Faces Places

Visages Villages (2017) French : Agnès Varda, JR ♥♥♥♥

ภาพถ่ายคือความทรงจำประเภทหนึ่ง เมื่อถูกนำมาขยายขนาดใหญ่ย่อมทำให้เจ้าของรูป/ผู้พบเห็นมีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองแตกต่างกันไป เฉกเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง Agnès Varda และ JR ผู้มีภาพลักษณ์อวตารจาก Jean-Luc Godard

Faces Places คือภาพยนตร์สารคดีที่บันทึกการเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจ ‘สร้างพื้นที่ความทรงจำให้กับผู้คน’ ด้วยอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือของศิลปิน JR ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ผู้กำกับ Agnès Varda ผลลัพท์ออกมีความตราตรึง ซาบซึ้ง กินใจ

และที่สำคัญสุดของสารคดีเรื่องนี้ คือความทรงจำของ Varda ต่อผู้กำกับร่วมรุ่น French New Wave ที่ยังมีชีวิตหลงเหลืออีกคนสุดท้าย Jean-Luc Godard ถ้าพูดเป็นภาษาวัยรุ่น ‘กูคิดถึงมึงว่ะ!’ โผล่หน้าออกมาทักทายหน่อยสิ! ไปลุ้นกันเองนะครับว่าจะยินยอมมาปรากฎตัวให้เห็นหรือเปล่า

จะว่าไป Varda และ Godard ต่างมีความแตกต่างขั้วกันข้ามตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
– Varda คือผู้หญิง, Godard คือผู้ชาย
– Varda มาจากฝั่ง Left Bank เริ่มต้นเป็นตากล้อง, Godard คือนักวิจารณ์ Cahiers du Cinéma ก่อนสร้างภาพยนตร์
– Varda ชื่นชอบพบเจอคนใหม่ๆ, Godard ไม่ต้องการพบใครนอกจากพรรคพวกเพื่อนเคยสนิทสนมรู้จัก
– ช่วงบั้นปลาย Varda สร้างภาพยนตร์เข้าถึงคนหมู่มาก, Godard สนองตัณหาส่วนตนไม่สนว่าใครจะดูเข้าใจ
ฯลฯ


จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกกล่าวถึงไว้ในหนังอยู่แล้ว JR เป็นผู้เข้าหา Agnès Varda ชักชวนเธอมาที่สตูดิโอ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอโปรเจคร่วมงาน ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ พบปะผู้คนมากมาย และบันทึกความทรงจำดีๆเก็บไว้ด้วยสื่อภาพยนตร์

JR (เกิดปี 1983) คือนามปากกาของศิลปิน นักถ่ายภาพ/Street Art/Graffiti สัญชาติฝรั่งเศส ผู้ได้รับฉายาว่า ‘Cartier-Bresson แห่งศตวรรษที่ 21’ ผลงานของเขาพบเห็นได้ตามผนังกำแพง ตึกร้าง สถานที่มีพื้นที่ว่างๆ มีความเชื่อส่วนตัวบริเวณเหล่านั้นสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าประดิษฐานงานศิลปะยังพิพิทธภัณฑ์

แซว: Varda ได้นำพา JR ไปเยี่ยมหลุมฝังศพ Henri Cartier-Bresson (1908 – 2004) เป็นการเคารพคาวะและยกย่องศิลปินทั้งสองไปในตัว

Agnès Varda ชื่อจริง Arlette Varda (เกิดปี 1928) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Belgian-French เกิดที่ Ixelles, Belgium โตขึ้นเรียนจบปริญญาตรี สาขาวรรณกรรมจาก Lycée Victor-Duroy และสาขาจิตวิทยาที่ Sorbonne ทีแรกตั้งใจสมัครเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ École du Louvr คงไม่สำเร็จกระมังเลยเปลี่ยนมาทำงานช่างถ่ายภาพนิ่ง ค่อยๆเกิดแรงผลักดันบันดาลใจ อยากร้อยเรียงเล่าเรื่องสร้างองค์ประกอบภาพเคลื่อนไหว ทดลองสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก La Pointe Courte (1954) ได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์ ให้นิยาม ‘Forerunner of French New Wave’ จากนั้นกลายเป็นตำนานกับ Cléo from 5 to 7 (1962), Vagabond (1985), The Gleaners and I (2000) ฯ

ความสนใจของ JR ต่อ Varda ไม่ใช่แค่ความเป็นศิลปิน ผู้กำกับรุ่น French New Wave หรือหญิงชราผู้น่ารัก แต่คงคือทัศนคติวิสัยทัศน์ที่ยังคงความสดใหม่ นิสัยชื่นชอบความท้าทาย และประสบการณ์ชีวิตพานผ่านอะไรมามาก แม้ตัวเลขอายุจะเหินห่างหลายทศวรรษ ก็ไม่ใช่อุปสรรคกีดขวางกั้นประการใด

ความสนใจของ Varda ต่อ JR ไม่เพียงภาพลักษณ์ชอบสวมใส่แว่นดำเหมือน Jean-Luc Godard แต่คือมุมมองวิสัยทัศน์ ทัศนคติต่องานศิลปะ ซึ่งโปรเจค Faces Places ไม่ใช่แค่การออกเดินทางค้นหาพื้นที่จัดแสดงศิลปะ เป้าหมายเพื่อความรู้สึกทรงคุณค่าทางจิตใจต่อผู้คนมากมาย และพวกเขาด้วยกันเอง

Faces Places เป็นโปรเจคที่ดูเหมือนไม่ยุ่งยาก แต่กลับต้องใช้ทีมงานเบื้องหลังปริมาณมากทีเดียว (ดูจากเครดิตก็น่าจะหลักร้อยเลยนะ!) แค่ตากล้องก็มีถึง 5 คน คงคอยเก็บภาพจากหลากหลายมุมมอง สัมภาษณ์ผู้คน หลายๆช็อตมีการใช้โดรนถ่ายทำมุมสูง หรือขณะขับรถ ซึ่งด้วยคุณภาพความละเอียดกล้องดิจิตอลสมัยนี้ ต้องชมเลยว่ามีความสวยสดใส เห็นแล้วกระชุ่มกระชวยหัวใจ

สารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การเดินทาง ปฏิบัติภารกิจ บันทึกภาพความทรงจำ แต่เมื่อครุ่นคิดติดตามจะพบเห็นนัยยะซ่อนเร้นจากเรื่องราว ตัวละคร และปฏิกิริยาโต้ตอบสนองที่แตกต่างออกไป

ภาพคนถือขนมปังถูกนำมาเรียงรายติดต่อกันจนดูเหมือน ‘เส้นเชือก’ สะท้อนสิ่งที่คือสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แม้มิใช่คนรู้จักมักคุ้น แต่ก็คือพรรคพวกพ้องร่วมชาติ อาศัยอยู่บ้านเมืองเดียวกัน พูดภาษาสนทนารู้เรื่อง ก็ไม่ต่างอะไรจากญาติมิตรสหาย

สำหรับหญิงคนนี้ ภาพใบหน้าของตนเองสร้างความซาบซึ้ง ตื้นตันใจ จนแทบจะร่ำร้องไห้ออกมา เฉกเช่นเดียวกับภาพคนงานเหมือง แม้พวกเขาจะจากลาไปแล้ว ก็ทำให้หวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน

สำหรับชายคนนี้ ภาพขนาดใหญ่ของตนเองสะท้อนถึงความภาคภูมิใจ เย่อหยิ่งทะนงในเกียรติ ศักดิ์ศรี หน้าที่การงานขับรถแทรคเตอร์ ถือได้ว่าคือบุคคลสำคัญ/คนดังของหมู่บ้าน

นัยยะลักษณะนี้ อารมณ์ประมาณ Citizen Kane (1942) ก็ว่าได้เลยนะ

พบเห็นบ่อยๆกับภาพด้านหลัง Varda และ JR นั่งพูดคุยสนทนากัน แรกๆก็จะมีระยะห่างความสัมพันธ์ คนละมุมโต๊ะ นั่งตรงกันข้าม หรือเก้าอี้คนละตัว ก่อนท้ายที่สุดไม่เพียงชิดใกล้ยังหันหน้าเข้าหากัน

ใครเคยรับชม Sans toit ni loi (1985) น่าจะจดจำสัญลักษณ์ของต้นไม้เต็มไปด้วยกิ่งก้านไร้ใบ สัญลักษณ์ของอิสรภาพ ความโดดเดี่ยว หรือก็คือผู้กำกับ Agnès Varda นั่นเองแหละ

ความรู้สึกส่วนตัวเล็กๆ ภาพนี้ชวนให้ระลึกถึงภาพยนตร์ของ Jacques Demy สามีผู้ล่วงลับของ Agnès Varda (ซึ่งก็จะมีการพูดเอ่ยถึงอยู่บ่อยๆ)

สำหรับนางแบบเจ้าของท่าโพส เธอบอกรู้สึกอับอายเป็นบ้า และชีวิตต่อไปวันข้างหน้าคงต้องคอยตอบคำถามผู้สงสัยมากมาย … นี่ถือเป็นข้อเสียหนึ่งของการมีชื่อเสียงที่ต้องแลกมา แต่ลึกๆผมว่าเธอคงไม่อคติต่อมันสักเท่าไหร่หรอกนะ

เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ มนุษย์จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น Varda กับ JR คือตัวแทนยืนอยู่คนละฟากฝั่ง ต่างพยายามเอื้อมมือไขว่คว้าหากัน เพื่อเรียนรู้จัก เกิดความรัก และเข้าใจกัน นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน มอบความสุขในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแก่ผู้อื่นได้

หมู่บ้านร้างๆที่ยังสร้างไม่เสร็จ สะท้อนสิ่งคือความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะไม่มีใครในโลกที่สามารถเข้าใจผู้อื่นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่แค่เพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่ง/ผนังกำแพงเป็นรูปร่าง ก็เพียงพอสำหรับสร้างพื้นที่ โอกาส และความทรงจำร่วมกัน

เรื่องราวของบุรุษไปรษณีย์ ผู้ส่งความรัก/ความสุข ช่วยเหลือแบ่งปัน แทรกเข้ามาในฉากนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประสานร่องรอยต่อความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเหินห่างไกล หรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

โดยปกติแล้วลาเป็นสัตว์มีเขาไว้สำหรับต่อสู้ปกป้องกันตัว แต่มีฟาร์มแห่งหนึ่งได้เผา/ตัดออก ทำลายสมดุลธรรมชาติ เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับธุรกิจสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำอันเต็มไปด้วยความโลภละโมบ มักมาก เห็นแก่ตัว

ภาพลาขนาดใหญ่ที่มีเขาอันนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เรียกร้อง ล้อเลียน เคลื่อนไหวแบบเงียบๆเพื่อจี้แทงใจดำผู้คนให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของบางอย่าง … นี่เช่นกันในฐานะงานศิลปะ สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้สังคมเกิดการพัฒนาทางศีลธรรม มโนธรรม ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นกว่าเดิม

ไม่ว่าอะไรก็ตามในโลกใบนี้ เมื่อถือกำเนิดขึ้นย่อมต้องพบจุดจบ ภาพวาด เหตุการณ์ ความทรงจำก็เฉกเช่นกัน แค่เพียงชั่วข้ามวันก็ถูกสายลม กระแสน้ำ และกาลเวลา พัดพามาครั้งเดียวก็หายสาบสูญ

ถ้าไม่นับการนัดพบเจอ Godard ผมถือว่าฉากนี้มีความตราตรึงทรงพลังที่สุดก็ว่าได้! เพราะมันทำให้ทั้ง Varda และ JR ตกอยู่ในสภาวะสูญญากาศ ใจหายวาปหนึ่งชั่วขณะ งานศิลปะที่อุตสาห์สรรค์สร้างมาพลันมลายสูญหาย แต่นั่นคือสัจธรรมความจริงแห่งชีวิตที่ต้องยินยอมรับให้ได้ เพราะไม่มีอะไรบนโลกใบนี้มั่นคงยิ่งยืนนานตราบชั่วกัลปาวสาน

สายตาที่พร่ามัวของ Varda สะท้อนความทรงจำกว่า 88 ปีของเธอที่ค่อยๆเลือนลาง เหตุการณ์ใหญ่ๆตัวอักษรโตๆเท่านั้นถึงยังจดจำมองเห็นได้ชัด แต่อะไรเล็กๆน้อยๆไร้ความสำคัญนึกให้ตายคงครุ่นคิดไม่ออก

ภาพของสามภรรยาบนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้หนุ่มๆในชุมชมท่าเรือแห่งนี้พบเห็นแล้วเกิดความกระชุ่มกระชวย มีพละพลังในการทำงานเพิ่มมากขึ้นกว่า กระนั้นข้อเสียที่ยุ่งยากวุ่นวาย คือมันต้องทำการประติดประต่อ วางเรียงซ้อนกันถึงจะปรากฎรูปร่าง

นี่เป็นความจงใจเพื่อสะท้อนถึงรูปภาพ/ความทรงจำ มันคือสิ่งเล็กๆน้อยๆมากมายที่ต้องนำมาเรียงร้อยต่อกัน จึงสามารถเป็นรูปเป็นร่าง จดจำเหตุการณ์ต่างๆทั้งหมดได้

หลังจากนี้มันจะมีช็อตที่ทั้งสามสาวนั่งอยู่บนคอนเทนเนอร์ ซึ่งตรงกับตู้ที่มีภาพหน้าอก/หัวใจ นั่นสะท้อนแบบตรงไปตรงมา ถึงศูนย์กลาง จิตวิญญาณแห่งความทรงจำ

Bande à part (1964) หนึ่งในภาพยนตร์เลื่องชื่อที่สุดของผู้กำกับ Jean-Luc Godard ได้แอบให้ศรีภรรยาขณะนั้น Anna Karina (และ Sam Frey) วิ่งเล่นใน Louvre จนกลายเป็นฉากในตำนานลือเล่าขาน, ซึ่งการที่ Varda ขอให้ JR เลื่อนไถลรถเข็นของเธอไปด้วย คงต้องการหวนระลึกนึกย้อนอดีต ความทรงจำแสนวานเมื่อวันวาน

ขณะที่ภาพยนตร์ของ Varda ที่ Godard มาแสดงรับเชิญคือ Cléo de 5 à 7 (1962)

ขอทิ้งท้ายกับภาพดวงตาและนิ้วเท้าอันใหญ่ยักของ Varda บนรถพ่วงน้ำมัน สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และการเดินทาง ที่ต่อจากนี้จะไม่มีจุดสิ้นปลายทาง เฉกเช่นเดียวกันกับสารคดีจักได้รับการออกฉายทั่วทุกมุมโลก

การลำดับเรื่องราว หลายครั้งพบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ที่เป็น ‘Cinécriture’ เช่นว่ากำลังพูดถึงบุรุษไปรษณีย์ ฉากถัดมาก็นำเสนอเรื่องราวของชายคนนั้น, จี๊ดสุดคงคือดวงตา ฉากตัดมาผู้กำกับ Varda เข้ารับการฉีดยารักษาต้อ? แล้วทดลองมองภาพใกล้-ไกล เห็นเบลอ-ชัด ฯ

เพลงประกอบโดย Matthieu Chedid ใช้ชื่อว่า -M- นักร้อง/นักกีตาร์/นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส, มีลักษณะเหมือนสร้อยบทกวี คอยประสานร่องรอยต่อระหว่างฉาก/หัวข้อการนำเสนอ ช่วยแต่งเติมเสริมสร้างบรรยากาศ ให้มีความลื่นไหลต่อเนื่องกันไป … นี่ถือเป็นสไตล์ของผู้กำกับ Varda แทบทุกเรื่องจะมีความคล้ายๆกันแบบนี้

กับคนที่สามารถแยกสำเนียงเสียงออกได้ คงสังเกตพบลักษณะของดนตรีมักมีสองท่วงทำนองเล่นล้อโต้คลื่นกันโดยตลอด
– ถ้ามีเพียงกีตาร์ตัวเดียว (Opening Credit) จะมีเสียงหลักและเบสดำเนินไปพร้อมๆกัน (บางครั้งจะได้ยินความแตกต่างผ่านลำโพงซ้าย-ขวา)
– คีย์บอร์ด+กีต้าร์ไฟฟ้า (อารัมภบท/เริ่มต้นออกเดินทาง)
– เปียโน มือข้างหนึ่งเล่นต่อเนื่อง อีกข้างหนึ่งจะกดทีละโน๊ตอย่างเชื่องช้า
– เปียโน+แอคคอร์เดียน (ฉากท่าเรือ)
– กีตาร์ไฟฟ้า+แอคคอร์เดียน (รถไฟ)
– กีตาร์+เสียงผิวปาก/ฮัมเพลง (นั่งรอในร้านกาแฟ ก่อนพบเจอ Godard)
ฯลฯ


ภาพถ่ายและภาพยนตร์ ต่างคือสื่อและงานศิลปะที่ถ่ายทอดจากเรื่องราว เหตุการณ์ ความทรงจำของมนุษย์ ณ ช่วงขณะเวลาหนึ่ง บันทึกไว้เพื่อสามารถหวนระลึกนึกถึง ทั้งในแง่ดีเห็นแล้วอิ่มเอิบสุขใจ และแง่ร้ายส่ายหน้าไม่อยากพบเจอ

สิ่งทรงคุณค่าของโปรเจคนี้ คือการทำให้ผู้คนมากมายได้หวนระลึกความทรงจำจากอดีต สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ คราบน้ำตา แถมมีเรื่องราวให้พูดคุยถวิลหา ครั้งหนึ่งเคยร่วมทำอะไรบ้าๆที่จะจดจำตราบจนวันตาย

ความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็เฉกเช่นกัน ระหว่าง Agnès Varda กับ JR ก็เริ่มจากคนแปลกหน้าเดินสวนทาง ต่อมาชื่นชอบผลงานกันและกัน มีโอกาสเลยนัดพบเจอร่วมงาน ซึ่งพวกเขาก็ต่างสร้างพื้นที่ความทรงจำของกันและกันในภาพยนตร์เรื่องนี้
– ในกรณีของ JR เบื้องหลังยังคงลึกลับซับซ้อน ไม่ได้มีการเปิดเผยอะไรมากนอกจากเคยอาศัยอยู่กับคุณยายสูงวัย แต่ผู้ชมก็ได้เรียนรู้จักนิสัยตัวตน ความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ มากด้วยน้ำใจไมตรี และภาพลักษณ์ส่วนแว่นที่ปฏิเสธถอดออกให้ใครพบเห็น
– ขณะที่ Varda นอกจากความน่ารักของหญิงชรา ความทรงจำของเธอยังหลงเหลือเพื่อนสนิทเก่าแก่คนหนึ่ง ไม่ได้พานพบเจอมานมนาน อีกสักครั้งก่อนตายจักมีโอกาสพูดคุยทักทายกันหรือเปล่า

ช็อตสุดท้ายของหนัง Varda กับ JR ต่างนั่งเหม่อล่องลอยออกไปไกล คงไม่มีใครบอกได้ว่าชีวิตจะยั่งยืนอยู่อีกนานแค่ไหน แต่เรื่องราวความทรงจำและสิ่งที่พวกเขากระทำครั้งนี้ มันคงได้รับการกล่าวถึงไปอีกนานแสนนาน

สารคดีเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes นอกสายการประกวด แต่กลับสามารถคว้ามาถึงสองรางวัล
– L’Œil d’or (แปลว่า The Golden Eye) หรือคือ The Documentary Prize ซึ่งเพิ่งเริ่มมีการมอบรางวัลปี 2015 นี้เอง (ถือเป็นเรื่องที่สามได้รับรางวัลดังกล่าว)
– Palme de Whiskers (คล้ายๆกับ Palme Dog แต่มอบให้กับน้องแมวที่คอยแย่งซีนโดดเด่น)

ด้วยทุนสร้างประมาณ $1 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $4.01 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความเร็จไม่น้อยทีเดียว, นอกจากนี้ยังได้เข้าชิง Oscar: Best Documentary Feature ซึ่งอายุ 89 ปี ของ Agnès Varda กลายเป็นสถิติแก่สุดในทุกสาขา น่าเสียดายพ่ายให้กับ Icarus (2017)

สิ่งที่โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชอบ ประทับใจมากสุดของหนัง คือการออกเดินทางไปเยี่ยมเยียน นัดพบเจอ Jean-Luc Godard ถือเป็นความน่าประหลาดใจอย่างคาดคิดไม่ถึง ก่อนลงเอยจบแบบอ้างปากค้างยิ่งกว่า!

ระหว่าง The Gleaners and I (2000) กับ Faces Places (2017) ถือว่าเป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีความงดงามตราตรึง สร้างสรรค์ ทรงคุณค่าไม่ย่อหย่อนต่อกัน แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเรื่องแรกนั้นสามารถเข้าถึงผู้คนในวงกว้างมากยิ่งกว่า

แนะนำหนังกับศิลปิน จิตรกร ผู้หลงใหลในงานศิลปะ/Street Art/Graffiti, กำลังมองหาแรงบันดาลใจ ชื่นชอบการท่องเที่ยวผจญภัย, พื้นหลังชนบทประเทศฝรั่งเศส, แฟนๆผู้กำกับ Agnès Varda และศิลปิน JR ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

จัดเรตทั่วไป

คำโปรย | Visages Villages คือการสรรค์สร้างภาพ ที่จะทำให้ใครๆจดจำผู้กำกับ Agnès Varda และ JR ไม่หลงลืมเลือนชั่วนิรันดร์
คุณภาพ | รึ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: