Ugetsu (1953) : Kenji Mizoguchi ♥♥♥♥♡
(15/11/2017) ชายสองพี่น้อง หนึ่งถูกความโลภของเงินตราเข้าครอบงำ อีกหนึ่งหลงใหลในชื่อเสียงความสำเร็จ พวกเขากำลังได้รับการทดสอบด้วยบทเรียนอันทรงคุณค่า ก่อนค้นพบเจอความต้องการสูงสุดของชีวิต, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Ugetsu Monogatari เป็นภาพยนตร์ได้รับการยกย่องว่าคือหนึ่งใน Masterpiece ของโลกตะวันออก เต็มเปี่ยมทรงคุณภาพทั้งศาสตร์และศิลป์ เปิดโลกทัศน์ชาวตะวันตกเคียงคู่กับ Rashômon (1950) ของผู้กำกับรุ่นน้อง Akira Kurosawa และ Tokyo Story (1953) ของ Yasujirō Ozu ผนึกกำลังสามประสาน ในทศวรรษยุคทองของวงการภาพยนตร์เอเชีย
ผมเคยรับชม Ugetsu เมื่อครั้นนานมาแล้ว แต่จดจำเรื่องราวอะไรไม่ได้เท่าไหร่ ปกติถ้าหนังดีมากๆก็จะไม่ค่อยลืมนะ มาทบทวนตัวเอง ก็คิดว่าน่าจะจากเรื่องราวมีความเชยคลาสิก คนเห็นแก่เงินทองกับคนเห็นแก่ชื่อเสียงยศฐา มีภาพยนตร์เป็นร้อยๆเรื่องที่ลักษณะพล็อตคล้ายๆกันนี้ แตกต่างที่บริบท แรงจูงใจ วิธีการนำเสนอ ฯ มันจึงไม่แปลกที่สมัยก่อนดูหนังแบบผ่านๆเน้นปริมาณวันละ 5-6 เรื่อง จะทำให้ผมหลงลืมสนิท ไม่ทันสังเกตพบเห็นความสวยงามยิ่งใหญ่
กลับมา Revisit ครั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 2 ปีของบล็อค และเพื่อเปิดประเดิมต้นกำเนิดหนัง Horror สุดหลอนของฝั่งเอเชีย นี่เป็นหนังผีที่จะทำให้คุณขนลุกขนพองกับบรรยากาศ และเรื่องราวของหญิงสาว ที่ตอนแรกๆมาดีแต่กลับกลายเป็นวิญญาณอาฆาตมาดร้าย ล่อลวงหลอกผู้ชายแต่งงาน ไม่ยอมไปผุดไปเกิดเสียที
Kenji Mizoguchi (1898-1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hongo, Tokyo มีพี่น้องสามคน ครอบครัวมีฐานะยากจน ทำให้พ่อต้อง’ขาย’พี่สาวคนโตให้กลายเป็นเกอิชา นี่ทำให้ Mizoguchi ปฏิเสธต่อต้าน มีความก้าวร้าวขัดแย้งต่อพ่อตลอดชีวิต, เมื่อแม่ของเขาตาย พี่สาว(ที่เป็นเกอิชา)ให้การช่วยเหลือส่งเสียรับเลี้ยงดู เริ่มจากสอนตัดเย็บออกแบบ Kimonos, Yukata ส่งเรียนวาดรูป ต่อมาแสดงความสนใจการแสดง Opera นั่นทำให้มุ่งสู่เส้นทางการเป็นผู้กำกับ
ในยุคหนังเงียบ รับอิทธิพลจาก German Expressionism สร้างภาพยนตร์กว่า 50 เรื่อง (ส่วนใหญ่สูญหายไปหมดแล้ว) จนกระทั่งปี 1936 เริ่มสร้างภาพยนตร์แนวจริงจัง Socialist เรื่อง Osaka Elegy กับ Sisters of the Gion จนกระทั่ง The Story of the Last Chrysanthemums (1939) คว้ารางวัลพิเศษของกระทรงศึกษาธิการ ถือเป็นครั้งแรกที่สไตล์ลายเซ็นต์ ‘one-scene-one-shot’ ได้ถือบังเกิดขึ้น, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกการบีบบังคับจากรัฐบาลให้สร้างหนังชวนเชื่อ โด่งดังกับ The 47 Ronin (1941) และแนว Jidai Geki (Historical Drama), หลังสงครามจบ เป็นช่วงเวลาที่ประสบการณ์ทำงานของ Mizoguchi เบ่งบานถึงสูงสุด มีหนัง 3 เรื่องที่กลายเป็นตำนานคือ The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953) และ Sansho the Bailiff (1954) น่าเสียดายอายุสั้นไปนิด เสียชีวิตปี 1956 สิริอายุ 58 ปี
หลังความสำเร็จกับ The Life of Oharu (1952) ทำให้ Mizoguchi ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนสนิท Masaichi Nagata และโปรดิวเซอร์ของ Daiei Motion Picture Company หรือ Daiei Film (โลโก้ตอนต้นเรื่องที่เป็นสิงโตทองมีปีก) ให้ทำหนังทุนสร้างสูงขึ้น
นำแรงบันดาลใจจาก Ugetsu Monogatari หนังสือรวบรวม 9 เรื่องราวเหนือธรรมชาติ (ก็เรื่องเกี่ยวกับผีนะแหละ) เขียนโดย Akinari Ueda ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1776 นำมาจากนิทานพื้นบ้าน Folklore ของจีนและญี่ปุ่น โดยใช้พื้นหลังในยุค Edo Period (1603–1868) กลางศตวรรษที่ 18
เกร็ด: คำว่า U แปลว่าฝน, Getsu แปลว่าพระจันทร์, Ugetsu Monogatari จึงแปลได้ว่า Tales of Moonlight and Rain
Mizoguchi เลือกเรื่องมา 2 เรื่องนำไปใช้เป็นพล็อตของตัวละคร Genjurō
– The Lust of the White Serpent (Jasei no In) เรื่องราวของปีศาจงูขาวที่ปลอมตัวเป็นเจ้าหญิง ล่อลวงหลอกผู้ชาย (ถ้าใครเคยอ่านนิยาย/ภาพยนตร์จีน น่าจะคุ้นๆชื่อ นางพญางูขาว)
– The House in the Thicket (Asaji ga Yado) เรื่องราวของชายคนหนึ่งจากบ้านไปนาน พอเดินทางกลับพบเจอวิญญาณของภรรยาที่ได้สูญสิ้นชีวิตไปแล้ว ยังคงวนเวียนรอคอยเขาอยู่
ขณะที่เรื่องของ Tōbei ได้แรงบันดาลใจจากนิยายเรื่อง Décoré! (How He Got the Legion of Honour) แต่งโดย Henri René Albert ‘Guy de Maupassant’ (1850 – 1893) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส แนว Naturalism, Realism เมื่อปี 1883 เรื่องราวของชายคนหนึ่งทอดทิ้งภรรยาสาวไว้เบื้องหลัง กลายเป็นทหารและทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ประดับเหรียญเกียรติยศ Legion of Honour แต่พอกลับบ้านก็พบว่า …
มอบหมายให้นักเขียนบทขาประจำ Yoshikata Yoda พัฒนาด้วยใจความ ‘anti-war’ นำเสนอผลกระทบความรุนแรงของสงครามที่มีต่อผู้คน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
“Whether war originates in the ruler’s personal motives, or in some public concern, how violence, disguised as war, oppresses and torments the populace both physically and spiritually… I want to emphasize this as the main theme of the film.”
พื้นหลังปลายศตวรรษที่ 16 (Edo Period) จังหวัด Ōmi Province ณ หมู่บ้านชนบท Nakanogō ติดทะเลสาบ Lake Biwa,
Genjurō ใช้เวลาว่างจากการทำนา ฝึกหัดปั้นดินเผาจนมีประสบการณ์ช่ำชองอย่างสูง ครั้งหนึ่งนำถ้วยจานชามไปขายในเมืองได้เงินกลับมา เกิดความละโมบหน้ามืดตามัวหลงใหลในเศษเหรียญทอง ต้องการได้เงินมากไปกว่านี้อีก โดยไม่สนใจว่าสงครามกำลังคืบคลานเข้ามา และความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบ
รับบทโดย Masayuki Mori (1911 – 1973) นักแสดงยอดฝีมือจาก Hokkaido เด็กปั้นของ Akira Kurosawa โด่งดังจาก Rashomon (1950), The Idiot (1951), The Bad Sleep Well (1960) ฯ ไฮไลท์ในอาชีพคือ Ugetsu (1953) กับ Floating Clouds (1955) ฯ
ปกติแล้วภาพลักษณ์ของ Mori จะเป็นหนุ่มไฮโซ ผู้ดีชั้นสูง หล่อเหลาสาวติด แต่สำหรับ Genjurō แทบจะตรงกันข้าม หนุ่มบ้านๆ แต่งตัวเซอะเซิง ผมเผ้ารุงรัง แต่มีความทะเยอทะยานหวังสูง พอได้พบเจออยู่กินกับ Lady Wakasa กลับดูไม่เข้าที่เข้าทาง เก้งๆกังๆ รับรู้ตัวได้ว่านี่เป็นสถานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง
เกร็ด: ตัวอักษรที่เขียนบนตัว Genjurō เรียกว่า Kaidan เป็นแรงบันดาลใจให้หนัง J-Horror ในตำนานเรื่อง Kwaidan (1965) ที่คว้ารางวัล Special Jury Prize (ที่ 2) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
Miyagi ภรรยาสาวของ Genjurō อยู่กินกันมานานมีลูกชาย 1 คน, เธอเป็นผู้หญิงง่ายๆ ไม่ได้ต้องการอะไรเลิศหรูหรา เงินทองหรือความสุขสบายกาย แค่เพียงความพึงเพียงพอ ได้อยู่ใกล้ชิดทำงานร่วมกับสามี แค่นี้ก็สุขขีสบายแฮ
รับบทโดย Kinuyo Tanaka (1909 – 1977) นักแสดงหญิงชื่อดังจาก Shimonoseki, Yamaguchi ขาประจำของ Mizoguchi เริ่มมีผลงานการแสดงตั้งแตปี 1924 เริ่มรับบทนำจาก I Graduated, But… (1929) ของ Yasujirō Ozu, แสดงในหนังพูดของญี่ปุ่นเรื่องแรก The Neighbor’s Wife and Mine (1931), โด่งดังกับภาพยนตร์ซีรีย์ที่มีชื่อตัวเองขึ้นต้น อาทิ Kinuyo Monogatari (1930), Joi Kinuyo Sensei (1937), Kinuyo no Hatsukoi (1940), และยังเล่นหนังเรื่องทำเงินสูงสุดในญี่ปุ่นก่อนช่วงสงครามโลก Flower in Storm (1938), ร่วมงานกับ Mizoguchi ครั้งแรก A Woman of Osaka (1940) น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองร่วมงานกันต่อเนื่องถึง 15 เรื่อง
ไฮไลท์ที่ทำให้เธอกลายเป็นตำนานระดับนานาชาติ ประกอบด้วย The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953), Sansho the Bailiff (1954), The Ballad of Narayama (1958), Red Beard (1965), และ Sandakan N° 8 (1974) คว้ารางวัล Silver Bear: Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
แม้ผู้ชมจะแทบไม่เห็นใบหน้าของ Tanaka แบบชัดๆ แต่ท่าทางการเคลื่อนไหว คำพูดน้ำเสียง มีความนุ่มนวล อ่อนไหว รักทุ่มเทกายใจให้สามีอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงท้ายเมื่อเห็นเขากลับบ้าน เปี่ยมล้นเอ่อด้วยความสุขใจ อาจต้องถือว่าเป็นความตายที่มีค่ายิ่งสำหรับเธอ
Lady Wakasa อาศัยอยู่ที่คฤหาสถ์ตระกูล Kutsuki ถูกฆ่าโดยทหารของ Oda Nobunaga เพราะความที่ยังสวยสาวมิได้ลิ้มลองพบเจอความรัก (อาจจะยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง) จึงหวนกลับคืนโลกมนุษย์พร้อมกับคนใช้ ล่อลวงหลอกชายหนุ่มที่หลงเข้ามาติดกับ, หลังจากได้พบเจอกับ Genjurō ที่มีฝีมือปั้นดินเผาเป็นเลิศ ใช้เสน่ห์เล่ห์มารยา ชักจูงให้เข้ามาติดกับ ขอให้เขาแลกทุกสิ่งอย่างเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับเธอตราบชั่วนิรันดร์ แต่โชคดีได้รับการช่วยเหลือจากพระรูปหนึ่ง เขียนยันต์ไว้เต็มตัว ธาตุแท้ของเธอจึงถูกเปิดเผยออกมา
รับบทโดย Machiko Kyō (เกิดปี 1924) นักแสดงจาก Yano Motoko, Osaka ก่อนเข้าวงการภาพยนตร์เป็นนักเต้น (Revue Dancer) แล้วอยู่ดีๆก็ได้แจ้งเกิดโด่งดังกับ Rashomon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ตามด้วย Ugetsu (1953), Odd Obsession (1959), The Face of Another (1966) ฯ โกอินเตอร์ประกบ Marlon Brando เรื่อง The Teahouse of the August Moon ได้เข้าชิง Golden Globe: Best Supporting Actress
น่าจะเพราะเคมีของ Kyō กับ Mori ใน Rashomon ที่ Mizoguchi เลือกทั้งคู่มารับบทนี้ แถม Kyō ในเรื่องนั้นยังเคยรับบทในตอนหนึ่งที่หญิงสาวเสียชีวิตไปแล้วถูกเรียกวิญญาณกลับคืนร่าง, สำหรับบท Lady Wakasa รู้สึกว่าเธอดูอวบอ้วนไปสักหน่อย (แต่อาจเพราะชุดที่สวมใส่) ใบหน้ากลมป่องเหมือนพระจันทร์ โกนคิ้วแล้วแต้มจุด (นี่เป็นราวกับหน้ากากของการแสดง Noh) วางตัวเหมือนผู้ดี เล่นตัวได้อย่างน่ารักน่าชัง และขับร้องบรรเลง Biwa เสนาะไพเราะจับใจ
Tōbei ชายหนุ่มมีความเพ้อฝันทะเยอทะยานอยากเป็นซามูไร ติดตามพี่นำถ้วยชามไปขาย ได้เงินเอาไปซื้ออาวุธและชุดเกราะ ถึงภาพลักษณ์ภายนอกจะเหมือนซามูไรแล้ว ก็เหลือเพียงต้องทำอะไรสักอย่างให้กลายเป็นที่นับหน้าถือตา ถึงจะมีโอกาสกลายเป็นยอดซามูไร
Eitaro Ozawa (1909 – 1988) นักแสดงจาก Tokyo ผลงานเด่นอาทิ Morning for the Osone Family (1946), Scandal (1950), The Crucified Lovers (1954), Godzilla 1985 (1984) ฯ
ตอนกลายร่างเป็นซามูไร Ozawa มิอาจสลัดภาพหนุ่มบ้านนอกคอกนา ไร้ซึ่งสง่าราศีจับ เห็นได้ชัดว่าเป็นการสวมหัวโขน โกหกปลิ้นปล้อนหลอกลวง ถ้ายังฝืนอยู่ต่อสักวันคงถูกจับได้ว่าเป็นตัวปลอมแน่ๆ
Ohama หญิงสาวที่รักสามีมาก ตามติดเขาไปทุกที่ แต่ครั้งหนึ่งเมื่อหาตัวไปไม่พบ (สามีแอบหนีไปซื้ออาวุธกับชุดเกราะเพื่อกลายเป็นซามูไร) ถูกฉุดคร่าไปข่มขืน สูญสิ้นศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง แต่ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เลยตัดสินใจกลายเป็นโสเภณี ใช้เรือนร่างแลกเงินทอง หวังว่าสักวันจะมีโอกาสได้พบและบอกกับ Tōbei ว่าความทะเยอทะยานสู่จุดสูงสุดของเขา แลกมากับภรรยาที่ตกต่ำถึงขีดสุดเช่นกัน
Mitsuko Mito (1919 – 1981) นักแสดงหญิงจาก Fukushima ผลงานเด่น อาทิ There Was a Father (1942), Samurai Trilogy (1954 – 1956) ฯ
เห็นว่าตอนจบเดิมของคู่นี้ พวกเขาไม่ได้ปรับความเข้าใจกันแล้วเดินทางกลับบ้านนอก อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสันติ แต่เป็นในซ่องประเวณี Tōbei เห็นสภาพดังกล่าวจึงเลือกหันหลังให้ภรรยา มุ่งหน้าต่อสู่การเป็นซามูไรที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงกว่าเดิม
หนังเรื่องนี้ ผู้ชายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน (อุดมการณ์ของชาวตะวันตก) ขณะที่ผู้หญิงจักมีความพึงพอเพียง เข้าใจชีวิต รับรู้ความต้องการของตนเองมากกว่า (แนวคิดของชาวตะวันออก)
สิ่งโดดเด่นมากๆใน Ugetsu คือการถ่ายภาพโดยขาประจำ Kazuo Miyagawa ด้วยแนวคิดที่คล้ายกับ Yasujirō Ozu คือ 1 ซีนเท่ากับ 1 ช็อต (one-scene-one-shot) แต่สิ่งที่แตกต่างคือ กล้องของ Ozu จะไม่เคลื่อนไหว แต่กล้องของ Mizoguchi จะเคลื่อนไหวไปมา, เห็นว่าประมาณ 70% ของการถ่ายภาพ ใช้เครนเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทั้งขึ้นลงซ้ายขวา เคลื่อนไหวล่องลอยไปแทบทุกทิศทางราวกับความฝัน/จินตนาการ
นักวิจารณ์เปรียบลักษณะแพนกล้องในแนวยาว มีความคล้ายการเลื่อนเปิดภาพวาด ‘to unroll seamlessly like a scroll-painting.’ มีคำเรียกว่า Scroll Shot, ในฉากแรกสุดเปิดเรื่อง เป็นการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ (landscape) ด้วยการหมุนกล้อง (pans camera) จากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นผู้คน ทุ่งนา บ้าน ผ่านต้นไม้ ไปจบที่บ้านของพระเอก (นำมาเรียงร้อยต่อ จะได้ภาพ panorama)
ไฮไล์ของ Scroll Shot เริ่มตั้งแต่ในบ่อน้ำร้อน Genjurō กับ Lady Wakasa (มีการใช้มุมกล้องที่ทำให้เราไม่เห็นร่างเปลือยของหญิงสาว แต่จินตนาการได้ว่าทั้งคู่กำลังจะมี Sex กัน) กล้องเลื่อนเคลื่อนเห็นผิวน้ำกระเพื่อม ผ่านก้อนดินหิน ไปจนเห็นทั้งสองอีกมุมหนึ่งกำลังหยอกล้อเล่นกันบนทุ่งหญ้าในสวน, ผมเพิ่งได้สังเกตช็อตนี้อย่างละเอียด ถึงได้พบการเฟดภาพเปลี่ยนฉากจางๆ ขณะกล้องเลื่อนผ่านพื้นดิน เพราะหนังเป็นภาพขาว-ดำ ถ้าไม่ทันสังเกตฉุกชะล่าใจ อาจหลงคิดว่าเป็นการแพนกล้องต่อเนื่องจริงๆ
อีกฉากไฮไลท์ของหนัง ได้รับการยกย่องโดย Martin Scorsese ที่ทำให้เขาขนลุกขนพองกับบรรยากาศ ต้องหยิบหนังเรื่องโปรดนี้มารับชมอย่างน้อยปีละครั้ง นั่นคือ การล่องเรือข้ามทะเลสาบ Biwa ทั้งฉากนี้สร้างขึ้นในสตูดิโอ ใช้เครื่องทำควันสร้างหมอก ทำให้มองไปข้างหน้าไม่เห็นอะไรทั้งนั้น ใช้เครนในการถ่ายทำทั้งหมด, ฉากนี้มีความงดงามมากๆ สร้างบรรยากาศได้หลอนหลอกสะพรึง เปรียบเทียบกับชีวิตและการเดินทาง อนาคตดินแดนข้างหน้าที่มิอาจคาดเดา ไม่รู้จะได้พบเจออะไร
ฉากล่องเรือ ต้องเปรียบเทียบกับหนังเรื่องคือ Sunrise (1927) และหนัง Bollywood เรื่อง Awara (1951) ทั้ง 2 เรื่องนี้ ต่างใช้การสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอเหมือนกัน นัยยะสื่อความหมายก็คล้ายๆด้วย
แม้มันจะดูสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมากในการสร้างฉากเหล่านี้ขึ้น แต่เพื่อสามารถควบคุมปัจจัยภายนอกที่อาจเกิดขึ้นในการถ่ายทำสถานที่จริง อาทิ กระแสน้ำไหล ลมพัดแรง การจัดแสง ทิศทางมุมกล้อง ฯ
ตัดต่อโดย Mitsuzō Miyata, ดำเนินเรื่องโดยใช้ 4 ตัวละครหลัก แบ่งออกเป็น 4 องก์
1. Genjurō กับ Tōbei ตั้งเป้าหมายและออกเดินทาง องก์นี้ทั้ง 4 ตัวละครหลักจะอยู่ร่วมหัวจมท้าย จบที่การออกเดินทางล่องเรือ
2. ความสำเร็จของ Genjurō กับ Tōbei ทำให้พวกเขาหลงระเริงกับสิ่งที่ได้มา ขณะที่ Miyagi กับ Ohama กำลังมุ่งสู่หนทางแห่งหายนะ, การตัดต่อจะแยกเรื่องราวทั้ง 4 ของใครของมัน ไม่มีใครอยู่ร่วมฉากกัน
3. เมื่อ Genjurō ล่วงรู้ความจริงของ Lady Wakasa และ Tōbei พบเจอ Ohama ภาพลวงตาที่เกิดขึ้นกับพวกเขาได้พลันแตกกระจัดกระจาย, องก์นี้พวกเขากลับมารวมกันเป็นคู่ แยกเล่าเหลือสองเรื่องราว
4. ถึงเวลากลับบ้าน พวกเขาทั้ง 4-1 หวนกลับคืนมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง พบเจอเป้าหมายความต้องการสูงสุดของชีวิต
แต่ว่าไปเหมือนหนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Ohama หลายครั้งได้ยินเสียงบรรยายครุ่นคิดของตัวละครล่องลอยมา แล้วเพราะตอนท้ายเธอกลายเป็นผี ก็มีความเป็นไปได้ที่นั่นจะเป็นเสียงของ…
เพลงประกอบโดย Fumio Hayasaka เปิดเรื่องมาจะได้ยินเพลงประกอบที่หลอกหลอนโหย เสียงแหลมบาดหู เสียดแทงไปถึงขั้วหัวใจ นี่เป็นผลลัพท์จากการผสมเครื่องดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่นในสไตล์ Geza เข้ากับ Kabuki ทั้งยังเสียงขับกล่อมร้องเพลง Biwa ของตัวละคร Lady Wakasa ทำให้หนังมีกลิ่นอายประเทศญี่ปุ่น ยุคสมัย Edo อยู่เต็มๆ
(จริงๆผมก็ไม่รู้หรอกนะว่า ดนตรียุคสมัย Edo เป็นอย่างไร แต่ความที่ใช้เพียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น เรียกว่ามีกลิ่นอายแนว Period น่าจะตรงกว่า)
เห็นว่า Mizoguchi ไม่ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอะไรในส่วนเพลงประกอบเลยนะครับ มีความเชื่อใจแบบร้อยทั้งร้อย ซึ่ง Hayasaka ได้ไปขอความช่วยเหลือจาก Ichiro Saito กับ Tamekichi Mochizuki ที่มีความเชี่ยวชาญบทเพลงแนว Period มากกว่า ทำให้ผลลัพท์ออกมามีความสมจริง ตรงต่อยุคสมัยมากขึ้น
ตอนที่ Genjurō ล่วงรู้ความจริงของ Lady Wakasa บทเพลงมีลักษณะเหมือนเสียงสวดมนต์ (Chanting) แต่ผมฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออกเลยไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นบทอะไร แต่ให้สัมผัสความโหยหวนขนหัวลุก หลอกหลอนไปถึงขั้วหัวใจ
ถึง Ugetsu จะถูกมองว่าเป็นหนังผี แต่ไม่ใช่ผีตุงแช่โผล่ออกมาให้เราสะดุ้งตกใจกลัว มีลักษณะหญิงสาวตนหนึ่งปรากฎให้เราตกหลุมรักหลงใหล ตามด้วยความพิศวงสงสัย แล้วถูกหักหลังหลอกลวงหลอน ซึ่งความหวาดสะพรึงกลัวที่ผู้ชม/ตัวละคร ได้พบเจอนั้น เกิดจากความไม่รู้เท่าถึงการ ความจริงของบางสิ่งมันช่าง เสียวสันหลังวาปเสียเหลือเกิน
การใส่เรื่องผีเข้ามาในหนัง อาจถือได้ว่ามีนัยยะ ‘ความเพ้อฝัน’ เพราะ Genjurō จุดประสงค์ของการมีเงิน ก็เพื่อสนองความโลภของตัวเอง นั่นทำให้เขาจินตนาการ (Fantasy) อะไรๆขึ้นมาหลายอย่าง เมื่อมีเงินก็สามารถซื้อ Kimono ให้ภรรยา ซื้อขนมให้ลูก จากนั้นก็ยังฝันต่อ ถ้ายิ่งมีเงินมากๆ อาจจะได้แต่งงานอยู่กิน ตกถังข้าวสารกับหญิงชั้นสูง ผู้ดีมีชาติตระกูล หลงใหลชื่นชมในผลงานฝีมือของตน แต่แทนที่ Mizoguchi จะใช้การนำเสนอในลักษณะเรื่องราวของความเพ้อฝัน ก็เปลี่ยนไปนำความเชื่อเรื่องผีสาง อ้างอิงจาก Ugetsu Monogatari มันให้ Impact มีความทรงพลังกว่าเยอะ
ขณะที่เรื่องราวของ Tōbei ก็มีความหลอกหลอนไม่แพ้กัน เมื่อเขาสามารถไต่เต้าจนกลายเป็นซามูไรได้ตามฝัน พอพบเจอภรรยา Ohama ในสภาพที่ … ก็ลองจินตนาการตามดูเองนะครับ ภรรยาหรือลูกสาวของคุุณที่รักยิ่ง วันหนึ่งรับรู้ว่าขายเรือนร่างตัวเองให้ชายอื่น ส่วนใหญ่คงยินยอมรับไม่ได้แน่ แต่สำหรับคนที่สามารถวางตัวเป็นกลางและให้อภัย นี่จะเป็นเหตุการณ์ที่’เปลี่ยนแปลง’คนได้โดยทันที
อีกหนึ่งความหลอกหลอน ณ ตอนท้ายของหนัง คนส่วนใหญ่คงเกิดความสงสัย ไม่ใช่ว่า Miyagi น่าจะเสียชีวิตไปแล้วหรือ? แต่ไฉนโผล่ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้ง หรือมีใครช่วยเหลือให้ยังมีชีวิตรอดอยู่ได้ แต่เมื่อความจริงเฉลยออก แท้จริงแล้วเธอคือผีตัวที่สองที่ Genjurō พบเจอ (ตีความได้อีกแบบคือ จินตนาการที่ Genjurō ต้องการพบเจอ) จิตใจของหลายคนคงตกวูบสู่ตาตุ่ม หมดสิ้นพลังและเรื่ยวแรง นี่สินะคือสิ่งที่เขาต้องแลกมาเพื่อความเพ้อฝันประสบความสำเร็จ
Ugetsu สอนเราให้มองทุกสิ่งรอบตัว เมื่อต้องการทำอะไรบางอย่าง ควรจะคิดถึงห่วงคำนึงผู้คนรอบข้างด้วย โดยเฉพาะครอบครัวและญาติสนิทมิตรพี่น้อง พวกเขาอาจได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เราทำ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผมถือว่าประเด็นนี้น่าสนใจกว่า ‘อย่าให้ความโลภหรือความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำจิตใจ’ เสียอีก ยกตัวอย่างง่ายๆ เดินตามท้องถนนห้างสรรพสินค้าทุกวันนี้ วัยรุ่นผู้คนมากมายมักที่จะก้มหน้าก้มตากดเล่นโทรศัพท์มือถืออย่างไม่สนใจใคร แล้วอยู่ดีๆมีคนเดินมาชนเราล้มลงโทรศัพท์พัง นี่มันความผิดใคร? เค้าที่อาจไม่ได้ตั้งใจ หรือคุณที่เอาแต่ไม่สนใจใคร
ความโลภละโมบ (โลภะ) เพ้อฝันทะเยอทะยาน (โมหะ) เป็นกิเลสที่ติดตัวอยู่กับมนุษย์ทุกคน ตราบใดยังไม่บรรลุหลุดพ้นคงไม่สามารถตัดทิ้งออกได้ บทเรียนจากภาพยนตร์เรื่องนี้สอนถึงความมากเกินไป โลภและหลงโดยไม่สนผู้อื่นอย่างหน้ามืดตามัว นี่ย่อมทำให้เกิดผลกระทบ ข้อแลกเปลี่ยน ที่มันอาจมีมากรุนแรงเกินยอมรับก็เป็นได้
ผมรับชมหนังของ Mizoguchi มาทั้งหมด 3 เรื่อง พบว่าสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนา (หรืออาจจะชินโต) เป็นองค์ประกอบสำคัญ กล่าวคือ ค้นหาเป้าหมายแท้จริงของชีวิต เรียนรู้การปล่อยวาง และเลือกทางสายกลาง ดั่งผลลัพท์สุดท้ายของตัวละครทั้ง 3 เรื่อง
– The Life of Oharu นางเอกบวชชี เดินทางสายกลาง
– Sansho the Bailiff พระเอกลาออกจากราชการ ทิ้งลาภยศสรรเสริญ เพื่อตามหาแม่
– Ugetsu ตัวเอกทั้งสองเข้าใจสัจธรรมชีวิต สุดท้ายเลือกใช้ชีวิตอย่างเพียงพอดี ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้
สังเกตว่า ตัวละครเพศหญิงในหนังของ Mizoguchi มักมีความสลับซับซ้อน พบเจอเรื่องราวทุกข์ร้าย ตกระกำลำบากยากเข็น นี่เป็นการสะท้อนสิ่งที่ผู้กำกับพบเจอเข้ากับตนเอง พี่สาวที่ถูกพ่อขายให้เป็นโสเภณี ช่วยเหลือน้องชาย (Mizoguchi) ให้สามารถเติบโตมีชีวิตเอาตัวรอด จนเติบใหญ่ประสบความสำเร็จ หนี้บุญคุณนี้ได้รับการตอบแทนโดยสอดแทรกใส่ในผลงานภาพยนตร์ของ Mizoguchi แทบทุกเรื่อง
อีกหนึ่งใจความที่ Mizoguchi สอดใส่เข้ามาอย่างชัดเจนคือ ผลกระทบของสงคราม ที่ทำให้ทุกหมู่เหล่าได้รับผลกระทบรุนแรง ผู้คนต่างมีจิตใจโฉดโหดชั่วร้าย ‘โลภละโมบ’ เห็นแก่ตัว ‘โหยกระหายชัยชนะ’ ขาดซึ่งจิตสามัญสำนึก ไร้ศีลธรรมมโนธรรม ไม่สนใจใยดีผู้อื่น ปฏิบัติตัวแสดงออกราวกับสัตว์นรกเดรัจฉาน (เรื่องราวของสองตัวละครหลัก สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพื้นหลังสงครามของหนังได้อย่างลงตัว)
ปีที่หนังออกฉาย เพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาไม่กี่ปี ช่วงกระแสต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) กำลังคุกกรุ่น สงครามเย็นใกล้ปะทุขึ้น นี่กระมังที่ทำให้หนังได้รับการยกย่องจากชาติตะวันตกอย่างยิ่ง
หลังเข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามา 2 รางวัล ประกอบด้วย
– Silver Lion: Best Director
– Pasinetti Award
นอกจากนี้ยังได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Costume Design, Black-and-White ก็ไม่รู้หลงเข้าไปได้อย่างไง
ส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างยิ่ง ในความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ สวยงามตราตรึง โดดเด่นสูงค่าทั้งศาสตร์และศิลป์ แฝงข้อคิดที่อาจจะคลาสสิกไปสักนิด แต่ถือเป็นสัจธรรมจริงแท้ตลอดกาล ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่ภาพยนตร์’สอนคน’ ทั้งสอนชายและสอนหญิง ในเรื่องความโลภละโมบ และเพ้อฝันทะเยอทะยาน ยิ่งถ้าคุณเป็นชาวพุทธเรียนรู้จักปรัชญาตะวันออก เป้าหมายชีวิตของพวกเราคือการปล่อยวางจากการยึดติด มีความเพียงพอดี ไม่มักมากตะกละตะกลาม แล้วจะพบเจอความสุขสันติแท้จริงในชีวิต
ภาพยนตร์เรื่องนี้ รับชมมากครั้งจะยิ่งมองเห็นคุณค่าความสวยงามที่เพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา กับการดูครั้งแรกแนะนำให้พยายามทำความเข้าใจเนื้อหาสาระทั่วไปเสียก่อน เมื่อมีโอกาสหวนกลับมาครั้งที่ 2-3 ค่อยสังเกตวิธีการนำเสนอ เทคนิคดำเนินเรื่อง ภาษาภาพยนตร์ และความงามทางศิลปะ ก็จะเริ่มเห็นความลึกซึ้งสวยล้ำ ประสบการณ์การรับชมยิ่งสูงมาก ก็ยิ่งเข้าใจ อิ่มเอิบเอ่อล้นในความสมบูรณ์แบบ
เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องโปรดของ Martin Scorsese และ Andrei Tarkovsky
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศชวนหลอกหลอน และภาพหลอนที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์
[…] Ugetsu (1953) : Kenji Mizoguchi ♥♥♥♥♡ […]
[…] 6. Ugetsu (1953) : Kenji Mizoguchi ♥♥♥♥♡ […]