
A Woman Is a Woman (1961)
: Jean-Luc Godard ♥♥♥♡
แสร้งว่าคือ Musical? ภาพยนตร์เฉลิมฉลองการตั้งครรภ์ระหว่าง Jean-Luc Godard และ Anna Karina แต่ชีวิตจริงหาได้สวยหรูดั่งเทพนิยาย เพราะเขาไม่เคยอยู่เคียงชิดใกล้ แม้กระทั่งตอนแท้งลูกก็หาได้ใคร่สนใจ
[A Woman Is a Woman (1961)] was my first real film.
Jean-Luc Godard
ผู้ชม/นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจคำพูดประโยคนี้ของผู้กำกับ Godard ครุ่นคิดแค่ว่า Breathless (1960) ที่ปฏิวัติวงการภาพยนตร์ มันควรจะเป็น ‘real film’ เรื่องแรกไม่ใช่หรือ? แต่ผมเห็นด้วยที่ว่าสไตล์ Godardian เริ่มต้นที่ A Woman Is a Woman (1961)
‘สไตล์ Godard’ คืออะไร? คนส่วนใหญ่มักมองแค่ว่าต้องมีเทคนิค ‘jump cut’ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Breathless (1960) มันคือความบังเอิญไม่ได้ตั้งใจ (โปรดิวเซอร์บอกหนังยาวเกินไป แทนที่จะตัดบางฉากออก กลับเลือกหั่นตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย) ขณะที่ Le petit soldat (1960) ถือเป็นผลงานเคียงคู่ ‘accompany’ ของ Breathless (1960) สำหรับเติมเต็มกันและกัน เลยยังไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่แท้จริง!
ถ้าคุณรับชมผลงานของผู้กำกับ Godard เริ่มตั้งแต่ A Woman Is a Woman (1961) น่าจะสังเกตเห็นเหตุและผลของการใช้เทคนิค ‘jump cut’ รับอิทธิพลมาจาก Episches Theater (Epic Theatre) โดยเฉพาะเสียงเพลงที่ดังๆหยุดๆ เพื่อสร้างความหงุดหงิดน่ารำคาญให้ผู้ชม ตระหนักรู้ถึงความแตกต่าง (ระหว่างภาพยนตร์-ชีวิตจริง) บังเกิดสติในการครุ่นคิด ไม่ใช่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับสิ่งที่ละคร/ภาพยนตร์นำเสนอออกมา
กล่าวคือ A Woman Is a Woman (1961) ถือเป็นผลงานเรื่องแรกๆที่ผู้กำกับ Godard ค้นพบรูปแบบวิธีการนำเสนอ สร้างนิยามความหมายให้เทคนิค ‘jump cut’ พัฒนาสไตล์ Godardian จนกลายมาเป็นของตัวของตนเองได้สำเร็จ! … ผมไม่เคยพบเจอผู้กำกับคนไหนที่ผลงานแรกก็สามารถสร้างลายเซ็นต์ได้สมบูรณ์ ล้วนต้องใช้เวลาพัฒนา เรียนรู้ สะสมประการณ์ ลองผิดลองถูกด้วยกันทั้งนั้น ก็มักจะ 2-3 ผลงานให้หลังถึงค่อยเรียกได้อย่างเต็มปากเต็ม
A Woman Is a Woman (1961) เป็นหนังที่ดูยากเฉพาะรอบแรกๆ สำหรับคนยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสไตล์ Godarian แต่เมื่อสามารถจับใจความ เนื้อหาสาระ เข้าถึงวิธีการนำเสนอ (ว่าแต่ละฉากๆมีจุดประสงค์อะไร) อาจสร้างความเคลิบเคลิ้มหลงใหล ชื่นชอบประทับใจ โดยเฉพาะหญิงสาววัยแรกรุ่น ระริกระรี้หาคนรัก น่าจะเป็นผลงานร่าเริงยิ้มหวานที่สุดของ Anna Karina เพราะหลังจากนี้จะหลงเหลือเพียงโศกนาฎกรรม
Jean-Luc Godard (1930-2022) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ French-Swiss เกิดที่กรุง Paris บิดาเป็นนายแพทย์ชาว Swiss ฐานะร่ำรวย ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหลบลี้ภัยอยู่ Switzerland, เริ่มรู้จักภาพยนตร์จากการอ่านบทความ Outline of a Psychology of Cinema เขียนโดย André Malraux ตามด้วยความสนใจนิตยสาร La Revue du cinéma จากนั้นเริ่มมีโอกาสพบปะผู้คนในวงการ, เมื่อปี 1950 สมัครเข้าศึกษาคณะมานุษยวิทยา University of Paris แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เพราะไปหมกตัวอยู่ Ciné-Clubs ตามด้วย Cinémathèque Française รับรู้จักบรรดาพรรคเพื่อนผู้หลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์ François Truffaut, Jacques Rivette, Claude Chabrol, เคยร่วมกับ Éric Rohmer ก่อตั้งวารสาร La Gazette du cinéma แต่อยู่รอดแค่เพียงห้าฉบับ! จากนั้นได้รับคำชักชวนจาก André Bazin กลายเป็นนักวิจารณ์(คนแรกของกลุ่มที่ได้)ตีพิมพ์บทความลงนิตยสาร Cahiers du Cinéma ระหว่างนั้นก็ทดลองทำหนังสั้น และกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Breathless (1960) ** ได้รับการยกย่องว่าคือจุดเริ่มต้นยุคสมัยใหม่ (Modern Cinema)
หลังเสร็จจากภาพยนตร์เรื่องที่สอง Le petit soldat (1960) ผู้กำกับ Godard ออกเดทกับ Anna Karina อาศัยอยู่ร่วมชายคา แต่ยังไม่ได้แต่งงาน (เพราะ Karina ยังอายุไม่ถึง 21 ปี) เรื่องมีบุตรไม่เคยพูดกล่าวถึงสักครั้ง!
สำหรับ Une femme est une femme (1961) ได้แรงบันดาลใจจากนักแสดง/เพื่อนสาวอีกคน Geneviève Cluny ไม่รู้ประสบการณ์ตรงเลยหรือเปล่า หญิงสาวใคร่อยากตั้งครรภ์มีบุตร แต่แฟนหนุ่มของเธอกลับพยายามชักแม่น้ำทั้งห้า แล้วเรียกเพื่อนสนิท/ชายอีกคนให้มาร่วมรักหลับนอน … ไม่รู้จะเรียก Comedy หรือ Tragedy
ผู้กำกับ Godard นำพล็อตเรื่องคร่าวๆ (Treatment) ความยาวประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ ไปพูดคุยต่อรองโปรดิวเซอร์ขาประจำ Georges de Beauregard พร้อมเสนอแนะว่าอยากทำออกมาลักษณะ Musical (เจ้าตัวให้คำเรียก Neorealist Musical) นั่นทำให้ได้รับการบอกปัดโดยทันที บ้ารึเปล่า! … กล่าวคือหนังเพลงในฝรั่งเศสถือเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่เคยได้รับความนิยม (ยกเว้น Hollywood Musical) แถมต้องใช้งบประมาณไม่น้อยในการก่อสร้างฉาก ถ่ายทำในสตูดิโอ
LINK: Treatment ของหนัง https://michaelbenedikt.tripod.com/godard2.html
การมาถึงของโปรดิวเซอร์ชาวอิตาเลี่ยน Carlo Ponti จากความประทับใจ Breathless (1960) กล้าบ้ากล้าเสี่ยง กล้าสมทบทุนเพิ่มเติมให้ de Beauregard เลยยินยอมตอบตกลง ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับ Godard จึงมีโอกาสสรรค์สร้าง Une femme est une femme (1961) ไม่เพียงแค่แนว Musical แต่ยังครั้งแรกถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Eastmancolor อัตราส่วน Cinemascope สร้างฉากในสตูดิโอแทบทั้งหมด
ผมอ่านเจอว่า Karina หาใช่ตัวเลือกแรกในการรับบทนำ (แต่ก็คงได้รับเชิญบทเล็กๆ) มีอยู่สองนักแสดงที่ได้รับการติดต่อคือ Geneviève Cluny (เจ้าของพล็อตหนัง) และ Brigitte Bardot แต่มีเหตุบางอย่างให้ทั้งสองบอกปัดปฏิเสธ Godard ถึงค่อยหันมาแสดงความสนใจ ชักชวนมาร้อง-เล่น-เต้น และโดยไม่รู้ตัวเธอตั้งครรภ์กับเขาขึ้นมาจริงๆระหว่างกำลังถ่ายทำ เลยได้แต่งงานกันหลังจากนั้น
I was not supposed to play the lead in it in the beginning—I originally had one of the smaller parts. With ‘Tonight or Never,’ I tried very hard to lose my Danish accent and when Jean-Luc saw me in that part, he said ‘Why don’t you do ‘A Woman is a Woman’?’
Anna Karina
ในส่วนบทภาพยนตร์นั้น Karina ให้สัมภาษณ์เล่าว่า Godard ไม่เคยพัฒนาบทจนแล้วเสร็จ มีเพียงเค้าโครงรายละเอียดคร่าวๆสำหรับเตรียมงานสร้าง นักแสดงจะได้รับบทสนทนา 5 นาทีก่อนเริ่มการถ่ายทำ (ครุ่นคิดสดๆเมื่อเช้า) นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหญิงสาวชาวดัตช์ พูดสำเนียงฝรั่งเศสยังไม่ชัดเท่าไหร่
I have to tell you that we never had any scripts. Jean-Luc never wrote a script in his life. He would write the dialogue that morning before shooting. Of course, he told us a little bit what the scene would be like but we never really knew what we were going to do. We got the dialogue in the morning about five minutes before the shooting and that could be very hard work once in a while.
Anna Karina กล่าวถึงการทำงานของ Jean-Luc Godard
เรื่องราวของนักเต้นสาว Angéla (รับบทโดย Anna Karina) อาศัยอยู่กับชายคนรัก Émile Récamier (รับบทโดย Jean-Claude Brialy) จู่ๆเกิดความต้องการอยากมีบุตร (เห็นเพื่อนที่ทำงานตั้งครรภ์ก็เลยอยากเป็นแบบนั้นบ้าง) แต่เพราะเขายังไม่พร้อม และทั้งสองก็ยังไม่ได้แต่งงาน เลยพยายามตอบปฏิเสธหัวชนฝา
Alfred Lubitsch (รับบทโดย Jean-Paul Belmondo) เพื่อนสนิทที่พยายามเกี้ยวพาราสี Angéla อยากครองคู่อยู่ร่วมแต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ (เพราะเธอรักเดียวใจเดียวต่อ Émile) จนกระทั่งเรื่องวุ่นๆของการอยากตั้งครรภ์ ทำให้เธอยินยอมร่วมรักหลับนอนกับเขา ในการรับรู้ของ Émile สร้างความปั่นป่วน อิจฉาริษยา แต่ท้ายที่สุดแล้วทั้งสองก็สามารถคืนดีกัน
Anna Karina ชื่อจริง Hanne Karin Bayer (1940-2019) เกิดที่ Frederiksberg, Denmark โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักร้อง-เต้นคาบาเร่ต์ ตามด้วยโมเดลลิ่ง แสดงหนังสั้นที่คว้ารางวัลเทศกาลหนังเมือง Cannes เลยตัดสินใจปักหลักอยู่กรุง Paris (ยังพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ด้วยซ้ำ) ได้รับการค้นพบโดยแมวมอง พามาถ่ายแบบ นิตยสาร กระทั่ง Jean-Luc Godra ชักชวนมารับบทนำ Breathless (1960) แต่กลับบอกปัดปฏิเสธเพราะไม่อยากเข้าฉากนู๊ด ถึงอย่างนั้นก็ยินยอมร่วมงานตั้งแต่ A Woman Is a Woman (1961), My Life to Live (1962), The Little Soldier (1963), Band of Outsiders (1964), Pierrot le Fou (1965), Alphaville (1965) และ Made in USA (1966), ผลงานเด่นๆหลังจากนั้น อาทิ The Nun (1966), The Stranger (1967), Man on Horseback (1969), Chinese Roulette (1976) ฯ
รับบท Angéla นางฟ้าสาวสวย เต้นโป๊เปลือยในผับบาร์ แม้ถูกเกี้ยวพาจากเพื่อนรัก Alfred Lubitsch แต่จิตใจรักเดียวใจเดียว Émile Récamier พบเห็นเพื่อนสาวที่ทำงานตั้งครรภ์ เลยเกิดสันชาตญาณเพศแม่อยากเป็นเช่นนั้นบ้าง พยายามโน้มน้าวแฟนหนุ่ม แต่กลับสร้างความขัดแย้ง ไม่พึงพอใจ ขอแค่นี้ไม่ได้หรือไร เลยตัดสินใจร่วมรักหลับนอนกับ Alfred สร้างความอิจฉาริษยา ขณะเดียวกันก็ทำให้สัมพันธ์รักแนบแน่นแฟ้นยิ่งกว่าเก่า
Two Blue eyes: Giraduouz. A red umbrella: Aragon. This is Angéla.
Jeac-Luc Godard ให้คำอธิบายชื่อตัวละคร Angéla
นี่คือบทบาทแจ้งเกิด (เพราะ Le Petit soldat ยังไม่ได้เข้าฉาย) และเจิดจรัสที่สุดของ Karina ร้อง-เล่น-เต้น พูดพร่ำไม่ยอมหยุด (แต่ก็มีนักวิจารณ์สมัยนั้นแสดงความเห็นว่า พูดมากจนน่ารำคาญ) แสดงความครุ่นคิด สันชาติญาณ ออกมาอย่างบริสุทธิ์ สดใส ไร้เดียงสา ทำให้ผมนึกถึง Catherine Deneuve จากภาพยนตร์แจ้งเกิด The Umbrellas of Cherbourg (1964) รู้สึกละม้ายคล้ายกันอย่างบอกไม่ถูก
นี่น่าจะเป็นภาพของ Karina ที่ผู้กำกับ Godard เพ้อใฝ่ฝันหา หญิงสาวมีความบริสุทธิ์ ร่าเริงสดใส ขี้เหงาเอาใจ ระริกระรี้แรดร่าน แม้มีเรื่องทะเลาะขัดแย้งก็สามารถปรับความเข้าใจ … แต่นั่นก็แค่ในโลกภาพยนตร์ เพราะชีวิตจริงทั้งทั้งสองไม่ได้อยากมีลูก เพราะอารมณ์และสถานการณ์พาไป แล้วพอแท้งขณะอายุครรภ์หกเดือนครึ่ง เขาก็ไม่เคยเหลียวแลใส่ใจ เธอพยายามฆ่าตัวตายเลยถูกส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช เมื่อกลับออกมาพบเจอหน้าสนแต่ชักชวนให้แสดงภาพยนตร์เรื่องถัดไป Bande à part (1964)
We got married because, you know, I was pregnant. But then I lost the baby. Ups and downs. And then when Bande à Part came along, I was in a really bad shape. I didn’t want to be alive any more. I had tried to commit suicide and so they sent me to a crazy house.
And I wasn’t crazy at all. But it was a bad situation at that time for women – you could be there for ever. But an analyst helped to get me out. Then Jean-Luc came by and said, ‘Oh, you’re shooting tomorrow.’ Bande à Part. Crime movie. Heist movie. That movie probably saved my life.
Anna Karina
Jean-Claude Brialy (1933-2007) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เจ้าของฉายา ‘the French Cary Grant’ เกิดที่ Aumale, French Algeria (ปัจจุบันกลายเป็น Sour El-Ghozlane, Algeria) บิดาเป็นทหารในกองทัพ ติดตามครอบครัวกลัวฝรั่งเศสปี 1942 หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหาร Prytanée National Militaire มุ่งหน้าสู่ Paris เพื่อเติมเต็มความฝันนักแสดง เริ่มจากหนังสั้น Fool’s Mate (1956), ตามด้วย All the Boys Are Called Patrick (1957) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard, กลายเป็นขาประจำของ French New Wave อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), A Woman Is a Woman (1961), Circle of Love (1964), Claire’s Knee (1970) ฯลฯ
รับบท Émile Récamier เจ้าของร้านหนังสือแห่งหนึ่ง อาศัยอยู่ห้องพักเดียวกับ Angéla ใจหนึ่งก็รัก อีกใจก็รำคาญในความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ ขี้ง้องอนเอาแต่ใจ พูดอะไรไปไม่เคยสนใจรับฟัง แล้ววันหนึ่งเรียกร้องอยากตั้งครรภ์ ตัวเขาไม่ความพร้อมเลยสักสิ่งอย่าง เลยประชดด้วยการเรียกเพื่อนสนิท/คู่ขา Alfred Lubitsch ยินยอมให้ร่วมรักหลับนอนกับเธอ แต่นั่นก็ทำให้จิตสับสน กระวนกระวาย ว้าวุ่นวายใจ นี่ฉันทำบ้าห่าเหวอะไรอยู่
เกร็ด: ตัวจริงของ Jean-Claude Brialy เปิดเผยเมื่อตอนแก่ว่าตนเองเป็น Bisexual ถ้าใครช่างสังเกตจักพบเห็นหลายๆฉากในหนัง Émile ก็เหมือนมีรสนิยมทางเพศเช่นเดียวกัน … จะมองว่าคือเหตุผลหนึ่งที่ไม่อยากมีบุตรก็ได้เช่นกัน
ภาพลักษณ์ของ Brialy ดูเป็นคนภูมิฐาน เฉลียวฉลาด (ถ้าไว้หนวดจะเหมือนนักปราชญ์ เป็นภาพจำจาก Claire’s Knee ที่ผมชื่นชอบมากๆ) พูดไม่มากแต่เอาจริงเอาจัง บ่อยครั้งทำหน้านิ่วคิ้วขมวด สีหน้าไม่พึงพอใจ หงุดหงิดรำคาญพฤติกรรมแฟนสาว … อาจจะแทนด้วยผู้กำกับ Godard ได้ตรงๆเลยกระมัง ตกหลุมรัก/แต่งงานกับ Karina แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงกับเธอดี
ผมรู้สึกว่า Brialy เป็นคนที่มี Charisma ด้านการแสดงสูงมากๆ (แต่ไม่ค่อยเห็นเหมือน Cary Grant สักเท่าไหร่) มุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง (คล้ายๆ Jean-Louis Trintignant แต่คมเข้ม ลุ่มลึก หล่อกว่า) ซึ่งมีลักษณะขั้วตรงข้ามกับ Karina และ Belmondo (ในลักษณะสามเหลี่ยม) ทำให้ผู้ชมสามารถแยกแยะตัวละครออกได้โดยทันที … แต่ในบรรดานักแสดงชายที่เป็นตัวตายตัวแทนของผู้กำกับ Godard ผมรู้สึกว่า Brialy มีเพียงความเงียบขรึม เอาจริงเอาจัง แค่นั่นแหละ อุปนิสัยใจคออย่างอื่น ดูไม่ใกล้เคียงกันเลยสักนิด!
Jean-Paul Belmondo (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine บิดาเป็นนักแกะสลักชาวอิตาเลี่ยน ส่วนมารดาคือจิตรกรวาดภาพ, ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเล่นกีฬาฟุตบอล ต่อยมวย เคยขึ้นเวทีสมัครเล่นชนะรวด 3 ไฟต์ แต่เลิกชกเพราะเห็นหน้าตัวเองในกระจกแล้วรับไม่ได้, หลังจากปลดประจำการทหาร เข้าเรียนด้านการแสดง Conservatoire of Dramatic Arts จบมาเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก On Foot, on Horse, and on Wheels (1957), เข้าตาผู้กำกับ Jean-Luc Godard ชักชวนมาเล่นหนังสั้น Charlotte and Her Boyfriend (1958) และแจ้งเกิดกลายเป็นตำนาน Breathless (1960), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Léon Morin, Priest (1961), That Man from Rio (1964), Pierrot le Fou (1965), Borsalino (1970), The Professional (1981) ฯลฯ
รับบท Alfred Lubitsch ไม่รู้เหมือนกันทำงานอะไร แต่ว่ามีนิสัยกะล่อนปลิ้นปล้อน ไม่จ่ายค่าโรงแรม สรรหาข้ออ้างไม่จ่ายค่าอาหาร สนเพียงต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Angéla พร้อมทำทุกสิ่งอย่าง แม้กระทั่งแบล็กเมล์ Émile หวังจะได้ร่วมรักหลับนอน ครองคู่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเธอ
แซว: ชื่อตัวละครนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าอ้างอิงถึง Alfred Hitchcock และ Ernst Lubitsch แต่ผมแอบรู้สึกว่า Lubitsch มันออกเสียงละม้ายคล้าย Lubitech/Lubricants น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้ในเครื่องยนต์ (มันจะมีนัยยะที่กล่าวถึงน้ำมันหล่อลื่นอยู่ด้วยนะครับ)
นี่คือภาพจำของ Belmondo ติดมาจาก Breathless (1960) นิสัยกะล่อนปลิ้นปล้อน เต็มไปด้วยคำลวงล่อหลอก โจรกระจอก/แมงดา พึงพาอะไรไม่ได้ หาความซื่อสัตย์จริงใจสักนิดก็ไม่มี แต่เรื่องนี้ตัวละครของ Karina ไม่หลงคารมใดๆ เพราะทุ่มเทหัวใจรักเดียวใจเดียว เขาเลยกลายเป็นวัตถุทางเพศเพื่อตอบสนองความต้องการของหญิงสาว … กลับตารปัตรดีแท้
ผมค่อนข้างผิดหวังกับบทบาทนี้ ไม่ใช่แสดงไม่ดี หรือเป็นแค่พระรอง แต่คือมันไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไร้ความน่าสนใจ เห็นมาหมดเปลือกกับ Breathless (1960) ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยดูเหมือน ‘safe zone’ ของทั้งผู้กำกับ Godard และ Belmondo ใส่ๆเข้ามาเพื่อเติมเต็มขั้วตรงข้าม Brialy และ Karina (ในลักษณะสามเหลี่ยม)
ถ่ายภาพโดย Raoul Coutard (1924-2016) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของบรรดาผู้กำกับ French New Wave, สมัยเด็กตั้งใจร่ำเรียนเคมี แต่ไม่มีทุนการศึกษาเลยหันมาเป็นช่างภาพ เข้าร่วมสงคราม French Indichina War (1946-54) ในฐานะ ‘war photographer’ อาศัยอยู่เวียดนามถึง 11 ปี กลับมาฝรั่งเศสกลายเป็นฟรีแลนซ์ให้นิตยสาร Paris Match และ Look กระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Pierre Schoendoerffer ทั้งๆไม่เคยมีประสบการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่กลับได้เสียงชื่นชม The Devil’s Pass (1958), ติดตามมาด้วยผลงานแจ้งเกิดโด่งดัง Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), Vivre sa Vie (1962), Jules et Jim (1962), Le Mépris (1963), Bande à part (1964), Pierrot le Fou (1965), Z (1969) ฯลฯ
ตรงกันข้ามกับสองผลงานก่อนหน้า จากเคยก้าวออกมาถ่ายทำยังท้องถนน/สถานที่จริง หลายๆฉากของหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นในสตูดิโอที่ Paris แถมเป็นครั้งแรกถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Eastmancolor อัตราส่วน Cinemascope (2.35:1) และใช้การบันทึกเสียง Sound-on-Film
แต่ถึงอย่างนั้นผู้กำกับ Godard ก็ยังคงต้องการความสมจริงในการถ่ายทำมากที่สุด สั่งสร้างเพดานในฉากห้องพัก (โดยปกติฉากในสตูดิโอจะไม่มีเพดาน เพื่อใช้แสงไฟจากด้านบน) แถมทุกวันต้องล็อกกุญแจห้ามใครอื่นเข้าก่อนตนเองเดินทางมาถึง … เพื่ออะไรกัน??
Every night, he locked the door behind him. Nobody could enter the apartment until he arrived in the morning to open it. He filmed in the studio as if he were on location. The others (cinematographer Raoul Coutard et. al) protested.
Anna Karina
การถ่ายทำหนังด้วยฟีล์มสีและ Cinemascope เป็นความท้าทายที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด เต็มไปด้วยการลองผิดลองถูก เพราะส่วนใหญ่ของหนังเป็นฉากภายใน ร้อง-เล่น-เต้น เดินวนไปเดินมา มันจึงเต็มไปด้วยข้อจำกัด จนบางครั้งเกิดเป็ภาพลวงตา (ไม่รู้ว่าเดินเวียนวนผ่านเสาผ่านกำแพงยังไงถึงมาโผล่ตรงโน้นนี้) เมื่อเทียบผลงานเรื่องถัดๆมาอย่าง Le Mépris (1963) และ Pierrot le Fou (1965) เลยห่างชั้นกันมากๆ … แต่สิ่งที่ต้องเอ่ยปากชมคือการละเลงสีสัน โดยเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร มันอาจดูเรียบง่าย ตรงไปตรงมา (แฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์บางอย่าง) แต่สามารถสร้างความสดชื่น ผ่อนคลาย เบาสบายสายตา
นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้กำกับ Godard ได้ถ่ายทำด้วยฟีล์มสีและขนาด Cinemascope (ที่เรียกว่า Franchement scope) เพื่อสร้างความเต็มตาเต็มใจ ก็เลยใส่ตัวอักษรเครดิตขนาดใหญ่ แล้วละเลงสามเฉดสี น้ำเงิน-ขาว-แดง (ธงชาติฝรั่งเศส) แต่เหมือนว่ายังอยู่ในช่วงทดลองผิดลองถูก เพราะชื่อนักแสดงใช้สีขาวล้วน (แทนที่จะให้นักแสดงแทนคนละสี) ส่วนชื่อหนัง Une femme est une femme ก็มีเพียงแดงล้วน เหมือนไม่ได้แฝงนัยยะความหมายอันใด
แต่เสียงพื้นหลังที่ได้ยิน เหมือนทำการบันทึกความวุ่นๆวายๆเบื้องหลังกองถ่าย ให้ความรู้สึกเหมือนก่อนคอนเสิร์ตทุกครั้ง จะมีการทดสอบ/ปรับจูนเสียงเครื่องดนตรี เตรียมพร้อมก่อนเริ่มต้นทำการแสดง




พอเห็นภาพการตั้งครรภ์ ตามด้วยซับไตเติ้ลขึ้นชื่อหนังสือ “I’m expecting a baby” นี่เป็นการบอกใบ้เรื่องราวของหนัง และประกาศต่อผู้ชมว่า Anna Karina กำลังตั้งครรภ์
แซว: ถ้าไม่ติดว่า Jean-Luc Godard เพิ่งเสียชีวิต พอเห็น Doc Club & Pub นำหนัง Elevator to the Gallows (1958) มาฉาย คงได้เขียนถึงหนังของผู้กำกับ Louis Malle หนึ่งในนั้นอาจคือ Zazie in the Metro (1960) ภาพเด็กหญิงบนหน้าปกนิตยสาร Le Cinéma อยู่ตรงชั้นวางข้างๆ

ผมครุ่นคิดอยู่นานทีเดียวว่าทำไม Émile ถึงแนะนำหนังสือเจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty หรือภาษาฝรั่งเศส La Belle au Bois Dormant) ก็ค้นพบว่ามันอาจสะท้อนทัศนคติเบี้ยวๆของผู้กำกับ Godard ต้องการหญิงสาวในอุดมคติที่นิ่งเงียบ ไม่ครุ่นคิด ไม่แสดงความเห็น หรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับใดๆ เพียงนอนอยู่เฉยๆเหมือนเจ้าหญิงนิทรา ให้เขาเป็นผู้ออกคำสั่ง กระทำตามทุกสิ่งอย่าง
ส่วนเล่มข้างๆใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (Twenty Thousand Leagues Under the Seas, ภาษาฝรั่งเศส Vingt mille lieues sous les mers) วรรณกรรมไซไฟของ Jules Verne เหมือนต้องการสะท้อนความรู้สึกของตัวละคร (ผู้กำกับ Godard) ต่อการพูดพร่ำไม่มีหยุด เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจของแฟนสาว Angéla (และ Anna Karina) ราวกับทำให้พวกเขาด่ำดิ่งลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร

ผมคาดว่าภาพนี้น่าจะเป็นผลงานของ Paul Klee จิตรกรคนโปรดของผู้กำกับ Godard แต่หารายละเอียดไม่ได้ว่าชื่ออะไร แต่คำกล่าวของ Angéla ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว!
Émile: Why are you crying?
Angéla: Because I wish I could be both little yellow animals at the same time.
เจ้าสัตว์สีเหลือง (ที่ดูเหมือนปลาในโถแก้ว) มีขนาดเล็กและใหญ่ ราวกับแม่และลูก, ซึ่งความต้องการของเธออยากเป็นทั้งสองพร้อมกันในคราเดียว ย่อมสื่อถึงช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกอยู่ในท้องมารดา … ราวกับว่านี่คือภาพที่กระตุ้นสันชาตญาณ’ความเป็นแม่’ของ Angéla ออกมา นั่นคือสิ่งที่ไม่มีบุรุษคนไหนสามารถทำความเข้าใจ

ผมละชอบคำร้องท่อนแรกของบทเพลง Chanson d’Angela เสียจริง! ผู้คนสงสัยอยู่ตลอดว่าทำไม? แปลใหม่เป็น ผู้ชมสงสัยอยู่ตลอดว่าทำไมเมื่อตัวละครเอ่ยคำร้อง เสียงดนตรีถึงสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย? นี่คือลักษณะการผสมผสานระหว่างภาพยนตร์-ชีวิตจริง พูดอย่างหนึ่งแต่สามารถสื่อความได้อีกหลายๆสิ่งอย่าง

ช่างเป็นจังหวะพอดิบพอดีเมื่อคำร้องบทเพลงนี้ดังขึ้นว่า I’m no angel และ I can be real devil ที่แสงไฟจะเปลี่ยนสีจากน้ำเงิน (angel) เป็นแดง (devil) แต่ไม่ว่าเธอจะเป็นนางฟ้าหรือปีศาจ เพราะความสวยสาว ‘gorgeous’ ใครๆจึงต่างตกหลุมรักใคร่ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของตัวเธอ
ทีแรกผมไม่ได้เอะใจหรอกนะว่าทำไมกล้องถึงถ่ายแต่ระยะ Close-Up พอมาสังเกตจริงๆจังๆถึงเห็นขณะกำลังถอดเสื้อผ้า ค่อยนึกขึ้นมาได้ว่านี่คงเป็นบาร์เปลือย (ก่อนหน้านี้ก็มีนักเต้นคนอื่นที่ร่างกายเปลือยเปล่าเดินไปเดินทาง)
แซว: สาเหตุที่หนังไม่ถ่ายเรือนร่างกายของ Anna Karina เพราะเธอไม่ยินยอมพร้อมใจมาตั้งแต่ Breathless (1960) แค่รับบทนักเต้นเปลือยก็ถือว่ามากเกินไปด้วยซ้ำ


Angéla: If you put an adjective before or after a word, does it affect the meaning?
Alfred: How do you mean?
Angéla: For instance, is a happy event different from an event that’s happy?
ความสุขที่ได้รับจากเหตุการณ์นั้น (happy event) vs. เหตุการณ์ที่ทำให้มีความสุข (event that’s happy) สองวลีนี้มองผิวเผินเหมือนไม่แตกต่าง แต่มันจะมีลักษณะขั้วตรงข้าม ประธานเป็นผู้กระทำกริยานั้น (Active Voice) vs. ประธานเป็นผู้ถูกกระทำกริยานั้นโดยผู้อื่น (Passive Voice)
แต่ผมรู้สึกว่าผู้กำกับ Godard นำความเบี้ยวๆในโลกทัศน์ตนเองมากรอกหูผู้ชมว่า ความสุขที่ได้รับจากเหตุการณ์นั้น (happy event) == เหตุการณ์ที่ทำให้มีความสุข (event that’s happy), หรือคือใบหน้าเศร้าๆ==ความสุขสำเริงใจ (Tragedy หรือ Comedy?) เป็นเหตุให้เธอลุกมาโยกเต้นเริงระบำ เลียนแบบอย่างภาพยนตร์ Musical อ้างอิงถึงนักแสดง Cyd Charisse, Gene Kelly และ Bob Fosse ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักออกแบบท่าเต้นชื่อดัง กว่าจะกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกก็เมื่อครั้น Sweet Charity (1969)
Angéla: Because I’d like to be in a musical. With Cyd Charisse … and Gene Kelly! Choreography … by Bob Fosse!
แซว: เมื่อตอนเอ่ยถึง Cyd Charisse และ Gene Kelly มาพร้อมร่มและท่าเต้นที่ละม้ายคล้าย Singin’ in the Rain (1952)



เมื่อ Angéla ท้าทายให้ Alfred ทำท่าเลียนแบบอย่าง หนังก็ทำการร้อยเรียงชุดภาพที่พวกเขาพยายามทำท่าคล้ายๆกัน สองรูปแรกหันในทิศทางเดียว ส่วนสองรูปหลังกลับตารปัตรตรงกันข้าม … นี่คือลักษณะหนึ่งของวัฒนธรรม Pop Art ที่ผู้กำกับ Godard ครุ่นคิดพัฒนาขึ้นเป็นภาษาภาพยนตร์ของตนเอง
แซว: มันจะมีชาย-หญิงที่กอดจูบไม่เห็นหน้า ผมคาดคิดว่าคือเพื่อนสาวห้องข้างๆ (ของ Angéla) ยัยนี่เปลี่ยนผู้ชาย/พาขึ้นห้องไม่ซ้ำหน้า (โสเภณี?) น่าจะคือหนึ่งในอิทธิพลให้หญิงสาวมีความระริกระรี้ ครุ่นคิดอยากตั้งครรภ์ (อาจได้ยินเสียงครวญครางจากห้องข้างๆบ่อยครั้ง)




ใครเคยรับชมโคตรภาพยนตร์ The Mother and the Whore (1973) ของผู้กำกับ Jean Eustache จะมีฉากที่ตัวละครของ Jean-Pierre Léaud ปูเตียงด้วยการทิ้งตัวลงนอนแบบเดียวกับ Angéla แล้วแสดงความคิดเห็นว่า
I saw it done in a movie. Films are for that, to learn how to live, to learn how to make a bed.
Alexandre จาก The Mother and the Whore (1973)

ระหว่างที่ Angéla กำลังอ่านคู่มือการใช้อุปกรณ์นับรอบสำหรับตั้งครรภ์ (สงสัยยุคสมัยนั้นวิธีการ ‘หน้าเจ็ด-หลังเจ็ด’ ยังไม่ค่อยแพร่หลายสักเท่าไหร่) มันจะมีหน้าปกนิตยสารกีฬา Sport & Vie ติดฝาผนังอยู่ด้านหลัง ทีแรกผมก็ไม่ได้สนใจมันหรอก แต่เพราะช็อตนี้ค้างภาพไว้ค่อนข้างนาน จู่ๆมันก็ฉุกครุ่นคิดขึ้นมาได้ว่า การจะตั้งครรภ์เกิดจากการแข่งขันของอสุจิปฏิสนธิรังไข่ คล้ายๆการวิ่งเข้าสู่เส้นชัยนี้เอง
ส่วนจักรยานของ Émile สามารถสื่อถึงรอบเดือนของการตั้งครรภ์ (ที่เวียนวนไปวนมาซ้ำ) ขณะเดียวกันเมื่อเขาปั่นรอบห้อง สามารถสื่อถึง Angéla ทำตัวราวกับศูนย์กลางจักรวาล ทุกสิ่งอย่างเหมือนต้องหมุนรอบตัวเธอเท่านั้น

การกลับมาของ Émile จากนั้นไม่นานร่วมกับ Angéla มีการโค้งคำนับผู้ชม (Breaking the Fourth Wall) เพื่อต้องการสื่อถึงว่าต่อจากนี้จะเป็นละคร ‘bedroom drama’ นำเสนอเรื่องวุ่นๆของคนหนุ่ม-สาว ชาย-หญิง เดี๋ยวรัก-เดี๋ยวเกลียด เดี๋ยวโรแมนติก-เดี๋ยวทะเลาะโต้เถียง เหมือนชุดที่พวกเขากำลังสวมใส่แดง-น้ำเงิน มีความขัดแย้ง แตกต่าง ขั้วตรงข้าม
แซว: ภาพยนตร์ของผู้กำกับ Godard แทบทุกเรื่องในยุคแรกๆต้องมีฉากพูดคุยสนทนา ชาย-หญิง ในห้องพัก อพาร์ทเม้นท์ เลยโดนนักวิจารณ์พูดแซวว่าเก่งแต่เรื่องบนเตียง ‘bedroom drama’

ผู้กำกับ Godard เหมือนจะชื่นชอบการพรรณาความรัก ผ่านอวัยวะต่างๆของหญิงสาว ฉันชอบดวงตา คอ ไหล่ เอว ฯลฯ พบเห็นคำถามลักษณะคล้ายๆกันนี้ตั้งแต่ Breathless (1960), และโดยเฉพาะ Le Mépris (1963) คำถาม-ตอบพร้อม Brigitte Bardot นอนเปลือยเปล่าอยู่บนเตียง
เมื่อได้ยินหลายๆครั้ง ผมเริ่มตระหนักว่านี่มันก็แค่คำพูดหรูๆโรแมนติก ฟังแล้วคงทำให้หญิงสาวเคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่เหล่านี้มันก็แค่เปลือยภายนอก ใบหน้าตา รูปร่างกาย หาใช่ความงดงามแท้จริงจากภายใน สวยแต่รูปจูบไม่หอม! สักวันเมื่อผิวหนังแห้งเหี่ยวย่น คิดหรือที่จิ๊กโกโล่เหล่านี้จะยังพูดพร่ำ เอ่ยปากเชยชม อย่าไปคงคารมสุนัขปากหวานพวกนี้นะครับ

ฟุตบอลนัดหยุดโลกระหว่าง Real Madrid vs. Barcelona เท่าที่ผมรับฟังจากฉากนี้ รับรู้เพียงผู้ยิงประตูคือ Luis del Sol ปรากฎว่ามีอยู่สามนัดที่สามารถพังประตูใส่ Barcelona
- 4 ธันวาคม 1960, Barcelona vs. Real Madrid ผลการแข่งขัน 5:3 ยิงนาทีที่ 15
- 26 มีนาคม 1961, Real Madrid vs. Barcelona ผลการแข่งขัน 3:2 ยิงนาทีที่ 55
- 30 กันยายน 1961, Real Madrid vs. Barcelona ผลการแข่งขัน 2:0 ยิงนาทีที่ 72
ปัญหาคือหนังอ้างว่าวันนี้ 10 พฤศจิกายน 1961 (จากวันที่ Angéla ตรวจสอบการตั้งครรภ์) ผมเลยไม่สามารถหาข้อสรุปว่าเป็นการแข่งขันนัดไหน?
ส่วนนัยยะฉากนี้มองผิวเผินคือการล้อเลียน ประชดประชันของ Émile ใช้ไม้กวาดปัดฝุ่นไปพร้อมๆเสียงบรรยายการพังประตูของ Luis del Sol แต่เรายังสามารถตีความการยิงประตู คืออสุจิพุ่งเข้าช่องครรภ์ ปฏิสนธิรังไข่ ได้รับชัยชนะเช่นเดียวกัน!

สเต็กสุกจนไหม้ ‘overcooked’ สามารถสื่อถึงความตั้งใจที่มากเกินพอดีของ Angéla หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่แต่จะทำยังไงให้ตั้งครรภ์ คืนนี้ได้ร่วมรักหลับนอนกับ Émile จนหลงลืมภาระ ความรับผิดชอบ หน้าที่ในการเป็นศรีภรรยา แล้วยังสรรหาสรรพข้ออ้าง ทำหน้าตาซื่อๆไร้เดียงสา แต่ใครกันจะไปอยากรับประทานอาหารจานไหม้ๆแบบนี้ (สื่อถึงการไม่อยากมีบุตรของ Émile ได้ด้วยเช่นกันนะครับ)

เมื่อตอนที่ Angéla พูดบอกกับ Émile ว่าอยากตั้งครรภ์ แต่เขากลับทำเหมือนไม่ยี่หร่าอะไร แต่งงานเมื่อไหร่ค่อยมีบุตรก็ยังไม่สาย ขณะนั้นเองเขาเดินไปยังจักรยาน หยิบเอาจาระบี น้ำมันหล่อลื่น มาขัดจรวดรอ … หลายคนอาจไม่เข้านัยยะฉากนี้ โดยปกติเพศสัมพันธ์ชาย-หญิง มักไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งหล่อลื่น แต่สำหรับชาย-ชาย ประตูหลังมันอึดอัด พวกจาระบี น้ำมันหล่อลื่น มันจึงมักเป็นสัญลักษณ์ของการรักร่วมเพศ Homosexual หรือ Bisexual ก็ได้เช่นกัน
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าคำพูดประโยคนี้ ก่อนหรือหลัง Anna Karina จะตั้งครรภ์? แต่มันก็เป็นการบอกใบ้ความต้องการของผู้กำกับ Godard และเมื่อเธอท้องขึ้นมาจริงๆ เขาก็ยินยอมตกลงแต่งงาน

คำว่า “Just drop It!” เป็นประโยคที่สองความหมาย
- ให้หยุดพูด เลิกคุยถึงหัวข้อที่กำลังสนทนากันอยู่
- หรือตรงไปก็คือปล่อยสิ่งที่ถืออยู่
ซึ่งขณะนั้น Angéla เมื่อได้ยินคำพูดด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราดของ Émile เลยเกิดอาการตกใจ ทำไข่ถืออยู่ในมือหล่นพื้นตกแตก ซึ่งก็แฝงนัยยะถึงการสูญเสียโอกาส/ความหวัง ไม่สามารถโน้มน้าวแฟนหนุ่มให้ทำตนเองตั้งครรภ์ได้อีกต่อไป หรือจะตีความถึงการตกไข่ในมดลูกของหญิงสาว ร่างกายพร้อมแล้วจะปฏิสนธิและตั้งครรภ์

การมาถึง/ขัดจังหวะของตำรวจ เพื่อเข้าขอตรวจค้นห้องพัก นี่คล้ายๆภาพยนตร์ Le Petit Soldat (1963) เพราะเหมือนว่า Émile ให้การสนับสนุนฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์ แต่สองนักแสดงรับบทเป็นตำรวจนี่หน้าคุ้นๆ เหมือนมาจาก Breathless (1960) มั้งนะ

อีกหนึ่งภาษาภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ Godard ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น! เริ่มจากให้ตัวละครยืนหยุดนิ่ง → จากนั้นทำการแพนกล้อง ปรากฎตัวอักษรแทนความครุ่นคิด → แล้วมาหยุดนิ่งที่อีกตัวละคร จากนั้นวนกลับ → ระหว่างแพนกล้องก็ปรากฎตัวอักษรแทนความครุ่นคิด (ในทิศทางกลับกัน) → และมาหยุดที่จุดเริ่มต้น
เพราะหนังไม่มีเสียงบรรยายเหมือนผลงานเรื่องอื่นๆ นี่จึงเป็นการทดลองเพื่ออธิบายความครุ่นคิดของทั้งสองตัวละคร แทนการพูดคุยสนทนาระหว่างกัน (กำลังอยู่ในช่วงพ่อแง่-แม่งอน)




นี่เป็นอีกครั้งที่ใช้การแพนกล้องแล้วขึ้นข้อความแทนการพูดแสดงความครุ่นคิดเห็นของทั้งสอง แต่อีกฝากฝั่งกลับคือประตูทางออก (กำลังรอคอยการมาถึง Alfred) และถ้าใครสังเกตข้อความขาไป-ขากลับ มันมีลักษณะประธานเป็นผู้กระทำกริยานั้น (Active Voice) vs. ประธานเป็นผู้ถูกกระทำกริยานั้นโดยผู้อื่น (Passive Voice)
ขาไป: Because they love each other it will all go wrong for Émile and Angéla
ขากลับ: Who wrongly believe that there are no limits to their reciprocal and everlasting love
เมื่อกล้องวกกลับมาที่ทั้งสอง โดยไม่รู้ตัวพวกเขาก้มศีรษะลงพร้อมกัน (ราวกับรู้สึกผิดในคำพูด-การกระทำ) จากนั้น Angéla ดื่มไวน์, Émile กัดขนมปัง จะว่าไปสองสิ่งนี้คือตัวแทนเลือด-เนื้อของพระเป็นเจ้า มนุษยทั้งสองถือกำเนิดจากกายเรา (ผู้กำกับ Godard ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้านะครับ ไวน์กับขนมปังไม่น่าเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อะไร แค่สัญลักษณ์ของสองสิ่งขั้วตรงข้ามเท่านั้นเอง)


การมาถึงของ Alfred Lubitsch/Lubitech/Lubricants เป็นบุคคลที่ราวกับสารหล่อลื่น แม้เข้ามาแทรกกลางระหว่าง Angéla และ Émile แต่ท้ายสุดกลับทำให้พวกเขารักกันยิ่งกว่า
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น Émile แสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจสถานการณ์ขณะนี้สักเท่าไหร่ เริ่มจากยกรองเท้าขึ้นมาผูกเชือกบนโต๊ะอาหาร แล้วระหว่าง Angéla กำลังมีเพศสัมพันธ์กับ Alfred ก็หมุนล้อรถ ปั่นจักรยานรอบห้อง (แสดงถึงความกระวนกระวาย จิตใจไม่สงบหยุดนิ่ง) ระหว่างไฟแสงสีกระพริบ (สัญญาณอันตราย ไฟเขียว-ไฟแดง) และเสียงเจี้ยวจ้าวน่าหมั่นไส้ชิบหาย!


การกระซิบกระซาบระหว่าง Émile กับ Alfred มันช่างมีความใกล้ชิดอย่างล่อแหลม นี่แอบสามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ชาย-ชาย ระหว่างคนทั้งสองก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ผู้ชมจะจิ้นไปไกล … ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะ Jean-Claude Brialy เปิดเผยเมื่อตอนแก่ว่าตนเองเป็น Bisexual สร้างความสองแง่สองง่ามให้ทุกๆผลงานการแสดง

หญิงสาวจะเลือกไปกับชายคนที่สร้างความประทับใจให้ตนเอง (สามคนสวมชุดคนละเฉดสีกันเลยนะ)
- Émile งอขาข้างหนึ่งแล้วหมุนรอบวงกลม จากนั้นปรบมือ และทำการแสดงฟักไข่ (ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ที่ก่อนหน้านี้ Angéla เคยทำไข่ตกแตก จักสื่อถึงเขาคือบุคคลแห่งความหวัง/บุคคลที่ฉันรัก)
- Alfred หัวชนฝาผนังแล้วหมุนรอบวงกลม จากนั้นชกต่อยโคมไฟ โชว์แม่ไม้มวย (Belmondo เคยเป็นนักมวยเก่า)
แซว: ขณะทั้งสามกำลังถกเถียงกันอยู่ขณะนี้ ตัวละครของ Belmondo ก็มีการกล่าวถึงภาพยนตร์ Breathless (1960) กำลังฉายทางโทรทัศน์ค่ำคืนนี้ … ให้นักแสดงนำกล่าวถึงผลงานของตนเอง ไม่เขินแย่รึ



สองหนุ่มตัดสินใจออกไปท่องเที่ยวยามราตรีโดยไม่รอคอย Angéla แต่เธอกลับครุ่นคิดว่าพวกเขาคงกลับขึ้นมางอนง้อ เรียกร้องความสนใจ ด้วยเหตุนี้จึงเอาหมอนยัดใส่เสื้อผ้า แสร้งว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ แต่พอออกไปยืนนอกหน้าต่างนั้น (เผชิญหน้ากับโลกความจริง) ก็จำต้องดึงหมอนเอาออกมา
- บานแรกที่เดินออกไป ได้ยินเสียง Alfred ร้องเรียกหา
- เดินออกไปอีกบาน เธอส่งเสียงเรียกหา Émile แต่ก็ไม่มีใครตอบกลับมา
ประตูทั้งสองบานในขณะนี้คงสามารถเทียบแทนบุรุษทั้งสองคน ฉันจะเลือกใครดีระหว่าง Alfred กับ Émile? คนแรกพยายามปรนเปรอปรนิบัติ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองรัก แต่อีกคนกลับเพิกเฉยเย็นชา เพียงว่าหน้าตาหล่อเหลา และฉันตกหลุมรัก



เมื่อตอน Breathless (1960) ตัวละครของ Belmondo เคยพยายามลอกเลียนแบบ Humphrey Bogart มาเรื่องนี้เมื่อมีการพูดกล่าวถึง Vera Cruz (1954) สังเกตว่า Belmondo หันมายิ้มให้กับผู้ชม (Breaking the Fourth Wall) ขณะเอ่ยกล่าวชื่อ Burt Lancaster เหมือนพยายามจะเลียนแบบตามอีกเช่นเคย

เรื่องที่ฉายอยู่ในโทรทัศน์ขณะนี้คือหนังสั้น L’Opéra-Mouffe (1958) ความยาว 16 นาที กำกับโดย Agnès Varda แนว ‘essay film’ บันทึกภาพ(เปลือย)ของตนเองระหว่างตั้งครรภ์บุตรสาวคนแรก Rosalie Varda (กับสามี Antoine Bourseiller) พร้อมร้อยเรียงภาพวิถีชีวิตผู้คนยังท้องถนน Rue Mouffetard (ที่พักอาศัยของตนเองขณะนั้น)
Link: https://vimeo.com/538731565

การแพนนิ่งไปๆกลับๆครั้งนี้ ไม่มีตัวอักษรปรากฎขึ้นระหว่างทาง แต่ปฏิกิริยาของฝั่งหนุ่มๆ (Émile และ Alfred) และ Angéla กลับเต็มไปด้วยความตึงเครียด จับจ้องมองด้วยสีหน้าไม่พึงพอใจ เคลื่อนพานผ่านหญิงสาวสวมชุดอินเดียแดงกำลังโยกเต้นเริงระบำ (คงจะสื่อถึงความรุนแรง/ป่าเถื่อนในความขัดแย้งครั้งนี้ ระหว่างชาย-หญิง)



ระหว่าง Angéla สรรหาแผนการเพื่อให้ Émile ร่วมรักกันค่ำคืนนี้ สอบถามจะให้ใส่กางเกงหรือสวมชุดนอน (ที่เป็นกระโปรงท่อนล่าง จะได้สะดวกๆเวลาร่วมรัก) แต่เขากับพูดพร่ำบ่นขณะกำลังแปรงฟัน ใครกันจะไปรับฟังรู้เรื่อง! แล้วพอหญิงสาวเลียนแบบตามบ้าง เขากลับแสดงอาการไม่พึงพอใจ บ้ารึเปล่าใครจะฟังเข้าใจ! … ฉากนี้ทำให้ผมครุ่นคิดว่า Godard น่าจะรับรู้การกระทำของตนเอง แต่นั่นมันสิทธิ เสรีภาพของฉัน จึงปฏิเสธที่จะรับฟัง/ปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง โง่ในเรื่องโง่ๆแบบนี้ละ

ซีเควนซ์ที่ถ้าใครชอบก็จะชอบมากๆ ผมขำกลิ้งสุดในหนัง (เพราะนี่คือ Godardian แท้ๆเลยนะครับ) ใครไม่ชอบก็จะเกาหัว กุมขมับ เต็มไปด้วยอคติ ห่าเหวอะไรของมัน!
แทนที่หนุ่มสาวจะปิดไฟหลับนอน พอบอกว่าไม่พูดคุยกันแล้วนะ จู่ๆใครคนหนึ่งกลับเปิดไฟลุกมาหยิบหนังสือ แล้วชี้นิ้วไปที่ข้อความแทนคำพูด (เอิ่ม … ไม่พูดคุย แต่สื่อสารด้วยวิธีการอื่นแทน) ครั้งแรก-ครั้งสอง จากนั้นพวกเขาก็ลุกขึ้นมาโดยพร้อมกัน แถมหยิบมากกว่าหนึ่งเล่มนำมาร้อยเรียงเป็นประโยค ครั้งสาม-ครั้งสี่
แซว: นี่เป็นวิธีการอ้างอิงหนังสือ/วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับหนังได้อย่างแนบเนียน ตรงไปตรงมามากๆ แต่ผมไม่ใช่สายนักอ่านเลยจะขอข้ามไปเลยนะครับ
มีหนังสือเล่มหนึ่งเขียนข้อความ te faire foutre ใครเคยรับชม Breathless (1960) น่าจะมักคุ้นกับคำพูดนี้ที่แปลอย่างสุดภาพว่า Get Stuffed (ไปตายซะ!) ผมลองเอามาใส่ Google Translate มันแปลให้ว่า Fuck You
สำหรับสองเล่มสุดท้ายของ Émile เขียนว่า Toutes Les Femmes Au poteau ถ้าตามซับ All woman to the stake น่าจะแปลว่าหญิงสาวทุกคนควรถูกมอดไหม้ (คงแบบ Jeanne d’Arc/Joan of Arc) ใครเคยรับชม Vivre sa Vie (1962) จะเห็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจน



ในที่สุด Angéla ก็ได้ทอดไข่ได้สำเร็จ (จากฟองที่ Émile ฟักออกมารึเปล่านะ?) ซึ่งระหว่างนั้นก็มีการละเล่นมายากล โยนขึ้นเหนือศีรษะ ออกไปรับโทรศัพท์ แล้วเดินกลับเข้ามารับไข่ … สังเกตว่าเช้าวันใหม่ เธอเปลี่ยนมาสวมใส่ชุดคลุมสีน้ำเงิน ซึ่งเดิมนั้นเป็นสีของ Émile นี่แปลว่าเมื่อคืนคงได้ร่วมรักหลับนอน เลยมีความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ จึงสามารถทอดไข่สุข ล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ แล้วหวนกลับมายังโลกใบนี้
ระหว่างคุยโทรศัพท์กับ Alfred ก็รับประทานไข่ไปด้วย แต่ผมเห็นว่า Angéla พยายามเขี่ยๆเอาแต่ไข่ขาว ราวกับจะสื่อว่าไข่แดงยังไม่ได้รับการเจาะแตก … ทำเหมือนรังไข่ในมดลูกยังไม่ได้รับการปฏิสนธิ/ตั้งครรภ์


ผู้กำกับ Godard รับรู้ว่าเพื่อนสนิท Truffaut มีความอยากสรรค์สร้าง Jules and Jim (1962) มาสักพักใหญ่ๆ แต่มาจนถึงระหว่างโปรดักชั่น A Woman Is a Woman (1961) โปรเจคนั้นก็ยังไม่คืบหน้าอะไร การสนทนาระหว่าง Belmondo กับการมารับเชิญของ Jeanne Moreau จึงเปรียบเสมือนการพูดคุยระหว่าง …
Jean-Luc Godard: How’s it going with Jules and Jim?
François Truffaut: So-So

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ทางฝั่งของ Karina เมื่อลงมาพูดคุยกับเพื่อนสนิท Suzanne มีการทำท่าเล่นเปียโน แล้วยิงปืน ปัง! ปัง! เป็นอ้างอิงถึงภาพยนตร์ Shoot the Piano Player (1960) ของผู้กำกับ Truffaut อีกเช่นกัน
และระหว่างกำลังสนทนากันนั้น ยังมีการเอ่ยถึงหญิงสาวชื่อ Lola เดินทางไปทำงานที่ Marseilles แล้วเดินทางต่อถึง Argentina นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Lola (1961) ของผู้กำกับ Jacques Demy
แซว: จริงๆยังมีอีกคำพูดหนึ่ง “I like Émile’s knees”. ใครจะไปคาดคิดว่าอีกหลายปีข้างหน้า Jean-Claude Brialy (ผู้รับบท Émile) จะแสดงภาพยนตร์ชื่อว่า Claire’s Knee (1970) กำกับโดย Éric Rohmer


การนำเสนอซีเควนซ์นี้ค่อนข้างแปลกประหลาด (ชัดเจนเลยว่าได้แรงบันดาลใจจากหนังสั้น L’Opéra-Mouffe (1958) ของ Agnès Varda) ระหว่างสองสาวกำลังซุบซิบนินทา ก็ร้อยเรียงภาพวิถีชีวิต ผู้คนดำเนินเดินไปบนท้องถนน Strasbourg Saint-Denis คงต้องการสื่อถึงกิจวัตรประจำวันทั่วๆไปกระมัง
มีสองโรงภาพยนตร์ในย่านนี้ที่ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว ได้รับการบันทึกภาพเก็บไว้ในไทม์แคปซูล
- Strasbourg Cinéma กำลังฉายภาพยนตร์ La Charge des Cosaques (1960)
- Neptuna กำลังฉายภาพยนตร์ Vera Cruz (1954)


เสี้ยววินาทีก่อนหน้าที่ Angéla จะพบเจอ Alfred มีการร้อยเรียงชุดภาพความทรงจำ (ของเธอกับ Émile) ราวกับต้องการสื่อถึงความโหยหา ใคร่คำนึงถึง ไม่ได้อยากแอบมาพบเจอ คบชู้นอกใจ แต่เพราะเขาทำตัวเหมือนไม่ยี่หร่าอะไร เพียงแค่ฉันอยากตั้งครรภ์ ทำไมมันช่างยุ่งยากวุ่นวายปานนี้!




Alfred พยายามแบล็กเมล์ Émile ด้วยการนำเอาภาพถ่ายคู่กับหญิงสาว (ที่พบเจอกันเมื่อคืน) มาสร้างความปั่นป่วนว้าวุ่นวายใจ Angéla, ซีเควนซ์นี้ต้องชมลีลาการตัดต่อ สลับไปมาระหว่างภาพถ่ายกับนักแสดง หันซ้ายหันขวา (ตามคำร้องบทเพลง Tu t’laisses aller) มองกระจก และหันมาสบตาผู้ชม เหมือนต้องการสอบถาม ฉันควรทำยังไงต่อไปดี?


ผมแอบรู้สึกนี่เป็นการแก้เผ็ดของ Angéla ด้วยการลวงล่อหลอกให้ Alfred เต็มไปด้วยความลุกรี้ลุกรน กระวนกระวายใจ เฝ้ารอคอยว่าเธอจะหวนกลับมาหาฉันหรือไม่? ด้วยการตัดต่อสลับไปสลับมาระหว่าง (ไดเรคชั่นเดียวกับที่ผมเพิ่งอธิบายไปก่อนหน้า) กันสาดเลื่อนขึ้นเลื่อนลง และมีคนมาขอต่อไฟบุหรี่ ไปๆมาๆเอาจนหมดมวน … สรุปสัญญาณที่ตกลงกันไว้มันคืออะไร? ผมก็จดไม่ได้เหมือนกัน เห็นแต่กันสาดเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงอยู่นั่น


เดี๋ยวรัก-เดี๋ยวเลิก เดี๋ยวจูบ-เดี๋ยวห่าง นี่เป็นซีเควนซ์ที่ไม่เพียงสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร, ผู้กำกับ Godard กับ Karina, ยังรวมถึงเทรนด์แฟชั่นของโลกสมัยนั้น-นี้ ทำราวกับกลเกม ละครน้ำเน่า ไร้ความซื่อสัตย์มั่นคง สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองตัณหาอารมณ์ เพราะฉันรักเขาคนนี้ แม้อีกฝ่ายจะมีพฤติกรรมย่ำยีเพียงใด ก็ไม่ยินยอมเลิกราจาก อดรนทนแม้ถูกผู้คนด่าทอว่าโง่เขลา ดื้อด้านไร้สาระ … เป็นผมคงเลิกราไปตั้งแต่ครั้งแรกแล้วละ




ล้อกับตอนที่ Angéla มีความโล้เล้ลังใจจะพบเจอ Alfred มาคราวนี้เป็น Émile ร้อยเรียงภาพความทรงจำ ถึงความรู้สึกผิดหวัง ไม่พึงพอใจ (ต่อแฟนสาว) เลยไม่ยี่หร่าอะไรอีกต่อไป ด้วยการเดินทางไปหาโสเภณี ปรากฎข้อความอธิบายความครุ่นคิดที่อยู่ภายใน (ระหว่างทางพบเจอชายสองคนแสร้งว่าตาบอด คือรับรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องแต่ยังกระทำอยู่ดี)




เห็นท่านอนคว่ำนี้ ชวนให้นึกถึง Le Mépris (1963) ขึ้นมาทันที! โสเภณีสาวโชว์ความเรียวงามของแผ่นหลัง ในห้องที่เต็มไปด้วยลวดลายดอกไม้ สีสันสดใส เพื่อสื่อถึงความงดงามของชีวิต ราวกับสวนอีเดน (เมื่อได้มีเพศสัมพันธ์ ก็จะค้นพบความสุขยังสรวงสวรรค์)

ใครๆก็น่าจะบอกได้ว่าชุดนี้หลุดโลกมากๆ สวมหมวกและถุงเท้าสีน้ำเงิน (เฉดสีของ Émile) แต่กลับใส่เสื้อสีแดง กระโปรงลายสก็อต (เฉดสีของ Angéla) นี่มันเทรนด์แฟชั่นอะไรกัน?
- ทีแรกผมมองว่าคือความสับสนในตนเองของหญิงสาว ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตต่อไป อดรนทนต่อแฟนหนุ่ม (ที่ยังรักมาก) หรือตอบตกลงชายอีกคนที่พยายามเกี้ยวพาราสี (แต่ไม่มีความรู้สึกใดๆ)
- ถ้าแยกแยะตามเฉดสี หมวกกับรองเท้าสื่อถึงภายนอกยังแสดงว่าจงรัก Émile แต่เสื้อกระโปรง (จะถูกบดบังด้วยเสื้อคลุมขาว) นั้นคือความรู้สึกภายในที่ยังเป็นตัวของตนเอง (เฉดสีของ Angéla)

เนื่องจากผมขี้เกียจเขียนแล้วจึงขอทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้แล้วกัน
Is this a tragedy or a comedy?
ก่อนหน้านี้มีการกล่าวถึงนักเขียนสองคน Pierre Corneille (1606-84) นักเขียนแนว Tragedian และ Molière (1622-73) อัจฉริยะ Commédia [ช่วงศตวรรษที่ 17 ยังมีโคตรนักเขียนชาวฝรั่งเศสอีกคน Jean Racine (1639–99) ได้รับยกย่อง ‘สามทหารเสือ’] ต่างให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่าองก์สามคือความลึกลับ ไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ (suspension)
In comedies and tragedies alike, at the end of Act Three, the heroine hesitates, her fate uncertain. Corneille and Molière called it suspens…ion.
ผมไม่แน่ใจว่าใครคือบุคคลแรกที่กล่าวถึง “ชีวิตคือ Tragedy และ Comedy” แต่ก่อนหน้านี้จดจำได้จาก Limelight (1952) ของผู้กำกับ Charlie Chaplin เคยพูดไว้ว่า
Life is a tragedy when seen in close-up, but a comedy in long-shot.
Charlie Chaplin
และครั้งล่าสุดจากภาพยนตร์ Joker (2019)
I used to think that my life was a tragedy, but now I realize, it’s a comedy.
Joker
อันนี้แล้วแต่มุมมองส่วนบุคคลเลยว่าจะเห็นชีวิตคือเรื่องตลก หรือโศกนาฎกรรม หรือสิ่งเดียวกันก็ไม่ผิดอะไร เพราะแต่ละคนก็พานผ่านสิ่งต่างๆมากมาย จึงไม่มีใครสามารถให้คำตอบเหมือนกัน … ส่วนภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็น Tragedy หรือ Comedy ก็ไม่รู้หรอก แต่ผมบอกได้ผู้กำกับ Godard ไม่สนคำตอบของคุณหรอก

ตัดต่อโดย Lila Herman และ Agnès Guillemot (1931-2005) รายหลังคือขาประจำผู้กำกับ Jean-Luc Godard ร่วมงานกันตั้งแต่ Le petit soldat (1963) แต่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ออกฉายคือ A Woman Is a Woman (1961) จนถึงผลงานสิ้นสุดยุคสมัยแรก Week-end (1967)
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Angéla ตั้งแต่บังเกิดความครุ่นคิด ต้องการที่จะตั้งครรภ์ พยายามโน้มน้าวแฟนหนุ่ม Émile Récamier กลับได้ร่วมรักหลับนอน Alfred Lubitsch เกิดความเง้างอนตุ๊บป่อน ต้องได้รับการออดอ้อนถึงยินยอมคืนดี
- แนะนำตัวละคร Angéla
- Angéla เดินทางไปทำงาน พบเจอกับ Émile และ Alfred
- มาถึงยังบาร์แห่งหนึ่ง ทำการแสดง ร้อง-เล่น เต้นระบำ
- ระหว่างทางกลับห้องพัก พบเจอกับ Alfred และ Émile
- ต้องการมีบุตรกับแฟนหนุ่ม Émile Récamier
- เตรียมความพร้อม รอคอยการกลับมาบ้านของแฟนหนุ่ม Émile
- พยายามโน้มน้าว เกี้ยวพาราสี ชักชวนให้เขาร่วมรัก/มีบุตรกับเธอ
- จนแล้วจนรอดเขาเลยเรียก Alfred ขึ้นมาร่วมรักกับเธอ
- ค่ำคืนนี้ Émile เลยออกท่องเที่ยว (กับ Alfred) เกี้ยวพาราสีสาวๆ
- พอกลับมาที่ห้องพัก Angéla และ Émile ก็แทบไม่ยินยอมหลับนอน
- กลับได้ร่วมรักหลับนอนกับ Alfred Lubitsch
- Angéla นัดพบเจอ Alfred นั่งพูดคุยกันยังบาร์แห่งหนึ่ง … แล้วไม่จ่ายเงิน
- มุมมองของ Alfred อดทนรอคอย Angéla พยายามคืนดีกับ Émile แต่เหมือนจะไม่สำเร็จ
- ขณะที่ Émile เที่ยวโสเภณี, Angéla ร่วมรักหลับนอนอีกครั้งกับ Alfred
- ค่ำคืนแห่งการออดอ้อนคืนดีระหว่าง Angéla กับ Émile
หนังแทบจะไม่มีการตัดต่อ ‘jump cut’ (เปลี่ยนเป็นเพลงประกอบที่เดี๋ยวหยุดๆดังๆ) แต่ก็มีลูกเล่นอย่างร้อยเรียง 3-4 ภาพ(พยายามทำให้)นิ่ง หรือระหว่างกำลังพูดคุยสนทนาปะติดปะต่อภาพผู้คนกำลังเดินไปมาขวักไขว่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นการพยายามสร้างนัยยะความหมายให้วิธีดำเนินเรื่อง มันจึงสามารถพัฒนากลายเป็นสไตล์ Godardian ขึ้นอย่างแท้จริง
เพลงประกอบโดย Michel Jean Legrand (1932-2019) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของนักแต่งเพลง/วาทยากรชื่อดัง Raymond Legrand มีอัจฉริยภาพด้านเปียโนตั้งแต่เด็ก พออายุ 10-11 ขวบ เข้าศึกษา Conservatoire de Paris ค้นพบความสนใจดนตรีแจ๊สและการประพันธ์เพลง จบออกร่วมทัวร์การแสดงของ Maurice Chevalier (เป็นนักเปียโน) จากนั้นออกอัลบัมแรก I Love Paris (1954) ได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง, สำหรับภาพยนตร์เริ่มต้นจาก Les Amants Du Tage (1954), โด่งดังกับ L’Amérique insolite (1958), A Woman Is a Woman (1960), ร่วมงานกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Jacques Demy ตั้งแต่ Lola (1961), The Umbrellas of Cherbourg (1964), The Young Girls of Rochefort (1966), กระทั่งคว้า Oscar: Best Score จาก Summer of ’42 (1971), The Thomas Crown Affair (1968) และ Yentl (1983)
สไตล์เพลงของ Legrand คละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Jazz เพื่อสะท้อนความรู้สึก ‘expression’ ของฉากนั้นๆ มีทั้งหวาน-ขม เริ่มต้นด้วยความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง ขณะเดียวกันก็ซุกซ่อนเร้นความรู้สึกห่วงหวง โหยหา หญิงสาวต้องการบางสิ่งอย่าง แต่ชายคนรักกลับไม่ยินยอมมอบให้ จึงต้องขวนไขว่คว้าจากชายอื่น ไม่รู้เหมือนกันว่าคือ Comedy หรือ Tragedy
แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีการใช้เพลงประกอบแปลกประหลาดที่สุดในโลก! เดี๋ยวดังเดี๋ยวหยุด (อารมณ์เหมือน ‘jump cut’) คั่นระหว่างไม่มีบทพูดสนทนา นักแสดงเดินไปเดินมา โอ้ลัลล้า หรือกำลังเริงระบำ … ผู้ชมที่ยังมือใหม่กับวงการภาพยนตร์อาจรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ ทุกครั้งที่เสียงดนตรีเงียบลง ทำให้อารมณ์ขาดความต่อเนื่อง แต่ไม่ลองมองว่านั่นคือความจงใจ ครุ่นคิดหาคำตอบสิว่าทำเพื่ออะไร?
ต้นฉบับฝรั่งเศส | คำแปลอังกฤษ |
---|---|
On se demande pourquoi Tout le monde est fou de moi Ce n’est pas compliqué Voilà la vérité J’ai des très jolis seins Des yeux d’améthyste Un tout p’tit col d’marin Et un slip de batiste Je déteste quand On me réveille trop tôt Mais j’adore Quand on me caresse dans le dos Moi, je dis toujours «oui» Quand on me dit «viens chéri» Car avec les garçons Faut jamais faire des façons Je ne suis pas sage Je suis très cruelle Mais aucun homme n’enrage Parce que je suis très … belle | People wonder why Everyone is crazy about me It isn’t complicated Here’s the truth I have beautiful breasts Amethyst eyes A little sailor’s collar And a cambric slip I loathe it when I am woken up too early But I love it When I’m caressed in the back Me, I always say yes When they tell me, “Come here, dear” Because when it comes to boys One must not ever put on an act I am not good I’m very cruel But no man gets angry Because I am Very… Beautiful |
ในความเป็นจริงแล้ว Legrand ไม่ได้เขียนเพลงเป็นท่อนๆแบบที่ได้ยินในหนัง ฟังจากอัลบัมก็ทำเหมือนปกติทั่วๆไป ด้วยลวดลีลาคล้ายๆกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) และ The Young Girls of Rochefort (1966) เบาเสียงดนตรีระหว่างนักแสดงพูดคำร้องออกมา เพียงแต่ว่าผู้กำกับ Godard ขอให้ตัดทำนองเพลงขณะเอ่ยคำร้องทิ้งไป หลงเหลือแค่เสียงของนักแสดงเท่านั้น
ผมครุ่นคิดว่าจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักรู้ ว่าสำหรับผู้กำกับ Godard ชีวิตจริง-ภาพยนตร์คือสิ่งซ้อนทับกันอยู่ตลอดเวลา เป็นความพยายามทำลายกฎกรอบของบทเพลง Musical ที่มักมีความต่อเนื่องลื่นไหล ล่องลอยอยู่ในจินตนาการ ให้ถูกฉุดคร่ากลับลงมาอยู่บนโลกความจริง ขึ้นๆลงๆอยู่อย่างนั้น (แต่มันสร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้ชมเสียมากกว่า เหมือนกำลังมี Sex แล้วถูกขัดจังหวะซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สมควรจะถูกด่าพ่อล่อแม่ว่าไร้มารยาท)
เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ ผู้กำกับ Godard เหมือนจะได้แรงบันดาลใจจากแนวคิด Episches Theater (Epic Theatre) ไม่ได้หมายถึงสเกลในการสร้าง แต่คือรูปแบบวิธีการนำเสนอ พยายามทำให้ผู้ชมตระหนักรู้ถึงสภาพความเป็นจริง หนึ่งในนั้นที่นิยมใช้กันคือเทคนิค Verfremdungseffekt แปลว่า Estrangement effect (หรือ Distancing effect หรือ Alienation Effects) ด้วยการทำบางสิ่งอย่างเพื่อขัดจังหวะ ทำลายความต่อเนื่อง ก่อกวนความรู้สึกของผู้ชม จักทำให้ผู้ชมบังเกิดสติในการครุ่นคิด ไม่ใช่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับสิ่งที่ละคร/ภาพยนตร์นำเสนอออกมา (ในจิตใต้สำนึก)
Alienation Effects is playing in such a way that the audience was hindered from simply identifying itself with the characters in the play. Acceptance or rejection of their actions and utterances was meant to take place on a conscious plane, instead of, as hitherto, in the audience’s subconscious.
Bertolt Brecht (1898–1956) นักเขียนชาว German ผู้ให้คำนิยามของ Verfremdungseffekt
Legrand มีชื่อเสียงจากการแต่งเพลงที่มอบสัมผัสกลิ่นอาย Paris ซึ่งเรื่องนี้มีบทเพลงชื่อ Strasbourg Saint-Denis เป็นถนนที่อยู่ระหว่าง Rue Saint-Denis และ Boulevard de Strasbourg หรือก็คือย่านที่ตัวละครพักอาศัย/พื้นหลังของหนัง ซึ่งระหว่างที่ผมค้นหาข้อมูลสถานที่แห่งนี้ ก็พบเจอบทความหนึ่งให้คำยกย่องว่า “Paris’s coolest neighbourhood” เพราะเป็นย่านที่เต็มไปด้วยบาร์เท่ห์ ร้านอาหารหรูๆ เหมาะสำหรับนั่งดื่มกินยามค่ำคืน
ทิ้งท้ายกับบทเพลง Tu t’laisses aller (1960) แปลว่า You Let Yourself Go แต่ง/ขับร้องโดย Charles Aznavour เคยขึ้นอันดับ 1 ชาร์ทเพลงในฝรั่งเศส, เนื้อคำร้องเกี่ยวกับสามีดื่มเหล้าจนเมามาย เพื่อให้ตนเองมีพละพลังในการพูดคุยกับภรรยา กล่าวถึงความไม่พึงพอใจในทุกสิ่งอย่าง แล้วตอนจบบอกกับเธอว่าอย่าไปคิดมาก อะไรที่ผ่านมาแล้วก็ปล่อยให้มันผ่านไป
เพลงนี้ได้ยินครั้งแรกตอนต้นเรื่อง และครึ่งหลังจากตู้เพลงระหว่าง Angéla นั่งอยู่ในบาร์กับ Alfred แม้ขณะนี้จะไม่มีใครมึนเมา แต่ปฏิกิริยาอารมณ์ของหญิงสาว ยังคงครุ่นคำนึงถึงแฟนหนุ่ม Émile ต้องการปล่อยตัวปล่อยใจ ปล่อยปละละลาง แล้วหวนกลับไปคืนดีภายหลังค่ำคืนแห่งความขัดแย้ง
It’s funny how funny you are to look at
You’re there, you wait, you’re sulking
And I feel like sneering
It’s the alcohol that gets to my head
All the alcohol that I took this evening
So that I could draw the courage
To admit that I have had it
with you and your old wives’ tales
with your body that leaves me virtuous
and takes away all of my hopesI’ve had enough I have to tell you
You irritate me, you tyrannize me
I endure your dirty character
I don’t dare to tell you you exaggerate
Yes, you exaggerate, you know it now
At times, I would strangle you
God you have changed in five years
You let yourself go, you let yourself goAh! you’re beautiful to look at
your sagged stockings on your shoes
With your old nightgown badly closed
And your curling pins what an elegance
I ask myself every day
How did you do to please me
How could I ever made love to you
Give up my whole life for you26
That way you look like your mother
Who has nothing to inspire loveIn front of my friends what a disaster
You contradict me, cut me short
With your venom and your petulance
You’d make the mountains fight
Ah! I drew the first prize
The day that I met you
If you kept quiet, ‘t would be too nice
You let yourself go, you let yourself goYou are a brute and a tyrant
You have no heart and no soul
Nevertheless I often think
That in spite of everything you’re still my wife
If you would make an effort
Everything could fall back into place
To slim down practice some sport
Make yourself up in the mirror
Put a smile on your face
Make up your heart and your bodyInstead of thinking how I detest you
And avoiding me like the plague
Try to be nice
Become that little girl again
Who gave me so much happiness
And sometimes like in the past
I would love that close to my heart
You let yourself go, you let yourself go
A Woman is a Woman (1961) เรื่องราวของหญิงสาวใคร่อยากตั้งครรภ์ แม้หนังจะไม่พูดบอกตรงๆว่าความต้องการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไร แต่ก็พอคาดเดาได้ว่าคงพบเห็นคนรู้จัก/เพื่อนร่วมงาน แล้วบังเกิดความอิจฉาริษยา เลยครุ่นคิดอยากเลียนแบบตาม (หรือจะมองแค่ว่าโหยหาสันชาติญาณความเป็นแม่ ก็ได้เช่นกัน)
แต่การจะตั้งครรภ์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถ้าอยากทำก็สามารถทำได้ทันที มันมีปัจจัยแวดล้อม ความยุ่งยากวุ่นวาย ร่างกายทั้งชาย-หญิงต้องมีความพรรคพร้อม อสุจิแข็งแรง มดลูกเตรียมรองรับ ร่วมรักในช่วงเวลาเหมาะสม (ที่รังไข่จะพร้อมปฏิสนธิ) กว่าจะถือกำเนิดได้สักชีวิต มันราวกับปาฏิหารย์ ฟ้าลิขิต!
แม้ว่าทั้งผู้กำกับ Godard และ Karina ต่างไม่ได้อยากมีลูก (หนังไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการมีลูกของ Karina) แต่เราสามารถมองความระริกระรี้ เรื่องมากเอาใจของฝ่ายหญิง สะท้อนประสบการณ์จริงเมื่อทั้งสองอาศัยใช้ชีวิตร่วมกัน แรกรักคงหวานฉ่ำ ไม่นานวันต่างเริ่มเรียกร้องโน่นนี่นั่น ทำให้เกิดการทะเลาะโต้เถียงบ่อยครั้งเพราะความต้องการไม่ตรงกัน
ผู้กำกับ Godard ดูจะชื่นชอบแนวคิด ‘ตบหัวแล้วลูบหลัง’ มองว่าเป็นเรื่องปกติที่หนุ่ม-สาว ชาย-หญิง สามี-ภรรยา จะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งไม่เข้าใจกัน แต่ตราบเท่าที่ยังมีรัก ย่อมสามารถยกโทษให้อภัย หวนกลับมาคืนดี ร่วมรักหลับนอน และเติมเต็มสันชาตญาณชีวิตมีบุตรร่วมกัน
ถึงอย่างนั้นชีวิตจริงก็ไม่สวยงามเหมือนภาพยนตร์! ว่ากันตามตรง Godard ไม่เคยเป็นสามีที่ดี (ถ้ามีลูกก็คงไม่ใช่บิดาที่ดีเช่นกัน) ปากพร่ำบอกว่ารัก แต่การแสดงออกกลับเพิกเฉยเฉื่อยชา แต่งงานกับ Karina เพียงเพราะว่าตั้งครรภ์ หมกหมุ่นการงานจนไม่เหลือเวลาให้ แท้งลูกก็ไม่เคยอยู่เคียงชิดใกล้ สรรหาสรรพข้ออ้างร้อยแปดพันอย่าง
นิยามความรักของเขาคงมีเพียงการร่วมรักหลับนอน ครอบครองเป็นเจ้าของ หุบปากแล้วทำตามที่ฉันสั่ง! ไม่เคยครุ่นคิดจะปรับตัวเปลี่ยนแปลง เรียนรู้จักบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อการเป็นสามี (และบิดา) … การมีครอบครัวเปรียบเสมือน’ห่วง’ที่คอยผูกเหนี่ยวรั้งเสรีภาพของชีวิต นั่นคือสิ่งที่ Godard ไม่สามารถยินยอมถูกพันธนาการอย่างเด็ดขาด!
For me, it’s a film on the nostalgia for musical comedy, as when Anna says: “Ah! I’d like to be in a musical comedy,” it was rather in that vein. I had thought of it afterward, so I did the dialogue and then after, with (Michel) Legrand, we made music that gave the impression that the people were often singing. I mean, which is placed at the same time as, and under, the words in order to give them the tone of the opera. It isn’t a musical comedy, but it isn’t just a talking film either. It’s a regret that life is not lived in music.
Jean-Luc Godard
หลายคนอาจรู้สึกว่าหนังเพลงกับ Godard เป็นอะไรที่เหมือนจะไม่เข้ากัน แต่สิบหนังอเมริกันเรื่องโปรดมีภาพยนตร์ที่ผมเองก็คาดไม่ถึง Singin’ in the Rain (1952) ติดอันดับห้า! แสดงว่ามันคงคือความเพ้อใฝ่ฝันตั้งแต่แรกเริ่ม อยากสรรค์สร้าง Musical สักเรื่องในสไตล์ของตนเอง
A Woman Is a Woman (1961) ก็อย่างที่บทสัมภาษณ์กล่าวไว้ ความตั้งใจแท้จริงของผู้กำกับ Godard เพียงต้องการหวนระลึก ‘nostalgia’ ครุ่นคิดอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์ Musical (ให้คำนิยามว่า Neorealist Musical) ด้วยการเคารพคารวะ จากนั้นทุบทำลาย แล้วก่อร่างสร้างขึ้นมาใหม่ในแนวทางของตนเอง
They tore each other apart, argued, loved each other, hated each other, screamed at each other.
Jean-Claude Brialy กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Jean-Luc Godard และ Anna Karina ในกองถ่าย
ผมค่อนข้างเชื่อว่า The Umbrellas of Cherbourg (1964) ของผู้กำกับ Jacques Demy น่าจะได้รับอิทธิพลจาก A Woman Is a Woman (1961) โดยเฉพาะแนวคิดพูดคุยด้วยการขับร้อง ‘sung-through’ มันอาจไม่สุดกู่เทียบเท่า Godard แต่ความประณีประณอมดังกล่าวสร้างผลลัพท์ให้กลายเป็นตำนาน
และจะว่าไป A Woman Is a Woman (1961) ไม่ใช่หนังเพลงเรื่องแรกเรื่องเดียวของผู้กำกับ Godard อาทิ Bande à part (1964) มีฉากเต้นรำระดับตำนาน, Pierrot le Fou (1965) พระ-นางร้องเพลงเกี้ยวพาราสี ฯลฯ แค่ว่ามันไม่ใช่ pure-Musicial เท่านั้นเอง
เข้าฉายเทศกาลหนัง Berlin International Film Festival ได้เสียงตอบรับแตกแยกจากนักวิจารณ์ ทั้งสรรเสริญเยินยอและด่าทอไร้สาระ แต่กลับสามารถคว้ามาถึงสองรางวัล ส่งให้ Anna Karina กลายเป็นดาวดาราเจิดจรัสโดยทันที!
- Silver Berlin Bear: Best Actress (Anna Karina)
- Silver Berlin Bear: Special Prize (Jean-Luc Godard)
ด้วยทุนสร้างประมาณ FRF 2 ล้านฟรังก์ (ประมาณ $160,000 เหรียญ) ในฝรั่งเศสมียอดจำหน่ายตั๋วสัปดาห์แรกเพียง 22,933 ใบ กระแสปากต่อปากก็ไม่ดีสักเท่าไหร่ ยอดผู้ชมตลอดโปรแกรมฉาย 549,931 เมื่อเปรียบเทียบกับ Breathless (1960) เลยถือว่าน่าผิดหวังอย่างมากๆ
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoraion) คุณภาพ high-definition ผ่านการอนุมัติโดยตากล้อง Raoul Coutard เห็นมีวางจำหน่ายเพียง DVD (Blu-Ray น่าจะติดตามมาเร็วๆนี้) สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง สัมผัสได้ถึงความสนุกสนานครื้นเครง อลเวงเริงระบำ และสไตล์ Godarian แบบที่มักคุ้นชิน น่าจะเพราะความรักต่อ Anna Karina ทำให้ผู้กำกับ Jean-Luc Godard มีความเป็นมนุษย์ขึ้นมานิสต์นึง … เป็นช่วงเวลาที่ผมไม่รู้สึกอคติใดๆต่อผกก. Godard
แนะนำคอหนังเพลง (Musical มั้งนะ), โรแมนติกสามเส้าแบบครื้นเครง, โดยเฉพาะสาวๆวัยรุ่น ภรรยาอยากตั้งครรภ์, แฟนๆนักแสดง Anna Karina, Jean-Claude Brialy และ Jean-Paul Belmondo ไม่ควรพลาดเลยละ!
จัดเรต pg กับความระริกระรี้ต้องการมีบุตร
Leave a Reply