอดไป
ถ่ายภาพโดย Yūharu Atsuta (1905 – 1993) ตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Ozu ร่วมงานกันตั้งแต่หนังเงียบ Dreams of Youth (1928) จบถึง An Autumn Afternoon (1962)
Ozu ร่วมพัฒนาบทกับนักเขียน Noda ด้วยการปักหลักอยู่โรงแรมชนบทแห่งหนึ่งที่เมือง Chigasaki ใช้ระยะเวลา 103 วัน จากนั้นลากพาตากล้อง Atsuta ตระเวนค้นหาสถานที่ถ่ายทำยัง Tokyo, Onomichi, Atami และ Osaka อยู่อีกเกือบเดือน ส่วนฉากภายในแทบทั้งหมดถ่ายที่ Shochiku Ōfuna Studio, Kamakura
ช็อตแรกของหนังคือภาพท่าเรือ น่าจะตอนเช้าตรู่เพราะเด็กๆกำลังเดินทางไปโรงเรียน ซึ่งการเลือกภาพนี้ที่มีเสาตั้งโด่เด่ ถือว่าเป็นจุดหมุนของเรื่องราว สัญลักษณ์การเดินทาง
- พบเห็นครั้งแรก พ่อ-แม่กำลังตระเตรียมตัวเดินทางสู่กรุงโตเกียว
- อีกครั้งหนึ่ง เช้าตรูวันที่แม่เสียชีวิต เธอคงกำลังออกเดินทางสู่โลกหลังความตาย
พบเห็นบ่อยครั้งกับภาพโรงงานอุตสาหกรรม ปล่องควันสูงใหญ่ สะท้อนการเข้ามาถึงของโลกยุคสมัยทุนนิยม ซึ่งผมนำอีกช็อตหนึ่งเข้ามาเปรียบเทียบ บ้านของครอบครัว Hirayama ไม่ใช่หลังที่อยู่ด้านบนนะครับ พบเห็นแค่หลังคา ปล่อยควันเล็กๆโพยพุ่งเข้ามา (หมายถึง ระบบทุนนิยมไม่ได้เข้ามามีผลกระทบแค่ระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังวิถีชีวิตประจำวัน ทุกสิ่งอย่างรอบข้างกาย ล้วนกำลังถูกครอบงำ กลืนกินโดยไม่รู้ตัว)
‘สไตล์ Ozu’ เลื่องลือชาในการนำเสนอทิศทางภาพที่ชวนให้สับสน มึนงง เพราะนิยมแหกกฎ 180 องศา จนดูไม่รู้เรื่องว่า บ้านหลังนี้ห้องหับอะไรอยู่ตรงไหนๆ … ผมครุ่นคิดว่านี่เป็นการล้อเลียนตนเอง เพราะการมาถึงของปู่-ย่า ทำให้แม่ต้องขยับเคลื่อนย้ายโต๊ะเก้าอี้ของลูกชาย Minoru ไปไว้ตรงไหนก็ไม่รู้ ทำหน้าตาสับสนมึนงง มองหาซ้าย-ขวา แล้วเดินไปบ่นกับแม่ คืนนี้ลูกจะทำการบ้านอ่านหนังสือตรงไหน?
ทุกช็อตภายในหนัง ‘สไตล์ Ozu’ มุมกล้องจะมีความสูงต่ำกว่าระดับสายตาเมื่อนั่งบนพื้นเสื่อ เลยมีคำเรียกว่า ‘Tatami Shot’ ประมาณ 99% จะไม่เคลื่อนขยับไปไหน (Static Shot) และมีการจัดวางองค์ประกอบ ที่นักแสดงจะไม่มีการซ้อนทับ เหลื่อมล้ำใบหน้ากันแม้แต่น้อย
– มุมกล้อง Tatami Shot ซึ่งมีความต่ำกว่าระดับสายตา ให้สัมผัสถึงความนอบน้อม ถ่อมตน ให้เคารพนับถือ (เป็นนิสัยพิ้นฐานของชาวญี่ปุ่น)
– กล้องไม่ขยับเคลื่อนไปไหน Static Shot นัยยะถึงความสงบเสงี่ยม เจียมตน
– และการจัดองค์ประกอบที่ใบหน้านักแสดงไม่ซ้อนทับ บดบังกัน ทำให้ภาพที่ออกมาแลดูเหมือนรูปถ่าย/ภาพวาดงานศิลปะ(ภาพยนตร์) ทุกคนเป็นตัวของตนเอง เคารพสิทธิส่วนบุคคล
การพูดคุยระหว่างตัวละครใน ‘สไตล์ Ozu’ จะให้นักแสดงจับจ้องมองกล้อง (เหมือนกำลังสื่อสารกับผู้ชม) แล้วตัดสลับในทิศทาง 180 องศากับคู่สนทนา ไม่มีการแก่งแย่ง พูดซ้อน หรือเร่งรีบร้อนประการใด รอให้ฝ่ายหนึ่งถ้อยแถลงจบลงก่อน แล้วค่อยตัดไปให้อีกฝ่ายหนึ่งพูดต่อ
โดยปกติแล้วเรื่องราวที่ตัวละครพูดคุยกันว่าจะกระทำ ‘สไตล์ Ozu’ จะไม่นำเสนอเหตุการณ์นั้นให้ผู้ชมเห็น (เพราะถือว่าได้พูดบอกแล้ว ผู้ชมสามารถจินตนาการเองได้ว่าเกิดอะไรขึ้น) อาทิ บอกว่าจะอาบน้ำ, รับประทานสุกี้ แล้วตัดมาเด็กชาย Minoru กำลังอ่านหนังสือ/ทำการบ้าน
ภาพเด็กชาย Minoru กำลังอ่านหนังสือ ถือว่าเป็นการประชดประชันตัวเองอยู่เล็กๆ เพราะจากคำบอกกล่าวของแม่ ปกติแล้วเขาจะขี้เกียจสันหลังยาว แต่วันนี้กลับนึกคึก … คงจะสื่อว่าถ้ามีความตั้งใจ อะไรๆก็สามารถทำได้ (ถือเป็นการล้อเลียนพ่อ Kōichi ที่ขาดความทะเยอทะยานในหน้าที่การงาน ถ้าขยันขันแข็งสักนิด ชีวิตคงก้าวหน้าไปไหนต่อไหน)
วางแผนกันอย่างดิบดีว่าจะพาปู่-ย่า ไปท่องเที่ยว Tokyo เด็กชาย Minoru อารมณ์ดีถึงขนาดผิวปาก Main Theme ภาพยนตร์เรื่อง Stagecoach (1939) [ผู้กำกับ Ozu เป็นแฟนตัวยงของ John Ford] ตระเตรียมตัวพร้อมออกเดินทาง
แต่เพราะความเห็นแก่ตัวของพ่อ สนหน้าที่การงานมากกว่าครอบครัว นั่นทำให้เด็กชาย Minoru งอนตุ๊บป่อง นั่งบนเก้าอี้ของพ่อ หมุนวนรอบ 360 องศา (สะท้อนความเห็นแก่ตัวของพ่อ เด็กชายยังต้องหมุนรอบเก้าอี้ของเขา)
ย่า Tomi อาสาพาหลานคนเล็ก Isamu ไปวิ่งเล่นด้านนอก, ช็อตนี้เริ่มต้นที่ทั้งสองยืนสนทนาใกล้ๆกัน จากนั้นหลานชายวิ่งเล่นออกห่างย่าไปเรื่อยๆ สะท้อนถึงชีวิตของมนุษย์เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็มักจะค่อยๆเหินห่างบิดา-มารดาบังเกิดเกล้า
หนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Ozu’ ตัวละครจากยืนอยู่ ค่อยนั่งยองๆลงอย่างสวยงาม จากนั้นพูดพร่ำหรือสนทนาบางอย่าง สิ้นสุดแล้วก็จะค่อยๆลุกขึ้นยืนตรง (โดยไม่ถูกตะคิวกิน)
ย่า Tomi จับจ้องมองหลาน Isamu สอบถามถึงอนาคตอยากเป็นอะไร แต่มันไกลเกินกว่าเด็กชายจะสนใจให้คำตอบได้ เธอเลยครุ่นคิดแทนเลยว่า เป็นหมอแบบเดียวกับพ่อกระมัง และยังพร่ำต่ออีกนิดว่า ตนเองคงไม่อายุยืนอยู่ถึงขนาดนั้น … นี่มัน Death Flag! ชัดๆเลยนะ
มาอยู่ Tokyo ก็หลายวัน กลับยังไม่เคยได้ออกไปท่องเที่ยวไหนทั้งนั้น ซึ่งที่บ้าน/ร้านทำผมของลูกสาวคนโต Shige มีชั้นดาดฟ้า คุณปู่เลยขึ้นมาคลายร้อน กินลม ชมกระบองเพชร (พืชที่มีความอึดอดทนต่อสภาพอากาศ ไม่ต้องรดน้ำบ่อยก็สามารถเจริญเติบโตได้)
มุมกล้องเอียๆ 45 องศา ก็เป็นอีกลายเซ็นต์หนึ่งของ ‘สไตล์ Ozu’ เพื่อนำเสนอมุมมองที่อะไรๆมักไม่เป็นใจให้ตัวละครขณะนั้น หรือกำลังต้องเลือกครุ่นคิดตัดสินใจบางอย่าง (เรียกว่ามุมครึ่งๆกลางๆก็ยังได้)
Noriko พาพ่อ-แม่สะใภ้ ขึ้นรถบัสเที่ยวชมกรุงโตเกียว ซึ่งได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างกำลังเดินลงจากตึกสูงชมวิวแห่งหนึ่ง สอบถามว่าบ้านใครอยู่ตรงไหนบ้าง ขณะที่ Kōichi และ Shige อยู่ทิศทางเดียวกัน หนังกลับไม่ใคร่สนใจนำเสนอ พอถามถึง Noriko ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง แล้วอยู่ดีๆปรากฎภาพทิวทัศน์ฝั่งนั้นขึ้นมา
การเลือกปฏิบัติลักษณะนี้ สื่อชัดเจนถึงมุมมองของผู้กำกับ Ozu ไม่ใคร่ยกย่องความเห็นแก่ตัวของ Kōichi กับ Shige และขณะเดียวกันเป็นอารัมบทเพื่อแนะนำสู่อพาร์ทเม้นท์ของ Noriko ในฉากถัดไป
อันนี้ก็เลือกปฏิบัติเหมือนกันนะ! ภาพซ้าย Noriko พัดลมให้พ่อ-แม่สะใภ้ ระหว่างรับประทานอาหารเย็น (อาหารของเธอยังวางอยู่ ไม่เร่งรีบรับประทาน) ช็อตถัดมา Kōichi กับ Shige นั่งเฝ้ารอคอยพ่อ-แม่กลับบ้าน ร้อนนักพัดให้ตนเอง ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความเย็นให้ใครอื่น
เกร็ด: Atami คือเมืองตากอากาศติดทะเล อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว ห่างประมาณ 100 กิโลเมตร
น่าเสียดายที่ผมค้นหาข้อมูลบทเพลง สร้างความหนวกหูรำคาญให้สองตา-ยายไม่ได้ แต่สังเกตจากเนื้อคำร้องแปลใน Subtitle สามารถสื่อแบบอ้อมๆได้ว่า ‘I miss them all’ หมายถึงพวกเขากำลังครุ่นคิดถึงลูกๆของตนเอง จนไม่สามารถหลับนอน (ในบริบทของเพลงนี้จริงๆ เป็นการเพ้อรำพันถึงหญิงสาวคนรัก)
นัยยะของ Sequence นี้ สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างคนสองรุ่น จะให้ผู้สูงวัยหลับนอนหัวค่ำ มาเพลิดเพลินสนุกสนานดึกๆดื่นๆยันเช้าแบบหนุ่มๆสาวๆคงไม่ไหวกระมัง
ถึงทิวทัศน์ท้องทะเลจะสวยงามแค่ไหน ‘สไตล์ Ozu’ ก็จะไม่ถ่ายให้ผู้ชมเห็น (นอกจากขณะร้อยเรียงภาพ อารัมบทเข้าตอนเท่านั้น) ซึ่งช็อต 45 องศา ปู่-ย่านั่งจับจ้องมองท้องทะเล พวกเขากำลังเหม่อมองถึงอนาคตลูกๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ตระหนักได้ว่าใครๆเหมือนจะไม่ต้องการ ใกล้ถึงเวลาจะต้องกลับบ้านแล้วสิ
สิ่งที่ผมถือว่าเลวร้ายสุดในการกระทำของ Shige บอกกับลูกค้าขณะทำผมว่า ชาย-หญิงสูงวัยทั้งสองที่เดินผ่านไปนี้ คือญาติห่างๆของตนเอง นี่แสดงถึงความไม่รักดี อับอายในชาติกำเนิด พยายามทอดทิ้งอดีต แล้วสรรค์สร้างชีวิต/ภาพลักษณ์ใหม่ (เลยประกอบอาชีพทำผม)
แต่เราก็อย่าไปมองอคติต่อเธอด้านเดียวเลยครับ มันย่อมมีสาเหตุปัจจัยบางอย่าง อาทิ เคยพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย ชีวิตตกทุกข์ยากลำบาก เลยต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่
99% ของหนังไม่มีการขยับเคลื่อนกล้อง เว้นเพียง 1% ช็อตนี้ที่ค่อยๆเคลื่อนไหลจากป้ายสุสาน พบเห็นปู่-ย่า นั่งเฝ้ารอคอยเวลาเย็น เพื่อว่าพวกเขาจะได้แยกย้ายไปหาที่พักหลับนอน
– พ่อ Shūkichi ไปก้งเหล้ากับเพื่อนเก่า
– แม่ Tomi พักค้างแรมยังห้องของ Noriko
การเคลื่อนกล้องของซีนนี้ มีนัยยะถึงชีวิตที่เลื่อนลอยของพ่อ-แม่ ถูกลูกๆผลักไสส่ง ทอดทิ้งขว้าง แทบไม่หลงเหลือใครให้สามารถพึ่งพา ถือเป็นจุดจบความเป็นครอบครัว (เลยเลือกสถานที่สุสาน) เพราะทุกคนต่างแยกย้ายกันออกจากบ้าน ทางใครก็ทางมัน
Shūkichi นัดพบเจอเพื่อนเก่า แต่การสนทนาของพวกเขาไม่ใช่ ‘สไตล์ Ozu’ แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะ Overhead Shot เพราะถ่ายติดแขนด้านข้าง และมองลึกเข้าไป
– มุมของ Shūkichi พบเห็นเด็กๆกำลังอ่านหนังสือทำการบ้าน
– ฝั่งของเพื่อน พบเห็นภรรยากำลังพับผ้า
นัยยะของฉากนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีดั้งเดิมของชีวิต และ ‘สไตล์ Ozu’ นี่คือโลกใบใหม่สำหรับคนหนุ่มสาว คนแก่ๆอย่างพวกเขาทำได้แค่ดื่มเหล้า เมาหรรษา หวนระลึกครุ่นนึกถึงอดีต ความสุขเคยมีเมื่อครั้งวันวาน
การก้งเหล้าของสามเพื่อนเก่า
– ร้านแรก พวกเขานั่งโต๊ะล้อมสามด้าน หัวข้อสนทนาก็หวนระลึกความหลังเมื่อครั้นวันวาน
– ร้านสอง ทั้งสามนั่งเรียงแถวหน้ากระดาน ระบายความอึดอัดอั้นที่เกิดจากลูกๆหลานๆไม่มีใครได้ดั่งใจ (คนหนึ่งเมาหลับไปแล้ว อีกคนพร่ำไม่หยุด Shūkichi อยู่กึ่งกลางพยายามบอกว่าสิ่งที่ตนพบเจอก็ไม่แตกต่างกัน)
Noriko นวดให้แม่สะใภ้ เป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจไมตรีจิตที่ดี ทั้งๆก็ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ หนุนหลัง พึ่งพักพิงได้ทุกสิ่งอย่าง
เพราะไม่รู้จะไปอาศัยหลับนอนแห่งหนไหน ในสภาพเมามายขาดสติเลยถูกตำรวจพาตัวกลับมาส่งยังบ้านของ Shige ทรุดนั่งลงตรงเก้าอี้ทำผม เงามืดอาบปกคลุมใบหน้า เป็นการสะท้อนสภาพจิตใจที่เต็มไปด้วยความผิดหวังต่อลูกๆ … ผู้กำกับ Ozu นำเสนอฉากนี้ราวกับว่า ถึงจะเมาปลิ้นสิ้นสภาพเพียงไหน แต่พ่อยังได้ยินทุกสิ่งอย่างที่ลูกสาวพูดพาดพิงถึงตนเอง
ถ้าไม่ใช่คนญี่ปุ่นอาจไม่รับรู้ว่าภาพนี้คืออะไร คำตอบคือ ปราสาท Osaka สถานที่ขึ้นชื่อโด่งดังที่สุดของเมือง ซึ่งพ่อ-แม่ จำต้องแวะลงกลางทางแบบไม่ได้ครุ่นคิดเตรียมการ
ซึ่งปราสาท Osaka ก็ได้เป็นจุดหมุนของหนัง ขณะที่พ่อ-แม่ พักค้างแรงอยู่ที่บ้านของลูกชายคนเล็ก Keizō สังเกตช็อตนี้ถัดมานี้ พบเห็นปราสาทอยู่ลิบๆลางๆ
เช่นกันกับห้องพักของ Keizō มองออกไปนอกหน้าต่างยังคงเห็นปราสาท Osaka ตั้งตระหง่าน
พ่อพบเห็นสภาพอาการป่วยของแม่ ใบหน้าของเขาช็อตนี้ปกคลุมด้วยความมืดมิด สะท้อนถึงความหวาดสะพรึงกลัวจับจิตจับใจ หรือเวลานั้นกำลังใกล้เข้ามาแล้ว
สวยสุดของแม่ เธอพูดว่าแข็งแรงดีมีกำลังใจพร้อมเดินทางต่อ แล้วยกมือขึ้นปัดเสยผม แต่นี่คือช็อตสุดท้ายที่พบเห็นการขยับเคลื่อนไหวของเธอ
ด้วย ‘สไตล์ Ozu’ หนังไม่นำเสนอภาพความตายของแม่ขณะหมดสิ้นลม มากสุดก็เห็นแค่ขณะล้มหมอนนอนป่วย สามีและลูกๆห้อมล้อมข้างกาย แล้วตัดมาช็อตนี้ ท่าเรือยามเช้าพระอาทิตย์กำลังขึ้น จากนั้นร้อยเรียงชุดภาพแห่งความว่างเปล่า ท้องถนนหนทาง รางรถไฟ(ไม่มีแล่นสวน) ซึ่งล้วนสื่อสัญลักษณ์ได้ถึงการจากไปทั้งหมด
ความตายในประเพณีชาวญี่ปุ่นช่างสุดแสนเรียบง่าย แค่เอาผ้ามาปิดคลุมใบหน้า เท่านี้ใครๆก็รับรู้ว่าเธอได้สิ้นลมจากไปแล้ว และสังเกตว่าสาวๆทั้งหลายจะร่ำไห้เศร้าโศกนั่งอยู่ข้างๆ แต่บุรุษจะปลีกตัวออกมา ไม่ร่ำไห้ด้วยน้ำตา แต่เศร้าโศกรวดร้าวจากภายใน
ความสายไปของ Keizō มาพร้อมกับดอกไม้ที่เหี่ยวเฉากร่วงโรย
Noriko เดินออกไปตามพ่อที่กำลังยืนเหม่อจับจ้องมองท้องฟ้ามหาสมุทร จิตใจของเขาตอนนี้คงล่องลอยไม่อยู่กับเนื้อกับตัว มุมกล้อง 45 องศา ครุ่นคิดทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน ใครว่าอะไรก็ตามนั้น ยังมิอาจทำใจยินยอมรับการจากไปของภรรยาสุดที่รัก
ภาพงานศพช็อตนี้ ถือว่าไล่เลียงลำดับตามความสำคัญของครอบครัว เริ่มจากพ่อ Shūkichi, ลูกชายคนโต Kōichi, ลูกสาวคนโต Shige, ลูกชายคนเล็ก Keizō, ภรรยาลูกสะใภ้ Noriko และท้ายสุดคือลูกสาวคนเล็ก Kyōko
ช็อตที่ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึงมากสุดของหนัง อีกหนึ่งลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Ozu’ พบเห็นสมาชิกในครอบครัว นั่งไล่เรียงลำดับตามความสำคัญ
– กึ่งกลางโต๊ะคือลูกชายคนโต Kōichi ถือว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว Hirayama พึ่งพาได้มากที่สุดของพี่ๆน้องๆ
– พ่อ Shūkichi นั่งอยู่ฝั่งซ้ายของภาพ (ฝั่งขวาของ Kōichi) เป็นตำแหน่งที่ปรึกษา/อาวุโส คอยให้คำแนะนำ แต่ไร้ซึ่งอำนาจควบคุมสั่งการใดๆ
– ลูกสาวคนโต Shige นั่งตำแหน่งถัดจากพ่อ สะท้อนถึงบทบาทอิสตรีในสังคมญี่ปุ่น ยังคงเป็นช้างเท้าหลังบุรุษ
– ลูกชายคนเล็ก Keizō นั่งอยู่ข้างๆพี่ Kōichi ซึ่งถือเป็นตำแหน่งรองประธาน/ผู้ช่วยหัวหน้า คอยรินเทเหล้าให้ และควบคุมดูแลกิจการภายในหลายสิ่งอย่าง
– ภรรยาลูกสะใภ้ Noriko และท้ายสุดคือลูกสาวคนเล็ก Kyōko นั่งถัดจาก Keizō นัยยะแบบเดียวกับ Shige อิสตรีมีความสำคัญถัดจากบุรุษเท่านั้น
มันก็คือดอกเดียวกับตอนที่ Keizō มาถึงบ้านสายเกินไป แต่ถ้าเปรียบเทียบกันให้ดีๆช่วงขณะนี้จะพบเห็นความแตกต่างที่ทำให้รู้สึกสดชื่นเบิกบาน เพราะ Kyōko เหมือนจะตกหลุมรัก Noriko ทั้งสองเข้าขากันได้ดี คงจะกลายเป็นเพื่อนสนิทสนมกันต่อไป
พ่อมอบนาฬิกาเรือนเก่าของแม่ ให้เป็นสินน้ำใจแก่ Noriko ซึ่งคือสัญลักษณ์ของการก้าวดำเนินต่อไปข้างหน้า ไม่ใช่หยุดอยู่นิ่ง(เหมือนนาฬิกาตาย)แบบที่เธอแสดงออกอยู่ในปัจจุบัน ให้อดีตคือความทรงจำ/บทเรียนสอนใจ ค้นหาหนุ่มหล่อคนใหม่ แต่งงานมีครอบครัว เลิกโทษว่าเป็นความผิดของตนเอง เช่นนั้นแล้วเมื่อไหร่ชีวิตจะพานพบเจอความสงบสุข
‘สไตล์ Ozu’ ไม่มีคำว่า Over-Acting คือถ้ามันสะดีดสะดิ้งเกินไป ก็อย่างที่ Setsuko Hara แสดงออกในช็อตนี้ ปิดหน้าปิดตา ไม่ให้ผู้ชมเห็นอาการร่ำไห้
อีกหนึ่งลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Ozu’ ถ่ายในโถงทางเดินแล้วมีตัวละครเดินผ่าน สะท้อนถึงชีวิตที่ดำเนินไป ซึ่งขณะนี้เด็กๆกำลังขับร้องเพลง People of the old days, Where are they now?
คุณป้า Toyo Takahashi (อีกหนึ่งนักแสดงขาประจำของ Ozu) เพื่อนบ้านของครอบครัว Hirayama โผล่มาทักทายตอนต้นเรื่อง และอีกครั้งช่วงท้ายเพื่อเติมเต็มวัฏจักรครบรอบ แต่คราวนี้ด้านหลังของพ่อไม่มีแม่ให้พักพิง
“Living alone, I feel the days will get very long”.
ช็อตสุดท้ายของหนังคือภาพเรือกำลังแล่นล่อง นั่นคือครรลองของชีวิต ตราบใดที่ยังมีแรงลมหายใจ ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน อดรนทน ดำเนินชีพไป
ตัดต่อโดย Yoshiyasu Hamamura อีกหนึ่งขาประจำของผู้กำกับ Ozu ร่วมงานกันตั้งแต่ The Brothers and Sisters of the Toda Family (1941) จนถึง An Autumn Afternoon (1962)
ดำเนินเรื่องโดยมีพ่อ Shūkichi และแม่ Tomi คือศูนย์กลาง โดยสามารถแบ่งออกเป็นตอนๆได้ดังนี้
- ปฐมบท, ตระเตรียมตัวออกเดินทางจาก Onomichi
- บ้านของลูกชายคนโต Kōichi
- บ้านของลูกสาวคนโต Shige
- Noriko พาเที่ยวกรุงโตเกียว
- พักร้อนยังออนเซ็น Atami
- หวนกลับมาโตเกียวแต่ไร้ที่อยู่
- พ่อเลยไปดื่มเมามายกับเพื่อนเก่า
- ส่วนแม่ค้างแรมยังห้องของ Noriko
- ระหว่างเดินทางกลับ แวะลงกลางทาง Osaka พบเจอลูกชายคนเล็ก Keizō
- พอกลับมาถึงบ้าน แม่ล้มป่วยหนัก ทำให้ทุกคนต้องออกเดินทางมาหา ไล่เรียงจาก Kōichi, Shige, Noriko สุดท้ายคือ Keizō มาถึงไม่ทันกาล
- งานศพและการร่ำลา
ลีลาการลำดับภาพ ‘สไตล์ Ozu’ จะมีลักษณะเวียนวนดั่งวัฏจักร ภาพแรก-สุดท้าย มักพบเห็นสิ่งๆเดียวกัน แต่อาจสลับข้างมุมมอง อาทิ พ่อ-แม่ตระเตรียมตัวออกจากบ้าน เริ่มต้นพวกเขาจะหันไปทางขวา ขณะที่ภาพสุดท้ายพวกเขาจะหันไปทางซ้าย
สิ่งที่ผมคลั่งไคล้มากๆใน ‘สไตล์ Ozu’ คือการร้อยเรียงชุดภาพที่มีนัยยะคล้ายคลึง หรือบางสิ่งอย่างเป็นจุดหมุน เพื่อสร้างสัมผัสของบทกวี อาทิ
- ปัจฉิมบทแนะนำเมือง Onomichi, เริ่มจากภาพท่าเรือ เด็กๆเดินไปโรงเรียน รถไฟแล่นผ่าน และด้านหน้าบ้านครอบครัว Hirayama
- พ่อ-แม่ไปพักร้อนออนเซ็น Atami ค่ำคืนที่แสนยาวนาน ร้อยเรียงภาพห้องข้างๆไม่รู้จักหลับจักนอน
- เมื่อมาถึง Osaka, ภาพแรกคือปราสาท Osaka ซึ่งกลายเป็นจุดหมุนของตอน ช็อตถัดมาพบเห็นรางรถไฟ (ปราสาทจะเห็นเลือนๆลางๆ) และเมื่อตอนสลับไปยังบ้านของ Keizō ภาพด้านนอกก็ยังพบเห็นปราสาทอยู่ลิบๆ
- การเสียชีวิตของแม่, เริ่มจากภาพท่าเรือ จอดอยู่ริมฝั่ง ไม่มีเด็กๆเดินบนถนน รางรถไฟที่ว่างเปล่า
ฯลฯ
เพลงประกอบโดย Kojun Saitō (1924 – 2004) ขาประจำยุคหลังของผู้กำกับ Ozu ร่วมงานกันตั้งแต่ Tokyo Story (1953) จนถึง An Autumn Afternoon (1962)
บทเพลงเลือกใช้เครื่องดนตรีตะวันตก เน้นเสียงไวโอลินที่มีความโหยหวน เสียดแทง สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ บ่งบอกถึงจิตวิญญาณผู้คน ยุคสมัยที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป เพราะประเทศญี่ปุ่นทศวรรษนั้นจำต้องรับเอาค่านิยมใหม่ๆ เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมเก่าๆ คนแก่ๆทั้งหลายจึงค่อยๆถูกหลงลืมเลือน ก็ไม่เชิงว่าเป็นโศกนาฎกรรม แต่สร้างความรวดร้าวทรมานเหลือทน
Tokyo Story มองผิวเผินคือเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว พ่อ-แม่ผู้แก่เฒ่า ออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนลูกๆหลานๆ พานพบเห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาที่ชวนหดหู่ ชอกช้ำระกำใจ วิถีชีวิตโลกยุคสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ช่างผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม
แต่ลึกๆเนื้อในเราควรต้องครุ่นคิดตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า เพราะอะไร? ทำไม? ลูกๆหลานๆ (รวมไปถึงพ่อ-แม่) ถึงได้มีความครุ่นคิด การแสดงออกที่ผิดแผกแตกต่าง ปรับเปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิมที่เคยเป็นมา
ซึ่งดูจากบริบทพื้นหลังของเรื่องราว สามารถหาข้อสรุปได้จากยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงไปนั้นล้วนได้รับอิทธิพลจากสงครามโลกครั้งที่สอง
- สำหรับปู่-ย่า Shūkichi และ Tomi เพราะเกษียนอายุการทำงานแล้ว เลยไม่รับล่วงรู้ความทุกข์ยากลำบากของชีวิตในช่วงหลังสงคราม ได้แค่รำพึงพัน หวนระลึกความหลัง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงแสดงความคิดเห็นอะไรได้อีก
- Kōichi คงเพราะพานเห็นความตายมามาก (อาจทำงานหน่วยแพทย์ในช่วงสงคราม) เลยเกิดความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ไม่ค่อยมีกำลังใจ ไร้ความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง (แต่ก็ยังทุ่มเททำงานไปตามหน้าที่รับผิดชอบ)
- Shige คงได้รับความสูญเสียด้านทรัพย์สินอย่างมากในช่วงระหว่างสงคราม ทำให้เธอกลายเป็นคนละโมบโลภมาก ปากจัดจ้าน นิสัยเห็นแก่ตัว โหยหาความสุข/พึงพอใจส่วนตนเท่านั้น
- การสูญเสีย Shōji ทำให้ Noriko ไม่สามารถก้าวเดินต่อไปในชีวิต จมปลักอยู่กับอดีต โทษว่ากล่าวความผิดของตนเอง ตกหลุมรักคนอื่นกลับครุ่นคิดว่านอกใจสามีเดิม
- Keizō ช่วงสงครามน่าจะยังไม่โตพอสมัครทหาร แต่พบเห็นการสูญเสียพี่คนรอง เลยพยายามปลีกตัวออกห่างครอบครัว ไม่เร่งรีบร้อนทำอะไร เลยมาสายทุกๆครั้งไป
- Kyōko อาจเพราะยังไม่โตเท่าไหร่ในช่วงระหว่างสงคราม ปัจจุบันเลยยังสามารถมองโลกในแง่ดี เต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส ปฏิเสธความชั่วร้ายเสียงขันแข็ง
ผู้กำกับ Ozu ไม่ได้ต้องการนำเสนอเรื่องราวที่ลูกๆเป็นศัตรูของพ่อ-แม่ ทำตัวอกตัญญูไม่รู้คุณ หรือต้องให้คนนอกอย่าง Noriko เป็นแบบอย่างที่ดีต่อ Kyōko … ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามสะท้อนถึงอิทธิพลภายนอก สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในจิตใจคน
ตัวละครของ Chishū Ryū มักคือตัวตายตัวแทนผู้กำกับ Ozu ในบริบทของหนังถือว่าเป็นคนยุคเก่า (แต่ Ozu เพิ่งอายุ 49-50 ปีเองนะ) เมื่อพานพบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับอิทธิพลจากสงครามโลกครั้งที่สอง คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะปรับตัว คงมีทั้งสิ่งรับได้-รับไม่ได้ ซึ่งการเสียชีวิตของภรรยา คงต้องการสะท้อนถึงโลกใบเก่าที่ถือว่าหมดสูญสิ้นไปแล้ว
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความพ่ายแพ้สงคราม เลยจำต้องยินยอมรับแนวความคิด วัฒนธรรมชาติชาติตะวันตก มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่แค่สังคมชาวญี่ปุ่นเท่านั้นนะครับ ผลกระทบดังกล่าวค่อยแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ประเทศไทยก็เฉกเช่นกัน
หนังเข้าฉายในญี่ปุ่น วันที่ 3 พฤศจิกายน 1953 แม้ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี แต่ผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศมองว่า ‘too Japanese’ เลยไม่ได้รับความกระตือรือร้นแบบผลงานของ Akira Kurosawa, Kenji Mizoguchi และ Teinosuke Kinugasa กว่าจะได้รับโอกาสฉายต่างประเทศก็เมื่อปี 1958 โดย British Film Institute คัดเลือกมาเข้าร่วมเทศกาลหนังยัง National Film Theatre ณ กรุงลอนดอน (จัดขึ้นเป็นปีแรก) ปรากฎว่าคว้ารางวัล Sutherland Trophy นั่นทำให้ชื่อเสียงของ Yasujirō Ozu กระฉ่อนไปทั่วทวีปยุโรป
เกร็ด: งานจัดฉายภาพยนตร์ของ BFI ที่ National Film Theatre เริ่มต้นปี 1958 ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน (นานเป็นอันดับ 4 ถัดจาก Venice, Cannes, Berlin) แต่เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็น London Film Festival เมื่อปี 1997 นี้เอง
สำหรับสหรัฐอเมริกา เข้าฉายครั้งแรกยัง New Yorker Theater เมื่อปี 1972 (หลังจาก Ozu เสียชีวิตจากไปแล้ว) ปรากฎว่าได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม และไม่นานจากนั้นทั่วโลกก็เริ่มตระหนักว่านี่คือผลงานของผู้กำกับระดับปรมาจารย์ ติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลแทบทุกชาร์ท
– นิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 3
– นิตยสาร Sight & Sound: Director’s Poll 2012 ติดอันดับ 1
– นิตยสาร Cahiers du cinéma: Top 100 of all time ติดอันดับ 14
– นิตยสาร Empire: The 100 Best Films Of World Cinema ติดอันดับ 16
– นิตยสาร TIMEOUT: The 100 Best Movies Of All Time ติดอันดับ 76
– นิตยสาร TIME ติดหนึ่งใน All-TIME 100 Movies (ไม่มีแจ้งอันดับ)
– เทศกาลหนัง Busan: Asian Cinema 100 Ranking ติดอันดับ 1
– แม้แต่ในญี่ปุ่นเอง นิตยสาร Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made 2009 ติดอันดับ 1
เกร็ด: ผู้กำกับ Yōji Yamada ได้ทำการสร้างใหม่ (Remake) ตั้งชื่อว่า Tokyo Family (2013) โดยปรับเปลี่ยนพื้นหลังเป็นยุคสมัยปัจจุบัน/Millennium เห็นว่าคุณภาพใช้ได้อยู่นะ เผื่อใครสนใจอยากหามารับชม
ถึง Tokyo Story ไม่ใช่ผลงานของ Ozu ที่ผมชื่นชอบสุด แต่ถือว่าอยู่ในระดับโปรดปราน (เรื่องชอบที่สุดคือ Floating Weeds) รับชมทุกครั้งเพื่อย้อนเตือนสติตนเอง อย่าได้มีพฤติกรรมแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ ปากว่าตาขยิบ ให้เวลากับครอบครัว พ่อ-แม่ ลูก หลาน พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อใดตนเองแก่เฒ่าจะได้ไม่ถูกกรรมสนอง ทอดทิ้งให้อยู่ตัวคนเดียว … แต่คงคาดหวังอะไรกับอนาคตไม่ได้อยู่แล้ว
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับคนเชื่อว่าความสุขสูงสุดของชีวิตคือการแต่งงาน มีครอบครัว เลี้ยงดูลูกหลาน นี่เป็นภาพยนตร์ที่จะชวนให้คุณฉุกครุ่นคิด เกิดจิตสำนึกดีงาม และทัศนคติบางอย่างในการดำรงชีพ เพื่อว่าทุกคนจักสามารถค้นพบวิธีการ อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสันติสุข ไม่หวนกลับมาเสียใจภายหลัง
แล้วคนที่กำพร้าพ่อ-แม่ เติบโตในสถานเลี้ยงดู หรือข้างถนน รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะเกิดความรู้สึกแบบเดียวกับคนที่มีครอบครัวอบอุ่นอยู่พร้อมหน้าหรือเปล่า? จะบอกว่าผมก็ครุ่นคิดจินตนาการไม่ออกสักเท่าไหร่ คงมีทั้งคนที่โหยหาและสมน้ำหน้า ถึงครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ แต่สุดท้าย ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ คือสัจธรรมความจริงถูกต้องยิ่งกว่า
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย
คำโปรย | Tokyo Story ไม่ใช่แค่จิตวิญญาณชาวญี่ปุ่น ชนชาติเอเชีย แต่ยังคือภาพยนตร์ทรงคุณค่าระดับโลก
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | โปรดปราน
Tokyo Story (1953)
“หนึ่งในภาพยนตร์สัญชาติเอเชีย ที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่าดีที่สุดในโลก”
(3/12/2015) ประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำของวงการภาพยนตร์เอเชียคือ ญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่เพราะเป็นชาติแรกที่เริ่มผลิตสร้างหนังแต่อย่างไร จีนกับอินเดียก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆกัน แถมความนิยมของทั้งสองประเทศต่อสื่อประเภทนี้มีมากกว่าเป็นไหนๆ แต่เพราะญี่ปุ่นมีปรมาจารย์ภาพยนตร์ถึง 2 คน ได้รับการยกย่องยอมรับว่าเป็นที่สุดของวนการ คนแรกคือ Akira Kurosawa คนที่สองคือ Yasujirō Ozu
Yasujirō Ozu เป็นผู้กำกับที่มีแนวทางของตัวเองชัดเจนมากเว่อ ถ้าใครได้รับชมผลงานของปู่แกหลายๆเรื่อง ไม่สิแค่เรื่องเดียวก็เพียงพอ จะสามารถจับแนวทาง Direction ได้ทันที โดยเฉพาะวิธีการถ่ายภาพที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นักแสดงที่แทบจะยกชุดมาจากเรื่องก่อนๆ (แม้แต่ชื่อตัวละครยัง reuse ซ้ำๆเดิม) กลิ่นอาย บรรยากาศ พล็อตเรื่อง ใจความสำคัญ เน้นความเรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องหวือหวือหวา, ผลงานก่อนหน้าหรือหลังยุค Tokyo Story ไม่ได้มีความต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด คือเนื้อเรื่องที่กินใจ สอนศีลธรรมผู้คนมากที่สุดก็ว่าได้
ผมรับชมหนังของ Ozu มาก็หลายเรื่อง เอาจริงๆคือเบื่อครับ เลี่ยนก็ว่าได้ ในเรื่องสาระประโยชน์ถือว่าดีมากๆ สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตไว้เยอะทีเดียว แต่ไม่ใช่หนังที่สามารถดูติดต่อกันหลายเรื่องไหว เพราะความที่การเล่าเรื่องแบบเนิบๆ ค่อยเป็นค่อยไป บางเรื่องก็เชื่องช้าจนง่วงหลับ เป็นในทำนองเดียวกันแทบทั้งหมด เรียกว่าเป็นหนังของชาว Slow Life ก็ว่าได้ ถ้าแบบนานๆรับชมที บริโภคความงดงามของศิลปะ แบบนี้ก็ยังพอรับไหว
นักแสดง ดูกี่เรื่องๆก็ชุดเดิม ยกกันมาหมดเลย คงเพราะผู้กำกับชอบที่จะร่วมงานกับทีมนักแสดงชุดเดิมๆ มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย
– ข้อดี: ผู้ชมสามารถคาดเดาคาแรคเตอร์ อุปนิสัย แม้แต่ชื่อของตัวละครได้โดยทันที และมีความสนิทสนมคุ้นเคย(กับนักแสดง)เป็นอย่างดี
– ข้อเสีย: คือสับสนครับ เพราะถ้าดูหลายเรื่องติดๆกัน ก็จะเริ่มมึนงง ตัวละครเดิมแต่อะไรๆรอบข้างเปลี่ยนแปลงไป บางทีก็ให้ความรู้สึกไม่เข้าก็มี
การแสดงนักแสดงที่โดดเด่นเป็นอย่างมากใน Tokyo Story คือ Chishū Ryū ผู้รับบทพ่อ ปู่แกถือเป็นอีกสุดยอดนักแสดงแห่งยุค ที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก ขนาดว่า Japan Prize Awards ต้องให้ Special Award แก่ปู่เมื่อปี 1994 (น่าเสียดายที่ปู่แกเสียไปแล้ว)
คนที่สองคือ Chieko Higashiyama รับบทเป็นแม่ เธอไม่ได้แสดงภาพยนตร์มากสักเท่าไหร่ แต่มีชื่อเสียงจากฝั่งละครเวที ได้เคยร่วมงานกับ Ozu หลายครั้งแต่ไม่น่าถือว่าเป็นขาประจำ
และคนสุดท้าย Setsuko Hara นักแสดงเจ้าประจำ กิ๊ก/ชู้รักของ Ozu บทที่เธอได้รับมักเป็น ‘ตัวแทนผู้หญิงญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่’ (ในขณะนั้น) จนได้ฉายาว่า The Eternal Virgin โด่งดังคับฟ้าในช่วง Golden Era แห่งทศวรรษ 50s น่าเสียดายที่เลิกอาชีพนักแสดงตั้งแต่ปี 1963 (ปีที่ Ozu เสียชีวิต) ว่ากันว่าผู้คนมักจดจำชื่อจริงไม่ได้ และเรียนว่าเธอชื่อ Noriko ซึ่งเป็นชื่อในหนังทุกเรื่องที่เล่นให้กับ Ozu
สำหรับผู้กำกับภาพขาประจำของ Ozu คือ Yūharu Atsuta ด้วยสไตล์การถ่ายภาพที่เป็นเอกลักษณ์ ‘สไตล์ Ozu’ จะไม่เคยมีการเคลื่อนไหวกล้องเลยสักนิด ตั้งอยู่กับที่ตลอดเวลา แต่เป็นตัวละครขยับเคลื่อนไหวไปมา นิตยสาร Sight & Sound เปรียบเทคนิคการถ่ายทำนี้ว่า ราวกับการถ่ายรูปภาพเคลื่อนไหว, ซึ่งเทคนิคนี้มีข้อจำกัดอย่างหนึ่ง หลายครั้งเราจะไม่เห็นว่าตัวละครทำอะไรนอกภาพ Off-Screen กระนั้นผู้ชมส่วนใหญ่จะสามารถคาดเดาได้อยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไรมากมายเกินกว่าจะเข้าใจไม่ได้
หนังของ Ozu จะไม่ค่อยเห็นภาพ Scenery สวยๆเท่าไหร่ แต่จะมี Establish Shot เพื่อเกริ่นนำเรื่องราว และ Ending Shot ก่อนจากไป ถ้าตัวละครพูดว่า ‘วันนี้พระอาทิตย์สวยจัง’ จินตนาการต่อเอาเองนะครับ เราคงไม่มีวันได้เห็นภาพพระอาทิตย์สวยจังจากหนังของ Ozu แน่นอน
การจัดวางองค์ประกอบในหนัง ถ้าเรานั่งรอบโต๊ะเหลี่ยม จะทำยังไงให้ถ่ายภายได้เห็นหน้าทุกในโต๊ะได้ครบ? ด้วยสไตล์การถ่ายของ Ozu ทำให้เราเห็นภาพเหมือนภาพ 2 มิติ ถ้าในช็อตนั้นมีหลายตัวละคร ยังไงก็ต้องมีคนถูกบดบังแน่นอน แต่ไม่จำเป็นเสมอไปถ้าเราสามารถจัดตำแหน่ง วางองค์ประกอบภาพได้ชัดเจน ใครควรจะอยู่ตรงไหน เพราะอะไรทำไมต้องอยู่ตรงนั้น
Yoshiyasu Hamamura นักตัดต่อขาประจำของ Ozu ผมเพิ่งสังเกตพบจากการรับชม Tokyo Story รอบนี้ คือจังหวะหนังเปรียบได้กับ ‘ลมหายใจ’ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีรอบวัฎจักรของมัน กล่าวคือเมื่อมีเรื่องราวหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้น ภาพจะเริ่มจาก Establish Shot ถ่ายสถานที่/ห้องว่างๆแช่ทิ้งไว้แปปหนึ่ง จากนั้นมีคนเดินเข้าออก พูดคุยสนทนา กระทำโน่นนี่นั้น พอจบสิ้นหมดฉากนั้นแล้ว ตัวละครจะเดินออกจากฉาก แช่กล้องถ่ายสถานที่/ห้องว่างๆไว้แปปหนึ่ง แล้วค่อยไปเริ่มต้นกับใหม่ลักษณะนี้กับฉากถัดไป, หนังของ Alfred Hitchcock ก็มีลักษณะนี้ แต่เหมือน Ozu จะเป็นผู้เริ่มต้นก่อน
สำหรับงานเพลง Kojun Saitō ไม่ใช่นักประพันธ์ที่เน้นดนตรีที่ฟุ่มเฟืองจนกลบเสียงพูดสนทนาของตัวละคร บรรเลงดังขึ้นเฉพาะช่วงจังหวะที่ต้องการขับเน้นทางอารมณ์ เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับหนัง
ความสุดยอดของ Tokyo Story ที่เหนือชั้นกว่าผลงานชิ้นอื่นๆ คือ บทที่ร่วมเขียนโดย Ozu ร่วมกับ Kōgo Noda ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน พัฒนาบทหนังร่วมกันมาก็หลายเรื่อง ใช้เวลา 103 วันสำหรับการเขียนบท Tokyo Story ก่อนออกไปตระเวนหาสถานที่ถ่ายทำจริงๆ, พล็อตหนังของ Ozu มุ่งเน้นสะท้อนแนวคิดการใช้ชีวิต มุมมองต่อผู้คนรอบข้าง ครอบครัว และสังคม
เราไม่จำเป็นต้องเปลืองสมองครุ่นคิดเท่าไหร่เวลารับชมหนังของ Ozu เพราะมีความเรียบง่าย ย่อยมาให้แล้วทุกสิ่งอย่าง ใช้จิตสำนึกหรือจิตวิญญาณ มีความเป็นผู้ใหญ่ในการรับชม นี่อาจไม่ใช่สไตล์หนังที่ลึกล้ำนัก แต่ราวกับบทเรียน คติธรรมสอนการใช้ชีวิต ให้ผู้ชมได้ไปรู้สึก เข้าใจ ครุ่นคิดต่อยอดเอาเอง ‘เราควรใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อได้พบเจอสถานการณ์เช่นนี้’
หนังของ Ozu ถือว่าเป็นต้นตำหรับหนังสไตล์ Feel Good แม้ความตายตอนจบของ Tokyo Story จะไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีแต่อย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกสำนึกเข้าใจ ใคร่ครวญไตร่ตรอง ฉันต้องคิดกระทำอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังกลายเป็นความจริงในชีวิต
นี่คือ Masterpiece ของเอเชียที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ใครที่เคยเห็นชาร์ทการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ล้วนต้องมีหนัง 2 เรื่อง ที่ไม่ Tokyo Story ก็ Seven Samurai ผลัดกันติดอันดับ 1 และ 2 อยู่เสมอ ผู้ชมทุกยุคทุกสมัย ดูหนังไม่เป็นก็ยังสามารถสัมผัสรู้สึก เข้าถึงความยิ่งใหญ่นี้ได้
ใครที่ชื่นชอบหนัง และยังไม่มีโอกาสได้ดู Tokyo Story รีบหาดูเสียนะครับ
คำโปรย : “ผลงานระดับตำนาน กับผู้กำกับระดับตำนาน Yasujirō Ozu สไตล์การกำกับภาพที่เป็นเอกลักษณ์ เนื้อเรื่องที่กินใจ การตัดต่อ ใส่เสียงที่เรียบง่าย นุ่มนวล แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งไปถึงทรวง”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : FAVORI
Leave a Reply