Touch of Evil

Touch of Evil (1958) hollywood : Orson Welles ♥♥♥♥

film noir เรื่องสุดท้ายแห่งทตวรรษ กับการกลับมากำกับหนัง hollywood ครั้งสุดท้ายของ Orson Welles, มี Charlton Heston รับบทเป็น Mexican แม้ตอนฉายจะถูกสตูดิโอ Universal ทำให้กลายเป็นหนังเกรด B แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนังได้รับการปรับปรุงแก้ไข จนกลายเป็นเวอร์ชั่นใกล้เคียงกับที่ Orson Welles ตั้งใจไว้มากที่สุด

ว่าไปมันก็เป็นเรื่องน่าเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Osron Welles เพราะเขาถูก blacklist จากสตูดิโอใน hollywood ส่วนหนึ่งเพราะความคิดล้ำยุคเกินไป และอีกส่วนหนึ่งคือเขาทำตัวเองด้วย กับหนังเรื่อง The Magnificent Ambersons (1942) ผลงานกำกับเรื่องที่ 2 ถัดจาก Citizen Kane (1941) ซึ่ง Orson ใช้งบประมาณเกินไปพอสมควร ถ่ายทำล่าช้า เปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่บ่อยครั้ง จนสตูดิโอไม่พอใจในผลลัพท์ทำให้ต้องถ่ายซ่อม แล้วตัดต่อใหม่ (ตัดที่ Welles ทำไว้ทิ้งไปกว่า 40 นาที) สูญเงินไปไม่รู้เท่าไหร่และตอนฉายก็ขาดทุนย่อยยับ นี่ถือเป็นรอยบาดหมาง ที่ทำให้ต่อมา Welles ต้องอพยพหนีไปทำหนังในยุโรปแทน

สำหรับ Touch of Evil เดิมทีนั้น Universal ไม่ได้มีความต้องการให้ Orson Welles เป็นผู้กำกับ แต่ได้เซ็นต์สัญญาให้เป็นนักแสดง, สำหรับพระเอก เล็งไว้ให้ Charlton Heston รับบทนำ ซึ่ง Heston พอได้ยินชื่อ Orson Welles ก็คิดว่าเป็นผู้กำกับ เลยเซ็นต์สัญญาด้วยเงื่อนไขที่ Welles เป็นผู้กำกับ, นี่ทำให้ Universal จำใจต้องให้ Welles เป็นผู้กำกับด้วย แต่ก็แอบส่ง Spy สอดแนมขณะที่ Welles กำลังถ่ายทำอยู่

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Badge of Evil เขียนโดย Whit Masterson ตีพิมพ์เมื่อปี 1956 ผมไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้ แต่ได้ยินว่ามีบทที่แย่มากๆ เป็นเรื่องที่ Welles หลับหูหลับตาหยิบขึ้นมาจากร้านขายหนังสือมือสอง ด้วยคำท้าในความตั้งใจที่จะพิสูจน์ว่า เขาสามารถทำหนังที่ยอดเยี่ยม จากบทหนังที่ห่วยได้ (make a great film out of a bad script)

เรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองที่เป็นรอยต่อระหว่างพรมแดน อเมริกากับเม็กซิโก เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมด้วยการระเบิดรถ ที่อาชญากรวางระเบิดเวลาจากที่อเมริกา ให้เกิดระเบิดขึ้นที่เม็กซิโก ทำให้ตำรวจจากทั้งสองประเทศต้องทำงานร่วมกันเพื่อสืบเสาะตามหาคนร้าย

หน้าหนังเรื่องนี้คือ film noir, crime, thriller ด้วยคำโปรยบนโปสเตอร์หนัง การแก้แค้นแปลกประหลาดที่สุด (The strangest vengence ever planned!) ซึ่งถ้ามองลึกลงไป จะพบว่านี่เป็นหนังที่ Orson Welles ทำเพื่อแก้แค้น hollywood (โดยเฉพาะ Universal) ในสิ่งที่พวกนั้นทำกับเขา ด้วยการแทนการกระทำ ภาพลักษณ์ ความรู้สึกของตัวละคร เป็นเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์สักหน่อยก็จะมองเห็นว่า ใครแทนด้วยอะไรและมีจุดประสงค์อะไร

Charlton Heston รับบท Miguel “Mike” Vargas เจ้าหน้าที่ ปปส. ของรัฐบาล Mexican ที่จับพลัดจับผลูมาพักร้อนกับแฟนสาว แต่กลับต้องมารับหน้าที่ร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของอเมริกา, ถ้าเราไม่ยึดติดกับแนวคิดที่ว่า Heston เป็นชาวอเมริกันรับบทเป็น Mexican พูดสำเนียงอเมริกันแล้วละก็ การแสดงของเขาถือว่าใช้ได้เลย, Mike เป็นตำรวจที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา เชื่อในหลักฐาน ความจริงที่พิสูจน์ได้ นั่นทำให้พอพบว่า ตำรวจอเมริกาเล่นไม่ซื่อ มีความทุจริต เขาจึงต้องการเปิดโปงความจริงทุกสิ่งอย่าง, ตัวละครนี้แทนได้กับ Orson Welles ในยุคแรกๆที่เริ่มเข้ามาในวงการ ด้วยความฝัน ความตั้งใจที่เต็มเปี่ยม แต่ได้พบกับสตูดิโอที่มีความคอรัปชั่น ขัดขวาง กีดกัดไม่ให้เขาสามารถทำหนังได้ดั่งใจ

Orson Welles รับบท Captain Hank Quinlan ตำรวจอเมริกาที่เชื่อในสัญชาติญาณตนเอง เขาทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปรับปรำผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด, แม้คนที่ถูก Quinlan ป้ายสีจะเป็นผู้กระทำความผิดจริง แต่นี่ไม่ใช่วิสัยที่ถูกต้องนะครับ มันคือต้นเหตุของความคอรัปชั่นเลยละ, Welles รับบทนี้ด้วยการที่ต้องสวมชุดยาง ทำให้กลายเป็นคนตัวอ้วนใหญ่กว่าปกติ (แบบที่เขาเคยทำใน Citizen Kane) เหตุที่ต้องทำแบบนี้ เพื่อแสดงถึงความเฟอะฟะ เทอะทะ ตุ้ยนุ้ยที่เกิดจากความอิ่มหนำของการโกงกิน (คอรัปชั่น) แววตา สีหน้า ท่าทางการแสดงของ Welles สะท้อนภาพความชั่วร้าย เห็นแก่ตัว และความเอาเปรียบของสตูดิโอใน hollywood ออกมาให้เห็น ผมไม่คิดว่าจะมีนักแสดงคนไหนที่สามารถถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมาได้ยอดเยี่ยมเท่าเขาอีกแล้ว นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Welles แสดงบทนี้ ทั้งๆที่แค่งานกำกับก็เหนื่อยมากแล้ว ซึ่งก่อนเข้าฉาก เขาต้องเตรียมตัว แต่งหน้ากว่าจะเสร็จก็หลายชั่วโมง เรียกว่าทุ่มเทสุดตัวเพื่อฉีกหน้า Universal โดยเฉพาะ

Good cop vs Bad cop นี่ถือเป็นใจความหลักที่แท้จริงของหนังนะครับ แม้ตอนเริ่มเรื่องจะเป็นการร่วมมือกันค้นหาฆาตกรที่วางระเบิดก็เถอะ แต่ประเด็นของเรื่องนั้นจบไปแล้วตั้งแต่กลางเรื่อง ประมาณว่าเป็นการเกริ่นเพื่อเข้าสู่ใจความหลักที่แท้จริงของหนัง, ชนวนที่เป็นสาเหตุความขัดแย้ง คือวิธีการและการกระทำ, ในอีกมุมของหนังมันคือ Orson Welles vs Hollywood Studio ใครดีใครเลว คงคาดเดากันเองได้นะครับ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เกิดจากความไม่พึงพอใจในผลลัพท์ จึงใช้วิธีการและการกระทำที่ขัดต่อความถูกต้อง

Janet Leigh ในบท Susie แฟนสาวของ Mike ที่ถูกกระทำชำเราทางจิตใจ แม้จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นทางกาย แต่ข้างในของเธอย่อมชอกช้ำและเจ็บปวด, ผมมองตัวละครนี้เป็นภาพสะท้อนข้างในจิตใจของ Orson Welles นี่เป็นตัวละครที่เป็นคู่ชีวิตของ Mike เราสามารถมองว่า เรื่องราวของ Mike คือสิ่งที่แสดงออกทางกาย ส่วน Susie คือความรู้สึกที่อยู่ข้างในจิตใจ

Spy ที่ส่งไปสอดแนม Welles ระหว่างการถ่ายทำนั้น เพราะ Universal มีความวิตกกังวลว่าเขาจะทำอะไรที่ทำให้หนังล่าช้า หรือใช้งบประมาณเกินอีก, วันแรกของการถ่ายทำ สายลับมาถึงสถานที่ถ่ายทำตอบ 9 โมงเช้า Welles เตรียมงานเสร็จตอน 9:15 เริ่มถ่ายตอน 9:25 จบวันถ่ายได้ 11 นาที, เมื่อสายสืบเห็นแบบนี้จึงรายงานกับสตูดิโอ ดูเหมือนว่า Welles อาจจะได้รับบทเรียนจากครั้งก่อน จึงทำตัวดีขึ้น ถัดมาอีก 2-3 วัน ยังคงไม่มีอะไรที่ผิดปกติ Spy จึงไม่ได้กลับมาอีก, แต่หารู้ไม่ 2-3 วันนั้น เป็นสิ่งที่ Welles จัดฉาก จงใจถ่ายเป็นอะไรที่ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก พอนักสืบไม่ได้กลับมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่เขาจะได้ทำอะไรตามใจเสียที

สไตล์การทำงานของ Welles นั้นค่อนข้างแปลก นักแสดงหลักมีการซักซ้อมบทก่อนถ่ายหนัง 2 สัปดาห์, Janet Leigh ให้สัมภาษณ์ถึงความทรงจำที่ได้ร่วมงานกับ Welles ว่า เขาให้พวกเราเขียนคำพูดบทสนทนาขึ้นมาใหม่หมด เพราะต้องการให้เราใส่ความคิด ความรู้สึกของตนเข้าไปในตัวละคร ให้สร้างสรรค์มันขึ้นมาด้วยตัวเอง นี่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังได้สร้างสรรค์อะไรบางอย่างไปร่วมกับเขา, Mr. Welles ต้องการให้เราเก็บความรู้สึกทุกขณะ ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง, เขาทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังได้พบกับสิ่งน่าอัศจรรย์ที่กำลังเกิดขึ้นข้างหน้า

หนังเรื่องนี้มีตัวประกอบรับเชิญชื่อดังจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนและเป็นคนที่ชื่นชอบในตัวผู้กำกับ Welles อยากร่วมงานกันเพราะรู้ว่าเขาเป็นผู้กำกับที่มีความสามารถ แม้จะแค่ช่วงเวลาเล็กๆ, อาทิ Dennis Weaver เล่นเป็นเสมียรกะดึก, Zsa Zsa Gabor ปรากฎตัวใน Strip Club, Joseph Calleia, Marlene Dietrich, Mercury Theatre หรือแม้แต่ Joseph Cotten ก็มา Cameo ในบทเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ถ่ายภาพโดย Russell Metty, กับฉากเปิดหนังในตำนาน ด้วยความยาว 3 นาที 20 วินาที ณ ตอนนั้นนี่เป็นฉาก long-take แบบ tracking shot ที่ยาวที่สุดในโลก, การถ่ายฉากนี้ไม่ง่ายเลยนะครับ เห็นว่าใช้เวลากันทั้งคืน และมีการถ่ายกันหลายรอบมาก เพราะตัวประกอบที่เป็นตำรวจมักจะพูดผิด ทำให้ครั้งสุดท้าย Welles บอกพวกเขาว่า พูดอะไรไปก็ได้ เดี๋ยวไปพากย์เสียงทับเอา กลายเป็นรอบนี้ผ่านแบบไม่มีอะไรผิดพลาดทั้งนั้น, การเคลื่อนกล้องของฉากนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรง แต่เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง เดี๋ยวไปทางซ้าย เดี๋ยวไปทางขวา เปรียบได้กับเรื่องราวของหนังที่ไม่ใช่เส้นตรง แต่มีความวุ่นวายสับสนอลม่าน

ในบางเวอร์ชั่นของหนัง Universal ทำการตัดต่อฉากนี้ ด้วยการตัดสลับกับภาพ Close-Up เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป, ลองคิดดูนะครับว่าการกระทำแบบนี้ มันคือวิสัยทัศน์ของสตูดิโอสมัยก่อน เราควรชื่นชมในการตัดสินใจของพวกเขา หรือเห็นใจผู้กำกับดี

การเคลื่อนไหวกล้อง มุมกล้องของหนังเรื่องนี้ถือว่า แปลกประหลาดมากๆ แม้ผมจะเห็นหนังลักษณะคล้ายๆกันนี้มาหลายเรื่อง ก็ยังไม่รู้สึกคุ้นเคยกับการถ่ายภาพเอียงๆแบบนี้เลย (เหตุผลก็เพราะเรื่องราวมันไม่ตรงไปตรงมา), Welles ขึ้นชื่อเรื่องภาพทุกภาพจะมีการจัดวางองค์ประกอบ แสง สี เงา ความลึกที่มีความหมายทุกฉาก ทำไมถึงถ่ายแบบนี้? ทำไมต้องเคลื่อนกล้องแบบนี้? ทำไมตัวละครต้องเดินไปทางนี้? ต้องเคลื่อนไหวแบบนี้? เราไม่จำเป็นต้องไปเข้าใจทุกอย่างนะครับ ใช้ความรู้สึกสัมผัสเอาก็พอว่ามีความสวยงาม ลื่นไหล ผมเปรียบนี่คือลมหายใจของหนัง จะว่าเป็นลมหายใจของ Orson Welles ก็ยังได้

หนังถ่ายเสร็จตามกำหนดและไม่ใช่งบเกิน (นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ Orson Welles) ซึ่งสตูดิโอรู้สึกพอใจมาก และ Welles ก็ได้ถ่ายทำหนังในวิธีการที่ตนต้องการ แต่ความวุ่นวายได้เกิดขึ้นหลังการถ่าย เมื่อ Welles ส่งการตัดต่อเบื้องต้น (rough cut) ให้ทาง Universal แต่กลายเป็นว่าพวกเขาไม่ชอบใจเอาเสียเลย จึงไปจ้าง Harry Keller ให้มาถ่ายทำเพิ่ม และตัดต่อใหม่ นี่ทำให้ Welles ไม่พอใจอย่างมาก (บางแหล่งบอกว่า Welles ปฏิเสธที่จะถ่ายซ่อม จึงต้องไปจ้าง Keller มาทำแทน) หนังเวอร์ชั่นนี้ถูกลดเกรดกลายเป็นหนังเกรด B ด้วยความยาว 93 นาที ฉายควบกับ The Female Animal (1958) ของผู้กำกับ Harry Keller (หนังสองเรื่องนี้มีตากล้อง Russel Metty คนเดียวกัน)

Welles หลังจากได้ดูหนังเวอร์ชั่นนี้ ก็เขียน memo ความยาว 58 หน้าส่งให้ Edward Muhl หัวหน้าทีมสร้างหนังของ Universal อธิบายถึงสิ่งที่หนังควรจะเป็น แต่พวกเขาก็มองข้ามไม่ได้สนใจอะไรทั้งนั้น

ปี 1976 Universal เริ่มรู้ตัวว่าผู้ชมเริ่มให้ความสนใจต่อหนังของ Orson Welles อย่างมาก จึงทำการค้น archives และเอาฟุตเทจบางส่วนที่หลงเหลือของหนังมาตัดต่อใหม่ โดยจ่าหัวว่า ‘Complete, uncut and restored’ ด้วยความยาว 108 นาที ซึ่งความจริงหนังไม่ได้มีถูก restoration ด้วยซ้ำ และไม่ใช่เวอร์ชั่นที่ Welles ตัดต่อจริงๆ (เวอร์ชั่นนั้นซึ่งน่าจะสูญหายไปแล้ว)

ปี 1998 Walter Murch ได้ทำการรวบรวมทุกสิ่งอย่างที่เหลืออยู่อีกครั้ง ทำการ restore และตัดต่อหนังใหม่ โดยอ้างอิงจาก memo ของ Welles ที่เขียนให้กับ Edward Muhl ได้ความยาว 110 นาที เวอร์ชั่นนี้ได้มีการแก้ไขจุดสำคัญใหญ่คือฉากเปิดเรื่อง ให้กลายเป็น long-take ความยาว 3 นาที 20 วินาที, ถือว่านี่เป็นเวอร์ชั่นที่ใกล้เคียงกับความต้องการของ Welles ที่สุดแล้ว และเป็นเวอร์ชั่นเดียวที่น่าจะหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

เพลงประกอบโดย Henry Mancini ผมไม่แน่ใจว่ามีเพลงที่หลงเหลืออยู่ในเวอร์ชั่น 1998 มากน้อยเท่าไหร่ แต่เห็นว่าไม่ได้มีการแต่งเพลงเพิ่ม ซึ่งเพลงในหนังส่วนใหญ่จะมาจากวิทยุ เครื่องเสียง วงดนตรี จะมีก็แค่ตอนจบเท่านั้นที่มีเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศประกอบความตื่นเต้น ระทึกขวัญ ซึ่งใช้เสียงเครื่องเป่าเป็นหลัก อาทิ ทูบา ดับเบิ้ลเบส แต่ก็ไม่ได้มีความยาวมากนะครับ มีลักษณะเหมือน Sound Effect มากกว่าเพลงประกอบเสียอีก

มีครั้งหนึ่งที่ตัวละครของ Orson Welles ต้องการให้เพื่อนสาวทำนายอนาคตให้ ‘Come on, read my future for me.’ ซึ่งเธอตอบว่า นายไม่มีอะไรให้ทำนาย ‘You haven’t got any.’ นี่เป็นประโยคที่เหมือน Orson Welles ต้องการทำนายอนาคตของสตูดิโอ Universal (ตัวละครของ Welles แทนตัวเองด้วยสตูดิโอใน hollywood) ว่าต่อไปคงต้องล่มสลาย แต่กลายเป็นว่านี่เป็นประโยคทำนายอนาคตของตนเองในการทำหนัง Hollywood เสียอย่างนั้น, ตัวละครของ Welles นี้ถามกลับ หมายความว่ายังไง ‘What do you mean?’ เธอตอบว่า อนาคตของเธอใช้หมดแล้ว ‘Your future is all used up.’

ฉากสุดท้ายในหนังถือเป็นอีกหนึ่งในตำนานเลย ใครที่เคยเปิดวิทยุใกล้ๆแม่น้ำจะรู้ว่ามันมีเสียงสะท้อนดังก้องกังวาลจริงๆ (เพราะเสียงสามารถเดินทางผ่านตัวกลางที่เป็นน้ำได้ แต่มันช้ากว่าอากาศจึงเกิดเสียงสะท้อน) ณ สะพานที่เป็นจุดเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่ง มองเป็นอะไรก็ได้นะครับ ดี-ชั่ว เกิด-ตาย ภพนี้-ภพหน้า อเมริกัน-เม็กซิกัน ฯ ตัวละครของ Orson Welles ถือว่ามีเย่อหยิ่ง จองหองมากๆ ผมคิดว่าเขารู้ตัวนะว่าผิด แต่ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด แถมยังโยนขี้ใส่คนอื่น โทษโน่นโทษนี่ ตัวเองขาวสะอาด, การฆ่าสหายตำรวจในฉากนี้ถือว่าเป็นการหักหลังที่เลวร้ายมากๆ วินาทีนั้นจากตำรวจเลวกลายสภาพเป็นผู้ร้ายทันที, สถานที่ตายของเขาคือ เศษซากกองขยะข้างสะพานริมน้ำ ผมไม่รู้ Welles ประชดอะไรคนดูหรือเปล่า ภาพ close-up หน้าของเขาแบบว่า เฟะมากๆ หน้าคนนะไม่ใช่กองขยะ เปรียบเหมือนนี่คือใบหน้าของคนที่น่ารังเกียจที่สุดในโลก

หนังเรื่องนี้ได้ไปฉายใน Brussels Word’s Fair เมื่อปี 1958 ที่ประเทศ Belgium และได้รับรางวัล Best Film ในสายประกวดซึ่งมี François Truffaut และ Jean-Luc Godard เป็นกรรมการตัดสิน ซึ่งว่ากันว่าหลังจากทั้งสองได้ดูหนังเรื่องนี้ ก็เกิดแรงบันดาลใจต้องการเป็นผู้กำกับหนัง ซึ่ง Truffaut ทำหนังเรื่องแรก The 400 Blows ปี 1959 และ Godard กำกับ Breathless ปี 1960

อิทธิพลของหนังเรื่องนี้ถือว่าเยอะมากนะครับ อย่างหนังเรื่อง Ed Woord (1994) ขณะที่ Ed Wood ได้เจอกับ Orson Welles มีคำพูดเชิงประชดประชันของ Welles ว่า ‘เขากำลังจะได้ทำหนัง Thriller กับ Universal แต่พวกเขาอยากให้ Charlton Heston เล่นเป็น Mexican’ (I’m supposed to do a thriller with Universal, but they want Charlton Heston to play a Mexican!)

หนังเรื่อง Get Shorty (1995) ตัวละครของ John Travolta ชวนเพื่อนๆไปดู Touch of Evil ‘พวกนายมีใครสนใจไหม ไปดูหนังที่ Charlton Heston เล่นเป็น Mexican’ (You wanna go check it out? Watch Charlton Heston play a Mexican?)

รู้สึกว่ามีหนังหลายเรื่องที่ประชดประชันการที่ Charlton Heston รับบทเป็น Mexican นะครับ, ผมไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์ Heston ที่บอกว่า สิ่งหนึ่งที่เขาเสียใจคือ ไม่ได้ใช้สำเนียง Mexican ในการแสดงหนังเรื่อง Touch of Evil (คงเพราะมีแต่คนล้อพี่แก ว่าแสดงได้ไม่เหมือน Mexican แม้แต่น้อย)

หนังเรื่องนี้ถือว่าดูยากนะครับ ต่อให้คุณตั้งใจแค่ไหน เชื่อว่าดูครั้งแรกอาจไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ ผมดูมาสามรอบแล้วยังมึนๆอยู่เลย มันมีความสลับซับซ้อนที่ซ่อนเงื่อนและแปลกประหลาด นี่ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของ film noir นะครับ คุณอาจต้องเตรียมใจสักนิด ถ้าดูเข้าใจตั้งแต่รอบแรกมันจะเป็นหนัง noir ที่ดีได้ยังไง, ยิ่งภาพขาว-ดำ คอหนังสมัยนี้คงขยาดเลยละ แต่ถ้าสามารถดูได้และเข้าใจได้ จะพบว่านี่เป็นหนังที่สวยงามมากๆเรื่องหนึ่ง ผมเรียกว่าเป็นจดหมายสั่งลา hollywood ของ Orson Welles เลยละ

ผมจำใจให้คะแนนคุณภาพหนังคือ RAREGENDARY ทั้งๆที่ความยอดเยี่ยมของหนังมีแค่ งานภาพและการกำกับ นอกนั้นล้วนแต่มีตำหนิที่เลวร้าย อาทิ เนื้อเรื่องที่ซับซ้อนเกินไป บางอย่างไม่สมเหตุสมผล บางตัวละครไม่รู้จะโผล่มาทำไม, ความไม่เหมาะสมของนักแสดง โดยเฉพาะ Charlton Heston, ตัดต่อที่ขาดๆหายๆ แน่ละเพราะมันไม่ใช่หนังในแบบที่ต้องการของผู้กำกับ ฯ ผมให้คุณภาพเต็ม เพราะเมื่อมองหนังเรื่องนี้เป็น Cult Film แล้ว คุณภาพของหนังมันล้ำยุค ยอดเยี่ยมเหนือกาลเวลา มีค่ามากพอให้มองข้ามตำหนิพวกนี้ได้

แนะนำกับคนทำหนัง นักเรียนสายภาพยนตร์ นี่เป็นหนังเรื่อง ‘บังคับ’ ที่ต้องดูของผู้กำกับ Orson Welles เลยนะครับ, คนชอบหนังแนวสืบสวนสอบสวน ซ่อนเงื่อนซับซ้อน ไม่ผิดหวังแน่นอน

จัดเรต 15+ กับฆาตกรรม ยา และความโรคจิต

TAGLINE | “Touch of Evil เป็นจดหมายสั่งลา hollywood ของ Orson Welles ที่มี Charlton Heston เล่นเป็น Mexican”
QUALITY | RAREGENDARY
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Touch of Evil (1958)  : Orson Welles ♥♥♥♥ […]

%d bloggers like this: