Toy Story (1995) : John Lasseter ♥♥♥♥♡
ภาพยนตร์อนิเมชั่นสามมิติเรื่องแรกของโลก สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด โดยผู้กำกับ John Lasseter แห่งสตูดิโอ PIXAR, ของเล่นคือเพื่อนรักสำหรับเด็ก มีทั้งเก่าและใหม่ เช่นเดียวกับภาพยนตร์อนิเมชั่นที่มีลายเส้นสองมิติแบบเก่า และภาพสามมิติแบบใหม่ หนังเรื่องนี้นำเสนอแนวคิดของการเปลี่ยนผ่าน ที่ไม่ได้ทำให้เราเลิกรักอะไรเก่าๆ หรือสนใจเฉพาะของเล่นใหม่ๆเท่านั้น, หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
แล้วเราก็มาถึงเรื่องสุดท้ายของ ‘First of Animation’ กับภาพยนตร์การ์ตูนที่ถือว่าเป็นลำดับแรก ครั้งแรกของเทคนิค งานภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน, สำหรับ Toy Story คือประตูบานล่าสุด (สุดท้าย) ของการสร้างโลกอนิเมชั่น ที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลภาพออกมา, ในอนาคตผมยังเชื่อว่า ยังมีจักรวาลส่วนที่มนุษย์ยังสำรวจไม่ถึงอยู่อีกมากรอการค้นพบอยู่ ก็ถือไปก่อนนะครับว่า Toy Story คือเรื่องสุดท้ายของ First of Animation ณ ขณะนี้
ครั้งแรกของภาพอนิเมชั่น ที่เปลี่ยนไปจากภาพสองมิติ กลายเป็นภาพสามมิติ นี่ทำให้เกิด 3 คำถามในใจของหลายๆคน
1) สองมิติกับสามมิติแตกต่างกันอย่างไร?
2) แบบเจ๋งกว่า ยอดเยี่ยมกว่า สวยงามกว่า?
3) แบบไหนสร้างยากกว่า?
กับคำถามแรก ภาพสองมิติ เกิดจากการเขียนภาพในแนวตั้งและแนวนอน โดยภาพที่เราเห็นจะเป็นแค่ด้านกว้างและยาวเท่านั้น ส่วนภาพสามมิติ คือภาพสองมิติที่เพิ่มแนวลึกเข้ามา ทำให้เห็นด้านกว้าง ยาว และลึก, อนิเมชั่นสองมิติ มีภาพที่ดูง่ายไม่ซับซ้อน สวยงามน่ารัก แต่ไม่มีมิติความลึกและสมจริง ต่างกับอนิเมชั่นสามมิติ ที่จะมีความซับซ้อน เป็นธรรมชาติ มีมิติและความลึกสวยงามสมจริง
คำถามที่สองผมคงตอบไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่รสนิยมความชื่นชอบของคุณเอง ในความเห็นส่วนตัว ผมชอบอนิเมชั่นสองมิติมากกว่า เพราะภาพสองมิติใช้การวาดรูปเป็นพื้นฐาน ที่ต้องอาศัยทักษะ ฝีมือ ความชำนาญ และความสามารถเฉพาะตัวของศิลปินสูง ขณะที่อนิเมชั่นสามมิติ คุณไม่จำเป็นต้องมีทักษะการวาดภาพเป็นเลิศ แค่มีความรู้ด้านเทคนิค เชี่ยวชาญในโปรแกรม สามารถคิดแก้ไขปัญหา คนวาดรูปไม่เป็นก็ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้, ผมเป็นคนชื่นชอบงานศิลปะ ประเภทที่สัมผัสถึงความสามารถของศิลปินผู้สร้างได้ ผมดูอนิเมชั่นสามมิติ บอกเลยว่าเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณของผู้สร้างสักเท่าไหร่
นี่อาจก่อให้เกิดอีกคำถาม อนิเมชั่นสามมิติ เรียกว่า งานศิลปะได้ไหม? คำตอบคือต้องได้นะครับ เพราะศิลปะคือการสร้างสรรค์ ตราบใดที่มีการ ‘สร้าง’ และ ‘สรรค์’ เราสามารถเรียกทุกอย่างได้ว่า ‘ศิลปะ’ (ไม่เว้นแม้แต่ธรรมชาติ ที่ ‘สร้างสรรค์’ ธรรมชาติ)
และคำถามที่สาม ผมเชื่อว่า อนิเมชั่นสามมิติ สร้างยากกว่ามาก แม้คอมพิวเตอร์จะเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อทุ่นแรง แต่กว่าจะได้มาสัก 1 ฉากการเคลื่อนไหว มันไม่ง่ายเหมือนการวาดรูปลงสีเท่านั้น, การทำสามมิติจะมีแบ่งเป็นฝ่ายๆหลายส่วน คนทำ Model, ใส่ลวดลาย พื้นผิว (Texture), ใส่แสง (Light), ทำการเคลื่อนไหว (Animation) ฯ แต่ละส่วนแยกจากกันโดยสิ้นเชิง ผิดกับอนิเมชั่นสองมิติ ที่อาจจะมีแยกออกจากกันแค่ ภาพพื้นหลัง กับสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวก็เพียงพอ, ถ้าคุณเป็นคนวาดภาพเก่งๆ มีกระดาษ ดินสอ มีเวลาและความพยายามก็สามารถทำทำอนิเมชั่นสองมิติ คนเดียวสำเร็จได้ แต่ถ้าคุณจะทำอนิเมชั่นสามมิติ ต้องมีความรู้หลากหลาย ทั้งการออกแบบ สร้างลวดลาย จัดแสง ขยับอนิเมชั่น ซึ่งกว่าจะทำสำเร็จได้นั้นไม่ง่าย และต้องใช้คอมพิวเตอร์สเป็คแรงเว่อ ก็ไม่รู้จะ Render ภาพหนึ่งเสร็จเมื่อไหร่
คือถ้าบอกว่ามันสร้างยากกว่า แล้วทำไมยุคหลังๆนี้ ผู้สร้าง/ผู้ชมถึงนิยมทำอนิเมชั่นสามมิติมากกว่า?
– เพราะโลกในอนิเมชั่นสามมิติ มีความใกล้เคียงกับโลกมนุษย์มากกว่าอนิเมชั่นสองมิติ, มิติ ความลึก รายละเอียดที่สมจริง และการเคลื่อนไหวที่อ้างอิงตามหลักฟิสิกส์ นี่เป็นจุดเด่นของอนิเมชั่นสามมิติ ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกโลกใบนี้สัมผัสจับต้องได้
– ภาพสามมิติ มีลักษณะจับต้องได้ เป็นรูปธรรม ดูรู้เรื่องกว่าภาพสองมิติ ที่ออกไปทางนามธรรมเสียมาก
– งานสาย Computer Graphic เปิดกว้างให้กับกลุ่มคนทำงานหลากหลายกว่า อย่างที่ผมบอกไป คุณไม่จำเป็นต้องวาดภาพเก่งเลิศ แค่เข้าใจโปรแกรม เรียนรู้เทคนิค มีหัวคิดแก้ไขปัญหา ก็สามารถทำงานอาชีพสายนี้ได้ (คนจึงแห่ไป Computer Graphic เสียเยอะ)
– งานสามมิติเป็นงานที่ต้องใช้คนรุ่นใหม่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะที่งานสองมิติเริ่มถูกมองว่าเป็นงานของคนสมัยก่อน ที่ดูล้าหลัง และกำลังตกยุค
– ต้นทุนการจ้างงาน (อาจจะ) ถูกกว่า และการฉายภาพยนตร์สามมิติ สามารถหาข้ออ้างเก็บค่าตั๋วได้แพงกว่า
ฯลฯ
ผู้กำกับ John Lasseter เริ่มต้นจากการเป็นอนิเมเตอร์ให้กับ Walt Disney Feature Animation ขณะทำภาพยนตร์เรื่อง Tron (1982) เขาเป็นคนออกแบบ Lightcycle ให้กับหนัง นี่เองที่ทำให้เปิดโลกทัศน์ความคิด มองเห็นความเป็นไปได้ของอนิเมชั่นยุคใหม่ที่เรียกว่า Computer-Generated Animation แต่ขณะนั้นใครจะไปเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้, Lasseter ถูกไล่ออกจาก Disney ไปซบ Lucasfilm ร่วมก่อตั้ง PIXAR ถูก Steve Jobs เข้าซื้อกิจการ ด้วยความเชื่อมั่นของ Jobs ทำให้ Lasseter ได้สร้างภาพยนตร์ Computer-Animation ขนาดสั้นเรื่องแรกของโลกชื่อ Tin Toy (1988) ซึ่งสามารถคว้า Oscar สาขา Best Animated Short Film เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์สร้างจากคอมพิวเตอร์ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์
ความสำเร็จของ Tin Toy ทำให้ Disney ต้องกลับมาคิดทบทวนตนเองใหม่ CEO Michael Eisner และประธานฝ่ายภาพยนตร์ Jeffrey Katzenberg เรียก Lasseter ให้กลับมา แต่เขาเลือกจะไม่ทอดทิ้ง PIXAR และ Steve Jobs ผู้ให้ความเชื่อมั่น และสนับสนุนจนประสบความสำเร็จ นี่ทำให้ Katzenberg เปลี่ยนแผนยื่นข้อเสนอ ให้ Disney เป็นผู้ร่วมสร้างและตัวแทนจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของ PIXAR, แต่กว่าทั้งสองบริษัทจะรวมกันได้ ก็ลากไปถึงปี 2006 เมื่อ Disney ตัดสินใจซื้อ PIXAR Animation ในราคา $7.4 พันล้านเหรียญ (สูงกว่าตอน Disney ซื้อ Marvel และ Lucasfilm อีกนะครับ)
เกร็ด: PIXAR เป็นคำที่มาจาก pixer (ภาษาสเปน) แปลว่า เพื่อให้เกิดภาพ และ radar ที่คือเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระบุระยะ (ภาพ+เสียง)
แนวคิดดั้งเดิมของ Toy Story เกิดจาก John Lasseter, Andrew Stanton และ Pete Docter ตั้งใจนำ Tinny จากเรื่องสั้น Tin Toy มาสร้างใหม่ให้กลายเป็นพระเอก และสร้างตัวร้ายชื่อ Woody ผู้มีนิสัยชอบดูถูกเหยียดหยามของเล่นอื่น ใจความหลักของหนัง คือ ‘ของเล่น ลึกๆแล้วก็อยากให้เด็กๆเล่นกับพวกเขา ความต้องการนี้เองที่ทำให้เกิด ความหวัง ความกลัว และการเคลื่อนไหว’ (toys deeply want children to play with them, and that this desire drives their hopes, fears, and actions.) เรื่องราวได้รับการพัฒนาต่อ กลายมาให้มีตัวละคร 2 ตัวเป็นคู่หู Buddy ให้ชื่อพระเอกว่า Tinny กับ Dummy
มีการดัดแปลง ขัดเกลาบทร่างหนังอยู่หลายครั้ง ผ่านมือทั้ง Joel Cohen, Alec Sokolow และ Joss Whedon เปลี่ยนชื่อตัวละครจาก Tinny เป็น Lunar Larry และต่อมากลายเป็น Buzz Lightyear เพิ่มส่วนผสม Western กับ Science Fiction สำหรับ Woody ก็เปลี่ยนจากตัวร้ายกลายเป็นพระเอก ส่วนตัวร้ายจริงๆในหนัง ยังคงคอนเซ็ปเดิม เปลี่ยนพื้นหลังเล็กน้อยเป็น เด็กชายบ้านข้างๆที่ชอบทำลาย แยกชิ้นส่วนของเล่น เห็นว่าตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากพนักงานคนหนึ่งของ Disney ที่ชอบทำอะไรแปลกๆกับของเล่น และเอามาอวดให้คนอื่นเห็น
สำหรับนักพากย์ Lasseter ตั้งใจเลือกใช้บริการของนักแสดงที่มีชื่อเสียง คงเพื่อสร้างความน่าสนใจขณะที่หนังฉายได้ สำหรับบท Woody เห็นว่า Tom Hank เป็นตัวเลือกแรกเลย เพราะน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ และสามารถใช้น้ำเสียงแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้, ส่วนบท Buzz มีหลายตัวเลือก ความตั้งใจแรกคือ Billy Crystal ที่บอกปฏิเสธไป (ภายหลังเขาออกมาบอกว่าเสียใจมากที่ปฏิเสธบทนี้ไป), Bill Murray, Chevy Chase, Jim Carry ก่อนสุดท้ายตกเป็นของ Tim Allen, นี่ถือเป็นการให้เสียงพากย์อนิเมชั่นครั้งแรกของทั้งสองคน และเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกันด้วย
เกร็ด: พากย์ไทย คนให้เสียง Woody คือ สรพงษ์ ชาตรี และ Buzz คือ สันติสุข พรหมศิริ
เกร็ด: ตัวละคร Andy เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นให้เกียรติ Andries ‘Andy’ Van Dam อาจารย์สอน Computer Science และหนึ่งในผู้บุกเบิก Animation ประจำมหาวิทยาลัย Brown มีลูกศิษย์ลูกหาของเขาหลายคนที่ทำงานใน PIXAR
อนิเมชั่นสามมิติในสมัยนั้นถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก Lasseter พูดถึงงานสร้างว่า เราต้องสร้างทุกอย่างให้สามารถจับต้องได้ รายละเอียดเล็กๆอาทิ ใบไม้ ต้นหญ้า และเราต้องสร้างประวัติศาสตร์ เช่น รอยขูดที่พื้น เกิดจากประตูที่ถูกกระแทกบ่อยครั้ง ฯ (We had to make things look more organic. Every leaf and blade of grass had to be created. We had to give the world a sense of history. So the doors are banged up, the floors have scuffs.) เริ่มต้นงานสร้างจากทำภาพเคลื่อนไหวของ Storyboard มีอนิเมเตอร์กลุ่มแรก 27 คน ใช้คอมพิวเตอร์ 400 เครื่อง (ออกแบบตัวละครหนึ่ง ก็ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง), ตัวละคร Woody ถือว่ามีความซับซ้อนมากที่สุด มีการเคลื่อนไหว 723 ท่าทาง ใบหน้า 212 ลักษณะ และขยับปาก 58 แบบ
แต่ละช็อตที่สร้างเสร็จแล้ว จะถูกส่งไป Render ที่ render farm ที่มีเครื่อง Sun Microsystems 117 เครื่อง เปิดประมวลผล 24 ชั่วโมง แต่ละเฟรมใช้เวลา 45 นาทีถึง 30 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของฉากนั้นๆ ขนาดของภาพคือ 1,536 x 922 pixels (เล็กกว่า 1080p อีกนะครับ) รวมเวลาแล้ว ว่ากันว่าใช้เวลาถึง 800,000 ชั่วโมงในการ Render ภาพทั้งหมด 114,240 เฟรม คิดเป็น 1,561 ช็อต เวลารวม 77 นาที
สำหรับเพลงประกอบ เดิมที Lasseter ไม่ต้องการให้หนังเรื่องนี้เป็น Musical เพราะเขามองอนิเมชั่นสามมิติ เป็นภาพที่มีความสมจริง จับต้องได้ ไม่ใช่เหนือจินตนาการ แฟนตาซีหรือเทพนิยาย แต่ธรรมเนียมหนังอนิเมชั่นของ Disney จะต้องมีเพลงประกอบ เพราะความเชื่อที่ว่า จะสามารถเข้าถึงอารมณ์ของผู้ชมได้มากกว่า (จริงๆคือไปลาก Randy Newman มาให้ทำเพลงประกอบให้แล้ว), สิ่งที่ Lasseter ทำคือ ไม่ได้ให้ตัวละครร้องเพลงออกมา แต่ใช้เสียงเพลงประกอบเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแทน (แบบเดียวกับ The Graduate) ปรากฏว่าวิธีนี้ให้ผลลัพท์ดีเกินคาด โดยเฉพาะเพลง You’ve Got a Friend in Me ที่ได้เข้าชิงทั้ง Oscar และ Golden Globe สาขา Best Music, Original Song แต่แพ้ให้กับเพลง Colors of the Wind จากหนัง Pocahontas (ของ Disney เหมือนกัน)
Woody เป็นของเล่นชิ้นโปรดของ Andy แล้ววันหนึ่ง วันเกิดของ Andy เขาได้ของขวัญใหม่ เป็นของเล่นสุดเท่ห์ Buzz Lightyear ที่ทำให้ Andy ติดงอมแงม นี่ทำให้ Woody เกิดอาการอิจฉา แต่ Buzz กลับแสดงออกด้วยความหลงตัวเอง (คิดว่าตัวเองเป็น Space Ranger จริงๆ) เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ทั้ง Woody และ Buzz ก็สามารถเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันได้
ผมจะขอเปลี่ยนคำนามจากย่อหน้าที่แล้วเสียใหม่นะครับ, อนิเมชั่นสองมิติ เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก่อน อยู่มาวันหนึ่ง อนิเมชั่นสามมิติได้ถือกำเนิดขึ้น และเริ่มกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่อาจทำให้ผู้สร้างอนิเมชั่นสองมิติเกิดความอิจฉาต่อของเล่นใหม่ กระนั้นอนิเมชั่นสามมิติก็หาได้แคร์อะไรไม่ เมื่อถึงวันๆหนึ่ง กระแสเห่อของใหม่หมดลง ใครๆก็จะเริ่มตระหนักได้ ไม่ว่าอนิเมชั่นสองมิติหรืออนิเมชั่นสามมิติ ก็ถือเป็นของเล่นเหมือนกัน
ดูจากสิ่งที่ผมวิเคราะห์มา รู้สึกเลยว่า เรื่องราวลักษณะนี้ กับภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวสามมิติเรื่องแรกของโลก มันเป็นอะไรที่เจ๋งมากๆเลย เหมาะสมสุดๆ, ผมขอประมวล ‘First of Animation’ ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของหลายๆประเทศ เราจะเห็นความคล้าย ที่ถ้าไม่ดัดแปลงจาก เทพนิยาย, Fairy Tale, Fable, ก็วรรณกรรมที่มีความสำคัญระดับชาติ เช่น
– Germany มี The Adventures of Prince Achmed (1926) สร้างจากนิทานอาหรับสุดอมตะ
– Soviet Union มี The New Gulliver (1935) สร้างจากวรรณกรรมชื่อดัง
– France มี The Tale of the Fox (1937) สร้างจากนิทานพื้นบ้าน
– USA มี Snow White and the Seven Dwarfs (1937) สร้างจากเทพนิยาย
– China มี Princess Iron Fan (1941) สร้างจากสุดยอดวรรณกรรมเอกของชาติ
– Japan มี Momotaro’s Divine Sea Warriors (1945) เป็นแนวชวนเชื่อ (Propaganda)
– ไทย มี สุดสาคร (1979) สร้างจากวรรณคดีเอก
เรื่องราวของภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก ทั้งหมดที่ผมนำเสนอมานี้ ได้แสดงถึงทัศนคติ ค่านิยมของแต่ละประเทศ ต่อสื่ออนิเมชั่น ได้เป็นอย่างดี เช่น รัสเซีย จะซีเรียสจริงจัง ปลูกฝังอะไรบางอย่าง, ฝรั่งเศส มักจะสร้างอนิเมชั่นแบบแนวๆ กวนๆ แต่แฝงแนวคิดสอนชีวิต, ของจีนจะเน้นแฟนตาซีเหนือจินตนาการ, ส่วนญี่ปุ่น อนิเมชั่นกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติที่ขาดไม่ได้ ฯ แซวของไทย สุดสาครถือว่าเรื่องราวไม่จบ สร้างไม่เสร็จ (ขี้ไม่สุด) ปัจจุบันเลยยังไม่ได้รับการยอมรับเลย เป็นของ ‘เด็ก’ เล่น
Toy Story ใช้ทุนสร้าง $30 ล้าน มีทีมงาน 110 คน เทียบกับ The Lion King (1994) ใช้ทุนสร้าง $45 ล้าน มีทีมงาน 800 คน (ปัจจุบันภาพยนตร์อนิเมชั่น ทุนสร้างขั้นต่ำก็ $100 ล้านนะครับ อินดี้ๆหน่อยก็ $10-$30 ล้าน ถ้า PIXAR ก็ $200 ล้านเป็นอย่างน้อย)
ก่อนหนังฉาย Steve Jobs พูดว่า ถ้า Toy Story ประสบความสำเร็จกลางๆ ทำเงิน $75 ล้านเหรียญ พวกเรา (Pixar และ Disney) คงได้หน้าหงาย ขาดทุนพอสมควร, ถ้าได้สัก $100 ล้านเหรียญ พวกเราคงเริ่มได้กำไร, ถ้าหนังฮิตจริง (Blockbuster) ทำเงินเกิน $200 ล้านเหรียญ พวกเราจะร่ำรวยเลยละ … สุดท้ายแล้วหนังทำเงินไป $373 ล้านเหรียญทั่วโลก (ในอเมริกา $191 ล้านเหรียญ) เป็นความสำเร็จที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
หนังได้เข้าชิง 3 Oscar, Best Original Screenplay, Best Music: Original Song และ Best Music: Original Musical or Comedy Score ไม่ได้สักสาขา, กระนั้น John Lasseter ได้รับรางวัล Academy Special Achievement Award สำหรับการพัฒนาเทคนิค เพื่อสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกที่สร้างด้วย Computer Animation (for the development and inspired application of techniques that have made possible the first feature-length computer-animated film.)
สำหรับ Golden Globe Awards เข้าชิง 2 สาขา Best Motion Picture: Comedy or Musical และ Best Original Song ไม่ได้สักรางวัล
อิทธิพลของ Toy Story ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการ Animation ทั้วโลก, Computer กลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการจับตามอง ราคา PC (Personal Computer) ก็เริ่มถูกลงเรื่อยๆ ในด้านธุรกิจ ไม่ใช่แค่วงการภาพยนตร์ มีการแตกสาขากลายเป็น Game Developers (เอาเทคนิค Animation มาสร้างเกม), นำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้วิจัยสร้างหุ่นยนต์ (Robots), AI (Artificial Intelligence) ฯ เรียกได้ว่าผลพวงที่เกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จของ Toy Story คือ ‘To Infinity and Beyond’
มิตรภาพ การเข้าใจตัวเองและผู้อื่น นี่เป็นข้อคิดจากหนัง และเป็นสิ่งที่ควรค่าที่สุด สำหรับการ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”, ผมไม่ใช่คนที่ได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ ตอนที่เข้าฉายครั้งแรก (ตอนนั้นยังเด็กอยู่มาก จำความไม่ได้) เลยไม่สามารถให้ความรู้สึกบางอย่างได้ จึงขออ้างอิงคำพูดของ Roger Ebert หลังจากดูหนังเรื่องนี้ ‘ผมรู้สึกเหมือนกำลังมองเห็น พระอาทิตย์ของอนิเมชั่นยุคใหม่กำลังขึ้น ที่ได้นำพาภาพการ์ตูนสู่ความสมจริง สร้างโลกใบใหม่ระหว่างความจริงกับความฝัน ที่ไม่เพียงซ้อนทับกัน แต่ยังกลืนกินผสมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว’
(I felt I was in at the dawn of a new era of movie animation, which draws on the best of cartoons and reality, creating a world somewhere in between, where space not only bends but snaps, crackles and pops.)
ผมขอแสดงความรู้สึก ในฐานะคนที่ไม่ได้ผ่าน Dawn of New Era มานะครับ ถึงปัจจุบัน Toy Story จะเป็นของเล่นที่ผ่านไป 20 ปีแล้ว แต่คนรุ่นใหม่กลับมาดูยังไม่หายเห่อเลย มีความร่วมสมัยเป็นอมตะมากๆ ทุกวินาที ทุกเรื่องราว มีระดับความบันเทิงที่เป็นเหมือนการเล่น Roller-Coaster แม้คนที่เคยเป็นเด็กเมื่อตอนนั้น ปัจจุบันก็โตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว แต่เมื่อได้ดู Toy Story ทีไร ก็จะกลับกลายเป็นเด็กเห่อของเล่นใหม่อีกครั้ง กลับมาเล่นเมื่อไหร่ก็ไม่มีวันเบื่อ
แนะนำอย่างยิ่งสำหรับคนรักภาพยนตร์อนิเมชั่นทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ, แฟนหนังสตูดิโอ PIXAR, เนื้อเรื่องเยี่ยม เพลงเพราะ เสียงพากย์เด่น (แนะนำทั้งพากย์ไทยและ Soundtrack)
เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี จัดเรตทั่วไป
[…] ← Toy Story (1995) […]