White Shadows in the South Seas (1928) : W. S. Van Dyke ♥♥♥♡
การมาถึงของคนขาว (White Shadows) ยังท้องทะเลตอนใต้ (South Seas) พยายามควบคุมครอบงำ บ่อนทำลายสรวงสวรรค์ ปรับเปลี่ยนแปลงสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นอาณานิคมของตนเอง (Colonialism), คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography ในงานประกาศรางวัลครั้งที่สอง
Nanook of the North (1922), Grass (1925), Moana (1926), Chang: A Drama of the Wilderness (1927) ฯลฯ ต่างคือภาพยนตร์ที่ทำให้ Hollywood มีความลุ่มหลงใหลในดินแดนห่างไกล คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง มีความแปลกใหม่ ‘Exotic’ ราวกับสรวงสวรรค์ ดินแดนเพ้อฝันเหนือจินตนาการ เหมาะสำหรับเป็นสถานที่หลบหลีกหนี (Escapist) จากความทุกข์ยากลำบากในทศวรรษ Great Depression
แต่ขณะเดียวกันทุกสถานที่ที่คนขาวเดินทางไป ล้วนมีความต้องการจะควบคุมครอบงำ ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น ให้สอดคล้องวิถึชีวิต ความเจริญก้าวหน้า อารยะ ศิวิไลซ์ นั่นคือการล่าอาณานิคม (Colonialism) อันจะส่งผลกระทบทำให้สวรรค์ลา ‘Paradise Lost’ ไปชั่วนิรันดร์
เป็นความโชคดีเล็กๆที่ผมบังเอิญค้นเจอหนังเรื่องนี้จาก Youtube แม้คุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็เพียงพอให้พบเห็นความงดงาม น่าประทับใจ โดยเฉพาะเนื้อหาสาระ Anti-Colonialism แม้ว่าตัวผู้กำกับ W. S. Van Dyke จะเต็มไปด้วยอคติต่อชนพื้นเมือง สถานที่ที่เขาไปถ่ายทำก็ตามที
เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องนี้คือครั้งแรกที่ Leo the Lion (ตัวนี้ชื่อ Jackie) โลโก้สตูดิโอ M-G-M ส่งเสียงคำรามออกมาให้ได้ยิน (แต่ตัวหนังยังคงเป็นหนังเงียบส่วนใหญ่ เพิ่มเติมคือ Sound Effect และเพลงประกอบ)
Frederick O’Brien (1869-1932) นักข่าวผันตัวมาเป็นนักเขียน สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Baltimore, Maryland เชื้อสาย Irish Catholic ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเดินทางผจญภัย โตขี้นเลือกใช้ชีวิตอย่าง hobo ออกท่องทั่วทวีปอเมริกา จนกระทั่งได้งานนักหนังสือพิมพ์ จึงมีโอกาสไปยุโรป แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงชีวิตหนึ่งเคยอาศัยอยู่ Polynesia (ภูมิภาคในเขต Oceanian) โดยเฉพาะหมู่เกาะ Marquesas ระหว่างปี 1913-14 กลายเป็นแรงบันดาลใจเขียนนวนิยายสามเรื่อง ต่างติดอันดับหนังสือขายดี (Best-Selling)
- White Shadows in the South Seas (1919)
- Mystic Isles of the South Seas (1920)
- Atolls of the Sun (1922)
ช่วงปี 1927, Irving Thalberg ขณะนั้นเป็น Head of production ให้สตูดิโอ M-G-M ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล มีโอกาสอ่านนวนิยายของ O’Brien เกิดความชื่นชอบหลงใหล ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง มอบหมายให้ Jack Cunningham กับ Ray Doyle ดัดแปลงบทภาพยนตร์ และเลือกผู้กำกับ Robert J. Flaherty จากความประทับใจ Moana (1926) และส่งผู้ช่วย W. S. Van Dyke ร่วมออกเดินทางสู่ Papeete, Tahiti
แต่อีกแหล่งข่าวที่ผมพบเจอเล่าว่า David O. Selznick (ขณะนั้นยังทำงานอยู่ M-G-M) เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเพื่อมอบหมายให้ W. S. Van Dyke แต่หนี่งในโปรดิวเซอร์ Hunt Stromberg ยืนกรานจะต้องส่ง Robert J. Flaherty ที่มีประสบการณ์สื่อสารชนพื้นเมืองร่วมออกเดินทางไปด้วย … และเหตุการณ์ดังกล่าวคือชวนบาดหมางให้ Selznick ลาออกจาก M-G-M ย้ายไปอยู่ Paramount Pictures เมื่อปี 1928
และอีกแหล่งข่าวบอกว่า Robert J. Flaherty เป็นคนผลักดันโปรเจคนี้ด้วยตนเอง แรกเริ่มยื่นข้อเสนอดัดแปลงนวนิยาย Typee: A Peep at Polynesian Life (1846) แต่งโดย Herman Melville (1819-1891) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เจ้าของผลงานอมตะ Moby-Dick (1851), แต่โปรดิวเซอร์ Irving Thalberg กลับให้ความสนใจ White Shadows in the South Seas ซึ่งในขั้นตอนพัฒนาบทตั้งชื่อ Working Title ว่า Southern Skies และคู่หูคนแรกคือ John McCarthy ก่อนเปลี่ยนมาเป็น W. S. Van Dyke
(ผมไม่สามารถบอกได้ว่าจุดเริ่มต้นไหนที่เป็นความจริงนะครับ แต่รับรู้ทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย)
Woodbridge Strong Van Dyke II (1889 – 1943) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘One-Take Woody’ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Diego, California บิดาเสียชีวิตในวันที่เขาเกิด ส่วนมารดาเป็นนักแสดง vaudeville ช่วงชีวิตวัยเด็กออกเดินทางติดตามคณะการแสดง จนได้ขี้นเวทีตั้งแต่อายุห้าขวบ, พออายุ 14 ปักหลักอยู่ Seattle ร่วมกับคุณยาย เริ่มทำงานภารโรง พนักงานเสิร์ฟ เซลล์แมน แต่งงานกับภรรยานักแสดง ร่วมออกเดินทางมาถีง Hollywood, ได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ D. W. Griffith เรื่อง The Birth of a Nation (1915), Intolerance (1916), กำกับเรื่องแรก The Land of Long Shadows (1917), โดยรวมประสบความสำเร็จไม่น้อยในยุคหนังเงียบ กระทั่งเซ็นสัญญา M-G-M ผลงานเด่นๆ อาทิ White Shadows in the South Seas (1928), Tarzan the Ape Man (1932), Eskimo (1933), The Thin Man (1934), San Francisco (1936), Marie Antoinette (1938) ฯ
ประเด็นคือ Van Dyke เป็นผู้กำกับที่มีความสามารถ ประสบการณ์ทำงานสูง แต่กลับถูกสั่งให้ร่วมงาน Flaherty เพียงเพราะสามารถสื่อสารชาวพื้นเมือง เคยอาศัยอยู่ Samoa (ระหว่างถ่ายทำ Moana) มันช่างเป็นการดูถูกไม่น้อย แต่เขาก็ไม่หือรือ เว้นเพียงระบายความอีดอัดคับข้องในจดหมาย/สมุดบันทีก
“If we ever see Moana (1926) running again anywhere I want to take you, just to show you how much of it is real and unreal. Almost all of it is staged. Natives doing things that they never do or did. And he knew no more about the camera than he did natives. Think his wife and brother must be responsible for his other films. I know very damn little about natives, but I bet I know more than he does. I know too damn much about them anyway”.
W. S. Van Dyke กล่าวถีง Robert J. Flaherty
หน้าที่ของ Van Dyke ในฐานะ ‘associate director’ คือดูแลงานสร้างทั่วๆไป ขณะที่ Flaherty เป็นผู้จัดการในส่วนรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ‘delicate stuff’ แต่วิธีการทำงานของเขาละเอียดอ่อนเกินไป เรื่องมากอย่างไร้ความจำเป็น ฉากที่ควรถ่ายทำ 3 ชั่วโมง กลับใช้เวลาเป็นสัปดาห์ๆแบบไม่ทำอะไรด้วยนะ แม้แต่ผู้กำกับภาพ Clyde De Vinn ยังรู้สีกว่าชายคนนี้ ‘too visionary’ ในระดับที่ใช้งานไม่ได้ (impractical)
“This Flaherty is as big a false alarm as I ever saw—so utterly ignorant of pictures and everything connected with them that it has exhausted the patience of everyone in the troupe and most of the time we go around flaring at each other like a pack of strange bulldogs”.
Clyde De Vinn กล่าวถีง Robert J. Flaherty
หลังมีการโต้ถกเถียง ขี้นเสียง ขัดแย้งกันรุนแรงหลายครั้ง ปรับปราเล่าว่า Flaherty ถอนตัวออกจากกองถ่ายด้วยตนเอง แต่บ้างก็ว่าถูกโปรดิวเซอร์ขับไล่ออก ส่วนนิตยสาร Variety รายงานด้วยเหตุผลสุดคลาสิก ‘ความคิดเห็นแตกต่าง’
เมื่อหลงเหลือเพียง Van Dyke ในที่สุดก็ได้รับอิสระในการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เริ่มตระหนักถีงบางสิ่งอย่าง ดินแดนแห่งนี้หาได้เป็นสรวงสวรรค์ดังคาดคิดไว้ เต็มไปด้วยภยันตรายซ่อนเร้นคลื่นใต้น้ำ
“When you get in and on the island, the vegetation is very beautiful at first sight, . . . but when you have seen it for a few days you begin to notice the ugly features also; such as the dead and dried foliage that clings to the green; the worm holes and the damp rot on the barks.
The bay is beautiful and I would like to swim in it but I am reminded of the constant danger of sharks.
The natives are plentiful and I would like to get out and ‘play’ with them but I am told that the great majority of them are full of syphilis”.
W. S. Van Dyke
โดยไม่รู้ตัว Van Dyke บังเกิดความหวาดระแวง รังเกลียด เหยียด ‘Racism’ ทุกสิ่งอย่างของสถานที่แห่งนี้ ไม่แม้แต่อยากจะสัมผัส จับต้องกับผู้ใด (ถีงขนาดปฏิเสธโกนหนวดเคราจนกว่าจะถ่ายทำเสร็จ)
“Just a nasty loathing for everything here including the picture. Even hate to touch things. One of the best things they do down here is to shake hands. You can do it a hundred times a day. . . . I want to run and wash every time I shake hands with anyone.
This place is sure a degenerate’s paradise. Some of our gang are wallowing in it. . . . These natives represent a very little different strata to me than the negro. And they smell about as bad except when they are all daubed with perfume”.
พฤติกรรมของผู้กำกับ Van Dyke ชัดเจนว่าคืออาการเหยียดเผ่าพันธุ์ ครุ่นคิดว่าฉันผิวขาว มีอารยะธรรม ‘สะอาด’ เหนือใครอื่นใด แต่เนื้อเรื่องราวภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็นการต่อต้านอาณานิคม (Anti-Colonialism) ให้ค่าชนชาวพื้นเมืองว่ามีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมใครต่อใคร … มันช่างน่าสนใจจริงๆว่าพี่แกสามารถฝืนธรรมชาติ ทำในสิ่งตรงกันข้ามสันดานธาตุแท้ของตนเองได้เช่นไร
เรื่องราวของ Dr. Matthew Lloyd (รับบทโดย Monte Blue) หมอขี้เมาร่วมคณะสำรวจของ Sebastian (รับบทโดย Robert Anderson) ล่องเรือมาถึงภูมิภาค Polynesian เริ่มอดรนทนเห็นการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงชนพื้นเมือง งมไข่มุกเสี่ยงตายแลกกับสิ่งของไม่มีมูลค่าสักเท่าไหร่ นั่นทำให้เขาถูกทอดทิ้งล่องลอยกลางทะเล คลื่นซัดเรือล่มโชคดีสามารถเกยตื้นขึ้นฝั่ง
บังเอิญพบเจอชาวพื้นเมืองอีกเกาะหนึ่ง ไม่เคยเห็นชายผิวขาวมาก่อน ถึงขนาดยกย่องเชิดชูเรียกว่า ‘white god’ ร่วมงานเฉลิมฉลอง ขณะกำลังจะได้ครองรักหญิงสาว คณะสำรวจของ Sebastian ก็เดินทางมาถึงหมู่เกาะบริเวณนี้ เขาจึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องสรวงสวรรค์แห่งสุดท้าย
Gerard Montgomery ‘Monte’ Blue (1887-1963) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indianapolis, Indiana มีพี่น้องสี่คน หลังจากบิดาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ถูกส่งไปเติบโตสถานรับเลี้ยง Indiana Soldiers’ and Sailors’ Children’s Home ตั้งใจร่ำเรียน สะสมเงินทอง จนได้เข้าเรียนต่อ Purdue University, จบออกมารับจ้างทำงานทั่วไป เหมืองถ่านหิน ดูแลปศุสัตว์ ช่างตัดไม้ กระทั่งได้เป็นตัวประกอบ/สตั๊นแมน The Birth of a Nation (1915), Intolerance (1916) แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดง แต่หน้าตาหล่อเหลาเลยได้รับการผลักดัน Orphans of the Storm (1921), กลายเป็นพระเอกหนังโรแมนติก ประกบนักแสดงดังๆอย่าง Clara Bow, Gloria Swanson, Norma Shearer, ส่วนบทบาทได้รับการจดจำสูงสุด White Shadows in the South Seas (1928)
รับบท Dr. Matthew Lloyd หมอขี้เมาที่มองมนุษย์เท่าเทียมกัน อดรนทนเห็นพฤติกรรมเพื่อนร่วมชาติเผ่าพันธุ์ไม่ไหว พยายามต่อสู้ขัดขืน เลยก็ถูกขับไล่ผลักไสส่ง จับพลัดจับพลูล่องเรือมาถึงสรวงสวรรค์แห่งใหม่ แต่ไปๆมาๆตัวเขาก็แทบไม่ต่างจากพรรคพวกที่เคยอคติ พยายามเสี้ยมสอน ปลูกฝังแนวความคิด โลกทัศนคติของตนเอง และการมาถึงของ Sebastian มันจึงสวรรค์ลา อีกไม่นานก็จักสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป
แม้ว่าขณะนั้น Blue จะอยู่ภายใต้สัญญาของ Warner Bros. แต่ถูกหยิบยืมตัวจาก M-G-M เพราะไม่ต้องการให้นักแสดงในสังกัดเสียเวลาเดินทางไป-กลับ Tahiti แถมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถ่ายทำเสร็จสิ้น (แต่หนังก็สร้างเสร็จตามกำหนดเวลาเพราะ ‘One-Take Woody’ เลื่องลือชาในความโคตรเร็วในการทำงาน)
การแสดงของ Blue ถือว่าน่าประทับใจทีเดียว โดยเฉพาะขณะโกรธเกลียด แสดงอาการไม่พึงพอใจพฤติกรรมเพื่อนร่วมชาติเผ่าพันธุ์ “I am ashamed of being white!” ราวกับว่ามันคือความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากภายในจริงๆ ซึ่งสะท้อนตรงกันข้ามผู้กำกับ Van Dyke ที่ต้องการกรีดร้องให้กึกก้อง “I hate everything in this place!”
ถ่ายภาพโดย Clyde De Vinna (1890-1953) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Sedalia, Missouri หลังเรียนจบ University of Arkansas ได้เข้าร่วม Inceville Studio ถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรก The Raiders (1916), ต่อมากลายเป็นขาประจำผู้กำกับ W. S. Van Dyke ผลงานเด่นๆ อาทิ White Shadows in the South Seas (1928), Tarzan the Ape Man (1932), Eskimo (1933) ฯ
ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Moana (1926) ทำให้ฟีล์ม panchromatic ได้รับความนิยมอย่างสูง (โดยเฉพาะกับหนังที่ต้องเดินทางไปถ่ายทำยังดินแดนห่างไกล) แต่ผู้กำกับ Van Dyke ก็ค้นพบสิ่งที่เป็นปัญหาคือ ฟีล์มชนิดดังกล่าวทำให้คนพื้นเมืองผิวสีเข้มเจือจางลง จนดูไม่แตกต่างจากคนขาวมากนัก … นี่อาจไม่ปัญหาต่อผู้กำกับคนอื่นๆ แต่ Van Dyke จู้จี้จุกจิกเรื่องสีผิวไม่น้อย วิธีการของเขาก็คือ แต่งหน้าแต่งผิวให้ตัวประกอบพื้นเมืองมีความมืดมากกว่านักแสดงผิวขาว
ในบันทึกของ Van Dyke อ้างว่าตนเองถ่ายทำหนังในส่วนของ Flaherty ที่ทอดทิ้งโปรเจคไปใหม่ทั้งหมดหมด แต่ความเป็นจริงยังมีฟุตเทจ(ของ Flaherty) หลงเหลือในหนังพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์, ทะเลสาปบนเกาะ (Lagoon), งานเลี้ยงต้อนรับ ฯลฯ
สิ่งที่ต้องชมสำหรับการถ่ายภาพ คือความงดงามของทิวทัศน์ ผืนป่า ชายหาด ท้องทะเล ปะการังสวยๆ (ฉากพายุและใต้ผืนน้ำ น่าฉงนจริงๆว่าถ่ายทำด้วยข้อจำกัดของสถานที่ได้อย่างไร) ทั้งหมดล้วนใช้แสงธรรมชาติ ตอนกลางคืนก็จากพระจันทร์ และกองไฟเท่านั้น มันเป็นความท้าทายยากยิ่งกว่าถ่ายทำในสตูดิโอที่มีอุปกรณ์เพรียบพร้อมทุกสิ่งอย่าง … แม้ฉบับที่ผมดูจะมีคุณภาพไม่ดีนัก แต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงความตระการตา
ซีนที่น่าสนใจสุดของหนังก็คือ Dr. Matthew Lloyd หลังว่ายข้ามแม่น้ำ ส่งเสียงตะโกน ‘Hello’ มาจนถึงช็อตนี้ แทรกตัวออกจากใบไม้ขนาดใหญ่ (ราวกับร่างย่อส่วนของ Alice in Wonderland) ขณะเดียวกันสามารถตีความถึงการถ้ำมอง ‘peeping’ ไม่ใช่แค่หญิงสาวกำลังเปลือยกายเล่นน้ำ แต่คือการพบเห็นสรวงสวรรค์ใหม่ ‘Paradise’ ดินแดนเหมือนฝัน เหนือจินตนาการ ไม่เคยเปิดเผยสูโลกภายนอก … มีนักภาพยนตร์เรียกช็อตนี้ว่า ‘ethnopornographic gaze’
ตัดต่อโดย Ben Lewis (1894–1970) ทำงานในสังกัด M-G-M อีกหนึ่งขาประจำของผู้กำกับ W. S. Van Dyke
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Dr. Matthew Lloyd ตั้งแต่เริ่มสร้างปัญหาให้คณะสำรวจ ถูกล่องลอยคอ ปล่อยเกาะ มาจนถึงสรวงสวรรค์ ได้รับความช่วยเหลือจากชนพื้นเมือง ตกหลุมรัก กำลังจะได้ครองคู่หญิงสาว หายนะก็เดินทางมาถึง และนำไปสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม
- องก์หนึ่ง Lost Paradise, แนะนำคณะสำรวจ พฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบชาวพื้นเมือง สร้างความไม่พึงพอใจต่อ Dr. Lloyd ทำให้ถูกล่องลอยคอ ปล่อยเกาะ
- องก์สอง Paradise, พายุทำให้เรือล่ม Dr. Lloyd ซัดเกยตื้นหาดแห่งหนึ่ง ได้รับการช่วยเหลือจากชาวพื้นเมือง มีงานเลี้ยงต้อนรับ และกำลังจะได้ครองคู่หญิงสาว
- องก์สาม Paradise Lost, การมาถึงของคณะสำรวจ ทำให Dr. Lloyd พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องรักษาสรวงสวรรค์แห่งสุดท้ายนี้ไว้ให้นานที่สุด
แซว: ลึกๆผมก็แอบฉงน Dr. Lloyd จู่ๆสามารถสื่อสารกับชาวพื้นเมืองได้อย่างไร (ทั้งๆตอนแรกเหมือนจะสนทนาไม่เข้าใจกัน) เอาเวลาตอนไหนไปศึกษาเรียนรู้กัน
เพลงประกอบโดย William Axt (1888-1959) สัญชาติอเมริกัน ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์เป็นผู้ช่วยวาทยากร Hammerstein Grand Opera Company และผู้กำกับละครเพลง (Musical Director) อยู่ที่ Capitol Theatre ต่อมาเซ็นสัญญาสตูดิโอ M-G-M เริ่มมีผลงานตั้งแต่หนังเงียบ Greed (1924), The Big Parade (1925), Ben-Hur (1925), ติดตามมายังยุคหนังพูด (Talkie) อาทิ White Shadows in the South Seas (1928), Grand Hotel (1932), The Thin Man (1934), David Copperfield (1935) ฯ
White Shadows in the South Seas (1928) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ M-G-M ที่ทำการบันทึกเพลงประกอบล่วงหน้า (pre-recorded soundtrack) แม้ยังในลักษณะของหนังเงียบ มุ้งเน้นสร้างบรรยากาศเรื่องราว มีทั้งสนุกสนาน พักผ่อนคลาย รุกเร้า ตึงเครียด เพียงไม่ให้หนังเงียบจนเกินไปเท่านั้น
แต่ไฮไลท์อยู่ที่การใส่ Sound Effect เสียงสายลม พายุ สายน้ำไหล กระซิบกระซาบ และถ้อยคำพูด “Hello” เมื่อครั้น Dr. Lloyd เดินทางมาถึงสรวงสวรรค์แห่งใหม่ นี่ไม่แค่คำทักทายชนพื้นเมืองเท่านั้นนะครับ แต่ยังกับผู้ชมสมัยนั้น เพราะนี่คือประโยคแรกของภาพยนตร์จากสตูดิโอ M-G-M ด้วยเช่นกัน
แซว: ประโยคแรกจริงๆของหนังพูด (Talkie) มาจากภาพยนตร์ The Jazz Singer (1927) โดยนักแสดง Al Jolson เอ่ยว่า “Wait a minute, wait a minute, you ain’t heard nothin’ yet”
มันคงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชื่นชอบการเปรียบเทียบ ยกยอปอปั้นตนเองให้เหนือกว่าผู้อื่น เพื่อความรู้สึกภาคภูมิใจในเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้นำความเจริญก้าวหน้า อารยธรรม สิ่งศิวิไลซ์ เข้ามาเผยแพร่ให้ชนพื้นเมืองเหล่านั้น คือสิ่งถูกต้องเหมาะสม มนุษยธรรม
แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ไม่มีอะไรในโลกได้มาฟรีๆ คนขาวเหล่านี้ล้วนทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ปากว่าตาขยิบ อ้างเสมอภาคเท่าเทียม กลับกอบโกยอย่างละโมบโลภ พอหมดผลประโยชน์ สิ้นสิ่งตอบแทนนั้น ก็พร้อมสะบัดตูดหนีหาย ปล่อยให้กลายเป็นหายนะติดตามมาภายหลัง
การที่มนุษย์ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องความต้องการของตน ล้วนสามารถสื่อถึงการ Colonialism ไม่ใช่แค่ประเทศมหาอำนาจเข้ายึดครอบครองชนเผ่าพื้นเมือง แต่ในระดับจุลภาคเล็กๆ ครูเสี้ยมสั่งสอนนักเรียน สามีควบคุมครอบงำภรรยา-บุตร หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนจะเป็นสิ่งที่ดี
แต่เพราะไม่ใครสามารถหยุดยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของโลก ต่อให้พยายามปกป้อง ทำนุรักษาสักเท่าไหร่ สักวันหนึ่งชนพื้นเมืองย่อมถูกกลืนกิน สูญสิ้นวัฒนธรรม สวรรค์ลา (Paradise Lost) ซึ่งก็คือความตายของ Dr. Matthew Lloyd ไม่มีประโยชน์อันใดจะต่อสู้ดิ้นรน ใช้เวลาคงเหลืออยู่ให้คุ้มค่า และจดจำช่วงเวลาดังกล่าวให้ยาวนานที่สุด (ไม่ก็ปล่อยอุเบกขาไปเลยนะ)
พฤติกรรมเหยียด (Racism) ของผู้กำกับ W. S. Van Dyke เป็นสิ่งที่ถ้าคุณเพิ่งรับชม White Shadows in the South Seas (1928) หรือผลงานอื่นๆของเขาครั้งแรก ย่อมยังไม่สามารถตระหนักถึงได้อย่างแน่นอน ปกปิดซ่อนเร้นได้อย่างมิดชิด และสามารถสอดแทรกทัศนคติในทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม (ตนเองเหยียดชนพื้นเมือง แต่กลับให้ตัวละครละอายจากการเป็นคนผิวขาว) ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่ามีบุคคลที่สามารถฝืนธรรมชาติตนเองได้ขนาดนี้
“I did a job for which I was paid. I took excellent stories and great box office names and put them together. The result was inevitable. I would have had to have been a pretty punk director to make flops out of sure-fire material like that”.
W. S. Van Dyke
หลังจากอ่านความเห็นดังกล่าวยิ่งทำให้ผมรู้สึกอึ้งทึ่ง เราอาจมองว่าเขาสามารถแยกงานกับเรื่องส่วนตัว หรือไม่ก็สนเพียงค่าจ้าง ได้รับเงินมาก็ต้องทำตามหน้าที่มอบหมาย … โดยปกติแล้วไม่น่ามีใครฝืนธรรมชาติ หลอกตนเองได้นานหรอกนะ สักวันความจริงย่อเปิดเผยออกมา และย่อมทำให้มุมมองทัศนคติของผู้ชมต่อ White Shadows in the South Seas (1928) เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
หนังเตรียมทุนสร้างไว้ $150,000 เหรียญ แต่ความยุ่งยากลำบากในการถ่ายทำ ทำให้งบประมาณทะยานไปถึง $365,000 เหรียญ ฉายปฐมทัศน์ที่ Grauman’s Chinese Theatre, Los Angeles ทำเงินทั่วโลก $1.6 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม ได้รับคำชมในการถ่ายภาพอย่างมากจนคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography ในงานประกาศรางวัลครั้งที่สอง
ระหว่างรับชมผมก็ไม่ได้เอะใจหรอกนะว่า W. S. Van Dyke จะเต็มไปด้วยอคติต่อ South Seas แต่พออ่านเจอแล้วค่อยๆครุ่นคิดทบทวนเรื่องราวทั้งหมด ก็รู้สึกอึ้งทึ่งในสิ่งที่เขากลับตารปัตรนำเสนอออกมา ฝืนธรรมชาติตนเองได้น่าประทับใจไม่น้อยเลยละ
น่าเสียดายที่หนังคุณภาพดีกว่านี้ยังหารับชมไม่ได้ ข่าวการบูรณะก็เงียบกริบ แถมสตูดิโอ M-G-M ก็เซ้งกิจการให้ Amazon ไปเรียบร้อยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ยากเกินจะคาดเดา ถ้าคุณไม่ได้รีบร้อนก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลานะครับ
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply