
Videodrome (1983)
: David Cronenberg ♥♥♥♥
ขณะรับชมหนังโป๊จากสัญญาณกระจายภาพลึกลับ จู่ๆโทรทัศน์มันก็ยื่นริมฝีปากออกมาจะจุมพิต, เมื่อมนุษย์ใช้ชีวิตยึดติดกับเทคโนโลยีสื่อสารมากเกินไป มันจักเริ่มเลือนลาง เจือจาง กลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับชีวิตจริง=ภาพยนตร์
A Clockwork Orange (1971) of the 1980s.
Andy Warhol
Videodrome (1983) คือวิสัยทัศน์เหนือกาลเวลาของผกก. David Cronenberg ต่ออนาคตมนุษยชาติ ที่จะค่อยๆสูญเสียตัวตนเองให้กับเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ไม่สามารถแยกแยะระหว่างโลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน แม้ว่าเครื่องฉายโทรทัศน์สมัยนั้นจะยังจับต้องไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ (ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยมีลักษณะเหนือจริง, Surreal) แต่ปัจจุบันอินเตอร์เน็ต สังคมออนไลน์ ได้ผสมผสานเข้ามาในชีวิตจนแทบแยกแยะไม่ออกอีกต่อไป
ระหว่างรับชม Videodrome (1983) เป็นภาพยนตร์ที่ผมแทบไม่อาจละสายตา ชื่นชอบทั้งแนวคิด Special/Visual Effect มีความน่าหลงใหล ตื่นตาตื่นใจ หลายคนอาจรู้สึกวาบหวิวสยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน แต่ต้องชมในวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Cronenberg นำเสนอออกมาได้เหนือจริง ตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารได้อย่างน่าสนใจมากๆ
สำหรับคนจินตนาการไม่ออกว่าริมฝีปากยื่นออกมาจากโทรทัศน์ได้อย่างไร? ผมเองโคตรๆทึ่งกับฉากนี้ ครุ่นคิดถ่ายทำออกมาได้อย่างไร! ใครเห็นช็อตนี้แล้วไม่แน่ใจตนเอง รับชมไหวไหม แนะนำให้มองข้ามไปเลยนะ หนังแนว ‘body horror’ อย่างฝืนตนเองอย่างเด็ดขาด

David Paul Cronenberg (เกิดปี 1943) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario บิดาเป็นนักเขียน/นักตัดต่อ พยายามเสี้ยมสอนบุตรชายให้หลงใหลในสื่อภาพยนตร์ แต่เขากลับชื่นชอบอ่านนวนิยาย Science-Fiction ในตอนแรกเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ University of Toronto ก่อนเปลี่ยนมาคณะวรรณกรรมภาษาอังกฤษ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสรับชม Winter Kept Us Warm (1966) ถึงเริ่มค้นพบความสนใจในภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น 16mm ร่วมก่อตั้ง Toronto Film Co-op กับเพื่อนสนิท Ivan Reitman, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Stereo (1969), Crimes of the Future (1970), พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ ‘body horror’ เริ่มตั้งแต่ Shivers (1975), Rabid (1977)
ผกก. Cronenberg ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกภาพยนตร์แนว ‘body horror’ ด้วยความพยายามทำให้เรือนร่างกายมนุษย์มีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Transformation) มักจากเทคโนโลยีล้ำยุคสมัย ไม่ก็ติดเชื้อโรคบางอย่าง ซึ่งสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ จิตวิเคราะห์ ผลงานส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ Sci-Fi Horror แต่บางครั้งก็สรรค์สร้างแนว Psychological Thriller, Gangster Film ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง คลุ้มบ้าคลั่ง
ผลงานเด่นๆ อาทิ The Brood (1979), Scanners (1981), Videodrome (1983), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), A History of Violence (2005), Eastern Promises (2007) ฯลฯ
สำหรับ Videodrome (1983) ผู้กำกับ Cronenberg ได้แรงบันดาลใจจากช่วงวัยเด็กของตนเอง ชื่นชอบปรับเสารับสัญญาณ ช่วงดึกๆหลังสถานีโทรทัศน์แคนาดายุติการออกอากาศ ให้สามารถรับคลื่นความถี่จาก Buffalo, New York คาดหวังอยากพบเห็นอะไรบางอย่างที่มีความลึกลับ ซ่อนเงื่อน ไม่ต้องการเผยแพร่สูสาธารณะ
I’ve always been interested in dark things and other people’s fascinations with dark things. Plus, the idea of people locking themselves in a room and turning a key on a television set so that they can watch something extremely dark, and by doing that, allowing themselves to explore their fascinations.
The idea was born from the many night hours I spent in front of the television as a child, when I suddenly saw signals caused by interference. It was that experience that led me to imagine a man who accidentally picks up a bizarre, extreme, violent and very dangerous signal. Because of its content he becomes obsessed with it, tries to track it down and finds himself embroiled in an intricate mystery.
David Cronenberg
ช่วงต้นทศวรรษ 70s พัฒนาโปรเจคชื่อ Network of Blood ตั้งคำถามถึงความรุนแรง ภาพโป๊เปลือย สิ่งเหล่านี้สร้างอิทธิพลต่อผู้ชมโทรทัศน์เช่นไร? ต่อมาครุ่นคิดนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First-Person Persepctive) เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อมนุษย์
เมื่อปี 1977 ผู้กำกับ Cronenberg มีโอกาสกำกับตอนหนึ่งของซีรีย์ Peep Show ตั้งชื่อว่า The Victim โดยสมมติสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV (ได้แรงบันดาลใจจาก City TV ของแคนาดา) ช่วงดึกๆมักออกอากาศหนังโป๊ (soft-core sex films) หรือรายการที่เต็มไปด้วยความรุนแรง (violence films)
หลังความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึงของ Scanners (1981) ทำให้ผู้กำกับ Cronenberg ได้รับโอกาสมากมายจากทาง Hollywood หนึ่งในนั้นติดต่อให้กำกับภาพยนตร์ Return of the Jedi (1983) แต่เขาบอกปัดปฏิเสธ เพราะไม่ใคร่สนใจโปรเจคของคนอื่น ซึ่งหลังจากพบเจอโปรดิวเซอร์พูดคุยผลงานเรื่องถัดไป ก็ถึงเวลายื่นข้อเสนอบทร่าง Videodrome
บทร่างแรกของ Videodrome เสร็จสิ้นเดือนมกราคม 1981 เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด เตลิดเปิดเปิงด้วยรายละเอียดที่โปรดิวเซอร์ไม่สามารถยินยอมรับไหว (แซวกันว่าถ้านำบทร่างดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ คงได้รับเรตติ้ง Triple-X (XXX)) อาทิ ฉากจุมพิตผ่านโทรทัศน์ แล้วพวกเขาก็หลอมรวมกลายเป็นวัตถุเดียวกัน แถมยังร่วมสวิงกิ้งกับคนอื่นๆ, มือของพระเอกที่กลายเป็นกระบอกปืน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ใช้มีดหั่น แล้วระเบิดให้เละเป็นผุยผง ฯลฯ
ผู้กำกับ Cronenberg ต้องการค่อยๆปรับปรุงแก้ไขบทหนังไปเรื่อยๆ แล้วจู่ๆถูกใบสั่งจากรัฐบาลแคนาดา (ที่ร่วมออกทุนสร้างหนัง) ให้เร่งรีบถ่ายทำภายในปีงบประมาณ ค.ศ. 1981 จึงจำต้องเปิดกองช่วงปลายปี โดยที่ยังขบครุ่นคิดไม่ออกว่าตอนจบจะลงเอยเช่นไร
Max Renn (รับบทโดย James Woods) ประธานบริษัท/เจ้าของสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV ผู้มีความหลงใหลเกี่ยวกับการจัดหาโปรแกรมฉายรอบดึก ในตอนแรกมีเพียงหนังโป๊ (soft-core sex films) จนกระทั่งลูกน้องดักสัญญาณ Videodrome พบเห็นภาพความรุนแรง นักแสดงถูกทรมานในลักษณะ Sado-masochist ทำให้เขาเกิดความชื่นชอบหลงใหล เสพติดรายการนี้โดยไม่รับรู้ตัว
ต่อมา Renn ได้รับคำเตือนจากเพื่อนร่วมงานว่า Videodrome ไม่ใช่การแสดงแต่คือ Snuff Film เล่นจริง เจ็บจริง ตายจริง! ทีแรกเขาก็อยากไม่เชื่อสักเท่าไหร่ แล้วจู่ๆกลับเริ่มพบเห็นภาพหลอน เกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าสิ่งต่างๆคือเรื่องจริง ตัวเขากำลังถูกองค์กรที่อยู่เบื้องหลังรายการนี้ไล่ล่าติดตามตัว จึงต้องหาหนทางกำจัดให้พ้นภัยทาง และท้ายที่สุด Long live the new flesh!
James Howard Woods (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Vernal, Utah โตขึ้นร่ำเรียนวิชาแพทย์ Massachusetts Institute of Technology ครุ่นคิดอยากเป็นหมอจักษุ แต่เมื่อเข้าร่วม Theta Delta Chi กลายเป็นสมาชิกชมรมการแสดง เลยตัดสินใจลาออกจาก MIT เข้าร่วมคณะการแสดง Theatre Company of Boston ค่อยๆสะสมประสบการณ์จนได้ขึ้นเวที Broadway, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Visitors (1972), The Way We Were (1973), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Onion Field (1979), Videodrome (1983), Once Upon a Time in America (1984), Salvador (1986), Casino (1995), Nixon (1995), Ghosts of Mississippi (1996) ฯลฯ
รับบท Max Renn ประธานสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV ผู้มีความลุ่มหลงใหลในกิจกรรมสนองตัณหาความใคร่ เมื่อมีโอกาสรับชม Videodrome เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น ต้องการนำออกฉายรอบดึกเรียกเรตติ้ง แต่ขณะเดียวกันกลับพยายามกีดกันแฟนสาว ‘มือถือสากปากถือศีล’ โดยไม่รู้ตัวเริ่มเกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต พบเห็นภาพหลอน แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา จนมิอาจควบคุมตนเอง ท้ายสุดก็ตัดสินใจ…
Woods เป็นแฟนผู้กำกับ Cronenberg จากผลงาน Rapid (1977) และ Scanners (1981) นัดพบเจอที่ Beverly Hills แสดงความกระตือรือล้นอยากร่วมงานกันมากๆ … ผมอ่านเจอว่า Wood เป็นนักแสดงที่มีความตรงไปตรงมา เมื่อตอนทราบข่าวว่า Martin Scorsese แสดงความสนใจอย่างร่วมงาน Casino (1995) โทรศัพท์ไปที่สำนักงานฝากข้อความ “Any time, any place, any part, any fee”.
นี่เป็นบทบาทที่เต็มไปด้วยวิวัฒนาการของตัวละคร เริ่มต้นจากความกระตือรือล้น ลุ่มหลงใหล (เพราะเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ จึงค่อนข้างเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ บ้าอำนาจ เผด็จการพอสมควร) ตกหลุมรักใครก็พูดบอก แสดงออกมาโดยไม่สนอะไรใคร แต่เมื่อพบเห็นฝ่ายหญิงเกิดความชื่นชอบ Videodrome บังเกิดหวาดระแวง วิตกจริต จนเมื่อลักษณะทางกายภาพปรับเปลี่ยนแปลงไป (จากภาพหลอน) ก็แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง สูญสติแตก และที่สุดคือสิ้นความเป็นมนุษย์
เรื่องการแสดงอาจไม่โดดเด่นสักเท่าไหร่ แต่ผมชอบภาพลักษณ์ของ Wood ดูเป็นคนโฉดๆ โหดเหี้ยม มาดนักเลง เก๋าเจ้ง ไม่ใช่ชายหนุ่มหน้าใสไร้เดียงสา นั่นทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกสงสารเห็นใจ เมื่อต้องประสบพบเจอเหตุการณ์ร้ายๆ สมน้ำหน้า อยากถีบส่ง เป็นการสร้างระยะห่าง(ระหว่างตัวละครกับผู้ชม)เพื่อสามารถครุ่นคิดตีความตัวละครในเชิงสัญลักษณ์
ถ่ายภาพโดย Mark Irwin (1950-) สัญชาติแคนาดา สำเร็จการศึกษาด้านภาพยนตร์จาก York University ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ Fast Company (1979) จนถึง The Fly (1986)
ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นฉากภายใน เกี่ยวกับโทรทัศน์ ต้องใช้พื้นที่จำกัด และกินไฟอย่างมาก (จนมีอยู่ครั้งหนึ่งสายไฟเคเบิลเกือบจะลุกไม้ ควันโขมงโฉงเฉงเพราะจ่ายกระแสไฟมากเกินไป) ตากล้อง Irwin บอกว่าไม่ค่อยชื่นชอบข้อจำกัดของจอโทรทัศน์สักเท่าไหร่ ทั้งเรื่องขนาดภาพ รายละเอียด และสีสันที่แสดงออกมา ทำให้เขาแทบไม่สามารถใส่ลูกเล่นอะไรกับมันได้นัก
แต่การถ่ายภาพแบบปกติก็ถือว่ายอดเยี่ยม เล่นกับพื้นที่จำกัดด้วยทิศทางมุมกล้อง การจัดแสง ความมืดมิด และสีสัน ตื่นตระการตาด้วย Special/Visual Effect นำเสนผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่งของตัวละคร พบเห็น ‘ภาพหลอน’ ได้อย่างเหนือจริง
โปรดักชั่นเริ่มถ่ายทำเดือนตุลาคม จนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1981 ในช่วงแรกๆถ่ายทำทุกสิ่งที่เป็น ‘monitor inserts’ ที่จะใช้ฉายในโทรทัศน์ อาทิ บทพูดของ Prof. Brian O’Billvion, ฉากทรมานใน Videodrome และหนังโป๊สองเรื่อง Samurai Dreams และ Apollo and Dionysus … ทั้งหมดสามารถหารับชมใน Special Feature ของหนังนะครับ
เห็นตัวอย่างหนัง (Trailer) มีการใส่ลูกเล่น Visual Effect ที่มีลักษณะคล้ายๆคลื่นสัญญาณปรากฎบนจอโทรทัศน์ ยุคสมัยนั้นถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจมากๆนะครับ รับชมในปัจจุบันหลายคนอาจเบือนหน้าหนี แต่ให้ถือคือวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารก็แล้วกัน
เกร็ด: Visual Effect ที่พบเห็นในตัวอย่างหนัง สร้างโดยเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุด ทันสมัยสุดขณะนั้น Commodore 64 ถือเป็น 8-bit Home Computer (RAM 64 kilobytes, จอ 16 สี ขนาด 320×200) เห็นว่ารุ่นนี้ลง Guinness World Records ว่าเป็นโมเดลขายดีที่สุดในโลก (ขณะนั้น)
‘film within film’ เรื่อง Samurai Dreams ถ่ายทำด้วยระบบเทป Betamax โดยไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ บางฉบับของหนังที่ถูกเซนเซอร์ ขณะถอดชุดตุ๊กตากิโมโนนี้ออกจะไม่พบเห็นดิลโด้ (dildo) ใครอยากรับชมเต็มๆให้หาซื้อแผ่น Blu-Ray ฉบับบูรณะล่าสุด พบเห็นอยู่ใน Special Feature … ยังไม่มีใครนำมาโพสขึ้น Youtube นะครับ
แล้วทำไมต้องเกอิชา? ทำไมต้อง Samurai Dream? นี่สะท้อนโลกทัศน์ชาวตะวันตกยุคสมัยนั้น (แคนาดาก็ไม่ละเว้น) เพราะทวีปเอเชียยังเป็นดินแดนห่างไกล(ความเจริญ) ประเทศญี่ปุ่นก็คล้ายๆ ‘Bang-kok’ ที่พวกคนขาวมองว่าคือดินแดนแห่งโสเภณี เต็มไปด้วยหญิงสาวค้าบริการ ยิ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ใครได้เป็นทหารประจำการ ‘Occupation of Japan’ คงคือประสบกามไม่รู้ลืม


ภาพยนตร์ของผู้กำกับ Cronenberg แทบทุกเรื่องจะต้องมีตัวละครที่เป็นศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ สำหรับพูดอธิบายเหตุผล ที่มาที่ไป (ทางวิชาการ) มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น สำหรับ Videodrome (1983) ก็คือตัวละคร Dr. Brian O’Blivion แค่นามสกุลก็บอกใบ้อะไรหลายๆ (Oblivion คือสภาพการสูญเสียสติ ไม่รับรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไร เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก่อนหน้า)
The television screen has become the retina of the mind’s eye. That’s why I refuse to appear on television except on television. Of course, O’Blivion is not the name I was born with. That’s my television name. Soon all of us will have special names names designed to cause the cathode ray tube to resonate.
Dr. Brian O’Blivio
หลายๆคำพูดของ Dr. O’Blivion ฟังดูล้ำอนาคต แต่เราสามารถเปรียบเทียบถึงปัจจุบันได้ไม่อยาก อาทิ ชื่อเรียก ‘Television Name’ ในแวดวงสังคมออนไลน์ก็คือนามแฝง raremeat.blog, ณ.คอน ลับแล ฯลฯ ทุกคนที่เล่นอินเตอร์เน็ตต่างก็มี Avatar ของตนเองทั้งนั้น
นั่นรวมถึงตัวตนแท้จริงของ Dr. O’Blivion ที่ได้เสียชีวิตไปหลายปีก่อน แล้วได้ทำการบันทึกเทปจำนวนมหาศาลเก็บไว้ ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึง @Sugree ผู้มาก่อนกาล แม้เลิกเล่น Twitter ไปนมนาน แต่ใครต่อใครยังคง Retweet อ้างอิงคำพูดที่สอดคล้องเหตุการณ์ปัจจุบัน แสดงถึงประวัติศาสตร์มันเอาแต่ซ้ำรอยเดิม ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงใดๆ

แค่การสวมชุดสีแดงของ Nicki Brand (ไม่โชว์ส่วนเว้าส่วนโค้ง โป๊เปลือยอวัยวะส่วนไหนเลยนะ) ยุคสมัยนั้นถือว่ามีความยั่วเย้ายวน รันจวนใจ แสดงออกถึงความต้องการทางเพศที่เร่าร้อนรุนแรง เชื้อเชิญหนุ่ม(หล่อ)ให้มาลุ่มหลงใหล … ผิดกับสมัยนี้ แทบจะล่อนจ้อนไม่สวมอะไร กลับไม่เห็นมีใครว่ากล่าวตักเตือน เพราะถูกมองว่าคือเสรีภาพในการแสดงออก
ขณะที่ฝ่ายหญิงมักแสดงออกทางกายภาพ ภาษากาย Max Renn ก็ใช้คำพูดเกี้ยวพาราสี ทั้งๆขณะนี้กำลังออกอากาศรายการสดทางโทรทัศน์ โดยไม่ยี่หร่าพิธีกร แขกรับเชิญ หรือแม้แต่ผู้ชมทางบ้าน นี่ถือว่าสันดานธาตุแท้ของเขา ไม่มีอะไรต้องปกปิดบัง ชีวิตจริง-บนจอโทรทัศน์ เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ล้วนสนเพียงตอบสนองตัณหาความต้องการส่วนตนเท่านั้น

ความเจ็บปวดกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้จริงหรือไม่? อันนี้ถือเป็น ‘รสนิยมส่วนบุคคล’ สำหรับคนที่ชื่นชอบความตื่นเต้น เร้าใจ มองหาประสบการณ์(ทางเพศ)ใหม่ๆ การถูกทรมาน Sado-masochist ย่อมสามารถกระตุ้นความรู้สึก พึงพอใจ ตอบสนองความใคร่ได้อย่างแน่นอน … แต่คนไม่ชอบความเจ็บปวดก็มีนะครับ อย่าไปครุ่นคิดว่าทุกจะต้องมีรสนิยม โหยหาประสบการณ์แปลกใหม่เหมือนๆกันไปหมด
สังเกตว่าฉากนี้รอบข้างจะปกคลุมด้วยความมืดมิด และมีเพียงแสงสีแดง(น่าจะจากเบื้องบน)อาบฉาบลงไปยังตัวละคร เพื่อสื่อถึงความเจ็บปวด ความรุนแรง Sado-masochist สามารถตอบสนองอารมณ์ทางเพศของพวกเขา
และตอนจบของซีเควนซ์นี้เมื่อทั้งสองเริ่มมีเพศสัมพันธ์ จู่ๆพื้นหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากห้องพักของ Max Renn มาเป็นฉากในรายการ Videodrome เพื่อสื่อถึงการลอกเลียนแบบ (ใช้ความเจ็บปวดกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ) ทำให้ชีวิตจริงไม่แตกต่างจากสิ่งที่พบเห็นในจอโทรทัศน์/ภาพยนตร์


ในหนังยังมี ‘film within film’ อีกเรื่องหนึ่งชื่อว่า Apollo and Dionysus ทั้งสองคือนักเขียน นักปรัชญาชาว Greek ปรากฎอยู่ในปรัมปรา The Birth of Tragedy และต่างเป็นบุตรชายของ Zeus จากคนละภรรยา
- Apollo เทพเจ้าแห่งแสงและดวงอาทิตย์ สัจจะและคำพยากรณ์ การรักษา โรคระบาด แพทยศาสตร์ กวี ดนตรี ศิลปะ และความรู้
- Dionysus เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยวองุ่น การทำไวน์ เทศกาลรื่นเริง การละคอนและปีติสาสนติ์
หนังไม่ได้นำเสนอรายละเอียดหนังโป๊เรื่องนี้มากนัก แค่พอสังเกตได้ว่ามีเรื่องราวขณะกำลังจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ มีการกินดื่ม เฉลิมฉลอง และเพศสัมพันธ์ … นัยยะคงต้องการสื่อถึงเพศสัมพันธ์ของเทพเจ้า ซึ่งคงเป็นสิ่งเหนือจินตนาการเกินกว่ามนุษย์จะสามารถรับรู้เข้าใจ

จุดเริ่มต้นความผิดปกติของ Max Renn จู่ๆครุ่นคิดว่าตนเองตบหน้าอดีตแฟนสาว ซึ่งหนังก็จงใจแสดงภาพนั้นให้เห็นถึงสองครั้ง แถมปรากฎใบหน้าของ Nicki Brand สวมชุดแดงแรงฤทธิ์ แต่แท้จริงแล้วเขายังไม่ได้ทำอะไรกับเธอ ทั้งหมดนี้แค่เพียงอาการเห็นภาพหลอนๆ (Hallucination) ครั้งแรกๆยังถือว่าแค่ตาฝาด
แต่ครั้งที่สองเกิดขึ้นต่อทันทีเมื่อเขาหยิบวีดิโอเทปของ Dr. Brian O’Blivion จู่ๆมันเกิดความบิดเบี้ยว ผิดรูปผิดร่างขึ้นมา ได้ยังไงกัน?


คำอธิบายงานสร้างฉากนี้ ‘breathing screen’ ตามความเข้าใจของผมก็คือทำการติดตั้งเครื่องฉาย Rear Projection ไว้ภายในโทรทัศน์ แล้วฉายริมฝีปากของ Deborah Harry ที่ถ่ายทำไว้บนฉากผืนผ้าใบยาง สามารถเป่าลมเข้าไปทำให้โป่งพองออกมา
นัยยะของฉากนี้แสดงถึง Max Renn ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง กอดจูบลูบไล้ มีเพศสัมพันธ์กับ Nicki Brand ที่อยู่ในรายการโทรทัศน์ Videodrome แต่เขากลับติดอยู่เพียงภายนอก ยังไม่สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง … เพราะนี่ยังแค่อาการหลอนระดับแรกเท่านั้น
นอกจากนี้ริมฝีปากยังมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง ขณะที่ศีรษะของ Max Renn ก็คือลึงค์/อวัยวะเพศชาย มุดเข้าไปแสดงถึงความหมกมุ่น มักมาก ถวายศีรษะให้กับเธอคนนี้ พร้อมยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ

ภาพหลอนลำดับถัดมาคือเกิดช่องว่างบริเวณกึ่งกลางลำตัว ลักษณะของมันแลดูเหมือนแคมอวัยวะเพศหญิง และโดยไม่ทราบสาเหตุ Max Renn นำเอาปืน (ซึ่งคือสัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย) ค่อยๆยัดใส่เข้าไป เพื่อสร้างสัมผัสเหนือจริง ตอบสนองตัณหาความใคร่ สัญลักษณ์ของการมีเพศสัมพันธ์ … แม้ไม่ใช่บริเวณอวัยวะเพศ แต่ส่วนท้องไส้คือตำแหน่งของการ ‘บริโภค’ พร้อมรับ(ประทาน)ทุกสิ่งอย่าง
ซีเควนซ์นี้เป็นการผสมผสานระหว่างงานทำมือ Special Effect สร้างเนื้อหนัง อวัยวะปลอมขึ้นมาติดกับร่างกายของ Wood แล้วแต่งเติมให้ดูสมจริงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Visual Effect) … เจ้าตัวเล่าว่านี่เป็นประสบการณ์ยากจะลืมเลือน จนไม่อยากเล่นหนังที่ต้องเปลืองร่ายกายขนาดนี้อีก

เครื่องครอบศีรษะนี้ Videodrome Helmet ช่างดูละม้ายคล้าย VR (Visual Reality) อุปกรณ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสมือน เลือนลางระหว่างชีวิตจริง-จินตนาการเพ้อฝัน เพียงข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ภาพแรกๆที่มองเห็นเลยมีลักษณะเป็นเหลี่ยมๆ 8-bit ก่อนเกิดการแปรสภาพสู่ภาพจริงๆ เพื่อสื่อว่า Max Renn ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งบนโลกเสมือนแห่งนี้ … เป็นความเลือนลางระหว่างภาพหลอนกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทำให้โลกเสมือนราวกับจับต้องได้
แซว: James Wood ปฏิเสธสวมใส่เครื่องครอบศีรษะ Videodrome Helmet เพราะกลัวถูกไฟดูด เลยต้องใช้นักแสดงแทนเข้าฉาก



มันอาจดูไม่สมเหตุสมผลถึงการใช้แส้ฟาดจอโทรทัศน์ มันจะมอบสัมผัสอะไรยังไง? แต่ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์หลังจาก Max Renn สวมเครื่อง VR เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสมือน ทุกสิ่งอย่างมันจึงเลือนลางเข้าหากัน สังเกตพื้นผิวบนโทรทัศน์ (รวมถึงผนังกำแพงด้านหลัง) มันคือนัยยะของ ‘New Flesh’ เนื้อหนังที่สามารถสร้างสัมผัสอันเหนือจริง ภาพในจินตนาการที่รู้สึกเหมือนจับต้องได้
ขณะเดียวกันบุคคลที่อยู่ในจอโทรทัศน์ นี่เช่นกันคือความสับสน เลือนลางในจินตนาการของ Max Renn ใคร่อยากครอบครองสาวสวย Nicki Brand แต่กลับได้หญิงชรา Masha ตื่นขึ้นมาถูกมัดมือมัดเท้านอนอยู่บนเตียง … แต่ทั้งหมดนี้ก็แค่ภาพหลอน เพียงเพ้อฝันไป (ในห้องที่เต็มไปด้วยเงาบานเกล็ด สื่อถึงการถูกคุมขังอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน)

จากเคยแค่พบเห็นภาพหลอน (Hallucination) ค่อยๆบังเกิดความเลอะเลือน เข้าใจอะไรผิดๆ (Delusion) ครุ่นคิดว่าเพื่อนร่วมงาน บุคคลต่างๆที่เคยพบเจอ(ปรากฎในหนัง) ล้วนคือผู้อยู่เบื้องหลัง วางแผนล่อหลอก Max Renn ให้รับชม Videodrome แล้วล้มป่วยโรคมะเร็ง อีกไม่นานก็จักเสียชีวิตจากไป สูญเสียกรรมสิทธิ์ในสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV
ตั้งแต่ฉากนี้ผมก็เริ่มแยกแยะไม่ออกแล้วว่าอะไรคือความจริง หรือภาพหลอนเข้าใจผิดของ Max Renn แต่อย่างไหนก็ไม่สลักสำคัญ เพียงเข้าใจพฤติกรรม/วิวัฒนาการตัวละคร มาถึงจุดเลอะเลือน สูญเสียสติแตก กำลังจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป
แซว: ม้วนวีดิโอที่เห็นนี้คือ Betamax ไม่ใช่ VHS (Video Home System) เพราะมีขนาดเล็กกว่า จึงสามารถยัดใส่ช่องแคมหน้าท้องที่สร้างขึ้นมาพอดิบดี

หลังจากที่ Max Renn ล้วงปืนออกมาจากกระเพาะของตนเอง จู่ๆมันก็งอกเงยยึดติดกับมือขวา สื่อถึงการผสมผสานระหว่างร่างกาย(ชีวภาพ)กับวัตถุสิ่งของ ให้กลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน … นี่อาจฟังดูเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่ให้ลองนึกถึงคนพิการที่ใช้แขนขาเทียม นั่นก็คือวัตถุกลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายมนุษย์ แนวคิดไม่ต่างกันนะครับ!
ปืนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของมือ มันยังคงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ถึงลึงค์/อวัยวะเพศชาย แต่ครานี้เมื่อถูกนำไปใช้เข่นฆาตกรรมผู้อื่น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพล ‘ชายเป็นใหญ่’ ซึ่งล้วนเกิดจากความเลอะเลือน (delusion) ของ Max Renn ครุ่นคิดว่าใครต่อใครคือศัตรู อาฆาตมาดร้ายต่อตนเอง
มีอีกช็อตหนึ่งที่น่าสนใจ คือจอโทรทัศน์ยื่นอะไรบางอย่างออกมา มองเผินๆเหมือนมือถือปืน ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย สามารถสื่อถึงการกำลังจะผสมผสาน กลายเป็นส่วนหนึ่ง หรือคือเพศสัมพันธ์กับ Max Renn เพื่อให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของ Videodrome … ล้อกับปืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมือขวาของ Max ได้ตรงๆเลย


Barry Convex คือเจ้าของกิจการร้านตัดแว่น Spectacular Optical Corporation และน่าจะเป็นผู้พัฒนาเครื่อง VR สำหรับสร้างโลกเสมือน เพื่อมอบสัมผัสเหนือจินตนาการ แต่ความเลอะเลือนของ Max Renn ครุ่นคิดว่าเขาบุคคลอยู่เบื้องหลัง Videodrome เลยต้องการเข่นฆาตกรรมปิดปาก ยังงานเลี้ยงที่มีฉากพื้นหลัง Michelangelo: The Creation of Adam (สื่อถึงสัมผัสอันเหนือจริง มนุษย์กับพระเจ้า แนวคิดคล้ายๆ ‘film within film’ เรื่อง Apollo and Dionysus) และปรากฎสองข้อความ
The eye is the window of the soul.
Love comes in at the eye.
ทั้งสองประโยคต่างล้อกับคำพูดของ Dr. Brian O’Blivion เคยกล่าวไว้ว่า The television screen has become the retina of the mind’s eye. เพื่อสื่อถึงยุคสมัยนี้ ภาพยนตร์คือหน้าต่างของจิตวิญญาณ, ความรักมาพร้อมกับสิ่งที่เรารับชมในรายการโทรทัศน์!

ผมมองลักษณะการตายของ Barry Convex คือภาพหลอนในจินตนาการของ Max Renn มันจึงพบเห็นความเน่าเปื่อย ผุพอง ย่อยสลายออกมาโดยทันที เพื่อสื่อว่าชายคนนี้ไม่ใช่มนุษย์ แต่คือ ‘New Flesh’ ถือกำเนิดขึ้นจาก Videodrome
เกร็ด: ผู้ทำ Special Effect ให้กับหนังคือ Rick Baker (1950-) นักแต่งหน้า Special Make-Up Effects ชาวอเมริกัน เคยคว้ารางวัล Oscar: Best Makeup จากภาพยนตร์เรื่อง An American Werewolf in London (1981) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Ed Wood (1995), Men in Black (1998), How the Grinch Stole Christmas (2000), Planet of the Apes (2001) ฯลฯ

การตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตของ Max Renn ด้วยข้ออ้างเพื่อให้ตนเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Videodrome (จากคำล่อลวงของ Nicki Brand) และถือกำเนิดใหม่ในฐานะ ‘New Flesh’ คำพูดสุดท้ายของเขาจึงคือ ‘Long Live the New Flesh!’ ยินดีกับการกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกสรรพสิ่งอย่าง … แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันคืออาการหลอกหลอน สูญเสียสติแตก ควบคุมตนเองไม่ได้ (Mental Breakdown) ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ตอนจบแบบดั้งเดิมที่ผู้กำกับ Cronenberg ครุ่นคิดเคยไว้ในบทหนัง, Max Renn จักถือกำเนิดใหม่ในจอโทรทัศน์ ร่วมกับ Nicki Brand และ Bianca O’Blivion ทั้งสามต่างมีแคมบนหน้าท้อง จากนั้นกระทำการ ‘Sex Orgy’ แล้วผสมผสานรวมตัวจนกลายเป็นอันหนึ่งเดียวกันทั้งหมด (แอบนึกถึงอนิเมะเรื่อง Paprika (2006) ขึ้นมาทันที!) แต่ที่ต้องล้มเลิกความครุ่นคิดดังกล่าว เพราะไม่รู้จะทำ Special/Visual Effect ออกมายังไง
After the suicide, [Max] ends up on the ‘Videodrome’ set with Nicki, hugging and kissing and neat stuff like that. A happy ending? Well, it’s my version of a happy ending – boy meets girl on the ‘Videodrome’
David Cronenberg

ตัดต่อโดย Ronald Sanders สัญชาติแคนาดา ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ผลงาน Fast Company (1979)
หนังดำเนินเรื่องผ่านสายตาของ Max Renn ในลักษณะมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First-Person Persepctive) เพื่อนำเสนออิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจมนุษย์ พานผ่าน 5 ระยะ (ลักษณะคล้ายๆ The Shape of Rage ของ The Brood (1979))
- ช่วงเวลาอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)
- Renn กำลังมองหาสิ่งสามารถกระตุ้นความสนใจของตนเอง
- พบเจอรายการ Videodrome ที่สร้างความลุ่มหลงใหล ต้องการนำออกฉายรายการดึก
- เกิดความหวาดระแวง (Paranoid)
- แฟนสาวแสดงความสนใจรายการ Videodrome ใคร่อยากจะถูกกระทำแบบนั้นบ้าง แต่ Renn พยายามสั่งห้ามปราม
- ขณะเดียวกันเขาก็พยายามสืบเสาะค้นหาเบื้องหลัง ที่มาที่ไปของ Videodrome
- พบเห็นภาพหลอน (Hallucination)
- จู่ๆก็เริ่มพบเห็นภาพหลอนจากม้วนวีดีโอ จอโทรทัศน์บิดๆเบี้ยวๆ
- รับรู้ความจริงของ Videodrome จาก Dr. Brian O’Blivion
- บังเกิดความเลอะเลือน เข้าใจอะไรผิดๆ (Delusion)
- Renn เริ่มไม่สามารถแยกแยะความจริง-ภาพหลอน
- ครุ่นคิดว่ามีกลุ่มอาชญากรที่สร้าง Videodrome เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง รวมถึงลูกน้องคนสนิทที่เปิดรายการดังกล่าวให้รับชม
- สูญเสียสติแตก (Mental Breakdown)
- (ครุ่นคิดว่า) จัดการเก็บกวาดล้างสมาชิกของ Videodrome
- และตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง เพื่อให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Videodrome
‘สไตล์ Cronenberg’ โดดเด่นในการลำดับเหตุการณ์ เน้นสร้างความลึกลับ ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็กละน้อย ชักชวนให้ผู้ชมใคร่อยากติดตาม แม้เรื่องราวอาจไม่ได้สลับซับซ้อน แต่ยังมี Special/Visual Effect ที่ทำให้ตกตะลึง อ้าปากค้างอยู่บ่อยครั้ง
ความที่หนังได้เรต R และ X ในหลายๆประเทศ จึงมีหลายๆฉากที่ถูกกองเซนเซอร์หั่นออกไป ส่วนนี้มีรายละเอียดเยอะมากๆแต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่เราควรสมใจ แนะนำให้มองหา ‘director’s cut’ ฉบับสมบูรณ์สุดความยาว 89 นาที แค่นี้ก็พอนะครับ
เพลงประกอบโดย Howard Leslie Shore (เกิดปี 1946) นักแต่งเพลงชาว Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลากหลาย เลยเข้าเรียนต่อ Berklee College of Music จากนั้นเป็นสมาชิกวงดนตรี Lighthouse แนว Jazz Fusion, ต่อด้วย Music Director ให้รายการโทรทัศน์อย่าง Saturday Night Live, สำหรับภาพยนตร์ได้รับคำชักชวนจาก David Cronenberg เริ่มต้นครั้งแรก The Brood (1979), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Lambs (1991), Ed Wood (1994), Se7en (1995), The Game (1997), The Lord of the Rings trilogy (2001-03) ** คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมด 3 ครั้ง, Gangs of New York (2002), The Aviator (2004), Hugo (2011) ฯลฯ
ช่วงแรกๆของหนังจะยังมีการใช้บทเพลงคลาสสิก บรรเลงโดยวงออร์เคสตรา เต็มไปด้วยความลึกลับ สร้างความพิศวงสงสัย ปั่นป่วนทรวงใน จากนั้นค่อยๆแทรกใส่เสียงสังเคราะห์จากเครื่อง Synclavier II ช่วงท้ายหลงเหลือเพียงเสียงเหมือนสัญญาณไฟฟ้า เพื่อสื่อถึงวิวัฒนาการตัวละครมาจนถึงจุดไม่สามารถแยกแยะออกว่าโลกความจริง หรือภาพหลอน/จินตนาการเพ้อฝัน
สำหรับอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์ ดั้งเดิมนั้นจะมีแค่ Original Soundtrack วางขายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 แต่เพิ่งมีการจัดจำหน่าย La-La Land Limited Edition พร้อมๆการบูรณะเมื่อปี ค.ศ. 2022
- Original Soundtrack แต่จริงๆคือการนำเอาบทเพลงที่ใช้ในหนังมาเรียบเรียง บันทึกเสียงใหม่ (ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Image Album แต่ทำขึ้นภายหลัง) มีทั้งหมดเพียง 7 บทเพลง
- La-La Land Limited Edition เป็นการนำเอาบทเพลงที่ใช้ในหนังจริงๆ มาแยกเป็นแทร็กๆทั้งหมด 17 บทเพลง
ผมขอเริ่มที่บทเพลง Piercing (ฉากเจาะหูระหว่าง Max Renn กำลังจะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนสาว Nicki Brand) เต็มไปด้วยบรรยากาศลึกลับ แต่ท่วงทำนองยังคงเป็นดนตรีคลาสสิก บรรเลงโดยวงออร์เคสตรา
Gun in Gut ใช้เพียงเสียงสังเคราะห์ เพื่อสื่อถึงการกระทำของตัวละครขณะนี้ ยัดกระบอกปืนเข้าไปในท้องไส้ของตนเอง นั้นคือภาพหลอน (Hallucination) เกิดขึ้นจากจินตนาการ ไม่ใช่เหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริง เป็นบทเพลงมอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ เต็มไปด้วยความหลอกหลอน ปั่นป่วนมวนท้องไส้ อึดอัดอั้นทรวงใน
ทิ้งท้ายด้วยบทเพลง The New Flesh ที่ก็มีเพียงเสียงสังเคราะห์ บรรเลงด้วยท่วงทำนองง่ายๆ ค่อยๆไต่ระดับตัวโน๊ตขึ้นสูงเรื่อยๆ มอบสัมผัสของการถือกำเนิด เริ่มต้นใหม่ ก้าวสู่ ‘New High’ หรือ ‘New Flesh’ เนื้อหนังที่เหนือจินตนาการ จับต้องไม่ได้ เกินกว่ามนุษย์จะสามารถทำความเข้าใจ
Videodrome deals with the impression of a sprawlingly technological world on our human senses; the fascination and horror of sex and violence; and the boundaries of reality and consciousness.
นักวิจารณ์ Tim Lucas
Videodrome shows us a world of technological hyperdevelopment in which people merge with their electronic media. Like an autoimmune catastrophe, the boundary between our bodies and what’s outside them becomes indistinguishable.
นักวิจารณ์ Gary Indiana
ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน (ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ เครือข่ายมือถือ อินเตอร์เน็ต ฯ) ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันยุคทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็แลกมากับความหมกมุ่น เสพยึดติด จิตใจเร่าร้อนรน อีกทั้งการบริโภคข่าวสารปริมาณมาก จักเริ่มไม่สามารถแยกแยะจริงหรือเท็จ ความถูกต้องเหมาะสมควรได้อีกต่อไป
Videodrome (1983) นำเสนอวิวัฒนาการของมนุษย์ เมื่อบริโภคข้อมูลข่าวสารไม่หยุดหย่อน เพราะสื่อสมัยนั้น-นี้นิยมนำเสนอแต่ ….
- เรื่องทางเพศ (Sex) ภาพโป๊เปลือย นุ่งน้อยห่มน้อย อ้างว่านั่นคือเสรีภาพในการแสดงออก
- ความรุนแรง (Violence) ทั้งจากภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ รวมถึงรายการข่าว ผัวเมียตบตี วัยรุ่นกับคู่อริ คลุ้มคลั่งจากเสพยาเกินขนาด ก่อการจราจล ประท้วงบนท้องถนน ฯลฯ
เหล่านี้ทำให้มนุษย์เกิดความเฉื่อยชินชา เริ่มไม่ตระหนักรับรู้สึกแล้วว่าพฤติกรรมเหล่านั้น ถูก-ผิด ดี-ชั่วตามหลักศีลธรรมศาสนา หรือกฎหมายบ้านเมืองอีกต่อไป (เพราะพบเห็นใครๆก็นิยมกระทำกัน) เมื่อไม่สามารถแยกแยะก็เท่ากับเป็นการผสมผสาน ระหว่างโลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งชีวิต-ภาพยนตร์ ก็จักกลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน
Max Renn มีความลุ่มหลงใหลต่อรายการ Videodrome ค้นพบว่ามันสามารถกระตุ้นความรู้สึก บังเกิดอารมณ์ทางเพศ ทำให้สามารถร่วมรักแฟนสาวได้อย่างถึงอกถึงใจ แต่เมื่อพานผ่านประสบการณ์ครั้งแรก จึงต้องการสัมผัสอันเร่าร้อนรุนแรงยิ่งๆขึ้นไปอีก
ทุกภาพหลอนของตัวละคร สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการมีเพศสัมพันธ์ ยื่นหน้าเข้าไปจุมพิตริมฝีปากบนจอโทรทัศน์ เอาปืน(สัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย)ยัดใส่หน้าท้องที่มีลักษณะเหมือนอวัยวะเพศหญิง ฯลฯ เหล่านี้เพื่อให้ได้นัยยะของการผสมผสาน กลายเป็นอันหนึ่งเดียว และท้ายสุดเมื่อตัดสินใจฆ่าตัวตาย ก็จักกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Videodrome ปรากฎบนหน้าจอโทรทัศน์
สำหรับผู้กำกับ Cronenberg นอกจากเติมเต็มความเพ้อฝัน ประสบการณ์วัยเด็ก ดูเหมือนเขาจะไม่ได้สนใจอะไรจริงจังกับประโยชน์-โทษของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน แค่ตั้งคำถามให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ไม่มีคำแนะนำ ไม่มีหนทางออก เพียงนำเสนองานศิลปะชั้นสูง ‘high art’ ที่ทำการผสมผสานชีวิตจริงเข้ากับสื่อภาพยนตร์ นามธรรมสู่รูปธรรม เท่านั้นเอง
เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเรียบร้อยแล้วนะครับ แม้มันไม่ได้อันตราย หรือกลายเป็นอย่างปรากฎใน Videodrome (1983) แต่ก็ทำให้มนุษย์มีความเฉื่อยชาทางอารมณ์ มุมมองโลกทัศน์ปรับเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง เห็นผิดเป็นชอบ เทิดทูนเงินทอง ตกเป็นทาสระบอบทุนนิยม ผมว่าชีวิตจริงเลวร้ายยิ่งกว่าเรื่องราวในหนังเสียอีกนะ!
ความสำเร็จของ Scanners (1981) ทำให้หนังได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นกว่าเก่าถึง $5.9 ล้านเหรียญ เสียงตอบรับถือว่าค่อนข้างดีเยี่ยม แต่ผลลัพท์กลับไม่ทำเงินสักเท่าไหร่เพียง $2.1 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน
เมื่อเข้าฉายในเทศกาลหนัง Brussels International Festival of Fantasy Film สามารถคว้ารางวัล Best Science-Fiction Film เคียงคู่กับ Bloodbath at the House of Death (1984) นอกจากนี้ยังได้เข้าชิง Genie Awards (รางวัล Oscar ของประเทศแคนาดา) อีกหลายสาขา
- Best Director ** คว้ารางวัล
- Best Supporting Actress (Sonja Smits)
- Best Supporting Actor (Leslie Carlson)
- Best Supporting Actor (Peter Dvorsky)
- Best Screenplay
- Best Cinematography
- Best Film Editing
- Best Art Direction
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K Ultra HD เพิ่งจัดจำหน่าย Blu-Ray เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 โดยค่าย Arrow Video, ส่วนฉบับของ Criterion Collection ยังเป็นแค่ High-Definition คงต้องรอกันอีกสักพักใหญ่ๆ
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ประทับใจในวิสัยทัศน์ ความครุ่นคิดสร้างสรรค์ Special/Visual Effect ตื่นตระการตา โดยเฉพาะไดเรคชั่นผู้กำกับ Cronenberg ทำออกมาอย่างน่าติดตาม เป็นลำดับขั้นตอน อาจหลอกหลอนสำหรับผู้ชมบางคน แต่สำหรับผมพบเห็นแต่ความลุ่มหลงใหล สัมผัสเหนือจินตนาการ
แนะนำคอหนัง Sci-Fi, Body Horror, ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์, มอบสัมผัสเหนือจริง (Surreal), ทำงานเกี่ยวกับวงการโทรทัศน์ สื่อสารมวลชน ภาพยนตร์เองก็เช่นเดียวกัน, นักออกแบบงานสร้าง Special/Visul Effect สำหรับสร้างแรงบันดาลใจ
จัดเรต 18+ จากการฉายหนังโป๊ ฉากทรมาน และความเลือนลางที่โคตรหลอกหลอน
Leave a Reply