Touchez pas au grisbi

Touchez pas au grisbi (1954) French : Jacques Becker ♥♥♥♥

ผู้กำกับ Stanley Kubrick เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลเลิกสร้างหนังแนวอาชญากรรมหลังจาก The Killer (1955) เพราะมีภาพยนตร์สองเรื่อง Touchez Pas au Grisbi (1954) กับ Bob le Flambeur (1956) ยิ่งใหญ่สมบูรณ์แบบที่สุดแล้วของแนวนี้

“I gave up doing ‘Crime Films’ because Jean-Pierre Melville did the greatest with Bob le Flambeur (1956) and Jacques Becker did the second best with Touchez Pas au Grisbi (1954)”.

– Stanley Kubrick

กระนั้นคำสัมภาษณ์นี้ของ Kubrick ภายหลังสร้าง The Killer เสร็จไม่กี่ปี ก่อนการมาถึงของ The Godfather (1972), Chinatown (1974), Dog Day Afternoon (1975), Goodfellas (1990) ฯ ก็น่าสนใจทีเดียวว่าเขาจะมีทัศนะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ยังคงจะให้ Bob le Flambeur (1956) กับ Touchez Pas au Grisbi (1954) อันดับ 1-2 ของภาพยนตร์แนว Crime Film อยู่หรือเปล่า

ผมรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จากคำพูดของ Kubrick นี่แหละ แทบอดใจรอไม่ได้จนต้องรีบหามารับชมแซงคิว และก็ไม่ผิดหวังโคตรประทับใจสุดๆ โดยเฉพาะการแสดงของ Jean Gabin วางมาดเก๋าเกม เปี่ยมด้วยไหวพริบ วิสัยทัศน์ และยึดถือมั่นในมิตรภาพไม่ทอดทิ้งเพื่อน ว่าไปผมชื่นชอบมากเสียยิ่งกว่า Roger Duchesne ใน Bob le Flambeur (1956) เพราะส่วนตัวมองว่าอุดมการณ์อันหนักแน่นมั่นคงของลูกผู้ชาย สำคัญกว่าความมาดเท่ห์ดวงดีเสียอีก

Jacques Becker (1906 – 1960) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวชนชั้นสูงฐานะร่ำรวย พ่อเป็นเจ้าของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ชอบเดินทางไปพักร้อนที่ Marlotte-sur-Loing กลายเป็นเพื่อนเล่นของ Paul Cézanne Jr. (ลูกชายของจิตรกรชื่อดัง Paul Cézanne) เมื่อปี 1921 ได้แนะนำให้รู้จักรุ่นพี่ Jean Renoir (ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าวงการ) ทั้งสองสนิทสนมกันอย่างรวดเร็วเพราะมีความหลงใหลในภาพยนตร์ ดนตรีแจ๊สเหมือนกัน, เติบโตขึ้นเดินทางไปท่องเที่ยวอเมริกา พบเจอผู้กำกับ King Vidor ชักชวนให้มาเป็นนักแสดง แต่เจ้าตัวตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาร่วมงานเป็นผู้ช่วยของ Renoir (บ้างว่าพวกเขาเป็นคนรักกันเลยนะ) อาทิ Madame Bovary (1933), La Grande illusion (1937), The Rules of the Game (1939) ฯ กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวฉายเดี่ยวเรื่องแรก Dernier atout (1942), ผลงานเด่นๆ อาทิ Antoine et Antoinette (1947), Casque d’Or (1952), The Lovers of Montparnasse (1958), Le Trou (1960) ฯ

เพราะความที่บ้านรวยกระมัง เลยทำให้ Becker แทบมิต้องทุกข์ยากลำบากอะไร ตัวเขาจึงมักมีความสนใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร หลงใหลในอุดมการณ์ความถูกต้อง ซึ่งในภาพยนตร์จะมีสไตล์การเล่าเรื่องอย่างไม่รีบเร่ง ด้วย ‘Tempo’ จังหวะของตนเอง อาทิ ตัวละครค่อยๆเดินขึ้นบันได ไขประตูบิดลูกกินแจ รินเหล้า ตักอาหารเข้าปาก อาบน้ำแต่งตัว สวมเสื้อผ้าเข้านอน ฯ

François Truffaut เขียนถึง Becker ที่ด่วนจากไปก่อนวัยอันควร สิริอายุเพียง 56 ปี

“He invented his own tempo. He loved fast cars and long meals; he shot two-hour films on subjects that really needed only 15 minutes. He was scrupulous and reflective and infinitely delicate. He loved to make detailed films about ordinary things…”

สำหรับ Touchez pas au grisbi (แปลว่า Don’t touch the loot) ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ Albert Simonin (1905 – 1980) นักเขียนนิยายอาชญากรรมชื่อดังของฝรั่งเศส แม้เจ้าตัวจะร่วมดัดแปลงกับ Becker และ Maurice Griffe แต่ก็โยนเรื่องราวจากนิยายทิ้งไปกว่าครึ่ง นำมาเฉพาะตัวละคร และเรื่องราวหลังจากการปล้น

(หนังตัดทิ้งเรื่องราวขณะการปล้นออกไปเลย เพราะสมัยนั้นเพิ่งมีเพียง The Asphalt Jungle เรื่องเดียวเท่านั้น ที่ไม่หวาดหวั่นเกรงกลัวต่อกองเซนเซอร์ นำเสนอวิธีการโจรกรรมแบบตรงไปตรงมา ได้รับการยกย่องเป็นเสาหลักแรกของ Modern Heist)

เรื่องราวของ Max (รับบทโดย Jean Gabin) นักเลงวัยกลางคนมาด้วยหลักการและประสบการณ์ วางแผนเกษียนตนเองหลังเสร็จสิ้นโจรกรรม 8 ทองแท่งมูลค่ากว่า 50 ล้านฟรังก์ โดยมีเพื่อนสนิทมือขวา Riton (รับบทโดย René Dary) พึ่งพากันตลอดกว่า 20 ปี แต่จริงๆคือคนไม่ค่อยมีสมองสักเท่าไหร่ ชอบทำตัวเสเพลเพลย์บอยตกหลุมรักสาวแรกรุ่น Josy (รับบทโดย Jeanne Moreau) ที่แท้จริงแล้วตกหลุมรักอยู่กับหนุ่มนักค้ายา Angelo (รับบทโดย Lino Ventura) หล่อเท่ห์เร้าใจกว่าเป็นไหนๆ

ความวุ่นวายเกิดขึ้นเมื่อ Angelo ก็ไม่รู้ทราบได้อย่างไรว่า Max กับ Riton เพิ่งทำการโจรกรรมทองแท่งสำเร็จเสร็จสิ้น (คาดว่าน่าจะ Josy นะแหละเป็นคนบอกกล่าว) วางแผนลักพาตัวใครสักคนหนึ่งเพื่อเรียกค่าไถ่ ถึงแม้ Max จะสามารถคาดเดาได้ว่าเรื่องพรรค์นี้จะเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่คนสมองทึ่มทื่อแบบ Riton ถูกจับกุมตัว ระหว่างเงินกับเพื่อนรักสำหรับเขาสำคัญพอๆกัน แต่เหตุการณ์คาดไม่ถึงหลังจากนั้นมันทำให้ชีวิตหวนกลับมาเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่

นำแสดงโดย Jean Gabin ชื่อจริง Jean-Alexis Moncorgé (1904 – 1976) นักแสดงในตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ‘the actor of the century’ ของฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris วัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ โดดออกมาเป็นกรรมกรใช้แรงงานจนอายุ 19 เกิดความสนใจในการแสดงละครเวทีได้รับบทตัวประกอบเล็กๆ กลับจากรับใช้ชาติทหารเรือ กลายเป็นนักร้องเลียนแบบ Maurice Chevalier เคยทำงานใน Moulin Rouge จนเข้าตาผู้กำกับมุ่งสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก La Bandera (1936), โด่งดังเป็นที่รู้จัก Pépé le Moko (1937), ยิ่งใหญ่ระดับตำนาน La Grande Illusion (1937), กลายเป็น Iconic กับ La Bête Humaine (1938), Port of Shadows (1938) ฯ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ลุกลามมาถึงฝรั่งเศส Gabin เดินทางสู่ Hollywood แต่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ กลับมาหลังสงครามก็ยังไม่ฟื้น ขนาดว่า The Walls of Malapaga (1949) คว้ารางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่กลับไม่ทำเงิน จนกระทั่ง Touchez pas au grisbi (1954) กอบกู้ชื่อเสียงให้กลับคืนมา ถัดจากนี้ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า ตามด้วย French Cancan (1955), Les Misérables (1958), Archimède le clochard (1959), Le clan des siciliens (1969), Le Chat (1971) ฯ

รับบท Max นักเลงวัยกลางคนที่เริ่มรับรู้ถึงสังขารไม่เที่ยง หลังจากปล้นทองคำแท่งครั้งนี้สำเร็จตั้งใจว่าจะคืองานสุดท้าย แอบซื้ออพาร์ทเม้นท์ และรถหรูอย่างลับๆไม่มีใครล่วงรู้ แต่ติดอย่างเดียวคือเพื่อนสนิท Riton ผู้ไม่เคยใช้สมองครุ่นคิดถึงอะไรเลย กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ถูกค้นพบเรื่องการโจรกรรม แต่ด้วยอุดมการณ์มิตรภาพเพื่อนแท้ไม่มีวันทอดทิ้งกัน อะไรจะเกิดเขาก็ยินยอมเสียสละให้ได้เสมอ

สังเกต: ชื่อตัวละคร Max คงสะท้อนถึงจุดสูงสุด ความอิ่มเต็มเปี่ยมของตัวละคร พอแล้วไม่เอาอีกกับอาชีพนักเลงมาเฟีย ปล้นครั้งนี้คือสุดท้าย

Gabin เป็นนักแสดงที่มักได้รับบทสมวัยตัวเองอยู่เสมอ เมื่อตอนเริ่มมีอายุผู้ชมก็จะรู้สึกได้ถึงความทรงภูมิ ประสบการณ์ชีวิตที่สะสมมากคลั่ง ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์สามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ต่างๆ อีกทั้งปณิธานไหวพริบความเฉลียวฉลาดของตัวละคร แม้ไม่แสดงออกทางสีหน้า เพียงแค่คำพูดชักแม่น้ำทั้งห้า ก็สามารถทำให้ใครๆเกิดความเชื่อมั่นสุดใจ นี่แหละคือชายคนที่ฉันสามารถฝากชีวิตจิตวิญญาณไว้ แล้วไม่มีวันถูกทรยศหักหลังด้วยประการทั้งปวง

René Dary (1905 – 1974) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานมาตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนใหญ่มักรับบทสมทบ ผลงานเด่น อาทิ 120, rue de la Gare (1946), L’inconnue n° 13 (1949) ฯ

รับบท Riton มือขวาของ Max ที่ชอบเรียกเขาว่า ‘Porcupine Head’ ร่วมงานกันมากว่า 20 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวจนเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี แต่เพราะสมองไม่ค่อยมี เลยใช้ชีวิตแบบเรื่อยเปื่อยไปวันๆแบบไร้จุดหมาย แต่งงานแล้วยังทำตัวเพลย์บอยเพราะคิดว่าตัวเองหล่อเท่ห์ดูดี แต่กลับถูกสาวธนูปักเข่ายังไม่รู้สึกตัว ถ้าไม่เพราะได้เพื่อนสนิทมองตารู้ใจ ป่านนี้คงถูกฝังกลบดินโปรยหน้าตายไปนานแล้ว

Dary ไม่ได้ใช้การแสดงอะไรมากนัก แค่ไว้หนวดที่มันดูกวนบาทา ทำหน้ายียวน ออกอาการตีมึนเวลาโง่เขลา ยิ่งเสียกว่า ‘damsel in distress’ ตัวประกอบที่สำคัญมาก แต่แทบไร้ตัวตนเสียกระไร

Lino Ventura (1919 – 1987) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Parma, Emilia-Romagna แต่มาโด่งดังกลายเป็นตำนานกับวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส ถึงขนาดได้รับการโหวตติดอันดับ 23 ชาร์ท ‘100 greatest Frenchmen’ หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุค นี่เป็นผลงานแรกแจ้งเกิด ตามด้วย Elevator to the Gallows (1958), La bonne année (1973), Les misérables (1982) ฯ

รับบท Angelo นักค้ายาแก๊งค์ตรงข้าม ศัตรูตัวฉกาจของ Max พบเห็นกอดจูบอยู่กับแดนเซอร์สาว Josy แต่ดูแล้วคงไม่ได้คาดหวังอะไรไปมากกว่าเรือนร่างของหญิงสาว ในเรื่องอันธพาลถือว่าเป็นคนเฉลียวฉลาด วางแผนได้อย่างรอบคอบรัดกุม แต่เหตุที่พ่ายแพ้เพราะอีกฝ่ายมีประสบการณ์สูงกว่า เล่นกับใครไม่เล่น คนหนุ่มก็มักหลงระเริงตัวเองแบบนี้

นี่เป็นบทแรกแจ้งเกิดของ Ventura ฝีมือการแสดงยังไม่เท่าไหร่ คงด้วยภาพลักษณ์และลีลานักรัก หล่อเท่ห์ระดับ Matinee Idol สาวๆสมัยนั้นคงกรี๊ดกร๊าดไคล้คลั่ง ได้จูบกับ Moreau แบบดื่มด่ำ ผมเองยังแอบอิจฉาเลย

แถมให้กับ Jeanne Moreau (1928 – 2017) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เติบโตขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, ตอนอายุ 16 เกิดความสนใจด้านการแสดง เข้าเรียนร้องเล่นเต้นที่ Conservatoire de Paris จากนั้นเป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานตัวประกอบภาพยนตร์มากมาย จนได้แจ้งเกิดกับ Elevator to the Gallows (1958), โด่งดังที่สุดคงเป็น Jules et Jim (1962), ผลงานอื่นๆ อาทิ Les amants (1958), Moderato cantabile (1960), La Notte (1961), Diary of a Chambermaid (1964), Viva Maria! (1965), The Old Lady Who Walked in the Sea (1992) ฯ

รับบท Josy แดนซ์เซอร์สาว เบื้องหน้ายอมเป็นเด็กเสี่ยของ Riton แต่เบื้องหลังคลั่งรักกับ Angelo แต่โดยไม่รู้ตัวกำลังถูกทิ้งขว้างดั่งวัตถุสิ่งของชนิดหนึ่ง เมื่อถูกจับได้ก็พยายามขัดขืน โดน Max ตบสองสามฉาดใหญ่ ถึงค่อยเรียกสติสตางค์กลับคืนมาได้

แม้เป็นบทสมทบเล็กๆ แต่ก็ต้องถือว่า Moreau ฉายแววอนาคตไกลมากๆ ลีลาการเต้นเย้ายวนเร้าใจ (แต่เธอก็ไม่ได้มุ่งขายด้านนี้นะ) ดราม่าตอนเผชิญหน้ากับ Gabin ประชันกันได้อย่างห้าวหาญไม่เกรงกลัว โดนตบไปสองสามฉาดตาลุกโพลง เปลี่ยนไปแทบคนละคน

ถ่ายภาพโดย Pierre Montazel สัญชาติฝรั่งเศส,

งานภาพของหนังไม่มีอะไรหวือหวาอลังการ แต่มีสิ่งหนึ่งน่าสนใจมากๆ คือมุมกล้องแทบทุกช็อตอยู่ในระดับสายตาของตัวละคร Max ไม่ก้ม-ไม่เงย ไม่มีมุมสูงต่ำ หรือ Establish Shot บางครั้งขณะยืนอยู่แล้วนั่งลง กล้องจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อยังคงเส้นระดับเดียวกับสายตา (แต่ส่วนใหญ่จะใช้การตัดต่อ ถ้าตัวละครเดินขึ้นลงหรือเคลื่อนเปลี่ยนตำแหน่ง)

ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพนี้ สะท้อนถึงความสนใจของผู้กำกับ Becker สิ่งน่าสนใจสุดของชีวิตมนุษย์ คือการสังเกต จับจ้อง เฝ้ามองเรื่องราวของตัวละคร Max ความคิดอ่าน สายตา ความรู้สึก เข้าไปถึงในส่วนลึก จิตวิญญาณของเขาเลยละ

ทั้งเรื่องมีเพียงครั้งเดียวที่ Max อยู่ในห้องตามลำพังไม่มีใครข้างกาย หลังจากคุยโทรศัพท์และรับรู้แล้วว่าเพื่อนรัก Riton ถูกจับกุมตัวรอเรียกค่าไถ่ วินาทีนั้นเราจะได้ยินเสียงพูดในหัวของตนเองดังกึกก้องขึ้น ระลึกถึงความโง่เขลาของตนที่คบเพื่อนเง่าเต่าตุ่น กล้องจะเคลื่อนติดตามขณะม้วนบุหรี่ เดินไปหยิบขวดแชมเปญ เปิดเครื่องเล่นฟังเพลง จนทรุดลงนั่งอยู่บนเก้าอี้โซฟา ดวงตาเหม่อลอยเศร้าเหงาระเหี่ยใจ

ตัดต่อโดย Marguerite Renoir คู่รักของผู้กำกับ Jean Renoir รู้จักสนิทสนมกับ Becker มานาน, หนังทั้งเรื่องดำเนินไปในสายตา/มุมมองของ Max ในระยะเวลา 3 วัน 3 คืน เริ่มต้น-สิ้นสุดที่ร้านอาหารของ Madame Bouche (เฉพาะมาเฟียเท่านั้นที่เข้ารับประทานได้)

หลายคนอาจรู้สึกเสียดายและสงสัย ทำไมหนังถึงตัดข้ามเรื่องราวไปยังองก์สามหลังการโจรกรรมเลย (องก์หนึ่ง-เตรียมการปล้น, องก์สอง-ขณะปฏิบัติการ, องก์สาม-เหตุการณ์หลังจากนั้น) ทำเป็น MacGuffin แถมไม่เคยพูดเอ่ยถึงที่มาที่ไปของทองคำแม้แต่น้อย? ผมคิดว่าเริ่มต้นตรงนี้ เพื่อให้เรื่องราวสอดคล้องกับเหตุผลการปล้นของ Max ที่ต้องการเกษียณตัวเองจากอาชีพนักเลง/มาเฟีย/หัวขโมย ไม่อยากทำงานนี้แล้ว จะให้นำเสนอปฏิบัติการครั้งสุดท้ายอีกทำไม

หนังเรื่องนี้ยังถือว่าเป็นแนวโจรกรรมอยู่นะครับ แม้จะมิได้นำเสนอองก์สองขณะปฏิบัติการของกลุ่มตัวเอก แต่ถ้าเรามองกลับตารปัตร พวกเขากำลังถูกปล้นทอง (ที่ตนเองปล้นมาได้อีกที) นี่ราวกับกรรมสนองเลยนะ เพราะการได้ครอบครองสิ่งของผู้อื่น ครานี้เลยถูกสวมเขาย้อนกลับ ซึ่งผลลัพท์ตอนจบ สิ่งใดไม่ใช่ของเรา ก็ไม่มีวันกลายเป็นของๆเรา

เพลงประกอบโดย Jean Wiéner สัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานเด่นอย่าง The Lower Depths (1963), Mouchette (1967), A Gentle Woman (1969)

โหยหวนด้วยด้วยสัมผัสแจ๊สที่ผสมผสานเดี่ยวเปียโน เข้ากับเครื่องเป่าฮาร์โมนิก้า ให้สัมผัสอันโหยหวนรวดร้าว จิตใจเหม่อล่องลายไปไกล ไร้ซึ่งสิ่งใดยึดเหนี่ยวจับเกาะให้รู้สึกมั่นคงแข็งแรง (นอกเสียจากตัวเองเป็นที่พึ่งแห่งตน)

“The real subjects of ‘Grisbi’ are aging and friendship.”

มิตรภาพเป็นสิ่งที่เงินทองไม่มีวันจับจ่ายใช้สอยซื้อหาได้มาครอบครอง มันเกิดจากความเชื่อมั่นศรัทธาจริงใจของคนสอง ไม่ทรยศหักหลักเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เมื่อใดมีความแนบแน่นสนิทชิดเชื้อ ต่อให้มีการแสดงออกอย่างโง่เง่าเต่าตุ่นซุ่มซ่ามไร้สมองเพียงใด ความสัมพันธ์อันมองไม่เห็นด้วยตานี้ จักมีคุณค่ายิ่งกว่าความคิดอ่านของตนเราเอง

กาลเวลาถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มิตรภาพของมนุษย์มีความหนักแน่นแฟ้นขึ้น แต่ไม่ใช่ในเชิงรักใคร่ทางเพศมาเกี่ยวนะครับ ลองสังเกตดูก็ได้ว่าเมื่อคนสองรู้จักคบหาจนมากเกินเป็นแฟน เวลาเกิดความคับข้องไม่พึงพอใจกลายเป็นขัดแย้ง เลิกรา หย่าร้าง มองหน้ากันไม่ติด แต่สำหรับมิตรภาพผองเพื่อน จะมีสักเท่าไหร่ หรือต่อให้ร้ายแรงแล้วจะเลิกคบค้าสมาคม ตรงกันข้ามกลับยิ่งแนบแน่นสนิทชิดเชื้อ รู้จักสันดานของกันยิ่งกว่าเดิม ซึ่งถ้าถูกโฉลกก็อาจกลายเป็นเพื่อนตายไปไหนไปด้วย หรืออย่างน้อยถ้าไม่ใช่ศัตรูก็สามารถพึ่งพาแบบไม่หวังผลตอบแทน

Touchez pas au grisbi ถึงจะแปลว่า Don’t touch the loot, ทองข้าใครอย่าแตะ! แต่ก็มิได้สื่อถึงทองคำแท่งที่พระเอกขโมยมาอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อนรักถูกลักพาตัวไปถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า ไอ้หมอนั่นช่างบังอาจกระทำการอุกอาจ จักต้องถูกล้างแค้นทวงคืนอย่างสาสม ชีวิตแลกมากับชีวิต

แต่การสูญเสียทองคำแท่งเทียบไม่ได้กับเพื่อนรักที่ตายจากไป เงินทองยังหาลักขโมยใหม่ได้ แต่ลมหายใจของมนุษย์หมดแล้วหมดเลย มิอาจปั๊มลมให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ นี่แหละคือสิ่งจำต้องทะนุถนอมรักษามันไว้ให้ดี ชีวิตไม่ใช่ของเล่น อย่าใช้มันอย่างสนุกสนานจนลืมตัว คิดถึงผู้อื่นที่เป็นห่วงเป็นใยเราบ้าง จะทุกข์ทรมานแค่ไหนกับความโง่เขลาเบาปัญญาของเราเอง

ผู้กำกับ Jacques Becker คงเป็นคนยึดถือมั่นในอุดมการณ์ มิตรภาพอย่างล้นพ้น มองเห็นเป็นสิ่งสำคัญเหนือยิ่งกว่าเงินทองที่ตนเคยมั่งมีตั้งแต่สมัยเด็ก ความร่ำรวยซื้อได้แต่สิ่งของภายนอกกาย จิตใจคนมีเพียงความจริงใจมั่นคงและกาลเวลาเท่านั้นที่แลกเปลี่ยนกันได้

หนังออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice ทำให้ Jean Gabin คว้ารางวัล Volpi Cup for Best Actor เป็นครั้งที่สองถัดจาก La nuit est mon royaume (1951) [จริงๆมีหนังอีกเรื่องของ Gabin ฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ปีนั้นเหมือนกันคือ L’air de Paris (1954) เนื่องจากไม่มีการประกาศชื่อเรื่องที่ได้ เลยถือว่าเป็นการควบสองเรื่อง]

สิ่งที่ทำให้ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เริ่มจากตอนที่ Max พูดจาโน้มน้าวชักแม่น้ำทั้งห้าให้ Riton คิดกลับบ้าน เลิกสนใจ Josy ที่พบเห็นกอดจูบกับ Angelo คือต้องเป็นคนรับรู้เข้าใจเพื่อนมากๆ จึงสามารถเกลี้ยกล่อมชักจูงจมูกได้ถึงขนาดนี้, สำหรับไฮไลท์ กว่าที่ Max จะยอมพูดบอก Riton ว่าเกิดอะไรขึ้น หาข้ออ้างโน่นนี่นั่นลากยาวไปเรื่อยเปื่อย ขึ้นถึงห้องยังต้องรินเหล้า แคร็กเกอร์เข้าปากสักคำก่อนถึงค่อยเริ่มพูด ว๊าว! มันเป็นอะไรที่ ‘my pace’ มากๆ ถ้าไม่ชื่นชอบคงเกลียดเข้ากระดูกดำเลยละ

คือผมเคยบ่อยครั้งไป เวลามีเรื่องพูดคุย ขัดแย้ง หรือต้องการปรับความเข้าใจกับเพื่อน มันต้องมีพิธีกรรมบางอย่างเกิดขึ้นก่อน อาทิ นัดไปกินหมูกระทะปิ้งย่าง หรือร้านเหล้านั่งชิล จนกว่าจะมีอะไรตกถึงท้องถึงค่อยเข้าเรื่องหัวข้อสนทนา ไม่ใช่ว่าลีลาเล่นตัวแต่มันคือจังหวะและสไตล์ เวลา/สถานที่พร้อมเมื่อไหร่ ถึงสามารถเรียกสมาธิความสนใจของคนที่เราจะคุยด้วยได้เท่านั้น

แนะนำคอหนังอาชญากรรม Gangster หักเหลี่ยมเฉือนมุม, รู้จักผู้กำกับ Jacques Becker และแฟนๆ Jean Gabin, Lino Ventura, Jeanne Moreau ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความโง่เง่าของตัวละคร การตบหน้ารุนแรง และความตาย

TAGLINE | “Touchez pas au grisbi คำกร้าวของ Jacques Becker เตือนว่าอย่ามาแหยมกับ Jean Gabin เชียวนะ มิเช่นนั้นจะถูกเอาคืนอย่างสาสม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: