Varieté (1925) : E. A. Dupont ♥♥♥♡
Emil Jannings ทอดทิ้งภรรยาและบุตร เพื่อแสดงกายกรรมผาดโผนร่วมกับคนรักใหม่ Lya de Putti แต่การมาถึงของหนุ่มหล่อมือที่สาม Warwick Ward น่าจะพอคาดเดากันได้ว่าจักบังเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ผมค่อนข้างเชื่อว่าเมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงฉากนั้น ผู้ชมส่วนใหญ่จะครุ่นคิดคล้ายๆกันว่าตัวละครของ Emil Jannings ต้องแสร้งปล่อยมือกลางอากาศ ให้ชายชู้หรือคนรักใหม่พลัดตกจากที่สูงลงไป … นั่นไม่ใช่ความรู้สึกน่าอภิรมณ์เลยสักนิด!
ฉากดังกล่าวทำให้หนังมีลักษณะคล้ายกายกรรมผาดโผด ผู้ชมบังเกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เสียวสันหลังวาบ เสมือนนั่งชมการแสดงนั้นอยู่จริงๆ โดยไม่รู้ตัวถูกชี้ชักชักนำทาง ลวงล่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบังเกิดขึ้นจริง … ซึ่งผมจะพยายามไม่สปอยแต่หนังก็แอบบอกใบ้สิ่งอาจจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ฉากแรกแล้วละ
Varieté หรือ Variety (1925) เป็นภาพยนตร์ที่มีความตึงเครียดทางอารมณ์สูงมากๆ สามารถจัดเข้าพวก German Expressionism โดยเฉพาะการแสดงอันทรงพลังของ Emil Jannings (แต่หลายคนอาจรู้สึกว่า Overacting มากเกิ้น) และงานภาพนำเสนอมุมมองแปลกๆ (การขยับเคลื่อนไหวกล้อง พยายามเลียนแบบกายกรรมผาดโผน) น่าเสียดายที่เนื้อเรื่องราวกลับไม่ค่อยมีสาระน่าสนใจสักเท่าไหร่
Ewald André Dupont (1891 – 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Zeitz, German Empire โตขึ้นเริ่มจากเป็นคอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ หันมาเขียนเรื่องสั้น บทหนัง กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Europe, General Delivery (1918) พอมีชื่อเสียงระดับหนึ่งในเยอรมัน จนกระทั่ง Variety (1925) ประสบความสำเร็จล้นหลาม จนได้รับโอกาสมุ่งสู่ Hollywood แต่เหมือนจะปรับตัวไม่ได้เลยย้ายกลับมาประเทศอังกฤษ สรรค์สร้างอีกสามผลงเานเด่น Moulin Rouge (1928), Piccadilly (1929) และหนังพูด Atlantic (1929)
ลักษณะผลงานของ Dupont (เท่าที่ผมเคยรับชม) มักมีความผาดโผด หวาดเสียวไส้ ต้องมีฉากเต้นด้วยลีลายั่วเย้ายวน สนองกามารมณ์ ตัณหาราคะ สนองความพึงพอใจส่วนตน และเนื้อเรื่องราวท้าทายศีลธรรม/มโนธรรม ประเด็นอ่อนไหวเรื่องเพศเป็นสำคัญ
สำหรับ Varieté ดัดแปลงจากนวนิยายขายดี Der Eid des Stephan Huller/The Oath of Stephan Huller (1912) แต่งโดย Felix Hollaender (1867 – 1931) นักเขียน/ผู้กำกับละครเวที สัญชาติ German
เกร็ด: นวนิยายเล่มนี้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ถึง 5+1 ครั้ง
- The Oath of Stephan Huller (1912) กำกับโดย Viggo Larsen
- The Oath of Stephan Huller (1921) กำกับโดย Reinhard Bruck
- Variety (1925) กำกับโดย E. A. Dupont
- Variety (1935) กำกับโดย Nicholas Farkas
- Variétés (1935) กำกับโดย Nicholas Farkas **สร้างขึ้นพร้อมกันแต่เปลี่ยนนักแสดงเป็นชาวฝรั่งเศสทั้งหมด
- Drei vom Varieté (1954) Kurt Neumann
Dupont พัฒนาบทภาพยนตร์ร่วมกับ Leo Birinski (1884 – 1951) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติ German ผลงานเด่นๆ อาทิ Waxworks (1924), Variety (1925), Mata Hari (1931) ฯ
เรื่องราวของ Boss Huller (รับบทโดย Emil Jannings) อดีตนักกายกรรมกลางอากาศ ครั้งหนึ่งประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูง ปัจจุบันเปิดคณะการแสดงเล็กๆร่วมกับภรรยา (รับบทโดย Maly Delschaft) วันหนึ่งเพื่อนนักเดินเรือนำพานักเต้นสาวชาวอาหรับ Bertha-Marie (รับบทโดย Lya De Putti) มาขอความช่วยเหลือ ไม่นานเกิดความลุ่มหลงใหลตกหลุมรัก ตัดสินใจลักลอบเป็นชู้แล้วหนีไปอยู่ด้วยกัน
Boss Huller เลยถือโอกาสนั้นหวนกลับไปแสดงกายกรรมกลางอากาศร่วมกับ Bertha-Marie ประสบความสำเร็จจนไปเข้าตานักกายกรรมโลดโผนชื่อดัง Artinelli (รับบทโดย Warwick Ward) ซึ่งก็ได้ลักลอบเป็นชู้กับเธอ เมื่อเรื่องราวล่วงรู้ไปถึง Boss Huller จึงวางแผนกระทำบางสิ่งอย่างที่ชั่วร้าย
Emil Jannings ชื่อเดิม Theodor Friedrich Emil Janenz (1884 – 1950) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Rorschach, Switzerland ก่อนย้ายมาเติบโตยัง Leipzig, German Empire สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ หนีไปเที่ยวเล่นจนแม่ยอมให้เป็นนักแสดงในโรงละครประจำเมือง ครั้งหนึ่งออกทัวร์ทั่วประเทศจนเข้าตา Max Reinhardt เข้าร่วม Deutsches Theater, Berlin รู้จักสนิทสนมกับ Karl Vollmöller, Ernst Lubitsch (ขณะนั้นยังเป็นนักแสดง), Frieda Riess ฯ ต่อมาได้แสดงหนังสั้นที่กำกับโดยเพื่อนสนิท Lubitsch อาทิ Die Augen der Mumie Ma (1918), Madame DuBarry (1919), โด่งดังทั่วโลกจากร่วมงานกับ F. W. Murnau เรื่อง Der letzte Mann (1924), Herr Tartüff (1925), Faust (1926) เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Way of All Flesh (1927) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] และ The Last Command (1928)
รับบท Boss Huller หลังจากประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูง จิตใจยังคงโหยหาต้องการกลับไปแสดงกายกรรมกลางอากาศอีกสักครั้ง แต่ถูกภรรยาโน้มน้าวชักจูงจมูก ปัจจุบันจึงแค่เปิดคณะการแสดงเล็กๆ ชีวิตไร้ความตื่นเต้นท้าทายใดๆ จนกระทั่งการมาถึงของ Bertha-Marie จุดไฟราคะให้ลุกโชติช่วง ตัดสินใจละทอดทิ้งภรรยา(และลูก) ออกเดินทางครั้งใหม่ร่วมกับเธอเพื่อหวนกลับไปหาจุดสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง
รอยยิ้ม ความเบิกบานค่อยๆหวนกลับมาของ Boss Huller หลังจากได้ทำงานที่ตนรักอีกครั้ง แต่การมาถึงของชายหนุ่มหล่อ Artinelli ค่อยๆสร้างความสงสัย หวาดระแวง จนกระทั่งรับล่วงรู้การลักลอกคบชู้ นั่นทำให้จิตใจแตกสลาย แสดงสีหน้าโกรธเกลียดเคียดแค้น พร้อมประทุระเบิด ทำลายล้างทุกสิ่งอย่างให้มอดไหม้วอดวาย
โดยปกติแล้ว Jannings เป็นนักแสดงเลื่องลือชาในการเล่นใหญ่ บทบาทผู้นำ ประมุขของประเทศ หรือบุคคลสำคัญๆในประวัติศาสตร์ ที่ต้องใช้ภาพลักษณ์ Charisma และพลังในการแสดงสูงมากๆ
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะรับบทตัวละครสามัญชน คนธรรมดา นักแสดงกายกรรมกลางอากาศ แต่การเล่นใหญ่ของพี่แกคือการแสดงออกทางอารมณ์ อิจฉาริษยา เคลิบเคลิ้มหลงใหล โกรธเกลียดเคียดแค้น หมดสิ้นหวังอาลัย ถ่ายทอดผ่านสีหน้า ท่วงท่าทาง การขยับเคลื่อนไหว ซึ่งมีความตรงไปตรงไป ผู้ชมสามารถรับสัมผัสความรู้สึกนั้นได้อย่างชัดเจน
ผมเชื่อว่าความคิดเห็นผู้ชมต่อการแสดงของ Jannings น่าจะแตกออกเป็นสองฝั่งฝ่าย ยอดเยี่ยมมากๆ กับโคตร Over-Acting แต่เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในยุคสมัย German Expressionism ซึ่งการแสดงเว่อๆเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก สามารถมองเป็นศิลปะเฉพาะ(ของเยอรมัน) จึงไม่ใช่ความผิดปกติประการใด
ประเด็นคือ ผมมองการแสดงของ Jannings มันยิ่งใหญ่ทรงพลังมากๆ จนกลบเกลื่อนตัวละครอื่นแทบหมดสิ้น ไม่มีใครสามารถท้าทาย ต่อกร หรือแม้แต่สบตา ต้องหัวหดตดหาย กลับเข้าไปอยู่ในกระดองแทบจะโดยทันทีเมื่อเผชิญหน้า นั่นสร้างความไม่สมดุลให้หนัง โดดเด่นอยู่ตัวคนเดียว แบกเรื่องราวที่น้ำหนักน้อยเกินมาตรฐานตนเอง ดูแล้วเหมือนจะไม่คุ้มค่าการเสียเวลาสักเท่าไหร่
Lya de Putti ชื่อจริง Amália Putti (1897 – 1931) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Vécse, Austria-Hungary (ปัจจุบันประเทศ Slovakia) บิดาเป็นทหารม้า มีพี่น้องสี่คน ด้วยความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าร่วมคณะละครเร่ กระทั่งเดินทางมาถึงกรุง Berlin กลายเป็นนักแสดงภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ Die Herrin der Welt (1919), Phantom (1922), Varieté (1925), The Informer (1929) ฯ
รับบท Bertha-Marie นักเต้นสาวชาวอาหรับ ออกเดินทางมาแสวงโชคร่วมกับมารดาผู้ล่วงลับระหว่างทาง ได้งานเป็นนักเต้นในสังกัด Boss Huller ด้วยท่วงท่าลีลาอันยั่วเย้ายวน สามารถเกี้ยวพาราสี แก่งแย่งเขามาครอบครองได้สำเร็จ และกลายมาเป็นนักแสดงกายกรรมกลางอากาศ
เหมือนว่าแท้จริงแล้ว Bertha-Marie ไม่ได้มีความชื่นชอบ/รักใคร่ Boss Huller และการแสดงกายกรรมกลางอากาศสักเท่าไหร่ เมื่อมีโอกาสพบเจอ Artinelli แม้สังเกตได้ว่าเขาพยายามลวงล่อหลอกแต่กลับสมยินยอมให้ ตัดสินใจทรยศหักหลัง ลักลอบเป็นชู้นอกใจสามี สุดท้ายผลกรรมก็ติดตามทัน ตกบันไดคอหักตาย หมดสิ้นความเพ้อฝันทะเยอทะยาน
Putti เป็นนักแสดงได้รับการจดจำในบทบาท ‘Vamp’ หญิงสาวสวยรวยเสน่ห์ ชอบใช้มารยาหญิงลวงล่อหลอกบุรุษ ขูดรีดเอาทุกสิ่งอย่างหมดเกลี้ยงแล้วก็จากไปอย่างไร้เยื่อใย
สำหรับบทบาทนี้ของ Putti ก็ถือว่าตรงตาม ‘Vamp’ ลวงล่อหลอก Boss Huller และกำลังเตรียมการวางแผนทอดทิ้งไปคบหาคนรักใหม่ Artinelli แต่ผมกลับรู้สึกว่ามารยาหญิงของเธอมีไม่ค่อยมากสักเท่าไหร่ หรือไม่รู้เพราะฉากเหล่านั้นสูญหายไปกับการตัดต่อของกองเซนเซอร์รึป่าวนะ (มีแนวโน้มสูงมากๆที่จะเป็นเช่นนี้)
แต่เพราะความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ Putti ได้รับโอกาสเซ็นสัญญา เดินทางมุ่งสู่ Hollywood น่าเสียดายที่เธอไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ และพลันด่วนจากไปก่อนวัยอันควร
Warwick Ward (1891 – 1967) นักแสดง/โปรดิวเซอร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ St. Ives, Cornwall เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ประสบความสำเร็จในยุคหนังเงียบ ก่อนผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์เมื่อการมาถึงของยุคหนังพูด ผลงานเด่นๆ อาทิ Wuthering Heights (1920), Bulldog Drummond (1922), Varieté (1925), The Informer (1929) ฯ
รับบทนักกายกรรมหนุ่มหล่อ Artinelli ก่อนหน้านี้มีชื่อเสียงโด่งดังร่วมกับพี่น้อง แต่พวกเขาประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากที่สูงทำให้ขณะนี้กำลังว่างงาน เมื่อพบเห็นการแสดงของ Bertha-Marie เกิดความชื่นชอบประทับใจ ใช้ข้ออ้างเซ็นสัญญาแสดงร่วมกัน แล้ววางแผนชักจูงเธอมาเข้าห้อง ใช้กำลังขมขืน ซึ่งเธอกลับสมยอมโดยดี ถึงอย่างนั้นเมื่อความรู้ถึง Boss Huller พวกเขาจึงมิอาจหลบพ้นโชคชะกรรม
ใบหน้าของ Ward แม้หล่อเหลา(มั้งนะ)แต่มีความโฉดอยู่เล็กๆ ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มว่ามีความสนใจใน Bertha-Marie ซึ่งวิธีการของเขาก็ถือชั่วร้าย ไร้ยางอาย ขณะเผชิญหน้า Boss Huller พยายามเพิกเฉย เล่นละครตบตา และเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย ก่อนตายแสดงธาตุแท้ตัวตนออกมา
บทบาทของ Ward ผมรู้สึกว่ายังมีความน่าสนใจกว่า Putti เสียอีกนะ! โดยเฉพาะฉากไคลน์แม็กซ์ขณะมึนเมา พยายามเสแสร้ง เล่นละครตบตา แต่เมื่อรับรู้ว่ามิอาจหลบหนีพ้นโชคชะตา ก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นหมาวัด แสดงความขี้ขลาดเขลาออกมา เห็นแล้วช่างน่าสมเพศเวทนา
ถ่ายภาพโดย Carl Hoffmann (1885 – 1947) และ Karl W. Freund (1890 – 1969) ทั้งสองต่างเป็นตากล้องระดับตำนาน สัญชาติ German โดยเฉพาะ Freund คือผู้คิดค้นเทคนิค ‘unchained camera’ ค้นหาทุกความเป็นไปได้ของการถ่ายภาพ
แนวคิดการถ่ายภาพของ Varieté (1925) ต้องชมเลยว่ามีความโลดโผน พิศดาร พยายามอย่างยิ่งให้ผู้ชมรู้สึกตื่นตาใจ พบเห็นมุมมองแปลกๆ คล้ายการแสดงกายกรรม โหนตัวกลางอากาศ
หน้งก่อสร้างฉากถ่ายทำยัง Templehof Studios, Berlin (Art Direction โดย Alfred Junge และ Oscar Friedrich Werndorff) เว้นเพียงการแสดงกายกรรมกลางอากาศ ใช้สถานที่ Berlin Wintergarten theatre
ฉากนักโทษเดินวนเป็นวงกลม ทำให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ A Clockwork Orange (1971) ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ซึ่งได้แรงบันดาลใจฉากคล้ายๆกันนี้จากภาพวาดสีน้ำมัน Prisoners Exercising (after Gustave Doré) ผลงานของ Vincent van Gogh เมื่อปี ค.ศ. 1890
การออกแบบฉากคุก ทั้งกำแพงสูงใหญ่ และโถงทางเดินห่างไกล เพื่อให้ผู้ชมรับรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่เมื่อใครคนหนึ่งพลัดหลงทางเข้าไปแล้ว ยากจะสามารถหวนกลับออกมาสู่โลกปกติ
ขณะเดียวกันยังสามารถสะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร Boss Huller แม้เหตุการณ์ที่เขาเคยกระทำจะพานผ่านมากว่า 10 ปี แต่ยังคงจมปลัก ปิดกั้นตัวเอง ปฏิเสธที่จะหาหนทางออกจากความรู้สึกผิดดังกล่าว
หนังไม่เร่งรีบร้อนเปิดเผยใบหน้าตาอาชญากรรายนี้ นี่เป็นเทคนิคการนำเสนอเพื่อสร้างความฉงนสงสัย ผู้ชมรู้สึกใคร่อยากรับรู้เห็น หมอนี่เป็นใครกัน? … แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะบอกได้ เพราะเรือนร่างของ Emil Jannings ช่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
จะว่าไปการเริ่มต้นด้วยภาพถ่ายด้านหลังตัวละคร ก็เพื่อจะสะท้อนถึงวิธีการดำเนินเรื่องของหนัง หลังจากจากนี้จะทำการย้อนอดีต (Flashback) ตั้งแต่เริ่มต้นถึงจนจบเลยละ!
และวิธีการที่หนังใช้เริ่มต้นเล่าย้อนอดีต นักแสดงจะเดินเข้ามาบดบังผู้คุม จากนั้นใช้เทคนิค Iris Zoom-In ลักษณะเหมือนดวงตาซูมเข้าหาหมายเลข 28 (ตัวเลขอยู่หลังเสื้อนักโทษ)
จริงๆเราสามารถมองเห็น Emil Jannings ได้ตั้งแต่ภาพช็อตแรกที่มีการย้อนอดีต แต่พี่แกยืนห่างไกลไปสักนิด คือพิธีกรบนเวทีกำลังตีระฆังอยู่ (สังเกตเห็นกันไหมเอ่ย)
ระยะภาพที่พบบ่อยคือ Medium Shot เพราะสามารถมองเห็นการแสดงออกทางสีหน้า และการขยับเคลื่อนไหวร่างกายท่อนบนของตัวละคร ซึ่งใช้ถ่ายทอด ‘Expression’ อารมณ์ความรู้สึกจากภายในออกมาได้ชัดเจนที่สุด
การลักลอบได้เสียระหว่าง Artinelli และ Bertha-Marie ใช้ประตูและหน้าต่างเป็นสัญลักษณ์เข้าๆออกๆ ที่ผู้ชมน่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าจักบังเกิดอะไรขึ้นในห้อง
วิธีการของชายหนุ่มคือเปิดประตูและหน้าต่าง เมื่อหญิงสาวเข้ามาถูกขอให้ปิดประตู (เพราะลมมันพัดเข้ามาทางหน้าต่าง) สายตาของเธอดูเหมือนจะสามารถเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยินยอมปิดโดยดี จากนั้นเขาทะยานเข้ามาขวางทางเข้า ดึงกุญแจออก โอบกอดจุมพิต และเดินไปปิดม่านหน้าต่าง … นี่แหละมารยาบุรุษ ลวงล่อหญิงสาวมาข่มขืน แต่บริบทนี้คงต้องเรียกว่าสมยินยอมจะตรงกว่า
Emil Janning (รวมไปถึง Lya De Putti และ Warwick Ward) ไม่น่าจะมีความสามารถด้านกายกรรมโลดโผน เลยไม่แปลกที่ภาพขณะแสดงพบเห็นจากระยะไกลและไม่เห็นใบหน้า (เพราะใช้นักแสดงแทน) แต่ก็บางช็อตที่ต้องใช้การ Close-Up น่าจะไม่ยากเกินไปที่ Jannings (และนักแสดงอื่นๆ) จะปีนป่ายขึ้นไปเกาะราวเพื่อถ่ายทำ
นี่ต้องชื่นชมเทคนิคการตัดต่อที่มีความแนบเนียน ลื่นไหล สลับไปมาระหว่างภาพการแสดงกายกรรมโลดโผน และปฏิกิริยาคนดูเบื้องล่าง ทำให้ผู้ชมหนังไม่ทันสังเกตลูกเล่นที่ซ่อนเร้นอยู่ของผู้สร้าง
มีการใช้ภาพ Abstact (ดูแล้วได้แรงบันดาลใจจาก Dadism ทางฝั่งประเทศฝรั่งเศส) เพื่อแทนอาการวิงเวียน สับสนของตัวละคร เป็นขณะที่ตัวละคร Boss Huller กำลังสองจิตสองใจ ครุ่นคิดว่าจะเข่นฆาตกรรมชายโฉดหญิงชั่วคู่นี้หรือไม่
ไคลน์แม็กซ์ของหนังเริ่มต้นแบบเดียวกับตอน Prologue คือตัวละครของ Emil Jannings หันหลังเข้ากล้อง ปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท ส่วนบุคคลที่หันหน้าคือศัตรูหัวใจหมายเลขหนึ่ง มันจะเกิดไรขึ้นต่อไป…
ใบหน้านิ่วคิ้วขมวดของ Emil Jannings ช่างตรงไปตรงมาถึงความโกรธเกลียดเคียดแค้น วันนี้จักต้องมีใครสักคนตกตายอย่างแน่นอน เขาค่อยๆเดินตรงเข้ามาหากล้องแล้วโยนมีสองเล่ม เลือกเอาว่าจะต่อสู้วิธีไหน!
ความเป็นศิลปะชั้นสูงในการต่อสู้ระหว่างสองตัวละคร น่าจะสร้างอิทธิพลมากยิ่งให้ผู้กำกับ Alfred Hitchcock เพราะผู้ชมจะไม่พบเห็นเลือด หรือขณะมีดทิ่มแทงร่างกาย พวกเขาต่อสู้กันนอกจอ อาจมีบางส่วนของร่างกายโผล่เข้ามา และสิ้นสุดด้วยการแสดงให้เห็นผลลัพท์ ใครเป็น ใครตาย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
สำหรับการเสียชีวิตตกบันได (น่าจะคอหักตาย) ของ Bertha-Marie ถือว่าบังเกิดขึ้นจากการกระทำตนเอง สะท้อนเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เริ่มต้นทำให้ Boss Huller นอกใจภรรยา แล้วตนเองต่อมาก็ลักลอบคบชู้สู่ชาย สามารถเรียกว่าผลกรรมติดตามตัน
ไม่นานมานี้ผมเพิ่งรับชม The Housemaid (1960) พบเห็นความตายของสาวใช้ ในท่วงท่าแบบเดียวกันเปี๊ยบ แถมเนื้อเรื่องราวรักสามเส้า คบชู้สู่ชาย ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึงกันเหลือเกิน ดูแล้วน่าจะได้แรงบันดาลใจมาไม่น้อยทีเดียว
เมื่อหนังตัดกลับมาปัจจุบัน ถ่ายให้เป็นใบหน้านิ่วคิ้วขมวดของ Boss Huller แสดงถึงอาการที่ยังจมปลักอยู่กับความทุกข์ในอดีต แต่มาวันนี้เมื่อสามารถพูดเล่าความจริงทั้งหมดออกไป ช็อตสุดท้ายประตูคุกได้เปิดออก สื่อว่าจิตใจของเขาได้รับการปลดปล่อยออกสู่อิสรภาพเสียที
ตัดต่อโดย … ไม่มีเครดิต, หนังดำเนินเรื่องผ่านความทรงจำ ย้อนอดีต (Flashback) ในมุมมองของ Boss Huller ต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน ที่เขาได้เข่นฆาตกรรมคนตาย ติดคุกเพื่อชดใช้ความผิด และกำลังจะได้รับการปลดปล่อยตัวให้ชีวิตได้รับอิสรภาพ
- อารัมบท, Boss Huller เริ่มเล่าเรื่องย้อนอดีต 10 ปีก่อนหน้า
- องก์แรก, การมาถึงของ Bertha-Marie ทำให้ Boss Huller ตัดสินใจทอดทิ้งภรรยาและบุตร ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่
- องก์สอง, ความสุขที่แสนสั้นระหว่าง Boss Huller กับ Bertha-Marie จนกระทั่งการมาถึงของ Artinelli ค่อยๆบ่อนทำลายความสัมพันธ์พวกเขาจากภายใน
- องก์สาม, เมื่อ Boss Huller รับล่วงรู้ความจริงทั้งหมด จึงตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่างที่เลวร้าย
- ปัจฉิมบท, หวนกลับมาปัจจุบัน Boss Huller ได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ
เราสามารถพบเห็นเทคนิคการลำดับภาพ Montage อยู่บ่อยครั้งในหนัง อาทิ
- ผ่านสายตาของ Boss Huller เปรียบเทียบทรวงทรงองค์เอวระหว่างภรรยากับ Bertha-Marie
- เริ่มต้นองก์สอง มีการร้อยเรียงชุดการแสดงกายกรรม อาทิ หมุนชาม, ทรงตัว, โยนลูกบอล, ระบำงู, ปั่นจักรยานล้อเดียว, เต้นรำ Can-Can, แสดงมายากล ฯลฯ
- ระหว่างการแสดงกายกรรมกลางอากาศ ตัดสลับระหว่างภาพการแสดงโลดโผน และปฏิกิริยาตื่นเต้นหวาดเสียวของผู้ชมเงยหน้าขึ้นมอง
สิ่งน่าทึ่งสุดของการลำดับเรื่องราว คือความพยายามชี้ชักนำทางผู้ชม ส่วนใหญ่เป็นการลวงล่อหลอกให้หลงเข้าใจผิดๆ เกิดความครุ่นคิดจินตนาการเพ้อไปไกล โดยไฮไลท์คือหลังจาก Boss Huller รับล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับชายโฉดหญิงชั่ว ลักลอบเป็นชู้นอกใจ จู่ๆหนังแทรกภาพอุบัติเหตุระหว่างการแสดงกายกรรมกลางอากาศ นั่นทำให้ผู้ชมเกิดความหวาดระแวง อกสั่นขวัญแขวนว่าเหตุการณ์นั้นอาจบังเกิดขึ้นจริง (เกิดขึ้นหรือไม่ ให้ไปรับชมเอาเองดีกว่า!)
มันไม่ใช่แค่ Sequence นั้นอย่างเดียวนะครับ ตลอดทั้งเรื่องล้วนมีเหตุการณ์ล่อๆลวงๆ เกิดขึ้นทั้งกับผู้ชมและตัวละคร อาทิ
- Boss Huller ถูกลวงล่อหลอกให้ตกหลุมรัก Bertha-Marie ถึงขนาดัดสินใจทอดทิ้งภรรยาและลูก ก็ครุ่นคิดว่าชีวิตหลังจากนี้คงจักพบเจอความสุข แต่กลับถูกทรยศหักหลังในช่วงท้าย
- Bertha-Marie ถูกลวงล่อหลอกเข้าห้องของ Artinelli จากข่มขืนกลายเป็นสมยอม ลักลอบคบชู้นอกใจ
- Boss Huller จงใจบอกว่าจะกลับดึก ล่อหลอกให้ Artinelli ไปดื่มกินกับ Bertha-Marie จนมึนเมามาย แต่แท้จริงแอบหลบซ่อนเฝ้ารอคอยอยู่ในห้อง
- Artinelli พยายามเสแสร้งเล่นละครตบตาขณะมึนเมา เพราะไม่คิดว่า Boss Huller จะเอาจริงเรื่องการต่อสู้ แต่เมื่อพบว่าเขาไม่ได้พูดเล่นเลยต้องแสดงธาตุแท้จริงออก
ฯลฯ
Variety แปลตรงตัวหมายถึงความหลากหลาย, แตกต่างกัน (ไม่เจาะจงว่าเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือะไร) แต่ในบริบทของหนังน่าจะสื่อถึงกิจกรรมการแสดง อาทิ กายกรรมโลดโผน ละครเวที คณะละครสัตว์ ฯ
เรื่องราวของ Variety นำเสนอความหลากหลายทางอารมณ์ ที่ตัวละครได้ประสบพบในช่วงเวลาแห่งรัก สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก หลงใหล-โกรธเกลียด ความรู้สึกผิด และการยกโทษให้อภัย สิ่งใดๆเคยเก็บซ่อนเร้นอยู่ภายใน(จิตใจ) เมื่อสามารถพูดบอกสารภาพออกมา ท้ายสุดจักได้รับโอกาสโบยบินสู่อิสรภาพเสรี
Boss Huller เป็นบุคคลผู้ใช้ชีวิตอยู่กับอารมณ์ ขึ้นๆลงๆ เมื่อมีสิ่งใดๆมากระทบก็มิอาจนิ่งสงบ หักห้ามใจ ควบคุมตนเองได้สักเท่าไหร่ ก็เหมือนการละเล่นกายกรรมกลางอากาศ ที่ต้องกระโดดโลดโผนไปมา ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวก็อาจพลัดตกลงมาชะตาขาดได้
ความผิดพลาดของ Boss Huller คือการมิอาจควบคุมตนเอง เมื่ออารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้นเข้าครอบงำจึงขาดสติหยุดยับยั้งคิด จึงกระทำสิ่งชั่วร้ายแสดงออกด้วยสันชาติญาณ เมื่อเหตุการณ์สงบลงถึงค่อยตระหนึกขึ้นมาได้ ตัดสินใจมอบตัวรับสารภาพผิด ยินยอมควบคุมขังตนเองด้วยระยะเวลาสิบปีเพื่อเป็นการชดใช้กรรม
‘ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์’ เพราะมนุษย์มักยึดติดอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก เมื่อได้ครอบครองเป็นเจ้าของสิ่งใดจักบังเกิดความหึงหวงแหน ไม่ต้องการให้ใครมาแก่งแย่งชิงสิ่งนั้นของตน แต่น้อยคนจะครุ่นคิดว่า อะไรๆที่เราเคยไขว่คว้ามา สักวันหนึ่งย่อมต้องสูญเสียไป นี่ต่างหากคือสัจธรรมแห่งชีวิต ถ้าสามารถครุ่นคิดจนเข้าใจได้ ย่อมไม่มีอะไรในสากลจักรวาลให้หมกมุ่นครุ่นยึดติดอีกต่อไป
ผู้กำกับ E. A. Dupont ดูเหมือนต้องการเปรียบเทียบเรื่องราวหนังกับสิ่งบังเกิดขึ้นกับชนชาวเยอรมันเมื่อเกือบๆ 10 ปีก่อน (ค.ศ. 1915) จักรวรรดิเยอรมันถือว่าก้าวมาถึงจุดสูงสุดแห่งความยิ่งใหญ่ แต่เพราะความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ริเริ่มต้นสงครามโลกครั้งหนึ่ง สุดท้ายกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แปรสภาพสู่สาธารณรัฐไวมาร์ ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีถัดมา ราวกับคนคุก ไร้ซึ่งแสงสว่างแห่งความหวัง จากนี้มีเพียงถ้าเรายินยอมรับความจริงเท่านั้น ประตูสู่อนาคตถึงจักเปิดออกให้สามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
แม้เนื้อเรื่องราวรักๆใคร่ๆ คบชู้สู่ชาย อิจฉาริษยา เข่นฆ่ากันตาย จะไม่ได้มีสาระประโยชน์สักเท่าไหร่ แต่ผมค่อนข้างพึงพอใจแนวความคิดตอนจบ การเผชิญหน้าตนเอง ยินยอมรับความจริง เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้สามารถก้าวข้ามผ่านอดีตอันเลวร้าย
Varieté (1925) เป็นผลงานสร้างชื่อให้ผู้กำกับ E. A. Dupont ประสบความสำเร็จล้นหลามระดับนานาชาติ กลายเป็นใบเบิกทาง เซ็นสัญญาโปรดิวเซอร์ Carl Laemmle แห่ง Universal Pictures เดินทางมุ่งสู่ Hollywood โดยทันที!
แต่ถึงอย่างนั้นชะตากรรมของหนังถือว่าโคตรบัดซบ เพราะเนื้อหามีความล่อแหลม สุ่มเสี่ยง (โดยเฉพาะ Lya de Putti อาจดูยั่วสวาท ร่านราคะเกินไป) ทำให้หลายๆประเทศมีการตัดฉากโน่นนี่นั่นออกไป โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เห็นว่าฟีล์มม้วนแรกถูกโยนทิ้งลงถังขยะโดยไม่เสียเวลา (Boss Huller ทอดทิ้งภรรยาและบุตร เพื่อครองรักใหม่กับ Bertha-Marie)
หนังมีความพยายามที่จะบูรณะ รวบรวมฟุตเทจที่สูญหาย ถูกตัดต่อออกไปเมื่อตอนนำออกฉายยังประเทศต่างๆ ประมาณ 90% แล้วเสร็จเมื่อปี 2015 โดย Friedrich Wilhelm Murnau Foundation ร่วมกับ Filmarchiv Austria in Vienna คุณภาพ 2K มีวางขายทั้ง Kino Classic และ Masters of Cinema
แม้หนังจะเต็มไปด้วยตำหนิเล็กๆน้อยๆมากมาย แต่ส่วนตัวมีความประทับใจไดเรคชั่นผู้กำกับ E. A. Dupont สามารถลวงล่อหลอกผู้ชม สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก (น่าจะเป็นอิทธิพลให้ Alfred Hitchcock ไม่น้อยทีเดียว) นอกจากนี้ก็การแสดงเว่อๆของ Emil Jannings และงานภาพมุมกล้องแปลกๆที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
เกร็ด: หนังเงียบเรื่องนี้เคยเข้าฉายเมืองไทย ช่วงเทศกาลภาพยนตร์เงียบ ครั้งที่ 3 ณ โรงภาพยนตร์สกาลา จำนวน 2 รอบ วันที่ 20 และ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559
จัดเรต 15+ กับความอิจฉาริษยา ลักลอบเป็นชู้ และการเข่นฆาตกรรม
Leave a Reply