Vivaldi: The Four Seasons
ความมหัศจรรย์ของ The Four Seasons (1725) สี่บทเพลง Violin Concerto ของคีตกวีเอกสัญชาติอิตาเลี่ยน Antonio Vivaldi (1678 – 1741) แห่งยุคสมัย Baroque คือผู้ฟังสามารถหลับตา จินตนาการถึงฤดูกาล สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายสายลม แสงแดด ใบไม้ร่วง และหิมะหนาวเหน็บ
ต่อให้ไม่ใช่คนในวงการเพลงคลาสสิก เชื่อว่าแทบทุกคนน่าจะต้องเคยได้ยินท่วงทำนอง The Four Seasons จากรายการโฆษณา โทรทัศน์ วิทยุ หรือเสียงเพลงในห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ ฯ แต่ความยิ่งใหญ่ของบทเพลงยังไม่จบเท่านี้ ลุกลามข้ามศาสตร์สู่วงการศิลปะ ออกแบบ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ฯ แทบจะทุกสิ่งอย่างในยุคสมัยนี้ เมื่อเอ่ยกล่าว ‘ฤดูกาล’ ต้องพานให้พูดถึง Antonio Vivaldi
“The Four Seasons ของ Vivaldi เป็นผลงานได้รับความนิยมมากที่สุดของดนตรีคลาสสิกโลก มีการแสดงและบันทึกเสียงอาจจะมากกว่า Symphony No.5 ของ Beethoven เสียอีกกระมัง”
Antonio Lucio Vivaldi (1968 – 1741) คีตกวี ครูสอนดนตรี นักไวโอลิน บาทหลวงสัญชาติ Italian เกิดที่ Venice, Venetian Republic บิดาคือ Giovanni Baptista Vivaldi เป็นช่างทำขนมปังและหัวหน้าคณะนักดนตรีประจำมหาวิหาร San Giovanni in Bragora, ในวันที่ Vivaldi ถือกำเนิด เมือง Venice ประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ทารกน้อยเกือบเอาชีวิตไม่รอด มีอาการไข้สูงตลอดเวลา มารดามองว่าเป็นลางร้ายอะไรสักอย่างจึงตั้งมั่นหมายให้บุตรชายบวชเป็นพระ/บาทหลวง เพราะครุ่นคิดว่าอาจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้
เมื่ออายุได้ 15 ปี Vivaldi เลยรับศีลบวชพระอย่างเต็มตัว เพราะการมีผมสีแดง แถมคนทั่วไปมักพบเห็นใส่เสื้อคลุมสีแดงอีก ทำให้ได้รับฉายา ‘Il Prete Rosso’ แปลว่าพระแดง แต่ถึงบวชก็ไม่ได้แก้ไชคชะตาให้ดีขึ้น หนำซ้ำร้ายป่วยหนักเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด หลอดลมอักเสบ ประกอบอาการเจ็บหน้าอกและไออยู่ตลอดเวลา จึงไม่สามารถประกอบพิธีมิสซาได้เลย
ชีวิตการดนตรีของ Vivaldi ไม่แน่ชัดว่าเริ่มเรียนจากที่ใด แต่พอสันนิษฐานได้ว่าคงรับอิทธิพลและพื้นฐานการเล่นไวโอลินจากบิดา ไม่นานหลังจากรับศีลบวช ค.ศ. 1703 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนไวโอลินที่สถานเลี้ยงเด็กหญิง Ospedale della Pieta ซึ่งยังได้สร้างสรรค์ผลงานดนตรีมากมาย ทั้งเพื่อการฝึกสอนและที่เป็นวรรณกรรมดนตรีโดยแท้ โดยผลงานชิ้นแรกคือ Sonate da camera a tre, Opus 1 (1705)
ผลงานประพันธ์ของ Vivaldi ไม่นานนักก็ได้รับการกล่าวขวัญ โดดเด่นในเรื่องความรวดเร็วฉับไว ทันอกทันใจ มีการใช้บทร้องประกอบการแสดงเดี่ยวเครื่องดนตรี ทั้งยังเน้นร้องเดี่ยวแทนกลุ่มประสานเสียง โดยมีเนื้อหาไม่หนักหนามากจนเกินไป จนถูกใจผู้ชมชนชั้นกลางที่กำลังเบื่อหน่ายการแสดงอุปรากรรุ่นเก่าก่อน ใช้เทคนิคชั้นสูง เยิ่นเย้อ และเนื้อหาหนักมากเกินกว่าจะเป็นเครื่องหย่อนผ่อนคลายอารมณ์
นอกจากจะได้รับการยกย่องกลายเป็นผู้นำของ Italian Opera ยุคสมัยใหม่} Vivaldi ยังเป็นผู้บุกเบิกงานเพลงประเภท Solo Concerto ประชันระหว่างเครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวกับวงออเคสตรา อันเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก Concerto Grosso ซึ่งเป็นผลงานการบุกเบิกของ Arcangelo Corelli (1653 – 1713) นักไวโอลิน คีตกวีชาวอิตาลีคนแรก สร้างแบบแผนของดนตรีแนว Concerto คือการประชันกันระหว่าง’กลุ่ม’เครื่องดนตรีตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป
เกร็ด: ความแตกต่างระหว่าง Concerto Grosso กับ Solo Concerto หลักๆคือปริมาณเครื่องดนตรีและจำนวนท่อน (Movement)
– Concerto Grosso คือกลุ่มเครื่องดนตรี อาทิ ไวโอลิน+เชลโล ปะทะกับออเคราสตราเครื่องสาย/เต็มวง ฯ และสามารถมีปริมาณท่อนได้ไม่จำกัดรูปแบบ
– Solo Concerto คือเครื่องดนตรีเดียวๆ ปะทะออเครสต้า ซึ่งจะมีคำเรียก อาทิ Piano Concerto, Violin Concerto, Oboe Concerto ฯ และนิยมประพันธ์เพียง 3 ท่อน ในลักษณะเร็ว-ช้า-เร็ว (Vivaldi ก็เป็นแม่แบบอีกเช่นกัน)
เกร็ด 2: อีกหนึ่งฉายาของ Vivaldi คือ ‘Maestro di Concerti’
สำหรับคนที่นึกไม่ออกว่าการประชัน Concerto มีลักษณะเช่นไร ให้รับชม Itzhak Perlman กำกับวงและดวล Israel Philharmonic Orchestra เล่นบรรเลง The Four Seasons: Spring ไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบนัก แต่ตัดต่อได้เร้าใจดี
สำหรับผลงานชิ้นเอกที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Vivaldi คือ Il Cimento dell’Armonia e dell’Invenzione, Opus 8 ได้รับการตีพิมพ์ ณ กรุง Amsterdam ค.ศ. 1725 มีลักษณะ Violin Concerto 1 ชุด 12 บท โดยสี่ท่อนแรกเป็นที่รู้จักกันในนาม I Quattro Stagioni (The Four Seasons) บรรยายถึงช่วงเวลาสี่ฤดูกาล Spring, Summer, Autumn, Winter อ้างอิงจากโคลงสี่บท (ไม่ทราบรายละเอียดผู้แต่ง แต่คาดกันว่าน่าจะคือ Vivaldi นะแหละ) โดยใช้ Violin สื่อนำจินตนาการของผู้ฟัง
1) Concerto No. 1 in E major, Op. 8, RV 269, “La primavera” (ฤดูใบไม้ผลิ)
– Allegro (in E major) เมื่อฤดูใบไม้ผลิล่วงมาถึง สรรพสัตว์น้อยใหญ่ส่งเสียงเจื้อยแจ้วขับขาน แสดงออกด้วยความสนุกสนาน ร่าเริงเบิกบาน สุขสำเริงสำราญใจ แล้วอยู่ดีๆกระแสพายุไวโอลินก็โหมกระหนำทำลายความเงียบสงบงัน แต่ไม่นานนักมรสุมนั้นก็พัดพานผ่านไป ทุกสิ่งอย่างท้องฟ้าครามหวนกลับมาสว่างแจ่มใสอีกครา
– Largo e pianissimo sempre (in C♯ minor) เสียงไวโอลินเอื้อยลากยาย พรรณาภาพดอกไม้แรกแย้มผลิดอกบาน คนเลี้ยงแกะกำลังนอนหลับฝันดีอยู่ในบ้าน และสุนัขตัวโปรดนั่งหมอบอยู่ข้างกาย
– Allegro pastorale (in E major) เทศกาลแห่งการร้องรำทำเพลง ต้อนรับการสิ้นสุดของฤดูใบไม้ผลิ หนุ่มสาว นางไม้ คนเลี้ยงแกะ ต่างเอ่อล้นด้วยรอยยิ้ม สุขสำราญ เบิกบานหัวใจ ไม่มีใครอยากให้ช่วงฤดูกาลนี้ผ่านพ้นไป
Allegro Giunt’ è la Primavera e festosetti La Salutan gl’ Augei con lieto canto, E i fonti allo Spirar de’ Zeffiretti Con dolce mormorio Scorrono intanto: Vengon’ coprendo l’ aer di nero amanto E Lampi, e tuoni ad annuntiarla eletti Indi tacendo questi, gl’ Augelletti; Tornan’ di nuovo al lor canoro incanto: Largo Allegro |
Allegro ครั้นเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ แสนปิติเหล่านกน้อยร้องเริงร่า หิมะละลายลำธารไหลสายธารา ช่างชุ่มชื่นชื้นอุราพาเย็นใจ แม้จะมีอสุนีบาตและวายุ Largo Allegro Pastorale |
2) Concerto No. 2 in G minor, Op. 8, RV 315, “L’estate” (ฤดูร้อน)
– Allegro non molto (in G minor) เริ่มต้นด้วยความอิดโรยอ่อนล้า แสงแดดเร่าร้อนจากตะวันสาดส่องแผดเผา คนเลี้ยงแกะถูกปลุกให้ตื่นด้วยเสียงนกกาเหว่า นกเขา สายลมเอื่อยๆพัดโชยจากทิศเหนือ สร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึง เกรงกลัวลมพายุฤดูร้อนจะย่างกรายมาถึงโดยไม่รู้ตัว
– Adagio e piano – Presto e forte (in G minor) สิ่งที่คนเลี้ยงแกะหวาดสะพรึงกลัวในขั้วหัวใจ คือฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และเสียงอื้ออึงของสรรพแมลงมากมาย ล้วนเป็นลางร้ายหายนะ ภัยพิบัติไม่อยากให้พัดเข้ามาเกิดขึ้นเลย
– Presto (in G minor) และแล้วความหวาดสะพรึงกลัวของคนเลี้ยงแกะนั้นก็ได้กลายเป็นจริง พายุ ห่าฝน ลูกเห็บ ได้พัดพาความเร่าร้อนแรงของพายุฤดูร้อน เข้ามาทำลายพืชผลผลิต ทุกสิ่งอย่างเพาะปลูกลงแรง ย่อยยับเยินพังทลายหมดสิ้นไป
Allegro non molto Sotto dura Staggion dal Sole accesa Langue l’ huom, langue ‘l gregge, ed arde il Pino; Scioglie il Cucco la Voce, e tosto intesa Canta la Tortorella e ‘l gardelino. Zeffiro dolce Spira, mà contesa Muove Borea improviso al Suo vicino; E piange il Pastorel, perche sospesa Teme fiera borasca, e ‘l suo destino; Adagio e piano – Presto e forte Presto |
Allero non molto ฤดูร้อนช่างแสนน่าเบื่อหน่าย แดดยามบ่ายร้อนอบอ้าวจนเหงื่อไหล ชาวนาทำงานจนเพลียละเหี่ยใจ ลมพัดใบสนสะบัดยอดโอนเอน นกดุเหว่าร่ำร้องทำนองเพราะ แต่ทันใดลมพายุโหมกระหน่ำ Adagio e piano – Presto e forte Presto |
3) Concerto No. 3 in F major, Op. 8, RV 293, “L’autunno” (ฤดูใบไม้ร่วง)
– Allegro (in F major) การมาถึงของฤดูใบไม้ร่วง เริ่มต้นด้วยเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผลผลิตที่สุกงอม ท่วงทำนองเพลงเต้นรำ งานเลี้ยงสังสรรค์ สนุกสนานครึกครื้นเครง ดื่มด่ำเมามาย สุขสำเริงสำราญจนผลอยหลับสนิทไม่รู้ตัว
– Adagio molto (in D minor) ความเหมาะสมของสภาพอากาศในฤดูกาลนี้ ทำให้ใครๆต่างมีความง่วงหงาวหาวหลับนอน เคลิบเคลิ้ม เพลิดเพลิน สุขสำราญฝันดีแท้ ไร้ซึ่งเพศภัยอันใดมาขัดจังหวะปลุกตื่น ชั่วนิรันดร์ไปเลยได้ยิ่งดี
– Allegro (in F major) เสียงแตรยามรุ่งอรุณ สุนัขเห่าหอน และเสียงปืนลั่น แสดงถึงกิจกรรมออกล่าสัตว์ เสียงไวโอลินใช้เป็นตัวแทนผู้ถูกล่า วิ่งหนีด้วยความหวาดสะพรึงกลัวตาย เต็มไปด้วยความตื่นตระหนกตกใจกลัว แต่สุดท้ายก็ไม่อาจหลบหนีโชคชะตาขาดได้พ้น
Allegro Celebra il Vilanel con balli e Canti Del felice raccolto il bel piacere E del liquor de Bacco accesi tanti Finiscono col Sonno il lor godere. Adagio molto Allegro |
Allegro พวกชาวนาพากันร้องรำทำเพลง เมาครื้นเครงเก็บเกี่ยวดีมีพืชผล พรแห่งเทพแบคคุสช่วยบันดล ทั่วทุกคนต่างหลับใหลให้ฝันดี Adagio molto Allegro ทำให้มันกลัวด้วยเสียงปืนและสุนัข |
4) Concerto No. 4 in F minor, Op. 8, RV 297, “L’inverno” (ฤดูหนาว)
– Allegro non molto (in F minor) เริ่มต้นด้วยความหนาวเหน็บ สั่นสะท้านของสายลมแห่งฤดูหนาว ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเย็นยะเยือกแข็ง โหยหาความอบอุ่นอย่างร้านแรง
– Largo (in E♭ major) มองไปภายนอกพบเห็นหิมะ สายฝน ตกอยู่ไม่ขาดสาย เป็นใครย่อมเกิดความขี้เกียจคร้าน หมกตัวอยู่ในผ้าห่ม เสื้อกันหนาว แอบอิงอยู่ข้างเตาผิงไฟ โหยหาไอความอบอุ่นข้างกาย
– Allegro (in F minor) การออกไปข้างนอกในช่วงเวลานี้ช่างอันตรายนัก โดยเฉพาะเดินวิ่งบนพื้นน้ำแข็งต้องเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ถึงกระนั้นความงดงามของฤดูกาลนี้เกิดขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องลงมา ความอบอุ่นช่วยบรรเทาผ่อนคลายความหนาวเหน็บให้สามารถเบาบางลงไป
Allegro non molto Aggiacciato tremar trà nevi algenti Al Severo Spirar d’ orrido Vento, Correr battendo i piedi ogni momento; E pel Soverchio gel batter i denti; Largo Allegro |
Allegro non molto เย็นยะเยือกเกล็ดหิมะปลิวโปรยปราย จนร่างกายสั่นสะท้านด้วยลมหนาว เราต้องวิ่งรีบวิ่งไปก้าวยาวยาว หนีลมหนาวเย็นจนฟันกระทบกัน Largo Allegro เวลาเดินระวังแผ่นน้ำแข็งแยก |
ให้ข้อสังเกตกับสี่ฤดูกาลนี้ ประกอบด้วยสามท่อนซึ่งมีลักษณะ เร็ว-ช้า-เร็ว โดยเนื้อหาเรื่องราวจะประมาณว่า ก้าวย่างสู่-ระหว่างกลาง-ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด(ฤดูกาล) เวียนวนเช่นนี้จนครบรอบวัฎจักรชีวิต
ถึงแม้ในช่วงที่มีชื่อเสียง Vivaldi จะได้รับเงินค่าจ้างตอบแทนมากมาย แต่ใช่ว่าเขาจะมั่งคั่งร่ำรวย เพราะค่าใช้จ่ายประจำวันสูงมากๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเดินทางไปเปิดการแสดงทั่วอิตาลีและยุโรป ไหนจะค่าเช่าที่พักเวลาค้างแรม ค่าจ้างแม่บ้าน แพทย์ประจำตัว ยารักษา ฯ ซึ่งระหว่างพักพำนับอยู่ในกรุงเวียนนา สุขภาพร่างกายที่อิดโรนอ่อนแรง แต่คิวงานยังคงแน่นขนัด ค้างคางานประพันธ์ไว้มากมาย วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1741 ถึงแก่กรรมโดยสงบจากการติดเชื้อภายใน สิริอายุ 63 ปี พิธีฝังศพเป็นไปอย่างค่อนข้างเงียบเหงาและอนาถา ค่าใช้จ่ายในพิธีศพของเป็นเงินเพียง 19 Florins, 45 Kreutzens (ในขณะที่พิธีศพของขุนนาง อย่างน้อยต้องใช้เงินราว 100 Florins)
ภายหลังสิ้นสุดยุคสมัย Baroque (ค.ศ. 1600 – 1750) ผลงานและชื่อเสียงของ Vivaldi ค่อยๆถูกลบเลือนลางจางหายไปตามกาลเวลา แม้แต่ The Four Seasons ก็เฉกเช่นเดียวกัน กระทั่งต้นศตวรรษ 20th เมื่อคีตกวี/นักไวโอลิน Friedrich ‘Fritz’ Kreisler (1875 – 1962) สัญชาติออสเตรีย ประพันธ์บทเพลง Concerto in C ในสไตล์เลียนแบบ Vivaldi แม้เจ้าตัวจะไม่ยินยอมรับอิทธิพล แต่นั่นเป็นการปลุกคืนชีพ หวนกลับมาได้รับการค้นพบอีกครั้งหนึ่ง
ฉบับเก่าแก่สุดที่มีการบันทึกลงแผ่นครั่งของ The Four Seasons ควบคุมวงโดย Bernardino Molinari เมื่อปี 1942 โชคดีมากๆที่มีอัพโหลดขึ้น Youtube สามารถหารับฟังได้ครบทุกท่อน
ขณะที่ความนิยมล้นหลามของ The Four Seasons ในยุคสมัยใหม่ เริ่มต้นจากฉบับบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตของนักไวโอลิน Louis Kaufman ที่ Carnegie Hall เมื่อปี 1947 ซึ่งสามารถคว้ารางวัล French Grand Prix du Disque (ปี 1950) และได้รับเลือกเข้าสู่ Grammy Hall of Fame (ปี 2002) … น่าเสียดาย หาฉบับนี้บนโลกอินเตอร์เน็ตมาให้รับฟังไม่ได้ ใครเป็นเจ้าของอัลบัมนี้ถือเป็นสมบัติล้ำค่าเลยละ!
The Four Seasons ได้รับการเรียบเรียง, ล้อเลียน, Remix, Cover นับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งฉบับที่ผมมีความใคร่สนใจที่สุดของ Franz Joseph Haydn (1732 – 1809) คีตกวีสัญชาติออสเตรีย เจ้าของฉายา ‘Father of the Symphony’ ประพันธ์สามซิมโฟนี่ตั้งชื่อ ‘Part of day’ บรรยายถึงช่วงเวลาต่างๆในรอบวัน ประกอบด้วย
– Symphony No. 6 in D major ‘Le matin’ (Morning)
– Symphony No. 7 in C major ‘Le midi’ (Noon)
– Symphony No. 8 in G major ‘Le Soir’ (Evening)
ในบรรดา 12 ท่อนของ The Four Seasons คนส่วนใหญ่อาจลุ่มหลงใหล ติดตราตรึง Spring (Allegro) แต่ส่วนตัวโปรดปรานที่สุดคือ Winter (Largo) จะว่ามันคือความโหยหา ต้องการใครสักคนแอบแนบผิงกายคงไม่ผิดอะไร เพราะยังวันนั้นมันยังมาไม่ถึง เลยเต็มไปด้วยความสั่นสะท้านถึงขั้วหัวใจ จะมีไหมหนาความหวังโอกาสแห่งชีวิตนั้น
และผมรู้สึกว่า Winter (Largo) มีความไพเราะกว่าถ้าเป็นการบรรเลงโดยฟลุต น่าเสียดายหาฉบับที่เคยโปรดปรานนั้นไม่เจอเสียแล้ว พอกล่อมแกล้มโดย James Galway ไปก่อนแล้วกัน
Leave a Reply