Vertigo (1958) : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥♡
(28/6/2024) James Stewart ล้มป่วยโรคกลัวความสูง เกิดอาการโลกหมุน วิงเวียนศีรษะ (Vertigo) หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม แต่เพราะความหมกมุ่นในภาพลักษณ์ของ Kim Novak จึงพยายามผลักดันตนเอง ปีนป่ายขึ้นบันไดไปจนถึงจุดสูงสุด ถึงอย่างนั้นความสำเร็จดังกล่าวกลับทำให้เขาต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่าง
คนบางคนยินยอมเสียสละ ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ขายวิญญาณให้ปีศาจ เพื่อชื่อเสียง เงินทอง เติมเต็มอุดมการณ์เพ้อใฝ่ฝัน หมกมุ่นกับชัยชนะ ความสำเร็จ ฉันต้องยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง เหนือกว่าผู้อื่นใด คนพรรค์นี้ท้ายที่สุดมักไม่หลงเหลืออะไร หรือใครสักคนเคียงข้างกาย มันเป็นสิ่งคุ้มค่ากันแล้วใช่ไหม?
Vertigo (1958) ผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ Alfried Hitchcock ที่บรรดานักวิจารณ์/นักวิชาการทั่วโลกต่างยกย่องสรรเสริญ จักรวาลแซ่ซ้อง เคยได้รับการโหวตอันดับหนึ่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Sight & Sound เมื่อปี ค.ศ. 2012 ทั้งๆตอนเพิ่งออกฉายกลับถูกส่ายหัว เบือนหน้าหนี เข้าชิง Oscar เพียงสองสาขาโปรดักชั่น Best Art Direction และ Best Sound นั่นแสดงว่าหนังมีความลุ่มลึกล้ำที่ผู้ชมทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงในการรับชมครั้งแรกๆ ต้องให้เวลาสะสมประสบการณ์ ค่อยๆศึกษาเรียนรู้ ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ แล้วสักวันหนึ่งคุณอาจเอาชนะโรคกลัวความสูง ปีนป่ายขึ้นบันได เข้าใจศิลปะขั้นสูงสุด
หนึ่งในความลุ่มลึกล้ำของ Vertigo (1958) คือการเปิดกว้าง ให้อิสระผู้ชมขบครุ่นคิด ค้นหาใจความของหนัง บ้างว่าเกี่ยวกับความหมกมุ่น (Obsession), ต้องการครอบครอง (Possession), พฤติกรรมถ้ำมอง (Voyeurism) ผ่านสายตา Male Gaze, ลุ่มหลงในภาพจำหญิงสาว (Fetishism) ซึ่งสามารถเปรียบเทียบถึงผกก. Hitchcock ต่อบรรดา ‘Hitchcock Woman’
Alfred Hitchcock was known as the most controlling of directors, particularly when it came to women. The female characters in his films reflected the same qualities over and over again: They were blond. They were icy and remote. They were imprisoned in costumes that subtly combined fashion with fetishism. They mesmerized the men, who often had physical or psychological handicaps. Sooner or later, every Hitchcock woman was humiliated.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie
แต่ประเด็นที่ผมหลงใหลคลั่งไคล้ คือการนำเสนอโรคกลัวความสูง (Acrophobia) เต็มไปด้วยสารพัดลูกเล่น กราฟฟิกหมุนๆโดย Saul Bass สอดคล้องเข้ากับเพลงประกอบของ Bernard Herrmann บรรเลงท่วงทำนองขึ้นๆลงๆ เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา สร้างความวิงเวียน คลื่นเหียร หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม, โดยเฉพาะการประดิษฐ์คิดค้นเทคนิคชื่อว่า Dolly Zoom หรือใครๆมักเรียก Vertigo Effect สร้างความวูบวาบ หวาดเสียว หายใจไม่ทั่วท้อง เข้าใจความรู้สึกคนกลัวที่สูงขึ้นมาจริงๆ
และความพยายามเอาชนะโรคกลัวที่สูง ปีนป่ายขึ้นบนหอระฆัง สามารถเปรียบเทียบถึงผกก. Hitchcock เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ทำงาน ไต่เต้ามาจนถึงจุดสูงสุด ‘Peak year’ และโดยไม่รู้ตัวหนังเรื่องนี้ก็ยังต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ กว่าจะได้รับการยินยอมรับ กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล (จุดสูงสุดแห่งวงการภาพยนตร์)
ใครเคยรับชม Sabotage (1936) น่าจะมักคุ้นกับการเปิดพจนานุกรม อธิบายคำศัพท์เฉพาะทาง กลัวว่าผู้ชมจะไม่รับรู้จัก แต่น่าเสียดายที่ Vertigo (1958) เลือกนำมาใส่แค่ในตัวอย่างหนัง (Theatrical Trailer) อาจเพราะหาที่แทรกใส่ในภาพยนตร์ไม่ได้กระมัง … แต่ในหนังมีการพูดถึงครั้งหนึ่งระหว่าง Scottie สนทนากับ Midge
VERTIGO: ver’-ti-go — a feeling of dizziness … a swimming in the head … figuratively a state in which all things seem to be engulfed in a whirlpool of terror.
Vertigo (คำนาม) อาการเวียนศีรษะ, ตนเองหมุน, ภายนอกหมุน, ความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือสิ่งของที่มองเห็นหมุนไป หรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนไปทั้ง ๆ ตนเองอยู่กับที่
อาการเวียนศีรษะ เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง อาจหมายรวมถึงอาการมึนศีรษะ วิงเวียน มึนงง รู้สึกโคลงเคลง ทรงตัวไม่ค่อยได้ มีความรู้สึกลอย ๆ หวิว ๆ มีอาการตื้อในศีรษะ ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งอาการนี้ออกเป็น 2 ลักษณะ
- อาการมึนเวียนศีรษะ (Dizziness) มีความหมายรวมตั้งแต่ อาการมึนศีรษะไปจนถึงวิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจง เกิดได้จากโรคต่าง ๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด, โรคทางระบบประสาท, ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
- อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) จะหมายถึงเฉพาะอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนหรือโคลงเคลงเท่านั้น มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยรับการทรงตัวสมดุลของร่างกายในท่าทางต่าง ๆ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้มีอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเองหรือตัวเองหมุน รู้สึกโคลงเคลงทั้ง ๆ ที่ตัวเองอยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหูร่วมด้วยได้
Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang
ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938), จากนั้นเซ็นสัญญา(ทาส)โปรดิวเซอร์ David O. Selznick ออกเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างผลงาน Rebecca (1940), Spellbound (1945), Notorious (1946), พอหมดสัญญา(ทาส)ออกมาสรรค์สร้าง Rope (1947), Stranger on a Train (1951), Dial M for Murder (1954), เริ่มต้นร่วมงาน Paramount Pictures ตั้งแต่ Rear Window (1954), To Catch a Thief (1955)
สำหรับ Vertigo (1958) มีจุดเริ่มต้นจากความสนใจของผกก. Hitchcock ต่อนวนิยายของ Boileau-Narcejac นักเขียนดูโอ้สัญชาติฝรั่งเศส Pierre Boileau (1906-89) และ Thomas Narcejac (1908-98) ในตอนแรกอยากดัดแปลงนวนิยาย Celle qui n’était plus (1952) แปลว่า She Who Was No More แต่ถูกชิงตัดหน้าโดยผกก. Henri-Georges Clouzot กลายเป็นภาพยนตร์ Les Diaboliques (1955)
ด้วยเหตุนี้ผกก. Hitchcock จึงหันเหความสนใจมายังนวนิยายอีกเล่มของ Boileau-Narcejac ชื่อว่า D’entre les morts (1954) แปลตรงตัว From Among the Dead ขณะนั้นยังไม่มีฉบับภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ รีบชิงซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงก่อนใคร … หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่ออังกฤษ The Living and the Dead วางจำหน่ายปี ค.ศ. 1956
เกร็ด: ด้วยความสำเร็จของหนังเมื่อเข้าฉายในฝรั่งเศส ทำให้นวนิยายเล่มนี้ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น Sueurs froides แปลว่า Cold Sweat (ตามชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส)
ส่วนของการพัฒนาบท ผกก. Hitchcock ในตอนแรกมอบหมายนักเขียนบทละคอนเวทีชื่อดัง Maxwell Anderson (1888-1959) เจ้าของรางวัล Pulitzer Prize for Drama จากบทละคอน Both Your Houses (1933), ก่อนหน้านี้เพิ่งร่วมงานภาพยนตร์ The Wrong Man (1957) ใช้เวลาเกือบ 9 เดือนในการดัดแปลงบทหนัง ตั้งชื่อว่า Darkling, I Listen (อ้างอิงจากบทกวี Ode to a Nightingale (1819) ของ John Keats) จ่ายค่าจ้างถึง $35,000 เหรียญ แต่ผลลัพท์กลับไม่เป็นที่พึงพอใจ บอกกับโปรดิวเซอร์ “burn it”
ต่อมาพยายามติดต่อเพื่อนเก่า Angus MacPhail (1903-62) นักเขียนชาวอังกฤษ บุคคลให้คำนิยาม MacGuffin ก่อนหน้านี้เคยร่วมงาน Spellbound (1945) และ The Wrong Man (1956) แต่ขณะนั้นกำลังติดเหล้าหนัก รับรู้ตนเองว่าไม่มีศักยภาพเพียงพอพัฒนาบทหนังได้สำเร็จ
It is a fascinating story of course … but it needs a real big imaginative contribution — which I simply couldn’t provide just now.
Angus MacPhail
จากนั้นได้ตัวนักเขียน Alec Coppel (1907-72) สัญชาติ Australian ก่อนหน้านี้เคยมีส่วนร่วม Uncredited ภาพยนตร์ To Catch a Thief (1955) ได้รับค่าจ้าง $1,500 เหรียญต่อสัปดาห์ (รวมแล้ว $15,000 เหรียญ) แม้ผลลัพท์ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ แต่ก็มีหลายๆสิ่งเกิดจากความครุ่นคิดของเขา อาทิ
- อารัมบท ฉากไล่ล่าบนชั้นดาดฟ้า ทำให้พระเอกล้มป่วยโรคกลัวที่สูง
- เลือกสถานที่พิพิธภัณฑ์ California Palace of the Legion of Honor
- Madeleine กับ Scottie จุมพิตกันริมชายฝั่ง
- Madeleine พลัดตกจากหอระฆัง Mission San Juan Bautista
- อาการสติแตก (Nervous Breakdown) ของ Scottie จนต้องเข้ารักษาตัวในสถาบันจิตเวช
- กล้องหมุน 360 องศา บันทึกภาพการจุมพิตระหว่าง Scottie กับ Juey
สุดท้ายมาลงเอย Samuel A. Taylor (1912-2000) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน โด่งดังจากบทละคอน Sabrina Fair (1953) กลายเป็นภาพยนตร์ Sabrina (1954), ได้รับโอกาสพัฒนาบท Vertigo (1958) เนื่องจากความรอบรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆใน San Fransciso
I rewrote the script at the same time that I explored San Francisco and recaptured my past.
Samuel A. Taylor กล่าวถึงการพัฒนาบท Vertigo (1958)
เกร็ด: จริงๆแล้ว Taylor ควรต้องเป็นบุคคลเดียวได้รับเครดิตดัดแปลงบทหนัง แต่ทว่า Coppel ยื่นประท้วงต่อ Screen Writers Guild เพราะครุ่นคิดว่ามีการนำเอารายละเอียดบทหนังของตนเองไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนได้รับคำตัดสินให้ปรากฎชื่อทั้งสองคนเคียงข้างกัน “Screenplay by Alec Coppel & Samuel Taylor”
บทหนังถือว่ามีการปรับเปลี่ยนแก้ไขต้นฉบันนวนิยายพอสมควร นอกจากรายละเอียดของ Coppel ยังมีสถานที่พื้นหลัง Paris, France ย้ายมาเป็น San Francisco, California (เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องภูมิประเทศ เต็มไปด้วยเนินเขา ระลอกคลื่น ห้อมล้อมด้วยท้องทะเล สามารถสะท้อนเข้ากับความปั่นป่วนชีวิตของ Scottie), ตัดทิ้งรายละเอียดสงครามโลกครั้งที่สอง, ช่วงเวลาเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่าง Judy กับความตายของ Madeleine (ในนวนิยายจะเฉลยทุกสิ่งอย่างทีเดียวตอนจบ แต่ภาพยนตร์มีการเปิดเผยหลังจาก Scottie พบเจอ Judy แล้วเธอเขียนจดหมายอธิบายความจริงก่อนขยำทิ้ง)
และอีกความแตกต่างที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ความตายตอนจบของ Judy ในนวนิยายพอเธอสารภาพความจริงออกมา สร้างความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจต่อ Roger Flavières ทำการบีบรัดคอเธอจนเสียชีวิต … ผิดกับตอนจบภาพยนตร์ที่เกิดเหตุสุดวิสัย Scottie ไม่ได้ตั้งใจจะเข่นฆ่าเธอ
สำหรับชื่อหนัง ผกก. Hitchcock เป็นคนเสนอคำว่า Vertigo แต่ไม่มีผู้บริหารสตูดิโอคนไหนชื่นชอบประทับใจ เพราะพวกเขาไม่รู้จักความหมาย มองว่าสั้น ห้วน ไม่เหมาะกับการโปรโมท ประชาสัมพันธ์ เรียกร้องขอให้เปลี่ยนเป็น … ผมบังเอิญพบเจอรายชื่อหนังที่สตูดิโอยื่นเสนอให้ปรับเปลี่ยน ดูแล้วมีหลายชื่อที่น่าสนใจ แต่ก็ยากจะจินตนาการชื่ออื่น เพราะกลายเป็นชื่อติดหนังไปเรียบร้อยแล้ว
พื้นหลัง San Francisco, เรื่องราวของอดีตนักสืบ John ‘Scottie’ Ferguson (รับบทโดย James Stewart) เกษียนตัวจากการเป็นตำรวจเนื่องจากล้มป่วยโรคกลัวความสูง (Acrophobia) ได้รับการติดต่อจากเพื่อนสมัยเรียน Gavin Elster (รับบทโดย Tom Helmore) โน้มน้าวให้ช่วยติดตามภรรยาสุดสวย Medeleine (รับบทโดย Kim Novak) ที่เหมือนมีอาการป่วยทางจิต ชอบออกเดินทางไปตามสถานที่่ต่างๆ แต่กลับจดจำไม่ได้ว่ากำลังทำอะไร อยู่แห่งหนไหน จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง
ระหว่างที่ Scottie ออกติดตาม Medeleine สามารถสืบค้นพบความเชื่อมโยงกับสถานที่ต่างๆ ราวกับวิญญาณเข้าสิงสถิตคือย่าทวด Carlotta Valdes เมียน้อยของมหาเศรษฐีคนหนึ่ง หลังคลอดบุตรชาย ถูกขับไล่ผลักไส ไม่เหลือเยื่อใย เลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต นั่นสร้างความหวาดระแวงให้กับ Gavin กลัวว่าภรรยาจะพยายามฆ่าตัวตาย ยังไม่ทันไร Medeleine กระโดดลงอ่าว San Francisco Bay ได้รับความช่วยเหลือจาก Scottie รอดชีวิตอย่างหวุดหวิด
โดยไม่รู้ตัว Scottie แอบสานสัมพันธ์ ตกหลุมรัก Medeleine พากันเดินทางไปท่องเที่ยวชม Mission San Juan Bautista (บ้านเกิดของ Carlotta) แล้วจู่ๆหญิงสาววิ่งขึ้นหอระฆัง Scottie ที่ล้มป่วยโรคกลัวความสูง ไม่สามารถปีนป่าย ตะเกียกตะกายขึ้นสู่เบื้องบน ก่อนพบเห็นเธอพลัดตกลงมาเสียชีวิต กลายเป็นภาพติดตา ตราบาปฝังใจ ตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว หมดสิ้นหวังอาลัย
หลายเดือนถัดมาเมื่ออาการป่วยทุเลาลง วันหนึ่งสวนทางหญิงสาวหน้าตาละม้ายคล้าย Medeleine เหมือนกันอย่างกับแกะ! ตรงเข้ามาพูดคุย ทักทาย พบว่าเธอชื่อ Judy Barton มาจาก Salina, Kansas ชักชวนรับประทานอาหาร พาไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ จากนั้นพยายามโน้มน้าว ร้องขอให้ย้อมผม เปลี่ยนเสื้อผ้าแต่งกาย เลียนแบบการแต่งตัวของอดีตคนรัก ก่อนค้นพบความจริงว่า Judy = Medeleine จึงลากพาเธอมายัง Mission San Juan Bautista ตะเกียกตะกาย ปีนป่าย จนสามารถขึ้นไปถึงเบื้องบนหอระฆัง
แซว: ผกก. Hitchcock ให้คำอธิบายเรื่องราวของหนังโดยย่อแก่ François Truffaut ไว้อย่างตรงไปตรงมา “To put it plainly, the man wants to go to bed with a woman who is dead.”
James Maitland Stewart (1908-97) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania บิดาเป็นเจ้าของร้าน Hardware Store ส่วนมารดาเป็นนักเปียโน เสี้ยมสอน Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก, โตขึ้นเข้าเรียนสถาปัตยกรรม Princeton University โดดเด่นกับการออกแบบเครื่องบินจนได้รับทุนการศึกษา แต่กลับเปลี่ยนความสนใจมายังชมรมการแสดง สนิทสนมเพื่อนร่วมรุ่น Henry Fonda, Margaret Sullavan, ตัดสินใจมุ่งสู่ Broadways แม้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่มีแมวมองจาก MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938), โด่งดังพลุแตก Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Shop Around the Corner (1940), The Philadelphia Story (1940)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actor, แต่ไฮไลท์การแสดงเกิดขึ้นหลังกลับจากอาสาสมัครทหารอากาศ (U.S. Air Forces) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มจาก It’s a Wonderful Life (1946), Rope (1948), Rear Window (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), Vertigo (1958), Anatomy of a Murder (1959), How the West Was Won (1962), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ
เกร็ด: James Stewart ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Male Legends ติดอันดับ #3
รับบทอดีตนักสืบ John ‘Scottie’ Ferguson จากความผิดพลาดที่ทำให้เพื่อนร่วมงานพลัดตกตึกเสียชีวิต จดจำตราบาปฝังใจ กลายเป็นคนกลัวที่สูง (Acrophobia) เลยถูกหลอกใช้โดยเพื่อนสมัยเรียน Gavin Elster ให้ช่วยแอบติดตามภรรยา Medeleine แท้จริงแล้วคือหญิงสาวบ้านนอกคอกนา Judy Barton แต่งองค์ทรงเครื่อง ย้อมผมสีบลอนด์ สวมบทบาทการแสดง แสร้งว่าถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง ก่อนนำพามายัง Mission San Juan Bautista ให้เป็นประจักษ์พยานการกระโดดตึกฆ่าตัวตายของภรรยาตัวจริง!
หลังเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Scottie มีอาการซึมเศร้า หดหู่ ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกับใคร ถึงขนาดต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช หลายเดือนถัดมาเมื่ออาการดีขึ้น แต่ก็ยังหมกมุ่นครุ่นคิดมาก จนกระทั่งบังเอิญพบเจอ Judy Barton ตรงเข้าหา พยายามโน้มน้าว จับเธอแต่งองค์ทรงเครื่อง จนกลายร่างเป็น Medeleine Elster สังเกตเห็นความผิดปกติ เข้าใจว่าตนเองโดนหลอกใช้ จึงลากพาเธอไปยัง Mission San Juan Bautista เพื่อเอาชนะความกลัวของตนเอง
เห็นว่า Cary Grant คือตัวเลือกแรกของหนัง คงจะคิวไม่ว่างเลยเปลี่ยนมาเป็น James Stewart ระหว่างถ่ายทำก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เพราะความล้มเหลวทั้งเสียงวิจารณ์และรายรับ ทำให้ผกก. Hitchcock กล่าวโทษ Stewart ว่าแก่เกินแกง “looking too old” ขณะนั้นอายุย่าง 49 ขณะที่ Kim Novak เพิ่งจะ 24 หลังจากนี้พวกเขาเลยปฏิเสธร่วมงานกันอีก
เรื่องอายุก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลหลักๆที่นักวิจารณ์สมัยนั้นไม่ค่อยประทับใจการแสดงของ Stewart เพราะพี่แกติดภาพจำ ‘พ่อคนดี’ พอมาเล่นตัวละครที่ต้องสำแดงพฤติกรรมหมกมุ่น ลุ่มหลงใหล “Erotic Obsession” ด้วยสายตาหื่นกระหาย มันจึงดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ … ผิดกับเมื่อครั้น Rear Window (1954) ที่แม้ตัวละครของ Stewart แอบถ้ำมองผู้อื่น แต่ด้วยจุดประสงค์เพียงบันเทิงอารมณ์ ผ่อนคลายความตึงเครียด สายตาอยากรู้อยากเห็น ไม่ได้มีอาการป่วยจิต หรือล้ำเส้นความเหมาะสม
กาลเวลาดูเหมือนจะไม่ช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้ชมต่อ Stewart สักเท่าไหร่ แต่ทว่าความรู้สึก(ของผู้ชม)ที่พี่แกไม่เหมาะสมตัวละคร กลับช่วยสร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน พ่อคนดีไม่ควรมาเล่นบทแบบนี้ ดันสอดคล้องเข้ากับตัวละครที่มีสภาพจิตใจไม่ปกติ ซะงั้น!
In recent years, critics have noted that the casting of James Stewart as a character who becomes disturbed and obsessive ultimately enhances the film’s unconventionality and effectiveness as suspense, since Stewart had previously been known as an actor of warmhearted roles. Audiences didn’t like seeing Jimmy Stewart in such a strange and often unsympathetic role, craving the same sense of being on his side that Rear Window (1954) and The Man Who Knew Too Much (1956) had given them.
นักวิจารณ์ Tim Robey บทความจาก The Telegraph
ในบรรดานักแสดงรุ่น Classical Hollywood ผมมีความโปรดปราน James Stewart อันดับหนึ่ง! ไม่ใช่เพราะภาพจำพ่อคนดี หรือลีลาการพูดพรั่งพรูดั่งสายน้ำ แต่คือการแสดงปฏิกิริยาสีหน้า (หรือที่เรียกว่า Reaction Shot) สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกตัวละคร ออกมาอย่างตรงไปตรงมา
ขณะที่ Rear Window (1954) มุ่งเน้นความหลากหลายจากภาพพบเห็น สุข-เศร้า รอยยิ้ม-บึ้งตึง ฯ, Vertigo (1958) อาจพบเห็นเพียงความคร่ำเครียด หน้านิ่วคิ้วขมวด แต่ภายในมีการผันแปรเปลี่ยนทางอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เริ่มต้นด้วยความฉงนสงสัย เธอคือใคร? มีความผิดอะไร? โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักใคร่ ความตายทำให้หมดสิ้นหวังอาลัย จิตใจเวิ้งว่างเปล่าอยู่สักใหญ่ จนกระทั่งหวนกลับมาพบเจอเธออีกครั้ง เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น กระตือรือร้น ลุกรี้ร้อนรน ต้องค้นหาคำตอบให้จงได้ว่าบังเกิดอะไรขึ้น … เรื่องการแสดงออกทางสีหน้า ผมไม่คิดว่ามีใครยอดเยี่ยมไปกว่า Jimmy Stewart!
Marilyn Pauline ‘Kim’ Novak (เกิดปี ค.ศ. 1933) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois ในครอบครัวเชื้อสาย Czech วัยเด็กมีความสนใจด้านการวาดรูป ได้ทุนการศึกษา School of the Art Institute of Chicago ระหว่างวันหยุดฤดูร้อนทำงานเป็นนางแบบโปรโมทตู้แช่แข็ง (Deepfreeze) ได้รับฉายา Miss Deepfreeze ออกทัวร์ทั่วสหรัฐอเมริกา พอได้เงินมาเดินทางสู่ Los Angeles เข้าตาแมวมอง กลายเป็นตัวประกอบ Son of Sinbad (1953), The French Line (1953), เซ็นสัญญา Columbia Pictures รับบทเด่น Pushover (1954), Phffft (1954), แจ้งเกิดกับ The Man with the Golden Arm (1955), Picnic (1955) เข้าชิง Golden Globe: Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นๆ อาทิ Vertigo (1958), Bell, Book and Candle (1958), Strangers When We Meet (1960), Of Human Bondage (1964) ฯ
รับบท Judy Barton หญิงสาวผมน้ำตาล (Brunette) เดินทางจากบ้านนอก Salina, Kansas เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ San Francisco ด้วยความที่หน้าตาละม้ายคล้าย Madeleine Elster เลยได้รับการว่าจ้างจาก Gavin Elster แต่งองค์ทรงเครื่อง ย้อมผมสีบลอนด์ สวมวิญญาณ เล่นละคอนตบตานักสืบ Scottie ก่อนนำพามายัง Mission San Juan Bautista ให้เป็นประจักษ์พยานการฆ่าตัวตายของ Madeleine ตัวจริง!
แต่ทว่าแผนการอันสมบูรณ์แบบ ‘Perfect Murder’ กลับมีช่องโหว่ตรงที่ Judy ดันตกหลุมรัก Scottie หลังเสร็จสิ้นงานได้รับมอบหมาย เฝ้ารอคอยโชคชะตา อยากพบเจอหน้าเขาอีกครั้ง แต่ทว่าเมื่อโอกาสมาถึง อีกฝ่ายกลับแสดงอาการหมกมุ่น ยึดติดกับภาพลักษณ์ของ Madeleine ทีแรกพยายามต่อต้านขัดขืน ก่อนมิอาจฝืนใจตนเอง ถึงอย่างนั้นความไม่รู้จักพอของเขา ลากพาเธอมายัง Mission San Juan Bautista ปีนป่ายขึ้นบนหอระฆัง แล้วเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึง
แรกเริ่มนั้นผกก. Hitchcock ติดต่อนักแสดง Vera Miles เคยร่วมงานภาพยนตร์ The Wrong Man (1956) มีการทดลองเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย (ออกแบบโดย Edith Head) ตระเตรียมไว้เสร็จสรรพ แต่พอจะเริ่มโปรดักชั่นเธอกลับตั้งครรภ์ เลยจำต้องขอถอนตัวออกไป! การมองหานักแสดงใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคิวว่าง และเสื้อผ้าไซส์เดียวกับ Miles โชคดีพบเจอ Kim Novak ขณะนั้นกำลังหยุดพักร้อน ขอหยิบยืมตัวจาก Columbia Pictures ด้วยข้อแลกเปลี่ยนให้ James Stewart มาแสดงภาพยนตร์ Bell, Book and Candle (1958)
ก่อนจะเริ่มการถ่ายทำ Novak ถูกส่งไปทดลองสวมใส่ชุดที่ตระเตรียมไว้ แม้ไซส์พอดี แต่เธอพูดบอกว่าสูทสีเทา รองเท้าดำ ดูไม่ค่อยเหมาะกับตนเอง นั่นทำให้ผกก. Hitchcock ต้องเสียเวลาอธิบายเหตุผล ความจำเป็น ทำไมต้องชุดแบบนี้? ลวดลายนี้? สีสันนี้? จนเธอยินยอมปรับตัวเข้ากับเสื้อผ้าสวมใส่
Miss Novak arrived on the set with all sorts of preconceived notions that I couldn’t possibly go along with. You know, I don’t like to argue with a performer on the set; there’s no reason to bring the electricians in on our troubles. I went to Kim Novak’s dressing room and told her about the dresses and hairdos that I had been planning for several months. I also explained that the story was of less importance to me than the overall visual impact on the screen, once the picture is completed.
Alfred Hitchcock ดูเหมือนจะไม่ชอบ Kim Novak สักเท่าไหร่
ไม่เพียงเท่านี้! หลังจาก Novak รับรู้ว่า Columbia Pictures ได้รับค่าจ้างหยิบยืมตัวสูงถึง $250,000 เหรียญ แต่กลับจ่ายเธอเพียง $1,250 เหรียญต่อสัปดาห์ วันหนึ่งเลยประท้วงหยุดงาน เรียกร้องขอขึ้นค่าแรง เห็นว่าสำเร็จด้วยนะ น่าเสียดายไม่มีระบุว่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่
ในการรับบท Madeleine การแสดงของ Novak แม้มีความสวยสง่า เปร่งประกาย ราวกับภาพวาดศิลปะ แต่ดวงตาเหม่อล่องลอย คล้ายคนละเมอ (Somnambulist) ดำเนินเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆอย่างไร้จุดหมาย จนเมื่อพลัดตกอ่าว San Francisco Bay ได้รับความช่วยเหลือจาก Scottie ท่าทางดูอึดอัด กระอักกระอ่วน ส่วนหนึ่งอาจเพราะตกหลุมรัก จึงพยายามหักห้ามใจ เพราะสถานการณ์เป็นอยู่ ไม่มีทางที่พวกเขาจักได้สานสัมพันธ์ ครองคู่รักกัน … ด้วยความที่ Novak ไม่ชอบสูทเทาและรองเท้าดำ ผกก. Hitchcock เลยให้สวมใส่ขณะรับบท Madeleine เพื่อแสดงความอึดอัด กระอักกระอ่วน เต็มไปด้วยความไม่สบายใจ
พอกลายมาเป็น Judy แม้สวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ (เห็นว่า Novak ไม่ได้สวมใส่ยกทรงด้วยนะ) แต่จิตใจกลับเต็มไปด้วยความร้อนรน กระวนกระวาย กลัวจะถูกจับได้ จึงพยายามต่อต้านขัดขืน ไม่ยินยอมให้ Scottie เปลี่ยนแปลงตนเองเป็น Madeleine ถึงอย่างนั้นกลับมิอาจฝืนใจตนเอง เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง สุดท้ายเธอจึงสูญเสียทุกสิ่งอย่าง
Over and over in his films, Hitchcock took delight in literally and figuratively dragging his women through the mud–humiliating them, spoiling their hair and clothes as if lashing at his own fetishes. Judy, in Vertigo, is the closest he came to sympathizing with the female victims of his plots. And Novak, criticized at the time for playing the character too stiffly, has made the correct acting choices: Ask yourself how you would move and speak if you were in unbearable pain, and then look again at Judy.
นักวิจารณ์ Roger Ebert กล่าวชื่นชมการแสดงของ Kim Novak โดยเฉพาะในบทบาท Judy Barton
เมื่อตอนหนังออกฉาย ได้เสียงตอบรับคล้ายๆกับ Stewart การแสดงของ Novak ถูกตีตราว่าไม่มีอะไรน่าจดจำ เพียงวัตถุทางเพศ (Object of Desire) ล่องลอย สะลึมสะลือ เหมือนทุกคนผลอยหลับกลางคัน เลยไม่ทันเห็นความยอดเยี่ยมครึ่งหลัง เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน เจ็บปวดรวดร้าวจิตใจ ไม่รู้จะทำอะไรยังไง พยายามดิ้นรนขัดขืน แต่มันคงคือโชคชะตา ผลกรรมเวียนวนมา
แซว: แม้ว่าผกก. Hitchcock จะไม่ชื่นชอบในตัว Novak แต่ตรงกันข้าม เธอกลับประทับใจการร่วมงานครั้งนี้มากๆ เพราะได้รับอิสรภาพในการตีความตัวละคร แสดงเป็นตัวของตนเอง
Contrary to what I’d heard about him, [Alfred Hitchcock] allowed me very much to have my own interpretation and everything.
Kim Novak
ถ่ายภาพโดย Leslie Robert Burks (1909-68) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chino, California พออายุ 19 เข้าทำงานแผนก Special Effect ในห้องแลป Warner Bros. ก่อนไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยตากล้องเมื่อปี ค.ศ. 1929, ควบคุมกล้อง ค.ศ. 1934, แล้วได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944, ร่วมงานขาประจำผกก. Alfred Hitchcock เริ่มตั้งแต่ Strangers on a Train (1951) จนถึง Marnie (1964), คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Color ภาพยนตร์ To Catch a Thief (1955)
งานภาพของหนังมีความแพรวพราว เต็มไปด้วยลูกเล่นตื่นตระการตา โดดเด่นกับการจัดแสง-สีสัน-หมอกควัน (โดยเฉพาะเขียว-แดง ประปรายน้ำเงิน-เหลือง) ทิศทางมุมกล้อง เอฟเฟคพิเศษอย่างการซ้อนภาพ, Rear Projection, ผสมผสานเข้ากับโมเดลจำลอง (Miniatures), ภาพวาดบนกระจก (Matte Painting) และยังประดิษฐ์คิดค้นเทคนิค Dolly Zoom หรือที่รู้จักในชื่อ Vertigo Effect เริ่มต้นก็จากหนังเรื่องนี้!
เกร็ด: Vertigo (1958) ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการสร้างเอฟเฟคพิเศษ Title Sequence ออกแบบโดย Saul Bass
หนังเริ่มต้นโปรดักชั่นวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1957 ใช้เวลา 16 วันแรกออกตระเวนไปถ่ายทำตามสถานที่สำคัญรอบเมือง San Francisco (จะถือเป็นโปรโมทการท่องเที่ยว San Francisco เก็บฝังไว้ใน ‘Time Capsule’) จากนั้นถึงเดินทางกลับ Hollywood ปักหลังอยู่ในโรงถ่ายสตูดิโอ Paramount Studios จนเสร็จสิ้นวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1957
ก่อนอื่นเลยต้องขอกล่าวถึง Saul Bass (1920-96) นักออกแบบกราฟฟิก (Graphic Designer) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx, New York ในครอบครัวเชื้อสาย Jews หลังเรียนจบมัธยม เข้าคอร์สชั่วคราวโรงเรียนศิลปะ Art Students League of New York ก่อนเรียนต่อภาคค่ำ Brooklyn College, จบออกมาเดินทางสู่ Hollywood เริ่มจากออกแบบพิมพ์โฆษณา, โปสเตอร์หนัง Carmen Jones (1954) เข้าตา Otto Preminger ชักชวนมาทำ Title Sequence แจ้งเกิดกับ The Man with the Golden Arm (1955), ร่วมงานผู้กำกับ Alfred Hitchcock จำนวนสามครั้ง Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960), ผลงานเด่นๆ อาทิ Anatomy of a Murder (1958), Around the World in 80 Days (1956), Spartacus (1960), Exodus (1960), Ocean’s 11 (1960), West Side Story (1961), It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963), Goodfellas (1990), Cape Fear (1991), The Age of Innocence (1993), Casino (1995) ฯ
สำหรับ Vertigo (1958) หน้าที่ Bass ประกอบด้วยออกแบบโปสเตอร์, Title Sequence และยังเป็นที่ปรึกษาด้านภาพ (Visual Consultant), โดยใช้องค์ประกอบหลักคือเกลียวหมุนๆ เส้นขด ก้นหอย (Spiral) สื่อความหมายถึง “mind vortex” หรือ “psychological vortex” สอดคล้องเข้ากับอาการ Vertigo คลื่นเหียร วิงเวียน บ้านหมุน หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม
วิธีการสร้างภาพก้นหอยให้สามารถหมุนเวียนวนไปวนมา ก็คือใช้คอมพิวเตอร์คำนวณสมการคณิตศาสตร์ Lissajous Curve แต่ยุคสมัยนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ยังไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนปัจจุบัน ผมหาข้อมูลได้ว่าเครื่องที่ใช้คือ The M5 gun director (เรียกย่อๆ Director หรือ Auxiliary Predictor) เป็นอุปกรณ์คำนวณทิศทางโจมตีวัตถุกำลังเคลื่อนที่ ติดตั้งคู่กับอาวุธนำวิถี Anti-Aircraft แพร่หลายในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
Hitchcock hired John Whitney to made computer animated opening sequence, Whitney rigged up a WWII 850-lbs, 11,000-components anti-aircraft targeting computer called “The M5 gun director” to a platform. It was a mechanical computer which needed 5 soldiers to operate, but a computer nonetheless. He then placed cels on that platform and used a pendulum to achieve the needed endless rotation. He collaborated with the graphic designer Saul Bass. Computer animation used first time in history.
Whitney realized that the “The M5 gun director” could rotate endlessly, and in perfect synchronization with the swinging of a pendulum. He placed his animation cels on the platform that held the “The M5 gun director”, and above it suspended a pendulum from the ceiling which held a pen that was connected to a 24-foot high pressurized paint reservoir. The movement of the pendulum in relation to the rotation of “The M5 gun director” generated the spiral drawings used in Vertigo’s opening sequence.
ด้วยความยุ่งยาก ซับซ้อน กว่าจะได้ภาพก้นหอยหมุนๆต้องใช้เวลาหลายเดือน ผลาญทุนสร้างอีกไม่รู้เท่าไหร่ แต่ผลลัพท์ออกมาคุ้มค่า น่าตื่นตาตื่นใจ ปฏิวัติวงการ Graphic Design และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งต่อวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) ผสมผสานเข้ากับศิลปะภาพยนตร์ได้อย่างกลมกล่อม
This Vertigo poster is an iconic piece that transcends the world of movie memorabilia to stand as a pivotal moment not only in the history of graphic design, but also in popular culture.
แซว: ยุคสมัยนี้คนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เก่งๆ น่าจะใช้เวลาทำภาพเคลื่อนไหวจากคำนวณสมการคณิตศาสตร์ Lissajous Curve ไม่น่าจะถึงสิบนาทีด้วยซ้ำนะ!
ย้อนกลับมาที่ Title Sequence ทีแรกเห็นว่า Kim Novak อยากเป็นนางแบบด้วยตนเอง แต่ทว่าสตูดิโอในสังกัดเรียกร้องขอให้จ่ายค่าแรงเต็มวัน (กับการโพสแค่สองสามท่า ไม่กี่นาทีเนี่ยนะ!) สุดท้ายเลยเปลี่ยนมาเป็น Audrey Lowell ใครก็ไม่รู้เหมือนกัน? กล้องถ่ายภาพระยะใกล้มาก (Extreme Close-Up) เคลื่อนเลื่อนจากปาก ขึ้นสู่ดวงตา และจับจ้องเฉพาะตาขวา (ด้านซ้ายของกล้อง) เปลี่ยนโทนสีจากเทาเป็นแดง (สัมผัสอันตราย ความตาย หายนะ) แล้วปรากฎตัวอักษร ก้นหอยหมุนๆ
ผมแอบรู้สึกนัยยะคล้ายๆ Un Chien Andalou (1929) แต่แทนที่จะกรีดตา เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่, เปลี่ยนเป็นตัวอักษร/ก้นหอยหมุนๆ สอดคล้องความหมายชื่อหนัง Vertigo ดึงดูดเข้าไปในความครุ่นคิด จิตวิญญาณ บางคนอาจตีความว่าหนังทั้งเรื่องเกิดขึ้นในความฝัน จินตนาการ
ภาพแรกของหนัง กล้องจับจ้องบันไดบริเวณดาดฟ้า อาชญากรปีนป่ายขึ้นมา ตามด้วยตำรวจ และนักสืบ Scottie ออกวิ่งไล่ล่าติดตาม กระโดดขึ้นไปหลังคา แล้วเกิดการลื่นไถล มองลงไปเบื้องล่าง มีการถ่ายภาพด้วยเทคนิค Dolly Zoom หรือ Vertigo Effect สร้างความวูบวาบ หวาดเสียวสันหลัง สูงชิบหาย ปีนขึ้นมาได้ยังไงกัน ก่อนเพื่อนตำรวจเหลียวหลัง พยายามให้ความช่วยเหลือ แต่เขากลับพลัดตกลงเบื้องล่าง … แล้วเฮีย Scottie เอาตัวรอดมาได้ยังไงกัน??
อารัมบทนี้นอกจากเป็นการเปิดตัว ‘Vertigo Effect’ แทนมุมมองของคนกลัวความสูง ตลอดทั้งซีเควนซ์นี้ยังมีการย้อมสีน้ำเงิน (แต่ตอนถ่ายทำจริงๆคือช่วง ‘Golden Hour’) นี่ไม่ใช่แค่สื่อถึงยามค่ำคืน แต่จักกลายเป็นสัญลักษณ์ความรู้สึกผิด (Guilt) ซึมเศร้า (Sadness) หดหู่ (Depression) กลายเป็นตราบาปฝังใจ (Trauma) จุดเริ่มล้มป่วยโรคกลัวความสูง (Acrophobia)
เกร็ด: ผมอ่านเจอว่าคู่หูเจ้าหน้าที่ตำรวจรับบทโดย Fred Graham ซึ่งก็เป็นสตั๊นแมน ทำการกระโดดจริงๆ ลงจากความสูง 40 ฟุต (12.19 เมตร) มีเบาะรองรับเบื้องล่าง
กลับมาที่ Dolly Zoom หรือจะเรียก Vertigo Shot/Effect เป็นเทคนิคที่ผกก. Hitchcock ครุ่นคิดอยากนำเสนอมาตั้งแต่ภาพยนตร์ Rebecca (1940) ฉากที่ตัวละครของ Joan Fontaine เป็นลมล้มพับระหว่างรับฟังการพิจาณาคดีความของสามี ใช้เทคนิคนี้เพื่อให้สิ่งต่างๆรอบข้างดูเหินห่าง เคลื่อนจากตัวละคร แฝงนัยยะถึงการสูญเสียทุกสิ่งได้รับมา
When Joan Fontaine fainted at the inquest in Rebecca, I wanted to show how she felt that everything was moving far away from her before she toppled over. I always remember one night at the Chelsea Arts Ball at Albert Hall in London when I got terribly drunk and I had the sensation that everything was going far away from me. I tried to get that into Rebecca, but they couldn’t do it. The viewpoint must be fixed, you see, while the perspective is changed as it stretches lengthwise. I thought about the problem for fifteen years. By the time we got to Vertigo, we solved it by using the dolly and zoom simultaneously.
Alfred Hitchcock
แต่ยังไม่มีช่างเทคนิค/ตากล้องคนไหนสามารถแก้ปัญหาเรื่องการปรับโฟกัสระยะภาพใกล้-ไกล จนกระทั่ง Irmin Roberts ตากล้องกองสองในสังกัด Paramount Pictures เป็นบุคคลแรกๆประดิษฐ์กล้องที่สามารถปรับเปลี่ยนระยะโฟกัส มีคำเรียก “Trombone Shot” หรือ “Contra Zoom” หรือสั้นๆย่อๆก็คือเทคนิคการ “Zooming”
Dolly Zoom เป็นเทคนิคการถ่ายภาพที่ผสมผสานสองลูกเล่นในทิศทางตรงกันข้าม กล้องเคลื่อนเลื่อนเข้าหรือออก (Dolly-in หรือ Dolly-Out) พร้อมทำการปรับระยะโฟกัสถอยหลังหรือเข้าใกล้ (Zoom-Out หรือ Zoom-In) ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนภาพพื้นหลังเกิดการบิดเบือด (Distortion) สร้างสัมผัสอึดอัด กระอักกระอ่วน (Unease) เหมือนมีอะไรบางสิ่งอย่าง(เลวร้าย)กำลังจะเกิดขึ้น
เกร็ด: ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้นจึงถ่ายทำได้เพียงแนวราบ (เพราะกล้องมีขนาดใหญ่เทอะทะ น้ำหนักเกือบครึ่งตัน!) และถ้ายังดึงดันจะเอาให้ได้ ประเมินว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึง $50,000 เหรียญ! นั่นทำให้ทุกครั้งที่พบเห็นเทคนิคในหนังนี้ ล้วนเกิดจากการถ่ายภาพโมเดลจำลอง (Miniatures) ในทิศทางแนวราบ ระนาบเดียวกับพื้น (ไม่ใช่ก้มลงจากบนดาดฟ้าลงมาเบื้องล่าง) เหลือค่าใช้จ่ายเพียงแค่ $19,000 เหรียญ
เผื่อใครอยากรับชมคำอธิบาย Dolly Zoom โดยละเอียด: https://www.youtube.com/watch?v=ttZAdY3n4nc
เนื่องจากผมเพิ่งรับชม Rear Window (1954) จึงรู้สึกโคตรๆมักคุ้นกับลักษณะของอพาร์ทเม้นท์ ทิวทัศน์ด้านหลัง (แต่คราวนี้เป็นภาพวาด Matte Painting) รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Midge (Barbara Bel Geddes อาจไม่ได้เจิดจรัสเท่า Grace Kelly แต่ก็มีความละม้ายคล้ายกันอยู่) และอดีตคู่หมั้นของ Scottie (James Stewart เปลี่ยนจากขาหัก มาเป็นโรคกลัวความสูง)
สิ่งโดดเด่นภายในห้องพักนี้ก็คือโทนสีเหลืองอ่อน บรรยากาศสบายๆ ผ่อนคลายสายตา แม้ทั้งสองจะไม่ใช่คนรัก แต่ยังคงเป็นมิตรสหาย แวะเวียนไปมาหาสู่ พึ่งพาอาศัย มีปัญหาอะไรก็ให้ความช่วยเหลือกันและกัน
Midge ทำงานออกแบบเสื้อชั้นในหญิง (Brassiere) ล้อกับขณะนี้ที่ Scottie บอกว่ายังสวมใส่เสื้อรัดตัว (Corset) สำหรับรักษาอาการปวดหลัง … จริงๆแล้วเหมือนแอบพาดพิง Kim Novak เมื่อตอนเล่นเป็น Judy Barton ปฏิเสธสวมใส่ยกทรง เพราะทำให้ตนเองเหมือนได้รับการปลดปล่อย บังเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
แซว: เผื่อใครนึกภาพไม่ออกว่าสะพานยื่น (Cantilever bridge) หน้าตาเป็นยังไง ก็เลยนำเอาภาพสะพานมาให้เปรียบเทียบกับยกทรงรูปแบบใหม่ แต่จริงๆน่าจะเปรียบเทียบถึงสะพานแขวน (Suspension bridge) เพื่ออ้างอิงสะพาน Golden Gate เสียมากกว่านะ!
ผกก. Hitchcock ถือกระเป๋าใส่เครื่องดนตรีอะไรสักอย่าง (บ้างว่า Trumpet, บ้างว่า Bugle, บ้างว่า Foghorn) เดินจากซ้ายไปขวา ผ่านหน้าท่าเรือ Elster’s shipyard นี่ถือเป็น Establishing Shot นำเข้าสู่การพบเจอระหว่าง Scottie กับเพื่อนสมัยเรียน Gavin Elster
เกร็ด: มีภาพยนตร์อยู่ 4 เรื่องที่พบเห็นผกก. Hitchcock ถือกระเป๋าใส่เครื่องดนตรีไวโอลิน Spellbound (1945), เชลโล่ The Paradine Case (1947), ดับเบิ้ลเบส Strangers on a Train (1951) ซึ่งล้วนเคลือบแฝงนัยยะบางอย่างไว้ด้วย
กล่องเครื่องดนตรีของ Vertigo (1958) ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะผกก. Hitchcock ไม่เคยบอกใบ้ว่าคืออะไร หลายคนจึงมองว่าน่าจะกระเป๋าใส่แตรเดี่ยว (Bugle) แต่มีคนไปขุดคุ้ยพบเจอเครื่องดนตรี Foghorn ซึ่งคำว่า ‘Fog’ มันมีนัยยะเคลือบแฝงอยู่ในหนัง (แบบเดียวกับ ‘Double’ Bass ของ Strangers on a Train (1951))
ผมคงไม่ลงรายละเอียด Mise-en-scène ระหว่างการสนทนาของ Scottie กับ Gavin Elster แต่มีสองสามข้อสังเกตให้ลองไปครุ่นคิดต่อยอดกันเอง
- ช่วงแรกๆเริ่มต้นทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ สังเกตว่า Scottie เดินวนไปวนมารอบห้อง สำรวจสิ่งข้าวของต่างๆ ขณะที่ Gavin นั่งเก้าอี้หลังโต๊ะทำงาน พร่ำเพ้อถึงอำนาจ โหยหาอิสรภาพ และทิวทัศน์ด้านหลังพบเห็นกำลังก่อร่างสร้างตึก (สามารถสื่อถึงการครุ่นคิดวางแผน พยายามสร้างเหตุการณ์ ทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้น)
- วินาทีที่เริ่มเข้าประเด็นสนทนา Gavin ลุกขึ้นเดินไปยังห้องประชุมซึ่งยกพื้นขึ้นสูง ทำให้มุมกล้องต้องถ่ายเงยขึ้นติดเพดาน ทั้งน้ำเสียง ถ้อยคำพูด ล้วนมีลักษณะในเชิงออกคำสั่ง ชี้แนะนำ ต้องการรับรู้โน่นนี่นั่น
- ตรงกันข้ามกับ Scottie นั่งฟังอยู่เบื้องล่าง กล้องถ่ายมุมก้มติดพื้น ทำราวกับเขาไม่สิทธิ์เสียงบอกปัดปฏิเสธใดๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ห้องทำงานของ Gavin เต็มไปด้วยรูปภาพใส่กรอบสวยงาม ประดับเต็มฝาผนัง (ผิดกับห้องของ Midge ที่เพียงแปะติดภาพวาดบนฝาผนัง) ภาษาอังกฤษคำว่ากรอบรูป ‘frame’ มันยังมีอีกความหมาย การใส่ร้าย ป้ายสีความผิด นั่นคือสิ่งที่ชายนี้ครุ่นคิดวางแผน ล่อหลอกให้ Scottie หลงติดกับดัก
ภัตตาคาร Ernie’s เป็นร้านที่มีการตกแต่งภายในได้อย่างโดดเด่น ติดตา น่าประทับใจ ฝาผนังประดับด้วยผ้ากำมะหยี่สีแดงเข้ม (สัญลักษณ์ของ ‘passion’ ความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหล เสี่ยงอันตราย) ตัดกับชุดเดรสเขียวของ Madeleine (สีของธรรมชาติ บุคคลในความสนใจ ขณะเดียวกันยังอาจหมายถึงการลวงหลอก ติดกับดัก ‘deception’)
นอกจากสีสันอันโดดเด่น ระหว่างที่ Madeleine เดินเฉียดผ่าน Scottie กล้องถ่ายใบหน้าด้านข้าง (สื่อถึงการพบเห็น/เข้าใจเรื่องราวแค่ด้านมุมหนึ่ง) แล้วจู่ๆแสงพื้นหลังพลันสว่างขึ้นมา ก่อนค่อยๆเจือจางหายไป นั่นแสดงถึงการเป็นบุคคลในความสนใจ (Person of Interest หรือ Object of Desire) อาจจะตีความตกหลุมรักแรกพบ ลุ่มหลงภาพลักษณ์เจิดจรัส รัศมีเปร่งประกาย
เกร็ด: Ernie’s Restaurant คือภัตตาคารจริงๆ ตั้งอยู่ 847 Montgomery St. ทำออกมาในสไตล์ครอบครัวอิตาเลี่ยน (Trattoria) แต่เสิร์ฟอาหารฝรั่งเศส ตกแต่งภายในด้วยอิทธิพลของยุคสมัย Victorian เปิดกิจการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 น่าเสียดายปิดลงแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1995
เกร็ด2: เจ้าของร้านขณะนั้น Victor Gotti เห็นว่าได้รับโอกาสแสดงเป็นพนักงานต้อนรับ พร้อมบทพูด “Good evening, Mr. Ferguson” แต่ดันพูดผิดเป็น “Good evening, Mr. Stewart” เลยต้องเริ่มถ่ายทำกันใหม่
การเดินทางเริ่มต้นที่ The Brocklebank อพาร์ทเม้นท์หรู ตั้งอยู่ยัง 1000 Mason Street บน Nob Hill เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1926 ปัจจุบันก็ยังคงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ฟากฝั่งตรงข้ามคือโรงแรม Fairmont Hotel สถานที่ที่ผกก. Hitchcock และทีมงานพักอาศัยอยู่ระหว่างการถ่ายทำ
ช่วงระหว่างที่ Scottie ออกติดตาม Madeleine (รถสีเขียว ความหมายเดียวกับที่อธิบายไปก่อนหน้า) เชื่อว่าหลายคนคงได้ง่วงหงาวหาวนอน ผลอยหลับโดยไม่รู้ตัว เพราะมันมีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า ไร้บทพูดสนทนา เพียงภาษาภาพยนตร์ตัดสลับกลับไปกลับมาระหว่าง “รถคันหน้า ↔ ใบหน้า Scottie” ลักษณะเหมือนการถ้ำมอง (Voyeurism) แต่ในบริบทนี้น่าจะเรียกว่าแอบติดตาม (Stalker) น่าจะสื่อความหมายชัดเจนกว่า
แนวคิดดังกล่าวถือว่าแบบเดียวกับ Rear Window (1954) แตกต่างที่ตัวละครของ Stewart ขาหักเข้าเฝือก ทำได้เพียงนั่งจับเจ่าอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ วันว่างๆเหม่อถ้ำมองออกนอกหน้าต่าง ลีลาการนำเสนอจึงตัดสลับกลับไปกลับมาระหว่าง “ภาพพบเห็น ↔ ใบหน้า Scottie”
เกร็ด: ร้านขายดอกไม้ชื่อว่า Podesta Baldocchi เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1871 โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ 224 Grant Avenue น่าเสียดายขายกิจการให้กับ Gerald Stevens Inc. ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999
หนึ่งในสถานที่ที่ Madeleine เดินทางเยี่ยมเยียนคือ Mission San Francisco de Asís เรียกย่อๆ Mission Dolores ในส่วนของโบสถ์น้อย (Chapel) ก่อสร้างโดย Pedro Font (1737-81) มิชชันนารี Franciscan ชาว Spanish ระหว่างเดินทางมาสำรวจ Bay Area พร้อมกับ Juan Bautista de Anza (1736-88) เมื่อปี ค.ศ. 1776 (ถือเป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ที่สุดของ San Francisco) ประกอบขึ้นด้วยอิฐกว่า 36,000 ก้อน น่าเสียดายพังทลายไปเมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว ค.ศ. 1906 เลยมีการปรับปรุงบูรณะ พร้อมสร้างอีกมหาวิหาร (Basilica) ขึ้นเคียงข้างในปี ค.ศ. 1918
ระหว่างที่ Madeleine เข้ามายังบริเวณสุสาน งานภาพจะมีความฟุ้งๆจากหมอกควัน สร้างสัมผัสราวกับความฝัน ดินแดนแห่งความตาย แลดูลึกลับ น่าพิศวง เหนือธรรมชาติ ยิ่งทำให้ Scottie รู้สึกต้องมนต์สะกดกับความงดงามของหญิงสาว
เกร็ด: ป้ายหลุมศพ Carlotta Valdes (ตัวละครสมมติ) เป็นสิ่งที่ทีมงานสร้างใหม่ขึ้นมา พอถ่ายทำเสร็จก็ปล่อยทิ้งไว้ เผื่อจะกลายเป็นจุดเช็คอินน่าสนใจ แต่พอนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทางโบสถ์เลยตัดสินใจนำออก เพราะมองว่าเป็นการไม่เคารพคนตาย
สถานที่แห่งนี้คือ California Palace of the Legion of Honor หรือชื่อย่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Legion of Honor ตั้งอยู่ยัง Lincoln Park บริเวณนี้ดั้งเดิมคือ Golden Gate Cementery ก่อนถูกปรับปรุงพื้นที่หลังจาก 1915 Panama–Pacific International Exposition สร้างขึ้นเลียนแบบ Palais de la Légion d’Honneur แต่ล่าช้าเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งหนึ่ง เปิดให้บริการวันแรก 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1924
สำหรับภาพวาด Portrait of Carlotta ในตอนแรกมอบหมายให้ Manlio Sarra (1909-86) จิตรกรสัญชาติอิตาเลี่ยน โด่งดังกับผลงาน Post-Impressionism โดยมีนางแบบจากภาพถ่ายนักแสดง Joanne Genthon (แต่บางแหล่งข่าวว่าอาจเป็น Jacqueline Beer) แต่สุดท้ายไม่รู้มีปัญหาอะไร ลายเส้นไม่ตรงตามความต้องการ? ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น John Ferren (1905-70) ศิลปินสัญชาติอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว Abstract Expressionism แห่งสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้เคยรังสรรภาพวาดในภาพยนตร์ The Trouble with Harry (1955)
เท่าที่ผมลองสังเกตจากภาพวาดของ Sarra เลื่องชื่อในผลงานลักษณะ Post-Impressionism แต่งแต้มด้วยสีน้ำ มุ่งเน้นสร้างความประทับใจให้ผู้พบเห็น แต่ความต้องการของผกก. Hitchcock อยากได้ภาพวาด Carlotta ที่สะท้อนแนวคิด Pygmalion เทพเจ้ากรีกที่ตกหลุมรักรูปแกะสลักของตนเอง มันจึงควรเป็นภาพเหมือน (Portrait) ที่ดูสมจริง รายละเอียดจับต้องได้ ราวกับสามารถมีชีวิตขึ้นมา
น่าเสียดายที่หลังการถ่ายทำเสร็จสิ้น ภาพวาดดังกล่าวได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่รู้ว่าพิพิธภัณฑ์แอบเก็บไว้ หรือมีใครลักขโมยไป พยายามสืบเสาะค้นหา จนปัจจุบันก็ยังคงไร้วี่แววใดๆ
การเกล้าผมเป็นมวยกลม หลายคนคงมองแค่ว่าคือภาพสะท้อนเกลียวหมุนๆ เส้นขด ก้นหอย (Spiral) ที่พบเห็นตั้งแต่ Title Sequence ช่วยสร้างแรงดึงดูด สะกดจิต ให้ตัวละคร Scottie รวมถึงผู้ชมบังเกิดความลุ่มหลงใหล และยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับภาพวาด Portrait of Carlotta … แต่ผมมองการเกล้าผมแบบนี้ สื่อถึงการมีเบื้องหลัง ลับลมคมใน ซุกซ่อนเร้นอะไรบางอย่างไว้ภายในมวยผม
ชุดสูทเทาของ Madeleine คือภาพสะท้อนจิตวิญญาณของหญิงสาว เหมือนตกอยู่ภายใต้การควบคุมครอบงำอะไรบางอย่าง มันเหมือนเครื่องแบบ ชุดทำงาน เป็นทางการ มีความเรียบร้อย ทะมัดทะแมง ปกปิดเนื้อหนังมิดชิด … ดูไม่ค่อยเป็นตัวเองสักเท่าไหร่
McKittrick Hotel ตั้งอยู่ยัง 1007 Gough Street ภายนอกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรม Victorian (แอบชวนนึกถึงบ้านของ Norman Bates จากภาพยนตร์ Psycho (1960)) สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1890s เมื่อตอนถ่ายทำเป็นอาคารร้าง กำลังจะถูกทุบทิ้งเมื่อปี ค.ศ. 1959 ปัจจุบันบริเวณนั้นกลายเป็นสนามกีฬา
ฟากฝั่งตรงกันข้ามคือ St. Paulus’ German Evangelican Lutheran Church สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1892 ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Register of Historic Places) เมื่อปี ค.ศ. 1982 น่าเสียดายเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ เสียหายย่อยยับเยิน วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995 กลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร
ร้านขายหนังสือ Argosy Bookshop น่าเสียดายเป็นสถานที่ไม่มีอยู่จริง ก่อสร้างขึ้นในสตูดิโอ Paramount แต่ทิวทัศน์ถนนภายนอกคือ Powell Street พบเห็นฟากฝั่งตรงข้าม ร้านขายเสื้อผ้าชาย Macintosh (ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรกับบริษัท Apple ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์) ตำแหน่งที่ถ่ายทำคือ Manx Hotel ปัจจุบันขายกิจการกลายเป็น Villa Florence
แม้ร้านขายหนังสือไม่มีอยู่จริง แต่ผมจะให้ข้อสังเกตซีเควนซ์นี้ที่น่าสนใจ
- ช่วงแรกๆระหว่างรับฟังเรื่องเล่า “Beautiful Carlotta” กล้องถ่ายจากหน้าร้านเข้าไปในร้าน ร้อยเรียงภาพตัวละคร (อยู่คนเฟรม) เหมือนเรื่องเล่าดังกล่าวยังไม่มีความน่าสนใจมากนัก
- แต่พอเริ่มเล่าถึง “Sad & Mad Carlotta” กล้องสลับทิศทาง ถ่ายออกมาจากภายในร้าน พบเห็นท้องถนนภายนอก และทั้งสามตัวละครต่างปรากฎตัวร่วมเฟรมเดียวกัน
- ความจงใจถ่ายติดท้องถนนภายนอก เพื่อให้สอดคล้องเรื่องเล่าหลังจาก Carlotta กลายเป็นบ้า วันๆออกเดินไปตามถนนทางหนทาง ร้องเรียกหา “Where is my child?” “Have you seen my child?”
คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายกับการซ้อนภาพวาด Portrait of Carlotta กับหญิงสาว Madeleine นี่เป็นการเชื่อมโยงที่สามารถมองเป็นข้อสรุปของ Scottie เชื่อว่าเธออาจถูกวิญญาณย่าทวดเข้าสิงจริงๆ … ถ้าในต้นฉบับนวนิยาย เห็นว่า Scottie มีความเชื่อมั่นแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์! ส่วนฉบับภาพยนตร์ดูมีความคลุมเคลืออยู่เล็กๆ ผมรู้สึกว่าน่าจะเกิน 80%
หนึ่งในสถานที่ที่กลายเป็น ‘Iconic’ ของหนัง Fort Point หรือชื่อเต็มๆ Castillo de San Joaquín ทางตอนใต้ของสะพาน Golden Gate สะพานแขวน (Suspension bridge) ข้ามช่องแคบระหว่าง San Francisco Bay และ Pacific Ocean เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937
สีแดงของสะพานมันช่างเข้ากับโทนสีหลักของหนัง สัญลักษณ์ของ ‘passion’ ความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหล เสี่ยงอันตราย ตัดกับสีชุดน้ำเงิน(กลมกลืนเข้าผืนน้ำและท้องฟ้า)ของ Madeleine จู่ๆกระโดดลงอ่าว San Francisco Bay เป็นเหตุให้ Scottie ต้องรีบปรี่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ
แต่ระหว่างกระโดดลงไปช่วยเหลือ ตกหญิงสาวขึ้นจากฝั่ง สังเกตว่ากล้องถ่ายจากฟาก San Francisco Bay หันกลับเข้าหาฝั่ง แต่หนังไม่สามารถท้าเสี่ยงอันตราย ให้นักแสดงกระโดดลงอ่าวจริงๆ ซีนนี้จึงถ่ายทำในแท้งน้ำสตูดิโอ Paramount (ผมเลือกช็อตที่พบเห็นทิวทัศน์ด้านหลัง พอแยกแยะออกว่าคือภาพวาดบนกระจก ‘Matte Painting’)
หลังตก Madeleine ขึ้นจากอ่าว San Francisco Bay จะพากลับหา(สามี) Gavin คงความแตกแน่ๆ Scottie จึงนำพาเธอมายังห้องพักของตนเอง ตั้งอยู่ 900 Lombard Street (ปัจจุบันมีการปรับปรุงใหม่ รีโนเวทจนไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิม) แต่ฉากภายในถ่ายทำที่สตูดิโอ Paramount
เพราะเพิ่งขึ้นจากอ่าว ชุดของ Madeleine จึงเปียกปอน ชุ่มฉ่ำ จำเป็นจึงถอดออกแล้วให้เธอสวมใส่ชุดคลุมสีแดง ขณะที่ Scottie สวมเสื้อยืดแขนยาวสีเขียว ช่างมีทิศทางย้อนแย้งกับตอนที่พวกเขาแรกพบเจอ ในบริบทนี้ผมขอตีความประมาณว่า
- ชุดคลุมสีแดงแสดงถึง Madeleine คือบุคคลในความสนใจของ Scottie เกิดความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักใคร่ รับรู้ว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะสานสัมพันธ์ใดๆ
- จะว่าไปประตูห้องพักสีแดง น่าจะสื่อถึงความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่าง Scottie กับ Madeleine เตือนสติว่าไม่ควรก้าวผ่านประตูนี้ พวกเขาจึงพากันออกเดินทางไปที่อื่น (เพราะถ้าก้าวผ่านประตูห้องพัก ชาย-หญิงอยู่กันสองต่อสอง อะไรๆล้วนบังเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น)
- ขณะที่เสื้อสีเขียวของ Scottie แสดงถึงการติดกับดัก ตกหลุมพราง (ของ Gavin และ Madeleine) โดนล่อหลอกให้เข้าใจคิดว่าตนเองมีลับลมคมในต่อหญิงสาว แต่ทั้งหมดคือการโดนหลอกใช้
แซว: รถของ Madeleine มาจอดหน้าห้องพัก Scottie ได้อย่างไร? หรือเขานั่งแท็กซี่กลับไป Fort Point เพื่อขับกลับมา? นี่อีกพล็อตโหว่ที่ไม่ต้องไปสนใจมากก็ได้
ผมอ่านพบเจอเหตุผลที่ผกก. Hitchcock เลือกห้องพักของ Scottie ในละแวก 900 Lombard Street เพราะสามารถถ่ายติด Coit Tower หรือ Coit Memorial Tower ตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติ Lillie Hitchcock Coit (1843-1929) เศรษฐินีผู้ให้การอุปถัมภ์กิจการงานดับเพลิง และบริจาคเงินสร้างหอคอยแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1933 ด้วยสถาปัตยกรรม Art Deco ความสูง 210 ฟุต (64 เมตร) ตั้งอยู่ย่าน Telegraph Hill
ผกก. Hitchcock แม้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับ Lillie Hitchcock Coit แต่เขาใช้หอคอยสูงใหญ่แห่งนี้ในเชิงสัญลักษณ์ “Coit Tower is a phallic symbol.”
โดยปกติแล้วมันควรจะเป็นบุรุษขับรถให้กับสตรีเพศ แต่ในบริบทนี้สามารถสื่อถึง Scottie ต้องการให้ Madeleine เป็นคนนำทางชีวิต อยากไปไหนก็ไป เพราะรักจึงยินยอมให้เธอทุกสิ่งอย่าง
- ไทด์สีแดงลายจุดเขียวของ Scottie ช่างดูละม้ายคล้ายชุดคลุมที่ Madeleine เคยสวมใส่ แสดงถึงความรักที่พร้อมมอบให้
- ส่วนชุดของ Madeleine ภายในสวมใส่ชุดสีดำ (สื่อถึงการมีลับลมคมใน ซุกซ่อนความจริงบางอย่างไว้) ทับด้วยเสื้อคลุมขาว (ภายนอกดูบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่มันคือการสร้างภาพ ปกปิดบังสิ่งชั่วร้ายภายใน)
นี่น่าจะเป็นซีเควนซ์โปรดปรานของใครหลายๆคน Madeleine ขับรถพา Scottie มาถึงยังอนุสรณ์สถานแห่งรัฐ Muir Woods National Monument (ตั้งชื่อตาม John Muir (1838-1914) นักธรรมชาติวิทยา เจ้าของฉายา “John of the Mountains” and “Father of the National Parks”) ตั้งอยู่ยัง Mount Tamalpais ติดกับชายฝั่ง Pacific ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Marin County, California
แต่ทว่าซีเควนซ์นี้กลับถ่ายทำยังอุทยานแห่งรัฐ Big Basin Redwoods State Park ตั้งอยู่ Santa Cruz County ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากเมือง Santa Cruz ประมาณ 36 กิโลเมตร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1902 (อุทยานเก่าแก่สุดของรัฐ California)
ช่วงที่หนังลงพื้นที่ ถ่ายทำยังสถานที่จริง ซีเควนซ์นี้ก็ถ่ายทำยัง Muir Woods แต่ทว่าผลลัพท์อาจไม่เป็นที่พึงพอใจ จึงส่งกองสองไปยัง Big Basin แล้วกลับมาถ่ายทำในสตูดิโอผ่านเครื่องฉาย Rear Projection (ทั้งฉากนี้เลยดูภาพลอยๆ บรรยากาศเหมือนฝัน) ยกเว้นเพียงภาพวงปีไม้ที่ยังเป็นฟุตเทจจาก Muir Woods
การเดินทางมายังอุทยาน ชื่นชมต้นไม้ใหญ่ รำพันอายุไขมนุษย์ช่างน้อยนิด หญิงสาวชี้ตำแหน่งเกิด-ตายบนวงปี หรือขณะนี้ Madeleine กำลังถูกวิญญาณ(ร้าย)ของ Carlotta Valdes เข้าสิงสถิต? แต่ผมมองนัยยะซีเควนซ์นี้จากชื่อสายพันธุ์ต้นไม้ Sequoia sempervirens แปลว่า “Always green, ever living” นั่นแปลว่าเฉดสีเขียวทั้งหมดของหนังสามารถสื่อถึงการมีชีวิต! ตรงข้ามกับดอกกุหลาบแดงบนพื้น น่าจะคือสัญลักษณ์ของ ‘Passion’ นำสู่ความตาย หายนะกำลังจะมาเยี่ยมเยือน
แซว: ต้นไม้สูงใหญ่ มองขึ้นไปไม่น่าหวาดกลัว (สัญลักษณ์การเกิด เจริญเติบโต) แต่ถ้าปีนป่ายขึ้นเบื้องบน ก้มมองลงมา หรือพลัดตกหล่น (สัญลักษณ์ความตาย) กลับทำให้ Scottie จิตใจว้าวุ่นวายกับโรคกลัวที่สูง
สถานที่ที่ Scottie แรกจุมพิตกับ Medeleine อยู่บริเวณ Cypress Point บนถนน 17 Mile Drive ใกล้ชายหาด Pebble Beach แต่ต้นไม้ด้านหลังคือพร็อพประกอบฉาก นำออกไปเมื่อถ่ายทำเสร็จ ปัจจุบันมีการกั้นรั้วตะแกรงเหล็กเอาไว้ เพราะคลื่นซัดโขดหินค่อนข้างอันตราย ไม่อนุญาตให้ลงไปเล่นน้ำเบื้องล่าง
บางคนอาจตีความอารมณ์รักระหว่าง Scottie และ Medeleine ถาโถมเข้าใส่ดั่งคลื่นลมซัดกระทบโขดหิน แต่ผมกลับมองว่ามันคือภาพสะท้อนความสัมพันธ์อันโคลงเคลง เต็มไปด้วยอุปสรรค รักต้องห้ามของพวกเขามากกว่า ต่างฝ่ายต่างยังคงมีบางสิ่งซุกซ่อนเร้น ไม่มีทางจะลงเอยกันอย่างราบรื่น สงบสันติสุข … บริเวณโขดหินริมทะเล ยังมักได้รับการตีความถึงสถานที่คาบเกี่ยวกับระหว่างชีวิต-ความตาย
ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าใครคือคนวาด Portrait of Midge Wood แต่ก็น่าจะเป็น John Ferren คนเดิมนะแหละ ลอกเลียนแบบภาพวาด Portrait of Carlotta ด้วยจุดประสงค์ต้องการทำให้ตนเองฟื้นคืนชีพในสายตา Scottie หรือก็คือพยายามรื้อฟื้นถ่านไฟเก่าให้กลับมาคุกรุ่น ทำตนเองให้เป็นจุดสนใจ เฉกเช่นเดียวกันชุดสวมใส่ โดยปกติมักพบเห็นโทนสีอ่อนๆ ‘Pastel Color’ สะท้อนวิถีชีวิตที่ขาดสีสัน ครานี้กลับเลือกเสื้อแดงแรงฤทธิ์ แต่กลับไม่สามารถจุดอะไรติด … หลังจากเขาสะบัดตูดออกจากอพาร์ทเมน้ท์ สิ่งแรกที่เธอทำคือขย้ำทรงผม (ล้อกับการเกล้าผมของ Madeleine) จากนั้นนำสีมาระบาย ทำลายภาพวาด แสดงถึงการสูญเสียความเชื่อมั่น หมดสิ้นศรัทธาในตนเอง
ฟ้ายังไม่ทันสาง Madeleine รีบมาปลุกตื่น Scottie ต้องการเล่าให้ฟังถึงความฝันร้าย (เรื่องพรรค์นี้ใช่ว่าควรจะไปปรึกษาสามีก่อนไม่ใช่หรือ?) วินาทีเปิดประตูออก ใบหน้าของเธอปกคลุมอยู่ในความมืดมิด (สัญลักษณ์ของฝันร้าย หรือแสดงถึงการมีลับลมคมใน) พอเข้ามาในห้องพัก พาไปยังเคาน์เตอร์เครื่องดื่ม พบเห็นเฟอร์นิเจอร์ประดับผนัง ลวดลายวงกลม เกลียว (เอาว่าคือผลงานศิลปะที่สอดคล้องแนวคิด Vertigo) รับประทานยาแล้วจะรู้สึกผ่อนคลายลง
พอสงบสติอารมณ์ Madeleine จึงเริ่มเล่าถึงสถานที่พบเห็นในความฝัน แต่โดยไม่รู้ตัว Scottie ยืนกรานว่า(สถานที่เหล่านั้น)มีอยู่จริง! สังเกตตำแหน่งที่เธอยืนเล่าเรื่อง บานเกร็ดและลวดลายโคมไฟ ต่างมีลักษณะเป็นเส้นๆ แนวนอน-แนวตั้ง ทิศทางตั้งฉากกัน สามารถสะท้อนถึงเรื่องเล่าความฝัน ↔ สถานที่แห่งนั้นมีอยู่จริง
เมื่อเรื่องเล่าของ Madeleine ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ กำลังก้าวเข้าสู่สถานที่แห่งความมืดมิด เธอก็ค่อยๆยื่นหน้าเข้ามาอยู่ภายใต้โคมไฟ (Scottie ก็เฉกเช่นเดียวกัน) พยายามตะเกียจตะกาย มองหาแสงสว่าง หนทางออก
จนกระทั่ง Scottie เดินเข้าข้างหลัง จับบ่า ยกตัวขึ้น พูดให้กำลังใจ บอกว่าเดี๋ยวบ่ายนี้จะขับรถพาไปยังสถานที่จริง จักได้สะสรางปัญหาค้างคาใจ วินาทีนี้กล้องถ่ายมุมก้ม มองลงมาจากด้านบน สื่อถึงการสำแดงอำนาจ บีบบังคับ ควบคุมครอบงำ เขาต้องการช่วยเหลือเธอ ให้สามารถปีนป่ายกลับขึ้นมาจากมุมมืดมิด
จากที่ Madeleine เคยขับรถนำพา Scottie ไปยังสถานที่ต่างๆ คราวนี้สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งที่นั่ง (นั่นเพราะ Scottie ต้องการช่วยเหลือ Madeleine ให้หลุดพ้นจากฝันร้าย) เฉกเช่นเดียวกับภาพตั้งต้น ทิวทัศน์มุมกว้าง Establishing Shot ครั้งก่อนเลือกมุมที่พบเห็นรถเคลื่อนไปข้างหน้า มาคราวนี้รถกำลังแล่นเข้าหา
นี่ถือเป็นกลเกมจิตวิทยาอันเฉลียวฉลาดของ Madeleine (จริงๆต้องบอกว่าคือแผนการของ Gavin Elster) แทนที่จะให้หญิงสาวขับรถนำทาง กลับเป็นนักสืบ Scottie ผู้มีความหลงผิด ครุ่นคิดว่าเธอถูกวิญญาณของ Carlotta Valdes เข้าสิงสถิต ต้องการให้ความช่วยเหลือ จึงอาสาขับรถนำทาง พากลับไปสำรวจรากเหง้า เผชิญหน้าตัวตนเองยัง Mission San Juan Bautista (บ้านเกิดของ Carlotta)
ผมแอบรู้สึกว่าสองภาพนี้ มีความละม้ายคล้ายกันอยู่เล็กๆ
- ช่วงต้นเรื่อง Scottie ทดลองขึ้นบันไดเล็กๆสามขั้น แล้วเกิดอาการหน้ามืดวิงเวียน ทิ้งตัวลงในอ้อมอกของ Midge เป็นลมล้มพับหมดสติ
- ตอนกลางเรื่อง ณ Mission San Juan Bautista ครั้งสุดท้ายที่ Madeleine ถาโถมเข้าใส่ Scottie พร่ำรำพัน พยายามพูดบอกว่ารัก จากนั้นเธอออกวิ่ง ปีนป่ายขึ้นหอระฆัง พลัดตกลงมา ร่ำลาจากเขาชั่วนิรันดร์
แรกเริ่มนั้นผกก. Hitchcock ออกสำรวจสถานที่ Mission San Carlos Borromeo de Carmelo ตั้งอยู่ยัง Carmel Valley แต่ทว่าบุตรสาวของโปรดิวเซอร์เป็นคนแนะนำ Mission San Juan Bautista เพราะเป็นชุมชนเงียบสงบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน และมีพื้นที่สำหรับการถ่ายทำ
Mission San Juan Bautista สำนักมิสซังตั้งอยู่ San Juan Bautista, San Benito County ก่อตั้งขึ้นวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1797 โดย Father Fermín Lasuén จากนิกาย Franciscan ดั้งเดิมนั้นเคยมีหอระฆัง แต่ชำรุดโทรมจากแผ่นดินไหว พายุมรสุม จนมีสภาพผุพัง จึงทำการรื้อทิ้งเมื่อปี ค.ศ. 1949 … ด้วยเหตุนี้หอระฆังที่พบเห็นในหนังจึงเกิดการจากเทคนิคภาพยนตร์
ภาพแรกคือ Mission San Juan Bautista ระหว่างปี ค.ศ. 1880-1910 ยังมีหอระฆังเก่า, ภาพสองสามคือหอระฆังใหม่ เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1976
ขณะที่ฉากภายในหอระฆัง สร้างขึ้นที่โรงถ่ายสตูดิโอ Paramount ให้ได้ความสูงถึง 70 ฟุต (21.33 เมตร) มากกว่าอพาร์ทเม้นท์ 5-6 ชั้น ความสูง 40 ฟุต ของ Rear Window (1954) เสียอีกนะ!
ส่วนภายนอกหอระฆัง เทคนิคภาพยนตร์ที่ใช้ก็คือการวาดภาพบนกระจก ‘Matte Painting’ เลือกมุมกล้อง ตั้งองศาให้เหมาะสม เป็นเทคนิคที่ง่าย ราคาถูกว่า Title Sequence หลายเท่าตัวเลยละ! เผื่อใครนึกไม่ออกว่าเทคนิคนี้เป็นยังไง ลองดูไฟล์ภาพ GIF จำลองจากภาพยนตร์ Modern Times (1936)
โบสถ์/วิหาร ศาสนสถาน สถานที่แห่งความเชื่อศรัทธาของชาวคริสต์ ล้วนมีความสัมพันธ์กับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ปีนป่ายขึ้นสู่สรวงสวรรค์ (มุมเงยติดท้องฟ้า) หรือตกลงสู่ขุมนรก (มุมก้มเห็นพื้นพสุธา), ส่วนบันไดทางขึ้นในหอคอยออกแบบให้มีลักษณะเวียนวนรอบ (อาคารสี่เหลี่ยม) ไม่แตกต่างจากเกลียว เส้นขด ก้นหอย (Spiral) และเมื่อทำการ Dolly Zoom ภาพออกมาเหมือนลิฟท์กำลังขึ้น-ลง สรวงสวรรค์-ขุมนรก
ความตายของ Madeleine ถือเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมกับ Scottie ย่อมเกิดอาการตกตะลึง รู้สึกสิ้นหวัง ไร้เรี่ยวแรงปีนป่ายไปต่อ ค่อยๆคืบคลานกลับลงมาเบื้องล่าง ออกจากหอระฆังด้วยสภาพจิตใจต่ำทราม (จากมุมกล้องภาพสุดท้าย พบเห็นขนาดตัวเล็กลีบ) ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่รับรู้ตนเองว่าได้ทำอะไรต่อไป
Plaza Hall สำหรับพิจารณาคดีความ ตั้งอยู่ฟากฝั่งตรงข้ามกับ Mission San Juan Bautista แต่ภายในห้องโถงมีการสร้างทั้งฉากขึ้นที่โรงถ่ายสตูดิโอ Paramount ด้วยข้อเรียกร้องให้ทำเพดานแบบปิด (ปกติเวลาถ่ายทำในสตูดิโอ มักออกแบบให้เพดานสามารถขยับเคลื่อนย้าย เปิดออก เพื่อสาดส่องแสงจากเบื้องบน) สร้างความยุ่งยากในการถ่ายทำอย่างมากๆ ซึ่งนั่นคือจุดประสงค์ของผกก. Hitchcock ต้องการให้ทีมงาน/ผู้ชมรู้สึกอึดอัด คับแคบ แบบเดียวกับตัวละคร
ตลอดซีเควนซ์การพิจารณาคดี (ไม่นับภาพแรก-สุดท้ายที่ถือเป็น Establishing Shot) สังเกตว่าจะมีการตั้งกล้องต่ำกว่าระดับสายตา ความสูงเท่ากับโต๊ะทำงาน แต่ไม่ใช่เงยขึ้นเห็นเพดาน สามารถสะท้อนความรู้สึกกดดัน อัดอั้น ขณะเดียวกันฟังจากน้ำเสียง ลีลาการพูดของผู้พิพากษา เต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสี ถากถาง ประชดประชัน รวมถึงการเร่งรีบตัดสินของคณะลูกขุน ไม่ได้ใช้เวลาพิจารณาเลยด้วยซ้ำ! มุมกล้องลักษณะนี้ยังสามารถมองเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สมเพศเวทนา
สูทของผู้เข้าร่วมการพิจารณาครั้งนี้ ทุกคนล้วนใส่สีเข้มๆ น้ำตาล กรมท่า เช่นเดียวกับ Scottie ชุดสีน้ำเงินครานี้ล้อกับตอนต้นเรื่อง สัญลักษณ์ของความรู้สึกผิด ซึมเศร้า หดหู่ กลายเป็นตราบาปฝังใจ
หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี ค่ำคืนนี้ Scottie กำลังจะนอนหลับฝันร้าย! ภาพแรกถ่ายมุมก้มเห็นเตียงนอน เงาบานเกร็ดทำการกักขังจิตวิญญาณไว้ภายใน และผ้าห่มแถบสีเหลือง จริงๆมันควรเป็นสีแห่งความผ่อนคลาย แต่ในบริบทนี้กลับกลายเป็นความฝันร้าย
ต่อด้วยกล้องถ่ายใบหน้าของ Scottie พบเห็นแสงน้ำเงินวูบๆวาบๆ แสดงถึงความรู้สึกผิดก่อตัวขึ้นภายในจิตใจ ก่อนลืมตาขึ้นเพื่อสื่อถึงการตื่นขึ้นในความฝัน สิ่งแรกพบเห็นคืออนิเมชั่นสองมิติ ช่อดอกไม้ปลิดปลิว สัญลักษณ์ของการพลัดพราก แยกจาก ความตาย
เกร็ด: Nightmare Sequence ออกแบบถ่ายทำโดย John Ferren ศิลปินผู้วาดภาพ Portrait of Carlotta แต่ความเชี่ยวชาญแท้จริงของพี่แกคือ Abstact Expressionism
เธอคนนี้คือใคร?? มองมุมไหนไม่เห็นเหมือน Kim Novak บางคนอาจตีความว่าอาจเป็น Madeleine ตัวจริง! แต่ความคิดเห็นส่วนใหญ่ลงมติ Carlotta Valdes จดจำได้ว่าคือบุคคลเดียวกับภาพวาด Portrait of Carlotta นางแบบคือ Joanne Genthon (รูปซ้ายคือภาพถ่ายที่ Genthon โพสท่าไว้เป็นต้นแบบภาพวาด Portrait of Carlotta)
การปรากฎตัวของ Carlotta ในความฝันร้ายของ Scottie นั่นอาจแปลว่าบุคคลที่เขาตกหลุมรักไม่ใช่ Madeleine แต่คือเธอผู้เสียชีวิตไปนานแล้ว หมกมุ่นลุ่มหลงบุคคลในภาพวาด นี่น่าจะคือเหตุผลของแสงกระพริบส้ม-แดง สัญญาณเตือนอันตราย รักต้องห้าม ไม่ควรบังเกิดขึ้น
กล้องถ่ายมุมมองสายตา Scottie ขณะกำลังทิ้งตัวลงหลุมฝังศพ จากนั้นมีการทำเอฟเฟคเหมือน(ใบหน้า)กำลังจมดิ่ง ตกลงสู่ก้นเบื้อง ก่อนมาโผล่ยังหอระฆัง Mission San Juan Bautista ย้อนรอยความตายของ Madeleine ด้วยภาพตัดแปะ (Cut-Out Animation) ร่วงหล่นบนหลังคา
เกร็ด: อนิเมชั่นภาพตัดแปะ (Cut-Out Animation) มันคืออันเดียวกับกับภาพยนตร์ Anatomy of a Murder (1959) นั่นเพราะ Saul Bass เป็นคนออกแบบโปสเตอร์ และนำแสดงโดย James Stewart
ผมตีความต่อจากฝันก่อนหน้านี้ รักต้องห้ามกับบุคคลตายไปแล้วอย่าง Carlotta จักทำให้สภาพจิตใจของ Scottie ดำดิ่งลงสู่ขุมนรก เปรียบเทียบกับการตกหล่นจากที่สูง (มีเพียงความตายเท่านั้นที่จักทำให้เขาครองคู่รักกับเธอ) โชคดียังสามารถสะดุ้งตื่น ลุกขึ้นจากเตียงนอน แต่ก็ทำให้เขาล้มป่วยซึมเศร้าหลังจากนั้น
หลังตื่นจากฝันร้าย Scottie กลายเป็นคนเหม่อล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ล้มป่วยซึมเศร้า (Melancholia) เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล St. Joseph’s Hospital ตั้งอยู่ 355 Buena Vista East ฟากฝั่งตรงข้าม Buena Vista Park แต่โรงพยาบาลแห่งนี้หาใช่สถาบันจิตเวชศาสตร์ และปิดกิจการไปเมื่อปี ค.ศ. 1979 ปัจจุบันถูกทุบทำลาย กลายเป็นคอนโดมีเนียม
ชุดของ Scottie และ Midge ต่างมีโทนสีฟ้า-น้ำเงิน แฝงนัยยะถึงความรู้สึกผิด ซึมเศร้า หดหู่ ต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
- ในกรณีของ Scottie กล่าวโทษตนเองที่ไม่สามารถปีนป่ายขึ้นไปบนหอระฆัง เป็นเหตุให้ Madeleine พลัดตกลงมาเสียชีวิต
- ส่วน Midge กล่าวโทษตนเองที่ไม่เข้าใจความต้องการของ Scottie ครุ่นคิดว่าเราสองยังมีเยื่อใย ถ่านไฟคุกรุ่น แต่มันได้ดับมอดลงนานแล้ว
หลังจาก Midge เข้าพบเจอจิตแพทย์ สอบถามอาการของ Scottie พร่ำบ่นถึงบทเพลง Mozart ไม่ได้ช่วยรักษาอะไรใดๆ ออกจากห้องหมอ ก้าวผ่านโถงทางเดินว่างเปล่า บรรยากาศของช็อตนี้ช่างดูเศร้าโศก ร้าวระทม
ภาพทิวทัศน์ San Francisco ถ้ามองผ่านๆมันก็คือทิวทัศน์ San Francisco แต่เมื่อภาพนี้ปรากฎขึ้นหลังการบำบัดรักษาอาการทางจิตเวช ล้มป่วยซึมเศร้าของ Scottie เนื่องจากการสูญเสียหญิงคนรัก Madeleine มันจึงดูอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว แห้งเหี่ยว ไร้ชีวิตชีวา และยังเลือกช่วงเวลาที่ท้องฟ้ากับผืนน้ำมีเฉดสีน้ำเงิน (สัญลักษณ์ความรู้สึกผิด หดหู่ ซึมเศร้า)
Scottie ออกเดินทางแวะเวียนไปยังสถานที่เคยติดตาม Madeleine หน้าอพาร์ทเมนท์, ภัตตาคาร Ernie’s, รวมถึงพิพิธภัณฑ์ Legion of Honor แต่กลับพบเจอเพียงบุคคลหน้าเหมือน แต่งตัวคล้าย ไม่มีใครสามารถเทียบแทนที่เธอได้
กระทั่งแวะเวียนมายังร้านขายดอกไม้ข้างทางแห่งหนึ่ง บังเอิญพบเจอหญิงสาวสวมใส่ชุดสีเขียว (เธอคือบุคคลในความสนใจ แต่การมีรถสีเขียวสองคันขนาบซ้ายขวา สื่อถึงการพยายามทำตัวละครให้กลมกลืนกับบริเวณรอบข้าง ไม่ได้โดดเด่นชัดเจนเหมือนแรกพบเจอ Madeleine) อาจดูไม่สะดุดตา แต่กลับเตะใจ Scottie ถึงขนาดแอบติดตามไปถึงยัง Empire Hotel
เกร็ด: Empire Hotel ตั้งอยู่ 940 Sutter Street ปัจจุบันยังเปิดให้บริการ แต่เปลี่ยนชื่อเป็น York Hotel ล่าสุดคือ Hotel Vertigo, ส่วนฉากภายในห้องพักถ่ายทำในสตูดิโอ
Scottie ไม่สามารถควบคุมตนเองถึงขนาดบุกเข้ามาในห้องพักของ Judy นี่ก็เต็มไปด้วยรายละเอียด Mise-en-scène แต่ผมจะให้ข้อสังเกตภาพสะท้อนในกระจก
- ภาพแรกพบเห็นภาพสะท้อนของ Scottie นั่นหมายถึงการจับจ้องมองหญิงสาวจากภายนอก-ใน เรือนร่างกาย-จิตใจ มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าเธอสามารถเป็นตัวตายตัวแทนภาพลักษณ์ Madeleine และจิตวิญญาณ Carlotta
- ภาพสอง Judy จับจ้องมองกระจก บดบัง Scottie ที่ยืนอยู่ด้านหลัง คำพูดของเธอ “Gee, you have got it bad haven’t you?” ไม่เพียงกล่าวถึงเขา ยังคือภาพสะท้อนเข้ากับตัวตนเอง พานผ่านช่วงเวลาแย่ๆแบบเดียวกัน
หลังจากที่ Scottie ได้วันเวลานัดหมายพบเจอกันพรุ่งนี้ พอออกจากห้องพักไป ภาพถ่ายใบหน้าห่อละเหี่ยวของ Judy ค่อยๆหันกลับเข้าหาหน้ากล้อง แล้วเกิดการ ‘Cross Cutting’ ไปยังสถานที่หอระฆัง นำเสนอเหตุการณ์บังเกิดขึ้นบนนั้น เมื่อหวนกลับมาปัจจุบัน เธอหยิบปากกา เขียนจดหมาย ได้ยินเสียงบรรยาย พูดคำอธิบาย รับสารภาพผิด แต่เพราะรักจึงตัดสินใจขยำกระดาษโยนทิ้ง
สิ่งน่าสนใจคือระหว่าง Judy กำลังเขียนจดหมาย กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลผ่านโคมไฟ (ล้อกับตอน Madeleine เดินทางมาหา Scottie พูดเล่าความฝัน แล้วมุดศีรษะอยู่ใต้โคมไฟ(ที่เปิดไฟ)) แต่อาจเพราะไม่ได้เปิดไฟ เลยอาจสื่อถึงการอับจนหนทาง ไร้หนทางออก เลยยินยอมศิโรราบ ขยำจดหมายโยนทิ้ง
Judy จงใจเลือกชุดสีม่วงอ่อนๆ ไม่ทำให้ดูโดดเด่น หรือชวนให้ระลึกถึง Madeleine ระหว่างมารับประทานอาหารยังภัตตาคาร Ernie’s แต่ทว่าสายตาของ Scottie กลับจับจ้องมองหาใครอื่น หญิงสาวผมบลอนด์ สวมสูทเทาที่กำลังเดินเข้ามา (แม้ภาพด้านหลังดูเบลอๆ แต่ก็อาจเรียกว่า ‘Deep Focus’ ได้กระมัง) นี่แปลว่าเขาไม่มีความสนใจรูปลักษณ์ของเธอแม้แต่น้อย!
เมื่อกลับมาถึงห้องพัก Judy เดินไปนั่งริมหน้าต่าง ปล่อยให้แสงสีเขียวของป้ายโรงแรมสาดส่องผ่านผ้าม่าน ปกคลุมใบหน้าด้วยเงามืดมิด สะท้อนสภาพจิตใจเธอที่รู้สึกผิดหวัง ตกหลุมรัก Scottie แต่เขากลับทำเหมือนไม่สนใจใยดี ถึงอย่างนั้นเมื่ออีกฝ่ายพยายามสรรหาข้ออ้าง พูดบอกต้องการพบเจอหน้ากันอีก หญิงสาวก็หลงคารม มิอาจอดรนทน หักห้ามใจตนเอง
อย่างที่เคยวิเคราะห์ไปว่า เขียวคือสีของชีวิต ขณะเดียวกันยังแฝงนัยยะถึงการล่อลวงหลอก ติดกับดัก ‘deception’ ในบริบทนี้ผมมองว่า Judy ต่างหากที่มิอาจถอนตัวจาก Scottie รับรู้อยู่ก้นเบื้องว่าเขาสนใจเพียงภาพลักษณ์ Madeleine กลับมิอาจหักห้ามใจตนเอง ยินยอมทำตามคำร้องขอ เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง
สถานที่แห่งนี้คือ Palace of Fine Arts ตั้งอยู่ 3301 Lyon St. ย่าน Marina District ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1915 เพื่อใช้จัดแสดงนิทรรศการ 1915 Panama–Pacific International Exposition น่าเสียดายเป็นโครงสร้างเดียวที่ไม่ได้ถูกรื้อถอน หลงเหลือเป็นอนุสรณ์สถาน ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Register of Historic Places) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005
ความตั้งใจในการออกแบบ Palace of Fine Arts เพื่อหวนระลึกถึงจักรวรรดิโรมันที่เคยยิ่งใหญ่ นี่อาจเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่ตัวละครทั้งสองเคยมีให้กัน แต่ปัจจุบันกลับแปรสภาพเป็นอย่างอื่น หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง
ช่วงระหว่างที่ Scottie พยายามโน้มน้าว Judy สวมใส่เสื้อผ้า ย้อมสีผม แต่งองค์ทรงเครื่องให้กลายเป็น Madeleine สังเกตว่าเต็มไปด้วยมุมกล้อง ภาพสะท้อนกระจก ที่สำแดงอิทธิพลต่อตัวละคร ถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ ไม่สามารถต่อต้านขัดขืน เพียงก้มหัวศิโรราบ ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง
That’s the basic situation in this picture. Cinematically, all of Stewart’s efforts to recreate the dead woman are shown in such a way that he seems to be trying to undress her, instead of the other way around. What I liked best is when the girl came back after having had her hair dyed blond. James Stewart is disappointed because she hasn’t put her hair up in a bun. What this really means is that the girl has almost stripped, but she still won’t take her knickers off. When he insists, she says, “All right!” and goes into the bathroom while he waits outside. What Stewart is really waiting for is for the woman to emerge totally naked this time, and ready for love.
Alfred Hitchcock
ผมชอบคำอธิบายนี้ของผกก. Hitchcock เปรียบเทียบความพยายามของ Scottie ในการแต่งองค์ทรงเครื่อง Judy มีลักษณะไม่ต่างจากการปลดเปลื้องเสื้อผ้า (ทางร่างกายและจิตใจ) วินาทีที่หญิงสาวปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็น Madeleine นั่นคือร่างกายเปลือยเปล่า พร้อมแล้วที่จะร่วมหลับนอน ได้รับความรักจากเขา
วินาทีที่ Judy แต่งองค์ทรงเครื่อง กลับกลายเป็น Madeleine แล้วเดินออกจากห้องน้ำ คละคลุ้งด้วยหมอกควัน (จากห้องน้ำ) เอาจริงๆมันดูโคตรไม่สมเหตุสมผล ไอน้ำมันจะออกมาเยอะขนาดนั้นเชียวหรือ? แต่จุดประสงค์ของซีนนี้เพื่อสร้างสัมผัสราวกับความฝัน ฟื้นคืนชีพจากความตาย ล้อกับตอนต้นเรื่องที่ Scottie เคยติดตามหญิงสาวไปยังสุสาน ที่นั่นก็เต็มไปด้วยหมอกควัน ดินแดนแห่งความตาย
แต่สิ่งที่ผมรู้สึกอึ้งทึ่งที่สุด กลับคือปฏิกิริยาสีหน้าของ James Stewart ตกตะลึง ถึงขนาดอ้าปากค้าง แทบไม่อยากเชื่อสายตา (จริงๆจะตีความหมอกควันเบลอๆ แทนสายตาพร่ามัวของตัวละคร ตื่นเต้นจนมองเห็นเธอไม่ชัด เกือบจะน้ำตาไหล ต้องก้าวเข้ามาใกล้ๆ ถึงรับรู้ว่าไม่ได้ตาฝาดไป) นี่น่าจะเป็นการแสดงดูบริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติที่สุดของพี่แกแล้วกระมัง!
At the beginning of the picture, when James Stewart follows Madeleine to the cemetery, we gave her a dreamlike, mysterious quality by shooting through a fog filter. That gave us a green effect, like fog over the bright sunshine. Then, later on, when Stewart first meets Judy, I decided to make her live at the Empire Hotel in Post Street because it has a green neon sign flashing continually outside the window. So when the girl emerges from the bathroom, that green light gives her the same subtle, ghostlike quality. After focusing on Stewart, who’s staring at her, we go back to the girl, but now we slip that soft effect away to indicate that Stewart’s come back to reality. Temporarily dazed by the vision of his beloved Madeleine come back from the dead, Stewart comes to his senses when he spots the locket. In a flash he realizes that Judy’s been tricking him right along.
Alfred Hitchcock
หนึ่งในซีนมหัศจรรย์ของหนัง แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดกล่าวถึงนัก ผมตั้งชื่อว่า “จุมพิต 360 องศา” กล้องเคลื่อนเลื่อนหมุนรอบตัว Scottie จุมพิตกับ Judy/Madeleine ซึ่งระหว่างนั้นภาพพื้นหลังมีการแปรเปลี่ยนจากภายในห้องพักโรงแรม มาเป็นคอกม้า/โรงเก็บรถที่ Mission San Juan Bautista แล้วหวนกลับห้องพักโรงแรม … นี่ถือเป็นการรื้อฟื้นช่วงเวลาที่ Scottie เคยจุมพิต(ครั้งสุดท้าย)กับ Madeleine ยังสถานที่แห่งนั้น ครั้งนี้ก็เฉกเช่นกัน เพราะหลังจากนี้เขาจะพบเจอหลักฐานบางอย่าง ทำให้ตระหนักถึงเบื้องหลังความจริง
แบบเดียวกับตอนที่ Scottie ขับรถพา Madeleine ไปยัง Mission San Juan Bautista แทบจะทุกช็อต ทุกมุมกล้อง ล้วนเป็นการย้อนรอย ย้อนอดีต แค่สลับเปลี่ยนช่วงเวลาจากกลางวันเป็นกลางคืน (ถ่ายทำช่วงเวลา ‘Golden Hour’) ถือเป็นการเดินทางหวนกลับหารากเหง้า พิสูจน์ตนเอง เผชิญหน้ากับความมืดมิดภายในจิตวิญญาณ (Judy สวมใส่เดรสสีดำ คอสี่เหลี่ยม เปิดหน้าอก ไม่หลงเหลืออะไรให้ปกปิด)
Scottie พยายามฉุดกระชากลากดึง Judy ปีนป่ายบันไดขึ้นหอระฆัง นี่ถือเป็นการท้าพิสูจน์ตนเอง เผชิญหน้าความกลัว ระเบิดอารมณ์ ระบายความรู้สึกอัดอั้น โดยไม่รู้ตัวดำเนินมาถึงชั้นบนสุด สามารถเอาชนะโรคกลัวที่สูงได้สำเร็จ! ซึ่งนั่นทำให้ปฏิกิริยาแสดงออกของพวกเขา สลับเปลี่ยน กลับตารปัตรตรงกันข้าม
- Judy เต็มไปด้วยความกลัวจนตัวสั่น เดินหลบมุม หลังผิงฝา ซ่อนตัวในเงามืด พยายามพูดโน้มน้าว (น้ำเสียงสั่นๆ) Scottie ขอโอกาสสุดท้ายหวนกลับมาคืนดี
- แสดงออกเหมือนคนกลัวที่สูง แต่จริงๆแล้วคือหวาดกลัว Scottie
- แต่ทว่า Scottie กลับปฏิเสธต่อต้าน ไม่สามารถยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น บอกว่าทุกสิ่งอย่างสายเกินแก้ไข
- จากตอนกำลังปีนป่ายบันได ระบายคำพูดอารมณ์อย่างรุนแรงบ้าคลั่ง พอถึงชั้นบนหอระฆัง เอาชนะความกลัว เลยดูสงบสติขึ้นกว่าเดิม แต่ยังนำพาตนเองมายืนท่ามกลางเงามืดมิด ไม่สามารถปล่อยละวางกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
แม้ผู้ชมจะรับรู้ในอีกเสี้ยววินาที ว่าเงาดำเลือนลางที่กำลังปีนป่ายขึ้นมาคือแม่ชีประจำ Mission San Juan Bautista แต่ก็ชวนให้ครุ่นคิดว่า Judy พบเห็นอะไร? ครุ่นคิดว่าคืออะไร? เธอถึงแสดงสีหน้าหวาดผวา ตกอกตกใจกลัว ถึงขนาดผลักตัวออกจากอ้อมอก Scottie แล้วสะดุดล้ม พลัดตกหล่น หรือจงใจกระโดดหอระฆัง
- หลายคนมักตีความกันง่ายๆ ก็แค่เงามืด ทำให้สะดุ้งตกใจ คาดไม่ถึงว่าจะมีใครปีนขึ้นมาเพลานี้ เลยแสดงออกโดยสันชาตญาณ ก้าวถอยหลัง พลันสะดุดล้ม
- บางคนมองว่าเธออาจจินตนาการถึง Carlotta (หรืออาจจะ Madeleine ตัวจริง) วิญญาณบุคคลเคยสวมบทบาท กลัว(วิญญาณ)คนตายติดตามมาหลอกหลอน
- เพราะเคยมีส่วนร่วมฆาตกรรม Madeleine จึงอาจจินตนาการถึง Gavin เพราะขณะนี้ความจริงทั้งหมดได้รับการเปิดเผย เลยกลัวว่าตนเองอาจถูกฆ่าปิดปาก
ตอนจบของหนังอาจดูค้างๆคาๆอยู่หลายประเด็น Scottie จะเป็นยังไงต่อ? Midge หายตัวไปไหน? ผู้อยู่เบื้องหลัง Gavin Elster จักได้รับกรรมตามสนองหรือไหม? แต่การจบลงแค่นี้ถือว่าปิดประเด็น เนื้อหาสาระเกี่ยวกับความหมกมุ่น(มัก)มากเกินพอดี ผลักดันตนเองจนถึงจุดสูงสุด ผลลัพท์จึงคือโศกนาฎกรรม ทำให้สูญเสียทุกสิ่งอย่าง หญิงสาวผู้โชคร้ายพลัดตกลงมา (สูงสุด)หวนกลับสู่สามัญ
แต่แน่นอนว่าตอนจบแบบนี้ ไม่น่าจะผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code เลยมีการถ่ายทำ Alternate Ending เผื่อเอาไว้ด้วย Scottie เดินทางไปอพาร์ทเม้นท์ของ Midge ได้ยินข่าวคราวตำรวจยุโรปกำลังไล่ล่าจับกุมอาชญากร Gavin Elster แต่ทว่าผกก. Hitchcock พยายามสู้สุดตัว จนสามารถต่อรอง นำออกฉายตอนจบตามแผนดั้งเดิมได้สำเร็จ
The ending of Vertigo is the logical result of Ferguson’s psychological obsession with the “dead” Madeleine. He was desperate to shape Judy back into the version of Madeleine that he wanted, only to realize the truth. It would subvert the point of the film, and it would feel wrong, to have a dénouement. By the end, it’s insignificant whether Elster is caught for his crimes. The point is to focus on the tragedy of Ferguson’s singular obsession and the depressing outcome of his relationship with Judy.
Jeffrey Harris จากเว็บไซด์ Collider
คลิปใน Youtube มักถูกลบทิ้งเพราะติดเรื่องลิขสิทธิ์ ใครสนใจก็ลองค้นหา “Vertigo Alternate Ending” เอาเองนะครับ: [Youtube]
ตัดต่อโดย George Tomasini (1909-64) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Springfield, Massachusetts ทำงานในสังกัด Paramount Picture เริ่มมีชื่อเสียงจาก Stalag 17 (1953), โด่งดังจากการร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ตั้งแต่ Rear Window (1954) จนถึง Marnie (1964)
ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา(อดีต)นักสืบ John ‘Scottie’ Ferguson ตอบตกลงเพื่อนสมัยเรียน Gavin Elster รับงานติดตามภรรยา Madeleine สืบเสาะค้นหาเหตุผล ทำไมถึงเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หลังให้ความช่วยเหลือขึ้นจาก San Francisco Bay เมื่อมีโอกาสพูดคุย สานสัมพันธ์ โดยไม่รู้ตกหลุมรัก แล้วสูญเสียเธอไป
- อารัมบทเรื่องราว แนะนำตัวละคร
- Title Sequence ออกแบบกราฟฟิกโดย Saul Bass
- Scottie ไล่ล่าผู้ร้ายบนหลังคา สะดุดล้มเกือบจะตกตึก แต่เพื่อนตำรวจอีกคนกลับไม่โชคดีขนาดนั้น
- เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Scottie ตัดสินใจเกษียนราชการ แวะเวียนมาสนทนากับอดีตคู่หมั้น Midge
- เดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อนสมัยเรียน Gavin Elster ตอบตกลงรับงานติดตามภรรยา
- แรกพบเจอ Madeleine ยังภัตตาคาร Ernie’s ตกตะลึงในความงดงาม
- Madeleine และ Carlotta Valdes
- Scottie ขับรถแอบติดตาม Madeleine ไปยังสถานที่ต่างๆ
- ขุดคุ้ยค้นหาข้อมูลจากภาพวาด สถานที่ต่างๆ ก่อนเรียนรู้เรื่องราว Carlotta Valdes น่าจะเป็นย่าทวดของ Madeleine
- วันหนึ่ง Madeleine กระโดดลงอ่าว San Francisco Bay ได้รับความช่วยเหลือจาก Scottie พากลับมายังห้องพัก
- หลังจากวันนั้นพวกเขาก็เริ่มสานสัมพันธ์ ขับรถเล่นไปยัง Muir Woods National Monument
- ท้ายที่สุดเดินทางมุ่งสู่ Mission San Juan Bautista แต่ทว่า Madeleine ราวกับถูกวิญญาณเข้าสิง ปีนป่ายขึ้นไปบนหอระฆัง พลัดตกลงมาเสียชีวิต
ครึ่งหลังจากความสูญเสีย มุมมองดำเนินเรื่องจะไม่จำเพาะเจาะจงที่ Scottie อีกต่อไป ช่วงระหว่างเข้าบำบัดยังสถานจิตเวช มีการสลับมุมมองอดีตคู่หมั้น Marjorie ‘Midge’ Wood หลายเดือนให้หลังบังเอิญพบเจอ Judy Barton ก็เคยเปลี่ยนมานำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดผ่านมุมมองของเธอ (พร้อมแทรกภาพย้อนอดีต อธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้น)
- สภาพสิ้นหวังของ Scottie
- การไต่สวน พิจารณาคดีความ ลูกขุนลงความเห็นไม่ยื่นฟ้อง Scottie
- Scottie เข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลจิตเวช
- พออาการดีขึ้น แวะเวียนไปยังสถานที่ต่างๆที่เคยแอบติดตาม Madeleine
- จนกระทั่งได้พบเจอกับ Judy Barton ติดตามเธอไปที่ห้อง ร้องขอโอกาส
- ความจริงเกี่ยวกับ Judy Barton
- Judy สองจิตสองใจที่จะตอบรับ Scottie จึงเขียนจดหมายอธิบายข้อเท็จจริงบังเกิดขึ้น ก่อนขย้ำโยนทิ้งลงถังขยะ
- Judy ตระหนักว่า Scottie พยายามจะปรับเปลี่ยนเธอให้กลายเป็น Madeleine ทีแรกก็พยายามต่อต้านขัดขืน แต่ก็มิอาจฝืนใจตนเอง เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง
- กระทั่งวันหนึ่ง Scottie สังเกตเห็นสร้อยคอของ Madeleine เลยพยายามลากพา Judy ไปยัง Mission San Juan Bautista
- เมื่อมาถึง Mission San Juan Bautista ก็ฉุดกระชากลากพาขึ้นไปบนหอระฆัง ก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
คล้ายๆแบบ Rear Window (1954) ใครช่างสังเกตย่อมพบเห็น Vertigo (1958) เต็มไปด้วยลีลาตัดต่อสลับไปมาระหว่างสายตา/ปฏิกิริยาของ Scottie จับจ้องมอง Madeleine (รวมถึง Judy) นี่คือลักษณะของการถ้ำมอง (Voyeurism) ผ่านสายตาบุรุษ (Male Gaze) จับจ้องหญิงสาวราวกับวัตถุทางเพศ (Object of Desire) หรือจะเรียกว่า ‘Fetishism’ ก็ได้เช่นกัน
เพลงประกอบโดย Bernard Herrmann ชื่อเกิด Maximillian Herman (1911-75) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ในครอบครัว Russian Jewish บิดาผลักดันบุตรชายให้ร่ำเรียนไวโอลินตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 13 แต่งเพลงชนะรางวัล จึงมุ่งมั่นเอาจริงจังด้านนี้ โตขึ้นเข้าศึกษา New York University ต่อด้วย Juilliard School จบออกมาก่อตั้งวง New Chamber Orchestra of New York, ก่อนเข้าร่วม Columbia Broadcasting System (CBS) กลายเป็นวาทยากร CBS Symphony Orchestra ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมงาน Orson Welles ทำเพลงประกอบรายการวิทยุ, Radio Drama, ภาพยนตร์เรื่องแรก Citizen Kane (1941), The Devil and Daniel Webster (1941)**คว้ารางวัล Oscar: Best Music, Scoring of a Dramatic Picture, The Magnificent Ambersons (1942), Jane Eyre (1943), Anna and the King of Siam (1946), The Day the Earth Stood Still (1951), Cape Fear (1962), Taxi Driver (1976) ฯ
Herrmann ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ทั้งหมด 7 ครั้ง ประกอบด้วย The Trouble with Harry (1955), The Man Who Knew Too Much (1956), The Wrong Man (1956), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960) และ Marnie (1964)
Hitchcock’s film is about obsession, which means that it’s about circling back to the same moment, again and again… And the music is also built around spirals and circles, fulfillment and despair. Herrmann really understood what Hitchcock was going for — he wanted to penetrate to the heart of obsession.
Martin Scorsese อธิบายถึงลักษณะบทเพลงใน Vertigo (1958)
หนึ่งในเพลงประกอบทรงอิทธิพลที่สุดแห่งวงการภาพยนตร์! เนื่องจากเรื่องราวของ Vertigo (1958) เกี่ยวกับความหมกมุ่น (Obsession) นำเสนอผ่านสัญลักษณ์เกลียวหมุนๆ เส้นขด ก้นหอย เฉกเช่นเดียวกับเพลงประกอบที่จะมีการไล่ระดับตัวโน้ตขึ้นๆลงๆ เวียนวนไปวนมา ถ้าดูจากโน๊ตเพลง (Sheet Music) จะดำเนินไปเหมือนระลอกคลื่น ฟังแล้วสามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้ตั้งแต่เริ่มรับชม
เกร็ด: ใครอยากศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเพลงประกอบของหนัง แนะนำให้ค้นหา “Vertigo Music Analysis” พบเจอหลายคลิปใน Youtube นำเอาโน๊ตเพลงมาเปรียบเทียบเพลงบรรเลง เห็นการดำเนินไปที่ราวกับระลอกคลื่น ขึ้นๆลงๆ เวียนวงกลม
ลีลาการใช้เพลงประกอบของผกก. Hitchcock ดั่งคำที่โปรดิวเซอร์ David O. Selznick เคยประชดประชันเอาไว้ “goddamn jigsaw-cutting” ผมอ่านเจอว่าตลอดทั้งเรื่องมีถึง 42 Cues (42 ตำแหน่งที่แทรกใส่บทเพลง) แต่จะแตกต่างจากยุคแรกๆที่บทเพลงดังขึ้นไม่กี่วินาทีแล้วเงียบหายไป ผลงานยุคหลังๆมีท่วงทำนองยาวขึ้น เพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยาย ‘Suspense’ ตึงเครียด ลุ้นระทึก ใจจดใจจ่อกับเหตุการณ์กำลังจะบังเกิดขึ้น
บทเพลง The Bay เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองเคลิบเคลิ้ม ล่องลอย ราวกับอยู่ในความฝัน Scottie ติดตาม Madeleine มาถึงยัง Fort Point ขณะกำลังจะผลอยหลับ เธอดันกระโดดลงอ่าว San Francisco Bay เสียงประสานออร์เคสตราดังกระหึ่ม ทำเอาผู้ชมสะดุ้งตื่น ลืมตาโพลง มันเกิดเหตุการณ์อะไรยังไง ใครกระโดดน้ำ ลงไปทำอะไร???
หนึ่งในอีกบทเพลงไฮไลท์ Farewell And The Tower เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองเบาๆ แฝงความเคลือบแคลง หวาดระแวง ลางบอกเหตุร้าย Scottie นำพา Madeleine มาถึงยัง Mission San Juan Bautista ช่วงแรกๆยังคงหวานแหวว โรแมนติก อินเลิฟกันจัง แล้วจู่ๆหญิงสาวปีนป่ายขึ้นหอระฆัง ท่วงทำนองจะค่อยๆไต่ไล่ระดับ (Crescendo) ขึ้นตามลำดับขั้นบันได จากนั้นทุกสิ่งอย่างเงียบสงัด เสียงเครื่องเป่าดังแหลมปี๊ดขึ้นมาเสี้ยววินาที (ประมาณนาที 4:10) และเมื่อตัวละครตระหนักถึงเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เสียงออร์เคสตราโหมกระหน่ำ พัดพาอารมณ์แห่งความสูญเสียถาโถมเข้าใส่ แทบจะไม่สามารถอดรนทนอยู่สถานที่แห่งนี้ได้อีกต่อไป
เกร็ด: Herrmann ใช้เวลาในการแต่งเพลงประกอบประมาณเดือนครึ่ง ได้รับค่าจ้าง $17,500 เหรียญ แต่การบันทึกเสียงกลับเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆ เพราะขณะนั้นบรรดานักดนตรีที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ American Federation of Musicians (AFM) ต่างกำลังประท้วงหยุดงาน ไม่พึงพอใจประธานที่ไม่เห็นหัวสมาชิก ตระเตรียมก่อตั้งสมาคมขึ้นใหม่ Musicians Guild of America (MGA) เป็นเหตุให้ Herrmann ต้องเดินทางไปบันทึกเสียงยังกรุง London ร่วมกับ London Symphony Orchestra แต่ไม่นานก็ต้องย้ายไป Vienna (เพราะนักดนตรีที่ London ก็ดันสนับสนุนการประท้วงหยุดงานที่สหรัฐอเมริกา)
The Nightmare And Dawn บทเพลงฝันร้ายของ Scottie หลังจากผลอยหลับ ลืมตาตื่นขึ้นในความฝัน เต็มไปด้วยสับสน กระวนกระวาย หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา ท่วงทำนองพยายามบรรเลงให้สอดคล้องภาพอนิเมชั่นพบเห็น ราวกับสัญญาณเตือนภัย ดังซ้ำไปซ้ำมา กระทั่งตัวละครพลัดตกลงในหลุมศพ ปลายทางหวนระลึกภาพความตายของ Madeleine เลยสะดุ้ง ตกใจตื่น ตุ้งงง…แช่
ส่วนครึ่งหลัง And Dawn ท่วงทำนองอาจฟังดูเปร่งประกายความหวัง แต่มันไม่ใช่สำหรับ Scottie ถูกส่งตัวเข้ารักษาตัวในสถาบันจิตเวช มันจึงเป็นรุ่งอรุณแห่งความว่างเปล่า ฝันร้ายยังคงไม่เลือนลางจางหาย
ระหว่าง Scottie เข้ารักษาตัวในสถาบันจิตเวช Midge เดินทางมาเยี่ยมเยียน เปิดบทเพลง Mozart: Symphony No. 34 in C Major, K. 338 – II. Andante di molto più tosto Allegretto เชื่อว่าน่าจะช่วยบำบัดรักษาอาการป่วย … จริงๆมันก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่จะรักษาหายโดยทันที
เกร็ด: ชีวิตวัยเด็กของ Mozart ไม่ได้มีความทรงจำต่อที่บ้านดีนัก ทั้งการสูญเสียพี่น้อง รวมถึงความเข้มงวดกวดขันของบิดาจอมบงการ จึงเสาะแสวงหาโอกาสเดินทางออกจาก Salzburg ไปทำงานยังสถานที่อื่น แต่กว่าวันเวลานั้นจะมาถึงก็ช่วงปี ค.ศ. 1780 ได้รับมอบหมายให้ประพันธ์อุปรากร Idomeneo ประสบความสำเร็จจนถูกเรียกตัวไป Vienna
โดยผลงานชิ้นสุดท้ายที่ Mozart ประพันธ์ขึ้นที่ Salzburg ก็คือ Symphony No. 34 in C Major มีทั้งหมด 3 Movement ประกอบด้วย
- Allegro vivace มีท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง ยินดีปรีดาถึงข่าวสารได้รับรู้มา ได้รับการติดต่อจาก Vienna แทบมิอาจอดใจรอคอยวันเวลานั้นจะมาถึง
- Andante di molto (piu tosto allegretto) คือช่วงเวลาสงบสติอารมณ์ (calmness and serenity) เฝ้ารอคอยการเดินทางที่กำลังจะบังเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
- Finale (Allegro vivace) ช่วงเวลาออกเดินทาง ไปจากบ้านเกิดเสียที ปลดปล่อยตนเอง ได้รับอิสรภาพชีวิต ต่อจากนี้สามารถทำอะไรได้ตามใจ ไม่ถูกควบคุมครอบอีกต่อไป
ท่อนที่หนังนำมาใช้คือ Andante di molto (piu tosto allegretto) คงเพราะท่วงทำนองมีความเนิบนาบ ผ่อนคลาย สามารถสร้างความสงบจิตสงบใจให้ Scottie ที่ยังคงฟุ้งซ่าน โทษตนเองเรื่องความตายของ Madeleine
บทเพลง The Letter เริ่มต้นการใช้เครื่องเป่าขนาดใหญ่อย่างทูบา (Tuba) และยูโฟเนียม (Euphonium) สร้างเสียงทุ้มต่ำ เพื่อให้เกิดสัมผัสลึกลับ ลมคมใน ความจริงซุกซ่อนไว้ ซึ่งขณะนี้ Judy ตัดสินใจเขียนจดหมาย อธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้นทั้งหมด ท่วงทำนองยังค่อยๆไต่ไล่ระดับ เงียบหายไปช่วงหนึ่ง ก่อนตัดสินใจขยำกระดาษ โยนทิ้ง ราวกับไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น
เกร็ด: Herrmann มองว่า San Francisco ไม่ใช่สถานที่เหมาะกับเรื่องราวของหนัง ระหว่างแต่งเพลงประกอบจึงจินตนาการถึง New Orleans สถานที่ที่มีภูมิอากาศอบอุ่น ติดอ่าวเม็กซิโก
I felt Vertigo made one big mistake. They should have never made it in San Francisco… It should have been left in New Orleans, or in a hot, sultry climate. When I wrote the picture, I thought of that. When I do a film, if I don’t like it, I go back to the original.
Bernard Herrmann
ทิ้งท้ายกับบทเพลงไพเราะที่สุดของหนัง Scene D’Amour (แปลว่า Scene of Love) ท่วงทำนองจะเริ่มจากเนิบนาบ ค่อยๆไต่ไล่ระดับ สำแดงพลังแห่งรักจนถึงจุดสูงสุด แต่ขณะเดียวกันกลับมีเสียงเคลือบแฝง บางสิ่งอย่างเจือปน ลีลาการบรรเลงที่เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเลใจ เหมือนมีลับลมคมอะไรบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถสำแดงความซื่อสัตย์บริสุทธิ์ ความรู้สึกแท้จริงออกมาจากภายใน
เกร็ด: Hitchcock แนะนำให้ Herrmann ทำการศึกษาบทเพลงจากบทละคร Mary Rose (1920) ประพันธ์โดย J.M Barrie แต่ไม่มีการยืนยันว่า Herrmann ได้รับฟังบทเพลงนั้นหรือเปล่า (เพราะหาฟังยากมากๆ) แต่ที่แน่ๆน่าจะรับอิทธิพลจากอุปรากร Tristan and Isolde (1859) ไคลน์แม็กซ์บทเพลง Liebestod (แปลว่า Love Death) ประพันธ์โดย Richard Wagner
อดีตนักสืบ Scottie มีปมฝังใจ ‘Trauma’ ล้มป่วยโรคกลัวที่สูง (Acrophobia) เลยตกเป็นเหยื่ออาชญากรเลือดเย็น Gavin Elster ทำการหลอกปั่นหัว มอบหมายภารกิจให้ติดตามหญิงสาวครุ่นคิดว่าคือภรรยา Madeleine เพื่อว่าพอมาถึงหอระฆัง ไม่สามารถปีนป่ายขึ้นเบื้องบน พบเห็นความตายของภรรยาตัวจริง! เข้าใจผิดว่าคือการฆ่าตัวตาย เนื่องจากวิญญาณร้ายเข้าสิงสถิต
พล็อตคล้ายๆ Dial M for Murder (1954) สามีหยิบยืมมือเพื่อนสมัยเรียนฆาตกรรมภรรยา แต่ทว่า Vertigo (1958) ใช้ประโยชน์จากโรคกลัวที่สูง ทำให้ Scottie ไม่สามารถปีนป่ายขึ้นไปยังสถานที่เกิดเหตุ หรือตรวจสอบอัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต (มันคือพล็อตโหว่ที่ไม่ต้องไปสนใจมากก็ได้) นั่นทำให้เขาจมปลักอยู่กับความสิ้นหวัง ไร้เรี่ยวแรง พละกำลัง เพียงความเวิ้งว่างเปล่าภายในจิตใจ
หลังเข้ารับการบำบัดรักษาจนสามารถหวนกลับมามีชีวิตอย่างคนปกติ แต่ทว่า Scottie ยังมิอาจหลงลืม Madeleine แวะเวียนไปตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งพบเจอหญิงสาว Judy รูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายอย่างกะแกะ! จึงพยายามโน้มน้าว ไหว้วานร้องขอ ย้อมสีผม แต่งองค์ทรงเครื่อง ทำทุกสิ่งอย่างจนได้ภาพลักษณ์ตามความใฝ่ฝัน ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความจริง Judy = Madeleine จึงฉุดกระชากลากพาเธอไปยัง Mission San Juan Bautista เพื่อท้าพิสูจน์ เอาชนะความกลัว(ที่สูง) ขบไขปริศนาคดีฆาตกรรม แต่ผลลัพท์กลับกลายเป็นโศกนาฎกรรมเกิดขึ้นอีกครั้ง
สิ่งที่น่าจะถือเป็นสาระข้อคิดของหนัง ผมพยายามเค้นสมองสุดๆ ครุ่นคิดได้สองประเด็น
- อย่าหมกมุ่น (Obsession) กับบางสิ่งอย่างมากจนเกินไป ควรรู้จักประมาณตน ทำอะไรๆให้เพียงพอดี มีสติหยุดยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช่ปล่อยตามอารมณ์ จนไม่สามารถควบคุมตนเอง
- หญิงสาวไม่ใช่ตุ๊กตา มนุษย์ไม่ใช่หุ่นเชิดชัก ชีวิตจริงไม่ใช่ภาพยนตร์! เราจึงควรให้เกียรติผู้อื่น ไม่ใช่พยายามบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ จับแต่งองค์ทรงเครื่อง ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น ต้องทำทุกสิ่งอย่างตามใจฉัน
- มุมมองของเสรีชน ความรักไม่ใช่การครอบครอง คือแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ให้พื้นที่ อิสรภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม
การตีความที่พบเห็นบ่อยของ Vertigo (1958) ทำการเปรียบเทียบพฤติกรรมหมกมุ่นของ Scottie ต่อภาพลักษณ์หญิงสาว Madeleine == ผกก. Hitchcock ลุ่มหลงใหลนักแสดงหญิงผมบลอนด์ จับแต่งตัวให้มีความสวย เย่อหยิ่ง เย็นชา เปร่งประกายดั่งดาวประดับฟ้า เลยต้องการฉุดกระชากลากลงมาบดขยี้ กระทำให้ป่นปี้
Blondes make the best victims. They’re like virgin snow that shows up the bloody footprints.
Alfred Hitchcock
หลายคนมักมองความหมกมุ่นของผกก. Hitchcock ต่อนักแสดงหญิงผมบลอนด์ในเชิงรังเกียจเดียดฉันท์ (Misogyny) เอาจริงๆมันคงไม่ถึงขั้นนั้น เราต้องเข้าใจว่าเขาเติบโตขึ้นในสังคมผู้ดีอังกฤษ ทัศนคติต่อสตรีเพศคือช้างเท้าหลัง ต้องเรียบร้อยประดุจผ้าพับไว้ แต่เมื่อยุคสมัยปรับเปลี่ยนแปลงไป การมาทำงานยัง Hollywood พบเห็นหญิงสาวรุ่นใหม่ ระริกระรี้แรดร่าน เรียกร้องโน่นนี่นั่น โหยหาอิสระ พยายามแหกขนบกฎกรอบทุกสิ่งอย่าง มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายจะยินยอมรับ ปรับตัว อคติเหล่านั้นจึงซุกซ่อนอยู่ภายใต้แนวคิด “Hitchcock Blonde”
ความหมกมุ่นของ Scottie ไม่ได้แค่สะท้อนรสนิยมผกก. Hitchcock แต่ยังเหมารวมผู้กำกับในยุค Classical Hollywood แทบจะมีแต่ชายล้วน ไม่ต่างจากระบอบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ต่างรังสรรสร้างตัวละครเพศหญิงจากมุมมอง/ทัศนคติของตนเอง ต้องสวมใส่อย่างโน้นนี้ ก้าวเดินอย่างนี้นั้น ปฏิบัติตัวอย่างคำสั่งของฉัน
[Vertigo]’s a tale of male aggression and visual control; as a map of female Oedipal trajectory; as a deconstruction of the male construction of femininity and of masculinity itself; as a stripping bare of the mechanisms of directorial, Hollywood studio and colonial oppression; and as a place where textual meanings play out in an infinite regress of self-reflexivity.
Susan White จากหนังสือ Vertigo and Problems of Knowledge in Feminist Film Theory (1999)
Of course, in a way, that was how Hollywood treated its women in those days. I could really identify with Judy, being pushed and pulled this way and that, being told what dresses to wear, how to walk, how to behave. I think there was a little edge in my performance that I was trying to suggest that I would not allow myself to be pushed beyond a certain point – that I was there, I was me, I insisted on myself.
บทสัมภาษณ์ Kim Novak กล่าวถึงวิถี Hollywood ยุคสมัยก่อน
ในทางกลับกัน สายตาอันหมกมุ่น ‘male gaze’ ของบุรุษเหล่านั้น คือภาพสะท้อนการตกเป็นเหยื่อสตรีเพศ กลเกม มารยาเสน่ห์ แต่งตัวยั่วราคะ สวยเริดเชิดหยิ่ง เพื่อให้พวกเขาเกิดความโหยหา ขวนขวายไขว่คว้า ต้องการครอบครองหญิงสาวในอุดมคติ แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของเธอคนนี้ ก็พยายามมองหาใครอีกคน แต่งองค์ทรงเครื่อง … เวียนวงกลมซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนี้
On another level, Vertigo’s male voyeur is actually the one who finds himself on the submissive side of this patriarchal powerplay—for he is not the one who controls the narrative, she is. Scottie is rendered powerless by the idealized and idolized fantasy in his mind, unaware of who the unknown woman really is and oblivious to what is actually taking place. She, on the other hand, is always one step ahead of him, counting on his gaze, attraction and urges to get both of them to where they need to be, if the plan they are a part of is to be played out as was intended. Ultimately, the final decision whether to stay or go was hers alone—she willed it so, knowingly and consciously, potential repercussions be damned.
Koraljka Suton
เราสามารถมองครึ่งแรกของหนังคือภาพสะท้อนวิถีสังคมยุคก่อน Judy ยินยอมทำตามคำสั่งนายจ้าง Gavin Elster ปลอมแปลงตนเอง กลายร่าง สวมวิญญาณเป็น Madeleine โดยไม่สำแดงอารยะขัดขืนใดๆ (แนวคิดสังคมยุคก่อน = หญิงสาวคือช้างเท้าหลัง จำต้องก้มหัวศิโรราบต่อบุรุษ) ผิดกับครึ่งหลัง โลกยุคสมัยใหม่ เธอพยายามปฏิเสธต่อต้าน ไม่ต้องการทำตามข้อเรียกร้องของ Scottie แม้ต่อมาจะยินยอมโอนอ่อนผ่อนปรน แต่ความตายตอนจบแสดงให้เห็นว่านั่นไม่วิถีทางที่ถูกต้อง (สังคมยุคใหม่ หญิงสาวไม่ใช่วัตถุทางเพศให้ใครครอบครอง ตกเป็นเจ้าของ หรือก้มหัวศิโรราบต่อบุรุษ) … ถ้าคุณสามารถมองประเด็นนี้ออก จะพบว่า Vertigo (1958) เคลือบแฝงความเป็น Feminist อยู่ไม่น้อยทีเดียว!
อีกการตีความที่พบเห็นบ่อยก็คือ ความขัดแย้งระหว่างโลกความจริง (Reality) vs. ภาพลวงตา (Illusion) นั่นคือสิ่งที่ Scottie ไม่สามารถแยกแยะทั้งสองสิ่งออกจากกัน ลุ่มหลงใหลภาพลักษณ์ของ Madeleine จึงพยายามจับแต่งองค์ทรงเครื่อง Judy เป็นการทำให้ภาพความฝัน แปรสภาพสู่โลกความจริง (นามธรรมแปรสภาพสู่รูปธรรม)
ปล. จะว่าไปการปลุกปั้นหญิงสาวให้รับบทบาท สวมวิญญาณตัวละคร หรือโมเดล “Hitchcock Blonde” ดูไม่แตกต่างจากศิลปินวาดภาพ แกะสลักรูปปั้น รังสรรค์ผลงานศิลปะ
ตั้งแต่ที่ผกก. Hitchcock เซ็นสัญญา(ทาส)กับโปรดิวเซอร์ David O. Selznick เดินทางมาทำงานยัง Hollywood ล้วนสรรสร้างภาพยนตร์ภายใต้การควบคุมครอบงำ (ของโปรดิวเซอร์+สตูดิโอ) รวมถึงกฎกรอบกองเซนเซอร์ Hays Code พยายามต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน หาหนทางผ่อนปรน ไม่สามารถปีนป่ายบันไดขึ้นถึงบนดาดฟ้าได้เสียที!
จนกระทั่งเมื่อหมดสัญญาทาส ก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง ช่วงทศวรรษ 50s จึงมีคำเรียก ‘Peak Year’ จุดสูงสุดในอาชีพการงานผกก. Hitchcock ถือเป็นช่วงเวลาแห่งอิสรภาพ มากด้วยประสบการณ์ สรรสร้างภาพยนตร์โดยไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร แม้แต่กองเซนเซอร์ก็ไม่ยี่หร่าสักเท่าไหร่ … หรือคือสามารถปีนป่ายบันไดขึ้นถึงชั้นดาดฟ้า โดยไม่ต้องหวาดกลัวความสูงอีกต่อไป
แต่การไปถึงจุดสูงสุดในชีวิตนั้น ต้องใช้ความมุ่งมั่น ทุ่มเทพยายาม เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ แลกมาด้วยอะไรๆหลายสิ่งอย่าง รวมถึงอาจสูญเสียใครบางคน … โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นตอนจบ ชักชวนผู้ชมตั้งคำถามถึงการไปถึงเป้าหมายโดยละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ขายวิญญาณให้ปีศาจ มันเป็นสิ่งคุ้มค่าแล้วหรือไม่? หมกมุ่นกับชัยชนะ ชื่อเสียง-เงินทอง ความสำเร็จ ยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง ฉันต้องเหนือกว่าผู้อื่นใด คนพรรค์นี้ท้ายที่สุดมักไม่หลงเหลืออะไร หรือใครสักคนเคียงข้างกาย
ความสำเร็จในการปีนป่ายบันไดขึ้นถึงบนดาดฟ้า ยังสามารถสื่อถึงการพิสูจน์ตนเอง เอาชนะความกลัว สำหรับผกก. Hitchcock น่าจะคือนำเอาพฤติกรรมหมกมุ่น ลุ่มหลงใหล(สตรีเพศ) สิ่งที่สังคมสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับ มาสรรสร้างภาพยนตร์ สำแดงรสนิยม ความเป็นตัวของตนเอง … นั่นคือวิถีศิลปิน รังสรรค์ผลงานศิลปะ
ในทิศทางกลับกัน แทนที่จะตีความหนังถึงการปีนป่ายสู่จุดสูงสุด หลายคนเลือกวิเคราะห์ถึงการพลัดตกลงมา (Falling) ซึ่งคำภาษาอังกฤษมีลูกเล่นอย่าง “falling in love” “fall into a trap” “fall into water” “fall into depression” เรียกได้ว่าตัวละครมีสารพัดเหตุให้เกิดการพลัดตก (ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม) มากมายเต็มไปหมด!
ซึ่งทุกครั้งที่มีการพลัดตก พวกเขาและเธอต่างพยายามกระเสือกกระสน ต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางตะเกียกตะกายกลับขึ้นมา แล้วก็ตกลงไปใหม่ วัฏจักรชีวิตก็เฉกเช่นนี้ ขึ้นๆลงๆ เวียนวงกลม สะสมประสบการณ์ เพื่อสักวันหนึ่งจักสามารถปีนป่ายสู่จุดสูงสุด … แล้วก็พลัดตกลงมา
Dolly Zoom หรือ Vertigo Effect เป็นเทคนิคที่โอบรับแนวคิดดังกล่าว กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง ขณะเดียวกันกลับซูมเข้าไปเบื้องหน้า ฟังดูขัดย้อนแย้ง แตกต่างตรงกันข้าม แต่ก็เหมือนกับวัฏจักรชีวิต มีขึ้นมีลง มีสูงมีต่ำ เกิด-ตาย ว่ายเวียนวงกลม ไม่รู้จักจบจักสิ้น … ถือเป็นเทคนิคที่สอดคล้องเข้ากับแนวคิด เนื้อหาสาระภาพยนตร์ เรียกว่าจิตวิญญาณของ Vertigo (1958) เลยก็ว่าได้!
ทศวรรษ 50s ถือเป็นช่วงขาลงของ Classical Hollywood (รวมถึงกองเซนเซอร์ Hays Code ด้วยนะ) แต่ฟากฝั่งยุโรปและเอเชีย กำลังเตรียมต้อนรับคลื่นลูกใหม่ (New Wave) ยุคสมัยที่ทำการต่อต้านขนบวิถี ปฏิเสธแนวทาง Hollywood ด้วยการครุ่นคิด พัฒนาเทคนิค สไตล์ลายเซ็นต์ ค้นหาความเป็นตัวตนเอง นั่นคือภาษาภาพยนตร์รูปแบบใหม่
คล้ายๆยุคหนังเงียบ (Silent Era) ที่ในช่วงลมหายใจเฮือกสุดท้าย (ค.ศ. 1927-30) ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหนังพูด (Talkie Era) เต็มไปด้วยภาพยนตร์คุณภาพ ยอดเยี่ยมระดับมาสเตอร์พีซ! Vertigo (1958) ก็อาจเรียกได้ว่าจุดสูงสุดแห่ง Classical Hollywood (พร้อมๆผลงานหลายๆเรื่องของผกก. Hitchcock) ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ก่อนที่ทุกสิ่งอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยคลื่นลูกใหม่
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 ณ Stage Door Theater, San Francisco ด้วยเสียงตอบรับค่อนข้างแตก (Mixed Review) ทำเงินในการฉายครั้งแรก $3.2 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง $2.479 ล้านเหรียญ ดูแล้วน่าจะขาดทุนพอสมควร
Psychological murder mystery in gimmick-laden Alfred Hitchcock tradition. Starts slow and too long but top marquee name should make it box office click.
นักวิจารณ์จาก Variety
Hitchcock’s surfaces are so smooth he thinks he can get away with murder in the logic and realism departments. If you want to tear Vertigo apart, it rips easily… It’s doubtful that Vertigo can take equal rank with the best of the Hitchcock studies—it has too many holes—but it assays high in visual confectionary of place, person, and celluloid wiles
นักวิจารณ์จาก New York Post
ถึงอย่างนั้นเมื่อหนังเดินทางมาถึงฝรั่งเศส กลับได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่น เต็มไปด้วยถ้อยคำสรรเสริญเยินยอ ถึงขนาดติดอันดับ 8 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ค.ศ. 1959 ของนิตยสาร Cahiers du Cinéma
Everything forms a circle, but the loop never closes, the revolution carries us ever deeper into reminiscence. Shadows follow shadows, illusions follow illusions, not like the walls that slide away or mirrors that reflect to infinity, but by a kind of movement more worrisome still because it is without a gap or break and possesses both the softness of a circle and the knife edge of a straight line.
Ideas and forms follow the same road, and it is because the form is pure, beautiful, rigorous, astonishingly rich, and free that we can say that Hitchcock’s films, with Vertigo at their head, are about – aside from the object’s that captive us – ideas, in the noble, platonic sense of the word.
Éric Rohmer
เกร็ด: หนังเข้าฉายในประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ใช้ชื่อว่า ปมพิศวาส ภาพที่นำมานี้คือโฆษณาหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2507
ไม่รู้เพราะความล้มเหลวหรือไร ผกก. Hitchcock ทำการซื้อต่อลิขสิทธิ์ Vertigo (1958) ร่วมกับอีกสี่ผลงาน (รวมเรียกว่า ‘five lost Hitchcocks’) ประกอบด้วย Rope (1948), Rear Window (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), The Trouble with Harry (1955) ทำให้หลังออกฉายครั้งแรก ถูกเก็บเข้ากรุง ไม่เคยนำออกฉายซ้ำจนกระทั่งหลังการเสียชีวิต ค.ศ. 1980
นั่นเองทำให้ Vertigo (1958) เมื่อปี ค.ศ. 1982 ได้รับการโหวตติดอันดับ Top 10 ครั้งแรกในชาร์ท “Greatest Films of All Time” ของนิตยสาร Sight & Sound (จริงๆเมื่อปี ค.ศ. 1972 ติดอันดับ 11 ร่วม) แล้วค่อยๆไต่ไล่อันดับมาเรื่อยๆ จนสามารถยื้อแย่งบัลลังก์จาก Citizen Kane (1941) ที่ยึดครองมายาวนานกว่า 50 ปี! ได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 2012
- Sight & Sound: Critic’s Poll (1982) ติดอันดับ #7
- Sight & Sound: Critic’s Poll (1992) ติดอันดับ #4
- Sight & Sound: Director’s Poll (1992) ติดอันดับ #6 (ร่วม)
- Sight & Sound: Critic’s Poll (2002) ติดอันดับ #2
- Sight & Sound: Director’s Poll (2002) ติดอันดับ #6 (ร่วม)
- Sight & Sound: Critic’s Poll (2012) ติดอันดับ #1
- Sight & Sound: Director’s Poll (2012) ติดอันดับ #7 (ร่วม)
- Sight & Sound: Critic’s Poll (2022) ติดอันดับ #2
- Sight & Sound: Director’s Poll (2022) ติดอันดับ #6 (ร่วม)
It is a dream-like film about people who are not sure who they are but who are busy reconstructing themselves and each other to fit a kind of cinema ideal of the ideal soul-mate.
Nick James บรรณาธิการนิตยสาร Sight & Sound กล่าวถึงชัยชนะของ Vertigo (1958) เมื่อปี ค.ศ. 2012
แต่เอาจริงๆก็มีแค่นิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll เมื่อปี ค.ศ. 2012 เท่านั้นนะครับที่ Vertigo (1958) เคยติดอันดับหนึ่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล! นิตยสารเล่มอื่น หรือสถาบันอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็น Citizen Kane (1941)
- AFI’s 100 Years…100 Movies (1998) ติดอันดับ #61
- AFI’s 100 Years…100 Thrills (2001) ติดอันดับ #18
- AFI’s 100 Years…100 Passions (2002) ติดอันดับ #18
- AFI’s 100 Years of Film Scores (2005) ติดอันดับ #12
- AFI’s 100 Years…100 Movies (10th Anniversary Edition) (2007) ติดอันดับ #9
- AFI’s 10 Top 10 (2008): Mystery ติดอันดับ #1
- Time Out: Top 100 Films (1998) ติดอันดับ #5
- Time Out: The 100 best thriller films of all time (2022) ติดอันดับ #15
- The Village Voice: Best Films of the Century (1999) ติดอันดับ #3
- Entertainment Weekly: 100 Greatest film of all time (1999) ติดอันดับ #19
- National Society of Film Critics: Top 100 Essential Films of All Time (2002) ติดอันดับ #96
- Total Film: 100 Greatest Movies of All Time (2005) ติดอันดับ #2
- Cahiers du cinéma: Top 100 of all time (2008) ติดอันดับ #8
- Kinema Junpo: Top 10 Non-Japanese Films of All Time (2009) ติดอันดับ #10
- Empire: 500 Greatest Movies of All Time (2008) ติดอันดับ #40
- Empire: The 100 Best Movies Of All Time (2024) ติดอันดับ #50
- The Guardian: The 25 best crime films of all time (2010) ติดอันดับ #3
- BBC: The 100 greatest American films (2015) ติดอันดับ #3
เกร็ด: รายนามผู้กำกับ/นักแสดงที่ชื่นชอบโปรดปราน เคยลงคะแนนโหวตนิตยสาร Sight & Sound ประกอบด้วย Martin Scorsese, Paul Schrader, Sam Mendes, Paul Verhoeven, John Carpenter, Nicolas Winding Refn Ari Aster, Joachim Trier, Sebastián Lelio, Tilda Swinton
ฟีล์มเนกาทีฟต้นฉบับที่ผกก. Hitchcock เก็บเข้ากรุไว้นั้น คุณภาพค่อนข้างย่ำแย่ ทั้งเรื่องเสียง และสีของ Technicolor เสื่อมสภาพลงอย่างมากๆ มีความพยายามทำการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1996 โดย Robert A. Harris และ James C. Katz แต่โดนตำหนิถึงความผิดเพี้ยนของสี (Color Correction) รวมถึงการใส่เสียงประกอบอื่นๆเพิ่มเติมเข้ามา ทำไม?
เผื่อใครสนใจเรื่องราวการบูรณะฉบับปี ค.ศ. 1996: [Click Here]
Universal Home Studios ได้ลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย Home Video ก็มีปัญหาไม่น้อยถึงความผิดเพี้ยนของสี โดยเฉพาะสีเหลืองที่เสื่อมสภาพอย่างหนัก ผมนำรูปจากเว็บ dvdbeaver.com มาเปรียบเทียบไล่เรียงฉบับจัดจำหน่าย DVD (1998), DVD: Hitchcock Masterpiece Collection (2005), DVD: Legacy series (2008) และ Blu-Ray: The Masterpiece Collection (2012)
จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2014 หนังถึงได้รับการบูรณะรอบใหม่ ทำการตัดทิ้งรายละเอียดส่วนเกินของ Harris & Katz พยายามทำออกมาให้ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด, และล่าสุดมีจัดจำหน่ายคุณภาพ 4K Ultra HD รวบรวมในคอลเลคชั่น The Alfred Hitchcock Classics Collection 4K (ประกอบด้วย Rear Window, Vertigo, Psycho, The Bird) หรือถ้าต้องการแผ่นเดี่ยวๆมีขายเป็นแบบ Steelbook เมื่อปี ค.ศ. 2021
ภาพแรกนำจาก Blu-Ray (2014) และภาพหลัง 4K Ultra HD (2021)
เกร็ด: เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 มีรายงานว่า Paramount Pictures ได้ลิขสิทธิ์สร้างใหม่ (Remake) โดยมอบหมายผู้กำกับ Steven Knight, นำแสดงโดย Robert Downey Jr. นี่คิดดีกันแล้วใช่ไหมเนี่ย??
ถ้าคุณลองไล่อ่านบทความเก่าๆที่ผมเขียนไว้ เริ่มต้นไม่ได้มีความชื่นชอบหนังสักเท่าไหร่ มันช่างเอื่อยเฉื่อย น่าเบื่อหน่าย หญิงสาวไม่ใช่ตุ๊กตาให้บุรุษจับแต่งตัว เรื่องราวพร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อย โรแมนติกน้ำเน่า ไร้เนื้อหาสาระห่าเหวใดๆ
จนเมื่อประสบการณ์รับชมภาพยนตร์เพิ่มสูงขึ้น เรียนรู้จักการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ สังเกตรายละเอียด ทำความเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป รวมถึงตัวตนของผู้สร้าง จึงพอให้ค้นพบความงดงาม สัมผัสถึงเหตุผลที่ใครๆต่างยกย่องสรรเสริญ จักรวาลแซ่ซ้อง
หวนกลับมาคราวนี้ทำให้ค้นพบมุมมองใหม่ๆ การตีความเข้าใจที่แตกต่าง นั่นแสดงถึงความลุ่มลึกล้ำ เหนือกาลเวลาของหนัง รับชมเพียงครั้งเดียวย่อมไม่สามารถตรัสรู้ทุกสิ่งอย่าง! ซึ่งสิ่งที่ผมค้นพบเพิ่มเติมก็คือนัยยะโรคกลัวที่สูง การจะปีนป่ายขึ้นไปถึงจุดสูงสุด มักต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท เสียสละหลายสิ่งอย่าง รวมถึงเวลาสำหรับสะสมประสบการณ์ เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างพร้อมสรรพ ถึงจักเข้าถึงความงดงามทางศิลปะชั้นสูงสุด (High Art)
ติดตามอ่านมาถึงจุดนี้ ถ้าคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจว่าทำไม Vertigo (1958) ถึงคือหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล ผมแนะนำให้ไม่ต้องเร่งรีบร้อน พักก่อน หาหนังเรื่องอื่นรับชม ค่อยๆสะสมประสบการณ์ 5-10 ปีให้หลังค่อยหวนกลับมาดูใหม่ ไม่แน่ว่าตอนนั้นอาจพบเจอสวรรค์รำไร
จัดเรต 13+ กับการแอบติดตาม (Stalker) หมกมุ่นยึดติดกับหญิงสาว
คำโปรย | Vertigo โรคกลัวความสูงของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ที่เมื่อ James Stewart ปีนป่ายขึ้นไปถึงจุดสูงสุด กลับทำให้สูญเสีย Kim Novak และทุกสิ่งอย่าง!
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล
Vertigo (1958) : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥
(18/12/2016) ความหลงใหล คลั่งไคล้ คิดครอบงำ คือความลึกล้ำของ Vertigo ที่กว่าจะได้รับการค้นพบ ต้องเสียเวลาไปกว่า 50 ปี, นี่คือภาพยนตร์เรื่องที่นักวิจารณ์ยกให้เป็นอันดับ 1 ของนิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับเมื่อปี 2012 สูงกว่า Citizen Kane มันเป็นไปได้ยังไง บทความนี้อาจมีคำตอบ
การจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมฝั่งนักวิจารณ์ของนิตยสาร Sight & Sound (นิตยสารภาพยนตร์ ที่ถือว่าเชื่อถือได้ ทรงอิทธิพลต่อวงการที่สุด) นับตั้งแต่ Citizen Kane ติดอันดับครั้งแรกเมื่อปี 1962 ก็ยึดครองบัลลังก์ อันดับ 1 มาตลอดทุกๆ 10 ปี จนกระทั่งเมื่อปี 2012 ได้เกิดการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เมื่อ Vertigo ซึ่งเมื่อตอนปี 2002 ไต่ขึ้นมาถึงอันดับ 2 และอีกสิบปีถัดมา แซงหน้าขึ้นอันดับ 1 ได้สำเร็จ นี่ถือเป็นสิ่งไม่เคยมีใครคาดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น
ชะตากรรมของภาพยนตร์ยอดเยี่ยมระดับโลก มีความแปลกประหลาดพิศวง เพราะทั้ง Citizen Kane และ Vertigo ตอนฉายต่างไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ทำเงินไม่ค่อยได้ เป็นสิ่งผิดแปลก ล้ำยุคสมัยเกินกว่าที่ผู้ชม/นักวิจารณ์ ขณะนั้นจะสามารถเข้าถึง ยกย่องเชิดชู แต่เมื่อเวลาผ่านไป Citizen Kane ถือเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับย้อนหลังอย่างกว้างขวาง มีอิทธิพลต่อผู้กำกับรุ่นใหม่ๆอย่างมาก แต่สำหรับ Vertigo หนังไม่ถือว่าหนังมีอิทธิพลต่อชาวโลกระดับนั้น แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างอันมีมนต์เสน่ห์แอบซ่อนอยู่ อันกาลเวลาได้ค่อยๆเปิดเผยความลับนี้ออกมาก จนถึงปัจจุบันใครๆก็สามารถค้นพบความมหัศจรรย์นั้นได้
ผมดู Vertigo มาไม่ต่ำกว่า 4-5 รอบแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่เป็นหนังอันดับ 1 ของนิตยสาร Sight & Sound จนเมื่อปีก่อน ก็พอสัมผัสได้ว่าหนังมันมีดี ระดับ Masterpiece แต่ยังไม่สามารถเข้าใจเหตุผล ว่าทำไมนักวิจารณ์ถึงหลงใหล คลั่งไคล้หนังได้เพียงนั้น, สิ่งที่ผมค้นพบจากการ revisit ครั้งนี้ ไม่ได้มาจากการอ่านเจอจากบทวิจารณ์ที่ไหน เกิดขึ้นขณะกำลังคิดวิเคราะห์ ทบทวนทำความเข้าใจ กับข้อสงสัยที่ว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงเพิ่งไต่ขึ้นอันดับ 1 ได้สำเร็จ หลังจากที่ Citizen Kane ยึดครองโลกมากว่า 50 ปี, คำตอบคือ นอกจากหน้าหนัง/เนื้อหนัง/ใจความสำคัญ ทั่วๆไปที่หาพบได้ในภาพยนตร์ทุกเรื่อง Vertigo ยังมีอีกสิ่งหนึ่ง ผมขอเรียกว่า ‘จิตวิญญาณของหนัง’ การค้นพบสิ่งนี้ทำให้ผมตระหนักได้ว่า Vertigo สมควรแล้วที่จะมีที่ยืนในตำแหน่งสูงสุดสักครั้ง เพราะ passion, obsession ที่ถ้าคุณค้นพบว่ามันคืออะไร การได้อันดับ 1 ถือว่าเป็นการตอบแทนความทะเยอทะยานที่มีมานมนาน นับตั้งแต่ครั้นที่สร้างเสร็จออกฉายเมื่อกว่า 50 ปีก่อนโน่น
ถ้าให้คาดการณ์ถึงการจัดอันดับครั้งต่อไป Vertigo จะยังสามารถยึดบัลลังก์นี้ได้ถาวรไหม … ไม่รู้สิครับ
ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง D’entre les morts (From Among the Dead) โดยนักเขียนนิยายอาชญากรรมชื่อดังของฝรั่งเศส Pierre Boileau และ Pierre Ayraud (หรือ Thomas Narcejac) ใช้นามปากร่วมกันว่า Boileau-Narcejac ตีพิมพ์เมื่อปี 1954, ทีแรก Hitchcock สนใจนิยายอีกเรื่อง คือ Celle qui n’était plus (She Who Was No More) แต่ถูก Henri-Georges Clouzot ผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศสชิงซื้อลิขสิทธิ์ตัดหน้า สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Les Diaboliques (1955), คนที่แนะนำให้ Hitchcock รู้จักกับ D’entre les morts คือ François Truffaut ที่บอกว่านิยายเรื่องนี้ เหมือนเขียนเพื่อให้ Hitchcock กำกับโดยเฉพาะ, ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Alec Coppel และ Samuel A. Taylor.
เรื่องราวของอดีตนายตำรวจ San Francisco, John ‘Scottie’ Ferguson (รับบทโดย James Stewart) เกษียณออกจากงาน เพราะพบว่าตัวเองเป็นโรคกลัวความสูง (Acrophobia) ได้พบกับเพื่อนเก่าที่หายไปนาน Gavin Elster (รับบทโดย Tom Helmore) ต้องการให้ช่วยติดตามภรรยา Madeleine Elster (รับบทโดย Kim Novak) ที่ระยะหลังมักมีท่าทีแปลกๆ ชอบหายตัวไปทั้งวัน แล้วอ้างว่าจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย สืบเสาะว่าเธอมีปัญหาอะไร หรือแท้จริงแล้วมีอะไรกำลังเกิดขึ้นหรือเปล่า?
นำแสดงโดย James Stewart กับการร่วมงานครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้ายกับ Hitchcock (ที่ไม่ได้ร่วมงานอีกแล้ว สงสัยเพราะ Stewart งอน Hitchcock ที่ไม่ยอมเลือกเขาแสดงใน North by Northwest-1959) ครึ่งแรกของหนังเราจะเห็น Stewart หน้านิ่วคิ้วขมวดแทบติดกัน ด้วยความใคร่สงสัยอยากรู้ ต้องการค้นหาคำตอบของบางสิ่งบางอย่าง, ครึ่งหลังเขามีความคิดครอบงำ (Obsession) ต้องการพิสูจน์บางสิ่งบางอย่าง คิ้วช่วงนี้จะไม่ค่อยขมวด แต่จะยักขึ้นแสดงฉงนความสงสัย, ตอนจบของครึ่งแรกและครึ่งหลัง คือความช็อก ตกใจระดับ วิญญาณออกจากร่าง
การแสดงของ Stewart ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนว่าเขามีความอ่อนล้า เบื่อหน่ายในบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งกับ Vertigo ช่วงแรกๆเราก็สามารถรับความรู้สึกนั้นได้ แต่พอเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ เหมือนบางสิ่งบางอย่างในตัวเขาได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้น Stewart แสดงความใคร่สนใจออกมา ครอบงำยืดเยื้อในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนตอนท้าย ถ้าไม่ได้คำตอบก็ฆ่ากันให้ตายไปเลยดีกว่า!
สำหรับบท Madeleine Elster ทีแรกเป็นของ Vera Miles ที่เคยร่วมงานกับ Hitchcock จากหนังเรื่อง The Wrong Man (1956) แต่เพราะความล่าช้าของโปรดักชั่น ทำให้ Miles ตั้งท้อง ต้องถอนตัว จึงมาลงเอยที่ Kim Novak ที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังจาก Picnic (1955), The Man with the Golden Arm (1955) และ Pal Joey (1957)
Madeleine Elster หญิงสาวผมบลอนด์ ภรรยาของ Gavin Elster ชื่นชอบการขับรถกินลมยังสถานที่ต่างๆ อาทิ สุสาน, พิพิธภัณฑ์จัดแสดงรูปวาด, อ่าว San Francisco ฯ มันเหมือนว่าร่างของเธอถูกวิญญาณของใครสักคนสิงสถิตย์อยู่ ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังคิด/ทำอะไรอยู่
Judy Barton หญิงสาวผมทอง ตกหลุมรัก Scottie อย่างโงหัวไม่ขึ้น ทีแรกเธอตั้งใจจะจากไปเพราะไม่อยากให้รู้ความจริง แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะรักมากจึงยอมทุกอย่าง กระทั่งเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอกจนเหมือนคนรักเก่า
การแสดงของ Novak ในตอนที่หนังออกฉายได้รับคำติเตียนถึงความวอกแวก ลุกลี้ลุกลน บ้างว่าเลือกนักแสดงมาผิด (miscast) แต่เมื่อเวลาผ่านไป การแสดงของเธอได้รับความยกย่องว่ามีความสมจริง โดยเฉพาะการแสดงออก 2 บุคลิกภาพ วอกแวก คือความลังเลไม่แน่ใจ ลุกลี้ลุกลน คือความอึดอัดอั้น ที่ไม่สามารถพูดบอกความจริงออกไปได้
Novak เคยให้สัมภาษณ์ถึงการร่วมงานกับ Hitchcock บอกว่า เขาให้อิสระในการเข้าถึงตัวละคร เพียงแต่ว่า การเคลื่อนไหว ตำแหน่งที่ยืน/เดิน เสื้อผ้าที่สวมใส่ อะไรที่ต้องทำบ้าง นี่คือสิ่งที่เขาจะกำหนดไว้ให้ และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งคัด
“I know that Hitchcock gave me a lot of freedom in creating the character, but he was very exact in telling me exactly what to do. How to move, where to stand. I think you can see a little of me resisting that in some of the shots, kind of insisting on my own identity.”
Barbara Bel Geddes รับบท Midge Wood อดีตคู่มั่นของ Scottie ปัจจุบันเป็นเพื่อนสาวที่ยังใกล้ชิดสนิทสนม เหมือนว่าเธอยังพยายามอ่อยเหยื่อ เรียกร้องความสนใจ แต่ทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมด, เห็นว่าตัวละครนี้ไม่มีอยู่ในฉบับนิยายนะครับ เป็น Samuel A. Taylor ที่ใส่เพิ่มตัวละครนึ้ขึ้นมา เพื่อเป็นกระจก/ภาพวาด สะท้อนการมีตัวตนของ Madeleine จะเห็นว่าหลายสิ่งอย่างของทั้งสองจะตรงกันข้าม อาทิ Scottie มอง Madeleine จากในรถ/Midge มอง Scottie จากในรถ, Scottie พา Madeleine ไปค้นหาความทรงจำ, Midge พา Scottie ไปหาคำตอบในอดีต ฯ
ภาพวาด Carlotta (Portrait of Carlotta) ที่เห็นในหนังทั้งหมดวาดโดย John Ferren (เคยวาดประกอบหนังของ Hitchcock เรื่อง The Trouble With Harry-1955) ตอนแรกวาดโดยใช้ Vera Miles เป็นแบบ แต่เพราะเธอถอนตัวเลยกลายเป็นภาพที่ไม่ได้ใช้
ภาพวาด Carlotta ของ Kim Novak [เธอเงยหน้าขึ้นมอง]
และ Midge Portrait (วาดเลียนแบบ Carlotta) [กล่องถ่ายมุมมองลงมา]
ถ่ายภาพโดย Robert Burks ขาประจำของ Hitchcock ในช่วงทศวรรษ 50s-60s, ความโดดเด่นของงานภาพเรื่องนี้ คือการเลือกตำแหน่ง ทิศทาง มุมมองของภาพ ที่มีความเปะมากๆ
ถ้าสังเกตให้ดี หลายฉากจะมีการใช้ Rear Projection ไม่ได้ไปถ่ายยังสถานที่จริง (คือไปถ่ายฟุตเทจของสถานที่จริงเก็บไว้ แล้วนำมาฉายขึ้นฉากในสตูดิโอ) นี่เพราะ Hitchcock ต้องการควบคุมสภาพแวดล้อมของแต่ละฉากให้ได้ดั่งใจ การถ่ายทำในสตูดิโอถือว่าทำได้สะดวกกว่าสถานที่จริง อาทิ
– ฉากวนอุทยาน พื้นหลังคือภาพฟุตเทจจาก Big Basin Redwoods State Park, California นี่ถือเป็นหนึ่งในฉากโคตรคลาสสิกของหนังเลยนะครับ เพราะคำพูดของหญิงสาวที่ว่า “Here I was born, and there I died. It was only a moment for you; you took no notice.” ชีวิตมนุษย์มันช่างสั้นนิดเดียว เมื่อเทียบกับอายุของต้นไม้/ธรรมชาติ/โลก
– อ่าว San Francisco พื้นหลังเป็นภาพจากฟุตเทจ ฉากนี้ถ่ายที่แทงค์น้ำหลัง Paramount Studios, Hollywood นี่ถือเป็นหนึ่งในช็อตตำนาน น่าจะมีหนังเกิน 100 เรื่องแล้วมั้งที่ ถ้าถ่ายสะพาน Golden Gate ต้องใช้มุมกล้องคล้ายๆกันนี้
หนังยังมี 2 ช็อตในตำนาน ที่ถือว่าเป็นลายเซ็นต์ของหนัง
1) ซูมออกแล้วเลื่อนกล้องเข้า (Zoom out and Track in) บ้างเรียกว่า Contra-Zoom หรือ Trombone Shot ถ่ายโดย Irmin Roberts ตากล้องกอง 2 (Second Unit) นี่เป็นช็อตที่ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก Vertigo วิงเวียน วูบเหมือนกำลังจะตกจากที่สูง เห็นว่าค่าใช้จ่ายถ่ายทำฉากนี้สูงถึง $19,000 เหรียญ (หมดไปกับค่าทำ dolly เพราะต้องเคลื่อนกล้องเข้าขณะซูม)
2) ภาพจากมุมสูง ฝั่งซ้ายเห็นคนกำลังปีนหลังคา ฝั่งขวาเห็น Scottie กำลังวิ่งหนี, หอคอยที่เห็นนี้ไม่มีอยู่จริงนะครับ เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นแล้วเอาตัวละครใส่เข้าไป (ทำยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน) นี่เป็นช็อตที่ถือว่าเป็นจุดหมุนของหนัง (เหมือนจุดเปลี่ยน แบ่งครึ่งแรก/ครึ่งหลัง)
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Edith Head สีเสื้อผ้าที่ใช้ เป็นการบ่งบอกอารมณ์ของตัวละคร,
– Madeleine ชอบใส่สูทสีเทา นี่เป็นสีที่ไม่เข้ากับผมบลอนด์ แต่มีความหมายทางจิตวิทยา แสดงถึงความผิดปกติข้างในจิตใจ เย็นชา ไม่รับรู้ร้อนหนาว
– แต่มีครั้งหนึ่งที่ Madeleine ใส่ชุดสีดำ คลุมด้วยเสื้อสีขาว ขณะไปหา Scottie ที่อพาร์ทเมนท์ นี่เป็นชุดที่มีสีเหมาะกับผมบลอนด์ เป็นธรรมชาติ นี่แสดงถึงเป็นตัวตนของเธอจริงๆ
– Judy ชุดสีเขียว ผมสีแดง นี่ไม่ได้แปลว่าในใจของเธอมีสีสันอะไรนะครับ เขียวที่เห็นนั้นหม่นหมอง หมายถึงความขุ่นข้องหมองใจ อึดอัดคับแค้น อิจฉาริษยา แสดงถึงความรู้สึกที่ปรารถนาจะครอบครอง
– Scottie มักจะใส่สูทสีน้ำตาล ทึมๆ ทื่อๆ
สำหรับ Special Effect ของหนัง มีเด่นๆอยู่ 2 ฉาก
1) ฉาก Opening Title ออกแบบโดย John Whitney ใช้การบันทึกภาพจากจอภาพปืน M5 (ปืนยิงต่อต้านเครื่องบิน anti-aircraft ที่จะมีหน้าจอเรดาร์ จับวัตถุที่เคลื่อนไหว) ภาพที่เกิดขึ้นเรียกว่า Spirographic (หรือ Lissajous waves)
2) ฉาก Nightmare Sequence ของ Scottie ออกแบบโดย John Ferren, ประกอบด้วย การเล่นแสงสี, ภาพวาดอนิเมชั่น, ถ่ายเฉพาะหัวของ James Stewart ซ้อนกับ Special Effect ที่เตรียมแยกไว้ ฯ
ตัดต่อโดย George Tomasini, กับเทคนิค ใช้การตัดต่อแทนสายตาตัวละคร ถือว่าประสบความสำเร็จมากกับหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ Scottie ขับรถติดตาม Madeleine, วิธีการคือ ใช้การตัดสลับภาพ ระหว่างการขับรถ/สีหน้า/ปฏิกิริยาของ Scottie และภาพที่เขาเห็น รถของ Madeleine ขณะเข้าโค้ง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ฯ การตัดสลับนี้มีนับครั้งไม่ถ้วน จนเหมือนว่า สายตาของ Scottie กลายเป็นสายตาของผู้ชม (เทคนิคนี้ Hitchcock เคยใช้อย่างประสบความสำเร็จมาแล้วใน Rear Windows-1954) แต่กับคนที่ดูหนังไม่เป็น เห็นแบบนี้ได้หาวกว้างๆ ง่วงหลับแน่นอน เพราะตอนผมดูครั้งแรกๆ ก็แทบทนผ่านช่วงนี้ไปไม่ได้เลย รู้สึกว่ามันช้า อืดอาด ไม่รู้จะทำให้มันเยิ่นยาว เวิ่นเว้อไปทำไม แต่ถ้าคุณเข้าใจเหตุผล เทคนิค วิธีการของการตัดต่อนี้แล้ว ลองตั้งใจดูอีกที เชื่อว่าคงไม่เบื่อแน่ เพราะทุกการตัดต่อมีเนื้อเรื่อง เหตุผล ใจความของมันชัดเจนในทุกช็อต (นี่เรียกว่า ภาษาภาพยนตร์) ไม่มีเวิ่นเว้อ เยิ่นยาวเกินความจำเป็นเลยนะครับ
การดำเนินเรื่อง ครึ่งแรกเล่าผ่านมุมมองของ Scottie ทั้งหมด ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนถูกดึงดูดเข้าไปในวังวง ความคิดพิศวง หลงใหล คลั่งไคล้ของ Scottie ถูกหนังครอบงำ นำทางความเข้าใจของคุณทั้งหมด นี่ทำให้ขณะเกิดเหตุพลิกผันเมื่อจบครึ่งแรกและครึ่งหลัง ผู้ชมจะมีอาการช็อก อึ้งทึ่ง พูดไม่ออก บอกไม่ถูกเหมือนกับตัวละคร Scottish ไม่มีผิด
ครึ่งหลังของหนัง หลังจาก Scottie ได้พบกับ Judy หนังเปลี่ยนมุมมองเล่าเรื่องมาเป็นของเธอ มีการเฉลยปริศนาของหนัง (ใช้เสียงบรรยาย ขณะ close-up ใบหน้าของเธอ ขณะเขียนจดหมาย) นี่คือสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับรู้เข้าใจโดยทันที แต่ขณะนั้น Scottie ยังไม่ทราบ เราเหมือนจะเห็นมุมกลับของหนัง Judy ที่ตัดสินใจ ยอมให้ Scottie ทำทุกอย่างกับเธอ เพราะความรักที่ล้นเอ่อ แต่สิ่งที่เขาทำกับเธอ มันเหมือนว่าไม่ใช่เพราะรัก แต่เป็น Madeleine ที่หลงใหล ต้องการได้คืนมา, นี่ทำให้เรารู้สึกสมเพศในความดื้อด้านของ Scottie และสงสาร Judy แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะนี่เป็นสิ่งที่เธอเลือกเอง
และพอถึงขณะที่ Scottie ล่วงรู้ความจริง (ผู้ชมควรจะเข้าใจภาษาภาพยนตร์นี้ได้นะครับ เพราะกล้องมีการซูมเข้าไปที่สร้อยคอ แล้วตัดไปที่ภาพวาดของ Carlotta นี่ตรงไปตรงมาว่าหมายถึง ทั้งสองคือคนๆเดียวกัน) นับจากวินาทีนั้น การกระทำของเขาเหมือนการชำระแค้น ล้างบาป หาคำตอบ เอาชนะตนเอง โดยไม่สนว่าต้องแลกกับอะไร … ซึ่งตอนจบ ผลลัพท์ที่ได้ ก็ถือว่าสาสมกับสิ่งที่เขาเกินเลยมากไป เป็นครั้งที่ 3 กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ยังกับเป็นวัฏจักรของอะไรสักอย่าง
เพลงประกอบโดย Bernard Herrmann, ความพิศวง ที่ค่อยๆทวีความสงสัย สะสมเพิ่มพูน จนพร้อมระเบิดออก นี่คือสไตล์เพลงประกอบของ Herrmann เลยก็ว่าได้ ที่เมื่อนำมาใส่ในหนังของ Hitchcock แล้วมีความเข้ากันได้พอดีลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบ
ความอลังการของเพลงประกอบ อยู่ที่เครื่องเป่าที่มาเป็นจังหวะครั้งๆคราวๆ ไม่ได้ลากยาวต่อเนื่อง แล้วเครื่องดนตรีอื่นจะค่อยๆประสานประกอบ สร้างอารมณ์ความรู้สึก ให้ก่อตัวขึ้น เป็นความอึดอัดอั้น ฉงนสงสัย มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป รุกรี้เร้ารนทนไม่ได้ อยากรู้เสียเหลือเกินว่าต่อไปจะเป็นยังไง
Midge: You want to know something? I don’t think Mozart’s going to help at all.
เพลงที่ Midge เปิดคือ Mozart: Symphony No. 34 in C, K. 338 แต่งขึ้นเมื่อปี 1780 มีทั้งหมด 3 ท่อน เรียกว่า festive symphony หรือ trumpet symphony, ความหมายของประโยค ‘Mozart คงช่วยไม่ได้’ นี่เป็นการแซวนะครับ เพราะเพลงของ Mozart มีความเชื่อกันว่า เป็นเพลงที่ใช้บำบัดผู้ป่วย คนไข้/เปิดให้เด็กเล็กฟัง จะช่วยสร้างเสริมพัฒนาการ ฯ ซึ่งสไตล์เพลงของ Mozart มีความสนุกสนาน ครึกครื้น แต่ Scottie ขณะนั้นเป็นโรคซึมเศร้า ดูแล้วคงช่วยไม่ได้ (แซว: จริงๆน่าจะเอา Beethoven มาเปิดให้ฟัง เชื่อว่าคงกู่ไม่กลับเลย)
Vertigo เป็นเรื่องราวของ ความหลงใหล คลั่งไคล้ ยึดติด คิดครอบงำจิตใจ (Obsession) แทบทุกตัวละคร
– Scottie เป็นโรคกลัวความสูง เพราะจิตใจ จดจำ ฝังติดกับภาพเหตุการณ์ ความทรงจำ ที่เลวร้ายในอดีต ไม่สามารถก้าวผ่านได้
– Madeleine หญิงสาวที่ยึดติดอยู่กับอดีตชาติ ภาพวาด ตัวตนในอดีต
– Midge หญิงสาวที่ยึดติดกับความรักของตนในอดีต
เหตุที่ Scottie ต้องการช่วย Madeleine ให้ระลึกสิ่งที่เธอทำให้ได้ เป็นการช่วยบำบัดโรคกลัวความสูงของตนเองทางอ้อมด้วยนะครับ เพราะจะทำให้เขาค้นพบวิธีฝังความทรงจำแย่ๆของตนได้ (แต่สุดท้ายพอเธอตกตึกก็จบกัน หมดหวังกันพอสี)
ส่วนครึ่งหลัง
– Scottie ยึดติดกับภาพลักษณ์ของ Madeleine (ภายนอก) ต้องการได้เธอมาครอบครอง
– Judy หญิงสาวที่ยึดติดในความรักต่อ Scottie (ภายใน) ต้องการเป็นของเขาด้วยใจ
หนังไม่ได้ต้องการนำเสนอ วิธีการเอาชนะความหลงใหลยึดติด แต่เป็นการนำเสนอภาพของคน/สิ่ง ที่มีความคลั่งไคล้ ต้องการเข้าครอบงำยึดครอง เป็นเจ้าของ และผลลัพท์ของความไม่รู้จักพอ คือการสูญเสียทุกสิ่งอย่าง
คนทั่วไปคงเข้าใจสไตล์ ลายเซ็นต์หนังของ Alfred Hitchcock ว่ามักจะมีความตื่นเต้น ระทึก เร้าใจ สนุกสนาน มีความเป็นศิลปะทั้ง ภาพ/ตัดต่อ/เพลงประกอบ และชอบมีหักมุม คาดไม่ถึง, แต่การได้ดูหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว ความสนใจของ Hitchcock คือ การเล่นกับอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์, เช่น Psycho/The Bird นำเสนอความหวาดกลัว, Notorious พูดถึงความต้องการ (lust), Rebecca ความอิจฉาริษยา, North by Northwest ความบังเอิญ, Rear Windows ความใคร่รู้ใคร่สงสัย ฯ กับ Vertigo คือ Obsession ความคลั่งไคล้ยึดติด นี่ถือเป็นอารมณ์ของมนุษย์ที่มีความชั่วร้ายอยู่มากทีเดียว
Hitchcock เป็นผู้กำกับที่หลงใหลคลั่งไคล้ในผู้หญิงผมบลอนด์เป็นอย่างมาก (หนังของ Hitchcock แทบทุกเรื่อง นางเอกต้องผมสีบลอนด์ จนมีชื่อเรียก Hitchcock Blonde) เขามองว่าสีบลอนด์มีความสง่างาม ดูดีมีสกุล สมบูรณ์แบบ (perfect women) [คงเพราะแม่ของเขา ผมสีบลอนด์ด้วยกระมัง] กับหนังเรื่องนี้ เราสามารถมองในมุมศิลปินของผู้กำกับ ว่าเป็นเหมือนชีวประวัติส่วนตัวของเขา ที่มีความคลั่งไคล้ ต้องการควบคุม ครอบครองพวกเธอ จับให้เดินซ้ายขวา ทำตามโน่นนี่นั่นตามคำสั่ง (แบบเดียวกับที่ Hitchcock ทำกับนักแสดงหญิงผมบลอนด์ทุกคนในหนังของเขา)
“Did he train you? Did he rehearse you? Did he tell you what to do and what to say?”
ประโยคที่ Scottie พูดกับ Judy ตอนท้าย มองได้คล้ายประโยคที่ Hitchcock พูดกับสาวผมบลอนด์ทั้งหลาย ที่ได้เคยปลุกปั้นมา แล้วเธอก็ไปประสบความสำเร็จโด่งดังกับผู้กำกับ/หนังอื่น
เกร็ด: สาวบลอนด์ของ Hitchcock คือแรงบันดาลใจให้เกิด สาวบอนด์ของแฟนไชร์ James Bond
ที่เล่ามาตั้งแต่ต้นจนถึงจุดนี้ คือส่วนที่เรียกว่า หน้าหนังกับเนื้อหนัง ต่อจากนี้ผมจะพูดถึงสิ่งที่ผมค้นพบ อันเรียกว่า ‘จิตวิญญาณของหนัง’
ถ้าเรามองหญิงสาว เป็นสิ่งสัญลักษณ์ชนิดหนึ่ง แทนด้วย ‘ภาพยนตร์’ ก็จักได้ใจความว่า ‘ความหลงใหล คลั่งไคล้ในโลกของภาพยนตร์’ ตอนที่ผมคิดได้ถึงระดับนี้ ก็ขนลุกเลยละครับ เพราะมันสื่อถึงจิตวิญญาณความคลั่งไคล้ในโลกภาพยนตร์ของ Hitchcock, เขาอาจสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นด้วยสันชาติญาณ ความต้องการ ครอบครอง เป็นเจ้าของ แต่สิ่งที่เขาสร้างขึ้นนี้ สามารถมองได้เป็นความทะเยอทะยาน ท้าทาย ที่จะดึงดูดผู้ชม ให้เกิดความหลงใหล คลั่งไคล้ในภาพยนตร์เฉกเช่นกันกับเขา
สาเหตุที่ผมแทน ผู้หญิง ด้วย ภาพยนตร์ นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะครับ เพราะถ้าเปรียบความสวยงาม ละเอียดอ่อนไหว เรื่องมาก ขี้งอน นิสัยของผู้หญิงก็คล้ายๆกับภาพยนตร์ ที่มีความสวยงาม ละเอียดอ่อนไหว ต้องทำความเข้าใจ และเอาใจยาก, ในขณะที่ผู้ชาย สามารถเปรียบได้ทั้ง ผู้ชม/ผู้สร้าง มองหญิงสาวด้วยความใคร่ครอบครอง/สร้างสรรค์ ต้องการชื่นชม/ควบคุม ฯ
ผมได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า เทคนิคการตัดต่อของหนัง มันเหมือนทำให้ผู้ชม สามารถรู้สึก/เข้าใจ/ถูกดึงดูดเข้าไป/รับรู้ ได้ตามที่ตัวละคร Scottie แสดงออกมา, เมื่อแทน Madeleine ด้วย ‘ภาพยนตร์’ และ Scottie คือตัวคุณเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ จึงเหมือนการที่เราหลุดเข้าไปในโลกของภาพยนตร์, อาการของคนชื่นชอบ หลงใหล คลั่งไคล้ คนบ้าหนังที่ดูหนังเยอะๆ ก็เหมือนคนเสพยา เลิกไม่ได้ ขาดเป็นตาย ทั้งๆที่ภาพยนตร์แต่ละเรื่องก็เวียนวนอยู่ในรูปลักษณะเดิม มีแต่จะถลำลึกเข้าไป จนสุดท้าย ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูญสลาย ตายจากไปสักข้าง วงจรนี้ถึงจะยุติ
ผู้ชมที่ยอมให้ตัวเองถูกหนังดึงดูดไป ก็จะเห็นความลึกล้ำที่ซ่อนอยู่ภายในของหนัง แต่กับคนที่ยังต่อต้าน ไม่ปล่อยตัวเองมากพอ (หรือประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ยังไม่สูงพอ) จะมีโอกาสเห็น Vertigo แค่หน้าหนัง เนื้อหนัง แต่มันยังมีอีกชั้นหนึ่งแอบซ่อนไว้ ลึกอยู่ข้างใน, นี่น่าจะคือเหตุผลที่ทำไม ต้องใช้เวลาถึง 50 ปี หนังถึงไต่เต้าขึ้นถึงบัลลังก์ราชา เพราะเมื่อสื่อภาพยนตร์เริ่มเข้าถึงสะดวก มีความแพร่หลาย ผู้คนมากมายได้รับชม จากเพียง 1% ของผู้ชมสมัยก่อนที่มองเห็นความสวยงามถ่องแท้ของหนัง ได้แพร่ขยายกลายเป็น 2% เป็น 4% เป็น 8% ความยิ่งใหญ่ของ Vertigo ที่คือ ความหลงใหลคลั่งไคล้ที่ค่อยๆสะสมเพิ่มพูนทวี มีผู้รับรู้/เห็น/เข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สักวันหนึ่งมันคงถึงจุดมากสุด สูงสุด และวันนั้นของหนังก็ได้มาถึงแล้ว
ด้วยทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ หนังทำเงินเพียง $7.3 ล้านเหรียญ นี่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับหนังของ Hitchcock เรื่องอื่นในทศวรรษนั้น, หนังได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Art Direction
– Best Sound
ความยอดเยี่ยมของหนัง นอกจากอันดับ 1 ของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll ปี 2012 แล้ว ยังติดอันดับ
– อันดับ 7 นิตยสาร Sight & Sound: Director’s Poll ปี 2012
– อันดับ 61 จัดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time ปี 1998
– อันดับ 9 จัดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time ปี 2007
– อันดับ 8 นิตยสาร Cahiers du cinéma: Top 100 of all time
การดูครั้งล่าสุด ผมเกิดความชื่นชอบหนังขึ้นมาเล็กน้อย แต่คิดว่าคงไม่มากไปกว่านี้ เพราะหนังขาดองค์ประกอบที่เป็นความชอบ/ประทับใจส่วนตัว, ถึงความคลั่งไคล้หลงใหล จะแสดงถึงความชื่นชอบ บ้าคลั่งในภาพยนตร์ แต่กว่าจะค้นพบจิตวิญญาณของหนังนี้ มันยากเหลือเกิน กว่าที่จะหลงใหล คลั่งไคล้ เทิดทูนยกย่องหนังไว้ในที่สมควรก็เพียงพอแล้ว ‘หนังดีใช่ว่าจะต้องถูกรสนิยมของคนทุกคน’
ถ้าคุณอยากเริ่มต้นกับหนังของ Hitchcock ผมไม่แนะนำ Vertigo ให้เป็นหนังเรื่องแรกของคุณนะครับ เพราะหนังมีความยาก และต้องใช้ความอดทนในการทำความเข้าใจพอสมควร แนะนำ Rebecca (1941) ก่อนเลย แล้วจะตามด้วย North by Northwest (1959), The Bird (1963), Psycho (1960) ก็แล้วแต่ชอบนะครับ
แนะนำกับคนเป็นโรคกลัวความสูง (มันจะมีประโยชน์อะไรไหมนิ), คอหนัง Thriller สไตล์ Hitchcock, แฟนหนัง James Stewart, Kim Novak และชอบฟังเพลงประกอบแนวๆของ Bernard Herrmann ไม่ควรพลาด
แนะนำอย่างยิ่งกับคนทำงานสายภาพยนตร์ทุกแขนง ศึกษาหลงใหล คลั่งไคล้ ครอบงำ ให้เข้าถึงเทคนิค วิธีการอย่างแจ่มแจ้ง ก็จักเห็นความสมบูรณ์แบบของหนังเรื่องนี้ ที่ได้รับการยกย่องสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในปัจจุบัน
จัดเรต 13+ กับงานภาพที่มีความมึนสูง
TAGLINE | “Vertigo มีความหลงใหล คลั่งไคล้ คิดครอบงำ คือความลึกล้ำของ Alfred Hitchcock ที่ต้องใช้การเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE
Vertigo (1958)
(23/11/2015) หนังดีใช่ว่าจะต้องถูกรสนิยมของคนทุกคน ผมดูหนังของ Alfred Hitchcock มาก็หลายสิบเรื่อง บอกตามตรงว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ผมชอบเลย แต่ก็ยอมรับว่าหนังมีความเป็นศิลปะที่สุดเรื่องหนึ่งของ Hitchcock
ก่อนอื่นพูดถึงความน่าสนใจของ Vertigo ก่อน นิตยสาร Sight & Sound เป็นนิตยสารเกี่ยวกับหนังชื่อดังเล่มหนึ่ง ซึ่งมักจะรวบรวมผลงานระดับคุณภาพในแง่ของการสร้างจากทั่วทุกมุมโลก Sight = ภาพ Sound = เสียง การจัดอันดับของ Sight & Sound มักเป็นงานที่ได้รับการยกย่อยในแง่ของความเป็นศิลปะที่สุดระดับโลก ในบรรดาชาร์ททั้งหมดที่มีในโลกผมถือว่าชาร์ทนี้สุดยอดที่สุดนะครับ เพราะเขาตัดสินหนังด้วยเทคนิค คุณภาพและความเป็นศิลปะของหนังจริงๆ และหนังอันดับ 1 ของชาร์ทนี้ไม่ใช่ Citizen Kane แต่เป็น Vertigo (Citizen Kane อยู่อันดับ 2) ส่วนในชาร์ตของ AFI Top 100 Vertigo อยู่อันดับ 9 ซึ่งถือว่าสูงมากๆ น่าเสียดายที่ตอนหนังฉาย Vertigo ไม่ได้เข้าชิงรางวัลอะไรๆเลยในปีนั้น แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า Vertigo เป็นหนังที่ได้รับการกล่าวขวัญ ว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของ Alfred Hitchcock
James Stewart ในทศวรรษนั้น เล่นหนังของ Hitchcock หลายเรื่องทีเดียว แต่ละเรื่องก็ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก นอกจาก Vertigo แล้วยังมี Rare Window, The Man Who Knew Too Much แต่จะว่าเป็นยุคที่เขาเริ่มถึงจุดอิ่มตัวทางการแสดงก็ว่าได้ การแสดงของเขาใน Vertigo ผมรู้สึกเลย James Stewart เล่นได้เอื่อยๆ เนือยๆมาก ดูแล้วเหนื่อยแทน เพราะเหมือนพี่แกเริ่มเบื่อๆ ดูเหมือนไม่ค่อยทุ่มเทเท่าไหร่ แต่ความรู้สึกนี้ใช่เลย นี่เป็นตัวละครที่ออกแบบมาเพื่อให้เขา ณ ช่วงเวลานั้นเล่น เป็นตัวละครที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนของชีวิต เขาขาดความมั่นใจ ไม่แน่ใจในตัวเอง สับสน ว้าวุ่น อารมณ์อึมครึม กลายเป็นว่าความเนือยๆนั้น กลายเป็นหนึ่งในสุดยอดการแสดงของ James Stewart ซะงั้น
สำหรับนักแสดงนำหญิง Kim Novak บอกเลยว่าผมไม่รู้จักครับ นอกจาก Vertigo แล้ว ไม่ก็ไม่เคยเห็นเธอในหนังเรื่องอื่นเลย ดูในเครดิตก็ไม่มีเรื่องที่ผมรู้จักเลย จึงให้ความเห็นไม่ได้เท่าไหร่ ใน Vertigo คงบอกได้แค่ว่า เธอเล่นดี เท่านี้นะครับ … อ๋อ เกือบลืมไป หนังของ Hitchcock ทุกเรื่อง จะมี Hitchcock โผล่มาแวบๆ หากันเจอรึเปล่า ผมเห็นเดินๆผ่านหน้ากล้องอยู่ฉากนึงนะครับ
Vertigo ดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่องหนึ่ง ผมชอบแนวคิดของหนังเรื่องนี้นะ ชายผู้เป็นโรคกลัวความสูง เขาต้องทำงานที่คล้ายๆกับการรักษาตนเอง แต่แทนที่เขาจะหาย กลับเป็นหนักขึ้นไปอีก ในองก์หลังเขาพยายามรักษาตนเองให้หาย ด้วยการไขปมจากองก์แรก ไปสู่ตอนจบที่ … เขาจะหายจากการเป็นโรคกลัวความสูงหรือเปล่า? บทหนังเรื่องนี้ซับซ้อนทีเดียว แต่มีการนำเสนอ ตัดต่อ เล่าเรื่องที่เรียบง่ายมากๆ ค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวออกทีละเล็กทีละน้อย ตอนผมดู อารมณ์ ความสงสัยมันค่อยๆสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเราเดินขึ้นบันได จนถึงจุดๆหนึ่ง(ถึงบันไดขั้นสูงสุด) มันก็ระเบิดออก (เกิดเป็น Vertigo) ณ จุดนี้คือจบองก์แรก พอเข้าสู่องก์สองเป็นการพยายามล้อเหตุการณ์กับองก์แรกได้น่าสนใจมาก เหมือนการเริ่มต้นไต่ขึ้นบันไดอีกครั้ง แต่คราวนี้เรื่องราวได้นำพาตัวละครไปถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืนได้ ว่าไปช่วงองก์หลังมันรู้สึกฝืนๆบ้าง แต่ก็เพื่อตอนจบครับ พอถึงตอนจบแล้วจะพูดไม่ออกเลยครับ อารมณ์แบบนี้ฉันจะรู้สึกยังไงละนี่ เป็นหนังสไตล์ Hitchcock ของแท้เลยละครับ
ด้านการออกแบบฉาก เราจะเห็นความเป็นเหลี่ยม เป็นมุมอยู่ในทุกๆฉากเลย แต่ในความเหลี่ยมๆมุมๆนั้น มันจะโค้งๆมนๆ ให้ความรู้สึกคล้ายๆกับ Vertigo มีอยู่ฉากหนึ่งที่ผมชอบมาก คือฉากในร้าน… (จำชื่อร้านไม่ได้) ที่กำแพงรอบด้านเป็นผ้ากำมะหยี่สีแดง เป็นฉากเปิดตัวนักแสดงนำหญิง เธอใส่ชุดสีเขียว ผมเห็นการออกแบบฉากนี้ก็ยิ้มๆละครับ สีแดงกับสีเขียวมันตัดกัน คือเด่นมาก ในขณะที่คนอื่นในร้านจะใส่สูทสีเข้มๆ ผมของเธอสีทองทำให้ตัวละครนี้เด่นขึ้นไปอีก เรื่องชุด สังเกตว่าสูทในเรื่อง นางเอกจะใส่สีเทาๆ เป็นสีที่ให้อารมณ์อึมครึมมาก นี่เป็นหนังเรื่องที่แม้แต่สีของเสื้อผ้ายังสื่อความหมายเลยนะครับ
มีฉากหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก ฉากนี้ดูผ่านๆอาจจะไม่มีอะไรมาก คือฉากที่ต้นไม้ครับ บอกตามตรงว่าผมไม่รู้ทำไมฉากนี้ถึงเป็นที่กล่าวถึงกันมาก คงเพราะประโยคคำพูดที่สุดคลาสสิค กินใจคนมากในสมัยนั้น ฉันเกิดตรงนี้และตายตรงนี้… ทั้งๆที่ต้นไม้มันตายไปแล้ว แต่เธอกลับพูดว่า ฉันตายตรงนี้ … ตกลง ณ ขณะนั้นเธอเป็นใครกัน ฉากนี้สื่อถึงอะไรกัน แล้วไฉนทั้งสองถึงหลงรักกัน … ผมไม่ได้เกิดยุคนั้น ไม่เข้าใจจริงๆครับ
งานตัดต่อและงานเทคนิค ถ้าบอกว่านี่เป็นหนังที่ใช้ special effect ด้วย แบบที่น่าสนใจทีเดียว คือการเล่นสี กระบวนการนี้เกิดขึ้นตอนตัดต่อนะครับ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาทำยังไง คงทาสีในแผ่นฟีล์มเลย แต่ด้วยเทคนิคง่ายๆแบบนี้ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ไม่ได้พึ่ง Special Effect มากมายเหมือนในสมัยนี้ แต่คนดูกลับรู้สึกได้ครับ ว่ามันหลอนๆ มันน่ากลัว มันพิศวง อย่างฉากเปิดเรื่อง ผมก็ชอบนะครับ สงสัยมากว่าทำยังไง ในสมัยที่ยังไม่มี Computer เขานั่งวาดภาพทีละภาพแบบในหนังอนิเมชั่นเหรอ? ผมให้คำตอบไม่ได้เพราะไม่รู้จริงๆครับ ลองดู title เปิดเรื่องสักหน่อยแล้วกัน
หนึ่งในเครดิตที่ผมจะไม่พูดถึงไม่ได้ Bernard Herrmann ใครยังไม่รู้จักเขา ให้รีบจดจำเลยนะครับ ก่อนที่จะมี John William ก็มี Bernard Herrmann นี่แหละ ที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอด Composer ในโลกภาพยนตร์ หนังระดับตำนานๆหลายเรื่องก็มีเขาเป็นผู้ประพันธ์เพลงประกอบ เช่น Citizen Kane, Psycho, Taxi Driver ใน Vertigo ผมเชื่อว่าใครที่ได้ดูก็คงจะรู้สึกถึงอารมณ์อึมครึม ลึกลับ ซับซ้อน พิศวง ตึงเครียดตลอดทั้งเรื่อง แบบเสมอต้นเสมอปลายมากๆ หนังของ Hitchcock แทบทุกเรื่อง ล้วนเป็น Bernard นี่แหละที่ทำเพลงให้ น่าเสียดายที่ทั้งชีวิตของเขาได้ Oscar เพียงตัวเดียวเท่านั้น
สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ เหนือกว่า Citizen Kane ในมุมมองของ Sight & Sound คืองานภาพ ถ่ายภาพโดย Robert Burks เขาเป็นตากล้องขาประจำของ Hitchcock เลย สำหรับเรื่องนี้ เทคนิคที่ใช้เรียกได้ว่า เป็นการนำเสนอภาพบนแผ่นฟีล์มที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก คนที่เคยดู Citizen Kane และได้ตีความภาพที่นำเสนอในแต่ละฉาก จะเห็นได้ว่ามีการจัดเรียง มีการวางตำแหน่งตัวละครที่มีความหมายแฝงอยู่ ซึ่งถือว่าสุดยอดมากๆ แต่กับ Vertigo นั้นเหนือกว่านั้น มีฉากหนึ่งที่ในภาพ 1 ภาพ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 2 เหตุการณ์ (ฉากที่พระเอกวิ่งหนีออกจากโบสถ์ และมีกลุ่มของแม่ชีวิ่งไปดูศพบนหลังคา) ฉากนั้นเราจะรู้สึกว่ามุมกล้อมันแปลกๆ และความลึกของมันก็แปลกด้วย แต่นี่แหละคือฉากในตำนานของ Vertigo เป็นการใช้ศักยภาพของการถ่ายภาพในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เลยได้รับการยกย่องว่า นี่คือที่สุดของความเป็นศิลป์บนแผ่นฟีล์ม
ยังมีอีกหลายฉากที่สุดยอดๆของ Vertigo นั่นคือการซูม สมัยก่อนกล้องมันซูมไม่ได้นะครับ แต่เรื่องนี้ซูมแหลกเลย แบบว่าซูมแล้วมันทำให้เกิดภาพที่แปลกๆ เกิดความรู้สึกบางอย่าง ผมว่าถ้า Vertigo ถูกสร้างเป็น 3 มิตินะ จะมีคนกลายเป็นโรคกลัวความสูงเพราะดูหนังเรื่องนี้แหละ และการแพนกล้อง เทคนิคการตั้งกล้องไว้กับที่ แล้วหมุนกล้อง ที่เรียกว่าแพนกล้อง เทคนิคนี้ไม่ได้ถือว่าแปลกใหม่เท่าไหร่ เพราะยุคก่อนหน้านั้นมีพวก crane และล้อเลื่อนแล้ว แต่การถ่ายแบบนี้ มันล้อกับฉากในตำนานที่ผมพูดย่อหน้าที่แล้วครับ คือหนังพยายามนำเสนอ ใน 1 ภาพ มี 2 เหตุการณ์เกิดขึ้น เทคนิคการแพนกล้องก็เพื่อแบบนี้เริ่มจากมุมกล้องด้านหนึ่งเหตุการณ์หนึ่ง แพนกล้องไป 180 องศา หยุดกล้องเจอกับอีกเหตุการณ์หนึ่ง สมัยนี้หาใครทำแบบนี้ไม่ได้แล้วนะครับ
สรุปละครับ นี่คือหนัง Masterpiece ที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่เอาว่าถ้าท่านอ่านคำยั่วยวนของผมแล้วสนใจก็แนะนำให้ลองหามาดูเลยนะครับ เหตุผลที่ผมไม่ชอบหนังเรื่องนี้เพราะมันเอื่อยมากครับ แบบว่าอืดอาด ดูแล้วเหนื่อยมาก จากไม่ง่วงกลายเป็นง่วง ยังกะถูกสะกดจิต รวมถึงความยาวด้วย หนังยาว 2 ชั่วโมงเปะๆเลย ดูเหมือนไม่ยาว แต่เพราะวิธีการนำเสนอแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกมันยาวเกินไป แต่ที่ผมรู้สึกแบบนี้อาจเพราะยุคสมัยนะครับ คนสมัยนี้อะไรๆมันก็เร็ว โลกหมุนเร็วขึ้น ฉากแอ๊คชั่นสมัยใหม่นี่ก็เร็วมากดูกันแทบไม่ทัน สมัยก่อนเขาทำอะไรเร็วๆไม่ได้นะครับ ดังนั้นหนังส่วนใหญ่จะช้าๆ เนิบๆ ค่อยๆสร้างอารมณ์ไปเรื่อยๆ นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญเลยที่ทำให้ผมไม่ชอบหนังเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ถึงกับไม่แนะนำให้ดูนะครับ ดูหนังเรื่องนี้เพราะนี่เป็นงานศิลปะที่สวยงามที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง
คำโปรย : “Vertigo สุดยอดงานศิลปะของ Alfred Hitchcock ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและเอกลักษณ์ผ่านการแสดงของ James Steward”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : SO-SO
Leave a Reply
[…] Vertigo (1959) : Alfred Hitchcock ♥♥♥♡ […]