Turtles Can Fly (2004) : Bahman Ghobadi ♥♥♥♥
เต่าเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แน่นอนว่าบินไม่ได้! แต่ถ้ามันตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องโบยบิน นั่นแสดงถึงช่วงเวลาหมดสิ้นหวัง ไร้หนทางธำรงชีพรอด … จะว่าไปภาพโปสเตอร์เด็กสาวกำลังแบกเด็กชาย แลดูเหมือนกระดองเต่า ไม่น่าจะโบกบินได้เช่นกัน
อีกหนึ่งภาพยนตร์ที่สร้างความห่อเหี่ยวจิตวิญญาณไม่น้อยไปกว่า Forbidden Games (1952), Night and Fog (1956) หรืออย่าง Come and See (1985) ที่ถ้าใครสามารถตระหนักถึงเหตุการณ์ ‘Holocaust’ ก็อาจถึงขั้นด่าพ่อล่อแม่ผู้กำกับ Bahman Ghobadi แม้งคิดพล็อตเxยๆแบบนี้ออกมาได้ยังไง!
ยังอาจมีผู้ชมอีกมากไม่ตระหนักถึงความเลวร้ายของสิ่งที่เด็กๆชาว Kurdish ประสบพบเจอในค่ายลี้ภัยริมชายแดน Iraq–Turkey เพราะบรรยากาศหนังทำออกมาคล้ายๆ Life Is Beautiful (1997) ดูสนุกสนาน ผ่อนคลาย สร้างเสียงหัวเราะ เต็มเปี่ยมด้วยพลังงาน โลกของพวกเขาราวกับได้รับการปกป้องด้วย ‘กระดองเต่า’ … แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันดังกล่าวขึ้นมาได้สำเร็จ
และใครที่มีประสบการณ์รับชมภาพยนตร์พอสมควร น่าจะสังเกตเห็นลีลาภาษาภาพยนตร์ โดยเฉพาะการจัดองค์ประกอบภาพ มุมก้ม-เงย ตำแหน่งสูง-ต่ำ แฝงนัยยะถึงเต่าคือสัตว์บนพื้นดิน(และใต้ผืนน้ำ) แต่มันกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องโบกโบยบินลงมาจากเบื้องบน
Bahman Ghobadi, بهمن قبادی (เกิดปี 1969) ผู้กำกับชาว Iranian เกิดที่ Baneh, Kurdistan เมืองติดพรมแดน Iran-Iraq เป็นบุตรคนโตจากพี่น้องเจ็ดคน พออายุได้ 12 ครอบครัวอพยพสู่ Sanandaj, ด้วยความชื่นชอบด้านการถ่ายภาพ หลังเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ Tehran เข้าศึกษาต่อยัง Iranian Broadcasting College แต่ไม่ทันเรียนจบออกมาทำหนังสั้น สารคดี คว้ารางวัลมากมายจากผลงาน Life in Fog (1999), จนมีโอกาสเป็นผู้ช่วย Abbas Kiarostami เรื่อง The Wind Will Carry Us (1999), แล้วก่อตั้งสตูดิโอ Mij Film รวบรวมทีมงานจากหลากหลายชาติพันธุ์ สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก A Time for Drunken Horses (2000) คว้ารางวัล Caméra d’Or (สำหรับ First Feature Length) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
เพราะความที่ตนเองมีเชื้อสาย Kurdish จึงมักสรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยา (ethnology) เวียนวนอยู่ระหว่าง Iran-Iraq ผลงานเด่นๆ อาทิ Marooned in Iraq (2002), Turtles Can Fly (2004), Half Moon (2006), No One Knows About Persian Cats (2009) ฯ
หลังจากสหรัฐอเมริกาบุกรุกรานอิรัก (2003 invasion of Iraq) ด้วยระยะเวลาเพียงเดือนนิดๆ (20 มีนาคม ถึง 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2003) ผู้กำกับ Ghobadi มีโอกาสเดินทางไปยังกรุง Baghdad เพื่อจัดฉายภาพยนตร์ Marooned in Iraq (2002) หรืออีกชื่อเรียก Songs of My Motherland ขณะเดียวกันก็แอบเอากล้อง Camcorder ติดตัวเข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ พูดคุยสัมภาษณ์ แต่ที่ติดค้างคาใจสุดๆก็คือสภาพของเด็กๆ
When I went to Baghdad for the release of Songs of My Motherland two weeks after the war between the US and Iraq, I saw so many horrors about how people lived, especially children, who had been as in all wars, the first casualties, and yet nobody seemed to care! I was particularly overwhelmed by the case of a child who had been maimed. I wanted to make a film against the war. So I went back there and lived among children to be able to feel close to them. Then I tried to reconstruct what they had been through.
Bahman Ghobadi
วิธีการทำงานของผกก. Ghobadi คือเดินทางไปปักหลักอาศัยอยู่ยังสถานที่ที่จะใช้ถ่ายทำ เรียนรู้จักวิถีชีวิต สร้างความสนิทสนมผู้คน ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆนานถึงสามเดือน จากนั้นค่อยๆเรียบเรียงพัฒนาบทภาพยนตร์ کیسەڵەکانیش دەفڕن, Turtles Can Fly ส่วนใหญ่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง คัดเลือกเด็กๆพอมีแวว สร้างสถานการณ์ให้พวกเขาทำการแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
ผกก. Ghobadi เล่าถึงประสบการณ์ทำงานยังค่ายผู้อพยพริมชายแดน Iraq-Turkey แม้ผู้คนจะเป็นมิตร แต่ทุกวินาทีล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยงอันตราย ระเบิด กระสุนปืน ไม่ได้มีบรรยากาศผ่อนคลายแบบพบเห็นในหนังสักเท่าไหร่!
The film was made under very difficult and taxing conditions. It’s one thing if someone goes and makes a documentary, but to do a feature-length film under those conditions is very difficult. Any minute I was expecting a bomb or some kind of shooting. The Barzani government gave us 20 bodyguards. They were protecting us throughout the making of the film.
พื้นหลังค่ายผู้ลี้ภัยชาว Kurdish บริเวณชายแดน Iraq-Turkey ค่ำคืนก่อนกองทัพสหรัฐอเมริกาบุกรุกราน ทำสงครามกับอิรัก (2003 invasion of Iraq), เรื่องราวของเด็กชาย Kak Satellite ผู้นำกลุ่มเด็กๆ รับหน้าสื่อจัดหางาน ติดตั้งเสาอากาศ/จานดาวเทียม เก็บกู้เหมืองระเบิด จัดเรียงปลอกกระสุน เรียกได้ว่า ‘jack-of-all-trades’ จากคำเรียกร้องขอของพวกผู้ใหญ่
การมาถึงของ Agrin เด็กสาวต่างหมู่บ้าน แบกเด็กน้อยตาบอด Riga และพี่ชายแขนขาด Hengov สร้างความรู้สึกสงสารเห็นใจแก่ Satellite เลยพยายามหาโอกาสให้ความช่วยเหลือ ต้องการสานสัมพันธ์ ทั้งยังแอบตกหลุมรัก แต่เธอกลับปฏิเสธต่อต้าน ไม่ต้องการความช่วยเหลือใดๆ เพราะจิตใจเต็มไปด้วยความระทมขมขื่น ยังไม่สามารถก้าวข้ามผ่าน ‘ปม Trauma’ เคยถูกทหาร Ba’ath ข่มขืนกระทำชำเรา
อดีตที่ติดตามหลอกหลอน ปัจจุบันยังแทบเอาตัวเองไม่รอด ทำให้ Agrin ต้องการละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างรวมถึงเด็กน้อยตาบอด Riga ปล่อยให้พลัดหลงในเหมืองระเบิด พบเห็นโดย Satellite พยายามเข้าไปช่วยเหลือจนถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ขา ขณะเดียวกันนั้นสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรักก็กำลังสิ้นสุดลง นั่นทำให้ทุกสิ่งอย่างที่เขาอุตส่าห์สร้างขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ พังทลาย สูญสลาย รวมถึงชีวิตของ Agrin และ Riga
ถ่ายภาพโดย Shahriar Assadi (เกิดปี 1960) ตากล้องชาว Iranian จากเคยเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) เรื่อง The Pear Tree (1998), ได้รับเครดิตถ่ายภาพจากผลงาน Marooned in Iraq (2002), Turtles Can Fly (2004) ฯลฯ
แม้สถานที่ถ่ายทำ (ชายแดนระหว่าง Iraq-Turkey) รายล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูงใหญ่ รั้วลวดหนามกั้นแบ่งพรมแดน แต่มอบความรู้สึกเหมือนได้รับอิสรภาพ โบกโบยบินอยู่บนท้องฟากฟ้า แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเพียงภายในความครุ่นคิด กระดองเต่า โลกส่วนตัวของเด็กๆ ทำให้ผู้ชมหลงลืมความเป็นจริงที่แสนเหี้ยมโหดร้าย
ความงดงามของหนังนอกจากทิวทัศน์สวยๆ ร้อยเรียงด้วยสัมผัสบทกวี ยังมีลูกเล่นภาษาภาพยนตร์กับมุมก้ม-เงย ตำแหน่งสูง-ต่ำ โดยเฉพาะการจับจ้องตัวละคร Satellite ช่วงแรกๆก็ดั่งชื่อ พบเห็นปีนป่ายขึ้นไปติดตั้งเสาอากาศ/จานดาวเทียม แสดงถึงอิทธิพล ความสำคัญ ผู้นำกลุ่มเด็กๆ (ราวกับ Messiah) แต่ไม่นานก็สาละวันเตี้ยลง พอได้รับบาดเจ็บกล้องถ่ายมุมก้ม จุดตกต่ำ และการมาถึงของกองทัพอเมริกัน ทุกสิ่งอย่างสร้างมา พลันล่มสลายลงในพริบตา!
อารัมบทก่อนขึ้น Opening Credit เป็นการบอกใบ้ไคลน์แม็กซ์ของหนัง โดยเฉพาะช็อตสโลโมชั่นที่เด็กหญิง Agrin ทำท่าเหมือนกำลังกระโดดลงจากหน้าผา อาจทำให้ผู้ชมหลายคนเกิดอาการวูบวาบหวิวขึ้นภายใน นี่เธอฆ่าตัวตายหรืออย่างไร? … เมื่อดูหนังจบย้อนกลับมาหาฉากนี้ จะพบว่าคือซีนที่หนังกระโดดข้าม ไม่ได้นำเสนอให้เห็น เพราะแทรกใส่มาตั้งแต่อารัมบทนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำเสนอซ้ำสอง
มีสองช็อตน่าสนใจที่ผมแคปรูปมาอธิบาย
- กล้องถ่ายมุมก้มลงบนพื้นผิวน้ำ พบเห็นเงาสะท้อนของเด็กหญิงอันเลือนลาง นี่ไม่ใช่แค่การจับจ้องมองบุคคลที่จมอยู่เบื้องล่าง แต่สามารถตีความถึงอดีตอันเลวร้าว ‘ปม trauma’ ภายใต้จิตสำนึกของตนเอง ไม่สามารถลบเลือน หรือก้าวข้ามผ่านมันไปได้
- กล้องถ่ายมุมเงยขึ้นเห็นท้องฟ้า กาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เด็กหญิงยืนอยู่บนโขดหิน มองลงมา เตรียมที่จะกระโดด โบยบิน … Turtles Can Fly
ผมพยายามสังเกตพื้นหลังเบลอๆระหว่าง Opening Credit สงสัยว่ามันคือรูปอะไร? จนกระทั่งขึ้นชื่อผู้กำกับคนสุดท้ายถึงค่อยค้นพบว่ามันคือ ‘กระดองเต่า’
ช็อตแรกของเด็กชาย Satellite ก็คือมุมเงยขึ้นท้องฟ้า กำลังติดตั้งเสาอากาศก้างปลา เพื่อรับสัญญาณโทรทัศน์ (จะตีความว่าสัญญาณจากพระเจ้าก็ได้กระมัง) เพื่อสำหรับติดตามข่าวสาร เมื่อไหร่สหรัฐอเมริกาจะบุกรุกรานอิรัก ขับไล่ Saddam Hussein ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
Saddam Hussein, صدام حسين (1937-2006) เกิดที่ Al-Awja, Saladin Governorate ในครอบครัวคนเลี้ยงแกะ มารดาตั้งชื่อ ‘Suddam’ และว่าซัดแหลก/ชนแหลก, หลังจากแม่แต่งงานใหม่ พ่อเลี้ยงปฏิบัติต่อเขาอย่างย่ำแย่ (Abuse) เลยหลบหนีไปอาศัยอยู่กับลุงเป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ (Sunni Muslim) โตขึ้นร่ำเรียนนิติศาสตร์อยู่สามปี แต่ก็ตัดสินใจออกมาเข้าร่วมพรรค Ba’ath Party เคยเข้าร่วมแผนการสังหารนายกรัฐมนตรี Abd al-Karim Qasim แต่ประสบความล้มเหลวจึงต้องหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ซีเรียและอิยิปต์
หลังจากพรรค Ba’ath สามารถยึดอำนาจจากการก่อรัฐประหาร, ซัดดัมจึงสามารถเดินทางกลับประเทศ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับตำแหน่งนายพล มีผลงานโดดเด่นจนสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี พัฒนาประเทศให้ทันสมัย มอบเสรีภาพต่อสตรี ทั้งยังสร้างระบบกฎหมายแบบตะวันตก (ทำให้อิรักเป็นประเทศเดียวในอ่าวเปอร์เซียที่ไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมายอิสลาม/ชะรีอะฮ์) แต่ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาลัทธินิยมตัวผู้นำอย่างบ้าคลั่ง ปกครองรัฐบาลเผด็จการ กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในช่วงสงคราม Iran–Iraq War (1980-88) และ Gulf War (1990-91) ทำให้สภาพของอิรักทรุดโทรมอย่างนั้น ทำลายมาตรฐานการครองชีพและสิทธิมนุษยชน จัดการกับกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มเป็นภัยคุกคาม จนสุดท้ายถูกสหรัฐอเมริกาบุกรุกราน 2003 invasion of Iraq และได้รับโทษประหารด้วยการแขวนคอ วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2006
แม้ว่าเด็กหญิง Agrin จะเต็มไปด้วยอคติ ไม่ยินยอมรับเด็กน้อยตาบอด Riga คือภาระหนักอึ้งที่ต้องแบกพาไปไหนมาไหน ครุ่นคิดทอดทิ้งทำลาย กำจัดให้พ้นภัยทาง แต่โดยไม่รู้ตัว Riga เปรียบดั่ง ‘กระดองเต่า’ บุคคลที่คอยปกป้องความเป็นมนุษย์ของเด็กสาว ให้เธอสามารถธำรงชีวิตอยู่ต่อไป … ซึ่งเมื่อ Riga จากไป Agrin ก็มิอาจทนอยู่บนโลกนี้อีกต่อไป
มีครั้งหนึ่งที่ Agrin กำลังจะฆ่าตัวตายด้วยการจุดไฟเผา แต่เพราะการมาถึงของ Riga (ทั้งๆข้อเท้าถูกผูกรัดเชือกเอาไว้ติดเตียง) ทำให้เธอล้มเลิกความตั้งใจครั้งนั้น … จะมองว่าเป็นนิมิตหรือจิตใต้สำนึกของ Agrin ก็ได้เช่นกัน
ฟังดูเหมือนเป็นการเอ่ยชื่อแบบลอยๆ แต่ถ้าลองครุ่นคิดตามสักหน่อยจะพบว่า
- Titanic คือเรือที่จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร … ล้อกับความตายของ Riga
- Bruce Lee ก็เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
- ส่วน Zinedine Zidane มีคำอธิบายต่อมาว่านับถือศาสนาอิสลาม เลยไม่แปลกได้รับความชื่นชอบจากเด็กๆแถวตะวันออกกลาง
ทั้งๆการปลดชนวนระเบิด ควรเป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียด กดดัน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่เด็กๆกลับไม่มีความรู้สึกนั้นสักเท่าไหร่ ยกเว้นเพียง Agrin มีสีหน้าหวาดสะพรึงกลัวอย่างเห็นได้ชัด … แนะนำให้ลองไปหารับชมภาพยนตร์เรื่อง Boat People (1982) จะรับรู้ซึ้งถึงสภาพจิตวิทยาของคนปลดชนวนระเบิด ไม่ได้เพลิดเพลินผ่อนคลายขนาดนี้หรอกนะ
แซว: เหมืองแห่งนี้มีคำเรียกว่า ‘American Mines’ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นระเบิดจากอเมริกันนะครับ เพียงคำเรียกชื่อเล่นของเด็กๆ เพื่อสื่อถึงมูลค่าของสถานที่แห่งนี้ (ในมุมมองของเด็กๆ ‘อเมริกัน’ ดูราวกับวีรบุรุษ ที่จะกอบกู้อิรักจาก Saddam Hussein)
The land mines are called “American,” but this is a reflection of their value and not a criticism of the United States; they were planted in the area by Saddam Hussein, in one of his skirmishes with Kurds and Turks.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
นี่เป็นอีกช็อตน่าสนใจของ Satellite นั่งอยู่บนกระบอกปืนรถถัง ตำแหน่งอยู่สูงกว่าเด็กๆทั้งหลาย หมายถึงสถานะผู้นำที่คอยชี้นิ้วบงการทุกสิ่งอย่าง แต่หลังจากออกคำสั่งเสร็จสิ้นก็ให้ลูกน้องอีกคนหมุนคันโยก ลดระดับกระบอกปืนลง สามารถสื่อถึงอิทธิพลของเด็กชายที่จะค่อยๆลดน้อยถอยลง (เขายังคงเป็นหัวหน้ากลุ่มเด็กๆอยู่นะครับ แต่หลังจากนี้เพราะคำพยากรณ์ของ Hengov (รวมถึงตกหลุมรัก Agrin) สร้างอิทธิพลต่อ Satellite จนไม่ถือว่ามีสถานะผู้นำสูงสุดอีกต่อไป)
จักรยาน พาหนะแสดงวิทยาฐานะของ Satellite เพราะเป็นเด็กคนเดียวในค่ายแห่งนี้ที่พึงมี ได้รับมอบจากผู้ใหญ่ เพื่อใช้สำหรับอำนวยความสะดวก ทั้งการเดินทาง แบกหามสัมภาระ และเกี้ยวพาราสีหญิงสาว (อยากจะโรแมนติกแต่เธอกลับไม่สนใจ)
หลายคนอาจไม่ตระหนักถึงฉากนี้สักเท่าไหร่ ครุ่นคิดว่าก็แค่สุสานปลอกกระสุนปืนใหญ่ แต่สถานที่นี้ไม่ต่างจาก ‘Holocaust’ เพราะทุกนัดยิงออกไป ล้วนสร้างความสูญเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน (ชวนให้นึกถึง Lord of War (2005) อยู่เล็กๆ) นั่นทำให้ Agrin แสดงสีหน้าหวาดหวั่น … ซีเควนซ์นี้เหมือนจะใช้กล้อง Hand Held ทำให้งานภาพดูสั่นๆสะพรึง
ฉากนี้เหมือนพยายามสะท้อนผลกระทบจากสงคราม ต่อให้(สงคราม)สิ้นสุดลง หลงเหลือเพียงปลอกกระสุนปืนใหญ่ แต่มันกลับยังสามารถสร้างหายนะ (จากกระสุนที่ยังไม่ระเบิด) ไม่รู้จักจบจักสิ้น!
คนที่รับชมหนังเพียงผ่านๆ พบเห็นฉากย้อนอดีตของ Hengov และ Agrin เพียงเลือนๆลางๆ อาจไม่ตระหนักว่านี่คือการฉุดกระชากข่มขืน (สังเกตว่าเด็กหญิงสวมใส่ชุดสีแดง ทั้งยังมีแสงสีแดงสาดส่อง คือสัญลักษณ์แทนเลือด สูญเสียความบริสุทธิ์ทั้งร่างกาย-จิตใจ) และถ้าครุ่นคิดต่ออีกนิดก็จะพบว่าเด็กน้อยตาบอด Riga ย่อมคือบุตรของ Agrin ส่วนบิดาก็คือบรรดาทหาร Ba’ath (กลุ่มของ Saddam Hussein)
ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์สามี/พ่อของเด็ก จะตีความได้ถึง Suddam Hussein คือผู้นำความรุนแรง สร้างปม Trauma ด้วยการฉุดกระชากข่มขืนชาวอิรัก ทำให้อนาคตตกอยู่ในความมืดบอด มองไม่เห็นหนทางออกวันข้างหน้า
ถือเป็นฉากรวมพลที่น่าทึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าสมาชิกค่ายผู้ลี้ภัยนับพัน จะให้ความร่วมมือผู้กำกับ Ghobadi ได้ถึงขนาดนี้! นี่รวมไปถึงเฮลิคอปเตอร์สองลำจากกองทัพอเมริกัน ได้รับการสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษ จ่ายแค่ค่าน้ำมัน แต่เชื่อว่าหลายคนคงขำกลิ้งกับคำโปรยชวนเชื่อ “We are you best friends and brothers.” จริงๆเหรอ??
สถานที่ที่ Agrin ตั้งใจจะทอดทิ้งเด็กน้อยตาบอด Riga อยู่บริเวณเนินเขา เต็มไปด้วยโขดหิน ต้นไม้เพียงกิ่งไร้ใบ (สื่อถึงจิตวิญญาณที่แห้งเหี่ยว ไร้ชีวิต สูญสิ้นมนุษยธรรม) และโดยรอบยังปกคลุมด้วยหมอกยามเช้า ร่วมสร้างบรรยากาศอึมครึม หมองหม่น มองแทบไม่เห็นอะไร เพียงความหมดสิ้นหวังอาลัย อนาคตของพวกเขา(และชาวอิรัก)ก็เฉกเช่นเดียวกัน
Satellite และผองพวก เดินทางไปเช่าซื้อปืนกลจากตลาดมืด นั่นถือเป็นวิถีปกติสามัญในตะวันออกกลาง แถมนำมาติดตั้งเตรียมรบที่โรงเรียน (ในมุมมองของเด็กๆ การเอาตัวรอด สำคัญกว่าวิชาความรู้) สังเกตว่าช็อตนี้เด็กชายยังคงยืนสูงกว่าใครเพื่อน (=สถานะผู้นำ คอยบงการออกคำสั่ง)
ตรงกันข้ามอีกฟากฝั่ง ครูสอนหนังสือแม้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่ทิวเขาข้างหลังสวยชิบหาย! … เหมือนต้องการสื่อถึงการร่ำเรียนวิชาความรู้ อนาคตเมื่อเติบใหญ่ จักพบเห็นทิวทัศน์สวยสดใส
Satellite ไม่ได้อยากเป็นวีรบุรุษ แต่เพราะไม่มีใครหรือหนทางอื่น เขาจึงตัดสินใจยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย บุกฝ่าเข้าไปในดงเหมืองระเบิด ทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยความลุ้นระทึก เด็กๆข้างหลังส่งเสียงเรียก อย่าไป! ถือเป็นครั้งแรกๆของหนังที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงอันตราย อาจถึงตาย โชคยังดีแค่สูญเสียจักรยานคันโปรด ได้รับบาดเจ็บ (แต่ไม่ถึงขั้นพิการขาขาด) ถึงอย่างนั้นก็ทำให้หมดสิ้นสถานะผู้นำ
สถานที่แห่งนี้มองผิวเผินอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ต้องชมเลยว่ามอบสัมผัสอันตราย ดินแดนแห่งความตาย ต้นไม้มีเพียงลำต้น (=ไร้ชีวิต ไร้จิตวิญญาณ พานผ่านแรงระเบิดมาอย่างโชกโชน) และโดยเฉพาะก้อนหินเล็กๆ มันช่างดูละม้ายลูกระเบิด กลมกลืนละลานตาไปหมด
เมื่อถูกแบกหาม นอนราบลงบนเตียง ในรถถัง/ที่พักส่วนบุคคล สังเกตว่าทิศทางกล้องจะถ่ายมุมก้มลง เพื่อสื่อถึงการสูญเสียสถานะผู้นำของ Satellite ร่ำร้องไห้ กรีดร้องด้วยความเจ็บปวด น่าจะเป็นครั้งแรกที่เด็กชายตระหนักถึงความเลวร้ายของสงคราม
บริเวณข้างตัว Satellite มีวาล์วหมุนสำหรับเปิด-ปิดหน้าต่าง ซึ่งสามารถสื่อถึงทิศทางชีวิตของเขาขณะนี้ พยายามปิดกั้นจากโลกภายนอก ไม่ต้องการพบเจอใคร ยังรู้สึกเจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ และสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง
พบเห็นปลาทองชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ The White Balloon (1995) ขึ้นมาโดยทันที! ผมไปอ่านเจอว่าปลาตัวนี้ คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของ Nowruz (คำเรียกวันขึ้นปีใหม่ Persian New Year) ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มีนาคม … บังเอิ้ญเดียวกับวันที่สหรัฐอเมริกา เริ่มบุกรุกรานอิรักพอดิบดี!
เกร็ด: ปลาทอง, Goldfish, ماهی قرمز (อ่านว่า Maahi-ye Qırmız) คือสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้า (progress) เป็นหนึ่งในของขวัญที่ชาวอิหร่าน/เปอร์เซีย นิยมมอบแก่กันในวันปีใหม่ 20 มีนาคม
แต่ปลาทองตัวนี้ที่ Satellite ได้รับมา เหมือนว่ามันเป็นปลาปลอม (มั้งนะ) ขณะกำลังเชยชมปรากฎว่าน้ำเปลี่ยนเป็นสีแดง (หรือจะมองว่าคือเลือดปลาทอง กำลังจะตายก็ได้กระมัง) เหตุการณ์ดังกล่าวราวกับนิมิต เพราะดันไปล้อกับสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นทางฟากฝั่ง Agrin ผูกมัดเท้าเด็กน้อยตาบอด Riga กับก้อนหิน เพื่อสำหรับโยนถ่วงน้ำ!
ถ้าผมจำไม่ผิด มีอยู่สองครั้งที่ผู้ชมจะได้พบเห็นเจ้าเต่า ครั้งแรกคือขณะเด็กน้อยตาบอด Riga กำลังจับเล่นสนุกสนาน (มันจะมีซีนก่อนหน้านี้ที่ Satellite ดำลงไปในทะเลสาปเพื่อนำมาให้เป็นของขวัญ) และอีกครั้งคือตอนที่เขาถูก Agrin จับถ่วงน้ำ ระหว่างกำลังจมลงสู่ก้นเบื้อง เจ้าเต่าพยายามแหวกว่ายขึ้นมาผ่านหน้ากล้อง แต่ก็ดูเหมือนมันกำลังโบกโบยบิน นี่กระมังคือนัยยะชื่อหนัง Turtles Can Fly สื่อถึงช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง ไร้หนทางเอาตัวรอด ความตายคือช่วงเวลาที่จิตวิญญาณได้รับอิสรภาพ
ณ จุดสูงสุดที่ Hengov มองลงมา สิ่งที่เขาพบเห็นเปรียบได้กับสถานภาพอิรัก ภายหลังการมาถึง/บุกรุกราน/ชัยชนะของสหรัฐอเมริกา ภาพแรกปกคลุมด้วยเมฆหมอก มองไม่เห็นอนาคต และภาพสองพื้นดินเต็มไปด้วยหิมะ สื่อถึงความหนาวเหน็บ ยะเยือกเย็นชา ไร้ชีวิตชีวา
ตลอดทั้งเรื่องที่ Satellite เฝ้ารอคอยการมาถึงของสหรัฐอเมริกา แต่พอวันนั้นมาถึงเข้าจริงๆ เด็กชายกลับเลือกหันหลัง ปฏิเสธมองรถถัง กองทัพทหารที่กำลังเคลื่อนผ่านไป จากนั้นก้าวเดินในทิศทางย้อนศร (กับเส้นทางของทหารอเมริกัน) นี่แสดงถึงความผิดหวัง ไม่พึงพอใจ เกิดความตระหนักว่ามันไม่ใช่สิ่งถูกต้องอีกต่อไป! … เพราะการมาถึงของสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงทำลายทุกสิ่งอย่างราบเรียบเป็นหน้ากลอง ยังพยายามแทรกแซง ควบคุมครอบงำ แสวงหาผลประโยชน์เกี่ยวกับน้ำมัน หาได้มีความบริสุทธิ์จริงใจเลยสักนิด!
ตัดต่อโดย Mostafa Kherghehpoosh, Hayedeh Safiyari
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Kak Satellite ขณะเดียวกันก็มักคาบเกี่ยวเด็กหญิง Agrin และพี่ชายแขนขาด Hengov (พร้อมเด็กตาบอด Riga) ดำเนินคู่ขนานกันไป
- กิจวัตรประจำวันของ Satellite
- บรรดาผู้อพยพพยายามติดตั้งเสาอากาศ เพื่อรับชมข่าวสารทางโทรทัศน์
- เด็กชาย Satellite เดินทางเข้าไปในเมือง ซื้อจานดาวเทียม นำกลับมาติดตั้ง สามารถเปิดรับชมโทรทัศน์
- เดินทางมายังเหมืองระเบิด มีเรื่องขัดแย้งกับเด็กชายแขนขาด Hengov
- เรื่องราวความรักของ Satellite
- เด็กตาบอด Riga เดินออกมาบริเวณรั้วลวดหนาม พรมแดนระหว่าง Iraq-Turkey โชคดีได้รับความช่วยเหลือจาก Satellite
- ภารกิจจัดเรียงปลอกกระเบิด แล้วจู่ๆ Hengov บังเกิดนิมิตถึงอุบัติเหตุ, Satellite จึงสั่งให้เด็กๆในสังกัดถอนตัวออกมาได้ทันท่วงที
- Satellite อาสาตักน้ำให้ Agrin แต่เธอกลับพยายามวิ่งหนี
- ฝันร้ายของ Agrin
- เธอครุ่นคิดอยากฆ่าตัวตายด้วยการจุดไฟเผา, กระโดดหน้าผา, พยายามโน้มน้ามพี่ชายให้ทอดทิ้งเด็กน้อยตาบอด Riga แต่เขาบอกปัดปฏิเสธ
- นิมิตใหม่ของ Hengov บอกว่ากองทัพสหรัฐอเมริกากำลังเดินทางมาถึง ทำให้ Satellite เดินทางเข้าเมือง ซื้อปืนกลเตรียมตัวเอาไว้
- Agrin ตัดสินใจนำเด็กน้อยตาบอด Riga มาผู้ทิ้งไว้ตรงเนินเขา คลำทางมาจนถึงเหมืองระเบิด พบเจอโดยพรรคพวกของ Satellite พยายามเข้าไปช่วยเหลือแต่ฟ้าดินไม่เต็มใจ
- ฝันร้ายของ Satellite
- Satellite ได้รับบาดเจ็บสาหัส พอดิบพอดีกับสงครามกำลังจะสิ้นสุด
- Agrin ตัดสินใจใช้ก้อนหินถ่วงน้ำ เข่นฆาตกรรม Riga แล้วเธอก็กระโดดหน้าผา
- Hengov ฟื้นตื่นขึ้นจากฝันร้าย รีบวิ่งออกติดตามหา แต่ทุกอย่างก็สายเกินแก้ไข
- ชัยชนะของสหรัฐอเมริกา ทำให้ค่ายผู้อพยพแห่งนี้กำลังสิ้นสุดลง Satellite ทำได้เพียงถอดถอนหายใจ
บ่อยครั้งที่หนังมีการแทรกภาพนิมิตของ Hengov พยากรณ์สิ่งกำลังจะเกิดขึ้นในลักษณะ ‘Flashforward’ (จริงๆต้องเรียกว่า Foreshadowing หรือ Clairvoyance) แต่จะมีเพียงครั้งเดียวระลึกเหตุการณ์ย้อนอดีต ‘Flashback’ ภาพบ้านถูกไฟเผา ตนเองถูกตัดแขน และน้องสาว Agrin ถูกข่มขืนโดยทหารของ Ba’ath นั่นเป็นการเปิดเผยปมปริศนา เด็กตาบอดคนนี้คือใครกัน?
เพลงประกอบโดย Hossein Alizadeh (เกิดปี 1951) นักดนตรี นักแต่งเพลงชาว Iranian ร่ำเรียนสาขาประพันธ์เพลงยัง University of Tehran ติดตามด้วย Tehran University of Art และต่อด้วย University of Berlin, มีความลุ่มหลงใหลในดนตรีพื้นบ้าน Persian Traditional และ Contemporary Classical มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ Gabbeh (1995), A Time for Drunken Horses (2000), Turtles Can Fly (2004), Half Moon (2006), The Song of Sparrows (2008) ฯลฯ
งานเพลงของ Alizadeh มีส่วนผสมของเครื่องดนตรีสากล และพื้นบ้าน Persian คลุกเคล้าเข้ากันอย่างกลมกล่อม! แม้เรื่องราวจะมีทั้งช่วงเวลาสุข-ทุกข์ แต่บทเพลงส่วนใหญ่มักสะท้อนห้วงอารมณ์เด็กหญิง Agrin เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมาน มิอาจแบกรับภาระรับผิดชอบ ต้องการโบกโบยบิน เป็นอิสระจากโลกใบนี้
Cradle ไม่ได้แค่แปลว่า เปล แต่ยังหมายถึงการโอบอุ้ม รวมไปถึงเส้นเชือกผูกรัดขาเด็กน้อยตาบอด Riga ที่มารดา Agrin พยายามตัดขาดความสัมพันธ์ ในสายตาของคนทั่วไปนั้นคงมิอาจยินยอมรับ แต่สำหรับเด็กหญิงที่ยังไม่แม้แต่บรรลุนิติภาวะ นั่นคือภาระ สิ่งไร้ค่า แค่ตนเองยังเอาตัวไม่รอด จะไปหวังพึ่งพาผู้อื่นได้อย่างไร
Lalaei หรือ Lullaby ท่วงทำนองเศร้าๆ พร้อมน้ำเสียงร้องสั่นเครือๆ มอบสัมผัสแห่งความเจ็บปวดรวดร้าว เมื่อนิมิตสุดท้ายของ Hengov ได้กลายเป็นจริง ต่อให้พยายามออกวิ่งสุดแรงเกิด ดำดิ่งสูงก้นเบื้องทะเลสาป ก็มิอาจปรับเปลี่ยนแก้ไข ทุกสิ่งอย่างในชีวิตดับสูญสิ้นไป หมดสิ้นเรี่ยงแรง พละกำลังและจิตวิญญาณ
ทิ้งท้ายกับ Closing Song ชื่อว่า Rulagian (แปลว่า My Sweet Baby) เป็นบทเพลงเอ่อล้นด้วยพลัง (จัดเต็มวงออร์เคสตรา) เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น อยากจะกรีดร้อง ตะโกนกึกก้อง ทำบางสิ่งอย่างเพื่อระบายความคลุ้มบ้าคลั่งภายใน ไม่ต่างจากระเบิดที่พร้อมปะทุออกมา ทำไมหนาชีวิตชาว Kurdish มันช่างระทมทุกข์ทรมานเพียงนี้!
แม้พื้นหลังของหนังจะคือช่วงการล่มสลายของ Saddam Hussein แต่เราสามารถเหมารวมถึงอิทธิพล ผลกระทบจากสงคราม ทุกวินาทีล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยง อันตราย อาจถึงตาย ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กๆไม่ว่าตัวเล็ก-ใหญ่ ที่ต่างยังไม่รับรู้ประสีประสา ไม่เข้าใจวิถีทางของโลก เพียงครุ่นคิดว่ามันคงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเร้าใจ … จนกว่าจะได้สัมผัสความเจ็บปวดเข้ากับตนเอง
Miles and miles of landmines. Every day children are killed or injured because of these mines. The film is about war. It shows the tragedy of war. Children bring home the impact of war more than anyone.
Bahman Ghobadi
Turtles Can Fly (2004) พยายามนำเสนอการปรับตัวของเด็กๆในสภาพแวดล้อมของสงคราม ซึ่งจะมีทั้งคนที่รู้รักษาตัวรอด และยังคงจมปลักอยู่กับโศกนาฎกรรม
- Satellite เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด มาดผู้นำ(จอมบงการ) สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ เรียนรู้จักวิธีแสวงหาผลประโยชน์จากสงคราม จนได้รับสถานะ ‘อภิสิทธิ์ชน’ จากผู้ใหญ่
- Agrin ถือว่าตรงกันข้ามกับ Satellite เป็นคนเงียบๆ พูดน้อย เพราะปมจากอดีตทำให้เธอไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใดๆ ยังคงจมปลักอยู่กับความทุกข์โศก ต้องการปัดภาระรับผิดชอบทุกสิ่งอย่าง
- Hengov แม้มีสภาพจิตใจไม่ต่างจาก Agrin ยังคงจมปลักจากอดีต แถมร่างกายก็พิการแขนขาด แต่เขาสามารถมองเห็นอนาคต เลยค้นพบว่าการมีชีวิตอยู่นั้นคือหนทางแห่งความหวัง เชื่อว่าสักวันย่อมสามารถพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้
- ขณะที่เด็กน้อยตาบอด Riga คือตัวแทนของบุคคลไม่รู้ประสีประสา ถือเป็นภาระ จำต้องพึ่งพาผู้อื่น ยังไม่สามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง
กลไกการป้องกันตัวเองของเด็กๆ ผมเรียกว่า ‘กระดองเต่า’ แม้ตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย หรือประสบเหตุให้เกิดความทุพพลภาพ แต่พวกเขายังมีความสามารถในการปรับตัว ยินยอมรับสถานการณ์ มีชีวิตอยู่ต่อได้ด้วยความหวัง
แต่ก็มีเด็กบางคนที่ไม่สามารถสร้าง ‘กระดองเต่า’ ขึ้นมาปกป้องตนเอง ทำให้อาจพัฒนาเป็น ‘ปม Trauma’ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หมกมุ่นยึดติดกับอดีต มองโลกในแง่ร้าย ต่อต้านสังคม ครุ่นคิดทำในสิ่งขัดต่อสามัญสำนึก ไร้ซึ่งมนุษยธรรม และอาจกลายเป็นคนบ้าคลั่ง
หลายคนอาจมองการกระทำของ Agrin เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไร้สามัญสำนึก สูญสิ้นมนุษยธรรม! แต่เด็กหญิงอายุสักเท่าไหร่กัน ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำ ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ยังไม่เรียนรู้จักความรับผิดชอบ สามัญสำนึก หรือแม้แต่ความเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ แค่เอาตัวรอดไปวันๆยังยุ่งยากลำบาก เช่นนั้นแล้วภาระแบกอยู่เบื้องหลังมันมีประโยชน์อะไร?
I also believe that in a sense this film is not about children. It’s about these young people who have become adults prematurely, who have never had a childhood. Many adults in Europe and elsewhere have never seen the suffering these children have seen in their short lives.
ชื่อหนัง Turtles Can Fly น่าจะเป็นการสื่อถึงสถานะของเด็กๆ (และชาว Iraq ยุคสมัยนั้น) ตกอยู่ในสถานการณ์กล้ำกลืนฝืนทน ต่อให้พยายามสร้างกระดองเต่าขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นตนเอง/โบกโบยบินหนีโลกความจริงที่แสนโหดร้าย ตกลงจากหน้าผาสูง ดำดิ่งสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร มาจนถึงจุดตกต่ำสุดของจิตวิญญาณ
บรรดานักวิจารณ์ชาติตะวันตกโดยเฉพาะฝั่งสหรัฐอเมริกา มักตีความ Turtles Can Fly (2004) ในเชิงวิพากย์วิจารณ์การเข้าร่วมสงครามของปธน. George W. Bush แม้คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นสิ่งชอบธรรม รวมถึงประชาชนชาว Iraq/Kurdish ต่างเฝ้ารอยการมาถึงของทหารอเมริกัน แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง/ปัจจุบันมองย้อนกลับไป หลายคนน่าจะตระหนักได้ว่านั่นคือสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะมันคือการแทรกแซง แสวงหาผลประโยชน์ โดยจุดประสงค์แท้จริงก็คือทรัพยาการ ‘น้ำมัน’
Many Kurds had illusions in America. I too perhaps. But their eyes are being opened. One dictatorship has replaced another.
หนังตระเวนฉายตามเทศกาลหนังตั้งแต่ช่วงปลายปี 2004 เสียงตอบรับดีมากๆจนได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศ Iran ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่สามารถผ่านเข้ารอบใดๆ ถึงอย่างนั้นเมื่อเดินทางมาถึงเทศกาลหนังเมือง Berlin International Film Festival ช่วงต้นปี 2005 แม้ไม่ใช่สายการประกวดหลัก กลับคว้ามาถึงสองรางวัล
- Crystal Bear – Special Mention รางวัล 14plus: Best Feature Film
- Peace Film Award
หนังเคยเข้าฉายเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ ใช้ชื่อว่า “ปรารถนา ไฟสงครามและความอยู่รอด” น่าจะยังพอหาแผ่น DVD ซับไทยได้อยู่นะครับ คุณภาพถือว่าพอใช้ได้ แต่เหมือนยังไม่มีผลิต Blu-Ray หรือข่าวคราวการบูรณะ และสามารถรับชมทางเว็บทางการ http://mijfilm.com/to-watch/ ต้องสมัครสมาชิก ค่ารับชมเรื่องละ $7 เหรียญ ดูได้ 7 วัน
เอาจริงๆตอนรับชมผมไม่ได้รู้สึกสิ้นหวังสักเท่าไหร่ หัวเราะ อมยิ้ม เพลิดเพลินหฤทัย แต่หลังจากเริ่มขบครุ่นคิดถึงหนัง จึงค่อยๆตระหนักถึงความชิบหายวายป่วน มวนท้องไส้ เกิดความหดหู่เศร้าใจขึ้นมาเล็กๆ แล้วทำได้เพียงทอดถอนลมหายใจ
เกร็ด: Setsuna F. Seiei (ชื่อจริง Soran Ibrahim) พระเอกจากซีรีย์กันดัมที่ผมชื่นชอบสุด Mobile Suit Gundam 00 (2007-09) ได้แรงบันดาลใจจากชื่อจริงของ Satellite ซึ่งคือ Soran Ebrahim แถมพวกเขาต่างเป็นเด็กกำพร้า (war orphan) ชาว Kurdish ด้วยเช่นกัน
เมื่อตอนผมรับชม Gundam 00 ไม่เคยตระหนักว่าทำไมตนเองถึงชื่นชอบคลั่งไคล้ Seiei (มากสุดในบรรดาพระเอก Gundam) จนกระทั่งมาพบเห็นเด็กๆชาว Kurdish และโดยเฉพาะ Satellite จากภาพยนตร์เรื่องนี้ เลยเกิดความตระหนักถึงพลังใจที่มีเชื้อไฟจากความเจ็บปวดที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ คือแรงผลักดันให้พวกเขาลุกขึ้นมากอบกู้โลกได้สำเร็จ … อ๊ากก!!! แค่คิดก็ใคร่อยากกลับไปดูภาคนี้อีกสักครั้ง
แนะนำสำหรับคนชื่นชอบหนังดราม่าสงคราม (War Drama) เกี่ยวกับเด็กๆ (War Orphan), คนทำงานอาสาสมัคร สังคมสงเคราะห์ เกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัย, นักเรียน นักศึกษา วิชาประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง บันทึกช่วงเวลาสิ้นสุดอำนาจของ Saddam Hussein
จัดเรต 18+ ถึงเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็ก แต่จะสร้างความท้อแท้สิ้นหวัง ห่อเหี่ยวจิตวิญญาณ
Leave a Reply