
Valerie and Her Week of Wonders (1970)
: Jaromil Jireš ♥♥♥♥♡
Valerie เด็กสาวอายุ 13 ปี ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีประจำเดือน เกิดความระริกระรี้ สนอกสนใจเรื่องเพศ แต่กลับได้พบเห็นสิ่งชั่วร้ายมากมาย แวมไพร์ดูดเลือด บาทหลวงหื่นกาม เอาตัวรอดจากการถูกล่าแม่มด ฯลฯ ช่างเป็นสุดสัปดาห์เหนือจริง (Surreal) ความฝันที่น่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก
A visual rondo of free-floating symbols, shape-shifting vampires and erotic high jinks, set in the fertile imagination of a newly nubile teenager, Jaromil Jires’s phantasmagoric Valerie and Her Week of Wonders (1970) may be the most exotic flower to bloom on the grave of the Prague Spring, but it’s one with deep roots in 20th-century Czech culture.
นักวิจารณ์ J. Hoberman จากนิตยสาร The New York Times
ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดยผู้กำกับหญิง ผมเชื่อว่าต้องได้รับการโหวตจากนิตยสาร Sight & Sound ติดอันดับ The Greatest Film of All-Time และ(อันดับ)อาจสูงกว่า Daisies (1966) ด้วยซ้ำไป! แต่เพราะ Valerie and Her Week of Wonders (1970) สร้างโดยผู้กำกับชาย นำเสนอช่วงเวลา ‘Sexual Awakening’ ของเด็กสาวอายุ 13 ปี ผู้ชมสมัยนี้บางคนอาจส่ายศีรษะ เบือนหน้าหนีโดยพลัน
Valerie and Her Week of Wonders (1970) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายแห่งยุคสมัย Czechoslovak New Wave เพราะบทหนังได้รับการอนุมัติระหว่าง Prague Spring ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะบุกรุกราน เข้ามายึดอำนาจในกลุ่มประเทศ Warsaw Pact จากนั้นก่อตั้งกองเซนเซอร์เพื่อควบคุมครอบงำ ตรวจสอบภาพยนตร์ไม่ให้มีความล่อแหลม สุ่มเสี่ยงต่อพรรคคอมมิวนิสต์ (และสหภาพโซเวียต) นั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนยุคสมัยเลยก็ว่าได้
แน่นอนว่าเนื้อสาระเกี่ยวกับ ‘Sexual Awakening’ ของเด็กสาวอายุ 13 ปี สามารถสื่อถึง ‘Political Awakening’ (หรือ ‘Political Woke’) การตื่นรู้ทางการเมือง หรือก็คือการมาถึงของ Prague Spring (5 มกราคม – 21 สิงหาคม ค.ศ. 1968) ช่วงเวลาสั้นๆที่ได้การเปิดเสรีทางการเมืองในประเทศ Czechoslovak
รับชม Valerie and Her Week of Wonders (1970) ทำให้ผมนึกถึงโคตรหนังอาร์ทญี่ปุ่น House (1977) จริงๆมันก็ไม่ได้ละม้ายคล้ายกันเท่าไหร่หรอก แต่การที่ตัวละครไม่ยี่หร่าต่อสิ่งชั่วร้ายรอบข้าง ล่องลอยราวกับอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน มันช่างโลกสวย เหนือจริง (Surreal) เต็มไปด้วยเรื่องราวสุดมหัศจรรย์! … ไว้ปีหน้าว่าจะกลับไปเขียนถึง J-Horror อีกสักรอบนะครับ
Jaromil Jireš (1935-2001) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Slovak เกิดที่ Bratislava, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือ Slovakia) ก่อนย้ายมาปักหลักอาศัยกับมารดาที่ Prague, ร่ำเรียนการถ่ายภาพและกำกับภาพยนตร์ยัง Film and TV School of the Academy of Performing Arts in Prague (FAMU) เริ่มจากถ่ายทำสารคดีสั้น Fever (1959), หนังสั้น Uncle (1959), Footprints (1960), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Cry (1964) ถูกเลือกให้เป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัย Czechoslovak New Wave [เพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกถ่ายทำในสตูดิโอ Barrandov Studios]
เกร็ด: Czechoslovak New Wave แม้คือการรวมกลุ่มของผู้สร้างภาพยนตร์หัวขบถคล้ายๆแบบ French New Wave แต่ถ้าลงในรายละเอียดจะพบความแตกต่างอยู่มาก นั่นเพราะอิทธิพลรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่คอยควบคุม ครอบงำ เข้ามาแทรกแซงบ่อยครั้ง ไร้อิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงานอย่างประเทศฟากฝั่งประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้จุดโด่นเด่นของ Czechoslovak New Wave มักมีลักษณะตลกร้าย (Dark Humor) บรรยากาศเหนือจริง (Surrealist) เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ซุกซ่อนเร้น ผู้กำกับส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาจาก FAMU และทำงานกับสตูดิโอ Barrandov Studios
ผลงานเด่นๆของกลุ่มเคลื่อนไหว Czechoslovak New Wave ประกอบด้วย Diamonds of the Night (1964), Loves of a Blonde (1965), Intimate Lighting (1965), The Shop On Main Street (1965), Daisies (1966), Closely Watched Trains (1966), The Firemen’s Ball (1967), The Cremator (1969) และ Valerie and Her Week of Wonders (1970)
สำหรับภาพยนตร์ลำดับที่สองของผกก. Jireš คือ The Joke (1969) สร้างขึ้นระหว่าง Prague Spring จัดเต็มการเสียดสีล้อเลียน วิพากย์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์ โชคร้ายออกฉายภายหลังสหภาพโซเวียตบุกรุกรานกลุ่มประเทศ Warsaw Pact เข้าโรงได้ไม่กี่วันก็ถูกแบน เก็บเข้ากรุนานกว่า 20 ปี (ได้ออกฉายอีกครั้งก็เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย)
Valerie a týden divů (เขียนเสร็จเมื่อปี 1935 แต่ได้ตีพิมพ์ ค.ศ. 1945) แปลว่า Valerie and Her Week of Wonders นวนิยายแนว Surrealist แต่งโดย Vítězslav Nezval (1900-58) นักกวี นักเขียนแนว Avant-Garde สมาชิกกลุ่ม Devetsil (แปลว่า Nine Forces) และร่วมก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว Surrealist ในประเทศ Czechoslovakia (เป็นกลุ่ม Surrealist แรกนอกประเทศฝรั่งเศส)
นวนิยายเรื่องนี้ของ Nezval ได้ทำการสำรวจแนวคิด Gothic fiction หรือ Gothic Horror งานเขียนมุ่งเน้นสร้างความหวาดกลัว อ่านแล้วรู้สึกขนหัวลุก และมักมีพื้นหลังยุโรปยุคกลาง (Middle Ages หรือ Medieval period) ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย The Monk (1796), Frankenstein (1818), รวมถึงภาพยนตร์ Nosferatu (1922) [ซึ่งก็ดัดแปลงจากนวนิยาย Dracula (1897)]
I wrote this novel out of a love of the mystique in those ancient tales, superstitions and romances, printed in Gothic script, which used to flit before my eyes and declined to convey to me their content. It strikes me that the poetic art is no more and no less than the repayment of old debts to life and to the mystery of life. Not wishing to lead anyone astray by my “Gothic novel” (least of all those who are afraid to look beyond the boundaries of “the present”), I am appealing to those who, like myself, gladly pause at times over the secrets of certain old courtyards, vaults, summer houses and those mental loops which gyrate around the mysterious. If, with this book, I will have given them an evocation of the rare and tenuous sensations which compelled me to write a story that borders on the ridiculous and trite, I shall be satisfied.
คำปรารถในหนังสือ Valerie and Her Week of Wonders โดย Vítězslav Nezval
ปล. นักวิจารณ์หลายๆสำนัก ให้ข้อสังเกตเรื่องราวสุดมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับ Valerie มีความละม้ายคล้าย Alice in Wonderland
ดั้งเดิมนั้น Valerie and Her Week of Wonders ดัดแปลงบทโดย Ester Krumbachová (1923-96) ให้กับสามีขณะนั้น ผกก. Jan Němec โปรเจคได้รับการอนุมัติปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1968 แต่หลังจากสหภาพโซเวียตบุกรุกรานสู่กลุ่มประเทศ Warsaw Pact ช่วงกลางเดือนสิงหาคม Němec ลักลอบแอบบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว แล้วขนฟุตเทจไปต่างประเทศ ตัดต่อสารคดี Oratorio for Prague (1968) สร้างความไม่พึงพอใจแก่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ เลยถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ปฏิเสธกลับมารับโทษทัณฑ์ เลยจำต้องอพยพหลบลี้ภัย หมดสิทธิ์สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ทันใด!
เอาจริงๆ Jireš ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน เพราะเพิ่งจัดหนักกับ The Joke (1969) เลยถูกหมายหัวจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่เพราะเขาไม่ได้หลบหนีออกนอกประเทศ จึงยังได้รับโอกาสสานต่อโปรเจค Valerie and Her Week of Wonders โดยสิ่งหลักๆที่ทำการปรับเปลี่ยนจากต้นฉบับนวนิยาย อาทิ ลดอายุของ Valerie จากเดิม 17 ปี เหลือเพียง 13 ปี แล้วให้เรื่องราวเริ่มต้นจากการมีประจำเดือนครั้งแรก และสร้างความคลุมเคลือให้เรื่องราวทั้งหมด ว่าบังเกิดขึ้นจริง หรือแค่เพียงภายในจินตนาการเพ้อฝัน
Valerie (รับบทโดย Jaroslava Schallerová) เด็กสาวอายุ 13 ปี อาศัยอยู่กับย่ายังสวย Elsa เมื่อค่ำคืนก่อนถูกโจรบุกเข้ามาลักขโมยต่างหู แต่วันถัดมาก็ได้รับกลับคืน ค้นพบว่าชายหนุ่มคนนั้นคือ Orlík (บางซับไตเติ้ลแปลว่า Eaglet) มีผ้าคลุมล่องหน กำลังหลบซ่อนตัวจากบิดา Constable/Richard ชายสูงวัยสวมหน้ากากปกปิดใบหน้าสุดอัปลักษณ์ อดีตคนรักของย่า Elsa เดินทางมาเรียกร้องทวงคืนกรรมสิทธิ์บ้านหลังนี้ของตนเอง
แท้จริงแล้ว Constable/Richard คือผู้เปลี่ยนรูปร่าง (Shapeshifter) ดั้งเดิมเป็น Polecat ล่วงรู้วิธีการเป็นอมตะด้วยการดื่มเลือดเด็กสาวบริสุทธิ์ ทำการโน้มน้าวอดีตคนรัก Elsa ให้ยินยอมมอบ Valerie ซึ่งก็คือบุตรสาวแท้ๆของตนเอง แต่หลายครั้งถูกขัดขวางโดย Orlík (มีศักดิ์เป็นพี่ชายแท้ๆของ Valerie) จนเกิดเรื่องวุ่นๆวายๆ … มันช่างเป็นเหตุการณ์สัปดล อลม่าน สัปดาห์แรกหลังการมีประจำเดือน ทำให้โลกทัศน์ของ Valerie ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง!
Jaroslava Schallerová (เกิดปี 1956) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, วัยเด็กได้รับการฝึกฝนบัลเล่ต์ เล่นกีฬายิมนาสติก เมื่ออายุ 13 ได้รับเลือกจากนักแสดงกว่า 1,500 คน แจ้งเกิดรับบทนำภาพยนตร์ Valerie and Her Week of Wonders (1970) จากนั้นเวียนวนอยู่ในวงการช่วงทศวรรษ 70s-80s จนพบความอิ่มตัวเลยรีไทร์ออกมาทำธุรกิจ เปิดบริษัทเสริมสวยความงาม
รับบท Valerie เด็กสาววัย 13 ปี ตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก เต็มไปด้วยระริกระรี้ สนอกสนใจเรื่องเพศ สังเกตเห็นทั้งสิ่งสวยๆงามๆ และพฤติกรรมอัปลักษณ์เลวทรามของผู้คนรอบข้าง ต่างพยายามฉกฉวย มองหาโอกาส เพื่อครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกายเธอ แต่โชคยังดีสามารถเอาตัวรอดได้อย่างมหัศจรรย์ทุกครั้งครา
ทั้งใบหน้า ดวงตา ท่าทางแสดงออกของ Schallerová ช่างมีความบริสุทธิ์ เยาว์วัย สวยใส เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น เมื่อเกิดการตื่นรู้ทางเพศ บางครั้งตื่นเต้น บางครั้งหวาดกลัว แต่เพราะมีต่างหูวิเศษช่วยเหลือเลยสามารถเอาตัวรอดได้ทุกครั้งครา แรกๆทำได้แค่หลบหนี ต่อมาเมื่อเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ จึงสามารถปรับตัว พร้อมเผชิญหน้า และโต้ตอบกลับอย่างสาสม ไม่ตกเป็นเหยื่อของบรรดาสิงสาราสัตว์ เติบใหญ่กลายเป็นสาวแรกรุ่นที่เพรียบพร้อมบริบูรณ์
ต้องชมทีมคัดเลือกนักแสดงที่สามารถค้นพบ Schallerová แม้ไม่มีประสบการณ์ภาพยนตร์ แต่สามารถแบกหนังทั้งเรื่อง ผู้ชมใจจดใจจ่ออยู่กับความน่ารัก สดใส ดอกไม้แรกแย้ม ผลิบาน ความงดงามอันบริสุทธิ์ เกิดความรักใคร่เอ็นดู ทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม อยากครอบครองเป็นเจ้าของ … ผมไม่ค่อยแน่ใจมุมมองสตรีเพศกับตัวละครนี้จะแตกต่างออกไปแค่ไหน แต่สำหรับบุรุษย่อมรู้สึกชุ่มชื่นหฤทัย ปลุกตื่นบางสิ่งอย่างภายใน
แซว: ทั้งที่มารดาของ Schallerová อยู่ในกองถ่ายร่วมกับบุตรสาวแทบตลอดเวลา แต่เธอก็ตกหลุมรักและได้แต่งงานกับ Petr Kopřiva นักแสดงรับบท Orlík
ถ่ายภาพโดย Jan Čuřík (1924-96) ตากล้องสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, โตขึ้นทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง Krátký film Praha, ช่วงระหว่างอาสาสมัครทหาร มีโอกาสถ่ายทำหนังสั้น/สารคดีให้กับ Czechoslovak Army Film, ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Suburban Romance (1958), The White Dove (1960), Something Different (1963), The Joke (1969), Valerie and her Week of Wonders (1970), Lovers in the Year One (1973), Love Between the Raindrops (1979) ฯ
งานภาพของหนังมีความฟุ้งๆ สว่างสดใส ใช้โทนขาวเป็นหลัก เพื่อแทนความบริสุทธิ์ อ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาของเด็กสาว นั่นทำให้เมื่อไหร่ปกคลุมด้วยความดำมืด (หรือโทนสีเข้มๆ) ย่อมสามารถสื่อถึงสิ่งชั่วร้าย อันตราย ความตายอย่างตรงไปตรงมา … หนังแทบจะไม่มีเฉดสีอื่นนอกจากขาว-เทา-ดำ นั่นทำให้เมื่อปรากฎรอยเลือดประจำเดือน หรือเปลวไฟสีแดง มันจึงมีความโดดเด่นชัดขึ้นมา
บ่อยครั้งที่พบเห็นมุมกล้องแปลกๆ มักแทนสายตา (มุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ของเด็กสาว Velerie กำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น ถ้ำแอบมอง (voyeur) ลอดผ่านรูเล็กๆ แต่หลายๆครั้งผมแอบรู้สึกเหมือน ‘male gaze’ เต็มไปด้วยภาพวับๆแวมๆ เสื้อผ้าน้อยชิ้น จับจ้องมองเรือนร่างหญิงสาว … นักวิจารณ์หลายคนเลยตีตราภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะเหมือน ‘soft porn’ หยอกเย้า ปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศบุรุษ
หนังปักหลักถ่ายทำอยู่ยัง Slavonice เมืองเล็กๆในจังหวัด Jindřichův Hradec แคว้นทางตอนใต้ South Bohemian มีประชากรอาศัยเพียงสองพันคนเท่านั้น (แทบจะไม่เพิ่มไม่ลดจากทศวรรษ 60s-70s) เพราะถือเป็นเมืองเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12th ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 16th กลายเป็นเมืองทางผ่านระหว่าง Pargue และ Vienna สร้างความเจริญ มั่งคั่ง จึงเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรม Renaissance และสามารถเอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการยกธงขาวให้กับ Nazi Germany เมืองแห่งนี้เลยไม่ถูกโจมตี อยู่รอดปลอดภัยจนถึงปัจจุบัน
Valerie กำลังนอนหลับฝัน โดยไม่รู้ตัวถูกโจรเข้ามาลักขโมยต่างหู ก่อนนำมาส่งคืนวันถัดไป, เหตุการณ์อารัมบทนี้เป็นการบอกใบ้เรื่องราวทั้งหมด ใครต่อใครที่เด็กสาวกำลังจะได้ประสบพบเจอ ต่างมีความต้องการที่จะครอบครอง เป็นเจ้าของ เอาบางสิ่งอย่างไปจากเธอ
ต่างหู มรดกได้รับจากมารดา (ของขวัญจากบิดา) เหมือนว่ามีพลังวิเศษ เวทย์มนต์คาถา เครื่องรางของขลัง ที่จะช่วยเหลือ ปกป้อง Valerie ให้สามารถเอาตัวรอดพ้นจากสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ, ขณะเดียวกันเราสามารถในเชิงสัญลักษณ์ ถึงสิ่งช่วยสร้างความตระหนักกับเด็กสาว ไม่ให้นำพาตนเองตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้น

เมื่อรับรู้ตัวว่าต่างหูถูกขโมย Valerie ระหว่างกำลังออกค้นหา จู่ๆครุ่นคิดว่าพบเจอชายแปลกหน้าสวมใส่หน้ากาก (จริงๆน่าจะครุ่นคิดชายคนนี้คือโจร) แต่แท้จริงแล้วเป็นเจ้า Polecat สัตว์ในเทพนิยาย Czech folklore ที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ดั่งใจ (Shapeshifter) สร้างความตกอกตกใจ เข้าใจผิด จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล … ล้อกับช่วงท้ายของหนังที่เมื่อชายคนหนึ่งยิงเจ้า Polecat มีการแทรกภาพชายคนนี้ล้มลงสิ้นลมหายใจ
เหตุผลที่ Orlík ลักขโมยต่างหูของ Valerie เพราะได้รับมอบหมายจากลุง/บิดา Constable/Richard (ชายหน้าตาอัปลักษณ์สวมหน้ากากคนนี้นี่แหละ) เป็นสิ่งอันตรายสำหรับ Polecat และแวมไพร์ (มีพลังเหมือนไม้กางเขนขับไล่สิ่งชั่วร้าย กระมัง) แต่ชายหนุ่มกลับแสร้งว่าทำหายแล้วส่งคือเด็กสาว บอกให้นำติดตัวตลอดเวลา จะสามารถช่วยปกป้อง คุ้มครอง กันภยันตรายที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต


ตอนรับชมผมไม่รู้หรอกว่าเลือดหยดลงดอก Daisies หมายถึงอะไร? แต่พออ่านบทความวิจารณ์จากหลายๆสำนักก็ค่อยตระหนักว่ามันคือเลือดประจำเดือนของ Valerie นี่ไม่ได้แฝงนัยยะ deflower หรือ defloration แต่เป็นสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ (purity) ไร้เดียงสา (innocence) รวมถึงการเริ่มต้นใหม่ (new beginnings) ด้วยความร่าเริง (cheerful) สนุกสนาน (joyful)

ค่ำคืนนั้นเมื่อ Valerie กลับมาถึงห้องนอน (ทุกสิ่งอย่างมีความขาว สะอาด บริสุทธิ์) ทิ้งตัวลงบนเตียงด้วยท่วงท่าทารกน้อยในครรภ์ (นอนหันข้าง งอมืองอเท้า) ต่อจากนั้นยกมือซ้าย บิดลำตัว แล้ววางด้านข้าง นี่แสดงถึงความเติบโต กลายเป็นสาว พร้อมแล้วที่จะอ้าแขนเปิดรับ เรียนรู้จักโลกกว้าง
หลายคนอาจตีความว่าเรื่องราวหลังจากนี้ (จนกระทั่งตื่นขึ้นมาช่วงท้าย) ทั้งหมดเกิดขึ้นในจินตนาการ ความเพ้อฝันของเด็กสาว มันจึงมีเหตุการณ์สุดมหัศจรรย์ เหนือจริง เกี่ยวกับแวมไพร์ ตายแล้วฟื้น ล่าแม่มด ฯ ก็แล้วแต่ผู้ชมจะทำความเข้าใจด้วยตนเองนะครับ


ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนไหน เมื่อไหร่ หรือในความเพ้อฝันของ Valerie แอบจับจ้องมองสาวๆ/กินรีกำลังเล่นน้ำ (แต่มุมกล้องดูมีลักษณะของ ‘male gaze’ ให้ความสนใจเรือนร่างหญิงสาว) นำปลามายัดใส่เสื้อผ้าบางๆ สร้างความระริกระรี้ กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ … ลุงบุญมีระลึกเรื่องเจ้าหญิงกับปลาดุก!
นัยยะของซีเควนซ์นี้ คือความอยากรู้อยากเห็นของเด็กสาวแรกรุ่น อยากรับรู้ว่าพวกผู้ใหญ่เขาทำอะไรกันสนุกสนาน เธออาจยังไม่เข้าใจสักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงจินตนาการได้อยู่แล้วว่าจะบังเกิดอารมณ์อะไร
แซว: นี่เป็นซีเควนซ์ที่โดนโจมตีเรื่องใช้ความรุนแรงกับสัตว์ (animal cruelty) เอิ่ม???


แทนที่หนังจะเลือกนักแสดงอาวุโส หรือแต่งหน้าตัวละครให้ดูแก่ชราภาพ คุณย่า Elsa (รับบทโดย Helena Anýžová) เพียงโบ๊ะหน้าให้ขาวโพลน ซีดเผือก เหมือนซอมบี้/แวมไพร์ นี่แสดงถึงความผิดปกติบางอย่าง ดูมีลับเล่ห์ลมคมใน คำพูดฟังแล้วเชื่อถือไม่น่าจะได้ สร้างความหวาบหวิว สั่นสยิวกายให้กับผู้ชมได้อย่างน่าสนใจ

เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นขบวนพาเรดงานแต่งงาน เข้ามาสู่ขอเพื่อนสาวข้างบ้าน Hedvika แต่สังเกตจากปฏิกิริยาสีหน้าของเธอ ดูไม่มีความสุข อมทุกข์ทรมาน นั่นน่าจะเพราะนี่คือการคลุมถุงชน กับชายสูงวัยที่ไม่ได้ตกหลุมรัก ก็เท่ากับกำลังจะสูญเสียอิสรภาพชีวิต … ทั้งๆงานแต่งงานควรเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่สีหน้าหญิงสาวกลับอมทุกข์ นี่สะท้อนเข้ากับบรรยากาศของหนังที่มีความสว่างสดใส ใครต่อใครแสดงออกด้วยอัธยาศัยดีงาม แท้จริงแล้วกลับซุกซ่อนเร้นสิ่งชั่วร้าย อันตราย สนเพียงแต่จะครอบครองเป็นเจ้าของ
ดอกเดซี่ในมือของ Hedvika ทำให้ Valerie เกิดความตระหนักถึงตัวเธอเองว่าไม่ได้มีความแตกต่างกัน สักวันอาจถูกจับคลุมถุงชนแต่งงาน สูญเสียความบริสุทธิ์ให้กับคนที่ไม่ได้ตกหลุมรัก

ท่ามกลางฝูงชนในขบวนพาเรด Valerie ได้พบเห็นชายสวมหน้ากาก จากเคยมีใบหน้าอัปลักษณ์ Constable จู่ๆเปลี่ยนเป็นบุรุษรูปงาม Richard (ต่างรับบทโดย Jiří Prýmek) นี่เป็นการบอกใบ้อย่างตรงไปตรงมาว่าทั้งสองคือบุคคลเดียวกัน เป็นทั้งปู่และบิดาของเด็กสาว รวมถึงแวมไพร์และ Polecat นี่อาจสร้างความสับสนระหว่างการชมครั้งแรกๆ แต่ถ้าดูจบแล้วก็อาจตระหนักว่าหนังพยายามเลือนลาง ผสมผสานทุกสรรพสิ่งเข้าด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์


ทีแรกผมก็สงสัยว่าชายคนนี้คือใคร มีการเปิดหมวกทักทาย น่าจะเป็นบุคคลสำคัญกระมัง? ก่อนค้นพบว่าคือ Robert Nezval บุตรชายของผู้แต่งนวนิยาย Vítězslav Nezval (บิดาเสียชีวิตไปแล้ว ก็เลยมาปรากฎตัวแทน)

ระหว่างทางที่คณะบาทหลวง แม่ชี (และ Valerie) เดินผ่านท้องทุ่งตรงไปยังโบสถ์ในเมือง Kostelní Vydří ระหว่างทางมีหญิงสาวคนหนึ่งนอนอยู่บนต้นไม้ ถ่ายกลับหัว ท่าทางเหมือนถูกกระตุ้นด้วยยาปลุกเซ็กส์ (Aphrodisiac) มันช่างเป็นภาพบาดตาบาดใจ บางคนแสดงสีหน้าขยะแขยง ยินยอมรับไม่ได้ … แต่นัยยะการนำเสนอคู่ขนานนี้ บอกใบ้ถึงตัวตนแท้จริงของบาทหลวง Gracián ที่แอบสานสัมพันธ์ย่า Elas และยังพยายามจะข่มขืน Valerie ใครกันแน่ที่เหี้ยมโหดโฉดชั่วร้ายกว่า? (ระหว่างบุคคลเปิดเผยความต้องการทางเพศออกมาตรงๆ vs. บุคคลอ้างว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ลับหลับกลับหมกมุ่นมักมากในกามคุณ)


โดยปกติแล้วบุคคลที่ทำการเทศนาสั่งสอนในโบสถ์ ควรจะเป็นบาทหลวงสวมชุดขาว แต่ชายคนนี้ Constable กลับโบ๊ะหน้าดำ สวมชุดคลุมดูราวกับซาตาน นี่ไม่ใช่การ Blackwashing ต้องการสื่อถึงสิ่งชั่วร้ายที่ซุกซ่อนเร้น บุคคลอ้างว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม (สวมถุงมือสีขาวด้วยนะ) แต่ลับหลับกลับทำตัวสกปรกโสมม หมกมุ่นมักมากในกามคุณ
เช่นเดียวกับบรรดานักบวช แม่ชีฝึกหัดทั้งหลาย ก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยผู้เข้าร่วมมากมายรายล้อมรอบ Valerie แล้วจู่ๆหนังตัดภาพหลงเหลือเพียงเธอคนเดียว ท่ามกลางเชิงเทียน ดอกไม้ทิ้งๆขว้างๆ ช่างเป็นความโดดเดี่ยวลำพัง ไม่มีใครข้างกายที่จิตใจบริสุทธิ์ขาวสะอาด ต่างมีสิ่งชั่วร้ายปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ด้วยกันทั้งนั้น!


Rosemary พืชสมุนไพรในวงศ์กะเพรา ถือเป็นพืชพื้นเมืองแถม Mediterranean ใบมีรูปร่างคล้ายเข็ม มีประโยชน์และสรรพคุณมากมาย สามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก มึนเมา วิงเวียน แก้ปวดศีรษะ ดับกลิ่นคาวปลา เพิ่มความหอมอาหาร ฯ ขณะที่ความหมายเชิงสัญลักษณ์คือ ความจงรักภักดี (fidelity), การรำลึกถึง (remembrance) มักถูกนำมาใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสเตียน อาทิ งานแต่งงาน และงานศพ
ไม่ใช่แค่ Orlík ที่คอยช่วยเหลือ Valerie แต่หลายๆครั้งที่เขาถูกลุง/บิดา Constable ลงโทษทัณฑ์ด้วยการล่ามโซ่ ปล่อยให้จมน้ำ โชคดีได้เธอมาช่วยเหลือไว้ได้ทัน เหมือนเป็นการตอบแทนความปรารถนาดี นั่นทำให้พวกเขาสนิทสนม ตกหลุมรัก ชายหนุ่มในความฝันของเด็กสาว

เมื่อตอนต้นเรื่องพบเห็นสาวๆ/กินรีเล่นน้ำ มาคราวนี้เปลี่ยนเป็นบุรุษถอดเสื้อเปลือยอก ใช้แส่เฆี่ยนตี ตรงเข้ามาจะทำร้ายร่างกาย Orlík ทำไปเพื่ออะไรกัน?
สำหรับชาวคริสต์ (บางลัทธิ) มีความเชื่อเรื่องการลงโทษ ทรมานตัวเอง ด้วยการใช้แส่เฆี่ยนตีแผ่นหลังให้เลือดไหล ได้รับความเจ็บปวด โดยถือเป็นการอุทิศตนรูปแบบหนึ่ง เพื่อรำลึกถึง Jesus Christ (ที่เคยถูกทรมานก่อนการตรึงกางเขน) จะช่วยไถ่บาป รักษาอาการป่วย รวมถึงทำให้ความต้องการสมปรารถนา
ในบริบทของหนัง ชายฉกรรจ์เหล่านี้เหมือนถูกปีศาจร้ายเข้าสิง (จะมองว่าเป็นฝีมือของ Constable ก็ได้กระมัง) จู่ๆตรงเข้าหา Orlík เพื่อทำการลงโทษ ทัณฑ์ทรมานที่เคยขัดขืนคำสั่ง จนกระทั่งสามารถหลบหนีเข้าบ้าน พวกเขาเลยยินยอมจากไปโดยดี (อย่างงงๆ)

ฉากที่ผมรู้สึกน่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุดของหนัง ระหว่างทางกลับบ้าน Constable เข้ามาโอบกอด Valerie ให้อยู่ภายในอ้อมอก แต่แทนที่เธอจะดิ้นรนขัดขืน กลับเพิกเฉยเพราะยังอ่อนวัย ไร้เดียงสา ไม่รับรู้ว่าอีกฝ่ายมาดีหรือมาร้าย (อาจเพราะเคยเห็นเทศนาในโบสถ์ จึงไม่คิดว่าจะมาร้าย)
แค่นั้นยังไม่จบ Constable ยังนำพามายังห้องลับใต้ดิน สถานที่เปล่าเปลี่ยว มืดมิด วังเวง เต็มไปด้วยหยากไย่ เมื่อผู้ชมพบเห็นย่อมรู้สึกสั่นไหว สัมผัสถึงอันตราย ทำไมเด็กสาวถึงยังไม่รับรู้ตัวอีกว่าถูกล่อหลอก หมอนี่ต้องวางแผนกระทำบางสิ่งชั่วร้ายอย่างแน่นอน!


นี่เป็นอีกครั้งที่หลายคน(รวมถึงผมเอง)ตกอยู่ในความสิ้นหวัง Valerie ไม่น่าจะสามารถเอาตัวรอดจากบาทหลวง Gracián ดูมีลับลมคมในตั้งแต่ตอนรับประทานอาหาร ค่ำคืนถึงขนาดบุกเข้ามาในห้องเด็กสาว ยามที่ย่า Elsa ไม่อยู่บ้านด้วยนะ! แต่ด้วยความมหัศจรรย์ พิลึกพิลั่น ได้ต่างหูอันนั้นช่วยชีวิตไว้ด้วยการแสร้งตาย/หายตัว (หรืออะไรสักอย่างก็ไม่รู้นะ) สร้างความตกอกตกใจ หมดอารมณ์จะกระทำการใดๆ หลบหนีออกจากห้องหัวซุกหัวซุน เครียดจัดจนครุ่นคิดสั้น ผูกคอตายวันถัดมา

ผมครุ่นคิดว่า Valerie น่าจะหายตัวจากห้องนอน แล้วมาตื่นขึ้นยังงานเลี้ยงแต่งงานของ Hedvika หลังจากแขกเหรื่อแยกย้ายกลับบ้านไปหมด พบเห็นเพียงเพื่อนหญิงและสามี (มีการแทรกภาพ Hedvika ในท่วงท่าตรึงกางเขน แฝงนัยยะถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานในการแต่งงานครั้งนี้) ลุกขึ้นมาเต้นรำน้ำตาคลอ ก่อนที่ Constable และย่า Elsa จะเข้ามาโอบกอดในผ้าคลุ้ม (แต่ Hedvika และสามีทำเหมือนจะมองไม่เห็นพวกเขา) เล่นมายากลเล็กน้อยเหมือนเพื่อให้ย่า Elsa เข้าสิงสถิตร่างของ Hedvika (หรือจะมองว่าทำการดูดเลือดบริสุทธิ์ (ก่อนที่ฝ่ายหญิงจะสูญเสียความบริสุทธิ์))
คำอธิบายของผมอาจงงๆ แต่ครุ่นคิดว่าซีเควนซ์นี้สื่อถึงการสูญเสียจิตวิญญาณของ Hedvika ภายหลังการแต่งงาน จำต้องศิโรราบต่อสามีที่ไม่ได้รัก แม้ต่อจากนี้จะมีชีวิตสุขสบาย (เพราะสามีมีฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง) แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอเกิดความสุขสงบขึ้นภายใน



ในขณะที่ย่า Elsa การได้เข้าสิงสถิตหรือดูดเลือดบริสุทธิ์ของ Hedvika ทำให้เธอคงความสวย กลายเป็นสาวแรกรุ่นอีกครั้ง ฉากถัดๆมาปลอมตัวเป็นญาติห่างๆของ Valerie (รับบทโดยนักแสดงคนเดียวกัน Helena Anýžová) สีหน้าท่าทางเต็มไปด้วยลับเลศลมคมใน พยายามต้อนเด็กสาวให้จนมุม พอสบโอกาสระหว่างนอนกลางวัน จึงจับมัดพันธนาการ กักขังอยู่ในโรงนา เฝ้ารอคอยเมื่อถึงเวลาดูดเลือดหลานสาวเมื่อไหร่ ฉักจักได้กลายเป็นอมตะ!
จะว่าไปแวมไพร์ดูดเลือด สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ กว่าจะได้สิ่งนั้นๆมาต้องสูญเสียหยาดเหงื่อ แรงกาย แต่กลับถูกลักขโมย ฉ้อฉล กลโกง เอาไปหมดหมดสิ้นเนื้อประดาตัว

ภาพนี้น่าจะไม่ต้องใช้คำอธิบายมากกระมัง บริเวณอวัยวะเพศของรูปแกะสลักไม้ ทำเป็นช่องสำหรับฝูงผึ้งไว้ใช้เข้า-ออก สร้างรัง ผลิตน้ำหวาน รสชาติหวานฉ่ำ

เอาจริงๆผมไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมย่า Elsa ถึงทำเหมือนทรยศหักหลัง Constable จับมาทัณฑ์ทรมาน ซาดิสต์ เค้นความลับวิธีการเป็นอมตะ? มันไม่ใช่ว่า Constable เปิดเผยวิธีการดื่มเลือดของ Valerie ไปแล้วหรอกหรือ? แต่เอาเป็นว่าซีเควนซ์นี้น่าจะแฝงนัยยะถึงการทรยศหักหลัง ไม่เว้นแม้แต่พวกพ้อง เครือญาติพี่น้อง เชื้อสายเลือดเดียวกันเอง

นี่เป็นครั้งแรกของ Valerie ที่ตัดสินใจไม่วิ่งหลบหนี แต่พร้อมเผชิญหน้าปัญหา ต้องการให้ความช่วยเหลือ Constable/Richard ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของย่า Elsa ด้วยการนำไก่ซื้อมาจากตลาด มาให้ดูดเลือดประทังชีวิต ถึงอย่างนั้นเขากลับยังไม่เพียงพอสักเท่าไหร่ จึงยินยอมให้ดูดเลือดตนเอง ไปๆมาๆอีกฝ่ายพยายามล่วงเกินเลยเถิด (แล้วแต่ผู้ชมจะจินตนาการเอาเองว่าดูดเลือด/ข่มขืน หรือกระทำอะไร) เรียกว่าถูกทรยศหักหลังจากบิดาแท้ๆ โชคยังดีที่เด็กสาวสามารถเอาตัวรอดด้วยการกลืนต่างหู ทำให้จู่ๆเหมือนวิญญาณล่องลอยออกจากร่าง ภาพสโลโมชั่น ก่อนทิ้งตัวลงนอน หมดสิ้นลมหายใจ ใครๆต่างครุ่นคิดว่าคงอัตวินิบาต ฆ่าตัวตาย … เลยนำพามาวางบนโลงศพ ปูพื้นด้วยแอปเปิ้ลเขียว (ผลไม้ต้องห้ามจากสวนอีเดน)
แต่หลังจากบิดาและย่า Elsa ออกจากห้องลับใต้ดินนี้ไป เธอก็ฟื้นคืนชีพพร้อมๆกับบาทหลวง Gracián อย่างน่ามหัศจรรย์ใจ เอาตัวรอดครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้


ค่ำคืนหลับนอนบนเตียงเดียวกันระหว่าง Valerie และ Hedvika พวกเธออาจแค่นอนกลิ้งไปกลิ้งมา หรือล่วงเกินเลยเถิดก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความพิลึกพิลั่น สุดมหัศจรรย์ ทำให้รอยแผลถูกกัดต้นคอของ Hedvika สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย คลายคำสาปแวมไพร์ กลายเป็นหญิงสาวมีความสดใสร่าเริงขึ้นอีกครั้ง
นี่เป็นอีกครั้งที่ Valerie ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ Hedvika เป็นที่พึ่งพักพิงทาง(กาย)ใจ ในตอนแรกคงไม่รับรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อมั่นว่ามันต้องทำให้เพื่อนข้างบ้านพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้!

แม้สามารถฟื้นคืนชีพจากความตาย บาทหลวง Gracián กลับไม่รู้สึกสาสำนึกประการไหน หนำซ้ำยังตีตรา Valerie ว่าเป็นนางแม่มด ล้อมจับกุมตัว มาจุดไฟเผามอดไหม้ แต่ด้วยความมหัศจรรย์ของต่างหูวิเศษ ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นทำให้เธอเอาตัวรอดชีวิตมาได้
เราสามารถตีความแม่มด (Witch) ในเชิงสัญลักษณ์ของพฤติกรรมนอกคอก หัวขบถ กระทำสิ่งต่อต้านขนบกฎกรอบสังคม ซึ่งนั้นเป็นสิ่งสังคมยุคก่อนที่ชายเป็นใหญ่ไม่ให้การยินยอมรับ พยายามจำกัดสิทธิ เสรีภาพสตรี จึงใช้วิธีการอันชั่วร้ายเพื่อกำจัดภัยคุกคาม สรรหาข้ออ้างอิงศาสนา ปลูกสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความหวาดกลัวให้ประชาชน

เมื่อครุ่นคิดว่าสามารถกำจัดภัยพาล Constable และย่า Elsa จึงทำการปลดปล่อยอิสรภาพ ปรับเปลี่ยนห้องลับใต้ดินให้กลายเป็นซ่องโสเภณี จัดงานเลี้ยงปาร์ตี้สังสรรค์เฮฮา ต่อจากนี้พวกเขากำลังจะมีชีวิตอมตะ ยืนยาว ไม่ต้องหวาดกลัวเกรงสิ่งใด … แต่โดยไม่รู้ตัว Valerie ได้ทำการโต้ตอบกลับ จากมุมกล้องเงยขึ้นเห็นเพดาน กลับกลายร่างเป็น Polecat ถ่ายมุมก้มต่ำลง ย่ำเหยียด สูญเสียทุกสิ่งอย่าง


หลังจากจัดการปัญหาของ Constable ค่ำคืนนี้ Valerie ทำการถอดเสื้อผ้า ทิ้งตัวลงนอนบนเตียง หลายคนอาจตีความควบคู่กับช็อตถัดมา หญิงสาวคนหนึ่งนอนอยู่บนต้นไม้ (ที่เคยพบเห็นก่อนหน้านี้) ถ่ายกลับหัว ท่าทางเหมือนถูกกระตุ้นด้วยยาปลุกเซ็กส์ (Aphrodisiac) … หลายคนตีความช็อตนี้ Valerie กำลังช่วยตนเอง (Masturbation) บังเกิดอารมณ์ทางเพศ เข้าใจความรู้สึกแตกเนื้อสาว
ขณะเดียวกันนี่อาจคือจุดจบความฝันของ Valerie กำลังจะตื่นขึ้นหลังจากหมดประจำเดือนครั้งแรก (ถือว่าเติบโตเป็นสาวเต็มตัว) เรื่องราวหลังจากนี้คือเช้าวันใหม่ ที่ราวกับว่าไม่เคยมีเหตุการณ์ใดๆบังเกิดขึ้น ใครต่อใครล้วนไม่สามารถจดจำเรื่องหลายวันก่อนได้ทั้งนั้น … นี่เป็นแนวคิดที่ผมมองว่าเข้าใจง่ายสุดแล้ว บางคนอาจตีความถึงพลังวิเศษต่างหูได้ทำการลบล้างเหตุการณ์บังเกิดขึ้นทั้งหมด เรื่องราวต่อจากนี้คืออีกโลกคู่ขนาน (ผมว่ามันซับซ้อนไปนะ แต่ก็แล้วแต่จะสามารถขบครุ่นคิดจินตนาการ)


ซีเควนซ์ต่อจากนี้จะเป็นการย้อนรอยกับตอนต้นเรื่อง เริ่มจาก Valerie กำลังจะรับประทานอาหารเช้ากับย่า Elsa สังเกตว่าทั้งสองสวมใส่เสื้อผ้าสีตรงกันข้าม (ภาพซ้ายคือตอนต้นเรื่อง | ภาพขวาคือขณะปัจจุบันนี้) แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งอย่างกำลังกลับตารปัตร แตกต่างจากที่เคยรับชมมา
ไม่ใช่แค่ระหว่างรับประทานอาหารเช้า ขบวนพาเรดแต่งงานที่เคยแห่มาสู่ขอ Hedvika กลับหลงเพียงชายหนุ่มนักแสดงที่ชื่อ Orlík กำลังจะมาพร้อมเซอร์ไพรส์ให้กับ Valerie (ตอนต้นเรื่อง Valerie อ่านจดหมายของ Orlík มาขณะนี้ก็กลับตารปัตรเช่นเดียวกัน)


แบบเดียวกับตอนต้นเรื่องที่ Valerie สะดุ้งตกใจเพราะครุ่นคิดว่า Polecat คือปีศาจร้าย/ชายหน้าตาอัปลักษณ์ Constable, ขณะนี้นักล่าคนหนึ่งต้องการแยกเจ้า Polecat กำลังต่อสู้กับไก่ จึงใช้ปืนยิงมันจนเสียชีวิต (Valerie จินตนาการภาพชายแปลกหน้าชุดดำ ทรุดล้มลงสิ้นใจ)


นี่คือภาพที่ล้อกับเลือดหยดลงดอกเดซี่ (ที่หมายถึงประจำเดือนหญิงสาว) ผมขอไม่วิเคราะห์ เพราะอย่างให้ลองจินตนาการเองว่าผึ้งตอมดอกไม้ น้ำใสๆไหลพุ่งขึ้นมา มันจะแฝงนัยยะ 18+ หลังการมีประจำเดือนเช่นไร??

ตอนต้นเรื่องบิดา-มารดาของ Valerie ในคราบของ Constable/Richard มาด้วยความอัปลักษณ์ ฉ้อฉล เต็มไปด้วยเล่ห์กล พร้อมทรยศหักหลัง กระทำสิ่งโฉดชั่วร้าย เพื่อครอบครองเป็นเจ้าของบุตรสาวตนเอง! แต่ตอนท้ายของหนังนี้กลับมาอย่างหลอเหลา ตลบอบอวลด้วยความรัก ความเอ็นดู … แต่จะว่าไปมันก็ดูปลอมๆ กอดจูบอย่างเร่าร้อน เหมือนมีลับลมคมในอะไรหรือเปล่า?


ความสัปดลอลเวงของหนังทั้งเรื่อง ก็ผันแปรเปลี่ยนมาเป็นความสนุกสนาน เฮฮาปาร์ตี้ ทุกตัวละครต่างล้อมวงกันเข้ามา เริงระบำรายรอบเตียงนอนของ Valerie และเมื่อเธอทิ้งตัวลงนอน ณ จุดศูนย์กลาง ทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้างก็พลันสูญหายไปอย่างไร้ร่องลอย
แวบแรกที่ผมเห็นซีเควนซ์นี้นึกถึงตอนจบโคตรภาพยนตร์ 8½ (1963) ขึ้นมาโดยพลัน แต่มันก็คนละนัยยะกันโดยสิ้นเชิง! ผมมองการเริงระบำรอบเตียงนอน Valerie สื่อถึงการที่เธอจากเคยไม่รับรู้เดียงสา สามารถเรียนรู้ เข้าใจสารพัดปัญหา พร้อมเผชิญหน้า ต่อสู้กับความชั่วร้ายบนโลกใบนี้ สามารถให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่น กลายมาเป็นศูนย์กลางผู้คน/จักรวาล โลกหมุนรอบตัวฉัน (สังเกตว่ามีการสลับชุดขาว-ดำ โลกใบนี้มีทั้งสิ่งดีๆและโฉดชั่วร้าย)
แต่ทุกสิ่งอย่างยังแค่ในจินตนาการเพ้อฝันของเด็กสาว หลังจากนี้ต่างหากเมื่อถูกปลุกตื่น กลับคืนสู่โลกความจริง ทุกสิ่งอย่างจึงจักเริ่มนับหนึ่ง ทุกคนรอบข้างจึงสูญหายตัวไปในช็อตสุดท้ายของหนัง


ตัดต่อโดย Josef Valušiak, หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Valerie (บางครั้งก็เป็นการแอบถ้ำมอง) ช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ได้พบเห็นทั้งสิ่งงดงาม และพฤติกรรมอัปลักษณ์เลวทรามของผู้คนรอบข้าง ช่วงแรกๆทำได้แค่วิ่งหลบหนี แต่หลังจากค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว จนสามารถเผชิญหน้า แก้ไขปัญหา โต้ตอบกลับ ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ เติบใหญ่กลายเป็นสาวแรกรุ่นที่เพรียบพร้อมบริบูรณ์
- อารัมบท,
- Valerie ถูกลักขโมยต่างหู แล้วโจรนำกลับคืนวันถัดมา
- หลังจากเลือดประจำเดือนหยดลงดอก Daisies นอนหลับฝันถึงกินรีเล่นน้ำ (จะมองว่าเหตุการณ์หลังจากนี้เกิดขึ้นในความฝันของ Valerie ทั้งหมดเลยก็ยังได้)
- โลกใบใหม่ของ Valerie
- ระหว่างรับประทานอาหารเช้ากับย่า Elsa ด้านนอกพบเห็นขบวนพาเรดงานแต่งงานของเพื่อนบ้าน Hedvika และชายหน้าตาอัปลักษณ์ปกปิดบังด้วยหน้ากาก Constable เงยหน้าขึ้นมาสบตา
- Valerie เดินทางมาเข้าร่วมพิธีแต่งงานในโบสถ์ รับฟังคำเทศนาจาก Constable
- ระหว่างทางกลับบ้าน Valerie ถูก Constable ลากพามายังห้องลับใต้ดิน พบเห็นภาพบาดตาบาดใจของย่า Elsa ก่อนได้รับการช่วยเหลือจาก Orlík
- Valerie และ Orlík ระหว่างหลบซ่อนตัวในโรงนา พบเห็น Constable มาเยี่ยมเยือนย่า Elas ทำการโอบกอด ดูดเลือด โน้มน้าวให้เธอส่งมอบกรรมสิทธิ์บ้านหลังนี้คืนแก่ตน
- บาทหลวง Gracián พยายามล่อลวง ต้องการจะข่มขืน Valerie โชคดีได้ต่างหูช่วยชีวิตไว้
- ค่ำคืนแต่งงานของ Hedvika เต็มไปด้วยเหตุการณ์คาดไม่ถึง
- ความลึกลับที่ค่อยๆได้รับการเปิดเผย
- เช้าวันต่อมา Valerie ให้ความช่วยเหลือ Orlík ที่ถูกจับถ่วงน้ำ มีการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี พบเห็นศพของ บาทหลวง Gracián แขวนคอฆ่าตัวตาย
- ย่า Elsa แม้พบเห็นนอนอยู่ในโลงศพ แต่กลับปลอมตัวเป็นญาติของ Valerie เข้าพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้
- ย่ายังยาว Elsa ทำการลักพาตัว Valerie ตื่นขึ้นมา แอบพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ ก่อนได้รับการช่วยเหลือจาก Orlík อีกเช่นเคย
- Valerie ให้ความช่วยเหลือ Constable (ที่ถูกย่า Elsa จับกุมตัว) ทำให้ได้รับรู้ความจริงเกี่ยวกับ Orlík เลยแสร้งทำเป็นตาย
- Valerie และบาทหลวง Gracián ฟื้นคืนชีพจากโลงศพ
- การโต้ตอบกลับของ Valerie
- Valerie หลับนอนกับ Hedvika ทำให้อีกฝ่ายคลายคำสาปแวมไพร์
- บาทหลวง Gracián ป่าวประกาศตีตรา Valerie ว่าคือนางแม่มด จับเผาไหม้ แต่เธอกลับไม่เป็นอะไร
- Valerie แอบเข้าไปในห้องลับใต้ดินซึ่งแปรสภาพกลายเป็นซ่องโสเภณีของ Constable ลอบใส่ต่างหูในเครื่องดื่ม ทำให้อีกฝ่ายกลายร่างกลับเป็น Polecat
- ค่ำคืน Valerie นอนเปลือยกายบนเตียง
- ฤาว่าทุกสิ่งอย่างคือความเพ้อฝัน (ราวกับไม่เคยมีเหตุการใดๆบังเกิดขึ้น)
- เช้าตื่นขึ้นมา Valerie รับประทานอาหารกับย่า Elsa ก่อนพบเห็น Orlík คือนักแสดงละครเวที
- Polecat ถูกฆ่าเสียชีวิต นั่นทำให้ Valerie จินตนาการ/ครุ่นคิดถึง Constable
- ย่า Elsa ล้มป่วยติดเตียง รำพันถึงคนรักและบุตร (บิดา-มารดาของ Valerie)
- บิดา-มารดาของ Valerie เดินทางกลับมาหา
- งานเลี้ยงสังสรรค์เฮฮา ห้อมล้อมรอบเตียง Valerie ปลุกตื่นขึ้นจากความฝัน
แม้ทิศทางดำเนินเรื่องจะเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ แต่ความดูยากของหนังเกิดจากการไม่รับรู้วันคืน เรื่องราวมีการผันแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวตาย-เดี๋ยวฟื้น กระโดดไป-กระโดดมา (แต่กระโดดไปข้างหน้าทั้งหมดนะครับ) ราวกับกำลังล่องลอยอยู่ในความเพ้อฝัน ทุกสิ่งอย่างช่างดูเหนือจริงยิ่งนัก!
เพลงประกอบโดย Luboš Fišer (1935-99) คีตกวีสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, ร่ำเรียนการแต่งเพลงจาก Prague Conservatory ต่อด้วยสถาบัน Academy of Performing Arts in Prague (AMU) มีผลงานออร์เคสตรา, Concerto, Sonata, Chamber Music, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Valerie and Her Week of Wonders (1970), Morgiana (1972) ฯ
งานเพลงของหนังมีคำเรียก Psychedelic folk คือส่วนผสมระหว่าง(เครื่อง)ดนตรีพื้นบ้าน Folksong กลิ่นอายยุโรปยุคกลาง (Medieval Period) ผสมผสานเข้ากับสไตล์เพลง Psychedelic ราวกับคนเสพยา มึนเมา พบเห็นภาพหลอน ล่องลอยอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน … เป็นสองสไตล์เพลงที่ดูไม่น่าจะเข้ากัน แต่โคตรลงตัวกลมกล่อมกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างน่าอัศจรรย์
บทเพลง The Magic Yard มอบสัมผัสราวกับต้องมนต์ (เสียงคอรัส)เด็กสาวดูกระตือรือร้น พร้อมค้นหาตัวตน เปิดโลกทัศน์ เรียนรู้จักสิ่งใหม่ๆ พบเห็นทั้งความงดงาม-อัปลักษณ์เลวทราม สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก ชีวิตเต็มไปด้วยความอลเวง แต่ไม่เคยปิดกั้นตนเอง สามารถปรับตัว เผชิญหน้า แก้ปัญหา ฟันฝ่าทุกอุปสรรคขวากหนาม
ผมรับชมภาพยนตร์จาก Czechoskovakia มาหลายต่อหลายเรื่อง แต่น้อยนักจะได้ยินบทเพลงพื้นบ้าน/ยุโรปกลาง ท่วงทำนองสนุกสนาน ฟังเพลิดเพลิน ผ่อนคลายกังวล และมีความมักคุ้นหูยังไงชอบกล ยกตัวอย่าง Talk With Grandmother พอได้ยินเสียงไซโลโฟน นึกว่ากำลังกล่อมเด็กเข้านอน แสดงถึงวัยวุฒิ และช่วงเวลาสุดพิเศษของ Valerie ในชั่วโมงต้องมนต์ (วง Friday)
ช่วงแรกๆยังไม่รับรู้ว่า Orlík คือพี่ชายแท้ๆของ Valerie การได้อยู่เคียงชิดใกล้ มันช่างมีความปลอดภัย สุขหฤทัย แม้ตอนนี้พวกเขายังเด็กนัก อนาคตก็อาจพัฒนากลายเป็นความรัก แต่พอความจริงได้รับการเปิดเผย บทเพลง Brothaer and Sister เลยฟังดูเศร้าๆ เหงาๆ แทนความรู้สึกผิดหวังในใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว
หลายต่อหลายครั้งที่ Valerie ตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เสี่ยงจะสูญเสียความบริสุทธิ์ทางกาย เพลงประกอบเน้นสร้างบรรยากาศเย็นๆ สั่นสยิวผิวกาย แต่ไม่เคยถึงขั้นตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย เพราะเด็กสาวสามารถเอาตัวรอดได้ทุกวิกฤตการ สิ่งเลวร้ายเหล่านั้นไม่ต่างจากสายลม เคลื่อนผ่านมาแล้วก็พัดผ่านไป
ผมพยายามนั่งฟังซ้ำๆอยู่หลายรอบ เพราะรู้สึกมักคุ้นท่วงทำนอง/คำร้องเสียเหลือเกิน (ถึงคำร้องภาษา Czech แต่ก็มีความมักคุ้นเสียเหลือเกิน) ก่อนมาระลึกได้ว่ามาจากบทเพลงระหว่างทำพิธีมิสซา มิน่าฟังแล้วสัมผัสถึงความศักดิ์สิทธิ์ ราวกับต้องมนต์ขลัง และสำหรับบทเพลงสุดท้าย And the Last เปรียบดั่งงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ก่อนร่ำลา ปลุกตื่นขึ้นจากความเพ้อฝัน ทุกคนล้อมวงเข้ามาอำนวยอวยพรให้ Valerie ประสบโชคดีมีชัย เติบใหญ่เป็นสาวแรกรุ่นที่เพรียบพร้อมบริบูรณ์
Valerie and Her Week of Wonders นำเสนอเรื่องราวของเด็กหญิง ในวันที่ร่างกายมีประจำเดือนครั้งแรก ย่อมถือว่าถึงวัยเจริญพันธุ์ (พร้อมที่จะสืบพันธุ์) เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงได้เวลาเรียนรู้จักโลกกว้าง ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง พบเห็นทั้งความงดงาม และพฤติกรรมอัปลักษณ์เลวทรามของผู้คนในสังคม
แทบทุกตัวละคร(ทั้งชาย-หญิง)ที่ Valerie ได้พบเจอ(ในความฝัน) ล้วนแล้วแต่มีความสนอกสนใจในความบริสุทธิ์ นงเยาว์ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ทั้งเรือนร่างกายและจิตวิญญาณ
- ย่า Elsa แม้อาศัยอยู่ร่วมกันมานาน แต่แท้จริงคือแวมไพร์ดูดเลือด โหยหาความสวยสาว (eternal youth) และครอบครองรักสามี Richard
- ปู่/บิดา Constable/Richard แปลงกายจาก Polecat เป็นแวมไพร์เฉกเช่นเดียวกับย่า Elsa แต่ไม่ได้ต้องการแค่ความหนุ่มแน่น หล่อเหลา ยังอยากจะเอาเธอมาเป็นภรรยา
- บาทหลวง Gracián ชู้รักของย่า Elsa ต้องการครอบครองความบริสุทธิ์ของสาวแรกรุ่น
- หรือแม้แต่ Orlík/Eaglet ตกหลุมรัก Valerie แม้แสดงออกด้วยจิตใจบริสุทธิ์ แต่พวกเขากลับเป็นพี่น้อง เลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน
สิ่งต่างๆที่ Valerie ได้เรียนรู้ ประสบพบเจอนั้น ล้วนเวียนวนอยู่กับเรื่องรักๆใคร่ๆ หมกมุ่นมักมากในกามคุณ โลกหมุนรอบอวัยวะเพศชาย-หญิง เมื่อมนุษย์ถึงวัยเจริญพันธุ์ (ชายมีอสุจิ, หญิงตกไข่ มีประจำเดือน) ก็พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตอบสนองสันชาตญาณพื้นฐาน นั่นก็คือการสืบเผ่าพันธุ์
โลกที่ Valerie อาศัยอยู่นั้น (หรือจะตีความว่าทั้งหมดเกิดในจินตนาการเพ้อฝัน) ถือว่ามีความเลวร้าย ตกต่ำทราม เต็มไปด้วยภยันตรายรอบข้าง แต่นั่นคือภาพสะท้อนสังคมประเทศ Czechoskovakia ในยุคสมัยที่ปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และยังมีสหภาพโซเวียตคอยให้การสนับสนุนหลัง (มองในเชิงสัญลักษณ์ประมาณว่า ย่า Elsa คือตัวแทนผู้ปกครองคอมมิวนิสต์ และยังมีปู่/บิดา Constable/Richard คอยให้การหนุนหลัง)
การมีประจำเดือน ตื่นรู้ทางเพศ ‘Sexual Awakening’ ของ Valerie สามารถเทียบแทนการมาถึงของฤดู Prague Spring (5 มกราคม – 21 สิงหาคม ค.ศ. 1968) ช่วงเวลาสั้นๆของการเปิดเสรีทางการเมืองใน Czechoskovakia ให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ ‘Political Awakening’ พร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้ เผชิญหน้า ไม่หวาดกลัวเกรงรัฐบาลคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต … แต่ก็แค่ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนการบุกรุกรานของกองทัพสหภาพโซเวียตเข้าสู่กลุ่มประเทศ Warsaw Pact ตั้งแต่วันที่ 20-21 สิงหาคม ค.ศ. 1968 ประชาชนมือเปล่าจะไปต่อสู้ทหารติดอาวุธเรือนแสนได้อย่างไรกัน
เมื่อตอนที่โปรเจค Valerie and Her Week of Wonders ได้รับการอนุมัติจาก Barrandov Studio ยังอยู่ในช่วงระหว่าง Prague Spring คงเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่จะใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้คือหมุดหมาย บันทึกประวัติศาสตร์ นำเสนอช่วงเวลาที่ชาว Czech ได้ปลุกตื่นจากฝันร้ายภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต แต่น่าเสียดายที่มันเป็นได้แค่ฝันซ้อนฝัน ตรงกันข้ามกลายเป็นจุดจบยุคสมัยแห่งความมหัศจรรย์ Czechoskovakia New Wave (กลุ่มเคลื่อนไหวนี้มีชื่อเล่น Czechoslovak Film Miracle) นำเข้าสู่ด้านมืด หนังใต้ดิน Czech Underground Films ในช่วงทศวรรษ 80s
เรื่องราวของ Valerie แม้สร้างโดยผู้กำกับชาย เต็มไปด้วย ‘male gaze’ แถมหลายคนตีตรา ‘soft porn’ แต่ผมมองว่าหนังมีความเป็น Feminist สูงมากๆ นั่นเพราะการเติบโตของเด็กสาวในลักษณะ ‘coming-of-age’ เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้า ต่อสู้ ไม่หวาดกลัวเกรงอันตรายใดๆ (ไม่ได้เอาแต่วิ่งหลบหนี หรือทำตัวเป็น ‘damsel in distress’ ตั้งแต่ต้นจนจบ) น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ยุคสมัยนี้การเป็นแม่มด (สัญลักษณ์ของความนอกคอก หัวขบถ กระทำสิ่งต่อต้านขนบสังคม) ไม่ได้ถูกไล่ล่า จับเผาทั้งเป็นอีกต่อไป
เสียงตอบรับตอนเข้าฉายออกไปทางกลางๆ โดนโจมตีเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ (animal cruelty) ภาพวับๆแวมๆ (obscurity) ไม่ต่างจาก ‘soft porn’ รวมถึงประเด็นรักๆใคร่ๆในครอบครัว (incest) ไม่รู้เอาตัวรอดผ่านกองเซนเซอร์มาได้อย่างไร
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K พร้อมกับหนังสั้นสามเรื่องของผกก. Jireš ประกอบด้วย Uncle (1959), Footprints (1960) และ The Hall of Lost Steps (1960), เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 สามารถหาซื้อ/รับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel
ผมรู้สึกเหมือนตาแก่ตัณหากลับชอบกล เวลารับชมภาพยนตร์เกี่ยวกับ ‘Sexual Awakening’ ของเด็กสาวแรกรุ่นอย่าง Valerie and Her Week of Wonders (1970), À Nos Amours (1983), Naissance des Pieuvres (2007) ฯ แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง เปรียบเหมือนการได้เชยชมดอกไม้แรกแย้ม ผลิบาน ความงดงามอันบริสุทธิ์ เกิดความรักใคร่เอ็นดู ทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม อยากครอบครองเป็นเจ้าของ … อารมณ์คนโสดมันก็ประมาณนี้แล
สิ่งที่ทำให้ผมคลั่งไคล้หนังอย่างมากๆคือการปรับตัวของ Valerie แรกๆทำได้แค่หลบหนี เอาตัวรอด รอคอยใครสักคนมาช่วยเหลือ ‘damsel in distress’ แต่ต่อมาก็ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว เข้าใจวิถีชีวิต พร้อมเผชิญหน้าปัญหา จนในที่สุดจากเคยอยู่ปลายขอบ สามารถทำให้โลกหมุนรอบเธอเอง กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจ และปลุกตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย
จัดเรต 18+ กับความวับๆแวบๆ ระริกระรี้เรื่องเพศ แวมไพร์ บรรยากาศหลอกหลอน เหนือจริง
Leave a Reply