
The Third Part of the Night (1971)
: Andrzej Żuławski ♥♥♥♡
บิดาของผู้กำกับ Andrzej Żuławski ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยินยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อครอบครัว เข้าร่วมวิจัยโรคไข้รากสาดใหญ่ (Typhus) ด้วยการให้เห็บ/หมัด ดื่มเลือดเป็นอาหาร (lice-feeding) … แค่คิดแม้งก็สยองแล้ว
ภาพยนตร์นรกแตกเรื่องแรกของ Andrzej Żuławski ที่จะทำให้ผู้ชมคันคะเยอ เกาหัวจนถลอกปอกเปิก พร้อมสร้างความแสบไส้ สั่นสะท้านทรวงใน ลองจินตนาการถึง 8½ (1963) แต่ออกแนว (Body) Horror ไปทาง John Carpenter (แต่เรื่องนี้ยังไม่มีกลิ่นอาย John Cassavetes แบบ Possession (1981)) ต้องถือว่า Żuławski เป็นผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สรรค์สร้างผลงานโคตรๆเซอร์เรียล (Surrealist) สลับซับซ้อนชิปหาย ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถอดรนทนไหว
เบื้องต้นลองขบครุ่นคิดกันดูก่อนว่า การบริจาคเลือดให้เห็บ/หมัด เคลือบแฝงนัยยะอะไร?? ทำไมถึงใช้วิธีตัดต่อสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน ภาพเหตุการณ์ซ้อนทับกัน ตัวละคร doppelganger สิ่งใดจริง? สิ่งใดเท็จ? ถ้าคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจ 8½ (1963) ก็อย่าเพิ่งเสียเวลาหาผลงานของ Żuławski มารับชมเลยนะครับ
The Third Part of the Night (1971) คงเพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผกก. Żuławski เลยยังมีรายละเอียดขาดๆเกินๆ บ้าเลือดรุนแรงชิบหาย แต่ก็ท้าทายให้รับชมรอบสองสาม เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ให้ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ เตรียมความพร้อมก่อนสยดสยองกับ Possession (1981)
Andrzej Żuławski (1940-2016) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติ Polish เกิดที่ Lviv ในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตยึดครอง Poland (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ Ukraine) ซึ่งหลังจากถูก Nazy Germany ทิ้งระเบิดเมื่อปี 1941 ทำให้มารดา/พี่สาวเสียชีวิต ส่วน Andrzej สูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง, หลังสิ้นสุดสงคราม บิดาได้รับแต่งตั้งเป็นทูตที่ฝรั่งเศส (ทำให้พูดฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว) ก่อนย้ายมาอยู่กับย่าที่ Czechoslovakia แนะนำให้รู้จักกับภาพยนตร์ เกิดความชื่นชอบหลงใหล พอเติบโตขึ้นเลยเดินทาง(กลับฝรั่งเศส)มาร่ำเรียน Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) แล้วมีโอกาสรับรู้จัก Roman Polański เขียนจดหมายแนะนำ Andrzej Wajda จนมีโอกาสเป็นผู้ช่วย Samsom (1961), Love at Twenty (1962), The Ashes (1965) ระหว่างนั้นก็มีโอกาสเขียนบท/ทำหนังสั้นฉายโทรทัศน์ และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Third Part of the Night (1971)
Trzecia część nocy ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของบิดา Mirosław Żuławski (1913-95) นักเขียน/นักข่าว นักการทูต เกิดที่ Nisko ร่ำเรียนกฎหมายจาก Lviv University แต่จบออกมาทำงานเขียนบทกวีลงนิตยสาร Sygnały, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองกำลังใต้ดิน Związek Walki Zbrojnej ต่อด้วย Armia Krajowa ซึ่งพอมีบุตรชายก็ตัดสินใจเข้าร่วมสถาบันวิจัย Weigel Institute ของ Prof. Rudolf Weigl ค้นพบวิธีสร้างวัคซีนไข้รากสาดใหญ่ด้วยการเพาะพันธุ์เห็บ/หมัด
เกร็ด: หลังสงครามสิ้นสุด Mirosław Żuławski ได้รับแต่งตั้งผู้แทนถาวรองค์การ UNESCO ประจำอยู่กรุง Paris ต่อมากลายเป็นเอกอัครราชทูตยังประเทศ Senegal และ Mali
Żuławski บอกว่าแทบไม่ได้ปรับเปลี่ยนเรื่องราวใดๆ เพียงแต่ใช้วิธีการนำเสนอผ่านมุมมองความคิดเห็นของตนเองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเขากับบิดาขณะนั้นที่เริ่มห่างไกล … กล่าวคือหนังยังซ้อนทับปัจจุบันนั้น (ค.ศ. 1970) ของผกก Żuławski ลงไปอย่างแนบเนียนโคตรๆ
My father fed lice, the commander of Armia Krajowa was blind, and I was born in similar circumstances as the child of the film’s protagonist. Everything the movie is based on is real.
Andrzej Żuławski (แปลจาก Google Translation)
พื้นหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง Nazi Germany เข้ายึดครอง Poland, เรื่องราว Michał (รับบทโดย Leszek Teleszyński) พบเห็นมารดา ภรรยา และบุตรชายถูกเข่นฆาตกรรม เขาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้าน Armia Krajowa (Polish Resistance) แต่ยังไม่ทันไรก็ถูกไล่ล่าโดย Gestapo หลบหนีมาจนถึงอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง พบเจอหญิงสาวท้องแก่ใกล้คลอดที่มีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับภรรยา
เหตุผลที่ Michał สามารถเอาหลบหนีจาก Gestapo เพราะมีชายคนหนึ่ง (ที่ก็ใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับเขา) ถูกจับกุมตัวแทน ซึ่งชายคนนั้นก็บังเอิญเป็นสามีของหญิงสาวท้องแก่ Helen (รับบทโดย Małgorzata Braunek) ด้วยความรู้สึกผิดที่เป็นต้นสาเหตุดังกล่าว เลยตัดสินใจเข้าร่วมสถาบัน Weigel Institute กลายเป็นผู้บริจาคเลือดแก่เห็บ/หมัด แล้วนำอาหาร สิ่งข้าวของ มาแบ่งปันให้เธอและทารกน้อย
เรื่องวุ่นๆบังเกิดขึ้นเมื่อ Michał ได้รับมอบหมายจาก Armia Krajowa ให้เข่นฆาตกรรมชายคนนั้น (สามีของ Helen) หลังถูกปล่อยตัวจาก Gestapo (เพราะเชื่อว่าคงถูกทรมานจนเปิดโปงทุกสิ่งอย่าง ถือเป็นผู้ทรยศหักหลังองค์กร) แต่เมื่อเขาเผชิญหน้าถึงตระหนักว่าอีกฝั่งฝ่ายก็คือตัวตนเองนะแหละ … doppelganger
Leszek Teleszyński (1947-) นักแสดงสัญขาติ Polish เกิดที่ Kraków โตขึ้นเข้าศึกษายัง Stanisława Wyspiańskiego w Krakowie จบออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวที เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ Andrzej Żuławski เริ่มต้นจาก The Third Part of the Night (1971), The Devil (1972), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Deluge (1974), The Leper (1976) ฯลฯ
รับบท Michał หลังจากสูญเสียครอบครัวต่อหน้าต่อตา เกิดความครุ่นคิดต้องการกระทำบางสิ่งอย่าง จึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้าน Armia Krajowa แต่โชคชะตานำพาให้พบเจอปาฏิหารย์ หญิงสาวคนนั้นมีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับภรรยา อดีต-ปัจจุบันเลยเริ่มเกิดการซ้อนทับ หรือเป็นผลข้างเคียงจากการติดโรคไข้รากสาดใหญ่ บริจาคเลือดให้เห็บ/หมัดจนเกิดภาพหลอน ไม่สามารถหลบหนีจาก Gestapo ได้ตั้งแต่แรกแล้ว
เกร็ด: ชื่อปลอม Grizzly หลายคนมักครุ่นคิดถึง Grizzly Bear, แต่ถ้าเป็นคำคุณศัพท์ (adjective) หมายถึง สีเทา, เทาบางส่วน, ผมหงอก ซึ่งสามารถสื่อถึงความท้อแท้ แห้งเหี่ยว หมดสิ้นหวังอาลัย หลังจากต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป
Grizzly or Blind. Deaf or Lame. Whatever!
คิ้วของ Teleszyński ช่างมีความน่าสนเท่ห์ยิ่งนัก (สามารถแฝงนัยยะของการเชื่อมต่อระหว่างหลายๆสิ่งอย่าง) กอปรกับยังดูละอ่อนวัย เมื่อพบเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง ผู้ชมสัมผัสถึงความเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน รับรู้สึกสงสารเห็นใจ ทำไมโลกใบนี้ช่างแสนเหี้ยมโหดร้าย
บทบาท Michał ถือว่ามีความหลากหลายทีเดียว เริ่มต้นด้วยอาการสันสน ว้าวุ่นวาย ชีวิตสูญเสียเป้าหมาย เมื่อได้พบเจอปาฏิหารย์ก็ทำให้ตัวละครปรับเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นคนมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น และสุดท้ายเมื่อถูกตั้งคำถาม ถึงค้นพบความเป็นจริงแห่งโศกนาฎกรรม
ตัวละครนี้นอกจากเป็นตัวตายตัวแทนของ(บิดา) Mirosław Żuławski ในบางขณะยังสามารถสื่อถึงผู้กำกับ Andrzej Żuławski (โดยเฉพาะตอนกำลังสนทนากับบิดาในหนัง) นั่นเพราะพ่อ-ลูก ต่างก็มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน เป็นการเพิ่มความซับซ้อนให้หนัง ท้าทายว่าผู้ชมว่ามีความสามารถเพียงพอในการแยกแยะออกหรือไม่!
Małgorzata Braunek (1947-2014) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Szamotuły ร่ำเรียนการแสดงยัง Akademia Teatralna im. Aleksandra Zelwerowicza w Warszawie แต่ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษาก็มีโอกาสรับงานภาพยนตร์ Hunting Flies (1969), Landscape After the Battle (1970), หลังจากร่วมงานผู้กำกับ Andrzej Żuławski เรื่อง The Third Part of the Night (1971) ก็ได้ครองรัก แต่งงาน มีบุตรชายร่วมกัน แต่แค่เพียงไม่กี่ปีก็เลิกราหย่าร้าง (กลายเป็นแรงบันดาลใจ Possession (1981))
รับบท Marta ภรรยาผู้ล่วงลับของ Michał ถูกเข่นฆาตกรรมโดยทหาร Nazi Germany แต่ถึงหมดสิ้นลมหายใจ กลับยังหวนกลับมาในรูปแบบความทรงจำ เมื่อเขาหวนระลึกความหลัง บางครั้งมาเป็นวิญญาณล่องลอย อำนวยอวยพรให้เขาพบเจอรักครั้งใหม่
และ Helen หญิงสาวที่บังเอิญมีใบหน้าพิมพ์เดียวกับ Martha แม้ซาบซึ้งที่ Michał ช่วยทำคลอดให้ แต่เมื่อตระหนักว่าเขาคือต้นสาเหตุให้สามีถูก Gestapo จับกุมตัวไป เลยพยายามขับไล่ ผลักไส ไม่ต้องการพบเจอหน้ากันอีก, ถึงอย่างนั้นเขากลับยินยอมเสียสละตนเอง นำอาหาร ข้าวของเครื่องใช้มาให้ จนเธอยินยอมใจอ่อน แต่ท้ายสุดเมื่อ Gestapo ปลดปล่อยสามีของเธอ มันจึงหลงเหลือหนทางเดียวเท่านั้น
Braunek เป็นคนที่มีพลัง Charisma ด้านการแสดงสูงมากๆ สามารถเล่นสองบทบาท ‘doppelganger’ ได้อย่างโดดเด่น แตกต่างตรงกันข้าม! … น้องสาวที่เป็นแม่ชีของ Michał สามารถแยกแยะออกได้ทันที แต่เขากลับสนเพียงเปลือกภายนอก รูปร่างหน้าตาที่เหมือนกันเท่านั้น
- Marta เป็นคนเข้มแข็ง มีความแน่วแน่ มั่นคง รักข้างเดียวกับ Michał แม้มีบุตรชายร่วมกัน เขากลับแสดงความเพิกเฉยเฉื่อยชา ครุ่นคิดอยากจะทอดทิ้งเธอไป
- Helen ดูเป็นคนอ่อนแอ จิตใจเรรวนปรวนแปร เพราะยังคงรักอดีตสามี แรกๆเต็มไปด้วยอคติต่อ Michał แต่ก็ค่อยๆผันแปรเปลี่ยน จนต่างฝ่ายต่างมีใจให้กัน ทำให้เขาไม่ใคร่อยากลาจากเธอไป
เอาจริงๆผมว่า Marta และ Helen ก็คือบุคคลเดียวกันนะแหละ! ความแตกต่างเกิดจากสองช่วงเวลาก่อน-หลัง เมื่อหญิงสาวเรียนรู้จักความรัก ถึงจักแสดงความมั่นคงออกมา (หรือคือ Helen แปรสภาพเป็น Marta) ใครที่แต่งงาน/มีบุตร ก็น่าจะรับรู้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอย่างดี!
ตัวละครนี้นอกจากเป็นตัวแทนของมารดาผู้กำกับ Andrzej Żuławski ความบังเอิ้ญคือสามารถเกี้ยวพาราสีนักแสดง Małgorzata Braunek จนยินยอมตอบตกลงแต่งงานภายหลังเสร็จสิ้นภาพยนตร์เรื่องนี้ … นี่มันทำหนังเพื่อจีบสาว หรือจีบสาวแล้วมาทำหนังกันแน่?
ถ่ายภาพโดย Witold Sobociński (1929-2018) สัญชาติ Polish ช่วงระหว่างเข้าศึกษาการถ่ายภาพ Łódź Film School ยังชื่นชอบการตีกลอง ร่วมก่อตั้งวงดนตรี Jazz ชื่อว่า Melomani, หลังเรียนจบทำงานให้ Polish Television ตามด้วย Film Studios Czolowka ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Family Life (1971), The Third Part of the Night (1971), The Wedding (1972), The Hourglass Sanatorium (1973), The Promised Land (1975), Frantic (1986) ฯลฯ
สไตล์ของ Żuławski จะมีงานภาพที่ขยับเคลื่อนไหวอยู่แทบตลอดเวลา ติดตามตัวละคร บางครั้งก็หมุนวนรอบ ซูมเข้า-ซูมออก เน้นระยะ Medium Shot เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงอารมณ์/ความรู้สึก(ของตัวละคร)อยู่ตลอดเวลา … ใครที่รับชมหนังของ Żuławski แล้วเหน็ดเหนื่อย อ่อนเรี่ยวแรง เหตุผลหนึ่งก็เพราะลีลาการเคลื่อนกล้องที่แทบจะไม่เคยหยุดอยู่นิ่งนี่แหละ ทำให้รู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา
อีกจุดเด่นในหนังของ Żuławski มักปรากฎเหตุการณ์รุนแรง หรือเกิดการปะทะทางอารมณ์ขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งสำหรับ The Third Part of the Night (1971) ส่วนใหญ่เป็นการลอบสังหาร เข่นฆาตกรรม แทบจะทุกสิบนาทีครั้ง! นั่นสร้างปั่นป่วน ว้าวุ่นวายใจ ผู้ชมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึงกลัว ‘Horror’ ของช่วงเวลา Nazi-occupied Poland ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม
พื้นหลังของหนังคือเมือง Lviv (สถานที่เกิดผู้กำกับ Żuławski) แต่เพราะปีที่ถ่ายทำพานผ่านสงครามโลกมากว่าสองทศวรรษ เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างมากมาย แถมกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ Ukrain ไปแล้ว จึงต้องเปลี่ยนสถานที่มายัง Kraków และบ้านพักชนบทถ่ายทำยัง Lipków
Opening Credit ระหว่างเสียงอ่านคัมภีร์ไบเบิล Revelation 8 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวันสิ้นโลกาวินาศ หนังทำการร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ (น่าจะช่วงฤดูหนาว) พบเห็นต้นไม้มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ ดูแห้งแล้ง ห่อเหี่ยวเฉา รกรุงรังเหมือนหยากไย่ ทำให้บ้านพักหลังใหม่นี้ดูราวกับอารยธรรมแห่งสุดท้ายของมนุษยชาติ
หนังทั้งเรื่องสังเกตว่าจะถูกปรับให้มีโทนสีน้ำเงิน ออกซีดๆ หม่นๆ เพื่อมอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ เหือดแห้งแล้ง ไร้ความสดชื่นชีวิตชีวา แทนสภาพหมดสิ้นหวังอาลัยของตัวละคร ไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศสักเท่าไหร่



ทั้งระหว่างการสนทนากับบิดา และพบเห็นภาพโศกนาฎกรรมต่อหน้าต่อตาของ Michał สังเกตว่าพื้นด้านหลังจะรายล้อมรอบด้วยกิ่งก้านไม้ ระโยงระยางราวกับหยากไย่ เพื่อสื่อถึงความสับสนวุ่นวาย ชีวิตที่ไร้เป้าหมาย ขาดสีสัน ชีวิตชีวา บางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้ง ยึดเหนี่ยวพันธนาการ ไม่ให้สามารถดิ้นหลุดพ้นออกไปจากสถานที่แห่งนี้/ประเทศ Poland
สิ่งที่ Michał สนทนากับบิดา คือความสับสนไม่เข้าใจภรรยา ทำไมถึงยินยอมทอดทิ้งสามีคนเก่าอย่างไร้เยื่อใย แถมยังปกปิดอะไรหลายๆอย่าง แม้จะมีบุตรชายร่วมกันแต่ความเชื่อมั่นศรัทธากลับลดน้อยจนแทบไม่หลงเหลือเยื่อใย ถึงอย่างนั้นหลังจากพบเห็นโศกนาฎกรรมบาดตาบาดใจ ก็สร้างความตระหนักให้รับรู้ว่าตนเองรักยัง Marta มากเพียงไหน ตกอยู่ในสภาพท้อแท้ หมดสิ้นหวังอาลัย ทำอะไรต่อไม่ถูกไปสักพักใหญ่ๆ


ผู้กำกับ Żuławski ชื่นชอบการเลือกสถานที่ที่สามารถสื่อนัยยะความหมายบางอย่าง อย่างบันไดทางขึ้นอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ มีลักษณะเวียนวน (เหมือนบันไดวน) สร้างความสับสน มึนงง ระหว่าง Michał กำลังหลบหนีจาก Gestapo ดูยังไงก็ไม่น่าเอาตัวรอดแน่ๆ แต่โชคชะตานำพาให้มีใครสักคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนเปี๊ยบ กลายเป็นแพะ จับผิดตัว
บันไดวนแห่งนี้ยังหวนกลับมาอีกครั้งตอนไคลน์แม็กซ์ ราวกับมันเป็นรูหนอนของจักรวาล เพราะรอบหลังกลับกลายเป็น Michał ที่ถูกยิงกลิ้งตกบันได (หลังจากเผชิญหน้ากับศพของตนเอง แล้วจู่ๆตัดมาฉากนี้ทันที) นั่นก็สร้างความสับสน มึนงงให้ผู้ชม ตกลงมันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้นกันแน่?
ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ สถานที่แห่งนี้ก็คือจุดหมุนของหนัง เชื่อมต่อระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ครั้งแรกที่ Michał ได้พบเจอ Marta และ Helen, แต่ถ้าเราวิเคราะห์ว่าหญิงสาวทั้งสองคือบุคคลเดียวกัน มันจะคือการซ้อนทับความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน และสองช็อตนี้ที่ถ่ายเงยขึ้นด้านบน-ก้มลงเบื้องล่าง


การช่วยเหลือหญิงสาวระหว่างคลอดบุตร ทำให้ Michał ราวกับได้พบเห็นปาฏิหารย์ (ที่ไม่ใช่แค่ Helen หน้าตาเหมือนเปี๊ยบกับ Marta) ขณะเดียวกันเมื่อเขาหันหลังกลับ พบเห็นบุตรชายที่ถูกเข่นฆาตกรรม ติดตามมาหลอกหลอน ย้ำเตือนสติ สะท้อนความสัมพันธ์ที่เหมือนว่าบิดาจะไม่เคยสนใจเด็กน้อยสักเท่าไหร่ (นั่นน่าจะคือเหตุผลที่ทำให้เด็กชายวิ่งกลับหามารดา เลยถูกทหารนาซีเข่นฆาตกรรม)
การปรากฎตัวของเด็กชาย หลายคนอาจครุ่นคิดว่าคือจินตนาการ หรือวิญญาณติดตามมาหลอกหลอน แต่ฉากนี้เรายังสามารถตีความถึงการย้อนอดีต/หวนระลึกความทรงจำของ Michał เพราะหนังพยายามทำให้อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน ซ้อนทับในระนาบเดียวกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะค้นพบคำตอบของตนเองเช่นไร
ฉากนี้ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบิดา Mirosław Żuławski กับบุตรชาย/ผกก. Andrzej Żuławski ที่คงเหินห่างไกล ไม่ค่อยให้ความสนใจ ทำราวกับไม่เคยมีตัวตน (แต่เหตุผลจริงๆอาจเพราะบิดายังไม่สามารถทำใจกับการสูญเสีย พบเจอบุตรชายทีไรก็หวนระลึกถึงโศกนาฎกรรมทุกครั้งไป)


การเปลือยกายพร้อมท่าเกาคันนี้ ชวนให้นึกถึงรูปปั้นเทพเจ้ากรีกโรมัน ซึ่งอาจจะแฝงนัยยะถึงชายคนนี้(อดีตสามีของ Marta/Helen)คือจอมเผด็จการ ผู้มีอำนาจสูงสุดในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (ฉากก่อนหน้านี้หญิงสาวจึงต้องนั่งลงแทบเท้าแล้วเกาขาให้) ชอบออกคำสั่ง บีบบังคับโน่นนี่นั่น อาจคือสาเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอต้องการทอดทิ้ง เลิกราหย่าจากเขา เพื่อมาครอบครองรักครั้งใหม่กับ Michał
ขณะเดียวกันชายคนนี้ยังสามารถเป็นตัวแทนของนาซี และรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่ง Poland ปกครองประชาชนด้วยอำนาจเผด็จการ ชอบออกคำสั่ง บีบบังคับโน่นนี่นั่น กีดกันประชาชนไม่ยินยอมให้หลบลี้หนีหายไปไหน
และอีกแง่มุมหนึ่ง ชายคนนี้ยังคือ Michał ในสภาพหลังล้มป่วยจากโรคไข้รากสาดใหญ่ แสดงอาการคันคะเยอ เพ้อคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง เป็นเหตุให้บิดาพาทุกคนออกเดินทางไปอาศัยอยู่บ้านพักต่างจังหวัด ก่อนประสบเหตุโศกนาฎกรรม

นี่เป็นฉากที่น่าจะล้อกับสภาพปัจจุบันของ Mirosław Żuławski หลังจากสิ้นสุดสงคราม ได้รับการแต่งตั้งผู้แทนถาวรประจำองค์การ UNESCO ตามด้วยกลายเป็นเอกอัครราชทูต ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งทรงเกียรติ สูงส่ง เหมือนการละเล่นไวโอลิน ที่คนส่วนใหญ่มักครุ่นคิดว่าคือดนตรีของชนชั้นสูง มองพฤติกรรมของบุตรชายด้วยสายตาดูถูก เหินห่างไกล กั้นขวางด้วยกำแพง ไม่สามารถมองหน้ากันติด
หลายคนอาจสับสนว่า Michał คือตัวแทนของ Mirosław Żuławski ไม่ใช่หรือ? แต่อย่างลืมว่าหนังเรื่องนี้ อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน มันซ้อนทับกันบ่อยครั้ง ฉากนี้ที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-บุตร ขณะเดียวกันก็คือบิดาและผกก. Andrzej Żuławski ก็ได้เช่นเดียวกัน!
ตอนระหว่างรับชมผมก็โคตรสับสนพ่อๆ ลูกๆ อะไรของมันว่ะ? จนกระทั่งพบเห็นอีกช็อตที่ถ่ายตัวละครบิดา และด้านหลังภาพวาดบุตรชาย Michał แถมเขายังพูดว่า “Father and Son” ก็เลยเกิดความตระหนักถึงสำนวน ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พ่อกับลูกต่างก็สืบทอดทางเชื้อสายเลือด ในบางครั้งย่อมสามารถมองว่าคือบุคคลเดียวกัน!
Father and son, it’s supposed to be bone of one’s bone, blood of one’s blood, and yet there’s … a wall, a wall, a wall.


หัวหน้าของ Michał ที่เป็นชายตาบอด คือบุคคลจริงๆตามคำบอกเล่าของ Mirosław Żuławski แต่เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงครุ่นคิดในเชิงสัญลักษณ์ถึงองค์กรใต้ดิน Armia Krajowa (Polish Resistance) ที่แม้มีจุดประสงค์ต่อต้าน Nazi Germany แต่ภายหลังกลับเกิดความขัดแย้งภายในกับสหภาพโซเวียต เลยจบไม่สวยสักเท่าไหร่
กล่าวคือเป็นองค์กรที่ขาดวิสัยทัศน์อันชอบธรรม สนเพียงการโต้ตอบ ความรุนแรง ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ไร้ซึ่งเป้าหมายอนาคต เลยพบจุดจบอันมืดมิดสนิท (หรือจะตีความว่าคืออนาคตประเทศ Poland ที่ยังคงมืดมิดสนิท ไร้หนทางออก)

จู่ๆมีชายสวมผ้าคลุมดำเข้ามาปลุกตื่น Michał พูดคุยเกี่ยวกับคำพยากรณ์อะไรสักสิ่งอย่าง แล้วบอกว่าตนเอง(กับมารดา)กำลังจะออกเดินทางลี้ภัยสู่ Genève, Switzerland แต่ยังไม่ทันจะข้ามชายแดน แค่เดินออกทางกำแพงก็ถูกควบคุมตัวโดย Gestapo แล้ว…
คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันโคตรจะสุ่ม แบบเดียวกับวัยรุ่นอีกคนที่ถูกยิงตายกลางท้องถนน (การสวมผ้าคลุมสีดำสื่อถึงบุคคลนิรนาม เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทั้งนั้น) ซึ่งหนังพยายามแทรกความรุนแรงลักษณะนี้ปรากฎอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสจับต้องถึงบรรยากาศ Nazi-occupied Poland ว่ามีความน่าหวาดหวั่น สั่นสะพรึงกลัวขนาดไหน


เห็บ/หมัด สัตว์ปรสิตดูดกินเลือดเป็นอาหาร (สัญลักษณ์ของการเสียสละเพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่) แต่ขณะเดียวกันมันยังเป็นแหล่งเชื้อโรคไข้รากสาดใหญ่ ใครไม่ได้รับวัคซีนหรือมีภูมิคุ้มกัน ก็อาจถึงขั้นเสียสติ คลุ้มบ้าคลั่ง และตกตายจากไป (ผลที่ได้รับจากการเสียสละ ที่อาจนำพาหายนะหวนกลับหาตนเอง)
Michał is disposed to sacrifice himself for the greater cause, but what happens in reality has nothing to do with the beauty of heroic, romantic gestures. The task of feeding lice is symbolic. Blood donated by the protagonists helps create vaccines, but at the same time it infects one. The soul is sicker than the body: people doing this profession become cold and listless. Michał desperately tries to remain human in a world of chaos. And the apocalypse is coming.

เรื่องราวของอดีตสามีของ Marta สะท้อนถึงอิทธิพลของการเป็นคนให้เลือดแก่เห็น/หมัด มันค่อยๆกัดกินจิตวิญญาณจนหลงเหลือเพียงความเห็นแก่ตัว เยือกเย็นชา เลิกราอดีตภรรยาโดยไม่มีท่าทียี่หร่าอะไร แม้ตอนบังเอิญรับภารกิจเดียวกับ Michał ก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองอะไร บอกว่าตนเองสามารถเอาตัวรอดจากตำรวจ กำลังเตรียมพร้อมจะออกเดินทางไปเริ่มชีวิตใหม่ … นี่ฟังดูคุ้นๆ Déjà vu กับชายที่สวมใส่ผ้าคลุมสีดำ Death Flag ชัดๆ
แต่การถูกฆาตกรรมของชายคนนี้ผมค่อนข้างเชื่อว่าไม่ใช่ฝีมือของ Gestapo แนวโน้มสูงมากๆว่าจะถูกเก็บจากพรรคพวกเดียวกัน Armia Krajowa ปฏิเสธพวกพ้องไม่ยินยอมให้หลบหนี ในวินาทีที่เขากำลังพบเจอรักครั้งใหม่ (กับหญิงสาวคนข้างหลัง)

หนังใช้ฉากเพศสัมพันธ์ที่เหมือนจะเป็นครั้งแรกระหว่าง Michał กับ Helen ผสมผสานการมาถึงของ Marta (เมียเก่ามาดูอดีตผัวร่วมกับเมียใหม่ มันช่างอลวนดีแท้!) ซึ่งสามารถสื่อถึงการเผชิญหน้ากับอดีต ยินยอมรับความผิดพลาดเคยกระทำไว้ต่อภรรยา (Marta) เพื่อชีวิตจักได้เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ (กับ Helen) … บางคนอาจตีความว่า Helen=ร่างกาย, Marta=จิตวิญญาณ สื่อถึงการยินยอมรับ ผสมผสานกลายเป็นบุคคลหนึ่ง ก็ได้เช่นกันนะครับ

หลังการร่ำลาของ(วิญญาณ) Marta กล้องเคลื่อนจากเตียงนอนมายังพื้นกระจกที่แตกร้าว กล้องค่อยๆซูมให้เห็นถึงหญิงชราเสียชีวิตอยู่เบื้องล่าง … ซีนนี้ไม่ได้มีนัยยะอะไรซับซ้อนนะครับ เพียงต้องการนำเสนอนามธรรมสู่รูปธรรม การจากไปของ Marta ล้อกับการเสียชีวิตของหญิงชรา แค่นั้นละ!
อดีตที่แตกร้าว (ความตายของมารดา ภรรยา และบุตรชาย) ไม่มีวันลบเลือนหายไปจากความทรงจำ แต่สักวันหนึ่งมนุษย์เราย่อมสามารถทำใจยินยอมรับ ปรับตัว และเริ่มต้นชีวิตใหม่


อาการผิดปกติ ‘hysteria’ ที่รุนแรงเกินปกติของทั้ง Helen (สะอื้นไห้ หอบหายใจรุนแรง) และบิดา (จุดไฟเผาโน๊ตเพลง แล้วหัวเราะอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง) ล้วนมีสาเหตุจาก Michał แม้ไม่ได้พูดบอกว่าตนเองกำลังจะทำอะไร แต่เหมือนสันชาตญาณของทั้งคู่สามารถตระหนักรับรู้ว่าต้องเป็นภารกิจเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อาจไม่รอดชีวิตหวนกลับคืนมา จึงพยายามพูดโน้มน้าว ฉุดเหนี่ยวรั้ง
ภารกิจของ Michał ฟังดูเป็นเกียรติ ศักดิ์ศรี เสียสละเพื่อประเทศชาติ/เพื่อองค์กร Armia Krajowa แต่แท้จริงแล้วมันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด! สงคราม ความขัดแย้ง ผลลัพท์เพียงแค่โศกนาฎกรรม เราฆ่าเขา-เขาฆ่าเรา …vice versa… ทำให้บุคคลที่อยู่ภายหลังต้องอดรนทนกับความเจ็บปวด เศร้าเสียใจ กว่าจะพานผ่านวันร้ายๆไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายจักมีชีวิตอยู่อย่างเดียวดาย


Michał ได้รับมอบหมายภารกิจจากชายตาบอด ให้เข่นฆาตกรรมสามีของ Helen (เป็นสมาชิกของ Armia Krajowa) เลยถูกปล่อยตัวจาก Gestapo แต่บุคคลที่เขาพบเจอในห้องหมายเลข 14 กลับคือเพื่อนสนิทที่เคยติดต่องานให้ ก่อนหน้านี้พูดระบายความอัดอั้นว่าถ้าฉันโดนจับกุม ก็จักสารภาพทุกสิ่งอย่างจนหมดเปลือก … นี่น่าจะคือเหตุผลที่ชายตาบอดถูก Gestapo ควบคุมตัวก่อนหน้านี้
แต่เพราะเขาคนนี้ไม่ใช่บุคคลที่ Michał กำลังติดตามหา เลยออกวิ่งไปตามทางใต้ดิน ก่อนมาถึงห้องเก็บศพและพบเห็นใบหน้าของตนเอง … ถ้าไม่อยากครุ่นคิดอะไรมาก เห็นเป็นแค่ doppelganger ก็ได้เช่นกัน แต่สำหรับคนชื่นชอบการขบคิดวิเคราะห์ นี่คือการเผชิญหน้ากับตัวตนเอง
Michał เป็นบุคคลหลบหนีปัญหา ปฏิเสธภาระรับผิดชอบต่อภรรยาและบุตรชายมาโดยตลอด จนกระทั่งจู่ๆพบเจอความสูญเสีย (ภรรยาและบุตรถูกเข่นฆาตกรรมโดยทหารนาซี) ช่วงแรกๆก็มิอาจยินยอมรับ ต่อมาจึงค่อยเริ่มตระหนักถึงความผิดพลาด ต้องการทุ่มเทเสียสละ (บริจาคเลือดให้เห็บ/หมัด เพื่อนำเสบียงกรังมามอบ Helen และบุตรชาย) จนท้ายที่สุดก็ถึงเวลาคือเผชิญหน้ากับตัวตนเองที่ตกตายไป เพื่อให้สามารถยินยอมรับสภาพความจริง


ปกติแล้วถ้าโดนยิงที่คอก็ต้องม่องเท่งเลยนะครับ แต่ Michał กลับยังสามารถม้วนกลิ้งเกลือก ตกลงบันได เปิดประตูพานผ่านห้องทัณฑ์ทรมาน (ของ Gestapo) ก่อนสามารถเดินทางไปถึงบ้านพักชนบทต่างจังหวัด (พบเห็นภรรยาผู้ล่วงลับ Marta กำลังจะถูกสังหารโดยทหาร Nazi Germany) เรียกว่าพอหนังจบก็ไม่รู้ว่าตกตายหรือยัง โคตรปาฏิหารย์! นั่นชวนครุ่นคิดว่านี่อาจไม่ใช่การถูกยิงเสียชีวิตจริงๆ (สังเกตว่ามีเพียงน้ำแดงพุ่งใส่ลำคอนักแสดง) เพียงละเมอเพ้อฝันหลังเผชิญหน้าตัวตนเอง
ผมมองฉากนี้ไม่ใช่การตายครั้งที่สองของ Michał แต่สามารถเปรียบเทียบถึงผู้กำกับ Andrzej Żuławski ได้รับรู้เข้าใจทุกสิ่งอย่างที่บิดา Mirosław Żuławski เคยพานผ่านโศกนาฎกรรมครั้งนั้นมา เพราะปัจจุบันตนเองก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน หรือคือประวัติศาสตร์หวนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง

หลายคนอาจมองว่าฉากสุดท้ายของหนังที่เป็นการเวียนวงกลม หวนกลับสู่จุดเริ่มต้นนี้! ดูราวกับจินตนาการเพ้อฝัน หรือภาพหลอนจากอาการป่วยไข้รากสาดใหญ่ หรือเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของ Michał ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เป็นหลายๆแง่มุมที่ผู้กำกับ Żuławski มอบอิสรภาพให้ผู้ชมสามารถขบครุ่นคิดตีความ
แต่ช็อตสุดท้ายก่อนตัดเข้า Closing Credit ปรากฎภาพอันเลือนลางๆของทหาร Nazi Germany ที่กำลังตรงเข้ามาเข่นฆาตกรรม Marta มักได้รับการเปรียบเทียบคนขี่ม้าสี่คน ‘Four Horsemen of the Apocalypse’ ถูกกล่าวถึงในหนังสือวิวรณ์ (Book of Revelation) เล่มสุดท้ายของพันธสัญญาใหม่ ในฐานะผู้ลงทัณฑ์จากพระเจ้า
เราสามารถเปรียบเทียบอย่างตรงๆว่า Nazi-occupied Poland (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) หรือ Soviet-occupied Poland/Eastern Bloc (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Poland ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์) มีสภาพไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ

ตัดต่อโดย Halina Prugar-Ketling (1929-) ชาว Polish ผลงานเด่นๆ อาทิ The Eighth Day of the Week (1958), Knife in the Water (1962), The Third Part of the Night (1971), ก่อนกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Andrzej Wajda อาทิ The Promised Land (1975), Man of Marble (1977), Man of Iron (1981) ฯ
ดำเนินเรื่องพานผ่านมุมมอง/สายตาของตัวละคร Michał โดยจุดเริ่มต้นของหนังคือพบเห็นทหาร Nazi Germany เข่นฆาตกรรมมารดา ภรรยา และบุตรชาย หลังจากนั้นคือความหมดสิ้นหวังอาลัยในชีวิต ก่อนมีโอกาสพบเจอปาฏิหารย์รักครั้งใหม่ เลยพยายามรักษาช่วงเวลานั้นให้ยาวนานที่สุด
- อารัมบท, Michał พบเห็นทหารเยอรมันเข่นฆาตกรรมมารดา ภรรยา และบุตรชาย
- ช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง
- Michał เดินทางกลับ Lviv ต้องการเข้าร่วม Armia Krajowa
- ระหว่างกระเสือกกระสน ดิ้นรนหลบหนีจาก Gestapo บังเอิญพบเจอหญิงสาวหน้าตาเหมือนภรรยา
- ช่วยเหลือเธอทำคลอด และหวนรำลึกความหลัง
- ช่วงเวลาแห่งการเสียสละ
- Michał ตัดสินใจเข้าร่วมสถาบัน Weigel Institute กลายเป็นผู้บริจาคเลือดแก่เห็บ/หมัด แลกกับการได้รับเสบียงกรัง นำมาให้กับ Helen และบุตรชาย
- ช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าตัวตนเอง
- พบเจออดีตสามีของ Marta ที่แม้สามารถเอาตัวรอดจาก Gestapo แต่ถูกเข่นฆาตกรรมขณะเตรียมตัวเดินทางออกนอกประเทศ
- ได้รับมอบหมายภารกิจจาก Armia Krajowa ให้เข่นฆาตกรรมอดีตสามีของ Helen จึงทำให้ได้ค้นพบว่านั่นคือตัวตนเอง
แต่การจะทำความเข้าใจ ‘Timeline’ ของหนังนั้น ต้องมองหาอีกจุดเริ่มต้นที่แท้จริงให้พบเจอเสียก่อน ซึ่งผมครุ่นคิดว่าคือขณะเซลล์แมน Michał พยายามขายประกันให้ Marta/Helen ที่ยังอาศัยอยู่กับสามีคนก่อน จากนั้นเขาสามารถฉกแย่งชิงเธอมา แต่งงานครองคู่ มีบุตรชายร่วมกัน ก่อนล้มป่วยเพราะอาการจากโรคไข้รากสาดใหญ่ และสมาชิกในครอบครัวถูกเข่นฆาตกรรมโดยทหาร Nazi Germany … นี่น่าจะคือลำดับเหตุการณ์จริงของบิดา Mirosław Żuławski
แล้วทำไมผู้กำกับ Żuławski ถึงเลือกวิธีการดำเนินเรื่องให้มันซับซ้อนซ่อนเงื่อนขนาดนั้น? คงเพราะเขาไม่ได้ต้องการนำเสนอเพียงภาพยนตร์ชีวประวัติของบิดา แต่ต้องการผสมผสานตัวตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ทารกน้อย หรือ(วิญญาณของ)เด็กชาย ในบางขณะสามารถเทียบแทนด้วย Michał เองเลย (ช่วงระหว่างพบเจอ/สนทนากับบิดา)
และการเริ่มต้นหนังที่โศกนาฎกรรม (ซึ่งเป็นตอนจบของเหตุการณ์จริง) ก็เพื่อให้เรื่องราวทั้งหมดแทนความรู้สึกอันสิ้นหวัง (ของทั้งพ่อ-ลูก Żuławski) แล้วค่อยๆทบทวน หวนระลึก ตระหนักถึงช่วงเวลาอันทรงคุณค่าที่ครอบครัวได้เคยอยู่ร่วมกันมา
เพลงประกอบโดย Andrzej Korzyński (1940-2022) นักแต่งเพลงชาว Polish สำเร็จการศึกษาจาก Fryderyk Chopin University of Music แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Andrzej Wajda และ Andrzej Żuławski มีผลงานเด่นๆ อาทิ The Birch Wood (1970), The Third Part of the Night (1971), Man of Marble (1977), Man of Iron (1981), Possession (1981) ฯลฯ
งานเพลงของ Korzyński มอบสัมผัสที่หลอกหลอน มีความสลับซับซ้อน เน้นสร้างบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึง ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยสัมผัสอันคลุ้มบ้าคลั่ง สไตล์เพลงออกไปทาง Psychedelic Rock ที่มีความหลากหลาย บางครั้งผสมผสานออร์เคสตรา ดนตรีสไตล์แจ๊ส จังหวะแทงโก้ก็ยังมี ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์อนิเมชั่น Belladonna of Sadness (1973) พิศดาร แปลกประหลาด แต่ก็โคตรตราตรึง
หนังมีอัลบัมเพลงประกอบนะครับ แต่ผมค้นหาจาก Youtube ได้แค่สองสามเพลง ถึงอย่างนั้นก็เพียงพอให้คนที่ยังไม่ได้รับชม สามารถจินตนาการความแปลกพิศดารของบทเพลง W instytucie (แปลว่า At the institute) เหมือนอาการมึนเมาจากการเสพกัญชา มีการผันแปรเปลี่ยนสไตล์เพลงแทบจะทุกๆ 5-10 วินาที ทำออกมาได้คลุ้มบ้าคลั่งสุดๆ
Czołowica (แปลว่า Headstock) เป็นบทเพลงแนว Psychedelic Rock โดดเด่นมากๆกับลีลาการลีดกีตาร์ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกภายในอันเกรี้ยวกราดของทั้งตัวละคร ผู้บรรเลง สร้างอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่งให้กับผู้ชม/รับฟัง มิอาจสงบนิ่งเฉย อยากจะกรีดกราย สภาพจะเป็นจะตาย
สงครามคือช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก Michał/Mirosław Żuławski ยินยอมเสียสละตนเอง สูญเสียเลือดเนื้อ-จิตวิญญาณ ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อครอบครัว บุตรชายเพิ่งถือกำเนิด และสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ (บริจาคเลือดเพื่อการวิจัยวัคซีนไข้รากสาดใหญ่) แต่ทุกสิ่งอย่างก็พังทลายเมื่อทหารเยอรมันเข่นฆ่าล้างวงศ์ตระกูล, Poland ถูกยึดครอบครองโดย Nazi, นี่มันคือวันสิ้นโลกาวินาศหรืออย่างไร???
แซว: แม้ว่าบุตรชายของ Michał หรือก็คือผู้กำกับ Andrzej Żuławski จะไม่ได้สูญเสียชีวิตขณะถูกทหารเยอรมันทิ้งระเบิดใส่ แต่เขาก็สูญเสียความสามารถในการมองเห็นไปข้างหนึ่ง ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็นสักเท่าไหร่
การสูญเสียบุคคลที่เรารัก พ่อ-แม่ พี่-น้อง สามี-ภรรยา หรือบุตร-หลาน ถ้าจากไปโดยธรรมชาติ ตามกาลเวลา ย่อมไม่ยากเกินที่เราจะทำใจยินยอมรับ แต่ถ้ามันเป็นโศกนาฎกรรม ประสบอุบัติเหตุ ถูกเข่นฆาตกรรม นั่นจักทำให้คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก … ผู้กำกับ Andrzej Żuławski พยายามนำเสนอว่ามีเพียง ‘ปาฏิหารย์’ จักทำให้เราฟื้นตื่น หวนกลับคืนมาค้นพบเป้าหมายชีวิตอีกครั้ง
‘ปาฏิหารย์’ ในที่นี้ไม่จำเป็นว่าต้องพบเจอบุคคลหน้าเหมือน หรือตกหลุมรักใครคนใหม่นะครับ ทุกสิ่งอย่างที่หนังนำเสนอล้วนคือนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของการเผชิญหน้าตัวตน ปัจจุบันซ้อนทับอดีต ให้ตัวละครหวนระลึกความทรงจำอันงดงาม ตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต (พบเห็นการคลอดบุตรที่แสนเจ็บปวดแต่ราวกับปาฏิหารย์) ยินยอมรับสภาพความจริง เหล่านี้จักทำให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย และพร้อมเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
เรื่องราวของหนังที่มีลักษณะเวียนวงกลม Déjà vu อะไรเคยเกิดขึ้นล้วนหวนกลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หรือจะเรียกว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพื่อเป็นการสะท้อนเหตุการณ์ของบิดา Mirosław Żuławski (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 1939-45) หลายสิ่งอย่างหวนกลับหาบุตรชาย Andrzej Żuławski ณ ปัจจุบันนั้น (ทศวรรษ 60s-70s)
ยกตัวอย่างหนึ่งในใจความสำคัญของหนัง แสดงทัศนะต่อต้าน Nazi Germany (Nazi-occupied Poland) เมื่อเปรียบเทียบปัจจุบันยุคสมัยนั้นที่ประเทศ Poland ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ รับอิทธิพล/อยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต (ไม่ต่างจาก Soviet-occupied Poland/Eastern Bloc) ต่างเป็นเผด็จการ บ้าอำนาจ กดขี่ข่มเหงประชาชน สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน กำจัดบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง นี่มันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง!
ผมมองความตั้งใจของผู้กำกับ Andrzej Żuławski ต้องการที่จะ ‘reconcile’ ใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อปรับทัศนคติต่อบิดา ทำความเข้าใจถึงประสบการณ์อันเลวร้าย เรียนรู้จักคุณค่าของความรัก เกิดความตระหนักว่าตนเองก็ได้พานผ่านปัจจุบันที่แทบไม่แตกต่างกัน เหมือนต้องการพูดบอกว่า ‘ผมก็เข้าใจพ่อแล้วละ’
(เอาจริงๆในมุมของผู้กำกับ Andrzej Żuławski ภาพยนตร์เรื่องนี้คือการได้พบเจอตกหลุมรัก Małgorzata Braunek แต่เขาจักตระหนักถึงความสูญเสียอย่างแท้จริงเมื่อตอนเลิกราหย่าร้าง และระหว่างสรรค์สร้างผลงาน Possession (1981))
เกร็ด: ชื่อหนัง The Third Part of the Night มาจากคำพยากรณ์วันสิ้นโลก The Apocalypse of St. John the Apostle รวบรวมอยู่ใน Revelation 8:1-13 นำจากบรรทัดที่ 12 แต่ถ้าต้องการทำความเข้าใจวลีนี้ต้องเริ่มอ่านตั้งแต่บรรทัดแรก ซึ่งจะมีการกล่าวถึงเกี่ยวกับตัวเลขสาม/ลำดับสาม/ส่วนที่สาม ราวกับเป็นเลขอัปมงคล นำพาหายนะ ภัยพิบัติ และวันสิ้นโลกกำลังมาถึง
8:7 The first angel sounded his trumpet, and there came hail and fire mixed with blood, and it was hurled down on the earth. A third of the earth was burned up, a third of the trees were burned up, and all the green grass was burned up.
8:8 The second angel sounded his trumpet, and something like a huge mountain, all ablaze, was thrown into the sea. A third of the sea turned into blood,
8:9 a third of the living creatures in the sea died, and a third of the ships were destroyed.
8:10 The third angel sounded his trumpet, and a great star, blazing like a torch, fell from the sky on a third of the rivers and on the springs of water
8:11 the name of the star is Wormwood. A third of the waters turned bitter, and many people died from the waters that had become bitter.
8:12 The fourth angel sounded his trumpet, and a third of the sun was struck, a third of the moon, and a third of the stars, so that a third of them turned dark. A third of the day was without light, and also a third of the night.
Revelation 8 จากฉบับ New International Version (NIV)
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Venice แม้เสียงตอบรับจะค่อนข้างดี (ประสบความสำเร็จพอสมควรในฝรั่งเศส) แต่กลับถูกเพิกเฉยในประเทศโปแลนด์ แม้แต่ Andrzej Wajda ที่คอยช่วยเหลือผลักดันโปรเจคนี้มาโดยตลอด ก็แสดงความไม่พึงพอใจจนเกิดการโต้เถียงขัดแย้งกับผกก. Żuławski … เรียกว่าศิษย์ล้างครูโดยแท้!
the film is full of contradictions and has something of a labyrinth in it: corridors that lead nowhere, mirrors reflecting past images and blind or illusory windows.
นักวิจารณ์ Aleksander Ledóchowski
แต่กาลเวลาก็ทำให้ผู้ชมรุ่นหลังๆ สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจหนังได้อย่างถ่องแท้ ได้รับคำชมล้นหลามถึงความเป็นส่วนตัว และการสรรค์สร้างงานศิลปะขั้นสูง “the author’s artistic manifesto”
A sustained nightmare about societal and personal breakdown, it presents one man’s descent into madness during the Nazi occupation of Poland, though the story is hard to follow (perhaps by design). Żuławski divulges important information about the characters in short, unexpected bursts, and the plot moves sinuously between the hero’s present, past, and dream life. Moreover, the camera is almost always moving hurriedly around the characters, as though the director were having trouble keeping up with his own subjects. These devices can make a viewer feel lost, much as the hero feels in his own experience.
นักวิจารณ์ Ben Sachs จาก Chicago Reader
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K พร้อมๆกับ The Devil (1972) และ On the Silver Globe (1988) แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2016 เห็นว่าจะวางแผง Blu-Ray ช่วงต้นปี 2023 (ฉบับที่ผมรับชมเป็น DVD ของ Second Run)
ผมค่อนข้างชื่นชอบความเฉพาะตัวของผู้กำกับ Andrzej Żuławski เป็นบุคคลบ้าระห่ำ สลับซับซ้อน ขณะเดียวกันก็โคตรเห็นแก่ตัว บางครั้งนิสัยเสียเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับวิสัยทัศน์ในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ ถือเป็นคลื่นลูกที่สาม “The Third Wave of Polish cinema” ได้อย่างสบายๆ
แซว: The Third Wave of Polish cinema ล้อเล่นๆอย่างจริงจังกับชื่อหนัง The Third Part of the Night เป็นความพยายามของผู้กำกับ Żuławski จะจำแนกผลงานของตนเองออกจาก Andrzej Wajda, Krzysztof Zanussi ฯลฯ ซึ่งมักเป็นครู/นักเรียนสถาบัน Łódź Film School แต่กลับไม่เป็นที่สนใจของบรรดานักวิจารณ์/นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ … ส่วนใหญ่ทำการเหมารวมผกก. Żuławski เข้าร่วมแก๊งค์ Polish New Wave
แนะนำคอหนัง Avant-Garde แนว Horror บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่สอง (เมื่อครั้น Poland ถูกยึดครองโดย Nazi) ไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ, แพทย์ นักวิจัย สนใจประวัติศาสตร์โรคไข้รากสาดใหญ่ (Typhus), โดยเฉพาะนักตัดต่อ นักเรียนภาพยนตร์ มองหาความท้าทายในการรับชม
จัดเรต 18+ กับความรุนแรง เลือดสาด โปแลนด์ภายใต้การปกครองของนาซี
Leave a Reply