
War and Peace (1965)
: Sergei Bondarchuk ♥♥♥♥
‘ทำไมวรรณกรรมเรื่องยิ่งใหญ่สุดของรัสเซีย ถึงถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ War and Peace (1956) โดยสหรัฐอเมริกา?’ ณ จุดสูงสุดของสงครามเย็น สหภาพโซเวียตพร้อมเผชิญหน้าศัตรูจากทุกสารทิศ ทางฝั่งศิลปะวัฒนธรรมก็เฉกเช่นเดียวกัน จึงกลายมาเป็นอภิมหาโปรเจคทะเยอทะยาน ยิ่งใหญ่ สมจริง อลังการงานสร้างที่สุดแห่งวงการภาพยนตร์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
จากวรรณกรรมสี่เล่ม 1,225 หน้ากระดาษ กลายมาเป็นภาพยนตร์สี่ตอน (film series) รวมความยาว 431 นาที ใช้เวลาถ่ายทำ 6 ปี อ้างว่านักแสดง 120,000 คน (ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า น่าจะประมาณแค่ 12,000 คน) ทุนสร้างคุยโว $100 ล้านเหรียญ (แต่ใช้จริงประเมินกันว่า $8.2 ล้านรูเบิล เทียบค่าเงินสมัยนั้นประมาณ $9.2 ล้านเหรียญ) คาดการณ์มีผู้ชมเฉพาะในรัสเซียกว่า 135+ ล้านคน (รวมทั้งสี่ภาค) รายรับ $58 ล้านรูเบิล และสามารถคว้ารางวัล Osacr: Best Foreign Langague Film
หลายคนอาจครุ่นคิดว่าการรับชมหนัง 7+ ชั่วโมงกว่าๆ ต้องใช้ความอดทนสูงมากๆ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ต้องนั่งนานขนาดนั้นก็ได้ เพราะมีการแบ่งออกเป็นสี่ภาค ค่อยๆดูไปก็ไม่เสียหายอะไร แถมถ้าใครอ่านภาษาภาพยนตร์ออก น่าจะเพลิดเพลินจนเกินเวลาพักผ่อน และแม้เรื่องราวมีความต่อเนื่องกัน แต่ใจความสำคัญล้วนจบลงในตอนของมันเอง
- Part I: Andrei Bolkonsky ความยาว 147 นาที, อารัมบทของการสงคราม ตั้งคำถามปรัชญาถึงชีวิต-ความตาย มนุษย์ทำสงครามเพื่ออะไร
- Part II: Natasha Rostova ความยาว 100 นาที, โฟกัสที่เรื่องราวความรัก(สาม-สี่เส้า)ของ Natasha Rostova
- Part III: The Year 1812 ความยาว 84 นาที, การสงคราม Battle of Borodino ระหว่างจักรวรรดิรัสเซีย vs. กองทัพ Napoleon
- Part IV: Pierre Bezukhov ความยาว 100 นาที, เมื่อกองทัพของ Napolean เข้ายึดครอบครองกรุง Moscow เผาทำลายทุกสิ่งอย่างให้มอดไหม้วอดวาย แล้วเสร็จก็ออกเดินทางกลับ
ผมยังไม่เคยรับชม War and Peace (1956) กำกับโดย King Vidor นำแสดงโดย Andrey Hepburn, Henry Fonda, ถ่ายภาพโดย Jack Cardiff, เพลงประกอบโดย Nino Rota (แค่เครดิตก็ชวนให้ขนหัวลุก) แต่ก็ไม่คิดจะดูต่อกัน หรือเร็วๆนี้นะครับ (แค่ดูหนังฉบับนี้ก็เหนื่อยเกินทน) ได้ยินว่าเรื่องราวโฟกัสเพียงรักสาม-สี่เส้าของ Natasha Rostova การ(ต่อต้าน)สงครามแค่ประเด็นรองลงมา นั่นทำให้ไม่มีทางที่ฉบับของสหรัฐอเมริกา จะยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไปกว่าสหภาพโซเวียตเรื่องนี้อย่างแน่นอน
แม้นักวิจารณ์สมัยนั้นจะบ่นพึมพัมอยู่บ้างเรื่องการคัดเลือกนักแสดงแก่ไปหน่อย (โดยเฉพาะผู้กำกับ Sergei Bondarchuk ด้วยวัย 40+ รับบทพระเอก Pierre Bezukhov ที่ควรอายุ 20 ต้นๆ) แต่ความอลังการของโปรดักชั่นงานสร้าง ภาษาภาพยนตร์ที่ปรากฎอยู่ทุกๆช็อตฉาก ผสมผสานเทคนิคทั้งใหม่-เก่า ด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคสมัยนั้น ถือเป็นโคตรผลงาน Masterpiece ยิ่งใหญ่ สมจริง ทะเยอทะยานที่สุดแห่งวงการภาพยนตร์!
‘War and Peace’ is the definitive epic of all time. It is hard to imagine that circumstances will ever again combine to make a more spectacular, expensive, and — yes — splendid movie.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนเต็ม 4/4
แซว: ว่ากันว่าผู้กำกับ Stanley Kubrick หลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเหตุผลหนึ่งที่ล้มเลิกความตั้งใจสรรค์สร้างอัตชีวประวัติ Napolean แต่ก็เปลี่ยนมาเป็น Barry Lyndon (1975)
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Leo Tolstoy นามปากกาของ Count Lev Nikolayevich Tolstoy (1828-1901) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล สัญชาติ Russian เกิดที่ Yasnaya Polyana, Tula Governorate ในครอบครัวขุนนาง/ชนชั้นสูง ตั้งแต่เด็กค้นพบความหลงใหลในการจดบันทึก เขียนโน่นนี่นั่น โตขึ้นร่ำเรียนกฎหมายและภาษาต่างประเทศยัง Kazan University แต่กลับไม่ได้ชื่นชอบสักเท่าไหร่ ลาออกมาใช้ชีวิตเสเพล เที่ยวเตร่เรื่อยเปื่อย เขียนเรื่องสั้น A History of Yesterday (1851), นวนิยายเล่มแรก Childhood (1852) นำเงินที่ได้ไปเล่นพนันจนติดหนี้ เลยอาสาสมัครทหารเข้าร่วมหน่วยปืนใหญ่ Crimean War (1853-56) ในการยึดครอง Sevastopol และ Battle of the Chernaya (1855) ปลดประจำการหลังสิ้นสุดสงครามด้วยยศผู้หมวด
ภายหลังสงคราม Tolstoy ได้มีโอกาสออกเดินทางท่องยุโรปสองครั้ง พบเห็นสิ่งที่ถือว่าสร้างอิทธิพลต่อชีวิต แนวความคิด และนวนิยายของเขาอย่างมาก
- ทริปเมื่อปี 1857 เมื่อเดินทางมาถึงฝรั่งเศส ได้พบเห็นการประหารชีวิตต่อสาธารณะ กลายเป็นภาพตราฝังใจ ตระหนักว่านั่นคือความคอรัปชั่นของรัฐบาล ต้องการปิดปาก สร้างความหวาดสะพรึงกลัวแก่ประชาชน
- ทริปเมื่อปี 1860-61 พบเจอนักเขียนชื่อดัง Victor Hugo แล้วมีโอกาสอ่านนวนิยาย Les Misérables (1962) ที่เพิ่งเสร็จสิ้น, รวมถึงได้สนทนากับ Pierre-Joseph Proudhon แลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการเขียนเชิงประวัติศาสตร์
เมื่อกลับจากทริปยุโรปปี 1862, Tolstoy ตัดสินใจแต่งงานกับ Sophia Andreevna Behrs ที่อายุเพียง 16 ปี (มีบุตรด้วยกัน 13 คน) ต่างคนต่างมีความต้องการทางเพศที่รุนแรงต่อกัน นั่นทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขา(ในช่วงแรกๆ)เต็มไปด้วยความรักหวานฉ่ำ ซึ่งเธอได้กลายเป็นผู้ช่วยคัทลอก ตรวจทาน ก่อนส่งนวนิยายให้สำนักพิมพ์
ปีถัดมา 1863, Tolstoy เริ่มรวบรวมเอกสาร จดบันทึก ข้อมูลประวัติศาสตร์ ทั้งยังพูดคุยสอบถามบุคคลผู้พานผ่านช่วงเวลาที่ Napoleon บุกเข้ามาเข้ายึดครอบครองกรุง Moscow ตั้งชื่อหนังสือ (The Year of) 1805 เริ่มตีพิมพ์ลงนิตยสาร The Russian Messenger เมื่อปี 1865, แต่เจ้าตัวยังไม่พึงพอใจเรื่องราวที่เขียนขึ้นสักเท่าไหร่ จึงนำมาปรับแก้ไขอยู่ถึง 7 ฉบับ ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น Война и мир หรือ Voyna i mir ภาษาอังกฤษ War and Peace รวมเล่มตีพิมพ์ปี 1869 ความยาว 1,225 หน้ากระดาษ (การตีพิมพ์ครั้งถัดๆมาจึงแบ่งแยกออกเป็น 4 เล่ม) ขายหมดเกลี้ยงแทบจะโดยทันที!
เกร็ด: ไม่มีใครรู้เหตุผลที่ Tolstoy เปลี่ยนชื่อเป็น War and Peace เพียงคาดการณ์กันว่าอาจได้แรงบันดาลใจจากชื่อหนังสือภาษาฝรั่งเศส La Guerre et la Paix (1861) ของ Pierre-Joseph Proudhon ที่สามารถแปลว่า War and Peace
ความน่าสนใจของวรรณกรรม War and Peace นอกจากจดบันทึกประวัติศาสตร์ ช่วงขณะจักรวรรดิรัสเซียถูกรุกรานโดย Napoleon ได้อย่างละเอียด เจาะลึก จากมุมมองชนชั้นสูงและสามัญชน ทั้งยังสอดแทรกการถกเถียง ตั้งคำถามปรัชญาถึงสงคราม-ความสงบสุข เหตุผลของการต่อสู้ ชีวิต-ความตาย (ใจความต่อต้านสงคราม) และสิ่งน่าทึ่งสุดก็คือการใช้ภาษารัสเซียและฝรั่งเศส ซึ่งสะท้อนค่านิยมยุคสมัยนั้นที่ชนชั้นสูง (ตั้งแต่รัชสมัยของ Catherine the Great) สามารถสื่อสารภาษาฝรั่งเศสในการเข้าสังคม (คือภาษาที่เป็นตัวแทนของชนชั้นสูงโดยปริยาย)
แม้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะได้รับการยกย่อง ‘Best Russian Literature’ แต่ Tolstoy กลับมีมุมมองต่อผลงานที่แตกต่างออกไป บอกว่านี่ไม่ใช่นวนิยาย ไม่ใช่บทกวี ไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์ และเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Anna Karenina (1878) ต่างหาที่ถือเป็นนวนิยายเล่มแรกของตนเอง
This work is more similar to a novel or a tale than to anything else, but it is not a novel because I cannot and do not know how to confine the characters I have created within given limits – a marriage or death after which the interest in the narration would cease.
War and Peace is not a novel, even less is it a poem, and still less an historical chronicle. It’s what the author wished and was able to express in the form in which it is expressed.
Leo Tolstoy
War and Peace ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในยุคหนังเงียบ เมื่อปี 1915 กำกับโดย Vladimir Gardin น่าเสียดายไม่หลงเหลือรายละเอียดใดๆ เชื่อว่าฟีล์มคงจะสูญหาย ถูกทำลายหมดสิ้น
Alexander Korda โปรดิวเซอร์สัญชาติอังกฤษ เริ่มมีความตั้งใจจะนำวรรณกรรมของ Tolstoy มาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1941 ติดต่อผู้กำกับ Orson Welles จากความประทับใจใน Citizen Kane (1941) แต่หลังจากไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลสหภาพโซเวียต (เพราะขณะนั้นยังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) โปรเจคเลยต้องล้มพับไป
ช่วงต้นทศวรรษ 1950s, โปรดิวเซอร์ Mike Todd ไม่รู้ทำอย่างไรถีงสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลสหภาพโซเวียตในการดัดแปลงวรรณกรรมเล่มนี้ มีการติดต่อผู้กำกับ Fred Zinnemann แต่โปรดักชั่นก็ถูกทอดทิ้งเพราะ Todd หันไปทุ่มเวลาให้ Around the World in Eighty Days (1956)
ลิขสิทธิ์ดังกล่าวจีงตกมาเป็นของ Dino De Laurentiis และ Carlo Ponti โปรดิวเซอร์สัญชาติอิตาเลี่ยน แรกเริ่มติดต่อผู้กำกับ Elia Kazan โดยคาดหวังนักแสดง Gérard Philipe และ Marlon Brando แต่เมื่อการพูดคุยไม่คืบหน้าเลยเปลี่ยนมา Mario Camerini ก่อนส้มหล่นใส่ King Vidor เลือกนักแสดง Audrey Hepburn, Henry Fonda และ Mel Ferrer แล้วเสร็จออกฉายปี 1956
War and Peace (1956) ฉบับสร้างโดยสหรัฐอเมริกา แม้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในประเทศ แต่เมื่อนำออกฉายระดับนานาชาติ โดยเฉพาะเมื่อมาถีงสหภาพโซเวียต ปี 1959 มียอดจำหน่ายตั๋วสูงกว่า 31.4 ล้านใบ! นั่นสร้างความฉงนสงสัยให้รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมขณะนั้น Yekaterina Furtseva ทำไมวรรณกรรมเรื่องยิ่งใหญ่สุดของรัสเซีย ถึงถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์โดยสหรัฐอเมริกา?
It is a matter of honor for the Soviet cinema industry, to produce a picture which will surpass the American-Italian one in its artistic merit and authenticity
จดหมายเปิดผนึกที่มีลายเซ็นต์ผู้กำกับแห่งสหภาพโซเวียต แจ้งเจตจำนงค์ต่อสาธารณะ
ช่วงปี 1960, มีผู้กำกับดังๆของสหภาพโซเวียตหลายคน เสนอตัวเข้ามาคุมบังเหียรโปรเจคนี้ อาทิ Mikhail Romm, Sergei Gerasimov, Ivan Pyryev ฯลฯ แต่ท่านรัฐมนตรี Furtseva กลับยื่นข้อเสนอให้ Sergei Bondarchuk ที่ทั้งไม่ได้เสนอตัว และเพิ่งมีผลงานแรกแจ้งเกิด Fate of a Man (1959) คงเพราะคว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนัง Moscow International Film Festival
(อีกเหตุผลหนี่งคาดกันว่า Bondarchuk เป็นตัวแทนผู้กำกับสายเลือดใหม่ (New Wave) สามารถเข้าถีงวัฒนธรรมของสหภาพโซเวียตที่เปลี่ยนแปลงไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกว่าเข้าถีงคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าผู้กำกับรุ่นเก่า)
Sergei Fyodorovich Bondarchuk (1920-94) นักแสดง ผู้กำกับสัญชาติ Russian เกิดที่ Belozerka, Kherson Governorate (ปัจจุบันคือประเทศ Ukrane) บิดาเป็นทหารในสังกัด Red Army ทำให้ตั้งแต่เด็กจดจำภาพของวีรบุรุษ เชื่อมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นลูกผู้ชาย โตขี้นค้นพบความหลงใหลด้านการแสดง ได้เข้าร่วม Taganrog Theatre (1937) ตามด้วย Rostov-on-Don Theater (1938-42), ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกเกณฑ์ทหารเข้าร่วม Red Army ต่อสู้กับ Nazi Germany จนได้รับเหรียญเกียรติยศ ปลดประจำการหลังสงครามสิ้นสุด
หลังสงคราม Bondarchuk ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นนักแสดง The Young Guard (1942), โด่งดังกับ Taras Shevchenko (1952) สามารถคว้ารางวัล Stalin Prize ขณะอายุเพียง 32 ปี น้อยสุดที่เคยได้รับรางวัลนี้!, จากนั้นหันมาทำงานเบื้องหลัง กำกับผลงานเรื่องแรก Fate of a Man (1959) ถือเป็นโชคชะตาจริงๆ
แม้ว่า Bondarchuk จะไม่เคยรับรู้/แสดงความสนใจในการดัดแปลงวรรณกรรม War and Peace แต่เมื่อได้รับจดหมายจากท่านรัฐมนตรี Furtseva ก็ยินยอมตอบตกลงโดยทันที ร่วมงานนักเขียนบทละคร Vasily Solovyov ปรับเปลี่ยนแผนการเดิมที่ Mosfilm Studios ต้องการสร้างภาพยนตร์สามภาค เพิ่มขี้นมาเป็นสี่ และให้แต่ละตอนเหมือนมีความเป็นเอกเทศ ใจความสำคัญของมันเอง
บทหนังใช้เวลาพัฒนากว่า 9 เดือน และต้องเสียเวลาอีกเกือบเดือนเพื่อพิจารณาโดยคณะกรรมการ State Committee for Cinematography เมื่อได้รับการอนุมัติวันที่ 20 มีนาคม 1962 ก็ต้องส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขออนุมัติทุน และเริ่มต้นตระเตรียมงานสร้าง
Part I: Andrei Bolkonsky
เรื่องราวเริ่มต้น ค.ศ. 1805 ณ Saint Petersburg เมื่อการรุกรานจาก Napoleon ค่อยๆคืบคลานเข้ามาใกล้, Prince Andrei Bolkonsky ตัดสินใจอาสาสมัครเข้าร่วม Imperial Russian Army ภายใต้ General Mikhail Kutuzov ทำให้มีโอกาสประจักษ์ยุทธการ Battle of Schöngrabern และ Battle of Austerlitz พบเห็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับเยินของทหารรัสเซีย
ขณะที่ Pierre Bezukhov เพื่อนสนิทของ Prince Andrei แม้เป็นบุตรนอกสมรสของขุนนางผู้หนึ่ง แต่เมื่อบิดาเสียชีวิตก็ได้รับสืบทอดมรดกทั้งหมด เลือกใช้ชีวิตอย่างเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา (ตรงกันข้ามกับ Prince Andrei) แล้วถูกชักนำให้แต่งงานกับ Hélène Kuragina ก่อนรับรู้ภายหลังว่าเธอแอบคบชู้อยู่กับชายอื่น
Part II: Natasha Rostova
ค.ศ. 1809 เมื่อเด็กสาว Natasha อายุครบ 16 ปี มีโอกาสเข้าร่วมงานสังคมครั้งแรก ได้เต้นระบำกับ Prince Andrei ต่างตกหลุมรักราวกับพายุมรสุม แต่บิดาของเจ้าชายกลับยับยั้งการแต่งงานของพวกเขา (เพราะภรรยาคนก่อนของ Prince Andrei เพิ่งเสียชีวิตหลังคลอดบุตรได้ไม่นาน) เรียกร้องขอให้รอคอยอีกหนึ่งปี หลังจากนี้ค่อยดูว่าจะยังมีความมั่นคง(ในรัก)ต่อกันอยู่อีกหรือเปล่า
ช่วงระหว่างหนึ่งปีนั้น Prince Adrei ถูกส่งออกเดินทางไปต่างแดน (ไม่รู้ไปทำไม) ส่วน Natasha หลังกลับจากเยี่ยมญาติยังชนบท ถูกเกี้ยวพาโดย Anatole Kuragin (พี่ชายของ Hélène) ทำให้จิตใจของหญิงสาวค่อยๆผันแปรเปลี่ยน ถึงขนาดตั้งใจจะลักลอบหนีตามไปอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อถูกจับได้เธอก็แสดงอาการกรีดกราย คลุ้มคลั่ง จะเป็นจะตาย เพราะความเป็นจริง Anatole แต่งงานมีภรรยาอยู่แล้ว นี่เป็นเพียงกลเกมหนึ่งในการเกี้ยวพาราสีเท่านั้น! และพอความไปถึงหู Prince Andrei ก็ล้มเลิกการหมั้นหมายโดยพลัน
Part III: The Year 1812
เมื่อกองทัพ Napolean กรีธาทัพมาถึงเมือง Borodino ซาร์แห่งรัสเซียได้แต่งตั้ง Mikhail Kutuzov ให้กลายเป็นจอมพล (Field Marshall) สำหรับรับการศึกครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดนี้, Prince Andrei ก็ตัดสินใจเข้าร่วมในฐานะกำลังสำรอง (Reserve Unit) โดยไม่รู้ตัวถูกระเบิดลูกหลงได้รับบาดเจ็บสาหัส และมีโอกาสพบเจอ Anatole มีสภาพไม่แตกต่างกัน
ขณะที่ Pierre ทั้งๆเป็นแค่พลเรือน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงเข้าร่วมสังเกตการณ์ Battle of Borodino และยังให้ความช่วยเหลือพลปืนใหญ่ พบเห็นความพยายามต่อสู้ของทหารหาญอย่างสุดกำลังสามารถ ก่อนจบลงด้วยความพ่ายแพ้ และเตรียมถอยทัพกลับกรุง Moscow
Part IV: Pierre Bezukhov
จอมทัพ Mikhail Kutuzov ตัดสินใจถอนกำลังพล และประกาศอพยพผู้คนออกจากกรุง Moscow หลงเหลือเพียงเมืองร้างให้ Napoleon เข้ายึดครองแล้วเผาทำลายทุกสิ่งอย่าง ขณะที่ Prince Andrei มีโอกาสใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตกับ Natasha, Pierre มอบหมายภารกิจให้ตนเองในการลอบสังหาร Napoleon แต่ไม่ทันไรก็ถูกจับกุม ควบคุมขัง กลายเป็นเชลยสงคราม และพบเห็นการประหารนักโทษยิงเป้าอย่างเหี้ยมโหดร้าย
เมื่อ Napoleon ตัดสินใจถอนทัพกลับประเทศ พอดิบดีกับช่วงฤดูหนาวย่างกรายเข้ามาถึง จอมทัพ Mikhail Kutuzov เลยตัดสินใจไล่กวด เข่นฆ่าทหารฝรั่งเศสที่อยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งสามารถรบชนะ Battle of Krasnoi ปลดปล่อยเชลยสงคราม Pierre เดินทางกลับกรุง Moscow และได้ครอบครองรักกับ Natasha สมความปรารถนาในที่สุด
Count Pyotr ‘Pierre’ Kirillovich Bezukhov บุตรชายนอกสมรสของ Count Kirill Vladimirovich Bezukhov หนึ่งในมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของจักรวรรดิรัสเซีย รูปร่างสูงใหญ่ บึกบึน แต่ไม่ค่อยชอบเข้าสังคม (เพราะมักถูกซุบซิบว่าเป็นบุตรนอกสมรส) ถูกส่งไปร่ำเรียนฝรั่งเศส เลยสนิทสนม Prince Andrei Nikolayevich Bolkonsky เมื่อเดินทางกลับมา บิดาทอดทิ้งมรดกมากมายมหาศาล ไม่รู้จะทำอะไรต่อไปเลยใช้ชีวิตเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา คบหา Anatole Kuragin และ Dolokhov สร้างเรื่องอื้อฉาวไม่เว้นวัน แม้แอบชื่นชอบหลงใหล Natasha Rostova แต่ถูกจับคู่ให้แต่งงาน Hélène Kuragina ที่สนเพียงทรัพย์สินเงินทอง แถมแอบลักลอบคบชู้นอกใจ ทำให้ Pierre ท้าดวลปืนคนรักของเธอ Dolokhov สภาพจิตใจเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย มอบหมายหน้าที่ตนเองตั้งใจจะลอบสังหาร Napoleon เข้าร่วมยุทธการ Battle of Borodino, ปลอมตัวเป็นสามัญชนอาศัยอยู่กรุง Moscow ขณะถูกกองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดครอง จนแล้วจนรอดโดนจับกุม คุมขัง พบเห็นการประหารยิงเป้า เกือบจะคลุ้มคลั่งเสียสติแตก บังเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ชีวิตคืออะไร
ผู้กำกับ Bondarchuk ไม่ได้มีความคิดจะเล่นบทนี้เองตั้งแต่แรก ครุ่นคิดว่าบุคคลที่น่าจะเหมาะสมต้องมีร่างกายบึกบึน กำยัง (ตามคำบรรยายในนวนิยาย) ก่อนหน้านี้เคยยื่นข้อเสนอให้นักยกน้ำหนัก Yury Vlasov ซึ่งก็มาทดสอบหน้ากล้อง แต่เขาก็พูดบอกว่าตนเองไม่มีความสามารถด้านการแสดงใดๆ … ด้วยเหตุนี้ Bondarchuk เลยตัดสินใจรับบทนำด้วยตนเอง แม้อายุย่างเข้า 40+ กว่าปี และต้องเพิ่มน้ำหนักกว่าสิบกิโลเพื่อให้เข้ากับบทบาท
รับชมเพียงไม่นานผมก็เริ่มตระหนักว่านักแสดงคนนี้แก่เกินตัวละครจริงๆ เพราะบริบทหลายๆอย่างชี้นำอย่างชัดเจนว่าเขาต้องเป็นคนหนุ่ม ชื่นชอบการเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา แต่ภาพลักษณ์ของ Bondarchuk ดูเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ดีมีสกุล ริ้วรอยบนใบหน้าแสดงถึงประสบการณ์ชีวิต พานผ่านโลกมาพอสมควร เลยทำให้สามารถสงบนิ่ง ไม่รุกรี้รุกรน จนกว่าจะมีบางสิ่งอย่างมายั่วเย้าอารมณ์
ถึงอย่างนั้นถ้าเราสามารถก้าวผ่านเรื่องอายุ ริ้วรอยเหี่ยวย่น การแสดงของ Bondarchuk ถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ ผมประทับใจสุดๆตอนตัวละครควบคุมสติไม่ค่อยอยู่ (ด้วยไดเรคชั่นของหนังด้วยส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคลุ้มคลั่งไม่ต่างจากตัวละคร) โดยเฉพาะช่วงท้ายของทั้งภาคแรกและภาคสอง ครั้งแรกเกี่ยวพันกับ Dolokhov (ลักลอบคบชู้ภรรยา) และครั้งหลังกับ Anatole Kuragin (เล่นเกมความรักกับ Natasha)
ภรรยาจริงๆของ Bondarchuk ก็มารับเชิญในบท Hélène Kuragina (ภรรยาคนแรกของตัวละคร Pierre Bezukhov) ซึ่งหนังตัดรายละเอียดส่วนนี้ไปค่อนข้างมาก เกือบจะไร้บทพูดสนทนา ภาคสองแค่ส่งสายตา ภาคสามสี่หายหน้าไปเลยนะ แค่กล่าวถึงโชคชะตาที่เกิดขึ้นเท่านั้น … จริงๆแล้วตัวละครนี้ต้องมีภาพลักษณ์นักขุดทอง (gold diggers) เต็มไปด้วยลีลา มารยา ชอบเกี้ยวพา ยั่วราคะบุรุษไปทั่ว ต้องการไต่เต้า ได้รับการยินยอมรับจากสังคมชนชั้นสูง เหตุที่หมายปอง Pierre Bezukhov เพียงเพราะกองมรดกล้วนๆ (ไม่ได้มีความรักใดๆ) แถมยังพยายามให้ความช่วยเหลือพี่ชาย Anatole (อาจมีความสัมพันธ์ Incest กันด้วยนะ) ในการเกี้ยวพาราสี Natasha ผลกรรมทำให้ล้มป่วยขณะตั้งครรภ์ เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดขณะพยายามทำแท้ง
Vyacheslav Vasilyevich Tikhonov (1928-2009) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Pavlovsky Posad ตั้งแต่เด็กมีความเพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง แต่ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกบังคับให้ต้องทำงานในโรงงานผลิตกระสุน เมื่อสงครามสิ้นสุดถึงมีโอกาสร่ำเรียนการแสดงยัง Gerasimov Institute of Cinematography (VGIK) จากนั้นเข้าร่วม Theatre Studio of Film Actor, ตามด้วยสมทบภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก It Happened in Penkovo (1958), May Stars (1959), On the Seven Winds (1962), จนกระทั่งได้รับติดต่อแสดงนำ War and Peace (1965), แต่บทบาทได้รับการจดจำสูงสุดกลับเป็นซีรีย์ Seventeen Moments of Spring (1973)
รับบท Prince Andrei Nikolayevich Bolkonsky บุตรชายของอดีตนายพล General Nikolai Bolkonsky (เกษียณอายุแล้วใช้ชีวิตอย่างสงบในชนบท ร่วมกับบุตรสาวอีกคน Maria Bolkonskaya) ตัดสินใจทอดทิ้งภรรยาท้องแก่ แล้วอาสาสมัครทหารเข้าร่วมสู้รบกับ Napoleon ภายใต้ General Mikhail Kutuzov (เคยเป็นลูกน้องของบิดา) ประจักษ์ยุทธการ Battle of Austerlitz แล้วได้รับบาดเจ็บกลับมา
เมื่อปี 1809, Prince Andrei ได้รับการแนะนำให้เต้นรำกับ Countess Natasha Rostova เกิดความชื่นชอบ ตกหลุมรัก ต้องการสู่ขอแต่งงาน แต่กลับถูกบิดาทัดทานพร้อมสั่งให้รอคอยระยะเวลาหนึ่งปีเพื่อดูใจกันและกัน เลยใช้เวลานั้นออกท่องเที่ยวยุโรป จนกระทั่งเมื่อหวนกลับมาพบว่า Natasha ลักลอบคบชู้สู่ชาย จำใจต้องถอนหมั้นแม้ลึกยังคงรักอยู่ นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่เขาตัดสินใจหวนกลับไปเป็นทหาร เข้าร่วมยุทธการ Battle of Borodino แม้เพียงหน่วยสำรองกลับถูกระเบิดลูกหลง บาดเจ็บสาหัส ระหว่างเฝ้ารอคอยความตาย มีโอกาสใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายกับ Natasha สมดั่งใจหวัง
ผู้กำกับ Bondarchuk ค้นหานักแสดงที่จะรับนี้ด้วยการออดิชั่น มีบุคคลดังๆอย่าง Eduard Martsevich, Oleg Strizhenov, Vyacheslav Tikhonov ก่อนตัดสินใจเลือก Innokenty Smoktunovsky แต่พี่แกติดพันโปรดักชั่นละครเวที Hamlet เลยไม่ได้รับการปล่อยตัว สุดท้ายจึงกลายมาเป็น Vyacheslav Tikhonov ตอบตกลงหลังการถ่ายทำผ่านไปแล้วสามเดือน
เฉกเช่นเดียวกับ Bondarchuk ภาพลักษณ์ของ Tikhonov ดูแก่เกินอายุตัวละครไปมาก ริ้วรอยเหี่ยวย่นแสดงถึงประสบการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Prince Andrei ยังไม่ควรจะมีในตอนต้น เพราะเขาคือเด็กหนุ่มที่ยังอ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อโลก เต็มไปด้วยความเก็บกด อึดอัดอั้น โดยเฉพาะความคาดหวังจากบิดา ทำให้ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ทำอะไรๆด้วยตัวของตนเอง ต้องการท้าพิสูจน์ด้วยการอาสาสมัครทหาร ก่อนสาแก่ใจถึงความเหี้ยมโหดร้าย หายนะจากสงคราม
ผมเริ่มชื่นชอบการแสดงของ Tikhonov ตั้งแต่ภาคสามเป็นต้นไป เมื่อตัวละครมีการเรียนรู้ เติบโต การกลับมาเป็นทหารรอบนี้ไม่ใช่เพราะความคาดหวังของใคร (บิดาเสียชีวิตจากไปแล้ว) แต่ต้องการหลบหนีความอับอายขายขี้หน้า (เพราะถูกคู่หมั้นคบชู้สู่ชาย) ถึงขนาดปฏิเสธคำชักชวนของจอมพล Mikhail Kutuzov เลือกที่จะเตรียมพร้อมสู้รบ เผชิญหน้าความตาย ระหว่างเฝ้ารอคอยรับคำสั่ง ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากระเบิดลูกหลง ตระหนักถึงความโง่ขลาดเขลา รู้สึกสูญเสียดายอนาคตที่ไม่มีวันมาถึง
Ludmila Mikhailovna Savelyeva (เกิดปี 1942) นักเต้น นักแสดง สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Leningrad, เริ่มเรียนบัลเล่ต์ตั้งแต่อายุ 11 จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาจาก Vaganova Academy of Russian Ballet แล้วเข้าร่วม Mariinsky Theatre ก่อนได้รับการคัดเลือก แจ้งเกิดโด่งดังกับ War and Peace (1964)
รับบท Countess Natalya ‘Natasha’ Ilyinichna Rostova (เกิดปี 1792) เมื่อตอนเริ่มต้นภาคแรก เธออายุเพียง 13 ปี ยังเต็มไปด้วยความน่ารักสดใส อ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา อิจฉาริษยาคู่รัก มอบจุมพิตแรกให้กับ Prince Boris Drubetskoy แต่ก็มีความชื่นชอบสนิทสนมลูกพี่ลูกน้อง Count Pierre Bezukhov ที่มาเยี่ยมเยือนบ่อยครั้ง
เมื่ออายุ 16 ปี มีโอกาสเต้นรำกับ Prince Andrei Bolkonsky ทำให้ตกหลุมรัก สัญญาหมั้นหมาย แต่ระยะเวลาหนึ่งปีทำให้จิตใจของเธอเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย เมื่อถูก Anatole Kuragin พยายามเกี้ยวพาราสี จึงมิอาจควบคุมความต้องการตนเอง ตั้งใจจะหลบหนีไปอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อถูกครอบครัวจับได้เธอจึงสูญเสียโอกาสทุกสิ่งอย่าง
เพียงไม่นาน Natasha ก็ตระหนักได้ถึงความโง่เขลา รู้สึกผิดที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง ซึ่งเมื่อ Napoleon เข้ายึดครองกรุง Moscow ระหว่างอพยพหลบหนีมีโอกาสพบเจอ Prince Andrei ในสภาพร่อแร่ปางตาย จึงต้ดสินใจอุทิศตนเองปฐมพยาบาล ดูแลเขาจนกระทั่งวินาทีสุดท้าย และเมื่อสงครามสิ้นสุดหวนกลับมาพบเจอ Pierre ยินยอมหมั้นหมาย ตกลงแต่งงาน และมีบุตรร่วมกันสี่คน
มีนักแสดงหญิงหลายคนที่แสดงความสนใจบทบาทนี้ Natasha Rostova, Anastasia Vertinskaya, Larisa Kadochnikova, Natalya Fateeva, Lyudmila Gurchenko แต่ผู้กำกับ Bondarchuk กลับเลือกนักบัลเล่ต์สาว Ludmila Savelyeva ที่ยังไม่มีชื่อเสียงใดๆ เพราะความน่ารักสดใส และทักษะการแสดงที่โดดเด่นกว่าใคร
ผมหลงใหลในความน่ารัก สดใสไร้เดียงสา ตั้งแต่แรกพบเห็น Savelyeva (น่าจะสามารถเทียบชั้น Andrey Hepburn ได้สบายๆ) โดยเฉพาะขณะเล่น-เต้น เต็มไปด้วยรอยยิ้มบนใบหน้า และต้องบอกเลยว่าคาดคิดไม่ถึงกับช่วงท้ายภาคสอง ยังสามารถแสดงอาการคลุ้มคลั่ง กรีดกราย จะเป็นจะตาย ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดรวดร้าว ทั้งรู้ว่าเป็นสิ่งผิดและโง่เขลา แต่ความกระสันต์ซ่านร่านราคะ ‘ติดสัด’ มันเป็นสิ่งมิอาจหักห้ามใจคนหนุ่มสาว กว่าพายุจะสงบลงได้ ความเสียหายก็มากเกินเยียวยา
การแสดงของ Savelyeva ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของหนัง ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์น่ารักสดใส แต่ยังต้องถ่ายทอดพลังการแสดงเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความหมายของการสูญเสีย ความหมกมุ่น อารมณ์ชั่ววูบนำทางสู่หายนะ ภัยพิบัติ (สะท้อนเข้ากับการสงคราม หายนะของกรุง Moscow ได้อย่างทรงพลัง)
สำหรับการถ่ายภาพ แรกเริ่มนั้นมอบหมายคู่สามี-ภรรยา Alexander Shelenkov และ Yu-Lan Chen แต่ทั้งสองสร้างความขัดแย้ง โต้ถกเถียงผู้กำกับ Bondarchuk อยู่แทบทุกวี่วัน จนครี่งปีผ่านไปมิอาจอดรนทนไหว ขอถอนตัวออกจากโปรเจค แล้วได้ผู้ช่วยตากล้อง Anatoly Petritsky ก้าวขี้นมารับงานเต็มตัวครั้งแรก
กระแสนิยมของฟีล์ม 70mm ในระดับนานาชาติ เพราะสามารถมอบประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ที่สุด(ขณะนั้น) ทำให้โปรดิวเซอร์มีความใคร่สนใจถ่ายทำหนังด้วยระบบนี้ แต่ในสหภาพโซเวียตกลับไม่มีใครมีประสบการณ์ หรือเทคโนโลยีรอบรับที่เหมาะสม ไม่ใช่เรื่องง่ายจะนำเข้าฟีล์มเนกาทีฟจำนวนมากจากยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้มีเพียง Chronicle of Flaming Years (1961) ของผู้กำกับ Yuliya Solntseva [ที่ไปคว้ารางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes] ถือเป็นภาพยนตร์แห่งสหภาพโซเวียตเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยระบบ Sovscope 70 (ลอกเลียนแบบจาก Todd-AO) หน่วยงานรัฐจึงสั่งให้เร่งการผลิตฟีล์มภายในประเทศ ก่อเกิดกระแสนิยมติดตามมาอีกเป็นทศวรรษ
ในตอนแรกโปรดิวเซอร์ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับคุณภาพฟีล์ม 70mm เลยสั่งให้ถ่ายทำด้วยระบบปกติ 35mm ควบคู่กันไปด้วย แต่ไม่นานก็พบว่ามันเป็นความโคตรสิ้นเปลืองและเสียเวลา ยิ่งฉากต่อสู้ ระเบิดตูมตาม ถ้าต้องถ่ายใหม่อย่างน้อยสองครั้ง งบประมาณคงเพิ่มสูงขึ้นมหาศาล จึงล้มเลิกถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm
สิ่งหนึ่งที่หนังได้ทำการปฏิวัติวงการถ่ายภาพสมัยนั้น คือการคิดค้นรีโมทคอนโทรล (Remote Control) สำหรับเคลื่อนเลื่อนกล้อง หมุนซ้ายหมุนขวา ระหว่างจับภาพมุมสูงขณะถ่ายทำฉากสู้รบสงคราม … ใครอยากเห็นว่าเป็นยังไงให้รับชมคลิปเบื้องหลังนี้ดูนะครับ
ด้วยสเกลงานสร้างที่มีความยิ่งใหญ่โตมโหฬาร ต้องว่าจ้างทีมโปรดักชั่นจาก 40 บริษัท ติดต่อขอหยิบยืมเฟอร์นิเจอร์ สิ่งของประกอบฉากจากพิพิธภัณฑ์ 58 แห่ง ไหนจะออกแบบเสื้อผ้า สัตว์ขับขี่ เกวียนลา อาวุธยุทโธปกรณ์ ปืน ระเบิด (ก็ถึงขนาดต้องว่าจ้างนักควบคุมเพลิง Pyrotechnician เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจบังเกิดขึ้น) ตัวประกอบทหารเกณฑ์กว่า 12,000+ คน (ได้รับคำปรึกษาจากนายพลสามคน) และยังต้องก่อสร้างกรุง Moscow และปรับปรุงสถานที่สำหรับยุทธการ Battle of Borodino (ได้ถ่ายทำยังสถานที่สู้รบสงครามกันจริงๆด้วยนะ)
แซว: ว่ากันว่าทหารเกณฑ์แทบทุกคนในช่วงเวลานั้น จะมีส่วนร่วมถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มากก็น้อย
หนังเริ่มต้นถ่ายทำวันที่ 7 กันยายน 1962 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 150 ปี ยุทธการ Battle of Borodino พอดิบดี (ถือฤกษ์ถือยามกันสุดๆ) เท่าที่มีรายงานและผมอ่านพบเจอ ฉากสงครามทั้งหมดใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 2 ปี!, งานเต้นรำของ Natasha พร้อมตัวประกอบ 500 คน แต่ถ่ายทำเกือบๆ 6 เดือน!
ช่วงระหว่างถ่ายทำ ไม่รู้เพราะความเครียดหรืออย่างไร ผู้กำกับ Bondarchuk หัวใจล้มเหลว (Heart Attack) ถึงสองครั้ง (พี่แกก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อปี 1994) ครั้งหนึ่งเคยหัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ (ทางการแพทย์ถือว่าเสียชีวิตไปแล้วด้วยละ) แต่ก็ยังสามารถฟื้นคืนชืพขึ้นมา พร้อมพูดประโยคแรกว่า
If I die, let (Sergei) Gerasimov finish it.
Sergei Bondarchuk
หนังเริ่มต้นด้วยจุดสีเขียวเล็กๆ ค่อยๆขยายขนาดใหญ่จนเต็มจอ แล้วพบเห็นภาพต้นไม้กำลังงอกเงย สามารถสื่อถึงจุดเริ่มต้นของสรรพชีวิต จากนั้นภาพซ้อนระหว่างต้นหญ้ากับเทือกเขาปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน แฝงนัยยะถึงจุลภาค-มหภาค เรื่องราวของสิ่งเล็กๆสามารถสะท้อนสากลจักรวาล หรือก็คือภาพยนตร์เรื่องนี้ War and Peace นำเสนอความขัดแย้ง/แตกต่างระหว่างสองสิ่งขั้วตรงข้าม

เพียงไดเรคชั่นของฉากแรกก็มีความน่าสนใจมากๆ น่าจะเป็นการเข้าสังคมครั้งแรกของ Pierre Bezukhov สังเกตว่ากล้องจะเคลื่อนไหล แพนนิ่ง ในระดับสายตาเท่านั้น ไม่มีมุมก้ม-เงย (นัยยะถึงความเท่าเทียมกันในสังคม) หรือจับจ้องที่ใครคนใด เพียงบางครั้งถ่ายติดรูปปั้น (สะท้อนเข้ากับบุคคลประกอบฉากนั้น) และเก็บรายละเอียดสถานที่ ผู้เข้าร่วมงานเท่านั้น ด้วยจังหวะเนิบนาบ เชื่องช้า (ชืวิตที่ดำเนินไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน)

ผู้ชมน่าจะสังเกตความแตกต่างขั้วตรงข้ามของ Prince Andrei Bolkonsky และ Pierre Bezukhov ได้ตั้งแต่ซีนแรกๆที่พวกเขาพบเจอกัน นั่งอยู่คนละฟากฝั่ง สวมชุดคนละสี ท่านั่งผ่อนคลายกับวางมาดให้ดูดี และยังหัวข้อสนทนา ทัศนคติคิดเห็นส่วนตัว ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยสักอย่าง

ปัญหาระหว่าง Prince Andrei กับภรรยา ถูกนำเสนออย่างเรียบง่าย แต่ใช้ภาษาภาพยนตร์ทำให้ทรงพลังขึ้นมา กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเข้าไปจับจ้องใบหน้าหญิงสาว ขณะกำลังพร่ำบอกปัญหา (พร้อมหลั่งน้ำตา) แต่เมื่อถูกสามีทัดทาน สั่งห้ามหยุดพูด กล้องเคลื่อนถอยหลังกลับตำแหน่งมุมกล้องนี้โดยไว แสดงถึงความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจ สัมพันธภาพที่ใกล้แตกหัก

ความระห่ำของ Fyodor Dolokhov และ Anatole Kuragina ไม่เพียงแค่การกระทำบ้าๆบอๆของพวกเขา แต่ยังภาษาภาพยนตร์ กล้องเคลื่อนไหลอย่างโฉบเฉี่ยว เอียงไปเอียงมา สั่นซ้ายสั่นขวา ให้ความรู้สึกเหมือนคนเมา แถมเลือกมุมกล้องที่ทำให้ผู้ชมเสียวสันหลังวาบ แล้วตัดภาพปฏิกิริยาของคนรอบข้าง ลุ้นระทึก สร้างความตื่นเต้น บางคนก็เบือนหน้าหนีทนเห็นภาพไม่ได้ เรียกว่ามีความสมจริงอย่างสุดๆๆ … ทั้งสองตัวละครนี้ต่างสร้างปัญหาให้ Prince Andrei และ Pierre ไม่แตกต่างจากกองทัพ Napoleon เลยนะ

ช็อตแรกของ Natasha Rostova (ในวัยสิบสามขวบ) ชวนให้นึกว่านางฟ้าลงมาโปรดจากสรวงสวรรค์ โดยเฉพาะลำแสงที่สาดส่องเข้ามาทางหน้าต่าง ทำให้เด็กหญิงดูเจิดจร้า จรัสแสง แถมยังมีการตัดต่อไล่ระดับ Medium -> Close-Up -> Extreme Close-Up ก่อนหวนกลับสู่ Full Shot เพื่อแสดงความระริกระรี้ ‘high-spirit’ วิ่งเข้ามาทักทายทุกผู้คน

นี่คือภาพจำของ Natasha ที่ได้พบเห็นคู่รักกอดจูบ กลายเป็นภาพซ้อนติดตา บังเกิดความโหยหา เพ้อใฝ่ฝัน อนาคตสักวันฉันจะต้องได้ครอบครอง ตกหลุมรัก จุมพิตอย่างโรแมนติก (ไม่เหมือนสิ่งที่เธอพยายามทดลองทำ ‘first kiss’ ในซีนต่อๆมา) … แค่เทคนิคซ้อนภาพเล็กๆนี้ คงทำให้ใครหลายคน(และผมเอง)ตกหลุมรักความใสซื่อบริสุทธิ์ของ Natasha โดยไม่รู้ตัวแล้วละ

First Kiss ของ Natasha เป็นความเรื่องมาก เอาแต่ใจ เริ่มจากพยายามอ่อยเหยื่อให้ Prince Boris Drubetskoy โน้มตัวลงมาจุมพิต แต่หมอนี่กลับตีมึน งงสนิท ยังไร้เดียงสาเกินกว่าจะรับรู้ความตั้งใจ (ผู้หญิงเติบโตเร็วกว่าผู้ชาย สินะ!) เธอจึงลากเขาเข้ามาในสวน หลบซุกซ่อนไม่ให้ใครพบเห็น แล้วยืนบนเก้าอี้ให้ตนเองอยู่สูงกว่า (แสดงถึงความต้องการในการเลือก สามารถตัดสินใจทำอะไรๆด้วยตนเอง) จากนั้นก็ถาโถม โอบกอด ริมฝีปากบดขยี้ ไร้ความโรแมนติก เซ็งเป็ด!

สำหรับ Pierre ที่ไม่ค่อยชอบเข้าสังคมนัก เขาได้คู่เต้นแรกในหนังคือเด็กหญิง Natasha เมื่อพบเห็นความร่าเริงสดใส โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักใคร่ … แบบเดียวกับงานเต้นรำเข้าสังคมครั้งแรกของ Natasha ที่เมื่อได้คู่ Prince Andrei ก็ตกหลุมรัก ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่
ช่วงต้นของภาค 1-2-3 ล้วนมีฉาก Ballroom Dance ที่แตกต่างทั้งสถานที่ นัยยะ และความสำคัญต่อเรื่องราว
- ภาคแรก, Pierre เต้นรำกับ Natasha ยังคฤหาสถ์ Rostova ขนาดกลางๆ แทบทั้งนั้นเป็นญาติมิตร คนรู้จัก แต่งตัวแค่เป็นทางการ เด็กๆสามารถวิ่งเล่นสนุกสนานอย่างกันเอง
- ภาคสอง, งานเต้นรำเข้าสังคมของ Natasha กับ Prince Andrei ยังโถงปราสาทสักแห่งหนที่มีขนาดใหญ่โต คาคั่งด้วยผู้คน ชนชั้นสูง แต่งตัวอย่างหรูหรา โอ้อวดความมั่งคั่งร่ำรวย
- ภาคสาม, ไม่รู้จัดงานแห่งหนไหน ไม่มีตัวละครหลักใดๆเข้าร่วม แต่ออกแบบห้องโถงด้วยโทนสีเข้ม (ขนาดใหญ่กว่าภาคแรก แต่เล็กกว่าภาพสอง) สร้างบรรยากาศมืดหมองหม่น และไม่นานก็ต้องแยกย้ายเพราะกองทัพ Napoleon กำลังเคลื่อนเข้ามาประชิดกรุง Moscow



ระหว่าง Pierre กำลังสนุกสนานอยู่กับงานเลี้ยง เริงระบำ หนังนำเสนอเหตุการณ์คู่ขนานที่บิดากำลังป่วยหนัก บาทหลวงทำพิธี ใกล้ถึงวาระสุดท้ายของ ‘ชีวิต-ความตาย’ … หลังจากนี้ยังมีอีกขณะที่พบเห็นใบหน้าบิดา ซ้อนทับงานเลี้ยงเต้นรำ ไดเรคชั่นดังกล่าวเหมือนนำเสนอว่า เขายินดีปรีดาที่บิดากำลังจะจากลาจากโลกนี้ไป เพราะตนเองจักได้หลุดพ้นพันธาการ ‘บุตรนอกสมรส’ กลายเป็นเจ้าของมรดกมากมายมหาศาล ต่อจากนี้สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำโดยใครอีก
บรรยากาศคฤหาสถ์ Bezukhov ก็ตรงกันข้ามกับคฤหาสถ์ของ Rostova ถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด ผู้คนเต็มไปด้วยความเศร้าโศก เคล้าน้ำตา พบเห็นผ้าห่มสีเขียว (สัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย ปีศาจ ธนบัตร) และแสงสีเหลืองทอง (สัญลักษณ์ของเงินทอง ความหรูหรา)

หนึ่งในเอฟเฟคที่พบเห็นบ่อย (โดยเฉพาะภาคหลังๆ) คือการทำให้จู่ๆภาพดูเบลอๆ ขุ่นมัว เหมือนคราบน้ำไหลอาบหน้ากล้องลงมา นี่ไม่ใช่การปรับโฟกัส แต่คือทำอะไรสักอย่างกับฟิลเลอร์ หรือใช้กระจกที่มีความเปลอะเปอะเปลื้อนเคลื่อนผ่านหน้ากล้อง ให้เดี๋ยวชัด เดี๋ยวเบลอ … นี่เป็นการนำเสนอภาพด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ราวกับเป็นการสร้างความรู้สึกด้วยภาษาภาพยนตร์ เพื่อผู้ชมจะได้รับอารมณ์ร่วมกับเรื่องราว

Pierre แม้เป็นคนในครอบครัว Bezukhov แต่ยังต้องได้รับการนำทางเพื่อไปหาบิดาครั้งสุดท้าย (ไม่ได้พบเห็นขณะเสียชีวิตด้วยนะ) พานผ่านกรอบภาพวาดที่ว่างเปล่า แถมปกคลุมด้วยความมืดมิด มันราวกับว่าอดีตของตระกูล Bezukhov กำลังจะสาปสูญหายไป ไร้ทายาทสืบทอดต่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย (Pierre มีศักดิ์เพียงบุตรนอกสมรส แม้สุดท้ายจะได้ครอบครองมรดกทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Bezukhov อย่างแท้จริง)
โดยปกติแล้วภาพวาดที่พบเห็นตามคฤหาสถ์ ปราสาท พระราชวัง มักเพื่อแสดงประวัติศาสตร์ เกียรติภูมิ หรือความยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษ วงศ์ตระกูล แต่เมื่อมันสูญหาย ว่างเปล่า แถมปกคลุมด้วยความมืดมิด ก็แปลว่าอดีตกำลังถูกลบเลือน ทำลายล้าง (หรือจะมองว่าเป็นอารัมบทนำเข้าการล่มสลายของกรุง Moscow ก็ได้เช่นกัน)
นี่ยังสื่อถึง Pierre จักกลายเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ แม้มีสายเลือด Bezukhov แต่ก็ไม่ถูกพันธนาการด้วยกฎกรอบ ขนบธรรมเนียม สิ่งยึดถือมั่นของวงศ์ตระกูล ซึ่งพอถึงภาคสี่เขาก็ยินยอมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ปลอมตัวเป็นสามัญชน เพื่อเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นนับหนึ่ง ก้าวสู่อนาคตวันใหม่

เรื่องราวทางฝั่ง Prince Andrei ฉากที่ผมครุ่นคิดว่าอธิบายความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวได้ตรงที่สุด ก็คือในห้องอาหาร กล้องตั้งห่างๆวางไว้เฉยๆ แล้วให้เหตุการณ์ดำเนินไป Long Take (ฉากส่วนใหญ่ในคฤหาสถ์ Bolkonsky มักเป็น Long Take แช่ภาพทิ้งไว้นานๆ) ตั้งแต่บิดา Prince Nikolai เดินเข้ามา สั่งให้คนรับใช้ออกไปเตรียมอาหาร จากนั้น Prince Andrei เลื่อนเก้าอีกให้ภรรยา เสร็จแล้วกลับมานั่งประจำ ถึงค่อยเริ่มมาเสิร์ฟออเดิร์ฟ … เรียกว่าต้องมีลำดับ มีขั้นมีตอน รักษาระยะห่าง ทุกสิ่งอย่างดูถูกต้อง ไม่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติ วงศ์ตระกูล บรรพบุรุษ

ความสัมพันธ์ระหว่าง Pierre Bezukhov กับ Hélène Kuragina นำเสนอได้อย่างน่าตกตะลึงมากๆ ทั้งสองถูกจับคู่ ให้พบเจอ นั่งพูดคุย แต่กลับไร้ซึ่งการสนทนา แน่นิ่งเงียบ เพียงจับจ้องมองตาอยู่อย่างนั้น นี่ไม่ใช่ความโรแมนติกเลยนะครับ เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จะทำอะไรต่อกัน … แล้วจู่ๆบิดา-มารดา (ทางฝั่งของ Hélène) ก็ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง บีบบังคับให้ Pierre ตอบตกลงแต่งงาน โดยไม่สามารถบอกปัดปฏิเสธ ขัดขืนต่อต้านประการใด (เพราะลึกๆเขาก็คงมีปรารถนาจะได้ครอบครองเธออยู่เช่นกัน)
ช่วงแรกๆของฉากนี้ กล้องจะจับภาพเพียง Pierre กับ Hélène ค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเข้ามาจากฝั่งซ้าย แต่หลังจากครอบครัวฝ่ายหญิงเริ่มเข้ามาจุ้นจ้าน กล้องเคลื่อนเลื่อนไปทางขวา มาจนพบเห็นอีกห้องห้อง คั่นกลางด้วยประตู ฝาผนัง หนุ่ม-สาวยังคงนั่งอยู่ฝั่งซ้าย แต่พ่อ-แม่(ที่อยู่ฝั่งขวา)กลับมีท่าทีลุกรี้ลุกรน เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่สามารถหยุดสงบนิ่ง เลยเข้ามาก้าวก่าย บีบบงการ ชักใยอยู่เบื้องหลัง
แม้ไดเรคชั่นฉากนี้จะน่าสนใจโคตรๆ แต่นักแสดงดูแก่เกิ้นวัย ทั้งสองควรเป็นคนหนุ่มสาว ผิวพรรณเต่งตึง เมื่อถูกจับคู่จะสามารถแสดงอาการเขินอาย หน้าแดง จิ้มลิ้ม ไม่ใช้สงบเสงี่ยม แน่นิ่ง เพียงจับจ้องมองหน้า (คือมันดูไม่สมริ้วรอยเหี่ยวย่นของทั้งสองเลยไง)

ขอกล่าวถึงนายพลตาเดียว (ภาคสามจะกลายเป็นจอมพล) Mikhail Kutuzov (รับบทโดย Boris Zakhava) ชื่อจริง Prince Mikhail Illarionovich Golenishchev-Kutuzov (1745-1813) เป็นบุคคลมีตัวตนจริงๆในประวัติศาสตร์ รับใช้ชาติถึงสามแผ่นดิน ตั้งแต่จักรพรรดินี Catherine the Great ตามด้วย Paul I และ Alexander I มีชื่อเสียงโด่งดังจากการทำสงครามกับ Turks ถูกยิงเข้าที่ศีรษะสองครั้งแต่ยังสามารถรอดชีวิต (ครั้งหนึ่งทำให้ตาบอดไปข้าง) และในสงครามกับกองทัพพันธมิตรฝรั่งเศส เป็นผู้นำยุทธการ Battle of Borodino แม้ตัดสินใจล่าถอยทัพจนต้องสูญเสียกรุง Moscow แต่ก็สามารถหวนกลับมากูหน้า โต้ตอบ และขับไล่ Napoleon ออกจากจักรวรรดิรัสเซียได้สำเร็จ
นี่ถือเป็นตัวละครรองที่พบเห็นบ่อยครั้งจนหลายคนน่าจะจดจำหน้าได้ น่าเสียดายหนังนำเสนอตัวละครไม่สมศักดิ์ศรีวีรบุรุษสักเท่าไหร่ ดูอ่อนแอ ปวกเปียก ขี้ขาดเขลา เป็นนายพล/จอมพลที่หลับนอนเวลาประชุม เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ สนเพียงความปลอดภัยของตนเองและพวกพ้อง ถึงสงครามพ่ายแพ้ก็ไม่ยินยอมรับความจริง!

หนังลวงหลอกผู้ชมด้วยความตายของ Prince Andrei ได้แนบเนียนมากๆ เริ่มต้นด้วยวงกลม ‘Iris Shot’ บริเวณที่เหมือนถูกยิง แล้วเคลื่อนมาจับจ้องใบหน้า จากนั้นตัดไปภาพท้องฟ้า ซูมเข้าหากึ่งกลางก้อนเมฆที่ค่อยๆแยกตัวออก (สมัยนั้นน่าจะยังไม่สามารถควบคุมฟ้าฝนได้หรอกนะ เป็นโชคล้วนที่ถ่ายทำช็อตนี้สำเร็จ) แล้วตัดไปภาพถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ มองลงมาพบเห็นทหารม้าวิ่งวนรอบเป็นวงกลม … เหล่านี้คือไดเรคชั่นที่ให้ความรู้สึกเหมือนวิญญาณของ Prince Andrei กำลังล่องลอยออกจากร่าง โบยบินขึ้นสู่สรวงสวรรค์ แล้วหันกลับมามองจุด(เริ่มต้น-)สิ้นสุดของชีวิตและสงคราม



เป็นอีกครั้งที่หนังนำเสนอเหตุการณ์คู่ขนาน ระหว่างตระกูล Rostova แสดงความดีอกดีใจที่บุตรชายคนโตสามารถเอาตัวรอดกลับมา ตรงกันข้ามกับตระกูล Bolkonsky ที่เหมือนว่า Prince Andrei ถูกยิงเสียชีวิต … เป็นฉากที่สะท้อนผลกระทบจากสงคราม ที่มีทั้งชัยชนะ-พ่ายแพ้ ชีวิต-ความตาย ฝ่ายหนึ่งเริงร่าดีใจ อีกฝั่งย่อมร่ำไห้เศร้าโศก


ขณะที่ใครต่อใครยืนขึ้น ยกแก้ว เฉลิมฉลองต่อพระเจ้าซาร์ Pierre กลับทำตัวเฉื่อยชา เชื่องช้า ไม่ค่อยอยากมีส่วนร่วมกับการงานเลี้ยงนี้สักเท่าไหร่ (แล้วจะมาร่วมงานทำไม?) ถึงอย่างนั้นนี่ก็เป็นการเผชิญหน้า ท้าดวลปืนกับ Fyodor Dolokhov เพราะได้ยินข่าวลือถือการลักลอบคบชู้นอกใจภรรยาของตนเอง (ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ)

ผลลัพท์ของการดวล แม้ไม่ได้เข่นฆ่า Fyodor Dolokhov แต่สภาพจิตใจของ Pierre ก็ตกอยู่ในสภาพหดหู่ หมดสิ้นหวัง ตระหนักได้ทันทีถึงแม้ภรรยา Hélène จะพยายามสรรหาข้ออ้างโน่นนี่นั่น แต่เธอก็มักยืนอยู่ตำแหน่งที่แสดงถึงการแบ่งแยก ถูกบดบังด้วยอะไรบางอย่าง ทำให้ดูจืดชืด ไร้สีสัน พูดมากกว่าตอนทั้งสองพบเจอหน้ากันครั้งแรกๆเสียอีก
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มาถึงกาลแตกหัก (นำเสนอคู่ขนานกับภรรยาของ Prince Andrei ที่กำลังจะคลอดลูกและหมดสิ้นลมหายใจ) แต่ต่างฝ่ายยังครองสถานะแต่งงาน ยินยอมจ่ายค่าเลี้ยงดู เพียงเพราะไม่ต้องการให้เกิดเรื่องอื้อฉาวใดๆ

บรรยากาศในคฤหาสถ์ Bolkonsky ระหว่างที่ภรรยา Prince Andrei กำลังจะคลอดบุตร แทบไม่แตกต่างจากตอนที่บิดาของ Pierre กำลังจะเสียชีวิต ค่ำคืนปกคลุมด้วยความมืดมิด มีเพียงแสงสีน้ำเงิน มอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก ความตายกำลังคืบคลานมาถึง พร้อมกับวินาทีให้กำเนินชีวิตใหม่

เมื่อสองหนุ่มหวนกลับมาพบเจอกัน พวกเขาพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนมุมมองทัศนะที่ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนแปลงไปจากตอนต้นเรื่อง(ที่นั่งสนทนาในห้อง)อย่างสิ้นเชิง! ซึ่งพวกเขาก็กำลังก้าวเดินจากฟากฝั่งหนึ่ง (เห็นด้านหน้า) ผ่านหน้ากล้อง แพนติดตาม และก้าวไปสู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง (เห็นด้านหลัง) สะท้อนถึงทุกสิ่งอย่างที่กลับตารปัตร แตกต่างตรงกันข้าม


มีเพียงกาลเวลาที่ทำให้ต้นไม้ที่แห้งเหี่ยวเฉา กลับมาฟื้นฟูเต็มไปด้วยใบ้ไม้เขียวฉอุ่ม … แม้ผมมองยังไงสองต้นไม้นี้มันคนละต้นกัน แต่หนังนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ ธรรมชาติก็เฉกเช่นเดียวกัน


เริ่มต้นภาคสองจะพบเห็นการแบ่งจอภาพด้วยเทคนิค Split-Screen โดยไม่อธิบายอะไรเลยเกี่ยวกับช็อตนี้ ผมก็แต่คาดเดาว่าเป็นการคั่นแบ่ง พักรบชั่วคราว ฝั่งซ้ายกองทัพ Napoleon ฝั่งขวาจักรวรรดิรัสเซีย ส่วนกึ่งกลายเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายกำลังส่งคนไปเจรจาอะไรสักอย่าง … ซึ่งสะท้อนกับเรื่องราวของภาคนี้ที่จะไม่การรบพุ่งใดๆ เพียงมุมมองของ Natasha Rostova ซึ่งถือว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝั่งฝ่าย รักสาม-สี่เส้า ต่างเป็นที่หมายปองของบุรุษ
แม้เป็นตอนที่ไม่ฉากรบพุ่ง (ช่วงท้ายของหนังถือเป็น Teaser ของภาคสามนะครับ) แต่เราสามารถเปรียบเทียบเรื่องราว สิ่งบังเกิดขึ้น (ทั้งร่างกาย-จิตใจ) ต่อ Natasha สะท้อนการสงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซีย vs. กองทัพ Napoleon และสภาพกรุง Moscow หลังถูกยึดครอบครอง

มันไม่ใช่ว่าไม่มีใครสนใจ Natasha หรอกนะครับ แต่เพราะเธอยังเด็ก ยังไม่เป็นที่รู้จัก และเพิ่งมาร่วมงานสังคมอย่างเป็นทางการครั้งแรก หนังจึงพยายามสร้างความคาดหวังหวังให้ตัวละคร (และผู้ชม) พยายามจับจ้อบมองหา ยืนข้างๆภาพสะท้อนในกระจก เมื่อไหร่จะมีใครสักคนเข้ามาขอมือ เพื่อจะได้แสดงความสามารถให้ได้รับการยอมรับ เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คน
การที่หนังใส่เสียงบรรยายความคิดตัวละคร มันทำให้ผู้ชมเข้าใจความระริกระรี้ ลุ่มเร่าร้อนที่อยู่ภายในทรวงอกหญิงสาว ต้องการจะตกหลุกรัก ใคร่อยากได้เจ้าชายสักคน เพื่อจะเติมเต็มตัณหา ความต้องการ เพ้อใฝ่ฝัน

หลังจากเฝ้ารอคอยมาสักพักใหญ่ ภาพด้านหลังของ Natasha ค่อยๆถูกปรับให้เบลอหลุดโฟกัส จนมองไม่เห็นฝูงชนรายล้อมรอบ นี่เป็นการสร้างความรู้สึกให้ผู้ชม เหมือนเธอกำลังจะร่ำร้องไห้ เพราะถูกทอดทิ้งขว้างให้อยู่ตัวคนเดียวบนโลก นี่ฉันไม่สวยพอหรืออย่างไร ทำไมถึงไม่มีใครให้สนใจขอมือเต้นระบำ

แล้วเจ้าชายชุดขาวก็เดินตรงเข้ามา กล้องเคลื่อนถอยหลังแล้วซูมเข้าไปข้างหน้า (‘Vertigo Shot’ มั้งนะ) ให้ความรู้สึกเหมือนว่า Prince Andrei คือบุคคลสำคัญที่ Natasha เฝ้ารอคอยมาแสนนาน

นอกจากการเคลื่อนกล้องมุมสูง (Bird Eye View) ซ้ำไปมาหลายๆครั้ง (สื่อถึงความสุขที่หญิงสาวอยากให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์) ภาพช็อตนี้ราวกับใช้เพชรเป็นฟิลเลอร์ สาดส่องแสงสีรุ้ง ระยิบระยับ ถือเป็นช่วงเวลางดงามล้ำค่าที่สุดในชีวิตของ Natasha ได้เต้นระบำครั้งแรกกับ Prince Andrei (แต่ผมรู้สึกเหมือนการสูญเสียความบริสุทธิ์/พรหมจรรย์ครั้งแรกมากกว่านะ) จักเก็บความทรงจำที่มีเพียงเราสองครั้งนี้ไว้ชั่วนิรันดร์

นี่เป็นฉากที่ใช้เทคนิค Split Screen ได้อย่างน่าประทับใจมากๆ หนุ่ม-สาวทั้งสองฟากฝั่งต่างมิอาจปกปิดบังความประทับใจที่ได้จากการเต้นระบำครั้งนั้น ต้องพูดคุยระบายออกให้เพื่อนสนิท-มารดา เข้าถึงความต้องการจากภายใน ซึ่งเหมือนว่าพวกเขาจะพูดพร้อมกัน แต่หนังจะเลือกใช้เสียงจากเพียงฝั่งหนึ่ง แล้วค่อยสลับกันไปมา

มันจะมีขณะหนึ่งที่กล้องจากทั้งสองฟากฝั่งเคลื่อนเข้าไปใกล้ตัวละครที่นั่งอยู่ แต่แทนที่ฝั่งซ้ายจะเป็น Prince Andrei กลับเป็น Pierre ที่นั่งหน้าละห้อย (นั่นเพราะเขาแอบตกหลุมรัก Natasha แต่ไม่สามารถพูดแสดงออกความต้องการออกมา) แม้อยู่เคียงข้างแต่ตรงกันข้ามกับ Natasha ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ระริกระรี้ เบิกบานด้วยรอยยิ้ม เพ้อใฝ่ฝัน เฝ้ารอคอยว่าเจ้าชายคนนั้นจะรีบเดินทางมาหา

แต่เพียงแค่สามสี่วันที่ไม่มีใครอยู่ในห้องพักฝั่งสีคราม ก็ทำให้ Natasha กรีดกราย ร่ำร้องไห้ แสดงอาการเจ็บปวดรวดร้าว เป็นหญิงสาวไร้ซึ่งความอดรนทน สนเพียงความสุขเฉพาะหน้า เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจอย่างสุดๆไปเลยละ

สังเกตว่ามุมกล้องที่จับภาพ Prince Andrei จะมีลักษณะเงยขึ้นเห็นเพดาน โคมระย้า สื่อถึงใครบางคน (บิดา) ที่ยังคงมีอิทธิพลควบคุมครอบงำตัวเขา ให้ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ทำอะไรๆได้ด้วยตนเอง ตรงกันข้ามกับฝั่งของ Natasha มุมกล้องก้มต่ำลงมาเห็นพื้นไม้ สะท้อนถึงสภาพจิตใจที่ตกต่ำหลังจากรับรู้ว่าต้องอดรนทนอีกหนึ่งปีถึงจะได้แต่งงาน อยู่เคียงข้างเจ้าชายคนรัก แม้ไม่อยากจะยินยอมรับ แต่จำต้องอดกลั้นฝืนทน


ฉากไล่ล่าหมาป่า ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงการทรมาน/เข่นฆ่าสัตว์ แต่เมื่อเทียบกับการสงคราม เข่นฆ่าคนตายนับหมื่นแสนล้าน Sequence นี้มันช่างกระจิดริด กระจ้อยร่อย เทียบกันได้เสียที่ไหน!
มุมกล้องหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากๆคือ ‘wolf eye view’ ในสายตาของเจ้าหมาป่าที่ถูกจับกุมโดยนักล่า เหมือนจะมีการใช้เลนส์ตาปลา (Fish-eye) เพื่อภาพฝั่งซ้าย-ขวา มีความโค้งมวนเหมือนทรงกลม … นัยยะฉากนี้ต้องการให้ผู้ชมปรับเปลี่ยนมุมมอง โลกทัศน์ สัตว์ประเสริฐ-เดรัจฉาน ต่างก็ต้องต่อสู้ เข่นฆ่า ใช้สันชาตญาณเอาตัวรอด ไม่ได้มีความแตกต่างสักเท่าไหร่?
หลายคนอาจเปรียบเทียบการไล่ล่า เข่นฆ่าหมาป่า ก็เหมือนสงครามที่ Napoleon พยายามเก็บกวาดชาติศัตรู ยึดครอบครองเป็นเจ้าของ กำจัดภัยพาลให้หมดสิ้นซาก
แซว: คนส่วนใหญ่อาจไม่ทันเอะใจว่า เนื้อที่ตัวละครรับประทานฉากถัดไป ก็คือเจ้าหมาป่าตัวนี้นี่แหละ (ไม่งั้นจะวิ่งไล่จับกันทำไม)


หลายคนอาจมองว่าฉากสู้รบสงคราม หรืองานเต้นรำ Ballroom Dance คือสิ่งน่าจดจำที่สุดของหนัง แต่ผมกลับหลงใหลคลั่งไคล้ฉากเล็กๆนี้มากกว่า ช่วงเวลาที่ Natasha เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความสุข รอยยิ้มอันบริสุทธิ์แสนหวาน เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น พอได้ยินเสียงเครื่องดนตรี (Balalaika) บรรเลง ก็พร้อมลุกขึ้นมาโยกเต้น เริงระบำเพลงพื้นบ้าน
นี่เป็นช่วงเวลาที่หญิงสาวไม่ต้องห่วงหน้า ห่วงหลัง ห่วงเกียรติ ห่วงศักดิ์ศรี ห่วงความเป็นผู้ดี บ่วงอะไรก็ไม่รู้ที่เหนี่ยวยึดติดพันธนาการเธอไว้ มันคือช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย อิสรภาพ รอยยิ้มที่มีเพียงความบริสุทธิ์ ไร้สิ่งชั่วร้ายใดๆเจือปน จนสามารถโบยบินถึงจุดสูงสุดอย่างแท้จริง

หนึ่งปีอาจไม่ใช่ระยะเวลายาวนานนัก แต่สำหรับหญิงสาววัย 16 ปี เพิ่งพานผ่านชีวิตมาไม่นานมาก ย่อมรู้สึกราวกับชั่วกัปชั่วกัลป์ ทำให้จิตใจปกคลุมด้วยความมืดมิด ขอให้คนรับใช้ไปหาไก่ขัน (เพื่อจะให้ยามเช้ามาถึงโดยไว) แต่เมื่อค้นพบแสงสว่าง ใครบางคนสามารถพูดคุย เคียงข้างผ่านค่ำคืนนี้ไปได้ด้วยดี (ก็ไม่ต้องการไก่ขันอีกต่อไป) … ซีนนี้เป็นการอารัมบทสิ่งกำลังจะบังเกิดขึ้นกับ Natasha เมื่อได้พบเจอชู้รัก จักกลายเป็นแสงสว่างยามมืดมิด (แต่กลับจะฉุดเธอให้ด่ำดิ่ง ตกนรกบนดิน ไม่ได้พบเจอรุ่งอรุณที่แท้จริงอีกต่อไป)


เป็นความพยายามของ Hélène Kuragina ในการชี้ช่องทางให้น้องชาย Anatole Kuragina เข้ามาเกี้ยวพาราสี ลับๆล่อๆ กระซิบกระซาบอยู่ด้านหลัง พรอดคำหวานต่อ Natasha (แต่ผู้ชมจะไม่ได้ยินสักประโยค) จนทำให้เธอมิอาจหยุดยับยั้ง หักห้ามใจตนเอง พร้อมจะทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างแล้วหนีตามไปอยู่เขา
การที่หนังไม่นำเสนอคำพรอดรักใดๆของ Anatole ทำให้ผู้ชมจับจ้องเพียงความรู้สึกที่กำลังผันแปรเปลี่ยนของ Natasha (ไม่หลงในคารมของชายหนุ่ม) เข้าใจว่าสิ่งบังเกิดขึ้นมาจากอารมณ์ สันชาตญาณ ความต้องการชั่ววูบ ไม่ใช่ด้วยสติ เหตุผล ครุ่นคิดหน้า-หลังให้รอบคอบรัดกุม


ขณะที่ Split Screen ฝั่งซ้าย Natasha กำลังเพ้อฝันถึงชายชู้รัก แต่ฝั่งขวา Fyodor Dolokhov กำลังพยายามย้ำเตือนสติ Anatole ให้ครุ่นคิดหน้า-หลังให้ดีๆ อนาคตหลังจากพาเธอหลบหนี ใช้เงินหมดตัว แล้วจะยังไงต่อไป นี่เป็นเกมที่อันตราย … แต่ชายหนุ่มก็ตอบกลับว่าเรื่องของอนาคตอย่าเพิ่งไปสนใจ อะไรจะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้น

เพราะเหตุว่า Natasha ยังเป็นเด็กสาวที่ต้องการการยินยอมรับจากผู้อื่น เธอจึงพูดบอกการตัดสินใจ(จะหลบหนีตามชู้รัก)ต่อพี่สาว เงยหน้าจับจ้องมองแสงสว่างที่สาดส่องจากด้านบนเหนือศีรษะ (Anatole เปรียบได้กับแสงสว่างที่มาถึงยามค่ำคืนมืดมิดของจิตใจ) และยังแนบชิดใบหน้า สื่อถึงความรัก ความสนิทสนม ต้องการการยินยอมรับจากอีกฝั่งฝ่าย แต่กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ นั่นคือสิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าเขารักก็ควรต้องแสดงออกอย่าเปิดเผย ไม่ใช่ลับๆล่อๆอย่างมีเลศนัยเช่นนี้!

การโคลสอัพใบหน้าตัวละครบนฟีล์ม 70mm ต้องเป็นฉากที่มีความกระแทกกระทั้นทางอารมณ์อย่างรุนแรงสุดๆ! แถมยังมีการเชื่อมสัมผัสระหว่างสองฉากนี้ จากความเศร้าโศกเสียใจของ Natasha ต่อด้วยใบหน้าอันหมดสิ้นหวังของ Anatole
ความสัมพันธ์ของทั้งสองถือว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ก็เหมือน Napoleon (Anatole) เมื่อยึดครอบครองกรุง Moscow (Natasha) ย่อมไม่มีทางลงหลักปักฐาน ใช้ชีวิตอยู่ดินแดนแห่งนี้อย่างถาวร สักวันก็ต้องกลับไปยังฝรั่งเศสบ้านเกิดเมืองนอน สิ่งหลงเหลือจึงเพียงเศษซากปรักหัก หายนะทางอารมณ์ของความหมดสิ้นหวัง


การสนทนาช่วงท้ายภาคสองของ Pierre กับ Natasha ค่อนข้างจะแตกต่างกับเมื่อตอนหญิงสาวรอคอยความรักจาก Prince Andrei สังเกตว่ามุมกล้องจะไม่มีก้ม-เงย เห็นพื้นหรือเพดาน เพียงบานประตูทางออกด้านหลังที่พวกเขายืนสลับตำแหน่งกันไปมา เพราะสุดท้ายแล้วโชคชะตาจะนำพาทั้งคู่ให้กลับมาพบเจอ ครองรัก แค่ยังไม่ถึงเวลาเท่านั้นเอง


นี่คือดาวหางเฮล-บอปป์ (Comet Hale-Bopp) หรือชื่อทางการตามระบบดาวหางว่า C/1811 F1 นับเป็นดาวหางที่มีการเฝ้าสังเกตการณ์มากที่สุดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 พบเห็นยาวนานถึง 260 วัน! ช่วงปี ค.ศ. 1811 แต่ก็ถูกทำลายสถิติโดยดาวหางเดียวกันนี้เมื่อปี 1997 มองเห็นด้วยตาเปล่ายาวนานถึง 18 เดือน!
โดยปกติแล้วดาวหางคือสัญลักษณ์ของการเดินทาง หรือเหตุการณ์ยิ่งใหญ่กำลังคืบคลานเข้ามา ซึ่งในบริบทของหนังน่าจะสื่อถึงการรุกรานของกองทัพ Napolean ขณะนั้นกำลังจะมาถึงเมือง Borodino ไม่ห่างไกลจากกรุง Moscow สักเท่าไหร่แล้ว

วินาทีแห่งความตายของ Nikolai Bolkonsky (บิดาของ Prince Andrei) จินตนาการ/มองเห็นภาพช็อตนี้ ใบไม้แห้งเหี่ยวร่วงหล่นโรยราจากต้นไม้ใหญ่ ห่างไกลออกไปถึงมองเห็นสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า … ผมมองภาพนี้คือชีวิตและความตาย (ของ Nikolai) ด้วยวัยแก่ชราไม่ต่างจากใบ้ไม้สีเหลืองที่ร่วงโรยรา แต่ยังคงจับจ้องมองบุตรชาย-สาว คนรุ่นใหม่ที่ยังคงมีพละกำลัง ความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน เปรียบดั่งต้นไม้สีเขียวที่อยู่ลิบๆห่างไกล ไม่สามารถก้าวเดินไปให้ถึงจุดนั้นได้อีกต่อไป (เพราะเขากำลังจะหมดสิ้นลมหายใจลงตรงตำแหน่งนี้)

การเดินทางมาให้พรของบาทหลวง ทำให้ทั้งกองทัพหยุดภารกิจที่กำลังกระทำ ร่วมกันสวดอธิษฐาน ขับขานร้องเพลง Hymn To the Virgin เป็นอีกฉากที่งดงามตราตรึงมากๆ แม้ผมไม่ใช่ชาวคริสต์ยังรู้สึกขนลุกขนพอง เป็นวิธีสร้างขวัญให้กองทัพ และผู้ชมบังเกิดกำลังใจในการรับชมภาพยนตร์ต่อไป … และช็อตนี้งดงามมากๆ ถ่ายย้อนแสงในขณะที่หมอกควันกำลังเคลื่อนบดบังพระอาทิตย์ ให้ความรู้สึกราวกับพระผู้เป็นเจ้า อำนวยอวยพรให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัย ตายไปก็จะได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์

การพบเจอครั้งสุดท้ายของ Prince Andrei และ Pierre ยังกระท่อมของผู้บัญชาการ แม้เพียงยามเย็นกลับปกคลุมด้วยความมืดมิดจนแทบมองไม่เห็นอะไร หลังประชุมจบพวกเขาต่างก็หลบซ่อนตัวในมุมมืด เพื่อจะสื่อว่าจุดจบ ความตาย กำลังคืบคลานเข้าหาใครสักคน (มีเพียง Pierre ที่เดินกลับออกสู่ภายนอก)

แม้เป็นเพียงกองกำลังสำรอง แต่โชคชะตาก็นำพาให้ Prince Andrei ถูกระเบิดลูกหลง ซึ่งวินาทีที่เขาพบเห็น(ระเบิด) ตระหนักถึงสิ่งกำลังจะบังเกิดขึ้น เสียงบรรยายเร้งเร้า กระหึ่มดนตรีออเคสตร้า กล้องเหมือนกำลังจะโบยบินแต่กลับตกลงมายังต้นไม้ที่ถูกกระแสลมแรงพลัดจนปลิดปลิว ราวกับมรสุมชีวิต ครุ่นคิดไม่อยากตาย แต่จะให้ทำยังไงได้เพราะมันคือสิ่งที่ฟ้ากำหนดมา

การสร้างกำแพงทหารในลักษณะนี้ มักมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องใครบางคน หรืออะไรบางอย่างที่อยู่ภายใน แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเป็นวิธีการเหมาะสมในการรบสมัยนั้นนี้หรือเปล่า (เพราะกระสุนปืน มันสามารถยิงทะลุ หรือส่องจากระยะไกลเข้าไปภายในได้สบายๆ) ซึ่งเรายังสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ ถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินแดนบ้านเกิด กรุง Moscow, จักรวรรดิรัสเซีย

เหตุผลหนึ่งที่ Prince Andrei ตัดสินใจหวนกลับมาเป็นทหาร เพราะความผิดหวังในรักต่อ Natasha เลยต้องการติดตามหาชู้รัก Anatole แต่เมื่อมาพบเจอกัน ณ โรงพยาบาลสนาม ในสภาพต่างได้รับบาดเจ็บสาหัส ความโกรธเกลียดเคียดแค้นเคยมี ก็พลันหมดสูญสิ้นลงทันที … นี่เป็นการเผชิญหน้าที่น่าประทับใจมากๆเลยละ

สำหรับภาคสี่ นี่เป็นช็อตที่ผมอดใจไม่ได้ Napoleon ยืนอยู่บนเนินเขาเล็กๆ พร้อมที่จะเข้ายึดครอบครอง ย่ำเหยียบกรุง Moscow แต่ถึงกระนั้นท้องฟากฟ้า ก้อนเมฆเมฆา ล้วนยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้ทั้งหมด

บอกตามตรงว่า ผมเห็นฉากเผาไหม้กรุง Moscow มีความน่าตื่นตาตื่นใจ น่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งกว่ายกปืนกราดกระสุนใส่กันในฉากสงครามเสียอีกนะ! นั่นเพราะนักแสดงต้องบุกฝ่ากองไฟ (ต่อให้สตั๊นแมนก็ตามเถอะ) ผจญฝุ่นควัน ขี้เถ้าเล็กๆก็อาจก่อให้เกิดเพลิงลุกไหม้ ล้วนเป็นความเสี่ยงอันตรายตลอดทุกวินาทีถ่ายทำ
แม้ความตั้งใจของ Pierre มอบหมายภารกิจลอบสังหาร Napoleon แต่ไม่นานเขาก็ค้นพบสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั่นคือการช่วยเหลือผู้อื่น อุ้มเด็กออกจากกองเพลิง เผชิญหน้าสิ่งไม่ถูกต้อง จนทำให้เขาถูกจับกุมคุมขัง กลายเป็นเชลยสงคราม สูญโอกาสในภารกิจนั้นโดยสิ้นเชิง

นี่เป็นมุมกล้องประหารชีวิตที่เจ๋งมากๆ จ่อปืนคาบดาบไปยังเป้าหมาย ก็ไม่รู้คนเหล่านั้นเคยกระทำผิดอะไร แต่พวกเขาคือบุคคลไร้หนทางต่อสู้ ทำไมต้องเข่นฆ่าให้ตกตาย … นี่คือภาพจำ Trauma ฝังใจของผู้แต่ง Leo Tolstoy และน่าจะคือแรงบันดาลใจสำหรับประพันธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ด้วยนะครับ
ซึ่งสถานที่ที่พวกเขาถูกประหารชีวิต ยังทุ่งดอกกะหลำปลี สื่อถึงราคาชีวิตมนุษย์มีมูลค่าแค่เพียงเป็นปุ๋ยให้พืชผัก (หลังจากถูกกลบฝังศพ)

Prince Andrei มองเห็นภาพลางบอกเหตุ ญาติสนิทมิตรสหาย บรรพบุรุษ ครอบครัว ใครก็ไม่รู้เฝ้ารอคอยให้เขาก้าวเดิน เปิดประตูบานใหญ่ แต่ด้านหลังนั้นมีอะไรก็ไม่รู้ ถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด (สรวงสวรรค์หรือขุมนรก ไม่มีใครตอบได้) นั่นทำให้เขาตระหนักว่าคงหลงเหลือลมหายใจอีกไม่นาน ถึงเวลาร่ำลา เตรียมพร้อมจากโลกนี้ไปเสียที
ภาพสุดท้ายขณะหมดสิ้นลมหายของ Prince Andrei มีการย้อมเฉดสีฟ้า ก่อนตัดให้พบเห็นก้อนเมฆเมฆา ราวกับกำลังโบยบินขึ้นสู่สรวงสวรรค์



ผมเลือกช็อตนี้เป็นภาพสุดท้ายที่นำมาเสนอ หลังจากจักรวรรดิรัสเซียสามารถขับไล่กองทัพ Napoleon หนีหางจุกตูดออกไปได้สำเร็จ ทหารจากทั่วทุกสารทิศต่างตรงเข้ามายังสุมกองไฟขนาดใหญ่นี้ ราวกับจุดศูนย์กลาง จิตวิญญาณของชาวรัสเซีย สื่อถึงความสมัครสมาน สามัคคี ตราบใดที่พวกเรารวมใจเป็นหนึ่ง ดินแดนแห่งนี้จักไม่มีวันตกเป็นของชนชาติอื่นใด

ตัดต่อโดย Tatiana Likhacheva,
การที่หนังแบ่งออกเป็น 4 ภาค ตั้งชื่อตามตัวละครหลักทั้งสาม (และปีแห่งโชคชะตา) ทำให้สามารถโฟกัสเนื้อหาสาระไปที่บุคคลนั้นๆ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าเรื่องราวต้องนำเสนอผ่านมุมมองใครคนดังกล่าว
- Part I: Andrei Bolkonsky
- มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวของ Prince Andrei ตั้งแต่ตัดสินใจอาสาสมัครทหาร ร่ำลาบิดา(และภรรยา) ประจักษ์ยุทธการ Battle of Austerlitz พบเห็นความพ่ายแพ้ย่อยยับเยินของจักรวรรดิรัสเซีย ร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังสามารถเอาตัวรอดกลับมาบ้าน มาทันภรรยาคลอดบุตรชายแล้วหมดสิ้นลมหายใจ
- ตัดสลับเคียงคู่ขนานกับเรื่องราวของเพื่อนสนิท Pierre Bezukhov ที่ใช้ชีวิตอย่างไร้แก่นสาน วันๆชอบเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา เมื่อได้รับมรดกจากบิดาผู้ล่วงลับ ตกลงแต่งงานกับหญิงสาวไม่ได้ตกหลุมรัก ก่อนค้นพบว่าเธอแอบลักลอบนอกใจ ท้าดวลปืนกับชู้ของภรรยา เมื่อกลับมาสภาพจิตใจเต็มไปด้วยความชอกช้ำระทมทวย
- Part II: Natasha Rostova
- เป็นตอนที่นำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Natasha Rostova เมื่ออายุครบ 16 ปี เข้าร่วมงานเต้นรำ Ballroom Dance ได้รับการหมั้นหมายจาก Prince Andrei ระหว่างเฝ้ารอคอยการแต่งงานหนี่งปี ไปเยี่ยมญาติที่ชนบท กลับมาถูกเกี้ยวพาราสี มิอาจควบคุมตนเอง จนสูญเสียทุกสิ่งอย่าง
- Part III: The Year 1812
- ทุกเหตุการณ์ล้วนนำเข้าสู่ยุทธการ Battle of Borodino การสงครามรบพุ่งครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างจักรวรรดิรัสเซีย vs. กองทัพของ Napoleon นำเสนอผ่านมุมมองจอมพล Mikhail Kutuzov (สายตาผู้นำ), Prince Andrei (กองทัพสำรอง) และ Pierr Bezukhov (ให้ความช่วยเหลือพลปืนใหญ่)
- Part IV: Pierre Bezukhov
- เรื่องราวส่วนใหญ่นำเสนอโดย Pierre Bezukhov ปลอมตัวเป็นสามัญชน ตั้งใจจะลอบสังหาร Napoleon แต่ยังไม่ทันไรก็ถูกจับกุม คุมขัง กลายเป็นนักโทษเชลยสงคราม พบเห็นการประหารยิงเป้า เข่นฆ่าล้างเชื้อชาติพันธุ์ กระทั่งได้รับการช่วยเหลือ หวนกลับมาพบเจอ Natasha และกำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่
- อีกมุมมองหนี่งของ Natasha Rostova ตั้งแต่อพยพออกจากกรุง Moscow อาศัยอยู่นอกเมือง มีโอกาสปฐมพยาบาล Prince Andrei และตัดสินใจอยู่เคียงข้างเขาจนวินาทีสุดท้าย
ความน่าพิศวงอย่างหนี่งของหนัง คือเสียงบรรยายที่ได้ยิน ผมใช้เวลาสักพักใหญ่ๆก่อนค้นพบว่ามันคือความครุ่นคิดของตัวละครที่กล้องกำลังจับภาพใบหน้าอยู่นั้น (นี่เป็นการนำคำบรรยายจากหนังสือ มาทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจมุมมอง/ความครุ่นคิดตัวละครนั้นๆ) แม้ส่วนใหญ่จะคือ(ความครุ่นคิดของ)สามตัวละครหลัก แต่ก็มีหลายครั้งที่นำเสนอมุมมองบุคคลอื่น ร้อยเรียงหลากหลายความคิดเห็น ช็อตต่อช็อตเลยก็มี … นี่ต้องใช้การสังเกตสักเล็กน้อย ถ้านักแสดงไม่ขยับริมฝีปาก แสดงว่าคือเสียงบรรยายความครุ่นคิด
บ่อยครั้งที่หนังนำเสนอความฝันของตัวละคร (ส่วนใหญ่จะเป็นของ Prince Andrei) มักขณะกำลังเผชิญหน้าความเป็น-ตาย เสียงบรรยายครุ่นคิดว่านี่นะหรือคือจุดจบชีวิต กล้องมักล่องลอย โบยบิน ราวกับจิตวิญญาณได้รับอิสรภาพ (พบเจอภาคหนี่ง และสาม) หรือไม่ก็ถูกย่อส่วนให้ขนาดเล็กจิ๋ว พยายามผลักเปิดประตู เพื่อก้าวสู่โลกแห่งความตาย (เผชิญหน้าความตายในภาคสี่)
ขณะที่ลีลาการตัดต่อก็ถือว่าไม่ธรรมดา เต็มไปด้วยลูกเล่น เทคนิค มีความครบเครื่อง บางครั้งก็นำเสนอเพียงภาพ (ไร้เสียงพูดบรรยายหรือสนทนา) หรือทำการซ้อนทับ ในลักษณะคล้ายกวีนิพนธ์ ยกตัวอย่างขณะ Anatole ระหว่างเกี้ยวพาราสี Natasha ค่อยๆแทรกตัวจากความมืด เข้าข้างหลัง พยายามชักนำเธอให้หลบหนีตามกันไป ตลอดทั้ง Sequence แทบไม่มีเสียงพูด การสนทนาใดๆ สามารถสื่อถีงความสัมพันธ์ลับๆ ที่ต้องปกปิดซุกซ่อนเร้น เพราะเมื่อไหร่เปิดเผยสู่สาธารณะ ย่อมไม่มีใครสามารถยินยอมรับเรื่องอื้อฉาวนี้ได้
Sequence ที่ควรเป็นไฮไลท์การตัดต่อแต่ผมกลับกุมขมับ นั่นคือยุทธการ Battle of Borodino (ภาคสาม) ร้อยเรียงชุดภาพการต่อสู้ เข้าปะทะ ระหว่างทหารรัสเซีย vs. ฝรั่งเศส ช่วงแรกๆขณะนำเข้าการรบพุ่งก็ยังพอน่าสนใจอยู่ แต่เมื่อฟาดฟันกันจริงๆแม้งดูไม่รู้เรื่องเลยว่ะ เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย สะเปะสะปะ ไร้ทิศทางดำเนินไป มองไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ นอกจากการรายงานผู้บังคับบัญชา (ถีงจะอ้างว่า สงครามมันก็อลม่านอย่างนี้แหละ แต่มันควรอะไรให้จับต้องได้บ้างสิ!)
สำหรับเพลงประกอบก็มีการแข่งขันไม่ต่างกัน ยุคสมัยนั้นมีคีตกวีชาวรัสเซียที่โด่งดังอยู่หลายคน อาทิ Dmitri Shostakovich, Georgy Sviridov, Aram Khachaturian แต่ผู้กำกับ Bondarchuk กลับเลือก Vyacheslav Aleksandrovich Ovchinnikov (1936-2019) ที่เพิ่งอายุ 20 กว่าๆขวบปี ยังไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่ แค่ล่าสุดเพิ่งทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Ivan’s Childhood (1962) นั่นน่าจะคือเหตุผลความประทับใจกระมัง
ถือเป็นธรรมเนียมภาพยนตร์แนวมหากาพย์ (Epic) จักต้องมีบทเพลงที่อลังการงานสร้าง มากด้วยเครื่องดนตรี จัดเต็มวงออเครสต้า โดยการบันทึกเสียงร่วมกันระหว่าง The Moscow Symphony Orchestra และ All Union Radio & TV Chorus & Orchestra ซึ่ง Ovchinnikov ยังรับหน้าที่เป็นวาทยากรด้วยตนเองอีกด้วย
เริ่มต้นด้วยบทเพลง Prologue สามารถสร้างความขนลุกขนพอง แต่ในลักษณะสั่นสยอง มอบสัมผัสแห่งหายนะ โดยเฉพาะการประสานคอรัส มีความโหยหวนราวกับเสียงเพรียกวิญญาณ ของสัตว์อสูร ปีศาจจากขุมนรก พร้อมจะฉุดกระชาก ทำลายวิญญาณให้ดับดิ้น สิ้นสูญ มอดไหม้กลายเป็นเถ้าธุลี … เป็นบทเพลงนำเสนอหายนะของสงคราม ด้วยการบดขยี้จากความรู้สึกผู้ชมจากทรวงใน
Natasha Rostova’s Waltz (ดังขึ้นภาคสอง) เริ่มตั้งแต่ Natasha Rostova เดินทางสู่งานเต้นรำ Ballroom Dance ถือเป็นครั้งแรกที่เธอกำลังจะได้ออกงานสังคม เมื่อมาถึงก็เฝ้ารอคอยใครสักคนเพื่อจักเติมเต็มความฝันเล็กๆ แต่รอแล้วรอเล่า เมื่อไหร่เจ้าชายขี่ม้าขาวจะมาถึงสักที และเมื่อ Prince Andrei ยื่น(สู่)ขอมือ ก็แทบมิอาจควบคุมความตื่นเต้น ระริกระรี้ … ราวกับวินาทีแห่งการสูญเสียความบริสุทธิ์
ทีแรกผมนึกว่าหนังจะใช้บทเพลงคลาสสิกมีชื่อประกอบฉากเริงระบำนี้ แต่ผู้กำกับยังคงเชื่อมั่นในการประพันธ์ของ Ovchinnikov คงเพราะต้องการความต่อเนื่องที่สามารถสะท้อนห้วงอารมณ์ ความรู้สึกภายในของตัวละคร Natasha ตั้งแต่เริ่มต้นเดินทางสู่งานเต้นรำ นำเสนอความกระวนกระวาย ลากยาวไปจนได้พบเจอเจ้าชาย จับมือเริงระบำ … ท่วงทำนองก็ค่อยๆไต่เต้า เร่งเร้า ไล่ระดับ ไปถึงจุดสูงสุดทางอารมณ์
แซว: ลักษณะของบทเพลงนี้ให้ความรู้เหมือน ถ้า Sergei Rachmaninoff ประพันธ์บทเพลง Waltz คงได้อารมณ์ประมาณนี้แหละ
นอกจากดนตรีคลาสสิกเพราะๆ หนังยังมีหลากหลายสไตล์เพลงที่น่าจดจำ อาทิ At The Hunting Lodge (เพลงพื้นเมืองด้วยเครื่องดนตรี Balalaika), Soldiers’ Chorus (ประสานเสียงขณะกำลังเดินสวนสนามเข้าสู่สนามรบ), Hymn To the Virgin (สวดอธิษฐานขอพรพระเป็นเจ้า) ฯ
นำเอาคลิป At The Hunting Lodge ที่เริ่มต้นได้ยินเพียงเสียงเครื่องดนตรี Balalaika จากนั้นลุงของ Natasha ก็หยิบกีตาร์ขึ้นมาบรรเลง ให้เธอลุกขึ้นมาโยกเต้น ท่วงทำนอง Folk Dance เพลงพื้นบ้านเมืองรัสเซีย (ไม่รู้ชนบทไหนกัน) แม้จะคนละบรรยากาศกับงานเต้นรำ Ballroom Dance เพียงผู้ชมกลุ่มเล็กๆ สถานที่ก็คับแคบ แต่เธอก็ยังสร้างรอยยิ้ม ความสนุกสนาน ทำให้ผู้ชมรู้สึกอิ่มเอิบ เบิกบานหฤทัย
War and Peace สงครามและความสงบสุข คือสองสิ่งที่มีความแตกต่างขั้วตรงข้าม แต่จำต้องพึ่งพาอาศัย เป็นของคู่กัน เพื่อให้มนุษย์สามารถเรียนรู้จักความหมายของชีวิต การเกิด-ตาย ชาย-หญิง พันธมิตร-ศัตรู ภรรยา-ชู้รัก เปิดเผย-ปกปิดสัมพันธ์ ความรัก-รังเกียจเดียดฉันท์ ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ-สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน การต่อสู้ระหว่างจักรวรรดิรัสเซีย vs. กองทัพ Napolean ก็เพื่อให้มวลมนุษย์รู้จักคุณค่าแท้จริงของสันติสุข
เฉกเช่นเดียวกับ Prince Andrei Bolkonsky และ Pierre Bezukhov ที่มีความแตกต่างตรงกันข้ามในทุกๆระดับ พวกเขาเป็นตัวแทนของชนชั้นสูง-สามัญชน (กลางและล่าง), บิดามีความเข้มงวด-ปล่อยปละละเลย (เพราะเป็นบุตรนอกสมรส), มุมมองเกี่ยวกับการสงคราม (ทหาร-พลเรือน, พร้อมเสียสละเพื่อชาติ-สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน) และที่สุดก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต (ความตายคือเกียรติยศ-การอยู่รอดปลอดภัยสำคัญที่สุด)
ในส่วนของภาคแรก คนส่วนใหญ่มักทำความเข้าใจเพียงประเด็นต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) แต่ผมมองอีกด้านหนึ่งพบเห็นมุมของการสนับสนุนสงคราม (Pro-Wars) ด้วยเช่นเดียวกัน! นั่นเพราะหนังพยายามนำเสนอสองตัวละครเคียงคู่ขนาน ตั้งคำถามปรัชญาที่ไม่ว่าฝั่งไหนล้วนไม่มีคำตอบถูก-ผิด ล้วนขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราเอง จะเลือกเข้าข้างฝ่ายใด (หรือจะไม่เลือกก็ได้เช่นกัน)
เรื่องราวความรักของ Natasha Rostova (ในภาคสอง) ที่มีต่อ Prince Andrei (เบื้องหน้า) และ Anatole (ลับหลัง) สามารถสะท้อนสงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซีย vs. กองทัพ Napolean ที่พยายามเข้ายึดครอบครองกรุง Moscow (สามารถเปรียบเทียบ Natasha คือกรุง Moscow, จักรวรรดิรัสเซีย ก็ได้ทั้งนั้น) ซึ่งชัยชนะของฝรั่งเศส (และ Anatole ที่สามารถลักลอบเกี้ยวพาหญิงสาวได้สำเร็จ) นำพาหายนะมาสู่ตัวเธอและชาติบ้านเมือง จนแทบสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง!
ยุทธการ Battle of Borodino ถือเป็นจุดหมุนของเรื่องราว ครึ่งแรก-ครึ่งหลัง ก่อนหน้า-ภายหลังสงคราม สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Natasha ที่มีต่อ Prince Andrei (จากเคยรักมาก แต่ทั้งเขาและ Moscow กำลังจะดับสิ้นสูญ) และ Pierre (เมื่อหวนกลับพบเจออีกครั้ง ก็พร้อมเริ่มต้นสานสัมพันธ์รัก และฟื้นฟูกรุง Moscow ขึ้นมาใหม่) … วรรณกรรมของ Tolstoy ยังมีปัจฉิมบทหลังสงครามสิ้นสุด นำเสนอชีวิตแต่งงานระหว่าง Natasha กับ Pierre ที่สามารถครองคู่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข
ความตั้งใจของผู้แต่ง Leo Tolstoy ผมรู้สึกว่า War and Peace ทำการผสมเรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ ที่มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ และแนวความคิดเห็นส่วนบุคคลอยู่มาก ไม่ได้เทียบแทนเป็นตัวละครไหน Pierre Bezukhov หรือ Prince Andrei Bolkonsky ต่างสะท้อนเสี้ยวส่วนหนึ่งของเขาเองออกมา (แต่ก็มีแนวโน้มเป็นตัวละคร Pierre Bezukhov เสียส่วนใหญ่นะครับ)
- Tolstoy เกิดในครอบครัวชนชั้นสูง บิดาเคยเข้าร่วมสู้รบสงครามเมื่อครั้นกองทัพ Napolean บุกเข้ายึดครอบครองกรุง Moscow แม้จะเสียชีวิตตอนเด็กชายอายุเพียง 9 ขวบ แต่ก็พอประสีประสา รับรู้เรื่องราว และความคาดหวังของวงศ์ตระกูล
- เคยใช้ชีวิตเที่ยวเตร่ สัมมะเลเทเมา ไร้ซึ่งเป้าหมายของตนเอง (แบบเดียวกับ Pierre) กระทั่งต้องสมัครทหารเข้าร่วมหน่วยปืนใหญ่ Crimean War (1853-56) ทำให้มากด้วยประสบการณ์เกี่ยวกับกองทัพ (คือเหตุผลที่ให้ Pierre อยู่แนวหน้าร่วมกับหน่วยปืนใหญ่)
- ประสบการณ์จากเมื่อครั้นออกทัวร์ยุโรป ได้พบเห็นการประหารชีวิตนักโทษที่ฝรั่งเศส ก็นำเสนอใส่มาตรงๆเมื่อตอนที่ Pierre พบเห็นการยิงเป้าเชลยสงคราม
- หลังสงครามก็เร่งรีบร้อนแต่งงานกับ Sophia Andreevna Behrs ขณะที่เธออายุเพียง 16 ปีเท่านั้น! (ตัวละคร Natasha สามารถเทียบแทนด้วยภรรยาคนนี้นี่แหละ)
- แซว: ฉบับสุดท้ายที่ Tolstoy แก้ไขก่อนตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่องนี้ เขามีทายาทแล้วสามคน (จาก 13 คน) จึงให้ปัจฉิมบท Pierre และ Natasha มีบุตรสามคนเช่นกัน
ฯลฯ
เหตุผลที่ Tolstoy ไม่ยินยอมเรียก War and Peace ว่าคือนวนิยาย บทกวี หรือแม้แต่บันทึกประวัติศาสตร์ อาจเพราะสิ่งที่นำเสนอออกมานี้ ล้วนจากประสบการณ์ชีวิต สิ่งที่เขาต้องแสดงออก ระบายความรู้สึกนึกคิด “It’s what the author wished and was able to express” โดยใช้การเปรียบเทียบระดับมหภาคกับการสงครามเมื่อครั้งกองทัพ Napoleon บุกเข้ายึดครอบครองกรุง Moscow
นั่นทำให้ผมฉงนสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นภายในจิตใจของ Tolstoy เคยประสบพบเห็นเหตุการณ์ใดถึงขนาดเปรียบเทียบกับความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิรัสเซีย และนำไปสู่การล่มสลายของกรุง Moscow … ผมคาดคิดว่าน่าคือตอนทริปยุโรปครั้งแรก พบเห็นการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะ แปลกที่เขาพบเห็นความเป็น-ตาย ในสงครามมามาก แต่กลับเพิ่งมาตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ไม่มีสิ่งใดล้ำค่ายิ่งไปกว่าการยังมีลมหายใจ
The truth is that the State is a conspiracy designed not only to exploit, but above all to corrupt its citizens … Henceforth, I shall never serve any government anywhere.
ปฏิกิริยาของ Leo Tolstoy ต่อการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะ
แม้ว่า War and Peace (1965) คือภาพยนตร์ที่สหภาพโซเวียต ปลุกปั้น สรรค์สร้างขึ้น ด้วยจุดประสงค์ต้องการให้เป็นคู่แข่งทางวัฒนธรรม เผชิญหน้าหมาอำนาจสหรัฐอเมริกา แต่ผมก็รู้สึกว่าโปรเจคนี้มีความสัมพันธ์ผู้กำกับ Sergei Bondarchuk อยู่ไม่น้อยเลยนะ … จะเรียกกึ่งอัตชีวประวัติก็ได้เช่นกัน!
- บิดาของ Bondarchuk เป็นทหารในสังกัด Red Army เลี้ยงดูบุตรอย่างเข้มงวด ให้ยึดถือมั่นเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นลูกผู้ชาย (แบบเดียวกับบิดาของ Prince Andrei)
- Bondarchuk รับใช้ชาติ (แบบเดียวกับ Prince Andrei) ในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าร่วม Red Army จนได้ประดับเหรียญเกียรติยศ
- แต่งงานหลังสงคราม ไม่มีความสุขกับภรรยาคนแรกเลยตัดสินใจหย่าร้าง ก่อนได้คนรักใหม่ที่พร้อมใช้ชีวิตคู่ตราบจนวันตาย (คนหลังคือนักแสดงที่รับบทภรรยาคนแรกของตัวละคร Pierre)
สำหรับมุมมอง/เป้าหมายแท้จริงของ Bondarchuk เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า War and Peace คือนวนิยายแนวรักชาติ (patriotic) แม้นำเสนอความพ่ายแพ้ต่อกองทัพ Napoleon แต่ต่อให้กรุง Moscow ถูกทำลายมอดไหม้ในกองเพลิง ชาวรัสเซียก็ยังคงเป็นชาวรัสเซีย ไม่มีทางที่จักรพรรดิจากดินแดนอื่นจะเข้ามาอาศัย ปกครอง ปักหลักอยู่ดินแดนแห่งนี้ สุดท้ายก็ต้องล่าถอยทัพ หลบหนีเอาตัวรอดหางจุกตูด … ต่อให้กองทัพ Napoleon จะยิ่งใหญ่เกรียงไกร สักวันก็ต้องพ่ายแพ้ สูญเสียดินแดนที่เคยยึดครอบครอง แล้วทั้งหมดทำไปเพื่ออะไรกัน?
The main theme of the novel is patriotic. He reveals the moral and moral victory of the Russian people over the Napoleonic hordes. The main thing in “War and Peace” is human types, carriers of the Russian national character, the “hidden warmth” of their patriotism. All of them, starting from the unknown captain Tushin, from the invisible heroes, whose common forces and lives make the greatest shifts in history, ending with the main figures of the story – Andrei Bolkonsky, Pierre, Natasha – they are all close to the warehouse of the Russian national character. I would like to convey a sharp, tangible, almost material feeling of love for my country with every frame of the film epic.
Sergey Bondarchuk
เกร็ด: นอกจาก War and Peace (1965) ที่ถือว่าเป็นโปรเจคโคตรทะเยอทะยานของสหภาพโซเวียต ยังมีอีกสองโปรเจคยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน (แต่คนที่ไม่ใช่แฟนหนังรัสเซียอาจไม่ค่อยมักคุ้นสักเท่าไหร่) ประกอบด้วย
- And Quiet Flows the Don (1958-59) ภาพยนตร์ซีรีย์ จำนวน 3 ภาค กำกับโดย Sergei Gerasimov
- Liberation (1970-71) ภาพยนตร์ซีรีย์ จำนวน 5 ภาค กำกับโดย Yuri Ozerov
ทุนสร้างตั้งต้นที่กระทรวงวัฒนธรรมสหภาพโซเวียต วางแผนไว้ตอนแรกคือ R4 ล้านรูเบิล แต่ไม่รวมงบประมาณที่ต้องจ่ายสบทบให้กองทัพนะครับ (ไม่เคยมีระบุตัวเลขในส่วนนั้นเลขได้แก่ ค่าแรงทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯ) ซึ่งพออนุมัติให้สร้างทั้งหมดสี่ภาค คำนวณเงินใหม่เพิ่มเป็น R8.5 ล้านรูเบิล ใช้ในส่วนโปรดักชั่นเพียง R7.8 ล้านรูเบิล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ Post-Production, ประชาสัมพันธ์ ประมาณว่า R8.29 ล้านรูเบิล (เทียบเท่า $9.2 ล้านเหรียญสมัยนั้น) … นี่เป็นตัวเลขรายงานจากโปรดิวเซอร์ Nikolai Ivanov
คงเพราะอยู่ในช่วงสงครามเย็น จึงมีความพยายามโอ้อวด เกทับเรื่องงบประมาณ เริ่มจากหนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่าหนังใช้ทุนสร้าง $100 ล้านเหรียญ! ขณะที่นิตยสาร The Annual Register ของสหราชอาณาจักร บอกว่า £40 million (ประมาณ $96 ล้านเหรียญ), หรือแม้แต่ Guinness Book of World Records เมื่อปี 1979 ยกให้ War and Peace (1965) คือภาพยนตร์ทุนสร้างสูงสุดในโลกขณะนั้น $96 ล้านเหรียญ
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Moscow International Film Festival เมื่อเดือนกรกฎาคม 1965 (น่าจะแค่ Part I) อวยกันเองจนคว้ารางวัล Grand Prix ร่วมกับ Twenty Hours (1965) ส่วนโปรแกรมฉายจริงๆในสหภาพโซเวียตคือ
- Part I: Andrei Bolkonsky วันที่ 14 มีนาคม 1966
- Part II: Natasha Rostova วันที่ 20 กรกฎาคม 1966
- Part III: The Year 1812 วันที่ 21 กรกฎาคม 1967
- Part IV: Pierre Bezukhov วันที่ 4 พฤศจิกายน 1967
Jaws (1975) อาจคือภาพยนตร์เรื่องแรกของ Hollywood ที่ใช้คำเรียก Wide Release สำหรับออกฉายวงกว้างพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ความเป็นจริงแล้ว War and Peace (1965) น่าจะคือเรื่องแรกอย่างแท้จริง เพราะมีการพิมพ์ฟีล์มเกินกว่าพันก็อปปี้ต่อภาค เพื่อนำออกฉายให้ทั่วสหภาพโซเวียตในเวลาไล่เลี่ยกัน (แต่ละก็อปปี้ก็มีฟีล์มอีกกว่า 20 ม้วน!)
- Part I: Andrei Bolkonsky, พิมพ์ฟีล์ม 2,805 ก็อปปี้ มีผู้ชมกว่า 58 ล้านคน
- Part II: Natasha Rostova, พิมพ์ฟีล์ม 1,405 ก็อปปี้ มีผู้ชมกว่า 36.2 ล้านคน
- Part III: The Year 1812, พิมพ์ฟีล์ม 1,407 ก็อปปี้ มีผู้ชมกว่า 21 ล้านคน
- Part IV: Pierre Bezukhov, มีผู้ชมกว่า 19.8 ล้านคน
รวมๆแล้วมียอดจำหน่ายตั๋ว 135 ล้านใบ ค่าเข้าชมสมัยนั้น 25 kopeck ประมาณรายรับทั้งหมด R58 ล้านรูเบิล, นอกจากนี้หนังยังถูกส่งออกฉายกว่า 117 ประเทศทั่วโลก
- German Democratic Republic (East German) มีผู้ชมกว่า 2.2 ล้านคน
- People’s Republic of Poland ขายตั๋วได้มากกว่า 5 ล้านใบ
- ฝรั่งเศส มีผู้เข้าชม 1.23 ล้านคน
สำหรับสหรัฐอเมริกามีการซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า $1.5 ล้านเหรียญ เพื่อนำไปพากย์ภาษาอังกฤษ และหั่นหนังออกประมาณชั่วโมงกว่าๆ เข้าฉายวันที่ 28 เมษายน 1968 ปรากฎว่าขาดทุนย่อยยับเยิน (เพราะคิดค่าราคาค่าตั๋วเพิ่มเป็น $5.5-7.5 เหรียญ … ยังแพงกว่าค่าตั๋วปัจจุบันอีกนะ) แต่ช่วงปลายปีก็ยังกวาดรางวัลมากมาย ประกอบด้วย
- Academy Award: Best Foreign Language Film ** คว้ารางวัล
- Academy Award: Best Art Direction-Set Decoration พ่ายให้กับ Oliver! (1968) [จริงๆถ้าแพ้ให้ 2001: A Space Odyssey (1968) ก็ยังอาจพอรับได้อยู่]
- Golden Globe: Best Foreign-Language Foreign Film ** คว้ารางวัล
เกร็ด: War and Peace (1965) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของสหภาพโซเวียตที่คว้ารางวัล Oscar: Best Foreign Language Film และมีความยาวมากที่สุดได้รับรางวัล จนกระทั่ง O.J.: Made in America (2016) คว้ารางวัล Oscar: Best Documentary Feature
เกร็ด2: Lyudmila Saveleva เป็นตัวแทนผู้สร้างภาพยนตร์ เดินทามาเข้าร่วมงานและขึ้นรับรางวัล Oscar แต่ระหว่างทางกลับ Moscow ก็ถูกทางการยึดเอารางวัลนั้นไป … ไม่มีใครรู้ปัจจุบันถูกจัดเก็บไว้แห่งหนที่ไหน
ผมค่อนข้างแปลกใจอย่างมากที่ได้ยินว่า ฟีล์มเนกาทีฟต้นฉบับ 70mm คุณภาพเสียหายเกินเยียวยา (นี่มันหนังระดับชาติรัสเซีย แต่กลับเก็บรักษาอย่างทิ้งๆขว้างๆ ซะงั้น!) เมื่อปี 1999 สตูดิโอ Mosfilm จึงตัดสินใจบูรณะฉบับฉายโทรทัศน์ อัตราส่วน 4:3 (ที่ผู้กำกับ Bondarchuk ดูแลการแปลงอัตราส่วนด้วยตนเอง)
กระทั่งเมื่อปี 2006, Karen Shakhnazarov ผู้บริหารของ Mosfilm ประกาศว่าจะทำการบูรณะแบบ ‘เฟรมต่อเฟรม’ ไม่รู้เหมือนกันว่าเอานำฟีล์มจากแหล่งไหน วางแผนเบื้องต้นเสร็จสิ้นปี 2016 แต่เอาเข้าจริงล่าช้าถึงปี 2019 คุณภาพ 2K ระบบเสียง 5.1ch กลายเป็น Blu-Ray และหารับชมได้ทาง Criterion Channel
ผมไม่เคยอ่าน War and Peace ของ Leo Tolstoy แต่เมื่อได้รับชมหนังเรื่องนี้ก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ เพราะจินตนาการจากหนังสือเมื่อกลายเป็นภาพพบเห็น แม้รายละเอียดจะถูกตัดทอนออกไป แลกมากับความสมจริง รู้สึกเหมือนจับต้องได้ สามารถสร้างตราประทับฝังใจ และมีความเป็นสากลมากกว่า
ในบรรดาทั้งสี่ภาคของหนัง เริ่มต้นด้วยความสมบูรณ์แบบ แต่งานสร้างที่สเกลใหญ่ขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายจะคงคุณภาพ ศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้ความยอดเยี่ยมของภาคหลังๆจึงค่อยๆเสื่อมถดถอย แต่ถ้ามองในองค์รวมยังก็ยังคงสามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า Masterpiece
- Part I: Andrei Bolkonsky, ให้คะแนน 5/5 คุณภาพมาสเตอร์พีซ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
- Part II: Natasha Rostova, ให้คะแนน 4.5/5 สำหรับคนชื่นชอบเรื่องราวโรแมนติก รักสาม-สี่เส้า เริ่มต้นเลิศหรูตระการ กลางเรื่องดูเอื่อยๆเฉื่อยๆแต่ก็ยังมีฉากน่าประทับใจ ไคลน์แม็กซ์กรีดกราย ดิ้นพล่าน ทรงพลังไม่น้อยเลยละ
- Part III: The Year 1812, ให้คะแนน 4/5 แม้การสงครามจะยิ่งใหญ่อลังการ แต่รู้สึกว่ามันจะเยิ่นเย้อ ยืดยาว และขาดจุดดึงดูดความสนใจ
- Part IV: Pierre Bezukhov, ให้คะแนน 3.5/5 การเผาทำลายกรุง Moscow ค่อนข้างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่หลังจากนั้นผมกลับดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่
เหตุผลหนึ่งที่ผมค่อนข้างผิดหวังกับภาคหลังๆ นั่นเพราะหนังเริ่มต้น Part I ได้สมบูรณ์แบบมากๆ โดยเฉพาะคำถามปรัชญาถึงชีวิตและสงคราม สู้ไปทำไม? ชีวิตที่สูญเสียคุ้มค่าตรงไหน? ไม่ใช่แค่การสนทนาของตัวละคร แต่ยังสอดแทรกอยู่ในภาษาภาพยนตร์ตั้งแต่ช็อตแรกจนสุดท้าย แทบอยากจะเปิดภาคสองต่อโดยทันที
ผมก็ชื่นชอบ Part II มากๆๆๆเช่นกัน ไม่ใช่แค่ภาษาภาพยนตร์ที่ยังยอดเยี่ยม เพิ่มเติมคือการแสดงของ Ludmila Savelyeva ช่างมีความบริสุทธิ์ สดใสไร้เดียงสา คงไม่ย่อหย่อนไปกว่า Andrey Hepburn แต่ความเอื่อยเฉื่อยช่วงช่วงกลางเรื่อง ทำให้สัปหงกโดยไม่รู้ตัว แล้วค่อยฟื้นตื่นเมื่อเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์ … ก็ถือว่ายอดเยี่ยมเกือบสมบูรณ์แบบ
ปัญหาเริ่มเกิดกับ Part III เพราะเต็มไปด้วยความคาดหวัง (แบบตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี (พ.ศ. ๒๕๕๖)) ตลอดทั้งเรื่องนำเข้าสู่ยุทธการสู้รบครั้งใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิรัสเซีย Battle of Borodino (1812) ช่วงอารัมบทก็น่าสนใจอยู่หรอก แต่พอเริ่มรบพุ่งเข้าสู่สงคราม กลับเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน ดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ ใครได้เปรียบเสียเปรียบต้องรอฟังจากรายงานสถานเดียว แล้วจะให้ตัวละคร Pierre Bezukhov เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะคนนอกทำไมกัน? (อย่างน้อยถ้านำเสนอผ่านมุมมองตัวละครนี้ ก็ยังจะพอมีจุดดึงดูดความสนใจขึ้นบ้าง)
และสำหรับ Part IV ให้ความรู้สึกเหมือนปัจฉิมบทที่มีความยืดยาว ฝันร้ายไม่มีวันสิ้นสุด (แบบตอนจบของ The Lord of the Rings: The Return of the King (2003) ที่พอฝ่ายพันธมิตรแห่งแหวนได้รับชัยชนะ กว่าหนังจะจบยืดยาวเกือบเท่าหนังเรื่องหนึ่ง) ช่วงการเผากรุง Moscow แม้ยังดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่หลังจากนั้นมันไม่พล็อตอะไรเลย เพียงพรรณาความพ่ายแพ้ หมดสิ้นหวัง เฝ้ารอคอยวัน Napoleon ออกเดินทางกลับฝรั่งเศส … การนำเสนอในมุมมองของ Pierre Bezukhov ที่มีเพียงความเหี้ยมโหดร้ายของฝรั่งเศส เหมือนพยายามจะสร้างค่านิยม ‘ชวนเชื่อ’ ให้ชาวรัสเซีย ตระหนักถึงความสำคัญของผืนแผ่นดินแดน ชาติบ้านเกิดเมืองนอน (กลายเป็นหนังชวนเชื่อของสหภาพโซเวียตไปซะงั้น!)
ตราบใดที่มนุษย์ยังคงมักมาก ทะเยอทะยาน ต้องการโน่นนี่นั่น ความขัดแย้ง การต่อสู้ แก่งแย่งชิง สงครามย่อมบังเกิดขึ้นอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน สันติภาพเป็นสิ่งจอมปลอมภายนอกที่เราครุ่นคิดสร้างขึ้น ในความเป็นจริงโลกเรานี้มีสงครามเกิดขึ้นทุกวินาที แต่พอไม่รับรู้ก็อ้างว่าไม่มี สนเพียงตัวฉันและพรรคพวกพ้องฝ่ายเดียวกัน สร้างความชอบธรรมเสมอแม้กระทำสิ่งชั่วร้าย พอศัตรูทำอะไรก็แสดงท่าทีไม่พึงพอใจ พยายามกีดกั้น ผลักไส … โลกเรากำลังจะหวนกลับสู่ยุคสมัยที่ความถูก-ผิด กำลังหวนกลับมาเป็นขาว-ดำ อีกครั้งแล้วสินะ!
War and Peace ไม่ว่าภาพยนตร์ฉบับสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียต ล้วนทรงคุณค่าระดับ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับสงครามและชีวิต ต่อสู้เพื่ออะไร? เข่นฆ่าผู้อื่นไปทำไม? ชนะแล้วยังไงต่อ? มันไม่มีคำตอบถูก-ผิด ว่าควรครุ่นคิด กระทำอย่างไร ระหว่างตนเอง-ประเทศชาติ เผชิญหน้า-หลบหนี ขอแค่อย่าให้คนอื่นมาสร้างอิทธิพล ตัดสินใจแทนเรา และเลือกสิ่งที่จะไม่สูญเสียใจภายหลัง
ความสงบสุขแท้จริงมันอยู่ที่ภายในจิตใจเรานะครับ น่าเสียดายที่คนยุคสมัยนี้ไม่สามารถทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าวได้อีกแล้ว จำเป็นต้องเลือกข้าง ถ้าไม่ใช่ฝั่งฝ่ายเดียวกันย่อมคือศัตรูขั้วตรงข้าม … นั่นคือจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยก ความขัดแย้ง ชวนเหตุของสงคราม ถ้าเราไม่เริ่มจากความเพียงพอในตนเอง เรียกร้องสันติภาพไปก็ไม่มีประโยชน์หรอกนะ
จัดเรต 15+ กับสงคราม การต่อสู้ ความรุนแรง และโศกนาฎกรรม
Leave a Reply