Walk, Don’t Run (1964) : Charles Walters ♥♥♥
หนังเรื่องสุดท้ายของ Cary Grant ไปถ่ายกันถึงที่ญี่ปุ่น ขณะ 1964 Tokyo Summer Olympics, นี่ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับกีฬา เป็นแนว Romantic Comedy จับพลัดจับผลู พ่อสื่อที่พยายามจับคู่ให้หญิงสาวกับนักกีฬาเดินเร็ว (Racewalking) และเรื่องวุ่นๆ ขณะกำลังแข่งขันเดินมาราธอน 20 กิโลเมตร, นี่อาจไม่ใช่หนังที่ดีที่สุดของ Grant แต่คือภาพสุดท้ายของหนึ่งในนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
นี่ไม่ใช่แค่หนังเรื่องสุดท้ายของ Cary Grant เท่านั้น แต่ยังเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Charles Walters อีกด้วย, เขาไม่ใช่ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงโด่งดังนัก เริ่มต้นอาชีพจากการเป็น choreographer ต่อมาเป็นผู้กำกับให้ MGM แนวถนัดคือ Musicals และ Comedy, Walk, Don’t Run เป็นหนัง remake จาก The More the Merrier (1943) ของผู้กำกับ George Stevens นำแสดงโดย Jean Arthur, Joel McCrea และ Charles Coburn (ได้ Oscar สาขา Best Supporting Actor) ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ Garson Kanin ชื่อ Two’s a Crowd หนังยอดเยี่ยมขนาดได้เข้าชิง Oscar 6 สาขา รวมถึง Best Film (ได้มา 1 รางวัล), สำหรับ Walk, Don’t Run มีการเปลี่ยนสถานที่ดำเนินเรื่องและเหตุการณ์พื้นหลัง จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน Washington, D.C. มาเป็น Olympics Games ที่กรุง Tokyo ประเทศญี่ปุ่น
นำแสดงโดย Cary Grant รับบท Sir William Rutland นักธุรกิจชาวอังกฤษ ที่มาทำธุระใน Tokyo ช่วงโอลิมปิก ทำให้เขาหาที่พักไม่ได้ จับพลัดจับผลู ได้มาอาศัยหลับนอนอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ของหญิงสาว, Samantha Eggar รับบท Christine Easton เจ้าของห้องพัก เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ เจ้าระเบียบ และเอาแก่ใจ, Jim Hutton รับบท Steve Davis นักกีฬาเดินเร็ว ผู้ซึ่งจับพลัดจับผลูมาเจอกับ Rutland แล้วตามเขามาพักอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ของหญิงสาว เรื่องราววุ่นๆของทั้ง 3 จึงเกิดขึ้น
เกร็ด: George Takei มีบทรับเชิญเล็กๆในหนังด้วยนะครับ (ใครเป็นแฟนๆ Star Trek น่าจะจดจำเขาได้)
ตอนผมดูแรกๆ หนังก็สนุกดีนะ แต่สักพักก็เริ่มเบื่อเพราะจับทางได้ และรู้สึกไร้สาระมากๆ โดยเฉพาะนิสัยเจ้ากี้เจ้าการของ Easton แถม Rutland ก็ยอมที่จะโอนอ่อนผ่อนตาม ทำตามนิ้วชี้สั่งของเธอ การมาของ Davis ทำให้อะไรๆเปลี่ยนไป ด้วยนิสัยที่ไม่ชอบให้ใครชี้นิ้วสั่ง นั่นเป็นสิ่งที่ Easton ไม่เคยพบมาก่อน ไม่นานทั้งสองตกหลุมรักกัน แต่เธอมีคู่หมั้นแล้ว Rutland จึงเข้าไปช่วยเหลือทั้งสอง กลายเป็นเหมือนพ่อสื่อที่รอดูความสำเร็จทั้งคู่อยู่ห่างๆ, โครงสร้างของหนังเรื่องนี้ ถือว่าเป็นสูตรสำเร็จของหนังแนว Romantic Comedy ประเภทหนึ่งนะครับ พบเจอได้บ่อยในหนังเอเชีย
หนังเรื่องนี้มีความนัยเล็กๆแฝงอยู่ด้วย โดยปกติหนังที่ Grant เป็นพระเอก ตอนจบมักได้คู่กับสาวเสมอ แต่หนังเรื่องนี้เขาเป็นพ่อสื่อที่จับคู่ให้ชายหนุ่มหญิงสาวตัวแทนคนรุ่นใหม่ แล้วตนยืนดูอยู่ห่างๆ ซึ่งถ้าแทนด้วยชีวิตจริง เป็นเหมือนการบอกว่า ฉันรู้สึกอิ่มตัว พอแล้วกับการเป็นพระเอก ต่อจากนี้จะขอยืนดูเป็นกำลังใจอยู่ห่างๆ ไม่กลับเข้าไปอีกแล้ว
ถ่ายภาพโดย Harry Stradling Sr. เคยเข้าชิง Oscar 14 ครั้ง ได้มา 2 จาก The Picture of Dorian Gray (1945) และ My Fair Lady (1964)
ตัดต่อโดย Walter A. Thompson และ James D. Wells
เพลงประกอบโดย Quincy Jones
ในด้านงานสร้าง ก็ถือว่าใช้ได้นะครับ ภาพสวย ตัดต่อรวดเร็วฉับไว เพลงเพราะ (แม้ไม่ค่อยได้กลิ่นอายญี่ปุ่นเสียเท่าไหร่ก็เถอะ) แต่ปัญหาของหนังคือ ความไร้สาระของเรื่องราว นี่เป็นหนังที่ตั้งใจให้เป็นตลกแบบหน้าตาย แต่กลับกลายเป็นไม่ตลกและไม่มีสาระ ถึงจะพอมีบางมุขที่ตลกแบบหลุดขำได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบฝืนธรรมชาติ การที่ไปถ่ายถึงญี่ปุ่น ไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อหนังเลย (ว่ากันว่าที่ Grant รับเล่นหนังเรื่องนี้ เพราะเหมือนได้ไปพักร้อนฟรีๆ แถมด้วยการได้ไปดูโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น)
เกร็ด: เสียงผิวปากของ Grant เป็นทำนองจากหนังสองเรื่องที่พี่แกเคยเล่น Charade (1963) และ An Affair to Remember (1957)
กติกาของการแข่งขันเดินเร็ว (Racewalking) คือต้องมีเท้าใดสัมผัสกับพื้นตลอดเวลา (ถ้าวิ่ง จะมีขณะที่เท้าสองข้างไม่แตะพื้น ลอยอยู่บนอากาศ) ระยะทางที่มีแข่งในโอลิมปิกคือ 20 กิโลเมตร เป็นมินิมาราธอน แต่น่าจะเหนื่อยกว่าเยอะ เพราะท่าเดินมันต้องบิดไปบิดมา ดูไม่เป็นธรรมชาติ และต้องเกร็งแทบทุกสัดส่วน, ตัวละครของ Grant พูดชมกีฬานี้ว่า ‘นี่เป็นกีฬาที่แปลกประหลาดที่สุด’ (This is the most ridiculous race!) ก่อนที่ผมจะเริ่มดูหนังเกี่ยวกับโอลิมปิก ก็ไม่รู้นะครับว่ามีกีฬาประเภทนี้บรรจุอยู่ด้วย ตอนเห็นครั้งแรกก็เกาหัว เป็นกีฬาที่ประหลาดจริง!, ใครอยากลดน้ำหนัก แนะนำให้ลองเล่นกีฬานี้ดูนะครับ
สำหรับ Cary Grant ว่ากันตามตรงพี่แกก็ยังไม่แก่เกินไปที่จะเลิกเล่นหนังนะครับ ตอนเล่นหนังเรื่องนี้ปี 1964 Grant อายุ 62 มีผมหงอกนิดๆ อีกหลายปีกว่าจะขาวหมดหัว ให้เหตุผลที่เลิกเล่นหนังว่า ‘ได้พบสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า’ (I could have gone on acting and playing a grandfather or a bum, but I discovered more important things in life.) นี่อาจดูตลกนะครับ Grant แต่งงาน 5 ครั้ง (กับนักแสดงหญิงชื่อดัง 3 คน) แต่เพิ่งมีลูกคนแรก Jennifer Grant (เกิดปี 1966) ตอนอายุ 64 นี่คือเหตุผลสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าของเขา (เพื่อไปเลี้ยงลูก!), Grant เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 1986 รวมอายุ 82 ปี
ผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นต้นฉบับของหนังเรื่องนี้นะครับ เลยบอกไม่ได้ว่า เรื่องไหนดีกว่า, ซึ่งผมอ่านๆดูจากคำวิจารณ์ของคนที่ดูหนังทั้งสองเรื่องแล้ว แทบทั้งนั้นเห็นไปในทางเดียวกันว่า Walk, Don’t Run สู้ไม่ได้เลย The More the Merrier (1943) ยอดเยี่ยม ลงตัว คลาสสิกกว่ามากๆ ไว้ถ้าผมมีโอกาสได้ดูเมื่อไหร่จะมาเล่าให้ฟังนะครับ
ถ้าคุณเป็นแฟนๆของ Cary Grant หนังเรื่องสุดท้ายจะพลาดไปได้ยังไง, กับคนที่อยากเห็นบรรยากาศภายนอกสนามของ 1964 Tokyo Olympic นอกจากหนังเรื่อง Tokyo Olympiad คุณจะได้เห็นอย่างเต็มอิ่มแน่กับหนังเรื่องนี้, คนชอบหนังแนวรอมคอม น่าจะชอบแน่
ปล. หนังเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ The Ventures นะครับ แค่มีเพลงหนึ่งของวงนี้ชื่อ Walk Don’t Run จังหวะคึกๆ และเป็นญี่ปุ่นเหมือนกันเท่านั้น แต่ไม่ได้เกี่ยวกันเลยสักนิด (เพลงนี้โคตรดังเลยนะครับ อาจมีคนสับสนแน่ๆ อยากฟังไปหา Youtube โลด)
จัดเรต PG มีคำพูดที่หยาบคายเล็กน้อย และการกระทำที่ ส่อถึงเรื่องเพศไปนิดๆ
Leave a Reply