A Room in Town (1982) : Jacques Demy ♥♥♥♥♡
มาสเตอร์พีซที่ถูกหลงลืมของ Jacques Demy นำเสนอด้วยวิธีเดียวกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แต่มีลักษณะอุปรากรแห่งโศกนาฎกรรม (Tragic Opera) หวนกลับไปเมืองท่าบ้านเกิด Nantes เพื่อเผชิญหน้าช่วงเวลามืดหมองหม่นที่สุดในชีวิต
Une chambre en ville (1982) เป็นภาพยนตร์ที่เมื่อตอนออกฉาย ได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์(ในฝรั่งเศส)ดีล้นหลาม นิตยสาร Cahiers du Cinéma ยกให้อันดับหนี่งแห่งปี 1982 พยายามประโคมเขียนข่าว ผลักดันสรรเสริญสุดๆ แต่ก็ยังขาดทุนย่อยยับเยิน ถีงขนาดผู้จัดจำหน่ายปฏิเสธทำ Subititle เมื่อได้เข้าร่วมเทศกาลหนัง London Film Festival เช่นนั้นมันจะขายออกต่างประเทศอย่างไร?
ไม่ใช่แค่ผู้ชม(สมัยนั้น)ที่ทอดทิ้งขว้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ยังผองเพื่อนสนิท ทีมงาน นักแสดงขาประจำ ต่างเรียกร้องโน่นนี่นั่น พอไม่เป็นดั่งใจหวังก็ปฏิเสธร่วมงาน เรียกว่าโชคชะตาชีวิตของผู้กำกับ Demy จากสูงสุดคืนสู่สามัญ แล้วด่ำดิ่งจมลีกใต้หุบเหว ตกต่ำเกินว่าจะปีนป่ายหวนกลับขี้นมาได้อีก
ผมไม่ค่อยแปลกใจที่หนังเข้าไม่ถีงผู้ชมสมัยนั้น เพราะภาพจำตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาของ Jacques Demy สรรค์สรรค์ภาพยนตร์มีความสนุกสนาน ครีกครื้นเครง หลุดเข้าไปในเทพนิยายแฟนตาซี แต่พอเปลี่ยนมาเป็นดนตรีแห่งโศกนาฎกรรม บรรยากาศตีงเครียดจริงจัง ใครกันจะไปคาดหวัง ให้ความสนใจ ยินยอมรับได้โดยทันที (ก็เหมือนพจน์ อานนท์ ทำหนังตลกไร้สาระมาทั้งชีวิต จะให้มาสร้างภาพยนตร์ดราม่าน้ำดี ก็ไม่มีใครอยากเชื่อว่าทำได้!)
เพียงกาลเวลาเท่านั้นทำให้ Une chambre en ville (1982) เมื่อได้รับการบูรณะ แปลซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ ถีงสามารถเข้าถีงผู้ชม/นักวิจารณ์ต่างประเทศ ต่างโต้ถกเถียง เปรียบเทียบกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) เลือกยากจริงๆว่าเรื่องไหนยอดเยี่ยมกว่า (เพราะทั้งสองเรื่องมีความแตกต่างขั้วตรงข้ามกัน!)
Jacques Demy (1931-90) ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pontchâteau, Loire-Atlantique เมืองท่าทางตะวันตกของฝรั่งเศส ครอบครัวเปิดกิจการร้านซ่อมรถ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ดินแดนแห่งนี้ถูกใช้เป็นจุดจอดท่าเรือรบ มีทหารพันธมิตรขึ้นฝั่งมากมาย ตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีทิ้งระเบิด แล้วทุกสิ่งอย่างก็ราบเรียบหน้ากลอง, ช่วงหลังสงคราม Demy ถูกส่งไปโรงเรียนมัธยมยังเมือง Nantes ค้นพบความหลงใหลในภาพยนตร์ พออายุ 18 ออกเดินทางสู่กรุง Paris ได้เป็นลูกศิษย์ของ Georges Rouquier (ผู้กำกับสารคดี) และ Paul Grimault (นักทำอนิเมเตอร์ชื่อดัง), สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Dead Horizons (1951), ตามด้วยสารคดีขนาดสั้น The clog maker of the Loire Valley (1956) และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Lola (1961)
ตั้งแต่ยังเด็ก Demy ได้พบเห็นการชุมนุมเรียกร้องสิทธิของคนงานท่าเรืออยู่บ่อยครั้ง ระหว่างตำรวจ vs. คนงาน การต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ใช้แก๊สน้ำตา ขว้างปาสิ่งข้าวของ และบิดาเคยเล่าให้ฟังว่ามีคนรู้จักเสียชีวิตจากการปะทะกันดังกล่าว
ประมาณกลางทศวรรษ 50s, Demy ได้ครุ่นคิดพัฒนาบทหนังจากความทรงจำวัย โดยพล็อตร่างแรกๆ ดำเนินเรื่องผ่านบุตรชาย(เป็นเกย์) ของเจ้าของห้องเช่า (ของบิดา/พ่อหม้าย) ชื่นชอบพอกับคนงานที่มาพักอาศัย (François) แถมได้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน แต่หลังจากเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทำให้บิดา่คิดสั้นฆ่าตัวตาย คนรักหนุ่มก็หวนกลับไปหาแฟนสาวเก่า (Violette)
เรื่องราวดังกล่าวถือว่ามีความใกล้เคียงผู้กำกับ Demy ทั้งยังสะท้อนความสัมพันธ์ต่อบิดา(ขณะนั้น) แต่เขายังไม่พึงพอใจกับผลลัพท์ตอนจบสักเท่าไหร่, ช่วงปี 1964 หลังความสำเร็จของ The Umbrellas of Cherbourg (1964) เคยลองมองหาผู้จัดจำหน่าย แต่ก็ไม่มีค่ายให้ความสนใจ
ช่วงปี 1973-74, ผู้กำกับ Demy นำบทหนังเรื่องนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง ตั้งชื่อว่า Édith de Nantes (ล้อกับคำเรียก Edict of Nantes พระราชกฤษฎีกาที่ King Henry IV ทรงตราขึ้นเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1598 เพื่อให้ชาว Calvinist Protestants มีสิทธิสำคัญบางประการในประเทศที่โดยเนื้อแท้แล้วยังถือเป็นคาทอลิกอยู่) ติดต่อนักแสดง Catherine Deneuve รับบท Edith, Gérard Depardieu เล่นเป็น Guilbaud, Simone Signoret แสดงเป็น Colonel และ Isabelle Huppert ในบท Violette แต่การบอกปัดปฏิเสธของนักแต่งเพลงขาประจำ Michel Legrand เพราะไม่ประทับใจบทหนังกล่าวถึงปัญหาสังคม และ Deneuve ต้องการใช้เสียงร้องตนเองแทนการลิปซิ้งค์ … โปรเจคก็เลยต้องล้มพับเก็บขึ้นหิ้งตามเดิม
กระทั่งปี 1981, หลังจากผู้กำกับ Demy ได้ร่วมงานนักแสดง Dominique Sanda ถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์ La Naissance du jour (1980) เธอมีเส้นสาย รู้จักโปรดิวเซอร์ Christine Gouze-Rénal โน้มน้าวให้ช่วยหาทุนสร้างโปรเจคนี้ … รวมแล้วเกือบๆ 30 ปี กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
เรื่องราวพื้นหลังเมือง Nantes ช่วงปี 1955, François Guilbaud (รับบทโดย Richard Berry) หนึ่งในผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง เรียกร้องสิทธิแรงงาน พักอาศัยอยู่ในห้องเช่าของ Madame Langlois (รับบทโดย Danielle Darrieux) แม่หม้ายสูญเสียสามีจากสงคราม บุตรชายจากอุบัติเหตุ และบุตรสาว Édith (รับบทโดย Dominique Sanda) ออกจากบ้านไปแต่งงานเจ้าของร้านขายโทรทัศน์ Edmond (รับบทโดย Michel Piccoli)
François มีแฟนสาวชื่อ Violette Pelletier (รับบทโดย Fabienne Guyon) แม้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง แต่เขากลับไม่อยากครองคู่อยู่กินกับเธอสักเท่าไหร่ จนกระทั่งได้พบเจอ Édith กำลังเบื่อหน่ายสามี ขณะนั้นสวมเพียงเสื้อขนสัตว์ปกปิดบังร่างกาย แล้วจู่ๆชักชวนเขาเข้าโรงแรม โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก ลุ่มหลงใหล พร้อมจะใช้ชีวิตต่อจากนี้เคียงข้างเธอตลอดไป
เหตุการณ์วุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Violette พบว่าตนเองตั้งครรภ์ ตั้งใจจะบอกกับ François แต่มีเหตุให้แคล้วคลาดตลอดทั้งวัน และพอพูดบอกออกไปนั้นเขาก็สารภาพว่าตกหลุมรักผู้หญิงคนอื่นอยู่, ขณะที่ Édith หวนกลับไปหาสามีเพื่อบอกเลิกรา เก็บข้าวของย้ายออกจากบ้าน แต่กลับถูกล็อกประตู ทิ้งกุญแจ ยกใบมีดโกนขึ้นมาขู่ฆ่า
Dominique Marie-Françoise Renée Varaigne (เกิดปี 1951) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวชนชั้นสูง เมื่ออายุ 16 ปี ตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้านเพื่อแต่งงานแฟนหนุ่ม แต่เพียงสองปีก็หย่าร้าง จากนั้นทำงานเป็นนางแบบนิตยสาร Vogue กระทั่งผู้กำกับ Robert Bresson มอบบทบาท A Gentle Woman (1969) เลยตัดสินใจเอาดีด้านการแสดง ผลงานเด่นๆ อาทิ The Garden of the Finzi-Continis (1970), The Conformist (1970), 1900 (1976), The Inheritance (1976) ** คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, Une Chambre en Ville (1982) ฯ
รับบท Édith Leroyer บุตรสาวของ Madame Langlois มีความแรดร่าน เย่อหยิ่งทะนง สนเพียงความพึงพอใจส่วนตน หลบหนีออกจากบ้านเพื่อแต่งงานเจ้าของร้านขายโทรทัศน์ Edmond เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเองมีชีวิตสุขสบาย จับจ่ายใช้สอยอย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่เอาเข้าจริงสามีกลับขี้งก จอมบงการ ไม่ยินยอมให้อะไรเธอติดตัวสักอย่าง ปกปิดคลุมตนเองเพียงเสื้อขนสัตว์ขณะเดินทางกลับไปเยี่ยมเยือนมารดา
การได้พบเจอ François ราวกับโชคชะตาฟ้ากำหนดมา (จากไพ่ทาโร่ต์) ทั้งสองถาโถมเข้าใส่ ไม่สนใจใครว่าอะไรทั้งนั้น เชื่อมั่นว่านี่คือรักแท้ชั่วนิรันดร์ ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ถ้าใครบางคนต้องพลัดพรากจากไป
หลังจากได้เห็นการแสดงของ Sanda ทำให้ผมรู้สึกว่า Catherine Deneuve ดูไม่เหมาะสมกับบทเลยนะ (Deneuve เล่นเป็น Violette อาจเข้ากันมากกว่า) ตั้งแต่ภาพลักษณ์ดูเริดเชิด เย่อหยิ่ง สายตาเหยี่ยวที่พร้อมจิกกัด พูดคำเสียดแทง เร่าร้อนแรดร่าน รวมทั้งความเซ็กซี่พร้อมที่จะเปลือยกาย (ผมยังไม่เคยเห็น Deneuve เปลือยหน้าอกเลยนะ) มันอาจดูหยาบกระด้างไปบ้าง แต่จัดจ้านได้ใจ หนุ่มๆพบเห็นย่อมมิอาจละความลุ่มหลงใหล … ผมก็คนหนึ่งละ
แซว: จะว่าไปภาพลักษณ์ของ Dominique Sandra มีความเป็นเกย์อยู่ไม่น้อยเลยนะ หญิงก็ได้ชายก็ดี (ซึ่งถ้ามองในบริบทนี้ ตัวละคร François ก็มีความเป็นเกย์ได้เช่นกัน)
ผมโคตรไม่เข้าใจว่าทำไม Sanda ไม่ได้แม้จะเข้าชิง César Award: Best Actress หรือเพราะเสียงร้อง (ที่ไม่ใช่ของเธอ) มันดูฝืนๆ ชนเพดานเสียง (หนังจงใจให้ระดับเสียงชนเพดาน Contralto ไม่ให้ล่วงล้ำจนกลายเป็น Mezzi หรือ Soprano) แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะผู้ชม(สมัยนั้น)ไม่ค่อยชอบหนังสักเท่าไหร่ (แต่นักวิจารณ์นี่คลั่งไคล้เลยนะ)
Richard Berry ชื่อจริง Richard Élie Benguigui (เกิดปี 1950) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ครอบครัวเชื้อสาย Jews พออายุ 16 ค้นพบความหลงใหลในการแสดง กระทั่งได้มีโอกาสฝึกฝนยัง Conservatoire national supérieur d’art dramatique และเข้าร่วมคณะ Comédie-Française, ภาพยนตร์เริ่มมีชื่อเสียงกับ Mon premier amour (1978), Une chambre en ville (1982), The Violin Player (1994), I, Cesar (2003) ฯ
รับบท François Guilbaud คนงานท่าเรือ มีความเบื่อหน่ายต่อชีวิต การงาน และแฟนสาว Violette ต้องการเรียกร้องสิทธิ โหยหาใครบางคนสร้างความตื่นเต้น เติมเต็มความต้องการ จนกระทั่งแรกพบเจอ Édith ก็สร้างความสุขกระสันต์ ซาบซ่าน เกิดอาการลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักใคร่ ยินยอมทอดทิ้งแฟนเก่าที่เพิ่งตั้งครรภ์ แต่ก็ต้องชดใช้กรรมเมื่อเข้าร่วมกลุ่มประท้วง แล้วได้รับบาดเจ็บสาหัส
นี่เป็นตัวละครสามารถเทียบแทนได้กับ Jacques Demy ผมครุ่นคิดว่าน่าจะสื่อตรงๆถึงความสัมพันธ์ต่อภรรยา Agnès Varda (แทนด้วย Violette) และคู่ขา (Édith) ซึ่งโดยไม่รู้ตัวจุดจบของ Demy (และกิ๊กหนุ่ม) ต่างติดเชื้อ HIV เสียชีวิตไม่ห่างกันสักเท่าไหร่
ภาพลักษณ์ของ Berry ชวนให้ผมนึกถึง Tony Chiu-Wai Leung มาดนักเลง สนแต่ตนเอง ขี้เหงาเอาใจ พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แสดงสีหน้าเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ซังกะตาย จนเมื่อได้ร่วมรักกับ Édith เปลี่ยนแปรสภาพสู่คนใหม่ เต็มไปด้วยความระเริงรื่น ครึกครื้นเครง เชื่อมั่นในตนเอง (มากเกินไปหน่อย)
ผมค่อนข้างสนในในตัวเลือกแรก Gérard Depardieu ตอนพี่แกยังหนุ่มๆ โคตรหล่ออ่ะ! (ยังไม่ได้อ้วนท้วนบริบูรณ์ขนาดปัจจุบันนี้) แม้ภาพลักษณ์ไม่ได้นักเลงเหมือน Berry แต่ละม้ายคล้ายคลึง Nino Castelnuovo จากเรื่อง The Umbrellas of Cherbourg (1964) ซึ่งด้วยฝีไม้ลายมือ (ของ Depardieu) น่าจะสร้างความแตกต่างมากโขเลยละ!
Danielle Yvonne Marie Antoinette Darrieux (1917 – 2017) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bordeaux ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนี่ง แล้วมาเติบโตขึ้นยัง Paris วัยเด็กมีความชื่นชอบในเชลโล่ ได้เข้าศีกษายัง Conservatoire de Musique, เมื่ออายุ 14 ได้รับเลือกแสดงหนังเพลง Le Bal (1931), โด่งดังกับ Mayerling (1936), หลังแต่งงานครั้งแรกกับ Henri Decoin มุ่งสู่อเมริกาเซ็นสัญญากับ Universal Studios แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่, หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เดินทางกลับฝรั่งเศส กลายเป็นขาประจำของ Max Ophüls ผลงานเด่นๆ อาทิ La Ronde (1950), House of Pleasure (1952), The Earrings of Madame De… (1953), เห็นว่าผู้กำกับ Jacques Demy อยากร่วมงานกับ Darrieux ตั้งแต่ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แต่ไม่มีเงินว่าจ้าง จนกระทั่ง The Young Girls of Rochefort (1967) และยังมีโอกาสร่วมงานอีกครั้ง Une chambre en ville (1982)
รับบท Margot Langlois แม่หม่ายสูญเสียสามีจากสงคราม บุตรชายจากอุบัติเหตุทางรถ และบุตรสาวหนีออกจากบ้านไปแต่งงาน, เธออาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์หรู ต้นตระกูลผู้ดี/ชนชั้นสูง แต่เพราะความโดดเดี่ยวลำพัง จึงตัดสินใจเปิดให้เช่าห้องพัก มักชวนคุยกับลูกบ้าน François Guilbaud รักเอ็นดูเหมือนบุตรชาย (แต่ก็มีกลิ่นอายความต้องการทางเพศอยู่เล็กๆ)
Madame Langlois เป็นคนพูดมาก เอาแต่พูด ไม่เคยรับฟังใคร จิตใจคับแคบ สนแต่เรื่องของตนเอง แถมชอบโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเกลา ต้องการจะควบคุมครอบงำใครต่อใคร ไม่ต่างจากตัวละครมารดา The Umbrellas of Cherbourg (1964) แต่ทว่าเรื่องนี้ไม่มีใครยินยอมรับฟัง/สนใจคำพร่ำ เห่าหอนของเธอแม้แต่น้อย! … นั่นเพราะทุกคนต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความคิด-อ่าน สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง ตัวละครนี้เลยกลายเป็นหญิงแก่ตกยุค เอาแต่บ่นคำไร้สาระ แถมหมกตัวอยู่แต่ในห้อง ‘กบในกะลา’ ไม่เคยเห็นออกไปไหนต่อไหน
ยิ่งแก่ยิ่งฉมัง Darrieux ยังคงแสดงความสามารถที่น่าจดจำ อาจเพราะเธอขับร้อง-แสดงด้วยตนเอง (ไม่ได้ใช้เสียงใครร้องแทน) เลยเข้าถึงบทบาท รู้รักษาตัวรอด (เหมือนตัวละคร) โดยเฉพาะการแสดงทางสีหน้า ทำตัวเหมือน ‘มนุษย์ป้า’ ปากว่าตาขยิบ พูดเหมือนยี่หร่า แต่จิตใจสนเพียงฉันเองเท่านั้น
และที่ผมประทับใจสุดๆคือความต้องการซุกซ่อนตัณหาของตัวละคร ทั้งสายตา ท่วงท่า ลีลาการพูดเหมือนพยายามยั่วเย้า François คาดว่าคงลุ่มหลงใหลรูปลักษณ์ ความหล่อเหลา แต่ติดบริบททางสังคม มโนธรรมประจำใจ และความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ค้ำคอเธอไว้ ไม่ใช่นั้นอาจถาโถมเข้าใส่ บีบบังคับ จับข่มขืน …. ตัวละครนี้คือขั้วตรงข้ามของ Edmond แตกต่างที่เอาแต่พูดเพื่อควบคุมครอบงำ ไม่ได้ลงมือกระทำสิ่งชั่วร้ายใดๆ
Jacques Daniel Michel Piccoli (1925 – 2020) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักไวโอลิน มารดาเล่นเปียโน แต่ความสนใจของเขากลับคือการแสดง ฝีกฝนยัง d’Andrée Bauer-Théraud จากนั้นได้งานภาพยนตร์ Le point du jour (1949), เริ่มมีชื่อเสียงจาก French Cancan (1955), โด่งดังจากการเป็นหนี่งในขาประจำ Luis Buñuel อาทิ Death in the Garden (1956), Diary of a Chambermaid (1964), Belle de jour (1967), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Contempt (1963), Topaz (1969), A Leap in the Dark (1980), Strange Affair (1981), La Belle Noiseuse (1991), We Have a Pope (2011) ฯ
รับบท Edmond Leroyer เปิดกิจการร้านขายโทรทัศน์ สามีขี้หึงหวงของ Édith เมื่อแต่งงานก็พยายามควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ต้องทำตามคำสั่ง ไม่ให้เงินหรือแม้แต่เสื้อผ้า จนเธอหลบหนีออกจากบ้าน พยายามออกติดตามหาพร้อมใช้มีดโกนขู่ฆ่า ปากว่าจะยินยอมให้อภัยทุกสิ่งอย่าง แต่กลับ…
ถ้าผมไม่เหลือบไปเห็นเครดิต Michel Piccoli ก็คงนึกไม่ออกว่าใคร ลุงแกไว้เครา เปลี่ยนสีผม ทำซะจดจำแทบไม่ได้ ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ตัวละครให้มีความเผด็จการ คลุ้มบ้าคลั่ง พร้อมกระทำสิ่งเสียสติแตกแบบไม่มีใครคาดคิดถึง … ทำอะไรก็ไปดูเอาเองในหนังนะครับ
แซว: ภาพยนตร์เรื่องนี้ Michel Piccoli แม้ไม่ได้ครองรักกับ Danielle Darrieux (แบบภาพยนตร์ The Young Girls of Rochefort (1976)) แต่ตัวละครของพวกเขาต่างพยายามควบคุมครอบงำ/บีบบังคับผู้อื่น ด้วยการกระทำและคำพูดจา (ร่างกาย-จิตใจ)
ถ่ายภาพโดย Jean Penzer (เกิดปี 1927) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานตั้งแต่ปี 1951 ส่วนใหญ่เป็นหนัง Rom-Com หรือ Comedy Action ของ Jean-Paul Belmondo, มีโอกาสร่วมงาน Jacques Demy เรื่อง Lady Oscar (1979), Une chambre en ville (1982) ฯ
แม้ความตั้งใจของผู้กำกับ Demy ต้องการถ่ายทำยังเมืองท่าบ้านเกิด Nantes แต่ด้วยงบประมาณจำกัด จึงมีเพียงฉากภายนอกสำคัญๆ(ที่ไปถ่ายทำยัง Nantes) ส่วนภายในอพาร์ทเม้นท์ถ่ายทำยัง Billancourt Studios ที่ Paris แต่ผู้ชมคงแยกแยะไม่ออกสักเท่าไหร่
บรรยากาศของหนังจะแตกต่างตรงกันข้ามกับ Lola (1961) ที่เต็มไปด้วยแสงธรรมชาติสาดส่องจากทุกทิศทาง [เรื่องนี้ก็ถ่ายทำยัง Nantes นะครับ] นั่นเพราะ Une chambre en ville (1982) คือเรื่องราวโศกนาฏกรรม นำเสนอความมืดมิดของชีวิต/จิตใจ ทุกสถานที่ภายนอกเลยล้วนปกคลุมด้วยเงามืด อย่างฉากการปะทะของผู้ชุมนุม เลือกสถานที่ระหว่างสองตึกสูงใหญ่ ทำให้มองไม่เห็นดวงตะวัน แสงสว่างสาดส่องมาถึง ยกเว้นเพียงเมื่อเข้าฉากร่วมกับตัวละคร Violette Pelletier เพราะเธอเป็นบุคคลเดียวที่มีความสว่างไสว สามารถทำให้โลกสวยสดใส เปร่งประกายด้วยรอยยิ้ม
สีสันของหนังก็เฉกเช่นเดียวกัน ฉากภายในส่วนใหญ่จะมีความคมเข้ม (Dark Blue & Dark Green & Dark Red) ให้ความรู้สีกหมองหม่น สร้างบรรยากาศตีงเครียด รู้สีกอีดอัดอั้น ยกเว้นเสื้อผ้า/ห้องหับของ Violette จักมีความสว่างสดใสกว่า (และเสื้อสีเหลืองของ François กลับยังสวมเสื้อคลุมสีน้ำตาล ถือว่าเป็นการพยายามซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างไว้ภายใน)
Nantes Transporter Bridge สะพานขนส่งข้ามแม่น้ำ Loire River ก่อสร้างเมื่อปี 1903 แล้วถูกทุบทำลาย ค.ศ. 1958 เพื่อสร้างสะพานใหม่ Anne-de-Bretagne Bridge สำหรับให้รถยนต์สามารถสัญจรได้สะดวกกว่า (ที่เมื่อก่อนสร้างสะพานขนส่ง เพราะมีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สัญจรอยู่ตามแม่น้ำ แต่ปัจจุบันขนส่งทางบกง่ายกว่ามากเลยหมดความจำเป็น)
ผู้กำกับ Demy มีความทรงจำไม่รู้ลืมต่อสะพานแห่งนี้ (พบเห็นสะพานคล้ายๆกันนี้ใน The Young Girls of Rochefort (1967)) แม้ช่วงปีที่ถ่ายทำจะถูกทุบทำลายไปแล้ว แต่เขาก็ได้สร้างขี้นใหม่ด้วยเทคนิค Matte Painting วาดภาพ(สะพาน)บนกระจก เพิ่มเติมคือดวงอาทิตย์จะมีการปรับโทนสี จากเหลืองอร่ามสว่างสดใส ค่อยๆเปลี่ยนแปรสภาพสู่แดงเดือดเลือดไหล เพื่อสะท้อนถีงเรื่องราวโศกนาฎกรรมของหนัง
หนังเริ่มต้นด้วยภาพขาว-ดำ (บรรยากาศของฟีล์มเก่า, ภาพความทรงจำ) แต่ขี้นตัวอักษร Nantes 1955 ด้วยสีแดงเลือด (เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้มีความโดดเด่นชัดขี้นมา) นำเสนอการเตรียมเผชิญหน้าระหว่างตำรวจ vs. ผู้ชุมนุมประท้วง อีกไม่นานจะเกิดการปะทะต่อสู้ มีผู้บาดเจ็บ ล้มตาย กลายเป็นโศกนาฎกรรม
ซี่งวินาทีที่หนังเปลี่ยนกลับมาเป็นภาพสี คือขณะทั้งสองฝั่งฝ่ายเริ่มต้นวิ่งเข้ามาปะทะต่อสู้ สะท้อนถีงความจริงที่ยังเป็นอยู่แม้ในสมัยปัจจุบัน (การชุมนุมประท้วงเมื่อปี 1955 ปัจจุบันก็ยังคงพบเห็นได้อยู่เรื่อยๆไป)
เกร็ด: ถนนแห่งนี้คือ Rue du Roi-Albert, Nantes ก่อสร้างขี้นตั้งแต่ปี ค.ศ 1777 โดยสถาปนิก Jean-Baptiste Ceineray (1722-1811) ด้านหลังลิบๆคือวิหาร Cathédrale Saint-Pierre-et-Saint-Paul de Nantes เรียกสั้นๆว่า Saint-Pierre Cathedral เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1434 แล้วเสร็จ ค.ศ. 1891 ด้วยสถาปัตยกรรม Gothic
อพาร์ทเม้นท์ของ Madame Langlois สังเกตว่าเต็มไปด้วยสีสัน (ที่จะมีความคมเข้มกว่าปกติ) แต่ละห้องจะมีโทนสีเฉพาะ แดง, น้ำเงิน, เขียว ซึ่งจะสอดคล้องกับห้วงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครขณะนั้น
- ห้องนั่งเล่นจะมีผนังสีแดง สัญลักษณ์ของ Passion ความลุ่มเร่าร้อน กระสันต์ซ่าน สถานที่สำหรับดื่มด่ำ มึนเมามาย และช่วงท้ายเกิดการสูญเสีย โศกนาฎกรรม
- ธงชาติฝรั่งเศส น้ำเงินยังสามารถสื่อถึงอิสรภาพ liberty, หรือชนชั้นกลาง/นายทุน bourgeoisie
- บริเวณโถงทางเดินและห้องพักของ François ผนังสีน้ำเงิน ดูเยือกเย็น หนาวเหน็บ ตัดกับสีเสื้อและเตียงนอน ซึ่งมีความสว่างสดใส อบอุ่นอยู่ภายใน
- ธงชาติฝรั่งเศส แดงยังสามารถสื่อถึงภารดรภาพ brotherhood, หรือชนชั้นผู้ดี nobility
- ห้องนอนของ Madame Langlois ผนังสีเขียว สามารถสื่อถึงธรรมชาติชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็มักใช้แทนสีของธนบัตร ซึ่งเป็นสิ่งชั่วร้าย หรือคือการซุกซ่อนเร้นความต้องการบางสิ่งอย่างไว้ภายใน
นี่คือซีนเล็กๆที่ทำให้ผมตระหนักถึงความเป็น ‘queer’ ของ Édith เธอหยิบหมวกของ François ขึ้นมาสวมใส่ แล้วจับจ้องมองจัดแต่งความหล่อในกระจก ซึ่งสะท้อนความต้องการจากภายใน (จริงๆจะมองว่า เธอมีความหลงใหลในหมวก/เจ้าของหมวก ก็ได้เช่นกัน)
ซึ่งผมก็ชอบนัยยะแฝงนี้นะ เพราะมันยังสะท้อนตัวตนของผู้กำกับ Demy (แทนตนเองด้วยตัวละคร François) ว่ากำลังตกหลุมรักคลั่ง Édith ที่มีภาพลักษณ์ LGBT+
François มารอรับแฟนสาว Violette ที่หน้าห้างสรรพสินค้า Decré Shopping District จากนั้นเดินคุยเรื่อยเปื่อยมาจนถึงลานสาธารณะ Cours Saint-Pierre et Saint-André (เรียกย่อๆว่า Cours Saint-Pierre)
มีเพียงเรื่องราวของ Violette ที่ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงแสงอาทิตย์สาดส่อง เสื้อผ้าสีสว่างสดใส แต่ถึงอย่างนั้นฉากนี้ก็แอบพยากรณ์อนาคตเล็กๆ เพราะหลังจากทั้งสองร่ำลาจาก หญิงสาวเดินตรงไปยังกลุ่มแม่ชีที่อยู่ด้านหลัง (บอกใบ้ว่าเธออาจกลายเป็นแม่ชี ไม่ได้แต่งงานครองคู่ชายคนรัก) … จะว่าไป Violette ให้ความรู้สึกคล้ายๆตัวละคร Madeleine จาก The Umbrellas of Cherbourg (1964) แต่ประสบโชคชะกรรมแบบเดียว Geneviève
ร้านขายโทรทัศน์ของ Edmond ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า Passage Pommeraye (แต่ฉากภายในร้านเหมือนจะถ่ายในสตูดิโอที่ Paris) ถ้าผมจำไม่ผิดภาพยนตร์เรื่อง Lola (1961) บริเวณดังกล่าวคือที่ตั้งร้านทำผม เจ้าของถูกจับกุมข้อหาค้าเพชรเถื่อน
สังเกตพื้นผนัง และเสื้อผ้าของ Edmond ใช้โทนสีเขียวแก่ๆ สร้างบรรยากาศดูหมองหม่น สถานที่แห่งชั่วร้าย ความตาย โศกนาฎกรรม นั่นคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในฉากถัดๆไป
แม้ว่าห้องพักในโรงแรมที่ François ได้ร่วมรักหลับนอนกับ Édith จะมีผนังสีเขียว (แบบเดียวกับร้านของ Edmond) แต่สังเกตว่ามันเป็นเขียวที่มีความสว่าง สดใส ดูเหมือนธรรมชาติชีวิต สะท้อนถึงรักแรกพบของทั้งคู่ ถาโถมเข้าใส่เพื่อตอบสนองสันชาติญาณ(ธรรมชาติ)ชีวิต
มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบช็อตนี้กับภาพวาด Les Jours gigantesques (1928) แปลว่า The Titanic Days ของ René Magritte (1898-1967) จิตรกรสัญชาติ Belgium แต่ผมว่ามันละนัยยะความหมายเลยนะ! เพราะภาพวาดดังกล่าวเหมือนว่าหญิงสาวพยายามผลักไส ไม่ต้องการถูกชายคนนั้นข่มขืนมากกว่า
ฉากที่เกี่ยวกับบรรดากลุ่มผู้ประท้วง กรรมกรแรงงาน แม้แต่ในคาเฟ่ตอนกลางวัน ยังดูปกคลุมด้วยเงามืด บรรยากาศทะมึนๆ สะท้อนถึงการต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น เคลื่อนไหว(ในเงามืด)อย่างไม่ให้ใครรับรู้พบเห็น ขณะเดียวกันสามารถตีความถึงอนาคตที่หมองมัว ไม่มีทางออก ไร้จุดจบสิ้น
สถานที่ François บอกเลิกรากับ Violette ก็คือ Place du Bouffay ย่านเก่าแก่ที่สุดของ Nates ซึ่งยามเย็นพนักงานกำลังเก็บกวาดขยะ ซึ่งก็สะท้อนถึงพฤติกรรมชายหนุ่ม ทอดทิ้งหญิงสาวอย่างไร้เยื่อใย (เหมือนขยะ) เพื่อไปครอบครองรักครั้งใหม่ ทำในสิ่งตอบสนองหัวใจอยาก
ผมชอบไดเรคชั่นของฉากนี้มากๆ เริ่มจาก Edmond พยายามพูดโน้มน้าว Édith ขณะกำลังยืนพิง เกาะแก่งอยู่ใกล้ๆเสา เพราะเขาต้องการเธอสำหรับเป็นที่พึ่งพักพิง ไม่ยินยอมให้ทอดทิ้งจากไป ขอเริ่มต้นใหม่อีกสักครั้งได้ไหม
แต่เมื่อ Édith ปฏิเสธหัวชนฝา ทั้งคู่ต่างชักอาวุธออกมาเผชิญหน้า กล้องจับจ้องมุมมองบุคคลที่หนึ่งของกันและกัน จากนั้นเดินหมุนวนกลม 360 องศา ราวกับเขาและเธอคือศูนย์กลางจักรวาล ไม่มีใครยอมกัน สนเพียงตัวของตนเองเท่านั้น จนกระทั่งใครคนหนึ่งตัดสินใจยินยอมเป็นผู้เสียสละ เพื่อพิสูจน์ความรักที่มีให้อีกฝั่งฝ่าย
ท่าอุ้มดังกล่าว แลดูคล้ายรูปปั้นแกะสลักชื่อก้องโลก Pietà (ค.ศ. 1498-99) หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Michelangelo ซึ่งคือพระแม่มารีย์โอบอุ้มพระเยซูหลังถูกตรึงไม้กางเขน … สังเกตว่า François ก็กางแขนทั้งสองข้าง เหมือนเพิ่งถูกตรึงกางเขนมาเช่นกัน
ศาสนาอาจไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้กำกับ Demy สักเท่าไหร่ แต่ก็พอพบเห็นประกอบพื้นหลัง ที่พึ่งพักพิงบ้างบางครา ซึ่งในบริบทนี้ผมรู้สึกว่าน่าจะสื่อถึงการเสียสละ แม้ไม่สามารถฟื้นคืนชีพ (เหมือนพระเยซู) แต่ความรักของเขาจักกลายเป็นอมตะ
แซว: อุ้มท่านี้ ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมตัวละครถึงไม่รอดชีวิต
การกระทำตอนจบของ Édith ย้อนรอยสิ่งที่ Edmond เคยแสดงออกต่อหน้าเธอ ฉันไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้าอีกฝั่งฝ่ายทอดทิ้ง/สูญสิ้นชีวิตจากไป นั่นคือการพิสูจน์รักแท้ มันอาจไร้สาระในมุมของใครต่อใคร แต่คือความสวยงามของศิลปะที่เรียกว่า โศกนาฎกรรม
ก่อนหน้านี้ Édith และ François ต่างเคยทิ้งตัวลงนอนบนเตียงในลักษณะคล้ายๆกัน (เป็นฉากหลังจาก Édith หลบหนีกลับจากร้านของ Edmond) เหมือนเป็นการพยากรณ์บอกใบ้ตอนจบของหนังอยู่เล็กๆ เมื่อโศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง
เห็นว่าช็อตนี้ได้แรงบันดาลใจจากภาพสุดท้ายของ L’Éternel Retour (1943) กำกับโดย Jean Delannoy, เขียนบทโดย Jean Cocteau, ผมยังไม่เคยดูเรื่องนี้เลยบอกไม่ได้ว่าละม้ายคล้ายคลึงกันแค่ไหน
ตัดต่อโดย Sabine Mamou (1948-2003) เกิดที่ Tunis แล้วมาร่ำเรียน/ทำงานยังฝรั่งเศส เริ่มมีผลงานตั้งแต่ปี 1974, มีโอกาสร่วมงาน Jacques Demy ตั้งแต่ Une chambre en ville (1982) จนผลงานสุดท้าย
หนังใช้อพาร์ทเม้นท์ของ Madame Langlois ตั้งอยู่กลางเมือง Nantes เป็นจุดศูนย์กลาง! ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านกลุ่มบุคคลที่จะแวะเวียนวน มีความสัมพันธ์บางอย่างกับสถานที่แห่งนี้ ในระยะเวลา 3 วัน 2 คืน (ประมาณ 60% ของหนัง ดำเนินเรื่องในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้)
ผมของแบ่งเรื่องราวออกตามระยะเวลา 3 วัน 2 คืน (อังคาร-พฤหัส) น่าจะเห็นภาพชัดกว่า
- วันอังคาร
- เริ่มต้นด้วยการชุมนุมประท้วง เกิดการปะทะต่อสู้
- François หลบหนีกลับขึ้นอพาร์ทเม้นท์ สนทนากับ Madame Langlois
- Édith แวะเวียนกลับมาหามารดาที่อพาร์ทเม้นท์
- François นัดพบเจอกับแฟนสาว Violette
- ค่ำคืนวันอังคาร
- กลุ่มผู้ประท้วงประชุมนัดหมาย กำหนดการครั้งต่อไปวันพฤหัส
- หลังจากดูดวงเสร็จ Édith กลับมาที่ร้านของสามี เกิดการโต้ถกเถียงเลยหนีออกจากบ้าน
- Édith ยั่วเย้า François พากันขึ้นโรงแรม
- Edmond ออกติดตามหา Édith มายังอพาร์ทเม้นท์ของ Madame Langlois ชักมีดโกนขึ้นมาจะขู่ทำร้าย
- วันพุธ
- เช้าวันใหม่ François มิอาจพลัดพรากจาก Édith
- Violette พยายามออกติดตามหา François เพื่อบอกข่าวว่าตนตั้งครรภ์ แต่มีเหตุให้ต้องแคล้วคลาดอยู่เรื่อยไป
- François และ Édith ต่างกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ของ Madame Langlois พรอดรักกันโดยไม่สนอะไรใครทั้งนั้น
- ในที่สุด Violette ก็ได้พบเจอกับ François แต่เธอกลับสูญเสียเขาไป
- ค่ำคืนวันพุธ
- Édith กลับมาที่ร้านของ Edmond เพื่อจะเก็บข้าวของย้ายออก แต่เกิดเรื่องไม่คาดฝัน
- Édith สามารถลากสังขารมาถึงอพาร์ทเม้นท์ของ Madame Langlois แล้วพูดเล่าสิ่งบังเกิดขึ้น
- เพื่อนของ François มาย้ำเตือนการชุมนุมวันพรุ่งนี้
- เช้าวันพฤหัส
- Violette ตัดสินใจมาเผชิญหน้ากับ Édith ยังอพาร์ทเม้นท์ของ Madame Langlois
- พอดิบพอดีกับการชุมนุมประท้วง เกิดการปะทะต่อสู้ ทวีความรุนแรงจน…
สำหรับคนที่เคยรับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับ Demy น่าจะมักคุ้นถึงสไตล์ลายเซ็นต์ ไดเรคชั่นลำดับเรื่องราว อาทิ ทุกตัวละครต่างมีความสัมพันธ์กันบางอย่าง โยงใยเหมือนหยากไย่, กว่าจะได้พบเจอใครบางคน มีเหตุให้แคล้วคลาดนับครั้งไม่ถ้วน (ช่วงวันพุธ Violette ออกติดตามหา François ตั้งแต่เช้าจรดเย็น), และหลายครั้งสลับเปลี่ยนมุมมองตัวละครด้วยการเดินสวน ออกประตูหลัง-เดินเข้าประตูหน้า หรือมีบางสิ่งอย่างที่(ทั้งสองฉาก)สามารถเชื่อมโยงถึงกัน
ความสำเร็จของ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ทำให้ผู้กำกับ Demy แอบคาดหวังอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็น Opera แท้ๆ แต่หลังจาก Michel Legrand ปฏิเสธร่วมงานเพราะไม่ต้องการทำเพลงเกี่ยวกับประเด็นสังคม (Social Theme) นั่นทำความตั้งใจดังกล่าวกลายเป็นหมันโดยทันที
เพลงประกอบโดย Michel Colombier (1939-2004) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มมีผลงานซีรีย์/ภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1962 โด่งดังกับ Un flic (1972), The Inheritor (1973), Une chambre en ville (1982), Purple Rain (1984) ฯ
ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนแนะนำ Michel Colombier (อาจจะโปรดิวเซอร์กระมัง) แต่วิธีการทำงานแตกต่างตรงกันข้ามกับ Legrand กล่าวคือ Colombier ไม่สามารถเขียนเพลงโดยมีใครบางคนยืนกดดันอยู่เคียงข้าง (โดยปกติแล้วผู้กำกับ Demy จะยืนประกบ Legrand ชอบตรงนี้ ไม่ชอบตรงนั้น แสดงความคิดเห็นออกมาตรงๆ) เลยใช้วิธีเขียนบทเพลงแบบไม่สนเนื้อคำร้อง แล้วให้ผู้กำกับเลือกนำไปใช้ยังไงก็ได้ (ยกเว้นเพียงฉากชุมนุมประท้วง ที่จะแต่งท่วงทำนองให้สอดประสานคำร้อง โต้ตอบกันระหว่างสองฝั่งฝ่าย)
หลายคนเมื่อได้ยินว่า Une chambre en ville (1982) ใช้วิธีการนำเสนอแบบเดียวกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ก็ครุ่นคิดว่าท่วงทำนองจะมีลักษณะ Jazz-like ถ่ายทอดความรู้สึกสลับคำพูด ซ้ำไปซ้ำมา แต่ด้วยวิธีการทำงานของ Colombier ดังที่กล่าวไป บทเพลงจึงมีลักษณะบรรเลงคลอประกอบพื้นหลัง นักร้องขับขานถ้อยคำ/บทสนทนา ด้วยน้ำเสียงจำกัดเพดานแค่ Contralto ไม่ให้ล่วงล้ำจนกลายเป็น Mezzi หรือ Soprano (ต้องการให้หนังมีลักษณะเหมือนโอเปร่า (Opera-like) ไม่ใช่ Opera จริงๆ)
สำหรับสไตล์เพลง ผู้กำกับ Demy ต้องการบรรยากาศของโศกนาฎกรรม มีความซึมๆ เศร้าๆ ซึ่งหลายบทเพลงได้แรงบันดาลใจจากคีตกวีชื่อดัง อาทิ Giuseppe Verdi, Giacomo Puccini, Sergei Prokofiev, Richard Wagner ฯลฯ ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะมักคุ้นกับเพลงคลาสสิกมากน้อยเพียงใด
เท่าที่ผมค้นหาข้อมูล หนังเรื่องนี้มีอัลบัม Original Soundtrack นะครับ แต่กลับไม่พบเห็นใครโพสคลิปลงบน Youtube สักเท่าไหร่ หามาได้แค่ 2-3 เพลงน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ La Première Grève (แปลว่า The First Strike) บทเพลงโต้ตอบไปมาระหว่าง ตำรวจ vs. กลุ่มผู้ชมนุมประท้วง ฝั่งหนึ่งพยายามขับไล่ให้กลับบ้าน อีกฝั่งสาดเทสีด้วยถ้อยคำหยาบช้า ปลุกระดมมวลชนให้ฮึกเหิม ก่อนเริ่มต้นการปะทะ ใช้ความรุนแรงต่อสู้ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
Une chambre en ville แปลว่า A Room in Town ห้องพักในเมือง, อพาร์ทเม้นท์ที่ Nantes สถานที่แห่งความทรงจำของ Jacques Demy เคยปักหลักพักอาศัย พานผ่านช่วงเวลาสุข-ทุกข์ สนุกสนานเริงรื่น-ซ้ำซากจำเจน่าเบื่อหน่าย เมื่อเติบโตขึ้นเลยตัดสินใจดิ้นรนหลบหนี แต่สุดท้ายก็หวนกลับมาตายรัง (สรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ Nantes ถึงสองครั้ง!)
It’s the story of people who defend their rights, who defend their lives, their love, their happiness, and it seemed to me an interesting subject. But I don’t want to make a political film, that doesn’t interest me, I don’t know anything about it.
Jacques Demy
ทศวรรษ 60s, ผู้กำกับ Demy สรรค์สร้างภาพยนตร์เพื่อปกป้อง ปกปิด คุ้มกันภัย ซุกซ่อนเร้นตัวตน ไม่ต้องการเปิดเผยความต้องการภายในออกไป แต่กาลเวลาทำให้เขาค่อยๆเรียนรู้ที่จะยินยอมรับ เผชิญหน้ากับตัวเอง ความจริงไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย การไม่ได้ทำสิ่งตอบสนองตามใจอยาก ฝืนกลั้นความรู้สึก นั่นต่างหากที่จักกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง
ทศวรรษ 70s, เป็นช่วงเวลาที่ผู้กำกับ Demy ค่อยๆเปิดเผยธาตุแท้ตัวตน รสนิยม ความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเอง ทั้งจากผลงานภาพยนตร์ และชีวิตจริง จนกระทั่งการมาถึง Une chambre en ville (1980) ถึงขนาดตัดทิ้งเรื่องราวความสัมพันธ์กับบิดา (จากบทร่างดั้งเดิมของหนัง) หลงเหลือเพียงตัวละคร (François Guilbaud) พยายามปกป้องสิทธิ เสรีภาพ เลือกแสดงออกในสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตนเท่านั้น
พายุรักระหว่าง François กับ Édith ก็คือเรื่องราวความรักของผู้กำกับ Demy และคู่ขา David Bombyk ที่พบเจอครั้งแรกในกองถ่ายภาพยนตร์ Lady Oscar (1979) รุนแรงถึงขนาดว่าตัดสินใจแยกทางกันอยู่กับ Agnès Varda (แต่ก็ไม่ได้หย่าร้างมั้งนะ) จนเธอพาลูกหนีมาอยู่ Los Angeles แต่เพียงสองปีให้หลังก็เดินทางกลับฝรั่งเศส และพบเห็นอดีตคนรักไม่ได้ย้ายหนีไปไหน … จนกระทั่ง Bombyk จากไปด้วยโรค AIDS เมื่อปี 1989 และ Demy หวนกลับมาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายกับ Varda จนถึงตุลาคม 1990
ลึกๆผมรู้สึกว่า Une chambre en ville (1982) คือพินัยกรรม ‘testament’ ของผู้กำกับ Demy เพื่อแสดงความรับผิดชอบการตัดสินใจของตนเอง ต่อ(อดีต)ภรรยา/แฟนสาวที่เพิ่งตั้งครรภ์ สิ่งบังเกิดขึ้นกับตัวละครหลังจากนั้น มีเพียงเสี้ยวเวลาแห่งความสุข และผลกรรมติดตามทัน
โศกนาฎกรรมของหนัง ล้วนเกิดจากความหมกมุ่น/มักมากในรัก ต้องการพิสูจน์ตนเอง ยอมฆ่าตัวตายเพื่ออยู่เคียงข้างเธอตลอดไป นั่นคงคือสิ่งโรแมนติกในความครุ่นคิดของผู้กำกับ Demy แต่กว่าเขาจะรับรู้ตัวจริงๆก็เมื่อล้มป่วยใกล้ตาย หลงเหลือเพียง Agnès Varda อยู่เคียงข้างกาย แม้เธอเคยพานผ่านช่วงเวลาร้ายๆ แต่หลังจากสามีจากไปก็ยังคงสวมแหวน ไม่แต่งงานใหม่ สรรค์สร้างภาพยนตร์/สารคดีอุทิศให้ Jacquot de Nantes (1991), The World of Jacques Demy (1995) และยังพูดกล่าวถึงใน The Beaches of Agnès (2008)
ด้วยทุนสร้างประมาณ 5.5 ล้านฟรังก์ วันแรกมีผู้ชมเพียง 3,165 ที่นั่ง แม้จะได้รับการผลักดันจากนักวิจารณ์ เขียนบทความชักชวนให้หาโอกาสไปรับชมหนัง แต่จนแล้วจนรอด จนจบโปรแกรมฉายมียอดจำหน่ายตั๋วเพียง 102,872 ใบ ยังไงก็ยังขาดทุนย่อยยับเยิน
การที่จู่ๆนักวิจารณ์ แห่กันเขียนบทความชื่นเชยชมหนังอย่างออกนอกหน้า สร้างความหงุดหงิดไม่พีงพอใจต่อสาธารณะ หนี่งในนั้นคือนักแสดง Jean-Paul Belmondo ซี่งมีผลงาน L’As des aces (1982) กำกับโดย Gérard Oury ออกฉายสัปดาห์เดียวกัน ทำเงินได้มากกว่า แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้ Une chambre en ville (1982) ไม่ประสบความสำเร็จทำกำไร เลยตีพิมพ์จดหมายเปิดผนีก ตำหนิต่อว่าการเลือกปฏิบัติ(ของนักวิจารณ์)อย่างน่ารังเกียจ
Gérard Oury must blush with shame for having “preconceived his film for success”. Did Jacques Demy preconceived his for failure? When in 1974 I produced Stavisky by Alain Resnais and the film only sold 375,000 admissions, I didn’t whine accusing James Bond of stealing my viewers.
So let’s forget this sterile agitation and just keep in mind this sentence from Bernanos : “Be careful, the failures won’t miss you!
Jean-Paul Belmondo (ใช้ Google Translate แปลภาษาฝรั่งเศสเป็นอังกฤษก็ได้เท่านี้นะครับ)
หนังได้เข้าชิง César Award ถีง 9 สาขา แต่ไม่สามารถคว้ามาได้สักรางวัล
- Best Film
- Best Director
- Best Supporting Actor (Jean-François Stévenin)
- Best Supporting Actress (Danielle Darrieux)
- Most Promising Actress (Fabienne Guyon)
- Best Cinematography
- Best Production Design
- Best Sound
- Best Music
การที่หนังไม่ได้สักรางวัล แถมพ่ายแพ้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมต่อ La balance (1982) ก็ทำให้บรรดานักวิจารณ์ขุ่นเคืองยิ่งกว่าเดิม เขียนบทความโจมตี César Award อย่างรุนแรงอีกเช่นเคย แต่มันก็เท่านั้นละครับเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทั้งนั้น
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K พร้อมเสียง 2.0ch surround รวบรวมอยู่ใน The Essential Jacques Demy สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel
Une chambre en ville (1982) อาจไม่ได้มีบรรยากาศผ่อนคลาย บทเพลงไพเราะเสนาะหูเทียบเท่า The Umbrellas of Cherbourg (1964) แต่เนื้อเรื่องราวผมรู้สีกว่ามีความตราตรึง คาดไม่ถีง ทรงพลังกว่าไหนๆ และประสบการณ์ทั้งชีวิตของผู้กำกับ Jacques Demy ได้ถูกคลุกเคล้า ผสมผสาน ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นเอกเรื่องสุดท้าย (จริงๆ Demy ยังได้สร้างหนังอีก 2-3 เรื่อง แต่คุณภาพไม่ดีพอให้พูดกล่าวถีง)
สิ่งที่ผมคลั่งไคล้สุดๆของหนังก็คือโศกนาฎกรรม ทุกครั้งบังเกิดขี้นมันช่างเจ็บปวด รวดร้าวถีงทรวงใน บีบเค้นคั้นหัวใจให้ทุกข์ทรมาน ทำไมตัวละคร/ผู้กำกับ Demy ถีงครุ่นคิดตัดสินใจเช่นนั้น มันคือบทสรุปแห่งโชคชะตากรรม หลงเหลือเพียงความขื่นขม และจบลงอย่างเงียบงัน
แนะนำคอหนัง Musical แนวความรักเผชิญหน้าโศกนาฎกรรม, โดยเฉพาะแฟนๆผู้กำกับ Jacques Demy ถ้าคุณชื่นชอบ The Umbrellas of Cherbourg (1964) อยากให้ลิ้มลองภาพยนตร์เรื่องนี้สักครั้ง
จัดเรต 18+ กับการประท้วง ใช้ความรุนแรง และโศกนาฎกรรม
Leave a Reply