Whiplash (2014) : Damien Chazelle ♥♥♥♥♡
“ตัวตน จิตวิญญาณ ค้นหา เป้าหมาย ก้าวผ่าน เอาชนะ”
ดูหนังเรื่องนี้ บอกเลยว่า เหนื่อย ลุ้นระทึก กดดัน เครียด นั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ เหมือนตอนนั่งดูคู่มวยหยุดโลก Muhammad Ali ต่อยกับ Joe Frazier แลกหมัดกันได้ถึงเลือดถึงเนื้อ เร้าใจอย่างที่สุด
Damien Sayre Chazelle ผู้กำกับ นักเขียนบทชาวอเมริกาลูกครึ่งฝรั่งเศส เกิดที่ Providence, Rhode Island มีผลงานกำกับเรื่องแรกเป็นหนังเพลง jazz เรื่อง Guy and Madeline on a Park Bench (2009) ปี 2013 ทำหนังสั้นเรื่อง Whiplash ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Sundance ได้รางวัล Short Film Jury Prize จากนั้นพัฒนาเป็นหนังขนาดยาวเรื่องที่ 2 ออกฉายในเทศกาลหนัง Sundance (เช่นกัน) ได้รางวัล Grand Jury Prize และ Audience Award เข้าชิง Oscar 5 สาขา ได้มา 3 รางวัล จากทุนสร้างเพียง $3.3 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $49 ล้านเหรียญ
ความฝันแรกตั้งแต่เด็กของ Chazelle คือเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ แต่เขาเลือกเล่นดนตรีสมัยเรียน High School ที่ Princeton เข้าร่วมเป็นมือกลอง (Jazz Drummer) ซึ่งตอนนั้นได้พบอาจารย์ ที่มีความเข้มงวด จริงจังสูง (เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละคร Terence Fletcher) ต่างจากพระเอกในหนัง Chazelle รู้ตัวว่า ตนเองไม่ได้มีพรสวรรค์ในการเป็นนักดนตรี หลังเรียนจบ ม.ปลาย จึงกลับมาเลือกความฝันเดิม เข้าเรียนคณะ Visual and Environmental Studies ที่ Harvard University จบการศึกษาปี 2007 และกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
แทบจะเป็นเรื่องง่ายโดยทันที เมื่อเรามองชีวประวัติของผู้กำกับ เปรียบเทียบกับหนังเรื่องนี้ ในการค้นหาความตั้งใจ ใจความสำคัญ และสิ่งที่ต้องการนำเสนอ เพราะบางครั้งคำถามข้อสงสัยที่เกิดขึ้นระหว่างรับชม อาจค้างคาในแบบที่ไม่สามารถค้นหาคำตอบจากที่ไหนได้ ซึ่งถ้าเราถอยห่างออกมาก้าวหนึ่ง ทำความรู้จักตัวตนของผู้กำกับ บางทีจะพบคำตอบนั้นโดยปริยาย เพราะมันเขียนอยู่บนหน้าเขาเต็มๆ แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ
“It’s an existential rage, He loves the music so much that he creates this perfect version of it in his head that human beings can never quite live up to because we’re imperfect. His rage stems from that, It’s a rage at being human; the rage of not being super human.”
Damien Chazelle ให้สัมภาษณ์เล่าถึงความทรงจำในช่วงเป็นนักเรียน จากประสบการณ์ที่วงดนตรีของโรงเรียน สนใจแต่การแข่งขันและชัยชนะ มันเหมือนสงครามต่อสู้แก่งแย่งชิง เพื่อแสดงออกถึงการมีตัวตนในสังคม, ความรักต่อดนตรี สร้างให้เขาเกิดความต้องการอันสมบูรณ์แบบขึ้นในหัว แต่มนุษย์ใช่ว่าทุกคนจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้ ความเกรี้ยวกราดเกิดจากการเป็นได้แค่มนุษย์ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่า สมบูรณ์แบบ
Whiplash เป็นเรื่องของคนไม่สมบูรณ์แบบ ที่แสวงหาต้องการความสมบูรณ์แบบ มีหนูทดลองให้ทดสอบวิธีการต่างๆมากมาย แต่ใช่ว่าหนูทุกตัวจะยอมเดินตาม หรือมีความสามารถไปได้ในเส้นทางที่กำหนดไว้ได้
Miles Teller รับบท Andrew Neiman เด็กหนุ่มเข้าเรียนในโรงเรียนสอนดนตรีที่ดีที่สุดของอเมริกา ปีแรกสามารถไต่เต้าจนได้เล่นตำแหน่งมือกลองหลัก วงดนตรีของโรงเรียน, เริ่มต้นจากคนธรรมดาที่เหมือนจะมีพรสวรรค์ พบกับโลกความจริงที่โหดเหี้ยม ชั่วร้าย วินาทีแรกของอันตรายที่คาดไม่ถึง เขาเสียน้ำตา เกือบที่จะยอมแพ้ แต่มนุษย์มี 2 ประเภท คือ 1)อดทนต่อสู้เพื่อเอาชนะ หรือ 2)ยอมรับเข้าใจพ่ายแพ้, ครั้งแรก Neiman เลือกที่จะสู้ จนในที่สุดเขาได้รับโอกาส สามารถเอาชนะได้ทุกสิ่งอย่าง ประสบความสำเร็จดังที่ใจปรารถนา กระนั้นโลกมันยังไม่จบลงแค่นั้น ความท้าทายใหม่ๆเกิดขึ้น ที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถหยุดได้ คนที่เคยชนะยังคงต้องการครั้งต่อไป แต่คราวนี้มันจะต้องแลกด้วยอะไรๆ ที่ยากขึ้นกว่าเดิม ดังคำที่ว่า ‘เป็นแชมป์ว่ายากแล้ว แต่ป้องกันแชมป์ยากกว่าหลายเท่า’
Neiman เจอบททดสอบทางเลือกหลายครั้ง ต้องเลือกระหว่าง จะอดทนต่อสู้เพื่อเอาชนะหรือยอมรับเข้าใจพ่ายแพ้ -ชีวิตมนุษย์มีเท่านี้จริงๆ ถ้าคุณมีเป้าหมาย ก็ต้องพบบททดสอบ เมื่อเจออุปสรรคก็เจอทางเลือก เมื่อทำทุกอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ยังไม่สามารถเอาชนะได้ คงถือว่าไม่ผิดอะไรที่จะยอมแพ้- Neiman ก็ใช่ว่าจะเป็นผู้ชนะทุกครั้ง กับคอนเสิร์ตครั้งสุดท้าย เมื่อถูกทำให้อับอายขายขี้หน้า วินาทีหนึ่งเขายอมแพ้เดินร้องไห้เข้าหลังเวที แต่เมื่อตระหนักคิดขึ้นมาได้ว่า ไหนๆไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ก็ให้มันจบสิ้นไปตรงนั้นเลย ทุ่มทุกสิ่งอย่างหมดหน้าตัก ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดทำมาก่อน แสดงออกในสิ่งที่ … นี่แหละตัวฉัน พร้อมที่จะสิ้นใจตายลงไปตรงนี้
วินาทีที่ Neiman สามารถก้าวข้ามผ่านขอบเขตของตนเอง ทุกสิ่งเงียบสงัด โลกใบนั้นไร้แม้แต่เสียงลมหายใจ ภาพสโลโมชั่น หยาดเหงื่อสาดกระเซ็น ไม้กระทบกลองเกิดการสั่นสะเทือน จากที่เหมือนหมดเรี่ยวแรงกลับมามีพลังเต็มเปี่ยม นั่นคือมิติของการค้นพบ บ้างเรียกว่า การเกิดใหม่ น้อยคนจะไปถึง เฉพาะคนที่ผ่านจุดนี้ไปแล้วเท่านั้นถึงเข้าใจว่าคืออะไร
เกร็ด: Andrew Neiman ปรากฎทุกฉากในหนัง (ทำยังกะหนังนัวร์)
การแสดงของ Teller ถือว่ามีความทุ่มเทมาก ใบหน้าติ๋มๆดูเหมือนคนอ่อนแอ แต่สายตาเต็มไปด้วยความฝัน ทะเยอทะยาน หิวกระหายความสำเร็จ, เห็นว่า Teller เป็นนักกลองอยู่แล้ว (Self-Taught) พอมีฝีมืออยู่บ้าง ในหนังคือการแสดงของเขาจริงๆ แต่เสียงที่ได้ยินไม่ใช่นะครับ เป็น pre-recorded (บันทึกไว้แล้วล่วงหน้า) รอยแผลที่มือก็เห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นจากการฝึกซ้อมจริงๆ, ผู้ชมทั่วไปคงรู้สึก มันต้องขนาดนี้เลยเหรอ? กับนักตีกลองจริงๆจะบอกว่า นี่ธรรมดามว๊ากก เรื่องเล็กนิดเดียวเอง ถ้าแค่นี้ทนไม่ได้จะกลายเป็นยอดฝีมือได้ยังไง, สิ่งหนึ่งที่ผมข้องใจในปีนั้นมาก ทำไม Teller ไม่ได้เข้าชิงสาขาการแสดงเลยสักสำนัก จะบอกว่าคู่แข่งเยอะ มันก็น่าจะมีบ้างที่ได้เข้าชิงนะ … แต่อาจเพราะถูกเปรียบเทียบกับ Simmons ในสาขาสมทบที่โดดเด่นกว่ามาก Teller เลยพลาดทุกโอกาส (และอาจเพราะการแสดงใน Fantastic Four อันไร้ที่ชื่นชมด้วย)
Are you a perfectionist?
Chazelle: “For sure. The difference, though, with film [is] that the passion is within me; I never wanted to do anything else. That drive that perfectionism and obsession—comes from within, whereas with drumming it was really the force of personality of this conductor, this teacher that I had. The most important thing to me as drummer was not even pleasing the crowd or the audience, or even pleasing myself, it was literally pleasing his conductor. This one individual. It’s interesting when you wind up distilling all your ambitions and your goals and dreams into one single person. It’s giving that person a lot of power.”
ความสมบูรณ์แบบ คือแนวคิด ที่เป็นพลังขับเคลื่อน ผลักดันให้ผู้สร้าง เกิดความทุ่มเทแรงกายแรงใจ คลั่งไคล้ หลงใหล ยึดติด เพื่อสร้างสรรค์ในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนให้มีความเพรียบพร้อม ลงตัว ออกมาครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด, แต่สิ่งที่ใครคนหนึ่งเรียกว่า สมบูรณ์แบบ ใช่ว่าคนอื่นจะเห็นด้วยเหมือนกับคุณ อยู่ที่ระดับความคิด ความเข้าใจ ทัศนคติ ความรู้ ประสบการณ์ ฯ ที่ถ้าสิ่งเหล่านี้ในบุคคลต่างๆมีเท่ากัน ก็จักสามารถมองเห็น เข้าใจในผลงานที่เกิดขึ้นนั้นได้ด้วยเช่นกัน
มือกลอง ในสายตาของคนทั่วไป ไม่เคยที่จะเป็นพระเอกในวงดนตรี คอนเสิร์ต การแสดง เพราะกลองคือเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ (Percussion) เพื่อสนับสนุนเครื่องดนตรีชนิดอื่นในการสร้างเสียง ทำนอง เนื้อร้อง จะว่าคือผู้อยู่เบื้องหลังที่อยู่ด้านหน้าเวที มีตัวตนเหมือนไม่มี นั่งหลบอยู่หลังกลอง ไม่สังเกตน้อยนักจะจำหน้าได้
ผมมีเพื่อนที่เป็นมือกลองอยู่คนหนึ่ง เคยเล่าให้ฟังว่านี่เป็นเครื่องดนตรีที่ต้องให้เวลากับมันค่อนข้างมาก ฝึกซ้อมเล่นยากกว่ากีตาร์ คีย์บอร์ดเยอะ ไม่สามารถพกพาไปไหนได้เลย, เวลาซ้อม ถ้ามีกลองที่บ้านก็ต้องขณะเพื่อนบ้านไม่อยู่ (ซ้อมตอนดึกก็ไม่ได้ เพราะรบกวนคนนอน), ผมก็ถามกลับ แล้วทำไมถึงชอบเล่นเครื่องดนตรีนี้ ‘ในวงดนตรีถ้าไม่มีกลองก็จะไม่มีจังหวะ สังเกตวงไหนดังๆ เล่นเพลงเร้าใจ มือกลองล้วนเก่งๆทั้งนั้น เพราะนี่คือเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญที่สุดในวง’, ผมก็พยักหน้าหงกๆ ก็ไม่ได้เข้าใจเท่าไหร่ แล้วเพื่อนเปิด L’Arc~en~Ciel ให้ดูอ้าปากค้างไปเลย มือกลองวงนี้ Yoshiki Hayashi มันบ้ามาก ไม่ใช่คนแล้ว, ผมเอา Drum Solo ตอน World Tour ปี 2012 มาให้ดู รับรองว่าคุณจะอ้าปากค้างไม่ต่างจากไคลน์แม็กซ์ของหนังเรื่องนี้เป็นแน่
ออเครสต้ามีวาทยกร (Conductor) มือขวาถือไม้บาตอง (Baton) โยกขยับหมุนเพื่อให้จังหวะกับนักดนตรี ควบคุมช้าเร็ว ดังเบา สร้างอารมณ์ให้กับเพลง แต่วงดนตรีเล็กๆ สมาชิกตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จำเป็นต้องมีกลอง เพราะเป็นผู้สร้างจังหวะให้กับกีตาร์ เบส คีย์บอร์ด ที่ต้องเล่นตามเสียงกลองทั้งนั้น, จะเรียกได้ว่ามือกลอง คือคอนดักเตอร์ ประจำวงดนตรีเลยก็ยังได้
จังหวะ (Tempo) ถือว่ามีความสำคัญกับวงดนตรีอย่างมาก ในอภิธานศัพท์ดนตรี เทมโป (ภาษาอิตาลี: tempo แปลว่า time) หรือ ลีลา หมายถึงความเร็วในการเล่นเครื่องดนตรี เป็นองค์ประกอบสำคัญของการประพันธ์งานดนตรี ซึ่งมีผลต่ออารมณ์ และความยากง่ายในการเล่นผลงานชิ้นนั้นๆ, บทเพลงทุกชิ้นในโลก จะต้องมีจังหวะ ในปัจจุบันจะระบุเป็นค่า ครั้งต่อนาที (beats per minute ใช้ตัวย่อ BPM) หมายความว่าโน้ตแต่ละตัว จะต้องถูกเล่นด้วยจำนวนกี่ครั้งต่อนาที หากงานประพันธ์ชิ้นใดมีค่าเทมโปสูง โน้ตตัวนั้นก็จะต้องเล่นด้วยความเร็วสูงขึ้น จำนวนครั้งก็จะมากขึ้นในหนึ่งนาที
‘Not quite my tempo’ นี่คงถือว่าเป็นวลีเด็ดของหนังเรื่องนี้ (ที่ต่อไปเชื่อว่าคงติด Best Movie Quote ถ้ามีการจัดอันดับแน่ๆ) พูดโดย Terence Fletcher (รับบทโดย J. K. Simmons) ครูสอนดนตรีของ Neiman ใบหน้าเคร่งขรึมไม่ค่อยยิ้ม สวมเสื้อผ้ารัดรูป (สีดำ) โกนหัว รูปลักษณ์จริงจังน่าเกรงขาม ตัวตนของเขาเป็นพวก ‘ลูบหลังแล้วตบหัว’ (สำนวนจริงๆคือ ตบหัวแล้วลูบหลัง แต่การกระทำของ Fletcher นั้นกลับกัน) หรือ ‘ขุดบ่อล่อปลา’ คือพูดจาหว่านล้อมครั้งแรกให้รู้สึกเหมือนเป็นคนสำคัญ จากนั้นพอเริ่มต้นไม่เป็นที่พอใจก็จะเอาถึงกันตาย ด่าพ่อล่อแม่จริงจังเลือดขึ้นหน้าถึงขนาดเห็นเส้นเลือดปูด กับคนที่ไม่เคยเจอมาก่อนโดนกระแทกอารมณ์ขนาดนี้ เรียกว่า Emotion Shock ร่างกายสั่นไหว กล้ามเนื้อปวกเปียก จิตใจตกลงไปอยู่ตาตุ่ม ใครสามารถผ่านจุดนี้ไปได้ก็จะมีภูมิต้านทานที่เข้มแข็งขึ้น แต่ถ้าไม่ก็จะล้มลงนอนตายอยู่ตรงนั้นทันที
มองหาเหตุผลที่ทำไม Fletcher เป็นคนแบบนั้น, ปกติแล้ว ปมเรื่องความสมบูรณ์แบบ มักเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เข้มงวด จริงจัง คาดหวังให้ลูกเป็นดั่งที่ตนต้องการ ซึ่งปกติเด็กที่เติบโตขึ้นในสังคมแบบนี้ มักมี 2 ประเภท คือ 1)ต่อต้านอย่างที่สุด กับ 2)เห็นด้วยยอมรับทำตาม แน่นอนว่า Fletcher คงต้องจะเป็นแบบหลัง, เช่นกันกับ Neiman ที่บ้านมีความเข้มงวด จริงจัง คาดหวังให้ลูกๆประสบความสำเร็จ (ฉากโต๊ะอาหารรวมญาติ จะเห็นว่าลุงของ Neiman ไม่สนใจเรื่องของหลานเลย) และเขามีปมเรื่องการขาดแม่เพิ่มขึ้นอีกอย่าง แสดงถึงความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง ซึ่งชายหนุ่มต้องการทำบางอย่างเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นคุณค่าการมีตัวตนของเขา นั่นทำให้ Neiman ยอมรับทำตาม ตกอยู่ภายใต้การใช้อำนาจความกลัวของ Fletcher เข้าครอบงำ
There are no two words in the English language more harmful than ‘good job’. คนที่จะพูดประโยคนี้ได้ ต้องถือว่ามองโลกในแง่ร้ายมากๆ ไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ต้องการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าตลอดเวลา, แต่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้นักต่อนักแล้ว บุคคลที่สามารถก้าวผ่านคำว่า ‘good job’ ล้วนคือผู้ยิ่งใหญ่แทบทั้งนั้น ถ้าโลกไม่มีคนอย่าง Steve Jobs, Thomas Edison ฯ คงจะไม่ทางที่จะเจริญรุดหน้าถึงปัจจุบัน, นี่ก็แล้วแต่คุณเองนะครับ จะเห็นด้วยกับประโยคนี้หรือไม่ พอเพียงในสิ่งที่มี หรือแสวงหาจนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ
หนังสั้นเรื่อง Whiplash (2013) เห็นว่า J. K. Simmons รับบทเป็นอาจารย์สอนดนตรีให้ด้วย เหมือนว่าเขาคงให้สัญญากับผู้กำกับ ถ้าได้ทำหนังยาวก็จะกลับมารับบทเดิม, Chazelle ให้แนวทางตัวละครนี้กับ Simmons ว่า ‘ผมอยากให้คุณแสดงออกมาเกินกว่าระดับที่ควรเป็น ประมาณว่าไม่ต้องการเห็นมนุษย์ในหนัง ผมอยากเห็นตัวประหลาด, การ์กอยล์ หรือสัตว์ป่า’ ซึ่งสิ่งที่ Simmons แสดงออกมา มีระดับความลุ่มลึกล้ำ เบื้องบนเหมือนผิวน้ำที่นิ่งสงัด แต่ภายใต้ปั่นป่วนดั่งคลื่นคลั่ง พร้อมรอวันปะทุระเบิดออกมา, ทุกครั้งที่ Simmons ระเบิดการแสดงออกมา ผู้ชมจะรู้สึกขนลุกชูชันแบบไม่รู้ตัว เพราะมันกระเทือนลึกลงไปถึงข้างในจิตใจ เป็นความหนาวเหน็บเย็นยะเยือกแผ่นซ่านออกมาก นี่ไม่มีทางที่มนุษย์คนไหนจะควบคุมความรู้สึกนี้ได้เป็นแน่
แต่ระหว่างฉาก ผู้กำกับบอกว่า Simmons เป็นคนที่ ‘as sweet as can be’ น่ารักที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ น่าฉงนเหมือนกันว่าแสดงออกเช่นนั้นได้ยังไง!
ถ่ายภาพโดย Sharone Meir, ลีลาการถ่ายภาพถือว่ามีความหลากหลายมาก สามารถเก็บรายละเอียดเล็กน้อยได้ครบถ้วนทุกสิ่งอย่าง ในระดับตั้งแต่ Extreme Close-Up เห็นเหงื่อไคลไหลย้อน เลือดหยดติ๋งๆ ตัวโน๊ต แววตา ฯ ไกลสุดคงประมาณ Long-Medium Shot (รู้สึกหนังแทบจะไม่มี Long Shot ถ่ายไกลๆเลย) นี่คงเพราะต้องการให้ผู้ชมใกล้ชิด สัมผัสกับอารมณ์ของตัวละครได้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อ
การเคลื่อนกล้องถือว่ามีชีวิตชีวา ลื่นไหลต่อเนื่อง เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบตรงไปตรงมา บางครั้งช้า บางครั้งเร็ว บางครั้งหยุดนิ่ง บางครั้งหมุนวน ฯ ถือเป็นลีลางานภาพสไตล์หนังยุคใหม่ ที่มีความหลากหลายในเทคนิคตระการตา
การจัดแสงโทนสี ถือว่ามีความโดดเด่นทีเดียว เพราะสร้างบรรยากาศที่แตกต่างให้กับหนัง อย่างในห้องดนตรี ห้องซ้อมตอนแรกมีสีน้ำเงิน เป็นโทนเย็น ให้ความรู้สึกจืดชืดเบื่อหน่าย แต่ในห้องซ้อมของ Fletcher แสงสีเหลืองทอง เป็นสีอุ่น เหมือนเป็นการบอกว่า นี่เป็นสถานที่ในฝันของ Neiman แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องนี้กลับตรงข้าม, คอนเสิร์ตตอนจบ เริ่มต้นด้วยสีดำ/สีน้ำเงิน (Low Key) จิตใจอันหดหู่เย็นชา จบสิ้นกันแล้วชีวิตนักดนตรี แต่เมื่อ Neiman คิดได้ทำบางสิ่งอย่าง โทนสีเปลี่ยนไปเป็นเหลืองทอง ส้มเกือบแดง เป็นสีอุ่น (High Key) บนเวทีนี้คือโลกของฉัน บริเวณที่อบอุ่นสุขใจที่สุดในสิ่งที่ได้ทำ
ตัดต่อโดย Tom Cross, ถ้าบอกว่า กลอง คือเครื่องดนตรีที่สร้างจังหวะให้กับเพลง การตัดต่อ จะถือว่าเป็นการสร้างจังหวะให้กับหนัง, ลีลาการตัดต่อ เปรียบได้คล้ายกับบทเพลงและจังหวะชีวิต ที่มีขึ้นๆลงๆ โน๊ตสูงต่ำ สลับไปมา ไม่ได้มีแต่สูงจนล้นฟ้าหรือต่ำจนเรี่ยดิน ซึ่งหนังมีการสลับให้ผู้ชมได้เหมือนกายใจเข้า ตื่นเต้นอะดรีนารีนพลุ่งพล่านลุ่นระทึก ไปกับการต่อสู้ระหว่าง Neiman กับ Fletcher และหายใจออก เพื่อพักผ่อนคลาย ให้เลือดลมได้ไหลเวียน กับเรื่องราวชีวิต โรแมนติกเล็กๆ ความฝันและความทะเยอทะยาน
เริ่มต้นกล้องค่อยๆเลื่อนเข้าช้าๆ ในโถงทางเดิน สู่ห้องซ้อมดนตรี ได้ยินเสียงกลองของ Neiman และ Fletcher อยู่ดีๆปรากฏกายขึ้น แนะนำตัว ขอให้เขาเล่นทำนอง Double-Time Swing แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไร ก็หายตัวไปอย่างรวดเร็ว, ตอนจบของหนัง การแสดงบนเวที กล้องเคลื่อนไหวอย่างโฉบเฉี่ยว Neiman โซโล่กลองจังหวะ Double-Time Swing เพลง Caravan ส่วน Fletcher เป็นผู้กำกับวง ยืนมองไม่สามารถหนีหายไปไหนได้ แต่ก็ยอมรับว่า ในที่สุดก็ไอ้เด็กคนนี้ก็เล่นได้ดั่งใจหวัง
ผมสังเกตจากทั้ง La La Land (2016) และหนังเรื่องนี้ สไตล์การตัดต่อ เล่าเรื่องของ Chazelle มักชอบมีอะไรที่คู่ขนาน ไปด้วยกันแต่สวนทางกัน เปิดต้นเรื่องจะล้อกับจบสิ้นเรื่อง มีความสมมาตรลงตัว แม้มุมมองของหนังจะเล่าผ่านตัวละครเดียว แต่ก็มีอะไรที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ตลอด
อารมณ์หนึ่งที่ผมได้จากหนังคือ รู้สึกกลัวจับใจ ลุ้นระทึกเวลาเห็น Neiman เล่นกลองทีไร จะเสียวสันหลังวาป กลัวว่าเขาจะเล่นผิด แล้วจะโดน Fletcher ตอบโต้ด้วยความรุนแรง, อารมณ์นี่เกิดจากความช็อค (Emotion Shock) ในฉากนั้นที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับ Neiman จดจำฝังใจจนรู้สึกกลัวแทน, ผมมาระลึกถึงเหตุการณ์นี้ได้ทีหลัง ไม่รู้เป็นความตั้งใจของผู้กำกับหรือเปล่า ถ้าใช่ถือว่าไม่ธรรมดาเลยนะครับ เพราะเป็นการกำกับอารมณ์ของผู้ชม นี่ระดับ Hitchcock, Nolan เลยนะ (ถ้าไม่ก็ถือว่าเป็นความบังเอิญที่ ผลลัพท์ทรงพลังอย่างคาดไม่ถึง)
สิ่งที่โดดเด่นสุดของการตัดต่อคือความเร็ว เรียกว่าช็อตต่อช็อตตัดสลับระหว่าง Neiman กับ Fletcher แบบไม่ทันกระพริบตา, บางครั้งใช้การตัดต่อเล่าเรื่องเป็นภาษาภาพยนตร์ ใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆเพื่อบอกว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น ขณะเตรียมพร้อมเล่นดนตรี Fletcher ยกมือเตรียมพร้อม ตัดภาพให้เห็นนักดนตรีคนอื่นๆ เปิดโน๊ตเพลงอย่างเร็ว, มือถือไม้กลอง, ทรัมเป็ต ทรัมโบน ยกขึ้นมือเตรียมกด ปากเตรียมเป่า ฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาประมาณไม่ถึง 1 วินาที เรียกว่าเร็วโคตรๆ เผลอกระพริบตามองไม่ทันแน่นอน
แน่นอนตัดต่อเยี่ยมขนาดนี้ สร้างอารมณ์ให้กับหนังได้อย่างลุ้นระทึก เร้าใจ ตื่นเต้นจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ จะไม่สามารถเข้าชิง Oscar และได้รางวัล Best Edited เชียวหรือ (ปกติแล้วหนังที่ได้ Best Edited มักจะคว้า Oscar:Best Picture ไปครองด้วย แต่ปีนั้นถือว่าเป็นข้อยกเว้น เพราะ Birdman ที่ใช้เทคนิค long-take ไม่ได้ต้องใช้การตัดต่อมาก โดดเด่นด้านอื่นกว่าจนคว้า Oscar ไป)
เพลงประกอบโดย Justin Hurwitz เพื่อนสนิทร่วมห้อง ร่วมชั้นเรียนเดียวกับผู้กำกับ Chazelle ที่ Harvard University เรียกว่าเพื่อนตายไม่ทิ้งกัน ต่อไปคงกลายเป็นอีกหนึ่งคู่หูในตำนาน ผู้กำกับ-คอมโพเซอร์ คู่ใจเป็นแน่, กับหนังเรื่องนี้เราจะยังไม่เห็นสไตล์ของ Hurwitz ชัดเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเพลง Jazz และเสียงกลอง (โซโล่กลองโดย Stanton Moore) ที่นำมาจากบทเพลงมีชื่อ แล้วเรียบเรียงขึ้นใหม่ในกลิ่นอาย สไตล์ใกล้เคียงกับเพลงที่เลือกมา
‘ผมเกลียดเพลงนี้ชะมัด’ Chazelle พูดถึงบทเพลง Whiplash ฉบับแจ๊สแต่งโดย Hank Levy จากอัลบัม Soaring (1973) ที่ใครเป็นมือกลองคงจงรักจงชังเพลงนี้อย่างมาก เพราะมีช่วงเร่งความเร็วเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงท้าย ซึ่งมือใหม่หัดเล่นคงต้องฝึกซ้อมกันอย่างเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากกว่าจะคล่องมือและเล่นตามได้, ซึ่งการเลือก Whiplash มาใช้เป็นบทเพลงฝึกซ้อมแรก และชื่อหนัง แสดงถึงวิวัฒนาการของนักตีกลอง ที่ถ้าต้องอยากเก่งเป็นยอดฝีมือ ก็ต้องก้าวกระโดดแบบนี้แหละ
ผมไปเจอใน reddit มีคนจับเวลาในหนัง แล้วคำนวณหาเทมโปที่ Neiman เล่นเพลงนี้ แล้ว Fletcher คอมเมนต์
- 1st take = 90.78 BPM (not quite my tempo)
- 2nd take = 91.65 BPM (downbeat on 18)
- 3rd take = 89.31 BPM (bar 17, the ‘and’ of 4)
- 4th take = 90.34 BPM (not quite my tempo, it’s all good no worries)
- 5th take = 95.00 BPM (you’re rushing)
- 6th take = 88.84 BPM (dragging, just a hair)
- 7th take = 90.23 BPM (rushing)
- 8th take = 93.59 BPM (dragging)
- 9th take = 87.67 BPM (เขวี้ยงเก้าอี้ใส่)
สรุปเทมโปเปะๆเท่าไหร่ก็ไม่รู้นะครับ น่าจะประมาณ 90 BPM นิดๆกระมัง
สำหรับอีกบทเพลงที่ต้องพูดถึงเลยคือ Caravan แต่งขึ้นโดย Juan Tizol กับ Duke Ellington ในปี 1936 แสดงครั้งแรก โซโล่กลองโดย Duke Ellington ส่วนฉบับที่มีการบันทึกเสียงครั้งแรก ในปีเดียวกัน แสดงโดย Barney Bigard และวง Jazzopaters, ผมเลือกเอาต้นฉบับมาให้ฟังเลยนะครับ
หลายคนอาจจะสับสน เพราะไม่เห็นเหมือนที่ได้ยินในหนังเลย … คือเพลงเดียวกันนะครับ แค่สมัยก่อนนั้น ยังไม่มีการเดี่ยวโซโล่กลองแบบบ้าคลั่ง เทมโป 400 BPM แบบตอนจบในหนัง (ต้นฉบับยังเทมโปแค่ 118 BPM เท่านั้นเอง) ซึ่งจุดเริ่มต้นความบ้าคลั่งนี้ (น่าจะ) เกิดขึ้นโดย Buddy Rich อัลบัม Blues Caravan (1962) ผมเอาฉบับนี้มาให้ฟังเทียบกันเลย
เพลง Caravan ถือเป็น jazz standard (เพลงพื้นฐานของนักตีกลองเล่นเพลงแจ๊ส ใช้เป็นบทเรียนเริ่มต้น) ปัจจุบันเป็นของสาธารณะไปแล้ว (Public Domain) เล่นที่ไหนก็ได้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ติดลิขสิทธิ์, ทำนองต้นฉบับมีความเซ็กซี่ยั่วยวน ลีลาเร้าใจด้วยเสียงเครื่องเป่า ทั้งแซกโซโฟน/ทรัมเป็ต/ทรัมโบน เรียกว่ามีช่วงโชว์ลีลาเด่นของตนเอง แม้แต่กลองยังประกอบจังหวะได้ระทึกคึกโครมจนอยากโยกหัวไปมา, สำหรับฉบับของ Buddy Rich และที่ใช้ในหนัง เปรียบได้กับความบ้าคลั่งทะเยอทะยาน เป้าหมายสูงสุดของคนที่ยึดติดในตัวเลข นี่เป็นบทเพลงที่ไร้ขอบเขตจำกัด จะเล่นให้เร็วเท่าไหนก็ได้ เปรียบกับการขึ้นถึงจุดสูงสุด จะไปได้เท่าไหร่ก่อนที่จะค่อยๆลดความเร็วลงมาต่ำสุด แล้วไต่กลับขึ้นไปสูงสุดใหม่ (กราฟขึ้นลงราวกับวัฏจักรของชีวิต)
เกร็ด: Woody Allen เคยใช้เพลงนี้ประกอบหนังสองเรื่อง Alice (1990) และ Sweet and Lowdown (1999)
Whiplash เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร? ที่แน่ๆไม่เกี่ยวกับดนตรีแจ๊ส ใช้แค่เป็นพื้นหลังประกอบเรื่องราวเท่านั้น, ใจความสำคัญคือ ‘ตัวตน จิตวิญญาณ ค้นหา เป้าหมาย ก้าวผ่าน เอาชนะ’
มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องมีเป้าหมายในชีวิต บางคนโหยหาความสำเร็จ ทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะ บางคนยังไงก็ได้ มีแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสมหวังแล้ว, ตัวละครทุกตัวในหนังเรื่องนี้ มีความทะเยอทะยาน ต้องการบางสิ่งบางอย่าง และมีความใคร่อย่างมากที่ต้องประสบความสำเร็จ
สำหรับ Neiman คือการพิสูจน์ความสามารถตนเองให้ผู้อื่นเป็นที่ประจักษ์ อนาคตหลังเรียนจบไม่รู้ แต่เป้าหมายเฉพาะหน้าตอนนี้คือ ได้เล่นในวงดนตรีของโรงเรียน และได้รับการยอมรับจาก Fletcher
สำหรับ Fletcher เป้าหมายคือต้องการค้นหาศิษย์อัจฉริยะ ที่สามารถเอาชนะหลักสูตร วิธีการของตน เด็กล้มครู กลายเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถค้นพบเพชรเม็ดงาม จะมีก็แค่ Neiman นี่แหละที่ใกล้เคียง
ต้องถือว่า Neiman กับ Fletcher เป็นคู่มวยที่สมน้ำสมเนื้อ อาจารย์ที่โคตรเข้มงวด สู้กับศิษย์ที่ไม่ย่อท้อ พร้อมทุ่มเทชีวิตกายใจให้ทุกอย่าง วันหนึ่งเมื่อ Neiman ทำพลาด Fletcher จดจำและวางแผนสั่งสอนบทเรียนสุดท้าย ‘You think I’m fucking stupid? I know it was you.’ ซึ่งเพราะบทเรียนนี้แหละที่ทำให้ Neiman กลายเป็นเพชรที่เจียระไน แสดงออกในสิ่งที่สามารถเอาชนะ ก้าวผ่านขอบเขตของตน กลายเป็นศิษย์ล้มครู ทำตามความฝันของทั้งคู่ได้สำเร็จ
มีคอเพลง Jazz หลายคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอึดอัด ต่อต้าน ไม่พอใจในส่วนของดนตรีที่หน้าหนังทำเหมือนว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับแจ๊สและการตีกลอง แต่แท้จริงเป็นหนังเกี่ยวกับความทะเยอทะยาน ต้องการเอาชนะ เป็นที่หนึ่ง โดยมีแจ๊สและกลองเป็นพื้นหลังประกอบเรื่องราวเท่านั้น, ซึ่งข้อแก้ตัวนี้ Chazelle ได้ใส่คำอธิบายในหนังเรื่อง La La Land (2016) บอกว่าโลกสมัยนี้ Original Jazz เพียงอย่างเดียว จะไปจับกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ได้อย่างไร ใครอยากรู้ว่าผู้กำกับตอบเต็มๆว่าอะไร หาหนังมาดูนะครับ
เช่นกันกับไม้กลอง ที่นักตีกลองทั้งหลายคงบ่นอุบ เป็นไปได้ยังไงทั้งเรื่องไม่มีไม้กลองหักเลย นี่ขัดแย้งกับความจริงมากๆ (เป็นค่านิยมของนักตีกลองที่ว่า ถ้าไม้ไม่หักถือว่าเล่นไม่สุดอารมณ์!) ผมไปอ่านเจอบทวิเคราะห์ในพันทิป แทรกแนวคิดไว้ค่อนข้างน่าสนใจ คือเปรียบไม้กลองเป็นดั่งจิตวิญญาณของผู้ตี ที่ถ้าหากพบไม้ที่ถูกใจใช่ของตน ต่อให้ร่างกายบาดเจ็บทรมานแค่ไหน แต่จิตวิญญาณไม่ย่อท้อ ยอมแพ้ ผิดหวัง ก็จักเล่นได้ไม่มีวันหัก (ผิดกับกลองในหนังที่มีการทุบทะลุ, เลือดอาบ, คราบเหงื่อ ฯ สกปรกซกมกได้ที่ คงประมาณว่า ร่างกายฆ่าได้หยามไม่ได้ ถึงกายจะแพ้ แต่จิตวิญญาณยังต่อสู้ไม่เคยลดละ)
ปล. มีนักวิจารณ์ต่างประเทศเรียกหนังเรื่องนี้ว่า ‘Full Metal Jacket at Juilliard’ ใครเคยดู Full Metal Jacket (1987) ของ Stanley Kubrick น่าจะคุ้นเคยกับการกระทำของตัวละครบางตัวเป็นอย่างดี คล้ายกับ Terence Fletcher อย่างมาก, ส่วน Juilliard คือชื่อโรงเรียนดนตรีที่สอบเข้ายากที่สุด มีชื่อเสียงที่สุดในอเมริกา
5 สาขาที่ได้เข้าชิง Oscar ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Supporting Actor (J. K. Simmons) ** ได้รางวัล
– Best Adapted Screenplay [Oscar ชอบเล่นตลกสาขานี้ จริงอยู่ที่ขยายมาจากหนังสั้น แต่ก็เขียนโดย Chazelle คนเดิม]
– Best Edited ** ได้รางวัล
– Best Sound Mixing ** ได้รางวัล
ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ ในอะดรีนาลีนที่พุ่งพร่านไปทั่วร่าง จริงอยู่มันอาจไม่ใช่อารมณ์ที่น่าอภิรมย์นัก แต่ผลลัพท์ที่ออกมาทรงพลัง และมีเรื่องราวที่ควรค่าแก่การคิดวิเคราะห์ตั้งคำถาม ชีวิตมันต้องสุดขีดถึงขนาดนั้นเลยเหรอ? คำตอบนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง อยู่ที่ตัวคุณเองว่าชื่นชอบแบบไหน ส่วนตัวเห็นด้วยครับว่า ชีวิตมันต้องระดับนั้น ไม่เช่นนั้นจะมีค่าอะไร แต่แค่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง จะสามารถเข้าใจคำว่า ‘พอ’ ได้หรือเปล่า
แนะนำกับผู้ชื่นชอบดนตรี แจ๊ส นักดนตรี มือกลอง และผู้ควบคุมวง, คอหนังที่ชื่นชอบความตื่นเต้น ระทึกขวัญ ทรมานถึงเลือดถึงเนื้อ, แฟนๆ J. K. Simmons กับบทบาทที่ทำให้ได้ Oscar ไม่ควรพลาดเลย
แนะนำอย่างยิ่งกับคนที่สิ้นหวังในชีวิต พ่ายแพ้การแข่งขันแล้วยังทำใจไม่ได้ นี่เป็นหนังที่คุณดูแล้วควรจะตระหนักได้ทันที ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน มันกระจอกงอกง่อยสิ้นดี เมื่อเทียบกับหนังเรื่องนี้
จัดเรต 18+ รุนแรงในภาษา การกระทำ หยาดเหงื่อและเลือด
Leave a Reply