Walkabout

Walkabout (1971) Australia : Nicolas Roeg ♥♥♥♥

ชนเผ่าพื้นเมือง Aborigine, ประเทศออสเตรเลีย มีประเพณีชื่อ ‘Walkabout’ เมื่อเด็กชายอายุครบ 16 ปี จะถูกส่งไปใช้ชีวิตท่ามกลางทะเลทราย เรียนรู้จักวิถีธรรมชาติ ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง แล้วถ้าเด็กชาย-หญิง จากสังคมเมือง ชนชั้นกลาง มีเหตุให้ต้องไปใช้ชีวิตแบบนั้นบ้างละ พวกเขาจะสามารถต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดได้หรือไม่, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Walkabout เป็นภาพยนตร์ที่โดยส่วนตัวทั้งรักและเกลียด, ชื่นชอบมากๆกับแนวคิด มนุษย์ vs. ธรรมชาติ ถ้าให้คนจากสังคมเมืองยุคสมัยนี้ ไปใช้ชีวิตต่อสู้ดิ้นรนเผชิญหน้าต่อธรรมชาติ น้อยนักจะสามารถเอาตัวรอดกลับมาได้ และที่รังเกลียดสุดๆคือพฤติกรรมของเด็กชาย-หญิง ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นยังทำตัวไร้เดียงสา เย่อหยิ่ง จองหอง ทะนงตน อวดดี ไม่เผชิญหน้ายินยอมรับความจริงเสียที!

ความ Masterpiece ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องยกให้ Nicolas Roeg ผลงานฉายเดี่ยวเรื่องแรก ควบการกำกับ-ถ่ายภาพ เพราะเจ้าตัวเคยเป็นตากล้องมาก่อน จึงสามารถถ่ายทอดความงดงามของผืนทะเลทรายในออสเตรเลีย ไม่ย่อหย่อนไปกว่า Lawrence of Arabia (1962) และมุมมองเรื่องราวผ่านภาษาภาพได้อย่างบริสุทธิ์

ระหว่างค้นคว้าหาข้อมูลหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมได้พบกับชาร์ท ‘The 50 films you should see by the age of 14’ ภาพยนตร์ 50 เรื่องที่ควรหามาให้เด็กอายุต่ำกว่า 14 รับชม จัดโดยสถาบัน British Film Institute (BFI) เมื่อปี 2005 ซึ่ง Walkabout (1971) คือหนึ่งในนั้นที่โดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่ นัยยะใจความนั้นเหมาะสมควร แต่ภาพความรุนแรง เข่นฆ่าสัตว์ล้มลงตายซึ่งๆหน้า หญิงสาวโป๊เปลือย Peeping Tom และการฆ่าตัวตาย นี่มันหนังเรต 18+ ชัดๆ แนะนำให้ผู้ใหญ่หามารับชมดูก่อน แล้วใช้วิจารณญาณตัดสินเองอีกทีแล้วกันนะ

ลิสแบบเต็มๆ: https://raremeat.blog/british-film-institute/bfi-the-50-films-you-should-see-by-the-age-of-14/

Nicolas Jack Roeg (1928 – 2018) ตากล้อง ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London ตรงข้ามบ้านคือสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ จึงเกิดความสนใจวงการนี้มาตั้งแต่เด็ก พออายุ 19 เริ่มต้นจากเป็นเด็กส่งชา ขนของ แบกกล้องแผนกถ่ายภาพที่ Marylebone Studios ไต่เต้าขึ้นมาควบคุมกล้อง (Camera Operator) อาทิ The Sundowners (1960), The Trials of Oscar Wilde (1960) ต่อมาเป็นตากล้องกองสอง Lawrence of Arabia (1962), เห็นว่าผู้กำกับ Lean ชื่นชอบผลงานอย่างมาก ต้องการให้ขยับขึ้นมาเป็นตากล้องหลัก Doctor Zhivago (1965) แต่กลับมีความเห็นขัดแย้งเลยถูกไล่ออก ผลงานเด่น อาทิ The Masque of the Red Death (1964), Fahrenheit 451 (1966) ฯ

หลังจากมีโอกาสร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Performance (1970) แม้ยังไม่ทันได้ออกฉาก [ถูกดองไว้สองปีโดยสตูดิโอ Warner Bros. เพราะความรุนแรงคลุ้มคลั่งมีมากเกินไป] Roeg ก็เดินหน้าต่อในชีวิตโดยทันที ด้วยความสนใจดัดแปลงนวนิยาย Walkabout (1959) แต่งโดย James Vance Marshall นามปากกาของ Donald Gordon Payne (1924 – 2018) นักเขียนวรรณกรรมเยาวชน สัญชาติอังกฤษ ก่อนหน้านี้มีผลงาน The Lost Ones เคยถูกนำไปสร้างภาพยนตร์โดย Walt Disney ออกฉายปี 1964

เรื่องราวในนวนิยาย Walkabout เกี่ยวกับสองพี่น้องสัญชาติอเมริกัน Peter และ Mary รอดชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกที่ออสเตรเลีย ทั้งคู่ตัดสินใจออกเดินเท้าข้ามทะเลทราย เพื่อไปหาญาติที่ Adelaide, South Australia แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าทิศไหนอะไรยังไง จนกระทั่งได้พบเจอชายหนุ่มจากชนเผ่า Aborigine แม้พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ก็ใช้ชีวิต ผจญภัย นำพาพวกเขาหวนกลับสู่ผืนแผ่นดินแดนอารยธรรมมนุษย์ ถึงกระนั้นเพราะร่างกายไร้ภูมิต้านทานโรคใดๆ หลังจากนั้นติดไข้หวัดใหญ่ ล้มป่วยหนัก และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

Roeg พยายามสรรค์หาผู้ช่วยดัดแปลงบทภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ได้ที่พึ่งพอใจสักที จนกระทั่งได้ Edward Bond (เกิดปี 1934) นักเขียนบทละครเวที สัญชาติอังกฤษ หลังจากส่งบทหนังมาให้เพียง 14 หน้า เกิดความชื่นชอบประทับใจอย่างมาก นำไปสรรหาทุนสร้างได้มาพอสมควรทีเดียว

สิ่งที่หนังแตกต่างจากนวนิยาย
– ตัวละครไม่มีการเรียกชื่อ ในเครดิตใช้แทนว่า Girl (รับบทโดย Jenny Agutter), White Boy (รับบทโดย Luc Roeg) และ Black Boy (รับบทโดย David Gulpilil)
– จุดเริ่มต้นไม่ได้จากเครื่องบินตก แต่เป็นพ่อ (รับบทโดย John Meillon) พาลูกๆทั้งสองมาปิกนิค แล้วคิดฆ่าตัวตาย ปล่อยให้ทั้งสองเอาตัวรอดในโลกกว้างด้วยตนเอง
– และตอนจบ ชายหนุ่มพื้นเมืองกระทำการอัตวิบาต ฆ่าตัวตาย

สำหรับนักแสดง Jenny Agutter (เกิดปี 1952) สัญชาติอังกฤษ ได้รับคัดเลือก Audition ขณะนั้นอายุย่างเข้า 17 ปี ก่อนหน้านี้เป็นมีผลงานภาพยนตร์/ละครโทรทัศน์  นี่ถือเป็นบทบาทผู้ใหญ่แรกของเธอ, รับบทพี่สาว วัยกำลังมีความใคร่สนใจในเรือนร่าง ต้องการทางเพศ พยายามกีดกันสร้างเส้นแบ่งแยก โดยไม่ใคร่สนใจเรียนรู้ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเองสู่โลกกว้าง

Luc Roeg (ในเครดิตขึ้นชื่อ Lucien John) ลูกชายคนเล็กของผู้กำกับ มีปัญหาอะไรพ่อจัดการเอง จะได้ไม่ต้องเรื่องมาก ว้าวุ่นวายอะไร ถ้าสรรหาลูกคนอื่นมารับบทแทน, เด็กชาย แม้ยังไร้เดียงสาแต่โลกก็เริ่มหมุนรอบตัวเขาแล้ว เล่านิทานทั้งๆที่ก็มีเพียงพี่สาวฟังรู้เรื่อง ถึงกระนั้นยังสามารถเรียนรู้ ปรับตัว เล่นสนุกสนานกับเพื่อนใหม่/เสมือนพี่ชาย ถ้ายังต้องมีชีวิตในทะเลทรายนี้ต่อไป เชื่อว่าคงเลียนแบบ เอาตัวรอด พูดคุยสนทนาสื่อการกันรู้เรื่องอย่างแน่นอน

ระหว่างออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำ มีโอกาสพบเจอ David Gulpilil ในเครดิตขึ้นว่า David Gumpilil (เกิดปี 1953) อายุ 16 ปี เป็นชาวพื้นเมืองที่ได้รับโอกาสร่ำเรียนหนังสือ แต่ก็เติบโตมาด้วยขนบวิถีจารีตประเพณีดั้งเดิม พ่อสอนทักษะการล่าสัตว์ ตอนอายุ 10 ขวบ หลงทางอยู่เกือบๆเดือน แต่ยังสามารถเอาตัวรอดหาทางกลับบ้านได้, ความสามารถพิเศษของ Gulpilil คือการเต้นระบำพื้นเมือง ซึ่งหลังจากเรื่องนี้ หนังเรื่องไหนมาถ่ายทำออสเตรเลีย เกี่ยวกับ Aborigine มักต้องมีเขาเป็นตัวประกอบเสมอ อาทิ The Right Stuff (1983), Crocodile Dundee (1986), The Tracker (2002), Australia (2008), Charlie’s Country (2014) ฯ

ผู้กำกับ Roeg มีความคุ้นเคยกับทะเลทรายในออสเตรเลียเป็นอย่าง เพราะเคยเป็นตากล้องถ่ายทำ The Sundowners (1960) โคตรหนัง Epic ของ Fred Zinnemann ทั้งยังนำประสบการณ์จาก Lawrence of Arabia (1962) มาปรับใช้ และความชื่นชอบในผลงานศิลปะของ Sir Sidney Nolan (1917-1992) และ Arthur Boyd (1920 – 1999) ศิลปิน Modernist สัญชาติ Australian ที่มักวาดภาพทิวทัศนียภาพทะเลทราย ออกมาในลักษณะ Surrealist

ภาพวาด The Questioning (1978-9) ของ Sir Sidney Nolan

ภาพวาด Irrigation lake, Wimmera (1950) ของ Arthur Boyd

เนื่องจากพล็อตของเรื่องราวมีเพียงคร่าวๆ ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Roeg จึงค่อนข้างตามมีตามเกิดในการถ่ายทำ อะไรสวยๆก็บันทึกเก็บภาพไว้ แล้วค่อยไปว่ากันช่วงกระบวนการตัดต่อ Post-Production

“We didn’t really plan anything—we just came across things by chance…filming whatever we found”.

– Nicolas Roeg

ลีลาการถ่ายภาพของ Roeg ค่อนข้างแตกต่างจาก Freddie Young ที่มักตั้งกล้องแช่ภาพค้างไว้ แล้วค่อยๆให้นักแสดง/ธรรมชาติ/พระอาทิตย์ค่อยๆขึ้นจากสุดปลายขอบฟ้า คือมันก็มีแบบนั้นบ้างในหนังเรื่องนี้ แต่สไตล์ของ Roeg ชอบเล่นกับเทคนิค ซูมเข้า-ออก แพนนิ่ง จัดวางองค์ประกอบเสียมากกว่า ซึ่งล้วนสอดคล้องเข้ากับการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว และ Cross-Cutting จนหลายๆครั้งดูเหมือนฉาบฉวย เร่งรีบร้อนเกินไปสักนิด

สวยสุดในหนังผมยกให้ช็อตนี้แล้วกัน พระอาทิตย์กำลังขึ้นพอดิบพอดี

ตัดต่อโดย Antony Gibbs (A Taste of Honey, Tom Jones, The Knack …and How to Get It) และ Alan Pattillo, ใช้มุมมองเล่าเรื่องของเด็กชาย-หญิง ตลอดการเดินทางในทะเลทรายออสเตรเลีย
– อารัมภบท, ร้อยเรียงผู้คน ตึกรามบ้านช่อง วิถีชีวิตในเมือง Sydney
– องก์หนึ่ง, หลังจากพ่อคิดสั้นฆ่าตัวตาย เด็กชาย-หญิง จึงต้องออกเดินทางอย่างไร้จุดหมาย เพื่อหาทางกลับสู่ชุมชนเมือง โลกอารยธรรมของตนเอง
– องก์สอง, พวกเขาได้พบเจอกับชายหนุ่มชนเผ่าพื้นเมือง และได้ออกเดินทางร่วมกัน
– องก์สาม, เริ่มต้นที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ กำลังทำการวิจัยอะไรบางอย่าง และชายชาวพื้นเมือง นำพาสองพี่น้องมาถึงฟาร์มร้างแห่งหนึ่ง
– องก์สี่, หลังจากได้พบเห็นการกระทำของคนผิวขาว เข่นฆ่าควายป่าอย่างเลือดเย็นดั่งของเล่น หนุ่มชาวพื้นเมืองเลยทำบางสิ่งอย่าง แสดงออกต่อหญิงสาวแต่เธอไม่รับรู้เข้าใจ เช้าวันถัดมาเลยฆ่าตัวตาย ทำให้สองพี่น้องต้องหาหนทางหวนกลับสู่ชุมชนเมือง โลกอารยธรรมด้วยตนเอง แต่ถือว่าไม่ยากเท่าไหร่แล้วเพราะพบเจอถนนหนทาง
– ปัจฉิมบท, หลายปีถัดไป หญิงสาวแต่งงานมีสามี หวนระลึกถึงความทรงจำสมัยอดีต ช่วงเวลาการผจญภัยครั้งนั้น มันช่างงดงามตราตรึง (กว่าที่ชีวิตที่เป็นอยู่ขณะนี้อีกกระมัง)

หนังชื่นชอบการร้อยเรียงแทรกภาพ Montage สรรพสัตว์ต่างสายพันธุ์ในท้องทะเลทราย กระทำโน่นนี่นั่น สอดคล้อง/ล้อกับการแสดงออกของตัวละคร มนุษย์=สิ่งมีชีวิต ไม่มีอะไรแตกต่างกัน [ลักษณะการตัดต่อแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงผู้กำกับ Shōhei Imamura ขึ้นมาเลยนะ]

เสียงจากวิทยุ เอาจริงๆที่ได้ยินแทบจะไม่มีสาระอะไรต่อหนังสักเท่าไหร่ ถือเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างโลกอารยธรรม เข้ากับผืนแผ่นทะเลทรายแห่งนี้ก็เท่านั้น หรือจะมองว่าคือสัญลักษณ์แห่ง ‘ความหวัง’ ของเด็กชาย-หญิง เป้าหมายปลายทางที่พวกเขาโหยหา ต้องการหวนคืนกลับไป, เมื่อตอนที่ครุ่นคิดเข้าใจว่าแบตหมด นั่นถือว่าพอดิบพอดีกับที่พบเจอหนทางกลับบ้าน สามารถเอาตัวรอดต่อได้ด้วยตนเองเสียที

เพลงประกอบโดย John Barry (1933 – 2011) สัญชาติอังกฤษ ได้รับการจดจำสูงสุดจาก James Bond Theme, คว้า Oscar ห้าครั้งจากสี่เรื่อง Born Free (1966), The Lion in Winter (1968), Dances with Wolves (1990) และ Out of Africa (1985)

แม้จะไม่เลิศหรู อลังการเท่าผลงานของ Maurice Jarre แต่สไตล์ถนัดของ Barry มอบสัมผัสแห่งอิสรภาพเสรี สอดคล้องรับกับธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล สุดลูกหูลูกตา มีความเพลิดเพลินผ่อนคลายกว่าเป็นไหนๆ เว้นเสียแต่ในช่วงอารัมบทจะมีการใช้ Jew’s harp ฟังดูผิดแผก ขัดแย้ง ฝืนธรรมชาติ … ก็แน่ละ บทเพลงได้ทำการสะท้อนวิถีชีวิต สังคมเมือง vs. ธรรมชาติ ช่างเหมาะเจาะลงตัว เข้ากับหนังอย่างยิ่งเลยละ

แซว: ผมรู้สึกว่าเพลงประกอบเรื่องนี้ มีกลิ่นอายของ Out of Africa อยู่มากโขทีเดียวเลยนะ

Walkabout คือเรื่องราวของการเอาตัวรอดด้วยตนเอง ตั้งคำถามถึง ถ้ามนุษย์จากสังคมเมืองจับพลัดพลู ต้องหวนกลับไปดำเนินชีวิตต่อสู้กับธรรมชาติ จะยังมีความสามารถมากพอเอาชนะได้หรือเปล่า … หนังนำเสนอออกมาอย่างชัดเจนมากๆว่า ไม่มีทางอย่างเด็ดขาด

การมาถึงของสังคมเมือง โลกาภิวัฒน์ ทำให้มนุษย์มีความเย่อหยิ่ง จองหอง ทะนงตน อวดดี กลับกลายเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสา เมื่อต้องต่อสู้กับธรรมชาติ กำแพงอิฐ/คอนกรีต/เสริมเหล็ก ได้สร้างภาพมายาที่ทำให้ใครๆครุ่นคิดว่า ฉันอยู่รอดปลอดภัยดีแล้ว ไม่มีทางที่ใครไหนหรือภัยพิบัติ จะสามารถทำอันตรายให้บังเกิดขึ้นได้

อะไรๆมันก็เกิดขึ้นได้ สึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ หายนะต่างๆ พบเห็นเป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่แทบทุกเดือนปี แถมยังไม่สามารถพยากรณ์คาดการณ์ได้แม่นยำสักเท่าไหร่ คือมันก็ชัดเจนอีกเช่นกันว่า มนุษย์ยังอยู่ห่างไกลชัยชนะต่อธรรมชาติ จมปลักอยู่ภายใต้ชั้นบรรยากาศโลก ที่ถ้าเกิดภัยพิบัติอะไรขึ้น ก็สามารถเข่นฆ่าล้างมวลชนได้มากโข

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมเกิดความตระหนักขึ้นว่า มนุษย์ทุกวันนี้แทบจะอพยพสู่ป่าคอนกรีตกันเสียหมดแล้ว หาบุคคลที่ยังใช้ชีวิตหากิน ‘สื่อสาร’ กับธรรมชาติล้วนๆ นอกจากชาวเขา ชนเผ่าพื้นเมือง ก็คงไม่มีอีกแล้วละ การจะอยู่ดีๆทอดทิ้งทุกอย่างแล้วไปอยู่ป่า โอกาสเอาตัวรอดแทบเป็นศูนย์ (แถมสมัยนี้ถ้าเข้าไปอาศัยอยู่ในอุทยาน หากโดนพบตัวอาจถูกลากคอออกมา จับปรับติดคุกติดตาราง ลุกล้ำพื้นที่สงวนเสียอีก!)

เมื่อมนุษย์ยุคสมัยนี้ไม่สามารถ “สื่อสาร” อยู่ร่วม เข้าใจธรรมชาติ/ชนเผ่าพื้นเมือง ได้อีกต่อไป สิ่งเดียวที่หลงเหลือทำได้ในปัจจุบัน คือการระลึกไว้ลึกๆภายในจิตใจ เราควรพยายามรักษ์ธรรมชาติให้มากกว่านี้ อาศัยอยู่อย่างกลมกลืนไม่ใช่สักแต่แสวงหาผลประโยชน์ กอบโกยทรัพยากรจนไม่หลงเหลือให้ลูกหลาน จะเร่งรีบร้อนให้โลกถึงกาลหายนะไปถึงไหน เมื่อตอนนั้นสำนึกได้ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้

Into my heart an air that kills
From yon far country blows:
What are those blue remembered hills,
What spires, what farms are those?

That is the land of lost content,
I see it shining plain,
The happy highways where I went
And cannot come again.

– บทกวีลำดับที่ 40 แต่งโดย Alfred Edward Housman (1859–1936) รวบรวมในหนังสือ A Shropshire Lad (1896)

ด้วยทุนสร้าง A$1 ล้านเหรียญออสเตรเลีย แต่กลับไม่ทำเงินในประเทศสักเท่าไหร่ นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า เพราะผู้ชมไม่แน่ใจจะจัดเป็นหนังออสเตรเลียได้หรือเปล่า เพราะผู้กำกับเป็นชาวอังกฤษ แค่ใช้พื้นหลังวัฒนธรรมของประเทศตนเองเท่านั้น, ถึงกระนั้นภายหลังกลับได้รับการยกย่อง คือเรื่องที่เปิดประตูสู่ Australian New Wave คลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์

สำหรับประเทศอังกฤษ มีสองกรณีที่เป็นข้อกังขาต่อหนัง
– อย่างแรกคือความรุนแรงในการล่าฆ่า ทรมานสัตว์ ซึ่งขัดต่อ Cinematograph Films (Animals) Act 1937 ถือว่าผิดกฎหมายทันทีถ้ามีการนำเสนอสู่สาธารณะ แต่หนังเรื่องนี้กลับรอดตัว เพราะถือว่าสัตว์ถูกฆ่าเสียชีวิตโดยทันทีไม่มีกระทำการทารุณ
– ฉากเปลือยของ Jenny Agutter ขณะว่ายน้ำ อาบน้ำ เนื่องจากตอนถ่ายทำเธออายุเกิน 17 ปีแล้ว เลยรอดพ้นกฎหมาย Protection of Children Act 1978 ที่ห้ามมีภาพเปลือยอวัยวะเพศของเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี (แต่ก็มีการตัดฉากนั้นออกไป เพื่อฉายทางโทรทัศน์) กระนั้นต่อมาได้มีการออกกฎเพิ่มเติม Sexual Offences Act 2003 แก้ไขอายุเป็น 18 ปี แต่หนังเรื่องนี้ได้รับอภิสิทธิ์รอดพ้นอีกเช่นกัน เพราะไม่ถือว่าทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศแต่อย่างใด

เอาเป็นว่าโดยส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้ก็แล้วกัน แค่งานภาพสวยๆก็ถือว่าอิ่มอกอิ่มใจ ‘ฟิน’ มากๆแล้ว จริงๆถ้าหนังทำแบบ Lawrence of Arabia (1962) ใช้กล้อง 70mm คงถึงขั้นน้ำลายฟูมปากเลยทีเดียว

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ทุกวันนี้เราอยู่สุขสบายในสังคมเมือง จมปลักในภาพมายาที่สรรค์สร้างขึ้น จนหลงลืมเลือนอดีต ข้อเท็จจริง ธรรมชาติของชีวิต พยายามหาวิธีตระหนักรู้ให้ได้ว่า ‘ไม่มีทางที่มนุษย์จะสามารถเอาชนะทุกสิ่งอย่างได้’ ค้นหาความเพียงพอดีให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ ไม่ดีกว่าหรอกหรือ

จัดเรต 18+ ความรุนแรงต่อสัตว์ โป๊เปลือย ฆ่าตัวตาย

คำโปรย | “Walkabout คือการเดินทางของ Nicolas Roeg มุ่งสู่ชีวิตที่เป็นอมตะ”
คุณภาพ | เตร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: