Triumph of the Will (1935) : Leni Riefenstahl ♥♥♥♥
(22/2/2023) ภาพยนตร์ ศิลปะแขนงใดๆ ไม่ว่าจะสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจอะไร ล้วนหาใช่สิ่งชั่วร้าย อันตราย ต้องถูกทำลายหรือห้ามฉาย เมื่อไหร่ที่เราสามารถเปิดมุมมองโลกทัศน์ดังกล่าว ก็จักพบเห็นความงดงามซ่อนเร้น นั่นถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด!
Triumph of the Will (1935) เป็นภาพยนตร์ที่มักถูกชาวตะวันตก นักวิจารณ์สมัยนั้น รวมถึงผู้ชมในปัจจุบันยังคงตีตราว่าคือสิ่งชั่วร้าย อันตราย เพราะเต็มไปด้วยอุดมคติชวนเชื่อ (Propaganda Film) ที่ขัดแย้งต่อวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะ Adolf Hitler ผู้อยู่เบื้องหลังการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ใครกันจะอดรนทนรับชมไหว
แต่ความยิ่งใหญ่ของ Triumph of the Will (1935) ไม่ใช่อุดมการณ์ชวนเชื่อนาซี หรือมีการกล่าวถึงชนชาวยิวสักช็อตฉาก! กลับคืออัจฉริยภาพผู้กำกับหญิง Leni Riefenstahl สามารถสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่เอ่อล้นด้วยพลัง ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยวิธีการล้ำยุคสมัยนั้น ทั้งถ่ายภาพ-ตัดต่อ-เพลงประกอบ และยังส่งอิทธิพลต่อผู้กำกับรุ่นถัดๆมาก โดยเฉพาะ Citizen Kane (1941)
มีนักวิจารณ์บางคนกล่าวยกย่อง Riefenstahl ว่าคือ ‘Orson Welles แห่งเยอรมัน’ แต่ความเป็นจริงนั้นกลับตรงกันข้าม Welles ต่างหากที่เป็น ‘Riefenstahl แห่งสหรัฐอเมริกา’ นั่นเพราะ Citizen Kane (1941) รับอิทธิพลเกี่ยวกับทิศทาง-มุมกล้อง การใช้ภาพถ่ายสะท้อนจิตวิทยาตัวละคร นั่นรวมถึง Charles Foster Kane ก็มีแนวความคิดละม้ายคล้าย Adolf Hitler ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง!
Next to Orson Welles and Alfred Hitchcock, Leni Riefenstahl was the most technically talented Western film maker of her era.
นักวิชาการ Mark Cousins
An artist of unparalleled gifts, a woman in an industry dominated by men, one of the great formalists of the cinema on a par with Eisenstein or Welles.
นักวิจารณ์ Gary Morris
Triumph des Willens and Olympia are the two greatest films ever directed by a woman.
นักวิจารณ์ Pauline Kael
(จริงๆแล้ว Triumph of the Will (1935) และ Citizen Kane (1941) ต่างไม่ได้มีเทคนิค ลูกเล่น การนำเสนอที่แปลกใหม่ ทุกสิ่งอย่างล้วนเคยพบเห็นมาแล้วตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ แต่ทั้งสองเรื่องได้ทำการผสมผสานคลุกเคล้า ใช้ประโยชน์จากภาษาภาพยนตร์เหล่านั้น มาขยับขยายสาสน์สาระที่ต้องการถ่ายทอดออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่ทรงพลัง!)
ถ้าฝ่ายอักษะชนะสงครามโลกครั้งที่สอง เชื่อได้เลยว่า Triumph of the Will (1935) จะต้องติดอันดับหนึ่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล! แต่เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะ สารคดีชวนเชื่อเรื่องนี้จึงถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ไม่เคยได้รับการพูดกล่าวถึง ยินยอมรับจากโลกเสรี รวมถึงชื่อของ Leni Riefenstahl ทั้งๆสมควรแก่การยกย่อง ผู้กำกับหญิงยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการภาพยนตร์!
ปล. อีกผลงานที่ถูกลืมเลือนของ Leni Riefenstahl ก็คือ Olympia (1938) บันทึกภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ‘1936 Berlin Summer Olympics’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์! แต่เพราะถูกใครต่อใครเหมารวมว่าเป็นหนังชวนเชื่อนาซี แต่อิทธิพลต่อวงการกีฬาถือว่ามากล้นหลาม ต้นแบบบันทึกภาพการแข่งขันมาจนถึงปัจจุบัน!
Helene Bertha Amalie ‘Leni’ Riefenstahl (1902-2003) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ German เกิดที่ Berlin, Kingdom of Prussia ตั้งแต่เด็กมความชื่นชอบหลงใหลในบทกวี วาดภาพ ทั้งยังเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ยิมนาสติก พออายุสิบหกมีโอกาสรับชมการแสดง Snow White ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเต้น เข้าเรียนบัลเล่ต์ยัง Grimm-Reiter Dance School จากนั้นเดินทางท่องยุโรปกับคณะการแสดงของ Max Reinhardt ทุ่มเทอย่างหนักจนได้รับบาดเจ็บข้อเท้า ระหว่างทำการรักษาพบเห็นโปสเตอร์หนัง Mountain of Destiny (1924) เกิดความสนใจในสื่อภาพยนตร์ แสดงนำ The Holy Mountain (1926), The White Hell of Pitz Palu (1926), โด่งดังระดับนานาชาติกำกับ/แสดงนำ The Blue Light (1932)
เมื่อปี 1932, Riefenstahl มีโอกาสพบเห็นการกล่าวสุนทรพจน์ของ Adolf Hitler ผู้นำพรรคนาซีขณะนั้น สร้างความประทับใจไม่รู้ลืมเลือน
I had an almost apocalyptic vision that I was never able to forget. It seemed as if the Earth’s surface were spreading out in front of me, like a hemisphere that suddenly splits apart in the middle, spewing out an enormous jet of water, so powerful that it touched the sky and shook the earth.
Leni Riefenstahl
ซึ่งเมื่อ Hitler ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ด้วยความชื่นชอบประทับใจ The Blue Light (1932) เมื่อมีโอกาสพบเจอ Riefenstahl เลยขอให้ถ่ายทำสารคดี(ชวนเชื่อ) บันทึกภาพเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ประจำปี ค.ศ. 1933 ของสมาชิกพรรคนาซี ณ เมือง Nuremberg (มีคำเรียกย่อๆ Nuremberg Rally) กลายมาเป็นภาพยนตร์ Der Sieg des Glaubens (1933) แปลว่า The Victory of Faith
เพราะความรีบเร่งด่วนในการสรรค์สร้าง The Victory of Faith (1933) ทำให้ Riefenstahl แทบไม่มีเวลาเตรียมงานสักเท่าไหร่ ผลลัพท์เลยยังค่อยพึงพอใจ แต่กลับประสบความสำเร็จทำเงินไม่น้อย ถึงอย่างนั้นสมาชิกพรรคคนสำคัญ Ernst Röhm (คือบุคคลที่ยืนอยู่เคียงข้างกับ Hitler แทบจะตลอดเวลา) ปีถัดมาถูกกวาดล้างข้อหาทรยศ ในค่ำคืน Night of the Long Knives (30 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 1934) เป็นเหตุให้ฟีล์มหนังเรื่องนี้ถูกสั่งเก็บ เผาทำลาย จนกลายเป็น ‘lost film’ (ว่ากันว่าเป็น Hitler น่าจะออกคำสั่งดังกล่าว) … โชคยังดีมีการค้นพบฟีล์มหนังเมื่อปี ค.ศ. 1980 ปัจจุบันได้รับการบูรณะ เก็บรักษาเป็นอย่างดี หารับชมได้ทาง Archive.org
ด้วยเหตุนี้เอง Hitler จึงติดต่อขอให้ Riefenstahl หวนกลับมาคุมงานสร้างโปรเจคเดิม เปลี่ยนชื่อใหม่ Triumph des Willens หรือ Triumph of the Will บันทึกภาพเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ประจำปี ค.ศ. 1934 ของสมาชิกพรรคนาซี ณ เมือง Nuremberg ในระยะเวลา 4 วัน 3 คืน
เห็นว่าในตอนแรก Riefenstahl ต้องการบอกปัดปฏิเสธ เพราะกำลังเตรียมงานสร้างโปรเจค Tiefland แต่ได้รับคำต่อรองจาก Hitler ว่าหลังเสร็จจากภาพยนตร์เรื่องนี้ จะไม่บีบบังคับให้สรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซีอีกต่อไป! … แต่ปีถัดมาเธอก็ยังต้องกำกับหนังสั้นชวนเชื่ออีกเรื่อง Tag der Freiheit: Unsere Wehrmacht (1935) แปลว่า Day of Freedom: Our Armed Forces บันทึกภาพเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ประจำปี ค.ศ. 1935 ของสมาชิกพรรคนาซี ณ เมือง Nuremberg
ปล. คงต้องมัดรวมสามโปรเจคนี้ ผมตั้งชื่อว่า ‘Nuremberg Rally Trilogy’ ประกอบด้วย
- Der Sieg des Glaubens (1933) หรือ The Victory of Faith ความยาว 64 นาที
- Triumph des Willens (1935) หรือ Triumph of the Will ความยาว 114 นาที
- Tag der Freiheit: Unsere Wehrmacht (1935) หรือ Day of Freedom: Our Armed Forces ความยาว 28 นาที
แซว: ถ้าดูจากรูปแบบนี้ Riefenstahl อาจถูกบีบบังคับให้ต้องกำกับภาคสี่ Nuremberg Rally เมื่อถึงการชุมนุมใหญ่ประจำปี ค.ศ. 1936 แต่บังเอิญปีนั้นมีการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคเสียก่อน เลยถูกโยกย้ายให้ไปดูแลงานในส่วนนั้นแทน กลายมาเป็น Olympia (1938)
เริ่มต้นวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1934, เมื่อท่านผู้นำ Adolf Hitler ขึ้นเครื่องบินเดินทางมุ่งสู่ Nuremberg, Bavaria พอมาถึงก็ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากประชาชน ผู้คนมากมายออกมารอคอยการต้อนรับ ส่งเสียงสดุดีดังกึกก้องจนถึงโรงแรมที่พัก Hotel Deutscher Hof ยามค่ำคืนบนท้องถนนก็ยังเต็มไปด้วยความครึกครื้น
เช้าวันแรกพบเห็นการตั้งค่ายทหาร ตื่นขึ้นมาล้างหน้า รับประทานอาหาร ตระเตรียมตัวกิจกรรมสวนสนาม, จากนั้น Hitler เดินทางมาถึงยังหอประชุม Luitpoldhalle (Luitpold Hall) เข้าร่วมพิธีเปิดการชุมนุมใหญ่ประจำปี แล้วมีการกล่าวสุนทรพจน์โดยสมาชิกคนสำคัญ, ช่วงบ่ายๆออกมาภายนอก Zeppelinfeld (Zeppelin Field) รับชมการสวนสนามของสมาชิกแรงงาน Reichsarbeitsdienst (RAD), ยามค่ำคืนยังมีขบวนพาเรด ดอกไม้ไฟ และการกล่าวสุนทรพจน์ของ Viktor Lutze (ผู้นำคนใหม่ของ SA)
วันที่สองเริ่มต้นด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ของ Hitler กับสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth) และยุวชนเยอรมัน (German Youth), ยามค่ำคืนตรวจแถวกองกำลังป้องกัน/กองทัพนาซี (Wehrmacht) ทั้งสามเหล่าทัพ
วันสุดท้าย Hitler, Himmler และ Lutze เดินทางสู่อนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Ehrenhalle (Hall of Honor) จากนั้นตรวจสวนสนามของกองกำลัง Sturmabteilung (SA) และ Schutzstaffel (SS) จำนวนกว่า 150,000 คน, ยามบ่ายเดินทางไปยัง Nuremberg Frauenkirche (The Church of our Lady) เพื่อตรวจการสวนสนามครั้งสุดท้าย ก่อนหวนกลับ Luitpoldhalle (Luitpold Hall) กล่าวสุนทรพจน์ปิดการชุมนุมใหญ่ประจำปีครั้งนี้
ถ่ายภาพโดย Josef ‘Sepp’ Allgeier (1895-1968) ตากล้องสัญชาติ German เข้าสู่วงการตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ช่างภาพรายงานข่าว Newsreel, จนกระทั่งรับรู้จัก Arnold Fanck ร่วมบุกเบิก Mountain Films อาทิ Mountain of Destiny (1924), The Holy Mountain (1926), The White Hell of Pitz Palu (1929), Storm Over Mont Blanc (1930), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Diary of a Lost Girl (1929), Triumph of the Will (1935) ฯลฯ
ประสบการณ์ตอนสรรค์สร้าง The Victory of Faith (1933) เพราะแทบไม่มีเวลาเตรียมงานสักเท่าไหร่ ผกก. Riefenstahl จึงทำได้เพียงเก็บภาพบรรยากาศงานโดยรอบ แต่เมื่อมีโอกาสครั้งใหม่กับ Triumph of the Will (1935) จึงต้องการความ ‘เบ็ดเสร็จ’ และ ‘เด็ดขาด’ ในวิสัยทัศน์ที่จะนำเสนอออกมา เห็นว่าเธอเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ ขบวนพาเรด พิธีสวนสนาม คำกล่าวสุนทรพจน์ ฯ ใช้กล้อง 30 ตัว ทีมงานอีก 172 คน ซักซ้อมเตรียมการล่วงหน้าสองสัปดาห์ เพราะครั้งนี้ไม่ใช่แค่การชุมนุมใหญ่ประจำปี แต่เพื่อสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซี
The Rally was planned not only as a spectacular mass meeting, but as a spectacular propaganda film.
นักข่าว/นักเขียน Susan Sontag ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ Triumph of the Will (1935)
(ผมเพิ่งมีรับโอกาสรับชม The Victory of Faint (1933) แค่สิบนาทีแรกก็สร้างความประทับใจโคตรๆในลีลานำเสนอ ร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ การตระเตรียมงาน ผู้คนจากทั่วสารทิศกำลังเดินทางเข้ามาในเมือง Nuremberg ด้วยลักษณะของ ‘city symphony’ งดงามดั่งบทกวี เอาจริงๆถือเป็นผลงานเคียงคู่ ‘accompany’ กับ Triumph of the Will (1935) ที่มีบรรยากาศเพลิดผ่อนคลาย และดูเป็นธรรมชาติมากกว่า)
แน่นอนว่า Riefenstahl เป็นผู้กำกับที่มีความ ‘เผด็จการ’ อย่างเบ็ดเสร็จในกองถ่าย ยึดถือมั่นในความต้องการของตนเอง (น่าจะถึงระดับ ‘Perfectionist’) อยากได้อะไรต้องได้ เพื่อให้ได้องศามุมเงยตามต้องการ สั่งขุดหลุมลึกใต้แท่นปะรำพิธี สร้างความหวาดหวั่นให้ใครต่อใคร แต่ท่านผู้นำ Hitler เชื่อในวิสัยทัศน์ และพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
เอาจริงๆเทคนิคต่างๆของ Triumph of the Will (1935) ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ (พบเห็นมาหมดแล้วตั้งแต่ยุคหนังเงียบ) แต่เป็นการต่อยอดภาษาภาพยนตร์เหล่านั้น นำมาผสมผสานคลุกเคล้า ด้วยแนวคิด/เป้าหมายใหม่ มันเลยสามารถสร้างความแตกต่าง ปฏิวัติวงการ และสร้างอิทธิพลให้คนรุ่นหลังๆ
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Reichsparteitagsgelände แปลตรงตัว Nazi Party Rally Ground อาณาบริเวณประมาณ 11 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง Nuremberg, Bavaria เป็นสถานที่จัดงานชุมนุมใหญ่ประจำปีของพรรคนาซี ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1933-38 โดยสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย
Luitpoldarena ดั้งเดิมคือสวนสาธารณะชื่อว่า Luitpoldhain (แปลว่า Luitpold Grove) ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1906 บนพื้นที่ 84,000 ตารางเมตร โดยตั้งชื่อให้เกียรติเจ้าชาย/ผู้สำเร็จราชการ Luitpold Karl Joseph Wilhelm Ludwig (1821-1912), Prince Regent of Bavaria (1886-1912)
การมาถึงของพรรคนาซีเปลี่ยนแปลงสวนสาธารณะแห่งนี้ ให้กลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมตรวจแถวสวนสนาม สามารถรองรับผู้เข้าร่วมกว่า 150,000 คน และบนอัฒจันทร์อีก 50,000 ที่นั่ง … ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนกลับเป็นสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้เขียวขจี และกลายเป็นสถานที่จัดดนตรีในสวน
LINK: https://museums.nuernberg.de/documentation-center/the-site/the-nazi-party-rally-grounds
Ehrenhalle (Memorial Hall หรือ Hall of Honour) ออกแบบโดยสถาปนิก Fritz Mayer สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1930 สำหรับเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับทหารหาญผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่การมาถึงของพรรคนาซี เปลี่ยนแปลงสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับสมาชิกพรรคผู้เสียสละชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และจัดกิจกรรมรำลึกทุกวันสุดท้ายของการชุมนุมใหญ่ประจำปี … ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ก็ยังคงเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับผู้เสียชีวิต แต่เพิ่มเติมคือทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง
Luitpoldhalle (Luitpold Hall) ดั้งเดิมคือสถานที่จัดงาน 1906 Bavaria State Exhibition ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรม Art Nouveau, การมาถึงของพรรคนาซี ปรับเปลี่ยน (remodeled) สถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นหอประชุมใหญ่ รองรับผู้เข้าร่วมกว่า 16,000 ที่นั่ง ก่อนถูกถูกโจมตีจากฝ่ายพันธมิตรวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1942 หลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง … ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ถูกสร้างใหม่กลายเป็น The Meistersinger Hall สำหรับงานแสดงคอนเสิร์ต รวมถึงอีเวนท์ต่างๆ
เกร็ด: ในซับไตเติ้ลเหมือนจะมีการเข้าใจผิด โดยให้คำอธิบายสถานที่แห่งนี้คือ Kongresshalle (Congress Hall) นั่นคืออีกหอประชุมใหม่ที่ลงศิลาฤกษ์เมื่อปี ค.ศ. 1935 ตั้งใจให้บรรจุคนได้ 50,000 ที่นั่ง แต่สร้างไม่เสร็จเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ขาดเพียงเพดานเลยถูกปล่อยทิ้งร้างไว้อย่างนั้น
Zeppelinfeld (Zeppelin Field) ลานอเนกประสงค์ที่มีปะรำพิธี สำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้งทั่วไป ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียติแก่ Ferdinand Graf von Zeppelin ผู้ออกแบบเรือเหาะ Zeppelin เคยลงมาจอดยังบริเวณแห่งนี้เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1909 สามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้กว่า 200,000 คน … ปัจจุบันบริเวณแห่งนี้ถูกใช้จัดกิจกรรมหลากหลาย ทั้งดนตรี กีฬา โด่งดังสุดคือการแข่งรถ Norisring Car
เกร็ด: นี่ก็อีกเช่นกันที่ซับไตเติ้ลเข้าใจผิดว่าคือ Deutsches Stadion (German Stadium) เป็นอีกสถานที่วางแผนสร้างเป็นสนามกีฬา ขนาดความจุ 400,000 ที่นั่ง (ใหญ่ที่สุดในโลก) ออกแบบโดย Albert Speer ลงศิลาฤกษ์วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 แต่ก็ไม่เสร็จสิ้นเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง
Municipal Stadium สนามกีฬาออกแบบโดย Otto Ernst Schweizer ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1928 บรรจุผู้ชมได้ 50,000 ที่นั่ง กลายเป็นสถานที่สำหรับตรวจแถวสวนสนามของ Hitler Youth … ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นสนามฟุตบอล ใช้ในการจัดแข่งขัน 2006 FIFA World Cup บรรจุผู้ชม 44,000 ที่นั่ง
ภาพแรกของหนังนำเสนอ ‘aerial photography’ พบเห็นท้องฟ้า ก้อนเมฆ ทิวทัศน์เมือง Nuremberg หรือจะเหมารวมถึงประเทศ Germany ที่ยุคสมัยนั้นอยู่ภายใต้ร่มเงานาซี Adolf Hitler ท่านผู้นำที่ยิ่งใหญ่ สูงส่งเหนือกว่าผู้ใด … ประชาชน บ้านพักอาศัย มองลงจากเบื้องบนเพียงขนาดเล็กจิ๋ว ใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท
มันจะมีช็อตงามๆหนึ่ง พบเห็นเงาเครื่องบินกำลังเคลื่อนพานผ่านอาคารบ้านเรือน ท้องถนนหนทาง แต่ก็น่าฉงนสงสัยว่าเงาเครื่องบินจริงไหม (เพราะมันดูไม่น่าเป็นไปได้เลยสักนิด!) หรือใช้การซ้อนภาพดำๆเหมือนเครื่องบินลงไป
หลายคนอาจครุ่นคิดว่าหนังแค่ทำการร้อยเรียงชุดภาพ ‘Montage’ เก็บภาพบรรยากาศทั่วๆไป แต่ผู้กำกับ Riefenstahl ถือเป็น ‘Formalism’ หมกมุ่นยึดกับการนำเสนอที่มีรูปแบบแผนอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างระหว่างเดินทางไปโรงแรมที่พัก เมื่อท่านผู้นำหันซ้าย → ตัดไปภาพประชาชนฝั่งซ้าย → เมื่อท่านผู้นำหันขวา → ตัดไปภาพประชาชนหันขวา นี่เป็นวิธีการเข้าใจไม่ยาก แต่ไม่ใช่ผู้ชมทุกคนจะสังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆนี้
เวลาพบเห็นภาพดอกไม้ ก็มักทำให้ผมระลึกถึงภาพวาด Van Gogh: Sunflower (1889) มันอาจไม่ใช่ดอกเดียวกัน แต่มอบสัมผัส ‘Impressionist’ เพื่อการนำเสนอความประทับใจยามเช้า ร้อยเรียงชุดภาพทิวทัศน์รุ่งอรุณ กิจวัตรของผู้เข้าร่วมชุมนุม Nuremberg Rally ก่อนการเริ่มต้นพิธีอย่างเป็นทางการ
เกร็ด: เมื่อสมัยวัยรุ่น Hitler ชื่นชอบการวาดรูป เพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน พยายามสอบเข้า Academy of Fine Arts, Vienna แต่ได้รับการปฏิเสธถึงสองครั้ง! ถึงอย่างนั้นก็มีหลายๆผลงานเคยวาดขายประทังชีวิต หนึ่งในนั้น Vase Mit Blumen (1912) เมื่อปี 2015 ประมูลขายได้ $35,000 เหรียญ (สังเกตว่าจะมีลายเซ็นต์ A.Hitler อยู่ด้านล่างซ้าย)
เวลาใครต่อใครพูดถึงความยิ่งใหญ่ของ Triumph of the Will (1935) มักมองเห็นแต่ภาพรวม ฝูงชน คนจำนวนมาก แต่อัจฉริยภาพของผู้กำกับ Riefenstahl คือการผสมผสานระหว่าง มหภาค-จุลภาค ภาพระยะไกล-ใกล้ ฝูงชน-บุคคล ตัดสลับกลับไปกลับมาอย่างแนบเนียน ให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันทุกระดับ เพราะคน-สัตว์-สิ่งของ เด็ก-ผู้ใหญ่ ชาย-หญิง ณ ผืนแผ่นดินแดนแห่งนี้ล้วนคือ Germany
ช่วงพิธีเปิดการชุมนุมใหญ่ประจำปี บรรดาบุคคลสำคัญของพรรคนาซีต่างขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ คงพูดถึงนโยบาย เป้าหมาย สรุปการทำงานในรอบปี แต่แทนที่ผู้กำกับ Riefenstahl จะให้เวลาพวกเขาอวดอ้างสรรพคุณโน่นนี่นั่น กลับหาญกล้าตัดทอดรายละเอียด หลงเหลือเพียงแก่นสาระ บางคนมี ‘screen-time’ ไม่ถึงสิบวินาที! เพื่ออะไรกัน??
ผมมองวิธีการดังกล่าว ไม่ใช่แค่ลดทอนความยาว แต่คือการทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอมตะ! ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่านี่คือการประชุมใหญ่ประจำปี ค.ศ. 1934 (คำกล่าวสุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญเหล่านี้ ย่อมมีสรุปการทำงานในรอบปี รวมถึงเป้าหมายของปีถัดไป) แต่เมื่อหวนกลับมารับชมเมื่อไหร่ ถ้อยแถลงของพวกเขายังคงแก่นสาระแท้จริงของพรรคนาซี … นี่ถือเป็นอัจฉริยภาพและความหาญกล้าของผู้กำกับ Riefenstahl
ชุดภาพ Adolf Hiter ที่ผมนำมานี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘Formalism’ ของผู้กำกับ Riefenstahl แต่ละระยะภาพจะตัดสลับกับบรรดาผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นๆ (ในอัตราส่วนประมาณ 1 ภาพ Hiter ตัดสลับกับ 4-5 ภาพผู้เข้าร่วม) พอหวนกลับมาหาท่านผู้นำอีกครั้งจะมีความประชิดใกล้ขึ้นเรื่อยๆ Long-Shot → Medium-Shot → Close-Up ทางฟากฝั่งตรงกันข้ามก็เฉกเช่นเดียวกัน
แซว: ภาพสุดท้ายที่เป็นการถ่าย Close-Up ใบหน้าของ Adolf Hiter เป็นมุมเงยที่องศาสูงมากๆ ต้องเกิดจากการขุดดินใต้แท่นปะรำพิธีอย่างแน่นอน แต่ช็อตลักษณะนี้เคยพบเห็นบ่อยๆในยุคหนังเงียบ โดยเฉพาะฟากฝั่งสหภาพโซเวียต ผลงานของ Oleksandr Dovzhenko
ลองคาดเดาดูเองนะครับว่า วงกลมแดงๆที่ผมวงเอาไว้ ต้องการแสดงให้เห็นถึงอะไร?? หรือใครชอบเล่นเกมจับผิด Where’s Wally? มองหาฉากอื่นๆดูด้วยนะครับ
ช่วงระหว่างพิธีปิดการชุมนุมใหญ่ประจำปี สังเกตว่า Hitler ทำการกล่าวสุนทรพจน์ทีละย่อหน้า ซึ่งระหว่างหยุดพักก็มักตัดสลับหาผู้เข้าร่วม ที่จะมีการส่งเสียงขานรับ (ตามป้ายคิวขึ้นแจ้ง) สลับสับเปลี่ยนทิศทางมุมกล้องไปมา ฝั่งซ้าย-ฝั่งขวา ด้านหน้า-หลัง อย่างแนบเนียน และด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม
หลายคนอาจสงสัยว่า Hitler เนี่ยนะ? เสมอภาคเท่าเทียม? สิ่งที่ผู้กำกับ Riefenstahl พยายามนำเสนอออกมาผ่านภาษาภาพยนตร์ เป็นการสะท้อนอุดมการณ์ของพรรคนาซีนะครับ ไม่ได้หมายถึงพฤติกรรมแท้จริงของท่านผู้นำ
ภาพสุดท้ายของหนัง เป็นการซ้อนทับระหว่างสามภาพต่อไปนี้
- ตราสวัสติกะ (Swastika) เครื่องหมายกากบาทที่ตรงส่วนปลายทำมุมฉาก ดั้งเดิมเป็นสัญลักษณ์ในศาสนาฮินดู เชน และพุทธศาสนา แต่ของนาซีจะเอียงทำมุม 45 องศา ทำให้มีลักษณะเหมือนตัว S ซ้อนกันสองตัว ซึ่งมาจาก
- Stadt แปลว่า บ้านเมือง
- และ Sicherheit แปลว่า ปลอดภัย
- การเดินสวนสนามของทหารเยอรมัน นี่สามารถมองกว้างๆถึงการออกเดินทางมุ่งสู่…
- แต่ชาวตะวันตกกลับเต็มไปด้วยความหวาดระแวง กลัวว่าจะสื่อถึงการกรีฑาทัพมุ่งสู่…
- และภาพก้อนเมฆบนท้องฟากฟ้า นั่นคือสัญลักษณ์ของใต้หล้า ทั่วทั้งโลกา หรือจุดสูงสุดของมวลมนุษย์
สรุปรวมทั้งสามสัญลักษณ์ หมายถึงการเดินทางของพลพรรคนาซี มุ่งสู่จุดสูงสุด (ตามชื่อหนัง Triumph of the Will) แต่สำหรับชาวตะวันตกมักตีความว่าคือการกรีฑาทัพ เตรียมเปิดศึกทำสงคราม เพื่อยึดครอบครองใต้หล้า!
ตัดต่อโดย Leni Riefenstahl, แม้ว่าท่านผู้นำ Adolf Hitler จะคือศูนย์กลางของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่จะมีการแทรกภาพทิวทัศน์ ฝูงชน รวมถึงผู้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ณ เมือง Nuremberg, Bavaria ช่วงการชุมนุมใหญ่ประจำปีของพรรคนาซี ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน ค.ศ. 1934 ผสมผสานคลุกเคล้าให้เข้ากับอุดมคติ
Hitler is Germany, as Germany is Hitler!
การดำเนินเรื่องของหนัง แม้ไม่มีข้อความบอกว่าวันที่เท่าไหร่ เวลาไหน กำลังพบเห็นกิจกรรมอะไร แต่เราสามารถสังเกตและแบ่งแยกแยะเหตุการณ์ต่างๆได้ไม่ยาก!
- อารัมบท, 5 กันยายน ค.ศ. 1934
- Adolf Hitler ขึ้นเครื่องบินมายัง Nuremberh, Bavaria
- ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากประชาชน ตลอดสองข้างทางจนถึงโรงแรมที่พัก Hotel Deutscher Hof
- ยามค่ำคืนก็ยังมีการเฉลิมฉลองอย่างคึกคัก
- วันแรกของการชุมนุมใหญ่ประจำปี 6 กันยายน ค.ศ. 1934
- ช่วงเช้าจะมีการร้อยเรียงทิวทัศน์เมือง Nuremberg, กิจวัตรของในค่ายทหาร รอคอยการร่วมกิจกรรมสวนสนาม
- Hitler มาถึงยังหอประชุม Luitpoldhalle (Luitpold Hall) เข้าร่วมพิธีเปิดการชุมนุมใหญ่ประจำปี แล้วมีการกล่าวสุนทรพจน์โดยสมาชิกคนสำคัญ
- ยามบ่ายๆออกมาภายนอก Zeppelinfeld (Zeppelin Field) รับชมการสวนสนามของสมาชิกแรงงาน Reichsarbeitsdienst (RAD)
- ค่ำคืนยังมีขบวนพาเรด ดอกไม้ไฟ และการกล่าวสุนทรพจน์ของ Viktor Lutze (ผู้นำของ SA)
- วันที่สองของการชุมนุมใหญ่ประจำปี 7 กันยายน ค.ศ. 1934
- การกล่าวสุนทรพจน์ของ Hitler กับสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth) และยุวชนเยอรมัน (German Youth) ณ German Stadium
- ยามค่ำคืนตรวจแถวกองกำลังป้องกัน/กองทัพนาซี (Wehrmacht) ทั้งสามเหล่าทัพ ณ Zeppelin Field
- Heer (ทัพบก), Luftwaffe (ทัพอากาศ), Kriegsmarine (ทัพเรือ)
- วันสุดท้ายของการชุมนุมใหญ่ประจำปี 8 กันยายน ค.ศ. 1934
- Hitler, Himmler และ Lutze เดินทางสู่อนุสรณ์สถาน Ehrenhalle (Hall of Honor) สำหรับไว้อาลัยแก่ผู้เสียสละเพื่อชาติ
- จากนั้นตรวจสวนสนามของกองกำลัง Sturmabteilung (SA) และ Schutzstaffel (SS)
- ยามบ่ายเดินทางไปยัง Nuremberg Frauenkirche (The Church of our Lady) เพื่อตรวจสวนสนามครั้งสุดท้าย (Grand Review)
- และหวนกลับ Luitpoldhalle (Luitpold Hall) เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ปิดการชุมนุมใหญ่ประจำปี
ด้วยปริมาณฟุตเทจมากมาย รวมปริมาณถ่ายทำ 61 ชั่วโมง ระยะเวลาตัดต่อ 6 เดือนเต็ม! ผู้กำกับ Riefenstahl จึงพยายามหาหนทางแทรกภาพโน่นนี่นั่น เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่น่าสนใจ ด้วยการใช้เทคนิค ‘montage’ สลับไปมาระหว่างท่านผู้นำ (ที่มักปรับเปลี่ยนมุมกล้องไปเรื่อยๆ) กับประชาชน/ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เคยซ้ำหน้า! ไฮไลท์คือการร้อยเรียงชุดภาพกิจวัตรประจำวันยามเช้า รวมถึงระหว่างการตรวจแถวสวนสนาม ซึ่งมอบสัมผัสบทกวีภาพยนตร์ และเก็บบันทึกภาพประวัติศาสตร์ได้อย่างงดงาม ตราตรึง
คงเพราะข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ทำให้การบันทึกเสียงยังมีความยุ่งยากวุ่นวาย จึงพบเห็นข้อความ ‘Title Card’ แทนการใช้เสียงบรรยาย (Voice Over) เพื่ออธิบายภาพเหตุการณ์ แนะนำบุคคลสำคัญ รวมถึงกิจกรรมขณะนั้นๆ โดยไม่รู้ตัวนี่คืออีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังมีสัมผัสของบทกวี
เพลงประกอบโดย Herbert Windt (1894-1965) คีตกวีสัญชาติ German ร่ำเรียนดนตรีจาก Sternsches Konservatorium ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษา อาสาสมัครเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้รับบาดเจ็บหนักต้องรักษาตัวถึงสองปี ทำให้มีโอกาสเริ่มประพันธ์เพลง Chamber Music, จากนั้นได้รับโอกาสเข้าเรียน Berlin Academy of Music สรรค์สร้างอุปรากร Andromache (1932), ภาพยนตร์เรื่องแรก Red Morning (1933), โด่งดังจากการร่วมงานผู้กำกับ Leni Riefenstahl ตั้งแต่ Triumph of the Will (1935), Olympia (1938), Tiefland (1954)
งานเพลงของหนังรวมถึง Sound Effect (เสียงฝูงชนสดุดี Heil Hitler!) ล้วนมีลักษณะของ ‘Expressionism’ สำหรับถ่ายทอดความรู้สึกประกอบภาพเหตุการณ์ แลดูเหมือน ‘diegetic sound’ แต่มีการจัดการ (manipulate) และบิดเบือน (distortion) เพื่อชี้ชักนำพาอารมณ์ผู้ชม ให้คล้อยตามช่วงขณะนั้นๆ
In Triumph of the Will, the material world leaves no aural impression beyond the music. Where the film does combine diegetic noise with the music, the effects used are human (laughter or cheering) and offer a rhythmic extension to the music rather than a contrast to it. By replacing diegetic sound, Riefenstahl’s film employs music to combine the documentary with the fantastic.
นักวิจารณ์ Ben Morgan
อย่างตอนอารัมบทระหว่างขึ้นข้อความ (Title Card) บทเพลงก็มีสำแดงออกอย่างชัดเจน
- On the 5th of September 1934…
- รัวกลองอารัมบท
- 20 years after the outbreak of the World War…
- ท่วงทำนองแห่งความหวาดสะพรึงของสงคราม
- 16 years after the beginning of Germany’s suffering…
- เต็มไปด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน
- 19 months after the beginning of the German Rebirth…
- บังเกิดประกายแห่งความหวัง สำหรับการเริ่มต้นใหม่
ส่วนใหญ่ของหนังเต็มไปด้วยเพลงมาร์ช (March Song, สำหรับเดินแถวและสวนสนาม) และแนวปลุกใจ (Patriotic Songs) ที่ดังๆก็อย่าง Wagner: Götterdämmerung (Prologue: Dawn & Siegfried’s Rhine Journey), Piefke: Königgrätzer Marsch, Wir Marschieren Durch Grösseres Berlin (We March Through Greater Berlin) ฯลฯ
แต่บางระหว่างร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ กิจวัตรประจำวัน ท่านผู้นำ Hitler ทักทายผู้คนบนท้องถนน จะได้ยินท่วงทำนองบทเพลง Horst-Wessel-Lied (ไม่มีคำร้อง) สำหรับบรรยากาศผ่อนคลาย เบาสบาย เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การชุมนุมใหญ่ประจำปี
ตอนจบของสารคดีจะได้ยินบทเพลง Horst-Wessel-Lied หรือ Horse Wessel Song เพลงชาติของพรรคนาซี (Nazi Anthem) แต่งโดย Horst Ludwig Georg Erich Wessel (1907-30) จากนักเลงข้างถนน เคยเข้าร่วมกลุ่มขวาจัด Bismarckjugend (Bismarck Youth) แล้วเปลี่ยนมา Wiking Liga (Viking League) แต่ล้วนไม่ชื่นชอบอุดมการณ์ จนกระทั่งเข้าร่วม Sturmabteilung (SA) ของพรรค Nazi
Bismarck League, that was pleasure and enjoyment, the Viking League was adventure, the atmosphere of the coup, playing at soldiers, albeit against a background that was not without its dangers. But the NSDAP was a political awakening.
Horse Wessel
Wessel ยังมีงานอดิเรกเป็นนักดนตรี Schalmei (Martinstrompete, เครื่องลมทองเหลือง) ร่วมกับผองเพื่อนตั้งวง Schalmeienkapellen เคยแต่งบทเพลงปลุกใจชื่อ Kampflied (Fight Song) ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ Der Angriff (The Attack, เจ้าของคือ Joseph Goebbels) ฉบับเดือนกันยายน ค.ศ. 1929 ในชื่อ Der Unbekannte SA-Mann (The Unknown SA-Man) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Die Fahne Hoch (Raise the Flag) และท้ายสุด Horst-Wessel-Lied” (Horst Wessel Song)
ช่วงปี ค.ศ. 1929, Joseph Goebbels พยายามมองหามรณสักขี (Martyrs) บุคคลใกล้วางวายแต่ไม่ยินยอมทอดทิ้งอุดมการณ์ เพื่อนำมาใช้โปรโมทพรรคนาซี จนกระทั่งเรียนรู้เรื่องราวของ Wessel ที่ถูกลอบสังหารโดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนตายกล่าวกับมารดาว่าอยากพบเห็นโลกใบนี้ที่ดีกว่าเดิม, นั่นเองทำให้ Goebbels ตีพิมพ์บทความยกย่องสรรเสริญ รวมถึงผลักดันบทเพลงที่เคยแต่ง ให้กลายเป็นเพลงชาตินาซี และเปลี่ยนชื่อเพื่อสดุดี Horst Wessel Song
เกร็ด: หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Horst Wessel Song ถูกแบนจากนานาชาติโดยทันที ท่วงทำนองยังพอได้อยู่บ้าง แต่เนื้อคำร้องแทบไม่เคยมีการบันทึกเสียงใหม่ คลิปใน Youtube ก็มักถูกลบบ่อยครั้ง (ต้องขึ้นข้อความบอกว่าสำหรับเพื่อการศึกษาเท่านั้น)
Triumph of the Will (1935) บันทึกภาพการชุมนุมใหญ่ประจำปีของพรรคนาซี ที่พยายามนำเสนอความยิ่งใหญ่ของ Adolf Hitler ตั้งแต่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวเมือง Nuremberg พบเห็นแสนยานุภาพกองทัพ กิจกรรมตรวจแถวสวนสามขององค์กรต่างๆ (RAD, Hitler Youth, German Youth, Wehrmacht, SS, SA ฯลฯ) และคำกล่าวสุนทรพจน์ว่าจะนำพาชาวเยอรมันให้กลายเป็นมหาอำนาจโลก … เหล่านี้คือลักษณะของการชวนเชื่อ (propaganda) เพื่อชาวเยอรมันบังเกิดความฮึกเหิม ภาคภูมิใจ คล้อยตามในอุดมการณ์ท่านผู้นำ
สำหรับชาวเยอรมันยุคสมัยนั้น (รวมถึงผู้ชมที่รับชมหนัง) รับชม Triumph of the Will (1935) แทบทั้งนั้นด้วยความสนใจเพียงท่านผู้นำ Adolf Hitler แต่ผู้กำกับ Riefenstahl พยายามสอดแทรกภาพของเยอรมัน (ทั้งประชาชน ตึกรามบ้านช่อง รวมถึงทิวทัศนียภาพต่างๆ) ผสมผสานคลุกเคล้าให้กลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกัน เพื่อสะท้อนอุดมคติ …
Hitler is Germany, as Germany is Hitler!
จะว่าไปถ้า Hitler เป็นนักแสดงภาพยนตร์ คงต้องได้รับรางวัล Oscar: Best Actor มากครั้งกว่า Daniel Day-Lewis เข้มข้นกว่า Marlon Brando เสียสติแตกกว่า Jack Nicholson … ทั้งสีหน้า คำพูด รวมถึงภาษากาย ล้วนเต็มไปด้วยการแสดงออกทางอารมณ์ที่เข้มข้น สมจริง ยิ่งกว่านักแสดง ‘method acting’ เลยไม่น่าแปลกใจจะสามารถปลุกระดม สร้างความหึกเหิม ล่อหลอก/ล้างสมองฝูงชน ให้คล้องตามอุดมการณ์ของตน
แซว: แม้แต่ Bruno Ganz ที่เคยแสดงภาพยนตร์ Downfall (2004) ก็ยังห่างไกลความสมบูรณ์แบบของ Adolf Hitler
การที่ผู้ชมต่างชาติพยายามกล่าวหา Triumph of the Will (1935) ว่าเป็นภัยความมั่นคง สาเหตุหลักๆเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง ใครคนหนึ่งสามารถสร้างอิทธิพลต่อคนหมู่มาก ล้วนถูกตีตราว่าคือ ‘เผด็จการ’ เพื่อการใช้อำนาจในทางมิชอบ ปกครองด้วยความคอรัปชั่น กระทำสิ่งตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
ผมอยากแนะนำให้ลองหารับชม Why We Fight (1942-45) ที่ฟากฝั่งสหรัฐอเมริกาสร้างขึ้นเพื่อโต้ตอบกลับ Triumph of the Will (1935) จะได้เห็นอีกมุมมองขั้วตรงข้ามสุดโต่งไม่แพ้กัน เลวร้ายกว่าคือเลือกใช้ถ้อยคำตีตราฝ่ายอักษะว่ามีความโฉดชั่วร้าย อันตราย ต้องกำจัดให้พ้นภัยทาง … แต่เอาจริงๆ Triumph of the Will (1935) ไม่ได้มีอะไรเหล่านั้นสอดแทรกอยู่เลยสักนิด!
ผู้กำกับ Riefenstahl รับรู้ตัวดีว่ากำลังสรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ นำเสนอแสนยานุภาพพรรคนาซี ยกยอปอปั้นท่านผู้นำ Adolf Hitler ประดุจดั่งเทพเจ้า แต่เธอพยายามทำทุกวิถีทางให้ผลงานเรื่องนี้ สามารถมองในมุมสารคดีบันทึกประวัติศาสตร์ ตัดทิ้งส่วนกล่าวถึงสงคราม ถ้อยคำเหยียดหยามชนชาติอื่น การแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล รวมถึงไม่มีองค์ประกอบของ Holocaust เลยสักนิด!
If you see this film again today you ascertain that it doesn’t contain a single reconstructed scene. Everything in it is true. And it contains no tendentious commentary at all. It is history. A pure historical film … it is film-vérité. It reflects the truth that was then in 1934, history. It is therefore a documentary. Not a propaganda film. Oh! I know very well what propaganda is. That consists of recreating events in order to illustrate a thesis, or, in the face of certain events, to let one thing go in order to accentuate another. I found myself, me, at the heart of an event which was the reality of a certain time and a certain place. My film is composed of what stemmed from that.
Leni Riefenstahl
แม้นั้นอาจเป็นข้ออ้างข้างๆคูๆ หลายคนอาจรู้สึกว่าฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะคำสารภาพของ Riefenstahl เมื่อครั้น Nuremberg Trial ก็บอกว่าตนเองไม่เคยรับรู้ ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง (รวมถึง Holocaust) แต่มันไม่มีหลักฐานใดๆสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง ขึ้นอยู่กับผู้ชมจักครุ่นคิดเข้าใจ ปฏิเสธให้โอกาสแก้ตัวใดๆ
ในบทความวิจารณ์สารคดีชีวประวัติ The Wonderful, Horrible Life of Leni Riefenstahl (1993) นักวิจารณ์ Roger Ebert แสดงความคิดเห็นในเชิงตั้งคำถามถึงศิลปะ vs. เนื้อหาสาระภายใน โดยเปรียบเทียบถึงการสร้างพิระมิด ใครๆต่างรู้ดีว่ามีแรงงานทาสเสียชีวิตมากมาย แล้วไฉนกลับยังคงได้รับการยกย่องสรรเสริญ???
Can art be detached from its context? The pyramids were constructed at the cost of the lives of uncounted thousands of slaves. Do we remember them today? Do their deaths diminish the monuments they built?
นักวิจารณ์ Roger Ebert
ในยุคสมัยที่ผู้กำกับหญิงมีปริมาณนับนิ้วมือข้างเดียว และในประเทศปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ Riefenstahl สามารถรังสรรค์ผลงานที่ทำให้โลกตกตะลึง พร้อมกับหวาดสะพรึง! ใครต่อใครย่อมตระหนักถึงอัจฉริยภาพ แต่ไม่อาจยินยอมสิ่งที่เธอสร้างขึ้น มันช่างเป็นโชคชะตากรรมที่โหดร้าย มีเพียงบุคคลที่สามารถละวางอคติ ดำเนินทางสายกลาง ถึงมีโอกาสเกิดความกระจ่างแจ้ง นั่นแสดงว่าคุณเข้าถึงจุดสูงสุดของศิลปะภาพยนตร์อย่างแท้จริง!
จะว่าไป Triumph of the Will (1935) ประสบโชคชะตาเดียวกับ The Birth of a Nation (1915) แม้เป็นภาพยนตร์ที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์ แต่ถูกตั้งคำถามถึง ‘Ethical Contraversy’ เพราะมีการนำเสนอเรื่องราวขัดแย้งต่อศีลธรรมอันดีงามทางสังคม เลยไม่ได้รับการยินยอมรอบจากผู้คนจนถึงปัจจุบัน
ชื่อหนัง Triumph of the Will คงเพื่อสะท้อนอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ของพรรคนาซี ที่ได้รับการยินยอมรับจากชาวเยอรมัน แต่แม้ภายหลังจะพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา แม้ถูกตีตราว่ามีความโฉดชั่วร้าย
หนังฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1935 ณ โรงภาพยนตร์ Berlin Ufa Palace Theater ได้เสียงตอบรับอย่างดีล้นหลาม ด้วยทุนสร้าง 280,000 Reichsmark (= $110,000 ดอลลาร์ในปี ค.ศ. 1934, = $1.54 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 2015) สามารถทำเงินสองเดือนแรกสูงถึง 815,000 Reichsmark ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
[Triumph of the Will (1935)]’s incomparable glorification of the power and beauty of our Movement.
Adolf Hitler
นอกจากนี้เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice สามารถคว้ารางวัล Best Foreign Documentary (สมัยนั้นยังไม่มี Golden Lion แต่เป็น Mussolini Cup)
ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Triumph of the Will (1935) ทำให้ฟากฝั่งโลกตะวันตกบังเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต สะพรึงกลัวว่าประชาชนจะถูกล้างสมอง หันมาฝักใฝ่ Nazism จึงมีการสรรค์สร้างภาพยนตร์(ชวนเชื่อ)โต้ตอบกลับอย่าง Why We Fight (1942-45), Listen to Britain (1942) ฯลฯ
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 2K แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2015 จัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray โดย Synapse Films สามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Archive.org ให้เปิดซับไตเติ้ลด้วยนะครับ ฉบับนี้ขึ้นบอกรายละเอียดได้ละเอียดมากๆ ทั้งสถานที่ เหตุการณ์ ใครคือบุคคลยืนเคียงข้าง Adolf Hitler ฯลฯ
ผมรู้สึกว่าตนเองมีความเพลิดเพลินในการรับชม Triumph of the Will (1935) มากยิ่งกว่า Citizen Kane (1941) นั่นเพราะลีลาการนำเสนอของ Riefenstahl ร้อยเรียงออกมาให้มีความงดงามดั่งบทกวี ทุกช็อตฉากสอดคล้องอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ของนาซี ขณะเดียวกันจิตสามัญสำนึกภายในก็พยายามกีดกัน ต่อต้านทาน ไม่ต้องการยินยอมรับ มันช่างเป็นความขัดแย้งทางอารมณ์ที่ทรงพลังเหลือเกิน … ไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนรับชมแล้วเกิดความชื่นชมและต่อต้าน พร้อมกันได้รุนแรงถึงขนาดนี้!
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมถึงอวยหนังเรื่องนี้เสียเหลือเกิน? อยากแนะนำลองหารับชมภาพยนตร์เรื่อง The Reader (2008) ถ้าคุณสามารถให้อภัยตัวละครของ Kate Winslet (ในบทบาทคว้ารางวัล Oscar: Best Actress) ก็อาจเข้าใจมุมมองของผมที่มีต่อ Triumph of the Will (1935) ได้ส่วนหนึ่ง … กระมัง
มันคงแทบเป็นไปได้ที่ผู้ชมสมัยนี้จะถูกล้างสมอง/ชวนเชื่อจากการรับชม Triumph of the Will (1935) แต่ก็อยากให้เตรียมตัวเตรียมกาย-ใจสักนิด พยายามลดละอคติ ดูหนังเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง สังเกตวิธีการนำเสนอ ถ่ายภาพ-ตัดต่อ-เพลงประกอบ เชื่อว่าอาจทำให้พบเห็นความงดงามที่ซุกซ่อนเร้น และตระหนักถึงชัยชนะทางศิลปะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของ Nazi Germany
และสำหรับคนที่สามารถพานผ่าน Triumph of the Will (1935) อยากแนะนำให้ลองหารับชมไตรภาค ‘Nuremberg Rally Trilogy’ ทั้งจากปีก่อน The Victory of Faith (1933) และปีถัดไป Day of Freedom: Our Armed Forces (1935) แม้ทั้งสามเรื่องจะนำเสนอเหตุการณ์เดียวกัน แต่ความแตกต่างในวิธีนำเสนอของ Leni Riefenstahl อาจทำให้ตระหนักถึงอัจฉริยภาพผู้กำกับหญิงคนนี้ ที่ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าเธอคือ “Greatest Female Director of All-Time”
จัดเรต 18+ กับความทรงพลังในการชวนเชื่อ
Leave a Reply