Werckmeister Harmonies (2000) : Béla Tarr, Ágnes Hranitzky ♥♥♥♥♡
การมาถึงของปลาวาฬยักษ์ สัตว์ประหลาดขนาดมหึมา (Leviathan) ทั้งๆเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่กลับนำพาหายนะ ความวุ่นวาย กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าทำลายชีวิต-ทรัพย์สิน จึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย (Natural Order vs. Social Order) เพื่อให้เกิดความสงบทางจิตใจ สันติสุขของคนในชาติ และสมดุลแห่งจักรวาล
พีทาโกรัส, Pythagoras (570-495 B.C.) นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก เจ้าของทฤษฎีบทพีทาโกรัส (A2+B2=C2) คือบุคคลแรกที่สนใจค้นคว้าหลักการของเสียง(ดนตรี) ครุ่นคิดวิธีเทียบเสียง (Pythagorean Tuning) จากการสั่นสะเทือนเส้นลวด แล้วใช้สมการคณิตศาสตร์คำนวณอย่างง่ายๆ (บวก-ลบ-คูณ-หาร ทั่วๆไป) ยึดตามหลักของธรรมชาติ แต่วิธีการดังกล่าวกลับทำให้เมื่อเล่นตัวโน๊ตระดับสูงหรือต่ำกว่าปกติ (higher-lower octave) มันจะมีความผิดเพี้ยน คลาดเคลื่อน เพราะระดับเสียงที่มนุษย์ได้ยินมีขีดจำกัดบางอย่าง
จนกระทั่ง Andreas Werckmeister (1645-1706) คีตกวี นักทฤษฎี สัญชาติ German แห่งยุคสมัย Baroque ได้ครุ่นคิดวิธีเทียบเสียงแบบใหม่ Equal Temperament (หรือ Werckmeister Harmonies) โดยใช้การคำนวณสมการคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน (เห็นมีเลขยกกำลัง รากที่ n) เพื่อให้สอดคล้องขีดความสามารถของมนุษย์ในการแยกแยะระดับเสียงต่างๆออกจากกัน กลายเป็นรูปแบบแผนที่ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
แม้ทฤษฎีของ Werckmeister ทำให้บทเพลงมีความไพเราะเพราะพริ้ง ด้วยการสร้างกฎเกณฑ์จากขอบเขตการได้ยินของมนุษย์ (เหมือนการออกฏหมายให้ประชาชนยึดถือปฏิบัติ) แต่มันก็ฝืนหลักการเสียงตามธรรมชาติของ Pythagoras หรือพระเจ้าสร้างเอกภพนี้ขึ้นมา (กฎหมายบ้านเมือง ≠ กฎแห่งธรรมชาติ) กลายเป็นประเด็นโต้ถกเถียง คำถามอภิปรัชญา ฝั่งฝ่ายไหนถูก-ผิด … ก็แล้วแต่คุณจะครุ่นคิด!
ผมพยายามอธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆ จึงต้องข้ามรายละเอียดสำคัญๆไปมาก ใครสนใจที่มาของการเทียบเสียงเครื่องดนตรี เข้าไปอ่านบทความนี้ดูนะครับ: http://academic.rru.ac.th/wp-content/uploads/2020/12/16-ฆ้อง.pdf
Werckmeister Harmonies (2000) เป็นภาพยนตร์ที่ต้องบอกเลยว่า บ้าระห่ำชิบหาย! มีความสลับซับซ้อน ซ่อนคำถามปรัชญามากมาย พยายามนำเสนอสองสิ่งขั้วตรงข้ามที่สามารถเติมเต็มกันและกัน คล้ายๆแนวคิดหยิน-หยาง เหรียญสองด้าน ขั้วการเมืองซ้าย-ขวา เมื่อสองฝ่ายเผชิญหน้ามักเกิดการต่อสู้ ความขัดแย้ง สิ่งต่างๆถูกทำลายล้าง (Death) แต่หลังจากวันสิ้นโลกผ่านพ้นไป ทุกสิ่งอย่างจักถือกำเนิดขึ้นใหม่ (Rebirth)
ตั้งแต่ที่ผมเริ่มรับชมผลงานของผู้กำกับ Tarr มาตั้งแต่ Almanac of Fall (1984), Damnation (1988), Sátántangó (1994) พบเห็นความสนใจหนึ่งเกี่ยวกับการเวียนวงกลม หวนกลับสู่จุดเริ่มต้น ทั้งเนื้อเรื่องราวและโดยเฉพาะลีลาการถ่ายภาพ ชอบที่จะสลับสับเปลี่ยนทิศทางมุมกล้องตรงกันข้าม เคลื่อนเลื่อนวนไปวนมา ไม่ก็หมุน 360 องศา ซึ่งสามารถต่อยอดถึงพระจันทร์หมุนรอบโลก โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ รวมถึงมนุษย์ผู้มีความเห็นแก่ตัว พยายามทำเหมือนตนเองคือศูนย์กลางจักรวาล!
ทฤษฎีดนตรีระหว่าง Pythagoras vs. Werckmeister เป็นความพยายามเปรียบเทียบถึงวิถีตามธรรมชาติ (Natural Order) vs. กฎระเบียบที่มนุษย์รังสรรค์สร้าง (Social Order) สองสิ่งขั้วตรงข้ามที่เมื่อเผชิญหน้าย่อมเกิดความขัดแย้ง โต้ถกเถียง ฝั่งไหนถูก? ฝ่ายใดผิด? ไม่ต่างจากคำถามปรัชญาที่ไร้ซึ่งคำตอบ ขึ้นอยู่กับมุมมองส่วนบุคคล แต่โดยไม่รู้ตัวมันกลับสามารถเติมเต็มกันและกัน มีซ้ายก็ต้องมีขวา แสงสว่าง-มืดมิด ชีวิต-ความตาย วุ่นวาย-สงบสุข เหตุผล-อารมณ์ ไร้เดียงสา-คลุ้มบ้าคลั่ง ฯลฯ ราวกับว่านั่นกฎของเอกภพ เพื่อให้เกิดความสมดุล กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียว (Harmony)
หลายคนอาจรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวังไม่ต่างจากตัวละคร แต่ผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น! เพราะเนื้อหาสาระที่ผู้กำกับ Tarr ต้องการนำเสนอคือความเข้าใจต่อชีวิต หลังเอาตัวรอดพานผ่านวันสิ้นโลกาวินาศ (ฮังการีภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์) มาจนถึงปัจจุบันนี้-นั้น (เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย) ราวกับการได้ถือกำเนิด เริ่มต้นใหม่ (Rebirth)
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง László Krasznahorkai (เกิดปี 1954) นักเขียนนวนิยายชาว Hungarian เจ้าของฉายา “Hungarian master of the apocalypse” เกิดที่ Gyula, Békés County ในครอบครัวชนชั้นกลาง เชื้อสาย Jewish บิดาเป็นทนายความ มารดาทำงานสำนักงานประกันสังคม, โตขึ้นร่ำเรียนกฎหมายยัง József Attila University (ปัจจุบันคือ University of Szeged) แล้วต่อด้วยสาขาวรรณกรรมและภาษาฮังกาเรียน Eötvös Loránd University เมื่อจบออกมาก็เริ่มเขียนผลงานเรื่องแรก Sátántangó (1985) แจ้งเกิดโด่งดังทันที!
นวนิยายลำดับที่สองชื่อว่า Az ellenállás melankóliája (1989) แปลภาษาอังกฤษ The Melancholy of Resistance นำเสนอการมาถึงของคณะละครสัตว์ลึกลับ ที่แม้มีเพียงการจัดแสดงปลาวาฬยักษ์ แต่กลับนำพาฝูงชนเข้ามาชุมนุม รวมกลุ่มกลางจัตุรัส แล้วก่อให้เกิดการจราจล สร้างความสับสนวุ่นวาย บุกเข้ามาทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน จนสถานที่แห่งนั้นๆ หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง
เท่าที่ผมอ่านความคิดเห็น/บทวิจารณ์วรรณกรรม ค้นพบว่า Krasznahorkai ต้องการกล่าวถึงกลุ่มต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี (Anti-Communist) แต่ยุคสมัยนั้นไม่สามารถเขียนอธิบายที่มาที่ไป เหตุผลการชุมนุม ทำไมถึงก่อเหตุจราจล (เพราะถูกทางการเซนเซอร์) ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่มีความจำเป็นเช่นกัน เพราะผู้อ่านชาวฮังกาเรียน(สมัยนั้น)สามารถเข้าใจได้โดยทันที … ไม่ต่างจากสารขัณฑ์ยุคสมัยนี้ น่าจะรับรู้กันดีว่าม็อบเกิดขึ้นเพราะอะไร?
ลีลาการเขียนของ Krasznahorkai ยังเลื่องลือชาด้วยการไม่ค่อยมีจุด full stop (.) ชอบบรรยายแบบลากยาวไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ผลงานบางเรื่องจบบทถึงจบหนึ่งประโยค (one-paragraph chapters) จนมีนักวิจารณ์วรรณกรรมเขียนแซวว่า “The world goes on, so the sentence” … ไม่แปลกใจเลยที่ผู้กำกับ Tarr จะเข้าขากันได้ดีกับ Krasznahorkai
Béla Tarr (เกิดปี 1955) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Pécs แล้วมาเติบโตยัง Budapest, บิดาเป็นนักออกแบบฉากพื้นหลัง มารดาทำงานนักบอกบท (Prompter) ในโรงละครเดียวกัน ทำให้ตั้งแต่เด็กมีโอกาสวิ่งเล่น รับรู้จักโปรดักชั่นละครเวที ตอนอายุ 10 ขวบ ได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ ก่อนค้นพบว่าตนเองไม่มีความชื่นชอบ(ด้านการแสดง)สักเท่าไหร่ ตั้งใจอยากเป็นนักปรัชญา แต่เมื่ออายุ 16 หลังจากสรรค์สร้างสารคดีสั้น 8mm ไปเข้าตาสตูดิโอ Béla Balázs Studios ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ฮังการี สั่งห้ามเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อบีบบังคับให้เขาเลือกสายอาชีพผู้กำกับ (ตอนนั้นก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร เพราะภาพยนตร์คือสิ่งที่ตนเองชื่นชอบหลงใหลอยู่แล้ว)
ผลงานช่วงแรกๆของผู้กำกับ Tarr ยึดถือตามแบบอย่าง ‘Budapest School’ ประกอบด้วย Family Nest (1979), The Outsider (1981), The Prefab People (1982) มีลักษณะ Social Realism แฝงการวิพากย์วิจารณ์การเมือง นำเสนอสภาพความจริงของประเทศฮังการียุคสมัยนั้น นักวิจารณ์ทำการเปรียบเทียบ John Cassavetes แต่เจ้าตัวบอกไม่รับรู้จักใครคนนี้ด้วยซ้ำ
ความสิ้นหวังต่อสถานการณ์ทางการเมือง ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ Hungarian People’s Republic ทำให้ผู้กำกับ Tarr ตัดสินใจละทอดทิ้งแนวทาง ‘social realism’ หันมาสรรค์สร้างผลงานที่เป็นการสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา เพื่อนำเสนอความท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ไม่ต่างไปจากวันสิ้นโลกาวินาศ เริ่มตั้งแต่ Almanac of Fall (1984), แล้วพัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ Damnation (1988), กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซ Sátántangó (1994), Werckmeister Harmonies (2000), The Man from London (2007) และ The Turin Horse (2011)
เมื่อปี 1985, ผู้กำกับ Tarr มีโอกาสรับรู้จัก László Krasznahorkai นักเขียนนวนิยายชาว Hungarian พูดคุยกันอย่างถูกคอ มองโลก/ฮังการีด้วยแง่มุมคล้ายๆกัน เลยร่วมพัฒนาบท Damnation (1988), ตามด้วยดัดแปลงผลงาน Sátántangó (1994) ไปจนถึงภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย
ผู้กำกับ Tarr แม้มีความชื่นชอบ The Melancholy of Resistance (1989) ผลงานลำดับที่สองของ Krasznahorkai แต่ไม่เคยคิดนำมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ (อาจเพราะฮังการีได้รับการปลดแอกไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องทำหนัง Anti-Communist อีกต่อไป) จนกระทั่งมีโอกาสพบเจอ Lars Rudolph เกิดความประทับใจในบุคลิกภาพแบบเดียวกับตัวละคร János Valuska เลยเกิดความต้องการดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้ขึ้นมา
The whole thing started … well, we read the novel and thought it was good, but we didn’t want to make a movie about it. And about five years ago we met in Berlin with Lars Rudolph, the actor who plays Valushka, and we immediately thought that we had our Valushka and that we had a reason to read the book again. The real reason we decided to make the film is because we met the person who could be Valushka. We were influenced by his personality and afterwards we started to work on the script.
Béla Tarr บทสัมภาษณ์ปี 2000
ณ เมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศฮังการี ภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์, เรื่องราวของ János Valuska (รับบทโดย Lars Rudolph) เด็กหนุ่มหน้าใส ทำงานรับ-ส่งหนังสือพิมพ์ เป็นที่รู้จักของใครต่อใคร ให้ความนับถือลุง György Eszter (รับบทโดย Peter Fitz) คีตกวี นักทฤษฎีเพลง ผู้โหยหาความสมบูรณ์แบบในเสียงดนตรี ราวกับบิดาแท้ๆ (เรียกว่า Godfather คงไม่ผิดอะไร)
วันหนึ่งระหว่างกำลังรับ-ส่งหนังสือพิมพ์ ได้ยินข่าวคราวการมาถึงของคณะละครสัตว์ จัดแสดงปลาวาฬยักษ์อยู่ยังจัตุรัสกลางเมือง ด้วยความใคร่รู้ใคร่สงสัยเลยออกเดินทางไปรับชม แล้วค้นพบความลุ่มหลงใหล น่าอัศจรรย์ใจ พระเจ้าสร้างสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมานี้ขึ้นได้อย่างไร
แต่การมาถึงของเจ้าปลาวาฬยักษ์ ยังนำพาคนแปลกหน้าต่างถิ่นเข้ามาเพ่นพ่านมากมาย รวมไปถึงป้า Tünde Eszter (รับบทโดย Hanna Schygulla) จู่ๆเข้ามาพูดคุยกับ János เพื่อให้ช่วยโน้มน้าวอดีตสามี György ทำบางสิ่งอย่างไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ แม้ทั้งเกิดความหวาดกลัว ต้องการปฏิเสธ แต่เขาก็มิอาจต่อต้านทานเหตุการณ์ที่จักบังเกิดขึ้นต่อไปได้
Lars Rudolph (เกิดปี 1966) นักแสดง/นักดนตรี เกิดที่ Wittmund, West Germany บิดาเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี KIXX แนว Punk Jazz ทำให้เกิดความชื่นชอบหลงใหลด้านนี้ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเลือกศึกษาการดนตรี Carl von Ossietzky Universität Oldenburg ขณะเดียวกันก็ลงเรียนคอร์สการแสดง แจ้งเกิดภาพยนตร์ Not a Love Song (1997) คว้ารางวัลจาก Filmfestival Max Ophüls Preis บังเอิญไปเข้าตาผู้กำกับ Béla Tarr ชักชวนมารับบทนำ Werckmeister Harmonies (2000)
รับบท János Valuska ชายหนุ่มหน้าใส มีความหลงใหลในดาราศาสตร์ สิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติ เคารพนับถือลุง György ราวกับ(พระเจ้า)บิดาแท้ๆ ขณะเดียวกันก็รังเกียจเดียดฉันท์ป้า Tünde ราวกับนางปีศาจ(ซาตาน)ที่สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองตัณหา ความทะเยอทะยานส่วนบุคคล
การมาถึงของคณะละครสัตว์ ปลาวาฬยักษ์ได้สร้างความลุ่มหลงใหลให้ Valuska แต่ก็ไม่เข้าใจว่ามันกำลังเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น พบเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในโรงพยาบาล กระทำร้ายผู้ป่วย สูงอายุ คนไม่มีทางสู้ รู้สึกหวาดกลัวหัวหด พยายามหาทางหลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้กลับถูกเฮลิคอปเตอร์ไล่ล่า เกิดอาการคลุ้มคลั่งจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลบ้า
ใบหน้าของ Rudolph ดูละอ่อนวัย ใสซื่อๆ มีความกระตือรือร้น เป็นที่รักของทุกคน ยังเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา ราวกับไม่เคยพบเจอสิ่งชั่วร้ายใดๆ เลยแสดงความรู้สึกชื่นชอบ-รังเกียจ หลงใหล-หวาดสะพรึง อย่างตรงไปตรงมา ตราตรึงสุดมีอยู่สองขณะ
- แรกพบเห็นปลาวาฬยักษ์ สายตาเต็มไปด้วยความลุ่มหลงใหล ฉงนสงสัย พระเจ้าสร้างสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ใหญ่นี้ขึ้นมาได้อย่างไร
- ตรงกันข้ามเมื่อพบเห็นสิ่งชั่วร้ายที่บังเกิดขึ้น บังเกิดพัฒนาการทางอารมณ์ เริ่มจากตื่นตกใจ หวาดสะพรึงกลัว ตัวสั่นสะท้าน และท้ายสุดกลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง ดวงตาหลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่า
Peter Fitz (1931-2013) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Kaiserslautern, ฝึกฝนการแสดงยัง Deutsches Schauspielhaus จากนั้นมีผลงานละครเวที มีผลงานโทรทัศน์ ภาพยนตร์ประปราย อาทิ Au revoir les enfants (1987), Werckmeister Harmonies (2000)
รับบท György Eszter คีตกวี นักทฤษฎีเพลงชื่อดัง แม้ได้รับนับหน้าถือตาจากผู้คน แต่ตัวตนกลับโคตรเห็นแก่ตัว ขลุกอยู่แต่ในบ้าน ไม่เคยสนใจอะไรโลกภายนอก ต้องการเพียงมองหาความสมบูรณ์แบบของเสียง ยกยอปอปั้นทฤษฎี Pythagoras ตำหนิต่อว่าหลักการ Werckmeister ขัดต่อหลักธรรมชาติที่พระเป็นเจ้าสร้างขึ้นมา
György มีศักดิ์เป็นลุงของ János คงเคยมอบความรักความเอ็นดู หลานชายเลยเทิดทูนราวกับบิดาทูนหัว (Godfather) เลยมักแวะเวียนเข้ามาช่วยเหลือจัดการสิ่งต่างๆ รวมถึงบอกกล่าวข้อเรียกร้องของอดีตภรรยา Tünde เป็นเหตุให้เขาต้องก้าวออกจากบ้าน แต่โดยไม่รู้ตัวนั่นคือแผนการที่ทำให้สูญเสียทุกสิ่งอย่าง รวมถึงหลานชายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลบ้า
เห็นการแสดงของ Peter Fitz ทำให้ผมระลึกนึกถึง Jean-Louis Trintignant (จาก Red (1994) และ Amour (2012)) เป็นผู้สูงวัยที่มีใบหน้านิ่วคิ้วขมวด เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด จริงจัง โดยเฉพาะตอนต้องก้าวออกจากบ้าน รับฟังคำพร่ำบ่นของผู้คน แม้งหนวกหูน่ารำคาญชิปหาย
แต่ถึงแม้ไม่เคยพบเห็นรอยยิ้มเบิกบาน กลับแสดงความซาบซึ้งประทับใจต่อหลานชาย (ผมชอบปฏิกิริยาใบหน้าของ Fitz ตอนถูกปลุกตื่นจากโซฟา แล้วถอดเสื้อผ้า-แต่งตัวเข้านอนมากๆ) และแม้ช่วงท้ายต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป ก็ยังคงห่วงหวงหา อาสาให้การดูแล แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนทุกวี่วัน เรียกว่ารักเอ็นดู รู้สำนึกบุญคุณคน
Hanna Schygulla (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Königshütte, Silesia (ปัจจุบันคือ Chorzów, Poland) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บิดาอาสาสมัครทหารถูกจับคุมขังในค่ายกักกัน (ได้รับการปล่อยตัวปี 1948) ส่วนมารดาพาเธอมาลี้ภัยอยู่ Munich, โตขึ้นตัดสินใจเป็นนักแสดง เข้าเรียนยัง Fridl-Leonhard Studio พบเจอ ครองรักผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder กลายเป็นขาประจำในละครเวที และภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ผลงานเด่นๆ อาทิ Effi Briest (1974), The Marriage of Maria Braun (1978), Passion (1982), Werckmeister Harmonies (2000), The Edge of Heaven (2008) ฯลฯ
รับบท Tünde Eszter หญิงสูงวัยผู้มีความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ยินยอมเลิกรา György เพื่อไปครอบครองรักผู้กำกับการตำรวจ แล้วครุ่นคิดแผนการโดยใช้หลานชาย János นำกระเป๋าเสื้อผ้า และข้อตกลงบางอย่างไปต่อรองอดีตสามี พออีกฝ่ายยินยอมกระทำตาม ผลลัพท์กลับเป็นเธอที่สามารถใช้อำนาจผัวใหม่ (หลังจากประกาศกฎอัยการศึก) เข้ายึดครอบครอง ขับไล่เขาออกจากบ้านของตนเอง
แม้เต็มไปด้วยริ้วรอยเหี่ยวย่น ผมหงอกทั่วศีรษะ แต่ Schygulla ยังคงบทบาทจาก The Marriage of Maria Braun (1978) คือหญิงสาวผู้มีความมักมาก ทะเยอทะยาน ต้องการไปให้ถึงจุดสูงสุด ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง โดยไม่ยี่หร่าอะไรใครทั้งนั้น! รอยยิ้มและริมฝีปากที่เผยอออกเล็กๆ มันช่างดูโฉดชั่วร้าย เคยน่ารักสวยใสขนาดไหน มาตอนนี้แทบไม่ใครอยากอยู่เคียงชิดใกล้ … ผมละขำกลิ้งปฏิกิริยาของ Rudolph ตอนต้องอดรนทนรับฟังคำพูดของน้า เต็มไปด้วยความรังเกียจ ขยะแขยง พยายามเบื้อนหน้าหนี ไม่อยากรับฟังอะไรทั้งนั้น
ขณะที่ György ผมพยายามเน้นคำว่าพ่อทูนหัว ‘god’father เพราะต้องการเปรียบเทียบตัวละครนี้กับพระเจ้า/บิดาของ János แม้มีความเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ แต่ก็รักเอ็นดูบุคคลที่มอบความเชื่อมั่นศรัทธาต่อตนเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับอดีตภรรยา Tünde พฤติกรรมโฉดชั่วร้ายไม่แตกต่างจากปีศาจ/ซาตาน พร้อมคิดคดทรยศหักหลังโดยไม่สนอะไรใคร ขอแค่ได้กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคลเท่านั้น
หนังใช้เวลาโปรดักชั่นถึง 3 ปีเต็ม เพราะต้องถ่ายไปหยุดไป (ถ่ายทำจริงๆแค่ 68 วัน) เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ ทุนสร้างรวมทั้งหมด 10 ล้านฟรังก์ฝรั่งเศส (ประมาณ $1.5 ล้านเหรียญ) ครึ่งหนึ่งได้จากฮังการี, 3 ล้านสตูดิโอสัญชาติเยอรมัน และที่เหลือของโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศส
ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ตากล้องถึง 7 คน ประกอบด้วย Gábor Medvigy (Hungarian), Milós Gurbán (Hungarian), Emil Novák (Hungarian), Erwin Lanzensberger (German), Jörg Widmer (German), Patrick de Ranter (French), Rob Tregenza (American)
We did this movie with seven cameramen. Gabor was the one who made more than the others. We had one American, three Hungarians, two Germans, and one French. Gabor made nearly twenty scenes, the German who is a Steadycam guy made five important scenes, the French cameraman made the closing scene.
Béla Tarr
ขณะที่ Damnation (1988) และ Sátántangó (1994) จะมีการขยับเคลื่อนเลื่อนกล้องอย่างเชื่องช้าน่าหลับ เพื่อสร้างบรรยากาศท้อแท้หมดสิ้นหวังภายหลังวันโลกาวินาศ แต่สำหรับ Werckmeister Harmonies (2000) กลับเต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา มีความโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียด เวียนวนไปวนมา หมุนรอบ 360 องศา ไม่หลงเหลือความน่าเบื่อหน่ายเลยสักนิด! ทำตัวราวกับเป็นตัวละครดำเนินเคียงข้าง/ติดตาม János Valuska ไปทุกแห่งหน
นั่นทำให้ความยาว 145 นาที หลงเหลือจำนวน 39 ช็อต คำนวณแล้ว ASL (Avegrage Shot Length) 219.4 วินาที เยิ่นยาวกว่า Sátántangó (1994) ที่ 145.7 วินาที แต่ยังห่างไกล The Man From London (2007) ค่าเฉลี่ยมากสุดของผู้กำกับ Tarr ที่ 248.6 วินาที!
มีนักข่าวสอบถามผู้กำกับ Tarr ถึงเหตุผลที่ชื่นชอบการถ่ายทำแบบ Long-Take? คำตอบคือมันสามารถสร้างความตึงเครียดกดดัน อันเกิดจากการต้องจดจับจ้องฉากเหล่านั้น เป็นการสร้างชีวิตชีวา ความน่าเชื่อถือ หรือจะมองในเชิงจิตวิทยาก็ได้เช่นกัน
You know I like the continuity, because you have a special tension. Everybody is much more concentrated than when you have these short takes. And I like very much to build things, to conceive the scenes, how we can turn around somebody, you know, all the movements implied in these shots. It’s like a play, and how we can tell something, tell something about life … Because it’s very important to make the film a real psychological process.
ผู้กำกับ Tarr ยังเล่าใช้เวลาเกือบปีในการออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำ เพราะต้องการจัตุรัสที่มีความกว้างใหญ่ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นศูนย์กลาง (จักรวาล) ก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริเวณ Town Hall ของเมือง Baja, Bács-Kiskun County ทางตอนใต้ของ Hungary
ภาพแรกของหนังถ่ายบริเวณเตาไฟ มองเห็นเลือนลางตัวอักษร Memphis อาจจะผลิตที่เมือง Memphis, Tennessee แต่นัยยะช็อตนี้น่าจะต้องการสื่อถึง Mephisto ปีศาจจากนิทานพื้นบ้านของเยอรมนี (German Folklore) ปรากฎตัวในตำนาน Faust โศกนาฎกรรมเกี่ยวกับชายผู้ขายวิญญาณให้ปีศาจ Mephistopheles เพื่อแลกกับองค์ความรู้ทุกสรรพสิ่งอย่าง แต่หลังจากสามารถเติมเต็มความต้องการ วิญญาณจักถูกฉุดคร่าลงอยู่ขุมนรกตราบชั่วกัลปาวสาน
เตาผิงลักษณะคล้ายๆกันนี้พบเห็นอีกครั้งในห้องพักของ János ขณะกำลังทำอาหารกระป๋อง แล้วจู่ๆป้า Tünde (ปีศาจ/ซาตาน ในบริบทนี้ย่อมสามารถเทียบเคียง Mephisto ได้เช่นกัน) แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียน พร้อมโน้มน้าวให้หลานชาย(และลุง György)ทำสัญญาอะไรบางอย่างกับตนเอง
หนังเริ่มต้นด้วยฉากในบาร์แห่งหนึ่ง (เจ้าของบาร์คือนักแสดงคนเดียวกับ Damnation (1988) และยังพบเห็นนักแสดงหน้าคุ้นๆจาก Sátántangó (1994) อีกหลายคน) แต่แทนที่ขี้เมาทั้งหลายจะเต้นแบบไม่ลืมหูลืมตา นึกว่าวันสิ้นโลกาวินาศแบบ Sátántangó (1994) กลับเฝ้ารอคอยการมาถึงของ János ซึ่งพยายามอธิบายวิชาดาราศาสตร์ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ พระจันทร์โคจรรอบโลก จะถือว่าเป็นการเริงระบำแบบคนมีความรู้คงไม่ผิดอะไร … สังเกตว่ามันก็กลับตารปัตรกันด้วยนะครับ ระหว่างเต้นอย่างไร้สติ vs. เริงระบำด้วยรูปแบบ, ปล่อยตามธรรมชาติคนเมา vs. ราวกับผู้มีสติปัญญหา (intelligent Dancing)
สำหรับหัวข้อวิชาดาราศาสตร์ แม้ว่า János พยายามสมมติแทนพระอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ เคลื่อนหมุนตามครรลองวิถีธรรมชาติ ดำเนินตามแผนการของพระเจ้าผู้สร้าง vs. แต่ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์กลับคือศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่งอย่าง (กล้องก็เลื่อนไปตามทิศทางขยับเคลื่อนไหวของนักแสดง โดยมี János คือจุดหมุน)
อีกสิ่งที่มีการกล่าวถึงคือเมื่อดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ จักก่อให้เกิดความมืดมิดขึ้นชั่วขณะ หรือเรียกว่าสุริยุปราคา (Eclipse) สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ย่อมครุ่นคิดว่านั่นคือลางร้าย หายนะ พระอาทิตย์มอดดับ ราหูอมอาทิตย์ ฯลฯ สร้างความตื่นตระหนัก หวาดสะพรึงกลัว และหยุดแน่นิ่งไปชั่วขณะหนึ่ง … เราสามารถเปรียบเทียบช่วงเวลาสุริยุปราคา กับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหนัง กลุ่มผู้ชุมนุม ก่อการจราจล ราวกับความมืดมิดเข้าปกคลุมชุมชนเมืองแห่งนี้ และด้วยความที่ János ไม่สามารถเข้าใจว่ามันเกิดห่าเหวอะไร จึงเกิดอาการหวาดกลัวตัวสั่นสะท้าน ท้ายที่สุดภายในดวงตาของเขาจึงหลงเพียงความเวิ้งว่างเปล่า
At that moment … the air suddenly turns cold. Can you feel it? The sky darkens and then goes all dark. The dogs howl, rabbits hunch down, the deer run in panic, run, stampede in fright. And in this awful, incomprehensible dusk even the birds … the birds too are confused and go to roost. And then… complete silence. Everything that lives is still. Are the hills going to march off? Will Heaven fall upon us? Will the Earth open under us? We don’t know. We don’t know, for a total eclipse has come upon us.
János Valuska
เอาจริงๆคำพูดของ János ยังเป็นการบอกใบ้(สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง)หลังตอบจบของหนังด้วยนะครับ เพราะเมื่อสิ้นสุดสุริยุปราคา (Eclipse) ทุกสิ่งอย่างจักหวนกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง!
But … but no need to fear, it’s not over. For across the Sun’s glowing sphere slowly the Moon swims away. And the Sun once again bursts forth and to the Earth slowly there comes light again, and warmth again floods the Earth. Deep emotion pierces everyone. They have escaped the weight of darkness.
แซว: นี่เป็นช็อตที่ยาวนานสุดของหนัง 10 นาที 20 วินาที ผู้กำกับ Tarr บอกอยากทำให้ยาวกว่านี้ แต่มันคือข้อจำกัดของฟีล์ม Kodak ยาวสุดแค่ 300 เมตร ประมาณ 11 นาที (แล้วต้องเผื่อสำหรับการตัดต่อด้วยนะ)
the longest is the first one, in the bar. It’s 10 minutes and 20 seconds. Because afterwards the camera runs out of film. Kodak cannot make it longer than 300 meters, which is about 11 minutes. Yes (laughs), this is my limit, this fucking Kodak (laughs), a time limit. A kind of censorship.
Béla Tarr
ระหว่างที่ János เดินทางกลับบ้าน/ไปหาลุง György สังเกตว่าเขาเดินผ่านบริเวณที่แสงสว่างสลับกับความมืดมิด ให้ความรู้สึกคล้ายๆโลกหมุนรอบพระอาทิตย์ ดวงจันทร์หมุนรอบโลก และสุริยุปราคาที่เพิ่งอธิบายจบมา แต่พอถึงจุดๆหนึ่งกลับพบเห็นเพียงความมืดมิดทอดยาวสนิท แทบจะไม่หลงเหลือแสงสว่างใดๆ นั่นแอบบอกใบ้สิ่งกำลังจะเกิดขึ้นกับตัวละครได้ตรงๆเลยละ
สำหรับ János ลุง György ถือเป็นจุดศูนย์กลาง ทุกสิ่งอย่างในชีวิต ด้วยเหตุนี้ทั้งกล้องและตัวละครจึงเคลื่อนเลื่อนติดตามไปรอบบ้าน (เพียง Long Take ช็อตเดียว) จากห้องนั่งเล่นสู่ห้องนอน ถอดเสื้อผ้าผ่อนราวกับคนรับใช้ แล้วแวะเข้าห้องน้ำ เลื่อนผ้าม่าน และปิดไฟ
หลายคนอาจสงสัยเรื่องการแต่งตัว ลุงทำเองไม่ได้หรือไร? ผมคิดว่าก็คงทำได้เองนะแหละ ไม่เหมือน The Turin Horse (2011) ที่บิดาแขนพิการข้างหนึ่ง เลยจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากบุตร แต่นัยยะของการกระทำนี้เพื่อสื่อถึงบุคคลสำคัญ บิดาทูนหัวของ János แสดงความเคารพรัก พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเป็นการตอบแทน กตัญญูรู้คุณคน
การมาถึงของตู้คอนเทนเนอร์ลึกลับ ‘มันมากับความมืด’ มีการนำเสนอที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ค่อยๆเคลื่อนออกจากความมืด พร้อมเสียงรถลากที่ค่อยๆดังขึ้น แล้วสวนผ่านหน้า János ด้วยขนาดมหึมาของมันย่อมสร้างความฉงนสงสัย ขณะเดียวกันก็รู้สึกหวาดหวั่นสั่นสะพรึง เพราะไม่รู้ว่าข้างในนั้นมีอะไร? แต่สุดท้ายกล้องก็เลื่อนมาจับภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ (เหมือนตัวละครจะไม่ทันเห็น) รายละเอียดของคณะละครสัตว์ การจัดแสดงปลาวาฬยักษ์ และเจ้าชายลึกลับ
แม้ว่า János จะมีความฉงนสงสัยต่อตู้คอนเทนเนอร์ที่เคลื่อนผ่านหน้าไป แต่เขาก็มิได้ใส่ใจอะไรเพราะไม่ใช่เรื่องของตนเอง แต่หลังจากเริ่มได้ยินเสียงซุบซิบของพนักงานหนังสือพิมพ์ กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาหญิงสาวคนนั้นพูดพร่ำเพ้อไม่ยอมหยุด ราวกับต้องการสื่อถึงความสนใจ(ของ János)ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นตามลำดับ … เหมือนเธอพูดสรุปข่าวสารทั้งหมดของวันนี้ จับใจความได้ว่า
The world has gone completely mad.
ระหว่างเดินทางมาส่งหนังสือพิมพ์ สนทนาสองต่อสองกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ รับฟังเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับคณะละครสัตว์นี้ นั่นทำให้ János เริ่มเกิดความหวาดหวั่นไหว ฉงนสงสัย ใคร่อยากพบเห็น รับล่วงรู้ให้ได้ว่ามันคืออะไร
They also say … the whale’s got no part in it. Then the next moment, that the whale is the cause of it all.
หลังเสร็จสิ้นการสนทนากับบุรุษไปรษณีย์ János เดินออกทางประตูแล้วมีการแช่ภาพช็อตนี้ค้างไว้ ช่างเป็นสิ่งยั่วเย้ายวน เรียกร้องความสนใจ ให้ผู้ชมต้องขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหานัยยะความหมายของมันเหลื้อเกิน!
โทรทัศน์เครื่องนี้มันตีความได้ครอบจักรวาลเลยนะ อาทิ การนำเสนอข่าวสาร (เปรียบกับเรื่องเล่าของบุรุษไปรษณีย์ต่อ János), สื่อที่ใช้ชวนเชื่อ/ล่อหลอกผู้คนในวงกว้าง (ของพวกเผด็จการ พรรคคอมมิวนิสต์), โลกทัศน์ของมนุษย์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ภายใน(กฎ)กรอบสี่เหลี่ยม วันๆจับจ้องโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
แซว: ยุคสมัยนี้เรายังสามารถมองว่าสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะโลกเสมือน สังคมออนไลน์ ได้กลายเป็นศูนย์กลางจักรวาลไปแล้วเช่นกัน
นี่น่าจะเป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่พบเห็นการถ่ายภาพพระอาทิตย์ในภาพยนตร์ของผู้กำกับ Tarr และแม้ว่า János จะเดินตรงเข้าหาดวงตะวันยามเช้า แต่มุมกล้องช็อตนี้คือการถ่ายย้อนแสง ทำให้รายละเอียดแวดล้อมรอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด … ที่ใดมีแสงสว่าง ย่อมต้องมีความมืดมิดอยู่เบื้องหลัง
เนื่องจากมันเป็นทัศนคติส่วนบุคคลของ György ต่อหลักการ/ทฤษฎีเสียงของ Pythagoras vs. Werckmeister จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กล้องจะเคลื่อนเลื่อนหมุนรอบตัวละคร 360 องศา เพื่อสื่อถึงความคิดเห็นดังกล่าว/ตนเองคือศูนย์กลางจักรวาล
Carefully, we have to correct Werckmeister’s mistakes. We have to concern ourselves with these seven notes of the scale but not as of the octave, but seven distinct and independent qualities like seven fraternal stars in the heavens. What we have to do then, if we are aware, is that this natural tuning has its limits, and it is a somewhat worrisome limit that definitely excludes the use of certain higher signatures.
György Eszter
János เป็นบุคคลแรกและบุคคลเดียวที่จ่ายเงินเข้าชมปลาวาฬยักษ์ (คนอื่นๆแค่มาห้อมล้อม ยืนรอคอยการชุมนุม และก่อการจราจล) อาจเพราะความอ่อนเยาว์วัย ใสซื่อบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา จึงเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น กล้องก็จะเคลื่อนเลื่อนหมุนรอบติดตามตัวละคร ซึ่งการเดินเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ ก็จักวนรอบหนึ่งแล้วออกมา
พอพบเห็นเจ้าปลาวาฬยักษ์ แวบทำให้ผมระลึกถึง Moby-Dick สิ่งมีชีวิตขนาดมหึมาอาศัยอยู่กลางมหาสมุทร พร้อมกระทำร้ายใครก็ตามที่พยายามจะไล่ล่าฆ่ามัน! ความคิดถัดมาก็คือ Leviathan อ้างอิงใน Hebrew Bible และคัมภีร์ไบเบิลอีกหลายเล่ม คือปีศาจ/สัตว์ร้ายจากท้องทะเลที่ถูกพระเจ้าขับไล่ ไม่มีทางที่มนุษย์จะสามารถต่อสู้เอาชนะ และเป็นตัวแทนบาปแห่งความอิจฉาริษยา (Envy)
แต่หลังจากขบครุ่นคิดอยู่สักพัก ผมมองว่าเจ้าปลาวาฬยักษ์ น่าจะคือสัญลักษณ์ของสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถค้นหาคำตอบ ทำความเข้าใจ อยู่นอกเหนือขอบเขตการรับรู้ (เหมือนขีดจำกัดการได้ยินเสียง) ใครกันจะรับรู้ประสงค์ของพระเจ้า สร้างสัตว์ร้ายตนนี้ขึ้นมาทำไม?
แซว: มีนักข่าวพยายามสัมภาษณ์ถามผู้กำกับ Tarr ว่าเจ้าปลาวาฬตัวนี้แฝงนัยยะอะไร แต่เขากลับไม่ยินยอมให้คำอธิบายใดๆ เพียงตอบคำถามถึงการสร้างสิ่งมีชีวิตนี้แบบยีๆยวนๆ ต้องว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์สาวมาออกแบบ เต็มไปด้วยเหล็กและพลาสติก แค่นั้นแหละ –“
It was a lot of iron, some plastic. We had a scientist girl come in to design it.
Béla Tarr
บนหัวเตียงนอนของ János มีแผนภูมิดาราศาสตร์ สื่อถึงความสนใจต่อเอกภพกว้างใหญ่ แต่เขากลับอาศัยอยู่ในห้องเช่าอันคับแคบ ร่อมร่อ ซ่อมซ่อ และกลับรับประทานอาหารกระป๋องที่ถูกอัดแน่น ราคาถูก รสชาติสำเร็จรูป ชีวิตจริงช่างแสนโหดร้าย
แซว: จะว่าไปห้องพักของ János (ถิ่นที่อยู่บนโลกมนุษย์) มีสภาพตรงกันข้ามกับบ้านลุง György ที่ราวกับสรวงสวรรค์ (สถานที่อยู่อาศัยของพระเจ้า) ส่วนของป้า Tünde ไม่ต่างจากขุมนรกสักเท่าไหร่ (เต็มไปด้วยความวุ่นวาย)
การมาเยี่ยมเยียนของป้า Tünde สร้างความไม่ค่อยพึงพอใจต่อ János สังเกตว่ากล้องจับจ้องเพียงเธอราวกับว่าคือจุดศูนย์กลางจักรวาล ส่วนชายหนุ่มยืนแน่นิ่ง แทบไม่ขยับเคลื่อนไหวติง หันด้านข้าง (ทิศทางตั้งฉากกับป้า) และก้มศีรษะตลอดเวลา พยายามไม่มองหน้า ไม่อยากสบตา แต่ก็มิอาจพูดจาขับไล่ผลักไสส่ง (นั่นเพราะอุปนิสัยเกรงใจคนของ János เลยทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ)
แค่เพียงกระเป๋าใส่เสื้อผ้าของ György ก็สร้างความหลอกหลอน สีหน้าบึ้งตึงให้แก่ Tünde ยินยอมรับฟังคำแนะนำของ János เพื่อหาหนทางกำจัดเจ้าสิ่งนี้ ราวกับเสนียดจัญไร นำมันออกไปให้ห่างไกล
ไม่เชิงว่ากระเป๋าใบนี้คือ MacGuffin เพราะถึงไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดภายใน แต่ผู้ชมสามารถเข้าใจโดยอัตโนมัติว่าคงเป็นเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกายของป้า Tünde (เป็นสัญญะบอกว่าถ้าไม่ทำตามที่ฉันร้องขอ ก็จักย้ายกลับมาอาศัยอยู่บ้านหลังนี้) ด้วยเหตุนี้มันเลยมีนัยยะในเชิงเปรียบเทียบมากกว่า คล้ายๆเหตุผลที่ผู้ชุมนุมก่อการจราจล ไม่จำเป็นต้องอธิบาย เปิดเผยรายละเอียด ผู้ชม(ชาวฮังกาเรียน)ก็น่าจะเข้าใจได้เองโดยปริยาย
เดิน เดิน เดิน János ออกเดินติดตามลุง György พร้อมรับฟังคำพร่ำบ่น สนเพียงตนเอง ที่ยินยอมเสียสละเวลาขณะนี้ เพื่ออนาคตจักไม่ต้องออกมายุ่งวุ่นวายอะไรกับใครอีก ลักษณะการเคลื่อนเลื่อนกล้องจากด้านข้าง แม้คือการดำเนินไปตามถนนหนทาง กลับให้ความรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังหมุนรอบอะไรบางอย่าง (แผนการอันชั่วร้ายของป้า Tünde??)
เมื่อทั้งสองพบเจอกับชาวบ้าน ตรงเข้ามาห้อมล้อม พูดคำพร่ำบ่น ฟังไม่ได้สดับ แต่สำหรับ György แสดงสีหน้าสุดเบื่อหน่าย ไม่ยี่หร่าต่อความวุ่นวายผู้อื่นใด … ผมเห็นปฏิกิริยาตัวละครราวกับใบหน้าของพระเจ้า รับฟังคำอธิษฐานมนุษย์ที่เต็มไปด้วยข้อเรียกร้องโน่นนี่นั่น แต่คนเหล่านี้กลับไม่เคยแสดงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระองค์ ใครกันจะอยากประทานพร ยินยอมให้ความช่วยเหลือ
หลังจากที่ János มารับส่วนแบ่งอาหารของลุง György กล้องเคลื่อนเลื่อนมายังพนักงานสองคนนี้กำลังโอบกอดจูบ เกี้ยวพาราสี ทีแรกผมโคตรสงสัยว่าจะแทรกใส่เข้ามาทำไม รู้สึกผิดที่ผิดทางเหลือเกิน แต่มาครุ่นคิดดูมันสามารถสะท้อนความคอรัปชั่น เทียบแทนอวตารป้า Tünde (เหมือนจะจงใจเลือกนักแสดงหญิงที่มีเค้าโครงหน้าละม้ายคล้ายกัน) กำลังพรอดรักผู้กำกับการ (ชายคนนี้ก็เหมือนเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยรัฐสักแห่ง)
โดยไม่รู้ตัวนี่คือหนทางแยกที่ János ในขณะยังครองสติสมประดี มีโอกาสพบเจอพูดคุยกับ György เพราะหลังจากนี้ต่างคนต่างจะต้องเผชิญหน้าศัตรูคู่ตรงข้ามของตนเอง แม้พวกเขาสามารถเอาชีวิตรอด แต่ทุกสิ่งอย่างจักกลับตารปัตรตรงกันข้ามจากที่เคยเป็นมา
János เดินทางมายังบ้านของป้า Tünde เพื่อบอกว่าได้ทำตามสิ่งที่ร้องขอ ซึ่งเธอก็ยังมอบหมายงานต่อไปให้เขา เรียกว่าเอารัดเอาเปรียบความมีน้ำใจหลานชายแบบสุดๆ ส่วนตัวเองก็ไปเริงระบำกับผู้กำกับการคนใหม่ ในสภาพมึนเมามาย ถือปืนราวกับกำลังจะยิง(อสุจิ)ใส่ใครบางคน
ผมมองปืนอันนี้ไม่ต่างจากสำนวน ‘เล่นกับไฟ’ ลองดีเสี่ยงกับสิ่งที่รู้ว่าเป็นอันตราย (แผนการของป้า Tünde ในการยึดบ้าน György และชุมชนเมืองแห่งนี้ให้อยู่แทบเท้า) แต่ถ้าสำเร็จก็เสร็จสมหมาย ได้รับชัยชนะ ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่งอย่าง
มันใช่เรื่องของ János เสียที่ไหนในการพาเด็กๆ (ลูกๆของผู้กำกับการ) ที่กำลังส่งเสียงโหวกเหวก กระโดดโลดเต้น เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทำยังไงก็คงไม่ทางทำให้พวกเขาเข้าหลับนอน … จะว่าไปเด็กๆพวกนี้สามารถเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ชุมนุม ต่างแสดงพฤติกรรมต่อต้านบิดา/มารดา ชนชั้นผู้นำของประเทศ หรือจะมองว่าคือการเรียกร้องความสนใจ อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่หันมาเหลียวดูแล กระทำตามสิ่งเรียกร้อง ตอบสนองความต้องการของตนเอง/ประชาชน
ยามค่ำคืน János เดินทางไปสังเกตการณ์กลุ่มผู้ชุมนุม บังเอิญสามารถแอบเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ เชยชมปลาวาฬยักษ์อีกครั้ง แต่คราวนี้เมื่อจับจ้องมองดวงตากลับมีความรู้สึกที่แตกต่างตรงกันข้าม
- กลางวันเต็มไปด้วยความพิศวง ลุ่มหลงใหล พระเจ้าสรรค์สร้างสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมานี้ได้อย่างไร?
- กลางคืนกลับรู้สึกหวาดหวั่น สั่นสะท้านทรวงใน ทำไมเจ้าสิ่งนี้ถึงนำพาความชั่วร้ายมาสู่สถานที่แห่งนี้?
János แอบได้ยินการสนทนาระหว่างเจ้าของปลาวาฬตัวนี้ เหมือนว่าพวกเขากำลังมีการโต้ถกเถียงอะไรบางอย่าง และบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวใช้ชื่อว่าเจ้าชาย (Prince) พบเห็นเพียงเงา (ได้บรรยากาศ Nosferatu (1922) เป็นอย่างมาก) และเสียงพูดคุยผ่านล่าม (เห็นว่าภาษา Slovak) สร้างความลึกลับ น่าสะพรึงกลัว สิ่งที่แม้ผู้ชมก็ไม่สามารถทำความเข้าใจ
หลายคนคงมองว่าเจ้าชาย คือสัญลักษณ์ของปีศาจ/ซาตาน มวลรวมแห่งความชั่วร้าย ผู้คอยชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง แต่ผมมองนัยยะเดียวกับเจ้าปลาวาฬยักษ์ บุคคลที่ไม่มีใครรับรู้จัก พบเห็นใบหน้า อยู่นอกเหนือขอบเขตความเข้าใจของมนุษย์
เมื่อเสียงระเบิดดังขึ้น นั่นคือสัญญาณเริ่มต้นก่อการจราจล János ครุ่นคิดว่าตนเองคงวิ่งหลบหนีไม่ทัน เลยหวนกลับมาหลบซ่อนตัวยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง … ผมเพิ่งอ่านเจอว่านี่ไม่ใช่คลินิคทั่วๆไป แต่คือสถานจิตเวช/โรงพยาบาลบ้า
ถ้ามองในแง่มนุษยธรรม การกระทำของผู้ชุมนุมบุกเข้ามาในโรงพยาบาล กระทำร้ายผู้ป่วย/บุคคลไม่มีทางสู้ แสดงถึงพฤติกรรมไร้จรรยาบรรณ ขาดสามัญสำนึก มีความคลุ้มบ้าคลั่งระดับสูญเสียสติแตก!
แต่ถ้าเรามองในเชิงสัญลักษณ์ เหมือนต้องการเปรียบเทียบประเทศฮังการี (ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) มีสภาพไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลบ้าแห่งนี้ ประชาชนยังคงได้รับบาดเจ็บทั้งร่างกาย-จิตใจ (อิทธิพลจากสงคราม ลามมาถึง Great Depression) รวมถึงชายสูงวัยในห้องน้ำ สภาพเปลือยเปล่า เหมือนเพิ่งรอดชีวิตกลับจากค่ายกักกันนาซี … เรายังสามารถมองทั้งซีเควนซ์นี้ อ้างอิงถึงเหตุการณ์ Holocaust ได้เช่นเดียวกัน
หลังเอาตัวรอดจากเหตุจราจลในโรงพยาบาลจิตเวช János ย้ายมาหลบซ่อนตัวยังห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าทำลายทรัพย์สินราบเรียบเป็นหน้ากลอง กล้องเริ่มถ่ายจากเพดานเบื้องบน แล้วค่อยๆเคลื่อนหมุนวนโดยรอบ 360 องศา ไล่ระดับลงมาจนถึงชั้นล่าง พบเห็นสิ่งข้าวของพังทลาย กระจัดกระจาย และชายหนุ่มกำลังอ่านสมุดบันทึก พรรณาการข่มขืนกระทำชำเรา บลา บลา บลา
สถานที่แห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ระบอบทุนนิยม ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่อุปกรณ์ที่ János นั่งพิงอยู่นั่นคือเครื่องซักผ้า สามารถสื่อถึงการเวียนวน เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วน! ซึ่งดูเหมือนผู้กำกับ Tarr ต้องการเปรียบเทียบไม่ว่าฮังการีภายใต้คอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย ล้วนไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างจากเดิมทั้งนั้น สูงสุดกลับสู่สามัญ
เช้าวันถัดมา János ระหว่างทางกลับบ้าน แอบพบเห็นป้า Tünde กำลังยืนชี้นิ้วสั่งการทหาร/ตำรวจ ภายหลังการประกาศกฎอัยการศึก ทำตัวราวกับได้รับอำนาจสูงสุดจากการเป็นสามีใหม่ผู้กำกับการ และลายเซ็นที่ลุง György ออกล่ารายชื่อมาให้เธอ … ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่า János เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเปล่า หรือสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่าง เลยปฏิเสธตรงเข้าไปขอความช่วยเหลือ
ซึ่งหลังจากป้า Tünde ขึ้นรถขับออกไป จู่ๆบังเกิดหมอกควันฟุ้งกระจาย (ถ้าใครช่างสังเกตน่าจะเห็นว่าคือท่อไอเสียรถถัง) ใครที่เคยรับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับ Tarr น่าจะตระหนักว่านั่นคือสัญลักษณ์ของสิ่งเหนือธรรมชาติ ราวกับว่ายัยนี่คือปีศาจชั่วร้าย เสกมนต์คาถาให้ตนเองสูญหายตัวไป
สังเกตว่าทั้งสองครั้งที่ János เดินทางไป-กลับห้องพัก จักพบเห็นสามี-ภรรยา (เจ้าของห้องเช่า) มีทิศทางการนำเสนอที่ละม้ายคล้ายคลึง สลับสับเปลี่ยนมุมมอง/ตัวละคร ก่อนสิ้นสุดด้วยช็อตแบบเดียวกัน นี่คือแนวคิดของรูปแบบนิยม (Formalism) เน้นความเป็นรูปแบบแผน โครงสร้างการดำเนินเรื่อง มากกว่าเนื้อหาสาระของหนัง
และอีกเหตุผลสำคัญของการนำเสนอด้วยวิธีดังกล่าวในฉากนี้ ก็เพื่อให้ János ตระหนักรับรู้ถึงชีวิต-ความตาย เพื่อนำเสนอความสมดุล กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียว คือหลักธรรมชาติ วิถีแห่งเอกภพ (ในความเข้าใจผู้กำกับ Tarr)
ระหว่างที่ János กำลังหลบหนีออกจากเมือง วิ่งไปตามเส้นทางรถไฟ กลับถูกเฮลิคอปเตอร์มาจากไหนก็ไม่รู้ แล่นวนไปวนมา ราวกับว่าต้องการล้อมจับกุมตัว นี่ฉันทำผิดอะไร?
แม้รางรถไฟช็อตนี้จะดูโค้งมน ยังสามารถสื่อถึงเส้นทางชีวิตของ János ดำเนินอย่างตรงไปตรงมา ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง ตามครรลองกฎหมายและวิถีทางสังคม แต่กลับถูกสิ่งที่อยู่เหนือกว่า (ไม่สามารถอธิบายได้ว่าคืออะไร? เพราะอะไร?) ล่องลอยไปมา พยายามควบคุมครอบงำ ถึงไม่ได้กระทำผิดอะไรก็ยังมีความผิด (ข้อหาไม่ได้กระทำอะไรผิด)
ผมยังจดจำได้ดีจากภาพยนตร์ Through a Glass Darkly (1961) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman ที่ใช้เฮลิคอปเตอร์แทนสัญลักษณ์ ‘Spider-God’ ที่สามารถแผ่หยากไย่ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถหลบหนีสัมผัสของพระเจ้าไปไหน ละม้ายคล้ายกันฉากนี้ เฮลิคอปเตอร์น่าจะแทนด้วยสัญลักษณ์ปีศาจ/ซาตาน ไม่ยินยอมให้ János หลบหนีเอาตัวรอดพ้นจากเงื้อมมือของตนเอง
ในคราแรกตั้งใจเพียงหลบซ่อนตัวจากกลุ่มผู้ชุมนุมก่อการจราจล แต่ครานี้ János กลับต้องอาศัยอยู่โรงพยาบาลจิตเวช เพราะอาการสูญเสียสติ จิตวิญญาณไม่อยู่กับเนื้อกับตัว มองเข้าไปในดวงตาหลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่า ในทางการแพทย์ถือว่าเป็นคนบ้า!
ในทางจิตวิเคราะห์ János กลายเป็นคนบ้าเพราะไม่สามารถยินยอมรับสภาพความจริง ไม่เข้าใจว่าเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น ทำไมผู้ชุมนุมถึงก่อการจราจล กระทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน แถมตนเองยังไล่ล่าจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งลักษณะอาการละม้ายคล้าย ‘Shell Shock’ หรือภาษาทางการ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)
ถ้าเรานำนัยยะโรงพยาบาล=ประเทศฮังการี ฉากนี้ยังสามารถสื่อถึงสภาพชาวฮังกาเรียน ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทำให้ชีวิตสูญสิ้นอิสรภาพ ถูกควบคุมขัง ไร้หนทางหลบหนี หลงเหลือเพียงความหมดสิ้นหวัง
และถ้ามองด้วยภาษาภาพยนตร์ หรือวิถีแห่งเอกภพ (ตามความเข้าใจผู้กำกับ Tarr) จากที่ János เคยเป็นชายหนุ่มสดใสไร้เดียงสา เมื่อพบเห็นสองสิ่งขั้วตรงข้าม แสงสว่าง-มืดมิด ชีวิต-ความตาย วุ่นวาย-สงบสุข เหตุผล-อารมณ์ ฯลฯ ดำเนินไปตามหลักธรรมชาติ จิตใจของเขาจึงแปรสภาพ/ปรับสู่ความสมดุล กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียว หรือความเวิ้งว่างเปล่า (จะมองว่าคืออาการของคนบ้า ก็ไม่แตกต่างกัน)
หลังจาก János ก็มีเพียงลุง György ที่ได้พบเห็นเจ้าปลาวาฬยักษ์ กลับตารปัตรจากเคยอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์มืดมิด ครานี้หลังเหตุการณ์จราจลทุกสิ่งอย่างล้วนพังทลาย ร่างกายของมันได้รับการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ แต่กลับไม่หลงเหลือใครผู้มาชุมนุมห้อมล้อม รวมถึงเจ้าชายสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
ถ้าครุ่นคิดแบบผิวเผิน สิ่งที่เคยเป็นความลึกลับ (ปลาวาฬยักษ์) เมื่อได้รับการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ มันย่อมหมดสูญสิ้นความน่าสนใจ … คล้ายๆพวกสปอยหนัง Marvel อยากรับรู้ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร มีเหตุการณ์สุดพิเศษใดๆเกิดขึ้นบ้าง แต่หลังจากความลับทั้งหลายได้รับการเปิดเผยออกมา ก็ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงจดจำอีกต่อไป
ปฏิกิริยาสีหน้าของลุง György เมื่อจับจ้องมองดวงตาปลาวาฬยักษ์ มีความเหนื่อยหน่าย เอือมระอา ราวกับต้องการบอกว่าดูสิ่งแกกระทำสิ่ง ทำลายทุกสิ่งอย่างที่ฉันสรรค์สร้างมา … แต่เจ้าปลาวาฬยักษ์ก็ไม่ได้ยี่หร่าอะไร (เพราะมันตกตายไปนานแล้ว) สิ่งบังเกิดขึ้นล้วนสะท้อนการมีตัวตนของกันและกัน มีผู้สร้างต้องมีผู้ทำลายล้าง ชีวิต-ความตาย วุ่นวาย-สงบสุข นั่นต่างหากคือหลักธรรมชาติ กฎแห่งเอกภพที่แท้จริง
และถ้าเรามองว่าลุง György คือตัวแทนของพระเจ้า ขณะที่ปลาวาฬยักษ์เป็นอสูจร้าย/ปีศาจ(ของซาตาน) การเผชิญหน้าครั้งนี้ราวกับวันสิ้นโลกาวินาศ นำพาทุกสิ่งอย่างพังทลายสูญสิ้น กลายสภาพสถานที่แห่งนี้ไม่แตกต่างจากขุมนรก (ที่ก็มีซาตาน/ป้า Tünde ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่งอย่าง) ขณะเดียวกันมันยังคือจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ (Rebirth) เวียนวนไปไม่รู้จักจบสิ้น
ตัดต่อโดย Ágnes Hranitzky (เกิดปี 1945) ภรรยาของผู้กำกับ Béla Tarr ซึ่งไม่ใช่แค่ทำงานตัดต่อ หลายๆครั้งยังดูแลบทหนัง ออกแบบงานสร้าง (Production Design) ช่วยกำกับกองสอง เหมือนจะรับรู้จักกันมาตั้งแต่ The Outsider (1981) จนผลงานสุดท้าย
อย่างที่บอกว่าลีลาการเคลื่อนเลื่อนกล้องของหนัง ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นอีกตัวละคร(ที่ไร้ตัวตน) ดำเนินเคียงข้าง/ติดตาม János Valuska ไปทุกแห่งหน ตั้งแต่ค่ำคืนการมาถึงของปลาวาฬยักษ์ กลางวันเชยชม กลางคืนขื่นขม และเช้าอีกวันใหม่หลงเหลือเพียงความหมดสิ้นหวัง
- ค่ำคืนการมาถึงของปลาวาฬยักษ์
- János พร่ำสอนวิชาดาราศาสตร์กับชาวบ้านขี้เมาในบาร์แห่งหนึ่ง
- เดินทางมาหาลุง György พาเข้าห้องนอน
- ระหว่างเดินทางไปรับหนังสือพิมพ์ พบเห็นการมาถึงของคอนเทนเนอร์ลึกลับ
- พอมาส่งหนังสือพิมพ์ยังไปรษณีย์ ถึงรับรู้ว่าภายในนั้นคือปลาวาฬยักษ์
- กลางวันเชยชม
- หลังเสร็จงานเดินทางไปเข้าชมปลาวาฬยักษ์
- พอกลับบ้านพบเจอกับป้า Tünde พยายามพูดโน้มน้าวอะไรบางอย่าง
- János จำใจต้องมาหาลุง György เพื่อบอกเล่าความต้องการของป้า
- ร่วมออกเดินทางกับลุงเพื่อติดตามล่าลายเซ็นต์ ขณะเดียวกันก็พบเห็นผู้คนแปลกหน้ากลางจัตุรัสเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดสังเกต
- กลางคืนขื่นขม
- แวะเวียนมาบอกกับป้า Tünde ว่าภารกิจได้รับมอบหมายแล้วเสร็จสิ้น ซึ่งเธอกำลังพรอดรักผู้กำกับการหนุ่ม
- János แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชมนุม แอบลักลอบได้ยินคำสนทนาระหว่างเจ้าของคณะละครสัตว์ กับบุคคลลึกลับใช้ชื่อเจ้าชาย
- ระหว่างพยายามหลบหนี ได้ยินเสียงระเบิด เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
- János หลบซ่อนตัวอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คาดไม่ถึงพวกผู้ชุมนุมเหล่านั้นกลับบุกเข้ามาทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน
- เช้าวันใหม่หลงเหลือเพียงความหมดสิ้นหวัง
- János ย้ายมาหลบซ่อนตัวในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
- พบเห็นป้า Tünde กลายเป็นบุคคลสำคัญในกองกำลังทหาร/ตำรวจ
- แวะเวียนกลับมาห้องพัก ได้รับคำแนะนำให้หลบหนีไปตามทางรถไฟ แต่เขากลับถูกเฮลิคอปเตอร์ติดตามไล่ล่า
- โดยไม่รู้ตัวต้องเข้าโรงพยาบาลบ้า และลุง György เล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้นต่อมา
ด้วยความที่หนังมีเพียง 39 ช็อต การตัดต่อจึงแค่นำมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของศรีภรรยาหลังเสร็จถ่ายทำในแต่ละวัน … ก็เท่ากับเมื่อถ่ายทำเสร็จก็ตัดต่อเสร็จสิ้นโดยพลัน!
เพลงประกอบโดย Mihály Víg (เกิดปี 1957) นักแต่งเพลงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest ในครอบครัวนักดนตรี ถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พอโตขึ้นร่วมก่อตั้งวงใต้ดิน Trabant (1980–1986) ตามด้วย Balaton (1979-ปัจจุบัน) กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ร่วมงานกันตั้งแต่ Almanac of Fall (1984) จนถึงผลงานเรื่องสุดท้าย
งานเพลงของ Víg ค่อนข้างจะแตกต่างจากหลายผลงานก่อนหน้า ไม่ได้มีลักษณะสรวลเสเฮฮา ‘carnivalesque’ ประกอบงานเลี้ยงปาร์ตี้ สนุกสนานครึกครื้นเครงอีกต่อไป! แต่เพียงสองบทเพลงที่รังสรรค์สร้างขึ้น เต็มไปด้วยสัมผัสของชีวิต-จิตวิญญาณ ล่องลอยสู่ระดับจักรวาล ชวนให้ลุ่มหลงใหล และคลุ้มบ้าคลั่งในคราเดียวกัน
บทเพลงแรกก็คือ Valuska ตั้งตามชื่อตัวละคร János Valuska เริ่มต้นด้วยการบรรเลงเปียโน ท่วงทำนองง่ายๆ ไม่ได้สลับซ้อนสักเท่าไหร่ สามารถสื่อถึงความละอ่อนเยาว์วัย ใสซื่อไร้เดียงสา มีความกระตือรือล้น สนใจสิ่งต่างๆรอบข้าง อยากรู้อย่างเห็น อยากเรียนรู้เข้าใจทุกสิ่งอย่าง (แบบเดียวกับบุคลิกตัวละคร) พอเสียงไวโอลินดังแทรกเข้ามา ราวกับว่าเขาได้เปิดมุมมองโลกทัศน์ พบเห็นสิ่งต่างๆที่เต็มไปด้วยความพิศวง สับสนวุ่นวาย จักรวาลแห่งนี้ช่างกว้างใหญ่ มีอะไรๆอีกมากที่เราไม่สามารถทำความเข้าใจ … มนุษย์ก็แค่เถ้าธุลี ไม่ได้มีคุณค่าความหมายอันใดต่อเอกภพสักนิด!
Öreg แปลว่า Old ความยาว 10 นาทีเปะๆ ด้วยท่วงทำนองที่เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา อาจไม่ตราตรึงเท่าเสียงแอคคอร์เดียนบทเพลง Halics เรื่อง Sátántangó (1994) แต่มันกลับสร้างบรรยากาศหลอกหลอน ปั่นป่วนท้องไส้ สั่นสะท้านทรวงใน ได้ยินครั้งแรกตอน János พบเห็นปลาวาฬยักษ์ สายตาเต็มไปด้วยความพิศวง ลุ่มหลงใหล แต่อีกครั้งที่ได้ยินคือขณะกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในโรงพยาบาล ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความหมดสิ้นหวังขึ้นในจิตวิญญาณ
อีกครั้งที่ได้ยินคือตอนจบ ผ่านมุมมองของลุง György จับจ้องมองปลาวาฬด้วยความเข้าใจสัจธรรมชีวิต วิถีแห่งเอกภพ ทุกสิ่งอย่างล้วนถูกสร้างให้มีความสมดุล กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียว
อีกบทเพลงที่ต้องพูดถึงก็คือ Radetzky March Op.228 เพลงมาร์ชประพันธ์โดย Johann Strauss Sr. หรือ Johann Strauss I (1804-49) คีตกวีชาว Austrian แห่งยุคสมัย Romantic Period
Radetzky March เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้ Field Marshal Joseph Radetzky von Radetz ทำการแสดงครั้งแรก 31 สิงหาคม ค.ศ. 1848 ที่กรุง Vienna เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนหลังจาก Battle of Custoza (1848) ระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire) กับราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย (Kingdom of Sardinia) ในสงครามประกาศอิสรภาพครั้งแรกของอิตาลี First Italian War of Independence (1848-49)
เกร็ด: Radetzky March และ The Blue Danube ที่ประพันธ์โดยบุตรชาย Johann Strauss Jr. ได้กลายเป็นบทเพลงชาติ (unofficial National Anthem) อย่างไม่เป็นทางการของประเทศ Austria
บทเพลงนี้ดังขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของป้า Tünde หลังจาก János แจ้งว่าลุง György ยินยอมกระทำตามคำร้องขอแล้วเสร็จสิ้น เธอเข้าไปเริงระบำร่วมกับผู้กำกับการ/สามีใหม่ เฝ้ารอคอยเพียงผู้ชุมนุมเริ่มก่อการจราจล แผนการแท้จริงก็จักสำเร็จลุล่วงทุกสิ่งอย่าง
ทั้งๆควรเป็นบทเพลงเฉลิมฉลองชัยชนะ แต่พอได้ยินวนไปวนมาซ้ำๆจักเริ่มเกิดความน่ารำคาญ แถมพฤติกรรมตัวละครก็มีความน่ารังเกียจ ขยะแขยง เล่นกันสิ่งของอันตราย และพอตัดไปภาพเด็กๆลุกขึ้นมาส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย (ล้อกับเหตุการณ์ผู้ชุมนุมก่อการจราจล) ก็อาจทำให้หลายคนปั่นป่วนท้องไส้ รู้สึกหลอกหลอน สั่นสยองกับบทเพลงนี้ … ผู้กำกับ Tarr ชอบเอาเพลงเพราะๆมาปู้ปี้ปู้ยำ จนทำให้ปฏิกิริยาผู้ชม/ผู้ฟังต่อบทเพลงนั้นๆปรับเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง T_T
János Valuska คือตัวแทนคนหนุ่มสาว(ชาวฮังกาเรียน)รุ่นใหม่ เริ่มต้นมีความละอ่อนเยาว์วัย ใสซื่อบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา จนเมื่อมีโอกาสเปิดมุมมองโลกทัศน์ เรียนรู้จักโลกกว้าง พบเห็นสิ่งดีงาม-โฉดชั่วร้าย สองขั้วตรงข้ามที่ไม่รู้บังเกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างไร จึงเกิดอาการหวาดกลัวตัวสั่นสะท้าน มิอาจยินยอมรับสภาพความจริง กลายเป็นคนสูญเสียสติ คลุ้มบ้าคลั่ง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวอีกต่อไป
ปลาวาฬยักษ์ เพราะเสียชีวิตไปนานแล้วมันจึงไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ซึ่งเมื่อ János มีโอกาสพบเห็นเศษซาก/ดวงตาขนาดใหญ่ จึงบังเกิดความพิศวง ลุ่มหลงใหล แต่การปรากฎตัวของมันยังนำพาหายนะ ความชิบหายวายป่วน โดยเจ้าชายหน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ (ที่เป็นเจ้าของปลาวาฬตัวนี้) สามารถพูดปลุกระดมฝูงชนให้ก่อการจราจล ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน จนชุมชนเมืองแห่งนี้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง
เคียงคู่ขนานกับปลาวาฬยักษ์ก็คือป้า Tünde อ้างว่าตนเองเสียสละหย่าร้างสามี György แต่แท้จริงต้องการเปลี่ยนไปเกี้ยวพาราสีผู้กำกับการตำรวจ แล้วครุ่นคิดแผนการอันโฉดชั่วร้าย (ไม่ต่างจากเจ้าชายแต่ในทิศทางตรงกันข้าม) แทนที่จะเตรียมความพร้อมรับมือตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์ กลับเฝ้ารอคอยผู้ชุมนุมให้ก่อการจราจล เมื่อเมืองแห่งนี้หลงเหลือเพียงสภาพปรักหักพัง ถึงค่อยให้สามีใหม่ประกาศใช้กฎอัยการศึก … แล้วตนเองจักสามารถยึดครอบครองบ้านของอดีตสามีแล้วเข้าไปอาศัยอยู่แทนที่ (ปล่อยให้ความวุ่นวายบังเกิดขึ้น แล้วอ้างความชอบธรรมเข้ายึดครอบครองทุกสิ่งอย่าง)
ความตั้งใจของผู้แต่ง Krasznahorkai เขียนนวนิยายเล่มนี้ขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง(ของฮังการี) เลยต้องการสื่อถึงอิทธิพล/ความคอรัปชั่นภายของพรรคคอมมิวนิสต์ (มองผ่านตัวละคร Tünde Eszter) คือสาเหตุผลให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาชุมนุมประท้วง ก่อม็อบ ระบายความอึดอัดอั้น เพื่อโค่นล้มอำนาจเผด็จการ
ส่วนผู้กำกับ Tarr สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ภายหลังจากฮังการีเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย อารมณ์เกรี้ยวกราดจึงทุเลาบรรเทาลงไปมาก แถมมุมมองโลกทัศน์ยังเปิดกว้างถึงระดับเอกภพ สามารถเข้าใจความเป็นไปของวิถีจักรวาล แสงสว่าง-มืดมิด ชีวิต-ความตาย วุ่นวาย-สงบสุข เหตุผล-อารมณ์ ไร้เดียงสา-คลุ้มบ้าคลั่ง ฯลฯ สองสิ่งขั้วตรงข้ามที่ทำให้ทุกสิ่งอย่างบังเกิดความสมดุล กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียว โดยมีปลาวาฬยักษ์/พระเจ้าผู้สร้างคอยชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง
ฮังการีภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้อะไรๆภายนอกดูเหมือนพัฒนาไปในทิศทางดีขึ้น กลับตารปัตรตรงกันข้ามจากช่วงเวลาภายใต้คอมมิวนิสต์ ราวกับชีวิตได้ถือกำเนิดใหม่ (Rebirth) แต่ไม่นานก็หวนกลับเข้าสู่วังวน วัฎจักรต่อไป ไม่ต่างจากการก้าวออกจากนรกขุมหนึ่งไปสู่นรกอีกขุมหนึ่ง
นั่นเพราะประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสรีภาพในการครุ่นคิดแสดงออก เลยเกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านโน่นนี่นั่น เพียงครานี้เปลี่ยนจากขับไล่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ กลายเป็นเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ร้อยแปดพันอย่าง (ดูอย่างม็อบประเทศสารขัณฑ์ ก็มีไม่นับถ้วน แทบจะไม่เว้นวันเช่นกัน) ถ้ารวมกลุ่มอย่างสันติก็อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่ส่วนใหญ่มักเกิดปะทะต่อสู้จนกลายเป็นสัญลักษณ์ความวุ่นวาย … เมื่อพูดถึงม็อบ ก็มักมีความรุนแรงควบคู่กันไป
กลายมาเป็นประเด็นโต้ถกเถียงระหว่าง เสรีภาพ vs. กฎหมาย, ปล่อยไปตามธรรมชาติ vs. ต้องมีการควบคุมครอบงำ, ซึ่งความโคตรลึกล้ำของหนังคือการนำทฤษฎีเสียงมาร่วมเปรียบเทียบ Pythagoras vs. Werckmeister เราควรรับฟังสำเนียงเสียงของพระเจ้า (ตามหลักธรรมชาติ) หรือเอาขอบเขตความสามารถในการได้ยินของมนุษย์เป็นที่ตั้ง!
ผมเป็นแฟนตัวยงของซีรีย์ Star Trek มันจะมีอยู่ตอนหนึ่งใน Star Trek: Voyager ชื่อตอน Virtuoso (SS6, EP13) เรื่องราวของหมอโฮโลแกรม ต้องการลาออกจากยานเพื่อสานฝันเป็นนักร้องอุปรากรยังดาวเคราะห์แห่งหนึ่ง จริงอยู่เขามีความสามารถขับร้องระดับเสียง Tenor แต่เอเลี่ยนต่างดาวมีศักยภาพในการได้ยินเหนือกว่ามนุษย์ จึงครุ่นคิดพัฒนาวิธีขับร้องด้วยระดับเสียงที่สูงกว่านั้น จนสุดท้ายหมอต้องขอกลับขึ้นยาน เพราะมิอาจเข้าถึงความไพเราะเกินขอบเขตจำกัดดังกล่าว
พอระลึกถึงเรื่องราวดังกล่าว ก็ทำให้ผมเกิดความเข้าใจประเด็นถกเถียงระหว่าง Pythagoras vs. Werckmeister เอาจริงๆไม่มีฝั่งฝ่ายไหนถูกผิด แต่คือมนุษย์มีขีดความสามารถในการรับรู้ที่จำกัด จึงมิอาจเข้าถึงทุกสรรพสิ่งในสากลจักรวาล ซึ่งมันก็ไม่มีความจำเป็นประการใดที่เราควรต้องศึกษาเข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านั้นคืออจินไตย รับรู้ไปก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ (มีแต่จะสร้างความว้าวุ่นวายให้เกิดขึ้นภายใน)
ปลาวาฬที่ได้รับเปิดเผยออกช่วงท้าย ราวกับคือสิ่งที่ผู้กำกับ Tarr ครุ่นคิดว่าตนเองได้ค้นพบ/ไขข้อกระจ่างของเอกภพ ทุกสรรพสิ่งอย่างล้วนมีสองสิ่งขั้วตรงข้าม สามารถเติมเต็มกันและกัน เพื่อสร้างความสมดุล กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียว ซึ่งรวมถึงการมีตัวตนของพระเจ้าผู้สร้าง อาจมีอยู่จริงก็ได้แต่ก็ต้องมาพร้อมกับซาตาน เพราะการให้กำเนิดอยู่คนละฝั่งกับทำลายล้าง ชีวิต-ความตาย และสุดท้ายเวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้นใหม่
ฉายรอบปฐมทัศน์โปรแกรม Director’s Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม “universal acclaim” จากนั้นออกตระเวรไปฉายตามเทศกาลต่างๆ คว้ารางวัลมากมาย ติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหลายๆสำนัก รวมถึงนักวิจารณ์ Roger Ebert ยกให้เป็น Great Movie
Bela Tarr’s “Werckmeister Harmonies” (2000) is maddening if you are not in sympathy with it, mesmerizing if you are. If you have not walked out after 20 or 30 minutes, you will thereafter not be able to move from your seat.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนเต็ม 4/4 และจัดเป็น Great Movie
น่าเสียดายที่หนังยังไม่ได้รับการบูรณะ (ก็น่าจะกำลังรอต่อแถว คงอีกไม่น่านาน) แต่เพราะเป็นฟีล์มขาว-ดำ เลยยังไม่เสื่อมคุณภาพสักเท่าไหร่ ผมรับชม DVD ของ Artificial Eye ถือว่าพอใช้ได้
ระหว่างรับชม ผมเกิดความประทับใจดวงตาปลาวาฬยักษ์ตนนี้อย่างมากๆ เหมือนมันมีอะไรบางอย่างพยายามดึงดูด ชักชวนให้ลุ่มหลงใหล แต่ช่วงท้ายก็แอบงงๆ ไม่ค่อยเข้าใจเหตุผล ชุมนุมเพื่ออะไร? เจ้าชายคือใคร? János กลายเป็นคนบ้าได้ไง? พอขบครุ่นคิดก็เริ่มกุมขมับ เพิ่งมาตระหนักว่าไม่เข้าอะไรสักอย่าง นี่มันหนังห่าเหวอะไร?? อ่านหลายๆบทความวิจารณ์แม้งก็มีแต่ศัพท์แสงลุ่มลึกเกินไป
ผมเพิ่งมาตรัสรู้หนังระหว่างหาอ่านทฤษฎีเสียงของ Pythagoras vs. Werckmeister มันคือความแตกต่างขั้วตรงข้ามที่เป็นข้อถกเถียงเชิงปรัชญา ระหว่างปล่อยตามวิถีธรรมชาติ vs. กฎระเบียบที่มนุษย์รังสรรค์สร้าง (Natural Order vs. Social Order) และยังทำให้หวนระลึกตอนหนึ่งของ Star Trek Voyager ดังที่อธิบายไป
นั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมตระหนักถึงความลุ่มลึกล้ำ สลับซับซ้อนของ Werckmeister Harmonies (2000) คาดไม่ถึงว่าผู้กำกับ Tarr จักสามารถครุ่นคิดเข้าใจเอกภพ ใกล้เคียงแนวคิดพุทธศาสนามากๆ ผู้ชมที่สามารถเข้าถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ ท้ายสุดน่าจะเกิดอาการลุ่มหลงใหล คลุ้มคลั่งไคล้ ไม่แตกต่างจากตัวละครที่กลายเป็นบ้าสักเท่าไหร่
แนะนำคอหนังปรัชญา นักจักรวาลวิทยา ลองมาถกเถียงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-เอกภพ สองสิ่งขั้วตรงข้าม การมีตัวตนของสิ่งเหนือธรรมชาติ, โดยเฉพาะช่างภาพ ตากล้อง เพลิดเพลินกับการถ่ายทำโคตร Long Take ทำได้ยังไง!
จัดเรต 18+ กับฝูงม็อบ ความรุนแรง พฤติกรรมคอรัปชั่น จนบ้าคลั่งสูญเสียสติแตก
Leave a Reply