Umberto D

Umberto D. (1952) Italian : Vittorio De Sica ♥♥♥♥

หนังแนว Italian neorealist โดยผู้กำกับ Vittorio De Sica (Bicycle Thieves) กับอีกผลงานที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน, นำเสนอภาพชีวิตของชายวัยเกษียณและสุนัขตัวหนึ่งที่กำลังถูกขับไล่ออกจากห้องเช่า, หนึ่งในหนังโปรดของ Ingmar Bergman, แนะนำว่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถ้าคุณเป็นนักดูหนังตัวยง เชื่อว่าย่อมต้องรู้จัก Bicycle Thieves (1948) หนึ่งในหนังสัญชาติอิตาลีที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก แต่อาจมีไม่เยอะที่จะรู้จักชื่อผู้กำกับ หรือรู้จักหนังเรื่องอื่นๆของเขา, ในยุคทองของ Italian neorealist มีหนังของ Vittorio De Sica อยู่ 3 เรื่องที่ได้รับการยกย่อง กล่าวถึงมากที่สุด ประกอบด้วย Shoeshine (1946), Bicycle Thieves (1948) และ Umberto D. (1952) ผมขอเรียกว่า De Sica Trilogy กับคนที่ได้ดูหนังทั้ง 3 เรื่องนี้แล้ว จะเห็นความสัมพันธ์ที่เหมือนมาจากแม่พิมพ์เดียวกัน นี่คือเหตุผลที่ผมเรียกเหมารวมได้ว่าเป็น Trilogy

ผมดูหนังแนว Italian neorealist มาก็หลายเรื่อง มีแค่ 1-2 เรื่องเท่านั้นที่ชอบ แต่โดยรวมต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่แนวหนังที่ดูสนุกเลย ถ้าคุณดูหนังแนวนี้แล้วสนุก ถือว่าแปลกมากๆ เพราะหนังสร้างขึ้นจากแนวคิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นำเสนอภาพความจริง ผลกระทบของผู้คนจากสงคราม ความยากลำบาก ความทุกข์ทรมาน ฯ ถ้าคุณดูหนังแนวนี้แล้วรู้สึก ‘สนุก’ แสดงว่าจิตของคุณไม่ปกติแล้ว ออกแนว maso ที่ชอบเห็นความลำบากของคนอื่นคือความสุข, สไตล์ neorealist คือการถ่ายทอดความจริง เรื่องราวอาจแต่งเติมเสริมขึ้น แต่พื้นหลัง เรื่องราว เหตุการณ์ ตัวละคร ล้วนมองได้ว่ามีอยู่จริง เกิดขึ้นจริง เป็นปัญหาสังคมจริงๆ มันอาจไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดจบของเรื่องราว ไม่นำเสนอวิธีการแก้ปัญหา จบอย่างค้างคา แต่ดูแล้วได้ข้อคิด ตระหนักถึงความจริง และสะท้อนปัญหาสังคม

เรื่องราวของ Umberto Domenico Ferrari (Umberto D.) ชายแก่จนๆ อาศัยอยู่ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งในกรุง Rome เจ้าของห้องเช่าพยายามที่จะขับไล่เขาออกไป (ทั้งๆที่อยู่มากว่า 30 ปี) เพื่อปรับปรุงห้องใหม่ต้อนรับสามีใหม่ของตน, Umberto จึงพยายามทำทุกอย่าง ด้วยความดื้อดึงไม่ยอมออก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

นักแสดงในหนังแนว Neorealist มักจะเป็นมือสมัครเล่น ไม่เคยมีชื่อเสียงหรือผ่านการแสดงมาก่อน, วิธีการที่ De Sica ใช้คัดเลือกนักแสดง คือเขาจินตนาการตัวละครที่ต้องการไว้ แล้วทำงานร่วมกับนักเขียนบท Cesare Zavattini เพื่อสร้างเรื่องราวของหนัง แต่จนกว่าจะหาชาย,หญิง หรือเด็กที่ตรงตามที่คิดไว้ เขาจะไม่เริ่มต้นทำหนังเรื่องนั้น (Until I can find the man, woman or child who fits the figure I see in my mind’s eye, I do not begin.) สำหรับ Umberto D เห็นว่า De Sica ออกค้นหาตั้งแต่ Rome, Naples และเมืองอื่นๆ ทั้งนั่งรถ เดินค้นหา กว่าจะได้พบกับ Carlo Battisti อาจารย์มหาวิทยาลัยวัย 70 เมื่อเจอกันครั้งแรกเขายิ้มด้วยความรู้สึกทุกข์ใจแบบผึ่งผาย (sorrowful dignity) เหมือนเปะกับตัวละครที่เขาร่างบทไว้

แทนที่จะให้นักแสดง แสดงเป็นตัวละครนั้น De Sica ใช้วิธีให้คนๆนั้น แสดงตัวตนของตัวเองออกมา ไม่ต้องปั้นแต่งอะไร แบบนี้มันโคตรสมจริงเลยละ ภาพที่เราเห็นไม่ใช่การแสดง แต่เป็นความจริง คำพูดจริงๆ กระทำจริงๆ, บทหนังของหนังแนว Neorealist มันจะไม่มีบทพูดนะครับ มีแค่คำอธิบายคร่าวๆว่าจะเป็นยังไง นักแสดงไม่ต้องท่องจำบท มีแนวทางให้ แล้วพูดในสิ่งที่คิดออกมา มันเลยเป็นธรรมชาติ ไม่ฝืน

ตัวละคร Umberto เป็นตาแก่หัวดื้อ รั้น ล้าหลัง ตกยุค เพราะความที่ถูกเมียทิ้ง ไม่มีลูกหลาน จึงอาศัยอยู่บ้านเช่า มีสุนัขเป็นเพื่อนคู่หูที่แทบแยกจากกันไม่ได้, ตัวละครนี้บางทีก็น่าเห็นใจ บางทีก็น่าสมน้ำหน้า เหตุผลที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้าโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปได้, Umberto เปรียบได้กับโลกยุคเก่า สะท้อนผลกระทบของสงครามที่ทำให้โลกเปลี่ยนไป เขาคือซากปรักหักพังของเมืองที่ถูกทำลาย ไม่ได้รับการซ่อมแซม จึงถูกขนเอาไปทิ้ง เพื่อเตรียมสร้างใหม่เท่านั้น ไม่มีที่ว่างเหลือเศษซากคนยุคก่อน

สำหรับสุนัขเพื่อนสนิทของ Umberto ถึงมันจะจงรักภักดีต่อเจ้านายมาก แต่ก็รักชีวิตตัวเองมากกว่า, ผมเพิ่งเขียนถึง Pinocchio ไปเมื่อวาน รู้สึกเจ้าหมากับ Jiminy Cricket มีส่วนคล้ายกันอยู่ เลยลองเปรียบเทียบเจ้าหมาตัวนี้กับ ‘จิตสำนึก’ ของเจ้านายมัน, ตอนหมาหาย เจ้านายก็กุรีกุจอรีบตามหามัน ไม่เป็นอันกินนอน (ตามหาจิตสำนึก), ตอนเจ้านายอยากตาย (กายอยากตาย) แต่หมามันดิ้น (ใจไม่อยากตาย)

เห็นว่ามีน้องหมา 2 ตัวนะครับ ถ้าสังเกตให้ดีๆก็จะเห็นความแตกต่าง ตัวหนึ่งเป็นตัวที่ฝึกไว้ จึงสามารถทำตามคำสั่งได้ อาทิ ยืนขอทาน, ยกมือ, เรียกเล่น ฯ (ตัวหัวสีดำ ลำตัวสีขาว) ขณะที่ตัวหนึ่งไม่ได้ฝึกไว้ จะใช้ในตอนที่ต้องการให้เห็นธรรมชาติของสุนัข (ตัวนี้มีปากสีขาว จุดสีดำตรงสีข้างขวา), เอากับเขาสิครับ ขนาดหมายังต้องให้ดูเป็นธรรมชาติมีความสมจริงเลย

Lina Gennari เจ้าของห้องเช่าหน้าเลือด ชีวิตจริงเธอเป็นนักร้อง Operetta (Opera ขนาดสั้น) เสียงที่ได้ยินในหนังเป็นเสียงร้องของเธอเองเลย, Maria-Pia Casilio รับบทคนใช้สาว ที่คอยช่วยเหลือ Umberto อยู่เรื่อยๆ หลังจากหนังเรื่องนี้ Casilio ก็กลายมาเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงอยู่ตลอดทศวรรษ 50s

ถ่ายภาพโดย G. R. Aldo, หนังมีทั้งการเคลื่อนกล้อง แพนกล้อง (ไปรอบๆห้อง) ถ่ายสะท้อนกระจก (ให้เห็น 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน), มองลอดรูกุญแจ, ถ่ายจากมุมสูงลงต่ำ ถ่ายจากพื้นแพนขึ้น ฯ ถือได้ว่ามีการใช้เทคนิคที่หลากหลาย ซึ่งภาพพวกนี้แทนด้วยสายตา/มุมมองของ Umberto แทบทั้งหมด

ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma ไฮไลท์อยู่ที่ไคลน์แม็กซ์ฉากรถไฟ ที่มีการตัดต่อสลับระหว่าง คน-หมา-รถไฟ อย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วม หนังไม่ได้บอกว่าฉากนี้ Umberto กำลังทำอะไร แต่การตัดต่อสามารถอธิบายได้ว่าเขาตั้งใจจะทำอะไร

เพลงประกอบโดย Alessandro Cicognini, สิ่งหนึ่งที่หนังของ Vittorio De Sica ต่างจากผู้กำกับ Neorealist คนอื่น คือเขาชอบใช้เพลงประกอบหนัง ในขณะที่ผู้กำกับคนอื่นชอบความสมจริง จึงมักไม่ค่อยใส่เพลงประกอบเข้าไป, หนังเรื่องนี้ใช้เพลงประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศ แสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร มันจึงมีความหดหู่ เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน

ถึงหนังจะจบแบบค้างคาสุดๆ แต่ก็มีไคลน์แม็กซ์ของมันนะครับ คือการตั้งใจจะทำอะไรบางอย่างของ Umberto ในฉากรถไฟ, หนังแนว Neorealist ของ De Sica มีรสชาติแบบนี้แหละครับ กับคนที่ดู Bicycle Thieves มาแล้ว จะมองเห็นความสันพันธ์นี้อย่างแน่นอน สาระสำคัญของหนังไม่ใช่เรื่องราวหรือการแก้ปัญหา แต่เป็นการนำเสนอภาพปัญหา สะท้อนแนวคิด และสิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้ ไคลน์แม็กซ์ของหนังจึงไม่ใช่บทสรุปหรือการแก้ปัญหา แต่เป็น ‘การแสดงออกทาง อารมณ์/ความคิด/ความรู้สึก ที่เป็นที่สุดเพื่อแก้ปัญหานั้น’

ใน Bicycle Thieves ขณะที่พระเอกสิ้นหวังถึงขีดสุด เขาจึงตัดสินใจ ‘ขโมย’ จักรยานคนอื่น, สำหรับ Umberto D. ขณะที่ชายแก่ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป ‘การตาย’ จึงกลายเป็นตัวเลือกหนึ่งของเขา

ใจความของหนังเรื่องนี้คือ ‘ความสิ้นหวัง’ หนังค่อยๆทำให้เราเห็นว่า ชีวิตของชายแก่มีปัญหาอะไรบ้าง และเขาแก้ปัญหาอย่างไร แต่ทุกครั้งที่แก้ปัญหาเก่าสำเร็จ ปัญหาใหม่ก็จะเกิด ความเครียดมันเลยสะสมเพิ่มขึ้นทวีคูณ ทับถมกันจนหมดหนทางออก ท้ายที่สุดเขาจึงตัดสินใจ ตั้งใจจะทำอะไรบางอย่าง… แล้วเขาก็คิดได้ ตอนจบของหนังเรื่องนี้ ตรงข้ามกับ ‘ความสิ้นหวัง’ คือ ‘ความหวัง’ มันอาจดูเป็นนามธรรมสุดๆ แค่เล่นกับหมาเนี่ยนะ แต่เขายังมีชีวิตอยู่ จิตสำนึกบอกว่า ไม่ตายก็เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

ต้องบอกว่า น้องหมาช่วยชีวิต Umberto จริงๆ เพื่อนแท้ย่อมไม่ทิ้งกัน ไม่ว่าเพื่อนคนนั้นจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ, ถึงเจ้าหมามันจะรักเจ้านายมาก แต่มันก็คิดแทนเจ้านาย ความซื่อสัตย์ของมันไม่ได้ตาบอด นี่เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากๆ ขนาดคนบางคนยังหลับหูหลับตาทำตามคำสั่งเจ้านาย แต่หมานะ! เห็นเจ้านายอยากตาย มันกลับช่วยชีวิตไว้, เชื่อว่าคงมีบางคน ดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว อยากเลี้ยงหมาขึ้นมาทันที!

สองย่อหน้าบนคือเหตุผลที่ทำให้ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้หนังจะค่อนข้างดูยากเสียหน่อย ภาพขาว-ดำ ภาษา Italian ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่นี่เป็นหนังที่มีแนวคิดดีมากๆ และทำให้เราระลึกถึงคนแก่ที่บ้าน หรือตอนที่ตนเองสูงวัยขึ้นด้วย เราจะกลายเป็นแบบตาแก่หัวดื้อที่มีแค่หมาตัวหนึ่งเป็นเพื่อนคู่กายแบบในหนังหรือเปล่า ถ้าชีวิตคุณเหลือแค่นั้นจริงๆ มันน่าเศร้ามากนะครับ แก่แล้วยังต้องมาลำบากอีก (คนที่แก่ตัวไปแล้วกลายเป็นแบบนี้ ส่วนมากทำตัวเองทั้งนั้น ไปอยู่สถานรับเลี้ยงคนชราเถอะถ้าเป็นอย่างนั้นนะ)

Roger Ebert เปรียบเทียบ Umberto มีลักษณะคล้ายๆกับ The Tramp ของ Charlie Chaplin ที่มีลักษณะชอบเรียกความสงสารจากผู้ชม ทำให้เห็นถึงความทุกข์ยากลำบาก แต่ยังคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีค้ำคอ, มีฉากหนึ่งที่ Umberto กำลังยืนดูขอทาน เขาแบมือและทำท่าเหมือนจะขอเงิน ขณะมีคนกำลังจะให้ เขาหุบมือเปลี่ยนใจเอามือไปทำอย่างอื่นเสียอย่างนั้น, Umberto ขอทานไม่ได้ เขามีความหยิ่งในศักดิ์ศรี แต่หมาของเขาไม่สนใจ ฉันหิว ไม่มีเงิน ไม่มีกิน จะมาเลือกวิธีการทำไม, สิ่งเดียวที่ต่างคือ ตัวละคร Tramp มักจะมีความโหยหา และแสดงออกให้เห็นว่าต้องการความรักตอบแทนคืนมา ส่วน Umberto ไม่สนด้วยซ้ำว่าเราจะรักเขาไหม นี่แหละคือเหตุผลที่ทำให้เราหลงรักเขา

หนังได้เข้าชิง Oscar 1 สาขา (Best Writing) ไม่ได้รางวัล ตอนหนังฉายเห็นว่าได้รับความนิยมอย่างสูงในอิตาลี แต่ไม่มีตัวเลขรายรับหรือจำนวนคนเข้าชมนะครับ, นิตยสาร TIME จัดอันดับหนังเรื่องนี้ติดในชาร์ท All-TIME 100 Movies

แนะนำกับคอหนัง Italian คนชอบดูหนังแนว drama แบบแรงๆ สะท้อนสังคม เสียดสีชีวิต, นักสังคมสงเคราะห์ ดูไว้ให้เป็นความรู้, เหมาะกับผู้ใหญ่วัย 30+ ไปแล้วมากๆ เด็กๆดูอาจไม่ค่อยได้คิดอะไรเท่าไหร่

แต่ก็จัดเรต PG ไว้ เพราะหนังมีแค่บรรยากาศหนักๆ เด็กเล็กดูไปคงไม่รู้เรื่อง

TAGLINE | “อีกหนึ่ง masterpiece ของ Italian Neorealist โดยผู้กำกับ Vittorio De Sica คุณจะหลงรัก Umberto D. ทั้งๆที่เขาไม่สนใจคุณด้วยซ้ำ”
QUALITY | RAREGENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: