
Invention for Destruction (1958)
: Karel Zeman ♥♥♥♡
คลุกเคล้าการผจญภัยสุดมหัศจรรย์ในโลกของ Jules Verne ด้วยการออกแบบ ‘Visual Style’ ให้มีลักษณะคล้ายภาพแกะสลักเส้น (Line Engravings) สร้างความตื่นตาตะลึง แม้เรื่องราวอาจไม่ค่อยอึ่งทึ่ง แต่จักสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมเลือน
สำหรับวงการ Czech Animation บุคคลสำคัญถัดจาก Jiří Trnka ก็คือ Karel Zeman เจ้าของฉายา “Czech Méliès” ซึ่งพอผมพบเห็นตัวอย่างหนัง Invention for Destruction (1958) เกิดความ “ว๊าว” จนอดไม่ได้ที่ต้องลัดคิว เร่งรีบหามารับชมเคียงคู่กับ The Fabulous Baron Munchausen (1962) ต่างเป็นภาพยนตร์ที่มี ‘Visual Style’ โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร
เกร็ด: เผื่อคนไม่รับรู้จัก Georges Méliès (1861-1938) นักมายากล ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ โด่งดังจากผลงาน A Trip to the Moon (1902), บ่อยครั้งนำแรงบันดาลใจจากนวนิยายไซไฟ(ออกไปทางแฟนตาซี)ของนักเขียนชื่อดัง Jules Verne (1825-1905) อาทิ The Impossible Voyage (1904), 20,000 Leagues Under the Sea (1907), Under the Seas (1907), The Conquest of the Pole (1912) ฯ
ผกก. Zeman เลื่องชื่อกับการสรรค์สร้างภาพยนตร์แฟนตาซี มีส่วนผสมระหว่างคนแสดง (Live-Action) กับอนิเมชั่น (Animation) ไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็น Stop-Motion Animation บางครั้งเลือกใช้ภาพวาดสองมิติ (Traditional Animation), ตัดกระดาษแข็ง (Cut-Out Animation), หรือเทคนิคภาพยนตร์อย่าง Matte Painting ฯ ไม่ยึดติดกับวิธีการ ขอแค่ให้ได้ผลลัพท์ตามความต้องการ
จุดอ่อนของ Invention for Destruction (1958) คือการดำเนินเรื่องที่มีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า (น่าจะเพราะผกก. Zeman ต้องการให้ผู้ชมซึมซับภาพ ‘visual style’ ได้อย่างเต็มอิ่มหนำ) คัดเลือกนักแสดงได้อย่างน่าผิดหวัง และเรื่องราวคาดเดาง่ายเกินไปหน่อย (ก็มันเป็นแฟนตาซีสำหรับเด็ก อ่ะนะ!) รับชมครึ่งชั่วโมงแรกๆแม้ดูตื่นตาตะลึง แต่พอถึงตอนจบอาจไม่ค่อยรู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่
ผมเกือบลืมบอกไปว่า หนังได้เข้าฉายในงานนิทรรศการโลก 1958 Brussels World’s Fair (งานเดียวกับที่จัดโหวตภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งแรกของโลก!) สามารถคว้ารางวัล Grand Prix ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เข้าฉายในเทศกาลปีนั้น ทำให้ถูกส่งออกฉายหลากหลายประเทศทั่วโลก จนได้รับประมาณการว่าน่าจะคือภาพยนตร์ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์ Czech Cinema
Karel Zeman (1910-89) ผู้กำกับภาพยนตร์/อนิเมชั่น สัญชาติ Czech เกิดที่ Ostroměř, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในหุ่นเชิดชัก (Puppet Theatre) แต่ครอบครัวบีบบังคับให้ร่ำเรียนบริหารธุรกิจ อดรนทนได้ไม่นานก็เดินทางสู่ฝรั่งเศส เข้าโรงเรียนสอนโฆษณา จบออกมาทำงานออกแบบกราฟฟิก ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมทำ(โฆษณา)อนิเมชั่น สะสมประสบการณ์ก่อนเดินทางกลับประเทศ ท่องเที่ยวลัดเลาะไปยัง Egypt, Yugoslavia, Greece, พยายามเสี่ยงดวงอยู่ Casablanca ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สุดท้ายจำต้องเดินทางกลับประเทศหลังจาก Czechoslovakia ถูกยึดครองโดย Nazi Germany
ช่วงระหว่างสงครามได้เป็นหัวหน้าแผนกโฆษณาบริษัทแห่งหนึ่งในเมือง Brno ต่อมาได้รับชักชวนจากผกก. Elmar Klos เข้าร่วมสตูดิโออนิเมชั่น Bata Film Studios ณ Zlín เริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยนักอนิเมเตอร์ชื่อดัง Hermína Týrlová, จากนั้นร่วมงาน Bořivoj Zeman กำกับหนังสั้นเรื่องแรก Vánoční sen (1945) [แปลว่า A Christmas Dream] ส่วนผสมระหว่างคนแสดง (Live Action) และ Puppet Animation
Zeman มีชื่อเสียงจากซีรีย์ Stop-Motion แนวเสียดสีล้อเลียน Pan Prokouk (1946-59) แปลว่า Mr. Prokouk ออกแบบหุ่นทำขึ้นจากไม้ จมูกยื่นๆ ไว้หนวดครึ้มๆ สวมหมวก Pork Pie Hat มักตกอยู่ในสถานการณ์น่าเห็นอกเห็นใจ ถือเป็นตัวตายตัวแทนชนชาว Czech บุคคลธรรมดาทั่วไป … นิตยสาร Le Monde ของฝรั่งเศสทำการเปรียบเทียบญาติห่างๆ (animated cousin) ของ Monsieur Hulot

ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Mr. Prokouk ทำให้ผกก. Zeman พยายามมองหาความท้าทายใหม่ๆ ได้รับคำท้าทายให้ทดลองสรรค์สร้าง Stop-Motion Animation โดยใช้ตุ๊กตาแก้ว (Glass Figurines) ผลลัพท์กลายเป็น Inspirace (1949) [แปลว่า Inspiration] มีความงดงาม ตระการตา แนะนำให้ลองรับชมดูนะครับ
สำหรับภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก Poklad ptačího ostrova (1952) [แปลว่า The Treasure of Bird Island] นำแรงบันดาลใจจากเทพนิยายและภาพวาด Persian พยายายามผสมผสานระหว่างอนิเมชั่นสามมิติ สองมิติ รวมถึงเทคนิคภาพยนตร์ Matte Painting คลุกเคล้าเข้ากันอย่างกลมกล่อม
สำหรับผลงานแจ้งเกิดระดับนานาชาติของผกก. Zeman ทำการดัดแปลงนวนิยายผจญภัย #3 Voyage au centre de la Terre (1864) [แปลว่า Journey to the Center of the Earth] ของ Jules Verne ออกมาเป็นภาพยนตร์ Cesta do pravěku (1955) [ชื่อเมื่อตอนเข้าฉายสหรัฐอเมริกาก็คือ Journey to the Beginning of Time] ผสมผสานระหว่างคนแสดง (Live Action) กับ Stop-Motion Animation ในลักษณะเหมือนสารคดี (documentary-like) เต็มไปด้วยไดโนเสาร์ตื่นตาตื่นใจ แม้แต่ผกก. Steven Spielberg ยังเคยเอ่ยปากชื่นชม … สร้างอิทธิพลให้กับภาพยนตร์ Jurassic Park (1993) ด้วยกระมัง
ด้วยความที่ผกก. Zeman มีความชื่นชอบหลงใหลผลงานของ Jules Verne โดยเฉพาะคอลเลคชั่น Voyages extraordinaires (1863-1905) จำนวน #44+8 เรื่อง, หลังเสร็จจาก Journey to the Beginning of Time (1955) ก็พร้อมต่อด้วย Vynález zkázy (1958) [แปลว่า Invention for Destruction] ดัดแปลงจาก #42 Face au drapeau (1896) [แปลว่า Facing the Flag หรือ For the Flag] นวนิยายแนวรักชาติ (Patriotic Novel) เรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ทำการประดิษฐ์คิดค้นสุดยอดอาวุธ (Super-Weapon) ที่มีแสนยานุภาพมหาศาล สามารถลบล้างจักรวรรดิฝรั่งเศสไปจากผืนแผ่นดินโลก … นี่เป็นเรื่องราวทำการพยากรณ์การมาถึงของระเบิดนิวเคลียร์
ผกก. Zeman ร่วมงานกับนักเขียนอีกสามคน František Hrubín, Jiří Brdečka และ Milan Vacha ช่วยกันระดมสมอง ครุ่นคิดหาวิธีการดำเนินเรื่องรูปแบบใหม่ให้แตกต่างจากต้นฉบับนวนิยาย ได้ข้อสรุปเปลี่ยนมานำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Simon Hart วิศวกรหนุ่ม ผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Professor Thomas Roch ต่างถูกลักพาตัวโดย Count Artigas (ชื่อตามนิยายคือ Ker Karraje) ซึ่งระหว่างที่ Simon พยายามหาหนทางหลบหนี แอบส่งข่าวสารให้กับโลกภายนอก ยังสามารถสอดแทรกเรื่องราวผจญภัยอื่นๆ อาทิ #1 Twenty Thousand Leagues Under the Seas (1869-70), #12 The Mysterious Island (1875) และ Robur the Conqueror (1886) [อยู่คนละจักรวาลกับ Voyages extraordinaires]
เรื่องราวนำเสนอการผจญภัยของ Simon Hart (รับบทโดย Lubor Tokoš) เริ่มต้นเดินทางลงเรือข้ามมหาสมุทร Atlantic ต่อด้วยโดยสารขบวนรถไฟ และนั่งรถมาจนถึงสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง เพื่อพบเจอนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Professor Roch (รับบทโดย Arnošt Navrátil) รับฟังคำพร่ำบ่นเรื่องเงินทุนไม่เพียงพองานวิจัย แต่ไม่ทันไรทั้งสองถูกลักพาตัวขึ้นเรือดำน้ำของ Count Artigas (รับบทโดย Miloslav Holub) ออกเดินทางสู่เกาะ/ป้อมปราการ Back-Cup Island
เหตุผลที่ Count Artigas ลักพาตัว Professor Roch เพราะต้องการโน้มน้าวให้ช่วยประดิษฐ์คิดค้นสุดยอดอาวุธ (Super-Weapon) ที่มีแสนยานุภาพมหาศาล เพื่อหวังจะยึดครอบครองโลกใบนี้ให้อยู่ในกำมือ ความทราบถึง Simon Hart ปฏิเสธให้ความร่วมมือ พยายามหาหนทางหลบหนี ส่งข่าวสารสู่โลกภายนอก เปิดโปงแผนการชั่วร้าย … สุดท้ายจะทำได้สำเร็จหรือไม่??
Lubor Tokoš (1923-2003) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Šternberk (ปัจจุบันคือประเทศ Czech Republic), ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเดินทางสู่ Bruno ได้ทำงานยังโรงละคอน ไต่เต้าจากตัวประกอบ จนได้รับบทนำ แสดงภาพยนตร์ประปราย อาทิ The Fabulous World of Jules Verne (1958), Witchhammer (1970), Forbidden Dreams (1986), Princess Jasnenka and the Flying Shoemaker (1987) ฯ
รับบท Simon Hart วิศวกรหนุ่มหล่อ โหยหาการผจญภัย ออกเดินทางข้ามน้ำข้ามมหาสมุทร เพื่อมาพบเจอกับ Professor Roch แต่โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้ถูกลักพาตัวมายังเกาะ Back-Cup Island พยายามหาหนทางหลบหนี ส่งข่าวสารสู่โลกภายนอก เปิดโปงแผนการชั่วร้ายของ Count Artigas
ว่ากันตามตรงผมรู้สึกว่า Tokoš อายุมากเกินไป (ไว้หนวดด้วยนะ) ตัวละครนี้น่าจะวัยรุ่น/ผู้ใหญ่ตอนต้น หน้าตาใสๆซื่อๆ เต็มไปด้วยความกระตือลือร้น อยากรู้อยากเห็น และควรมีอารมณ์ลุ่มร้อนรน กระวนกระวาย ไม่ใช่สุขุมเยือกเย็น ราวกับทุกสิ่งอย่างอยู่ในการควบคุม
และทั้งๆเป็นตัวละครหลัก แต่ก็กลับแทบไม่ได้มีส่วนร่วมสักกับหนังเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา พบเห็นการผจญภัย สิ่งมหัศจรรย์มากมาย อาจโดดเด่นขึ้นมาช่วงท้ายตั้งแต่พยายามหลบหนี หลีนางเอก แต่ก็ไม่ได้ขายความสามารถด้านการแสดงสักเท่าไหร่
Arnost Navrátil (1926-1984) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Senice na Hané (ปัจจุบันคือ Czech Republic) แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ The Fabulous World of Jules Verne (1958),
รับบท Professor Roch นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง! ต้องการประดิษฐ์คิดค้นสุดยอดอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างมหาศาล แต่ถึงเป็นอัจฉริยะกลับไม่เคยครุ่นคิดถึงประโยชน์หรือโทษอย่างจริงจัง เลยถูกลวงล่อหลอกโดย Professor Roch สนเพียงสรรค์สร้างนวัตกรรมออกมาให้สำเร็จ พอถึงวันนั้นเกือบที่จะสายเกินแก้ไข
นี่เป็นอีกตัวละครที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง นอกจากรูปร่างหน้าตา ทรงผมยุ่งๆ ภาพลักษณ์เหมือนนักวิทยาศาสตร์ ดูเฉลียวฉลาด แต่ทว่า Navrátil ไม่ได้มีความสติเฟื่อง แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งอะไรออกมา วันๆหมกมุ่นทำงานงกๆ สนอกสนใจเพียงการทดลองผิดลองถูก และตอนจบแสดงสีหน้าผิดหวัง ชอกช้ำระกำ เลยตัดสินใจกระทำบางอย่างเพื่อไถ่โทษทัณฑ์
Miloslav Holub (1915-99) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Běchovice, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) บิดาเป็นครูใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ และยังช่วยกำกับการแสดงละครเวทีให้กับอาสาสมัคร นั่นทำให้เด็กชายมีความหลงใหลด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นสามารถสอบเข้า Prague Conservatory จบออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ The Trap (1950), The Fabulous World of Jules Verne (1958) ฯ
รับบท Count Artigas ไม่รู้ร่ำรวยจากไหน หรือสืบเชื้อสายตระกูลใด แต่มีเป้าหมายอุดมการณ์ อยากสรรค์สร้างสุดยอดอาวุธสำหรับยึดครองโลก มอบหมายให้ Captain Spade ลักพาตัว Professor Roch ทำให้แผนการใกล้ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่เพราะถูกขัดขวางโดยผู้ช่วย Simon Hart ทุกสิ่งอย่างคงอยู่ภายในกำมือ
ผมชอบความอาวุโส ภูมิฐานของ Holub ทั้งกิริยาท่าทาง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แลดูเหมือนผู้ดีมีสกุล ขณะออกคำสั่ง ฟังแล้วมีน้ำหนัก น้ำเสียงมุ่งมั่น เอาจริงจัง ไม่ใช่แค่อุดมคติเพ้อฝันลมๆแล้งๆ แต่เสียอย่างเดียวคือมาดไม่ค่อยเหมือนผู้ร้าย ดูไม่อันตราย สัมผัสความโฉดชั่วร้ายไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ … กล่าวคือขาด Charisma ที่ทำให้ตัวละครกลายเป็นบุคคลโฉดชั่วร้าย
ถ่ายภาพโดย Jiří Tarantík, Bohuslav Pikhart, Antonín Horák
ในหนังสือของ Jules Verne เต็มไปด้วยรูปภาพที่มีลักษณะเหมือนภาพแกะสลักเส้น (Line Engravings) ซึ่งช่วยเสริมสร้างจินตนาการกับผู้อ่านเตลิดเปิดเปิงไปไกล นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผกก. Zeman เลือกสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ‘visual style’ เต็มไปด้วยลวดลายเส้นตรง ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายพื้นหลัง แต่ยังเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ฯ รับอิทธิพลจากผลงานของศิลปิน Édouard Riou, Léon Benett ฯ
The magic of Verne’s novels lies in what we would call the world of the romantically fantastic adventure spirit; a world directly associated with the totally specific which the original illustrators knew how to evoke in the mind of the reader … I came to the conclusion that my Verne film must come not only from the spirit of the literary work, but also from the characteristic style of the original illustrations and must maintain at least the impression of engravings.
Karel Zeman
As a child, I remember I had all the books with those beautiful engravings. I really can’t visualize the story any other way. And my father felt, because he adored Verne, he believed it can only be a good telling if he used the same techniques.
Ludmila Zeman บุตรสาวของผกก. Karel Zeman
ด้วยความที่แต่ละช็อตของหนังเต็มไปด้วยรายละเอียด ผสมผสานระหว่างนักแสดง (Live Action) อนิเมชั่นเคลื่อนไหว (Traditional, Cut-Out, Stop-Motion) รวมถึงเทคนิคภาพยนตร์ (Miniature, Double Exposure, Matte Painting) เพื่อทำให้ ‘visual style’ มีลักษณะเหมือนภาพแกะสลักเส้น ผกก. Zeman เลยไม่มีความเร่งรีบร้อนในการตัดต่อ/ดำเนินเรื่องราว แช่ภาพค้างไว้หลายวินาที (กล้องมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหวด้วยนะ) เพื่อให้ผู้ชมสามารถชื่นชมความงดงาม เพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้ม … แต่พอเริ่มชินชา ก็ไม่ค่อยรู้สึกว่ามันมีอะไรน่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่



ถ้าเป็นช็อตถ่ายภาพระยะไกล (Extreme-Long Shot) มองเห็นใบหน้าไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ ถ้าพบเห็นการขยับเคลื่อนไหวมักไม่ใช่ซ้อนภาพนักแสดง (Live-Action) แต่อาจจะเป็น Cut-Out Animation โมเดลทำจากกระดาษแข็ง ต้องสังเกตสักหน่อยถึงพบเห็นท่าทางทึ่มๆทื่อๆ ดูไม่ค่อยเหมือนสิ่งมีชีวิตสักเท่าไหร่ (ไม่ใช่แค่มนุษย์นะครับ แต่ยังฝูงนก และสรรพสัตว์อื่นๆ)
แซว: ภาพปืนใหญ่บนเรือรบ ชวนให้นึกถึงโคตรหนังเงียบ Battleship Potemkin (1925) แสดงถึงแสนยานุภาพ อวดอ้างขนาดเจ้าโลก (ปีนใหญ่สำหรับปลดปล่อยสุดยอดอาวุธ ก็มีหน้าตาละม้ายๆคล้ายคลึงกัน)


หนังสือหลายๆเล่มของ Jules Verne รวมถึง Facing the Flag (1896) ใช้บริการภาพวาดของ Léon Benett (1839-1916) จิตรกรชาวฝรั่งเศส (เฉพาะซีรีย์ Voyages Extraordinaires มีผลงานถึง 25 เล่ม!) ซึ่งก็มีหลายๆรายละเอียดที่หนังให้การเคารพคารวะต้นฉบับ ยกตัวอย่าง Back-Cup Island เกาะลึกลับ/ฐานที่มั่นของ Count Artigas มีรูปทรงคล้ายถ้วยกาแฟ อดีตเคยเป็นภูเขาไฟแต่ได้มอดดับลงแล้ว ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า (แต่หนังจะไม่มีการพูดถึงตำแหน่งที่ตั้งดังกล่าว)


หลายคนอาจตื่นตาตื่นใจกับสิ่งประดิษฐ์ Steampunk (ตอนหนังเพิ่งเข้าฉาย น่าจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ผู้ชมสมัยนั้นได้เลยนะ!) แต่ช็อตที่สร้างความอึ้งทึ่ง ฉงนสงสัยให้ผมมากที่สุดคือซีเควนซ์ใต้น้ำ เพราะรับรู้ว่ายุคสมัยนั้นไม่มีทางจะลงไปถ่ายทำใต้ทะเลอยู่แล้ว ผู้สร้างใช้วิธีการไหนกัน??? เฉลยซ่อนอยู่ในคลิปด้านล่าง ทำผมอยากเอาตีนก่ายหน้าผาก (facepalm) หลงโง่อยู่นาน
เกร็ด: Invention for Destruction (1958) อาจถือเป็นภาพยนตร์แนว Steampunk เรื่องแรกๆของโลกที่มาก่อนกาล! นั่นเพราะคำศัพท์ Steampunk เพิ่งได้รับการบัญญัติโดย K.W. Jeter จากจดหมายเขียนส่งให้นิตยสาร Locus: The Magazine of The Science Fiction & Fantasy Field ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 1987
Dear Locus,
Enclosed is a copy of my 1979 novel Morlock Night; I’d appreciate your being so good as to route it to Faren Miller, as it’s a prime piece of evidence in the great debate as to who in “the Powers/Blaylock/Jeter fantasy triumvirate” was writing in the “gonzo-historical manner” first. Though of course, I did find her review in the March Locus to be quite flattering.
Personally, I think Victorian fantasies are going to be the next big thing, as long as we can come up with a fitting collective term for Powers, Blaylock and myself. Something based on the appropriate technology of the era; like “steam-punks,” perhaps….
K.W. Jeter
เกร็ด2: Steampunk คือประเภทย่อย (Subgenre) ของ Science Fiction มักมีเรื่องราวในช่วงศตวรรษที่ 19 (Victorian) ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เครื่องจักรไอน้ำ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง สภาพสังคมเสื่อมโทรมทราม นักเขียนสมัยนั้นอย่าง H.G. Wells, Jules Verne ฯ จึงจินตนาการโลกอนาคตด้วยการต่อยอดจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ แต่ปัจจุบันอย่างที่เรารู้ๆกันอยู่ว่าโลกไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางนั้น (เปลี่ยนจากระบบไอน้ำและถ่านหิน ถูกแทนที่ด้วยไฟฟ้า น้ำมัน) คำนิยามใหม่ของ Steampunk จึงกลายเป็นอนาคตในอดีต (RetroFuturistic) ประวัติศาสตร์คู่ขนาน (Alternative History)


สุดยอดอาวุธอาจมีแสนยานุภาพมหาศาล แต่สิ่งมีชีวิตน่าสะพรึงกลัวที่สุดในท้องทะเลคือปลาหมึกยักษ์จากใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (Twenty Thousand Leagues Under the Seas) ตอนรับชมผมไม่ทันสังเกตหรอกนะ แต่พอแคปรูปภาพนี้ถึงพบเห็นเส้นลวดบริเวณหนวดอย่างชัดเจน นี่ไม่ใช่การเชิดชักหุ่น (เพราะเจ้าปลาหมึกเคลื่อนไหวอย่างตะกุกตะกัก ดูไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย) แต่เป็นการยึดรูปทรงสำหรับทำ Stop-Motion Animation (น่าจะมนุษย์ในชุดดำน้ำด้วยนะ)
แซว: ในหนังสือของ Jules Verne เขียนบรรยายไว้ว่าปลาหมึกยักษ์มีขนาดลำตัว 200 ฟุต (60.96 เมตร) และสามารถยืดยาวถึง 300 ฟุต (91.44 เมตร) เจ้าตัวที่พบเห็นในหนังน่าจะรุ่นลูก-หลาน-เหลน ตัวกระเปี๊ยกเดียวเอง!

ผมไม่ค่อยอยากสปอยลูกเล่น มายากล เทคนิคภาพยนตร์ที่ผกก. Zeman ใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้นัก แต่ถ้าใครสามารถหาซื้อแผ่นของ Criterion Collection (หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel) มันจะมีเบื้องหลังสารคดี Karel Zeman’s Special Effects Techniques ให้รับชมงานสร้างที่น่ามหัศจรรย์ใจอย่างมากๆ
ปล. ผมบังเอิญพบเจอคลิปนี้ใน Youtube มีโอกาสรีบดูเสียก่อนโดนลบนะครับ
ตัดต่อโดย Zdeněk Stehlík,
ดำเนินเรื่องโดยใช้การผจญภัย มุมมองสายตาของ Simon Hart วิศวกรหนุ่ม ผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Professor Roch เริ่มจากเดินทางข้ามน้ำข้ามมหาสมุทร (มาเยี่ยมเยือน Prof. Roch ในสถานพยาบาล) แล้วถูกลักพาตัวโดย Captain Spade กักขังอยู่ในเรือดำน้ำ มาถึงยังเกาะ Back-Cup Island พยายามหาหนทางหลบหนี ส่งข่าวสารสู่โลกภายนอก เปิดโปงแผนการชั่วร้ายของ Count Artigas
- อารัมบท, การเดินทางของ Simon Hart ลงเรือข้ามมหาสมุทร Atlantic ต่อด้วยโดยสารขบวนรถไฟ และนั่งรถมาจนถึงสถานพยาบาลแห่งหนึ่งเพื่อพบเจอกับ Prof. Roch
- ค่ำคืนนั้นถูกลักพาตัวโดย Captain Spade ถูกกักขังอยู่ในเรือดำน้ำ แต่ Prof. Roch กลับได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก Count Artigas
- เดินทางมาถึงเกาะ Back-Cup Island ปรากฎว่า Simon ได้รับการปฏิบัติแตกต่างตรงกันข้ามกับ Prof. Roch
- ระหว่างที่ Prof. Roch ครุ่นคิดวิจัยสุดยอดอาวุธ, Simon พยายามหาหนทางหลบหนี ส่งข่าวสารสู่โลกภายนอก หวังจะเปิดโปงแผนการชั่วร้ายของ Count Artigas
- Simon แสร้งทำเป็นศิโรราบต่อ Count Artigas แล้วใช้โอกาสนี้หาหนทางหลบหนี
- Prof. Roch สามารถประดิษฐ์สุดยอดอาวุธได้สำเร็จ พร้อมๆกับกองทัพกำลังห้อมล้อมรอบเกาะ Back-Cup Island นั่นทำให้ Count Artigas พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ ประกาศให้โลกได้รับรู้
การดำเนินเรื่องของ Invention for Destruction (1958) ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน แต่สำหรับคนที่เคยอ่าน Voyages Extraordinaires ย่อมรับรู้ถึงการผสมผสานหลากหลายเรื่องราว (จากหนังสือหลายๆเล่ม) โดยมี Facing the Flag (1896) ถือเป็นแกนกลาง โครงสร้างหลักของหนัง แปะติดปะต่อเหตุการณ์อื่นๆคลุกเคล้าเข้ากันอย่างกลมกล่อม … แค่ว่าการดำเนินเรื่องมีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้าเกินไปหน่อย
เพลงประกอบโดย Zdeněk Liška (1922-83) สัญชาติ Czech เกิดที่ Smečno, Bohemia ทั้งปูและบิดาต่างเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ทำให้วัยเด็กมีโอกาสฝึกฝนไวโอลิน แอคคอร์เดียน แต่งเพลงแรกสมัยเรียนมัธยม จากนั้นเข้าศึกษาต่อ Prague Conservatory ทำงานเป็นวาทยากร ครูสอนดนตรี ก่อนเข้าร่วม Zlín Film Studios กลายเป็นขาประจำผู้กำกับอนิเมชั่น Jan Švankmajer, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Fabulous Baron Munchausen (1962), The Shop on Main Street (1965), Marketa Lazarová (1967), The Valley of the Bees (1968), The Cremator (1969), Fruit of Paradise (1970), Shadows of a Hot Summer (1977) ฯ
งานเพลงของ Liška เน้นสร้างบรรยากาศตื่นเต้น เน้นผจญภัย พานผ่านเหตุการณ์ดีๆร้ายๆ สนุกสนาน-เฉียดเป็นเฉียดตาย เลือกใช้เครื่องดนตรี Harpsichord ประกอบเข้ากับ Chamber Ensemble (ร่วมกับเครื่องสายและเครื่องเป่าลมไม้) บรรเลงท่วงทำนองติดหู แถมยังพยายามสร้างจังหวะให้สอดคล้องภาพพบเห็น และสรรพเสียงควรได้ยินขณะนั้นๆ … ถือเป็นอีกผลงานเพลงขึ้นหิ้งของ Liška ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
เอาจริงๆแล้วเครื่องดนตรี Harpsichord ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับยุคสมัย Victorian (นี่เป็นเครื่องดนตรีจากยุคบาโรก ค.ศ. 1600-1750) แต่เสียงแหลมๆ เสียดแทงแก้วหู ไม่รู้ทำไมมันช่างสอดคล้องเข้ากับ ‘visual style’ ของภาพแกะสลักเส้น และยังกลมกล่อมกับเรื่องราวผจญภัยที่มีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง ยียวนกวนบาทาอยู่เล็กๆ
ยังมีอีกบทเพลงไฮไลท์ที่ทรงพลังอย่างมากๆ น่าเสียดายหาคลิปให้รับฟังเต็มๆไม่ได้ (หรือใครจะลองสังเกตจากตัวอย่างหนัง บทเพลงนี้ดังขึ้นขณะนำเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์) ทำการไล่ระดับเครื่องสาย ค่อยๆไต่ขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด ก่อนปะทุระเบิดออกอย่างคลุ้มคลั่ง อารมณ์ผู้ฟังก็เฉกเช่นเดียวกัน … ดังขึ้นช่วงท้ายระหว่างที่ Professor Roch ตัดสินใจจะทำบางสิ่งอย่างกับสุดยอดอาวุธ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือบุคคลชั่วร้าย นั่นถือเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกขัดย้อนแย้งในตนเองอย่างรุนแรง (เพราะเขาเป็นทั้งผู้ประดิษฐ์คิดค้น และกำลังจะลงมือทำลายล้าง)
Invention for Destruction (1958) นำเสนอการผจญภัยที่อ้างอิงโลกสุดมหัศจรรย์ของ Jules Verne พบเห็นสิ่งประดิษฐ์ล้ำอนาคต (Steampunk) ที่ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงพยากรณ์หายนะจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่อาจบังเกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมละโมบโลภมาก ไร้จิตสามัญสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสาธารณชน
He always warned that even if the future is technologically perfect with all these mod cons, it needs love, it needs poetry, it needs magic. He believed only these can make people feel happy and loved.
Ludmila Zeman กล่าวถึงความตั้งใจของบิดา Karel Zeman
แง่มุมนักวิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์คิดค้นสุดยอดอาวุธ (เปรียบเทียบตรงๆถึงระเบิดนิวเคลียร์) นำไปสู่การค้นพบแหล่งพลังงานมหาศาล สิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับต่อยอดเทคโนโลยี สร้างคุณประโยชน์แก่สังคม และการดำรงชีวิต, แต่ขณะเดียวกันถ้าสุดยอดอาวุธ/พลังงานมหาศาลนั้น ตกอยู่ในเงื้อมมือบุคคลโฉดชั่วร้าย วางแผนนำไปใช้ข่มขู่ แบล็กเมล์ สร้างความเสียหาย ก่อการร้าย เพื่อให้ได้มาซื่งผลประโยชน์ เงินๆทองๆ อำนาจบารมี เกียรติยศศักดิ์ศรี นั่นย่อมนำพาโลกใบนี้มุ่งสู่หายนะ ภัยพิบัติ เลวร้ายอาจถึงจุดจบมนุษยชาติ
เทคโนโลยีคือเหรียญสองด้าน มีทั้งคุณประโยชน์และโทษทัณฑ์ ขึ้นอยู่กับจิตสามัญสำนึกผู้ใช้งาน จะมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมากน้อยเพียงไหน เลือกปล่อยตัวปล่อยใจ หรือบังเกิดสติหยุดยับยั้งชั่งใจ … ลองนึกถึงประโยชน์และโทษของพลังงานนิวเคลียร์ดูนะครับ
- ประโยชน์: สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า, รังสีไอโซโทปใช้ในการแพทย์ ตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษาโรค เอ็กซ์เรย์กระดูก, ตรวจสอบโครงสร้างภายในวัสดุ, ฉายรังสีอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ปลอดเชื้อโรค ฯลฯ
- โทษ: มีความเสี่ยงสูง ปนเปื้อนธรรมชาติ ทำลายสภาพแวดล้อม (ย่อยสลายยาก นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้) สร้างความเสียหายต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต ได้รับมากเกินไปก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต
พลังงานนิวเคลียร์แม้มีความเสี่ยงสูง แต่ก็สร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากมายมหาศาล “High Risk High Return” คนส่วนใหญ่มักใช้ความรู้สึกในการตัดสิน เห็นชอบ-ไม่เห็นด้วย คุ้มค่า-ไม่สมราคาเสี่ยง แสดงอาการหวาดกลัวโน่นนี่นั่น (มันเพราะหายนะสงครามโลกครั้งที่สองล้วนๆ ยังคงแผ่รังสีความหวาดกลัวตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน) แต่จริงๆเราควรใช้เหตุผล มองความจำเป็น และสิ่งที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า
ผกก. Zeman ไม่ได้มีความสนใจการเมืองวุ่นๆวายๆของ Czechoslovakia หรือบรรยากาศสงครามเย็นในช่วงทศวรรษ 60s แต่เรื่องราวกล่าวถึงสุดยอดอาวุธ ผู้ชมย่อมเชื่อมโยงกับระเบิดนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพทำลายล้างมหาศาล และยิ่งในมุมมองประเทศฟากฝั่ง Eastern Bloc จักพบเห็นลักษณะ ‘ชวนเชื่อ’ ต่อต้านสหรัฐอเมริกา (ที่เป็นเจ้าของระเบิดปรมาณู)
ตอนจบของหนังเมื่อ Prof. Roch ตระหนักว่าสุดยอดอาวุธอาจนำพาซึ่งหายนะ ตัดสินใจปล่อยทิ้งลูกระเบิด กลายเป็นผู้สร้าง-ทำลายล้าง ยินยอมพลีชีพเพื่อปกป้องมนุษย์ชาติ … นี่ไม่ใช่กงเกวียนกรรมเกวียน แต่คือวิถีของสรรพสิ่ง ราคาของความละโมบโลภมาก ย่อมหวนกลับมาทำลายล้างตนเอง
หลังรอบปฐมทัศน์ใน Czechoslovakia มีโอกาสเข้าฉายยัง Expo 58 ณ Brussels หลังจากคว้ารางวัล Grand Prix เดินทางไป 72 ประเทศทั่วโลก! น่าเสียดายยุคสมัยนั้นยังไม่มีเก็บบันทึกตัวเลขรายรับ แต่เมื่อปี ค.ศ. 2010 กระทรวงการต่างประเทศของ Czech Republic ประมาณการว่า Invention for Destruction (1958) อาจคือภาพยนตร์ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ Czech Cinema
ฉบับเข้าฉายสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1961 จัดจำหน่ายโดยสตูดิโอ Warner Bros. มีการพากย์อังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็น The Fabulous World of Jules Verne ฉายควบ (Double Bill) ร่วมกับ Bimbo the Great (1958) แถมยังทำการปรับเปลี่ยนชื่อทีมงาน/นักแสดงเสียใหม่ [น่าจะเพราะอิทธิพลจากสงครามเย็น ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเข้าจากประเทศฟากฝั่ง Eastern Bloc] ผลลัพท์แม้ได้เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม แต่กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
[The Fabulous World of Jules Verne]’s wonderful giddy science fantasy [which] sustains the Victorian tone, with its delight in the magic of science, that makes Verne seem so playfully archaic. … there are more stripes, more patterns on the clothing, the decor, and on the image itself than a sane person can easily imagine.
Pauline Kael
ปัจจุบัน Invention for Destruction (1958) ได้รับการบูรณะ คุณภาพ 4K โดย Nadace české bijáky (Czech Film Foundation) ร่วมกับ Karel Zeman Museum และ Czech Television พร้อมๆกับ Journey to the Beginning of Time (1955) และ The Fabulous Baron Munchausen (1962) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 รวบรวมอยู่ในบ็อกเซ็ต Three Fantastic Journeys by Karel Zeman ของค่าย Criterion Collection
ตอนแรกผมเห็นบ็อกเซ็ต Three Fantastic Journeys by Karel Zeman ก็ตั้งใจว่าจะเขียนถึงทั้งสามเรื่อง แต่ด้วยความขี้เกียจ และรู้สึกว่าเวลากระชั้นชิดไปหน่อย เลยตัดสินใจเลือกมาแค่ Invention for Destruction (1958) และ The Fabulous Baron Munchausen (1962) สำหรับปิดท้าย Czech Animation
ถึงเรื่องราวจะคาดเดาง่าย ดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย แต่ผมก็มีความเพลิดเพลินกับ ‘visual style’ งานภาพสวยๆ ตื่นตระการตา ชื่นชมในวิสัยทัศน์ผกก. Karel Zeman สร้างความมหัศจรรย์ให้กับโลกของ Jules Verne และเพลงประกอบ Zdeněk Liška เป็นอีกครั้งสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมเลือน!
ใครชื่นชอบนวนิยายไซไฟ ผจญภัย ในโลกสุดมหัศจรรย์ของ Jules Verne แนะนำให้ลองหาผลงานของผกก. Zeman มาลองรับชมดูนะครับ แล้วคุณอาจได้เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ ไม่เคยพบเห็นเรื่องไหนตระการตาขนาดนี้แน่ๆ
จัดเรต PG โจรสลัด ปล้น-ฆ่า ลักพาตัว
Leave a Reply