Tootsie

Tootsie (1982) hollywood : Sydney Pollack ♥♥♥♥

Dustin Hoffman เคยให้สัมภาษณ์ถึงวันแรกที่ทดสอบแต่งสาว กลับไปบ้านร่ำร้องไห้กับภรรยา สารภาพว่าบทบาทนี้ทำให้เขาครุ่นคิดถึงมุมมองเพศหญิง เข้าใจบางสิ่งไม่เคยตระหนักถึงมาก่อน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

คำว่า ตุ๊ด ในภาษาไทย ว่ากันว่าเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายก็จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งความหมายภาษาอังกฤษจริงๆแล้วแปลว่า น้องสาว, อีหนู! แต่บ้านเราใช้เรียกผู้ชายหรือกะเทยที่นิยมการแต่งเนื้อแต่งตัว แสดงจริตกิริยาเหมือนผู้หญิง

Tootsie เป็นภาพยนตร์ที่ถูกจัดเข้าพวก Comedy ทั้งๆแท้จริงแล้วคือโคตร Drama ไม่น่าขำออกเลยสักนิด (แถมได้รับการยกย่อง หนึ่งในหนังตลกยอดเยี่ยมตลอดกาล!) นำเสนอการดิ้นรนพยายามของนักแสดงชายคนหนึ่ง เมื่อไม่มีใครว่าจ้างเลยทดลองแต่งหญิง ซึ่งสิ่งที่ตัวละครประสบพานพบเจอนั้น สะท้อนค่านิยมผิดๆเพื้ยนๆของมนุษย์ บุรุษเป็นใหญ่ อิสตรีต้องถูกย่ำไว้

Dustin Hoffman หลังจากแสดง Kramer vs. Kramer (1979) รับบทพ่อเลี้ยงลูกตัวเดี่ยว กล่าวคือตัวละครต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ในคราเดียว เกิดความครุ่นคิดต่อยอดถึงบทบาทสามารถเล่นเป็นทั้งชาย-หญิง ดูแล้วไม่น่ามีปัญหาประการใด (ก่อนหน้านี้ Hoffman ก็เคยเล่นเป็นเกย์มาแล้วเรื่อง Midnight Cowboy) แต่เมื่อวันทดสอบแต่งสาว ถึงกับตกตะลึงกับภาพลักษณ์ของตนเอง

“When we got to that point and looked at it on screen, I was shocked that I wasn’t more attractive. I said, ‘Now you have me looking like a woman, now make me a beautiful woman.’ Because I thought I should be beautiful. … And they said to me, ‘That’s as good as it gets.'”

– Dustin Hoffman

สวยสุดแล้วเท่าที่จะแต่งได้ แต่สภาพเหมือนตัวประหลาด กะเทยควาย กลับไปบ้านร่ำร้องไห้กับภรรยาสารภาพว่า ‘ฉันตัดสินคนที่ภาพลักษณ์ภายนอกมาโดยตลอด’

“It was at that moment I had an epiphany, and I went home and started crying, talking to my wife. And I said I have to make this picture, and she said, ‘Why?’ And I said, ‘Because I think I am an interesting woman when I look at myself on screen. And I know that if I met myself at a party, I would never talk to that character because she doesn’t fulfill physically the demands that we’re brought up to think women have to have in order for us to ask them out. She says, ‘What are you saying?’ I said, ‘There’s too many interesting women I have not had the experience to know in this life because I have been brainwashed. That [Tootsie] was never a comedy for me”.


จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ ย้อนไปช่วงต้นทศวรรษ 70s เมื่อเจ้าของธุรกิจแฟชั่น/มหาเศรษฐีชื่อดัง Charles Evans เกิดความสนใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์

“because I enjoy movies very much. I have the time to do it. And I believe if done wisely, it can be a profitable business”.

– Charles Evans

ความสนใจแรก ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์บทละครเวทีของ Don McGuire เรื่องราวเกี่ยวกับนักแสดงชายตกงาน ปลอมตัวเป็นหญิงเพื่อเข้าทดสอบหน้ากล้องโปรเจคหนึ่ง ตั้งชื่อชั่วคราวว่า Would I Lie to You?

Evans เมื่อได้รับลิขสิทธิ์ ร่วมดัดแปลงบทภาพยนตร์กับนักเขียน Bob Kaufman และติดต่อผู้กำกับ Dick Richards โดยเล็งนักแสดงนำอย่าง Peter Sellers, Michael Caine สุดท้ายมาลงเอยที่ Dustin Hoffman แม้มีความชื่นชอบมากๆ แต่ร้องขอให้ Evans ถอนตัวจากการเป็นนักเขียน (เพราะไม่ต้องการให้โปรดิวเซอร์มีอำนาจทางธุรกิจเหนือกว่าความคิดสร้างสรรค์) ซึ่งก็ได้เลื่อนขั้นเป็นโปรดิวเซอร์แทน

ความล่าช้าของโปรเจคเกิดจากหลายๆสาเหตุ ปรับแก้ไขบท คัดเลือกนักแสดง จนทำให้ Dick Richards ถอนตัวจากการกำกับ (แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ ความคิดเห็นแตกต่าง) ต่อมาเกือบได้ Hal Ashby แต่เพราะยังติดพันอยู่อีกโปรเจคเลยไม่สามารถปลีกตัว ท้ายที่สุดเซ็นสัญญาผู้กำกับ Sydney Pollack เป็นตัวเลือกถือว่าเหมาะสมมากๆ

Sydney Irwin Pollack (1934 – 2008) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Lafayette, Indiana ในครอบครัว Russian-Jewish ตอนเด็กวาดฝันอยากเป็นหมอ (พ่อเป็นเภสัชกรขายยา) แต่เปลี่ยนใจมาเรียนการแสดงที่ Neighborhood Playhouse School of the Theatre ได้อาจารย์ Sanford Meisner หลังกลับจากรับใช้ชาติ ทำงานเป็นผู้ช่วยกำกับบทของ John Frankenheimer, จากนั้นกำกับซีรีย์เป็นตอนๆ อาทิ The Twilight Zone (1961), The Fugitive, The Alfred Hitchcock Hour, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Slender Thread (1965), แจ้งเกิด They Shoot Horses, Don’t They? (1969), ประสบความสำเร็จสูงสุด Tootsie (1982) และ Out of Africa (1985)

เรื่องราวของ Michael Dorsey (รับบทโดย Dustin Hoffman) เป็นนักแสดง Method Acting ที่ได้รับความนับหน้าถือตาใน New York แต่กลับไม่มีใครอยากว่าจ้างเพราะความยุ่งยาก Perfectionist เกินทน! จนกระทั่งได้ยินจากลูกศิษย์ Sandy Lester (รับบทโดย Teri Garr) กำลังมีคัดเลือกนักแสดง Soap Opera ฉายกลางวันเรื่อง Southwest General ขณะที่ตัวเธอถูกบอกปัดปฏิเสธตั้งแต่แรกเห็นหน้า ขณะที่ Michael รับคำท้าจากผู้จัดการส่วนตัว George Fields (รับบทโดย Sydney Pollack) แต่งหญิง Dorothy Michaels แล้วไปคัดเลือกได้รับบทแสดงนำ!

ความวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Michael ตกหลุมรักเพื่อนนักแสดง Julie Nichols (รับบทโดย Jessica Lange) แม้มีลูกแล้วแต่ยังทอดกายถวายผู้กำกับ Ron Carlisle (รับบทโดย Dabney Coleman) ขณะเดียวกันพ่อของเธอ Leslie Nichols (รับบทโดย Charles Durning) กลับตกหลุมรักคลั่งไคล้ และ Sandy ที่จับพลัดจับพลูร่วมรัก ร้องเรียกโน่นนี่นั่นจนแทบคลุ้มคลั่งเสียสติแตก … ท้ายสุดแล้วความอลเวงดังกล่าวจะจบลงเช่นไร


