White Mane (1953) : Albert Lamorisse ♥♥♥♡
ม้าป่าสีขาว ช่างมีความสวยสง่างาม เป็นที่หมายปองของใครๆ แต่พยายามสักเท่าไหร่ก็ไม่สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ กระทั่งเด็กชายชาวประมงคนหนึ่ง ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกันถึงยินยอมศิโรราบให้
Crin-Blanc หรือ White Mane หนังสั้นที่แม้จะไม่ทรงพลังตราตรึงเท่า The Red Balloon (1956) แต่ถือว่าคือผลงานสร้างชื่อให้ผู้กำกับ Albert Lamorisse เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes และคว้ารางวัล Palme d’Or – Short Film
Albert Lamorisse (1922 – 1970) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุงปารีส โตขึ้นเริ่มจากเป็นช่างภาพ ก่อนผันตัวกำกับสารคดี ตามด้วยหนังสั้นและภาพยนตร์
– หนังสั้น Bim (1951) เรื่องราวของเด็กชายชาวอาหรับ กับลาชื่อ Bim
– หนังสั้น White Mane (1953) เรื่องราวของเด็กชายที่สามารถขึ้นขี่ม้าขาว ทั้งๆไม่มีผู้ใหญ่คนไหนเคยทำสำเร็จมาก่อน
– หนังสั้น The Red Balloon (1956) เด็กชายพบเจอลูกโป่งสีแดง โดยไม่รู้ตัวมันสามารถขยับเคลื่อนไหวราวกับมีชีวิตจิตใจ
– Stowaway in the Sky (1960) เด็กชายปีนป่ายขึ้นไปบนบอลลูนของปู่ ใช้มันออกท่องโลกไปเรื่อยๆ
– Circus Angel (1965) หัวขโมยเข้าร่วมคณะละครสัตว์เพื่อหลบหนีตำรวจ ต้องกายกรรม ปีนป่าย ขี่จักรยานข้ามเส้นเชือก
– สารคดี The Lovers’ Wind (1978) เก็บภาพพายุในทะเลทรายประเทศอิหร่าน ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ทั้งเรื่อง
ฯลฯ
ดัดแปลงจาก The Wild White Stallion (1959) วรรณกรรมเยาวชนแต่งโดย René Paul Guillot (1900 – 1969) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ผู้มีความลุ่มหลงใหลใน West Africa และสัตว์ป่า ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Kpo the Leopard (1955), The 397th White Elephant (1957), Little Dog Los (1964) ฯ
บริเวณ Camargue ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส มีลักษณะท้องทุ่งหนองบึงกว้างใหญ่ไพศาล เป็นเวลานับพันๆปีที่ฝูงม้าป่าอาศัยใช้ชีวิต ปรับเอาตัวรอด จนมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมอันยากลำบาก ด้วยเหตุนี้เลยตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า Camargue จุดเด่นคือทรงผมตอนเด็กอาจสีดำ แต่โตเต็มวัยเมื่อไหร่จะกลายเป็นสีขาว
ปกติแล้วม้าสายพันธุ์ Camargue จะมีผิวสีเทา นอกเสียจากกลายพันธุ์ถึงผิวสีขาว ซึ่งหนังสือ/หนังสั้นเรื่องนี้ นำมาแต่งต่อยอดตั้งชื่อว่า White Mane ม้าในตำนานที่มีความสวยสง่างาม ฝีเท้าเยี่ยม พละกำลังสุดเหวี่ยง ไม่มีใครสามารถควบคุมขึ้นขี่มันได้
Falco (รับบทโดย Alain Emery) เด็กชายลูกชาวประมง พบเห็น White Mane สามารถต่อสู้ดิ้นรน หลุดหนีการถูกจับกุมโดยเจ้าของคอกม้าได้หลายหน อีกทั้งยังคอยช่วยเหลือม้าป่าตัวอื่นๆให้สามารถหลบรอดตัวออกมาได้ จึงเกิดความลุ่มหลงใหลต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ทีแรกก็ไม่สำเร็จหรอก ถูกลากพาตัวข้ามหนองคลองบึงจนหมดเรี่ยวแรงไม่ยอมปล่อยเชือก แต่แล้วเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ เจ้าม้าขาวถึงยินยอมปล่อยให้เขาขึ้นขี่ ราวกับสัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์ดีงามของเด็กชาย เป็นที่อิจฉาตาร้อนของนักจับม้าทุกๆคน
ถ่ายภาพโดย Edmond Séchan ที่จะร่วมงานกับ Lamorisse อีกครั้งเรื่อง The Red Balloon (1956), ผมแอบเสียดายที่หนังถ่ายทำด้วยภาพขาวดำ ถ้าใช้ฟีล์มสีคงมีความงดงามตราตรึงยิ่งกว่านี้ แต่นั่นอาจทำให้ม้าสีขาวดูไม่โดดเด่นเมื่ออยู่เคียงข้าง Camargue สีเทาตัวอื่นๆก็เป็นได้
ม้าไม่ใช่บอลลูนที่สามารถใช้คนควบคุมกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวได้ เพราะมันคือสิ่งมีชีวิตมีความคิดอ่านจิตใจ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายจักควบคุมกำกับมัน ซึ่งหลายๆฉากต้องชมเลยว่าน่าทึ่งสั่งการได้อย่างไร ไฮไลท์ห้ามพลาดเลยคือการต่อสู้ระหว่างสองม้า อะไรคือชนวนสาเหตุให้มันต่อสู้กัน? ในหนังคือแย่งชิงความเป็นจ่าฝูงผู้นำ แต่ความเป็นจริงละ?
เกร็ด: ฉากที่ม้าขาวลากเด็กชายไปทั่วหนองน้ำ เห็นว่าผู้กำกับ Lamorisse เป็นคนแสดง Stuntman ด้วยตนเอง
ตัดต่อโดย Georges Alépée, ร้อยเรียงเรื่องราวในมุมของเด็กชาย Folco เริ่มต้นจากจับจ้องมองสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ จากนั้นค่อยๆแทรกตัวเข้าไปจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว
ครั้งหนึ่งมีการแทรกใส่ฉากความฝันของเด็กชาย อันเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้เขาเกิดความกล้า สะท้อนความต้องการจากภายใน ครอบครองเป็นเจ้าของ White Mane
สำหรับเสียงบรรยายดำเนินเรื่อง ถ้าเป็นฉบับภาษาอังกฤษพากย์โดย James Agee ขณะที่ฉบับฝรั่งเศสโดย Albert Lamorisse
เพลงประกอบโดย Maurice Leroux, ช่วยแต่งเติมความระยิบระยับให้กับเรื่องราว เต็มไปด้วยลูกเล่นลูกชน ตื่นเต้นลุ้นระทึก ราวกับทั้งหมดคือเสียงจากอารมณ์ความรู้สึกของเจ้าม้าขาว
บริบทของเรื่องราว เป็นความพยายามสร้าง ‘วีรบุรุษ’ โดยยกให้เด็กชายผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่ได้หวังครอบครองเป็นเจ้าของ White Mane ด้วยผลประโยชน์เคลือบแอบแฝงใดๆ ผิดกับบรรดาเจ้าของคอกม้าที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ต้องการอวดอ้างความสามารถราคา เริดเชิดหน้าชูตา เย่อหยิ่งผยองจองหองอวดดี
ม้าขาว มองในเชิงสัญลักษณ์ก็เหมือนจิตวิญญาณ ความเพ้อใฝ่ฝันของเด็กชาย มิตรภาพระหว่างพวกเขาถือว่าเติมเต็มกันและกัน
– เด็กชาย จับจ้องมองด้วยแววตาเป็นประกาย ท้าพิสูจน์ตนเองว่าเหมาะสมต่อแก่สิ่งควรค่า
– ม้าขาว สักวันก็ต้องถูกจับได้ แต่ให้เลือกระหว่างนักจับม้าพวกนั้นกับเด็กชาย ก็แน่ละ เรื่องอะไรจะยอมตกเป็นเครื่องมือเพื่อคนใจบาป
ตั้งคำถามด้วยความสงสัย แล้วผู้ใหญ่ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ไม่มีเลยหรือ? ก็คงมีแหละ แต่แค่ไม่ปรากฏในหนังเรื่องนี้เท่านั้นเอง เพราะในบริบทนี้ต้องการสื่อถึงความวัยเยาว์ ไร้เดียงสา ภายในเลยไร้ซึ่งกิเลสราคา มันเลยงดงามทรงคุณค่ากว่าเป็นไหนๆ
ตอนจบของหนังแม้ดูเหมือนสิ้นหวัง แต่ให้มองว่าคือการเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่ของเด็กชายและม้าขาว มุ่งสู่อิสรภาพอันไร้ขอบเขตพรมแดน ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบครอบงำความคิด เป้าหมายปลายทางอยู่ตรงสุดปลายขอบฟ้าไกล
ผู้ใหญ่ได้อะไรจากการรับชมหนังเรื่องนี้? ความเย่อหยิ่งผยอง จองหอง อวดดี คือสิ่งที่จะทำให้จิตใจเต็มไปด้วยมลทิน สูญเสียสิ้นโอกาสได้ครอบครองบางสิ่งอย่างทรงคุณค่าดีงาม ถ้าเราสามารถลดละความโลภ โกรธ หลง ลงได้บ้าง เส้นทางสุดปลายขอบฟ้าอาจไม่ไกลเกินเอื้อมมือก็ได้
ม้าขาว=บอลลูนสีแดง, ความตั้งใจของ Lamorisse เพื่อนำเสนอสิ่งที่คือ ‘ความบริสุทธิ์’ มักพบเห็นได้กับเด็กวัยเยาว์ ผู้ใหญ่รวมถึงตัวเขาต่างแปดเปื้อนไปด้วยมลทิน ถ้าย้อนเวลาได้เขาคงอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง แต่เพราะมันเป็นไปไม่ได้ เลยสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้(และหลายๆเรื่อง) เพื่อให้ตนเองกลับกลายเป็นเด็กขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ตอนหนังเรื่องนี้ออกฉาย (และ The Red Balloon) ถูกสับเละโดยนักวิจารณ์(ขณะนั้น) François Truffaut
“Lamorisse of outright Disneyfication”.
ผมว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่เขารู้สึกเช่นนั้น เพราะนี่ภาพยนตร์ที่มอบโอกาสและความหวัง เติมเต็มความฝันของเด็กๆ ซึ่งถ้าใครเคยรับชม The 400 Blows (1959) หรือล่วงรู้ชีวประวัติว่าที่ผู้กำกับดัง ก็น่าจะซาบซึ้งถึงตัวตน ชีวิตผ่านช่วงเวลาวัยเด็กอย่างยากลำบาก เรื่องราวแบบนี้มันช่างเพ้อเจ้อเสียจริง!
โดยส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ไม่รู้เพราะประทับตราตรึงกับ The Red Balloon มากไปหรือเปล่า พอพบเห็นอะไรๆมันคล้ายคลึง เทียบไม่เท่า ก็เลยรู้สึกเฉยๆ แต่ฉากม้าสู้กันก็ทำเอาอึ้งทึ่งไปเลย (นึกถึงหมีกริซซี่สู้กันใน Grizzly Man)
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศทุกวัย
Leave a Reply