Why We Fight

Why We Fight (1942-45) hollywood : Frank Capra, Anatole Litvak ♥♥♥♡

หลังสหรัฐอเมริกาถูกโจมตี Pearl Harbor เสนาธิการทหารบก George C. Marshall ติดต่อขอให้ผู้กำกับ Frank Capra สรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ (Propaganda Film) เพื่อโต้ตอบกลับ Triumph of the Will (1935) กลายมาเป็นหนังซีรีย์จำนวน 7 ภาคละ 40-83 นาที

มีซ้ายก็ต้องมีขวา โลกใบนี้มีสองด้านเสมอๆ เลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ฝ่ายสัมพันธมิตร จะครุ่นคิดสรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ เพื่อทำการโต้ตอบกลับ Triumph of the Will (1935) ของนาซีเยอรมัน!

แต่จะทำอย่างไรในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ให้เอ่อล้นด้วยพลัง ทรงอิทธิพล และตราตรึงยิ่งกว่า? แน่นอนว่ามันเป็นไปได้เสียที่ไหน! ถึงอย่างนั้นวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Frank Capra กลับมีความโคตรๆน่าสนใจ ใช้วิธีการนำฟุตเทจ Triumph of the Will (1935) มาหั่นเป็นชิ้นๆ ขยี้ความจริง พูดชี้นำผู้ชม(ชาวอเมริกัน)ว่าอะไรถูกอะไรผิด และเสริมเติมภาพกราฟิกให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ

Use the enemy’s own films to expose their enslaving ends. Let our boys hear the Nazis and the Japs shout their own claims of master-race crud—and our fighting men will know why they are in uniform.

Frank Capra

สำหรับคนที่รับชมหนังดราม่ามาเยอะ ย่อมรู้สึกเบื่อหน่ายกับหนังซีรีย์เรื่องนี้แน่ๆ (ดูวันละตอนก็ได้นะครับ ไม่เห็นต้องรีบร้อนรวดเดียวจบ) แนะนำให้มองเป็นสารคดีบันทึกประวัติศาสตร์ ได้รับความรู้เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง เพลิดเพลินภาพกราฟิกสวยๆ (ออกแบบโดย Walt Disney) ตัดต่อยอดเยี่ยม เพลงประกอบลุ้นระทึก และโดยเฉพาะ …

  • ตอนแรก Prelude to War (1942) คว้ารางวัล Oscar: Best Documentary Feature Film
  • ตอนที่ห้า The Battle of Russia (1944) เข้าชิง Oscar: Best Documentary Feature Film

ผมรู้สึกว่ามันมีความจำเป็นมากๆที่เราควรรับชม Triumph of the Will (1935) เคียงคู่กับ Why We Fight (1942-45) เพื่อให้พบเห็นมุมมองโลกทั้งสองด้าน ต่างฝ่ายต่างก็ยึดถือมั่นในอุดมคติสุดโต่ง ปฏิเสธโอนอ่อนผ่อนปรน ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจได้ว่าไม่มีฝั่งฝ่ายไหนถูกต้อง ก็อาจพบเห็นหนทางสายกลางแห่งความสงบสุขแท้จริง


Frank Russell Capra ชื่อเดิม Francesco Rosario Capra (1897 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Italian-American เกิดที่ Bisacquino, Sicily ตอนอายุ 5 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่สหรัฐอเมริกา ปักหลักอยู่ยัง Los Angeles ฝั่งตะวันออก (ปัจจุบันคือ Chinatown) ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก่อนไปโรงเรียน, โตขึ้นเข้าศึกษา California Institute of Technology สาขา Chemical Engineering, แล้วอาสาสมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปลดประจำการออกมากลายเป็นพลเมืองอเมริกัน เร่ร่อนออกหางานทำได้ใบบุญจากโปรดิวเซอร์ Harry Cohn กลายเป็นนักเขียน ตัดต่อ ผู้ช่วย กำกับภาพยนตร์สามเรื่องแรกร่วมกับ Harry Langdon ก่อนฉายเดี่ยวเรื่อง For the Love of Mike (1927) มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Lady for a Day (1933) ตามด้วย It Happened One Night (1934), Mr. Deeds Goes to Town (1936), Lost Horizon (1937), You Can’t Take It With You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Meet John Doe (1941), It’s a Wonderful Life (1946) ฯ

ผลงานของ Capra มักมีลักษณะ ‘fantasy of goodwill’ เต็มไปด้วยความบันเทิงแฝงสาระ หรือเรียกว่า ‘message film’ เพราะชีวิตของเขาเริ่มต้นจากสลัมไต่เต้าขึ้นเป็นเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จ (Rags-to-Rich) จึงมักมีส่วนผสมของ ‘American Dream’ รวมอยู่ด้วย มีชื่อเล่นเรียกว่า ‘Capra-corn’ หรือ ‘Capraesque’

เมื่อทหารญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพ Pearl Harbor วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1971 และสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้กำกับ Capra ที่เคยรับใช้ชาติเมื่อตอนสงครามโลกครั้งแรก อาสาสมัครหวนเข้ากลับรับราชการทหาร Signal Corps ภายใต้เสนาธิการทหารบก George C. Marchall

ตั้งแต่เริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ละหน่วยงาน ภาครัฐ กองทัพ ฯ ต่างพยายามสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ (Propaganda) เพื่อให้ชาวอเมริกันเกิดจิตสำนึก ความตระหนักถึงภยันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามา แต่ยังไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องไหนที่ทรงพลังมากพอจะต่อกรกับ Triumph of the Will (1935) จนกระทั่งการมาถึงของผู้กำกับ Capra

You were the answer to the General’s prayer. … You see, Frank, this idea about films to explain “Why” the boys are in uniform is General Marshall’s own baby, and he wants the nursery right next to his Chief of Staff’s office.

Now, Capra, I want to nail down with you a plan to make a series of documented, factual-information films—the first in our history—that will explain to our boys in the Army why we are fighting, and the principles for which we are fighting. … You have an opportunity to contribute enormously to your country and the cause of freedom. Are you aware of that, sir?

George C. Marchall

หลังการพบเจอครั้งนั้น Capra ถึงค่อยมีโอกาสรับชม Triumph of the Will (1935) (เพราะหนังชวนเชื่อเรื่องนี้ถูกแบนห้ามฉายในสหรัฐอเมริกา) แล้วเกิดความตระหนักว่านี่คือภาพยนตร์ที่น่าหวาดสะพรึง “terrifying motion picture”

[Triumph of the Will]’s the ominous prelude of Hitler’s holocaust of hate. Satan couldn’t have devised a more blood-chilling super-spectacle. Even this film fired no gun, dropped no bombs. But as a psychological weapon aimed at destroying the will to resist, it was just as lethal.

Frank Capra

Capra นั่งครุ่นคิดอยู่สักพักใหญ่ๆ จะหาวิธีการอันใดในการโต้ตอบกลับ Triumph of the Will (1935) เพราะองค์กรในสังกัดขณะนี้ไม่ใช่สตูดิโอภาพยนตร์ ไม่มีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ หรือทีมงานคอยให้ความช่วยเหลือใดๆ ก่อนได้ข้อสรุปแนวคิดพื้นฐาน ที่เชื่อว่ามีความทรงพลังอย่างยิ่ง

I thought of the Bible. There was one sentence in it that always gave me goose pimples: “Ye shall know the truth, and the truth shall make you free.”

วิธีการก็คือนำเอาข้อมูลทุกสิ่งอย่างที่มาจากฝั่งศัตรู ฟีล์มข่าว (Newsreel), ฟุตเทจภาพยนตร์, คำกล่าวสุนทรพจน์, บทความหนังสือพิมพ์ ฯ นำมาร้อยเรียง ปะติดปะต่อ แล้วใส่คำอธิบายในเชิงชี้นำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงสาเหตุผล ข้อเท็จจริง ‘Why We Fight?’

Use the enemy’s own films to expose their enslaving ends. Let our boys hear the Nazis and the Japs shout their own claims of master-race crud—and our fighting men will know why they are in uniform.


โปรดักชั่นเริ่มต้นระหว่าง ค.ศ. 1942-45 วางแผนไว้ทั้งหมด 7 ภาค ความยาว 40-76 นาที โดยนำเอา Stock Footage, Newsreel รวมถึงภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซี มาร้องเรียง ปะติดปะต่อ อธิบายด้วยภาพกราฟิกออกแบบโดยสตูดิโอ Walt Disney พร้อมเสียงบรรยายของ Walter Huston, Elliott Lewis, Harry von Zell, Lloyd Nolan และเพลงประกอบบรรเลงโดย Army Air Force Orchestra

ปล. คำอธิบายภาษาอังกฤษ คือสรุปความ (synopsis) โดยผู้กำกับ Frank Capra

  1. Prelude to War (1942) ความยาว 52 นาที, อารัมบทสงครามโลกครั้งที่สอง อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการแบ่งโลกออกเป็นสองใบ ฝ่ายสัมพันธมิตร vs. อักษะ (นาซีเยอรมัน, ฟาสซิสต์อิตาลี และจักรวรรดิญี่ปุ่น)
    • [Prelude to War] presenting a general picture of two worlds; the slave and the free, and the rise of totalitarian militarism from Japan’s conquest of Manchuria to Mussolini’s conquest of Ethiopia.
  2. The Nazis Strike (1943) ความยาว 41 นาที, นำเสนอจุดเริ่มต้นการบุกรุกรานของนาซีเยอรมัน เป้าหมายเพื่อยึดครอบครอง Austria, Czechoslovakia และ Poland
    • Hitler rises. Imposes Nazi dictatorship on Germany. Goose-steps into Rhineland and Austria. Threatens war unless given Czechoslovakia. Appeasers oblige. Hitler invades Poland. Curtain rises on the tragedy of the century—World War II.
  3. Divide and Conquer (1943) ความยาว 62 นาที, นำเสนอการบุกรุกราน Denmark, Norway, Switzerland และความพ่ายแพ้ของ France
    • Hitler occupies Denmark and Norway, outflanks Maginot Line, drives British Army into North Sea, forces surrender of France.
  4. The Battle of Britain (1943) ความยาว 52 นาที, นำเสนอการต่อสู้ทางอากาศกับประเทศอังกฤษ ที่ทำให้นาซีเยอรมันได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
    • Showing the gallant and victorious defense of Britain by Royal Air Force, at a time when shattered, but unbeaten, British were the only people fighting Nazis.
  5. The Battle of Russia (1943) ความยาว 83 นาที, มีแบ่งออกเป็น Part I และ II, เริ่มต้นนำเสนอประวัติศาสตร์การสงครามระหว่างรัสเซียกับเยอรมัน และสามารถโต้ตอบนาซีจนได้รับความเสียหายอย่างย่อยยับ
    • History of Russia; people, size, resources, wars. Death struggle against Nazi armies at gates of Moscow and Leningrad. At Stalingrad, Nazis are put through meat grinder.
  6. The Battle of China (1944) ความยาว 65 นาที, นำเสนอการบุกรุกรานประเทศจีนของจักรวรรดิญี่ปุ่น แม้ได้รับชัยชนะในคราแรก แต่ก็ถูกโต้ตอบกลับอย่างสาสม
    • Japan’s warlords commit total effort to conquest of China. Once conquered, Japan would use China’s manpower for the conquest of all Asia.
  7. War Comes to America (1945) ความยาว 65.20 นาที, เริ่มจากนำเสนอประวัติศาสตร์สร้างชาติสหรัฐอเมริกา มาจนถึงการถูกโจมตี Pearl Harbour คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวอเมริกันต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งนี้
    • Dealt with who, what, where, why, and how we came to be the USA—the oldest major democratic republic still living under its original constitution. But the heart of the film dealt with the depth and variety of emotions with which Americans reacted to the traumatic events in Europe and Asia. How our convictions slowly changed from total non-involvement to total commitment as we realized that loss of freedom anywhere increased the danger to our own freedom. This last film of the series was, and still is, one of the most graphic visual histories of the United States ever made.

เกร็ด: Frank Capra ถือเป็นผู้กำกับหลักของหนังซีรีย์ชุดนี้ ยกเว้นเพียงตอนที่ห้า The Battle of Russia (1943) กำกับโดย Anatole Litvak


ความเห็นส่วนตัวนั้น Prelude to War (1942) เป็นภาคที่มีความน่าสนใจที่สุด (แต่ไม่ได้หมายความว่าดีที่สุดนะครับ) เพราะนำเสนอภาพรวม อธิบายเหตุผลการเกิดสงคราม โดยมีแบ่งแยกให้เห็นแนวคิดทางการเมืองระหว่างโลกสองใบ ฝ่ายอักษะ vs. สัมพันธมิตร แล้วทำการสรุปย่ออุดมการณ์สามชาติสมาชิกอักษะ นาซีเยอรมัน, ฟาสซิสต์อิตาลี และจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่มีความสอดคล้อง จุดมุ่งหมายละม้ายคล้ายคลึงกัน! … แต่มันก็สร้างความฉงนสงสัยว่าข้อสรุปเหล่านั้น เป็นจริงตามกล่าวอ้าง หรือเพียงคำชวนเชื่อล้างสมอง เพราะเสียงบรรยายพยายามเหลือเกินจะชี้นำ นาซีเลวอย่างโน้น ฟาสซิสต์แย่อย่างนี้ จักรวรรดิญี่ปุ่นชั่วร้ายอย่างนั้น มันเป็นการดูถูกเหยียดหยามที่ไร้ชั้นเชิงสิ้นดี!

ตอนที่สอง-สาม The Nazis Strike (1943) และ Divide and Conquer (1943) ผมมองว่าเป็นส่วนต่อขยายจาก Prelude to War (1942) นำเสนอการสงครามของนาซีเยอรมัน เริ่มจากกลับกลอกคำมั่นสัญญา แล้วทำการบุกโจมตี ยึดครอบครองนานาประเทศที่มีอาณาเขตอยู่รอบข้าง นำเสนอพร้อมกับภาพกราฟิกให้ผู้ชมเห็นภาพได้อย่างชัดเจน … Divide and Conquer (1943) น่าจะเป็นภาคดีที่สุดของซีรีย์ชุดนี้ ตัดต่อได้กระชับ เพลงประกอบลุ้นระทึก ภาพกราฟิกน่าติดตาม และเป็นภาคเดียวที่ผมนั่งดูตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ (เพราะทั้งสองภาคนี้ เน้นนำเสนอข้อมูลสงครามล้วนๆ ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังรับชมฟีล์มข่าว/Newsreel บันทึกเหตุการณ์เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์)

ตั้งแต่ภาคสี่ The Battle of Britain (1943) จะมีโครงสร้างการดำเนินเรื่องที่ผิดแผกแตกต่างจากสามตอนก่อนหน้า โดยจะมีการเริ่มต้นอารัมบท ด้วยการแนะนำพื้นหลัง ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต สภาพสังคม วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ (อังกฤษ, รัสเซีย, จีน และสหรัฐอเมริกา) ก่อนค่อยๆนำเข้าสู่ความขัดแย้งกับนาซีเยอรมัน (ภาคสี่-ห้า) และจักรวรรดิญี่ปุ่น (ภาคหก-เจ็ด)

ผมคาดคิดว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะผกก. Capra มอบหมายให้ Anatole Litvak ซึ่งเป็นชาวรัสเซีย ดูแลงานสร้างในส่วน The Battle of Russia (1943) แล้วเสนอแนะวิธีดำเนินเรื่องโดยสมมติว่าผู้ชมไม่เคยรับรู้จักสหภาพโซเวียตมาก่อน ก็เลยเริ่มต้นด้วยการอธิบายพื้นหลัง ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต สภาพสังคม วัฒนธรรม และโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างชนชาวรัสเซีย vs. เยอรมันนี ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณกาลจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับมา The Battle of Britain (1943) เอาจริงๆก็เป็นตอนที่น่าสนใจ แต่ผมรับรู้สึกว่าผู้กำกับ Capra พึ่งพาฟุตเทจจากภาพยนตร์ของประเทศอังกฤษมากเกินไป จนแทบกลายจะเป็นหนังแอ๊คชั่น ทั้งการสู้รบบนฟากฟ้า ระเบิดตกลงมา รวมถึงมุกตลกขบขันที่สอดแทรกอยู่เป็นระยะๆ … เอาว่าเป็นตอนดูสนุกที่สุดก็ว่าได้

สำหรับภาคห้า The Battle of Russia (1943) และหก The Battle of China (1944) ผมดูไปก็ขำไป เสียงผู้บรรยายพยายามสรรเสริญเยินยอปอปั้นผู้นำ Joseph Stalin และนายพลเจียงไคเช็ก เพราะยุคสมัยนั้นรัสเซียและจีนต่างเลือกข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ก็เลยต้องสร้างภาพชวนเชื่อ ทำให้ทั้งสองประเทศดูยิ่งใหญ่ (รัสเซีย) น่าเห็นอกเห็นใจ (จีน) แม้ลึกๆในสันดานอเมริกันชน จะรังเกียจเหยียดหยามชาวรัสเซียและคนเอเชียผิวเหลือง

ยิ่งการรับชมในปัจจุบัน ค.ศ. 2023 ปริ่มๆสงครามโลกครั้งที่สาม รัสเซียและจีนต่างกลายเป็นมหาอำนาจโลก พันธมิตรในอดีตกลายมาเป็นศัตรู ดูภาพยนตร์ชวนเชื่อเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าตรรกะประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา มันบิดๆเบี้ยวๆใกล้จะเกินเยียวยา

และโดยเฉพาะ War Comes to America (1945) ผมพยายามกดข้ามๆ ขี้เกียจทนดูชิบหาย เต็มไปด้วยคำสรรเสริญเยินยอปอปั้น อุดมการณ์ของฉันดีอย่างโน้น ยิ่งใหญ่เกรียงไกร เหนือกว่าใคร (การนำเสนอเช่นนี้มันต่างอะไรจากอุดมการณ์ฝ่ายอักษะ) ฉันจะไม่ยินยอมให้ผู้ใดมาเหยียดย่ำยี ทำลายสิทธิเสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตย ต้องทำให้นาซีเยอรมัน ฟาสซิสต์อิตาลี (ไม่เห็นแม้งจะทำอะไร) และจักรวรรดิญี่ปุ่น พ่ายแพ้อย่างราบคาบเป็นหน้ากอง

The victory of the democracies can only be complete with the utter defeat of the war machines of Germany and Japan.

George C. Marshall

ดั้งเดิมนั้นหนังซีรีย์ Why We Fight (1942-45) มีกลุ่มเป้าหมายฉายเพียงทหารเกณฑ์ภายในกองทัพ แต่หลังจากปธน. Franklin Roosevelt มีโอกาสรับชมภาคแรก Prelude to War (1942) จึงออกคำสั่งให้นำออกฉายสาธารณะ คาดการณ์ว่าจนสิ้นสุดสงครามโลก มีชาวอเมริกันได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้กว่า 54 ล้านคน!

การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้มีสารคดี/ภาพยนตร์ชวนเชื่อผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด! เมื่อปี ค.ศ. 1941 สถาบัน Academy Award ได้มอบรางวัลพิเศษ (Special Awards) ให้กับ Kukan (1941) และ Target for Tonight (1941) รวมถึงก่อตั้งสาขา Best Documentary Short Film ผู้ชนะคือ Churchill’s Island (1941) หนังชวนเชื่อจากแคนาดา

ปีถัดมา ค.ศ. 1942 จึงทำการเหมารวม (ทั้งสารคดีขนาดสั้น-ขาว) กลายมาเป็นสาขา Best Documentary Feature Film โดยมีสารคดีเข้าชิงจำนวน 25 เรื่อง! และมอบรางวัลให้ภาพยนตร์ 4 เรื่อง ประกอบด้วย

  • The Battle of Midway (1942) กำกับโดย John Ford, หนังชวนเชื่อของกองทัพเรือ สหรัฐอเมริกา
  • Kokoda Front Line! (1942) กำกับโดย Ken G. Hall, หนังชวนเชื่อจากออสเตรเลีย
  • Moscow Strikes Back (1942) กำกับโดย Artkino, หนังชวนเชื่อจากสหภาพโซเวียต
  • Prelude to War (1942) กำกับโดย Frank Capra, หนังชวนเชื่อจากกระทรวงการสงครามสหรัฐ สหรัฐอเมริกา

แซว: น่าจะเพราะมีสารคดีเข้าชิงถึง 25 เรื่อง! ทำให้อีกปีถัดมา ค.ศ. 1943 สาขานี้จึงถูกจับแยกเป็น Feature Film และ Short Film สรุปคือ…

  • ค.ศ. 1941, มีการมอบรางวัลพิเศษ (Special Awards) และรางวัล Best Documentary Short Film
  • ค.ศ. 1942, ผนวกรวมสารคดีขนาดสั้น-ยาว Best Documentary Feature Length
  • ค.ศ. 1943 จนถึงปัจจุบัน, แบ่งออกเป็น Best Documentary Short Film และ Best Documentary Short Film

ปีถัดมาภาพยนตร์ภาคห้า The Battle of Russia (1943) กำกับโดย Anatole Litvak ก็มีโอกาสเข้าชิง Oscar: Best Documentary Feature Film แต่พ่ายให้กับ Desert Victory (1943) หนังชวนเชื่อจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศอังกฤษ

ปัจจุบัน US Army Pictorial Services อนุญาตให้ Why We Fight (1942-45) กลายเป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) สามารถหารับชมออนไลน์ คุณภาพ HD ได้บนเว็บไซต์ Youtube ครบทั้ง 7 ตอน

Why We Fight (1942-45) อาจไม่ใช่ภาพยนตร์/สารคดีที่มีความบันเทิงเริงรมณ์นัก แต่ผมกลับรู้สึกเพลิดเพลินในลีลาการนำเสนอ เทคนิคตัดต่อ เพลงประกอบลุ้นระทึก ภาพกราฟิกน่าตื่นตาตื่นใจ แม้มันอาจเทียบความยิ่งใหญ่ไม่ได้กับ Triumph of the Will (1935) ยังต้องถือว่าทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไม่แพ้กัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกเพลิดเพลินมากๆ คือสังเกตหาว่ามีการนำฟุตเทจมาจากแห่งหนไหน? ภาพยนตร์เรื่องอะไร? รับรู้จักมากน้อยเท่าไหร่? อาจยังไม่มากมายเทียบเท่า Histoire du cinéma (1988) หรือ The Image Book (2018) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard แต่สามารถมองในลักษณะ ‘essay film’ ไม่ต่างกัน!

แนะนำอย่างยิ่งกับผู้มีความสนใจในสงครามโลกครั้งที่สอง มุมมองฝ่ายสัมพันธมิตร โลกทัศนคติของสหรัฐอเมริกา Why We Fight (1942-45) ถือเป็นภาพยนตร์ทรงคุณค่าด้านวิชาการ คาบเรียนประวัติศาสตร์อย่างมากๆ … สมควรรับชมเคียงข้าง Triumph of the Will (1935) เพื่อให้สามารถเข้าถึงมุมมองทั้งสองฝั่งฝ่าย

จัดเรต 18+ กับภาพสงคราม ลักษณะชวนเชื่อ

คำโปรย | Why We Fight ภาพยนตร์ชวนเชื่อ ที่กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง
คุณภาพ | บันทึกประวัติศาสตร์
ส่วนตัว | ได้รับความรู้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: