Viridiana (1961) : Luis Buñuel ♥♥♥♥
(19/12/2021) คิดดี-พูดดี-ทำดี ย่อมได้ดีคือสัจธรรมความจริง แต่การทำดีกับคนพาล ไม่ต่างจากตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ นอกจากไม่ได้ดียังอาจถูกทำให้ป่นปี้, Viridiana คือผลงานโหดเxยที่สุด และทรงคุณธรรมที่สุดของ Luis Buñuel
การทำบุญ ทำทาน ทำกับใครก็ได้ทั้งนั้น แต่ผลกรรมที่เราจะได้กลับมาขึ้นกับบารมีของผู้รับ ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า
ดูกรอานนท์ บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ทักขิณาวิภังคสูตร วรรค ๗๑๑
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไย
Link: https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=9161&Z=9310&pagebreak=0
มองมุมหนึ่ง Viridiana (1961) คือการนำเสนอด้านมืดมิดสุดของมนุษย์ ผ่านกลุ่มบุคคลที่มองไม่เห็นคุณค่าความดีงาม ไร้สามัญจิตสำนึก ไม่สนหลักศีลธรรมจรรยา ถูก-ผิด ดี-ชั่ว อัปลักษณ์ทั้งภายนอก-ใน สามารถฉุดคร่าหญิงสาวผู้มีบริสุทธิ์ทั้งร่างกาย-จิตใจ ตกจากสรวงสวรรค์ลงสู่ขุมนรก มิอาจดิ้นหลุดพ้นวงจรอุบาศว์ วัฏฏะสังสารแห่งชีวิต
แต่ขณะเดียวกันนี่คือภาพยนตร์ที่สามารถสอนบทเรียนให้ผู้ชม ไม่ใช่แค่มีสติต่อการทำทาน หรือคบคนพาล แต่ยังภูมิต้านทานต่อสิ่งยั่วเย้า ครุ่นคิดหาวิธีการไม่ทำให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะดังกล่าว รู้จักปฏิเสธขัดขืน ต่อต้านสิ่งไม่ใช่ความต้องการ และในทางกลับกัน เราควรรู้สำนึกบุญคุญผู้ให้ ไม่ใช่เอาแต่กอบโกย สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน ทำลายความปรารถนาดีให้ป่นปี้ย่อยยับเยิน
บทเรียนที่ได้รับจากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้(ครั้งที่สอง) ทำให้ผมสำเนียกถึงการเป็นคนสูงส่งในคุณธรรม นั่นหาใช่สิ่งถูกต้องสักเท่าไหร่ เพราะมันจะบดบังวิสัยทัศน์ ทำให้เรามืดบอดในการทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่าย สิ่งชั่วร้ายขั้วตรงข้าม (เราควรต้องเรียนรู้จักทั้งด้านดี-ชั่ว พระพุทธเจ้า-พระเทวทัต ยินยอมรับทุกสิ่งอย่างในตนเอง ถึงสามารถปล่อยวาง เดินทางสายกลาง และทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่าง) จนกว่าจะสามารถยืนอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางอย่างแท้จริง ถึงไม่บังเกิดอคติต่อภาพยนตร์เรื่องนี้
Luis Buñuel Portolés (1900 – 1983) สัญชาติ Spanish เกิดที่ Calanda, Aragon เป็นบุตรคนโตมีน้อง 6 คน, เมื่อตอนอายุได้ 4 ขวบครี่ง ครอบครัวอพยพย้ายสู่ Zaragoza ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนมีฐานะ ชนชั้นกลาง ถูกส่งไปศีกษาร่ำเรียนเป็นบาทหลวงยัง Colegio del Salvador แต่หลังจากได้พานพบเห็นอะไรบางอย่าง จึงหมดสิ้นเสื่อมศรัทธาในศาสนา, อายุ 16 เข้าเรียนต่อยัง University of Madrid แรกเริ่มคณะเกษตร เปลี่ยนมาวิศวะ สุดท้ายคือปรัชญา, ความสนใจในภาพยนตร์เมื่อโอกาสรับชม Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang, เมื่อปี 1925 มุ่งสู่กรุง Paris ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Jean Epstein, สรรค์สร้างผลงานเรื่องแรก Un Chien Andalou (1929), L’Age d’Or (1930)
การมาถึงของจอมพล Francisco สงครามกลางเมือง Spanish Civil War (1936-39) และภาพยนตร์/สารคดี Las Hurdes (1933) ถูกแบนห้ามฉายในสเปน ทำให้ Buñuel ตัดสินใจเดินทางมุ่งสู่ Hollywood ครุ่นคิดพัฒนาหลากหลายโปรเจคแต่ก็ไม่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งได้รับชักชวนจากโปรดิวเซอร์ Oscar Dancigers อพยพย้ายมาประเทศ Mexico ตั้งแต่ปี 1946 เริ่มต้นสรรค์สร้าง Gran Casino (1947) ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ยังได้รับโอกาสอีกครั้ง El Gran Calavera (1949) คราวนี้สามารถทำเงินถล่มทลาย จากนั้นก็สรรค์สร้างภาพยนตร์ในช่วง Mexican Period (1946-64) มีผลงานทั้งหมด 20 เรื่อง
ค.ศ. 1960 หลังจากปักหลักอาศัยอยู่ Mexico มานานกว่าทศวรรษ, Buñuel ทดลองยื่น Visa ขอเข้ารัฐสเปน ปรากฎว่าไม่มีปัญหาอันใด ซึ่งระหว่างทริปกลับบ้านครั้งแรก Francisco Rabal นักแสดงจาก Nazarín (1959) แนะนำให้รู้จัก Gustavo Alatriste (1922-2006) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Mexican ที่ได้ชักชวน Buñuel ให้สรรค์สร้างภาพยนตร์ที่สเปนร่วมกัน (และต้องการให้ศรีภรรยา Silvia Pinal รับบทแสดงนำ)
ระหว่างโดยสารเรือสำราญสู่สเปน ทริปที่สอง Buñuel ใช้เวลาว่างครุ่นคิดพัฒนาบท ตั้งชื่อตัวละคร Viridiana นำแรงบันดาลใจจากความเพ้อฝันวัยเด็ก ‘erotic fantasy’ ต้องการวางยาสลบราชินีแห่งสเปน จากนั้นพาไป…
เมื่อเดินทางมาถึงสเปน Julio Alejandro (1906-95) นักเขียนบทสัญชาติ Spanish ที่ก่อนหน้านี้ร่วมงานเรื่อง Nazarín (1959) หลังอ่านพล็อตเรื่องราว พูดย้ำเตือน Buñuel ถึงข้อจำกัดในการสรรค์สร้างภาพยนตร์(ที่สเปน) ให้ความช่วยเหลือขัดเกลา นำเอาแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากนวนิยาย Halma (1895) แต่งโดย Benito Pérez Galdós (1843-1920) นักเขียนแนว Realist สัญชาติ Spainish
เกร็ด: Buñuel และ Alejandro เคยร่วมกันดัดแปลงนวนิยายของ Galdós ถึงสามเรื่อง Nazarín (1959), Viridiana (1961) และ Tristana (1970)
แม่ชีฝึกหัด Viridiana (รับบทโดย Silvia Pinal) ก่อนกำลังจะสาบานตนเป็นแม่ชี ถือครองพรหมจรรย์ตลอดชีวิต ได้รับการร้องขอจากแม่อธิการ ให้เดินทางไปเยี่ยมเยือนลุง Don Jaime (รับบทโดย Fernando Rey) ผู้ให้การอุปถัมภ์เธอตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ เพื่อจะได้ไม่เป็นการเสียบุญคุณ
ด้วยความที่ Viridiana มีใบหน้าละม้ายคล้ายอดีตภรรยา(ที่เสียชีวิต)ของ Don Jaime เขาจึงประสงค์ใช้โอกาสครั้งนี้โน้มน้าว ชักจูง บีบบังคับให้หญิงสาวยินยอมตกลงแต่งงานกับตนเอง แต่เมื่อเธอปฏิเสธขัดขืนก็วางยาสลบ พอมิอาจกระทำชำเรา จึงตัดสินใจทอดทิ้งพินัยกรรม แล้วแขวนคอฆ่าตัวตาย
คงด้วยความรู้สึกผิดของ Viridiana กลายเป็นรอยด่างพร้อยภายใน จึงไม่อาจกลับไปสาบานตนเป็นแม่ชี เลยปักหลักอาศัยอยู่คฤหาสถ์ชนบทหลังนี้ร่วมกับ Jorge (รับบทโดย Francisco Rabal) บุตรชายนอกสมรสของ Don Jaime แล้วรับอุปถัมภ์ผู้ยากไร้ ร่างกายมีความผิดปกติ พิกลพิการ ทำตัวเป็นแม่พระ ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ
แต่บรรดาคนยากไร้เหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยความพิกลพิการทั้งร่างกาย-จิตใจ สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ ไม่รู้จักสำนึกบุญคุณคน วันหนึ่งบุกเข้าไปในคฤหาสถ์ กระทำทุกสิ่งอย่างตอบสนองพึงพอใจ และเมื่อ Jorge กับ Viridiana กลับมาทันพบเห็นเข้าพอดี ก็บังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
Silvia Pinal Hidalgo (เกิดปี 1931) นักแสดงสัญชาติ Mexican เกิดที่ Guaymas, Sonora, วัยเด็กมีความสนใจภาพยนตร์ ภาพยนตร์ ชื่นชอบการเขียน บทกวี พอโตขึ้นได้เข้าประกวดเวทีนางงาม ได้รับรางวัล Student Princess of Mexico, ตัดสินใจร่ำเรียนการขับร้องโอเปร่า แต่พอออดิชั่นไม่ผ่านได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาด้านการแสดง Instituto Nacional de Bellas Artes ไม่นานนักก็มีผลงานละครเวทีที่ Ideal Theater, ภาพยนตร์เรื่องแรก Bamba (1949), The Doorman (1949), El rey del barrio (1949), ได้รับคำชมล้นหลามกับ Un rincón cerca del cielo (1952), โด่งดังระดับนานาชาติจากการได้ร่วมงาน Luis Buñuel ถึงสามครั้ง Viridiana (1961), El ángel exterminador (1962) และ Simón del desierto (1964)
รับบท Viridiana แม่ชีฝึกหัดที่ต้องการอุทิศตนให้ศาสนา แต่พอถูกล่อลวงจากลุง Don Jaime เริ่มสูญเสียพลังแห่งศรัทธา ตัดสินใจล้มละเลิกความตั้งใจเดิม (ที่จะบวชเป็นแม่ชี ถือครองพรหมจรรย์ตลอดชีพ) ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีจิตกุศล ต้องการทำทานความดี รับอุปภัมถ์ดูแลบุคคลผู้มีความทุกข์ยากไร้ แต่ไม่นานก็ยังถูกทรยศหักหลัง จนสภาพจิตใจหมดสูญสิ้นความเชื่อมั่นต่อมวลมนุษย์
โดยปกติแล้ว Buñuel ไม่ค่อยที่จะร่วมงานนักแสดงหญิงคนเดิมซ้ำๆ (อาจเพราะไม่ค่อยมีใครชื่นชอบถูกชี้นิ้วออกคำสั่งทุกอากัปกิริยา) จะมีก็แค่ Silvia Pinal (สามครั้ง) และ Catherine Deneuve (สองครั้ง) ซึ่งผมรู้สึกว่าทั้งสองมีความละม้ายคล้ายคลึงกันมากๆ ทั้งใบหน้าตา รูปร่างอวบๆ (ต้องโชว์)เรียวขาสุดเซ็กซี่ และความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาจากภายใน ซึ่งตัวละครของพวกเธอมักถูกกระทำชำเรา ปู้ยี้ปู้ยำ โชคชะตากรรมไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ กลายเป็นคนกร้านโลก สูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาต่อตัวตนเอง มวลมนุษย์ และสรรพสิ่งรอบข้างกาย
น่าเสียดายที่ตัวละครนี้ถูกนำเสนอในเชิงนามธรรม (subjective) ผู้ชมเพียงรับรู้ว่าเธอพานผ่านเหตุการณ์อะไร มีปฏิกิริยาความรู้สึกเช่นไร แค่นั่น! จะไม่มีการบีบเค้นคั้น ขยี้อารมณ์ ให้เจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสจนจับต้องได้เชิงรูปธรรม (objective) เราจึงไม่มีโอกาสได้เห็นฝีไม้ลายมือแท้จริงของ Pinal แค่เพียงหุ่นเชิดชัก เดินไปเดินมาตามคำสั่ง Buñuel เท่านั้น
Fernando Rey ชื่อจริง Fernando Casado Arambillet (1917 – 1994) นักแสดงสัญชาติ Spanish เกิดที่ A Coruña, Galicia โตขี้นร่ำเรียนสถาปนิก แต่การมาถีงของ Spanish Civil War (1936-39) ทำให้ต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดด้วยการเป็นนักแสดง เริ่มจากตัวประกอบ สมทบภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก Locura de amor (1948), โด่งดังระดับนานาชาติกับ The Last Days of Pompeii (1959), The Savage Guns (1961), จากนั้นมีร่วมงาน Orson Welles และ Luis Buñuel อาทิ Viridiana (1961), Chimes at Midnight (1966), Tristana (1970), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), That Obscure Object of Desire (1977)
รับบท Don Jaime ชายวัยกลางคน ชนชั้นกลางระดับบน (Middle-Upper Class) ฐานะร่ำรวย มีคฤหาสถ์อยู่ชนบทห่างไกล ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆกับ Viridiana แค่กำลังจะแต่งงานกับแม่ของเธอ แล้วว่าที่ภรรยาพลันด่วนเสียชีวิตจากไป (ไม่ทันได้ร่วมรักหลับนอน) เลยให้ความอุปภัมถ์ ช่วยเหลือสนับสนุนค่าการศึกษา จนกระทั่งเติบใหญ่กลายเป็นสาวสวย เขียนจดหมายชักชวนให้มาเยี่ยมเยือนตนเองสักครา
เพราะภาพลักษณ์ของ Viridiana เหมือนกับแม่(ของเธอ)ราวกับแกะ เขาจึงพยายามฉุดเหนี่ยวรั้ง ไหว้วานให้สวมชุดเจ้าสาว(ของมารดา) แล้วเอ่ยปากขอแต่งงาน เมื่อถูกปฏิเสธเลยวางยาสลบ แต่จนแล้วจนรอดมิอาจล่วงละเมิดกระทำชำเรา ท้ายสุดมิอาจทำใจพลัดพรากจาก เขียนพินัยกรรมมอบทุกสิ่งอย่างให้บุตรชาย(นอกสมรส) Jorge และ Viridana เผื่อว่าทั้งสองจะมีโอกาสครองคู่อยู่ร่วม แล้วตนเองตัดสินใจผูกคอฆ่าตัวตาย
แม้มีบทบาทเพียงครึ่งแรก แต่ Rey ก็แสดงอาการหิวกระหายได้อย่างโฉดชั่วร้าย จนแทบไม่หลงเหลือสภาพผู้ดีมีสกุล หมกมุ่นอยู่แต่กามคุณ ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยบ้านปล่อยช่อง สนเพียงสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น … ใครเคยรับชมผลงานของ Rey ในหนังเรื่องอื่นๆ (ของ Buñuel) จะพบเห็นความละม้ายคล้ายคลึง ตัวละครต่างต้องการครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาว แต่ก็มีเรื่องให้ถูกกีดกัน ขัดขวาง มิอาจเติมเต็ม ‘Sex Drive’ ให้อิ่มหนำได้สักครั้งเดียว!
หนังไม่ได้พูดบอก/นำเสนอออกมาตรงๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง Don Jaime กับหญิงรับใช้ Ramona (รับบทโดย Margarita Lozano) ผมเชื่อว่าน่าจะเหมารวมไปถึงเพศสัมพันธ์ (สังเกตจากอาการโล้เล้ลังเลเมื่อ Don Jaime ต้องการวางยาสลบ Viridiana) แบบเดียวกับที่เธอพลีกายถวายให้ Jorge แล้วตอนจบกลายเป็น …
Francisco Rabal Valera (1926-2001) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Spainish เกิดที่ Águilas, Murcia การปะทุขึ้นของ Spanish Civil War (1936-39) ครอบครัวตัดสินใจอพยพสู่กรุง Madrid ทำให้ต้องเริ่มออกทำงาน เร่ขายของ โรงงานช็อคโกแล็ต พออายุ 13 ได้เป็นช่างไฟสตูดิโอ Chamartín Studios มีโอกาสเป็นตัวประกอบ แล้วมุ่งหน้าสู่ละครเวที สำหรับภาพยนตร์โด่งดังกับการร่วมงาน Luis Buñuel สามครั้ง Nazarín (1959), Viridiana (1961), Belle de jour (1967), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sorcerer (1977), Los Santos Inocentes (1984) ** คว้ารางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, Goya en Burdeos (1999) ฯ
รับบท Jorge บุตรชายนอกสมรสของ Don Jaime ตัดสินใจกลับบ้านหลังบิดาเสียชีวิต (ที่ออกจากบ้านไปคงเพราะไม่อาจทนพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของบิดา คาดว่าคงไม่เคยเหลียวแลเอาใจใส่ เพราะตนเองเป็นบุตรนอกสมรส) ตอนแรกพาแฟนสาวมาอยู่ด้วย แต่พอเธอตระหนักว่าเขาเบี่ยงเบนความสนใจไปยัง Viridiana เลยเก็บข้าวของหนีจากไป
อุปนิสัยของ Jorge ดูเป็นคนก้าวร้าว เอาแต่ใจ ไม่ชอบทำอะไรตามคำสั่งใคร น่าจะแรกพบเจอตกหลุมรัก Virdiana จึงแสดงความเอื่อยเฉื่อยชาแฟนเก่า จนเธอตัดสินใจเก็บข้าวของหนีจากไปเอง เมื่อชีวิตได้รับอิสรภาพเลยเกี้ยวพาสาวรับใช้ Ramona และเมื่อเกิดเหตุการณ์ The Last Supper ความฝันสร้างฮาเร็มก็สำเร็จเสร็จสรรพ
แม้ว่าบทบาทของ Rabal จะแตกต่างตรงกันข้ามกับ Rey แต่ค่อนข้างชัดเจนว่ามิอาจเทียบทาบรัศมี (ทั้ง Charisma และประสบการณ์ด้านการแสดง) พบเห็นเพียงความเกรี้ยวกราด เจ้าอารมณ์ หมกมุ่นมักมาก สนเพียงสนองตัณหา/ความต้องการส่วนตน โดยเฉพาะสิ่งบังเกิดขึ้นตอนจบ น่าเอือมละอาเหลือทน!
ใครเคยรับชม Nazarín (1959) อาจรู้สึกผิดหวังกับ Rabal เพราะบทบาทผิดแผก แตกต่างไปจากที่เคยพบเห็น นั่นทำให้ผมรู้สึกว่า Buñuel เลือกเพื่อนสนิทมากกว่าความเหมาะสม(ในบทบาท) แต่ถ้าเราไม่เทียบกับ Rey ภาพรวมก็ถือว่าพอใช้ได้อยู่
แซว: ว่ากันว่าตัวเลือกแรกของผู้กำกับ William Friedkin ที่จะมารับบทตัวร้าย Alain Charnier เรื่อง The French Connection (1971) คือ Francisco Rabal แต่เขาจดจำชื่อนักแสดงไม่ได้ เรียกว่า ‘that Spanish actor’ แล้วทีมงานดันไปเซ็นสัญญา Fernando Rey (จริงๆจะเปลี่ยนนักแสดงก็ยังได้ แต่หลังจากผกก. Friedkin รับรู้ว่า Rabal ไม่สามารถพูดอังกฤษหรือฝรั่งเศส เลยจำต้องยินยอมรับ Rey โดยปริยาย)
ถ่ายภาพโดย José Fernández Aguayo (1911-99) สัญชาติ Spainish บิดาเป็นช่างภาพนิ่ง เลยมีความสนใจเล่นกล้องตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยตากล้อง Enrique Guerner, ทำงานเป็นนักข่าวช่วง Spanish Civil War ตามด้วยสงครามโลกครั้งที่สอง, เริ่มมีผลงานภาพยนตร์ Locura de amor (1948), Viridiana (1961), Tristana (1970) ฯ
หนังใช้เวลาโปรดักชั่นเพียง 8 สัปดาห์ ถ่ายทำยังชานเมืองกรุง Madrid แต่ Buñuel เช่าอพาร์ทเม้นท์อาศัยอยู่กลางเมือง ชั้นสิบเจ็ด ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบด้าน และแทบทุกเย็นหลังเลิกงาน ต้องเดินทางไปพบปะเพื่อนฝูง (ที่ห่างหายไม่ได้พบเจอหน้ากันนาน) รับประทานอาหารร้านโปรด เรียกว่าใช้ชีวิตบนบรรยากาศ Nostalgia (เพราะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอยู่ Spain ได้นมนานขนาดไหน)
ถ้าผมจดจำไม่ผิด เริ่มต้นของ Sound of Music (1965) ก็ในโบสถ์คริสต์ แม่อธิการสั่งให้แม่ชีฝึกหัดเดินทางไป … ลักษณะคล้ายๆกัน
ใครที่ติดตามหนังของ Buñuel น่าจะตระหนักถึงหนึ่งในลายเซ็นต์ จับจ้องเรียวขาของหญิงสาว แต่ Viridiana (1961) ลามปามไม่เว้นแม้แต่เด็กหญิงกำลังกระโดดเชือก ซึ่งท่วงท่าของเธอจะมีแยกขา หุบขา ยกขาซ้าย ยกขาขวา ยกสองข้างพร้อมๆกัน … OMG นี่มันท่วงท่าลีลาร่วมรักหรืออย่างไร??
ความศรัทธาต่อพระเจ้า มันควรที่จะเป็น ‘นามธรรม’ แต่สำหรับ Viridiana สังเกตว่าเธอเตรียมสิ่งเตรียมไม้กางเขน มงกุฎหนาม ค้อนตอก พร้อมรูปพระเยซูคริสต์ ‘วัตถุ’ เหล่านี้นะหรือที่ผู้คนเชื่อนับถือกัน
ผมอยากจะตอกย้ำกับพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน คนสมัยนี้หมกมุ่นคลั่งไคล้เหลือเกินกับ’วัตถุ’มงคล โบสถ์วิหารหลังใหญ่ สร้างภาพภายนอกกันเข้าไป ละทอดทิ้งการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ตายไปก็เอาไปใช้ไม่ได้สักบาท! … ความเสื่อมของพุทธและคริสต์ แทบไม่แตกต่างกัน
Viridiana รีดนมวัว? แต่ผมเห็นเหมือนสัญลักษณ์ของลึงค์ อวัยวะเพศชาย นั่นอาจคือสาเหตุให้เธอกลัวๆกล้าๆ ไม่ค่อยอยากสัมผัส บีบรัด ลูบไล้ กลัวฉีดน้ำอสุจินมเปลอะเปลื้อนทั่วร่างกาย
สองเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน Don Jaime สวมใส่รองเท้าส้นสูง/ชุดชั้นในของภรรยา (เพราะรักมากเลยต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ชาย-หญิงกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน) และการเดินละเมอของ Viridiana หยิบขี้เถ้าข้างกองไฟไปเทลงบนเตียงของ Don Jaime (สัญลักษณ์ของความรู้สึกผิด และความตาย) ต่างสะท้อนถึงจิตใต้สำนึก/จิตวิญญาณ/สันชาติญาณของพวกเขา ยังคงมีความโหยหาบางสิ่งอย่าง ไม่สามารถปลดปล่อยวาง ละทอดทิ้งทางโลกไปได้
แม้ว่า Viridiana จะพูดแก้ตัวว่า ‘on the whim’ ยินยอมสวมชุดแต่งงานของแม่เพื่อตอบแทนคำร้องขอ Don Jaime แต่ในเชิงสัญลักษณ์และความเชื่อของชาวคริสต์ ถ้าสวมชุดแต่งงานก็คือกลายเป็นเจ้าสาวๆ ซึ่งเธอก็ถูกวางยา แล้วอุ้มพาเข้าห้องหอ
วินาทีที่ Viridiana กำลังถูกวางยา หนังตัดมายังห้องคนรับใช้ เด็กหญิงเล่าฝันร้ายให้ลุงที่กำลังใช้เข็มแหลม (อวัยวะเพศชาย) ทิ่มแทงเข็มขัดให้เป็นรู (พรหมจรรย์) ซึ่งความฝันของเธอคือกระทิง (น่าจะแทนด้วย Don Jaime) วิ่งตรงทะลุกำแพงตรงเข้ามาขวิด (นัยยะเดียวกับเข็มขัดเลยนะ) … พอลุงบังเกิดความรำคาญ จึงมอบน้ำตาล/ขนมหวานให้เด็กหญิง (อสุจิมันก็คือน้ำตาลฟรุกโตส รสรักหวานฉ่ำ)
ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลที่ Don Jaime มิอาจข่มขืน กระทำชำเรา Viridiana ก็เพราะความเป็นผู้ดีมีสกุล ยึดถือมั่นในเกียรติ ศีลธรรม และสามัญสำนึกของตนเอง เมื่อถูกปฏิเสธจึงมิอาจขืนใจ ทรยศหักหลังความรักมีต่อเธอได้
ขณะที่ Viridiana ก้มหน้าก้มตา สีหน้าเคร่งเครียดระหว่างเตรียมเดินทางกลับ สะท้อนกับเกมที่เด็กหญิงกำลังเล่นบนเส้นเชือก (โยกซ้ายโยกขวา จิตใจโล้เล้ลังเลไปมา), ผิดกับ Don Jaime หยิบปากกาขึ้นมาเตรียมเขียนพินัยกรรม พร้อมรอยยิ้มกริ่ม ครุ่นค้นพบแผนการที่จะทำให้ Viridiana อาศัยอยู่ยังคฤหาสถ์หลังนี้สืบต่อไป
หลังการเสียชีวิตของ Don Jaime ภาพแรกของ Jorge กลับคือรูปวาดของบิดา เหมือนต้องการว่าบุตรชายจักกลายเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ได้รับอิทธิพล ถูกควบคุมครอบงำ ประกอบอยู่พื้นหลัง ดำเนินเดินติดตามรอยเท้า(ในหลายๆเรื่อง)ไม่ต่างกัน
ระหว่างที่ Viridiana กำลังรวบรวมบรรดาบุคคลผู้ยากไร้ ขณะนำทางกลับบ้าน พบเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง (เหมือนจะน้องสาวของ Buñuel หรือเปล่านิ?) ถือไหปั้นดินเผาเดินตัดหน้ากล้องไป สัญลักษณ์ถึงความเปราะบาง (สัมพันธภาพที่)แตกหักง่ายของพวกเขาเหล่านี้
ทำไมผมถึงสังเกตเห็นเครื่องปั้นดินเผา? เหมือนว่าเครื่องอุปโภคนี้จะคือหนึ่งในความสนใจ Buñuel พบเห็นมาแล้วหลายครั้งในผลงาน Robinson Crusoe (1954), The Criminal Life of Archibaldo de la Cruz (1955) ฯ มันเลยมีความสะดุดตาเป็นพิเศษ
ในบรรดา 13 คนยากไร้ (ตาบอด, แขน/ขาพิการ, คนชรา, โสเภณีและเด็ก, ผู้ป่วยโรคเรื้อน ฯ) มีทั้งที่เป็นนักแสดง (José Calvo รับบทชายตาบอด Don Amalio) และขอทานจากสลัมจริงๆ ซึ่งหลังจาก Buñuel รับรู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้ค่าแรงน้อยกว่าใครเพื่อน ก็ปี๊ดแตก แสดงความเกรี้ยวกราดไม่พึงพอใจโปรดิวเซอร์ จนต้องยินยอมจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเทียบเท่าคนอื่น
Jorge พบเห็นสุนัขถูกผูกเชือกวิ่งติดตามเกวียน ด้วยสำนึกมโนธรรมประจำใจเลยต้องการให้ความช่วยเหลือ ติดต่อขอซื้อ แล้วปลดปล่อยมันสู่อิสรภาพ (แต่มันก็ยังทำท่าจะวิ่งตามเกวียน ดำเนินชีวิตตามแบบวิถีที่มันเคยรับรู้) แต่แค่เกวียนอีกเล่มแล่นสวนทางมา พบเห็นสุนัขอีกตัวถูกผูกเชือกวิ่งติดตามไม่ต่างกัน (แต่ครานี้ Jorge ไม่ทันได้แลเหลียว)
นัยยะของซีนนี้ต้องการสื่อว่า การให้ทาน ทำบุญ ปล่อยสรรพสัตว์ (ไม่ว่าจะคน สัตว์ สิ่งของ ฯ) ไม่มีทางที่เราจะสามารถให้ความช่วยเหลือทุกผู้คนบนโลก เฉกเช่นนั้นแล้ว Buñuel เลยตั้งคำถามว่า การทำความดีมันมีประโยชน์อะไร? … แค่การตั้งคำถาม ไม่ใช่ลบหลู่ ดูหมิ่นศาสนานะครับ แต่คือชักชวนให้ผู้ชมได้ครุ่นคิด ทุกวันนี้เราทำบุญ/ทำความดีเพื่ออะไร? จิตอาสาเพื่อสร้างภาพ คาดหวังในกฎแห่งกรรม (เชื่อว่าทำดีแล้วจะได้ดี ชาติต่อไปจะได้สุขสบาย) หรือจิตวิญญาณเกิดความแช่มชื้นสุขใจอย่างแท้จริง
หลายคนอาจรู้สึกแค่ว่า มีดซ่อนในไม้กางเขนเป็นอะไรที่ฉลาดไม่เบา! แต่นัยยะจริงๆสำหรับแฟนๆหนังผู้กำกับ Buñuel น่าจะตระหนักถึงได้ไม่ยาก เป็นการสื่อว่าศาสนา(คริสต์)คือสิ่งอันตราย คริสตจักรคือเจ้าพ่อมาเฟียแห่งมวลมนุษยชาติ และบาทหลวงชอบที่จะทิ่มแทงผู้อื่นไปทั่ว (คิดได้ทั้งสองแง่สองง่าม)
ระหว่างที่ Jorge ออกสำรวจบ้านร่วมกับ Ramona มาจนถึงห้องเก็บของ สังเกตว่าการจัดแสงฉากนี้มีความมืดมิดเป็นพิเศษ ซึ่งกำลังจะสะท้อนสิ่งกำลังจะบังเกิดขึ้นกับพวกเขา (หลังแฟนสาวของ Jorge เก็บข้าวของหนีออกจากคฤหาสถ์หลังนี้ไปแล้ว) ซึ่งหนังจบฉากด้วยการโยนแมวลงบนหมอน –“(แต่ผมครุ่นคิดว่าน่าจะสื่อถึงแมวกระโดดจับ/ตะครุบหนูมากกว่า ซึ่งสามารถตีความ Jorge กำลังครอบครองเป็นเจ้าของ Ramona ได้สำเร็จ)
ระหว่างที่ Viridiana นำสวดอธิษฐานขอพรพระผู้เป็นเจ้า ยังบริเวณที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง ตัดสลับช็อตต่อช็อตกับฝั่งของ Jorge ว่าจ้างคนงานก่อสร้างกำลังขนปูน ทุบอิฐ ช่างเต็มไปด้วยความวุ่นวาย
นัยยะของฉากนี้สามารถมองความแตกต่างตรงกันข้ามในวิถีความเชื่อ (ร่างกาย-จิตใจ) ของ Jorge กับ Viridiana แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองเฉพาะมุมของหญิงสาว สิ่งที่เธอกระทำอยู่นั้นมันช่างไร้ค่า เหมือนการเทปูน ทุบหิน สร้างสิ่งที่จักทำลายธรรมชาติชีวิต
เมืองไทยเรามีสำนวน ‘แมวไม่อยู่หนูร่าเริง’ แต่หนังใช้สัญลักษณ์นกสีขาว เพื่อสื่อถึงอิสรภาพของคนพาลทั้งหลายเหล่านี้ หลังจาก Viridiana (และ Jorge) ต่างไม่ได้อาศัยอยู่ในคฤหาสถ์ ก็เลยโอ้ลัลล้า รื่นเริงร่า ดื่มด่ำครื้นเครง ราวกับวันนี้คือมื้ออาหารสุดท้ายของชีวิต! … จะว่าไป Parasite (2019) ของผู้กำกับ Bong Joon-ho ก็แทบไม่ต่างกันเลยนะ!
ภาพวาดอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) โด่งดังที่สุดในโลก! คือหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Leonardo da Vinci (1452-1519) สรรค์สร้างขึ้นด้วยลักษณะ High Renaissance ประมาณการช่วงระหว่างปี 1495-96 พบเห็นได้ที่หอฉันวิหาร Santa Maria delle Grazie, Milan ประเทศอิตาลี
เกร็ด: Quo Vadis (1951) คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการนำภาพ The Last Supper (ของ da Vinci) และแทรกฉากที่นักแสดงแต่งตัว/นั่งตำแหน่งเดียวกับอัครสาวกทั้ง 13
สำหรับ Viridiana (1961) คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำภาพ The Last Supper (ของ da Vinci) มาเสียดสีล้อเลียน ตีความใหม่ โดยใช้บรรดาขอทาน คนพาล บุคคลมีความพิกลพิการ(ทั้งร่างกาย-จิตใจ) จำนวน 13 คน นั่งตำแหน่งเดียวกันกับภาพวาดดังกล่าว ขณะกำลังสังสรรค์รับประทานกระยาหารมื้อสุดท้าย(จริงๆ)ในคฤหาสถ์หลังนี้
แต่สิ่งที่สุดxีนยิ่งกว่าคือพวกเขาไม่ได้มีกล้องถ่ายภาพ ให้หญิงคนหนึ่งเปิดกระโปรงชักภาพ แล้ววินาทีนั้นทุกสิ่งอย่างหยุดนิ่ง ‘freeze frame’ ไปชั่วขณะหนึ่ง, ผู้กำกับ Buñuel คงต้องการเน้นย้ำตั้งคำถาม ให้ผู้ชมขบครุ่นคิดถึงอัครสาวทั้ง 13 แตกต่างอะไรจากพวกเขาเหล่านี้? ทั้งหมดต่างมี ‘sex drive’ แรงผลักดันต้องการเป็นคนดี มีศีลธรรม ทั่วโลกจดจำ เคียงชิดใกล้พระผู้เป็นเจ้า
ในบรรดาความครึกครื้นเครงของเหล่าคนพาล ที่ผมรู้สึกว่าล้อเลียนได้อัปลักษณ์สุดๆคือการสวมใส่ชุดเจ้าสาว แอบอ้างความบริสุทธิ์ แต่งงานครองคู่ ร่วมรักกับบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งหลังจากงานเลี้ยงเลิกรา ชายตาบอด Don Amalio ก็เดินเตะผ้าคลุมศีรษะ(ชุดเจ้าสาว) แบบมองไม่เห็นค่าความสำคัญ (ทั้งในเชิงรูปธรรม-นามธรรม)
หลังจากเหตุการณ์เมื่อค่ำคืน Viridiana ได้สูญเสียความเชื่อมั่น ตัวตนเองทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ หยิบกระจบขึ้นมาส่องมอง พบเห็นเงามืดอาบฉาบครึ่งหนึ่งของใบหน้า แล้วหนังตัดภาพมาที่เด็กหญิง หยิบมงกุฎหนาม ถูกบาดเลือดไหล เลยโยนทิ้งใส่กองเพลิงให้มอดไหม้ … เป็นการอธิบายโดยในว่า สภาพจิตใจของ Viridiana ไม่ต่างจากเด็กหญิง ความเจ็บปวด (จากหนามแหลม=ศาสนา) ทำให้เธอตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งเคยเชื่อมั่นศรัทธา
ดั้งเดิมนั้น Buñuel เขียนตอนจบแค่ Viridiana เดินเข้าห้องของ Jorge แล้วปิดประตู (นัยยะคือ หญิงสาวได้เสียความบริสุทธิ์ทั้งร่างกาย-จิตใจ) แต่กองเซนเซอร์ของสเปน (ตอนพิจารณาบทหนัง) มองว่าฉากนั้นมันล่อแหลมเกินไป เลยปรับแก้ไขใหม่ให้ Jorge, Viridiana และสาวใช้ Ramona กำลังจั่วเล่นไพ่ แล้วกล้องค่อยๆถอยหลังออกห่าง
“You know, the first time I saw you, I thought, my cousin and I will end up shuffling the deck together”.
Jorge
มันเป็นตอนจบที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับสามารถตีความถึง Threesome การร่วมรักของชายหนึ่งหญิงสอง เปิดฮาเร็มเล็กๆที่ขัดต่อหลักศาสนาคริสต์ (โดยเฉพาะคาทอลิกจะยึดถือมั่นมากๆว่า การแต่งงานควรมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น!)
ตัดต่อโดย Pedro del Rey ร่วมงาน Luis Buñuel ระหว่างสรรค์สร้างภาพยนตร์ในรัฐสเปน อาทิ Viridiana (1961), Tristana (1970) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านผ่านมุมมองสายตาของ Viridiana ตั้งแต่ได้รับคำสั่งแม่อธิการ ให้ไปเยี่ยมเยือนลุง Don Jaime ยังคฤหาสถ์ชนบทชานกรุง Madrid ซึ่งก็ไม่รู้มีแรงดึงดูดอะไร ทำให้จนแล้วจนรอด เธอไม่สามารถหาหนทางหลบหนี ออกจากผืนแผ่นดินแดนแห่งนี้ได้สำเร็จ (เคยเฉี่ยวๆไปถึงสถานีขนส่ง แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลากพาตัวกลับบ้าน)
- อารัมบท, Viridiana ได้รับคำสั่งจากแม่อธิการ ให้เดินทางไปเยี่ยมเยือนลุง Don Jaime
- ถูกเกี้ยวพาโดย Don Jaime
- Don Jaime พยายามเกี้ยวพาราสี Viridiana ทำทุกสิ่งอย่างให้เธอตกลงปลงใจ ปักหลักอาศัยอยู่คฤหาสถ์หลังนี้
- ร้องของให้ Viridiana สวมชุดเจ้าสาว แล้ว Don Jaime สารภาพรักขอแต่งงาน เมื่อถูกบอกปัดก็ลอบวางยาสลบ พาเข้าห้อง กำลังจะล่วงละเมิด
- สิ่งบังเกิดขี้นเมื่อคืนทำให้ Viridiana ดื้อดีงดันจะเดินทางกลับให้จงได้ เป็นเหตุให้ Don Jaime ครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย
- แม่พระ Viridiana ดำเนินเรื่องคู่ขนานกับ Jorge ผู้เห็นแก่ตัว
- Viridiana ให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ให้อาหาร ให้ที่พักอาศัย ใครขอเงินก็ให้ตามประสงค์
- Jorge เริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทัศนียภาพของคฤหาสถ์หลังนี้ให้สอดคล้องความต้องการของตน โดยไม่สนอะไรใครอื่น
- การถูกทรยศหักหลัง
- งานเลี้ยง The Last Supper แสดงสันดานธาตุแท้ของคนพาล
- Jorge และ Viridiana กลับบ้านก่อนกำหนด ทำให้พบเห็นภาพบาดตาบาดใจ และกำลังจะถูกกระทำชำเรา
- ปัจฉิมบท, สภาพจิตใจอันบอบช้ำของ Viridiana และสิ่งหลงเหลือสามารถกระทำได้
แซว: ความที่ Viridiana (1961) ดำเนินเรื่องราว ‘เกือบ’ ทั้งหมดในคฤหาสถ์หลังนี้ มันเลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์เรื่องถัดมา The Exterminating Angel (1962) ดำเนินเรื่อง ‘ทั้งหมด’ ภายในคฤหาสถ์หลังหนึ่ง
หนังถือว่าไม่มีเพลงประกอบนะครับ แต่ใช้ในลักษณะ ‘diegetic music’ ต้องสามารถพบเห็นแหล่งกำเนิดเสียง (จากเครื่องเล่น) ทั้งหมดล้วนเป็นเพลงคลาสสิกชื่อดัง อาทิ
Messiah (1741) ผลงาน oratorio ขับร้องประสานเสียภาษาอังกฤษ ประพันธ์โดย George Frideric Händel (1685-1759) คีตกวี Baroque สัญชาติ German แต่ไปประสบความสำเร็จกลายเป็นผู้ดีบนเกาะอังกฤษ โดยเฉพาะ Messiah นำคำร้องจากคัมภีร์ไบเบิล มีทั้งหมด 3 ท่อน ที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือท่อนสอง Hallelujah Chorus (บทคำร้องในท่อนนี้นำมาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์พันธสัญญาใหม่) กลายเป็นบทเพลงประจำเทศกาลคริสต์มาสไปแล้วละ!
นอกจากนี้ยังได้ยินบทเพลง
- Bach: French Suite No.5 in G major, BWV 816 (1722) ท่อนที่สาม Sarabande
- เพลงที่ Don Jaime เล่นบนออร์แกน
- Bach: Mass in B minor, BMV 232 (1724) องก์ที่สอง Credo, ท่อนที่สี่ Et Incarnatus Est
- Don Jaime เปิดขณะลองสวมรองเท้าภรรยา/Viridiana เดินละเมอ
- Mozart: Requiem (1791)
- Don Jaime เปิดขณะเตรียมมอมยา Viridiana
ทิ้งท้ายตอนจบกับ Shimmy Doll (1958) บทเพลงแนว Rock & Roll แต่งโดย Gil Snapper, ขับร้องโดย Ashley Beaumont The 18th แค่ชื่อเพลงก็สามารถบ่งบอกสภาพของ Viridiana ร่างกายไร้จิตวิญญาณ ขยับเคลื่อนไหวด้วยสัญชาติญาณ มีความระริกระรี้ไม่ต่างจากตุ๊กตายาง
เกร็ด: บทเพลงนี้ใช้ประกอบภาพยนตร์ A Pigeon Sat On A Branch Reflecting On Existence (2014) ของผู้กำกับ Roy Andersson ด้วยเช่นกัน
มองผิวเผินชื่อหนัง/ตัวละคร Viridiana น่าจะคือส่วนผสมของ Virgin (ความบริสุทธิ์) + diana (ภาษาสเปน หมายถึงแต้ม ‘bull’s eye’ ในการแข่งขันปาลูกดอก) รวมแล้วให้ความรู้สึกเหมือนการทำลาย/สูญเสียพรหมจรรย์, แต่ดูไปดูมา มันแลดูคล้ายคลึงคำว่า Vagina ที่แปลว่าช่องคลอด และผมลองค้นศัพท์แสลง ก็พบว่าสื่อถึงผู้หญิงมักมาก บ้ากาม ‘slutty whore’
เหตุการณ์ร้ายๆบังเกิดขี้นกับ Viridiana มองผิวเผินเป็นสิ่งที่เธอไม่สามารถควบคุมอะไรได้เอง พบเจอลุงเลวๆ มักมากหื่นกาม คบคนพาลพฤติกรรมชั่วหยาบช้า คิดคดทรยศหักหลัง พยายามแสดงออกออกอย่างผู้มีมนุษยธรรม กลับถูกกระทำชำเราจนสูญเสียสิ้นจิตวิญญาณภายใน
แต่ถ้าเราครุ่นคิดดูดีๆ Viridiana สามารถบอกปัดปฏิเสธ เลือกได้ที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านั้นบังเกิดขี้น ยกตัวอย่าง
- ถ้าเธอมีความมุ่งมั่นจะละทางโลกอย่างแท้จริง ย่อมสามารถทัดทานคำร้องขอของแม่อธิการ
- เมื่อพบเห็นการแสดงออกของลุง ย่อมบอกปัดปฏิเสธ หลบหนีออกมา ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบสิ่งบังเกิดขี้น
- หรือคนพาลเหล่านั้น ถ้าเธอไม่รับพวกเขาเข้ามาอุปถัมภ์ เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมมิอาจบังเกิดขี้น
นั่นแสดงว่าความผิดส่วนหนี่งมาจากความไม่มั่นคงทางจิตใจของ Viridiana มิอาจทอดทิ้งทางโลก ยัง(เดิน)ละเมอเพ้อฝัน กระทำสิ่งตามใจปรารถนา ครุ่นคิดว่าตนเองมีคุณธรรมสูงส่ง ต้องการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก แต่กลับไม่เคยเผชิญหน้ายินยอมรับความจริง หาใช่ทุกคนจะซื่อสัตย์สุจริต กอปรด้วยคุณธรรมประจำใจ
สำหรับผู้กำกับ Buñuel เรื่องราวของ Viridiana (1961) สะท้อนถึงช่วงเวลาที่เขาหวนกลับมาเยี่ยมเยือนผืนแผ่นดินบ้านเกิด อาศัยอยู่รัฐสเปนเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ (Viridiana เดินทางไปเยี่ยมลุง แล้วถูกโน้มน้าวให้แต่งงาน ปักหลักอยู่ร่วมยังคฤหาสถ์หลังนี้เป็นการถาวร) ช่วงแรกๆก็มีความโหยหา Mexico (เธออยากเดินทางกลับใจจะขาด) แต่เมื่ออยู่ไปอยู่มา คงเริ่มไม่อยากกลับซะงั้น (หลังการจากไปของลุง ก็ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ยังสถานที่แห่งนี้)
นี่แปลว่าเราสามารถเปรียบเทียบ Buñuel ได้กับตัวละคร Viridiana จากเคยเป็นแม่ชีฝึกหัด (Buñuel ก็เคยฝึกฝนเพื่อจะเป็นบาทหลวงนะครับ) หลังจากรอดพ้นการถูกกระทำชำเรา (นั่นอาจคือสิ่งที่เขาเคยพบเห็นเมื่อครั้นยังเด็ก แล้วสูญเสียสิ้นศรัทธาในคริสตจักร) ก็พยายามทำตัวแม่พระ โปรดสรรพสัตว์ ให้ความช่วยเหลือบุคคลผู้ยากไร้ (กรีดตาผู้ชม สรรค์สร้างภาพยนตร์ให้พบเห็นโลกความจริง/ด้านมืดของสังคม)
ส่วนการถูกเหล่าคนพาลปู้ยี้ปู้ยำนั้น เป็นสิ่งที่ Buñuel ประสบพบเจอนับครั้งไม่ถ้วนในชีวิต จากผู้ชม/นักวิจารณ์ สาดเทสี ใส่ร้ายป้ายขี้ ตำหนิต่อว่า ดูถูกเหยียดหยาม ขยะแห่งวงการภาพยนตร์ ซึ่งก็รวมไปถึง Viridiana (1961) กำลังจะประสบโชคชะตากรรมไม่แตกตต่างกัน
Viridiana (1961) ผมถือว่าคือเสาหลักไมล์ต้นที่สาม/ต้นสุดท้ายของ Luis Buñuel ต่อวงการภาพยนตร์ (ถัดจาก Un Chien Andalou (1929) และ Los Olvidados (1950)) นั่นเพราะความสุดโต่งในเนื้อหา ลีลานำเสนอ (‘สไตล์ Buñuel’ พัฒนามาถึงจุดสูงสุดอย่างแท้จริงแล้ว) และอิทธิพลต่อผู้ชม แม้ในเชิงลบก็ถือว่าทรงคุณค่า ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา
แม้ว่าบทหนังได้รับการอนุมัติผ่านกองเซนเซอร์รัฐสเปน แต่หลังจากส่งออกฉากเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Palme d’Or แล้วถูกตีตราโดย Pope John XXIII ว่าเป็นการดูหมิ่นศาสนา ‘blasphemous’ เลยถูกแบนห้ามฉายในสเปน จนกระทั่งสิ้นสุดรัฐสมัยจอมพล Francisco Franco ถึงเพิ่งได้เข้าฉายปี 1977
“I didn’t deliberately set out to be blasphemous, but then Pope John XXIII is a better judge of such things than I am”.
Luis Buñuel
Buñuel กล่าวในหนังสือชีวประวัติ Mon Dernier soupir (1983) บอกว่ากระแสต่อต้านที่รัฐสเปน ทำให้จอมพล Francisco Franco ติดตอขอรับชมหนังเป็นการส่วนตัว แล้วแสดงความเห็นว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครๆพูดกัน (เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้นำเผด็จการเคยกระทำมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แค่เด็กน้อยไร้เดียงสาเท่านั้นเอง)
“Finally, the affair created such a storm that Franco himself asked to see it, and according to what the Spanish producers told me, he found nothing very objectionable about it. After all, given what he’d seen in his lifetime, it must have seemed incredibly innocent to him, but he nonetheless refused to overturn his minister’s decision”.
ในประเทศอิตาลี แม้เสียงตอบรับจะค่อนข้างดี แต่อัยการคนหนึ่งใน Milan ออกคำสั่งให้ปิดโรงหนัง เผาทำลายฟีล์มทุกฉบับ ส่งฟ้อง Luis Buñuel ถ้าก้าวเหยียบยังผืนแผ่นดินโรมัน จักถูกตัดสินโทษจำคุกหนึ่งปี
เกร็ด: ในการจัดอันดับของนิตยสาร Sight & Sound เมื่อปี 2012 ขณะที่ Critic’s Poll ติดอันดับ 110 (รองจาก Un Chien Andalou (1929) และ Los Olvidados (1950)) แต่ผลโหวตของ Director’s Poll กลับติดอันดับ 37 ซึ่งสูงกว่าผลงานเรื่องอื่นๆของ Buñuel นั่นแปลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่โปรดปราน ถูกอกถูกใจผู้กำกับมากกว่านักวิจารณ์ น่าจะเพราะการแหกขนบวิถี ข้อปฏิบัติทางสังคม ตรงกับช่วงการมาถึงของ French New Wave (ยุคสมัยขบถแห่งวงการภาพยนตร์)
เหมือนว่าหนังยังไม่ได้รับการบูรณะนะครับ ฉบับของ Criterion Channel เป็นเพียง Hi-Def digital transfer (ไม่ใช่การ Remaster) แต่คุณภาพโดยรวมค่อนข้างดีอยู่ อาจต้องเข้าแถวรอคิวอีกสักพักใหญ่
ย้อนอ่านบทความเก่า ก็ตระหนักว่าตนเองตอนนั้นยังแทบไม่เข้าใจอะไรๆของหนังสักเท่าไหร่ เต็มไปด้วยอคติ ยึดถือมั่นคุณธรรมสูงส่ง จนบดบังวิสัยทัศน์ มองไม่เห็นคุณประโยชน์(ของหนัง)อย่างแท้จริง ซึ่งความตั้งใจของ Luis Buñuel ต้องการให้ผู้ชมบังเกิดสติ ครุ่นคิดตาม ไม่กระทำอย่างสิ่งบังเกิดขึ้น(ในหนัง)
สิ่งที่โดยส่วนตัวคลั่งไคล้มากๆในการรับชมครั้งนี้ก็คือ Dark Comedy ในฉาก The Last Supper ซึ่งเป็นการเปิดเผยสันดานธาตุแท้ของคนพาลทั้งหลายเหล่านี้ กู่ไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี-หนีไม่พ้น ขำกลิ้งลงโลง สามบาทก็ไม่พอจ่ายค่าผ่านทางลงนรก
เอาจริงๆผมอยากจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่ก็รู้สึกว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงไม่สามารถทำความเข้าใจในทิศทางที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอออกมา ก็คงเหมือนบทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้ ค้องใช้เวลาเพาะบ่ม สะสมประสบการณ์ จนเกิดการเติบโตทางจิตวิญญาณ ถึงสามารถเข้าถึง Viridiana (1961) โดยทางสายกลาง
จัดเรต NC-17 พฤติกรรมล่อลวง เกือบจะข่มขืน ไม่รู้สำนึกคน
คำโปรย | Viridiana คือผลงานโหดเxยที่สุด และทรงคุณธรรมที่สุดของ Luis Buñuel
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ
Viridiana (1961) : Luis Buñuel ♥♥♥
(16/9/2016) หนังสัญชาติสเปนรางวัล Palme d’Or ของผู้กำกับ Luis Buñuel, Viridiana กำลังจะบวชเป็นแม่ชี ได้ถูกขอให้ไปเยี่ยมลุง (พ่อเลี้ยง) ผู้มีบุญคุณต่อเธอครั้งสุดท้ายก่อนละทางโลก แต่กิเลสของลุงเข้าครอบงำ อยู่ดีๆก็ขอ Viridiana แต่งงาน เธอไม่ยอม จึงวางยานอนหลับ แล้ว…, โอ้หนังของ Buñuel ทำไมมันเxย ได้ขนาดนี้
อีกหนึ่งหนังเxยๆ เลวๆของ Luis Buñuel ที่ผมต้องขอใช้คำหยาบเลยนะครับ เพราะเป็นหนังที่มีใจความเลวทราม ต่ำช้าหาความดีแทบจะไม่ได้เลย, กับหนังของ Buñuel เรื่องอื่นๆ มันยังมีจริยธรรม หรืออะไรบางอย่างสอดแทรกในจุดที่พอรับได้ ไม่เลวร้ายเกินทน แต่กับ Viridiana เหมือนว่า เขาได้โยนคุณธรรมทั้งหมดทิ้งไป แล้วนำเสนอมุมมืด ตีแผ่ความชั่วร้ายออกมาให้เห็น ความน่าเกลียดอัปลักษณ์ คนเลวยังไงก็เป็นเลว คนดีที่อยู่ผิดที่ผิดทาง สุดท้ายก็จะถูกกลืนกิน กลายเป็นคนเลวในที่สุด
นี่เป็นอีกหนึ่งหนังในลักษณะ The Tin Drum ที่ผมต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ใจความสำคัญแฝงที่ซ่อนอยู่ vs ความผิดชอบเหมาะสมทางคุณธรรมจริยธรรม, กับหนังเรื่องนี้ผมขอเลือกตรงกลางนะครับ ดูจบแล้วให้ความรู้สึกที่ก้ำกึ่ง คงเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าผู้กำกับ Luis Buñuel เป็นคนยังไง ความคาดหวังจึงอยู่ในระดับพอรับได้ แต่มันก็เกิดคำถามกับผมเหมือนกันว่า Buñuel ล้ำเส้นเกินไปหรือเปล่า?
นี่เป็นหนังขนาดยาวเรื่องแรกของ Buñuel ที่สร้างขึ้นในสเปนบ้านเกิดของเขา (ส่วนใหญ่เขาจะสร้างหนังที่ฝรั่งเศส, เม็กซิโก ก่อนหน้านี้เคยแค่สร้างหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่สเปน) เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ สเปนมี Francisco Franco ผู้นำเผด็จการที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ คงเป็นไปไม่ได้เลยกับสไตล์ Buñuel ที่จะสามารถผ่านกอง Censor หนังได้, กระนั้นตอนที่ Buñuel สร้างหนังเรื่องนี้ Francisco ก็ยังมีชีวิตอยู่นะครับ แต่ก็ไม่รู้หนังผ่านกอง Censor ไปได้ยังไง (คงเพราะคนที่พิจารณาเข้าไม่ถึงใจความแท้จริงของหนัง) ซึ่งพอได้ไปฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้า Palme d’Or มา ทำให้มีนักวิจารณ์ปากโป้ง วิเคราะห์หนังถึงประเด็นเสียดสีการเมือง นี่ทำให้หนังถูกห้ามฉายในสเปนโดยพลัน (ได้ฉายในสเปนปี 1977 หลัง Francisco เสียชีวิตแล้ว)
วิจารณ์การเมืองก็ประเด็นหนึ่ง แต่สาสน์สำคัญของหนังเรื่องนี้ ว่ากันว่าคือการ ‘คิดบัญชี’ ของ Buñuel ต่อศริสตจักร กับเวลากว่า 40 ปี ที่เขาเก็บกดความคิด ความรู้สึก อคติที่สั่งสมจนกลายเป็นมวลอธรรมก้อนใหญ่ที่อัดแน่นพร้อมระเบิดออก หนังเรื่องนี้เป็นชนวนชิ้นสุดท้าย ที่ถึงเวลาต้องจุดมันขึ้นสักที เพื่อระเบิดระบายความอัดอั้นในทุกสิ่งอย่างที่สุมหัวอกออกมา
ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Halma เขียนโดย Benito Pérez Galdós นี่ไม่ใช่นิยายเรื่องเดียวของนักเขียนคนนี้ที่ Buñuel เลือกมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นะครับ ยังมี Nazarín (1959) และ Tristana (1970)
นำแสดงโดย Silvia Pinal รับบท Viridiana (Virgin+Diana) หญิงสาวที่กำลังจะบวชเป็นแม่ชี ได้ถูกขอให้ไปเยี่ยมลุง Don Jaime รับบทโดย Fernando Rey แต่แทนที่เขาจะยอมปล่อยให้เธอบวช กลับพยายามรั้งเธอไว้ด้วยสารพัดวิธี แต่ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ของเธอที่จะบวช ให้ตายคงไม่มีวันอยู่กับเขา ผลลัพท์จบครึ่งแรกได้มีคนตายสมใจ
ครึ่งหลัง Jorge รับบทโดย Francisco Rabal เป็นลูกติดภรรยาเก่าของ Don Jaime ได้รับมรดกบ้านแล้วย้ายเข้ามาอยู่กับ Viridiana ที่ความตั้งใจของเธอเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเป็นแม่ชีไม่ได้ แต่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ เธอกลายเป็นคนใจบุญสุนทาน รับขอทาน คนจน คนพิการ เกื้อกูลอุปภัมถ์ ให้มาพักอาศัยอยู่กินในบ้าน นี่เพื่อเป็นการชดใช้หนี้กรรมที่เธอกับลุงได้ทำร่วมกัน
ถ้าเรื่องมันเริ่มต้นจบสวยงามเช่นนั้นก็ดี แต่นี่หนังของ Buñuel ฝันไปหรือเปล่า! มันเหมือนมากๆในความรู้สึกของผมคือ ตัวละคร Viridiana แทนด้วยใครอื่นใดไม่ได้นอกจาก Luis Buñuel เอง, ผมพูดถึงชีวประวัติของเขาแทบจะทุกบทความรีวิว สมัยเด็กเป็นคนเคร่งศาสนามาก แต่พออายุ 16 ได้เห็น เข้าใจความจริงบางอย่าง กลายเป็นคนหมดศรัทธา เกิดอคติต่อศาสนาโดยสิ้นเชิง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Viridiana แทบจะเกือบเปะๆเลย ครึ่งแรกคือความเชื่อมั่นในศรัทธายังแรงกล้า ครึ่งหลังเมื่อศรัทธาลดลง และการได้พบความจริงบางอย่างตอนจบ ศรัทธาก็หมดสิ้นไป
สำหรับฉากที่ได้รับการพูดถึงมากๆในหนัง ขณะน้องหมาตัวหนึ่ง ถูกผูกติดกับเกวียนใต้ท้องรถ ทำให้ขณะเกวียนเคลื่อนที่ไปน้องหมาก็ต้องวิ่งตามติดๆ ฉากนี้เห็นแล้วเหนื่อยแทน ทรมานใจสิ้นดี ความหมายของฉากนี้ แทนด้วยมนุษย์ทุกคนที่ถูกเกวียนลาก ทำตามอะไรสักอย่างได้เลย, Jorge ถามเจ้าของเกวียน ทำไมไม่ให้หมามันอยู่ข้างบน ล่ามไว้ให้วิ่งตามทำไม คำตอบคือ ข้างบนมันที่ของคนไม่ใช่ที่ของหมา ล่ามไว้เพราะเดี๋ยวมันวิ่งหนี Jorge ตัดสินใจซื้อหมาตัวนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและปลดปล่อย แสดงถึงคุณธรรมของตน แต่ขณะเขากำลังเดินจากไป มีรถเลื่อนอีกคันสวนมาในทิศตรงข้าม มีน้องหมาอีกตัวถูกผูกติดอยู่กับเกวียนเช่นกันแต่ Jorge มองไม่เห็น, ฉากนี้สะท้อนอะไรหลายอย่างที่เจ็บปวดมากนะครับ หลายระดับด้วย เราไม่สามารถช่วยทุกคนในโลกให้พ้นทุกข์ได้ ใครโชคดีก็รอด โชคไม่มีบารมีไม่ถึงก็ต้องอดทนต่อไป, ลองเปรียบเทียบกับการเมืองดูนะครับ ประชาชนอาศัยอยู่ภายใต้ผู้นำเผด็จการ เหมือนถูกล่ามคอให้วิ่งตาม ถ้าไม่มีคนนอกคอยช่วยก็จะต้องเป็นอยู่อย่างนั้น มีแต่กลุ่มผู้นำเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์คิดทำอะไรเองได้
กลุ่มขอทานทั้งหมด 13 คน ประกอบด้วย คนตาบอด, คนโง่, โจร, โสเภณี (กับเด็ก 2 คน), หญิงท้อง, ง่อย, ชายแก่, นักร้อง, คนแคระ, ผู้ป่วยโรคเรื้อน ฯ ใครอีกละ… มีเสียงร่ำลือว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่นักแสดง แต่เป็นขอทานจริงๆ ที่อาศัยอยู่ใน Madrid (แม้ Buñuel จะอ้างว่าพวกเขาทั้งหมดเป็นนักแสดง แต่ก็มีการค้นพบว่า หลายคนเป็นขอทานจริงๆ) กลุ่มคนเหล่านี้แสดงถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดของผู้คนในสังคม เมื่อพวกเขาได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย (กลายมาเป็นผู้นำประเทศ) แต่ด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันน้อยนิด จึงเลือกฉวยโอกาส แสวงหาแต่ผลประโยชน์สุขส่วนตน (ฉากนี้ตีความอีกอย่างได้คือ Orgy) หลังจบฉากนี้มีต่ออีกหน่อย ที่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่โหดโฉดชั่วมากๆ เมื่อใดที่มนุษย์ตกต่ำจนถึงจุดนี้ ก็เสมือน The Last Supper ก่อนที่จะถูกขับไล่ พิพากษา
เวลาพูดถึงภาพ The Last Supper พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ (วาดโดย Leonardo Da Vinci) คนมักจะนึกถึง Judas Iscariot คนทรยศพระเยซู ที่ทำให้ท่านต้องถูกทรมาน ตรึงกางเขน, แต่ความจริงคนทรยศพระเยซูไม่ใช่แค่ Judas นะครับ ทุกคนในภาพเลย (เพราะไม่มีใครยอมรับว่าพระเยซูคือผู้มาไถ่) แม้ภายหลังพระเจ้าจะให้อภัยทุกคน (แม้แต่ Judas ก็ให้อภัย) เพื่อให้กลายเป็นอัครสาวกเผยแพร่ศาสนา, กับ Buñuel เขาวิเคราะห์ภาพนี้อย่างที่ผมว่ามา (ตัดตรงพระเจ้าให้อภัยออก) ทุกคนทั้งหมดที่ปรากฎในภาพนี้ ไม่มีใครเป็นคนดีสักคน ไม่เพียงหน้าตารูปลักษณ์ภายนอกที่อัปลักษณ์ แต่ภายในข้างในจิตใจยังต่ำทราม ทรยศได้แม้แต่พระแม่ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์อย่าง Viridiana
การที่ Buñuel ใส่ภาพนี้เข้ามา ทำให้คริสตจักรสั่นเลยละครับ มองว่าเป็นหนังที่หมิ่นศาสนาอย่างรุนแรง (blasphemy) รวมถึงการแสดงออกของตัวละคร เรื่องราวที่ผู้คนเต็มไปด้วยจิตใจชั่วช้าสามัญ ไม่มีความยั้งคิด รู้ผิดชอบชั่วดี (เป็นการบอกว่า แม้แต่ศาสนาก็ช่วยคนเลวไม่ได้), กระนั้น Buñuel ก็ตอบโต้ว่า ‘เขาไม่ได้ทำหนังเพื่อหมิ่นศาสนา แต่คนที่จะตัดสินได้คงมีแค่สมเด็จพระสันตะปาปาเท่านั้น’ (I didn’t deliberately set out to be blasphemous, but then Pope John XXIII is a better judge of such things than I am.) [แค่คำพูดของพี่แกแบบนี้ก็ถือว่าหมิ่นแล้วนะครับ]
ถ่ายภาพโดย José F. Aguayo หนังมีการเคลื่อนไหวกล้องที่มีจังหวะ (Rhythm) บางครั้งแช่ภาพ แพนกล้อง เคลื่อนตามเข้า-ออก ขึ้น-ลง ซึ่งแฝงไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก, งานภาพอาจไม่โดดเด่นที่สุด แต่จะรู้สึกได้ว่ามีชีวิตชีวา เป็นจังหวะพร้อมกับการแสดง (หนังของ Buñuel การเคลื่อนไหวสำคัญกว่าแสดงอารมณ์), ตัดต่อโดย Pedro del Rey หนังไม่ได้ใช้การเล่าเรื่องผ่านมุมมองใครเป็นพิเศษ (ถ้าจะมีก็มุมมองคฤหาสถ์ บ้านและสวนของ Don Jaime) ความยาว 90 นาที กำลังดี ถือเป็นเฉลี่ยของหนัง Buñuel เลยนะครับ
เพลงประกอบ โห! การเลือก George Frideric Handel: Messiah มาใส่ในหนังนี่ ทำเอาผมขนลุกเลย โดยเฉพาะท่อน Chorus ที่จะมีคำร้อง Hallelujah นี่เป็นคำสรรเสริญพระเจ้านะครับ แต่ขณะที่หนังใส่เพลงนี้มา แบบว่า… wtf มาก พอได้ยิน Hallelujah ความรู้สึกผมแบบว่า ‘พระเจ้าอยู่ตรงไหน!’ การใส่คำร้องสรรเสริญพระเจ้าในขณะเหตุการณ์ที่… นี่ถือว่าไม่ใช่การเทิดทูล ยกย่องแน่ๆ เป็นการประชดประชันเสียดสี ‘หมิ่น’ ที่รุนแรงมากๆ
สรุปจะหมิ่นหรือไม่หมิ่น ก็แล้วแต่จะคิดกันเองนะครับ ซึ่งส่วนตัวผมว่ามันชัดเลย ทั้งหมิ่นทั้งข้ามเส้นของคำว่าเหมาะสม กลายเป็นหนังที่เลวทราม ต่ำช้า ชั่วร้าย ทั้งเจตนาและผลลัพท์, ผมว่าหนังเรื่องนี้ ในแง่จริยธรรมสังคมเลวร้ายยิ่งกว่า The Tin Drum เสียอีกนะครับ
ฉากจบดั้งเดิมของหนัง จะมีแค่ Viridiana เข้าห้องของ Jorge แล้วปิดประตู (สามารถจินตนาการได้ว่า เธอคงเสียตัวให้เขา) ซึ่งกอง Censors ของสเปนเห็นแบบนี้ ไม่ให้ผ่าน สั่งให้ Buñuel เปลี่ยนตอนจบใหม่ ในห้องนั้นมี Ramona อยู่ด้วย และกล้องคล่อยๆเคลื่อนออก ขณะทั้งสามกำลังจั่วไพ่กัน ฉากนี้กอง Censors ยอมปล่อยผ่าน แต่หารู้ไม่ ความตั้งใจของ Buñuel สื่อฉากนี้ออกมาเป็น ménage à trois หรือ Threesome คำนี้คนในวงการคงรู้กันนะครับว่าหมายถึงอะไร จะบอกว่าเลวร้ายกว่าจบแบบเดิมเสียอีก
ตอนผมดูหนังเรื่องนี้ บอกตามตรง ช่วงครั้งแรกของหนัง พอเห็นเนื้อเรื่องประมาณนี้ ก็คิดตะเลิดไปไกลเลยว่า มันคงจะบ้าสุดๆไปเลย ถ้าพ่อเลี้ยงข่มขืน Viridiana จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปคงน่าสนใจมากๆ แต่ผิดคาด หนังไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ นี่ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงต่อ Buñuel แม้เรื่องราวต่อไปจะมีฉากเจ๋งๆอย่าง The Last Supper และตอนจบ Threesome แต่มันก็ไม่สามารถทำให้ผมเริ่มต้นสานต่ออารมณ์ใหม่กับหนังได้เลย (มองครึ่งแรกครึ่งหลังเป็นหนังคนละเรื่องกันได้เลย) นี่ทำให้โดยรวม กลายเป็นไม่ค่อยรู้สึกโอเคกับหนังเท่าไหร่ คิดว่า Buñuel น่าจะทำได้ดีกว่านี้
กระนั้นนี่ถือเป็นสุดยอดหนังเรื่องหนึ่งนะครับ ที่คุณภาพจัดเต็ม แต่คุณธรรมติดลบ แบบคนละขั้วด้านเลย ถ้าเอามาชั่งบนตาชั่ง จะปรากฏว่าสมดุลเปะๆ ผมเลยเลือกไม่ถูกว่าจะชื่นชมยกย่องหรือเหยียบให้จมดิน!, ตอนผมเห็นหนังได้ Palme d’Or ใจก็คิด เอาอีกแล้วเหรอนี่ แบบเดียวกับ The Tin Drum นี่เป็นเทศกาลที่เอาความสุดยอดของผลงานเป็นที่ตั้ง เรื่องอื่นไม่สลักสำคัญอะไร หนังจะทำให้คนขัดแย้ง ตีกันฆ่ากัน หรือสอนให้คนทำชั่ว คุณธรรมต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เทศกาลนี้ไม่สน Artistic สำคัญที่สุด
ผมคิดว่า Buñuel คงสบายตัวไปเลยละครับหลังหนังเรื่องนี้ เหมือนเขาได้ยกความหนักอกหนักใจที่แบกทิ้งไว้มานานออกไปเสียที ระบายความเกลียดชังออกไปจนแทบหมดสิ้น หลังจากนี้สไตล์ของเขาเปลี่ยนไปนิดหน่อยนะครับ ประเด็นศาสนาเบาบางลง (แต่ก็ยังมีอยู่ไม่ได้หายไป), ครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์พิจารณาโทษของตัวเองหลังความตาย ‘I hope I don’t go to hell’ สงสัยเขากำลังฝันอยู่!
แนะนำกับ… ใครดีละ เป็นหนังที่ผมไม่ค่อยอยากแนะนำเท่าไหร่เลย, คนชอบหนัง Comedy Satire เสียดสีล้อเลียนแบบไม่แคร์จริยธรรม สังคม จรรยา, แฟนหนัง Luis Buñuel ชอบอะไรที่เจ็บๆ แสบๆ คันๆ ไม่ควรพลาด
จัดเรต NC17 กับความชั่วร้ายทุกประการในหนัง
คำเตือน: นี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะกับทุกคน ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับคนมือถือสากปากถือศีล มีมโนธรรมเป็นที่ตั้ง, ก่อนดูหนังเรื่องนี้ เตรียมใจ สำรวจจริยธรรมของตนเองให้พร้อม คุณกำลังเข้าสู่โลกของคนที่มีจิตใจชั่วร้ายที่สุด
Leave a Reply