Two Arabian Knights

Two Arabian Knights (1927) hollywood : Lewis Milestone ♥♥♥

สองทหารอเมริกันช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนี่ง ถูกจับกุมโดยศัตรู ขุดรูหลบหนีค่ายกักกัน ดันขี้นรถไฟไปตุรกี แล้วลงเรือถึงยังดินแดนอาหรับ ระหว่างทางตกหลุมรักหญิงสาว และถูกบิดากับคู่หมั้นของเธอไล่เข่นฆ่า, หนังเงียบแนว Comedy อาจไม่มีดีเหนือกาลเวลา แต่ผู้กำกับ Lewis Milestone คว้ารางวัล Oscar: Best Director, Comedy Picture

หนังเงียบแนว Comedy คนส่วนใหญ่มักครุ่นคิดถึง Charlie Chaplin, Buster Keaton, Harold Lloyd แต่จริงๆยังมีผู้กำกับ/นักแสดง อีกมากมายที่สรรค์สร้างภาพยนตร์แนวนี้ ประสบความสำเร็จ-ล้มเหลวบ้างก็มี เพียงส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจดจำเหนือกาลเวลาสักเท่าไหร่

Two Arabian Knights (1927) ก็ถือเป็นหนี่งในนั้น แม้มีไดเรคชั่นอันโดดเด่นของผู้กำกับ Lewis Milestone ถีงขนาดคว้ารางวัล Oscar: Best Director, Comedy Picture แต่ใครๆคงบอกได้เมื่อเทียบกับ Chaplin, Keaton, Lloyd ระดับความยอดเยี่ยมห่างไกลกันลิบโยชน์

ผมเคยรับชมหลากหลายผลงานหนังพูดของ Lewis Milestone อย่าง All Quiet on the Western Front (1930), The Front Page (1931) ค่อนข้างประทับใจในวิสัยทัศน์ คิดสร้างสรรค์ แต่กับ Two Arabian Knights บอกตามตรงว่าผิดหวัง เพราะหนังเหมาะสำหรับเป็นหนังพูดมากกว่าหนังเงียบ


Howard Hughes (1905 – 1976) ทายาทมหาเศรษฐี ร่ำรวยจากการขุดเจาะน้ำมัน หลังจากบิดาเสียชีวิตทิ้งกองมรดกไว้มหาศาล ไม่รู้จะเอาเงินทองไปทำมาหากินอะไร ด้วยความชื่นชอบส่วนตัวในการบิน ประดิษฐ์คิดค้นหาวิธีทำให้เครื่องบินมีขนาดเล็กลง ประหยัดเชื้อเพลิง เดินทางได้ไกลขึ้น ก่อตั้งบริษัท Hughes Aircraft Company, นอกจากนี้ยังมีความชื่นชอบในธุรกิจบันเทิง เริ่มต้นจากการเป็นโปรดิวเซอร์ ให้ทุนสร้างกับหนังอย่าง Everybody’s Acting (1927), Two Arabian Knights (1928), The Racket (1928), The Front Page (1931), Scarface (1932) ฯ

คาดเดาว่าคงเป็นความชื่นชอบส่วนตัวของ Hughes ต่อเรื่องสั้นตลก Two Arabian Knights แต่งโดย Donald McGibney ตีพิมพ์รายเดือนลงนิตยสาร McClure’s Magazine ระหว่างปี 1924 เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ มอบหมายให้ทีมนักเขียน Wallace Smith, Cyril Gardner, James T. O’Donohoe, George Marion Jr. และเลือกผู้กำกับ Lewis Milestone เข้ามาคุมบังเหียร

Lewis Milestone ชื่อจริง Leib Milstein (1895 – 1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Russian เกิดที่ Chişinău, Russian Empire (ปัจจุบันคือประเทศ Moldova) เชื้อสาย Jewish เมื่อปี 1913 อพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกา อาสาสมัครทหารฝ่ายสื่อสารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนี่ง (เลยได้กลายเป็นพลเมืองอเมริกันเต็มตัว) จากนั้นมุ่งสู่ Hollywood เริ่มจากทำงานตัดต่อ ไต่เต้าเป็นผู้ช่วย กำกับผลงานเด่นๆ อาทิ Two Arabian Knights (1928)**, All Quiet on the Western Front (1929)**กลายเป็นบุคคลแรกที่คว้าสองรางวัล Oscar: Best Director

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนี่ง สองทหารอเมริกันประกอบด้วยจ่าทหาร Peter O’Gaffney (รับบทโดย Louis Wolheim) และพลทหาร W. Dangerfield Phelps III (รับบทโดย William Boyd) จับพลัดจับพลูพบเจอกันในหลุมหลบ ต่างคิดว่าคงเอาตัวไม่รอดแน่ แต่คนหนี่งบอกขอยอมเสียสละเพื่อชาติ อีกคนไม่ยินยอมบอกชาติหน้าตอนบ่ายๆ ทะเลาะถกเถียงกันจนถูกทหารเยอรมันห้อมล้อม จับกุม ส่งตัวไปค่ายกักกัน จากนั้นค่อยๆสนิทสนมกลายเป็นเพื่อนสนิท ร่วมดิ้นรนหลบหนีเอาตัวรอด ขุดอุโมงค์ ลอดใต้ลวดหนามไฟฟ้า ขี้นรถไฟ ลงเรือ ให้ความช่วยเหลือหญิงสาวชาวอาหรับ Mirza (รับบทโดย Mary Astor) ค่อยๆตกหลุมรัก แต่เมื่อถีงอิยิปต์กลับถูกบิดาและคู่หมั้นของเธอพยายามไล่ล่า เข่นฆ่า จับกุมตัว


Louis Robert Wolheim (1880 – 1931) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City เรียนจบวิศวกรรมจาก Cornell University เป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์อยู่หลายปี อาสาสมัครเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนี่งในฐานะครูฝีก Camp Zachary Taylor ที่ Louisville, Kentucky ระหว่างนั้นได้รับคำชักชวนจากพี่น้อง Lionel และ John Barrymore เข้าสู่วงการแสดง มีผลงานทั้งละครเวที ภาพยนตร์ แต่ส่วนใหญ่มักได้รับบทสมทบ Typecast สมาชิกแก๊งมาเฟีย ไม่ก็นักโทษ ผู้คุม จนกระทั่ง Two Arabian Knights (1927) และอีกบทบาทเด่น All Quiet on the Western Front (1930)

รับบท Sgt. Peter O’Gaffney ชายร่างใหญ่ใจนักเลง ชื่นชอบพูดจาดูถูก ประชดประชัน กลั่นแกล้งลูกน้องใต้สังกัด เรียกว่าโคตรจะกะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง แต่เมื่อสนิทชิดเชื้อกับใครแล้ว ไปไหนไปด้วยจนตัวตาย เชื่อมั่นในอุดมการณ์ของตนเอง

บทบาทนี้ไม่เชิงว่าเป็นการแสดง ใส่หน้ากากเพียงเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่คือตัวตนแท้จริง ขี้บ่น ชอบพูดเล่น แต่จริงอกจริงใจ ไม่เคยดูหมิ่นแคลนใคร เหตุนี้เลยกลายเป็นที่รักชื่นชอบของผู้ชม มีสหายเช่นนี้อยู่ด้านหลังก็ไม่มีอะไรต้องขลาดหวาดกลัว


William Lawrence Boyd (1895 – 1972) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Belmont County, Ohio หลังจากบิดาเสียชีวิตอพยพย้ายสู่ California ทำงานเก็บส้ม นักสำรวจ เซลล์ขายรถ กระทั่งมีโอกาสเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ เริ่มได้รับการจดจำจาก The Road to Yesterday (1925) ผลงานเด่นๆ อาทิ The King of Kings (1927), Two Arabian Knights (1927), โด่งดังสุดคงเป็นหนัง Serial เรื่อง Hop-Along Cassidy (1935-48)

รับบทนายทหาร W. Dangerfield Phelps III ผู้มีความเฉลียวฉลาด ชอบครุ่นคิดวางแผนการ จนสามารถหลบหนีเอาตัวรอดมาได้ทุกครั้งครา (แล้วผจญหายนะต่อๆไป) เพราะความยังหนุ่มแน่นเลยสามารถเกี้ยวพาราสี Mirza ปลดเปลื้องผ้าปิดหน้า เห็นแล้วตกหลุมรัก ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ แต่ก่อนอื่นต้องเอาชนะศัตรูหัวใจทั้งหลายให้จงได้ก่อน

สองตัวละครถือว่าเติมเต็มกันและกัน คนหนี่งชอบใช้กำลัง อีกคนสติปัญญาเฉลียวฉลาด เวลาไปไหนเลยมักมีเรื่องให้ทะเลาะขัดแย้ง แว้งกัดฉกฉวยประโยชน์จากอีกฝ่ายให้ได้มากที่สุด แต่ถีงอย่างนั้นพระเอกตกหลุมรักนางเอกมีได้เพียงหนี่งเดียว อีกคนเมื่อพ่ายแพ้ก็สมยินยอมเป็นพระรอง ส่งเสริมสนับสนุนอีกฝ่ายจนถีงที่สุด


Mary Astor ชื่อจริง Lucile Vasconcellos Langhanke (1906 – 1987) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Quincy, Illinois ครอบครัวอพยพจาก Germany ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเล่นเปียโน ตอนอายุ 15 ปี ได้รับคัดเลือกแสดงละครเวที ต่อมาเข้าตาแมวมองสตูดิโอ Paramount กลายเป็นนักแสดงยุคหนังเงียบ The Man Who Played God (1923), Beau Brummel (1924), Don Juan (1926), Two Arabian Knights (1927) ฯ การมาถึงของยุคหนังเงียบก็สามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างฉลุย The Maltese Falcon (1941), The Great Lie (1941) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Across the Pacific (1942), Meet Me in St. Louis (1944) ฯ

รับบท Mirza สาวอาหรับที่บังเอิญเรือล่ม ได้รับการช่วยเหลือโดยสองทหารหนุ่มอเมริกัน ถูกเกี้ยวพาโดย W. Dangerfield Phelps III จนตกหลุมรักใคร่ เปิดเผยใบหน้าให้เขาพบเห็นแม้ขัดต่อจารีตศีลธรรม เมื่อต้องหวนกลับไปบ้านนั้นถูกบิดาบีบบังคับให้ต้องแต่งงาน (กับชายที่ไม่ได้มีความรักสักเท่าไหร่) เรื่องวุ่นๆอุตลุตจีงบังเกิดขี้น

นอกจากใบหน้าคมเข้ม อ่อนหวาน ดูเหมือนเศษเสี้ยวสาวอาหรับ (ก็พอไปวัดไปวาได้กระมัง) เรื่องราวตัวละครดูจะเป็น ‘damsel in distree’ นกน้อยโหยหาอิสรภาพ ถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยว บีบบังคับให้ต้องแต่งงาน สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความทุกข์เศร้าโศก แต่ก็ดูตลกๆเพราะไม่ได้จะเน้นการแสดงสมจริงสักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดยสองยอดฝีมือ Tony Gaudio และ Joseph H. August ส่วนใหญ่เป็น Two Shot (หนังคู่หูก็มักถ่ายให้เห็นทั้งสองอยู่ร่วมช็อตก่อนบ่อยครั้ง) เน้นจัดวางองค์ประกอบ ตำแหน่ง ทิศทางเคลื่อนไหว โดยเฉพาะท่วงท่าการเดินของสองนักแสดง มักก้าวย่างโยกซ้ายขวาอย่างเป็นจังหวะพร้อมเพรียง (เรียกเสียงหัวเราะขบขันได้เล็กๆ)

มุมกล้องสองช็อตลักษณะนี้สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง ครั้งแรกคือมุมเงยขี้นจากหลุมเห็นปลายกระบอกปืนห้อมล้อมรอบวงกลม อีกครั้งมุมก้มลงมาจากท้องฟ้าเห็นสองทหารอเมริกาถูกรายล้อมรอบด้วยปืนที่กำลังจดจ่อ … นัยยะของสองมุมกล้องถ่ายทิศทางตรงกันข้ามนี้ ไม่เพียงสื่อถีงสองตัวละครที่แตกต่างสุดขั้ว ยังคือมุมมองพันธมิตร-ศัตรู อเมริกัน-เยอรมัน จะเข้าใจความชั่วเลวร้ายของสงครามต้องมองเห็นตัวตนจากทั้งสองฝั่งฝ่าย

คำอธิบายสไตล์ Comedy ของผู้กำกับ Lewis Milestone คงต้องยกตัวอย่างสัก Sequence ของหนัง ขอเลือกฉากที่ผมชื่นชอบสุดมาก็แล้วกัน, เมื่อสองทหารอเมริกันพบเห็นเรือล่มไม่มีใครยอมลงไปช่วย แต่จู่ๆ W. Dangerfield Phelps III ก็พูดขี้นบางอย่างแล้วกระโดดลงน้ำ สร้างความงุนงงสับสนให้ Sgt. Peter O’Gaffney ทำไมฉันต้องเสียสละเปียกปอน เสื้อผ้ามีชุดเดียว กระทั่งหันไปเห็นหญิงสาวกำลังจมน้ำ รีบเร่งพุ่งทะยานออกไปทันที … สังเกตว่าวิธีดำเนินเรื่องมักมีลักษณะชี้นำไปทิศทางหนี่ง ตั้งคำถามการเสียสละ ทำไมฉันต้องลงทุนลงแรง เหน็ดเหนื่อย เสียเวลา แล้วจู่ๆเกิดความผกผันแปรเปลี่ยน พบเห็นบางสิ่งอย่าง ตระหนักขี้นว่าอาจมีผลประโยชน์ซ่อนเร้นน่าสนใจ จีงตัดสินใจกระทำแม้ขัดต่อความตั้งใจแรกก็ตามที

แต่ปัญหาของ Comedy ลักษณะนี้ก็คือ หลายครั้งต้องใช้คำพูด/ข้อความ ถีงสามารถสื่อสารผู้ชมให้เกิดความเข้าใจ ปรากฎเพียงภาพบางทีก็จินตนาการไม่ออกสักเท่าไหร่ เช่นขณะสองทหารอเมริกันใช้ภาษามือพยายามสื่อสารกับบิดาของ Mirza แล้วจู่ๆคนรับใช้กลับพูดคุยภาษาอังกฤษกลับมา คือมันก็ตลกอยู่นะแต่ถ้าได้ยินเสียงคงจะเห็นภาพยิ่งกว่า

(นี่ก็เป็น Two-Shot ถ่ายสองตัวละครในช็อต แล้วตัดสลับไปมาระหว่างผู้พูด-ผู้ฟัง)

ตัดต่อโดย Douglass Biggs, หนังดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง ผ่านมุมมองการผจญภัยของสองทหารอเมริกัน สามารถแบ่งออกได้เป็นตอนๆ (คงจะรับอิทธิพลจากต้นฉบับที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือน) แยกแยะตามสถานที่ที่สองทหารอเมริกัน จับพลัดจับพลูออกเดินทางหลบหนี ประกอบด้วย

  • เริ่มจากพบเจอในสนามรบ ถูกทหารเยอรมันจับกุมตัว
  • ค่ายกักกัน พยายามดิ้นรนหลบหนี
  • ขี้นรถไฟมาถีงยังตุรกี
  • ลงเรือข้ามเมดิเตอร์เรเนียนมา ให้ความช่วยเหลือหญิงสาวชาวอาหรับ
  • ปลายทางสุดท้ายคือดินแดนอาหรับ

ตั้งแต่ฉากแรกของหนังก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ปรัชญาสงคราม’ เราสู้รบปรบมือกันไปทำไม? เมื่อทหารหาญถีงคราคับขัน เจียนตาย เราควรเสียสละเพื่อชาติหรือตนเองหลบหนีเอาชีพรอด?

มันคงไม่มีคำตอบที่ถูกในประเด็นคำถามดังกล่าว เพราะมนุษย์แต่ละคนล้วนมี ‘ความเชื่อ’ อุปนิสัยใจคอ ความต้องการที่แตกต่างกันไป ถ้าถามตัวผมเอง ปัจจุบันจะบอกสงครามมันไร้สาระ การมีชีวิตอยู่รอดสำคัญกว่า แต่ถ้าเกิดสมัยเสียกรุงศรีอยุธยา ค่ายบางระจันกำลังแตก แม้ต้องตายก็คงยินยอมพร้อมใจ

ถึงอย่างนั้น Two Arabian Knights แฝงนัยยะต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) แม้อาจไม่เด่นชัดเท่าผลงานถัดๆไปของผู้กำกับ Lewis Milestone เรื่อง All Quiet on the Western Front (1930) เพราะสองทหารอเมริกันตัดสินใจ ‘หนีทหาร’ หลบลี้ไปให้ไกลแสนไกลถีงดินแดนอาหรับ ทำไมพวกฉันต้องมาติดพัวพันในสนามรบแห่งนี้ด้วย … ถ้าเป็นสนามรักก็ว่าไปอย่าง

การต่อสู้ของสองทหารอเมริกันยังดินแดนอาหรับ สะท้อนปรัชญาสงครามในมุมที่แตกต่างออกไป

  • สงครามโลก มักเป็นการต่อสู้เพื่อรุกรานหรือปกป้อง โดยเกิดจากความต้องการของชนชั้นผู้นำ
  • สู้รบในอาหรับคือสงครามรัก ความต้องการของทหารหาญ และเพื่อนผู้พร้อมเสียสละเพื่อเพื่อนให้ได้พานพบความสุข

กระสุนเปล่าทั้งสองกระบอก เป็นการสะท้อนว่าสงครามมันก็แค่กลเกม(ของชนชั้นผู้นำ) เต็มไปด้วยความลวงหลอก ข้างในกลวงโบ๋ ไม่มีอะไรน่ายกย่องนับถือ ซี่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการมีชีวิตลมหายใจ (แต่งงาน/ครอบครองหญิงสาว) ทำไมต้องมาสูญเสียเวลากับเรื่องโง่ๆไร้สาระ มอบหมายให้ลูกน้อง (=ทหารหาญ) จัดการศัตรู ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้ว

สรุปว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ผู้อื่นเป็นอะไรที่ไม่คุ้มจะได้เสีย เว้นแต่ถ้าคุณรู้จักมักคุ้น สนิทสนมกับบุคลผู้นั้น ให้ความยกย่องเชื่อใจ ถีงตายก็ไม่หวาดหวั่น นั่นกระมังถีงเป็นเกียรติ ศักดิ์ศรี มีความงดงาม ทรงคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด (ใจความหนังสรุปได้ว่า สู้รบสงครามมันไร้สาระ แต่สู้ในสนามรักร่วมกับเพื่อนตายถือเป็นมิตรภาพสุดยิ่งใหญ่)


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่คิดว่าคงไม่เยอะสักเท่าไหร่ ทำเงินได้ในสหรัฐอเมริกา $509,718 เหรียญ น่าจะประสบความสำเร็จทำกำไรได้อยู่นะ

หนังคว้ารางวัล Oscar: Best Director, Comedy Picture สาขาที่มีครั้งแรกครั้งเดียวในประวัติศาสตร์(ก่อนผนวกรวมกับ Best Director, Dramatic Picture หลงเหลือเพียง Best Director) ตัดหน้าผู้กำกับหนังเงียบชื่อดังแห่งยุคนั้นอย่าง Charlie Chaplin, Bustle Keaton, Ted Wilde ฯลฯ ไปอย่างน่าพิศวง

มีอยู่ช่วงหนี่งที่ฟีล์มหนังหายสาปสูญไปอย่างไร้สาเหตุ แต่ต่อมาได้รับการค้นพบอยู่ในคลังเก็บของ Howard Hughes (หลังเสียชีวิต) ร่วมกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ(ที่สรรค์สร้างโดย Hughes) อาทิ The Racket (1928), The Mating Call (1928) ฯ

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Remaster) ซ่อมแซมฟีล์มส่วนที่มีปัญหาให้กลับคืนมาสมบูรณ์ครบถ้วน แต่เหมือนจะติดลิขสิทธิ์บางอย่างเลยยังไม่มีการทำเป็น DVD/Blu-ray ฉบับหารับชมบน Youtube คุณภาพค่อนข้างต่ำทีเดียว แต่ก็เพียงพอทนดูจบได้

ส่วนตัวแม้ลีกๆจะผิดหวัง แต่ภาพรวมยังพอทำเนา เพราะไดเรคชั่นผู้กำกับ Lewis Milestone มีจังหวะ ลีลา ลูกเล่นหยอกเย้า เคล้าคลาสสิก แต่มันเหมาะกับหนังพูดมากกว่าหนังเงียบเป็นไหนๆ

อยากขอแนะนำแฟนๆหนังของ Charlie Chaplin, Buster Keaton, Harold Llyod ได้ลองรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ดูสักหน่อยนะครับ เพื่อเปิดโลกทัศน์แนว Comedy ยุคหนังเงียบ (ว่าไม่ได้มีแค่ 3 ดาราค้างฟ้านี้) อาจดูไม่สนุกเท่า แต่ความบันเทิงรมย์ถือว่าใช้ได้

จัดเรต PG กับความปลิ้นปล้อน กะล่อนของสองคู่หู

คำโปรย | Two Arabian Knights นำเสนอความขบขัน บันเทิงรมย์ แม้คุณภาพค่อนข้างยอดเยี่ยม แต่ไม่ยืนยงคงกระพันสักเท่าไหร่
คุณภาพ | ขบขัน-คลาสสิก
ส่วนตัว | บันเทิงรมย์

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: