West Side Story

West Side Story (1961) hollywood : Jerome Robbins & Robert Wise ♥♥♥♥♡

หนึ่งในหนังเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก West Side Story โดยผู้กำกับ Robert Wise (Sound of Music) และ Jerome Robbins กับการดัดแปลงบทละคร Broadway ที่ดัดแปลงบทละคร Romeo and Juliet มาอีกที กลายเป็นหนังวัยรุ่น Street Gangster และหนังเพลง (Musical) กับ 10 รางวัล Oscar เป็นเครื่องการันตี นี่เป็นหนังที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

West Side Story น่าจะเป็นหนังเรื่องเดียว ในบรรดาหนังที่มีลักษณะ Romeo and Juliet ที่ผมใส่ในลิส “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะมันมีประเล็กๆน้อยๆมากมายที่สอดแทรก ใส่แนวคิด ทั้งวิพากย์สังคม รวมถึงสอนให้เข้าใจชีวิตที่ดีและมีประโยชน์มากๆ ไม่ใช่แค่เรื่องรักๆใคร่ๆ passion และความรุนแรงที่เป็นใจความหลักของ Romeo and Juliet, ผมว่า 10 รางวัล Oscar น่าจะเป็นเครื่องการันตีความยอดเยี่ยมได้ที่สุดแล้ว ซึ่งปริมาณเยอะขนาดนี้มีแพียง Ben-Hur (1959), Titanic (1997) และ The Lord of the Rings: The Return of the King (2003) สามเรื่องนี้เท่านั้นที่ได้ Oscar มากกว่าที่ 11 สาขา

ผมไม่ได้ดู West Side Story มานานมากแล้ว (น่าจะเกิน 10 ปี) จำได้ว่าตอนที่ดูครั้งนั้น นี่เป็นหนังที่เจ๋งและสุดยอดมากๆ แต่ก็จะรายละเอียดอะไรไม่ได้แล้ว, ตอนที่พบว่า West Side Story มีลักษณะคล้าย Romeo and Juliet ผมคิดเลยว่าอาจต้องผิดหวังแน่ๆ ตอนดูครั้งแรกยังไม่รู้เกร็ดนี้ เลยทำให้สามารถดื่มด่ำเต็มอิ่มกับเรื่องราวหนังได้ แต่กลับรอบนี้พอรู้ก็เลยไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะกำลังเบื่อกับแนวนี้ แต่ผิดคาดอย่างรุนแรง หนังเรื่องนี้มีอะไรมากกว่าแค่ Romeo and Juliet ทั่วๆไป มันเหมือนและไม่เหมือน แถมตอนจบสร้างเซอร์ไพรส์ให้อีก ผมบอกได้แค่ว่า ตอนจบของ West Side Story ไม่เหมือนกับของ Romeo and Juliet นะครับ! ซึ่งการจบแบบนี้ผมถือว่าทำให้หนังกลายเป็นตำนานไปเลย

จากบทละคร Romeo and Juliet ของ William Shakespeare สู่การดัดแปลงเป็นละครเวที Broadways เมื่อปี 1957 โดย Jerome Robbins ซึ่งทำให้เขาได้ Tony Award สาขา Best Choreography มาครอบครอง, ละคร Broadways เรื่องนี้ก็ได้เข้าชิง Tony Award ถึง 6 สาขา (รวม Best Musical) ได้มา 2 รางวัล นี่คงเป็นเหตุผลให้ hollywood เกิดความสนใจซื้อลิขสิทธิ์บทละครมูลค่า $375,000, United Artist ได้มอบหมายให้ Robert Wise เป็นโปรดิวเซอร์และเป็นผู้กำกับ ซึ่ง Wise ได้ต่อรองกับสตูดิโอ เพราะเขาไม่เคยกำกับหนังเพลงมาก่อน คิดว่าคงทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ เลยเสนอชื่อ Jerome Robbins ที่เป็นผู้กำกับเวอร์ชั่นละครเวที ให้มาร่วมกำกับและเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น (Choreography) ส่วน Wise จะกำกับช่วง Drama ของหนัง

นี่จึงถือเป็นภาพยนตร์ Debut เรื่องแรก (และเรื่องเดียว) ของ Jerome Robbins นะครับ, Robbins ถือว่าเป็นตำนานผู้กำกับละครเวที Broadways เลย แต่ด้วยความที่เขาไม่มีประสบการณ์ด้านภาพยนตร์มาก่อน ทำให้ไม่เข้าใจวิธีการบางอย่าง เช่นต้องบอกว่า cut เวลาถ่ายจบแต่ละซีน ซึ่งพอนักเต้นไม่ได้ยินเสีย cut ก็เลยไม่สามารถหยุดการแสดงได้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ถ่ายทำโดยใช้ฟีล์ม 65 mm ที่โคตรใหญ่และโคตรแพง ทำให้สิ้นเปลืองฟีล์มจำนวนมาก ทำให้งบประมาณที่ใช้บานปลาย จนว่ากันว่า Robbins ถูกไล่ออกในช่วง 1 ใน 3 ของช่วงโปรดักชั่น, กระนั้น Robert Wise ก็เก็บเครดิตชื่อของ Robbins ในฐานะผู้กำกับไว้นะครับ เพราะการออกแบบท่าเต้นในหนังเป็นผลงานความสร้างสรรค์ของเขาล้วนๆ

ด้วยความที่ Robbins เป็นผู้กำกับ Broadways ทำให้เขามีมุมมองต่อการกำกับการเต้นที่สุดโต่งมากๆ ใครที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วจะสังเกตพบว่า นักแสดงแต่ละคนจะมีจังหวะ Rhythm ที่ไม่เหมือนกันเลย ขึ้นกับความชอบ รสนิยมส่วนตัว ฯ เราจะไม่เห็นพวกเขาเต้นประสานหรือพร้อมเพียงกันเลย แต่กลายเป็นว่ากลับออกมาดูดี เข้ากันได้อย่างพิลึก ด้วยมุมกล้องที่ถือว่าเลือกมาได้ถูกต้องมากๆ ทำให้เห็นความลงตัวในความไม่พร้อมเพรียง, มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบว่า ถ้ากลุ่มนักเลง Gangster เปลี่ยนจากจับอาวุธมาเต้นสู้กัน นี่จะเป็นรูปแบบ ท่าทาง และสไตล์ที่พวกเขาจะเต้นออกขณะสู้กัน คือบ้าๆ สุดๆ เหวี่ยงๆ แบบในหนังนี่แหละ, เห็นว่าหนังมีการ Rehearsal ล่วงหน้า 3 เดือนก่อนเริ่มถ่ายทำ ก่อนเริ่มถ่ายในแต่ละซีนก็จะมีซ้อมใหญ่อีกหลายรอบ มีนักแสดงออกมาพูดว่า การเต้นซ้อมเพื่อแสดงในหนังเรื่องนี้ โหด ทรมาน เหน็ดเหนื่อยและยากที่สุดในชีวิต, อย่างฉากที่ต้องกระโดดจากรั้วสูง ปกติแล้วควรจะเป็นหน้าที่ของ Stuntman ไม่ใช่นักเต้น แต่พวกเขาต้องทำตามคำสั่งของ Robbins ที่เคร่งครัด เรื่องมากและเจาะจงสุดๆ, ต้องทุ่มเททั้งกาย ทั้งใจ ทั้งเหนื่อย อ่อนล้า แทบทุกคนจะต้องได้รับอาการบาดเจ็บระหว่างถ่ายทำ ก็สมควรนะครับที่ Robbins จะถูกไล่ออก กระนั้นผลลัพท์ที่ออกมา มันก็ยอดเยี่ยม คุ้มค่า เหนือคำบรรยายจริงๆ

นี่เป็นหนังเรื่องแรกของ Oscar ที่ผู้กำกับ 2 คนรับรางวัล Best Director ร่วมกันนะครับ, และ Jerome Robbins ยังได้พิเศษอีกรางวัลหนึ่งคือ Academy Award for Brilliant Achievements in the Art of Choreography on Film เพื่อยกย่องการออกแบบท่าเต้นที่มีความสวยงาม โดดเด่น และมีความแปลกใหม่

เรื่องราวเริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่าง Street Gangs 2 กลุ่ม คือ Jets และ Sharks, หนึ่งเป็นเด็ก hooligan เจ้าถิ่น อีกหนึ่งเป็นกลุ่มของ Puerto Rico ที่อพยพเข้ามาอยู่ในอเมริกา, West Side Story ดำเนินเรื่องใน Manhattan, New York คนอเมริกาจะรู้จักดีนะครับ มีโซนหนึ่งที่เรียกว่า West Side อยู่ติด Hudson River, ผมชอบการเลือกสถานที่ของหนังนะ เพราะตึกมันดูมีเหลี่ยมมีมุม สูงเสียดฟ้า ไม่มีต้นไม้ หรือเห็นธรรมชาติ ซึ่งแสดงถึง ‘โลก’ ของเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในป่าคอนกรีต เปรียบเสมือนบ้านของพวกเขา มีประโยคหนึ่ง Doc ถามว่า “When do you kids stop? You make this world lousy!” มีคนตอบว่า “We didn’t make it!” คนที่สร้างเมืองลักษณะนี้ขึ้นมาก็คือผู้ใหญ่นะครับ เด็กๆเติบโตขึ้นในโลกที่ผู้ใหญ่สร้าง เขากลายเป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใหญ่สร้างนะแหละ (ตัวของเด็กเองก็อีกครึ่งหนึ่ง) ประโยคนี้แทงใจผมเลย เสียดสีสังคมได้เจ็บแสบ

หนังเรื่องนี้นักแสดงนำไม่ได้ Oscar (ไม่ได้เข้าชิงด้วย) แต่นักแสดง Supporting กวาดเรียบทั้งชายหญิง มันจะเป็นไปได้ยังไงใช่ไหม ผมขอเริ่มจาก Romeo and Juliet ก่อนแล้วกัน

Richard Beymer รับบทเป็น Tony ผู้ร่วมก่อตั้ง Jets และออกจากกลุ่มไปแล้ว, เดิมบทนี้มีนักแสดงหลายคนที่ได้รับการคาดหมายไว้ คนแรกคือ Larry Kert (ที่รับบท Tony ใน Broadways) ขณะนั้นเขาอายุ 30 แล้วแก่เกินไปหน่อย, Elvis Presley ที่ถูกผู้จัดการปั่นหัวบอกว่าบทไม่เหมาะกับเขา Elvis จึงปฏิเสธไป, Warren Beatty ที่ตอนนั้นมาร่วมทดสอบบทร่วมกับ Natalie Wood แต่ไม่ถูกใจผู้กำกับ, Tab Hunter, Anthony Perkins, Russ Tamblyn, Burt Reynolds, Troy Donahue, Bobby Darin, Richard Chamberlain, Dennis Hopper, Gary Lockwood ซึ่งตอนแรกผู้กำกับ Wise เลือก Warren Beatty สุดท้ายก็มาลงเอยที่ Richard Beymer

Natalie Wood รับบท Maria น้องสาวของผู้นำ Sharks, ตัวเลือกแรก Carol Lawrence ที่เคยรับบทนี้ในการแสดง Broadways ขณะนั้นอายุ 29 แล้ว แก่เกินไป, ถัดมาคือ Audrey Hepburn เห็นว่าตกปากรับคำแล้ว แต่ก็ถอนตัวเพราะขณะนั้นเธอท้องพอดีเลยเล่นไม่ได้ นักแสดงคนอื่นๆอาทิ Jill St. John, Diane Baker, Valerie Harper, Elizabeth Ashley, and Suzanne Pleshette, ตอนที่ Wise เลือก Wood เป็นขณะที่เธอและ Warren Beatty เข้ามาร่วมทดสอบบทร่วมกัน (ทั้งสองขณะนั้นกำลังออกเดทกันอยู่ และ Wood ก็ทดสอบบทกับ Beatty) สุดท้ายเป็น Wood ได้บทแต่ Beatty ไม่ได้

passion ของทั้งสองในหนังเรื่องนี้ถือว่าลึกอยู่ในดวงตาของทั้งคู่ Beymer ดูเป็นผู้ใหญ่ และเป็นคนดี เขาแค่โชคร้ายอยู่ผิดที่ผิดเวลาและไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ส่วน Wood จะมีมิติที่ลึกกว่า เธอถูกควบคุมโดยพี่ชายที่ไม่ต้องการให้แสดงออกออกมา ความรู้สึกของเธอจึงลุ่มลึกและเมื่อระเบิดออกมันเลยดูมีพลังที่จับต้องได้, การแสดงของทั้งคู่ เมื่อเปรียบเทียบกับ Supporting 2 คนที่ได้ Oscar ต้องบอกว่าบทมันไม่เอื้อให้แสดงความสามารถออกมาเต็มที่ มีมุมที่ยังกักๆเอาไว้ ไม่สุด

George Chakiris รับบทเป็น Bernardo ผู้นำของ Shark ตัวของ Chakiris เป็นคนอเมริกันนะครับ แต่ตัวละครเขาเป็นสัญชาติ Puerto Rico, Chakiris ถือว่าเป็นศัตรูทางหัวใจของพระเอกที่น่าจดจำมาก คือเขาเป็นนักเลงที่มีความคิด ความต้องการ อุดมการณ์ของตัวเองสูงมาก และถ้าเลือกได้ผมเชื่อว่าเขาคงไม่อยากทำสงครามกับใคร ที่สำคัญคือหวงน้องสาวมาก, ฉากที่ผมคิดว่าทำให้เขาได้ Oscar คือฉากบนหลังคา และร้องเพลง America ผมชอบเพลงนี้นะครับ ใจความของเพลงตั้งคำถามว่า America กับ Puerto Rico ต่างกันอย่างไร? อะไรที่ America มีแต่ Puerto Rico ไม่มี? ฟังดูมันอาจออกไปทางชาตินิยมเสียหน่อย แต่ก็มีมุมที่ให้ผู้ฟังได้คิด รู้ทั้งรู้ว่าดีไม่ดียังไง แต่ทำไมถึงเลือกแบบนั้น

Rita Moreno รับบท Anita แฟนสาว Bernardo และเพื่อนสนิท Maria, การแสดงของเธอทำเอาผมนึกถึง Jennifer Hudson ที่ได้ Oscar Supporting Actress จาก Dreamgirls (2006) คือทรงพลังมากๆ, ไม่ใช่แค่ฉากร้องเพลงนะครับ แต่ฉากไฮไลท์ของเธอเลยคือตอนที่ถูกพวก Jets แกล้งเธอ โยนไปโยนมาทำเหมือนจะข่มขืน (attempt to raped) ฉากนี้แรงมากๆ ผมว่าเป็นฉากที่แฝงความรุนแรงยิ่งกว่าตอนแทงกันตายอีก และ Moreno ตอนเธอเล่นฉากนี้เห็นว่าเธอร้องไห้จริงๆนะครับ เพราะมันทำให้นึกถึงชีวิตวัยเด็กที่ถูกกระทำคล้ายๆกันแบบนี้ จนแบบว่านักแสดง Jets ทั้งหลายหยุดแกล้งเธอ ต้องปลอบและขอโทษ ซึ่งเธอเข้าใจว่ามันเป็นการแสดง และบอกด้วยว่า ผู้ชมคงจะต้องเกลียดพวกเธอมากๆแน่ ใช่ครับ ผมละเหม็นขี้หน้า Jets พวกนี้เลย, นี่สะท้อนค่านิยมของคนยุคหนึ่ง และนี่คือเหตุของสงคราม ใครไม่ใช่พวกเราก็ต้องถูกปฏิบัติแบบนี้ ‘การที่เราปฏิบัติต่อศัตรูอย่างไร แสดงถึงการมองเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์อย่างนั้น’

ยังมีนักแสดงเด่นๆอีกหลายคนที่น่าพูดถึง อาทิ Russ Tamblyn รับบท Riff ผู้นำของ Jets มีช่วงเด่นๆของเขาอยู่นะครับ คือตอนร้องเพลง Gee, Officer Krupke! ล้อเลียนเจ้าหน้าที่ตำรวจ นี่เป็นอีกเพลงที่เจ๋งมากๆ สะท้อนและเสียดสีปัญหาของสังคมได้แสบสุดๆ เนื้อเพลงเป็นการค้นหาต้นตอของปัญหาสังคม ซึ่งแต่ละคนก็โยนขี้กันไปมา ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นต้นตอของปัญหา จนถึงจุดหนึ่งแบบว่า เยอะเว้ย! มันก็ผิดไปกันหมดนี่แหละ

Tucker Smith ในบท Ice ฝั่ง Jets ผมชอบหมอนี่มากๆ (แอบคิดว่าเขาเหมาะที่จะได้ Oscar มากกว่า Chakiris อีก) ในกลุ่มเขามีศักดิ์เป็น lieutenant ตอนที่ Riff เสียชีวิตก็เป็น Ice นี่แหละตลอดทั้งเรื่องที่ผมไม่เห็นบทอะไรเลย แต่พอถึงฉากนี้ราวกับบุคคลิกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยังกะคนละคน นี่คือบุคคลิกของผู้นำที่เจ๋งมากๆ (ตรงข้ามกับ lieutenant ฝั่ง Shark Chino รับบทโดย Jose DeVega ที่เลือดร้อนสุดๆ), เพลง Cool เป็นเพลงที่ผมชอบที่สุดในหนังนะครับ มีการดีดนิ้ว (ซึ่งล้อกับตอนเปิดหนัง) ทำท่าเท่ห์ๆ มือล้วงกระเป๋า ความหมายของเพลงคือการทำให้ความวุ่นวาย ร้อนใจสงบเย็นลง, เดิมทีเพลงนี้ในเวอร์ชั่นละครเวที เป็น Riff ร้องก่อนที่ Jets จะไปสู้กับ Sharks นะครับ สลับกับ Gee, Officer Krupke! ที่เป็นคนอื่นไม่ใช่ Riff ร้อง และให้ Ice ตัวละครใหม่ (ไม่มีในเวอร์ชั่น Broadways) ที่ถือเป็นผู้นำคนใหม่ของ Jets ร้องเพลง Cool แทน

ถ่ายภาพโดย Daniel L. Fapp ผมว่าแค่ซีนแรกของหนังก็เจ๋งมากๆแล้วนะครับ เริ่มจากคนๆเดียวดีดนิ้ว แล้วกล้องเคลื่อนไปให้เห็นคนที่สอง สาม แล้วทั้งแก๊งค์, ความโดดเด่นของการถ่ายภาพคือความไหลลื่นที่มีจังหวะ เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้าตามจังหวะเพลง ไฮไลท์ของหนังมี 2 ฉาก คือ งานเต้นรำต้นเรื่อง และฉากสู้กันช่วงกลางเรื่อง
– งานเต้นรำ: Hall เล็กๆแห่งนี้ ไม่น่าเชื่อจะสามารถยัดเยียดคนนับร้อยเข้าไปได้ แถมมุมกล้อง (ที่ต่ำกว่าระดับสายตานิดๆ) สามารถทำให้เราเห็นได้ทั้ง Hall (รู้สึกเหมือนกำลังนั่งดูละครเวทีอยู่) ไฮไลท์ของซีนนี้อยู่ที่ตอน Tony กับ Maria สบตากัน หนังใช้การเบลอทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วตัดไปไปในโลกที่มีเพียงพวกเขาทั้งสองคน
– ฉากสู้กันระหว่าง Jets กับ Shark: ณ ใต้ทางด่วน เริ่มจากเปิดตัว Jets ที่กระโดดข้ามรั้วเข้ามาถึงสนามก่อน จากนั้น Shark ก็เข้ามาจากอีกฝั่ง กระโดดลงมาจากที่สูง นักรบเอกของทั้งคู่เตรียมประจันหน้ากัน Tony ตามมาทีหลัง พยายามห้ามการต่อสู้ไม่ให้เกิดขึ้น, การเคลื่อนไหวกล้องช่วงนี้ถือว่าสมบูรณ์แบบมาก เดี๋ยวเลื่อนซ้ายเลื่อนขวา เดี๋ยวเดินหน้าถอยหลัง ผสมกับการตัดต่อเปลี่ยนทิศทาง มุมกล้องที่รวดเร็ว ฉับไว ไม่ทำให้รู้สึกสะดุดเลย
สองฉากนี้มันล้อกันด้วยนะครับ เพราะการเต้นรำและการต่อสู้ ต่างมีจังหวะเข้า-ออก รุก-รับ ที่เดี๋ยวฝ่ายหนึ่งโจมตีอีกฝ่ายตั้งรับ สลับกันไปมา ทั้งสองฉากนี้ Robbins ไม่ได้กำกับนะครับ (เขาถูกไล่ออกไปแล้ว) แต่ก็เป็นคนออกแบบท่าเต้น ท่าต่อสู้ทั้งหมด

ตัดต่อโดย Thomas Stanford มีความคม ฉับไว รวดเร็ว และสร้างจังหวะให้กับหนัง ผมมาคิดดูจริงๆหนังเรื่องนี้จะถ่ายแบบ Long-Shot เลยก็ได้ เพราะตากล้องมีฝีมืออยู่แล้ว แต่ที่ต้องใช้การตัดต่อเพราะ 2 เหตุผล 1. คือเปลี่ยนมุมมองของผู้ชม บางครั้งต้องการเปลี่ยนทิศทางของภาพโดยทันที ให้เห็นมุมที่ใกล้ขึ้น หรือบางทีต้องการมุมกว้างที่ไกลกว่าก็สามารถทำได้ทันที 2. เป็นการสร้างจังหวะให้กับหนัง ถ้าใช้การ Long-Take ทั้งเรื่อง หนังมีความลื่นไหลก็จริง แต่ก็จะขาดจังหวะ (Rhythms) และหนังเรื่องนี้ใช้จังหวะเยอะมาก เคลื่อนแล้วหยุด ไม่ได้เคลื่อนตลอดเวลา การหยุดถือว่าให้หนังหนังมีจังหวะเร่ง-ผ่อน ถ้าเร่งตลอดเวลาผู้ชมคงเหนื่อยและไม่สร้างไคลน์แม็กซ์ได้ยาก ผ่อนทั้งเรื่องก็คงเอื่อยเฉื่อยคนดูคงเบื่อ แต่ถ้าเร่งๆผ่อนๆ สลับกันไปมา มันจะทำให้หนังมีความตื่นเต้น ระทึก เหมือนเสียงหัวใจ เหมือนจังหวะการดีดนิ้ว ที่เราต้อง ดีด-หยุด ดีด-หยุด ไม่สามารถดีดตลอดเวลาได้ นี่คือจังหวะของหนังเรื่องนี้นะครับ และการตัดต่อก็เพื่อสร้างจังหวะแบบนี้ และเป็นแบบนี้ทั้งเรื่อง

สำหรับเพลงประกอบ ในเวอร์ชั่น Broadways ประพันธ์โดย Sid Ramin และ Irwin Kostal ซึ่ง Leonard Bernstein ไม่ชอบผลงานของทั้งสองเท่าไหร่ ในเวอร์ชั่นนั้นมีนักดนตรี 30 คน ซึ่ง United Artists ก็บ้าจี้ เพิ่มนักดนตรีให้ Bernstein 3 เท่า (ประชด) แน่นอนว่า Bernstein ก็ออกอาการไม่พอใจ “overbearing and lacking in texture and subtlety” ถึงขนาดไม่เอาเครดิต และไม่รับ Oscar ด้วยนะครับ, และอาจด้วยเหตุนี้ที่เราเห็น Leonard Bernstein มีผลงานเพลงประกอบหนังเพียง 2 เรื่องเท่านั้น On the Waterfront (1954) และ West Side Story, ผลงานส่วนใหญ่ก็ไปทำเพลง Broadways, TV-Series หรือไม่ก็แต่งเพลง Opera, Classic, ปู่แกยังเป็น Music Director ให้ New York Philharmonic ด้วยนะครับ

เพลงในหนัง แทบทั้งนั้นจะไม่ใช่นักแสดงร้องเอง แต่จะใช้นักร้องมืออาชีพทับเสียงเอา (นักแสดงแค่ขยับปากตาม) คนร้องเพลงเสียง Tony คือ Jimmy Bryant และ Maria คือ Marni Nixon, ทีแรก Natalie Wood ตั้งใจจะร้องเองนะครับ เธอสามารถร้องเพลงได้ แต่ Saul Chaplin และ Johnny Green ที่เป็น music supervisors ตัดสินใจใช้เสียงของ Marni Nixon ไปแล้ว แต่เราก็จะได้ยินเสียงของ Wood ร้องเพลง Somewhere ตอนจบด้วยนะครับ

Jerome Robbins ผู้กำกับเวอร์ชั่นละครเวที ได้ทำการเปลี่ยนแปลงลำดับของเพลงให้ต่างจากของ Broadways เช่น Gee, Officer Krupke! สลับกับ Cool เพลงไหนที่ไม่ชอบก็ตัดออก บางเพลงก็มีการเปลี่ยนคำร้อง เพราะอาจจะไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ เช่น ตอนต้นเรื่องที่ Riff คุยกับ Tony “Womb to Tomb, Sperm to Worm” ในหนังเปลี่ยนเป็น “Womb to Tomb, Birth to Earth” หรือเพลง America เนื้อร้องที่ได้ยินคือ “You came with your mouth open.” แต่ต้นฉบับคือ “You came with your pants open!”

ในสาขาเพลงประกอบ หนังได้รางวัล Best Music, Scoring of a Musical Picture คนที่ได้ Oscar ประกอบด้วย Saul Chaplin, Johnny Green, Irwin Kostal, และ Sid Ramin, ผมไม่รู้เหตุผลจริงๆ ที่ทำไมไม่มีชื่อของ Bernstein ในสาขานี้นะครับ ทั้งๆที่ในเครดิตหนังก็ขึ้นชื่อเขาอยู่ คาดว่าเขามองแค่เรียบเรียงเพลงใหม่ ไม่ได้แต่งขึ้นเอง จึงไม่ขอรับเครดิต, การจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs มี 3 เพลงจากหนังเรื่องนี้ที่ติดชาร์ท ประกอบด้วย
เพลง Somewhere อันดับ 20
เพลง America อันดับ 35
และเพลง Tonight อันดับ 59

ผมเลือกเพลง Somewhere เขียนเนื้อร้องโดย Stephen Sondheim เพลงนี้มีส่วนผสมของ Beethoven: ‘Emperor’ Piano Concerto ในช่วงช้า และช่วงเร็วมาจาก Pyotr Tchaikovsky: Swan Lake, เพลงนี้ร้องขึ้นขณะที่ Tony กำลังต้องจากลา Maria ถือว่ามีความเศร้าสร้อย โหยหวน อาลัยอาวรณ์เป็นที่สุด เพราะไม่รู้อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นี่อาจคือครั้งสุดท้ายที่ได้อยู่ด้วยกัน (คือครั้งสุดท้ายจริงๆนะแหละ) Somewhen, Somewhere อนาคตข้างหน้า หวังว่าเราคงจะได้อยู่ร่วมกันอีก

ความเข้าใจผิด คือเหตุผลที่ทำให้ Romeo กับ Juliet ต้องเสียงชีวิต ซึ่ง West Side Story ก็ยังนำเสนอประเด็นนี้ (ในวิธีที่ต่างออกไป) ผมรู้สึกสาเหตุการเข้าใจผิดในหนัง มีความหนักแน่นและเจ็บปวดกว่าเรื่องราวของ Romeo and Juliet ด้วยซ้ำ, การดูถูกเหยียดยามเกียรติเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ จากคนที่เดิมมีความหวังดี เมื่อถูกกระทำอะไรเสียๆหายๆแบบนั้น ใครกันมันจะยังอยากเป็นคนดีอยู่อีก, นี่แสดงถึงค่านิยม วิถีและภาพลักษณ์ของ Hooligan หรือ Street Gangs คนที่อยู่ในกลุ่มพวกนี้ ใครกันจะไปมองว่าคุณเป็นคนดี การกระทำที่เป็นที่รังเกียจของสังคม ก็มีแต่พวกคุณนะแหละที่มองว่ามันไม่ผิด

กับหนังเรื่องนี้ มีอะไรหลายๆอย่างที่จะสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชม แม้แต่ผมเองที่เคยบอกไปแล้ว ไม่คิดว่าจะออกมาดี แต่เกินความคาดหมายไปมาก, มีอะไรหลายๆอย่างที่ดูเชยๆไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่นี่คือความคลาสสิคที่ยังคงความยอดเยี่ยมไว้ บอกตามตรงผมเสียดายที่หนังไม่ถูกจดจำมากเท่าที่ควรกับนักดูหนังรุ่นใหม่ ในแง่ของ Production ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้อาจจะยอดเยี่ยมกว่า Singin’ in the Rain ด้วยซ้ำ แต่นี่ไม่ใช่หนังที่เราจะดูซ้ำได้บ่อยๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ผมดู West Side Story แค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่กับ Singin’ in the Rain น่าจะเฉลี่ยปีละครั้งเลย คงเพราะเนื้อหาที่ถือว่าสร้างความหนักอกหนักใจให้กับนักดูหนังมากกว่า ใครจะไปชอบดูหนังที่มีความรุนแรง โศกเศร้า Tragedy บ่อยครั้งกว่าหนังที่ดูแล้วเพลิดเพลิน อิ่มเอิบหัวใจกันละ

กระนั้นผมก็จัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ ‘สักครั้ง’ ก่อนตาย” นะครับ คือไม่ต้องดูหลายครั้งก็ได้ แต่ต้องดู ‘สักครั้ง’ เพราะหนังมีหลายประเด็นที่ให้ข้อคิดดีมากๆ โดยเฉพาะเพลง Cool ที่ผมชอบสุดๆ (จริงๆผมชอบเพลงนี้ที่สุดนะครับ เพราะสอนให้คนใช้สมอง สงบสติอารมณ์ ให้ใจเย็นลงก่อนคิดทำอะไร), ตอนจบที่จงใจทำให้ไม่เหมือน Romeo and Juliet (เพราะถ้าจบแบบนั้น หนังคงมีอารมณ์ที่หนักอึ้งกว่านี้มาก) การจบแบบนี้เป็นการสอนคนให้หยุดทบทวนการกระทำที่เกิดจากความแค้น เมื่อไหร่ความรุนแรงเช่นนี้จะจบเสียที ต้องแลกอีกกี่ชีวิต นี่แหละครับคือจุดจบ ต้องมีใครสักคนพูดออกมาดังๆมนุษย์เราถึงจะคิดได้ แนะนำหนังอย่างมาก มีโอกาสลองหาแผ่นในโซนหนังคลาสสิคดูนะครับ น่าจะหาไม่ยาก ผมเจอแผ่นอยู่บ่อยๆ

ในการจัดอันดับ AFI’s Greatest Movie Musicals อันดับ 1 คือ Singin’ in the Rain และอันดับ 2 คือ West Side Story ถ้าคุณเป็นคอหนังตัวจริง ต้องรู้จักหนังเรื่องนี้นะครับ

AFI: Greatest American Films Of All Time ปี 1998 ติดอันดับ 41
AFI: Greatest American Films Of All Time ปี 20007 ติดอันดับ 51
AFI: 100 Years…100 Passions ติดอันดับ 3 (อันดับ 1. Casablanca-1942, อันดับ 2. Gone with the Wind-1939)

ด้วยทุนสร้าง $6 ล้าน หนังทำเงินในอเมริกา $19.6 ล้าน และทั่งโลก $43.7 ล้าน, สำหรับ Oscar 11 สาขา ประกอบด้วย Best Picture, Best Director, Best Supporting Actor, Best Supporting Actress, Best Art Direction – Set Decoration (Color), Best Cinematography (Color), Best Costume Design (Color), Best Film Editing, Best Music: Scoring of a Musical Picture และ Best Sound ไม่ได้สาขาเดียวที่เข้าชิงคือ Best Writing (Adapted Screenplay) เสียให้กับ Judgment at Nuremberg (1961)

หนังเคยเกือบถูก Remake โดยผู้กำกับที่ให้ความสนใจอยากทำคือ Steven Spielberg แต่ก็ไม่สำเร็จ (ดีแล้วละครับ อย่าทำลายภาพความคลาสสิคของหนังเลย), มีหนัง bollywood ที่ remake หนังเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว Josh (2000) กำกับโดย Mansoor Khan นำแสดงโดย Shah Rukh Khan และ Aishwarya Rai Bachchan

แนะนำหนังเรื่องนี้กับคนชอบหนังแนว Musical เพลงเพราะ เนื้อหาแฝงข้อคิด คอหนังคลาสสิคและแฟนพันธุ์แท้บทละคร Romeo and Juliet นี่น่าจะเป็นหนังที่ดัดแปลงบทละครของ Shakespeare ได้ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว, จัดเรต 13+ กับความรุนแรงในหนัง

TAGLINE | “West Side Story คือหนังเพลงที่โคตรเจ๋งในทุกๆด้าน ‘ต้องหามาดูให้ได้ก่อนตาย’ ในแง่เทคนิคอาจจะยอดเยี่ยมกว่า Singin’in the Rain ด้วยซ้ำ แต่หนังเข้าไม่ถึงผู้คนส่วนใหญ่ ใครกันจะอยากดูหนังโศกนาฏกรรมบ่อยครั้งกว่าสุขนาฏกรรม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: