Trouble in Paradise (1932)
: Ernst Lubitsch ♥♥♥♥
อยู่บนสรวงสวรรค์มันยังจะมีปัญหาอีกรึ? ภาพช็อตแรกของหนังขึ้นข้อความ Trouble in … พื้นหลังคือเตียงนอน ค้างไว้สักพักก่อนปรากฎคำว่า Paradise นั่นสินะที่คือปัญหา! เรื่องราววุ่นๆของรักสามเส้าชวนหัว ระหว่างจอมโจรหนุ่มกับนางแมวสีสวาด ปลอมตัวเข้าไปตีสนิทเศรษฐินีสาวหวังขโมยลาภลอยก้อนใหญ่ แต่พลาดพลั้งเผลอตกหลุมรักใคร่ สุดท้ายแล้วเขาจะเลือกใครเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย
ช่วงแรกๆในยุคหนังพูด ก่อนการมาถึงของข้อตกลงสร้างภาพยนตร์ Hays Code เมื่อปี 1934 มีคำเรียกหนังที่เต็มไปด้วยความล่อแหลมหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม หรือนำเสนอสิ่งผิดกฎหมายบ้านเมืองแบบไม่รู้สำนึกชอบชั่วดีว่า ‘Pre-Code’ อาทิ ลักลอบชู้สาว, โจรกรรมลักขโมย, เสพยา สุรา ของมึนเมา ฯ โดยผลงานเด่นๆของผู้กำกับ D. W. Griffith, Joseph von Sternberg, Eric von Stroheim และ Cecil B. DeMille มักสะท้อนออกมาในลักษณะ Drama มีเพียง Ernst Lubitsch คนเดียวเท่านั้นหลงใหลใน Comedy (หลายครั้งเป็น Musical)
Trouble in Paradise (1932) คือภาพยนตร์ในยุค Pre-Code ที่เป็นจุดเริ่มต้น ‘สัมผัสของ Lubitsch’ มีความลึกล้ำซับซ้อน เลิศหรูหรา เฉียบคมคาย พูดคุยอะไรกันก็ไม่รู้นามธรรมเหลือเกิน ทำให้ผู้ชมราวกับหลุดเข้าไปในโลกคู่ขนานใบหนึ่ง ดินแดนที่ระยิบระยับด้วยแสงสะท้อนจากใต้ผิวน้ำ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้จิตวิญญาณสัมผัสถึงรับรู้
สิ่งที่เรียกว่า ‘สัมผัสของ Lubitsch’ คือไดเรคชั่น ลีลา และสไตล์การสร้างภาพยนตร์ของผู้กำกับสัญชาติเยอรมัน Ernst Lubitsch แนะนำเบื้องต้นให้รู้จักภาพช็อตแรกชื่อหนัง สามารถสื่อความหมายได้อย่างเฉียบคมคาย อุปมาอุปไมย Paradise ด้วยสถานที่ร่วมรักหลับนอน ไต่เต้าถึงสรวงสวรรค์ชั้นเจ็ดของคู่รัก หนุ่มสาว ชายหญิง ปัญหาบนเตียงย่อมสื่อถึงเรื่องชู้สาว นอกใจ ไม่สุขสำราญใน Sex และชีวิตคู่ … นั่นคือใจความของหนังเลยนะ!
Ernst Lubitsch (1892 – 1947) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin, German Empire เชื้อสาย Ashkenazi Jewish พ่อเป็นช่างตัดเสื้อ (Tailor) ได้รับการคาดหวังให้สานต่องาน แต่ทอดทิ้งครอบครัวแล้วเข้าสู่วงการละครเวที เป็นสมาชิกของ Deutsches Theater เริ่มจากเป็นนักแสดง ไม่นานผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง กำกับภาพยนตร์ยุคหนังเงียบอยู่หลายเรื่องจนได้เดินทางสู่ Hollywood โดยคำชักชวนของ Mary Pickford และสามารถเอาตัวรอดในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดได้ไม่ยากนัก, ผลงานเด่นๆ อาทิ Rosita (1923) [แจ้งเกิดที่ Hollywood], The Patriot (1928), The Love Parade (1929), Trouble in Paradise (1932), Ninotchka (1939), The Shop Around the Corner (1940), To Be or Not to Be (1942), Heaven Can Wait (1943) ฯ เข้าชิง Oscar สามครั้งไม่เคยได้รางวัล ภายหลังรับมอบ Honorary Award เมื่อปี 1947 ก่อนเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือน
Lubitsch’s Touch ว่าไปก็ไม่แตกต่างจาก Hichcockian, Ozu’s Style, Felliniesque ฯ คือเอกลักษณ์ที่มีความเฉพาะตัวของ ‘ศิลปิน’ ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์นั้นๆ มีนักวิจารณ์มากมายพยายามให้คำจำกัดความ อาทิ
“The Lubitsch Touch is a brief description that embraces a long list of virtues: sophistication, style, subtlety, wit, charm, elegance, suavity, polished nonchalance and audacious sexual nuance”.
– Richard Christiansen
ประกอบด้วยความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเรื่องราว อันเต็มไปด้วยความเฉลียวฉลาดคมคาย เสน่ห์เย้ายวน สละสลวย สง่างาม กลมกล่อมละมุ่นละไม มักมีความล่อแหลมเกี่ยวกับสิ่งต้องห้าม และ Sex
“With few exceptions Lubitsch’s movies take place neither in Europe nor America but in Lubitschland, a place of metaphor, benign grace, rueful wisdom”.
– Scott Eyman
ดำเนินเรื่องใน Lubitschland ไม่ใช่ในยุโรปหรืออเมริกา แต่คือสถานที่อุปมาอุปไมยในจินตนาการ ผู้คนเต็มไปด้วยรอยยิ้มมิตรไมตรี เชื่อใจคนง่าย ยึดมั่นในกฎกรอบระเบียบ พูดคุยกันแบบเร็วๆรัวๆ มีจังหวะชีวิตแตกต่างจากโลกปกติทั่วไปอย่างมาก
“The subtle humor and virtuoso visual wit in the films of Ernst Lubitsch. The style was characterized by a parsimonious compression of ideas and situations into single shots or brief scenes that provided an ironic key to the characters and to the meaning of the entire film”.
– Ephraim Katz
สิ่งขบขันหลบซ่อนอยู่ภายในไหวพริบคมคายของผู้กำกับ Ernst Lubitsch สไตล์ที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดสู่สถานการณ์จำเพราะ แค่เพียงช็อต/ฉากเดียว สามารถสื่อแทนความหมายทุกสิ่งทุกอย่างของหนังออกมาได้
นิยามของผมเองที่สัมผัสได้จาก Lubitsch’s Touch คือความเฉียบคมคายที่แอบซ่อนเร้นอยู่ในทุกๆอณูของภาพยนตร์ คำพูดอุปมาอุปไมยอะไรก็ไม่รู้แต่แฝงนัยยะความหมายลึกซึ้ง ไดเรคชั่น มุมกล้อง ตัดต่อ และการเลือกใช้เพลงประกอบ อุดมไปด้วยความล่อแหลม เรื่องต้องห้าม จิกกัดขนบวิถีสังคม ถ้าสามารถทำความเข้าใจได้จะหัวร่อกับความขัดแย้ง เจ๋งเป้งเพราะมันท้าทายสันชาติญาณ/สติปัญญาในการครุ่นคิด
Trouble in Paradise ดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่อง A Becsületes Megtaláló (1931) แต่งโดย Laszlo Aladar สัญชาติ Austria-Hungary แปลภาษาอังกฤษโดย Grover Jones ใช้ชื่อว่า The Honest Finder และกลายเป็นบทภาพยนตร์โดย Samson Raphaelson (1894–1983) หนึ่งในขาประจำของ Lubitsch ก่อนหน้านี้คือเจ้าของบทละคร The Jazz Singer (1927) ที่ดัดแปลงกลายเป็นภาพยนตร์ Talkie เรื่องแรกของอเมริกา
ณ เมือง Venice, จอมโจรหนุ่ม Gaston Monescu (รับบทโดย Herbert Marshall) ปลอมตัวเป็นเชื้อพระวงศ์ พบเจอกับ Lily (รับบทโดย Miriam Hopkins) นางแมวสีสวาด นักล้วงกระเป๋าที่ก็ปลอมตัวเป็น Countess เพราะความที่ ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ ทั้งสองเลยโถมเข้าใส่ ตกหลุมรัก ใช้ชีวิต ร่วมงานกันมุ่งสู่ Paris
ที่ Paris, Gaston ได้ขโมยกระเป๋าเพชรมูลค่า 125,000 ฟรังก์ จาก Madame Mariette Colet (รับบทโดย Kay Francis) เศรษฐินียังสาวเจ้าของกิจการโรงงานผลิตน้ำหอม Colet and Co. ด้วยความที่เสียดายกระเป๋า ประกาศมอบเงินให้ผู้ค้นพบเจอสูงถึง 20,000 ฟรังก์ นี่ขนาดว่าถ้านำไปขายต่อยังไม่ได้ราคาสูงเท่านี้ Gaston เลยใช้ความกะล่อนปลิ้นปล้อน อ้างว่าพบเจอกระเป๋าเงิน แสดงความซื่อสัตย์สุจริตให้เธอเกิดความเชื่อใจ จับพลัดจับพลูกลายเป็นเลขาส่วนตัว คราวนี้ก็หวาดปาก เตรียมแผนการขโมยเงินสดกว่า 800,000 ฟรังก์
Lily ที่ก็ปลอมตัวเป็นเลขานุการของ Gaston กลิ่นตุๆจับความได้ว่า สาเหตุผลที่ Madame Colet เทอกเทใจให้กับชายหนุ่มของเธอ ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการตกหลุมรักใคร่จนโงหัวไม่ขึ้น แม้ปากของเขาจะยืนกรานไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่สัญชาตญาณเพศหญิงคาดเดาแม่นทุกสิ่งอย่าง ซึ่งสุดท้ายเมื่อความจริงกำลังถูกเปิดโปง Gaston เลยจำต้องตัดสินเลือกว่าจะครองคู่อยู่กับใคร
Herbert Brough Falcon Marshall (1890 – 1966) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วสูญเสียขาข้างหนึ่ง (นี่ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันนะ นึกว่าทำไมตัวละครถึงมีท่าเดินประหลาดๆ) ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานร่วมกับ Hitchcock เรื่อง Murder! (1930) ผลงานการแสดงอื่นที่เด่นๆ อาทิ Trouble in Paradise (1932), The Letter (1940), The Little Foxes (1941), The Moon and Sixpence (1942), The Razor’s Edge (1946), The Fly (1958) ฯ
รับบท Gaston Monescu หรือชื่อปลอม Gaston Lavalle นักต้มตุ๋นหลอกลวงที่เต็มไปด้วยเสน่ห์น่าหลงใหล ความรอบรู้เรื่องวัตถุของโบราณคงเพราะจะได้นำไปขายราคาสูงแค่ไหน หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเงินๆทองๆ พบเจอตกหลุมรัก Lily ด้วยความที่หักเหลี่ยมเฉือนคมกับตนเองได้อย่างเฉียบขาด ขณะที่แผนการขโมยเงินจาก Madame Colet แรกๆก็ไม่คิดอะไรในกอไผ่จริงๆ แต่ภายหลังเมื่อโดนเสน่ห์อันยั่วเย้ายวนของเธอ น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน เร่าร้อนรวนเรใจในช่วงวันสุดท้าย ตัดสินไม่ได้จะเอายังไงกับชีวิตดี
Marshall ชอบโน้มตัวไปข้างหน้า ทำน้ำเสียงหวานๆ ออดอ้อนครวญครางเหมือนลูกแมวน้อย ตาลอยๆเลิศหน้าขอความเห็นใจ สาวๆไม่ว่ายุคสมัยไหนเห็นเข้าคงได้หลอมละลายกลายเป็นสายธารา นี่ถ้าไม่ติดว่าครองรักอยู่กับ Lily มาก่อน เชื่อว่าคงยอมเป็นหนูตกถังข้าวสารให้ Madame Colet เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างแมวๆ นั่งนอนกินเลิกราอาชีพหัวขโมยแน่นอน
เกร็ด: ทุกครั้งที่ตัวละครนี้ต้องวิ่งขึ้นลงบันได จะมีการใช้นักแสดงแทน ถ่ายทำแบบไม่ให้เห็นหน้า เพราะความที่ Marshall ขาพิการไปข้างหนึ่ง เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำนะ
Ellen Miriam Hopkins (1902 – 1972) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Ellen Miriam Hopkins October 18, 1902 Savannah, Georgia, โตขึ้นย้ายตามครอบครัวสู่ New York เข้าเรียน Goddard Seminary, Barre (ปัจจุบันคือ Goddard College, Plainfield) ตามด้วย Syracuse University ไม่ทันจบหนีออกจากบ้าน หางานเป็น Chorus Girl ร้องเล่นเต้นตามผับบาร์ จนไปเข้าตาแมวมองของ Paramount Picture จับเซ็นสัญญามีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Fast and Loose (1930), เริ่มประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจาก Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1931), ได้รับการจดจำสูงสุดก็ Trouble in Paradise (1932), ผลงานอื่นๆ Becky Sharp (1935), The Heiress (1949) ฯ
รับบท Lily นางแมวสีสวาดนักล้วงกระเป๋า เมื่อได้พบเจอ Gaston ร่วมอาชีพเดียวกัน เลยตกหลุมรักใคร่ปานจะกลืนกิน ร่วมงานประสานกันได้อย่างลงตัว แต่ความบาดหมางบังเกิดขึ้นเมื่อคนรักวางแผนต้มตุ๋นเศรษฐินียังสาว รับรู้โดยทันทีว่าเธอก็ตกหลุมรักเขา เกิดความอิจฉาริษยาเลือดขึ้นหน้า ไม่ฉันก็ยัยนี่ต้องเลือกเอาสักคน จะเหมาสองมิได้
Hopkins แสดงบท Lily ได้อย่างจัดจ้าน คมคาย อิจฉาริษยาแบบน่าหมั่นไส้ อัดอั้นทรมานรวดร้าวใจ (ที่เห็นคนรักมีชู้อยู่ในสายตา) แต่ช่วงที่ผมชื่นชอบสุดคือขณะสวมใส่แว่นปลอมตัว ดัดจริตความน่ารักน่าชัง ปั้นเรื่องให้น้ำตาซึมไหล พอเหลือบเห็นของมีค่าบนพื้นตาลุกมันวาว (สันชาติญาณออก!) คงต้องใช้พลังอย่างสูงในการหักห้ามใจตนเองคืนให้เจ้าของ
Katherine Edwina ‘Kay’ Francis (1905 – 1968) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Oklahoma City เพราะความที่แม่เคยเป็นอดีตนักร้องนักแสดง โดยไม่รู้ตัวเกิดความชื่นชอบหลงใหลด้านนี้ โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway ทดลองไปทดสอบหน้ากล้องหลายเรื่องจนมีบทใน The Cocoanuts (1929), เซ็นสัญญากับ Warner Bros. ประสบความสำเร็จจนกลายเป็น ‘Queen of Warners’ ผลงานเด่นๆ อาทิ One Way Passage (1932), Trouble in Paradise (1932), Mandalay (1934), Another Dawn (1937) ฯ แต่หลังจากยุคทองก็กลายเป็นหนึ่งใน ‘Box Office Poison’ คัมแบ็กอยู่ช่วงสั้นๆ และรีไทร์หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด
รับบท Madame Mariette Colet ครอบครัวทิ้งมรดกไว้ให้กองโต แต่เธอไม่ใคร่สนใจบริหารจัดการเหลียวแล วันๆจับจ่ายใช้สอยแบบลูกคุณหนูเอาแต่ใจ เพราะความไร้เดียงสาอ่อนเยาว์ต่อโลก เมื่อถูกคำป้อยอหวานหูของ Gaston ก็ดื่มด่ำหลงเชื่อสนิทใจ แทบจะแทกระจาดมอบให้ทุกสิ่งอย่าง กระทั่งวินาทีสุดท้ายยังไม่อยากเชื่อตนเองว่ากำลังโดนต้มตุ๋น
เสน่ห์ของ Francis คือดวงตาอันหวาดหยดย้อย พยายามหว่านโปรยเสน่ห์ให้ใครๆต่างเคลิบเคลิ้มหลงใหล ปลุกปั้นทุกสิ่งอย่างดูสวยสดใส ใส่ชุดฟูฟ่องราวกับเจ้าหญิงในเทพนิยาย ทำตัวซื่อบริสุทธิ์จนมิอาจหักห้ามใจตกหลุมรัก ก็ว่าชีวิตจริงของเธอ ไม่แปลกจะมีหนุ่มๆมากมายเข้ามาพัวพัน แต่งงานถึง 5 ครั้ง ชู้อีกไม่รู้เท่าไหร่ หนึ่งในนั้นชื่อ William Gaston บังเอิญเกินไปไหมเนี่ย!!
เกร็ด: แม้ Hopkins จะมีชื่อขึ้นในเครดิตแรกสุด แต่ค่าตัวกลับได้น้อยสุด
– Hopkins ได้ $1,750 ต่อสัปดาห์
– Francis ได้ $4,000 ต่อสัปดาห์ (การันตีอย่างน้อย 6 สัปดาห์)
– Marshall ได้ $3,500 ต่อสัปดาห์
ถ่ายภาพโดย Victor Milner ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ คว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง Cleopatra (1934), ผลงานอื่นๆ อาทิ Trouble in Paradise (1932), The Buccaneer (1938), Union Pacific (1939), The Lady Eve (1941), Unfaithfully Yours (1948) ฯ
ตัดต่อโดย … ไม่มีเครดิต คิดว่าคงผู้กำกับ Ernst Lubitsch เองนะแหละ, เรื่องราวของหนังไม่ได้ดำเนินไปในมุมมองของตัวละครหนึ่งใด ให้เวลาแทบทุกคนรวมถึงตัวประกอบที่เหมือนจะไม่สำคัญ สร้างสีสันเพลินๆให้กับหนังได้มาก แต่ออกเยอะสุดคงเป็น Gaston Monescu ชายผู้ต้องเลือกหญิงสาวคนใดคนหนึ่ง
พื้นหลังที่อ้างว่าคือ Paris แต่จากสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างมีความเลิศหรูหรา ไฮโซ ล้ำยุคสมัยเสียเหลือเกิน ดูแล้วเหมือน Art Deco (อลังการศิลป์) ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุโรปต้นศตวรรษ 20 ออกแบบโดย Travis Banton ขาประจำของผู้กำกับ Josef von Sternberg เอาว่าขอเรียก Lubitschland ก็แล้วกัน ทั้งหมดสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอที่ Paramount Studios
การถ่ายภาพแบบ Long-Take ด้วยกล้องเคลื่อนไหลไปเรื่อยๆคือหนึ่งใน ‘สัมผัสของ Lubitsch’ อยากฉากแรกๆนี้ คงจะถ่ายทำด้วยเครนแน่ๆ เพราะเล่นจากมุมห้องตึกหนึ่ง อ้อมโรงแรมมาหยุดตรงระเบียงช็อตนี้ เป็นระยะทางที่ไกลมากๆ ไปถึงดวงจันทร์ที่ห้อยอยู่ในฉากได้เลยนะเนี่ย
“If Casanova suddenly turned out to be Romeo having supper with Juliet, who might become Cleopatra, how would you start?”
‘โรมีโอแท้จริงเป็นคนเจ้าชู้, ขณะที่จูเลียตคือราชินีร่านสวาท’ นัยยะของการสนทนานี้เป็นการบอกใบ้ว่าทั้ง Gaston และ Lily ที่ขณะนั้นอ้างว่าเป็นบารอนและ Countess แท้จริงแล้วนั่นคือภาพหลอกลวงตา!
“I want to see that moon in the champagne”.
นี่ผมก็ไม่รู้แปลว่าอะไรนะ แต่ชวนให้ระลึกถึงคำพูดประโยคหนึ่งในหนังเรื่อง It’s a Wonderful Life (1946) ตัวละครของ James Stewart พูดเกี้ยวพาราสีนางเอก ขี้โม้อย่างโรแมนติกว่า
“You want the moon? Just say the word, and I’ll throw a lasso around it and pull it down”.
ฉากนี้เป็น Long-Take ไม่มีตัดต่อ กล้องจะเคลื่อนไหลสลับไปมา ซ้าย -> ขวา -> ซ้าย -> ขวา (เหมือนอาการมึนๆเบลอๆ เวียนหัวส่ายไปมา) ระหว่าง François Filiba (รับบทโดย Edward Everett Horton) กับตำรวจอิตาเลี่ยนที่มาติดตามคดี
เรื่องเล่าของ Filiba เกี่ยวกับชายคนหนึ่งอ้างว่าเป็นหมอ ขอตรวจดูต่อมทอนซิล ตอนแรกก็ปฏิเสธเสียงแข็งไม่ได้เป็นอะไร คงรำคาญจนยอมอ้าปาก พลาดพลั้งคงโดนอะไรทุบหัว สลบสิ้นสติสมประดี ตื่นขึ้นมาอีกทีเงินหายหมดตัว
“When I woke up, I still had my tonsils, but my pocketbook was gone”.
หลังจากที่เห็นนมเห็นตีนของกันและกันแล้ว Gaston กับ Lily ก็ถึงเวลาพรอดรัก ถามไถ่ตัวตนแท้จริงของกันและกัน
“Do you remember the man who walked into the Bank of Constantinople, and walked out with the Bank of Constantinople?”
อธิบายคำพูดประโยคนี้ก็คือ ‘ฉันเดินเข้าไปในธนาคาร Constantinople แล้วเดินออกมาด้วยเงินสดของ Constantinople’ เป็นการเล่นคำที่สามารถสื่อได้สองความหมาย
และประโยคที่มีความ Anti-Romantic สุดเลยๆ
“I love you. I loved you the minute I saw you. I’m mad about you, my little shoplifter… . my sweet little pickpocket… . my darling”.
หลายครั้งที่ ‘สัมผัสของ Lubitsch’ เปี่ยมไปด้วยเล่ห์และกล ปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดคาดเดาไปเองว่าเกิดอะไรขึ้นหลังฉาก ไดเรคชั่นนี้จะคล้ายๆของผู้กำกับ Jean Renoir แต่ Lubitsch มักจะในประเด็นต้องห้าม ให้ผู้ชมไปจิ้นจิกกัดหมอนเสียมากกว่า อาทิเช่น
แขวนป้าย “Do Not Disturb” ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าพวกเขากำลังจะทำอะไรกัน
โฆษณาด้วยแสงไฟนีออน Colet and Co. ด้านซ้ายคือผู้ชายฉีดน้ำหอม ฝั่งขวาคือหญิงสาวบนเตียง จินตนาการกันต่อได้ไหมละครับสื่อถึงอะไร
“Remember, it doesn’t matter what you say, it doesn’t matter how you look, it’s how you smell”.
ประโยคที่ผมหัวเราะหนักสุดของหนัง มาจากผู้ประกาศคนนี้ที่พูดว่า
“From Geneva comes the news that the famous international crook, Gaston Monescu, robbed the peace conference yesterday. He took practically everything except the peace”.
ปล้นทุกอย่างในงานประชุมสันติภาพเมื่อวานนี้ เว้นไว้เพียงสันติภาพ!
บันได สิ่งแบ่งแยกระหว่างชั้นบน (Paradise) กับชั้นล่าง ถือเป็นส่วนของฉากที่พบเห็นบ่อยครั้งในหนัง เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง (พร้อมเพลงประกอบที่มักจะไล่โน้ตขึ้นลงเช่นกัน) เหมือนชีวิตที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ค่อยจะได้
และอย่าลืมว่า Herbert Marshall ขาพิการข้างหนึ่งนะครับ แล้วคุณจะยิ่งฉงนในหลายๆฉากที่ตัวละครนี้ เดี๋ยวเดินขึ้นเดินลง มีการเลือกมุมกล้องถ่ายจากด้านล่างบ้าง ด้านบนบ้าง เพื่อหลบซ่อนใบหน้าของนักแสดงแทนได้อย่างแนบเนียนทีเดียว
ช่วงของการตัดต่อ Yes-Yes No-No มาจนถึงช็อตนี้ โยคะป่ะเนี่ย! ถ้ามีผู้หญิงให้ท่าขนาดนี้นะ ผู้ชายที่ถ้าไม่ใช่เกย์หรือกามตายได้ ย่อมต้องครุ่นคิดได้อย่างเดียวเท่านั้น
ช่วงขณะหนึ่งดำเนินเรื่องด้วยการใช้นาฬิกา Cross-Cutting เปลี่ยนเวลาไปเรื่อยๆ ผู้ชมจะได้ยินเพียงเสียงพูดคุยสนทนาทักทายของตัวละคร อะไรจะเกิดขึ้นระหว่างนั้นก็เป็นเรื่องของจินตนาการเช่นกัน
ช็อตที่ผมชอบสุดในหนัง, แม้ทั้งเรื่องเราจะเห็นแค่การกอดจูบลูบไล้ แต่เมื่อเงาของคนสองอาบลงบนเตียง ไม่ให้จิ้นลามปามไปถึง Sex ก็กระไรอยู่ นี่คือความเป็นศิลปะในทัศนะของผู้กำกับยุคคลาสสิก ภาพยนตร์ไม่ใช่สื่อที่จะถ่ายทอดทุกสิ่งอย่างออกมา ส่วนที่ผู้ชมจะสามารถไปจินตนาการต่อเองได้ ทรงคุณค่าลึกล้ำเหนือกว่าสิ่งอื่นใด
“I came here to rob you, but unfortunately I fell in love with you”.
นี่กลายเป็นประโยคสุดคลาสสิกของหนังแนวโรแมนติก ‘ฉันต้องการจะมาปล้นเธอ แต่กลับถูกเธอปล้นความรักไปจากฉัน’
สำหรับเพลงประกอบ นอกจาก Opening Credit/Ending Credit ส่วนใหญ่เป็น Incidental ดังขึ้นเป็นท่อนเล็กๆ มีลักษณะเหมือน Sound Effect คอยช่วยตบมุก เสริมสร้างอารมณ์สนุกสนาน ครึกครื้นเครงให้กับหนัง เรียบเรียงโดย W. Franke Harling ซึ่งถือว่ามีความกลมกล่อมอย่างมากทีเดียว
บทเพลง Trouble in Paradise แต่งโดย W. Franke Harling คำร้องโดย Leo Robin ขับร้องโดย Donald Novis, เนื้อคำร้องของเพลงนี้ มีใจความอธิบายความหมายของชื่อหนัง Paradise คืออะไร? แล้วปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในโลกใบนี้ของ Lubitschland ปัญหาที่เกิดขึ้นบน Paradise มีจุดเริ่มต้นจากการไม่รู้จักเพียงพอดีในความต้องการของตนเอง แสวงโหยหาบางสิ่งอย่างโดยไม่ใคร่สนใจรับฟังคำทัดทานโต้แย้งของผู้อื่น เย่อหยิ่งทะนงตนอวดดีว่าสามารถเอาชนะได้ทุกสิ่งอย่าง แต่สุดท้ายกลับพ่ายแพ้ให้รสสัมผัสของ ‘ความรัก’ (และเรื่องบนเตียง) นั่นเป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใครจริงๆ
“This woman has more than jewelry. Did you ever take a good look at her?”
นี่เป็นประโยคคำถามของ Lily ที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง
– เบื้องหน้าพูดถึงเครื่องประดับหรูหราราคาแพงของ Madame Colet
– แต่นัยยะสื่อถึงความงดงามในใบหน้ารูปลักษณ์ เรือนร่างสุดเซ็กซี่เย้ายวน
– นอกจากนี้ยังสามารถมองลึกเข้าไปได้อีกถึงภายในจิตใจของเธอ พยายามยั่วอ่อยเต็มที่เพื่อให้ Gaston หันมามองเกิดความสนใจ
“Beautiful. What of it? Let me tell you something, as far as I’m concerned her whole sex appeal is in that safe”.
ทั้งร้อยกับคำตอบแบบนี้ ไม่เคยจับจ้องสังเกตมองอย่างตั้งใจแน่นอน ผิวเผินคือตามันวาวกับเงินทองเครื่องประดับในตู้เซฟ สวยคือใบหน้ารูปลักษณ์ แต่ผู้ชายส่วนใหญ่มักมืดบอดเมื่อเอ่ยถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของหญิงสาว พลาดพลั่งเผลอเรอปล่อยตัวกายใจเมื่อไหร่ เจอลีลารักอันเร่าร้อนรุนแรง สุดท้ายจักกลายเป็นลูกแมวน้อยในกำมือของนางโดยทันที
Money-Sex คือสองสิ่งที่ Lubitsch นำเสนอว่าคือปัญหายิ่งใหญ่ของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันนั้น (ลามจนถึงปัจจุบันนี้) เปรียบเสมือนผู้หญิงสองคนที่ใครๆต่างแก่งแย่งชิง แสวงโหยหา เพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ โดยมักไม่สนจะแลกมาด้วยอะไร ลุ่มหลงใหลจนขาดสติสามัญสำนึก แยกแยะไม่ได้ถึงความสุขแท้จริงของชีวิต อะไรที่คือ Paradise?
แม้หนังจะได้รับคำวิจารณ์ดีล้นหลามตอนออกฉาย แต่ด้วยทุนสร้างประมาณ $520,000 เหรียญ ทำเงินได้เพียง $475,000 เหรียญ ขาดทุนย่อยยับเลยถูกมองข้าม หมดสิทธิ์ลุ้นรางวัลใดๆช่วงปลายปี
จริงๆหนังได้รับความนิยมสูงมากๆตอนออกฉาย เพราะทศวรรษนั้นอยู่ช่วงระหว่าง Great Depression ความบันเทิงเริงรมย์ขบขันแบบสุดเหวี่ยงจะช่วยให้ผู้คน ‘Escapist’ หลุดออกจากความเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากลำบากในชีวิตจริงได้ แต่สมัยก่อนยังไม่นิยมผลิตฟีล์มหลายๆม้วนออกฉาย Wide Release พร้อมกันทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ก็แค่ไม่กี่โรงในเมืองใหญ่ เน้นความสำเร็จระยะยาวหลายปี
การมาถึงของ Hays Code เมื่อ 1934-35 นับเป็นความโชคร้ายอย่างยิ่งยวด ทำให้ถูกถอดออกจากโรงภาพยนตร์ (เพราะหนังขัดกับกฎใหม่โดยสิ้นเชิง) แบบนี้ก็เจ๊งสิครับ! แม้ Paramount จะพยายามยื่นขอให้มีการพิจารณาใหม่ แต่ก็ล่วงไปปี 1958 แทบไม่มีใครใคร่สนใจรับชมหนังเก่าขนาดนั้นอีกแล้ว
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆคือ ‘สัมผัสของ Lubitsch’ อันมีเสน่ห์ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล หลุดเข้าไปในสวนสนุก Lubitschland เพลิดเพลินกับการใช้สติปัญญาครุ่นคิดติดตาม จนไม่อยากหวนกลับคืนออกมา
แนะนำคอหนังคลาสสิก แนว Romantic Comedy รักสามเส้าในยุค Pre-Code, แฟนๆผู้กำกับ Ernst Lubitsch และนักแสดงนำ Herbert Marshall, Miriam Hopkins, Kay Francis ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความหมิ่นเหม่ล่อแหลมของเรื่องราว อันมี Sex เป็นที่ตั้ง
Leave a Reply