Volver (2006) : Pedro Almodóvar ♥♥♥♥
เมืองเล็กๆ La Mancha (บ้านเกิดของผู้กำกับ Pedro Almodóvar) มีความเชื่อว่า คนตายไม่หายไปไหน มักหวนกลับมาให้พบเห็นเพราะครุ่นคิดถึงลูกหลาน เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อแม่ผู้ล่วงลับไปนานแล้วของ Penélope Cruz แอบขึ้นรถติดตามไปอยู่ด้วย ณ กรุง Madrid
วันก่อนผมมีโอกาสรับชม Mystery Train (1989) เพิ่งพบเห็นผี Elvis Presley คาดไม่ถึงว่าวันนี้จะได้เจอผีแม่จาก Volver (2006) แถมทั้งสองเรื่องยังมีใจความถึง ‘คนตายไม่หายไปไหน’ (the dead don’t die!)
“I never understood death before. So I decided to do a film about the culture of death, to see if I’d made progress. Now I can look death in the face”.
– Pedro Almodóvar
สิ่งน่าทึ่งของ Volver ในมุมมองส่วนตัวคือความสัมพันธ์เรื่องราวที่มองผิวเผินเหมือนจะไม่ต่อเนื่อง แต่กลับมีสามารถเชื่อมโยงลำดับเป็นเส้นตรงเปะ แถมยังว่ายเวียนวนดั่งวัฎจักร อะไรเคยเกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันตัวละครราวกับได้รับโอกาสสองที่จะเผชิญหน้า นำประสบการณ์ครั้งเก่ามาปรับแก้ปัญหา ให้ทุกสิ่งอย่างสามารถดำเนินสู่อนาคตในวิถีทางดีขึ้นกว่าเดิม
Pedro Almodóvar Caballero (เกิดปี 1949) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติสเปน เกิดที่ Calzada de Calatrava หมู่บ้านเล็กๆในจังหวัด Castile-La Mancha มีพี่สาวสองคนและน้องชายอีกหนึ่ง, ตอนอายุ 8 ขวบ ครอบครัวส่งไปโรงเรียนสอนศาสนายังเมือง Cáceres แต่วันๆ Almodóvar กลับเลือกเดินเข้าโรงภาพยนตร์ และได้อิทธิพลเต็มๆจากผู้กำกับในตำนาน Luis Buñuel
“Cinema became my real education, much more than the one I received from the priest”.
ขัดแย้งต่อความต้องการครอบครัว Almodóvar ย้ายไปอยู่ Madrid ปี 1967 วาดฝันต้องการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ แต่เพราะผู้นำเผด็จการในประเทศขณะนั้น Francisco Franco สั่งห้ามทุกอย่าง เขาเลย Self-Taught สอนตัวเองสร้างภาพยนตร์ ทำงานหาเงินซื้อกล้อง Super 8 เริ่มต้นหนังสั้น ขนาดยาวเรื่องแรก Pepi, Luci, Bom (1980) ได้เสียงตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ เพราะยังเป็นการลองผิดลองถูก, ถัดมา Labyrinth of Passion (1982) เล่าเรื่องความเร่าร่าน Sex ของดาราดัง ตกหลุมรักกับเจ้าชายหนุ่มที่เป็นเกย์จากตะวันออกกลาง ได้รับเสียงตอบรับทีดีขึ้น, สำหรับผลงานสร้างชื่อ Women on the Verge of a Nervous Breakdown (1988) เป็นแนว Feminist Light-Comedy ด้วยบทสนทนารวดเร็วติดจรวด ส่อ-เสียด-สี-แทง ทำให้ Almodóvar ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น ‘Women’s Director’ เฉกเช่นเดียวกับ George Cukor, Rainer Werner Fassbinder, Michelangelo Antonioni ฯ
“Women are more spectacular as dramatic subjects, they have a greater range of registers, etc”.
ระหว่างสร้างภาพยนตร์ The Flower of My Secret (1995) ได้รับฟังเรื่องเล่าของนักแสดงนำ Marisa Paredes เกี่ยวกับพ่อพยายามข่มขืนลูกสาวเลยถูกแทงเสียชีวิต แม่เก็บศพแช่แข็งไว้ในตู้เย็น, Almodóvar เกิดความประทับใจเรื่องราวดังกล่าวมากๆ ถึงขนาดแทรกใส่เป็นพล็อตนวนิยายเรื่องหนึ่งในหนัง (Novel within Film)
ความลุ่มหลงใหลของ Almodóvar ยังไม่จบสิ้นลงเท่านี้ ใช้เวลาหลายปีเพื่อครุ่นคิดพัฒนาต่อยอดเรื่องราวดังกล่าว ขยายให้กลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว แต่งเติมเสริมในส่วนความตาย โดยหวนกลับไปยังหมู่บ้านเกิดของตนเอง La Mancha
“It is precisely about death…More than about death itself, the screenplay talks about the rich culture that surrounds death in the region of La Mancha, where I was born. It is about the way (not tragic at all) in which various female characters, of different generations, deal with this culture”.
Raimunda (รับบทโดย Penélope Cruz) และ Sole (รับบทโดย Lola Dueñas) คือพี่น้องเติบโตขึ้นที่ Alcanfor de las Infantas หมู่บ้านเล็กๆในเขต La Mancha หลังจากพ่อ-แม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อสามปีก่อน ตัดสินใจย้ายไปปักหลักอาศัยอยู่ยังกรุง Madrid หวนกลับมาบ้านเพื่อทำความสะอาดหลุมฝังศพตามประเพณีพื้นเมือง
เรื่องราววุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Paco (รับบทโดย Antonio de la Torre) สามีของ Raimunda พยายามข่มขืนลูกสาว Paula (รับบทโดย Yohana Cobo) เธอใช้มีดทิ่มแทงฆ่าเขาเสียชีวิต พอดิบพอดีกับความตายของน้า Paula (รับบทโดย Chus Lampreave) ทำให้ Sole ต้องออกเดินทางไปร่วมงานศพยัง La Mancha โดยไม่รู้ตัววิญญาณของแม่ผู้ล่วงลับไปนานแล้ว Irene (รับบทโดย Carmen Maura) แอบขึ้นหลังรถกลับมาด้วย
Penélope Cruz Sánchez (เกิดปี 1974) นักแสดง โมเดลลิ่ง สัญชาติ Spanish เกิดที่ Alcobendas, ตั้งแต่เด็กเรียนเต้นบัลเล่ต์อยู่หลายปี กระทั่งมีโอกาสรับชม Tie Me Up! Tie Me Down! (1990) ของผู้กำกับ Pedro Almodóvar ตั้งใจเป็นนักแสดงทเต็มตัวตั้งแต่นั้น เริ่มรับงานแสดง Music Video ตั้งแต่อายุ 15, พิธีกรรายการเด็ก, ถ่ายแบบโมเดลลิ่ง, ภาพยนตร์เรื่องแรก Jamón, jamón (1992) แจ้งเกิดโด่งดังกลายเป็น ‘Sex Symbol’ โดยทันที, ตามด้วย Belle Epoque (1992), Open Your Eyes (1997), ร่วมงาน Almodóvar ครั้งแรก Live Flesh (1997), โกอินเตอร์ Vanilla Sky (2001), และคว้า Oscar: Best Supporting Actress เรื่อง Vicky Cristina Barcelona (2008)
รับบท Raimunda หญิงสาวผู้พานผ่านเหตุการณ์ร้ายๆเมื่อครั้นยังเด็ก ทำให้มีบุตรสาวตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี เติบโตขึ้นเปลือกนอกจึงแลดูมีความเข้มแข็งแกร่ง แม้อารมณ์ค่อนข้างกวัดแกว่งไปบ้าง แต่ก็สามารถเป็นที่พึ่งพักพิงของใครๆเวลาประสบปัญหา ขณะที่ภายในจิตใจของเธอนั้น เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ว้าวุ่นวายกับแทบทุกสิ่งอย่างพานผ่านเข้ามา แต่ท้ายที่สุดนั้นตราบใดไม่ท้อแท้สิ้นหวัง อนาคตย่อมสามารถก้าวเดินต่อไปได้
Cruz เป็นตัวเลือกหนึ่งเดียวของ Almodóvar เพราะได้รับรู้จักร่วมงานกันมาตั้งแต่ Live Flesh (1997), All About My Mother (1999) พบเห็นการเติบโตจากเด็กหญิง กลายเป็นสาว และขณะนั้นกำลังเข้าสู่กลางคน วัยวุฒิเหมาะสม พร้อมเปิดรับความท้าทายใหม่ๆ ติดอย่างเดียวคือบั้นท้ายเล็กไปหน่อย จำต้องยัดนวมปลอมสวมก้นเทียม เพื่อให้แลดูมีน้ำหนัก และสามารถแบกรับภาระความเป็นแม่
“Penélope has done ballet when she was younger and that gave her a very gracious and light way of walking. I wanted her to have more weight, so you could feel the sense of gravity attaching her to the Earth”.
– Pedro Almodóvar
แซว: ผมว่า Almodóvar ติดภาพลักษณ์บั้นท้ายสะบึ้มของ Anna Magnani นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน มาแน่ๆ
Almodóvar ตระเตรียม Cruz ด้วยการให้รับชมภาพยนตร์แนว Italian Neorealism ช่วงทศวรรษ 50s ศึกษาการแสดงของ Sophia Loren, Claudia Cardinale เพื่อเป็นพื้นฐานให้ตัวละคร
ต้องชมเลยว่า Cruz โอบรับเอาทั้ง Magnani, Loren และ Cardinale มาปรับประยุกต์ให้เข้ากับตนเองได้อย่างดีเลิศ ใบหน้าสามารถผันแปรเปลี่ยนอารมณ์ได้อย่างกวัดแกว่ง สุดเหวี่ยง เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เหมือนจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ความเป็นแม่ทำให้ผู้ชมเข้าใจเหตุผลเป้าหมายที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในจิตใจ
เกร็ด: Penélope Cruz กลายเป็นนักแสดงหญิงสัญชาติ Spanish คนแรกที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress
ถ่ายภาพโดย José Luis Alcaine สัญชาติ Spanish ผลงานเด่นๆ อาทิ Women on the Verge of a Nervous Breakdown (1988), Jamón Jamón (1992), Belle Époque (1993), Volver (2006), The Skin I Live In (2011) ฯ
โทนสีสันในผลงานของ Almodóvar มักมีความฉูดฉาด จัดจ้าน (หลุดมาจากทศวรรษ 60s) สะท้อนมุมมองของเขาต่อชีวิต ไม่ชอบบรรยากาศหดหู่ซึมเศร้าหมอง, สำหรับ Volver เพิ่มเติมคือความโฉบเฉี่ยว รวดเร็วฉับไว สะท้อนเข้ากับสภาพจิตใจตัวละครที่ดั่งพายุเฮอร์ริเคน เต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นวาย มีปัญหาอะไรไม่รู้มากมายในชีวิต
ช็อตแรกของหนัง กล้องเคลื่อนเป็นเส้นตรงจากขวาไปซ้าย ดูราวกับการนำพาผู้ชมย้อนเวลากลับสู่อดีต พานพบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อดั้งเดิมของชาวเมือง La Mancha, หลังจากชื่อหนังปรากฎ พบเห็นกล้องค่อยๆเคลื่อนถอย/ซูมออกจากหลุมฝังศพ นี่เช่นกันที่สามารถสื่อถึง ‘อดีตคือส่วนหนึ่งของปัจจุบัน’
เชื่อว่าใครๆย่อมรู้สึกผิดสังเกตกับมีดอันนี้ ที่นักวิจารณ์ต่างเรียกกันว่า ‘Hitchcock Knife’ … แต่หลายคนอาจมัวแต่จับจ้องมองหน้าอกของ Cruz ถ่ายมุมก้มลงมาแบบนี้ถือว่าเน้นมากๆ ซึ่งหนังยังเก็บรายละเอียดเรือนร่างของเธอได้ครบทุกมุมมองเลยก็ว่าได้!
Almodóvar โดดเด่นมากกับการเล่าเรื่องด้วยภาพ อย่างช็อตนี้ระหว่าง Raimunda ทำงานแม่บ้าน พบเห็นภาพสะท้อนในเครื่องปั่น/ซักผ้าซึ่งกำลังเริ่มหมุนทำงาน สะท้อนถึงชีวิตที่แหวกว่ายเวียนวนดั่งวัฎจักร อะไรเคยเกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็มักมีแนวโน้มหวนกลับมาประสบพบเจออีก!
การเสียชีวิตของ Paco แลดูคล้ายโปสเตอร์ Anatomy of a Murder (1959) อยู่ไม่น้อย!
อีกหนึ่งวัฒนธรรมแห่งความตายของชาวเมือง La Mancha ที่ต้องชื่นชมเลยว่ามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะทุกคนล้วนมาร่วมงาน และแลกจุมพิตต่อกัน กว่าจะครบหมดคงได้เป็นลมล้มพับไปพอดี!
วิญญาณของแม่ Irene ช่างมีความเอ็นดู น่ารักน่าชัง หลบซ่อนตนเองอยู่ด้านหลังท้ายรถ (ล้อกับการสวมใส่บั้นท้ายปลอมของ Cruz เพื่อสื่อถึง ‘ความเป็นแม่’ ของตัวละคร) เธอมักสวมใส่เสื้อผ้าสีฟ้า (มาจากสรวงสวรรค์) เต็มไปด้วยความสดใสร่าเริง และยังมีบางสิ่งอย่างไม่สามารถปลดปล่อยวางได้
ศพพ่อ/สามี Paco ถูกแช่แข็งไว้ในตู้เย็นแล้วนำไปฝังดินริมทะเลสาป เปรียบเทียบได้กับการตราฝังเหตุการณ์/ความทรงจำที่เลวร้าย เก็บซ่อนเร้นไว้ส่วนลึกภายใต้จิตสำนึกในจิตใจ
ไม่ใช่แค่ Raimunda และลูกสาว ที่ถูกผู้ชาย(คนเป็นพ่อ)พยายามข่มขืนกระทำชำเรา ก็ตั้งแต่แม่ Irene ประสบเหตุการณ์คล้ายๆกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว นี่แสดงว่าสามรุ่นในตระกูลนี้ ย่า-แม่-ลูกสาว เวียนวนกับคำสาป/ความโชคร้ายซ้ำไปซ้ำมา ไม่อาจหลบหลีกหนีกงกรรมเกวียนนี้ไปได้พ้น
สถานที่ที่ Raimunda และแม่ Irene โอบกอดคืนดีกัน สังเกตว่ากล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออก พบเห็น Graffiti ฝาผนังกำแพงด้านหลัง อ่านไม่ออกคงจะภาษาสเปน แต่คงสะท้อนอะไรบางอย่างที่อยู่ภายในแม่ลูกคู่นี้อย่างแน่นอน
ห่วงสุดท้ายของแม่ Irene คือการสานคืนความสัมพันธ์กับ Agustina ในช่วงเวลาบั้นปลายชีวิตของเธอ ต่างให้อภัยกันและกันกับทุกสิ่งอย่างเคยบังเกิดขึ้น กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาพวกเขา พร้อมๆกับลมหายใจเฮือกสุดท้าย
ภาพยนตร์เรื่อง Beautiful (1951) นำแสดงโดย Anna Magnani ผู้กระหายในชื่อเสียงความสำเร็จ ลากพาลูกสาวมุ่งสู่สตูดิโอ Cinecitta, กรุง Rome เพื่อตนเองจะได้คัดเลือกนักแสดง
เรื่องราวใน Beautiful (1951) สะท้อนเข้ากับเหตุการณ์ Raimunda ถูกพี่สาว Agustina ที่ต้องการเป็นนักร้องดัง ลากพาตัวเธอไปออดิชั่นด้วยที่กรุง Madrid
ช็อตสุดท้ายของหนัง แม่ Irene หลังจากร่ำราลูกสาว Raimunda เดินหายลับในโถงทางเดินที่เต็มไปด้วยความมืดมิด และสังเกตว่ากล้องจะค่อยๆเคลื่อนเลื่อนลงเล็กน้อย ราวกับว่าเธอได้หมดห่วงต่อโลกใบนี้แล้ว g=njvว่าคงจะจากไปชั่วนิรันดร์ไม่หวนกลับมาหลอกหลอนใครอีก!
ตัดต่อโดย José Salcedo (1949 – 2017) สัญชาติ Spanish ขาประจำของ Almodóvar ทุกเรื่อง (จนกระทั่งเสียชีวิต), ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา Raimunda เป็นส่วนใหญ่ แต่หลายครั้งสลับมาในสายตาน้องสาว Sole ที่หลังจากไปร่วมงานศพน้า Paula พบเห็นวิญญาณแม่ Irene และโดยไม่รู้ตัวนำพาเธอติดตามมายังกรุง Madrid
การดำเนินเรื่องของหนัง มองผิวเผินเหมือนกระโดดไปมาไม่ต่อเนื่อง แต่ผู้ชมน่าจะเริ่มสัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยง ตั้งแต่การตายของ Paco พอดิบพอดีกับน้า Paula และเมื่อ Sole เดินทางไปร่วมงานศพ พานพบเจอวิญญาณแม่ Irene
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ระหว่างที่ Sole เดินทางไปร่วมงานศพ, Raimunda กลับเตรียมการจัดงานเลี้ยงรองรับทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ … ในมุมทั่วไปอาจรู้สึกว่าไม่เหมาะสม แต่ก็อยู่ที่ใครจะมอง เกิด=ตาย ทุกข์โศก=สนุกสนานเฮฮา สองเหตุการณ์ขั้วตรงข้ามสามารถเติมเต็มกันและกัน
เพลงประกอบโดย Alberto Iglesias สัญชาติ Spanish ขาประจำที่ขาดไม่ได้ของ Pedro Almodóvar, ทำหน้าที่แต่งเติมเสริมสร้างบรรยากาศให้หนัง และสะท้อนสิ่งอยู่ภายในห้วงจิตใจตัวละครออกมา
สำหรับเพลงแทงโก้ Volver แต่งโดย Carlos Gardel, คำร้องโดย Alfredo Le Pera, ขับร้องโดย Estrella Morente ซึ่งในหนัง Penélope Cruz ทำการลิปซิงค์ได้อย่างแนบเนียน
ชีวิตของ Raimunda แม้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสวยงาม แต่เธอไม่มองตนเองอย่างเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย สามารถลุกขึ้นมากัดฟันสู้ ก้าวข้ามผ่าน เพราะอดีตเป็นสิ่งเกิดขึ้นผ่านไปแล้วไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไขอะไรได้ ปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าต่างหากที่มีคุณค่าความสำคัญ
เช่นนั้นเองทำให้เธอดูเหมือน ‘หญิงแกร่ง’ สาวหัวขบถที่สามารถทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ไม่จำต้องพึ่งพาใครอื่น ในมุมของญาติพี่น้องและลูกๆ จึงสามารถเป็นที่พึ่งพักพิง และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ด้วยประสบการณ์ส่วนตน
Volver ภาษาสเปนแปลว่า to return, หวนกลับมา ในบริบทของหนังไม่ใช่แค่แม่ Irene ราวกับหวนกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังเหตุการณ์/ความทรงจำต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับ Raimunda (อาทิ ถูกพ่อข่มขืน, ขัดแย้งกับแม่) ได้หวนกลับมาเกิดขึ้นในปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง!
สำหรับผู้กำกับ Pedro Almodóvar การหวนกลับมา แฝงนัยยะหลายอย่างทีเดียว
– หนังถ่ายทำที่ La Mancha ซึ่งคือการหวนกลับมาบ้านเกิดของตนเองอีกครั้งหนึ่ง
– เรื่องราวของหนังที่เกี่ยวกับแม่และความตาย ถือเป็นการหวนกลับมาเผชิญหน้ากับแนวคิด/บางสิ่งอย่างที่ตนเองยังไม่เข้าใจ
– นักแสดงหลักๆของหนัง Penélope Cruz, Carmen Maura ยังรวมถึงตากล้อง-นักตัดต่อ-เพลงประกอบ ต่างคือการหวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งหนึ่ง
ฯลฯ
ในมุมมองของ Almodóvar ไม่เชื่อเรื่องความตาย คำตอบของเขาพบเห็นอย่างชัดเจนในหนัง ถึงร่างกายจะหมดสิ้นลมหายใจ ก็ใช่ว่าทุกสิ่งอย่างจะดับสูญสิ้น มันคือธรรมชาติของชีวิต หาใช่เรื่องน่าเศร้าโศกนาฎกรรมอันใด
“I do not accept death. And I think this is something I show in the film. This is why I have done the film and why I talk about people in La Mancha. People there are completely different from me; for them, death is something from everyday life. It’s something they accept and is something natural – not a tragedy”.
– Pedro Almodóvar
เมื่อพูดถึงอดีตของประเทศสเปน ความตาย/จุดจบสิ้นสุดยุคสมัยจอมพล Francisco Franco ดูไม่ต่างจากวิญญาณที่ไม่สามารถไปผุดเกิด ว่ายเวียนวนหวนกลับมาหลอกหลอนความทรงจำของชาวสเปนอยู่เรื่อย แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่จะมัวหมกมุ่นครุ่นยึดติดกับมัน ปัจจุบันและอนาคตต่างหากคือโอกาสและความหวังใหม่ของชีวิต
“For me, the past doesn’t exist. For me, the only real thing is the present, what I’m living now. The past is something I don’t see. It doesn’t help me. It’s no use for me”.
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามาสองรางวัล
– Best Actress มอบให้ทีมนักแสดงหญิง Penélope Cruz, Carmen Maura, Lola Dueñas, Blanca Portillo, Yohana Cobo, Chus Lampreave
– Best Screenplay
ด้วยทุนสร้าง $9.4 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $12.89 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $85.5 ล้านเหรียญ กลายเป็นผลงานทำเงินสูงสุดของ Almodóvar ตราบจนปัจจุบัน
ช่วงปลายปีได้ลุ้นรางวัล
– Oscar: Best Actress (Penélope Cruz)
– Golden Globes: Best Actress – Drama (Penélope Cruz)
– Golden Globes: Best Foreign Language Film
– BAFTA Awards: Best Actress – Drama (Penélope Cruz)
– BAFTA Awards: Best Film not in the English Language
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหลงใหลสุด คือบทหนังของ Pedro Almodóvar ตั้งคำถามกับความตายได้อย่างเฉลียวฉลาด เวียนวนดั่งวัฏจักรชีวิต และการแสดงของ Penélope Cruz พัฒนาสู่บทแม่/กลางคน ได้อย่างเป็นธรรมชาติ (แม้จะเต็มไปด้วยความกวัดแกว่งทางอารมณ์ก็เถอะ)
แนะนำคอหนัง Drama แนว Neorealist, นักคิด นักปรัชญา มองความตายในมุมที่แตกต่าง, นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ศึกษาปัญหาชีวิต/สังคม, แฟนๆผู้กำกับ Pedro Almodóvar และนักแสดงนำ Penélope Cruz ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับการข่มขืน เข่นฆาตกรรม ความตาย
Leave a Reply