What Ever Happened to Baby Jane? (1962)
: Robert Aldrich ♥♥♥
Bette Davis และ Joan Crawford รับบทพี่น้อง Hudson ที่จงรัก จงชัง จงเกลียดกันและกัน มันมีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเธอทั้งสอง ในหนังและชีวิตจริง, ภาพยนตร์แนวจิตวิทยาระทึกขวัญ หลอนๆ โดย Robert Aldrich ผู้กำกับที่ขึ้นว่าโรคจิตที่สุดใน hollywood
ปกติแล้วนักแสดงที่มีชื่อเสียงพอๆกัน มักจะมองเพื่อนร่วมอาชีพ เป็นคู่แข่ง (rival) แต่ไม่ถึงระดับศัตรู คืออาจไม่ชอบหน้า แต่ไม่แสดงออกอย่างชัดเจน, Bette Davis กับ Joan Crawford ชีวิตจริงของทั้งคู่ทีแรกก็เป็นประมาณนี้ เป็นเพื่อนรู้จักกัน แต่พอหลังจากเล่นหนังเรื่องนี้ ไปๆมาๆกลายเป็นว่า Davis โดดเด่นเกินหน้าเกินตา ทำให้ Crawford ไม่พอใจรุนแรง ไม่ยอมเข้าร่วมโปรโมทหนังด้วยกัน ยิ่งพอตนไม่ได้เข้าชิง Oscar ยังล็อบบี้สมาชิกผู้ให้คะแนน เพื่อไม่ให้ Davis ได้รางวัล (สุดท้ายก็ไม่ได้จริงๆ) … มันมองได้เหมือนกับเหตุการณ์ในหนังเปะๆเลยนะ
Robert Burgess Aldrich (1918 – 1983) โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักเขียนบทสัญชาติอเมริกา, นักวิจารณ์ชื่อดัง John Patterson ให้คำนิยามถึงผู้กำกับคนนี้ว่า ‘เป็นผู้กำกับที่ชอบเหน็บแนม ถากถาง เย้ยหยัน ดื้อดึงดัน ฯ นำเสนอเรื่องราวความชั่วร้าย คอรัปชั่นที่อยู่ในจิตใจมนุษย์ ออกมาแบบไม่สะทกสะท้าน และผลักดันความรุนแรง ให้เกินขอบเขตความบ้าคลั่งจนถึงขีดสุด’
“He was a punchy, caustic, macho and pessimistic director, who depicted corruption and evil unflinchingly, and pushed limits on violence throughout his career. His aggressive and pugnacious film-making style, often crass and crude, but never less than utterly vital and alive, warrants – and will richly reward – your immediate attention.”
สไตล์ของ Aldrich คือการดิ้นรนของตัวเขาเอง… ตัวละครที่ต้องการมีชีวิตในวิถีที่ตนโหยหา มีความอยาก ต้องการเป็น แต่กลับไม่ได้เป็น เป็นไปไม่ได้ หรือมีโอกาสแต่ทำไม่สำเร็จ ผลักดันจนถึงขอบเขตที่สุด ถ้าได้ก็คือได้ ไม่ได้ก็จะกลายเป็นบ้าไปเลย (จริงๆถ้าถึงที่สุดแล้วทำไม่ได้ก็ควรที่จะ ‘ปล่อยวาง’ ยอมแพ้นะครับ แต่สไตล์ของ Aldrich พอไม่มีวันสำเร็จ ตัวละครก็จะเสียสติ บ้าคลั่งไปเลย!)
Aldrich ไม่เคยได้เข้าชิง Oscar หรือ Golden Globe สักครั้งเลยนะครับ แต่เคยได้รางวัล
– Silver Lion: Best Director (เทศกาลหนังเมือง Venice) จากเรื่อง The Big Knife (1955)
– Silver Bear: Best Director (เทศกาลหนังเมือง Berlin) จากเรื่อง Autumn Leaves (1956)
ผลงานเรื่องอื่นที่ดังๆ ส่วนมากเป็นแนวคล้ายๆกันนี้ทั้งนั้น อาทิ Vera Cruz (1954), Kiss Me Deadly (1955), Hush… Hush, Sweet Charlotte (1964), The Flight of the Phoenix (1965), The Dirty Dozen (1967) และ The Longest Yard (1974)
ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน เขียนโดย Henry Farrell ตีพิมพ์เมื่อปี 1960 ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Lukas Heller นักเขียนชาวเยอรมัน
สองพี่น้อง Hudson อาศัยอยู่ด้วยกันใน mansion หลังหนึ่งที่ hollywood, น้องสาว Jane Hudson ตอนยังเด็กมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักในนาม Baby Jane แต่พอโตขึ้นก็ค่อยๆจางหายไป, พี่สาว Blanche Hudson ตอนเด็กไร้ชื่อเสียง โตขึ้นกลายเป็นดาราภาพยนตร์ชื่อดัง มีผู้คนจดจำได้มากมาย, เรียกได้ว่าชีวิตของพี่น้องคู่นี้สวนทางกัน แต่เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ Blanche ทำให้ขาพิการเดินไม่ได้ ทั้งสองจึงต้องอาศัยอยู่ด้วยกัน ดูแล พึ่งพากันและกันในยามแก่
นำแสดงโดย Bette Davis (1908 – 1989) นักแสดงหญิงชาวอเมริกัน ที่ได้รับการยกย่องว่า ทุ่มเทให้กับบทบาทมากที่สุด แบบไม่เคยห่วงสวย, ภาพลักษณ์ของเธอในหนังเรื่องนี้ จะตราตรึง ติดตาคุณไปจนวันตาย… นี่ไม่เว่อนะครับ, แสดงหนังเรื่องนี้ตอนอายุ 54 ภาพลักษณ์ของตัวละคร ชอบทำหน้าสะแหยะยิ้ม โบ๊ะขาวราวกับตุ๊กตา ริ้วรอยตีนกาเหี่ยวย่น และมีไฝเสน่ห์รูปหัวใจข้างจมูก, คาแรกเตอร์ของตัวละครนี้ เป็นนางมารที่มีพฤติกรรมชั่วร้ายแต่ทำตัวไร้เดียงสาเหมือนเด็กน้อย เสียงปกติของเธอคือหยาบกระด้าง แหบแห้ง แต่พอทำเสียงหวาน นุ่มนวนเลียนแบบ Blanche ผู้ชมจะใจหายวูบลงตาตุ่ม สัมผัสได้ถึงความอันตรายของตัวละครนี้, ผมละอยากเร่งความเร็ว ปิดหนังเรื่องนี้ทิ้งโดยไว เพราะความหวาดกลัวต่อตัวละครนี้ เป็นภาพหลอนที่ค่อยๆกัดกร่อนกินหัวใจ จิตใจของมนุษย์อัปลักษณ์ได้ขนาดนี้เลยเหรอ! ดิ้นหงุดหงิดไปมาอย่างร้าวราน (แต่ก็ฝืนทนดูจนจบ แล้วสุดท้ายก็นอนไม่หลับ)
Jane Hudson ตอนยังเด็ก ความที่เป็นคนมีความสามารถในการแสดงโดดเด่นเกินวัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูจากผู้คนรอบข้าง ถูกพ่อให้เลี้ยงดูแบบตามใจ ปรนเปรอจนเสียนิสัย นี่ทำให้ตอนโตขึ้นกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่สนคนอื่น สวนทางกับความสามารถที่มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ จนชีวิตตกต่ำ, บั้นปลาย เมื่อต้องอาศัยอยู่กับพี่สาวขาพิการ จากอุบัติเหตุอันน่าฉงน มีหน้าที่ต้องคอยเสริฟน้ำเสริฟอาหาร ดูแลเหมือนเป็นคนใช้ ถูกขังอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้ พฤติกรรมของเธอจึงเหมือนเด็กเล็กที่ยังไม่โตสักที ชอบเรียกร้องความสนใจ และคิดว่าตัวเองยังคงมีชื่อเสียงโด่งดัง ทั้งๆที่ไม่มีใครรู้จักพวกเธอแล้วก็ตาม
เกร็ด: Davis ได้รับสิทธิ์ในการแต่งหน้าตัวเองอย่างเต็มที่ เธอจินตนาการว่า Jane คงเป็นผู้หญิงประเภทไม่เคยล้างหน้า มีแต่จะโบะเครื่องสำอางค์ชั้นใหม่ทับเข้าไป, วันหนึ่งลูกสาวเธอมาเห็นแม่แต่งหน้า อุทานขึ้นมาว่า ‘Oh, mother, this time you’ve gone too far’.
Davis เข้าชิง Oscar: Best Actress ทั้งหมด 10 ครั้ง (เป็นนักแสดงคนแรกที่เข้าชิงเยอะเกินเลข 2 หลัง) ได้มา 2 รางวัล จาก Dangerous (1935) และ Jezebel (1938) นี่ตั้งแต่ตอนสมัยยังสาวๆอยู่เลย แต่ผมว่าเธอยิ่งแก่ยิ่งแกร่ง ผลงานอื่นที่ดังๆ อาทิ Of Human Bondage (1934), All About Eve (1950) และ What Ever Happened to Baby Jane? (1962)
มีนักวิจารณ์พูดถึง Bette Devis ว่า ‘ถึงหนังอาจจะธรรมดาไม่น่าสนใจ แต่แค่การได้เห็น Davis ถือว่าคุ้มค่าเพียงพอแล้ว’
เกร็ด: ในประวัติศาสตร์ Oscar มีนักแสดงเพียง 5 คนเท่านั้นที่เข้าชิง Oscar สายการแสดงเกิน 10 ครั้ง
– Meryl Streep (เข้าชิง 2x ได้มา 3 รางวัล)
– Katharine Hepburn (เข้าชิง 12 ได้มา 4 รางวัล)
– Jack Nicholson (เข้าชิง 12 ได้มา 3 รางวัล)
– Laurence Olivier (เข้าชิง 10 ได้มา 1 รางวัล)
Joan Crawford (ชื่อเดิม Lucille Fay LeSueur) [1904 – 1977] นักแสดงและนักเต้นสาว สัญชาติอเมริกัน เธอเป็นนักแสดงไม่กี่คนที่สามารถปรับตัวจากยุคหนังเงียบมาเป็นหนังพูดได้ แม้จะเคยเป็น Box Office Poison อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่นานก็กลับมาประสบความสำเร็จ
Blanche Hudson พี่สาวที่ตอนยังเด็กมีนิสัยขี้อิจฉาน้อง โตขึ้นพอตนเองมีชื่อเสียงโด่งดังกว่า แต่โชคชะตากลับเล่นตลกทำให้พิการเดินไม่ได้ ต้องให้น้องสาวดูแลอยู่ที่บ้าน, หนังทั้งเรื่องทำให้คนดูรู้สึกว่า Blanche เป็นผู้โชคร้ายจากอุบัติเหตุ แถมอาศัยอยู่กับน้องสาวที่จิตไม่ปกติ แต่แท้จริงแล้วตัวเธอก็มีปัญหาเช่นกัน จากการกระทำที่เรียกได้ว่า กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง ถ้าเพราะเธอไม่คิดทำกับน้องสาวในตอนนั้น ก็คงไม่ต้องทนทุกข์ทรมานลำบาก มีชีวิตอยู่ด้วยผลกรรมที่ตนก่อมา
ผมชอบการแสดงของ Crawford มากนะครับ โดยเฉพาะครึ่งแรกที่สมจริง จับต้องได้มากกว่า Davis เสียอีก แต่พอเข้าสู่ครึ่งหลัง เธอถูกมัดมือมัดเท้า ปิดปากสนิท แทบจะหายไปจากเรื่องราวเลย กลายเป็น Davis ที่ฉายเดี่ยว ด้วยความบ้าแบบไร้ขอบเขต นี่จึงทำให้ Davis ได้เข้าชิงรางวัลทุกสถาบัน ส่วน Crawford ไม่มีแม้แต่ชื่อเข้าชิงสักสถาบัน
Crawford ได้เข้าชิง Oscar 3 ครั้ง ได้มา 1 รางวัล จากเรื่อง Mildred Pierce (1945) ผลงานเรื่องอื่นที่ดังๆ อาทิ Grand Hotel (1932), Sudden Fear (1952), Johnny Guitar (1954)
เกร็ด: AFI’s 100 Years…100 Stars จัดอันดับ นักแสดงยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษ
– Bette Davis ติดอันดับ 2
– Joan Crawford ติดอันดับ 10
อีกหนึ่งนักแสดงที่ต้องพูดถึง Victor Buono รับบท Edwin Flagg ชายร่างท้วม ที่โตเป็นหนุ่มแล้วยังเป็นลูกอ้อน ติดแม่ ไม่ยอมออกจากบ้านไปไหน,
เหตุที่ตัวละคร Flagg เป็นแบบนี้ เราสามารถมองเห็นได้จากแม่ของเขาชัดเลย ที่มีความหวงแหนลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตนอย่างมาก (พ่อคงทิ้งหรือเสียไปแล้ว) เรียกว่า ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม เจ้ากี้เจ้าการ ควบคุมทุกสิ่งอย่าง เพราะเหตุนี้ พอลูกโตขึ้นจึงไม่สามารถกางปีก โบยบินเอาตัวรอดในสังคมเองได้, ตัวละครนี้ถือว่าล้อกับพ่อของสองพี่น้อง Hudson ที่เลี้ยงดูลูกสาวทั้งสองอย่างตามใจ ทำให้โตขึ้นพวกเธอกลายเป็นแบบในหนัง
Edwin Flagg กับ Jane Hudson ถือว่าเป็นคู่ที่เข้าขากันได้อย่างเหลือเชื่อ! คงเพราะมีพื้นหลังที่คล้ายๆกัน คนหนึ่งเพ้อฝันชี้ชักนำทาง อีกคนยอมรับทำตามทุกอย่าง, เชื่อว่าถ้ามันไม่มีเหตุการณ์อะไรที่มาขัดขวาง สองตัวละครนี้ได้แต่งงานกันแน่!
ถ่ายภาพโดย Ernest Haller ตากล้องชาวอเมริกัน มีชื่อเสียงได้ Oscar จากหนังเรื่อง Gone with the Wind (1939), ต้องถือว่าเป็นขาประจำในหนังที่มี Bette Davis และ/หรือ Joan Crawford นำแสดง ซึ่งหนังเรื่องนี้ถือว่าควบสองเลย, Davis เคยพูดถึง Haller ว่า ‘เป็นตากล้องโปรดของฉัน ที่ไม่ต้องบอกว่าต้องทำอะไร เชื่อใจได้ว่าจะถ่ายออกมาดูดีที่สุด’
‘Ernest Haller had always been my favorite cameraman. I never told him what to do, but I put my trust in him to do what he knew how to do, to make me look my best.’
– Bette Davis พูดถึง Ernest Haller ตอน Jezebel (1938)
พูดง่ายๆคือ เป็นตากล้องยอดฝีมือที่สามารถถ่ายนักแสดงออกมาให้ดูดีที่สุด (แม้ตอนแก่ยังออกมาดูดี) แต่กับหนังเรื่องนี้ เขาได้ทำในสิ่งตรงกันข้าม คือทำให้ Bette Davis ออกมาหลอน น่ากลัวที่สุด ส่วน Crawford ยังคงดูดีที่สุดเหมือนเดิม
โดดเด่นเรื่องการจัดแสงเงา บรรยากาศ Noir-Gothic ตรงบันไดที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างชั้น 1 กับ 2 ทุกครั้งที่ตัวละครเดินขึ้นลง เดินไปมา มุมกล้องไม่เคยมีซ้ำเดิมเลย เปลี่ยนไปทุกครั้ง
ภาพสะท้อนกระจก คือตัวตน/ความทรงจำ วัยเด็กของหญิงสาว
นกน้อยในกรง ติดอยู่ในบ้านหลังใหญ่
กาลเวลาทำให้บางสิ่งเหมือนเดิม แต่บางอย่างเปลี่ยนไป
ในหนังจะมีการฉายฟุตเทจหนังของ Bette Davis มาจากหนังเรื่อง Parachute Jumper (1933) และ Ex-Lady (1933) ส่วนของ Joan Crawford มาจาก Sadie McKee (1934) ตอนที่ยังสาวสวยทั้งคู่
ปล. ตอนแรกผู้สร้างตั้งใจจะถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยภาพสี แต่ Davis ไม่ยินยอม บอกว่า จะทำให้เรื่องแสนเศร้ารันทด ดูดีไปเสียเปล่า (It would just make a sad story look pretty.)
เกร็ด: ฉากภายนอก บ้านของพี่น้อง Hudson ถ่ายที่ 172 S. McCadden Pl. ใน Los Angeles บ้านข้างๆ 180 S. McCadden Pl. เคยเป็นบ้านของ Judy Garland ใช้พักอาศัยขณะถ่ายทำหนังเรื่อง The Wizard of Oz (1939)
เกร็ด 2: ชายหาดที่ถ่ายทำตอนจบ อยู่ที่ Malibu, California
ตัดต่อโดย Michael Luciano ขาประจำของ Aldrich, สไตล์การตัดต่อของ Luciano สร้างความแปลกแตกต่างให้หนังอย่างมาก โดยเฉพาะกับหนังนัวร์ ทำให้มีความสับสน ยุ่งเหยิง ไร้แบบแผนตามที่เคยเป็นมา (disorienting, even disturbing, formal strategies.)
กับหนังเรื่องนี้ถือว่า มีการนำเสนอเรื่องราว โดยพาผู้ชมคิดเข้าใจไปทางหนึ่ง แล้วตอนจบหักมุม พลิกกลับ ความจริงเป็นอีกทางหนึ่ง, ผมไม่ขอสปอยแล้วกันนะครับว่าเป็นยังไง เอาว่าขณะรับชมหนังเรื่องนี้ ก็ปล่อยตัวปล่อยใจ รับชมครั้งแรกเข้าใจตามที่หนังนำเสนอไปนะแหละ พอถึงตอนจบ พบกับความจริงที่เฉลยออกมา คราวนี้คุณจะได้เห็นโลกเดิมในมุมที่กลับกัน ใช้เวลาครุ่นคิดสักนิด ก็น่าจะเข้าใจทุกสิ่งอย่างได้เอง
ใช้การตัดสลับคู่ขนานสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันบ่อยครั้ง ขณะที่ Jane ออกไปทำธุระนอกบ้าน และ Blanche ต้องการทำอะไรบางอย่าง (ที่ไม่ต้องการให้ Jane รับรู้) นี่เป็นสิ่งที่ทำให้หนังมีความลุ้น ระทึกขวัญ ผู้ชมอาจรู้สึกเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก เพราะแปปๆ Jane ก็กำลังขับรถกลับบ้านแล้ว ไม่ทันที่จะมีเวลาให้โอกาส Blanche ได้ทำบางสิ่งอย่างสำเร็จ คงเพราะกว่าเธอจะคิดทำอะไรสักอย่างนั้นช้าและยากมาก ก็น่าเห็นใจไม่น้อยทีเดียว
เพลงประกอบโดย Frank DeVol ในเครดิตขึ้นว่า De Vol เป็นนักแต่งเพลงที่มีสไตล์ตามอารมณ์ (Mood) ซึ่งกลิ่นอายเพลงประกอบ มีส่วนผสมของ Bernard Herrmann จากทั้ง Vertigo (1959) และ Psycho (1960) เสียงดนตรีที่ผสมจิตวิทยา อารมณ์ของตัวละคร ความหลอกหลอนไปถึงขั้วของหัวใจ, แต่ต้องบอกว่ายังห่างชั้นกับ Herrman อยู่มาก ไม่มี Theme ที่จดจำฝังใจ ยกเว้นเพลงประกอบที่ชื่อ I’ve Written A Letter To Daddy ผมหยิบเอาตอนที่ Jane ตอนเด็กร้องมาให้ฟังนะครับ และจะบอกว่าตอนที่ Davis ตอนแก่ร้องเพลงนี้ คุณจะขนลุก หลอนสยองมาก เป็นยังไงไปเห็นในหนังเอาเองเน้อ
ใจความของหนัง นำเสนอผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูแบบตามใจของพ่อแม่
– Jane Hudson ถึงร่างกายจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจยังเหมือนเด็กไม่ยอมโต ดูแลตนเองไม่ได้ (แต่ดูแลคนอื่นได้?)
– Blanche Hudson ถึงจิตใจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ร่างกายพิการ (เหมือนเด็ก ที่ต้องการเอาใจใส่เลี้ยงดู) ดูแลตนเองไม่ได้
– Edwin Flagg ร่างกาย จิตใจโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ พยายามจะทำอะไรด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถทำสำเร็จ พึงพาตัวเองไม่ได้
สามตัวละครนี้ มีบทสรุปเหมือนกันคือ โตขึ้นดูแลตัวเอง เอาตัวรอดในสังคมไม่ได้ แบบนี้สามารถเรียกได้ว่า ‘พ่อแม่รังแกฉัน’
เรื่องพ่อแม่รังแกฉัน เป็นสิ่งที่พบได้อยู่เรื่อยๆในสังคม ถ้าจะสาวหาถึงต้นเหตุ พ่อของพ่อ ปู่ ทวด ฯ ในแนวดิ่งมันอาจติดต่อมาทางพันธุกรรมบรรพบุรุษอย่างไกล สาวไล่ไปก็หาไม่มีวันพบ, แต่ถ้ามองในแนวราบ อิทธิพลจากสังคม สภาพแวดล้อมรอบข้าง นี่มีหลายสิ่งที่มองเห็นได้ชัด ว่าอะไรมีผลกระทบทำให้มนุษย์มีการแสดงออกเช่นนั้น
พ่อของพี่น้อง Hudson ที่เขากลายเป็นคนเลี้ยงลูกแบบเอาแต่ใจ เพราะความสำเร็จของ Baby Jane ที่เป็นคนทำเงิน สร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัว มันเลยเหมือนเป็นความจำเป็นที่พ่อต้องปล่อยปละละเลย ตามใจลูกจนถึงที่สุด (เพราะกลัวว่า ถ้าลูกไม่ยอมแสดง ก็จะไม่ได้เงิน เสียชื่อเสียง) ซึ่งลูก Jane เมื่อได้รับการสนองเช่นนั้นจึงเกิดความเหลิง หลงระเริง คิดว่าโลกต้องหมุนตามตนเอง แต่พอเด็กหญิงเติบโตขึ้น ก็ไม่สามารถปรับตัวยอมรับ ทำความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้
ตรงกันข้ามกับ Blanche ที่ตอนเด็กไม่มีฝีมือชื่อเสียงอะไร เธอเห็น Jane ได้รับความสนใจของพ่อไปทั้งหมด จึงเกิดความอิจฉาริษยา จดจำฝังใจไม่เคยคิดให้อภัย พอโตขึ้นประสบความสำเร็จ จึงมองเห็น Jane เป็นภาระ เหมือนเนื้องอกที่ต้องถูกกำจัดทิ้ง แต่โชคชะตาเล่นตลก นอกจากกำจัดมะเร็งชิ้นนั้นไม่ได้แล้ว กลับเกิดโรคร้ายใหม่เพิ่มขึ้นมา
ปล. ว่าไปเพลงที่ชื่อ I’ve Written A Letter To Daddy นี่สะท้อน/ประชดประชัน ใจความของหนังได้ชัดเจนทีเดียว เพราะเมื่อพ่อ(และแม่)จากไป สองพี่น้องยังคงมีชีวิตอยู่ ด้วยผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูของพวกเขา
อะไรกันแน่ที่เกิดขึ้นกับ Baby Jane? คำตอบอยู่ตอนจบของหนัง, ผมไม่คิดว่ามันเป็นความผิดของพ่อ และ/หรือ พี่สาวเท่านั้นนะครับ เราต้องเหมารวมถึงสังคม สภาพแวดล้อมรอบข้าง วิถีของชื่อเสียงเงินทอง ฯ เรียกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัจจัยให้ Jane กลายเป็นแบบนี้, ซึ่งคนที่เข้าใจเธอมากที่สุดก็คือพี่สาว Blanche แต่เพราะความพิการทางกาย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรน้องสาวได้ จึงต้องปล่อยทุกอย่างไปตามยถา เวรกรรมที่ต่างกระทำซึ่งกันและกัน, ซึ่งพอความจริงทุกอย่างเฉลยออก ตอนจบริมชายหาดแห่งหนึ่ง Jane เลยเต้นเหมือนคนบ้า (รับความจริงไม่ได้) ส่วน Blanche นอนใกล้หมดสิ้นลมหายใจ (ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป)
ด้วยทุนสร้าง $1 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $9.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้กำไรอย่างไม่มีใครคาดถึง, เข้าชิง Oscar 5 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Actress (Bette Davis)
– Best Supporting Actor (Victor Buono)
– Best Costume Design, Black and White ** ได้รางวัล
– Best Cinematography, Black and White
– Best Sound
ในช่วงงานประกาศรางวัลปลายปี ทั้ง Davis และ Buono ต่างจะได้เข้าชิงสาขาการแสดงตลอด ผิดกับ Crawford ที่ไม่ได้เข้าชิงสักสถาบัน
หนังมีประโยคไฮไลท์หนึ่งที่ผมชอบมากๆ แอบสงสัยทำไมไม่ติด AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes
– I didn’t bring you breakfast because you didn’t eat your din-din.
แต่ตัวละคร Baby Jane Hudson ติดอันดับ 44 ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Heroes & Villains ฝั่งตัวร้ายนะครับ
ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ถือเป็นจุดกำเนิดของแนว psycho-biddy ที่เป็น subgenre ของ horror/thriller มีหญิงชรา/สูงวัย แต่งหน้าหลอนๆ รับบทเป็นคนโรคจิต อาทิ Hush… Hush, Sweet Charlotte (1964), What Ever Happened to Aunt Alice? (1969), What’s the Matter with Helen? (1971) [ชื่อหนังยังเลียนแบบคล้ายๆกันเลย!]
ส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลย ยิ่งดูยิ่งเครียดยิ่งเกลียดยิ่งกลัว เป็นความรู้สึกที่ไม่น่าอภิรมย์เสียเท่าไหร่, แต่ต้องยกย่องการแสดงของทั้ง Bette Davis ที่บ้าได้ใจ, Joan Crawford ซื่อบื้อไร้ที่ติ และ Victor Buono ชายผู้อ่อนปวกเปียก, ในแง่คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม เป็นหนังที่ทำให้ผมรู้สึกหลอนมากกว่าระทึกขวัญ แต่ใช่ว่าจะถูกรสนิยมกับทุกคน
แนะนำกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ศึกษาพฤติกรรม วิเคราะห์หาเหตุผลที่มาที่ไปของตัวละคร, สำหรับผู้ชื่นชอบหนังแนวคนบ้า หลอนๆ ตื่นเต้นระทึกขวัญ, แฟนๆหนัง Bette Davis และ Joan Crawford ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศ คำพูด การกระทำของตัวละคร ที่หลอกหลอน อาจถึงขั้นนอนไม่หลับ
Leave a Reply