Waking Life (2001) : Richard Linklater ♥♥♥♡
จากการถ่ายทำ Live-Action นำมาวาดภาพ Animation ที่อาจดูปวดเศียรเวียนเกล้า แต่ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม สนทนาอภิปรัชญา ทุกวันนี้เรากำลังหลับหรือตื่น มีชีวิตหรือจมอยู่ความฝัน อะไรคืออิสรภาพ-โชคชะตากรรม ทำอย่างไรถึงสามารถดิ้นหลุดพ้นจากวัฎฎะสังสาร แล้วมนุษย์เกิดมาทำไมกัน?
ชายนิรนามคนหนึ่ง หลังตระหนักว่าตนเองจมปลักอยู่ในความฝัน พยายามหาหนทางปลุกตื่น หวนกลับสู่โลกความเป็นจริง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ยังคงไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น ฝันซ้อนฝันซ้อนฝัน ไม่มีวันจบสิ้น! สุดท้ายก็ได้แต่ปล่อยตัวกายใจ ให้ล่องลอยไปในวัฎฎะสังสาร … ชั่วนิรันดร์
อย่าไปคาดหวังว่าคุณจะได้รับคำตอบใดๆจากการรับชมหนังนะครับ เพราะคำถามอภิปรัชญาในมุมมองชาวตะวันตก มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง สามารถพิสูจน์บ่งชี้ชัด แต่แนวคิดบางอย่างอาจเป็นประโยชน์สำหรับใครบางคน ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถอดรนทนอนิเมชั่นเรื่องนี้ดูจนจบได้
แต่บอกตามตรง ผมไม่ชอบหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะคนศึกษาพุทธศาสนา จะไม่เสียเวลาสนทนาคำถามที่ไม่มีคำตอบเหล่านั้น เพราะมันไม่ได้มีสาระประโยชน์อันใดต่อชีวิต ถกเถียงไปก็ไม่มีวันชนะ แล้วจะหมกหมุ่นครุ่นคิดมากอยู่ทำไม?
ถึงอย่างนั้นในแง่ความคิดสร้างสรรค์ การนำเสนอด้วย Live-Action แปลงเป็น Animation มีความน่าหลงใหลมากๆ มันอาจชวนคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ แต่เมื่อสายตาเริ่มปรับตัวก็จะคุ้นชิน และถ้าคุณสามารถครุ่นคิดได้ถึงเหตุผล ทำไมหนังถึงใช้วิธีการเช่นนี้ ก็อาจตระหนักว่านี่คือผลงานศิลปะที่มีความงดงาม วิจิตรศิลป์ ครั้งแรกครั้งเดียว และคงไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบ
Richard Stuart Linklater (เกิดปี 1960) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Houston, Texas ช่วงวัยเด็กชื่นชอบเล่นฟุตบอล เบสบอล ขณะเดียวกันก็มีความสามารถด้านการเขียน เคยคว้ารางวัล Scholastic Art and Writing Award, ช่วงระหว่างทำงานยังแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ Gulf of Mexico เก็บเงินซื้อกล้อง Super-8 ก่อนย้ายมา Austin, Texas เข้าเรียนภาพยนตร์ Austin Community College จากนั้นร่วมก่อตั้ง Austin Film Society เมื่อปี 1985 ร่วมกับเพื่อนสนิท Lee Daniel สรรค์สร้างหนังสั้น Woodshock (1985) และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก It’s Impossible to Learn to Plow by Reading Books (1988)
จุดเริ่มต้นของ Waking Life มาจากแนวคิดการตระหนักรู้(ตัว)ในความฝัน อาจเป็นประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นวัยเด็กของ Linklater แล้วตราประทับฝังอยู่ในความทรงจำ พอเติบโตมาเป็นผู้กำกับก็เริ่มพยายามมองหาวิธีการนำเสนอเรื่องราวดังกล่าว แต่ก็ตระหนักว่าภาพยนตร์คนแสดง (Live-Action) ไม่ใช่ไดเรคชั่นที่เหมาะสม(กับแนวคิดนี้)สักเท่าไหร่
I conceived of it so long ago that it became a part of me before I was even interested in film, probably 20 years ago. It was just one of those ideas that was swimming around in my head.
Live-action wouldn’t have worked at all. Because in my mind…the film I was making in my mind didn’t quite work. The animation, at least this particular method of animation, puts you at some other level of reality. The film takes you into the necessary unreality. Otherwise, the bluntness of that material wouldn’t have been acceptable.
Richard Linklater
จนกระทั่งมีโอกาสพบเห็นผลงานอนิเมชั่นขนาดสั้นของ Bob Sabiston อดีตนักวิจัยจาก MIT ผู้พัฒนาโปรแกรม Rotoshop (ใช้แนวคิดเดียวกับเครื่อง Rotoscope แต่เปลี่ยนมาทำบนคอมพิวเตอร์) เลยเริ่มครุ่นคิดว่านี่อาจเป็นวิธีการนำเสนอที่เหมาะสมกับเรื่องราวที่ครุ่นคิดมานี้ก็เป็นได้
เกร็ด: Rotoshop เป็นโปรแกรมสำหรับทำอนิเมชั่น ด้วยวิธีการนำเข้าภาพถ่าย/คลิปวีดีโอ แล้วศิลปินวาดเส้น ใส่ลวดลาย ลงสีสัน เลียนแบบการขยับเคลื่อนไหว (ของภาพถ่าย/คลิปวีดีโอนั้นๆ) … ผมนำหนังสั้นเรื่อง Snack and Drink (1999) ที่ Bob Sabiston ร่วมงานกับ Tommy Pallotta ความยาว 3 นาที ใช้เวลาสรรค์สร้าง 4 สัปดาห์ และยังเป็นการทดลองเล่นสีครั้งแรกในโปรแกรม Rotoshop
แม้ว่า Waking Life (2001) จะคือภาพยนตร์อนิเมชั่น แต่กระบวนการทำงานของ Linklater กลับไม่แตกต่างจากผลงานเก่าก่อน เริ่มจากพัฒนาบทอย่างหลวมๆ มีรายละเอียดเฉพาะโครงสร้าง บทพูดสำคัญๆ แล้วพยายามคัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสมกับบทบาท ให้อิสรภาพพวกเขาในการครุ่นคิดสร้างสรรค์ ‘Improvised’ ทั้งคำพูด ท่าทาง การแสดงออก ใช้เวลาถ่ายทำ 3 สัปดาห์, ตัดต่ออีก 3 อาทิตย์ (ด้วยโปรแกรม Final Cut Pro) จากนั้นส่งมอบให้ทีมอนิเมชั่นใช้เวลาถึง 15 เดือน กว่าจะเสร็จสิ้น!
หัวข้อของหนัง คือการสนทนาอภิปรัชญา ตั้งคำถามถึงชีวิต-ความฝัน (reality, dreams, lucid dream), อะไรคือสติ (consciousness), ความหมายชีวิต (meaning of life), คนเรามีอิสรภาพการครุ่นคิด-พูด-แสดงออกหรือไม่ (free will) และเหตุผลของการมีตัวตน (existentialism) มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร? ตายแล้วไปไหน? จุดเริ่มต้น-สิ้นสุด ชีวิตหลังความตายมีลักษณะเช่นไร?
หลายคนอาจตระหนักได้ว่า ทิศทางดำเนินเรื่องหนังมีความละม้ายคล้าย Slacker (1990) คือการสนทนากับผู้คนมากหน้าหลายตา เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆแทบไม่ซ้ำหน้า แต่ความแตกต่างคือ Waking Life (2001) จะมีเส้นเรื่องราวหลัก นั่นคือชายนิรนามที่จมปลักอยู่ในความฝัน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขาก็เริ่มตระหนักได้ พยายามดิ้นรน มองหาหนทางออก ต้องการปลุกตื่น ฟื้นคืนชีพขึ้นมา จนแล้วจนรอดกลับไม่สำเร็จสักครา
ชายนิรนาม รับบทโดย Wiley Wiggins (เกิดปี 1976) ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Linklater เรื่อง Dazed and Confused (1993) จากเฟรชชี่หน้าใส ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ยังคงภาพลักษณ์ของชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ขี้ฉงนสงสัย ช่วงแรกๆไม่ได้มีบทพูดอะไรมาก (รับฟังผู้อื่นเสียเป็นส่วนใหญ่) จนกระทั่งเมื่อเริ่มตระหนักว่าตนเองยังคงอยู่ในความฝัน จึงต้องการฟื้นตื่น หาหนทางหลบหนี แต่ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้
สำหรับทีมนักแสดงจำนวนมากมาย (Ensemble Cast) มีทั้งคนรู้จัก เพื่อนของเพื่อน นักแสดงเคยร่วมงาน นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ ขอทานข้างถนนก็ยังมี! ที่หลายคนอาจรู้สึกมักคุ้นหน้า อาทิ
- Ethan Hawke กับ Julie Delpy ในอพาร์ทเม้นท์/ห้องนอนของพวกเขา โดยไม่รู้ตัวหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นระหว่าง Before Sunrise (1995) และ Before Sunset (2004) เราจึงสามารถมโนว่า นี่คือช่วงเวลาระหว่างหนังทั้งสองเรื่อง
- Steven Soderbergh เล่าเรื่องราวการสนทนาระหว่างสองผู้กำกับ Louis Malle และ Billy Wilder (ที่กล่าวถึงหนังเรื่อง Black Moon (1975))
- ชายในรถที่ตะโกนป่าวประกาศแนวคิดของตนเองคือ Alex Jones ผู้จัดรายการโทรทัศน์/วิทยุ โด่งดังอยู่ที่ Austin, Texas
- เรื่องเล่าที่บาร์ของ Steven Prince (เกี่ยวกับโจรวิ่งเข้ามาแล้วถูกเขายิง) ก่อนหน้านี้เคยเล่าเรื่องราวเดียวกันในสารคดี American Boy: A Profile of – Steven Prince (1978) กำกับโดย Martin Scorsese
- Richard Linklater เล่นตู้พินบอล เดียวกับที่ตัวละคร Kevin Pickford เคยเล่นใน Emporum เรื่อง Dazed and Confused (1993)
ในการถ่ายทำ Live Action ไม่ได้ต้องสิ้นเปลืองหรือลงแรงอะไรมากมาย ผู้กำกับ Linklater ร่วมกับ Tommy Pallotta ใช้เพียงกล้องดิจิตอลถือคนละตัว Sony DCR-PC1 และ DCR-TRV900 ราคาไม่กี่หมื่น แถมไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดแสง (ค่อยไปว่ากันตอนทำอนิเมชั่น) ส่วนสถานที่ก็มีทั้ง Austin, New York และ San Antonio ไม่ได้เจาะจงว่าพื้นหลังคือเมืองแห่งหนใด (เพราะเรื่องราวดำเนินในความฝันทั้งหมด)
ส่วนของอนิเมชั่น มีการว่าจ้างศิลปินกว่า 30+ คน แบ่งงานคนละ 1-2 เรื่องราว (ความแตกต่างของลายเส้น จะสร้างสัมผัส/สะท้อนมุมมองที่แตกต่างออกไปในแต่ละเรื่องราว) ถึงอย่างนั้นการทำงานกลับเชื่องช้า ใช้เวลาและความอดทนอย่างมากๆ เพราะต้องวาดเฟรมต่อเฟรม แม้ด้วยอัตราเร็วเพียง 12 fps (ภาพต่อวินาที) แต่ต้องใช้เวลา 250 ชั่วโมง เพื่อให้ 1 นาทีของหนัง! รวมระยะเวลาทำอนิเมชั่น 15 เดือน
ความพิลึกพิลั่นของอนิเมชั่น คือการทำให้ทุกๆภาพ/เฟรมต้องมีการขยับเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวละคร หลายครั้งๆยังภาพพื้นหลังที่สั่นคลอนติดตามไปด้วย (ช่วงต้นเรื่องจะมีความละลานตามากๆ แต่รับชมไปสักพักจะเริ่มมักเคยชิน พอปรับตัวได้นิดๆหน่อยๆ) ซึ่งเทคนิคดังกล่าวแฝงนัยยะถึงโลกนี้ไม่มีอะไรมั่นคงถาวร เต็มไปด้วยความจีรังไม่ยั่งยืน ทุกสิ่งอย่างล้วนผันแปรเปลี่ยน เป็นไปได้ไม่รู้จบ หรืออาจจะสื่อแทนโลกแห่งความฝัน ก็ได้เช่นกัน
ไม่ใช่ว่าศิลปินวาดภาพออกมาได้ห่วยบรรลัย แต่คือความจงใจให้ดวงตามันเคลื่อนหลุดจากใบหน้า เพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้ชม/ตัวละครมองเห็น ทั้งหมดนี้มัน(อาจ)คือภาพลวงหลอกตา ความเพ้อฝันที่บิดเบี้ยว ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน
ลวดลายเส้น การลงสีสัน ล้วนมีความแตกต่างไปตามสไตล์ศิลปินแต่ละคน หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจมากๆก็คือนักชีววิทยา/บรรพชีวินวิทยา …ใครก็ไม่รู้ละ… ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายผลงานศิลปะของ Francis Bacon ที่สะท้อนความบิดๆเบี้ยวๆภายในจิตใจมนุษย์ออกมา
การจุดไฟเผาตัวตายของชายคนหนึ่ง คงจะได้แรงบันดาลใจภาพถ่ายรางวัล Pulitzer Prize ของ Malcolm Browne, พระภิกษุนิกายมหายาน Thích Quảng Đức (1897-1963) จุดไฟเผาตนเองจนมรณภาพ กลางสี่แยกกรุงไซง่อน วันที่ 11 มิถุนายน 1963 เพื่อประท้วงรัฐบาลโรมันคาทอลิกของ Ngô Đình Diệm ที่พยายามกดขี่ข่มเหง ริดรอนสิทธิ พยายามกำจัดขับไล่พุทธศาสนาออกจากประเทศ
ในยุคสมัยนั้นการกระทำนี้ของพระ Thích Quảng Đức ถือว่าสร้างกระแสสังคม แม้แต่ปธน. John F. Kennedy ยังรู้สึกเศร้าสะเทือนหัวใจ แต่ยุคสมัยนี้ทำไปก็ไร้ค่า ไม่ได้มี ‘impact’ ใดๆต่อสาธารณะชนอีกต่อไป
หนึ่งในความคิดสร้างสรรค์ที่น่าจะเพิ่งครุ่นคิดได้ระหว่างทำอนิเมชั่น คือการนำเอาคำพูดของนักแสดงที่ฟังดูในเชิงนามธรรม หรือเปรียบเทียบถึงคน-สัตว์-สิ่งของ ตัวตลก ดวงดาว ก้อนเมฆ ฯลฯ มาวาดออกมาเป็นภาพให้เห็นเชิงรูปธรรม สร้างความเพลิดเพลิน เติมเต็มจินตนาการเพ้อฝัน
ในความฝัน เราสามารถครุ่นคิดจินตนาการ ล่องลอยไป ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่เมื่อถีงจุดๆหนี่งพอตัวละครตระหนักว่าไม่สามารถฟื้นตื่นกลับสู่โลกความจริง พยายามดิ้นรนหาหนทางก็ไม่สัมฤทธิ์ผล สุดท้ายเลยช่างแม้ง ปล่อยตัวปล่อยใจให้ปลิดปลิว ลิ่วตามสายลม ค่อยๆเคลื่อนเลือนหายไปตามกาลเวลา
แซว: Richard Linklater น่าจะเป็นโปรดปรานผลงานของ Federico Fellini ไม่น้อยเลยละ!
ตัดต่อโดย Sandra Adair (เกิดปี 1952) ขาประจำผู้กำกับ Richard Linklater ร่วมงานกันตั้งแต่ Dazed and Confused (1993) และได้เข้าชิง Oscar: Best Edited จากเรื่อง Boyhood (2014)
เรื่องราวทั้งหมดดำเนินอยู่ในความฝันของชายนิรนาม ที่มักมีโอกาสพบปะ สวนทาง พูดคุยสนทนากับใครก็ไม่รู้ จู่ๆปรากฎตัวขี้นมาแสดงทัศนะ/ความคิดเห็น บางครั้งก็ล่องลอยไปตามสถานที่อื่นๆ ไม่มีใครบอกได้ว่าเพราะอะไร (ในความฝัน อะไรก็เกิดขี้นได้ทั้งนั้น) กระทั่งเมื่อถีงจุดๆหนี่ง ตัวละครเริ่มตระหนักครุ่นคิดได้ จีงพยายามหาหนทางปลุกตื่น ฟื้นคืนชีพ แต่ทำอย่างไรก็ไม่สัมฤทธิ์ผล
การดำเนินเรื่องมีลักษณะแบ่งออกเป็นตอนๆ ร้อยเรียงหัวข้อสนทนาที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามตัวละครประสบพบเจอ แลดูคล้ายลูกปัดหลากหลายลวดลายสีสัน ปะติดปะต่อกันด้วยชายนิรนามมักคือผู้รับฟัง รับชม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยกเว้นบางครั้งที่ล่องลอยไปไหนต่อไหน (แต่อีกประเดี๋ยวเมื่อการพูดคุย/ปราศัยจบ ก็จักวกหวนกลับมา)
เนื่องจากผมไม่ค่อยได้ตั้งใจฟัง/จับใจความเรื่องราวที่ตัวละครสนทนากันสักเท่าไหร่ เลยไม่สามารถแยกแยะ/จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีเพียงหัวข้อสนทนาที่พอจับใจความได้เท่านั้น อาทิ
- เริ่มต้นด้วยการเดินทางที่ไร้เป้าหมาย แต่อย่างไรเสียเขาก็ต้องลงจอดสักแห่งหนไหน
- ลักษณะกายภาพ วิวัฒนาการของมนุษย์ อะไรคือสติ? อิสรภาพทางความคิด? เหตุผลของการมีตัวตน?
- ตั้งคำถามระหว่างชีวิต-ความฝัน และความเหลื่อมล้ำที่เลือนลาง (Lucid Dream)
- ภาพยนตร์คือสื่อที่คาบเกี่ยวระหว่างความจริง-เพ้อฝัน
- ชายนิรนามเริ่มตระหนักถีงสิ่งที่เขาประสบอยู่ เลยพยายามหาหนทางหลบหนีออกจากความฝัน
- ท้ายสุดเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ จีงปล่อยตัวกายใจให้ล่องลอยไป
เพลงประกอบโดย Glover Gill ร่วมกับ Tosca Tango Orchestra ซึ่งเป็นการรวบรวมนักดนตรีที่อาศัยอยู่ Austin, Texas และต่างมีความสนใจในเพลงคลาสสิกสไตล์ Nuevo Tango ออกอัลบัมแรกเมื่อปี 1998, โด่งดังระดับนานาชาติจากทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Waking Life (2001)
งานเพลงของหนังมอบสัมผัสที่ดูลึกลับซับซ้อน เหมือนใครสักคนซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่าง กลายเป็นปริศนาชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดไขกระจ่าง แต่กลับนำทางสู่ความสับสนงุนงง เขาวงกตไร้ซึ่งหนทางออก เพราะคำตอบนั้นไม่มีอยู่จริง
การที่หนังบันทึกภาพการซักซ้อมของ Tosca Tango Orchestra แทรกใส่มาแทน Opening Credit (ที่ก็ขึ้นเครดิตเพียงชื่อเรื่อง และสตูดิโอผู้สร้าง) สามารถสื่อถึงการ ‘out of sync’ แบบเดียวกับงานภาพที่ขยับเคลื่อนไหวไปมาอยู่ตลอดเวลา ดนตรีก็เหมือนชีวิตที่สามารถผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามอารมณ์ผู้เล่น
I was just always one of those guys who asked those fundamental questions: “Who am I? What’s this for? Why? What does this mean? Is this real?” All these pretty basic questions. I like making movies about people who are self-conscious in that way, and are trying to feel their way through the world.
Richard Linklater
Waking Life เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยคำถามอภิปรัชญา ฉันคือใคร? มาจากไหน? เกิดมาเพื่ออะไร? ตายแล้วไปไหน? ทั้งหมดล้วนคือปริศนาไร้คำตอบ แต่ในมุมมองชาวตะวันตก การได้ครุ่นคิด โต้ถกเถียง แสดงความเห็น จักสามารถเปิดโลกทัศน์ ความเข้าใจอะไรใหม่ๆ หรืออาจถึงขั้นเปลี่ยนแปลงชีวิต (ถ้าเฉลียวฉลาดพอเข้าใจ)
โดยหัวข้อหลักของหนังคือการตั้งคำถามถึง โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน สองสิ่งขั้วตรงข้ามที่บางครั้งก็เลือนลางเข้าหากัน (Lucid Dream) เหตุการณ์ประสบพบเจอ(ในโลกความจริง)ก่อให้เกิดภาพจำปรากฎในจินตนาการ vice versa ความฝันก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆบนโลกความจริง
ภาพยนตร์ คือสื่อที่นำเสนอความเพ้อฝัน(ของผู้สรรค์สร้าง) แต่ขณะเดียวกันมันก็ถูกสร้างขี้นจากสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกความจริง (ผู้กำกับเปรียบได้กับพระเจ้าผู้สร้าง) เรียกได้ว่าทั้งสองสิ่งเลือนลางเข้าหากัน … Waking Life (2001) ก็เฉกเช่นกัน ถ่ายทำด้วยนักแสดง Live-Action แล้วถูกนำมาวาดภาพระบายสีให้กลายเป็น Animation สองสิ่งเลือนลางเข้าหากัน
ในมุมของผู้กำกับ Linklater นำเสนอตอนจบที่ตัวละครไม่สามารถฟื้นตื่นขี้นจากฝัน นั่นอาจสะท้อนทัศนคติของเขาต่อโลกปัจจุบัน(นั้น)ที่เราเริ่มไม่สามารถแบ่งแยกแยะ อะไรคือความจริง? อะไรคือสิ่งเพ้อฝัน? ยิ่งอาชีพ(กำกับ)ภาพยนตร์ มันมีความเลือนลางเสียจนแทบจะถือว่าคือสิ่งๆเดียวกัน แต่ถีงอย่างนั้นไม่ว่าจะตื่นหรือหลับ ขอแค่เราสามารถล่องลอยไปในทิศทางแห่งอิสรภาพ ไม่ถูกควบคุมครอบงำ ใครบางคนฉุดเหนี่ยวรั้งให้ตกลงมา (แบบ 8½ (1963)) แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับชีวิต กระมัง!
โลกความจริงไม่แตกต่างจากความเพ้อฝัน (ในหนัง) แม้เรามิอาจฝืนกฎธรรมชาติ (ให้ล่องลอยโบยบินเหมือนฝัน) แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏฏะสังสาร จนกว่าจะปลุกตื่น บรรลุหลุดพ้น ถีงสามารถออกจากดินแดนแห่ง(ความฝัน)นี้ไปได้
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนัง Sundance Film Festival ได้เสียงตอบรับดีล้นหลามจากนักวิจารณ์ ‘universal acclaim’ โดยเฉพาะ Roger Ebert ให้คะแนนเต็ม 4/4 (แถมยังจัดให้เป็น Great Movie) แต่ผู้ชมกลับค่อนข้างเสียงแตกเพราะดูยาก ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถครุ่นคิดตาม หรือสนใจเรื่องราวลักษณะนี้
ด้วยทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $2.9 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $3.7 ล้านเหรียญ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หนัง/อนิเมชั่นลักษณะนี้จะสามารถทำเงิน ต่อให้รวมยอดขาย DVD/Blu-Ray ก็ไม่น่าจะได้กำไรสักเท่าไหร่
อย่างที่บอกไปว่า ส่วนตัวไม่ค่อยชอบเนื้อหาสาระของหนังสักเท่าไหร่ การสนทนาอภิปรัชญามันอาจเป็นประโยชน์ต่อใครบางคน เปิดมุมมอง โลกทัศน์ ความเข้าใจอะไรใหม่ๆ แต่สำหรับผมแม้งโคตรเสียเวลา ไร้สาระ พุทธศาสนาสอนให้รู้จักการปล่อยวาง สิ่งใดที่ไม่สามารถค้นหาคำตอบจะไปหมกมุ่นครุ่นคิดมากอยู่ทำไม?
ยิ่งตอนจบของหนังทำให้ผมกุมขมับ หมดสิ้นหวัง เพราะนั่นคือคำตอบของชาวตะวันตก/คนยุคสมัยนี้ที่มักจะปล่อยให้ชีวิตล่องลอยไป เพราะพวกเขาไม่สามารถค้นหาคำตอบได้จริงๆ วิธีการอันใดจะทำให้ตนเองดิ้นหลุดพ้น หนทางออกจากความฝัน มายาคติ วัฎฎะสังสารแห่งชีวิต
แนะนำหนังเฉพาะกับคนที่ชอบครุ่นคิด วิเคราะห์ หมกหมุ่นต่อคำถามอภิปรัชญา, นักออกแบบ ทำอนิเมชั่น วาดภาพ งานศิลปะ เสพความวิจิตรศิลป์ที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบ
จัดเรต 13+ จากงานภาพที่ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้า และการสนทนาที่ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์ เด็กเล็กย่อมไม่สามารถทำวามเข้าใจ
Leave a Reply