Tokyo Tower: Mom and Me, and Sometimes Dad

Tokyo Tower: Mom and Me, and Sometimes Dad (2007) Japanese : Joji Matsuoka ♥♥♥♥♥

‘ลูกแน่ใจแล้วหรือ ที่จะให้แม่อยู่ที่นี่?’ จะมีลูกสักกี่คนในโลก ที่พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว สามารถตอบคำถามนี้อย่างเต็มใจว่า ‘แน่ใจสิ’, นี่เป็นหนังที่ผมชอบมากๆ และก็เกลียดสุดๆ, ชอบเพราะเป็นหนังที่จะทำให้เรารักแม่มากขึ้น ส่วนโคตรเกลียดเพราะการเห็นแม่ทนทุกข์ทรมาน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมเห็นคะแนนของหนังเรื่องนี้ใน IMDB ค่อนข้างต่ำ (7.5/10) ก็สงสัยมากว่าทำไม? เข้าไปอ่านคำวิจารณ์ฝั่งยุโรปอเมริกา ก็เริ่มเข้าใจ ด้วยพื้นฐานการใช้ชีวิตที่ต่างกัน วัฒนธรรมการเลี้ยงดู ครอบครัว ความสัมพันธ์ แนวคิด ทัศนคติ ฯ ไม่แปลกที่คนยุโรปอเมริกา จะไม่อิน หรือเข้าใจหนังที่เต็มไปด้วยอารมณ์เรื่องนี้, พวกเขามองว่านี่เป็นหนังที่เยิ่นเย้อยืดยาวและมีความธรรมดาจืดชืด ว่ากันตามตรงคือ ‘ไร้สาระ’ นั่นเพราะพวกเขาส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรือเห็นคุณค่าความสำคัญของครอบครัว นี่เป็นสิ่งที่เราจะไปต่อว่าอะไรพวกเขาไม่ได้นะครับ ความละเอียดอ่อนของเรื่องพรรค์นี้ ฝั่งเอเชียย่อมมีมากกว่าอยู่แล้ว, โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังที่ใช้อารมณ์เป็นตัวดำเนินเรื่อง เรายินดีที่จะร้องไห้ฟูมฟายทิชชู่หมดเป็นม้วนๆไม่อายใคร แต่กับฝรั่งนี่เป็นสิ่งน่าอับอายขายหน้า ไม่มีใครเขาเป็นกัน บางคนร้องไห้ไม่เป็นด้วยซ้ำ

Tokyo Tower เป็นหนังที่ผมกุรีกุจอ กระเสือกกระสนไปดูตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย (ทั้งๆที่ก็ไม่รู้หรอกนะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร) จำไม่ได้ว่าที่ Lido หรือ House Rama เพราะผมดู Soundtrack เท่านั้น, ดูจบออกมาตาแดงกล่ำ เวรเอ้ย! ไม่น่าพลาดมาดูหนังเรื่องนี้เลย นี่เป็นหนังที่ชอบมากๆ และเกลียดสุดๆ สองอารมณ์เกิดขึ้นพร้อมกันในหนังเรื่องเดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และตั้งแต่ที่ผมดูหนังมา นี่เป็นเรื่องเดียวในโลกที่ผมเกิดสองอารมณ์ขึ้นพร้อมกัน มันเป็นความพิศวงที่คงไม่เกิดขึ้นใครง่ายๆแน่ ซึ่งหนังเรื่องไหนที่สามารถทำให้ใครรู้สึกแบบนี้ได้ ไม่เรียกว่าโคตรดี จะเรียกว่าอะไรกัน?

กระนั้นด้วยความโคตรเกลียด นี่จึงเป็นหนังต้องห้าม ที่ทำให้ผมไม่อยากหยิบขึ้นมาดูบ่อยนัก ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นี่เป็นหนังเรื่องโปรดที่ผมดูซ้ำน้อยที่สุด ครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 เท่านั้น (โดยเฉลี่ยหนังเรื่องโปรดผมจะดู 1-2 ปีครั้ง 10 ปีขั้นต่ำก็ 5-6 รอบได้) จำได้ว่าตอนดู Tokyo Tower ครั้งที่ 2 ทนดูไม่จบด้วย เพราะตอนนั้นแม่ผมเพิ่งผ่าตัดอะไรสักอย่างเสร็จ ร่างกายอ่อนแอมาก ดูไปทรมานใจไป เลือกได้ผิดเวลาสุดๆ จากนั้นมาเลยไม่คิดหยิบหนังเรื่องนี้มาดูอีกเลย, กับครั้งนี้ก็ว่าเตรียมใจไว้แล้วแท้ๆ สุดท้ายดูจบนอนไม่หลับ ต้องหาหนังมาดูอีกเรื่องเพื่อล้างความรู้สึกเศร้าๆซึมๆออกไปจากอก หนังที่ดำเนินเรื่องด้วยอารมณ์ ต้องใช้อารมณ์ดู ถึงจะสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้

ผู้กำกับ Joji Matsuoka ไม่ค่อยมีผลงานหนังเท่าไหร่ เขาเป็นคนที่ทำหนังนานและค่อนข้างน้อย คงประดิษฐ์ประดอยค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ย 4-5 ปีจะมีหนังของเขาออกฉาย 1-2 เรื่องเท่านั้น นอกจาก Tokyo Tower แล้ว ผมจึงยังไม่เคยมีโอกาสดูหนังเรื่องอื่นของเขาอีกเลย

ดัดแปลงมาจากนิยายอัตชีวประวัติขายดีของ Lily Franky หรือชื่อเดิม Masaya Nakagawa (คือชื่อพระเอกในหนัง) นี่เป็นเรื่องราวชีวิตจริงของตัวเขากับแม่ และบางครั้งพ่อ, ตอนเด็กๆ แม่ทิ้งพ่อขี้เมา หนีจาก Tokyo กลับสู่ Kyushu เมืองบ้านเกิดของเธอ พอลูกโตขึ้นก็ออกจากบ้านไปเรียนต่อ ใช้ชีวิตสํามะเลเทเมา เรียนไม่จบ ตกงาน อาศัยอยู่ใน Tokyo ภายหลังพอรู้ว่าแม่ป่วยเป็นมะเร็ง จึงรับมาให้อยู่ด้วย ดูแลรักษา และใช้ชีวิตด้วยกันจนแม่เสียชีวิต, ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Suzuki Matsuo

นำแสดงโดย Jō Odagiri รับบท Masaya ลูกตอนโต, เด็กชายที่อาศัยอยู่กับแม่ตามลำพัง มีพ่อขี้เมาที่ชอบใช้ความรุนแรง ไม่แปลกที่โตขึ้นจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา, เขามีความต้องการเป็นอิสระ แยกออกจากครอบครัว ใช้ชีวิตด้วยตนเอง นั่นพอทำให้เขามีโอกาสจากบ้านไปเรียนที่อื่น จึงปล่อยตัวปล่อยใจให้ล่องลอยหลงใหลไปกับอบายมุขต่างๆ สุรานารี (ยังดีที่ไม่เลยเถิดถึงติดยา) นี่ทำให้เขาเรียนไม่จบ ติดหนี้ ไม่มีงานทำ กลายเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ, แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง จะว่าคือความอิ่มตัวหรือคิดเองได้ เขาตั้งคำถาม ‘ฉันจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่’ และ ‘ฉันมาอยู่ที่นี่เพื่ออะไร’ นับจากนั้นเขาจึงเปลี่ยนแปลงตัวเอง ช่วงเวลาไร้สาระจบสิ้นแล้ว ทำงานทำการ ไม่เลือกงาน ไม่งอแง ค่อยๆชดใช้หนี้ที่ติดอยู่ลดลงและหมดไป ไม่นานก็สามารถหาเลี้ยงดูแลตัวเองได้ ถือว่ากลับตัวกลับใจ เริ่มต้นชีวิตใหม่

แม่ รับบทโดย Kirin Kiki และลูกสาวตัวจริงของเธอ Yayako Uchida รับบท แม่ตอนสาวๆ (หน้าทั้งสองพิมพ์เดียวกันเปะ แทบจะแยกไม่ออก) แม่เป็นคนร่าเริงสดใส อัธยาศัยดี เป็นมิตร เข้ากับคนอื่นได้ดี ตอนสาวๆหนุ่มคงติดตรึม (แต่ก็ไม่รู้ทำไมถึงเลือกพ่อแบบนี้ น่าจะเพราะเขาหล่อเท่ห์ที่สุด)

มีฉากหนึ่งที่น่าสนใจ หลังจากแม่ทิ้งพ่อไป เธอได้พบกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง วันนั้นแม่พาลูกไปด้วย ปล่อยให้เขาเล่นเกมตู้ ส่วนเธอหายไปกับผู้ชายคนนั้น หนังไม่ได้บอกว่าหายไปไหน ใครๆคงคิดได้ว่าขึ้นห้องได้เสียกัน แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น เหมือนว่าการที่แม่พาลูกมาด้วย ก็เพื่อให้เขาเป็น ‘จิตใต้สำนึก’ ของเธอ อาจเพราะยังลังเลไม่แน่ใจ ว่าตนจะกล้าทำหรือเปล่า ลูกจะคิดรู้สึกยังไงถ้าให้ชายคนนี้เป็นพ่อใหม่ ซึ่งผมคิดว่าตอนทั้งสองอยู่ในห้อง เธอน่าจะปฏิเสธชายคนนั้น เราถึงไม่เห็นเขาต่อจากนั้นอีกเลย และตอนที่ลูกหาแม่จนเจอ เธอจึงสวมกอดเขาแน่น ราวกับว่าเธอได้ตัดสินใจอะไรบางอย่างที่สำคัญมากๆในชีวิต

บอกตามตรงผมดูไม่ออกว่า Kirin Kiki เริ่มแสดงตอนไหน น่าจะตอน Masaya โตแล้ว (เริ่มพร้อม Jō Odagiri) ผมชอบวิธีการพูดของแม่ (ตอนแก่) เหมือนมันเหน่อๆ ชอบลากเสียง ใครจะพาไปไหนก็ไป ให้ทำอะไรก็ทำ เออออห่อหมก ใช้ชีวิตง่ายๆ ไม่คาดหวังอะไร ดูเป็นชีวิตที่สุขมากๆ, หนังเรื่องนี้เราจะไม่เห็นแม่ตบตีทำร้ายลูกเลย เราจะเห็นแต่ช่วงเวลา ‘อบอุ่น’ และ ‘รอยยิ้ม’ ของแม่เสมอ, ตอนที่ลูกบอกว่าตนเรียนไม่จบ แม่มีสีหน้าผิดหวังเล็กน้อย แต่เราจะไม่เห็นเธอโศกเศร้าเสียใจ ได้ยินเสียงอีกทีกลับสดชื่น คึกคัก สดใส เป็นกำลังใจให้ลูกเสมอ, ตอนแม่บอกว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เธอก็ไม่ได้มีน้ำเสียงหวาดหวั่น พูดเหมือนมันเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่มีความสำคัญอะไร, หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยมุมมองของลูก ลับหลังแม่เป็นยังไงไม่รู้ แต่แสงสว่างอันสดใส นี่คือสิ่งที่แม่แสดงให้เขาเห็น, ซึ่งพอหนังทำให้เราเห็นช่วงเวลาแม่เป็น ‘ทุกข์’ มันเลยสะเทือนอารมณ์อย่างมาก

มะเร็ง (Cancer) คือเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเนื้องอก เนื้อร้าย เนื้ออันตรายที่ร่างกายไม่ต้องการ และส่งผลลุกลามต่อเซลล์รอบข้างที่มันเกาะกิน วิธีการรักษามะเร็งที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการตัดเนื้องอกนั้นออก กับผู้ป่วยในระยะแรกๆ การลุกลามของเนื้อร้ายยังไม่มาก จึงสามารถตัดออกได้ แต่กับคนที่ปล่อยปละละเลย ไม่รู้หรือไม่สนใจ เนื้อร้ายมักจะลุกลามจากเซลล์ไปสู่อวัยวะ ถ้าเป็นจุดสำคัญของร่างกายก็เป็นเรื่องเลยละครับ ตัดออกไม่ได้ก็ต้องรักษาด้วยวิธีอื่น, การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาโดยยา เพื่อควบคุมหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัว แต่การกระทำเช่นนี้มีผลข้างเคียงที่อาจจะต่อเซลล์อื่นที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง น้ำหนักลด ฯ อาการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ชนิดและปริมาณยา สภาวะความแข็งแรงของร่างกาย และความพร้อมทางจิตใจของผู้ป่วย

ถึงฉากนี้ทีไรผมเป็นต้องหันหน้าหนีทันที ทำใจดูไม่ได้ ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยคีโม ทำให้ผมจำไปจนวันตายเลย ชาตินี้จะไม่มีวันรักษาด้วยเคมีบำบัดแน่ๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น, ถึงจะเบือนหน้าหนี แต่เสียงของความเจ็บปวด ทรมาน ยังตามเสียดแทงเข้าหูซ้ายขวาให้ได้ยินอีก มันไม่สนุกเลยนะครับกับการเห็นคนดิ้นทุรนทุราย และถ้าคนๆนั้นเป็นคนที่เรารักที่สุด… นี่เป็นจุดที่วัดเลยว่า คุณจะชอบไม่ชอบหนังเรื่องนี้ ถ้าแปลความรู้สึกเจ็บปวดนี้เป็นความประทับใจซึมซาบเข้าไปในจิตใจได้ เชื่อว่าคุณย่อมต้องหลงรักหนังเรื่องนี้ แต่ถ้าไม่และเกิดความรู้สึกต่อต้าน อึดอัน ไม่แปลกที่คุณจะไม่ชอบหรือเกลียดหนังไปเลย

ผมมองเห็น ‘มะเร็ง’ สื่อความหมายได้อีกอย่างหนึ่ง เพราะความที่มันเป็นเนื้องอก เนื้อร้าย เนื้อที่ไม่มีประโยชน์ เหมือนก้อนกรรมของการกระทำ มวลรวมของความเลวร้าย, นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนผลลัพท์พฤติกรรมของ Masaya ที่ทำลับหลังกับแม่ ตอนที่เขาออกจากบ้าน กลายเป็นคนสำมะเลเทเมา เด็กเสเพล ไม่สนใจคนที่อยู่ข้างหลัง แม่ย่อมเป็นทุกข์เมื่อรู้ว่าลูกทำตัวไม่ดี แต่ไม่เคยแสดงความเจ็บปวดออกมา มะเร็งจึงเปรียบเสมือนมวลรวมของก้อนกรรมที่ Masaya เก็บสะสมไว้ เพราะเขาเคยทำไม่ดีเอาไว้เยอะ สิ่งที่ตอบแทนความเลวของเขา คือการต้องเห็นแม่ทรมานจากการเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหาร กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกินไม่ได้

พ่อ รับบทโดย Kaoru Kobayashi, ปรากฏตัวออกมาบางครั้งบางคราว แต่ก็สามารถแย่งซีนความโดดเด่นได้เสมอ เชื่อว่าคงมีคนสงสัยแน่ ทำไมพ่อถึงเป็นคนชอบทำอะไรไม่เสร็จ ค้างๆคาๆไว้ คำตอบก็คือ เพราะชีวิตเขาเหมือนขาดอะไรไปบางอย่างที่ไม่สามารถเติมเต็มได้ การทำไม่เสร็จก็เพื่อสร้างการมีตัวตนของตนเอง, ปมนี้น่าจะเกิดจากการขาดพ่อเป็นแบบอย่าง (เราจะไม่เห็นพ่อของพ่อในหนังนะครับ เราจะเห็นแค่แม่ของพ่อตอนต้นเรื่องเท่านั้น ผมเลยคาดการณ์ว่า พ่อของพ่อน่าจะทิ้งเขาไปตั้งแต่เด็ก) ถือว่า Masaya โชคดีที่มีพ่อ ‘บางครั้ง’ นั้นทำให้เขายังมีความทรงจำที่ดีกับพ่อ ไม่ใช่แค่ avant grade ชายขี้เมาที่พังประตูบ้านตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง

ระหว่างลูกที่ขาดพ่อ กับลูกที่ขาดแม่ โตขึ้นจะมีนิสัยต่างกันมาก
– ลูกที่ขาดพ่อ จะเหมือนขาดแบบอย่างในการใช้ชีวิต สำมะเลเทเมา เสเพล เกเร แต่จะต้องการความรัก ความอบอุ่นเหมือนแม่
– ลูกที่ขาดแม่ จะมีความก้าวร้าว เลือดเย็น เห็นแก่ตัวเพราะขาดความอบอุ่น แต่จะมีเสน่ห์ เท่ห์ ทำตัวนิสัยคล้ายๆพ่อ

Masaya โตขึ้น เขากลายเป็นคนคล้ายๆพ่อ (มีพ่อเป็นแบบอย่าง) ยังไม่สามารถเริ่มต้นอะไรสักอย่างได้เป็นจริงเป็นจัง แต่เพราะเขาได้รับความรักจากแม่ด้วย ทำให้สามารถกลับตัวกลับใจ คิดถึงหัวอกคนอื่น

ว่าไปตอนวัยรุ่นผมก็เป็นแบบ Masaya เปะๆเลยนะครับ ต้องการออกจากบ้าน ใช้ชีวิตเสเพล เงินทองหมดไปกับสุรานารี เรียนไม่จบ ตกงาน ฯ เหมือนว่าสมัยนี้ ใครๆก็เป็นกัน, มองย้อนตัวเองกลับไปดู รู้สึกวิตกแทนเด็กรุ่นใหม่ ครอบครัว การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขากลายเป็นแบบ Masaya ได้ทั้งนั้น, ผมไม่รู้มีวิธีการใดที่ป้องกันได้นะครับ การเลี้ยงลูกรูปแบบเดิมๆที่เคยมีมามันใช้ไม่ได้อีกแล้วในสมัยนี้ ใครมีลูกก็ลองนั่งคิดดู จะมีวิธีการใดที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับ Masaya ถ้าคิดไม่ออกคงได้แค่หวังว่า เวลาพวกเขาเผลอทำอะไรผิดพลาดไป จะสามารถเข้าใจ แก้ไข หาทางออก และเอาตัวรอดเองได้

ถ่ายภาพโดย Norimichi Kasamatsu, ในฉากนั้น ผมชอบการเลือกมุมกล้องมากๆ คือไม่ให้เราเห็นสีหน้าความทรมานของแม่ตรงๆ ให้เห็นแค่ด้านข้างดิ้นไปดิ้นมาอยู่ตรงขอบๆเฟรม ได้ยินเสียงโหยหวนครวญคราง แล้วถ่ายให้เห็นสีหน้าของ Masaya ที่แสดงความเจ็บปวด ลุกลี้ลุกลนทนไม่ได้ ทั้งๆที่ไม่ใช่คนป่วยรู้สึกเช่นนั้น แต่ใบหน้าแสดงอารมณ์ความเจ็บปวดออกมา นี่ถือเป็นฉากทรงพลังที่สุดในหนังแล้วนะครับ

ฉากในหนังที่เป็นภาพในโปสเตอร์ ถือเป็นอีกฉากที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังเช่นกัน ใช้การถ่ายแบบสโลวโมชั่น พร้อมเสียงบรรยายขึ้นว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่แม่เดินตามหลังฉัน จากตลอดชีวิตที่ฉันเดินตามหลังแม่มาตลอด นี่เป็นการล้อกันของเหตุการณ์ต้นเรื่องกับเหตุการณ์ท้ายเรื่อง นี่คือความสวยงามของชีวิตมนุษย์เลยนะครับ ตอนเกิดแม่เป็นผู้เลี้ยงดู พอเราโตขึ้นแม่แก่ตัวลง บทบาทจะกลับกัน เราจะเป็นผู้เลี้ยงดูแม่… แต่สมัยนี้มีสักกี่คน ที่สามารถทำให้ชีวิตสวยงามแบบหนังเรื่องนี้ได้

การตัดต่อ ใช้การตัดสลับระหว่างการเล่าเรื่องย้อนอดีต Flashback (เป็น Coming-of-Age ตั้งแต่เด็กจนโตของ Masaya) กับฉากที่แม่อยู่ในโรงพยาบาลรอการรักษาโรคมะเร็ง เล่าเรื่องคู่ขนานกันไปจนมาประจบกันเมื่อผลการวินิจฉัยออกมา และดำเนินต่อไปข้างหน้าถึงวิธีการรักษาและผลการรักษา, หนังใช้เสียงบรรยายของลูกประกอบการเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ มีลักษณะเหมือนอ่านจากไดอารี่บันทึกความทรงจำ (คงเป็นบันทึกของผู้แต่งนิยายจริงๆนะครับ)

Masaya จะมีช่วงที่เขาเห็นตัวเองตอนเป็นเด็กปรากฏอยู่ในฉากเดียวกันด้วย ผมเปรียบเด็กชายเหมือน ‘จิตสำนึก’ ของผู้ใหญ่ที่ก่อตัวเป็นรูปร่าง (ไม่ใช่ภาพหลอนนะครับ) เป็นภาพสะท้อนความต้องการของตนเอง สมัยก่อนเคยคิดอะไร ตั้งใจทำอะไร พอโตขึ้นทำไมทำไม่ได้ ก็หวนคิดถึงความคิดของตนเองตอนเด็ก, หนังจงใจทำให้เหมือน ตัวเขาวัยเด็กสอนตัวเองตอนเป็นผู้ใหญ่ ลองคิดเล่นๆดูมันเป็นเรื่องน่าอับอายแค่ไหนที่ให้เด็กสอนผู้ใหญ่ นี่น่าจะเป็นสิ่งที่หนังเสียดสีบอกเรา โตขึ้นทำไมคิดแล้วทำไม่ได้ ตอนเป็นเด็กยังคิดแล้วทำได้ดีกว่าเลย

เพลงประกอบโดย Tadashi Ueda (Nana-2005) มาเงียบๆแต่ลุ่มลึกมาก ตอนที่ Masaya ออกจากบ้านครั้งแรก ขึ้นรถไฟ เพลงประกอบเพราะๆ ซึ้งๆ เรียกน้ำตาได้ซึมๆ ใช้เปียโน ไวโอลิน เชลโล่ น่าจะแค่ Trio 3 เครื่องดนตรีนี้นะครับ เรียบง่ายและลงตัว, ตอนพาแม่ทัวร์ Tokyo หนังเพิ่มเครื่องดนตรี กลอง, กีตาร์, เบส ให้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป, สำหรับฉากเต้นคู่ในความฝัน ระหว่างแม่กับพ่อ บน Floor เพลง Quizas, quizas, quizas ของ Nat King Cole เรียบเรียงใหม่เป็นภาษาญี่ปุ่น (ได้ยินเพลงนี้นึกถึง In the Mood for Love ทุกทีเลย)

Tokyo Tower เป็นชื่อสถานที่และเป็นสิ่งสัญลักษณ์ของหนัง เปรียบเสมือนใจกลาง ศูนย์รวมจิตใจของชาวญี่ปุ่น (สร้างเพื่อเป็นหอคอยสื่อสาร เป็นสัญลักษณ์ของ Tokyo แบบเดียวกับหอไอเฟล เป็นสัญลักษณแทน Paris), ในครอบครัว แม่ก็ถือเป็นหัวใจหลักของบ้าน เสาหลักของครอบครัว, จะว่า Tokyo Tower ในหนังเรื่องนี้ เป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่สามารถแทนด้วย ‘แม่’ ก็ได้, ในหนังเราจะเห็น Tokyo Tower ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ (จากรูป) แล้วตอนสร้างเสร็จ จะเห็นทั้งตอนกลางวันและกลางคืน, ภาษาอังกฤษมีคำว่า Late ที่แปลว่าดึก (กลางคืน) ซึ่งแปลว่า สูงวัย ก็ได้, ตอนที่ Masaya มา Tokyo แรกๆ หนังจะถ่ายให้เห็น Tokyo Tower ตอนกลางวัน พอแม่มาอยู่ด้วยและตอนอยู่ในโรงพยาบาล เราจะเห็น Tokyo Tower แค่ตอนกลางคืนเท่านั้น

สัญญาที่ Masaya และแฟนสาวทำไว้กับแม่ คือตั้งใจพาเธอขึ้นไป Tokyo Tower พร้อมกันสามคน แต่น่าเสียดายเธอไม่มีโอกาสนี้ ได้แค่มองขึ้นไปจากด้านล่าง, แม้ Masaya กับแฟนสาวจะเลิกกันไปแล้ว (หนังไม่ได้บอกเหตุผลตรงๆว่าทำไมถึงเลิกกัน คงแค่เข้ากันไม่ได้ทั่วๆไป) แต่เมื่อแม่เสียไป พวกเขาจึงยังรักษาคำสัญญาเดิม นำป้ายอัฐิตัวแทนของแม่ขึ้นไปบน Tokyo Tower, นี่เป็นการเปรียบเปรยถึงวิสัยทัศน์ของอนาคต แม่เป็นเพียงผู้ชมเป็นคนของอดีต แต่คนที่จะขึ้นไปอยู่บนยอดคือลูกและแฟน ตัวแทนของคนรุ่นใหม่

ความยอดเยี่ยมของหนัง การันตีด้วย 5 รางวัลจาก Japan Academy Prizes (เทียบเท่ากับ Oscar ของญี่ปุ่น) ประกอบด้วย
– Best Film
– Best Actress in a Leading Role (Kirin Kiki)  [แม่]
– Best Actor in a Supporting Role (Kaoru Kobayashi) [พ่อ]
– Best Director
– Best Screenplay

ที่พลาดไปคือ
– Best Actor in a Leading Role (Joe Odagiri) [พระเอก]
– Best Actress in a Supporting Role (Takako Matsu) [แฟนพระเอก]
– Newcomer of the Year (Yayako Uchida) [แม่สมัยยังสาว]

จะเห็นว่า สาขาที่เข้าชิงหรือได้รางวัล ล้วนเป็นสายการแสดง กำกับ เขียนบทเท่านั้น นี่หมายถึงหนังขายการแสดงล้วนๆ (ไม่มีสายเทคนิคเข้าชิงและได้รางวัลเลย) กับคนชอบหนังที่บีบอารมณ์ ใช้ความรู้สึกดำเนินเรื่อง ดราม่าน้ำดี ถือว่าไม่ควรพลาดเลย

ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเป็นหนังที่ดูแล้วจะทำให้คุณรักแม่ขึ้นมากๆ เข้าใจในความยากลำบากของชีวิต และทำให้คุณอยากตอบแทนในความรักที่ท่านมีให้ แต่ผมเข้าใจนะ ว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีความทรงจำเกี่ยวกับแม่ที่ดี เลยดูแล้วอาจมีอคติกับเรื่องราวประเภทนี้ ทำไมไม่ลองคิดเสียว่า ถ้าฉันมีแม่แบบนี้ละ หรือ ถ้าฉันเป็นแม่แบบนี้ละ หนังเรื่องนี้นำเสนอแบบอย่างการเป็นแม่ที่ดีและลูกที่(กลายเป็นคน)ดี (แต่ไม่ใช่พ่อที่ดีแน่ๆ)

นี่เป็นหนังที่เหมาะกับวันแม่มากๆ ดูพร้อมหน้าทั้งครอบครัว เตรียมทิชชู่ไว้ให้พร้อมด้วย, แนะนำอย่างยิ่งกับเด็กเกเรเสเพลทั้งหลาย เด็กมหาลัยที่เกรดร่อแร่ ใกล้ซิ่วหรือรีไทร์ ดูจบแล้วคุณอาจจะมีกำลังใจในชีวิตมากขึ้น

จัดเรต 13+ มันมีฉากล่อๆแหลมๆอยู่ เด็กโตหน่อยถึงจะเริ่มดูหนังแล้วเข้าใจ

TAGLINES | “Tokyo Tower: Mom and Me and Sometimes Dad เป็นหนังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์จากนักแสดงคุณภาพ ดูจบคุณจะรู้สึกรักแม่เพิ่มขึ้นหลายล้านเท่า”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: