Top Hat

Top Hat (1935) hollywood : Mark Sandrich ♥♥♥♥

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่จุดประกาย ‘ยุคทองแห่งหนังเพลง’ นำแสดงโดย Fred Astaire และ Ginger Rogers, ไม่มีความจำเป็นต้องสนใจพล็อตหนัง เพราะมันเป็น Screwball Comedy แต่ทุกฉากเต้น จะทำให้คุณรำพันว่า ‘ไม่ยักรู้คนสมัยก่อน เต้นกันได้สุดเหวี่ยงขนาดนี้!’

กับการเต้นสนุกสุดเหวี่ยง เต็มที่อย่างที่สุด นี่คือเหตุผลที่ทำให้ Top Hat กลายเป็นตำนาน แม้ก่อนหน้านี้จะมีหนังเพลงอย่าง The Broadway Melody (1929) หรือ 42nd Street (1933) ที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน แต่รูปแบบของทั้งสองเรื่อง หนึ่ง)ยึดติดอยู่กับลักษณะของละครเพลง Broadway สอง)กำลังทดลองค้นหาแนวทางเหมาะสม ซึ่งยังไม่ถึงจุดที่สามารถเรียกว่า ‘หนังเพลง’ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

ในช่วง Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ช่วงต้นยุค 30s) วงการละครเวที Broadway ถือว่าซบเซามากๆ โดยเฉพาะหนังเพลง (คือคนไม่มีกะจิตกะใจดูการแสดงสนุกสนาน) ประกอบกับวงการภาพยนตร์มีการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย จากหนังเงียบกลายเป็นหนังพูด ทำให้นักแต่งเพลง นักเต้นเก่งๆ ดิ้นรนหาตัวรอดด้วยการเริ่มต้นกับสื่อแนวใหม่

สำหรับผู้มีชื่อเสียงคนแรกในวงการหนังเพลง Busby Berkeley คือนักออกแบบท่าเต้น (choreographer) ที่วิสัยทัศน์ของเขาจะเน้นความตระการตา มีการให้นักเต้น (โดยเฉพาะสาวๆ) ต่อตัวกันเป็นปิรามิด, ยืนถ่างขาแล้วกล่องเคลื่อนผ่าน, เต้นหมุนๆราวกับส่องกล้อง Kaleidoscope ฯ จริงอยู่มันน่าตื่นตาตื่นใจ แต่นี่ไม่ใช่การเต้นที่คนธรรมดาทั่วไปจะสามารถเลียนแบบได้

ใครอยากเห็นหนังที่ Berkeley ออกแบบท่าเต้น ลองหา 42nd Street (1933), Footlight Parade (1933), Dames (1934) ฯ

ถัดจาก Berkeley ก็ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุด การมาของ Fred Astaire และ Ginger Rogers ลักษณะหนังเพลงที่มีการเต้นคู่ระหว่างชาย-หญิง พระ-นาง ในบทเพลงที่มีการผนวกรวม ดำเนินเรื่องไปพร้อมกัน, จุดขายของ Astaire ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นศิลปะของภาพยนตร์ แต่คือทักษะ ฝีมือ ลีลาการเต้นของนักแสดง นั่นทำให้หนังของเขาแทบทุกเรื่อง จะไม่มีเทคนิคทางภาพยนตร์อะไรให้พูดถึงเลย มีการตัดต่อน้อยที่สุด ไม่มี Close-Up ใบหน้าหรือเท้า แต่จะถ่ายให้เห็นนักแสดงเต้นรำเต็มตัว long-take แบบไม่มีตัด มันอาจจะ 10 เทค 30 เทคก็ช่าง เพื่อความสมบูรณ์แบบที่สุดในการเต้น

Fred Astaire (1899-1987) นักแสดง นักเต้น สัญชาติอเมริกา ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดงชายที่ยิ่งใหญ่สุดของ Hollywood ลำดับที่ 5 ของ AFI’s 100 Years…100 Stars

Astaire ฉายแววการเป็นนักเต้นตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเริ่มต้นจากการเป็นนักแสดง Broadway และ London stage ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘greatest tap-dancer in the world’ ในช่วงซบเซามุ่งหน้าสู่ Hollywood เซ็นสัญญากับ RKO (ความประทับใจแรกของโปรดิวเซอร์ต่อ Astaire คือ Can’t sing. Can’t act. Balding. Can dance a little.) ผลงานการแสดงเรื่องแรก Dancing Lady (1933) ประกบ Joan Crawford ทำเงินพอสมควร เรื่องต่อมา Flying Down to Rio (1933) เป็นครั้งแรกที่ประกบคู่ Ginger Rogers

Ginger Rogers (1911-1995) นักแสดง นักเต้น สัญชาติอเมริกา ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดงหญิงที่ยิ่งใหญ่สุดของ Hollywood ลำดับที่ 14 ของ AFI’s 100 Years…100 Stars

Rogers เป็นนักเต้นตั้งแต่เด็ก เคยชนะการเต้น Charleston Dance จนได้ออกทัวร์ Vaudeville ตามด้วย Broadway และเข้าสู่ Hollywood ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Young Man of Manhattan (1930), แม้เธอจะเป็นนักเต้นอยู่แล้ว แต่ใช่ว่าหนังเรื่องแรกๆที่ร่วมงานกับ Astaire จะสามารถเต้นตามได้ทัน เพราะส่วนใหญ่เธอจะเต้นคนเดียวไม่เคยเต้นคู่ แต่ความไม่ย้อท้อยอมแพ้ ค่อยๆเรียนรู้สะสมประสบการณ์ พัฒนาตัวเองจนกระทั่ง Top Hat ผลงานลำดับที่ 3 ของทั้งคู่ นี่แหละเป็นครั้งแรก จะว่าด้วยสัญชาติญาณหรือเปล่าไม่รู้ แต่เธอสามารถเต้นรับส่ง เข้าขา คู่กับ Astaire ได้อย่างพร้อมเพียง สวยงาม ลงตัวที่สุด

“All the girls I ever danced with thought they couldn’t do it, but of course they could. So they always cried. All except Ginger. No no, Ginger never cried.”

– Fred Astaire พูดถึง Ginger Rogers

สิ่งที่ทำให้ Fred Astaire และ Ginger Rogers เป็นคู่ขวัญนักเต้นที่ได้รับการยกย่อง จดจำ พูดถึง ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Hollywood ไม่ใช่แค่ทักษะการเต้นที่สามารถรับส่ง เข้าขาได้อย่างพร้อมเพียงและเท่าเทียม Katharine Hepburn นักแสดงชื่อดัง ให้เหตุผลตรงที่สุดของคู่นี้ว่า ‘Astaire มอบความมีระดับแก่เธอและ Rogers มอบแรงดึงดูดทางเพศให้กับเขา’ (He gives her class and she gives him sex appeal.)

ปล. คู่แข่งนักเต้นของ Fred Astaire คือ Gene Kelly สองคนนี้มีลีลาฝีเท้าต่างกันในทางตรงข้าม Kelly เคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘ถ้าเปรียบลีลาในการเต้นกับนักแสดง ผมจะคือ Marlon Brando ส่วน Astaire จะคือ Cary Grant’ (I was the Marlon Brando of dancers and he was the Cary Grant.)

หนังได้แรงบันดาลใจจาก บทละครเรื่อง Scandal in Budapest (1933) ของ Sándor Faragó และ A Girl Who Dares (1933) ของ Aladar Laszlo โดยผู้กำกับ Mark Sandrich ขาประจำของ Fred Astaire (แต่ไม่ค่อยได้รับเครดิตให้พูดถึงเท่าไหร่)

ขอพูดถึงผู้กำกับ Sandrich สักหน่อยแล้วกัน เป็นชาวยิว เรียนจบคณะวิศวกรรมที่ Columbia University จับพลัดจับพลูเข้าร่วมธุรกิจภาพยนตร์โดยบังเอิญ มาเป็นคนซ่อมไฟหรืออะไรสักอย่าง ไปๆมาได้ทำงานในกองถ่าย จนกลายเป็นผู้กำกับ เรื่องแรกคือ หนังเงียบขนาดสั้นเรื่อง Runaway Girls (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] เคยได้ Oscar สาขา Best Short Subject (Comedy) จากเรื่อง So This Is Harris! (1933) [หาดูได้ใน Youtube] ร่วมงานกัน Astaire เรื่องแรกคือ The Gay Divorcee (1934) จากนั้นก็ทำงานกันโดยตลอด

Sandrich คงเป็นผู้ควบคุมโปรดักชั่น และแนวทางการกำกับ ส่วนการแสดงและออกแบบท่าเต้นคงต้องให้เครดิต Fred Astaire มากกว่า (จริงๆน่าจะถือเครดิตผู้กำกับร่วมได้ แต่ Astaire ไม่เอา)

เกร็ด: Sandrich เคยเป็นประธานของ Screen Directors Guild and the Directors Guild of America (SAG) ช่วงปี 1943-1944

ถ่ายภาพโดย David Abel ที่ไม่ค่อยได้แสดงฝีมือเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เป็น long-take แค่คอยเคลื่อนขยับกล้องให้นักแสดงอยู่ใจกลางภาพ กลางโฟกัสเท่านั้นเป็นพอ

ฉากที่สิ้นเปลืองสุดของหนังคือ Lido of Venice, Italy ออกแบบโดย Carroll Clark มีลักษณะเป็น Art Deco เป็นการสร้างเมืองขนาดย่อมๆในสตูดิโอ มีคลองตัดผ่าน สะพานให้เดินข้าม น้ำในคลองทำให้เป็นสีดำ (เพื่อจะสะท้อนแสงไฟได้ และไม่เห็นพื้นน้ำ) สไตล์การออกแบบเห็นเขาว่ากันว่า สะท้อนรสนิยมล่าสุดของ Hollywood (เป็นยังไงไม่รู้เหมือนกัน)

ตัดต่อโดย William Hamilton, สำหรับฉากเต้น The Piccolino ช่วงท้ายของหนังจริงๆเป็นแบบต่อเนื่องยาวไปเลย แต่เพราะจะทำให้หนังยืดออกไปมากจึงใช้การตัดต่อแบบกระโดดข้ามช็อตไปเรื่อยๆ (ให้เห็นเฉพาะการแสดงที่สวยๆ ดูโดดเด่นเท่านั้น)

เพลงประกอบแต่งโดย Irving Berlin ที่เป็นผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก, จริงๆแล้ว Berlin ไม่สามารถเขียนอ่านโน๊ตเพลงได้เลย แต่สามารถฮัมทำนองเจ๋งๆขึ้นมา แล้วถูกใจผู้ฟังอย่างมาก ซึ่งเพลงที่ได้ยินในหนังเรียบเรียงโดย Max Steiner อีกทีหนึ่ง

Isn’t This a Lovely Day (to Be Caught in the Rain)? ในฉากที่ตัวละครของเขาและ Ginger Rogers ติดฝนอยู่ที่ศาลา (gazebo) เนื้อเพลงเริ่มจากสถานการณ์ที่เลวร้าย ไปๆมาๆกลายเป็น Love Song จีบกัน ลุกขึ้นหยอกเย้า จากนั้นเต้นออกลีลา ประสานรับส่งกัน แบบไม่มีใครยอมใคร

Top Hat, White Tie and Tails เพลงที่เป็นชื่อหนัง จะไม่ให้พูดถึงได้ยังไง เนื้อร้องไม่มีอะไรให้พูดถึง บอกแค่ว่าชุดสากลที่เป็นทางการประกอบด้วยอะไรบ้าง ไฮไลท์อยู่ที่การเต้น Tab-Dance ฉายเดี่ยว มีลีลาลูกเล่นที่สนุกสนานเร้าใจ  ฉากหลังเป็นภาพวาดลางๆของหอไอเฟล, ช่วงท้ายที่เป็นการยิงรัวๆคงประมาณว่า คนที่แต่งองค์ทรงเครื่องครบถ้วน (หมวกสูง ไทด์ขาว และมีหางหลัง) จะหล่อเท่ห์ ดูดีกระชากใจ สามารถฆ่าคนให้ตายได้

เพลง Cheek to Cheek เริ่มต้นจากเสียงร้อง เต้นประกบโยกไปมาเบาๆ พอเพลงจบเหลือแต่ทำนอง ก็เป็นการเต้นคู่ที่ประสานกันได้พร้อมเพียง จะเห็นว่าชุดของ Rogers พริ้วมาก ออกลีลาท่าทางสุดๆ และเวลาทิ้งตัว (backbend) โค้งสวยที่สุดเลย (นี่มีนัยยะถึงการยอมศิโรราบ)

ปกติแล้วชุดของ Rogers ที่ใช้ในหนังจะมีคนออกแบบให้ แต่ชุดขนนกนี้เธอมีความต้องการอย่างมากที่จะสร้างสรรค์ด้วยตนเอง

“I was determined to wear this dress, come hell or high water. And why not? It moved beautifully. Obviously, no one in the cast or crew was willing to take sides, particularly not my side. This was all right with me. I’d had to stand alone before. At least my mother was there to support me in the confrontation with the entire front office, plus Fred Astaire and Mark Sandrich.”

แต่เพราะขนนก(กระจอกเทศ) เป็นสิ่งที่บอบบาง และขณะเต้นต้องโยกย้ายส่ายสะบัดไปมา ทำให้ขนร่วงหล่นเต็มพื้น (ถ้าสังเกตในหนังฉบับคุณภาพดีๆ ก็จะเห็นขนนกตามเต็มพื้น) มีครั้งหนึ่งที่ Astaire หัวเสียใส่ Rogers ต้องการให้เปลี่ยนชุด แต่เธอ(และแม่)ดื้อด้านหัวแข็ง นับจากนั้นมา Astaire ตั้งชื่อเล่นให้เธอใหม่ว่า ‘feathers’

เพลง Cheek to Cheek ได้รับความนิยมสูงมาก ติดอันดับ 15 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Songs เข้าชิง Oscar: Best Original Song แต่พ่ายให้กับ Lullaby of Broadways

ใจความของหนัง เป็นการจับพลัดจับพลูแห่งความเข้าใจผิด ของหญิงสาวกับชายหนุ่ม ที่เธอคิดว่าผู้ชายมีภรรยาแล้วยังหน้าด้านมาขอตนแต่งงาน, ขณะเดียวกันเพื่อนของพระเอกก็ถูกเข้าใจผิดจากชายอีกคน ที่คิดว่ามาจุ้นจ้านกับหญิงสาว ถึงขนาดท้าดวลต่อสู้ให้ตายไปข้าง

ผมแนะนำว่าอย่าไปเสียเวลาทำความเข้าใจเรื่องราวของหนังเลยนะครับ Screwball Comedy ก็แบบนี้แหละ จับใจความ หาสาระอะไรไม่ค่อยได้ ครุ่นคิดไปจะเครียดปวดหัวไปเสียเปล่าๆ เอาเวลาไปชื่นชมกับความสวยงามของบทเพลง ท่าเต้น และเคมีของคู่พระนาง ที่สนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจกว่าเนื้อเรื่องเยอะ

แต่หนังมีประเด็นหนึ่งที่ผมคงต้องขอแนะนำ กับตัวละคร Alberto Beddini ผู้ซึ่งชอบเอ่ยถึงตัวเองราวกับเป็นบุคคลที่สาม มีคำพูดติดปากว่า ‘For the women the kiss, for the men the sword.’ รับบทโดย Erik Rhodes, Beddini เป็นนักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นให้กับผู้หญิง ท่าทางแต๋วๆ มีครั้งหนึ่งที่พูดว่า ‘Never again will I allow women to wear my dresses.’ นี่ชัดเลยว่าตัวละครนี้เป็นเกย์

ด้วยทุนสร้าง $620,000 เหรียญ ทำเงินทั่วโลก $3.2 ล้านเหรียญ เป็นหนังที่ทำกำไรให้ RKO ที่สุดในศตวรรษ 30s, เข้าชิง Oscar 4 สาขา น่า่เสียดายไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Art Direction
– Best Dance Direction สำหรับเพลง Piccolino และ Top Hat
– Best Music, Original Song เพลง Cheek to Cheek

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ หลงใหลในเพลงประกอบ ท่าเต้น ความอัจฉริยะของ Fred Astaire และความทุ่มเทพยายามของ Ginger Rogers แต่ผิดหวังในพล็อตที่ไร้สาระเกินจะหาข้อคิดอะไรได้

แนะนำกับคอหนังเพลงยุคเก่าๆ ขาเต้น Swing, และแฟนๆคู่ขวัญ Fred Astaire & Ginger Rogers

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งบ้าน เด็กๆคงได้อ้าปากค้างแน่

TAGLINE | “Top Hat มีการเต้นของ Fred Astaire และ Ginger Rogers ที่จะทำให้คุณตราตะลึง ไม่ยักรู้คนสมัยนั้น เต้นสวิงกันได้สุดเหวี่ยงขนาดนี้!”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

3
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
2 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
tantawanpandawtypethai Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
tantawanpanda
Guest

Can’t sing. Can’t act. Balding. Can dance a little
ว้ายยย คุณโปรดิวเซอร์ว่าแรงมากกก 5555
หนังผกก Sandrich ตอนนี้จดไว้เลยค่ะ จะไปตามหาดูแน่นอน ตามจขบแนะนำ ชอบสไตล์การกำกับเขาจังค่ะ

— Irving Berlin ที่เป็นผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก, จริงๆแล้ว Berlin ไม่สามารถเขียนอ่านโน๊ตเพลงได้เลย

อันนี้เราฟังเพลงของ Irving Berlin มากมาย ไม่รู้เรื่องนี้เลย คือยังไงอ่ะคะ
ฮัมเพลงใส่นักดนตรีเอาไปแปลงเป็นโน้ต แล้วเล่นเป็นวงให้Irving Berlinดูเหรอคะ OMG ???

พล็อตที่ไร้สาระเกินจะหาข้อคิดอะไรได้ 5555
เราไปดูเรื่องนึงของคู่นี้The Story of Vernon and Irene Castle 1939 ดราม่าหนักมาก ร้องไห้ตาบวมเลยค่ะ พอมาดูแนวพวกพล็อตไร้สาระ รู้สึกดีนะคะ มันไม่ต้องคิดไรมาก ฮีลดีจริงๆ

top hat เป็นไรที่เรามาดูซ้ำบ่อยมากเลย

ขอบคุณสำหรับรีวิวค่ะ

%d bloggers like this: