Union Pacific (1939) : Cecil B. DeMille ♥♥♥
หนังรางวัล Palme d’Or เรื่องแรก (แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว) ในยุคสมัยที่ภาพยนตร์ Cowboy Western ยังไม่ได้รับความนิยม เป็นเพียงหนังเกรดบีใน Hollywood มีอยู่ 2 เรื่อง Stagecoach (1939) และ Union Pacific ที่ได้จุดกระแสความนิยมให้หนังแนวนี้ครองอเมริกาในทศวรรษถัดมา
วันที่ 1 กรกฎาคม 1862 ประธานาธิบดี Abraham Lincoln ได้ลงนามในสัญญา Pacific Railroad Act of 1862 อนุญาตสร้างทางรถไฟข้ามประเทศ (เรียกย่อๆว่า Pacific Railroad หรือ Overland Route) เชื่อมต่อระหว่างฝั่งตะวันออก (American East) กับฝั่งตะวันตก (American West) เริ่มต้นจาก Omaha, Nebraska สิ้นสุดที่ Oakland, California ระยะทางรวม 1,912 ไมล์ (3,077 กิโลเมตร)
เนื่องจากระยะทางที่แสนไกล จึงจำเป็นต้องแบ่งประมูลให้ 2-3 บริษัทใหญ่เข้าร่วมลงทุนแข่งขัน ประกอบด้วย
– The Western Pacific Railroad Company สร้างได้ 132 ไมล์ (212 กิโลเมตร) จาก Oakland ถึง Sacramento, California
– The Central Pacific Railroad Company of California (CPRR) สร้างได้ 690 ไมล์ (1,110 กิโลเมตร) จาก Sacramento ถึง Promontory Summit, Utah Territory (U.T.)
– Union Pacific สร้างได้ 1,085 ไมล์ (1,746 กิโลเมตร) จากสถานีตะวันออก Council Bluffs บริเวณ Omaha, Nebraska ถึง Promontory Summit
ในสัญญาสร้างทางรถไฟ ไม่ได้ระบุการว่าจ้างด้วยระยะทางปริมาณเท่าไหร่ เพียงแต่ถ้าบริษัทไหนสร้างเสร็จได้เร็วกว่า ระยะทางไกลกว่า ก็จะได้เงินสนับสนุนมากกว่า พูดง่ายๆคือทำให้ Central Pacific กับ Union Pacific ต่างเร่งแข่งขันสร้างทางรถไฟ เพื่อได้สิทธิกำไรส่วนแบ่งความสำเร็จมากกว่า
เริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ปี 1863 เสร็จสิ้นเชื่อมต่อระหว่างฝั่งตะวันออกกับตะวันตก วันที่ 10 พฤษภาคม 1869 ที่ Promontory Summit, รัฐ Utah Territory โดย ‘Last Spike’ หมุดสุดท้ายเห็นว่าเป็นทองทั้งแท่ง ตอกด้วยฆ้อนเงิน(ทั้งแท่งเช่นกัน)โดย Leland Stanford ประธานบริษัท CPRR
ทางรถไฟสายนี้สิ้นสุดการใช้งานเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1962 (เกือบๆ 100 ปีเชียวนะ) มีหลายสถานที่ เช่น Promontory Summit ได้รับปรับปรุงให้กลายเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญ, สำหรับ Last Spike ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี คงเหลือ 2 อัน จัดแสดงที่ Cantor Arts Center ที่ Stanford University และ California State Railroad Museum
เกร็ด: Last Spike ที่เห็นในหนังเป็นของจริงนะครับ ยืมมาจาก Stanford University ใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
Union Pacific เป็นภาพยนตร์ที่เต็มเปี่ยมด้วยความนิยมรักชาติของชาวอเมริกัน (Nationalism) เรื่องราววุ่นๆของการสร้างทางรถไฟสาย Pacific Railroad ที่กว่าจะประสบความสำเร็จต้องพบเจอเรื่องราว ปัญหาต่างๆมากมาย
หนังได้รับการสร้างขึ้นออกฉายในช่วงขณะโลกกำลังย่างกรายเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สามารถมองเป็นหนังชวนเชื่อ (Propaganda) ให้เกิดความฮึกเหิม ภาคภูมินิยมในชาติ พร้อมจะออกไปสู้รบทำสงคราม
ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Trouble Shooter (1936) โดยนักเขียน Cowboy Western ในตำนานของอเมริกา Ernest Haycox ซึ่งหนังเรื่อง Stagecoach (1939) ก็ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของผู้เขียนเดียวกัน
Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา ที่มีผลงานภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน Hollywood
เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวทีเมื่อปี 1900 ไม่นานก็ผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง พอประสบความสำเร็จร่วมกับเพื่อนอีกสองคน Jesse Lasky และ Sam Goldfish (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Samuel Goldwyn) เปลี่ยนมาทำ Moving Pictures กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Squaw Man (1914) ประสบความสำเร็จระดับปรากฎการณ์ (Phenomenal Hit) สำหรับผลงานในยุคหนังเงียบที่ได้รับการยกย่องพูดถึงที่สุดคือ The Ten Commandments (1923) และ The King of Kings (1927) ส่วนยุคหนังพูด มีหลายเรื่องทีเดียวอาทิ Cleopatra (1934), Samson and Delilah (1949), The Greatest Show on Earth (1952) และ remake หนังตนเอง The Ten Commandments (1956)
DeMille เป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อในความเข้มงวด เผด็จการในการทำงาน ใครไม่ทำตามคำสั่งหรือขี้เกียจสันหลังยาว พบเจอก็จะถูกดุด่าว่ากล่าวรุนแรง เหตุนี้ทำให้สามารถควบคุมคนหมู่มาก งานสร้างสเกลหนังขนาดใหญ่ได้เป็นอย่าง, แต่นั่นทำให้เขาละเลย ไม่สนใจกำกับนักแสดงเสียเท่าไหร่ ประมาณว่า ‘ผมจ้างพวกคุณมาเป็นนักแสดง ก็จงแสดงความสามารถของตนเองออกมาให้เต็มที่’ แทบไม่เคยให้คำแนะนำใดๆกับเหล่านักแสดง นอกจาก Action, Cut, Print
สำหรับหนังเรื่องนี้ เห็นว่า DeMille กำกับจากแคร่หาม (stretcher) เพราะเขาเพิ่งผ่าตัดหรือล้มเกิดอุบัติเหตุอะไรสักอย่าง ทำให้ไม่สามารถยืนเดิน ลุกขึ้นไปไหนมาไหนได้ เรียกว่าทุ่มเทกายใจเสียจริงนะครับ
แม้ชื่อเสียงของ DeMille ส่วนใหญ่ไปในทางลบ (คล้ายๆ Michael Bay) แต่เพราะหนังของเขาประสบความสำเร็จล้นหลามหลายเรื่อง จึงไม่ค่อยมีใครกล้าหือเท่าไหร่, ผู้กำกับดัง William A. Wellman กล่าวถึง DeMille ว่า
“Directorially, I think his pictures were the most horrible things I’ve ever seen in my life. But he put on pictures that made a fortune. In that respect, he was better than any of us.”
ในงานประกาศรางวัล Golden Globe Award ของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (Hollywood Foreign Press Association) มีการตั้งชื่อรางวัลเกียรติยศ Honorary Award ว่า ‘Golden Globe Cecil B. DeMille Award’ ยกย่องในคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ ‘outstanding contributions to the world of entertainment’ โดยบุคคลแรกที่มอบรางวัลก็คือ Cecil B. DeMille เมื่อปี 1952
DeMille เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เมื่อปี 1959 สิริอายุ 77 ปี
ในบรรดานักแสดงมากมายที่เคยร่วมงานกับ DeMille คนที่ผู้กำกับโปรดปรานชื่นชอบ ประทับใจที่สุดคือ Barbara Stanwyck ชื่อเดิมคือ Ruby Catherine Stevens (1907 – 1990) นักแสดงหญิง โมเดลลิ่ง และนักเต้นสัญชาติอเมริกัน จากเด็กหญิงกำพร้าอายุ 4 ขวบ อาศัยอยู่กับพ่อแม่อุปถัมภ์ ตอนอายุ 14 กลายเป็น Showgirl หาเงินเลี้ยงดูตัวเองได้ จาก Ziegfeld girl สู่วงการภาพยนตร์ และตอนอายุ 37 เป็นนักแสดงค่าตัวสูงสุดใน Hollywood, เธอคือนักแสดงหญิงผู้ทรงอิทธิพลที่สุดลำดับที่ 11 จากการจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Stars
ใน Union Pacific รับบทตัวละครชื่อ Mollie Monahan ทำงานเป็นสาวไปรษณีย์ คนกลางผู้คอยรับส่ง สื่อสาร เชื่อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างต้นทางกับปลายทาง, แต่มีหลายครั้งทีเดียวที่ตัวละครนี้ตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะความที่เธอเป็นคนกลางระหว่างเพื่อนสองคน จำต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความถูกต้อง ชีวิตและความเป็นตาย
Barbara Stanwyck เป็นผู้หญิงสวยในลีลา สังเกตเวลาถ่ายรูปจะขึ้นกล้องมากๆ ก้มหน้าลงนิด ส่งสายตาจิก อมยิ้มเล็กๆ หนุ่มทั้งหลายเห็นแล้วหัวใจละลาย (นี่เพราะเธอเป็นทั้งแดนเซอร์และโมเดลลิ่ง จึงรู้จักลีลาวางท่าทางยั่วผู้ชายเป็นอย่างดี) ถึงจะเป็นขาประจำของ DeMille แต่ต้องบอกว่าผู้กำกับไม่สามารถเค้น นำความงามทั้งภายนอกภายในของเธอออกมาได้อย่างคุ้มค่า ให้กล่องถ่ายภาพแบบหน้าตรงไปตรงมา อยากให้แสดงอะไรออกมาก็ตามนั้นไม่ชี้แนะนำ ขัดเกลา … คือ Stanwyck ก็มีความยอดเยี่ยมโดดเด่นในตัวเองนะ แต่ผมรู้สึกเธอเหมือน ‘เพชรในตม’ ต่อให้สวยงานยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่เมื่ออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า เพชรนั้นก็มิอาจเจิดจรัสได้เต็มที่
ถ้าคุณอยากรับชมผลงานระดับเลอค่าของ Barbara Stanwyck ให้ไปหา Stella Dallas (1937), Ball of Fire (1941), Double Indemnity (1944) Sorry, Wrong Number (1948), The Big Valley (1966), The Thorn Birds (1983) ฯ เธอเข้าชิง Oscar 4 ครั้งไม่เคยได้ Academy เลยต้องมอบ Honorary Award ให้เมื่อปี 1982 และต่อมา Golden Globe Cecil B. DeMille Award ได้ปี 1986
Joel Albert McCrea (1905 – 1990) นักแสดงหนุ่มสุดหล่อเท่ห์สัญชาติอเมริกัน มีชื่อเสียงโด่งดังประสบความสำเร็จในทศวรรษ 30s – 40s โดยเฉพาะกับหนัง Western ผลงานที่เด่นๆ อาทิ Foreign Correspondent (1940), Sullivan’s Travels (1940), Bird of Prey (1932), The Most Dangerous Game (1933), The More the Merrier (1941), Ride the High Country (1962) ฯ น่าเสียดายไม่มีผลงานคลาสสิกอมตะ ปัจจุบันเลยไม่ค่อยมีใครรู้จักชายคนนี้แล้ว
รับบท Captain Jeff Butler ที่เก่งทั้งบู๋และบุ๋น หล่อเหลามาดเข้ม เฉลียวฉลาดลุ่มลึก ช่างสังเกตปืนไว และมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง, ถ้าคุณเป็นมิตรกับเขา รับรองไม่มีวันถูกทอดทิ้งได้เพื่อนตายแน่ๆ แต่ถ้าเป็นศัตรูก็ระวังตัวไว้ให้ดี ถึงเขาไม่เข้าข้างหลัง แต่ต่อหน้าก็จะถูกทำให้ผุดเกิดไม่ได้อีกเลย
เอาจริงๆผมแทบไม่มองใบหน้าของตัวละครผู้ชายทั้งหลายในหนังเลยนะครับ (สงสัยเอาแต่มอง Barbara Stanwyck คนเดียวก็เพียงพอแล้ว) เห็นแต่ชุดของพวกเขาที่บ่งบอกวิทยฐานะ คาแรคเตอร์ของตัวละครได้ชัดเจน
ถ่ายภาพโดย Victor Milner ขาประจำของผู้กำกับ DeMille ได้ Oscar: Best Cinematography จาก Cleopatra (1934), งานภาพของหนังเรื่องนี้บอกตามตรงค่อนข้างผิดหวัง ถ่ายหน้าตรงไปตรงมาแบบสามารถทำให้ Barbara Stanwyck ดูขาดเสน่ห์ไปอย่างมาก กระนั้นความอลังการในหลายๆฉากยังมีความตื่นตาตื่นใจ เห็น direction การกำกับคนหมู่มากของ DeMille ก็อดยกย่องไม่ได้
จุดเด่นงานภาพในหนังของ DeMille คือระดับของมุมกล้อง เริ่มจาก Establish Shot ส่วนใหญ่เป็น Long Shot ถ่ายภาพมุมกว้างระยะไกลเห็นทุกสิ่งอย่าง จากนั้นจะตัดต่อเคลื่อนใกล้เข้ามาเป็น Medium Shot พอตัวละครสนทนาก็จะใช้การ Close-Up, เห็นว่าเวลาถ่ายทำแต่ละครั้ง ขั้นต่ำฉากหนึ่งก็จะต้องสามเทค ไล่เรียงตามลำดับแบบนี้ด้วย
ไฮไลท์อยู่ที่ฉากรถไฟระเบิดกับตกเขา ผมคิดว่าน่าจะเป็น Miniature ใช้โมเดลจำลองย่อส่วน ใส่ Special Effect ให้เห็นระเบิดสมจริง แต่ก็ไม่แน่นะครับ หนังอาจใช้หัวรถจักรจริงๆพุ่งตกรางก็ได้ (เพราะหนังของ DeMille มักจะทุนสร้างสูงอยู่แล้ว) สมัยนั้นคงถือว่าทำออกมาได้สมจริงมากๆ ถึงขนาดเข้าชิง Oscar: Best Special Effect แม้จะไม่ได้รางวัลแต่ถือว่าได้รับการจดจำ
ตัดต่อโดย Anne Bauchens เริ่มจากเป็นเด็กฝึกงานผู้ช่วยตัดต่อของ DeMille ไปๆมาๆ เพราะเธอตัดต่อหนังได้ดูดีกว่าเลยกลายเป็นขาประจำหนึ่งเดียวของเขาตลอดชีพ
นอกจากงานภาพที่เริ่มจากระดับ Macro -> Micro แล้ว การตัดต่อเล่าเรื่องก็มีลักษณะคล้ายกัน คือเริ่มจากประธานาธิบดี Abraham Lincoln เซ็นสัญญาให้ก่อสร้างทางรถไฟ ตามด้วยการพูดคุยวางแผนของผู้บริหาร Union Pacific จากนั้นก็ลงไปที่ระดับปฏิบัติการ เดินทางโดยรถไฟไปยังไซต์สถานีล่าสุด ประมาณสักกลางเรื่องค่อยถึงจุดที่กำลังมีการก่อสร้างจริงๆ และยังมีไปต่ออีกเมื่อพระเอกขี่ม้าไปไซต์ล่วงหน้าเพื่อแก้ปัญหาอู้งาน, เป็นลำดับการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยมจริงๆ
แต่ปัญหาของหนังไม่ใช่การตัดต่อนะครับ ผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งคือการลำดับเนื้อเรื่องส่วนไคลน์แม็กซ์ ใส่ไว้ผิดตำแหน่ง ทำให้ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายความสนุกตื่นเต้นกร่อยลงไปทันที, ตั้งแต่ต้นเรื่อง หนังปูความสัมพันธ์ที่มีแนวโน้มเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเพื่อนสนิท/เพื่อนตายสองคน และหญิงสาว นี่เป็นประเด็นที่ผู้ชมคาดหวังว่าต้องเกิดขึ้น ลุ้นระทึก เป็นตาย ไคลน์แม็กซ์ของหนัง แต่กลับเป็นว่าการปะทะกันของทั้งสองเกิดขึ้นกลางเรื่อง ซึ่งมีความพีคมาก เอาเป็นเอาตายกันเลย ฉากนี้จบแต่หนังยังมีต่อ ตามด้วยฉากสู้ต่อกับชาวพื้นเมืองอินเดียแดง และแถมท้ายด้วยการต่อสู้เอาชนะธรรมชาติ (ระเบิดถ้ำไม่ได้ ก็สร้างทางรถไฟบนหิมะ) ซึ่งนี่ไม่สามารถเร่งเร้าอารมณ์ สร้างความระทึกตื่นเต้นให้เทียบเท่าไฮไลท์เพื่อนรักสองคนสู้กันได้อีก ทำให้หนังแทบจะหมดสนุกตั้งแต่กลางเรื่อง
แต่เลวร้ายที่สุดคือตอนจบ การตายนั้นเพื่ออะไร? มันไม่ได้มีผลได้ผลเสียอะไรกับเรื่องราวหนังเลย เหมือนเป็นความพยายามยื้ออารมณ์ให้ถึงจุดสูงสุด แล้วหาทางออก Happy Ending ให้กับประเด็นรักสามเส้า ซึ่งผมรู้สึกหัวเสียอย่างรุนแรง เป็นการตายที่โง่เง่าและไร้ค่าโดยสิ้นเชิง
เพลงประกอบโดย Sigmund Krumgold กับ John Leipold เป็นการเลือกจาก Folk, Tradition, Classic ที่มีชื่อเสียงคุ้นหูอยู่แล้วมาใส่ประกอบ หลายบทเพลงคุณอาจรู้จัก อาทิ Battle Hymn of the Republic, Londonderry Air, Buffalo Gals, The Wedding March, Oh! Susanna ฯ มีลักษณะใช้เสริมบรรยากาศ สร้างอารมณ์ร่วม รู้สึกคล้อยตาม
ช่วงขณะที่ผมชอบสุดในหนัง ตอนที่ Mollie อ่านจดหมายให้ Paddy ผู้กำลังสิ้นลมฟัง เพลงประกอบพื้นหลังที่ดังขึ้นคือ Londonderry Air ผมคุ้นเคยกับบทเพลงนี้ตั้งแต่สมัยเรียนเปียโนเล่ม Piece แต่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีสัมผัสความลึกซึ้งได้ขนาดนี้ ฉากนี้มันเศร้ามากนะครับ แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลารำลึกไม่กี่วินาที แต่เต็มไปด้วยคุณค่าของชีวิต (ซึ่งไอ้คนที่ฆ่า Paddy จะเห็นว่าพอถูกยิงตาย ไม่มีใครสนใจหมอนี่เลยนะครับ)
สำหรับคนไม่เคยฟัง Londonderry Air นี่เป็นเพลงประจำชาติของ Northern Ireland ใครประพันธ์ไม่รู้ ได้ยินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นที่รวบรวมโดย Jane Ross ซึ่งตอนแรกไม่รู้ด้วยว่าชื่อเพลงอะไร เขาจึงตั้งชื่อตามเมืองที่ค้นพบ County Londonderry และอากาศที่ได้สูดหายใจเข้าไป
ฉบับ Danny Boy เป็น ballad ที่เรียบเรียงเนื้อร้องขึ้นใหม่ โดยนักแต่งเพลงชาวอังกฤษ Frederic Weatherly, ผมฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกล่องลอยไปไกล มองเห็นท้องทุ่งเขียวขจี กลิ่นอายต้นหญ้าหอมกรุ่น สายลมเอื่อยๆพัดเย็น แดดอ่อนๆอบอุ่นกายใจ เพลิดเพลิน สุขสดชื่น ผ่อนคลาย เป็นอิสระโบยบิน ไร้ขอบเขต
Union Pacific คือความพยายามที่จะรวมสองโลกเข้าด้วยกัน ในหนังคืออเมริกันตะวันออกกับตะวันตก นี่อาจมีนัยยะถึงความต้องการครอบครองโลก, ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอเมริกาถือว่าเป็นผู้เข้าไปยุ่งจุ้นจ้านวุ่นวาย ‘เสือก’ ทั้งๆที่พื้นที่การสู้รบส่วนใหญ่คือยุโรปกับเอเชีย (ทวีปอเมริกาไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย) นี่มองได้คือการแสวงหาผลประโยชน์ระยะยาว อิทธิพลต่อทั้งสองภูมิภาค ในกรณีที่ถ้าตนเองอยู่ฝ่ายชนะสงคราม ก็สามารถเอารัดเอาเปรียบประเทศผู้แพ้ได้เยอะเลย
ดั่งความฝัน เพราะ Union Pacific เริ่มต้นก็เป็นเรื่องราวเพ้อฝันเช่นกัน ในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ทำแล้วมีประโยชน์อะไร แต่สุดท้ายเมื่อฝันสร้างทางรถไฟสำเร็จเป็นจริง มีฤาที่แผนครองโลกของอเมริกาจะมิอาจทำสำเร็จได้ … โชคดีที่วันนั้นมันมาไม่ถึง
เทศกาลหนังเมือง Cannes มีแนวคิดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1932 เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศสขณะนั้น Jean Zay ได้วางแผนจัดงาน International Cinematographic Festival แต่กว่าจะพร้อมจัดครั้งแรกก็ล่วงไปปี 1939 มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ได้รับการคัดสรรเตรียมฉายในเทศกาล แต่ขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ต้องล้มเลิกจัดงานไปอย่างไม่มีกำหนด กว่าจะรื้อฟื้นเริ่มต้นใหม่ได้จริงๆก็ปี 1947 ในชื่อ Festival du film de Cannes
เมื่อปี 2002 สงสัยคณะกรรมการผู้จัดงาน ได้ค้นพบเอกสารรายชื่อภาพยนตร์ที่เตรียมฉายในงานเมื่อปี 1939 อันประกอบด้วย Goodbye Mr. Chips, La Piste du Nord, Lenin in 1918, The Four Feathers, The Wizard of Oz, Union Pacific, Boefje พวกเขาคงเกิดความคิด ทำไมเราไม่หาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหนังทั้ง 7 เรื่องนี้เสียเลยละ ตั้งคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมา จัดฉายหนังเหล่านี้ในเทศกาล ผลลัพท์ตัดสินให้ Union Pacific เป็นผู้ชนะได้ Palme d’Or ย้อนหลัง (retrospect) โดยถือว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก/เก่าที่สุด ของรางวัลนี้
นี่แหละครับคือจุดเริ่มต้นอันแปลกประหลาด ของการที่ Union Pacific ได้กลายเป็นภาพยนตร์ Palme d’Or ที่เพิ่งมาได้รางวัลย้อนหลัง 63 ปีถัดมา
ถึงหนังจะไม่ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนัง แต่เพราะในโอกาสครบรอบปีที่ 70 การตอกหมุด ‘Last Spike’ สตูดิโอจึงถือโอกาสร่วมงานกับ Union Pacific และ Central Pacific Railroads จัดงานเฉลิมฉลอง โดยใช้โอกาสนี้ฉายรอบปฐมทัศน์พร้อมกัน 3 โรงภาพยนตร์ที่ The Omaha, Orpheum และ Paramount ในรัฐ Nebraska ปรากฎว่ามีผู้คนออกมาเข้าร่วมงานกว่า 250,000 คน กลายเป็นเทศกาลใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะประสบความสำเร็จ
รถไฟขบวนพิเศษบรรทุก DeMille, Stanwyck และ McCrea ออกเดินทางจาก Hollywood, California สู่ปลายทาง Omaha, Nebraska ใช้เวลา 3 วันเต็ม หยุดจอดพักแทบทุกสถานี เพราะมีผู้คนจำนวนมากมารอต้อนรับ ขนาดปธน. Franklin D. Roosevelt ยังร่วมเฉลิมฉลองงานนี้ด้วยการส่ง telegraph จาก White House ไปถึง Omaha นี่สามารถเรียกได้ว่า รอบปฐมทัศน์ฉายหนังเรื่องนี้มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกาขณะนั้นเลยก็ได้
ปี 1939 ยังมีอีกอีเวนท์หนึ่งปลายปีคือ Gone With The Wind แต่หนังฉายที่ Atlanta ฝูงชนน่าจะหลักแสนเช่นกันออกมารอคอยเต็มถนน ร่วมเฉลิมฉลอง 3 วัน 3 คืน
ไม่มีรายงานตัวเลขรายรับของ Union Pacific แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม, นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของอเมริกา ได้พิจารณาความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ พร้อมกับ Stagecoach (1939) ที่ฉายก่อนหน้าสองเดือน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมยุคสมัย จากแต่ก่อนที่แนว Western ใน Hollywood เคยเป็นแค่หนังทุนสร้างต่ำ เกรดบี ฉายตามโรงภาพยนตร์ชั้นสองสาม แต่พอความสำเร็จอันล้มหลามนี้ได้เกิดขึ้นพร้อมกันโดยบังเอิญ ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์มองเห็นแนวโน้มความสำเร็จ จึงเริ่มทำการขวนขวายไขว่คว้าหาโอกาส ทศวรรษถัดๆมายุคทองของ Western จึงได้เริ่มต้นขึ้น
มาคิดๆดู สาเหตุที่หนังแนว Cowboy Western ได้รับความนิยมสูงสุดในทศวรรษ 40s – 50s [Golden Age ถือว่าอยู่ทศวรรษ 50s นะครับ] ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นอิทธิพลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะทศวรรษก่อนหน้าชาวอเมริกายังลุ่มหลงใหลกับหนังเพลง Musical เพ้อฝันหวานแหวว แต่เมื่อสงครามเกิดใครที่ไหนยังจะขำออก เกิดความอึดอัดอั้นอยากที่จะระบาย ฆ่าทำร้ายกำจัดศัตรู ใครเป็นคนเลวนิสัยไม่ดีต้องถูกตัดสินอย่างเหี้ยมต่อตา ซึ่งหนังแนวนี้ถือว่าตอบสนองความรู้สึก ความต้องการของผู้ชมได้เป็นอย่างดี
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจในการแสดงของ Babara Stanwyck ที่แค่เห็นความน่ารัก รอยยิ้มแย้ม ก็รู้สึกชีวิตกระชุ่มกระชวยขึ้นมาแล้ว นอกนั้นก็แล้วแต่ความอดทนของคุณจะรับได้แค่ไหนนะครับ เพราะความที่หนังนิยมชาติอเมริกันไปเสียนิด น้อยคนที่ไม่ใช่อเมริกันชนจะสามารถชื่นชมหลงใหลหนังเรื่องนี้ได้เป็นแน่
แนะนำกับนักประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน สนใจเรื่องการสร้างรถไฟ ทำงานคมนาคม ก่อสร้างทั้งหลาย, ชื่นชอบหลงใหลในตัวผู้กำกับ Cecil B. DeMille และนักแสดงสุดสวย Barbara Stanwyck ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับความรุนแรง ความตาย และชาตินิยม
Leave a Reply