Twenty-Four Eyes (1954)
: Keisuke Kinoshita ♥♥♥♥♡
นี่คือภาพยนตร์ระดับ Masterpiece กวาดทุกรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของประเทศญี่ปุ่น และคว้า Golden Globe: Best Foreign Film เรื่องราวของคุณครูสาวประจำชั้นกับนักเรียน 12 คน รู้จักสนิทสนมกันตั้งแต่ ป.1 จนถึง ป.6 พบเห็นพวกเขาเติบโต มีชีวิต ผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะเหลือรอดแค่ประมาณครึ่งหนึ่ง แต่สัมพันธภาพศิษย์-อาจารย์ ก็ไม่เคยแปรเปลี่ยนสั่นคลอน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ตอนที่ผมกำลังค้นหาหนัง Classic Horror ของประเทศญี่ปุ่น ในชาร์ทของ Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made พบเห็นภาพยนตร์เรื่อง Twenty-Four Eyes ติดอันดับ 6 ก็หลงคิดเข้าใจผิดไปว่าต้องเป็นหนังผีแน่ๆ แต่พอค้นหาข้อมูล อ่าว! กลับพบว่าเป็นเรื่องราวของครู-นักเรียน ดวงตา 24 คู่ก็คือเด็กน้อย 12 คน เลยมีความตั้งใจเก็บไว้รับชมเขียนถึงในวันครูนี้เท่านั้น
จะบอกว่าแค่ Opening Credit ของหนัง ก็ทำให้ผมตกหลุมรักแรกพบ อธิบายลักษณะของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยย่อ คือส่วนผสมของ Yasujirō Ozu กับ John Ford
– Ozu มีเรื่องราวอันเรียบง่าย ธรรมดาชาวบ้าน และการถ่ายภาพที่มักตั้งกล้องทิ้งไว้ไม่ค่อยเคลื่อนไหว (ก็มีขยับบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ตั้งแช่กล้องไว้เฉยๆ)
– Ford กับไดเรคชั่นการถ่ายภาพพื้นหลัง พบเห็นทัศนียภาพกว้างไกลไพศาล ภูเขา ท้องทะเลสุดลูกหูลูกตา
Twenty-Four Eyes เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ต้องการเป็น ‘ครู’ ควรต้องหาโอกาสรับชมให้จงได้ เพราะจักทำให้มีความเข้าใจในอาชีพนี้อย่างลึกซึ้งถ่องแท้ แม้เพียงครั้งหนึ่งที่มีคนเรียกว่าอาจารย์ ลูกศิษย์ลูกหาก็จะมองเราเป็นเช่นนั้นตลอดไปไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เตรียมทิชชู่ไว้ให้พร้อมด้วยแล้วกัน เพราะเมื่อเด็กๆทั้งหลายเติบโตขึ้น มีคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และบางคนก็จะ … ในสายตาของครู แม้มิอาจให้การช่วยเหลืออะไรได้ แต่ก็ยากทำใจเมื่อพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น
Keisuke Kinoshita (1912 – 1998) ผู้กำกับ/ตากล้องชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hamamatsu, Shizuoka Prefecture (อยู่กึ่งกลางระหว่าง Tokyo กับ Kyoto) ตอนอายุ 8 ขวบ หลงใหลคลั่งไคล้กับหนังกลางแปลง ตั้งใจโตขึ้นจะกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์โดยไม่สนใจคำคัดค้านของครอบครัว ขณะเรียน ม. ปลาย มีกองถ่ายภาพยนตร์ผ่านมาแถวบ้าน กลายเป็นเพื่อนของนักแสดง Bando Junosuke ที่ให้การช่วยเหลือเมื่อครั้นเติบโตขึ้น, เพราะมิได้เรียนจบมหาวิทยาลัย สมัครงานกับสตูดิโอ Shochiku เป็นช่างภาพนิ่งให้ผู้กำกับ Yasujirō Ozu, Mikio Naruse ไต่เต้าจากเด็กล้างฟีล์ม ผู้ช่วยตากล้อง จนกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัครไปสงครามที่ประเทศจีน แต่ถูกกลับเพราะอาการป่วย หวนกลับมา Shochiku กลายเป็นผู้กำกับเมื่อปี 1943 ถือว่ารุ่นเดียวกับ Akira Kurosawa ผลงานเด่นๆอาทิ The Blossoming Port (1943), Carmen Comes Home (1951) หนังสีเรื่องแรกของญี่ปุ่น, Twenty-Four Eyes (1954), The Ballad of Narayama (1958), Farewell to Spring (1959) ภาพยนตร์เกย์เรื่องแรกของญี่ปุ่น ฯ
เกร็ด: Kinoshita มิได้ปกปิดตัวเองว่าเป็นเกย์ รู้กันดีในกองถ่ายเพราะชอบแต่งหล่อ ทำตัวดูดีอยู่ตลอดเวลา และนักแสดงชายในหนังของเขาล้วนมีภาพลักษณ์ดูดี ‘Handsome’
Kinoshita เป็นคนที่ไม่จำกัดตัวเองเข้าอยู่ในความสนใจแนวหนึ่งใด เชี่ยวชาญในทุกๆ Genre อาทิ Comedy, Tragedy, Social Drama, Period ฯ ชื่นชอบถ่ายทำยังสถานที่จริง มีความหลงใหลการภาพ Long Take, Long-Shot, Cross-Cutting, Title Card ฯ
ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง Nijushi no Hitomi (1952) แต่งโดย Sakae Tsuboi (1899 – 1967) กวี นักเขียนนิยายสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่หมู่บ้าน Sakate บนเกาะ Shōdoshima, Kagawa Prefecture (สถานที่พื้นหลังของนิยาย/หนัง) เป็นลูกคนที่ห้าของนักทำซอสถั่วเหลือง (Soy Sauce) แต่เมื่อบริษัทของพ่อล้มลาย ฐานะการเงินของครอบครัวค่อนข้างเลวร้าย แต่ก็ยังส่งเสียลูกๆเรียนจบการศึกษาขั้นต่ำ ทำงานไปรษณีย์ พออายุ 26 เดินทางไปแต่งงานที่ Tokyo, ดูแล้วนิยายเล่มนี้น่าจะคือกึ่งๆอัตชีวประวัติของผู้เขียนเอง
เริ่มต้นปี 1928 ที่เกาะ Shōdoshima, ครูสาวจบใหม่ Hisako Ōishi (รับบท Hideko Takamine) ถูกส่งตัวให้ไปสอนชั้นป.1 ยังโรงเรียนห่างไกลบ้าน ต้องปั่นจักรยานเกือบชั่วโมงถึงไปถึง ในวันเปิดเทอมพบกับนักเรียนทั้งหมด 12 คน (ชาย 5 คน, หญิง 7 คน) แม้แรกๆจะไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตั้งฉายาว่า Koishi (แปลว่า กรวด) แต่ได้สร้างความประทับใจให้กับเด็กๆอย่างล้นพ้น จนวันหนึ่งถูกนักเรียนชายกลั่นแกล้งขาพลิกเกือบหัก มิอาจปั่นจักรยานมาโรงเรียนได้ ทั้ง 12 ตัดสินใจเดินก็ไม่รู้กี่กิโล เพื่อมาเยี่ยมเยือนครูประจำชั้นที่บ้าน
ช่วงเวลาทศวรรษนั้น Shōwa Era (1926–1989) ชาวญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องคลั่งชาตินิยม (ultra-nationalism) ใครก็ตามที่ปฏิเสธสงคราม (ทั้งกับประเทศจีน/เกาหลี/สงครามโลก) จะถูกมองว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ (Reds) แต่สำหรับ Ōishi สนใจแค่เด็กๆเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีอนาคต ไม่อยากให้ไปเสี่ยงชีวิตเข่นฆ่าผู้อื่น ทำให้ถูกข้อครหานินทา พอนักเรียนรุ่นแรกของตนเองจบ ป.6 จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่กับสามีและลูก
การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ Ōishi ต้องสูญเสียสามี รวมถึงลูกสาวคนเล็กพลัดตกต้นไม้เสียชีวิต หลงเหลือลูกชายสองคน ทำให้เธอต้องหวนกลับมาเป็นครูสอนหนังสืออีกครั้งในรอบ 18 ปี ยังโรงเรียนเก่าเมื่อครั้นก่อน พบเจอลูกๆของอดีตนักเรียนรุ่นแรกของตนเองก็อดหลั่งน้ำตาไม่ได้ จนมีฉายา Yowamushi (แปลว่า อ่อนแอ, เจ้าน้ำตา) บรรดาลูกศิษย์เก่าของเธอ พร้อมใจกันจัดงานเลี้ยงรวมรุ่นเพื่อหวนระลึกถึงความทรงจำในวันวาน
Hideko Takamine (1924 – 2010) นักแสดงหญิงระดับตำนาน สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hakodate, Hokkaido เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก Mother (Haha) (1929) ทำให้ได้รับฉายา ‘Japan’s Shirley Temple’ โตขึ้นก็ยังสามารถประสบความสำเร็จต่อเนื่องกับ Tsuzurikata kyōshitsu (1937) แต่ผลงานหลายเรื่องสูญหายไปช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทศวรรษ 50s-60s กลายเป็นขาประจำของ Kinishita และ Mikio Naruse ผลงานดังๆ อาทิ Twenty-Four Eyes (1955), Floating Clouds (1956), Time of Joy and Sorrow (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Happiness of Us Alone (1962) ฯ แม้จะแต่งงานตั้งแต่ปี 1955 แต่ก็ไม่คิดรีไทร์จนกลายเป็นตำนาน ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Kinema Junpo: Japanese Movie Star – Actress สูงอันดับ 4
รับบท Hisako Ōishi ครูสาวจบใหม่ไฟแรง สวยเก่งเฉลียวฉลาดนิสัยเป็นกันเอง แม้ความคิดอ่านหัวก้าวหน้า ต้องการ แต่ต้องการแค่ให้ลูกศิษย์เติบโตขึ้นร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง การงานประสบความสำเร็จดั่งฝัน มีชีวิตแต่งงานที่เป็นสุขก็เพียงพอแล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูสาวกับนักเรียน แทบทั้งหมดที่หนังนำเสนอมาจากกิจกรรมภายนอกห้องเรียน ร้องเล่นเต้นสนุกสนาน พอโตขึ้นก็เป็นปฏิสัมพันธ์ภายนอกที่เกี่ยวกับชีวิต ครอบครัว การทำงาน ต่อสู้ดิ้นรน นี่ถือว่าล้ำเส้นความสัมพันธ์ ครู-นักเรียน แบบปกติไปเยอะมาก แต่ในสังคมชนบทย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรจะมีความใกล้ชิดขนาดนี้
Takamine เป็นนักแสดงสวยอมตะ ไม่ว่าจะรับบทเด็ก ผู้ใหญ่ หรือสูงวัย ยังคงดูดีมีสง่าราศี ใบหน้ากลม ผิวขาวเนียน สวมได้ทั้งเสื้อผ้าสมัยใหม่และกิโมโน แม้จะไม่มีช็อต Close-Up ให้เห็นใบหน้าของเธอแบบชัดๆ แต่ผู้ชมจะรับรู้สึกได้ถึงอารมณ์เอ่อล้นที่ออกมาจากภายใน
การร้องไห้ของตัวละคร ไม่ได้มาจากความเจ็บปวดรวดร้าวที่พบเห็นลูกศิษย์ตกทุกข์ได้ยากเท่านั้น แต่หลายครั้งเป็นความอิ่มเอิบสุขใจ Nostalgia มิอาจกลั้นหลั่งน้ำตาที่พบเห็นพวกเขา ตั้งแต่เด็กเติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเอาตัวรอดในสังคมได้
ถ่ายภาพโดย Hiroshi Kusuda ขาประจำของ Kinoshita ถ่ายทำยังสถานที่จริง หมู่บ้าน Sakate บนเกาะ Shōdoshima
ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำภายนอก เด็กๆออกเดิน วิ่งเล่น พื้นหลังติดเทือกเขา ทุ่งนา รวงหญ้า ท้องทะเลกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา มีนัยยะถึง ‘มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆในโลกอันกว้างใหญ่’
กล้องจะแน่นิ่งตั้งทิ้งไว้เฉยๆ ให้ตัวละครเคลื่อนไหวเดินผ่าน นานจะมีการแพนนิ่ง, Tracking เคลื่อนไหวติดตามตัวละคร นี่ให้สัมผัสเหมือน ‘รูปถ่ายที่มีการเคลื่อนไหว’ ใครคุ้นเคยกับหนังของ Ozu ย่อมจดจำลักษณะสไตล์นี้ได้อยู่แล้ว เพียงแค่เรื่องนี้ไม่ค่อยถ่ายฉากภายในบ้าน กลับเป็นภายนอกวิวทิวทัศนียภาพแวดล้อมแทน
ตัดต่อโดย Yoshi Sugihara ขาประจำของสตูดิโอ Shochiku มีผลงานดังอย่าง Stray Dog (1949), The Idiot (1951), Pale Flower (1964), The Face of Another (1966) ฯ
เริ่มต้น Opening Credit ด้วยภาพผืนน้ำไหลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นเรือเคลื่อนผ่าน (อาชีพครูคือเรือรับจ้าง) จากนั้นเป็นการ Cross-Cutting อย่างช้าๆ เรียงร้อยนำเสนอภาพวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้าน Sakate บนเกาะ Shōdoshima, ความเชื่องช้าของการ Cross-Cutting ทำให้เห็นภาพซ้อนของสองช็อตที่นำมาเรียงร้อยต่อกัน มีความแปลกประหลาดแต่สร้างความลื่นไหลต่อเนื่อง ด้วยสัมผัสที่เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง
ระหว่างหนังเรื่องนี้กับ Floating Weed บอกเลยว่าเลือกไม่ถูก ฉาก Opening ไหนสวยงามกว่า แต่ถือว่า’ฟิน’ทั้งคู่
เรื่องราวแม้จะเริ่มต้นด้วยเด็กๆทั้ง 12 คน แต่ต้องถือว่าดำเนินเรื่องในสายตาของครูสาวเป็นส่วนใหญ่ ที่ได้พบเจอรู้จัก เฉพาะในช่วงเวลาสำคัญๆ ป.1, ป.6 ทริป/เรียนจบ, อายุครบเป็นทหาร, สงครามโลกครั้งที่สอง, และ 18 ปีผ่านไป ใช้ข้อความ Title Card ขึ้นบรรยายบอกช่วงเวลา มีลักษณะเหมือนบทกวี (น่าจะนำข้อความจากคำนำนิยายตรงๆเลย)
เนื่องจากเด็กๆมีถึง 12 คน การจะนำเสนอทั้งหมดคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าใครชื่นชอบมากๆ ก็น่าจะจดจำได้ทั้งหมด ทุกคนมีเอกลักษณ์ของตนเองชัดเจน ช่วงหลังๆจึงใช้การพูดเล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับใครบ้าง นี่เพื่อรวบรัดตัดตอนเนื้อหา และจำกัดมุมมองนำเสนอเฉพาะของครูสาวเท่านั้น
หลายครั้งของหนังมีลักษณะ ‘ภาพประกอบเพลง’ เรียบเรียงโดย Chûji Kinoshita คือใช้เสียงเพลงเป็นหลักนำร่อง อธิบายรวบรัดสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งหนังมีบทเพลงพื้นบ้านของญี่ปุ่น ผสมกับบทเพลงสากลอันคุ้นหู อาทิ Auld Lang Syne, Home Sweet Home, Annie Laurie, The Last Rose of Summer, What a Friend We Have in Jesus ฯ
ถึงคุณจะฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แต่น่าจะจดจำบทเพลงคอรัสเด็กๆร้อง Nanatsu no Ko (แปลว่า เด็กเจ็ดคน, อีกาดำเจ็ดตัว) มักจะเห็นเด็กๆร้องไห้ทุกทีเมื่อเพลงนี้ดังขึ้น แต่คำร้องจะ Kawaii (ประมาณว่า ร้องไห้ได้น่ารักจังเลย)
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบสัมผัสของบทเพลงสากลที่ Kinoshita ใส่ประกอบมาในหนัง โดยเฉพาะ Auld Lang Syne เลือกใส่ในสองช่วงได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
– ขณะเด็กๆเรียนจบ ป.6 กำลังแยกย้ายไปตามทิศทางความตั้งใจของตนเอง
– ช่วงท้ายขณะงานเลี้ยงร่วมรุ่น
ใครๆคงรู้ได้ว่าบทเพลงสามัคคีชุมนุม มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้อภัย ลืมอดีตที่เคยบาดหมาง ทั้งยังมักใช้ในการลาจาก เพื่อบอกว่าสักวันเราคงได้หวนกลับมาพบเจอกันอีก
เนื่องจากผมหา Soundtrack มาให้ฟังไม่ได้ เลยเอา Opening Theme มาปิดท้ายก็แล้วกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน แม้จะเชื่อมโยงกันด้วยเนื้อหาสาระวิชาการ ความรู้ แต่ก็มีมิตรภาพ ความทรงจำ ที่ไม่ว่ากาลเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็มิอาจตัดแยกได้ขาด
เพราะความรู้นั้นมันคือ ‘พื้นฐาน’ ของการเติบโตมีชีวิตในโลกกว้าง, บางคนอาจคิดว่าค่าพาย 3.14 มันคือเรื่องไร้สาระ เรียนไปทำไมก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่เหตุผลของการศึกษาไม่ใช่แค่องค์ความรู้ มันคือทักษะในการแก้ปัญหา สมการยากๆที่ต้องใช้การพลิกแพลงหลายตลบ ก็คล้ายกับปัญหาชีวิต ขับรถในกรุงเทพฯ วกวนเส้นทางไหนจะไม่ติดถึงเร็วสุด ฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์เรามักไม่ค่อยรับรู้ตัวเองหรอก ว่าเกิดจากประสบการณ์ที่เคยสะสมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก
ตอนสมัยเราเป็นเด็กๆ มักที่จะไม่รู้หรอก ทำไมครูคนนี้ถึงดุโหดร้ายกับเราจัง ตั้งชื่อเล่นฉายา กลั่นแกล้งพูดจาเสียๆหาย แทบทั้งนั้นเมื่อเติบโตขึ้นจนเรียนจบถึงค่อยคิดได้ ไม่มีอาจารย์คนไหนหวังร้ายต่อเราแม้แต่น้อย ทำทุกอย่างด้วยความเชื่อ อุดมการณ์ ตั้งมั่น ปลุกปั้นเด็กๆ คาดหวังให้ลูกศิษย์ทุกคนกลายเป็นอนาคตสดใสของประเทศชาติ
กาลเวลาผ่านไปมักทำให้พวกเรารู้สำนึกบุญคุณ โดยเฉพาะครูที่สนิทสนมเป็นกันเองมากๆ ย่อมมีเรื่องให้ครุ่นคิดถึงอยู่เรื่อยๆ พบเจอมีปัญหาก็พร้อมให้การช่วยเหลือกันและกัน นี่เรียกว่า ‘สัมพันธภาพ’ ความผูกพัน เกี่ยวข้อง แม้ไม่ใช่ด้วยสายเลือด แต่ในลักษณะที่เรียกว่า ศิษย์-อาจารย์
ในมุมของครูอาจารย์ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นไร จิตวิญญาณสากลที่ทุกคนมีคล้ายๆกัน คือต้องการเห็นเด็กๆลูกศิษย์ของตนเอง เติบโตขึ้นร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง การงานประสบความสำเร็จดั่งฝัน มีชีวิตแต่งงานที่เป็นสุข แค่นี้ก็เพียงพอเหลือเฟือไม่ต้องการอย่างอื่น ทำให้เอ่อล้นด้วยความสุขบริบูรณ์ ภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของตนเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบ
หนังคว้ารางวัลใหญ่จากทุกสถาบันในญี่ปุ่นขณะนั้น ประกอบด้วย
Blue Ribbon Awards
– Best Film
– Best Actress (Hideko Takamine)
– Best Screenplay
Kinema Junpo Award
– Best Film
Mainichi Film Concours
– Best Film
– Best Director
– Best Actress (Hideko Takamine)
– Best Screenplay
– Best Sound Recording
ทั้งยังคว้า Golden Globes: Best Foreign Film ร่วมกับอีกสามเรื่อง Genevieve (1953), No Way Back (1953), The Lady of the Camelias (1953)
ปีนั้น Oscar ยังไม่มีสาขา Best Foreign Language Film แต่เรื่องที่คว้า Special/Honorary Award ปีนั้น กลับคือภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นอีกเรื่อง Samurai I: Musashi Miyamoto (1954)
ส่วนตัวหลงใหล ตราตรึง ประทับใจหนังเรื่องนี้อย่างล้นพ้น มีความสวยงามที่สุดเรื่องหนึ่ง แถมเนื้อเรื่องซาบซึ้งกินใจ ชวนหวนระลึกความทรงจำดีๆที่เคยมีให้เพื่อนๆ คุณครู และโรงเรียนเก่า น้ำตาไหลคลอเพราะนี่แหละคือชีวิต
หนังอาจออกไปทาง Tearjerker สักหน่อย แต่นั่นคือมิตรภาพ สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ ที่ถ้าคุณไม่เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นเลย อาจเป็นพวกตายด้านหรือมองโลกในแง่ร้ายเกินไป
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงจะเป็นหนังเด็กแต่ขอแนะนำโดยเฉพาะกับวัยรุ่น/ผู้ใหญ่ ตั้งแต่เรียนจบจากโรงเรียน หนังจะทำให้คุณหวนระลึก เข้าใจคุณค่าความหมายของ ‘ครู’ ผู้เปรียบเสมือนพ่อ-แม่ คนที่สองของเรา
แนะนำกับคุณครูทั้งหลาย, คอหนังดราม่าบีบน้ำตา, ชื่นชอบโรงเรียนและเด็กๆ, หลงใหลอารมณ์ Nostalgia, แฟนๆผู้กำกับ Keisuke Kinoshita และนักแสดง Hideko Takamine ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับทัศนคติ คลั่งชาตินิยมของญี่ปุ่น
Leave a Reply