Trafic

Trafic (1971) French : Jacques Tati ♥♥♥♡

ครั้งสุดท้ายของ Monsieur Hulot ขับรถหลงวนอยู่ในความสับสนอลม่านของการจราจรที่ติดขัดวุ่นวาย ทั้งรถเสีย น้ำมันหมด อุบัติเหตุ ถูกตำรวจเรียก ฯ ไม่สามารถหาทางออกไปถึงเป้าหมายได้ทัน ทั้งในหนังและชีวิตจริงของผู้กำกับ Jacques Tati

ทั้งชีวิตของผู้กำกับ Jacques Tati กำกับภาพยนตร์ทั้งหมด 6 เรื่อง ตัดเรื่องแรกกับเรื่องสุดท้ายออก 4 เรื่องระหว่างกลางได้สร้างสรรค์ตัวละครชื่อ Monsieur Hulot สามารถเรียกได้ว่า Alter-Ego ของผู้กำกับ (และนำแสดงเองด้วย) แต่ชีวิตมีทั้งขาขึ้นขาลง Les Vacances de Monsieur Hulot (1953) กับ Mon Oncle (1958) ประสบความสำเร็จล้นหลามกวาดรางวัลมากมาย แต่เพราะความเย่อหยิ่งยโส เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ Playtime (1967) ใช้ทุนสร้างมหาศาล กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ทำให้ Tati ติดหนี้หัวบาน จึงตัดสินใจสร้างหนังอีกเรื่องเพื่อชดใช้หนี้ แต่ผลลัพท์กลับพอกพูนหนี้สิน ในที่สุดก็ถึงจุดอวสานของตำนาน Monsieur Hulot

ไม่ใช่ว่า Trafic หนังเรื่องสุดท้ายของ Monsieur Hulot ห่วยแตกประการใดนะครับ คือหนังก็มีความสวยงาม โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เมื่อเทียบกับ 3 ผลงานก่อนหน้า ผู้ชม/นักวิจารณ์ แทบทั้งนั้นจะรู้สึกผิดหวังกับผลลัพท์ที่ได้ เพราะ Tati เลือกที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ให้เข้าถึงผู้ชมได้โดยง่ายขึ้น (มีความเป็น Commercial สูง) ละทิ้งหลายๆแนวทางที่เคยทำมา ดูแบบไม่คิดอะไรก็คงสนุกได้ แต่ถ้าเคยรับชมทั้งสามเรื่องก่อนหน้า ยังไงต้องเกิดการเปรียบเทียบ และผิดหวังรุนแรงเพราะทำได้ลึกซึ้งน้อยกว่ามาก

ผมไม่คิดว่า Jacques Tati คงจินตนาการ Trafic จะเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Monsieur Hulot แต่โอกาสและชีวิตของเขาหลงเหลืออีกไม่มากแล้ว ตอนสร้างหนังเรื่องนี้อายุก็ปาเข้าไป 60+ กว่าปี แม้จะยังมีชีวิตอยู่อีกทศวรรษ แต่ก็ต้องทิ้งวงการภาพยนตร์มุ่งสู่สื่อโทรทัศน์ ดิ้นรนทำหลายๆอย่างเพื่อเอาตัวรอดและใช้หนี้ ซึ่งว่าไป Trafic เป็นบทอวสารของ Monsieur Hulot ที่ลงตัวมาก เพราะมีนัยยะสะท้อนบั้นปลายชีวิตของผู้กำกับ Tati ได้อย่างพอดีเลย

เห็นว่าก่อน Tati เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเมื่อปี 1982 (สิริอายุ 75 ปี) มีแผนจะสร้าง Monsieur Hulot อีกเรื่อง เป็นแนว Futuristic ที่โทรทัศน์ การสื่อสาร โฆษณา และสังคมยุคใหม่ มีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างมาก โดยเรื่องราวจะให้ Monsieur Hulot ถูกลอบฆ่าระหว่างกำลังออกอากาศ on-air ทางโทรทัศน์ ความสับสนวุ่นวายอลม่าน รายการ Reality จึงเกิดขึ้น

Bert Haanstra ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Dutch มีความสนใจร่วมงานกับ Jacques Tati ร่วมกันคิดพัฒนาบทภาพยนตร์และสรรหาทุนสร้างให้ ความตั้งใจต้องการฉายทางโทรทัศน์ เป็น TV Movie แต่ระหว่างการถ่ายทำเกิดมีความเห็นไม่ลงรอยทางความคิด ทำให้ Haanstra ถอนตัวออกไป Tati จึงตัดสินใจนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ด้วย

เรื่องราวเป็นระหว่างการเดินทาง Road Movie ของ Monsieur Hulot นักออกแบบของเล่น (Gadget) ติดรถของบริษัท Altra ได้ทำการสร้างรถต้นแบบสำหรับปิคนิค เตรียมพร้อมไปจัดแสดงงาน Motor Expo ที่กรุง Amsterdam แต่ระหว่างการเดินทางไปมีเรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นมากมาย อาทิ รถเสีย น้ำมันหมด อุบัติเหตุ ถูกตำรวจเรียก ฯ พวกเขาจะสามารถไปถึงงานได้ทันตามกำหนดหรือไม่

รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมหวนระลึกถึง The Wages of Fear (1953) หนังรางวัล Palme d’Or และ Golden Bear (เรื่องแรกเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์) ของผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส Henri-Georges Clouzot เหล่าพระเอกของหนังต้องขับรถบรรทุกขน Nitroglycerine เสี่ยงตายเพื่อไปดับเพลิงยังบริเวณไซต์ขุดเจาะน้ำมันซึ่งกำลังระเบิดอยู่ ต้องไปให้ทันเวลา แต่ระหว่างทางพบเจอ มีเรื่องต่างๆเกิดขึ้นมากมาย, จริงๆหนังก็ไม่ได้คล้ายกันเท่าไหร่หรอกนะครับ แค่เป็นการเดินทาง Road Movie พบเจอโน่นนี่นั่น เป้าหมายคือให้ทันเวลาเหมือนกัน แต่เหมือนว่า Trafic จะมีบรรยากาศตรงข้ามกับ The Wages of Fear โดยสิ้นเชิง ใครสนใจลองไปหามารับชมดูนะครับ

หนังเรื่องนี้แทบจะไม่มีการสร้างฉากใหม่ขึ้นมาเลยนะครับ ด้วยทุนสร้างปริมาณจำกัด เลยต้องเอาไปลงกับการสร้างรถต้นแบบเสียหมด ทำให้ต้องถ่ายทำหนังในสถานที่จริงตามท้องถนนหนทาง หลายครั้งจึงไม่สามารถควบคุมอะไรได้, อย่างฉากรถเฉี่ยว Monsieur Hulot มันใกล้เกินไปมากๆ ผมรู้สึกเหมือนใช้ตัวช่วย Blue-screen หรือ Rear Projection แน่ๆ, แต่ฉากรถชนกันนั่นของจริงแน่นอน ต้องชมการวางแผนของผู้กำกับ ถ่ายทอดออกมาได้ยอดเยี่ยมจริงๆ

รถปิคนิคมีความล้ำยุคสมัย เต็มไปด้วยของเล่น เครื่องใช้ต่างๆนานา ทำให้มีสถานะเหมือนบ้านที่อยู่อาศัย ครอบครัว สังคม หรือมหภาคระดับประเทศ(ฝรั่งเศส)
– ด้านหน้าสามารถดึงออกมาเป็นเตาปิ้งย่างบาร์บีคิว ไส้กรอก มีนัยยะถึงความร้อนแรง เผาผลาญทำลายทุกสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ฯ
– ตัวรถสามารถเลื่อนเคลื่อนยืดออกมาได้ เพื่อขยายทำเป็นเตียงนอน มีนัยยะถึงความยืดหยุ่นผ่อนปรน ขี้เกียจสันหลังยาว ฯ
– มีหลังคาที่ยื่นหัวชะโงกขึ้นไปดูได้ คล้ายๆรถถังคอยสอดส่อง แอบมองสิ่งรอบข้าง
– ด้านหลังรถสามารถกางผ้าเต้นท์ รูดซิบปิดไม่ให้ใครมองเห็น, หลังรถเปรียบเสมือนก้น ที่ขับถ่ายของเสีย มีนัยยะการปกปิดความชั่วร้าย/ด้านลบของตนเอง

การเดินทางครั้งนี้ เปรียบได้กับการนำพา (ประเทศ) สู่เป้าหมาย (อนาคต/ความสำเร็จ) เพื่อจัดแสดงแสนยานุภาพ อวดอ้างแข่งขันกับรถบริษัทอื่น(ประเทศอื่น) แต่มันกลับเกิดเรื่องน่าอับอายขายหน้า เพราะระหว่างทางพบเจออุปสรรคมากมาย อาทิ
– ยางแบน = ส่วนขับเคลื่อนระดับรากหญ้าหมดลมเรี่ยวแรง ขาดกำลังหายใจ
– น้ำมันหมด = ทรัพยากร (คน/ธรรมชาติ) ไม่หลงเหลือ
– ตำรวจเรียก = ความคอรับชั่น การตรวจสอบภายใน
– รถชน สีถลอก = การปะทะกันทำให้ภาพลักษณ์ภายนอกเสียหาย จำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซม ทาสีให้ใหม่
ฯลฯ

แต่ว่าไปปัญหาต่างๆ ไม่มีครั้งไหนเกิดขึ้นเพราะ Monsieur Hulot เลยนะครับ ถ้าไม่เพราะอุบัติเหตุโดยบังเอิญ ก็มีสาเหตุจาก Maria (รับบทโดย Maria Kimberly) ที่ทั้งเฉี่ยวชน พาไปทางลัดที่ไม่ควรไป ฯ [นี่มีนัยยะเสียดสีประชดประชันเพศหญิง ว่ามักเป็นต้นตอของปัญหาสังคมและครอบครัว] ซึ่งเป็น Hulot ที่เป็นผู้หาทางแก้ไขปัญหา เยียวยา ประณีประณอมช่วยเหลือ

ถ่ายภาพโดย Eduard van der Enden กับ Marcel Weiss, ตอนที่ Bert Haanstra ยังเป็นส่วนหนึ่งของหนัง ได้ทำการบันทึกภาพวิถีชีวิตของผู้ขับรถบนท้องถนนเก็บไว้มากมาย อาทิ แคะจมูก, หาว, ทำหน้าเซ็ง, เท้าคาง ฯ เหล่านี้ Tati นำใส่ลงไปในหนังด้วย ทำเป็นลักษณะ Slideshow รวบรวมจัดหมวดหมู่ไว้ อะไรคล้ายๆกันก็จะตัดให้เรียงต่อกัน นี่ทำให้ผู้ชมได้บรรยากาศเหมือนกำลังขับรถอยู่บนท้องถนนจริงๆ (จริงๆควรเป็น เหมือนผู้โดยสารนั่งชมวิวสองข้างทางมากกว่า เพราะหนังไม่มีช็อตมุมมองบุคคลที่ 1 ขณะขับรถเลย จะมีก็แต่เห็นด้านข้างแบบนี้)

ตัดต่อโดย Jacques Tati, Maurice Laumain, Sophie Tatischeff, สามเรื่องก่อนหน้าของ Monseiur Hulot จะไม่มีเรื่องราวหลักของหนังชัดเจน แต่กับเรื่องนี้เพราะมันมีเป้าหมายปลายทาง เราจึงสามารถมองได้ว่านั่นคือเนื้อหาหลัก ‘การเดินทางบนถนนของ Monsieur Hulot’ แต่ใช่ว่าหนังจะมีเรื่องราวเดียวเกิดขึ้นต่อเนื่องจนจบ มีการตัดสลับให้เห็นเรื่องราว ณ สถานที่จัดงาน ว่าขณะนั้นมีเรื่องวุ่นวายอะไรเกิดขึ้นบ้างแล้ว เพื่อเป็นการสร้างความกดดันลุ้นระทึกเล็กๆให้กับผู้ชม (แต่ตัวละครคงไม่รู้สึกอะไร แม้ปากจะบอกรีบแค่ไหนแต่ก็ยังชิล ชักช้าอยู่ดี)

Monseiur Hulot เป็นตัวละครที่ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายชีวิตใดๆ (แค่การมีตัวตนของเขาก็มีความหมายมากพอแล้ว) แต่เพราะหนังมีเป้าหมายปลายทางชัดเจน นี่ทำให้รสสัมผัสของหนังเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง, กระนั้นอาจมีคนมองว่า ถึงหนังจะมีเป้าหมายแต่ก็พิลึกพิลั่น ขนาดแค่เส้นตรงยังขีดไม่ได้ ขับรถตรงๆยังไปไม่ถึงเป้าหมาย แบบนี้ไม่ถือว่ามีก็ได้กระมัง … แต่ผมมองว่า เป้าหมายมันก็คือเป้าหมายนะครับ ต่อให้เคี้ยวคดเลี้ยวลดอ้อมไปสุดขอบโลกยังไง สุดท้ายมันก็ต้องไปถึง เป็นกรอบที่ครอบตัวละครไว้ ขณะที่หนังเรื่องอื่น Hulot มีอิสรภาพเต็มร้อย

เพลงประกอบโดย Charles Dumont นักแต่งเพลงที่เขียน Non, je ne regrette rien (1960) บทเพลงโคตรอมตะของ Édith Piaf,

บทเพลง La course d’auto เริ่มต้นด้วยเสียงรัวกลองอันบ้าคลั่งราวกับเสียงเครื่องยนต์กำลังทำงาน รถกำลังเคลื่อนออกตัว จากนั้นตามด้วยกีตาร์ไฟฟ้า มีทั้งดีด-ขยี้-เกาสาย เร้าใจในแนว Punk Rock คือความสับสนวุ่นวายอลม่านบนท้องถนน, ผมรู้สึกว่ากลอง เป็นเครื่องดนตรีที่มีความ’ติดพื้น’มากๆ ตรงกันข้ามกับหนังหลายเรื่องก่อนหน้าของ Tati ที่มักจะชอบถ่ายท้องฟ้า ก้อนเมฆ แสดงว่าหนังเรื่องนี้ความต้องการของผู้กำกับ คือให้ผู้ชมสัมผัสความสับสนวุ่นวายบนพื้นโลก

บทเพลงนุ่มๆอารมณ์ชิลๆก็มีเหมือนกัน เสียงผิวปากของเพลงนี้เจ๋งมาก เวลาเราขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัด ขึ้นเขาบนดอยหรือเลียบเลาะริมทะเล ก็มักเปิดหน้าต่างรับลม สัมผัสธรรมชาติไอดินกลิ่นทะเล ผิวปาก ลัลล้า ล่องลอย บทเพลงเข้ากับบรรยากาศนี้เลยละ

การเดินทางของ Monsieur Hulot ครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อค้นหาเป้าหมายชีวิต แต่เป็นการนำสิ่งที่ตนได้คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้น มุ่งสู่การเผยแพร่จัดแสดงเป็นที่รู้จัก ให้ได้รับการยอมรับจากสากล แต่เพราะมันไปไม่ถึงทันจึงกลายเป็นว่าล้มเหลว ไม่ได้จัดแสดง มิมีโอกาสให้ผู้อื่นได้พบเห็นความยอดเยี่ยมล้ำของของเล่นชิ้นนี้

เจ้ารถปิคนิคคันนี้ยังสามารถมองได้อีกนัยยะหนึ่ง คือผลงานภาพยนตร์ทั้งหลายของ Jacques Tati ที่สร้างขึ้นมาอย่างล้ำยุคสมัย เต็มไปด้วยของเล่นมากมาย แต่ระหว่างทางสู่การเผยแพร่ฉายในโรงภาพยนตร์ พบเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย ทำให้สุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จทำเงิน ตัวเขาติดหนี้สินบานตะไทไม่สามารถชดใช้คืนได้หมดสิ้นจนตัวตาย … แต่เหมือนเขาก็ยังแอบหวัง เพราะหลังงานมีคนเข้ามาจับจองสั่งรถคันนี้เป็นว่าเล่น นัยยะประมาณว่า สักวันหนึ่งคงจะมีคนเห็นคุณค่าในผลงานทั้งหลายที่สร้างขึ้น

ตอนจบของหนัง ไม่สิตอนจบของ Monsieur Hulot ตลอดระยะเวลา 3 เรื่องที่ผ่านมา เอกลักษณ์หนึ่งของตัวละครนี้คือพกร่มแต่กลับไม่เคยกางออก นี่เป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ Hulot ได้กางร่ม, หน้าปัดกระจกหน้ารถ แต่ละคันมีลีลาไม่เหมือนกัน นี่แสดงถึงวิสัย(ทัศน์) การมองเห็น บุคลิกภาพของผู้คนที่แตกต่างกันออกไป บางพร้อมเพียง บ้างติดขัด บ้างขัดแย้ง ฯ ช็อตสุดท้าย Hulot ตั้งใจว่าจะลงไปใช้รถไฟใต้ดิน แต่ถูกฝูงชนดันออกมาไม่ให้ใช้ นั่นทำให้เขาต้องเดินกลับกับหญิงสาว เข้าไปในลานจอดรถอันกว้างใหญ่ ดั่งเขาวงกตในโลกแห่งอนาคต กล้องซูมออกถึงที่สุดแต่ก็ยังไร้ทางออก

หลายคนคงข้อใจชื่อหนัง ไม่ใช่ว่า Traffic (มี -ff-) ที่แปลว่าการจราจรเขียนแบบนี้หรอกหรือ คุณเข้าใจไม่ผิดนะครับ แต่ผู้กำกับจงใจตัด -f- ออกไปตัวหนึ่งตามการออกเสียงภาษาฝรั่งเศส (ส่วนคำว่าจราจร ภาษาฝรั่งเศสคือ La Circulation) ซึ่งคำนี้ยังมีความหมายอื่นด้วย แปลว่าการแลกเปลี่ยนสินค้า (exchange of goods)

ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้นะ เพราะมีหลายฉากที่ทำให้หัวเราะยิ้มร่าอิ่มเอิบ และสัมผัสความเพลิดเพลินของการขับรถ/นั่งชมวิวสองข้างทาง, แต่ภาพรวมของหนังรู้สึกขาดๆเกินๆ ไม่ชอบหลายมุกที่สร้างความเดือดร้อนรุนแรงให้ผู้อื่น โดยเฉพาะตอนแกล้งหมาให้ถูกรถทับ ทีแรกก็ดูน่าสนใจดี แต่ตอน Monsieur Hulot เข้ามาปลอบ Maria มันไม่ตลกเลย แล้วพอคนขับรถออกมาเห็นทั้งสองเหมือนกำลังข่มขืนกัน ‘ฉันไม่สนดีกว่า’ คิ้วผมขมวดทันที

เรียงละดับความชอบส่วนตัวของ Monsieur Hulot:
=1. Les Vacances de Monsieur Hulot (1953)
=1. Playtime (1967)
3. Mon Oncle (1958)
4. Trafic (1971)

แนะนำกับนักคิด นักปรัชญา ครุ่นคิดค้นหาเป้าหมายชีวิต วิถีของหนัง, นักออกแบบ ช่างยนต์ ทำธุรกิจเกี่ยวกับรถ, ตำรวจจราจร และผู้ใช้ถนนทั้งหลาย, คอหนัง Slapstick Comedy ชื่นชอบ Charlie Chaplin, Buster Keaton ย่อมต้องไม่ควรพลาดหนังของ Jacques Tati

จัดเรต 13+ กับหลายๆมุกที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เด็กๆไม่ควรเลียนแบบ

TAGLINE | “การจราจรติดขัดใน Trafic ทำให้ Jacques Tati ไม่สามารถหาทางออกของชีวิตตนเองได้”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: