Vampyr (1932)
: Carl Theodor Dreyer ♥♥♥♥
ทั้งๆที่ฟุตเทจบางส่วนขาดหาย แต่กลับมีความสมบูรณ์แบบยิ่งใหญ่กว่า Nosferatu (1922) และ Dracula (1931) รวมกันเสียอีก โดยผู้กำกับ The Passion of Joan of Arc (1928) ลักษณะกึ่งหนังเงียบ สไตล์ Minimalist กอปรกับงานภาพหลอนๆ เพลงประกอบน่าสะพรึง ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดบรรยากาศขนลุกขนพอง เงาแวมไพร์น่ากลัวกว่าตัวจริงเสียอีก!
Nosferatu (1922) ของผู้กำกับ F.W. Murnau ได้รับการยกย่องว่าคือปฐมบท ต้นกำเนิดแห่งตำนานแวมไพร์ผีดิบดูดเลือด ตามด้วย Bela Lugosi ที่ได้สร้างเอกลักษณ์ให้ท่านเค้าท์แดร็กคูล่าใน Dracula (1931) กลายเป็นหนึ่งใน Universal Monsters (จักรวาลแรกของวงการภาพยนตร์) แต่สำหรับ Vampyr (1932) ขณะที่หนังออกฉายนักวิจารณ์ต่างเบือนหน้าหนี เพราะวงการภาพยนตร์กำลังอยู่ในช่วงผลัดใบเปลี่ยนยุคสมัย (จากหนังเงียบเป็นหนังพูด) ไฉนไยต้องทำให้มันก้ำกึ่ง ดำเนินเรื่องราวชักช้าอืดอาด น่าเบื่อสิ้นดี ผู้ชมออกจากโรงหนังเกิดการจราจลขอเงินคืน จนมีคำเรียกหนังว่า ‘a hallucinating film’ ด้วยเหตุนี้ฟีล์ม Negative ต้นฉบับจึงถูกทิ้งๆขว้างๆ จนสูญหายไปแล้ว แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้ชมรุ่นใหม่ๆย้อนกลับไปค้นหารับชมดูถึงค่อยพบว่า นี่เป็นหนังที่มีบรรยากาศลึกล้ำเกินกว่าผู้ชมยุคสมัยนั้นจะเข้าใจได้ แต่การจะ restore ฟื้นฟูสภาพก็ทำได้แค่บางส่วนที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น
การจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมแนะนำให้เตรียมความพร้อมก่อนสักนัก คือไปนั่งสมาธิสงบสติจิตใจอารมณ์ให้นิ่งเสียก่อน แม้ความยาวของหนังฉบับที่หลงเหลืออยู่จะเพียง 73 นาที แต่มันสามารถฆ่าคุณให้ตายได้ด้วยความเบื่อหน่าย เชื่องช้าสุดขีด อย่ารับชมตอนกำลังง่วงหรือสมองกำลังครุ่นคิดหมกมุ่นอะไรบางอยู่ จะไม่สามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศของหนังได้อย่างแน่นอน
Carl Theodor Dreyer (1889 – 1968) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาว Danish เกิดที่ Copenhagen, Denmark เริ่มต้นจากการเป็นผู้กำกับหนังสั้นในช่วงต้นทศวรรษ 20s ต่อมาได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาว ที่สร้างชื่อเสียงในประเทศคือ Master of the House (1925) จากนั้นเดินทางสู่ฝรั่งเศส ได้รู้จักกับ Jean Cocteau, Jean Hugo และศิลปิน/ผู้กำกับฝรั่งเศสมากมายแห่งยุค ทำให้มีโอกาสได้สร้างผลงาน Masterpiece แห่งวงการหนังเงียบ The Passion of Joan of Arc (1928) แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้ ทำให้ต้องพยายามดิ้นรนจนได้มีโอกาสพบกับบารอน Nicolas de Gunzburg เชื้อพระวงศ์ของฝรั่งเศส ผู้มีความคลั่งไคล้ในงานศิลปะการแสดง เมื่อพูดคุยกันถูกขันอาสาออกทุนสร้างให้แลกกับการรับบทนำแสดงเป็นตัวเอกในหนัง
เกร็ด: ในช่วงต้นทศวรรษ 30s ของฝรั่งเศส มีหนัง 3 เรื่องที่ได้ทุนสร้างจากผู้ดีชั้นสูง/เศรษฐีมีเงิน ประกอบด้วย L’Âge d’Or (1930) ของผู้กำกับ Luis Buñuel, The Blood of a Poet (1930) ของผู้กำกับ Jean Cocteau และหนังเรื่องนี้ Vampry (1932), คงเป็นค่านิยมในงานศิลปะสมัยก่อน นักสะสม/ผู้ดีชนชั้นสูงมีเงินเหลือเยอะ ถูกใจชื่นชอบผลงานถูกใจใครก็มักจะเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์อุปถัมภ์
ผมเคยเข้าใจว่ามีหนัง 2 เรื่องของ Dreyer ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Masterpiece แต่จริงๆมีทั้งหมด 5 เรื่องที่นักวิจารณ์ต่างประเทศพูดถึงกัน คือ The Passion of Joan of Arc (1928), Vampyr (1932), Day of Wrath (1943), Ordet (1955) และ Gertrud (1964) [เรียกว่าทศวรรษละเรื่อง!]
หนึ่งในเหตุผลความล้มเหลวของ The Passion of Joan of Arc (1928) เพราะยุคสมัยแห่งการผลัดใบได้เริ่มต้นขึ้นจาก Hollywood เมื่อปี 1927 เริ่มแพร่อิทธิพลส่งผลประทบสู่ยุโรป ใครๆต่างโหยหายต้องการความแปลกใหม่ Dreyer ถือเป็นผู้กำกับรุ่นเก่าที่ตัดสินใจต้องปรับตัวเอง เดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อเรียนรู้การใส่เสียงให้ภาพยนตร์ ทำให้มีโอกาสรู้จักกับ Christen Jul นักเขียนสัญชาติ Danish เพื่อนร่วมชาติที่อาศัยอยู่ใน London จึงร่วมงานกันพัฒนาบทภาพยนตร์ ได้ความสนใจเป็นเรื่องราวเหนือธรรมชาติ โดยขณะนั้นมีละเวทีชุดหนึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงทั้ง Broadways และ London คือ Dracula (1927) ถ้าเราสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขณะกำลังเป็นเทรนด์แฟชั่น น่าจะได้รับความนิยมอย่างสูง นี่ก่อนหน้าที่ Dracula (1931) จะเริ่มตั้งไข่เสียอีกนะครับ
Vampyr มีส่วนผสมแรงบันดาลใจจาก In a Glass Darkly หนังสือรวมเรื่องสั้นของ Sheridan Le Fanu (1814 – 1873) นักเขียนสัญชาติ Irish แนว Gothic, Mystery หรือนิยายเกี่ยวกับผีๆสางๆในยุค Victorian Era ตีพิมพ์เมื่อปี 1872, หนังสือประกอบด้วย 5 เรื่องสั้น ซึ่ง Dreyer เลือกมา 2 คือ
– Carmilla** เรื่องราวของแวมไพร์หญิงชื่อ Carmilla ที่พยายามหาทางดูดเลือดหญิงสาววัยเยาว์คนหนึ่ง (ใจความแฝง เลสเบี้ยน) เพื่อให้ตัวเองกลับมาสวยใสอีกครั้ง
– The Room in the Dragon Volant นี่ไม่ใช่เรื่องผี แต่เป็น Mystery Story เรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มหน้าใสสัญชาติอังกฤษ อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส พยายามไขปริศนาของหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกฝังทั้งเป็น
เกร็ด: In a Glass Darkly ชื่อนิยายนำจากพระคัมคีร์ 1 Corinthians 13:12 ที่มีประโยคว่า ‘through a glass darkly’ คนละเรื่องกับหนังของ Ingmar Bergman เรื่อง Through a Glass Darkly (1961) แค่ชื่อนำมาจากข้อความเดียวกันเท่านั้น
เกร็ด2: นิยาย Dracula (1897) ของ Bram Stoker ถือว่าได้รับอิทธิพลจาก Carmilla เรื่องนี้มาเต็มๆเลย (แต่ Carmilla ไม่ใช่นิยายแวมไพร์เรื่องแรกของโลกนะครับ)
เรื่องราวของ Allan Gray (รับบทโดย Nicolas de Gunzburg) ชายหนุ่มผู้มีความสนใจเรื่องราวเหนือธรรมชาติ วันหนึ่งเดินทางมาถึงหมู่บ้าน Courtempierre, ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส สะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึก พบเจอชายสูงวัยที่ก็ไม่รู้เปิดประตูห้องเข้ามาได้อย่างไร วางซองใส่หนังสือเขียนว่า ‘เปิดอ่านเมื่อฉันตาย’ ความน่าพิศวงนี้ราวกับมันกำลังมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น Gray จึงตัดสินใจออกเดินสำรวจในหมู่บ้าน ทำให้พบเจอกับสิ่งต่างๆที่แม้แต่เขาเองก็คาดไม่ถึง
Nicolas Louis Alexandre de Gunzburg (1904 – 1981) หรือ Baron Nicolas de Gunzburg เกิดที่ Paris ในครอบครัว Russian-Jewish สืบเชื้อสายจาก Louis III, Grand Duke of Hesse ฐานะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี เติบโตขึ้นที่อังกฤษ ย้ายมาอยู่ Paris ช่วงทศวรรษ 20s – 30s ขึ้นชื่อเรื่องการใช้เงินกินทิ้งกินขว้าง สวมใส่เสื้อผ้าฟู่ฟ่าเว่ออลังการ หลังจากได้พบเจอกับ Dreyer เกิดความสนใจในการเป็นนักแสดง ใช้ชื่อว่า Julian West
รับบท Allan Gray ชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน (Dreamer) ต้องการค้นพบเจอ หาคำตอบในเรื่องราวเหนือธรรมชาติ คงด้วยสันชาติญาณ นำพาให้พบเจอกับบางสิ่งอย่าง
แน่นอนว่าบารอนคนนี้มิได้มีความสามารถทางการแสดงแม้แต่น้อย แต่ Dreyer ได้กำกับให้เขามีการเคลื่อนไหว แสดงสีหน้า Expression ที่เรียบง่ายธรรมดา เข้ากับบริบทลักษณะหนัง ราวกับคนกำลังเพ้อฝันอยู่ แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับนักแสดงสมัครเล่น ไม่ได้ต้องใช้ฝีมือทางการแสดงออกมาอะไรแม้แต่น้อย
ผมละชอบสายตาลุกโพลงราวกับเห็นผี ตอนสะดุ้งตื่นของท่านบารอน (และตอนร่างนอนอยู่ในโลงศพ) ขณะเห็นชายสูงวัยคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องเปิดประตูที่ล็อคอยู่ได้ นี่มันความฝันหรือความจริงกันเนี่ย, มันมีจุดสังเกตนิดนึงขณะประตูเปิดและปิด แสงสว่างอยู่ดีๆก็ปรากฎสว่างขึ้นแล้ววูบดับหายไป นี่แปลว่ามันอาจเป็นความฝัน นิมิต วิญญาณ ลางสังหรณ์ หรืออะไรก็ตามที่มันผิดปกติธรรมชาติ
Maurice Schutz (1866 – 1955) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เคยมีบทสมทบใน Napoléon (1927), The Passion of Joan of Arc (1928), รับบทชายสูงวัยปริศนา ที่เปิดประตูเข้ามาหา Allan Gray ภายหลังจะพบว่าเขาคือเจ้าของคฤหาสถ์ (Lord of the Manor) มีลูกสาว 2 คน
– คนพี่ Léone (รับบทโดย Sybille Schmitz) นอนอยู่บนเตียง ร่างกายอ่อนแอเพราะกำลังถูกแวมไพร์กำลังดูดเลือดไปจากตัว
– คนน้อง Giséle (รับบทโดย Rena Mandel) ที่ช่วงหลังถูกหมอประจำหมู่บ้านลักพาตัวไป
นักแสดงส่วนใหญ่ของหนังเป็นมือสมัครเล่น ไม่เคยสนใจหรือมีผลงานการแสดงมาก่อน อาทิ
– Jan Hieronimko ผู้กำกับพบเจอในรถไฟรอบดึกที่ Paris ออกปากชักชวนให้มาแสดงหนัง ตอนแรกพี่แกทำหน้ามึน(เมา)ไม่ตอบ ภายหลังถึงค่อยติดต่อกลับมากบอกตกลง, รับบท หมอประจำหมู่บ้านที่น่าพิศวงสงสัย แท้จริงคือคนรับใช้ของมารดาแวมไพร์ ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่มีแนวโน้มสูงมากว่าจะเป็นแวมไพร์
– Henriette Gérard หญิงม่ายสูงวัย วันๆไม่ได้ทำอะไร ก็ไม่รู้ Dreyer พบเจอได้อย่างไร รับบท Marguerite Chopin มารดาแวมไพร์
ฯลฯ
ถ่ายภาพโดย Rudolph Maté ตากล้องสัญชาติ Polish ที่เคยร่วมงานกับ Dreyer เรื่อง The Passion of Joan of Arc (1928), หนังถ่ายทำสถานที่จริงทั้งหมด ยังหมู่บ้าน Courtempierre ตอนเหนือของฝรั่งเศส เพราะเหตุว่าทุนสร้างมีจำกัด จึงไม่มีงบประมาณสร้างฉากขึ้นใหม่ พบเจอสถานที่ไหนเหมาะสม เช่น โรงงานเก่าๆถูกทิ้งขว้าง ก็ใช้สถานที่แห่งนั้นถ่ายทำ
สังเกตว่างานภาพตลอดทั้งเรื่องจะมีลักษณะหยาบๆ เบลอๆ ไม่ค่อยคมชัดเสียเท่าไหร่ นั่นเพราะผู้กำกับใช้ผ้าพันแผลบางๆ (thin gauze) ครอบเลนส์ทำเป็น filter อีกชั้นในขณะถ่ายทำ ภาพที่ออกมาจึงมีความแปลกๆ ไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่ คล้ายกับ dream-like ความฝันของตัวละคร (ซึ่งเราก็สามารถมองได้ว่าคือความฝันของ Allan Gray ทั้งเรื่อง)
ตัดต่อโดย Dreyer และ Tonka Taldy, ใช้มุมมองของ Allan Gray เล่าเรื่องทั้งหมด ซึ่งเราสามารถมองว่าคือความเพ้อฝัน สลับกับความจริงที่พบเจอขณะอาศัยอยู่ใน Courtempierre (คือเราไม่จำเป็นต้องไปวิเคราะห์แยก ไหนความจริง/ไหนความฝัน ก็ได้นะครับ มองให้เสมอสิ่งเดียวกันหมดเลยก็ได้จะไม่วุ่นวาย)
ผมไม่แน่ใจนัก แต่รู้สึกว่าหนังถ่ายทำด้วยเทคนิค Long-Take เสียส่วนใหญ่ แล้วใช้การตัดต่อสลับไปมาแบบ Montage ระหว่าง 2-3 สิ่งเหตุการณ์พร้อมกัน เพราะเท่าที่ผมสังเกตเห็น เมื่อหนังตัดกลับมายังเรื่องราวหลักตัวละครเดิม เหมือนว่าพวกเขายังคงเคลื่อนไหวไปด้วยความต่อเนื่องไม่สะดุดขาด, ถ้าคุณรับชมหนังของ Dreyer ในยุคหลังๆ จะพบว่าเขาเป็นผู้มีทัศนะความเชื่อ สไตล์การกำกับ/ถ่ายภาพแบบ Long-Take มาแต่ไหนแต่ไร (ก็อาจเริ่มต้นจากหนังเรื่องนี้) มองว่าการตัดต่อเร็วๆรัวๆ มันเป็นอดีตในยุคหนังเงียบ อนาคตของหนังพูดต้องเป็น Long-Take ยาวๆเท่านั้น
แต่ด้วยการถ่ายทำ Long-Take นักแสดงจำต้องมีสมาธิอย่างมากในการพูด เคลื่อนไหว กระทำสิ่งต่างๆ Dreyer จึงใช้การกำกับที่เรียกว่า Minimalist บทพูดสนทนาให้น้อยที่สุด เน้นการกระทำเคลื่อนไหวที่ก็ไม่กระโตกกระตาก ผิดธรรมชาติสำแดงของมนุษย์ นี่ทำให้หนังมีความเชื่องช้าเป็นอย่างมาก แต่มีความเป็นพื้นฐานธรรมดาต่ำที่สุด
มันน่าทึ่งทีเดียวกับการแพนนิ่ง 360 องศา (Circle Panning) หมุนกล้องไปรอบห้อง นี่แสดงว่าทีมงาน/ผู้กำกับ ถ้าไม่วิ่งตามกล้องก็ต้องหลบอยู่ข้างนอกฉาก (ผมเชื่อว่า น่าจะวิ่งตามกล้องกันเลยนะ) นี่สร้างความมึนงงสับสน และภาพเบลอๆเหมือนฝันให้กับหนัง
สิ่งโดดเด่นสุดในหนังเรื่องนี้คือเงา ที่สร้างความขนลุกขนพองให้กับผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง แรงบันดาลใจคงได้อิทธิพลมาจาก Nosferatu (1922) แต่ก็ได้ยกระดับเหนือขึ้นชั้นไปอีก เพราะมันสามารถเคลื่อนไหวได้เองราวกับมีชีวิต, ช็อตนี้เงากับตัวละครที่นั่งอยู่หาได้มีความเหมือนกันไม่ สังเกตให้ดีจะพบว่าเก้าอี้ที่นั่งมีสัดส่วนไม่ตรงกับเงา คาดว่าวิธีการคงใช้นักแสดงแทนยืนอยู่ด้านหลังฉาก(ผ้าสีขาว) แล้วใช้แสงส่องจะเห็นเป็นเงาขึ้นฉาก คล้ายๆหนังตะลุง
การซ้อนภาพ, จริงๆผมไม่เข้าใจเท่าไหร่นะ ถ้ามองว่าหนังทั้งเรื่องคือความฝันของ Gray แต่ทำไมเขาถึงยังสามารถถอดร่าง/วิญญาณ เห็นเป็นภาพซ้อนของตัวเอง จ้องมองร่างจริงในโลงศพ นี่มันเหมือนนิมิตพยากรณ์อนาคตเสียมากกว่า ที่พยายามบอกว่าถ้าไม่ทำอะไรให้เกิดขึ้นสักอย่าง มันจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นแน่
ผมชอบมากๆตรงที่จะมี POV (Point of View) มุมมองสายตาของคนตายในโลง สิ่งที่เขามองเห็นจากการนอนและหน้าต่างช่องเล็กๆในโลงศพ ถือเป็นมุมแปลกประหลาด ให้ความรู้สึกเหมือนคนตาย (จะเรียกว่า มุมมองของศพ/คนตาย ก็ยังได้)
ช็อตนี้ได้รับการยกย่องสูงสุดของหนัง คงเพราะการที่วิญญาณมองดูร่างของตัวเอง ไม่ว่ามนุษย์คนไหนถ้าฝันหรือเห็นแบบนี้ ย่อมต้องเกิดความตื่นตระหนกตกใจหายวูบอย่างแน่นอน
การแทรกใส่ภาพเชิงสัญลักษณ์เข้ามา ถือเป็นอีกหนึ่งลายเซ็นต์สไตล์ของผู้กำกับ Dreyer ลองมาพิจารณาวิเคราะห์หากันดูว่า มีนัยยะหมายสื่อถึงอะไรได้บ้าง
ช็อตแรกๆของหนังที่มีความตราตรึงอย่างมาก ชายถือเคียว (คล้ายยมทูต) สัญลักษณ์การนำทางสู่ความตาย กำลังเคาะระฆังเรียกเรือ, แม่น้ำไหลเชี่ยวแทนด้วยชีวิต, เรือข้ามฟาก ฝั่งหนึ่งคือโลกมนุษย์ อีกฝั่งคือโลกแห่งความตาย และเมื่อข้ามแล้ว โดยปกติจะไม่สามารถหวนคืนกลับอีกฝั่งได้
เกร็ด: ตำนานข้ามแม่น้ำหลังความตาย มีปรากฎมาตั้งแต่เทพปกรณัมกรีก พุทธก็มี คริสต์ก็มี ถือเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างโลกมนุษย์กับโลกบาดาล
กงล้อ กงจักร กลไก -ดูไปคล้ายเครื่องทรมานใน The Passion of Joan of Arc (1928)- นี่เป็นสิ่งสัญลักษณ์ของการวนเวียน(ว่ายตายเกิด) มีชีวิต(เกิด)ก็ต้องสิ้นสูญ(ตาย) ไม่มีใครสามารถบิดเบือนแก้ไข ยืดเยื้อต่อไปได้นานนัก แม้แต่แวมไพร์เองก็ตาม ถึงสามารถขยายอายุไขให้ยังมีชีพต่อไป แต่เพราะการต้องสังเวยใครสักคน สักวันก็มีโอกาสถูกใครบางคนค้นพบความจริง ตอกหมุดกลางอก เอาคืนหมดสิ้นชีวิน
การตายของตัวละครหนึ่ง ถูกแป้งสามีบดทับ แต่ผมอยากเรียกว่า ‘หนูตกถังข้าวสารเสียชีวิต’ กล่าวคือเป็นมนุษย์ดีอยู่แล้วไม่รู้จักเจียมตนเอง ต้องการค้นพบเจอสิ่งที่เหมือนจะยิ่งใหญ่เกินตน ผลลัพท์เลยถูกความธรรมดาสามัญหล่นทับใส่ มือจับเหมือนกรงขัง สิ้นชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจไม่ออก
เดิมทีฉากนี้ไม่มีในบทภาพยนตร์ แต่เกิดขึ้นระหว่างการค้นพบเจอสถานที่ถ่ายทำ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแปลงให้มีความน่าสนใจเข้ากับ ซึ่งต้องถือว่าเป็นฉากที่มีความทรงพลังอย่างมาก และตัดสลับกับ Gray และ Giséle ที่กำลังเดินเท้าออกจากป่า (หลุดพ้นจากความสับสนอลม่านวุ่นวาย/รอดชีวิตจากความตาย)
เห็นว่าฉากนี้และการตายของมารดาแวมไพร์ ถูกกองเซนเซอร์ประเทศเยอรมันสั่งให้ตัดออก (เพราะไม่ต้องการให้เห็นฉากการเสียชีวิตปรากฎในหนัง) ซึ่งทำให้หนังต้องตัดเอาฉาก Gray กับ Giséle เดินเท้าออกจากป่าทิ้งไปด้วย จบแค่พวกเขาทั้งสองขึ้นเรือ Ferry ข้ามฟาก
สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกเรียกว่า กึ่งหนังเงียบ ‘Semi-Silent Film’ เพราะการที่หนังมีบทพูดน้อย และยังมี Title Card สำหรับอธิบายเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, สังเกตว่าบทพูดสนทนาของตัวละคร แทบจะมองหน้าเข้าใจ คุยกันด้วยคำถามสำคัญๆจริงๆเท่านั้น ไม่มีเรื่อยเปื่อยไร้สาขา แต่ขณะที่ Title Card มีความยาวเหยียดขี้เกียจอ่าน แต่มันคือสาระสำคัญที่ช่วยย่อเรื่องราว ทำให้กระชับรัดกุมได้ข้อสรุปเร็วขึ้นโดยพลัน
บอกตามตรงผมแอบรำคาญกับ Title Card ที่มีความยาวมากพอสมควร คือมันอ่านไม่ทันนะแหละ แถมสาระสำคัญ จุดเริ่มต้นและวิธีการปราบแวมไพร์ มันอยู่ในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด ถ้าคุณไม่อ่าน Title Card อาจเกิดความมึนงงสับสน แม้สามารถเข้าใจได้เพราะหนังแดรกคูล่าเรื่องไหนๆก็ใช้วิธีการนี้ แต่ถ้าเข้าใจสาระผ่านข้อความคั่นนี้ ก็จะมองเห็นมิติของหนังที่แตกต่างออกไป
สำหรับฟุตเทจที่สูญหายและพอจะระบุได้, ฉากที่ Gray พูดกับชายคนหนึ่ง (ที่จะไปรู้ภายหลังว่าคือ หมอประจำหมู่บ้าน) บอกว่าได้ยินเสียงหมาและเด็ก จริงๆถ้าเราตั้งใจฟังเสียง Sound Effect ก็จะได้ยินทั้งหมาเห่าและเด็กวิ่งเล่นจริงๆ แค่จะไม่เห็นภาพของพวกเขา (ไม่ใช่เงานะครับ) มันเคยมีฟุตเทจช็อตนี้อยู่ แต่ได้สูญหายไป ไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้
เพลงประกอบโดย Wolfgang Zeller คีตกวีสัญชาติ German ที่เคยทำเพลงประกอบให้อนิเมชั่นเรื่องเก่าแกสุดที่หลงเหลือในโลกปัจจุบัน The Adventures of Prince Achmed (1926), ต้องบอกว่างานเพลงคืออีกหนึ่งจุดเด่นไฮไลท์ของหนังเลยละ สื่อสารกับผู้ชมด้วยอารมณ์ราวกับเป็นคำพูดสนทนา ขณะนี้ควรมีรู้สึกอย่างไร ไม่เพียงแค่สร้างสัมผัสบรรยากาศหลอนๆ แต่ยังความเข้าใจต่อบริบทเนื้อหาของหนัง
ในบทหนังเดิมตอนจบนั้น Léone จะต้องเสียชีวิต แต่ในหนังเหมือนว่าเธอจะหายป่วยหลังจากมารดาแวมไพร์เสียชีวิต กระนั้นช็อตสุดท้าย Close-Up ใบหน้าของเธอ เห็นอยู่ว่ายังหายใจ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า (นี่ต้องชมการแสดงของ Sybille Schmitz ที่สร้างความฉงนให้กับผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง)
ใจความของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม แต่คือการดิ้นรนเอาตัวรอด ต่อสู้กับโชคชะตาฟ้าดิน สิ่งเหนือธรรมชาติ
– มารดาแวมไพร์ ต้องการเอาชนะขีดจำกัดของมนุษย์ มีชีวิตยืนยาวต่อไปเรื่อยๆ
– Allan Gray ชายหนุ่มแห่งความเพ้อฝัน (จะมองว่ามีนัยยะถึงนักแสดง ท่านบารอน Nicolas de Gunzburg ก็ยังได้) ต้องการพบเจอเรื่องเหนือธรรมชาติ รับรู้อนาคตการตายของตัวเอง จึงต้องการต่อสู้แก้ไขเปลี่ยนแปลง
ไม่มีใครในโลกสามารถจะวิ่งหนีโชคชะตาชีวิตไปได้พ้น มีเกิดก็ต้องมีตาย ครั้งหนึ่งยิ่งใหญ่ก็ต้องตกต่ำ ไม่มีอะไรในชีวิตเป็นสิ่งจีรัง
สำหรับความหมายเชิงสัญลักษณ์ของแวมไพร์ การดูดเลือดก็คือ Sex ดังที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น มารดาแวมไพร์ดูดเลือกเด็กหญิงสาวเป็นประเด็นแฝงของเลสเบี้ยน (หญิง+หญิง) สายตาที่ตื่นตระหนกหวาดกลัว มองกลับตารปัตรคือจุดไคลน์แม็กซ์ความสมหวัง ในโลกแฟนตาซีฮาเล็มเพ้อฝันของชายหนุ่ม ซึ่งการที่หนังทำเป็นแนวสืบสวนค้นหาความจริง มันคือระหว่างทางการเล่นท่าหาความสุดเพื่อไปสู่เป้าหมายจุดสูงสุดของ … ไม่ขอวิเคราะห์ประเด็นนี้ต่อแล้วกัน
หนังของ Dreyer มักมีประเด็นศาสนาแฝงอยู่ด้วยเสมอ แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจสักเท่าไหร่ว่าใช่ไหม, ถ้าเปรียบแวมไพร์เหมือนพวกนอกรีตต่างศาสนา ที่พยายามสูบเลือดสูบเนื้อ บ่อนทำลายชาวคริสเตียนให้มีความอ่อนแอลง วิธีการจะต่อสู้เอาชนะเข่นฆ่าอีกฝ่ายให้ดับสูญไป จำต้องปักหมุดให้ถูกจุดเข้าที่กลางหัวใจ ทำลายเรือนร่างและจิตวิญญาณการมีตัวตนของบุคคลผู้นั้น
เช่นกันกับเงาทั้งหลาย เป็นตัวแทนของความมืด/มวลรวมความชั่วร้าย ที่แม้จะไร้ตัวตนจับต้องไม่ได้ แต่สามารถคืบคลาน สร้างความสะพรึงหลอนหวาดกลัว, เลือกได้คงไม่มีใครอยากกลายเป็นเงา/หลงเหลือเพียงแค่เงา เพราะหมายถึงตัวตนความเป็นมนุษย์ก็จะสูญสิ้นหายไป ไม่ได้รับการพูดถึงจดจำ ราวกับการตายทั้งเป็น
สำหรับชื่อหนัง กว่าจะมาลงเอยที่ Vampyr เคยใช้ Destiny, Shadows of Hell, ตอนฉายให้ผู้สื่อข่าว The Strange Adventure of David Gray, ฉบับที่ฉายเยอรมันจะมีสร้อยต่อท้าย Vampyr – Der Traum des Allan Gray (Vampyr – The Dream of Allan Gray), ฉบับที่ฉายอเมริกา มีชื่อ Not Against The Flesh, Castle of Doom ฯ
เดิมนั้น Dreyer ต้องตัดต่อหนังให้ได้ทั้งหมด 3 ฉบับ ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ ซึ่งก็ได้ให้นักแสดงขยับปากพูดทั้งสามภาษา แล้วไปทำการบันทึกเสียงใหม่หลังถ่ายทำ (Post-Production) แต่กลับสามารถเสร็จสิ้นได้เพียง 2 ฉบับฝรั่งเศส และเยอรมัน เพราะเสียงตอบรับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ส่วนภาษาอังกฤษเลยมีแค่ Subtitle ซึ่งความล้มเหลวนี้เห็นว่าทำให้ Dreyer ถึงขั้นสติแตก (Nerve Breakdown) จนต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ฝรั่งเศส เรียกว่าแทบจะสิ้นสูญทุกสิ่งอย่าง
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังพอสมควร โดยเฉพาะส่วนของงานภาพและเพลงประกอบ มีความสวยงามเป็นศิลปะ เอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร ส่วนเนื้อเรื่องและการกำกับแบบ Minimalist สร้างความเหนื่อยหน่ายอึดอัดให้บ้าง เพราะนั่นคือบรรยากาศของหนังไม่ถือเป็นภัยต่อผมเสียเท่าไหร่ แต่แอบรำคาญการตัดต่อและ Title Card ที่เยอะเกินตัว, โดยรวมแล้ว Vampyr ยังมิอาจเทียบชั้นกับอีกสองผลงานของ Dreyer ที่ผมเคยรับชมมาแล้วอย่าง The Passion of Joan of Arc (1928) กับ Ordet (1955) แต่ก็ถือว่าระดับขึ้นหิ้ง จัดเป็นหนึ่งใน Masterpiece แนว Horror เลยก็ยังได้
แนะนำกับคอหนังแนว Horror ยุคแรกๆกึ่งหนังเงียบ เรื่องราวเกี่ยวกับแวมไพร์ เหนือธรรมชาติ, งานภาพสวยๆ เพลงประกอบสร้างบรรยากาศ, ติดใจผลงานของผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศชวนให้เครียด หลอนๆ
Leave a Reply