Unforgiven (1992) : Clint Eastwood ♥♥♥♥
แด่ Don Siegel กับ Sergio Leone เพื่อนและอาจารย์ผู้ล่วงลับของ Clint Eastwood, ในยุคที่ภาพยนตร์ตระกูล Cowboy Western กำลังตายจากไป Unforgiven ได้ปลุกผีย้ำเตือนกับชาวโลกว่า หนังแนวนี้จะไม่มีวันจางหาย อย่าเผลอไปสร้างความแค้นอะไรให้กับพวกเขาละ แก่แค่ไหนยังสามารถลุกขึ้นมายิงหัวกระจุยได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
วันก่อนได้ดู Logan (2017) หนังแฟนไชร์ X-Men ของ Wolverine ที่เป็นการรับบทครั้งสุดท้ายของ Huge Jackman และ Patrick Stewart, ต้องบอกว่าอดไม่ได้จริงๆที่ต้องเปรียบเทียบกับหนังเรื่องนี้ ด้วยโครงสร้างเรื่องราวที่มีความคล้ายคลึง ตัวละครก็มีปมจากอดีตแบบเดียวกัน แปลว่าต้องได้อิทธิพลแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้มาแน่ๆ
Clint Eastwood สร้าง Unforgiven ในช่วงเวลาที่เหมาะสมยิ่งนัก ตัวเขาขณะนั้นอายุ 60 ปี (เกิดปี 1930) ได้เก็บสะสมประสบการณ์จากการแสดงหนังแนวนี้นับไม่ถ้วน โดยเฉพาะจากผู้กำกับ Don Siegel และ Sergio Leone
– Eastwood ร่วมงานกับ Sergio Leone 3 เรื่อง Dollars Trilogy ประกอบด้วย A Fistful of Dollars (1964), For a Few Dollars More (1965) and The Good, the Bad and the Ugly (1966)
– และร่วมงานกับ Siegel ทั้งหมด 5 เรื่อง ประกอบด้วย Coogan’s Bluff (1968), Two Mules for Sister Sara (1970), The Beguiled (1971), Dirty Harry (1971), Escape from Alcatraz (1979)
เหตุที่ Eastwood ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ เพราะวัยวุฒิที่เพิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตัวเขาเริ่มหาการแสดงที่มีความท้าทายไม่ค่อยได้แล้ว และการเป็นผู้กำกับทำให้มีสิทธิ์เลือกสิ่งน่าสนใจได้มากกว่า, การสร้างหนังเรื่องนี้ ถือว่าเป็นการอุทิศให้กับผู้กำกับดังทั้งสอง Leone เสียชีวิตปี 1989 และ Siegel เมื่อปี 1991
เขียนบทโดย David Webb Peoples ที่มีผลงานดังอย่าง The Day After Trinity (1980), Blade Runner (1982), 12 Monkeys (1995) ฯ เห็นว่า Peoples พัฒนาบทหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1976 แต่ไม่สามารถหาผู้สนใจสร้างได้ Eastwood เองก็เคยอ่านบทหนังนี้ตั้งแต่ปี 1984 แต่ยังไม่มีความสนใจที่จะสร้าง เพราะตัวเองอยากทำอย่างอื่นก่อน จนกระทั่งการเสียชีวิตของ Leone และ Siegel ทำให้เขารู้ตัว ว่าถึงเวลาต้องเริ่มพัฒนาโปรเจคนี้อย่างจริงจังเสียที
ก่อนหน้าที่จะมาสร้างหนังเรื่องนี้ Eastwood มีผลงานกำกับหลากหลายแนวกว่า 10 เรื่อง เริ่มตั้งแต่เรื่องแรก Play Misty for Me (1971) เป็นแนว Psychological Thriller ตัวเขารับบทเป็นคนจัดรายการวิทยุที่ถูกแฟนสาวโรคจิตสะกดรอยติดตาม (Stalker) ฯ, ภาพยนตร์ทั้งหลายที่ Eastwood กำกับมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่ยังไม่ได้ถึงจุดที่จะดีพอจะได้รับการยกย่องจดจำ จนกระทั่งการมาของ Unforgiven ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
สำหรับสไตล์การกำกับ นิตยสาร Life สรุปใจความย่อๆว่า ‘สไตล์ของ Eastwood ชอบที่จะถ่ายก่อน การแสดงค่อยว่ากัน คือนิยมให้นักแสดงแสดงออกทางการกระทำมากกว่าใช้คำพูด’
“Eastwood’s style is to shoot first and act afterward. He etches his characters virtually without words. He has developed the art of underplaying to the point that anyone around him who so much as flinches looks hammily histrionic.”
ส่วนประเด็นความสนใจ มักมีเรื่องราวสำรวจคุณค่าทางจริยธรรม (ethical values) มุมมองของความยุติธรรม (justice), ความมีเมตตา (mercy), และความตาย (suicide and the angel of death)
เกร็ด: Eastwood เป็นพวกขวาจัดอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรง ให้การสนับสนุนพรรค Republican อย่างออกนอกหน้า โดยเฉพาะ Donald Trump
ชื่อไทย ‘ไถ่บาปด้วยบุญปืน’ เรื่องราวเกิดขึ้นปี 1880 โสเภณีรายหนึ่งถูกชายสองคนทำร้ายร่างกายจนใบหน้าเสียโฉม เพื่อนของเธอรู้สึกคับแค้นใจจึงประกาศค่าหัวจับตายของเป็นเงินสูงถึง 1,000 เหรียญ ทำให้ William Munny (รับบทโดย Clint Eastwood) คาวบอยสูงวัยที่วางมือจากการดวลปืนมานาน เมื่อได้ยินเรื่องนี้จึงต้องการนำเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวของเขา ร่วมมือกับ Ned (รับบทโดย Morgan Freeman) อดีตคู่หูเก่า และคาวบอยหนุ่มตาสั้น Schofield Kid (รับบทโดย Jaimz Woolvett) เพื่อออกติดตามไล่ล่า แต่ถูกขัดขวางโดย Little Bill (รับบทโดย Gene Hackman) นายอำเภอสุดกร่าง พวกเขาจะทำงานนี้ได้สำเร็จหรือไม่
William ‘Will’ Munny เป็นพ่อที่ไม่เอาถ่าน แค่ไล่จับหมูยังหน้าคะมำคลุกขี้ดิน ยากที่ใครจะเชื่อว่าสมัยก่อนเคยเป็นคาวบอยที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ ต้องขอบคุณสิบกว่าปีที่ภรรยาได้เสี้ยมสอนตัดเขี้ยวเล็บจากราชสีห์เป็นลูกแมวน้อยกลายเป็นคนธรรมดาทั่วไป (เมียดีเป็นศรีแก่ตนจริงๆ) แต่จนแล้วจนรอดหลังภรรยาจากไป เพราะความยากจน พ่อจึงจำต้องหวนคืนสู่วงการ แม้ตนจะยิงปืนไม่แม่น ขี่ม้าก็ขึ้นแทบไม่ได้ แต่เงินนี้เพื่อลูก ครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น
Eastwood รับบทตัวละครนี้ได้น่าสมเพศเห็นใจมากๆ นี่เป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับพระเอกหนังคาวบอย ที่ส่วนมากต้องหล่อเท่ห์ยิงปืนแม่นสาวกรี๊ด แต่เรื่องนี้คลุกดินคลุกเลน โดนกระถืบ ป่วยหนักปางตาย มีอะไรดีบ้างเนี่ย แต่มันก็ยังไม่เท่าเมื่อเพื่อนรักถูกฆ่า วินาทีนั้นหยิบเหล้าขึ้นมากระดก มือหยุดสั่น ยิงปืนแม่นยิ่งกว่าจับวาง คงไม่มีใครสามารถเล่นบทนี้ได้ดีกว่าชายที่ชื่อ Clint Eastwood อีกแล้ว
‘Little’ Bill Daggett นายอำเภอสุดกร่าง พื้นหลังของเขาค่อนข้างคลุมเคลือ รู้ว่าเคยเป็นสหายกับ English Bob นี่อาจหมายความว่า Little Bill สมัยยังหนุ่มต้องไม่ธรรมดาทีเดียว, ตรรกะของชายคนนี้คือ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของสังคม(ที่เขาเป็นคนออก) ต้องได้รับโทษอย่างสาสม ฟังดูเหมือนเป็นคนดี แต่จิตใจก็มีความเคี้ยวคดอัปลักษณ์ ซาดิสต์โหดเหี้ยม ไม่ไว้หน้าใคร ไม่แคร์อะไรเท่านั้น (จะเรียกว่าหลง’อำนาจ’ก็ยังได้)
Gene Hackman กับบทบาทที่ทำให้ได้ Oscar ตัวที่สอง (ตัวแรกจาก The French Connection) มีความโหดลึกเข้มข้น โดยเฉพาะขณะที่พูดประโยคว่า ‘I don’t deserve this. To die like this. I was building a house.’ จะมีใครเห็นใจตัวละครนี้บ้างละเนี่ย, ก่อนหน้าที่ Eastwood จะเข้ามารับหน้าที่กำกับโปรเจคนี้ Hackman เคยได้รับการติดต่อให้มารับบทนำ ตอบตกลง แต่โปรเจคล่าช้าถอนตัว ภายหลัง Eastwood กลับมาเกลี้ยกล่อมอีกรอบจนยอมรับบท แต่เขามีความวิตกกังวลต่อความรุนแรงที่ถ่ายทอดออกมาของตัวละครนี้ ซึ่งผู้กำกับให้ความเชื่อมั่นบอกว่า หนังไม่ได้มีใจความยกย่องเทิดทูนความรุนแรง แต่จะทำให้เห็นความเลวร้ายของมันมากกว่า
นักแสดงสมทบอื่น อาทิ
– Morgan Freeman รับบท Ned Logan สหายคาวบอยเก่าของ Will ที่ปัจจุบันก็รีไทร์มาหลายปี แต่อ้างว่ายังยืนปืนแม่นเหมือนจับวาง กระนั้นเมื่อถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มจริงๆ ก็ไม่สามารถย้อนกลับไปได้อีก
– Jaimz Woolvett รับบท Schofield Kid คาวบอยหนุ่มสายตาสั้นมีดีแค่ปาก แต่ก็ยังใจกล้าทำหน้าที่ของตนเองได้สำเร็จ, สมัยก่อนฉายาคาวบอยจะตั้งโดยคนอื่น แต่เด็กหนุ่มคนนี้ตั้งฉายาให้ตนเอง โลกมันเปลี่ยนไปจริงๆ
– Richard Harris รับบท English Bob หนุ่มอังกฤษแม่นปืน ที่ปากดี(ชอบขี้โม้โอ้อวด)แต่ก็พอมีฝีมืออยู่บ้าง กระนั้นก็ยังเป็นคนปอดแหก (ไม่กล้ารับปืนจาก Beauchamp) ทำให้เป็นได้เพียงกระสอบทรายให้สหายเก่า
– Saul Rubinek รับบท W. W. Beauchamp ชายหนุ่มนักเขียนหนังสือ ชีวิตเขาสนใจแค่ความเท่ห์ของคาวบอยสมัยก่อน จับพลัดจับพลูอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้หนังสือเขาขายดีแน่ๆ
ถ่ายภาพโดย Jack N. Green ที่เข้าวงการจากการชักชวนของ Eastwood มีผลงานแรกร่วมกันตั้งแต่ Heartbreak Ridge (1986)
Eastwood มีความชื่นชอบการจัดแสง low-key และถ่ายโดยใช้ back-lighting (ถ่ายภาพย้อนแสง) ทำให้ภาพค่อนข้างมืด มีกลิ่นอายหนังนัวร์ติดอยู่บ้าง, กับภาพในตำนานของหนัง ไม่ต้องหาไกลคือช็อตแรกขณะ Open-Credit
ช็อตนี้ช็อตเดียว สามารถอธิบายเรื่องราวของหนังได้ทั้งเรื่อง, โทนสีส้มค่อนไปทางแดง เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ใกล้ตกดิน (เป็นสีหลักของหนัง) ต้นไม้สูงใหญ่เดียวดายไร้ใบ (ชีวิตที่โรยรา) บ้านหลังเดียวคือสิ่งที่เหลืออยู่ในชีวิตของพระเอก, ครึ่งล่างของภาพมืดมิด แทนด้วยสิ่งที่อยู่ภายใต้ในจิตใจ เต็มไปด้วยความมืดหม่น อดีตชั่วร้ายที่อยากหลงลืม ชื่อ Unforgiven ไม่สามารถให้อภัยต่อสิ่งที่เคยเกิดได้
ลีลาการเคลื่อนกล้องถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น, หนังของ Eastwood แทบทุกเรื่องจะไม่มีการเคลื่อนไหวที่โฉบเฉี่ยว หรือตัดต่อที่ฉับไว ทุกอย่างจะเนิบนาบใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป เคลื่อนเข้าออกอย่างช้าๆ เพื่อให้ผู้ชมค่อยๆซึมซับสัมผัสบรรยากาศของหนังได้อย่างเต็มอิ่ม
แน่นอนว่า Green ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography แต่พ่ายให้กับ A River Runs Through It ของ Robert Redford (สาขานี้ถือว่าสูสีมากๆ ใครชนะก็พอรับได้)
ตัดต่อโดย Joel Cox ขาประจำของ Eastwood เข้าชิง Oscar 3 ครั้งจาก Unforgiven (1992), Million Dollar Baby (2004), American Sniper (2014) ได้รางวัลเฉพาะกับหนังเรื่องนี้
มีสองเรื่องราวเกิดขึ้นคู่ขนานกัน ฝั่งของพระเอก และฝั่งของผู้ร้าย, การตัดต่อจะสลับกันทีละเรื่องๆอย่างไม่รีบร้อน มีเพียง 2 ครั้งที่พวกเขาพบเจอกันในฉากเดียว ซึ่งขณะประจันหน้าก็มักจะตัดสลับแบบ 1-1 เช่นกัน (ที่ก็ไม่รีบเร่งเท่าไหร่)
ไฮไลท์อยู่ที่ช่วงท้ายเมื่อพระเอกตัวคนเดียว ประจันหน้ากับศัตรูไม่รู้เท่าไหร่ การตัดต่อเลือกมุมกล้องที่มองเห็นตำแหน่งชัดเจน คือรู้ว่าใครเป็นคนยิง ใครถูกยิง ในมุมมองที่รับรู้ได้ว่าคนโดนยิงเสียชีวิตหรือไม่ (แต่มักจะไม่เห็นขณะถูกยิง) จะมีการทิ้งเวลาสักแปปทุกขณะยิง ไม่ใช่ปุ๊ปปับฉับไวดูไม่รู้เรื่องว่าใครยิงใครแบบหนังสมัยนี้, มันเหมือนว่า ทุกความตายมีความสำคัญ ไม่ใช่สักแต่ยิงๆตายๆ การชะรอความเร็ว ทำให้กลายเป็นภาพติดตาของผู้ชม(และตัวละคร) ให้รับรู้ว่า การฆ่ากันตายไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์แม้แต่น้อย
เพลงประกอบโดย Lennie Niehaus นักดนตรี แต่งเพลงชาวอเมริกา ถนัดแนว Alto saxophone ร่วมงานทำเพลงประกอบภาพยนตร์กับ Eastwood หลายเรื่องทีเดียว
แต่เพลงหลักของหนัง Claudia’s Theme เสียงกีตาร์ที่ได้ยินนั้น เป็น Clint Eastwood แต่งขึ้นเอง (เพลงนี้เพราะสุดในหนัง) ให้สัมผัสของความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน โหยหวน อดีตอันขื่นขม บางสิ่งอย่างในชีวิตไม่สามารถให้อภัยกันได้ ฯ ถึงคุณไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ เชื่อว่าย่อมต้องเคยได้ยินจากที่ไหนสักที่เป็นแน่
ใจความของหนังเรื่องนี้คือ ‘บางสิ่งอย่างไม่สามารถยกโทษให้อภัย/ลืมเลือนได้’
– อดีตของพระเอก เป็นคนเลวทรามต่ำช้า แม้จะถูกภรรยาเสี้ยมสอนจนเหมือนจะเปลี่ยนมาเป็นคนดีแล้ว แต่ไม่วายหวนกลับมาจับปืน กลายเป็นแบบเดิมอีก
– การทำร้ายโสเภณีจนเสียโฉม พวกเธอไม่สามารถให้อภัยหนุ่มๆพวกนั้นได้
– นายอำเภอฆ่าเพื่อนเก่าเพื่อนรักที่รู้จักมานาน แถมทำให้อับอายขายหน้า เป็นเรื่องให้อภัยไม่ได้เช่นกัน
ฯลฯ
กับหนังเรื่องนี้ เหตุเกิดจากการไม่ยอมให้อภัย ยอมความกันไม่ได้ ทำให้เรื่องราวบานปลายไปจนคนตายเต็มไปหมด, กับคนที่ผมมองว่ามีความผิดที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือกลุ่มเพื่อนๆโสเภณีที่เดือดเนื้อร้อนใจแทนเจ้าทุกข์ (คือผมไม่เห็นเจ้าตัวจะเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรเท่าไหร่) การตัดสินของนายอำเภอ Little Bill ในตอนแรกผมว่ายุติธรรมเพียงพอแล้วนะ คือเธอก็แค่เสียโฉมไม่ได้เสียชีวิต แลกมาด้วยม้า 5-6 ตัว ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องฆ่าแกงกันให้ตายไปข้างหนึ่ง
แต่ผมไม่ได้สนับสนุนความรุนแรงของนายอำเภอ Little Bill หลังจากนั้นนะครับ, สำหรับตัวละครนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย จะถือว่าเป็นพ่อพระเลยละ แต่เมื่อไหร่มีการตายเกิดขึ้น ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ แสดงความโหดเหี้ยมรุนแรงซาดิสต์ออกมาแบบไร้พิกัด
“เพราะการฆ่าคนอื่นตาย เป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้”
กับคนอ่านบทความในบล็อคนี้บ่อยๆ น่าจะเห็นผมพูดอยู่เสมอๆว่า “ไม่มีอะไรในโลกที่เราไม่สามารถอโหสิ ยกโทษ ให้อภัยกันไม่ได้” ต่อให้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าคนรัก ฆ่าลูกฆ่าหลาน หรือกระทั่งฆ่าคุณเอง ตายไปก็ยังสามารถอโหสิกรรมไม่ถือโทษโกรธเคืองได้อยู่ เพราะถ้าเรามัวคิดแต่จะล้างแค้นเอาคืน เรื่องมันจะไม่จบแค่ภพชาตินี้ ต่อเนื่องยาวออกไปไม่รู้จักจบจักสิ้น ฉันฆ่าพ่อนาย พอลูกโตขึ้นก็หวนกลับมาล้างแค้นฆ่าพ่อฉัน กลายเป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่แบบนี้ จนกว่าจะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถเริ่มให้อภัยแกกัน วงจรนี้ก็ไม่มีวันจบสิ้น
ในยุคสมัยที่หนัง Western ค่อยๆเสื่อมความนิยมลง และสองผู้กำกับที่ถือเป็น Iconic รุ่นสุดท้ายจากยุคทองได้จากไปแล้ว เราสามารถเปรียบหนังแนว Western ได้กับคนสูงวัยชราภาพใกล้ตาย ที่ห่างร้างจากช่วงวัยหนุ่มแน่นแข็งแกร่ง, กระนั้นอย่าได้ถูกไป คนแก่มากประสบการณ์มีเยอะ เมื่อถูกทำให้จนตรอกใช่ว่าจะหมดสิ้นไร้น้ำยา ยังคงมีฝีมือ เรื่องราว ความยิ่งใหญ่ไม่เป็นสองรองใคร เช่นกันกับหนังแนว Western ถึงกาลเวลาแห่งความยิ่งใหญ่จะได้หมุนเปลี่ยนผ่านไปแล้ว แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่ง ต้องสามารถกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกแน่
นี่คือความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ ที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะของหนังแนว Western ในสมัยนั้น จริงอยู่ฉันแก่แล้ว แต่ยังคงไว้ลาย และไม่มีวันตายจากไป
ด้วยทุนสร้าง $14.4 ล้านเหรียญ ใช้เวลา 318 วันถึงทำเงินเกิน $100 ล้านเหรียญ ไม่ยอมตายจริงๆ! (ใช้เวลาทำเงินถึงร้อยล้านนานที่สุด ตามสถิติของ Boxofficemojo) ทำเงินรวมในอเมริกา $101.1 ล้านเหรียญ (เป็นหนังร้อยล้านเรื่องแรกในชีวิตของ Eastwood) รวมทั้งโลก $159.2 ล้านเหรียญ
หนังเข้าชิง Oscar 9 สาขาได้มา 4 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor (Clint Eastwood) พ่ายให้กับ Al Pacino จาก Scent of a Woman
– Best Supporting Actor (Gene Hackman) ** ได้รางวัล
– Best Original Screenplay
– Best Cinematography
– Best Film Editing ** ได้รางวัล
– Best Art Direction
– Best Sound
ในปีนั้นมี 4 สาขาของหนังที่ถูก SNUB คือ Best Actor (Clint Eastwood), Best Original Screenplay, Best Cinematography และ Best Art Direction
เกร็ด: มีหนัง Western เพียง 4 เรื่องเท่านั้นที่ได้ Oscar: Best Picture ประกอบด้วย Cimarron (1930/31), Dances With Wolves (1990), Unforgiven (1992) และ No Country For Old Men (2007)
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ในบรรยากาศความมืดหม่น การแสดง เพลงประกอบ และกลิ่นอายสไตล์ Cowboy Western แต่ไม่ค่อยชอบความรุนแรงอันบ้าคลั่งในหนังเท่าไหร่ โดยเฉพาะตัวละครของ Gene Hackman ที่ผมรู้สึกมันมากเกินไป (ขนาด 20-30 ปีผ่านไป ยังรู้สึกว่ามันรุนแรงมากอยู่เลย) แต่ถ้าไม่ทำให้รุนแรงขนาดนั้นผู้ชมคงไม่รู้สึกถึงความไม่สมควรยกโทษให้ของตัวละครนี้เป็นแน่
นี่เป็นหนังเรื่องที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติการกระทำอะไรบางอย่างที่มีความบ้าคลั่งรุนแรง (ซาดิส/คอรัปชั่น) และไม่ควรกลายเป็นคนหมกมุ่นเรื่องความแค้น จนไม่สามารถให้อภัยใครได้เลย (แม้แต่ตัวเอง)
แนะนำกับคนชื่นชอบหนังสไตล์ Cowboy, Western, Epic ภาพสวยเพลงเพราะ แฟนๆ Clint Eastwood, Gene Hackman, Morgan Freeman, Richard Harris ไม่ควรพลาด
นี่เป็นหนังที่แฝงความรุนแรงอย่างยิ่ง จัดเรต 18+
Leave a Reply