Dustin Lee Hoffman (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California, ในครอบครัวเชื้อสาย Jews ตอนเด็กตั้งใจเป็นนักเปียโน แต่ภายหลังเข้าเรียนการแสดงแล้วรู้สึกว่าง่ายกว่ามากเลยผันตัวมาทางนี้ เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวทีประกบกับ Gene Hackman ต่อมามุ่งสู่ New York พักอยู่ห้องเช่นเดียวกับ Robert Duvall, หลังจากมีผลงาน Off-Broadway เข้าเรียน Actors Studio กลายเป็นนักแสดง Method Acting, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Tiger Makes Out (1967), ได้รับการจดจำจาก The Graduate (1966), Midnight Cowboy (1969), All the President’s Men (1976), Tootsie (1982) ฯ คว้า Oscar: Best Actor สองครั้งเรื่อง Kramer vs. Kramer (1979), Rain Man (1988)

รับบท Michael Dorsey ผู้มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ตั้งใจในการแสดงสูงลิบ แต่มักถูกบรรดาโปรดิวเซอร์/ผู้กำกับบอกปัดปฏิเสธ แถมถ้าบทไหนเหมาะสมแต่ความคิดสร้างสรรค์ไม่ตรง ก็ขอลาออกแบบไม่แคร์สื่อ จนเลื่องชื่อลือนาม ไร้ซึ่งใครไหนอยากว่าจ้างทำงานด้วย! เหตุนี้เลยตัดสินใจปลอมตัวเป็นหญิง Dorothy Michaels แนบเนียนเสียจนได้รับโอกาสแสดง Soap Opera จริตที่เหมือนสาวมั่น แต่แท้จริงนั้นคืออคติสวนกลับความไม่ยุติธรรมของโลก

เพราะความเป็นชายที่โหยหาความสมบูรณ์แบบ ‘Perfectionist’ เมื่อกลายเป็นหญิงจึงมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พบเห็นอะไรไม่เหมาะสมก็พร้อมแสดงออก ต่อต้าน โต้ตอบกลับอย่างสมควร ไม่ยินยอมตกเป็นเหยื่อของอธรรม (คือถ้ามองในมุมตลกๆ เพราะเขาคือชายแท้ๆ เลยรับไม่ได้ถ้าจะถูกชายด้วยกันรุกล้ำ ลวนลาม)

ซึ่งสิ่งต้องชมเลยสำหรับ Hoffman คือสำเนียงเสียงพูดปักษ์ใต้ ไม่ได้ต้องการดัดจริตให้แหลมเฟี้ยว แต่มีระดับขึ้นๆลงๆ สั่นเทิ้มเล็กๆ เหมาะสมกับภาพลักษณ์ และแว่นกลมใหญ่หนาเตอะ ปกปิดบังตัวตนแท้จริงไว้ภายใน

เกร็ด: โปรดิวเซอร์ว่าจ้าง Holly Woodlawn ผู้เป็น Transgender ชื่อดังชาว Puerto Rican และนักแสดงในสังกัด Andy Warhol มาให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ Hoffman เล่นเป็นผู้หญิงอย่างไรให้เหมือน

เกร็ด2: Hoffman ตระเตรียมตัวรับบทนี้ด้วยการรับชม La Cage aux Folles (1978) และ General Hospital (1963) รวมทั้งปลอมตัวแต่งสาวไปหาครูที่โรงเรียนลูกสาว เธอจดจำเขาไม่ได้ ถือว่าประสบความสำเร็จผ่าน

เกร็ด3: และเพื่อสำเนียงเสียงปักษ์ใต้ Hoffman ขอความช่วยเหลือจาก Meryl Streep ที่เคยร่วมงาน Kramer vs. Kramer (1979) ทดสอบอ่านบทตัวละคร Blanche DuBois จากเรื่อง A Streetcar Named Desire (1951) แล้วให้เธอแสดงความคิดเห็นตอบกลับ 


Jessica Phyllis Lange (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิง Triple Crown of Acting (Oscar, Tony, Emmy) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cloquet, Minnesota โตขึ้นได้ทุนเรียนต่อศิลปะและถ่ายภาพที่ University of Minnesota พบเจอแต่งงานกับ Paco Grande ตัดสินใจลาออกเพื่อใช้ชีวิตสไตล์ Bohemian ท่องเที่ยวไปทั่วด้วย Minivan จากนั้นย้ายสู่ Paris ค่อยๆเหินห่างกัน แต่เธอก็เกิดความสนใจในการแสดง เริ่มจากตัวตลกใบ้ (Mime) ต่อด้วยนักเต้น และกลับสหรัฐอเมริการ่ำเรียน HB Studio ได้งานโมเดลลิ่ง เข้าตาโปรดิวเซอร์ Dino De Laurentiis แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก King Kong (1976), ต่อด้วย All That Jazz (1979), The Postman Always Rings Twice (1981), Frances (1982), Tootsie (1982) ฯ

รับบท Julie Nichols เพื่อนนักแสดงของ Dorothy เข้าใจว่าเป็นหญิงเลยตีสนิทสนมชิดเชื้อ แต่สำหรับเขาเธอคือรักแรกพบ ไม่เข้าใจว่าจะคบหาผู้กำกับ Ron Carlisle ที่มิได้ใคร่สนใจใยดีเพื่ออะไร พยายามให้คำแนะนำส่งเสริมสนับสนุนผลักดัน จนเกิดความกล้าครุ่นคิดกระทำในสิ่งถูกต้องเหมาะสม แม้สุดท้ายเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผยจะเกิดความเข้าใจผิดต่อกัน แต่น้ำแข็งก้อนแรกที่ได้ละลายไปแล้วนั้น ความสัมพันธ์ของพวกเขาจึงมากกว่าแค่เพื่อนรักต่างเพศ

แม้ดูเป็นสาวแกร่งผ่านอะไรๆมามาก สามีทอดทิ้ง เลี้ยงลูกตัวคนเดียว แต่จิตใจกลับอ่อนแอ โหยหา ต้องการใครบางคนเป็นที่พึ่งพักพิง มิอาจหักห้ามใจตนเองแม้ทั้งรู้ว่าเขาไม่แคร์ … เป็นตัวละครที่มีพฤติกรรมไม่รู้จะน่าสงสาร เห็นใจ หรือสมเพศเวทนา แต่ความน่ารักน่าชังของ Lange ขี้เล่นซุกซน หุ่นสวยเซ็กซี่ เชื่อว่าคงทำให้ผู้ชมอยากเป็นขวัญกำลังใจมากกว่า

เกร็ด: ในปีเดียวกันนี้ Lange ยังได้เข้าชิง Oscar: Best Actress จากเรื่อง Frances (1982) กลายเป็นนักแสดงคนที่สามในประวัติศาสตร์ เข้าชิงปีเดียวกันทั้ง Best Actress และ Best Supporting Actress อีกสองก่อนหน้าคือ Fay Bainter และ Teresa Wright


Teri Ann Garr (เกิดปี 1944) นักร้อง นักเต้น นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Lakewood, Ohio ในครอบครัวนักแสดง บิดาเป็นนักแสดงทัวร์ มารดาเป็นแดนเซอร์ โมเดลลิ่ง โตขึ้นเริ่มให้ความสนใจเต้นบัลเล่ต์ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นนักแสดง เข้าเรียน Actors Studio ต่อด้วย Lee Strasberg Theatre and Film Institute, ตัวประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก A Swingin’ Affair (1963), ค่อยๆมีชื่อเสียงจากสมทบซีรีย์ Star Trek, ภาพยนตร์ The Conversation (1974), Young Frankenstein (1974), Close Encounters of the Third Kind (1977), ประสบความสำเร็จสูงสุดคือ Tootsie (1982)

รับบท Sandy Lester นักแสดงสาว/ลูกศิษย์ของ Michael Dorsey แม้ความสามารถพอดี แต่กลับเต็มไปด้วยอาการขลาดเขลา หวาดสะพรึง วิตกจริต ควบคุมสติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ครั้งหนึ่งพบเห็นเขาถอดเสื้อผ้า (ต้องการลองเสื้อผู้หญิง) เข้าใจว่ารักเลยยอมหลับนอนด้วย แต่ก็ได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากชายอื่น ท้ายสุดก็ถูกทอดทิ้งขว้างแบบไม่เหลียวใยดี

เอาจริงๆผมชื่นชอบการแสดงของ Garr มากกว่า Lange เสียอีกนะ! เพราะความไม่สวยนี่ละทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าเธอไม่คู่ควรกับพระเอก แต่การถูกปฏิบัติอย่างไม่สนใจเหลียวแล นั่นเรียกว่าขาดความรับผิดชอบ แสดงออกด้วยอาการคลุ้มคลั่ง เสียสติแตก มันใช่ความผิดของตนเองเสียที่ไหน

การแสดงของ Garr ทำให้ผมนึกถึง Shelley Duvall เรื่อง The Shining (1980) ลองค้นๆดูก็พบว่าเธอไปคัดเลือกนักแสดงด้วยนะ ติดโผแต่สุดท้ายไม่ได้รับการคัดเลือก นี่คงกลายเป็นบทบาท Type-Cast ของผู้หญิงไม่สวย เลยมักถูกปฏิบัติจากผู้ชายไม่เห็นหัวเหลียวแล!


ถ่ายภาพโดย Owen Roizman สัญชาติอเมริกัน เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึงห้าครั้งแต่ยังไม่เคยคว้ารางวัล The French Connection (1971), The Exorcist (1973), Network (1976), Tootsie (1982), Wyatt Earp (1994)

ผมสังเกตว่า ส่วนใหญ่ของหนังน่าจะถ่ายทำแบบ Long Take แล้วถูกนำไปหั่นออกเป็นชิ้นเล็กๆ ปะติดปะต่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน จนมีลักษณะเหมือนโมเสก แต่จะไม่ระยิบระยับถึงระดับ Nashville (1975) หรือ 21 Grams (2003)

ทุกการบอกปฏิเสธใน Opening Credit ล้วนจากประสบการณ์ตรงของ Dustin Hoffman พานผ่านเข้ากับตนเองมาแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น ซึ่งสังเกตว่าผู้คัดเลือกนักแสดงจะอาศัยอยู่ในความมืดมิด มองไม่เห็นตัว เหตุผลหนึ่งก็เพื่อไม่ให้เกิดอคติ และสื่อถึงด้านมืด/ผู้มีอิทธิพลของวงการ ช่างเต็มไปด้วยความลึกลับพิศวง สนเพียงผลประโยชน์พึงพอใจส่วนตนเท่านั้นเอง

แซว: เสียงนิรนามที่คอยบอกปัดปฏิเสธตัวละครในฉากนี้ ไม่ใช่ใครอื่น ผู้กำกับ Sydney Pollack

เดิมนั้น Dabney Coleman คือผู้ได้รับการติดต่อให้มารับบท George Fields ผู้จัดการของ Michael Dorsey แต่ระหว่างที่ Hoffman สนทนากับ Pollack อยากรู้ว่าอะไรคือแรงผลักดันทำให้ตัวละครต้องแต่งหญิง ปรากฎว่าเขาสามารถพูด อธิบาย โน้มน้าวได้อย่างสมจริงจัง จนทำให้ Hoffman อยากได้ Pollack มารับบทนี้จริง แน่นอนว่าตอนแรกถูกบอกปัดปฏิเสธ แต่เขาส่งดอกกุหลาบพร้อมข้อความ “Please be my agent. Love, Dorothy” สร้างความเหนื่อยหน่ายรำคาญจนยินยอมตกลง

แซว: นี่น่าจะเป็นบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Sydney Pollack

การปรากฎตัวครั้งแรกของ Dorothy Michaels เดินอยู่ท่ามกลางฝูงคนไปมาขวักไขว่ โดยไม่มีใครใคร่สนใจ จับจ้องมอง รับรู้ว่าเธอคือชายหรือหญิง

นี่อาจจะแค่จอมอนิเตอร์ธรรมดาๆ แต่สังเกตภาพที่ปรากฎ มันจากคนละตำแหน่งทิศทางกันเลย นี่สะท้อนได้ถึง ‘มุมมอง’ ของหนังที่มีต่อตัวละคร เบื้องต้นก็คือชาย-หญิง แต่มันสามารถไปไกลได้ยิ่งกว่านั้นใช่ไหมละ

แว่นตา เป็นความท้าทายอย่างมากของการถ่ายภาพ เพราะโดยปกติมันชอบที่จะสะท้อนแสง หรือไม่ก็บดบังดวงตาตัวละคร แต่หลังจากทำการทดสอบหน้ากล้อง ปรับเปลี่ยนแปลงแว่นหลายๆรูปแบบ และใช้สารเคลือบที่ไม่สะท้อนแสง (ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ) ผลลัพท์เลยออกมาค่อนข้างดูดีเลยทีเดียว

เผื่อคนไม่รู้จัก ชายผู้นี้คือ Andy Warhol ศิลปิน Visual Art และยังบุกเบิกยุคสมัย Golden Age of Porn เคยสร้างภาพยนตร์เรื่อง Blue Movie (1969) aka. Fuck ที่มีเพียงชาย-หญิง ร่วมรักกัน เรื่องแรกที่เข้าฉายในโรงหนัง

สามตัวละคร ใส่เสื้อผ้ากันคนละสีเลยนะ น้ำเงิน-(ขาวและ)เขียว-แดง

ขอพูดถึง Bill Murray สักหน่อยแล้วกัน รับบท Jeff Slater เพื่อนร่วมห้องของ Michael ซึ่งก็มีลักษณะ Typecast เดิมๆของพี่แก นิ่งๆ เฉยๆ โลกส่วนตัวสูง พูดภาษาปรัชญา (Improvised เองทั้งหมด!) แต่สังเกตว่าชื่อไม่ปรากฎขึ้นต้น Opening Credit ถูกร้องขอไว้เพราะกลัวผู้ชมจะคาดหวังพบเห็น Murray จากหนังเรื่องเก่าๆ Meatballs (1979), Caddyshack (1980) 

ต้นฉบับดั้งเดิมของหนังจะไม่มีตัวละครนี้ แต่ระหว่างพัฒนาบทพานพบปัญหามากมาย ซึ่งพอสร้าง Jeff Slater ก็สามารถหาหนทางออก โดยเฉพาะฉากนี้ที่พ่อของ Julie กำลังจะข่มขืน Dorothy เอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด!

เป็นความจงใจมากๆที่ให้ตอนสุดท้ายของ Soap Opera ต้องทำการแสดงเล่นสดๆ ซึ่งนั่นทำให้ Dorothy สามารถ ‘Improvised’ ทุกสิ่งอย่างได้ตามความต้องการของตน ซึ่งทิศทางของเธอในฉากนี้ จากอยู่เบื้องบนได้รับการยกย่องยอมรับสูงสุด ค่อยๆเดินลงบันไดมาพร้อมเปิดเผยความจริง กระชากหน้ากาก จบลงแบบที่ไม่มีใครคาดคิดถึงมาก่อน

Tootsie เป็นหนังที่ตอนจบมีความ ‘feel good’ อย่างมาก จากความเข้าใจผิด พลิกลิ้นไปมาจนสามารถยินยอมให้อภัย หวนกลับมาเป็นเพื่อนกัน หรือมากกว่านั้น ซึ่งช็อตสุดท้ายพบเห็นผลักไสและแช่ภาพกอดคอ อดไม่ได้จะอมยิ้มหวาน

เกร็ด: “I was a better man with you as a woman than I ever was with a woman as a man. Know what I mean?” ติดอันดับ 61 ชาร์ท The 100 Greatest Movie Lines จัดโดยนิตยสาร Premiere เมื่อปี 2007

ตัดต่อโดยพ่อ-ลูก Fredric Steinkamp และ William Steinkamp, ซึ่งคนพ่อ Fredric ร่วมงานผู้กำกับ Pollack ตั้งแต่เรื่องแรกๆ ส่วนลูกชาย William เพิ่งเริ่มต้นจาก Tootsie (1982) จนถึงสุดท้าย The Interpreter (2005)

หนังดำเนินเรื่องโดยมี Michael Dorsey เป็นจุดศูนย์กลาง แม้แต่การตัดสลับไปมาในช่วง Opening Credit กำลังแต่งหน้าติดหนวดคิ้ว, สอนการแสดงในชั้นเรียน, และออดิชั่นละครเวที ล้วนปรากฎพบเห็นอยู่ทุกๆฉาก

ต้องบอกเลยว่าเป็นการตัดต่อที่บ้าระห่ำ ไม่ค่อยที่พบเห็นแช่ค้างภาพไว้นาน คงเพื่อสร้างความ ‘สด’ รุกรี้ร้อนรน และจัดเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ได้จากการถ่ายภาพให้ครบถ้วน คลอบคลุม

ผมชื่นชอบประทับใจการตัดต่อฉากไคลน์แม็กซ์อย่างมาก! เมื่อ Michael เริ่มพูดสดนอกบท อะไรๆจะมีความรวดเร็ว เร่งรีบ ฉับไวขึ้นเรื่อยๆ โดยตัดสลับปฏิกิริยานักแสดงที่เข้าฉาก ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ เบื้องหน้า-หลัง ฝ่ายเทคนิคขยับเคลื่อนไหว ภาพบนจอโทรทัศน์ และผู้ชมจากทางบ้าน … เรียกได้ว่าครอบคลุมครบถ้วนทุกรายละเอียดที่มีอยู่ ช่างเป็นความน่าทึ่ง อัศจรรย์มากๆ


เพลงประกอบโดย Dave Grusin สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ The Graduate (1967), Heaven Can Wait (1978), The Champ (1979), On Golden Pond (1981), Tootsie (1982), The Goonies (1985), The Milagro Beanfield War (1988) ** คว้า Oscar: Best Original Score ฯ

งานเพลงจะมีความชิลๆเป็นที่ตั้ง ฟังสบายๆ พักผ่อนคลาย ไร้ความตึงเครียดใดๆ แนว ‘Soft Rock’ เติมเสียงแซกโซโฟนเพิ่มความเซ็กซี่ ดูดีอย่างมีระดับ นำไปเปิดตามร้านกาแฟ สร้างบรรยากาศได้ดียิ่งนัก

สองบทเพลงเด่นของหนัง ประกอบด้วย Tootsie (1982) แต่งโดย Dave Grusin คำร้องโดย Alan Bergman & Marilyn Bergman ขับร้องโดย Stephen Bishop

อีกบทเพลงที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song คือ It Might Be You (1982) แต่งโดย Dave Grusin คำร้องโดย Alan Bergman & Marilyn Bergman ขับร้องโดย Stephen Bishop ไต่สูงสุดอันดับ 25 ชาร์ท Billboard Hot 100

สำนวน ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ถ้าเอาแต่ครุ่นคิด บางทีก็อาจไม่เข้าใจว่าอีกฝ่ายรู้สึกเช่นไร, ในกรณีของ Tootsie เมื่อบุรุษแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นอิสตรี ประสบพานพบเจอสิ่งต่างๆที่ถือเป็นค่านิยมปกติ(ในยุคสมัยนั้น) เลยทำให้เขาตระหนักรับรู้ซึ้งถึงความผิดปกติ นั่นไม่ใช่ถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย

ผมไม่แน่ใจนักว่า Some Like It Hot (1959) หรือเปล่า? จุดประกายภาพยนตร์แนว Cross-Dressing ชายแต่งตัวปลอมเป็นหญิง …vice versa… ด้วยจุดประสงค์ที่มักเกี่ยวกับเพศสภาพดั้งเดิมไม่สามารถกระทำ/แสดงออกมาได้ หรือเพื่อหลบลี้หนีความจริงบางอย่าง

อิสตรีในยุคสมัยนั้น แม้ได้รับสิทธิเสมอภาคเพิ่มขึ้น แต่อะไรๆอีกมากที่ยังฝังรากลึกในทัศนคติ ค่านิยมทางสังคม มิอาจถูกลบล้างปรับเปลี่ยนแปลงได้โดยทันที ต้องมีเหตุการณ์อะไรบางอย่าง #MeToo เมื่อความอึดอัดอั้นสะสมถึงขีดสุด ก็ถึงเวลาปะทุระเบิดออก โลกยุคสมัยถัดจากนั้นถ้าใครยังฝืนกระทำด้วยวิถีจากอดีต คราวนี้ละจะถูกโจมตี รุมโทรมประณาม ขับไล่ออกนอกรีตรอย … แบบยุคสมัยปัจจุบันนี้

ว่าไปมันก็แปลกดีนะ Tootsie คือภาพยนตร์แนว Feminist ที่ตัวเอกคือบุรุษ เกิดความเข้าใจอิสตรีได้จากการปลอมแปลงตนเอง ประสบพบเจอเรื่องร้ายๆ เลยเกิดจิตสำนึกบางอย่างขึ้นมาได้

Sydney Pollack ถือว่าได้เป็น ‘Woman’s Director’ ชื่นชอบสร้างภาพยนตร์โดยมีผู้หญิงคือจุดศูนย์กลาง ขณะที่ Tootsie ถือเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะเนื้อหาสาระคือ มุมมองของบุรุษต่ออิสตรี เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วจะสามารถเข้าใจสัจวิถีของโลกใบนี้ ชาย-หญิงนั้นมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

นอกจากประเด็น Feminist ยังปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน ให้รู้จักก้าวออกจากกฎกรอบขอบเขต ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีปฏิบัติทางสังคม ผู้ชายไม่จำต้องเป็นแค่ชายอีกเสมอไป (ผู้หญิงก็เช่นกัน) ชีวิตเคยถูกใคร/อะไรควบคุมครอบงำ ย่อมสามารถดิ้นหลุดพ้นจากกรงขัง อะไรเคยผิดพลาดก็เรียนรู้จักปรับปรุงตัวแก้ไข เติบโต มุ่งสู่อนาคตวันข้างหน้าที่สดใส


ด้วยทุนสร้าง $21 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $177.2 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับสองของปีรองจาก E.T. ซึ่งก็ยังทำให้กลายเป็นภาพยนตร์แนว Comedy ทำเงินสูงสุดตลอดกาลขณะนั้น!

เข้าชิง Oscar จำนวน 9 จาก 10 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Dustin Hoffman)
– Best Supporting Actress (Teri Garr)
– Best Supporting Actress (Jessica Lange) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay Written Directly for the Screen
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Sound
– Best Music, Original Song บทเพลง It Might Be You

ถึง Tootsie จะไม่ใช่ตัวเต็งคว้ารางวัลใหญ่ๆปีนั้น E.T. the Extra-Terrestrial ขับเคี่ยวกับ Gandhi ผลลัพท์ลงเอยเรื่องหลัง แบบที่ทั้งสมควรและไม่สมควร (แล้วแต่มุมมองของผู้ชม)

ถ้าจะมีสาขาที่ถูก SNUB น่าจะคือ Best Costume Design และ Best Makeup เพราะทั้งชุดและการแต่งหน้าทำผมของ Dorothy ทำออกมาได้อย่างดูดีมีเสน่ห์ แนบเนียน(เหมือนผู้หญิง) ทั้งหมดเลย พลาดไม่ได้เข้าชิงได้เช่นไร!

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ผมมอง Tootsie คือหนังดราม่าไม่ใช่ตลก มีหัวเราะจริงจังแค่ฉากเดียวเท่านั้นตอนเฉลยความจริง ไม่ใช่ว่าเส้นลึกแต่เรื่องราวลักษณะนี้ จริงจังจนขำไม่ออก!

ประทับใจโคตรการแสดงอันตราตรึงของ Dustin Hoffman โดยเฉพาะสำเนียงปักษ์ใต้ และสวมใส่แว่นอันใหญ่ๆ สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวละครได้อย่างทรงเสน่ห์ น่าลุ่มหลงใหล พบเจอในชีวิตจริงก็อาจตกหลุมรัก โดยไม่จำกัดเพศเลยก็ได้!

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ในยุคสมัย #MeToo นี่คือภาพยนตร์ที่จะทำให้บุรุษ เอาใจเธอมาใส่ใจเรา ขณะเดียวกับอิสตรี ถึงเวลาที่ต้องผลักไส ขับไล่ บุคคลที่ยังใช้อำนาจ เงินทอง พยายามควบคุม ครอบงำ ชี้บงการ ละลวนลาม นั่นไม่ใช่สิ่งควรอดรนทนอีกต่อไป

จัดเรต 13+ กับหลายๆพฤติกรรมผู้ชายที่พยายามควบคุม ครอบงำ ล่อลวง เอารัดเอาเปรียบอิสตรี

คำโปรย | Tootsie มองโลกในมุมกลับเพศ ทำให้ Dustin Hoffman ได้รับการจดจำจากทุกเพศวัย
คุณภาพ | 
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: