Twelve O'Clock High

Twelve O’Clock High (1949) hollywood : Henry King ♥♥♥♡

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ Gregory Peck รับบทนายพลผู้ได้คำสั่งให้บัญชาการกองบินที่มีความเหยาะแหยะ สันหลังยาว ไร้ประสิทธิภาพ ใช้วิธีการไม้แข็งดัดหลังไม้อ่อน คุณมาสงครามเพื่อประเทศชาตินะ ไม่ใช่ท่องเที่ยวพักร้อน

สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ทรงพลังมากๆ ถูกจ่าหัวตั้งแต่ต้นเรื่อง ข้อความบอกกล่าวว่าใช้ฟุตเทจจริงแทรกประกอบอยู่ด้วย ผู้ชมจะหวนระลึกสิ่งนี้อยู่เสมอเวลารับชม พอถึงฉากสู้รบกลางเวหาก็จะโดยไม่รู้ตัว แยกแยะไม่ออกหรอกไหนภาพจริงไหนถ่ายทำ แต่ฉากระเบิดปูพรมเห็นเมืองราบเรียบเป็บหน้ากลอง นั่นต้องจากเหตุการณ์จริงแน่นอน

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง 12 O’Clock High (1948) เขียนโดย Sy Bartlett กับ Beirne Lay, Jr
– Sy Bartlett (1900 – 1975) นักเขียนบทสัญชาติ Ukraine อพยพย้ายมาอเมริกาตอนอายุ 4 ขวบ เรียนจบจาก Northwestern University ฝึกงานที่ Medill School of Journalism กลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ ต่อด้วยเขียนบทภาพยนตร์สังกัด RKO Studios, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัครเป็นทหารบกได้ยศกัปตัน สังกัด Army Pictorial Service พบเจอกับ Beirne Lay Jr. ทำให้ได้รับการชักชวนเข้าร่วมกองบินทิ้งระเบิดหน่วยใหม่ (Eighth Air Force) ประจำที่ London ในฐานะผู้ช่วยหน่วยข่าวกรอง
– Beirne Lay Jr. (1909 – 1982) นักบิน นักเขียน สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Berkeley Springs, West Virginia เรียนจบ Bachelor of Arts สาขาภาษาอังกฤษ สมัครเป็นทหารอากาศเมื่อปี 1932 ยศร้อยตรีประจำการอยู่ที่ Kelly Field, Taxas ตามด้วยหน่วยฝูงบินทิ้งระเบิดที่ Langley Field, Virginia ปลดเป็นกองหนุนปี 1935 ทำงานหนังสือพิมพ์ เขียนนิยายขายดี จนได้รับกลายสร้างภาพยนตร์, สงครามโลกครั้งที่ 2 กลับเข้าเป็นทหารในฐานะผู้ฝึกสอน แต่เพราะความโด่งดังของนิยายขายดี ทำให้ถูกเรียกให้ประดับยศกัปตัน ย้ายไปประจำการกองบินทิ้งระเบิดหน่วยใหม่ (Eighth Air Force) ประจำที่ London ในฐานะผู้ช่วยนักบิน

เกร็ด: Beirne Lay Jr. เคยพา William Wyler ขึ้นเครื่องบินทิ้งระเบิด ถ่ายทำสารคดีชวนเชื่อ Memphis Belle: A Story of a Flying Fortress (1944)

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2, Bartlett กับ Lay ที่ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทในกองทัพ ตัดสินใจร่วมกันเขียนนิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากกองบินทิ้งระเบิดหน่วยใหม่ (Eighth Air Force) ในสังกัดของตนเอง ตั้งชื่อว่า Twelve O’Clock High ตีพิมพ์ปี 1948 เรื่องราวส่วนใหญ่อ้างอิงจากบุคคล เหตุการณ์ สถานที่จริงๆ แต่เปลี่ยนแปลงชื่อ ตำแหน่ง ยศ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา

Darryl F. Zanuck ผู้บริหารของ Fox มีโอกาสได้อ่านฉบับร่างของนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1947 รู้เลยว่าต้องขายดีประสบความสำเร็จแน่ๆ ชิงตัดหน้า William Wyler ที่ก็มีความสนใจเช่นกัน (เพราะเคยรู้จัก Bartlett กับ Lay มาก่อน) ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงมูลค่าสูงถึง $100,000 เหรียญ ก่อนหน้านิยายวางขายเสียอีก

มอบหมายให้ Henry King (1886 – 1982) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Academy of Motion Picture Arts and Sciences เมื่อปี 1927 เกิดที่ Christiansburg, Virginia เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยแสดงภาพยนตร์ปี 1912 กำกับครั้งแรกปี 1915 ทำงานผูกขาดกับสตูดิโอ Fox ร่วมงานบ่อยๆกับ Tyrone Power และ Gregory Peck เคยเข้าชิง Oscar: Best Director สองครั้ง The Song of Bernadette (1943), Wilson (1944)

King เป็นนักบินสังกัดทหารอากาศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พอเข้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกเรียกกลับเข้ามาเป็นรองผู้บัญชาการ Civil Air Patrol ประจำอยู่ที่ Brownsville, Texas ยศกัปตัน

พื้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1942, กองการบิน 918th นำโดย Colonel Keith Davenport (รับบทโดย Gary Merrill) ได้รับฉายาว่า ‘Hard Luck Group’ มีประสิทธิผลในปฏิบัติการค่อนข้างต่ำ ด้วยข้ออ้างแทนลูกน้อง ว่ามีความเหนื่อยอ่อนล้าหลังจากภารกิจติดต่อกันหลายวัน แต่ในความเป็นจริงเหมือนว่า Colonel Davenport จะสนใจแต่ความสุขสบายปลอดภัยของลูกน้องในสังกัดมากกว่าการสงคราม จึงถูกคำสั่งย้ายออก แล้วได้ Brigadier General Frank Savage (รับบทโดย Gregory Peck) เข้ามาเป็นผู้บัญชาการแทน ใช้วิธีไม้แข็ง เข้มงวดจริงจัง ดัดหลังความสันหลังยาวของทุกคน สร้างความเอือมระอาไปทั่วกองบิน แต่ความสำเร็จที่ได้รับต่อเนื่องทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง แม้แต่ทหารเยอรมันยังหวาดกลัวเกรงไม่อยากพบเจอ

Gregory Peck (1916 – 2003) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ La Jolla, California ในครอบครัว Catholic โตขึ้นมีความตั้งใจที่จะเป็นหมอ แต่ไปๆมาๆกลายเป็นนักแสดง เริ่มต้นมีผลงานละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Days of Glory (1944) ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor ถึง 5 ครั้ง โดย 4 ครั้งแรกไม่เคยได้รางวัล มาจากช่วง 5 ปีแรกในวงการ The Keys of the Kingdom (1944), The Yearling (1946), Gentleman’s Agreement (1947), Twelve O’Clock High (1949) ส่วนผลงานที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ได้รับการจดจำสูงสุด และทำให้คว้า Oscar สำเร็จคือ To Kill a Mockingbird (1962)

รับบท Brigadier General Frank Savage มีทัศนคติความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ผู้นำที่ดีควรต้องมีความเข้มงวดกวดขันจริงจัง แม้อาจไม่เป็นที่ชื่นชอบถูกใจลูกน้องในสังกัด แต่พวกเขาจะสามารถแสดงศักยภาพออกมาถึงระดับสูงสุดได้ กระนั้นกลับเป็น Savage เองที่ทุ่มเทจนถึงระดับ ‘Maximum effort’ จนเกือบเสียสติ

บทนี้ได้รับการส่งผ่านมือนักแสดงหลายคนอาทิ Clark Gable, John Wayne, Burt Lancaster, James Cagney ฯ ในตอนแรก Peck บอกปัดปฏิเสธเพราะรู้สึกว่ามีความคล้ายคลึงกับหนังเรื่อง Command Decision (1948) แต่ภายหลังเปลี่ยนใจเพราะหลงคารมผู้กำกับ Henry King หลังจากนี้พวกเขาร่วมงานกันอีกถึง 5 ครั้ง

ปกติผมเคยพบเห็นแต่ Peck รับบทตัวละครง่ายๆ เป็นกันเอง ไม่มีพิษภัยต่อใคร แต่พอเห็นการแสดงเรื่องนี้เกิดอาการอึ้งทึ่ง ไม่คิดว่าจะสามารถรับบทสุดโต่งด้านนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม หนักแน่น แรงถึงใจ ก็ถึงระดับเข้าชิง Oscar: Best Actor ถือว่าเป็น ‘Maximum effort’ ของเขาเลยก็ว่าได้

Gary Fred Merrill (1915 – 1990) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Hartford, Connecticut ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัครทหารอากาศ ได้มีโอกาสเป็นนักแสดงในหนังชวนเชื่อเรื่อง Winged Victory (1944) หลังสงครามจึงมุ่งหน้าสู่ Hollywood มีผลงานอาทิ Twelve O’Clock High (1949), All About Eve (1950) ฯ

รับบท Colonel Keith Davenport อดีตผู้บัญชาการกองบิน 918th เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ปกครองลูกน้องในสังกัดด้วยความเมตตากรุณา จนได้รับการเคารพยกย่องนับถือ ศูนย์รวมทางจิตใจของทุกคน แต่ด้วยวิธีการนี้ทำให้พวกเขาต่างหลงระเริง ขี้เกียจคร้านสันหลังยาว ทำภารกิจไม่ค่อยประสบผลสัมฤทธิ์สักเท่าไหร่ สุดท้ายจึงถูกสั่งย้าย/พักงานโดยไม่รู้อิโน่อิเหน่

ภาพลักษณ์ของ Merrill อ่อนน้อมถ่อมตน ดูเป็นคนง่ายๆ ถือว่าเข้ากับตัวละครนี้อย่างดี โดยเฉพาะน้ำเสียงมีความนุ่มนวลอ่อนไหว พยายามอย่างเต็มที่จะรับผิดชอบความบกพร่องของลูกน้อง ถ้านี่ไม่ใช่กองทัพคงต้องถือว่าเป็นผู้นำที่ดีแน่ๆ

สำหรับนักแสดงแย่งซีนสุดในหนัง Dean Jeffries Jagger (1903 – 1991) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Lima, Ohio วัยเด็กเรียนไม่เก่งเลยตัดสินใจเป็นนักแสดง ฝึกฝีมือที่ Chicago’s Lyceum Arts Conservatory กลายเป็นนักแสดงแทน Spencer Tracy บางครั้งก็ออกทัวร์ แสดงละครเวที เคยร่วมงานกับ George M. Cohan ภาพยนตร์เรื่องแรก The Woman from Hell (1929) มีชื่อเสียงจาก Brighman Young (1940) คว้า Oscar: Best Supporting Actor จาก Twelve O’Clock High (1949)

รับบท Major Harvey Stovall เดิมมีอาชีพทนายความ เคยเป็นนักบินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ได้รับบาดเจ็บทำให้สงครามครานี้หวนกลับมาทำงานนั่งโต๊ะ ฝ่ายเอกสาร, ปกติไม่ดื่มเหล้าจนเมามาย ยกเว้นกรณีพิเศษที่ตัวเขาไม่เข้าใจเหตุผลของการมีชีวิต

ตัวละครนี้ถือว่าเป็นผู้เล่าเรื่องของหนัง เริ่มต้นจากหลังสงครามโลกปี 1949 หวนระลึกนึกย้อนอดีต สิ่งที่ตนได้พบเจอในช่วงเวลาของ Colonel Keith Davenport กับ Brigadier General Frank Savage แม้วิธีการบริการจัดการจะแตกต่างตรงกันข้าม แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน คือความทุ่มเทกายใจ พร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อลูกน้องในสังกัด

การเล่นหูเล่นตาของ Jagger สร้างมิติให้กับตัวละครอย่างลึกล้ำ คำพูดจา ความคิดอ่าน น่าจะคือคนแรกในกองบินที่สามารถอ่านเกมของนายพล Savage ออกพร้อมสนับสนุน เฝ้าจับตาดูความสำเร็จที่ค่อยๆได้รับการยอมรับ จนเมื่อพบเห็นสภาพตอน ‘Maximum effort’ เกิดความภาคภูมิใจสูงสุด เมื่อได้พบกับโคตรคนตัวจริง

เกร็ด: สต๊นแมนของหนังเรื่องนี้ ได้รับค่าจ้างสูงมากๆ Paul Mantz ขับเครื่อง B-17 ลงจอดโดยไม่ใช้ล้อ รับเงิน $4,500 เหรียญ (เพื่อความปลอดภัย ในเครื่องไม่มีใครอื่นนอกนักบิน)

ถ่ายภาพโดย Leon Shamroy (1901 – 1974) ตากล้องระดับตำนานสัญชาติอเมริกา เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Cinematography สูงสุด 18 ครั้ง คว้ามา 4 รางวัล The Black Swan (1942), Wilson (1944), Leave Her to Heaven (1945), Cleopatra (1963)

โปรดิวเซอร์ Zanuck ติดต่อไปยังกองทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งก็ได้เห็นดีเห็นงามสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเต็มที่ อนุญาตให้นำฟุตเทจจากเหตุการณ์จริง ขณะต่อสู้กับกองทัพอากาศเยอรมันมาใช้ประกอบ รวมถึงยุทธโธปกรณ์ เครื่องบินรบ และสถานที่ถ่ายทำ Eglin Air Force Base ใกล้ๆกับ Fort Walton Beach, Florida

ในตอนแรกมีแผนถ่ายทำหนังด้วย Technicolor แต่เปลี่ยนมาใช้ภาพขาว-ดำ เพื่อให้สามารถแทรกใส่ฟุตเทจการต่อสู้จริงๆเข้าไปด้วยได้อย่างแนบเนียบ นี่ทำให้ความสวยงามของหนังยังคงมีความคลาสสิก ไม่ซีดเซียวสีตกไปตามยุคสมัย

ไฮไลท์ของงานภาพ คือฉากต่อสู้ทางอากาศ ช็อตไหนที่ค่อนข้างคมชัดคงเป็นฟุตเทจใหม่ ส่วนภาพเบลอๆ สั่นๆ Gain/Noise ค่อนข้างเยอะ นั่นคงจาก Archive Footage แทรกใส่เข้ามา, ส่วนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากกองทัพและนักประวัติศาสตร์สงคราม ว่ามีความถูกต้องสมจริงเป็นอย่างยิ่ง

ตัดต่อโดย Barbara McLean ของสตูดิโอ Fox ทำงานแผนกตัดต่อไต่เต้าจนได้เป็นหัวหน้า ได้รับความไว้เนื้อเชื่อมือที่สุดโปรดิวเซอร์ Darryl F. Zanuck, เธอเป็นผู้ถือสถิติเข้าชิง Oscar: Best Edited มากสุด 7 ครั้ง ก่อนถูก Michael Kahn แซงได้เมื่อปี 2012 ผลงานที่ดังๆอาทิ Wilson (1944) [ได้ Oscar: Best Edited], Twelve O’Clock High (1949), All About Eve (1950), The Robe (1953) ฯ

ความแนบเนียนในฉากสู้รบกลางเวหาต้องชมเลยว่าสมบูรณ์แบบมากๆ ใครสามารถแยกออกไหนฟุตเทจจริง ไหนถ่ายขึ้นใหม่ ถือว่าช่างสังเกตจริงๆ ผมพอแยกออกได้แค่จากฉากไม่น่าเป็นไปได้อย่างที่จะเกิดจากการถ่ายทำ อาทิ ขณะทิ้งระเบิดปูพรม, เห็นเมืองระเบิด ราบเรียบเป็นหน้ากอง, เครื่องบินถูกยิงปีกหักกำลังตก ฯ

แต่กว่าที่หนังจะไปถึงฉากต่อสู้กลางเวหา อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าพอสมควร เพราะกว่า 80% ของหนังดำเนินเรื่องบนพื้นดิน จำต้องตัดข้ามหลายฉากการต่อสู้ Action เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลาการถ่ายทำมากเกินไป

สำหรับเพลงประกอบโดย Alfred Newman แม้จะมีเพียง Prologue ช่วงต้น และตอนจบปิดท้ายของหนัง แต่ก็ได้สร้างสัมผัส Nostalgia หวนระลึกที่ค่อยข้างตราตรึงทีเดียว

ส่วนที่โดดเด่นกว่าเพลงคือ Sound Effect เสียงเครื่องยนต์ ปืนกล ระเบิด ฯ ช่วยเพิ่มความสมจริงให้กับหนังอย่างมาก ซึ่งก็สามารถคว้า Oscar: Best Sound, Recording 

Twelve O’Clock เป็นคำที่ใช้ในวงการทหารอากาศ เพื่อบ่งบอกถึงการมาของศัตรู ณ ตำแหน่งเที่ยงวัน 12 นาฬิกา หรือเหนือศีรษะ โดยทั่วไปนักบินจะมองไม่เห็น นั่นทำให้ยากต่อการต่อสู้รับมือเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่ง 12 นาฬิกาในบริบทของหนัง ยังสื่อได้อีก 2 อย่าง
1) ขณะเครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรม ภาพถ่ายจากด้านบน Bird Eye View แบบตั้งฉาก มองได้เป็นสัญลักษณ์ 12 นาฬิกาเช่นกัน

2) ขณะที่ Brigadier General Frank Savage เกิดอาการเสียสติ มือสั่นหวาดกลัวเครื่องบิน แต่เพราะจิตสำนึกบอกว่านี่คือหน้าที่ความจำเป็นของตนเอง ความเครียดของเขาพุ่งทะยานสู่จุดสูงสุด 12 นาฬิกา ทำให้ทุกสิ่งอย่างหยุดสงบนิ่งไม่ไหวติง จนกว่าภารกิจนี้จักสำเร็จลุล่วง ถึงค่อยสามารถผ่อนคลายตัวเองลงได้

อุดมการณ์ของสงคราม คือการต่อสู้เข่นข้างล้างศัตรูเพื่อให้ได้รับชัยชนะ บุคคลผู้เป็นทหารจำต้องรับรู้ภาระหน้าที่ของตนเอง นี่ไม่ใช่เวลามาท่องเที่ยวพักผ่อนคลาย ทุกวินาทีคือความเป็นตาย นี่ทำให้ใครๆย่อมเกิดความเครียด แต่การรับมือก็อยู่ที่ว่าจะมีทัศนคติต่อ’ชีวิต’เป็นอย่างไร

คงไม่มีใครให้ข้อสรุปได้ว่า ระหว่าง Savage หรือ Davenport ใครบริหารบังคับบัญชาการลูกน้องได้ถูกต้องเหมาะสมควรกว่า? ในบริบทของหนังผู้ชมอาจรู้สึกว่า Savage คือบุคคนต้นแบบอย่างที่ดี แต่สำหรับเหล่านายทหารของกองบิน 918th ชัดเจนว่ายังคงมอง Davenport คือวีรบุรุษ ด้วยวิธีการทำงานแตกต่างอย่างสุดขั้ว ผลลัพท์ที่ได้ย่อมไม่เหมือน แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในสายตาของ Stovall พวกเขาทั้งสองให้ความสำคัญกับลูกน้องในสังกัดอย่างถึงที่สุด

ใจความของหนังเรื่องนี้ นอกจากเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ขีดความสามารถของผู้นำ’ ยังเป็นการนำเสนอชัยชนะที่น่าภาคภูมิของคนชาติอเมริกา, ยุคสมัยหลังสงครามโลก หนังแนวสงครามยังคงมีลักษณะชวนเชื่อ แต่มีเป้าหมายหลักเพื่อฟื้นฟูผู้ได้รับความสูญเสีย ทั้งทรัพย์สิน ทางกาย และจิตใจ

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ทำเงินได้ในอเมริกา $3.2 ล้านเหรียญ ค่อนข้างสูงทีเดียวในทศวรรษนั้น, เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Actor (Gregory Peck)
– Best Supporting Actor (Dean Jagger) ** คว้ารางวัล
– Best Sound, Recording  ** คว้ารางวัล

ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้ มักได้รับการฉายในโรงเรียนฝึกทหารหลายๆแห่งในอเมริกา กลายเป็นบทเรียนสำหรับตั้งคำถาม ‘ขีดความสามารถของผู้นำ ในการรับมือสถานการณ์คับขัน’ มีการเขียนเป็นทฤษฎีชื่อ Situational Leadership Theory

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ในการตั้งคำถามขีดจำกัดของมนุษย์ มันอาจดูเหมือนไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับพลเรือนคนทั่วไปอย่างเราๆ แต่ผมคิดว่าสถานการณ์คับขัน ไม่จำเป็นต้องสื่อถึงความเป็นตายเท่านั้น อาทิ ติดหนี้มาสามเดือนกำลังจะโดนเจ้าหนี้ยึดที่ดิน-บ้าน-รถ, บ้านถูกไฟไหม้ทรัพย์สินวอดวาย, ถูก Call Center หลอกโอนเงินหมดตัว ฯลฯ เหล่านี้พลเรือนตาดำๆจนๆ คงได้พบความคับขันอย่างแน่ๆ เช่นนั้นแล้วเราจะครุ่นคิด แสดงออกอย่างมีสติครบถ้วนอยู่ได้รึเปล่า

แนะนำกับคอหนังสงครามดราม่า เกี่ยวกับกองทัพอากาศ, ชื่นชอบการบิน เครื่องบินรบสมัยสงครามโลก, จิตแพทย์ นักจิตวิทยาทหาร, แฟนๆนักแสดง Gregory Peck ไม่ควรพลาด

แนะนำอย่างยิ่งกับภาคทหาร ไม่จำเป็นต้องทหารอากาศ แต่รวมถึงทหารบก ทหารม้า ทหารเรือ และตำรวจ รปภ. ควรเรียนรู้จักการรับมือในสถานการณ์คับขันนี้ดู

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความตึงเครียด อันอาจทำให้บ้าคลั่ง

TAGLINE | “Twelve O’Clock High เมื่อความเครียดของ Gregory Peck ถึงจุดสูงสุด 12 นาฬิกา มันทำให้ทุกอย่างเงียบสงัดหยุดนิ่ง หายใจตามแทบไม่ทัน”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: