Toni

Toni (1935) French : Jean Renoir ♥♥♥♡

(mini Review) สิ่งน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีผู้ช่วยผู้กำกับคือ Luchino Visconti ถ่ายทำยังสถานที่จริง ทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆของชนบทตอนใต้ประเทศฝรั่งเศส กลายเป็นอิทธิพลสำคัญก่อให้เกิดยุคสมัย Italian Neorealist

Luchino Visconti หรือ Count of Lonate Pozzolo (1906 – 1976) ผู้กำกับชื่อดังสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดในตระกูล House of Visconti ได้รับการศึกษาระดับสูง มีความหลงใหลในศิลปะ บทเพลง และละครเวที ช่วงทศวรรษ 30s มีโอกาสรู้จัก Jean Renoir ผ่านการแนะนำของ Coco Chanel (ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดัง Coco) กลายมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Toni (1935), Partie de campagne (1936) และอีกเรื่องหนึ่ง La Tosca (1941) แต่ไม่ทันเสร็จถูกผู้กำกับสัญชาติเยอรมัน Carl Koch ดึงไปทำต่อ (เพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Ossessione (1943) เปิดประตูสู่ยุคสมัย Italian Neorealist

Italian Neorealism คือยุคสมัย/การเคลื่อนไหวหนึ่งของวงการภาพยนตร์ ได้รับการพัฒนาสานต่อยอดจาก Poetic Realism ของประเทศฝรั่งเศส ลักษณะเด่นคือ ถ่ายทำยังสถานที่จริง เรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้นแรงงาน ฐานะยากจนข้นแค้น มักใช้นักแสดงสมัครเล่น และเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวันอันเหน็ดเหนื่อยยากลำบากของพวกเขา, นักวิจารณ์มักนับเริ่มต้นที่ Ossessione (1943) ตามด้วย Rome, Open City (1945), Shoeshine (1946), Paisan (1946) และ Masterpiece ของแนวนี้คือ Bicycle Thieves (1948)

นี่ก็เสมือนว่าผู้กำกับ Jean Renoir เปรียบได้กับพ่อทูนหัวของ Italian Neorealist เลยสินะ

สาเหตุที่ผมเสียเวลากล่าวถึง Luchino Visconti ไม่ใช่แค่เพราะความสนิทสนมหรือรับอิทธิพลจาก Jean Renoir แต่จะชี้ให้เห็นว่าทั้งสองต่างมีหลายๆอย่างคล้ายคลึงกัน เกิดในครอบครัวมีฐานะชนชั้น รสนิยมความสนใจในงานศิลปะ รวมถึงแนวคิดทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงไปของโลก ที่ถ้าคุณเคยรับชม The Leopard (1963) จะพบว่ามีใจความไม่ต่างจาก Le Grande Illusion (1937) นำเสนอเรื่องราวของคนชนชั้นสูงในอิตาลี/ฝรั่งเศส กำลังใกล้ถึงจุดจบล่มสลาย เพราะความเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกยุคสมัยใหม่

สำหรับ Toni (1935) กลายเป็นอิทธิพลสำคัญของ Visconti กับสองผลงาน La Terre trema (1948) และ Rocco and His Brothers (1960) เรื่องหลังโดยเฉพาะประเด็นชู้สาว เป็นอะไรที่เจ็บปวดรวดร้าวรานยิ่งกว่าหนังเรื่องนี้เสียอีกนะ!

Jean Renoir (1894 – 1979) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montmartre, Paris ลูกชายคนรองของจิตรกรชื่อดัง Pierre-Auguste Renoir เติบโตขึ้นโดยการเลี้ยงดูของแม่เลี้ยง Gabrielle Renard ตั้งแต่เด็กพาเขาไปรับชมภาพยนตร์จนเกิดความชื่นชอบหลงใหล ไม่ชื่นชอบการเรียน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารม้า (French Cavalry) ถูกยิงที่ขาทำให้พิการ เลยเปลี่ยนมาเป็นนักขับเครื่องบินลาดตระเวน ระหว่างพักรักษาตัวเลยมีโอกาสนั่งดูหนังซ้ำแล้วซ้ำอีกของ Charlie Chaplin, D. W. Griffith, Erich von Stroheim นำเงินจากการขายภาพวาดของพ่อมาซื้อกล้อง ถ่ายทำหนังเงียบจนมีโอกาสได้นำออกฉาย เริ่มประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจาก La chienne (1931), Boudu Saved From Drowning (1932), Le Crime de Monsieur Lange (1935), โด่งดับระดับนานาชาติครั้งแรกกับ La Grande Illusion (1937), และกลายเป็นตำนานเรื่อง La Règle du Jeu (1939)

ผลงานยุคหนังพูดของ Renoir ก่อนเดินทางไปล่มจมที่ Hollywood มักมีลักษณะวิพากย์สังคม นำเสนอวิถีชีวิตผู้คน (ส่วนใหญ่จะชนบท) ความแตกต่างระหว่างชนชั้น สิ่งต้องห้าม ‘Taboo’ รวมถึงสะท้อนเสียดสีการเมือง และต่อต้านสงคราม

แรงบันดาลใจของ Toni (1935) เกิดจากข่าวหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์เสียชีวิตของคนงานต่างด้าวสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่เข้ามาแสวงโชคทำงานเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของฝรั่งเศส

ไล่ย้อนไปนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรของฝรั่งเศสจะได้รับชัยชนะ แต่ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียมากมายประเมินค่าไม่ได้ (ถึงชนะสงคราม แต่ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตมีมากกว่าฝ่ายมหาอำนาจกลาง) ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจของประเทศแทบจะหยุดนิ่ง ไร้ซึ่งแรงงานทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม วิธีการเดียวที่ทำได้คือว่าจ้างต่างด้าวจากอิตาลี สเปน โปแลนด์ ฯ ประมาณการทศวรรษนั้นกว่า 3 ล้านคนที่อพยพเข้ามาแสวงโชค บ้างก็ปักหลักแต่งงานมีครอบครัวได้สัญชาติฝรั่งเศส แต่บางส่วนก็เลือกหวนคืนกลับไปตายรังบ้านเกิดสุขใจกว่า

ร่วมงานกับ Carl Einstein (1885 – 1940) นักเขียนสัญชาติ German เชื้อสาย Jews [ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับ Albert Einstein] ดัดแปลงเรื่องราวของ Jacques Levert ก่อนตีพิมพ์นิยาย Toni (1934)

เรื่องราวของ Antonio ‘Toni’ Canova (รับบทโดย Charles Blavette) ชายหนุ่มเชื้อสายอิตาเลี่ยน เดินทางข้ามเขตแดนสู่เมือง Martigues, ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ตอนแรกพักอาศัยอยู่กินกับสาวพื้นเมือง Marie ทำงานเหมืองแร่ แต่ภายหลังตกหลุมรัก Josépha สัญชาติ Spanish ที่มีลุงเป็นเจ้าของฟาร์มเกษตรกรรม แต่เธอกลับเลือกแต่งงาน Albert หนุ่มจากเมืองหลวงเพราะคิดว่าบ้านมีฐานะร่ำรวย แต่ที่ไหนได้หมอนี่สนแต่จะฮุบกองมรดก วันๆไม่ทำอะไรขี้เกียจสันหลังยาว มีลูกด้วยกันหนึ่งคนแต่ไม่เคยสนใจใยดี จนเมื่อลุงเสียชีวิตจากไปเรื่องวุ่นๆจึงได้บังเกิดขึ้น เพราะ Toni ยังคงต้องการครอบครอง Josépha โดยไม่สนภรรยา Marie เป็นตายร้ายดีก็ช่าง

นักแสดงในหนังเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นมือสมัครเล่น หน้าใหม่ในวงการ หรือถ้าใครอยู่มานานก็มิได้มีชื่อเสียงโด่งดังนัก อย่างนักแสดงนำ Charles Blavette (1902 – 1967) สัญชาติฝรั่งเศส เดิมเป็นตลก มีผลงานภาพยนตร์สองเรื่องก่อนหน้านี้ Jofroi (1934) กับ Angele (1934) ผู้ชมส่วนใหญ่ยังจดจำหน้าไม่ค่อยได้ แถมถูกผู้กำกับสั่งให้ไปรีดน้ำหนักลงถึง 14 กิโล (แต่ก็ยังดูบวมๆอยู่นะ) แสดงนำใน Toni น่าจะโด่งดังสุดในชีวิตแล้วละ

เกร็ด: เพื่อให้เกิดความสมจริงที่สุด ผู้กำกับไม่อนุญาตให้นักแสดงแต่งหน้าทำผม กระเซอะกระเซิงแบบนั้นบ้านๆดี

ไดเรคชั่นของ Renoir กับหนังเรื่องนี้ มุ่งเน้นจับภาพธรรมชาติของชีวิต กล้องเคลื่อนไหลผ่านทิวทัศน์ท้องทุ่งสุดลูกหูลูกตา เก็บรายละเอียดวิถีความเป็นอยู่ทั่วไปอันเรียบง่าย ก่อนมาหยุดลงที่นักแสดงเข้าฉาก ให้สัมผัสเหมือนภาพวาด Impressionist แสดงออกด้วยแรงผลักดันทางสันชาติญาณของตัวละครทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มองข้ามสิ่งถูกต้องดีงามความสุขทางใจ ลุ่มหลงใหลในตัณหาราคะกิเลสความต้องการของตนเอง

แค่เพียงเดินเท้าไปทำงานของ Toni ก็กินเวลา 20 นาทีกว่าจะถึงเหมือง ระหว่างทางพบเจอโน่นนี่นั่น เกี้ยวพาราสี Josépha และพออยู่หน้างาน วันๆของเขาก็แทบไม่เห็นทำอะไร มัวแต่พูดคุยสนทนาอู้งาน จุดชนวนระเบิดเสร็จเดินอย่างไม่เร่งรีบหลบอยู่หลังต้นไม้ พบเห็นขณะดินถล่มประดับประกอบเพียงพื้นหลังของหนังเท่านั้น

อีกลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Renoir คือการไม่นำเสนอภาพของเหตุการณ์ทั้งหมด ปล่อยเรื่องราวบางส่วนให้ผู้ชมครุ่นคิดใช้สมองจินตนาการไปเอง อาทิ Toni ตกหลุมรักหลงเสน่ห์ Marie ได้อย่างไร?, Albert ปลุกปล้ำ Josépha เข้าดงหญ้าทำอะไรบ้าง, Marie บอกจะกระโดดน้ำแต่ก็เห็นแค่ขณะล่องเรือออกไป  ฯ

สิ่งโดดเด่นมากๆของหนังคือเพลงประกอบของ Paul Bozzi ที่มารับเชิญเป็นนักร้องเล่นกีตาร์ แนว Country น่าจะเป็นภาษาสเปนทั้งหมด, เพราะความที่ยังอยู่ในช่วงการทดลองต้นยุค Talkie บทเพลงในหนังล้วนมีที่มาที่ไป มุ่งเน้นเพื่อความสมจริงเท่านั้น แต่ก็ต้องยกย่องว่าทำได้อย่างกลมกลืนลื่นไหล เสียงกีตาร์ดังขึ้นกล้องเคลื่อนไหลผ่านนักร้อง นั่งอยู่ตรงนี้เองสินะ!

ใจความของ Toni นำเสนอเรื่องราวของคนไม่รู้จักพอ โหยหาต้องการสิ่งดีกว่าโดยไม่รู้จักเพียงพอเจียมตนเอง ผลลัพท์เลยกลายเป็นโศกนาฎกรรมของชีวิต
– Toni มีหญิงสาวรักตนมากยิ่งอย่าง Marie แต่ดันไม่พึงพอใจ ต้องการครอบครอง Josépha ทั้งๆแต่งงานมีลูกแล้ว ยังพร่ำเพ้อพร้อมปกป้อง โดยไม่สนหัวอกภรรยาตนเองแม้แต่น้อย
– Josépha คือหญิงสาวร่านรัก หว่านเสน่ห์ไปทั่ว แต่กลับเลือกแต่งงานกับคนไม่เอาอ่าว เพราะคิดว่าเป็นหนุ่มเมืองฐานะร่ำรวยจะได้สุขสบาย ที่ไหนได้สุดท้ายชีวิตล้มเหลวล่มจมจนต้องตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่าง
– Marie หัวปลักหัวปลำรัก Toni แบบไม่ลืมหูลืมตา อิจฉาริษยาตาร้อน เมื่อเห็นผัวไม่รักก็เรียกร้องความสนใจด้วยการกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
– Albert หนุ่มเมืองผู้ไม่เอาอ่าว มุ่งสู่ชนบทเพื่อแสวงโชคหาสาวสวย และครอบครัวเธอมีกิจการร่ำรวย ชีวิตจะได้พบเจอความสุขสบาย นั่งนอนกิน ใครทำอะไรไม่พอใจก็ใช้กำลังตบตีทำร้ายไม่สนหัว

สามสี่ตัวละครที่กล่าวมานี้ คงเป็นเรื่องราวดราม่าทั่วไปถ้าไม่มีการกล่าวถึงสัญชาติของพวกเขา แต่ในบริบทของหนัง ชัดเจนเลยว่าเป็นการแสดงทัศนะทางการเมืองของผู้กำกับ Renoir
– Toni สัญชาติอิตาเลี่ยน ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับที่คอยจับจ้องแสวงหาผลประโยชน์จากฝรั่งเศส ไม่รู้จักเพียงพอในความต้องการของตนเอง จนสุดท้ายก็พบเจอหายนะ ล่มจมไม่หลงเหลืออะไรทั้งนั้นในชีวิต
– Josépha สัญชาติสเปน หลอกล่อลวงหนุ่มๆให้หลงใหลในเสน่ห์ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเช่นกัน ก่อนพบเจอแต่ความโชคร้ายรุนแรง
– Marie สัญชาติฝรั่งเศส ชาวชนบทที่น่าสงสาร ถูกปอกลอกลวงหลอกจนชีวิตแทบไม่หลงเหลืออะไร
– Albert สัญชาติฝรั่งเศส คนเมืองที่ชอบเอารัดเอาเปรียบ ดูถูกเหยียดหยามผู้ต่ำต้อยกว่า สนแต่ความสะดวกสบาย ไร้ซึ่งจิตสำนึกถูกผิดคุณธรรม

ต้องถือว่านี่เป็นภาพยนตร์ที่ Renoir วิพากย์วิจารณ์สังคม ด่ากราดแบบเหมาหมดทั้งต่างชาติและประเทศตนเอง (ที่ยินยอมให้ต่างชาติเข้ามาหากินกับผืนแผ่นดินแดนา) ตัวเขาคงเกิดความคับข้องใจ โลกปัจจุบันขณะนั้นมันเกิดบ้าอะไรขึ้น ทำไมผู้คนถึงผิดแผกแตกต่างไปจากยุคสมัยก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ก็นี่แหละครับผลกระทบจากความละโมบโลภเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ถ้าใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความพอเพียง การแก่งแย่ง ความขัดแย้ง สงคราม โศกนาฎกรรมย่อมไม่เกิด ผู้คนไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาดินแดนใหม่ๆไกลจากบ้าน สูบทรัพยากรทุกสิ่งอย่างจนสักวันหนึ่งหมดสิ้น คราวนี้ชาวฝรั่งเศสเองอาจต้องกลายเป็นแบบอิตาเลี่ยน สเปน โปแลนด์ ออกเดินทางเพื่อเอาตัวรอดยังต่างแดน

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังอย่างมาก ในไดเรคชั่นของผู้กำกับ Jean Renoir แม้จะไม่โดดเด่นล้ำเท่ากับผลงาน Masterpiece เรื่องอื่นๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์ ความน่าสนใจ แฝงแนวคิดลึกซึ้ง แม้ช่วงท้ายดูจะรีบเร่งรวบรัดตัดตอนไปหน่อย ไปไม่ถึงดวงจันทร์แต่ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว

แนะนำคอหนัง Poetic Realism แนวดราม่า โรแมนติกรักสามเส้า, ทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆของชนบทฝรั่งเศสทศวรรษ 30s, แฟนๆผู้กำกับ Jean Renoir ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับโศกนาฎกรรม

TAGLINE | “Jean Renoir วิพากย์ความเห็นแก่ตัวของ Toni ได้อย่างเห็นแก่ตัว ว่าจักต้องพบเจอโศกนาฎกรรมเท่านั้นในตอนจบ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: